บทสรุปกฎหมายพระเจ้ามังราย : ปริวรรษจากคัมภีร์โบราณ


มังรายศาสตร์หรือกฎหมายพระเจ้ามังราย เป็นกฎหมายซึ่งบัญญัติขึ้นโดยพระเจ้ามังรายเป็นกษัตริ์ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นในปี พ.ศ.1835 ซึ่งเป็นช่วงที่พ่อขุนรามคำแหงทรงครองราชย์อยู่ที่อาณาจักรสุโขทัย ลักษณะของมังรายศาสตร์นั้นคล้าย ๆ กับ นำเอาคำพิพากษา หรือ นำเอาคำชี้ขาดตัดสินคดีบัญญัติใหม่ โดยนำมาเรียบเรียงตามมาตรา ๆ จัดหมวดหมู่เป็นเรื่อง ๆ เป็นลักษณะทั่วไป

บทสรุปกฎหมายพระเจ้ามังราย : ปริวรรษจากคัมภีร์โบราณ

มังรายศาสตร์หรือกฎหมายพระเจ้ามังราย  เป็นกฎหมายซึ่งบัญญัติขึ้นโดยพระเจ้ามังรายเป็นกษัตริ์ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นในปี พ.ศ.1835  ซึ่งเป็นช่วงที่พ่อขุนรามคำแหงทรงครองราชย์อยู่ที่อาณาจักรสุโขทัย ลักษณะของมังรายศาสตร์นั้นคล้าย ๆ กับ นำเอาคำพิพากษา หรือ นำเอาคำชี้ขาดตัดสินคดีบัญญัติใหม่ โดยนำมาเรียบเรียงตามมาตรา ๆ จัดหมวดหมู่เป็นเรื่อง ๆ เป็นลักษณะทั่วไป   ถ้าดูจากกฎหมายลักษณะนี้แล้วจะเห็นว่าคล้ายกับคำพิพากษาของศาล  สำหรับมังรายศาสตร์ฉบับที่เก่าแก่ที่สุด  ได้แก่ฉบับที่ลานนาสีโหภิกขุได้มาจากวัดเสาไห้ จังหวัดสระบุรี  ภาษาและตัวหนังสือที่ใช้เขียนเป็นภาษาไทยยวน  แล้วก็จารลงไปในในลาน  48  ใบทั้งสองหน้า  เว้นแต่ใบสุดท้ายซึ่งมีเพียงหน้าเดียว  นอกจากนี้ก็ยังมีฉบับอื่น ๆ อีก  ยังมีอีกฉบับหนึ่งชื่อว่า  นาตัง  คำว่า  นาตังเข้าใจว่าเป็นพวกทูตหรือชาวฝรั่งเศสได้ต้นฉบับมาแล้วก็ใช้ชื่อฉบับนาตัง  ซึ่งเป็นกระดาษโรเนียวแล้วนำมาเย็บเป็นเล่ม

          บทบัญญัติที่ต้องศึกษาในมังรายศาสตร์นั้นแยกได้เป็นสองส่วนคือ[1]

          ส่วนที่ 1 ความผิดที่เกี่ยวกับลักษณะอาญา

          ส่วนที่ 2 ลักษณะที่เกี่ยวกับการลงโทษ

          ในลักษณะที่เป็นอาญานั้นก็มีที่ต้องศึกษาในบางลักษณะ คือ

1. ความผิดร้ายแรงที่ยอมให้ฆ่าผู้กระทำความผิดได้

          ก็เป็นความผิดในลักษณะที่จะเรียกว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตนเองได้  เหตุที่กฎหมายอนุญาตให้ผู้เสียหายฆ่าผู้กระทำความผิดมีดังนี้

(1).ฆ่าชู้และเมียด้วยกันในที่ระโหฐานคือที่สงัด  ก็มีเป็นลักษณะเป็นการป้องกันเกียรติชื่อเสียงของสามี  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  68  เป็นการละเมิดสิทธิแล้วทำการป้องกัน  จะเห็นได้ว่าในเรื่องการละเมิดสิทธิของภริยานั้น  เป็นลักษณะของการกระทำผิดในทางแพ่ง  คือละเมิดสิทธิในทางแพ่งบรรพ 5 เสียมากกว่า การที่ยอมให้ฆ่าได้ทั้งภรรยาและชายชู้นั้น  ในประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  68  ก็ไม่ได้เขียนไว้ แต่เป็นเรื่องของศาลที่แปลความในภายหลัง ถ้าศึกษาในภาค 1 ของประมวลอาญามีคดีแยกแยะในกรณีที่สามีฆ่าภรรยาและชายชู้ในขณะทำชู้  และศาลบอกว่าทำได้ไม่ผิด  ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโบราณประมาณ 700 ปีมาแล้ว

          ในกฎหมายต่างประเทศไม่ได้ยกเว้นไว้  แต่ส่วนมากจะออกมา ในลักษณะบันดาลโทสะมากกว่า คือ  หมายความว่า  ถ้าสามีไปฆ่าภรรยาขณะทำชู้  ก็ต้องดูว่าศาลจะลดหย่อนผ่อนโทษได้แค่ไหนในเรื่องบันดาลโทสะ  มีมลรัฐเท็กซัสเพียงรัฐเดียวที่อนุญาตให้ฆ่าได้อย่างกฎหมายในไทย

          (2)  ฆ่าขโมยซึ่งไล่จับได้ทั้งของกลางในมือ เป็นเรื่องป้องกันทรัพย์สินถ้าเทียบกับกฎหมายปัจจุบันนี้ทำไม่ได้  แต่ถ้าผู้กระทำผิดมีอาวุธอยู่ในมือ  เช่น  ปืน  มีด  ในลักษณะที่จะเป็นอันตรายต่อเจ้าทรัพย์  ในลักษณะนี้เจ้าทรัพย์ก็อาจป้องกันได้

            (3)  เจ้าบ้านฆ่าผู้ถือหอกดาบมาถึงที่อยู่   ก็เป็นการป้องกันโดยแท้   เพราะเป็นอันตรายที่ใกล้จะถึงการละเมิดสิทธิ

          (4)   เจ้าบ้านผู้ที่ลอบเข้ามาในบ้านผิดกาละ  คือในเวลากลางคืน  ในปัจจุบันต้องดูกันเป็นเรื่อง ๆ ในสมัยนั้นอนุญาตให้ป้องกันได้

          (5)   เจ้าบ้านฆ่าคนร้ายที่มาซัดทุบเรือนตอนกลางคืน  คือ  มาขว้างปาอะไรต่าง  ๆ แสดงให้เห็นว่าน่าจะมีอันตรายได้ง่าย  ซึ่งไม่แน่ว่าจะร้ายแรงแค่ไหน  เจ้าบ้านก็มีสิทธิที่จะป้องกันได้

2. การจับกุมผู้กระทำความผิด

          ถือว่าเป็นลักษณะของวิธีพิจารณาความ  ในกฎหมายสมัยก่อนได้รวมเอาวิธีพิจารณาความไปรวมไว้ในลักษณะอาญาเหมือนกัน  และในสมัยก่อนวิธีพิจารณาก็ไม่ได้ละเอียดลึกซึ้งเหมือนในปัจจุบัน

          ในลักษณะของการจับกุมนั้นได้วางหลักไว้ว่า  ถ้าจะจับกุมผู้กระทำความผิดผู้จับสามารถจะใช้กำลังในลักษณะที่เหนือกว่า   เพื่อให้การจับกุมบรรลุผล  แต่ถ้าหากว่าผู้กระทำความผิดไม่ได้ต่อสู้  ก็ต้องจับกุมโดยละม่อม   ถ้าผู้หลบหนีไม่ได้ต่อสู้  หรือถูกจับได้แล้ว  ก็ไม่อาจจะฆ่าเขาได้   ถ้าฆ่าผู้ฆ่ามีความผิดต้องเสียค่าสินไหม

3. การกำหนดโทษสถานหนัก

โทษที่กำหนดไว้หนักสำหรับความผิดบางประเภทโดยเฉพาะ  โทษสถานหนักมี 3  สถาน  คือ

1. ประหารชีวิต

2. ตัดตีนตัดมือ

3. เอาไปขายเสียต่างเมือง

สำหรับสถานหนักมี  12  ประเภท  ดังนี้

1. ฆ่าผู้ไม่มีความผิด

2. ฆ่าท่านเอาทรัพย์

3. ทำลายกุฏิวิหารพระพุทธรูป

4. รุกล้ำที่ (รุกท่าผ่าทาง)

5. ชิงทรัพย์ท่าน

6. ลักของพระสงฆ์

7. ลูกฆ่าพ่อ

8. ลูกฆ่าแม่

9. น้องฆ่าพี่

10.ฆ่าเจ้า

11.เมียฆ่าผัว

12.รับผู้คนของท้าวพระมาพักในบ้าน

      จะเห็นได้ว่าในสมัยก่อน  ความผิดที่เกี่ยวกับครอบครัวมีลักษณะเด็ดขาด  เช่น  มารดามีอำนาจเหนือบุตร  จะฆ่าทิ้งหรือขายเสียก็ได้  ฉะนั้น  ถ้าลูกฆ่าพ่อหรือฆ่าแม่จึงมีโทษสถานหนัก  สำหรับน้องฆ่าพี่แสดงว่าในสมัยก่อนนั้น  ระบบผู้อาวุโสเยาว์ต้องเคารพผู้อาวุโสกว่าเมื่อฆ่าผู้อาวุโสกว่าต้องถูกลงโทษสถานหนักเช่นเดียวกับเมียฆ่าผัวต้องถูกลงโทษสถานหนัก

4. สาเหตุการวิวาทกัน

          น่าจะนำมาจากพระธรรมศาสตร์  ได้บัญญัติโดยถือสาเหตุวิวาทกัน  หมายความว่าคนเราจะทะเลาะวิวาทกันแล้วจำเป็นต้องมีกฎหมายมาชี้ขาด  ซึ่งตามคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มีสาเหตุทั้งหมด  29  ข้อ  จึงเข้าใจว่ามังรายศาสตร์นั้นปรับปรุงสาเหตุวิวาทกันจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์แล้วปรับปรุงให้เหลือเพียง  16  ประการคือ

  1. กู้ของท่าน  เป็นลักษณะการกู้
  2. ยืมของท่าน  เป็นลักษณะการยืม
  3. รวมทุนกันทำการค้าหากำไร  เป็นลักษณะของนิติกรรมสัญญา
  4. รับจ้างทำงานไม่สำเร็จ  ละทิ้งงานเสีย
  5. ให้ของแล้วจะขอคืน
  6. ปลอมแปลงของซึ่งไม่มีวิญญาณ
  7. ต่อยกัน
  8. ผัวเมียจะอย่ากัน  เป็นลักษณะกฎหมายครอบครัว
  9. รักเมียท่านจับมือถือนม
  10. แย่งทรัพย์และมรดก
  11. ฝากของกันไว้
  12. ของสูญเสียไป
  13. ได้คืนไม่ครบถ้วน
  14. ของน้อยอ้างว่าของมาก
  15. การเล่นพนัน
  16. เหตุระหว่างคนเลวคนดี  อาจจะมีการทะเลาะกันระหว่าบิดากับมารดา  หรือระหว่างบิดามารดากับบุตร

5. ลักษณะวิวาท (การวิวาทด่าตี)          

ลักษณะวิวาทนั้นมีการกำหนดค่าปรับ  ไม่ถือเป็นความผิดร้ายแรง  ซึ่งการกำหนดค่าปรับก็ต้องดูว่า  คนที่ได้รับบาดเจ็บนั้นถึงแก่ความตาย  เสียอวัยวะหรือไม่เสียก็กำหนดค่าปรับความหนักเบา การกำหนดโทษสำหรับความผิดและโทษสำหรับผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดคือถ้าผู้ใช้ตกลงให้ไปฆ่าผู้อื่นแต่ไม่ได้ฆ่าให้ปรับ  330  เงิน  โดยให้ผู้ว่าจ้างและผู้รับข้างเสียเงินคนละครึ่ง

            การป้องกัน  ถ้าดูตามตัวบทแล้ว  ก็หมายความว่า ให้เปรียบเทียบความร้ายแรงของอาวุธ  ถ้าอาวุธร้ายแรงก็อาจจะป้องกันด้วยอาวุธที่เหนือกว่าหรือใกล้เคียงกันได้ถ้าไม่ได้ใช้อาวุธที่ร้ายแรง  แต่ไปใช้อาวุธที่ร้ายแรงเกินไป  ไม่ถือว่าเป็นการป้องกัน

 

 

6. ลักษณะใส่ความ

            หมายถึงทำให้เขาเสียชื่อเสียง  เช่นใส่ความเขาว่าเขารู้เห็นด้วยกับการกระทำความผิดอะไรต่าง ๆ การใส่ความเขาก็มีโทษปรับ

7.ลักษณะลักทรัพย์และลักพา

            จะเห็นว่าความผิดฐานลักทรัพย์และลักพาในสมัยก่อนนั้นมีการลักนก  ไก่  เป็ด  วัว   ควาย  ม้า    ช้าง ซึ่งส่วนมากจะเป็นพวกสัตว์  ในกฎหมายลักษณะลักทรัพย์หรือลักพา มีบทบัญญัติในเรื่องการป้องกัน คือ ให้ราษฎรมีหน้าที่ระมัดระวังจับกุมคนร้าย 

คล้ายกับกฎหมายโจรห้าเส้น  โดยให้ราษฎรที่อยู่ในท้องที่เกิดเหตุ  ต้องรับผิดชอบในความผิดที่เกิดขึ้น  เมื่อต้องรับผิดร่วมในความเสียหายที่เกิดขึ้น   ก็ต้องช่วยกันไม่ให้ความผิดเกิดขึ้นมีชื่อว่ากฎหมายโจร  16  หลังคาเรือน

            สำหรับกฎหมาย  16  หลังคาเรือน  หมายความว่า  ในหมู่บ้านหนึ่ง ๆ มี 16 หลังคาเรือน หมายความว่า ในหมู่บ้านหนึ่ง ๆ มี  16  หลังคาเรือน ถ้าหนึ่งบ้านใดเกิดมีทรัพย์สูญหายโดยไม่มีร่องรอย  กฎหมายให้ทุก ๆ คนที่อยู่ในหมู่บ้านนั้น จะต้องรับผิดในความเสียหายเกี่ยวกับสิ่งของที่ถูกลักพาไป  และต้องมีหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิด  เมื่อจับได้แล้วก็สอบดูว่า  บุคคลนั้นเคยกระทำผิดมาก่อนหรือไม่แล้วให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน 4 เท่าหรือ 5 เท่า แล้วขับออกไปเสียจากหมู่บ้านนั้น

8.ลักษณะซ่อน  อำ  และลัก

            คำว่า   ซ่อน  มีลักษณะคล้าย ๆ กับรับของโจร  แต่กว้างกว่าคือรวมทั้งรู้เรื่องหรือไม่รู้ด้วยว่าทรัพย์ที่นำฝากไว้เกิดจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ฉะนั้น  รู้หรือไม่รู้ก็ผิดทั้งนั้นเพียงแต่ปรับมากน้อยต่างกัน  แต่ในปัจจุบันรับของโจรจะต้องรู้ว่าทรัพย์นั้นเกิดจากความผิดฐานลักทรัพย์

            ส่วนคำว่า อำ หมายถึงอำพราง  คือ  ปิดบังหรือเบียดบังก็มีในเรื่องการเบียดบังทรัพย์ประเภทขุมทรัพย์  ซึ่งปัจจุบันก็เป้นความผิดฐานยักยอก

            คำว่า  เจตนาทุจริต  สรุปมาจากตัวบทว่า  ถ้ามี 2 คน  ไปฝากของที่เหมือนกันเวลาจะเอาคืนกลับไปเอาของอีกบุคคลหนึ่ง  โดยรู้ว่าของเหมือนกันแต่ไม่ใช่ของของตนแสดงว่ามีเจตนาจะลักทรัพย์เป็นเจตนาทุจริตไป

9. ลักษณะหนี้

            เป็นเรื่องการกู้ยืม  จะเห็นได้ว่าในสมัยก่อนมีการกู้ยืม การค้ำประกัน  กล่าวคือในการกู้ยืมมีการคิดดอกเบี้ย  โดยปกติจะคิดดอกเบี้ยทบต้นไม่ได้  เว้นแต่จะได้บอกกล่าวแก่ลูกหนี้แล้วว่า  ได้ชำระหนี้หรือดอกเบี้ยแล้ว จึงจะเอาดอกเบี้ยมาทบต้นได้

            สำหรับการค้ำประกัน  จะเห็นว่าผู้ค้ำประกัน  โดยหลักรับผิดเฉพาะต้นเงินเท่านั้น  แต่ดอกเบี้ยไม่ต้องรับผิดการบังคับชำระหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่มีเงินชำระหนี้  ให้ขายลูกไปก่อนเพราะลูกได้ทำให้ทรัพย์งอกขึ้นมา  แต่มีที่นายังทำให้ทรัพย์งอกขึ้นมาได้  การบังคับชำระหนี้ปกติไม่ใช่เรื่องที่เจ้าหนี้จะไปบังคับหนี้ด้วยตนเอง  จะต้องบังคับโดยศาลหรือเจ้าหน้าที่ของบ้านเมือง  ถ้าหากว่าเจ้าหนี้ไปบังคับด้วยตนเอง  ก็ต้องถูกลงโทษแน่ เช่น ถ้ามีดอกเบี้ยก็ไม่ให้คิดดอกเบี้ยเป็นต้น

10. ลักษณะหมั้น

            กฎหมาย วางหลักไว้ว่า  ถ้าไปหมั้นลูกสาวหรือหลานสาวเขา  จะไปแต่งงานต้องไปแต่งตามที่ได้ตกลงกันเอาไว้  หากไม่ไปตามสัญญาที่ว่าไว้  ถ้าพ่อแม่หรือพี่น้องฝ่ายหญิงคู่หมั้นคนเดิมจะกล่าวอะไรไม่ได้  เพราะถือว่าฝ่ายชายผิดสัญญา การไปหมั้นนั้นก็มีทรัพย์สินที่เรียกว่า  ของหมั้น  ชายเอาของหมั้นไปหมั้นลูกหลานผู้อื่น  พ่อแม่หญิงยินยอมแต่ตัวหญิงไม่ยินยอม  จึงหนีไปอยู่กับชายที่หญิงนั้นชอบ ให้ไหมค่าขันหมากนั้นให้แก่ชาย 11,000  เบี้ย แล้วภายหลังหญิงเปลี่ยนใจไม่อยู่กับชายอื่น  ให้รับค่าขันหมาก 22,000  เบี้ยและเงินค่าตัวหญิงให้ใส่คืนด้วย ส่วนของชายที่หญิงนั้นหนีไปอยู่ด้วยก็ต้องถูกปรับด้วย  เพราะผิดเมียท่านในขันหมาก  จริงอยู่ในขณะหมั้นชายมิได้มีสิทธิในตัวหญิงนั้นก็ตาม  แต่ทั้งคู่ทำสัญญาตกลงกันในโอกาสข้างหน้า อย่างน้อยชายก็มีโอกาสมีส่วนได้เสียในตัวหญิงนั้น  เพราะฉะนั้นเมื่อชายอื่นมาหาหญิงนั้นหนีไป  ก็ให้ปรับมากหรือน้อยก็ดูว่าชายนั้นทราบหรือไม่  ว่าหญิงนั้นมีคู่หมั้นแล้วหรือยังแต่ถ้าหญิงนั้นและพ่อแม่ไม่ยินยอม  ก็ไม่ถือว่าเป็นการหมั้นซึ่งจะเห็นได้ว่าความยินยอมของบิดา  ถือว่าเป็นเรื่องที่จะต้องมีในลักษณะหมั้น

11. ลักษณะอย่า

            ลักษณะอย่าก็เปลี่ยนเสียใหม่ว่า  การสิ้นสุดแห่งการสมรสเพราะกินความกว้างกว่าเรื่องที่สำคัญก็คือ   การสิ้นสุดแห่งการสมรสอาจจะเกิดจากการอย่าในความสมัครใจก็ได้  ถ้าทั้งคู่สมัครใจอย่าก็ให้อย่ากัน  แต่ต้องคืนค่าขันหมากให้กับชาย  ส่วนเงินของที่นำมาใช้จ่ายในการซื้อเครื่องนุ่งห่ม หรือใช้จ่ายกินอยู่ด้วยกันจะเรียกคืนไม่ได้ และในกรณีที่สามีซื้อภรรยาไว้แล้ว  เกิดเปลี่ยนใจละทิ้งภรรยาไปมีภรรยาใหม่หญิงจะขอคืนค่าตัวก็ไม่ยอมรับ ก็ต้องรอให้ครบ  3  ปี  จึงจะตัดสินว่าอย่าขาดจากกันได้  และหญิงขอคืนค่าตัวตามที่ตกลงกันไว้ได้

12. การแบ่งสินสมรส

            ข้อสังเกตก็คือว่า  มีลักษณะเป็นการรวบรวมข้อชี้ขาดทางแพ่ง  โดยเฉพาะค่าสินไหมเป็นราย ๆ ไป  ไม่ได้เป็นเรื่องการวางหลักเกณฑ์เหมือนในกฎหมายแพ่งปัจจุบันจะมาดูว่าตรงนี้แบ่งเท่านี้  เท่านั้นไม่ได้  เพราะไม่ได้วางหลักเกณฑ์เอาไว้  แต่เป็นเรื่องการพิพาทขึ้นมาของที่หามาได้หลังแต่งงานให้แบ่ง  3 ส่วน  โดยให้หญิง  2  ส่วน  ชาย  1  ส่วนและหากมีลูกชายหรือหญิงให้ไว้แก่ภรรยา พ่อแม่เป็นเพื่อนกัน ให้ลูกแต่งงานกัน  ทั้งสองฝ่ายมีข้าวของเงิน ทองเท่า ๆ กันถ้าต้องการอย่ากัน  ของฝ่ายชายให้คืนแก่ฝ่ายชาย  ของฝ่ายหญิงให้คืนแก่ฝ่ายหญิง  สมบัติที่หามาได้ให้แบ่งคนละครึ่ง  ถ้ามีลูกหญิงให้ฝ่ายหญิง  ถ้ามีลูกชายให้ฝ่ายชายถ้าทั้งคู่ตายให้สมบัติเป็นของลูกไป  และถ้าไม่มีก็ให้ญาติฝ่ายหญิงกับฝ่ายชายคนละครึ่ง

ตายทั้งสามีภรรยา  ให้สมบัติเป็นของพ่อแม่ฝ่ายหญิง

 

 

13.  ลักษณะมรดก

            ในสมัยก่อนยังไม่มีการเขียนที่แพร่หลาย   เพราะฉะนั้นการที่จะยกทรัพย์ให้ใครโดยมากมักจะใช้พยานบุคคลเป็นสำคัญ  กฎหมายจึงเขียนไว้ว่าพ่อแม่มีลูกหลานหลายคน  พ่อแม่สั่งไว้อย่างไรมีพยานรู้เห็นก็เป็นไปอย่างนั้นแต่ถ้าพ่อแม่ตายโดยไม่ได้สั่งเอาไว้  ให้พิจารณาแบ่งให้ลูกแต่ละคนตามแต่ความเหมาะสม เช่น ให้ลูกผู้หญิงไปกินนาอยู่กับขุน  2  ส่วน  เพราะพ่อแม่ยังหวังพึ่งได้อยู่บ้างให้ลูกไปค้าขาย  2  ส่วน  เพราะพ่อแม่สูญเสียทรัพย์ไปทั้งหมดยังหวังพึ่งลูกได้ให้ลูกผู้ไปบวช  5  ส่วน  เพราะเป็นผู้ช่วยให้พ่อแม่พ้นทุกข์  ส่วนลูกสาวที่อยู่ให้รักษาพ่อแม่ไม่ให้ทรัพย์สมบัติสูญหายให้ได้ส่วนแบ่ง    6    ส่วน  จะเห็นได้ว่าแบ่งตามความดีต่าง ๆ ของลูกไม่มีหลักเกณฑ์ข้าวของที่บิดามารดาซึ่งถูกโจรแย่งชิงไป  หรือถูกผู้มีอำนาจข่มเหงแย่งชิงเอาไป และพ่อแม่ไม่สามารถคืนมาได้ในระหว่างที่มีชีวิต  หากคนใดสามารถเอาคืนมาได้หลังจากพ่อแม่ตายไปแล้ว  ตกเป็นของบุตรที่ได้ทรัพย์นั้น  ไม่ให้เอามาแบ่งกันบิดามารดาคนใดให้ของแก่บุตรโดยเสน่หาในระหว่างมีชีวิตอยู่  เมื่อบิดามารดาตายไปแล้ว  ไม่ควรนำเอาของนั้นมาแบ่ง  แต่ถ้าให้ลูกยืมไปทำทุนเมื่อแม่ตาย  ก็เอาต้นเงินนั้นมาแบ่ง  ส่วนกำไรก็ให้เป็นของลูกผู้นั้น ถ้าลูกเมียเบียดบังเอาส่วนหนึ่งส่วนใด  เช่นลูกเอาของไปซ่อนไว้  หากรู้ทีหลังก็ให้เอาของนั้นมาแบ่งกัน  แต่ไม่ให้ปรับไหมลูกเพราะของนั้นเป็นของพ่อแม่เขา

 



[1] กฎหมายมังรายศาสตร์หรือกฎหมายพระเจ้ามังรายผู้ครองเมืองเชียงใหม่,ฉบับใบลานวัดหย่วน,ตำบลหย่วน,อำเภอเชียงคำ,จังหวัดพะเยา.

หมายเลขบันทึก: 504276เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2012 11:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2012 11:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท