หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : ...เมื่อผู้บริหารลงพื้นที่เยี่ยมยามถามข่าวฯ


ผมถือเป็นภาพสะท้อนอันสำคัญของการสื่อให้เห็นถึง “ผลลัพธ์” ของการปฏิรูปการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาสารคามผ่านงานบริการวิชาการแก่สังคมในชื่อ “1 หลักสูตร 1 ชุมชน” โดยมุ่งให้นิสิตเป็นศูนย์กลาง มีชุมชนเป็น “ห้องเรียน” อีกห้องของการเรียนรู้ ซึ่งทั้งครู (อาจารย์) นิสิตและชาวบ้าน (ชุมชน) ล้วนเป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นการสร้างทักษะการเรียนรู้ร่วมกัน ผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีกับภูมิปัญญา เสมือนการแบ่งปัน-ต่อยอดอย่างเป็นมิตร

  

การทำสิ่งใด หากรู้ว่ามีใครอีกหลายคนเฝ้ามองและให้กำลังใจอยู่ห่างๆ  ผมถือว่า เป็นความวิเศษสุดของชีวิต  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิถีการงาน   หากผู้หลักผู้ใหญ่ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนด้วยตนเอง  ผมยิ่งถือว่าสิ่งนั้นคือ “รางวัลชีวิต” ที่คนทำงานควรได้รับอย่างยิ่งยวด

 

เฉกเช่นกับเมื่อวันที่  27 กันยายน 2555 ศาสตราจารย์พิเศษอักขราทร จุฬารัตน นายกสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดี ตลอดจนคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารและบุคลากรมหาวิทยาลัย เดินทางลงพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และหนุนเสริมกำลังใจแก่คณะผู้ดำเนินงานโครงการ 1 หลักสูตร 1 ชุมชนในชื่อโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดแก่สหกรณ์ประมงผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอำเภอโกสุมพิสัย จำกัด ซึ่งดำเนินการโดยสาขาประมง คณะเทคโนโลยี ณ ชุมชนบ้านยางน้อย อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม

 

 

ผศ.ดร.รำไพ เกณฑ์สาคู คณบดีคณะเทคโนโลยี



ในเบื้องต้นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รำไพ เกณฑ์สาคู คณบดีคณะเทคโนโลยีและแกนนำสมาชิกสหกรณ์ฯ กล่าวต้อนรับ พร้อมๆ กับการนำเสนอผลการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การเพาะไรแดง การเพาะพันธุ์ปลาสวาย การฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ โดยในช่วงท้ายผู้แทนนิสิตและแกนนำจากสหกรณ์และชุมชนได้สาธิตการฉีดฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นการตกไข่ของปลา อันเป็นภาพสะท้อนหนึ่งของการเรียนรู้ หรือองค์ความรู้และทักษะของนิสิตและชุมชนที่เกิดขึ้นจากเวทีการเรียนรู้

 

 

การบอกเล่า หรือการสื่อสารของนิสิตและชาวบ้านนั้น  ถึงแม้จะมีการตระเตรียมไว้บ้าง  หากแต่เป็นการตระเตรียมในเชิงกระบวนการเท่านั้น  หาใช่การเขียนสคริปบอกเล่าจากคณาจารย์ เพื่อสร้างฉากขานรับการมาเยือนผู้บริหาร  เพราะนิสิตและชาวบ้านล้วนบอกเล่าในสิ่งที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน  เสมือน “พูดในสิ่งที่ทำ ย้ำในสิ่งที่มี”

 

กรณีเช่นนี้  ผมถือเป็นภาพสะท้อนอันสำคัญของการสื่อให้เห็นถึง “ผลลัพธ์” ของการปฏิรูปการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาสารคามผ่านงานบริการวิชาการแก่สังคมในชื่อ “1 หลักสูตร 1 ชุมชน”  โดยมุ่งให้นิสิตเป็นศูนย์กลาง  มีชุมชนเป็น “ห้องเรียน” อีกห้องของการเรียนรู้  ซึ่งทั้งครู (อาจารย์) นิสิตและชาวบ้าน (ชุมชน) ล้วนเป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นการสร้างทักษะการเรียนรู้ร่วมกัน  ผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีกับภูมิปัญญา  เสมือนการแบ่งปัน-ต่อยอดอย่างเป็นมิตร 

 

ครับ-กระบวนการเรียนรู้ที่ว่านั้น  ผมเชื่อว่านั่นคือการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive  learning  through  action) เป็นการบูรณาการทั้งคนทั้งความรู้  ซึ่งความรู้ที่ว่านั้น ก็มิใช่จำกัดแต่ความรู้ในวิชาการเท่านั้น หากแต่บางทีก็ซ่อนแฝงนัยสำคัญของความรู้อันหมายถึง คุณธรรม จริยธรรมไปในตัว

 

ศาสตราจารย์พิเศษอักขราทร จุฬารัตน นายกสภามหาวิทยาลัยฯ

 


ผศ.ดร.ศุภชัย สมัปปิโต : อธิการบดี

 

การลงพื้นที่เยี่ยมเยียนเช่นนี้  ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทและหน้าที่ของผู้บริหารที่มีต่อการกำกับดูแลนโยบายสู่การปฏิบัติเท่านั้น  หากแต่ยังหมายถึงการหนุนเสริมกำลังใจแก่คนทำงานด้วยเช่นกัน  ช่วยให้คนทำงานไม่รู้สึกเคว้งคว้าง เดียวดาย-ไกลปืนเที่ยง  ขณะที่ชาวบ้าน หรือชุมชน  ก็มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับผู้บริหาร ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน  ซึ่งในบางประเด็นยังเป็นผลดีต่อการขยับขยายต่อยอดด้วยกิจกรรมอื่นๆ ได้อีกต่างหาก

 

การลงพื้นที่เช่นนี้  จึงช่วยให้ผู้บริหารได้สัมผัสถึงข้อมูลที่แท้จริงของชุมชน  ถึงแม้การสัมผัสรับรู้จะไม่ถึงขั้นลึกซึ้งหยั่งรากถึงประเด็นโดยแท้  แต่ด้วย “วิสัยทัศน์-ความรู้”  ของผู้บริหาร  ผมเชื่อเหลือเกินว่า ...ย่อมง่ายต่อการวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อเชื่อมโยงสู่การกำหนดเป็นนโยบายและกลยุทธต่างๆ ได้เป็นอย่างดี 

 

 

ผมชื่นชมการลงพื้นที่ของผู้บริหารเป็นอย่างยิ่ง  อย่างน้อยก็ทำให้ผู้บริหารมองเห็นการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมของมหาวิทยาลัยที่มีต่อท้องถิ่นและชุมชน  เห็นเจตนา เห็นทิศทางที่เป็นแก่นสารของนโยบาย  เห็นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงแบบมีส่วนร่วมที่ทรงพลัง  ซึ่งพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ ทั้งในมิติการเรียนการสอน (อาจารย์-นิสิต) และชาวบ้าน ผู้เป็นพระเอกตัวจริงเสียงจริงของภูมิปัญญาต่างๆ

 

 

ผมว่านี่แหละคือทิศทางการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์ของการสร้างทักษะชีวิต หรือทักษะการเรียนรู้ให้กับผู้คนในสังคม   -   ทุกๆ ฝ่ายได้รับประโยชน์เชิงสร้างสรรค์ร่วมกัน  เกาะเกี่ยวเป็นเครือข่าย  เกิดการเติบโตในเชิงการศึกษา วัฒนธรรม  สิ่งแวดล้อม  หรือแม้แต่เศรษฐกิจชุมชนที่เริ่มจากฐานรากเล็กๆ ไปในตัว  และวันดีคืนดี ชาวบ้านอาจเติบโตเป็น “นักวิจัย” ผ่านกระบวนการเรียนการสอนเช่นนี้ด้วยก็เป็นได้

 

 

อธิการบดีบอกเล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยง "ไรแดง"


 

ครับ-เมื่อเดินทางมาถึงขณะนี้  ผมเชื่อเหลือเกินว่า 1 หลักสูตร 1 ชุมชน  คงไม่เพียงก่อเกิดการปฏิรูปการศึกษาของมหาวิทยาลัยเท่านั้น  หากแต่อาจส่งผลเล็กๆ สู่กระบวนการทำแผนพัฒนาชุมชนร่วมกับชาวบ้านด้วยเหมือนกัน  เพราะสิ่งที่ค้นพบนั้น  ล้วนเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการนำไปบูรณาการเป็นแผนแม่บทของชุมชน  ขึ้นอยู่กับว่าภาคท้องถิ่นจะเห็นความสำคัญกี่มากน้อย และมหาวิทยาลัยมีทิศทาง และศิลปะในการนำเสนอสิ่งเหล่านั้นให้เกิดเป็นพลังอย่างไรเท่านั้นเอง

 

 

เหนือสิ่งอื่นใด  ขอชื่นชมคณะผู้บริหารที่สัญจรลงพื้นที่เพื่อ "เยี่ยมยามถามข่าว" การขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติของบุคลากรและนิสิต ผ่านกลไกการเรียนการสอนในเวทีงานบริการวิชาการแก่สังคม (1 หลักสูตร 1 ชุมชน)  ที่มุ่งจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม และมุ่งสร้างปรากฏการณ์การปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่อันเป็น “ท้องถิ่น-ชุมชน”  ด้วยการดึงทรัพยากรทั้งหมดจากทุกภาคฝ่ายมาบูรณาการสู่การเรียนรู้  (All for Education)  เข้าด้วยกัน  โดยมีมหาวิทยาลัยเป็นพลังขับเคลื่อนอย่างค่อยเป็นค่อยไป  เพื่อให้ชุมชนตื่นตัว และสามารถเดินเคียงบ่าเคียงไหล่กับมหาวิทยาลัยได้อย่างเท่าทัน  เป็นการลดช่องว่าง หรือความเลื่อมล้ำทางการศึกษาไปในตัว

 

ครับ-เป็นการเดินเคียงบ่าเคียงไหล่อย่างมีคุณค่าในตัวเอง หาใช่เดินตามเพราะถือว่ามหาวิทยาลัยเป็นผู้รู้มากกว่าชาวบ้าน-

 

 

 


และสำหรับนิสิตนั้น  นี่คือความรู้สึกที่นิสิตบอกเล่าใฟ้ผมฟัง

 

  • มีความสุขกับการเรียนรู้แบบนี้มาก  เพราะได้ฝึกปฏิบัติจริงภาคสนาม  ทั้งบ่อดินและบ่อซีเมนต์
  • มีความสุขกับการเรียนรู้ เพราะได้เรียนรู้ร่วมกับชาวบ้าน ได้รู้ถึงภูมิปัญญาการลี้ยงปลาตามวิถีชาวบ้านที่ไม่เคยรู้มาก่อน
  • มีความสุขกับการเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชน  เห็นความงดงามของน้ำใจชาวบ้าน
  • มีความสุขกับการทำงานเป็นทีมร่วมกับเพื่อนๆ
  • มีความสุขกับการได้ฝึกทักษะการสื่อสารในที่สาธารณะ  ซึ่งแตกต่างไปจากการนำเสนองานหน้าชั้นเรียน / ห้องเรียนในมหาวิทยาลัย 
  • ฯลฯ

     
หมายเลขบันทึก: 504280เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2012 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

" การแบ่งปันต่อยอดอย่างกัลยาณมิตร"..ประสานภูมิปัญญาแบบบูรณาการ ขยายผลจากรุ่นสฺู่รุ่น คือความยั่งยืนของการเรียนรู้..ขอบคุณที่นำมาถ่ายทอดต่อช่นนี้ค่ะ..

 

  • สวัสดีค่ะท่านBlank แผ่นดิน 
  • ขอให้มีสุขภาพแข็งแรงนะคะ
  • มาให้กำลังใจค่ะ

อ่านแล้วชอบค่ะ...ภูมิปัญญาชาวบ้านผ่านกระบวนการวิจัย ทำให้ชัดเจนในการ “พูดในสิ่งที่ทำ ย้ำในสิ่งที่มี”

มีความสุขทุกครั้งที่ได้สัมผัส. ........ขอเป็นกำลังใจค่ะ. ไม่มีที่ใดปราศจาก เรื่องราวที่น่าเรียนรู้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท