นิพพาน : อัตตา? อนัตตา? ไม่เป็นทั้งอัตตาและอนัตตา?


บล็อคเกอร์ท่านหนึ่ง ได้บันทึกความเห็นที่มีต่อนิพพานไว้อย่างน่าสนใจ

เนื่องจากปัจจุบัน มีการตีความนิพพาน เป็น 3 ลักษณะ คือ เป็นอัตตา (๑) เป็นอนัตตา (๑) ไม่เป็นทั้งอัตตาและอนัตตา(๑)

ขอคัดลอกบางส่วนจากบันทึกของท่าน (http://www.oknation.net/blog/movie-som/2012/08/21/entry-1 ) มาดังนี้ค่ะ

"นำมาเสนอในชื่อ พุทธวจนะ ความจริงเรื่องนิพพาน ในฐานะที่เป็นฆราวาสคนหนึ่งที่สนใจในพุทธศาสนา กำลังตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมพุทธพจน์เดียวกัน ต่างฝ่ายต่างตีความกันคนละแบบ เท่าที่รู้ ขณะนี้ในประเทศไทยมีการตีความคำว่านิพพาน ออกมาเป็นสามแบบด้วยกัน

ตีความว่านิพพานเป็นอนัตตา นี่คือเถรวาทเดิม คือศาสนาพุทธในประเทศไทยที่เป็นเถรวาท โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุขสูงสุดของสงฆ์ฝ่ายเถรวาท

ตีความว่า นิพพานเป็นอัตตา สามารถไปถึงสัมผัสได้ ยึดถือได้ ก็จากวัดที่มีชื่อเสียงบางวัดในไทยขอไม่เอ่ยนาม ผู้อ่านคงทราบดี และ

ตีความว่า นิพพานไม่ใช่ทั้งอัตตาและอนัตตา .... ใจความสรุปว่า ธรรมที่มีเครื่องปรุงแต่ง(สังขตธรรม) หมายถึงสิ่งทั้งหลายในโลกที่เราเห็นๆกันอยู่ สิ่งของ คน สัตว์ ต้นไม้ ภูเขาทะเล ที่ต้องมีสภาพเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา พวกนี้อยู่ในสภาพเดิมได้ยาก ไม่คงที่ เอามายึดเป็นของตนไม่ได้ ท่านว่านิพพานเป็นอสังขตธรรมไม่มีการปรุงแต่งจึงไม่มีเกิด จึงไม่มีดับจึงไม่ใช่อนัตตาเสมือนไม่มีสภาวะอยู่

เราหยิบพุทธพจน์ในเรื่องนี้ขึ้นมาดู

สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง

สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์

ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

ด้วยสามบรรทัดนี้เกิดการตีความไปกันคนละเรื่องละราว ไม่ใช่เพิ่งเกิดสมัยนี้แต่เกิดมานานตั้งแต่พุทธศตวรรษที่2-4 เรามาดูการตีความพุทธพจน์ที่ยกมานี้ ว่าความเห็นเรื่องนิพพานทั้งสามมีที่มาการตีความอย่างไร

พวกที่ตีความว่านิพพานเป็นอัตตา อ้างว่าทุกอย่างในโลกต้องคู่กัน ดังนั้นเมื่อเข้าสมาธิ จึงเป็นสังขารทั้งหลายเที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นสุข ธรรมป็นอัตตา ( ธรรมนี้หมายถึง ทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรมซึ่งอสังขตธรรมนี้หมายถึงนิพพาน ) สรุปนิพพานเป็นอัตตา

ฝ่ายเถรวาทตีความว่า สังขารทั้งหลาย(สังขตธรรม ) ไม่เที่ยง สังขารทั้งหลาย(สังขตธรรม)เป็นทุกข์ ธรรมเป็นอนัตตา(ธรรมคือสังขตธรรมและอสังขตธรรมๆหมายถึงนิพพาน) เพราะว่าหากพระพุทธเจ้าจะตรัสว่าเพียงสังขตธรรมเท่านั้นที่อนัตตา ท่านควรตรัสว่า

สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง

สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์

สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา

แต่พระองค์ตรัสว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา นี่คือข้อสังเกต สรุปนิพพานเป็นอนัตตา"

"นี่คือที่มาของนิยามว่านิพพานเป็น อัตตา หรือ อนัตตา หรือ ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง โดยทั้งหมดตีความมาจากพุทธพจน์เดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ใครจะเป็นคนตัดสินเรื่องนี้ เพราะว่าทั้งหมดทั้งสิ้นก็คือพระสาวกชั้นหลัง ที่ตีความมาจากประโยคเดียวกัน ทางออกก็คงต้องใช้ข้อสรุปจากผู้นำที่เป็นประมุขสูงสุด ฝ่ายสงฆ์ คือสมเด็จพระสังฆราช ผู้นำสงฆ์เถรวาทที่ได้บรรยาย เอาไว้ดังนี้

ก็เข้าใจว่าการแสดงแบบเถรวาทนั้นเป็นอนัตตา ซึ่งไม่มีอัตตาตัวตนที่จะสัมผัสได้ ที่จะเห็นได้ ได้ยินได้ ก็ทำให้ไม่เข้าใจ หรือ เข้าใจยากอย่างหนึ่ง หรือทำให้เข้าใจว่าปฏิบัติไปเพื่อไม่เป็นอะไร ไม่มีอะไร คล้ายๆกับละลายไปหมด ซึ่งคนจำนวนมากนั้นก็น่าจะยังไม่ชอบ ไม่พอใจ พอใจที่จะไปเป็นอะไรชนิดที่เต็มไปด้วยความสุขไม่มีทุกข์ คือ แปลว่า ให้มีเกิดชนิดที่ไม่ต้องมีทุกข์ ไม่ต้องมีเจ็บ ไม่ต้องมีแก่ ไม่ต้องมีตาย สุขกันตลอด มีตัวตนที่สัมผัสได้ คนส่วนใหญ่ในโลกต้องการอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงได้แตกเป็นมหายาน แสดงนิพพานเป็นบุคคลาธิษฐาน ยกบุคคลเป็นที่ตั้ง เพราะว่าตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเดิมนั้น เป็นธรรมาธิษฐาน ยกธัมมะเป็นที่ตั้ง จึงมาแสดงเป็นบุคคลาธิษฐานยกบุคคลเป็นที่ตั้ง สร้างให้เป็นเมืองนิพพานขึ้นมา และให้ธัมมะเป็นบุคคลตัวตนขึ้นมา ให้สัมผัสได้ ให้เห็นได้ ให้ได้ยินได้ แต่อันที่จริงนั้นก็ไม่เห็น ไม่ได้ยิน สัมผัสไม่ได้อยู่นั่นเอง เป็นแต่เพียงว่าทำให้บุคคลที่พอใจในทางนี้ศรัทธา คือความเชื่อเท่านั้น แต่พระพุทธเจ้านั้นทรงต้องการให้ใช้ปัญญา คือตัวความรู้เป็นหลักสำคัญ

(สมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฺฒโน) ลักษณะพุทธศาสนาหน้า 162 163)

ขอเสริมในเรื่องตีความพุทธพจน์เดียวกันแต่ออกไปคนละเรื่อง หลังสมัยพุทธกาล ศาสนาพุทธได้แยกออกเป็นสองนิกายใหญ่ๆ คือเถรวาทที่ยึดเอาพระสูตรเป็นหลักไม่ขอแก้ไข ใดๆ กับมหาสังฆิกาวาทที่ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายเถรวาท

ประมาณพุทธศตวรรษที่สอง ฝ่ายเถรวาท ได้แตกออกไปอีกสองนิกาย คือเหมวันตวาท กับ สรวาสติวาท ๆยังแยกออกไปอีกเป็น นิกายเสาตรนกวาทิน ในบาลีเรียกว่าสุตตวาที นิกายสุตตวาทีนี้มีความเชื่อว่า อสังขตธรรมหรือนิพพานนี้ไม่มีสภาวะอยู่แม้โดยปรมัติถ์ เนื่องด้วยอสังขตธรรมเป็นการปฏิเสธสังขตธรรม นั่นคืออสังขตธรรมอันเป็นที่สาบสูญแห่งสังขต สภาวะมีอยู่ด้วยตัวมันเองแห่งอสังขตธรรมจึงหามีไม่ ในครั้งนั้นมีการอภิปรายปัญหาเรื่องนี้ระหว่าสรวาสติวาท กับ สุตตวาที โดยฝ่ายสรวาสติวาทถือว่า นิพพานเป็นสภาวะที่อยู่ด้วยตัวมันเองเป็นเอกเทศ เป็นอารมณ์แห่งมรรคจิต ผลจิต ฝ่ายสุตตวาทีถือว่าไม่มีสภาวะนิพพานอยู่โดยเอกเทศ หรือพูดว่าความไม่มีแห่งสังขตะคืออสังขตะๆไม่มีสภาวะ

ฝ่ายเถรวาทเอียงมาฝั่งสรวาสติวาทิน ด้วยถือว่าอสังขตธาตุเป็นสภาพที่มีอยู่โดยปรมัติถ์ พระนิพพานเป็นอารมณ์แห่งจิต เป็นสภาพที่บุคคลพึงบรรลุด้วยมรรค และได้ยกพุทธพจน์ ว่า ภิกษุทั้งหลาย สิ่งสภาพอันนั้นมีอยู่ที่ไม่มีดิน ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ไม่มีลม ฯลฯ

ทรรศนะเรื่องอสังขตะไม่มีสภาวะ ภายหลังได้เป็นสมุฏฐานสำคัญอันหนึ่งที่ให้กำเนิดแก่ปรัชญา ศูนยตวาทินของลัทธิพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน อย่างไรก็ตามนี่เป็นปัญหาปรมัติถ์ธรรมอันลึกซึ้งยากที่จะรู้ว่าฝ่ายใดถูกหรือผิด เพราะนิพพานนั้นรู้เห็นเฉพาะตัว เพียงแต่ว่าฝ่ายเถรวาทสรุปว่าธรรมทั้งปวงคือ สังขตธรรมและอสังขตธรรมที่รวมนิพพานด้วยเป็น อนัตตา ความเห็นนี้ก็สืบต่อมาจนปัจจุบัน ดังนั้นสงฆ์ฝ่ายเถรวาทในประเทศไทยจึงยึดแนวทางดังกล่าว"

"พุทธศาสนิกชนอย่างเราๆท่านๆย่อมไม่มีปัญญาญาณที่จะไปแยกถูกผิด และก็ไม่ต้องมาทะเลาะกันด้วย เพราะทะเลาะกันบนพื้นฐานที่ไม่รู้จริงของฆราวาสด้วยกัน ก็รังแต่อับอายศาสนาอื่นเปล่าๆ

ผมออกเอ็นทรี่นี้มาทำไม ขอชี้แจงเป็นลำดับดังนี้

1.เมื่อสมัยพุทธกาลที่พระศาสดายังอยู่ อันใดไม่แจ้งย่อมมีพระองค์เป็นที่สุด

2.หลังพระศาสดาดับขันธ์แล้ว การตีความพุทธพจน์บทเดียวกันจึงแยกออกมาหลายความหมาย ถ้าไม่นับนิกายมหาสังฆิกะที่แยกออกไปเพราะต้องการบัญญัติใหม่ เอาเฉพาะเถรวาทที่ตีความพระสูตรเดียวกันแท้ๆยังแตกแยก ออกไปถึงสิบกว่า นิกาย ด้วยต่างฝ่ายต่างเชื่อในการตีความของอาจารย์ตน

3.ผู้ศึกษาพุทธศาสนาควร ที่จะยึดพุทธพจน์เป็นหลักก่อน แต่การศึกษาพุทธพจน์นั้นบางสูตรเข้าใจยาก ถึงได้มีอรรถกถามาอธิบายความ อรรถกถาหรือบางคัมภีร์ก็ยังอ่านไม่เข้าใจ ก็ต้องพึ่งพระเถระที่บางรูปแม้ดับขันธ์ไปแต่ท่านยังทิ้งผลงานเอาไว้ให้ศึกษา กับพระเถระที่ยังมีชีวิตอีกหลายๆรูปหรือพระอาจารย์ทั้งหลายที่มีความสามารถอธิบายถ่ายทอดให้เราเข้าใจได้

4.เมื่อเราศึกษาไปถ้าเป็นทางที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นพระรูปใดสอนก็ตาม ถ้าเรารู้สึกว่า

4.1มีความสงบมากขึ้น

4.2ละคลายการยึดติดทั้งตัวตนและผู้อื่น รวมทั้งสิ่งของต่างๆไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น ไม่เอารัดเอาเปรียบ

4.3มีความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคน มีการสันโดษในผล แต่ไม่สันโดษในเหตุ

4.4เริ่มมองเห็นสรรพสิ่งทั้งมวลหมู่มนุษย์ทั้งหลาย ว่าน่าสงสารต้องวนเวียนอยู่ในวัฏฏะมีใจอยากช่วยเหลือหมู่เหล่านั้น แต่จิตตนเองก็ไม่หดหู่เบื่อหน่ายจนไม่อยากอยู่ในโลก แต่กลับมองทุกสิ่งทุกอย่างด้วยจิตที่เป็นกลาง เช่นดูฟุตบอล ดูหนัง ดูการเมือง ก็ไม่เกิดอารมณ์ที่ยินดียินร้าย ต่างๆเหล่านี้ นี่คือนิมิตหมายที่ดีที่จะบอกว่าเราก้าวเข้าสู่ทางธรรมตามที่พระศาสดาได้ชี้บอกทางไว้

เหล่านี้ค่อยๆศึกษาไปเถิด ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม นิพพานจะถึงหรือไม่ไม่ใช่สาระ เพราะอย่างไรน้ำที่ไหลลงจากเขาก็ย่อมไหลลงสู่แม่น้ำและทะเลอยู่แล้ว ถึงตรงนั้นเราจะมาสนใจทำไมว่า นิพพานเป็นอัตตา หรือ อนัตตา หรือ ไม่ทั้งอัตตาและอนัตตา ทั้งหมดที่เรียกก็สักแต่ว่าชื่อ

5.การที่มีผู้เขียนบล็อกศาสนา จึงไม่ควรที่จะมีการยกตนข่มกัน ว่าของเรามาจากพุทธพจน์ ของคนอื่นไม่ใช่ ตัวอย่างที่ผมแสดงมายืดยาวขนาดนี้ก็เพื่อชี้ให้ดูว่าในประวัติศาสตร์ของศาสนาพุทธก็เป็นเช่นนี้ ตีความสูตรเดียวกันแท้ๆ ดังนั้น การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างชาวพุทธเป็นเรื่องที่ควรกระทำ พระพุทธเจ้าสรรเสริญนัก เพราะจะช่วยจรรโลงศาสนาให้เจริญยิ่งขึ้นไป พระศาสดาท่านจากไปแล้วเพราะท่านวางใจว่าชาวพุทธได้ศึกษาจริง ปฏิบัติจริง มีความรู้พอที่จะปรับวาทะกับลัทธิอื่นๆได้ ขออย่าให้พระองค์ต้องผิดหวังเลย"

หมายเลขบันทึก: 499608เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2012 05:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 20:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

อัตตา?... อนัตตา?....ไม่พาเราหลง...และต้องปลง...ให้ได้เป็นดี

 

ขอบคุณมากกับบทความดีดีที่มีให้อ่าน ...ให้ลดอัตตานะคะ

ขอบคุณคุณ Blank มากค่ะ

มาฝากความเห็นไว้ให้กัน

รวมถึงทุกท่านที่มอบดอกไม้ใหด้วยค่ะ

.........................................

มีพระเถระหลายรูปที่มีความเห็นว่า นิพพานเป็นอนัตตา
เช่น

ท่านพุทธทาส

“ผู้ที่ได้เห็นความเป็นอนัตตาของนิพพานแล้วเท่านั้น ที่จะนิพพานได้ ถ้ายังยึดถือนิพพานด้วยความเป็นนิพพานอยู่ ยึดถือว่านิพพานเป็นของเราอยู่แล้ว ก็ยังเป็นอุปาทานในนิพพานอยู่เรื่อย”

พุทธทาสภิกขุ ตุลาริกธรรม หน้า ๔๖๓

หรือ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

“ ทำไมท่านพุทธทาสจึงพูดขึ้นมาเลยว่า 'นิพพานก็สักว่านิพพาน ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตาเสมอกันกับสิ่งอื่น'

ตามที่เร้าข้าใจได้จากการมองดูคำสอนของท่าน ก็คือ ท่านพุทธทาสเห็นว่า เรื่องนิพพานเป็นอนัตตานี้ชัดเจน แจ่มแจ้งอยู่แล้ว ไม่เป็นปัญหาอะไรที่จะต้องมาถกเถียงชี้แจงกัน และความชัดเจนนั้นก็คือ ว่าไปตามหลักธรรมนิยาม ที่นิยมพูดกันให้ง่าย เป็นหลักไตรลักษณ์ หรือ สามัญลักษณ์ คือ หลักตามพุทธพจน์ที่ว่า

'๑ สพฺเพ สงฺขารา อนิจจา - สังขารทั้งปวง เป็นอนิจจัง
 ๒ สพฺเพ สงฺขารา ทุกขา - สังขารทั้งปวงเป็นทุกขัง
 ๓ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา - ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา'

แสดงความหมายกันตามหลักว่า สังขาร คือ สังขตธรรม ได้แก่ขันธ์ ๕ ทั้งหมด ล้วนเป็นอนิจจัง (ไม่เที่ยง) เป็นทุกข์ และธรรมทั้งปวง ไม่ว่าสังขตธรรม คือ สังขาร ก็ตาม อสังขตธรรม คือ วิสังขาร ได้แก่นิพพาน ก็ตาม เป็นอนัตตา (ไม่เป็นอัตตา) หมดทั้งสิ้น

ถ้าพูดแบบสามัญลักษณะ ก็บอกว่า

- ทุกอย่างที่เป็นสังขาร คือ สังขตธรรม ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ คงทนอยู่มิได้ เสมอกันหมด
- ทุกอย่างที่เป็นธรรม ไม่ว่า สังขตธรรม คือ สังขาร หรือ อสังขตธรรม คือ วิสังขาร ล้วนเป็นอนัตตา เสมอกันทั้งสิ้น”

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พระไทยใช่เขาใช่เรา? หน้า ๔ -๕

     ความเป็นอัตตา หรือ อนัตตานั้น ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้นั้น พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงและตรัสไว้ในพระสูตรเป็นที่เรียบร้อยแล้วนะครับ ส่วนการที่จะตีความต่างๆ นั้น ก็เป็นเพียงการนึกคิดของมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดาทั่ว ๆ ไปที่เข้าใจและไม่เข้าใจในหลักพระพุทธศาสนา

 

     ผมขอยกตัวอย่างง่าย ๆ เกี่ยวกับความเป็นอนัตตานะครับ เช่น เรื่อง สิว ที่ทุกท่านเคยเป็นและไม่เคยเป็นก็ตามที เมื่อเราพิจารณาจะเห็นได้ว่า สิวนี้ มีสวภาวะอยู่ 3 สวภาวะ คือ เกิดขึ้น (รู้สึกเจ็บๆ) ตั้งอยู่ (ชั่วขณะหนึ่ง) และดับไปในที่สุด สภาพที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ถ้าเรามองแบบพระพุทธองค์ก็ต้องทราบดีว่าเป็นหลักไตรลักษณ์ และเป็นสภาพของความเป็นอนัตตา เพราะว่า สิว เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เราไม่สามารถที่จะควบคุมหรือบังคับสิวได้เลย ว่าสิว ไม่ต้องเกิดนะ และไม่ต้องมีไม่ต้องเจ็บ สภาพที่เป็นแบบนี้เราจึงเรียกว่าเป็น อนัตตา

 

     ส่วนการเป็นอัตตานั้น ผมคิดว่าเกิดจากที่คนเราได้เรียนรู้เรื่อง จิต และการสันตติของจิต ว่าจิตนั้นมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปอยู่ทุกขณะจิต แต่จิตที่เกิดขึ้นใหม่นั้น ก็ไม่ใช่จิตดวงใหม่ แต่เป็นจิตดวงเก่าที่อาศัยการสันตติจากจิตอีกดวงหนึ่ง แล้วเกิดขึ้นเป็นจิตอีกดวง สวภาวะแบบนี้นี่เองที่ทำให้คนเราสามารถตีความได้ไปต่าง ๆ นา ๆ ว่าเมื่อจิตอาศัยจิตอีกดวงเกิด และจิตดวงเก่าก็ไม่ได้ไปไหน แต่เป็นการผ่าน โดยสันตติ สวภาวะแบบนี้ จิตก็น่าจะเป็นอัตตาสิ ถ้าคนที่ไม่เข้าใจจริง ๆ ผมคิดว่าก็อาจเชื่อได้ว่าจิตเป็นอัตตา (และในพระสูตรพระพุทธองค์ก็ไม่เคยกล่าวถึงเรื่องอัตตาไว้ กล่าวเพียงเรื่องอนัตตา เมื่อไม่กล่าวก็ไม่ใช่ว่าไม่มี อาจจะมีก็ได้ เกิดการตีความไปกันใหญ่ของผู้รู้และไม่รู้ )

 

     การสันตตินี้ แท้ที่จริงแล้วเป็นการกล่าวเพียงเพื่อให้เราได้เห็นว่า ผลของกรรมนั้น ที่เราได้ทำไว้ในชาตินี้ แม้ว่าเราจะเกิดในชาติใหม่กรรมที่ทำให้ชาตินี้ก็จะติดตามไปได้ (แต่ไม่ใช่ทั้งหมด) เพราะกรรมย่อมเป็นวิบากกรรมของแต่ละคน (คนคิดมากก็อาจเกิดคำถามอีกว่า เมื่อตามมาได้ แสดงว่าเป็นอัตตาสิ เพราะกรรมมันเที่ยงแท้ สามารถตามเรามาได้) และผลของกรรมที่จะเกิดขึ้นก็ตามแต่ว่า กรรมไหนมีอำนาจหรือแรงมากกว่ากัน และเราอาจเหลืวิบากกรรมอีกเยอะ แต่ถ้าล่วงเวลาไปกรรมที่เหลืออาจไม่ส่งผลแล้วก็ได้ เป็นอโหสิกรรม กล่าวคือเราทำกรรมไว้สัก 10 เรื่อง เราอาจรับผลของกรรมไปเพียงแค่ 3 เรื่อง อีก 7 เรื่องกลายเป็นอโหสิกรรมไป คือสิ้นสุดกรรมไป

 

     ส่วนการที่บอกว่าไม่ใช่ทั้งอัตตาและอนัตตานั้น ผมคิดว่า เกิดจากการไม่แน่นอนของผู้กล่าว ว่านิพพานนั้นจะเป็นอย่างไรแน่ จึงได้ยกเอาคำว่านิพพานนั้น ไม่เป็นทั้งอัตตาและอนัตตา คือ ยกให้สูงไว้ แต่แล้วก็ไม่สามรถสรุปได้แน่นอนว่าเป็นอะไร สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้นั้น อาศัยความรู้ทางโลก และไปตีความไม่ได้นะครับ เหมือนกับพระบางรูป (เปรียญธรรม 9 ประโยค) ที่มีชื่อเสียง ได้ออกรายการทีวีบางช่อง และพูดว่า ถ้าพระพุทธองค์ยังทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ถึงปัจจุบันนี้ พระพุทธองค์ก็คงจะกำลังอยู่ที่กุฎิและทรงเปิดคอมพิวเตอร์เพื่อใช้อินเตอร์เน็ตอยู่ก็ได้ ผมคิดว่าท่านพูดได้อย่างไร ท่านไม่น่าเอาความคิดปุถุชนของท่านไปเทียบกับความคิดของพระอริยะเลย (แม้จะคิดก็ผิดแล้วครับ) เพราะภูมิธรรมต่างกัน ความตั้งใจต่างกัน ถ้าเราอ่านเรื่องพระพุทธองค์ จะเห็นได้ว่า เมื่อมีผู้มาฟังธรรมจำนวนมาก พระพุทธองค์ก็สามารถแสดงธรรมได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องขยายเสียงเลย นี้ก็เป็นสิ่งที่ประจักษ์อย่างหนึ่งแล้วว่า ท่านเป็นผู้เลิศ ท่านเป็นผู้ประเสริฐ เราไม่อาจก้าวล่วงความคิดหรือภูมิธรรมของท่านได้

 

     กระผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ต้องค่อยๆ เรียนรู้และศึกษาเสมอ และการที่ได้แสดงความคิดเห็น และมีผู้ตอบหรือแย้งนั้น อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเกิดปัญญาได้ ในมุมมองที่เราอาจไม่ได้คิด ขอบคุณที่นำหัวข้อดีๆๆมาเสนอนะครับ

สวัสดีค่ะคุณ Blank

ขอบคุณค่ะที่ฝากความเห็นไว้ ขอแสดงความชื่นชมค่ะ

อัตตานั้น คือ ตัวตน, ที่เกิดจากการยึดมั่น มองเห็นขันธ์ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งหมดเป็นตน หรือยึดถือว่า อัตตาเนื่องด้วยขันธ์ ๕ โดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ในพรหมชาลสูตร มีคำตรัสเกี่ยวกับอัตตาไว้หลากหลายเลยค่ะ

ในคัมภีร์มหานิทเทส อธิบายอัตตา หรือ อตฺตํ ว่าคือ ความเห็นว่าเป็นตน หรือ สัสสตทิฏฐิ (มีตัวตนคงที่) เที่ยงแท้ถาวร

อันที่จริง อัตตานั้นไม่มีอยู่จริง แต่มีขึ้นเพราะการยึดถือของเราเท่านั้น จะแปลว่า ตัวตน หรือการยึดถือตัวตนก็ได้ หรือจะแปลว่าสิ่งที่ยึดถือเอาไว้ก็ได้ หมายความว่า ตัวตน ก็คือสิ่งที่ยึดถือเอาไว้เท่านั้นเอง มิใช่สภาวะที่มีอยู่จริง

และขอบคุณที่มาเยี่ยมกันด้วยนะคะ

สวัสดีครับ

ขอฝากอีกรอบนะ พอดีเข้าไปดู พรหมชาลสูตรมานะครับ เพราะรู้สึกว่าน่าจะมีคำว่าอัตตาจริง แต่อาจเกี่ยวเนื่องของเรื่องทิฏฐิ 62 มากกว่านะครับ เป็นเรืองของความเห็นที่ขัดแย้งกันนะ เรื่องอัตตาและ เรื่องศีล แต่ไม่ได้เป็นเรื่องที่พระพุทธองค์ได้ทรงวินิฉัยเกี่ยวกับอัตตาเลย เป็นเพียงการแบ่งกลุ่มคนที่เชื่อเรื่องอัตตา กับความเห็นเรื่องศีลที่แตกต่างกัน แต่พระพุทธองค์ไม่ได้บอกว่าอัตตามีหรือไม่ สรุปตอนท้ายก็บอกว่าเพียงบอกเรื่องเหล่านี้เป็นอจิณตรัย คือสิ่งที่ไม่ควรคิด เพราะคิดแล้วไม่เกิดประโยชน์นะครับ

ส่วนที่ผมบอกว่าพระพุทธองค์ไม่เคยตรัสเรื่องอัตตานั้น เป็นเรื่องจริงครับ ลองดูดีๆ นะครับ ในพระสูตร เพราะมันเป็นการสนทนา คนที่พูดส่วนมากไม่ใช่พระพุทธองค์ และถึงแม้ว่าจะกล่าว พระพุทธองค์ก็ไม่บอกว่าสวภาวะอย่างไร มีหรือไม่ และพระสูตรนั้น ถ้าพิจารณาต่อไปก็จะทราบว่า พระสูตรนั้น เป็นการบอกเล่าแบบมุขปาฐะ ผ่านทางพระอานนท์ พระอานันท์ก็บอกว่าเคยได้สดับมาแบบนี้ ไม่ได้หมายว่า พระพุทธองค์ ได้ตรัสเรื่องอัตตาโดยตรง แต่เป็นการแสดงธรรมขณะที่มีผู้มาถามเรื่องนั้น และพระอานนท์ได้ยินมาครับ

ยาวไปหน่อย แต่ก็ทำให้ผมได้ทบทวนความรู้ดีครับ ขอบคุณครับที่เปิดประเด็นดีๆๆ ได้พัฒนาตนเองดีครับ

สวัสดีค่ะ คุณBlank

การตรัสเกี่ยวกับอัตตาของพระพุทธองค์มี 2 ลักษณะค่ะ ถ้าตรัสกับบุคคลทั่วไป หรือในระดับสมมติสัจจะ ทรงใช้คำว่าอัตตาอยู่ ดังเช่นพุทธพจน์ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน ที่เราคุ้นเคยกันดี

เพราะในระดับสมมติสัจจะ หรือ จริงโดยสมมติ ก็เพื่อใช้เรียกหา ทำความเข้าใจในระหว่างบุคคลที่สื่อสารกัน

แต่ในระดับปรมัตถสัจจะ ตรัสว่าไม่ใช่ตน ความเห็นว่าเป็นตนไม่มีค่ะ

มองว่า ที่ว่าพระองค์ไม่บอกว่าสภาวะเป็นอย่างไร เพราะ อัตตานั้นไม่มีอยู่จริงมังคะ เมื่อไม่มีอยู่จริง จึงไม่สามารถตรัสบอกสิ่งที่ไม่มีอยู่ได้ แต่คนเราเห็นว่าเป็นตน (อัตตา) ขึ้นได้ ก็เพราะเกิดการยึดถือสิ่งที่ไม่ใช่ตน (อนัตตา) ให้เป็นตนขึ้นมา

พอจะหาคำตรัสเกี่ยวกับอัตตาในพระสูตรได้อยู่ค่ะ เช่น 

(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)

ภิกษุพึงสงบกิเลสภายในนั่นเอง

ไม่พึงแสวงการความสงบโดยทางอื่น

เมื่อภิกษุสงบกิเลสภายในได้แล้ว

ความเห็นว่ามีตน หรือความเห็นว่าไม่มีตน ก็ไม่มีแต่ที่ไหนๆ

 ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๑๕๔/๔๒๑

อันแปลมาจาก

อชฺฌตฺตเมว อุปสาม

นาญฺญโต ภิกขุ สนติเมเสยฺย

อชฺฌตฺติ อุปสนตสฺส

นตฺถิ อตฺตํ กุโต นิรตฺตํ วาติ

ขุ.ม.๒๙/๗๒๑/๔๒๖

ขอบคุณที่มาแลกเปลี่ยนความเห็นกันนะคะ

สวัสดีค่ะท่านBlank ณัฐรดา  หวังว่าท่านคงจะสบายดีนะคะ

ขอขอบคุณสำหรับ บทความดีๆ ที่นำมาให้อ่าน ก็ได้ประโยชน์มากค่ะ

หวังว่าท่านจะแวะไปอ่านเรื่องเบาๆ ของครูทิพย์บ้างนะคะ

 

มันเป็นการตรัสคำว่าอัตตาจริงครับ แต่ไม่ใช่คำวินิฉัยเรื่อง อัตตา นะครับ

พี่ต้องแยกว่า การใช้มีอยู่จริง แต่คำวินิจฉัยนั้น ไม่มีอยู่เลย เรื่องมันอยู่แค่นี้นะครับ

ประเด็นที่ผมนำเสนอ ส่วนจะใช้กับคนระดับไหนนั้น ไม่ใช่ประเด็นนะครับ เพราะเป็นวิธีการของพระพุทธองค์อยู่แล้วครับ

ผมคิดว่าพี่น่าจะเริ่มเข้าใจ เหมือนผมแล้วนะครับ ...อิอิ

เพราะเรื่องนี้ถ้าจะวิจารณ์จริงๆ มันยาวมากนะครับ

มาลงชื่อไว้ก่อนค่ะพี่ตุ๊กตา วันนี้จิตไม่โปร่งพอจะอ่านเรื่องลึกซึ้งแต่น่าสนใจมาก ๆ

วันนี้จะเขียนคุยกับลูกเรื่องอุเบกขา ยังนึกไม่ออกเลยค่ะ คงเพราะตัวเองมีจิตวิตกขึ้นมา

อืม อีกเรื่องค่ะ มีพี่ชาวอังกฤษปักใจว่า พระพุทธเจ้าเป็น ฮินดู เขาหมายถึงว่า เป็นฮินดูในสายเลือดแล้วทำไมถึงเป็นศาสดาของศาสนาพุทธได้ กำลังคิดว่า สายเลือดหมายถึงวรรณะหรือเปล่า ถ้าวรรณะ เจ้าชายสิทธัตถะ เป็นวรรณกษัตริย์ ใช่มั้ยคะ

น้องหมอ Blank คะ

ขอบคุณค่ะที่แวะมา

นึกถึงในห้องเรียนบาลี จำได้ว่า พระอาจารย์บอกว่า "ญาติ" หมายถึงคนที่มีเชื้อสายเดียวกับเรา ที่อยู่ในระดับเดียวกันกับเราและที่สูงขึ้นไป ส่วน "สาโลหิต" หมายถึงผู้มีเชื้อสายเดียวกับเราแต่อยู่ต่ำลงมา เช่น ลูก หลาน แต่ในพจนานุกรมมคธ - ไทย ไม่ได้บอกแยกขนาดนั้น

เปิดดูในพจนานุกรม มคธ - ไทย ของพันตรี ป.หลงสมบุญ ท่านอธิบายความหมายของ วณฺณ ไว้ดังนี้ค่ะ

"วณฺณ (ปุ) วรรณะ (ชาติ ตระกูล สี) ชื่อของชน ๔ ชาติซึ่งถือตัวไม่ยอมให้ระคนกัน"

และอธิบายต่อว่า

"คัมภีร์มานวธรรมศาสตร์ แบ่งชนออกเป็น ๔ วรรณะ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร "

เนื่องจาก ประมาณ 2,000 - 900 ปี ก่อน พ.ศ.ชมพูทวีปอยู่ภายใต้อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ซึ่งมีการนับถือเทพเจ้าที่ลักษณะคล้ายๆพระศิวะในยุคหลัง ประมาณ 900-600 ปี ก่อน พ.ศ. ชนเผ่าอารยันยกจากที่ราบสูงอิหร่านเข้ารุกรานและครอบครองชมพูทวีปไปถึงลุ่มแม่น้ำคงคา ได้นำศาสนาพราหมณ์เข้ามาด้วย ส่วนศาสนาฮินดูนั้น เกิดขึ้นภายหลัง เพราะศาสนาพราหมณ์เดิมเสื่อมโทรมลง จึงมีการฟื้นฟูขึ้นใหม่ เรียกชื่อใหม่ว่า ฮินดู แต่สามารถเรียกหาในชื่อเดิมคือพราหมณ์ได้ บางทีก็เรียกชื่อซ้อนกันเป็น พราหมณ์ - ฮินดู 

และจากการที่มีการแยกวรรณะต่างๆตามศาสนาพรามณ์ และพระพุทธองค์ก็อยู่ในวรรณะกษัตริย์ จึงน่าจะหมายถึงบรรพบุรุษของพระพุทธองค์รวมถึงพระองค์เอง นับถือศาสนา พราหมณ์ อยู่เดิมนะคะ 

ซึ่งในช่วงเวลาที่พระพุทธองค์มีพระชนมายุ พราหมณ์บางพวกเห็นว่า พิธีกรรมต่างๆไม่สามารถช่วยให้ตนมีชีวิตนิรันดร์ได้ จึงยอมปลีกตัวออกไปค้นหาโมกขธรรม หาหนทางที่จะนำไปสู่ภาวะนั้นๆ ซึ่งยุคนี้เรียกยุคอุปนิษัท

พระองค์ก็เป็นหนึ่งในนั้นค่ะ โดยโมกขธรรมที่ทรงออกแสวงหาเดิม ก็เพื่อจะ ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย แต่กลับปรากฏว่า ทรงพบโมกขธรรมที่ยิ่งกว่า คือ เมื่อจะไม่มีการแก่ เจ็บ ตาย ก็ต้องไม่มีการเกิดด้วย

จึงกลายเป็นคำสอนที่ต่างไปจากคำสอนในทุกศาสนาที่มีอยู่เดิม เป็นพุทธศาสนาขึ้นมาค่ะ

รออ่านเรื่องอุเบกขาที่กำลังจะเขียนนะคะ

อัตตา อัตตา และ อัตตา ทำให้ คน เข้าใจตนเองผิดว่า คือ เทพ

เจริญพรโยมณัฐรดา

อาตมากำลังหาภาพวาดประกอบนิทาน
ในหลักสัปปุริสธรรม ๗
พอดีมาพบในบันทึกของโยม
องค์ธรรมจากนิทานเรื่อง
"ยายกะตาปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า"
มีสัปปุริสธรรม ๗ อยู่ด้วย

จะขออนุญาตนำภาพวาดไปประกอบนิทาน
เป็นสื่อสอนเด็ก จะทำเป็นชุดการสอน
เรื่องการพัฒนาชุดการเรียนรู้ตามหลัก
สัปปุริสธรรม ๗ เพื่อส่งเสริมวิถีชีวิต
แบบเศรษฐกิจพอเพียง กับนักเรียป.๕

จะขอปรึกษาเบื้องต้นว่างานนี้เป็นวิทยานิพนธ์ป.โท
เห็นสื่อที่โยมทำ และการวิเคราะห์หลักธรรมจากนิทานแล้ว
คิดว่ามีประโยชน์มาก สามารถใช้สอนนักเรียนได้เลย

ถ้าโยมอนุญาตให้นำไปใช้ได้
ก็จะลองไปปรึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษาดู
แล้วจะแจ้งให้โยมทราบอีกที

 

ขอบคุณ อ. Blankค่ะ

แวะมาเยี่ยมกัน

........................

นมัสการพระคุณเจ้า Blank

ทราบข่าวด้วยความยินดีเจ้าค่ะ

งานที่เผยแพร่ไปแล้ว หากพระคุณเจ้าเห็นว่าจะสามารถนำไปใช้อย่างไรได้ ก็ไม่ขัดข้องเลยเจ้าค่ะ

กราบขอบพระคุณเจ้าค่ะ ที่ส่งข่าวที่น่ายินดีนี้ และ ที่พระคุณเจ้าเมตตา ให้ตัวชิ้นงานใช้ประโยชน์ได้สมตามความตั้งใจในการทำงานเจ้าค่ะ

นมัสการลา

ท่านดาไล ลามะ พูดไว้น่าสนใจมาก ทำนองว่า อนัตตา อุปมาเลขศูนย์ มันไม่มีค่าเป็นตัวเลข แต่มันก็มีอยู่ ถ้าไม่มีศูนย์ตรงกลาง เลข บวกก็มีไม่ได้ เลขจำนวนลบก็มีไม่ได้ เลขศูนย์เลยเป็นศูนย์กลางข้องเลขทั้งหมด ทั้งที่ไม่มีค่าอะไรเลย

ตอนแรกอ่านจั่วหัวก็คิดว่า เอาอีกแระ กระทู้มาชวนกันทะเลาะอีกแระ ส่วนมากหัวข้อแบบนี้อ่านแล้วปวดหัว เครียด เพราะเถึยงกันอิรุงตุงนัง แถมจ้วงจาบด่าว่าดูหมิ่น พระเกจิอาจารย์และคนที่ล่วงลับไปแล้วต่างๆ นาๆ ใช้วาจาถกเถียงกันรุงแรงมากที่สุด คือถ้าคนไหนเกิดความศรัทธาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาก่อนนี่แทบจะร้อนเป็นไฟ คันยิกๆ อยู่ไม่ได้เลยทีเดียว ...แต่พอดูของคุณแล้วรู้สึกสบายใจ ก็อย่างที่คุณว่านั่นแหละของแบบนี้มันรู้ได้เฉพาะตน คนพูดย่อมไม่รู้ คนรู้ย่อมไม่พูด เพราะมันสอนกันเป็นภาษาคนไม่ได้ แต่ละคนล้วนก็ยังว่ายไปไม่ถึงฝั่งกันซักคน แต่กลับพากันมาถกเถียงกันว่าฝั่งที่จะไปนั้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตีความกันไปต่างๆนาๆจากลายแทงว่าความคิดของตัวนั้นถูกต้องกว่า ทั้งที่ความเป็นจริงผุ้ที่ว่ายไปถึงฝั่งแล้วรู้แจ้งแล้วก็ไม่มีใครกลับมาเล่าได้อีกเลย ดูๆไปมันก็น่าสมเพสที่ต้องมาทะเละกันด้วยเรื่องเช่นนี้ ...มันดีมากที่แสดงความคิดเห็นเหมือนกระทู้นี้ ส่วนกระทู้อื่นๆที่ไปทะเละกันนั้นไม่เข้าท่าเลย

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท