การศึกษาไทย กับศตวรรษที่ ๒๑


การศึกษาไทย กับศตวรรษที่ ๒๑

ผมได้รับจดหมายดังนี้

 

 

โดยมีเอกสารแนบ ดังต่อไปนี้

 

          ประเด็นคำถามเพื่อลงในวารสาร School in focus ฉบับที่ 11 สัมภาษณ์ ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช

๑. นโยบายของการศึกษาควรจะต้องขับเคลื่อนอย่างไรเพื่อให้สอดคล้องกับการศึกษาในศตวรรษที่ 21

๒. โรงเรียนจะเตรียมพร้อมอย่างไรให้แก่ทั้งผู้บริหาร ครู และนักเรียนเมื่อเข้าสู่การศึกษาในศตวรรษที่ 21

๓. มองว่าอะไรที่การศึกษาไทยยังขาดและต้องเร่งยกระดับเพื่อเข้าสู่การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมี ประสิทธิภาพ

๔. นักเรียนต้องพัฒนาตนเองเช่นไรบ้างเพื่อเตรียมพร้อม เพื่อจะพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ไปจนถึงทักษะที่จะต้องมี เมื่อเข้าสู่การทำงาน

๕. ผู้ปกครองจะมีส่วนร่วมสนับสนุนด้านใดได้บ้างทั้งแก่ตัวนักเรียนและโรงเรียน

 

          ผมถือเป็นโอกาสดี ที่จะสื่อสารกับครู และผู้คนในวงกว้างเพื่อหาทางรวมพลังผู้คนในสังคมไทย ดำเนินการกอบกู้ระบบการศึกษาไทย    ให้กลับมาเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่ความเข้มแข็ง    ไม่ใช่เป็นตัวการสร้างความอ่อนแอแก่สังคมอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

          คำถามข้อ ๓ คือหัวใจ หรือภาพรวมของการศึกษาไทยในขณะนี้   คำตอบคือไม่ใช่ปัญหาของความขาดแคลน    แต่เป็นปัญหาของการทำมากเกินไป   และซ้ำร้ายทำแบบมิจฉาทิฐิ หรือเดินผิดทาง

 

          สิ่งที่มากเกินไป คือการควบคุมและสั่งการ จากส่วนกลาง   เป็นการบริหารการศึกษาของประเทศแบบควบคุมและสั่งการ   หรืออำนาจรวมศูนย์   มีผลทำให้ครูและผู้บริหารระดับล่างๆ ขาดความมั่นใจตนเอง ขาดทักษะในการคิด ขาดความริเริ่มสร้างสรรค์    และขาดความรับผิดชอบต่อผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของนักเรียน  

 

          โรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียน และครู ไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลสัมฤทธิ์ของศิษย์   นี่คือสิ่งที่ผมเรียกว่ามิจฉาทิฐิ

 

          มีอีกหลายส่วนเลยมิจฉาทิฐิไปสู่การฉ้อโกง (คอรัปชั่น) เช่นการซื้อตำแหน่ง  การว่าจ้างทำผลงาน

 

          เรานัดไปคุยกันที่มูลนิธิสดศรีฯ บ่ายวันที่ ๒๓ ส.ค. ๕๕   ทางอักษรเจริญทัศน์ยกขบวนมาถึง ๖ คน    นำโดยคุณวสันต์ สว่างศรีงาม ผู้อำนวยการสายพัฒนาธุรกิจ

 

          เนื่องจากทางอักษรเจริญทัศน์มีผู้ใหญ่มาร่วมคุย   และเอาหนังสือคู่มือครูมาให้ดู   รวมทั้งเอาตัวอย่างวารสาร School in Focus มาให้ดูด้วย    ผมจึงบอกว่า คำถามที่ให้มาตกข้อที่ ๖ ไป    คือ ๕ ข้อที่ถาม ถามบทบาทของผู้ปกครอง ครู โรงเรียน ฯลฯ    จึงควรเพิ่มคำถามข้อ ๖ ว่า บริษัทอักษรเจริญทัศน์ควรทำอะไร    ผมเสนอว่า บริษัทฯ ควรเข้ามาร่วมขบวนการขับเคลื่อนการศึกษาไทย   อย่างน้อยก็ในวารสาร School in Focus    โดยเอาเรื่องราวด้านบวก ด้านทำถูกต้องเหมาะสมต่อการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ ออกสื่อสาร ยกย่อง และหาทางสนับสนุนให้ทำได้กว้างขวางเชื่อมโยง และลึกซึ้งยิ่งขึ้น

 

          ผมชี้ให้เห็นว่า ระบบการศึกษาไทยยังเน้นสอนวิชา เน้นให้รู้วิชา เน้นถูก-ผิด ซึ่งเป็นลักษณะของการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๐ โดยหลักสูตรกำหนดตายตัวให้ครูทำ-ไม่ทำ อะไรบ้าง    ทำให้ครูไม่ได้ฝึกหรือเรียนรู้ทักษะการคิด    ครูมุ่งสอนตามสูตรและสาระวิชาที่กำหนดไว้ตายตัว    ก็จะไม่ได้การเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ ๒๑    และถ้าหนังสือของบริษัทอักษรเจริญทัศน์ก็เน้นสาระที่ตายตัวเช่นเดียวกัน    ก็จะยิ่งตอกย้ำให้ครูยึดถือการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๐    คุณวสันต์บอกว่า ทางสำนักพิมพ์ก็ตกอยู่ใต้อาณัติของกระทรวงศึกษาธิการด้วย    คือต้องส่งร่างต้นฉบับหนังสือไปให้กระทรวงฯ รับรอง    จึงจะเป็นหนังสือที่ได้รับการยอมรับ    และกระทรวงฯ ก็เน้นตรวจสาระที่ตายตัว รวมทั้งรูปแบบตามที่ยึดถือต่อๆกันมา

 

          คุณวสันต์ชี้ให้ดูหลักการ 5E ในการเรียนรู้ เริ่มจาก Engagement    ผมชี้ว่า ขาด A ไปหนึ่งตัว    คือ Activity ซึ่งหมายความว่า การเรียนรู้สมัยใหม่ ต้องเรียนจากการลงมือทำกิจกรรม

 

          การพบปะกันครั้งนี้ ก่อความสัมพันธ์สืบเนื่องระหว่าง บริษัทอักษรเจริญทัศน์ กับ มสส. ซึ่งจะได้เล่าในโอกาสต่อไป

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ก.ย.๕๕

หมายเลขบันทึก: 504277เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2012 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท