หนังสือ : ประยงค์ รณรงค์ ครูภูมิปัญญาไทย “อัญมณีภูมิปัญญาแห่งอาเซียน”


               เห็นหนังสือเล่มนี้เมื่อไม่กี่วันก่อนสิ้นเดือน ส่งมาที่โรงเรียน.. ด้วยความอนุเคราะห์จากสถาบันส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาไทย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ผ่านคุณ Blank หยั่งรากฝากใบ (ต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้) แต่เพิ่งจะได้อ่านเมื่อวานนี้เอง เพราะผมเองมัวแต่วุ่นวายช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา

 

               ชื่อคุณประยงค์ รณรงค์นั้นคุ้นหูคุ้นตามาพอสมควร เพราะนอกจากเป็นบุคคลตัวอย่างในการพัฒนาชุมชนแล้ว ท่ายังได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาพัฒนาชุมชน ปี 2547 ด้วย แต่ผมยังไม่ได้อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับท่านมากนัก

               จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้อ่าน ประยงค์ รณรงค์ ครูภูมิปัญญาไทย “อัญมณีภูมิปัญญาแห่งอาเซียน”  เล่มนี้

 

หนังสือน่าอ่าน

               ผู้เขียนคือ อาจารย์ถวัลย์ มาศจรัส บรรณาธิการคือ ดร.วัลภา เล็กวัฒนานนท์ (ทั้งสองชื่อไปอยู่หน้าท้ายๆ ของเล่ม)

               ผู้เขียนบรรจงเล่าเรื่องและลำดับเนื้อหาได้น่าติดตาม โดยแบ่งเนื้อหาเป็น 4 ตอน คือ ปฐมกาล มัชฌิมกาล อมตกาล และเกียรติภูมิของชีวิต พูดง่ายๆ ก็คือ เล่าประวัติของลุงประยงค์ หรือ ครูประยงค์ (ในฐานะครูภูมิปัญญาไทยรุ่นแรก)

 Large_prayong

 

               ครูประยงค์ เกิดในครอบครัวเกษตรกร  เมื่อปี 2480 ที่อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีทุนทางปัญญาจากทางบ้านเพราะคุณตาเป็นผู้รู้ ถือว่าเป็นทั้งปราชญ์และหมอ ครูประยงค์ได้รับความรู้เหล่านี้จากคุณตาทั้งด้านภาษาไทย วรรณคดีไทย และตำรายามากมาย  เมื่อท่านเรียนจบชั้นป.4 ก็เดินทางไปต่อมัธยมในโรงเรียนไกลบ้าน เรียนได้ไม่นานก็ต้องลาออก เนื่องจากสุขภาพไม่อำนวย นับแต่นั้นครูประยงค์ก็ได้เรียนรู้ชีวิตนอกห้องเรียนมาโดยตลอด ผู้เขียนได้เล่ารายละเอียดเกี่ยวกับการศึกษาหาความรู้จากครอบครัว และชุมชน ซึ่งล้วนแต่เป็นเรือกสวนไร่นา ครูประยงค์จึงรู้จัก คุ้นเคย และชำนาญงานหลายด้าน เท่าที่โอกาสจะอำนวย เช่น การกรีดยาง การเพาะปลูก ประกอบกับเป็นผู้ที่ช่างสังเกต ช่างคิด และไม่ท้อถอย ทำให้สามารถมุมานะ สร้างฐานะ สร้างงาน สร้างครอบครัวได้ตามที่ตั้งใจไว้

               ครูประยงค์ไม่ได้ประสบความสำเร็จในทีเดียว แต่ล้มลุกคลุกคลานหลายครั้ง โดยเฉพาะปัญหาจากภัยธรรมชาติ และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ การขาดเงินทุน ที่เสี่ยงชีวิตก็หลายครั้ง แต่ครูประยงค์มิได้ย่อท้อ ทั้งยังคิดหาหนทางเพื่อเดินหน้า มิใช่ตามลำพัง แต่ยังผนึกกำลังกันในชุมชน จนสามารถสร้างธุรกิจของชุมชน และพัฒนาคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรได้

                หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เล่าแค่ความสำเร็จ แต่เล่ารายละเอียดตั้งแต่ต้น ผู้อ่านสามารถศึกษาวิธีคิด การวางแผน และตัดสินใจของครูประสงค์ได้แต่ละเรื่อง แต่ละช่วงชีวิต และทำให้เข้าใจได้ว่า เหตุใดครูประยงค์จึงได้รับรางวัลต่างๆ มากมายดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

               ในบทที่สาม ว่าด้วยงานนั้น มีลำดับการคิดและการทำงานที่ละเอียด ชัดเจน เกี่ยวกับการพัฒนาและสร้างสภาผู้นำชุมชน การวิเคราะห์ วางแผนการลงทุน และการมองไปข้างหน้า นับว่าให้รายละเอียดและมุมมองที่หลากหลายรอบด้าน

               คงจะด้วยข้อจำกัดต่างๆ ในการผลิต หนังสือเล่มนี้จึงไม่ใหญ่โตนัก มีความหนา 218 หน้า ทั้งๆ ความจริงแล้วประวัติบุคคลสำคัญเช่นนี้ ยังจะมีเนื้อหาและรายละเอียดให้เล่าอีกมากมาย แต่ก็นั่นแหละ ความหนา 218 หน้า ก็ให้ข้อคิด ความรู้ และแนวทางต่างๆ มากพอสมควร สำหรับจะนำไปใช้เอง หรือแนะนำบุคคลอื่นๆ ต่อไป

              Large_cd-prayong


จุดที่ควรปรับปรุง

               หนังสือเล่มนี้พิมพ์เผยแพร่เพียง 2,000 เล่ม จึงน่าจะมีการพิมพ์ซ้ำในไม่ช้า (ทราบว่าจะแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย) หากมีการแก้ไขเพิ่มเติม ก็จะทำให้หนังสือมีความสมบูรณ์มากขึ้น ผมมีข้อเสนอให้แก้ไขในประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ดังนี้

               1. การสะกด มีตกหล่นบ้างประปราย โดยเฉพาะ ฏ ปฏัก และ ฎ ชฎา ใช้สลับกันบ้าง ถูกบ้าง ผิดบ้าง ตลอดทั้งเล่ม

               2. ชื่อพายุ แฮเรียต (Harriet) แต่ในหนังสือเขียนว่า แฮเลียต โดยตลอด และมีกล่าวถึงหลายครั้ง

               3. ข้อความอื่นๆ เล็กๆ น้อยๆ ที่เขียนผิด และสะกดผิด(โดยไม่ตั้งใจ)

               4. ข้อความภาษาอังกฤษ คำประกาศรางวัลแมกไซไซ มีสะกดผิดหลายที่ (ไม่ควรผิด)

               5. ข้อความแปลคำประกาศเป็นภาษาไทย น่าจะแปลเต็มๆ (บางตอนก็แปลย่อๆ)

               6. ภาพประกอบ หลายภาพมีขนาดเล็กเกินไป ควรขยายภาพที่สำคัญให้ใหญ่ขึ้น และตัดภาพที่ไม่สำคัญออกไป

               7. แผนภูมิที่มีข้อความ ถ้าขยายใหญ่กว่านี้จะดูง่ายมากขึ้น หรือปรับจากสีเทา เป็นตัวหนังสือสีดำ ไม่มีพื้นหลัง (พื้นขาว) ก็จะอ่านง่าย

               8. หากแก้ไขเนื้อหาในไฟล์ เป็นฉบับปรับปรุงใหม่ แล้วให้ดาวน์โหลด ก็ประหยัดอีกทางหนึ่ง

               สุดท้ายขอขอบคุณผู้เขียน เจ้าของโครงการ ผู้จัดทำ และผู้อนุเคราะห์หนังสือเล่มนี้ ทำให้ผมได้อ่านและนำมาเล่าแนะนำไว้ในที่นี้ อันที่จริงที่ปกหลังด้านในของหนังสือมีซีดีบรรจุไฟล์ pdf (ขนาด 40 กว่า Mb) แนบไว้ด้วย แต่ไม่ได้เขียนไว้ว่าให้เผยแพร่ หรืออย่างไร  คิดว่าในเว็บไซต์ของสถาบันส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาไทย คงจะมีไฟล์ให้โหลดอ่านกันด้วย.  

 

หมายเลขบันทึก: 496965เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2012 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2012 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

คนนี้ชื่อคุ้นๆๆนะครับ ดร.วัลภา เล็กวัฒนานนท์ 555

แวะมาหย่อนดอกไม้ไว้ 1 ตะกร้า

ขอบคุณสำหรับข้อควรปรับปรุงที่ให้ไว้ทั้งหมด น้อมรับไว้พิจารณาและปรับปรุงสำหรับบรรณาธิการจำเป็น มือใหม่

ไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ เพราะเมื่อพิมพ์ออกมาแล้วก็ได้เห็นหลายข้อดังที่คุณครูธ.วัชชัยให้ไว้ แต่ตั้งใจไว้ว่าครั้งต่อไปจะต้องละเอียดลออ รอบคอบมากขึ้น และมีเวลามากกว่านี้ นับหนึ่งไว้เป็นประสบการณ์แรกของการเป็นบรรณาธิการ...

ซึ่งคราวนี้ทราบแล้วว่า...เืบื้องหลังการทำหนังสือสักเล่มหนึ่งนั้น...เหนื่อยน่าดูเลย..ฮาาาาา

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือในชุด "ถอดรหัสครูภูมิปัญญาไทย" มี 3 เล่มสำหรับปีงบประมาณ 2555 เป็นหนังสือเผยแพร่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และผลงานของครูภูมิปัญญาไทยและเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 ค่ะ

อ้าว ผู้ก่อการ (Blank หยั่งราก ฝากใบ) มาแล้ว

การทำหนังสือในหน่วยงาน นอกจากความสามารถเฉพาะเรื่องแล้ว

ยังมีเรื่องบารมีด้วย ;) บางครั้งเรากำหนดอะไรไม่ได้เลย

บางทีแก้ไขได้ แต่ต้องหาหลักฐานมาเถียง

รออ่านเล่มต่อไปครับ จะได้เป็นทั้งนักเขียนและบรรณาธิการในคนเดียวกัน ;)...

อ่านแล้วด้วยอภินันทนาการจากน้อง Blank เช่นกันค่ะ

ชื่นชมคุณ Blank มากๆค่ะที่เขียนวิเคราะห์วิจารณ์หนังสือได้เหมือนใจมากๆเลย พี่โอ๋ไม่ต้องเขียนอะไรเพิ่มเติมเลย ถูกใจจริงๆ 

สวัสดีครับ อาจารย์พี่ Blank โอ๋-อโณ

 

ขอบคุณมากครับ

หนังสือเ้ล่มนี้อ่านสนุกดี และได้ข้อคิดดีๆนะครับ

แต่ได้ข่าวว่าใช้เวลาทำไม่นานเท่าไหร่ จึงให้อภัยในข้อผิดพลาด ;)

 

น้ายง คนต้นแบบต้นคิด จุดประกายทำแผนชีวิตชุมชน สอนให้คนรู้จักตนเอง ค้นหาทุนชุมชน เพื่อจัดการชุมชน

สวัสดียามบ่ายอีกครั้งค่ะคุณครู

วันนี้มีโอกาสได้เปิดบันทึกนี้ให้อาจารย์ถวัลย์อ่าน

ท่านฝากขอบคุณคุณครูที่กรุณาอ่านและให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ไว้ และบอกข้อความฝากไว้ว่า

"ภูมิปัญญาทั้งหลาย ล้วนส่องทางปัญญาซึ่งกันและกัน"

ขอบคุณมากครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท