ผมหาญกล้าเสนอตั้ง "สภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต"


โดยที่จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดท่องเที่ยวสากลระดับโลก ระบบการจัดการศึกษาจึงเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพประชากรของจังหวัดภูเก็ต อันเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ตอย่างยั่งยืน โดยคาดหวังว่าประชากรไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และทักษะการจัดการในการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับบริบทและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมโลก รักและหวงแหนวัฒนธรรมและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น จึงจำเป็นต้องระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนของสังคมจังหวัดภูเก็ต กำหนดทิศทางระบบการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น

ผมมีเรื่องมาขอระดมความคิดเห็นกันครับ บันทึกนี้อาจจะยาวหน่อย แต่เป็นเรื่องของการศึกษาที่ผมถือว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคมที่จะต้องช่วยกัน

อย่างที่เคยเล่าว่าผมโดดลงไปในแวดวงการศึกษาจนถอนตัวไม่ขึ้น ต้องทำหน้าที่ทั้งประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ต, ประธานเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา,ไปเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ฯลฯ แต่ในส่วนการเป็นประธานเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผลงานเข้าตากรรมการเขาก็ให้เงินมา ๓ ล้าน แต่ให้ทำโครงการยกระดับการพัฒนาการเรียนรู้ระดับจังหวัด ผมได้นำเสนอการจัดตั้งสภาการศึกษาจังหวัด ตอนนี้ร่างข้อบัญญัติคร่าวๆเสร็จแล้ว ได้นำเสนอกลุ่มย่อยไปหลายกลุ่มแล้ว วันที่ ๒๐ ตุลาคม ศกนี้จะนำเสนอกลุ่มใหญ่เพื่อการประชาพิจารณ์ที่โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน เวลาตั้งแต่ ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น.ท่านผู้ใดสนใจเชิญมาร่วมได้นะครับ แจ้งความจำนงได้ที่ E-mail ผม [email protected] หรือฝ่ายเลขา [email protected]  หรือโทร.08-9645-2527 เพื่อจะได้เตรียมอำนวยความสะดวกให้ครับ

เพื่อความสะดวกสำหรับท่านอยู่ไกลแต่อยากมีส่วนร่วม ผมจึงนำร่างข้อบัญญัติ (ซึ่งหากผ่านประชาพิจารณ์และแก้ไขปรับปรุงแล้ว จะได้นำเสนอประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตเพื่อพิจารณากันในสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตต่อไป) นำมาให้ท่านได้ตรวจดูกัน ท่านไม่เห็นด้วยข้อไหนอย่างไร อยากให้แก้ไขที่ไหน อยากจะเพิ่มเติมอะไรก็ขอได้โปรดแสดงความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่ไม่ต้องเกรงใจ หากท่านเห็นว่าเป็นไปได้ยากเพราะอะไรก็ไม่ต้องกลัวว่าพวกเราจะเสียน้ำใจนะครับเพราะเราทำงานตรงไปตรงมาและรับฟังเหตุผลจากทุกฝ่าย ครับ ขอขอบพระคุณล่วงหน้า

ลองวิเคราะห์ร่างนี้กันดูครับ

(ร่าง)

ข้อบัญญัติ

สภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต

พ.ศ. ๒๕๕๕

 

 

 

         โดยที่เป็นการสมควรมีข้อบัญญัติว่าด้วย “สภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต” โดยความเห็นชอบจากสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ดังต่อไปนี้

         ข้อบัญญัติ ๑   สภานี้เรียกว่า  “สภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต”  เรียกโดยย่อว่า “สกจ.ภูเก็ต”

         ข้อบัญญัติ ๒  สภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต  พุทธศักราช ๒๕๕๕  นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต มีมติเห็นชอบ

         ข้อบัญญัติ ๓  ในสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต นี้

         “การศึกษา”  หมายความว่า  กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม    
โดยการเรียนรู้ การพัฒนา การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรมและอาชีพ การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

         “ประเภทการศึกษา”  หมายความว่า การศึกษาในระบบ  การศึกษานอกระบบ  และการศึกษาตามอัธยาศัย

         “การศึกษาตลอดชีวิต”    หมายความว่า การศึกษาที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการศึกษา ในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่าง
ต่อเนื่องตลอดชีวิต
           “สถานศึกษา”  หมายความว่า สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โรงเรียน ศูนย์การเรียน วิทยาลัย
สถาบัน มหาวิทยาลัย หน่วยงานการศึกษาหรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือของเอกชน ที่มีอำนาจหน้าที่
หรือมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษาในจังหวัดภูเก็ต
           “มาตรฐานการศึกษา” หมายความว่า ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะ คุณภาพ ที่พึงประสงค์
และมาตรฐานที่ต้องการให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาทุกแห่ง และเพื่อใช้เป็นหลักในการเทียบเคียงสำหรับ
การส่งเสริมและกำกับดูแล การตรวจสอบ การประเมินผลคุณภาพมาตรฐานการศึกษาของจังหวัดภูเก็ต

         ข้อบัญญัติ ๔  ให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตมีอำนาจออกประกาศ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติการตามข้อบัญญัติ “สภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต พุทธศักราช ๒๕๕๕”  โดยความเห็นชอบของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต

 

 

 

        

หมวด ๑

สมาชิกสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต

---------------------------------

         ข้อบัญญัติ ๕  ให้สภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต  ประกอบด้วยสมาชิก ๒ ส่วน ดังต่อไปนี้

ส่วนที่ ๑ สมาชิกโดยตำแหน่ง

         (๑)  นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต  นายกเทศมนตรีเทศบาลนคร  เทศบาลเมือง  เทศบาลตำบล และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดภูเก็ต

         (๒)  หัวหน้าส่วนราชการหรือสถาบันที่ทำหน้าที่บริหารการศึกษาในจังหวัดภูเก็ต

         (๓)  หัวหน้าสถานศึกษาหรือหน่วยงานที่จัดการศึกษาทุกระดับการศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดภูเก็ต

ส่วนที่ ๒ สมาชิกทั่วไป

         (๔)  ประชาชนจังหวัดภูเก็ตทุกสาขาอาชีพที่มีสำเนาทะเบียนบ้านในจังหวัดภูเก็ต มีจิตอาสาร่วมพัฒนาการศึกษาหรือสนับสนุนการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพประชากรของจังหวัดภูเก็ต สมัครเป็นสมาชิกสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต  มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

              (๔.๑)  มีสัญชาติไทย

              (๔.๒)  มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปีบริบูรณ์

              (๔.๓)  ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบหรือบุคคลไร้ความสามารถ

              (๔.๔)  ไม่เคยถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่โทษสำหรับความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

         (๕)  ให้สมาชิกสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต (๔)  พ้นจากการเป็นสมาชิก เมื่อ

              (๕.๑)  ตาย

              (๕.๒)  ลาออก

              (๕.๓)  ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๔.

              (๕.๔)  ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

         ข้อบัญญัติ ๖  สมาชิกสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต  มีบทบาทและหน้าที่ ดังต่อไปนี้

                     (๑)  ให้ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ตในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาการจัดการศึกษาของจังหวัดภูเก็ต ภายใต้กรอบของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒ (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๔๕)

              (๒)  ให้ความเห็นต่อคณะกรรมการสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ตในการกำหนดแนวทาง การส่งเสริมและสนับสนุนในการพัฒนาและยกระดับการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน โดยการริเริ่มของประชาชนจังหวัดภูเก็ต

              (๓)  ให้ความเห็นต่อแผนแม่บทการจัดการศึกษาของจังหวัดภูเก็ต

              (๔)  ให้ข้อเสนอแนะอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาตามเป้าประสงค์ของจังหวัดภูเก็ต

                   

 

 

หมวด ๒

คณะกรรมการสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต

----------------------------------

         ข้อบัญญัติ ๗  ให้มีคณะกรรมการที่ปรึกษาสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต  ซึ่งประกอบด้วย

              (๑)   ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาโดยตำแหน่ง

              (๒)  นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตเป็นกรรมการที่ปรึกษาโดยตำแหน่ง

              (๓)  นายกเทศมนตรีเทศบาลนคร  เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล  และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ในจังหวัดภูเก็ตเป็นกรรมการที่ปรึกษาโดยตำแหน่ง

              (๔)  นายกสมาคมการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตเป็นกรรมการที่ปรึกษาโดยตำแหน่ง

              (๕)  นายกสมาคมธุรกิจการโรงแรมจังหวัดภูเก็ตเป็นกรรมการที่ปรึกษาโดยตำแหน่ง

              (๖)  นายกสมาคมพ่อค้าจังหวัดภูเก็ตเป็นกรรมการที่ปรึกษาโดยตำแหน่ง

              (๗)  ผู้ทรงคุณวุฒิอื่นที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายจำนวน ๓ ท่าน

              (๘) เจ้าคณะจังหวัดภูเก็ต ๑ รูป

              (๙) ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดภูเก็ต

              (๑๐) ตัวแทนศาสนาอื่น ๑ ท่าน

 

         ข้อบัญญัติ ๘  ให้มีคณะกรรมการสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต  ประกอบด้วย

              (๑)  ประธานกรรมการสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ตซึ่งกรรมการเลือกกันเองจากผู้ทรงคุณวุฒิตาม ( ๕ )  ในการนี้ให้ถือว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ( ๕ ) มีจำนวนเท่าที่มีอยู่

              (๒)  กรรมการโดยตำแหน่งจำนวนหกคน ได้แก่ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาภูเก็ต  ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษาเขต ๑๔  อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต  รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต  ประธานอาชีวศึกษาจังหวัดภูเก็ต  ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดภูเก็ต

              (๓)  ผู้แทนการศึกษาเอกชนจำนวนสองคน  เลือกกันเองจากผู้ได้รับใบอนุญาตจัดการศึกษาหลักสูตรในประเทศหนึ่งคน และหลักสูตรนานาชาติหนึ่งคน

              (๔)  ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่นายกเทศมนตรี หรือนายกองค์การบริหารส่วนตำบลมอบหมาย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นละหนึ่งคน

              (๕)  ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสิบคน ซึ่งคัดเลือกจากผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ หลากหลายอาชีพ หรือมีประสบการณ์ด้านการศึกษา  ด้านกฎหมาย หรือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการจัดการศึกษาของจังหวัดภูเก็ต โดยไม่เป็นข้าราชการประจำ หรือมีตำแหน่งทางการเมือง  ยกเว้นด้านกฎหมายโดยอนุโลม

              (๖)  ให้หัวหน้าสำนักงานสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ตเป็นกรรมการและเลขานุการ

         ข้อบัญญัติ ๙  การประชุมกรรมการสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม

         ในการประชุม  ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม

         ข้อบัญญัติ ๑๐  ให้กรรมการสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ตมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้               (๑) พิจารณากำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาของจังหวัดภูเก็ต เสนอต่อที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต  เมื่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตเห็นชอบ ให้เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อกำหนดเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาจังหวัดภูเก็ต

              (๒) เสนอแผนแม่บทการจัดการศึกษาในการพัฒนากำลังคนของจังหวัดภูเก็ต ต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตให้ความเห็นชอบ และเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อประสานกระทรวง กรมและหน่วยงานทางการศึกษาที่มีหน้าที่จัดการศึกษาในจังหวัดภูเก็ต ให้สนับสนุนดำเนินการสนองตอบแผนแม่บทการจัดการศึกษาของจังหวัดภูเก็ต ภายใต้กรอบพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒

              (๓) ระดมการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานทุกภาคส่วนในจังหวัดภูเก็ต โดยกำหนดเป็นเป้าหมายร่วมกันของทั้งจังหวัดจากการระดมทรัพยากรที่มีในจังหวัดภูเก็ต โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาและยกระดับการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนด้วยกลไกบริหารยุทธศาสตร์ของจังหวัดภูเก็ต

              (๔)  วางระบบหรือริเริ่มมาตรการในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และสนองตอบต่อการพัฒนากำลังคนของจังหวัดภูเก็ต เช่นการพัฒนาระบบข้อมูลเฝ้าระวัง  การจัดการศึกษาพิเศษ  การจัดการศึกษาตามอัธยาศัย  การจัดการศึกษาเพื่อสัมมาชีพ   ในสถานศึกษาหรือชุมชน เป็นต้น

              (๕) เสริมสร้างความร่วมมือและประสานงานกับภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการจัดการศึกษาเพื่อท้องถิ่นในการพัฒนาประเทศ และเป็นศูนย์กลางในการให้บริการทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนในกลุ่มประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต

              (๖)  ส่งเสริม สนับสนุน กำกับและติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาของภาครัฐและเอกชน ตามแผนแม่บทการจัดการศึกษาของจังหวัดภูเก็ต  เสนอต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อแจ้งประสานความร่วมมือกับกระทรวง กรมและองค์กรที่มีหน้าที่จัดการศึกษาในจังหวัดภูเก็ต ให้เป็นไปตามแผนแม่บทการศึกษาของจังหวัดภูเก็ต

              (๗) ระดมทุนและทรัพยากรการศึกษา  เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาความเข้มแข็งและคุณภาพการศึกษาของจังหวัดภูเก็ต

              (๘) ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตหรือนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตที่เป็นมติของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต

 

หมวด ๓

สำนักงานสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต

--------------------------------

         ข้อบัญญัติ ๑๑  ให้กองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต  ทำหน้าที่เป็นสำนักงานสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต อีกหน้าที่หนึ่งนอกเหนือจากงานประจำ

         ข้อบัญญัติ ๑๒ ให้ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เป็นหัวหน้าสำนักงานสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต  และให้มีข้าราชการหรือลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต จำนวนไม่เกินสองคน ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต

         ข้อบัญญัติ ๑๓  ให้สำนักงานสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต  มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

              (๑)  รับผิดชอบงานด้านธุรการ และทำหน้าที่เป็นคณะทำงานเลขานุการของสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต

              (๒)  รวบรวม ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต

              (๓)  จัดให้มีระบบฐานข้อมูลและการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านการจัดการศึกษาของจังหวัดภูเก็ต

              (๔)  ประสานการดำเนินงานกับบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

              (๕)  จัดทำรายงานประจำปีของสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต

              (๖)  ให้หัวหน้าสำนักงานสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ตเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราขการและลูกจ้าง และรับผิดชอบการบริหารงานของสำนักงานสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต

         ข้อบัญญัติ ๑๔  ให้สำนักงานสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ตมีรายได้ดังต่อไปนี้

(๑)      เงินอุดหนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต

(๒)   เงินอุดหนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ได้แก่ เทศบาลนคร  เทศบาลเมืองเทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล จังหวัดภูเก็ต

(๓)   เงินช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาของจังหวัดภูเก็ต

(๔)   เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้

(๕)   ดอกผลและรายได้อื่นๆ

รายได้ของสำนักงานสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ตไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายอื่น

         ข้อบัญญัติ ๑๕  ให้สำนักงานสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ตเสนอของบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในจังหวัดภูเก็ต เพื่อจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนประจำปีงบประมาณของสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต

         การใช้จ่ายเงินอุดหนุนตามข้อบัญญัตินี้ ให้เป็นไปตามระเบียบที่สภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ตกำหนด ภายใต้หลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง

         ข้อบัญญัติ ๑๖  ให้สำนักงานสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ตจัดทำงบดุล งบการเงินและบัญชี  เพื่อเป็นหลักฐานการบริหารการเงินของสำนักงานสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต  โดยให้หัวหน้าสำนักงานสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีให้เป็นปัจจุบันและถูกต้อง

 

 

                     ผู้ประกาศข้อบัญญัติสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต โดยความเห็นชอบของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต

 

 

                      (                                  )

          นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต

 

หมายเหตุ  :-  เหตุผลในการประกาศใช้ข้อบัญญัติสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ตฉบับนี้  คือ โดยที่จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดท่องเที่ยวสากลระดับโลก  ระบบการจัดการศึกษาจึงเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพประชากรของจังหวัดภูเก็ต อันเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ตอย่างยั่งยืน  โดยคาดหวังว่าประชากรไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และทักษะการจัดการในการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับบริบทและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมโลก  รักและหวงแหนวัฒนธรรมและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น  จึงจำเป็นต้องระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนของสังคมจังหวัดภูเก็ต กำหนดทิศทางระบบการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและยกระดับการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนด้วยกลไกบริหารยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของบุคลากรและหน่วยงานทุกภาคส่วนของจังหวัดภูเก็ต สร้างวิสัยทัศน์และกำหนดเป้าหมายร่วมกันของทั้งจังหวัดจากการระดมทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่  เพื่อวางระบบหรือริเริ่มมาตรการการจัดการศึกษาที่เข้มแข็งเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ต่อยอดวิถีการดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืน  จึงจำเป็นต้องตราข้อบัญญัตินี้

 

 

----------------------

อ่านแล้วเป็นอย่างไรบ้างครับ อยากให้ทุกท่านช่วยเสนอความคิดเห็นกันหน่อยนะครับ เพื่อช่วยกันพัฒนาการศึกษาของไทยให้ไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องมากขึ้นครับดีไม่ดีอาจจะเป็นโมเดลต้นแบบที่จะนำไปใช้กับการศึกษาของทุกจังหวัดในประเทศไทยก็ได้ครับ ใครจะไปรู้...

หมายเลขบันทึก: 504283เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2012 12:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2012 07:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

เป็นกำลังใจให้พี่ชายเสมอค่ะ ที่นี่ ค่ะ

...สภาการศึกษา"ที่ว่าไว้ในหมายเหตุ"..น่าจะใช้ได้" ทั้งประเทศ.".มิใช่แต่..ภูเก็ตแห่งเดียว.."จะดีไหม"..เพราะข้อความทั้งหมด..ก็เป็นสิ่งที่เรา..ต้องการเป็นสากล..กันอยู่แล้ว "ระบบ..การจัดการ มาตรการพื้นฐานการศึกษาที่เข้มแข็งเป็นสังคมการเรียนรู้ต่อยอดวิถีการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน..ขอเสนอ.."รร.ต้นไม้..มีต้นไม้..เป็นครู..รร...พื้นฐานการเรียนรู้เป็นอยู่กับคำว่า"ธรรมชาติ.ต้นไม้.คน สัตว์"สรรพสิ่ง..ที่จรรโลง..ความเป็นอยู่ในปัจจุบัน..(ที่จะมีอนาคต..ตามมา)...โดยไม่มีกำหนดอายุแห่งการเรียนรู้....(ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด...ยายธี)

ว้าว !!! เยี่ยมไปเลยครับ ท่านอัยการ ;)...

ขอบคุณน้องอ้อยที่เป็นกำลังใจให้กันเสมอมา ภูเก็ตยังยินดีต้อนรับน้องอ้อยและสะมะนึก เหมือนเดิมนะ

ขอบคุณครับยายธี ภูเก็ตกำลังนำร่องครับ วันที่ ๒๐ พ.ย.นี้ อาจารย์หมอประเวศ วะสี จะมาเป็นองค์ปาฐกให้ภูเก็ตด้วยครับ ผมเพิ่งได้รับแจ้งทางอีเมล์จากเลขาฯ ตื่นเต้นครับ

ภูเก็ต จังหวัดจัดการตนเอง สภาการศึกษา คือการจัดการ การศึกษาโดยคนภูเก็ต

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะและเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า "เรื่องการศึกษา" เป็นภาระหน้าที่ร่วมกันของทุกคนในสังคม

ส่วนใหญ่แล้วเรื่องการศึกษามักไม่ค่อยได้รับความสนใจจาก องค์การบริหารส่วนจังหวัด หากทำได้จริงต้องถือเป็น "โมเดลการศึกษาท้องถิ่นฉบับแรกของประเทศไทย"

รออ่านและติดตามความคืบหน้าค่ะ

 

ท่านอัยการค่ะ ขอมาเป็นกำลังใจส่งแรงเชียร์แบบแรงๆ ให้เลยค่ะ เรื่องการศึกษาจะพัฒนาเมื่อทุกคนได้มองเห็นความสำคัญ และได้ลงมือช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เอาใจช่วยนะคะ ^___^

สงสัยว่า "ภายใต้กรอบพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒" นี่จะจำกัดการสร้างสรรค์อะไรไหมคะ พอดีไม่มีความรู้เลยว่ากรอบที่ว่านี้จะมากำกับหรือจำกัดการทำอะไรที่เราจะทำหรือไม่น่ะค่ะ 

รับรู้ด้วยความชื่นชมมากๆค่ะ อยากเห็นรูปธรรมของงานนี้มากๆเลยค่ะ ว่าเราจะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้ตรงกับพื้นที่ได้จริงยังไง อยากให้เริ่มตั้งแต่ระดับพื้นฐานเลยด้วยนะคะ เพราะเด็กเล็กที่ได้รับการศึกษาที่เหมาะสมกับวัยและศักยภาพจะเป็นพื้นฐานที่ดีมากกับทั้งชีวิตทีเดียว ถ้าเราสามารถทำให้เด็กทุกระดับชั้นในสังคมมีโอกาสนั้นไม่เฉพาะคนที่ผู้ปกครองมีศักยภาพจะมีประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก ปัญหาอะไรๆที่ตามมาก็จะถูกตัดไปตั้งแต่ต้นเลยค่ะ เพราะปัญหาเด็กวัยรุ่นติดยา ท้องก่อนวัย ฯลฯ พวกนี้น่าจะไม่เกิดหากเราสร้างพื้นฐานให้พวกเขามาแล้วอย่างดี ต้องให้สังคมช่วยกันแต่ต้น ปัจจุบันเรากำลังเหมือนหลงทาง ทำให้เด็กๆอยู่ในกรอบเดียวกันหมด เรียนแบบเดียวกัน มุ่งไปในทางเดียวกัน ไปให้ถึงจุดหมายโดยไม่ได้สร้างนิสัยการเรียนรู้ให้กับเด็ก เริ่มต้นเรียนก็กวดวิชากัน เพื่อให้สอบได้ มุ่งไปให้ถึงปริญญาตรีในที่ดีๆ ตั้งหน้าตั้งตาเรียนพิเศษให้เร็วๆไปข้างหน้ากัน บางโรงเรียนก็อัดทุกวิชาที่ต้องสอบให้เด็ก เพียงเพื่อให้จบแล้วก็กวดวิชาเพื่อสอบเข้าโรงเรียนอื่นๆที่ดีๆ(ตามค่านิยม) เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ คณะดีๆ ตามๆกันไป โดยไม่ได้สร้างสุนทรีย์อะไรให้เด็กๆเลย เห็นแล้วเศร้าใจแทนจริงๆค่ะ

ขอบคุณท่านอัยการฯมากๆนะคะ ที่เป็นตัวอย่างของ"ผู้ใหญ่"ที่ดีมีคุณค่าในสังคม น่าชื่นชมมากๆค่ะ

ขอบคุณครับคุณโอ๋ที่มาช่วยเติมเต็มให้บันทึกนี้ครับ กรอบพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ นั้นกำหนดกรอบการศึกษาให้ยืดหยุ่นพอสมควร เขาให้กระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่และสถานศึกษาให้สถานศึกษาสามารถคิดหลักสูตรเองได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบหลักสูตรแกนกลาง กฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องเน้นให้ความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้และบูรณาการตามความเหมาะสมในเรื่อง ความรู้เกี่ยวกับตนเองและความสัมพันธ์กับสังคม,ความรู้ด้านทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี,ความรู้เกี่ยวกับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม การกีฬา ภูมิปัญญาไทยและการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา,ความรู้และทักษะด้านคณิตศาสตร์และด้านภาษา และความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ดังนั้น โรงเรียนทางเลือกจะใช้หนังสือแบบไหนก็ได้ เรียนจากธรรมชาติก็ได้ เรียนจากการประกอบวิชิาชีพก็ได้ แต่ให้สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลาง ครับ

ขอบคุณกำลังใจจากน้องมะปรางครับ กำลังสนุกครับ ศ.นพ.ประเวศ วะสี รับปากจะมาเป็นองค์ปาฐกในวันประชาพิจารณ์ วันที่ ๒๐ ต.ค.นี้ครับ

ขอบคุณคุณหยั่งราก ฝากใบ ครับ หากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญกับการศึกษา เราจะไปรอดครับ ที่ภูเก็ตเขาแข่งกันเรื่องการศึกษา อบจ.สนับสนุนจ้างครูช่วยสอนให้กับภาครัฐปีนี้ ๔๐ ล้าน ครับ ยังสนับสนุนโครงการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีอีก ๓ แสนบาท คนภูเก็ตก็ได้รับการกระตุ้นให้ความสำคัญเกี่ยสวกับการศึกาามาแต่ในอดีต เพียงแต่กระแสสังคมในยุคปัจจุบัน ความไม่นิ่งของกระทรวงศึกษา คามคิดของผู้ปกครองรุ่นใหม่ การสอนเรื่องสิทธิของเด็กแต่ละเลยเรื่องหน้าที่ ความอ่อนแอของผู้ปกครองที่ไม่กล้าสั่งสอนบุตรหลานของตน หลายประเด็นครับ เราก็เลยคิดว่าถ้าเราทำสภาการศึกษาได้ เราจะได้ช่วยกันสร้างวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาที่มาจากท้องถิ่นจริงๆ แล้ววางแผนบริหารการจัดการศึกษา มีหลักสูตรของภูเก็ตที่มีความยืดหยุ่น แต่มีความเป็นเอกลักษณ์ครับ

การศึกษา คือ ความเจริญงอกงาม..อย่างมีคุณค่า

ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ท่านอัยการครับ

ยินดีที่ได้มีโอกาสรู้จักและพบท่านที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท