เนื้อแท้ของผู้นำ


ผู้นำที่ดี
  • มีทฤษฎีและหลักการมากมายที่เสนอแนะ และอธิบายเรื่องราวของผู้นำ บ้างก็กล่าวถึงบุคคลิกลักษณะของคนที่จะเป็นผู้นำ บ้างก็พูดถึงหลักการของการเป็นผู้นำที่ดี บ้างก็เน้นย้ำถึงเรื่องมนุษยสัมพันธ์ของคนที่จะเป็นผู้นำผู้อื่นได้ และมีอีกไม่น้อยที่พูดถึงทฤษฎีต่างๆในการเป็นผู้นำ 
  • แน่นอน....คนเรายอมรับกันว่า  "ผู้นำ"  ถูกสร้างขึ้นด้วยกระบวนการฝึกฝนพัฒนา  สั่งสมลักษณะความเป็นผู้นำมาทั้งด้านความรู้  ความเข้าใจ  ทัศนคติ  ความชำนาญในการประพฤติปฏิบัติ  และนิสัยในการแสดงออก  ทั้งนี้เนื่องจากมนุษย์จะถูกหล่อหลอมจากสิ่งแวดล้อม  และปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้เสมอ  อันเป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต
  • จากมนุษย์คนหนึ่งที่ถือกำเนิดเกิดมา  ถูกหล่อหลอมฟูมฟักในวัยทารก  วัยเด็ก  วัยรุ่น  และวัยผู้ใหญ่  ผสมผสานเข้ากับการได้รับการฟอกย้อมจากปฏิกริยาโต้กลับของสิ่งแวดล้อม  บวกเข้ากับความพอใจและความไม่พอใจในสิ่งที่เกิดขึ้น  รวมเข้ากับผลลัพธ์ที่เกิดจากการปฏิบัติในแต่ละครั้ง  แปรเปลี่ยนเป็น  ความตั้งใจ  ไม่ตั้งใจ  เอาใจใส่  ละเลย  หรือก้าวร้าว  ถดถอย  จนกลายเป็นบุคคลิกของมนุษย์ที่เป็นผู้นำในปัจจุบัน
  • ผู้รู้ในโลกของชีวิตจริงในด้านการบริหารและการจัดการจึงได้แยกแยะ  อธิบาย  "เนื้อแท้ของผู้นำ" (Ingredients  of  Leader)  ซึ่งหมายถึงส่วนผสมต่างๆของผู้นำที่แท้จริงว่ามีดังนี้
    1. สำนึกในพันธะผูกพัน (Commitment)  ผู้ที่จะเป็นผู้นำที่ดีได้  จำเป็นจะต้องเป็นผู้ที่มีสำนึกว่าตนผูกพันอยู่กับสิ่งที่ได้กระทำ  ประพฤติ  พูด  หรือแสดงออกไป  คนที่พูดพล่อยๆ  สักแต่ให้ได้พูดสัญญาลอยๆ  เพียงเพื่อเอาตัวรอด  โยนความผิดให้ผู้อื่น  ทั้งๆที่รู้อยู่แก่ใจว่าตนผิด  ปฏิเสธความรับผิดชอบทั้งๆที่รู้ว่าตนเป็นผูกระทำเหล่านี้เป็นผู้นำไม่ได้  ใครที่ไว้วางใจให้คนประเภทดังกล่าวเป็นผู้นำ  ก็จะเกิดความสับสนวุ่นวายในสังคม    มีคนถามว่า  "ถ้ามีสำนึกในพันธะผูกพัน"  คนเราจะรับภาระไหวหรือ  ถ้ารับผิดชอบไม่ได้ก็ไม่ควรทำ  ถ้าปฏิบัติไม่ได้ก็ไม่ควรสัญญา  ถ้าลั่นวาจาแล้วทำไม่ได้ก็ควรจะสงบปากสงบคำเสียบ้าง  โดยเหตุที่คำพูดและการกระทำของคนที่เป็นผู้นำ  เป็นหัวหน้า  หรือเป็นผู้บังคับบัญชา  มีอิทธิพลต่อทั้งผู้ใต้บังคับบัญชา  และต่อองค์การใหญ่โดยรวม  คนที่จะเป็นผู้นำได้ดี  จึงต้องมีสำนึกแห่งความรับผิดชอบ  (Accountability)  ในสิ่งที่ได้กระทำลงไป  คนที่ลุอำนาจโทสะ  ยับยั้งใจไม่ได้  แล้วทำอะไรลงไปอย่างผิดๆ  เมื่อผลลัพธ์ออกมาเสียหาย  กลับไม่ยอมรับ...  ตนเองยังนำวิถีจิตใจของตนเองไม่ได้....  แล้วจะเป็นผู้นำใครอีกหรือ 

      • ถ้าชายคนหนึ่งได้เสียเป็นเมียผัวกับหญิงหนึ่ง  สนุกกับความรักจนลืมตัว  ผู้หญิงตั้งท้องขึ้นมา  เมื่อบอกเล่าให้ชายคนรักฟัง  ชายนั้นกลับไม่ยอมรับ  หรือยอมรับไม่ได้  อ้างว่ายังไม่พร้อมบ้าง  อ้างว่ายังไม่ถึงเวลาบ้าง  เคยคิดสักนิดหรือไม่ว่า  ก่อนจะทำลงไปเคยทักท้วงตนเองไหมว่า  "ยังไม่พร้อม  ยังไม่ถึงเวลา"  ถ้าขนาดเลือดในอกที่ผลิตออกมาเป็นทารกลืมตาดูโลก  ยังยอมรับไม่ได้ว่าเป็นของตัว  อย่าว่าแต่ชายนั้นจะเป็นผู้นำกลุ่มชนไม่ได้เลย  ความเป้น  "ชาย"  ยังไม่มีเลยด้วยซ้ำไป  จริงอยู่  การยอมรับผลการกระทำของตัวเองอาจทำให้เจ็บปวด  อาจทำให้สูญเสียผลได้  สูญเสียผลประโยชน์  เกียรติยศ  หรือแม้กระทั่งเสียทรัพย์  หรือชีวิตของตนเองไป  แต่ถ้าทุกคนที่วาดฝันจะเป็นผู้นำในอนาคต  ตระหนักถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น  แล้วยับยั้งชั่งใจใช้วิจารณญาณก่อนที่จะพูดหรือกระทำอะไรลงไป  หรือใช้บทเรียนและความเสียหายที่ตนได้มีประสบการณ์  แก้ไขไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก  ผู้นั้นก็จะพัฒนาสำนึกแห่งพันธะผูกพัน  ฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้นำในเนื้อแท้ประการแรกนี้ได้

    2. ความคงเส้นคงวา  (Consistence) คนที่เป็นผู้นำ  จะต้องมีความสามารถในการรักษาอารมณ์ไม่ให้แปรปรวน  ข่มความโกรธ  ความเกลียดชังได้  ไม่ให้แสดงออกอย่างไม่เหมาะสม  ความรัก  ความเกลียดชัง  ความรู้สึกชอบ  ไม่ชอบ  ความผูกพัน  ห่างเหินเป็นไปตามอารมณ์ของมนุษย์  แต่ในสภาพความเป็นผู้นำ  " ยามรักชอบชมเชย  แนะนำ  ยกย่องส่งเสริมให้ได้ดี  ยามเบื่อหน่ายชิงชัง  จะต้องไม่ด่าทอนินทาให้เสียหาย "  หากเราแสดงออกก็เท่ากับประจานตัวเอง  "  เมื่อรักใคร่ชอบพอ  ดี  พอมาถึงตอนนี้ด่าทอประจาน "  กลายเป็นคนมีอารมณ์แปรปรวน  เอาอะไรแน่ไม่ได้  คนประเภทนี้เป็นผู้นำไม่ได้  หากเป็นผู้นำแล้วขาดความคงเส้นคงวา  ก็เอาแต่อารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง  ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาที่ฉลาดแกมโกงก็จะทำทุกอย่างเพียงเพื่อความถูกใจ  เพื่อสนองอารมณ์แปรปรวนนั้น  "ความถูกต้อง"  ก็จะลดลง  มุ่งแต่จะสร้าง " ความถูกใจ"  อย่างเดียว  ปลายทางของหัวหน้าหรือผู้นำที่ไม่คงเส้นคงวาเก็บความรู้สึกไม่ได้ก็คือ "ถูกหลอกจนเสียคน"  มามากต่อมากแล้ว  ผู้นำที่คงเส้นคงวา  จะยกย่องส่งเสริมผู้ที่ทำดี  ทำถูกต้อง  ไม่นินทาด่าทอผู้ที่ตัวเองเกลียดชังทำเฉยไม่มีปฏิกิริยากับคนที่ตนเองเกลียดชัง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสมาชิกในทีมหรือผู้ใต้บังคับบัญชาที่อยู่หรือเคยอยู่ในสังกัดของตน
    3. ความสามารถที่จะปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพใต้สภาวะซับซ้อน  (Complexity)  ซุนวู  ปราชญ์เอกคนหนึ่งของจีนกล่าวว่า  " ยอดไม้ใด  ทอยอดขึ้นสูงเพียงใด  ย่อมปะทะลมแรงมากขึ้นเพียงนั้น "  ผู้ที่เป็นผู้นำ  ยิ่งเป้นผู้นำระดับสูงขึ้นเพียงใด  ปริมาณขีดจำกัดและความซับซ้อนของงาน  ก็ย่อมจะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว  ผู้นำที่ประสบความสำเร็จจึงต้องจัดระบบข้อมูลในสมองได้ดี  จัดช่องทางการนำความจำ  ความคิด สติปัญญา  และประสบการณ์  มาใช้ได้อย่างถูกจังหวะ  และเหมาะสม  ไม่ถูกปัญหารุมเร้า  จนถูกปัญหาป้อนเข้ามุมอับ  ก่อให้เกิดการเก็บกดบีบคั้น  จนเกิดความเครียดสูง  หรือเกิดแรงกดดันจนระบายพฤติกรรมออกทางทำลาย (Destructive  Behavior) ออกมา  ผู้ที่ฝึกฝนการวิเคราะห์ปัญหา  การแก้ปัญหา  และการตัดสินใจอย่างมีระบบ  จนเกิดความคล่องแคล่วในการเก็บข้อมูล  วิเคราะห์ข้อมูล  หาสาเหตุของปัญหา  หาแนวทางในการแก้ปัญหา  และตัดสินใจลงมือแก้ปัญหา  จะเป็นผู้ที่มีความมั่นคงสูง  และสามารถปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้สภาวะซับซ้อนมากๆ  ได้มากๆขึ้นเสมอ
    4. มีความเชื่อถือศรัทธา  (Credibility)  ภาพพจน์ (Image)  ของผู้นำ  เป็นผลอันเกิดจากการผสมผสานของความเป็นจริง  (Reallity)  ของผู้นำเองกับความคาดหวังของสังคม  (Social Perception)  ผู้นำที่สามารถจะสร้างความเชื่อถือได้  จึงสร้างการยอมรับจากสังคมได้และจะสามารถโน้มน้าวแนะนำให้ผู้อื่นปฏิบัติตามได้ง่าย  ความเชื่อถือศรัทธาสามารถสร้างได้ดังนี้
      1. ด้านสติปัญญา   (Intellectual  Credit)  ผู้นำที่จะได้รับความเชื่อถือศรัทธาจำเป็นจะต้องเป็นผู้ที่ฝึกฝนตนเองให้มีสติปัญญา  มีข้อมูล  มีความรอบรู้ทันต่อเหตุการณ์  เพราะจะทำให้สามารถแก้ปัญหาให้แก่ทีมงานได้อย่างฉลาด  และมีประสิทธิภาพ  ผู้นำที่ไม่ฉลาด  ไม่รอบรู้และไม่ทันเหตุการณ์  นอกจากจะแก้ปัญหาไม่ได้  หรือได้ไม่ดีเท่าที่ควรแล้ว  ยังกลายเป็นตัวตลกให้สมาชิกในทีมเยาะหยันอีกด้วย
      2. ด้านเศรษฐทรัพย์ (Economical  Credit)  ผู้ที่จะเป็นผู้นำ  เป็นหัวหน้างานเป็นผู้บังคับบัญชา  และเป็นผู้บริหาร  จะต้องไม่มีปัญหาเรื่องเงินๆทองๆ  ต้องรู้จักประหยัดอดออม  สร้างฐานะของตัวเองให้มั่นคงก้าวหน้าสืบไป  หัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชา  ที่ยืมเงินพนักงาน (จะเสียดอกหรือไม่ก็ตาม)  เป็นหัวหน้าวงแชร์  เดินโพยหวยใต้ดิน  หรือมีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว  จะเป็นผู้นำที่ดีและประสบความสำเร็จไม่ได้  เนื่องจากผู้บังคับบัญชาไม่เชื่อฟัง  จะดูแคลนและนินทาว่าร้ายให้เจ็บอายได้อีกด้วย
      3. ด้านบุคคลิกภาพ (Personality  Credit)  บุคคลิกภาพประกอบไปด้วยรูปร่างหน้าตา  การแต่งกาย  การแสดงออก  การใช้สิ่งของอุปกรณ์  และนิสัยในการกินอยู่  และการคบค้าสมาคมกับคนรอบข้าง  ผู้นำจำเป็นต้องรักษาสุขภาพกาย  สุขภาพจิตให้สมบูรณ์อยู่เสมอ  ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส  แต่งกายสะอาดถูกกาละเทศะ  และมีรสนิยม  ทรงผม  การแต่งหน้าเสริมสวย  ประทินผิวแต่พองาม  พอเหมาะ  ตลอดจนฝึกนิสัยการรับประทานอาหาร  การพูด  การแสดงให้เหมาะให้ควร  ผู้ที่นึกจะพูดอะไรก็พูดออกมา  โดยอ้างว่า  " จริงใจ  รู้สึกอย่างไรก็พูดอย่างนั้น"  เป็นเพียงการแก้ตัว  เพราะ  "ความจริงใจ"  กับ "ความปากหมา"  ห่างกันแค่เส้นยาแดงผ่าแปดเท่านั้น  และเมือพูดออกมาทำให้เสียบุคคลิก  ขาดความเชื่อถือจากผู้ใต้บังคับบัญชา  ผู้ที่จะเป็นผู้นำ  โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูง  จึงควรได้รับการฝึกฝน  ทั้งในด้านการแต่งกาย  การแสดงออก  และการพัฒนาบุคคลิกภาพ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกการพูดและการแสดงออกต่อชุมชน
      4. ชื่อเสียงและภาพพจน์  (Reputation  Credit)  ส่วนใหญ่ชื่เสียงและภาพพจน์  มักเกิดจากประวัติความสำเร็จ  ความล้มเหลวที่ผู้นำได้สั่งสมมา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่าขานถึงสิ่งที่เคยกระทำ  ผู้นำจะบอกว่า  "นอกเวลางานเป็นเรื่องส่วนตัว  จะทำอะไรตามใจตัวเองได้ทุกอย่าง"  ไม่สามารถจะพูดหรือกระทำได้  เพราะคงไม่มีผู้บังคับบัญชาคนใด  ปรารถนาจะอยู่ภายใต้การปกครองบังคับบัญชาของหัวหน้าที่มีแต่คำเล่าขานในทางที่ไม่ดี  ชื่อเสียง  และภาพพจน์  เป็นภาพที่ผู้อื่นเข้าใจในตัวผู้นำและนำไปเล่าขานต่อ  ถ้าผู้พบเห็นสมหวัง  ชื่นชม  นำไปเล่าขานต่อที่ไหน  เมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาได้ยินเข้าก็จะยิ้มแย้มแจ่มใส  มีความภูมิใจที่จะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา  ยิ่งมีตำแหน่งหน้าที่สูงขึ้นเท่าใด  ยิ่งต้องระวังตัว  ระวังชื่อเสียงของตัวเองเท่านั้น  โดยเหตุที่ผู้นำ  จะต้องอาศัยสมาชิกในทีมช่วยสร้างความสำเร็จและผลงานให้แก่ตน  ผู้นำที่ฉลาดจึงต้องสร้างความมั่นใจ  ตั้งใจ  จริงใจ  และภูมิใจให้เกิดแก่สามชิกในทีมให้ได้  จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้นำที่มีเนื้อแท้ของความเป็นผู้นำโดยสมบูรณ์

 

ผู้นำที่ดี

    1. ต้องตระหนักและแสดงให้เห็นว่าความคิดเห็นส่วนมากมาจากสมาชิกของกลุ่ม
    2. ไม่จำเป็นต้องตำหนิติเตียนความผิดของหัวหน้าคนก่อนหรือผู้นำคนอื่น
    3. ทำหน้าที่เป็นกันชนระหว่างกลุ่มกับผู้บังคับบัญชาระดับสูงขึ้นไป  โดยไม่ผลักหรือโยนความผิด  หรือความกดดันไปให้ผู้บังคับบัญชา
    4. ละวางปัญหาและอารมณ์ส่วนตัว  เสียจากความสัมพันธ์กับพนักงาน  ตรงกันข้ามพยายามรักษาความเยือกเย็น  และความเข้าใจที่ดีเอาไว้
    5. หลีกเลี่ยงการสร้างอภิสิทธิ์ชน  แต่ต้องพยายามรักษาความยุติธรรม
    6. ทำตัวให้พบง่าย  และพยายามทำความเข้าใจ  เมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาต้องการความช่วยเหลือ
    7. วางตนเป้นตัวอย่างที่ดีแก่กลุ่มเสมอ
    8. มั่นคงและทำตัวสงบ  เมื่อเกิดความหวาดกลัวหรือกระวนกระวายใจ

  

ดร.   โสภณ  ภูเก้าล้วน

18  กุมภาพันธ์  2549

 

 

หมายเลขบันทึก: 49541เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2006 16:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท