ประสบการณ์ตรงการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในระดับบัณฑิตศึกษา ภาควิชาชีวสถิติ มหาวิทยาลัยมหิดล


ผู้เขียนจบการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ในหลักสูตรการพัฒนาระบบสารสนเทศสาธารณสุข จากภาควิชาชีวสถิติ  คณะสาธารณสุขศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเกือบ 20 ปี แล้ว สมัยนั้น หัวหน้าภาควิชาคือท่านอาจารย์รำไพ สุขสวัสดิ์ณ อยุธยา  บัณฑิตศึกษาที่ผู้เขียนได้ร่วมเรียนด้วย ประกอบด้วย นายแพทย์ชัยฤทธิ์  กฤษณะ  จิตแพทย์จากโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา  พี่เสาวลักษณ์  เจริญสิทธิ์ นางพยาบาลจากโรงพยาบาลจุฬาฯ และน้องณัฐกานต์  พงษ์อุดม  สัตวบาลสาว จากสถาบันเทคโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  รวมทั้งตัวผู้เขียนเอง  เราทั้ง  4 คน ต่างคนต่างมาจากต่างสาขาอาชีพชีพ  มาเรียนรู้ร่วมกัน ณ สถาบันการศึกษาแห่งนี้

 

 

 

เป็นความทรงจำที่ดี….ไม่ว่าจะเป็นคุณหมอชัยฤทธิ์ ที่ทิ้งคราบของจิตแพทย์ ลงมาเรียนร่วมกันในชั้นเรียน  หมอเป็นพี่ชายที่แสนดี และเป็นเพื่อนที่สุดแสนจะวิเศษในความรู้สึกของผู้เขียน  แม้กระทั่งตัวพี่กุ้ง(เสาวลักษณ์)เองก็ตาม…. พี่กุ้งสอนอะไรต่อมิอะไรให้ผู้เขียนได้เรียนรู้วิชาชีวิตมากกว่าที่ผู้เขียนมีอยู่ ณ เวลานั้น และสำหรับน้องปุ้ม(ณัฐกานต์) เป็นน้องสาวที่มีความสดใสของชีวิตมากมาย  ชีวิตมีพลังแห่งการใฝ่เรียนใฝ่รู้สูง   โลกในชั้นเรียนเทคโนโลยีสารสนเทศที่นี่ จึงมีแต่กลิ่นอายของความสุข  สนุก ตื่นเต้นอยากเรียนรู้เทคโนโลยีฯ ใหม่ ๆ ที่กำลังเข้ามามีบทบาทต่อวงการสารธารณสุขในบ้านเรา ณ ช่วงเวลานั้น เหลือเกิน

 

และถือว่าสาขาที่เปิดสอนบัณฑิตนี้  เป็นสาขาวิชาใหม่ของภาคฯ  วัตถุประสงค์ตรงตามหลักสูตรคือ เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศสาธารสุข โดยในหลักสูตรนั้น ต้องเรียนรู้

 

-          Health Information System for Health Planning

-          Statistics and Research Method

-          Database Packaged Programming

-          Stat. Computing and Database Management

-          System Simulation

-          Health and Epidemiological Stat.

-          Information Processing for Management

-          Project for Model of Health Information System

-          etc.

 

  

ช่วงที่เรียนผู้เขียนจะต้องทำงานที่อาจารย์ assign ไว้ ให้เสร็จทันกำหนด  การมีเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นของตัวเองถือเป็นสิ่งจำเป็น  เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ ที่ผู้เขียนซื้อไว้ใช้ในการเรียนสมัยนั้น เป็นเครื่อง…ถ้าจำไม่ผิดรู้สึกจะเป็นเครื่องที่มี Microprocesser รุ่น 80486 (เก่ามากใช่มั้ยครับเนี่ย!) ราคาเครื่องที่ซื้อ ก็ตกราว 3 - 4 หมื่นบาทเลยทีเดียว ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่แพงมากเมื่อเปรียบเทียบกับราคาเครื่องในปัจจุบัน

 

ระบบปฎิบัติหรือ OS เนี่ย!!  สมัยนั้น เป็นระบบ DOS   หากเป็นระบบ network ก็ต้อง Unix อะไรประมาณนี้เลย  ยังไม่คุ้นกับคำว่า …  Window NT , Window Me , Window 2000 Window XP หรือ เจ้า Android นั้นหรอกนะครับว่าหน้าตาเป็นเช่นไร? ส่วนการจัดการฐานข้อมูลสมัยนั้น  มี ORACLE ที่ถือว่าเป็น Open Source ที่ใหญ่และมีเสถียรภาพมากที่สุดระดับโลกเลยก็ว่าได้เชียว!!

 

วันไหนหากจะทำการสำรองข้อมูล  หรือ copy โปรแกรมไว้ใช้งานทีหนึ่ง ก็ต้องพก diskette กันเป็นกอบเป็นกำ ทั้ง disk ขนาด5.25 นิ้วและ ขนาด3.5 นิ้วกระเป๋าเรียนเนี่ย!!ตุงไปด้วย disk (ไม่โก้ ไม่เก๋ เหมือนสมัยนี้เลยนะครับที่พกแค่เพียง thumb drive เล็ก กะทัดรัด พกสะดวก ผิดกันเหมือนหน้ามือกับหลังมือเลยทีเดียว)

 

 

 

อาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้นั้น  ผู้เขียนอาจจำชื่อของอาจารย์ได้ไม่หมดทุกท่าน หากแต่ว่าอาจารย์ทุกท่านที่ถ่ายทอดความรู้ให้ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาชีวสถิติ แทบจะทุกท่านเลย  ที่สำคัญ…ท่านอาจารย์รำไพ และอาจารย์เดชาวุธ  ท่านจะคอยเป็นห่วงลูกศิษย์ของท่านมากเป็นพิเศษ  ผู้เขียน มีวิชาความรู้ทางด้านการวิเคราะห์และใช้สถิติวิจัยทางสาธารณสุขได้ในระดับที่สามารถทำงานวิจัยให้กับหน่วยงานได้ ก็เพราะอาจารย์รำไพท่านคอยพร่ำสอนอยู่ เสมอ ๆ ว่า… ไอ้เจ้าสถิติการวิจัยนั้นเป็นเช่นไร? การใช้สถิติการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพนั้นจะต้องทำอย่างไร?  จะทำอย่างไรให้งานสารสนเทศสาธารณสุขออกมามีคุณค่า และเกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานมากที่สุด (เขียนถึงอาจารย์แล้ว เห็นภาพ…รอยยิ้มที่มุมปากของอาจารย์รำไพทีเดียวเลยละครับ    อาจารย์เป็นหัวหน้าภาควิชาที่มองดูจริงจังในการสอนและทำงานมาก  แต่โดยความเป็นจริงแล้ว  หากได้สัมผัสตัวตนของอาจารย์รำไพเหมือนอย่างผู้เขียน  ก็จะพบว่า… อาจารย์เป็นผู้ใหญ่ที่ใจดีและน่ารักมาก ๆ เลยละครับ)

 

 

สำหรับอาจารย์เดชาวุธ   ปัจจุบันท่านเป็นหัวหน้าภาควิชาชีวสถิติ  คณะสาธารณสุขศาสตร์  ช่วงที่เรียนกับอาจารย์ …อาจารย์สอนให้เรียนรู้ด้วยตัวเองค่อนข้างมาก หนังสือตำราแต่ละเล่ม เป็น Text เกือบทั้งหมด เริ่มเรียนใหม่ ๆ แทบจะถอดใจ  เหตุเพราะความเป็นคนบ้านนอกที่ คุ้นตากับตำรับตำราภาษาไทยเสียเป็นส่วนใหญ่  จำได้… assignment ที่อาจารย์ให้ครั้งเมื่อเรียนใหม่ ๆ นั้น ผู้เขียนอ่านไปร้องไห้ไป เหตุเป็นเพราะความไม่เคยชินกับการอ่าน text book ยังจับประเด็นสำคัญไม่เก่ง มีหลักการที่เพิ่งได้เริ่มใช้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ก็คราวนี้เอง  (ที่จริงการเรียนระดับบัณฑิตศึกษา บัณฑิตที่เรียนทุกคนจะต้องผ่านการทดสอบความรู้ภาคภาษาอังกฤษมาแล้วทั้งนั้น  ทำให้อดพูดเปรียบเปรยกับตัวเองไม่ได้ว่า ….การศึกษาที่ผ่านมาในชีวิตคนเรานั้น การนำความรู้ที่ได้รับไปใช้หรือประยุกต์ใช้ให้ได้นั้น สิ่งจริงแท้คือผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากตัวเราต่างหากล่ะ!!  ที่เป็นเครื่องพิสูจน์ ความสำเร็จของชีวิต(outcome) ที่ได้….  ผู้เขียน จำคำพูดที่คุณหมอชัยฤทธิ์พูดให้กำลังใจผู้เขียน ได้ว่า   “เอาน่า!!ผมจะช่วยเดี๋ยวก็เก่งเอง”  ปัจจุบันวิกฤติที่ได้รับจึงเปลี่ยนเป็นโอกาสมาจนถึงทุกวันนี้  (ทำให้อดระลึกถึงคุณหมอชัยฤทธิ์ ไม่ได้ )

 

 

 

 

อาจารย์เดชาวุธ ท่านสอนให้เรียนรู้ฝึกปฎิบัติ ทั้งจาก homework และ assignment  การนำเสนอผลงานด้วย Software ต่าง ๆ การทำ Database System จากหน่วยงานของคณะสาธารณสุขอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึง การทำ System Analysis & Design  ของหน่วยงานที่บัณฑิตแต่ละคนทำงานอยู่  เรียกได้ว่า จบกลับไปทำงาน… งานเข้ากันเลยทีเดียว

 

การติดตามการเรียนรู้ของบัณฑิต  จะใช้การนำเสนอด้วยผลงานจากการศึกษาหาความรู้ทั้งจากห้องเรียน ห้องสมุด และทำรายงาน …สิ่งที่ท้าทายความสามารถของผู้เขียนคือการเขียนโปรแกรมฐานข้อมูล ต่อยอดสู่การนำไปใช้จริง  ในหน่วยงานของตัวเอง   การวิเคราะห์ระบบงานที่สร้างรูปแบบจาก SSAD  มีการทำ Relational database และในอีกหลาย ๆ เรื่องหลัก ๆ ที่ผู้เขียน พยายามนึก(ลืมเลือนไปตามวันเวลา)

 

 

 

 

สมัยนั้น การค้นหาข้อมูลทางinternet ยังไม่แพร่หลายเหมือนปัจจุบัน การสืบค้นข้อมูลยังคงอยู่ในวงจำกัด และเท่าที่ผู้เขียนเคยใช้บริการ คือ  สำนักคอมพิวเตอร์ ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถานที่ที่ผู้เขียนไปเรียนเสริมเพิ่มพูนความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ อยู่ค่อยข้างบ่อย  สมัยนั้น internet café ก็ยังไม่มี  Wi-Fi ก็ยังไม่เกิด

 

 

การติดตามการเรียนรู้ของบัณฑิต ก็จะใช้วิธีการนำเสนอผลงานในชั้นเรียน การจัดทำรายงานเสียเป็นส่วนใหญ่

 

 

แต่ผู้เขียนเห็นว่าระบบการเรียนรู้ที่ได้รับจากการเรียนเมื่อครั้งนั้นของผู้เขียน  เป็นระบบการเรียนรู้ที่หากได้รู้ แล้ว มองเห็นภาพนะว่า…เราจะทำสิ่งที่เราคิดไว้อย่างไรต่อไป มองเห็นขั้นตอนการทำ 1 2 3 นะว่าจะเดินตามขั้นตอนไปอย่างไร?  เหตุเพราะ การได้เรียนรู้จากภาคทฤษฎีสู่การปฏิบัติจริง   เป็นการตอกย้ำในสิ่งที่เรารู้ สู่การปฎิบัติอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ไม่มีการ copy / paste กันอย่างง่าย ๆ  เหมือนเช่นทุกวันนี้กับ ผู้ไร้จรรยาบรรณ ขาดจิตสำนึก  ซึ่งผู้เขียนถือว่าเป็นเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบันและในอนาคต    ถ้าหากเรายังคงเห็นว่า…ไม่เป็นไร?  เพราะนี่อาจเป็นความมืดบอดของสติปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ที่จะต่อยอดการนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ต่อไป

 


 

 

ผู้เขียนขอขอบคุณมหาวิทยาลัยมหิดลที่ได้ปลูกจิตสำนึกอย่างถาวรให้กับผู้เขียน

 

 

 

ความตอนหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านได้พระราชทานโอวาทกับบัณฑิตที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรกับพระองค์ท่าน และถือเป็นปีสุดท้ายที่พระองค์ท่านทรงพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2539 ว่า …ประโยชน์ที่แท้นั้นมี 2 อย่าง คือประโยชน์ส่วนตัวที่ทุกคนมีสิทธิจะแสวงหาและได้รับ  แต่ต้องด้วยวิถึทางที่สุจริตและเป็นธรรม  กับประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งเป็นประโยชน์ของชาติที่แต่ละคนมีส่วนร่วมอยู่  การทำงานทุกอย่างจะต้องให้ได้ประโยชน์แท้ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ประโยชน์นั้นจึงจะสมบูรณ์และมั่นคงถาวร เป็นผลดีแก่ชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง

 

 

หมายเลขบันทึก: 504062เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2012 14:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2014 00:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ได้เห็นตรามหาลัยมหิดล เป็น ตราแรกที่ได้รับปรญญาบัตร ..... เห็นแล้วชื่นใจนะคะ

ขอบคุณมาก ที่ทำให้ชื่นใจนะคะ

  • อ่านแล้วรู้สึกซาบซึ้งมากค่ะ ในความละเอียดอ่อนของผู้เขียน ที่บรรยายทั้งภาพของผู้ร่วมเรียน พฤติกรรมการเรียนรู้ IT ที่ใช้ ความเมตตาที่ได้รับจากอาจารย์ และสิ่งที่ได้เรียนรู้และนำไปใช้ 

การได้รับสิ่งดีดีในการศึกษาคือ ความทรง จำ ที่ ดี @ขอบคุณครับ@

  • สวัสดีค่ะท่านBlank แสงแห่งความดี
  • หวังว่าท่านคงจะสบายดีนะคะ
  • มาส่งดอกไม้ให้กำลังใจค่ะ

ศิษย์เก่ามหิดล มาอ่านก็ยิ้มและระลึกถึงเรื่องราวเก่าๆ ที่ได้เรียนและอิงอาศัยใต้ร่ม "ศรีตรัง" ค่ะ  :)

  • ตามมาเชียร์ลูกพระบิดา
  • สมัยก่อนคนเรียนไม่มากนะครับ

คอมพิวเตอร์ สมัยนั้นแพง มาก อ่านแล้ว เห็นภาพการใช้งาน เมื่อครั้งเรียนที่ ประสานมิตร กว่าจะเปิดเครื่องได้ แต่จำเป็นต่อการเรียนสมัยนั้นมาก ...สวัสดีครับ

ขอบคุณดอกไม้กำลังใจที่มอบให้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท