สิ่งที่ผมเรียนรู้จากการทำงานที่ผ่านมา


การทำงานทำให้ตื่นเช้ามากขึ้น กลับไปทบทวนการทำงานมากกว่าเดิม คิดที่จะอยู่ในสังคมมากกว่าที่เคย

๑.การทำงานทำให้ตื่นเช้ามากขึ้น

ปกติแล้วจะติดการนอนตื่นสายมาก ตั้งแต่มาทำงานตื่นเช้ากว่าเดิม ตื่นเป็นเวลามากขึ้น เรียนรู้ว่าไม่จำเป็นต้องไปตรงเวลา สิ่งที่ดีกว่าก็คือการไปก่อนเวลา ไม่จำเป็นที่จะต้องคิดว่าได้ทำงานก่อนเวลานั้นกำไรหรือขาดทุน มีคนเคยบอกว่าการทำงานไม่เคยทำให้คนเราขาดทุน มีแต่จะได้กำไรส่วนจะได้มากหรือได้น้อยก็อีกเรื่องหนึ่ง

๒.กลับไปทบทวนการทำงานมากกว่าเดิม

คงเป็นเพราะว่าเราไม่ได้มีความรู้และเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลรวมถึงกฎหมายสัญชาติและกฎหมายทะเบียนราษฎร หลายอย่างก็คืนให้อาจารย์ไปแล้ว หลายอย่างก็เป็นเรื่องใหม่ที่เป็นกฎหมายเทคนิคซับซ้อนที่ส่วนใหญ่แล้วมีเนื้อหาเป็นการกำหนดวิธีการปฏิบัติราชการของฝ่ายปกครอง อย่างกฎกระทรวงหรือระเบียบต่างๆซึ่งมีอยู่มากมาย (นึกถึงวิชานิติปรัชญาเรื่องทฤษฎีกฎหมายสามชั้นเลย) คิดไปแล้วไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาเท่าไรจึงจะปรับตัวในการทำความเข้าใจกฎหมายเหล่านี้ได้

๓.คิดที่จะอยู่ในสังคมมากกว่าเคย

แต่ก่อนจะทำอะไรก็ไม่ต้องคอยพะวงอะไรนัก อยู่ตัวคนเดียวจะทำอะไรก็ได้ แต่เมื่อทำงานแล้วต้องพบเจอผู้คนมากมาย ทั้งพี่ๆร่วมงาน เจ้าพนักงาน ผู้ประสบปัญหาสถานะบุคคลต่างๆ ทำให้ต้องรู้จักรับฟังมากกว่าเดิม รู้จักรับฟังในสิ่งที่ไม่อยากฟังบ้าง รู้จักที่จะต้องพูดให้คนอื่นเข้าใจ(ไม่ใช่ตัวเองเข้าใจอยู่คนเดียว) ต้องคิดก่อนที่จะพูดสิ่งใดออกไป 
หมายเลขบันทึก: 495353เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2012 19:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กรกฎาคม 2012 02:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีจังเลย ทำงานแล้ว กลับมาทบทวน ถอดบทเรียน หาจุดดี จุดอ่อน จุดที่จะหาวิธีแก้ไข ปรับปรุง ให้งานดีขึ้น สมบูลย์ขึ้น นะคะ

ขอบคุณมาก สำหรับบทความดีดีนี้นะคะ

การถอดบทเรียนเป็นสิ่งที่ดีค่ะ เป็นการทำวิจัยจากงานประจำ เคยได้ยินที่เขาเรียกกันว่า R2R ไหมค่ะ ...Routine to Research ....Research to Routine

และก็มีเรื่องที่ "เห็นด้วย" และ "ไม่เห็นด้วย"

ในประการแรก "ไม่เห็นด้วย" ที่โจ้งบอกว่า "ไม่ได้มีความรู้..ด้านกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล"  ทั้งนี้ เพราะก็สอบผ่านจากธรรมศาสตร์ แม้อาจจะโดดเรียนหรือเก็งข้อสอบบ้าง (??) ความรู้คงมี แต่ก็คงไม่แม่นยำ เพิ่งจบ ยังไม่เคยฝึกงาน ฝึกทนายความ จะไปมีปาฏิหารย์ที่จะแม่นยำ แบบตื่นมา แล้วเก่งเอง คงไม่ใช่นะคะ ความเชี่ยวชาญคงตามมาในไม่ช้า หากตั้งใจฝึกฝน

ความหลงลืมนั้น อาจมีได้ แต่เมื่อทบทวน ความรู้ที่ค้างในความทรงจำก็จะกลับมา และไม่จากไปอีกเลย

ในประการที่สอง "เห็นด้วย" ที่โจ้งว่า "หลายอย่างก็เป็นเรื่องใหม่ที่เป็นกฎหมายเทคนิคซับซ้อนที่ส่วนใหญ่แล้วมีเนื้อหาเป็นการกำหนดวิธีการปฏิบัติราชการของฝ่ายปกครอง อย่างกฎกระทรวงหรือระเบียบต่างๆ ซึ่งมีอยู่มากมาย" ในประเด็นนี้ ก็ไม่ยากที่จะเชี่ยวชาญ เมื่อพื้นฐานดี อะไรที่ต่อยอดมาก็จะพัฒนาให้ดีได้ง่ายและเร็ว

นอกจากนั้น ก็จะตอบคำถามของโจ้งที่ถามว่า "คิดไปแล้วไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาเท่าไรจึงจะปรับตัวในการทำความเข้าใจกฎหมายเหล่านี้ได้" คำตอบของ อ.แหววในวัย ๕๕ ปี ที่เริ่มงานนี้อย่างจริงจังเมื่ออายุ ๓๒ ปี มีลูกศิษย์มาแล้วหลายรุ่น ก็คือ การลงฝึกทำงานใน "เรื่องจริง" ด้วยทฤษฎีการทำงานที่ไปเรียนรู้เบื้องต้นที่ มน. จะเป็น "ทางลัด" สู่ความเชี่ยวชาญค่ะ ในช่วงนี้ ขอให้ปราณีตกับ "สัมพันธภาพ" ระหว่าง "ข้อเท็จจริง" และข้อกฎหมาย"

ขอให้ทวงถาม อ.ด๋าวและ อ.ไหม ที่จะสอนเรื่องของทฤษฎี ๑๒+๓ นะคะ เป็นบทเบื้องต้นในการทำงานกับตัวเองของนักกฎหมายค่ะ

ท้ายที่สุด ต้องขอถามโจ้งว่า แล้วอะไรคือ "สัมพันธภาพ" ระหว่าง "กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล" และ "กฎหมายสัญชาติ กฎหมายการทะเบียนราษฎร" ??? การตอบคำถามนี้อาจทำให้ "ปรัชญากฎหมายหรือนิติปรัชญา" ในเรื่องนี้ชัดขึ้นมา คงต้องทบทวนตำรากฎหมายนะคะ R2R ไงคะ

อ.แหววเห็นต้นไม้ที่เติบโตอย่างงดงามมามากแล้วค่ะ เมล็ดพันธุ์จากธรรมศาสตร์นั้นแข็งแรงค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท