๑๓๔. ลำนำเพลงไผ่


หน่อไผ่
พลังความงอกงามของชีวิต
จากผืนดิน

เสียดยอดสู่ฟ้า
นอบน้อมแสงตะวัน

แตกกิ่งใบ
ไหวเอน  

บอกเล่าความอ่อนโยน
ของสายลม

เห็นสวนไผ่แล้วนึกถึง ‘ขลุ่ยผิว
หนังสือรวมบทกวีไฮกุ เมื่อกว่า ๓๐ ปีก่อน
แปลและทำเล่มโดยพจนา จันทรสันติ
ตลอดเล่ม มีหน้าคั่นเป็นระยะๆ
ทำด้วยกระดาษสาเคลือบทับใบไผ่
เป็นหนังสือที่อ่านแล้ว
เห็นทิวไผ่ สายธาร
และได้ยินเสียงลม
พัดพลิ้วมาจากเยื่อกระดาษ 

สังคมวัฒนธรรมที่ร่ำรวยภูมิปัญญาเกี่ยวกับไผ่มากในโลก
ยังไม่เห็นมีใครเกินอินโดนีเซีย เพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนของไทย
และเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก
มีภูมิปัญญาในการใช้ไผ่ในวิถีชีวิตสารพัด
ทำบ้านอย่างอลังการ ทำเครื่องมือทำมาหากิน ทำอาวุธ
ทำเครื่องใช้ในบ้าน  ทำเครื่องดนตรีหลากชนิด หลากเสียง
เป็นชนเผ่าที่ราวกับว่า
เพียงเดินมือเปล่าเข้าป่าไผ่
ก็สร้างเมืองและสร้างอารยธรรม
ให้ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ 

ในบ้านผมมีไผ่แล้ว ๖ อย่าง
ไผ่แต่ละอย่างมีข้อดีสำหรับการใช้สอยต่างกัน
บ้างเนื้อบางและมีเยื่อเหนียว เหมาะสำหรับทำตอกและข้าวหลาม
ไผ่เนื้อแข็ง หนา บ้องสั้น เหมาะสำหรับทำเครื่องมือเกษตร โครงบ้าน และเครื่องใช้ในบ้าน
ไม้รวก แข็ง ลำตรง เหมาะสำหรับทำรั้ว
ไผ่หวานให้กอและหน่อหวาน เป็นกำแพงป้องกันลมอย่างดี

ไผ่เนื้อแข็ง บ้องใหญ่ บาง เหมาะสำหรับแผ่ทำแคร่ปูพื้น 
และอีกสารพัด

วัสดุสิ่งของจากไผ่
ทำขึ้นใหม่และปรับเปลี่ยนได้ง่าย

ย่อยสลายและแปรรูปได้ง่ายมาก
ใบไผ่ก็ทำปุ๋ยและใช้ถมที่ได้อย่างวิเศษ
ปลูกไผ่หลากหลายชนิดไว้ในบ้าน
จึงเหมือนกับมีโฮมมาร์ทและคลังวัสดุพร้อมใช้
อย่างมั่นคงเพียงพอไว้อยู่เสมอ
มีไผ่ไว้ในบ้าน ไม่ต้องรวย
ก็สามารถมีบ้านสวย 
มั่นคง
ยืดหยุ่น หลากหลาย
มีศิลปะ และมีรสนิยม ได้ 

วัดในสวนป่าไผ่
หรือเวฬุวณารามมหาวิหาร
เป็นวัดในพุทธประวัติ

พระเจ้าพิมพิสารและชาวเมืองราชคฤห์ได้สร้างถวาย
พระพุทธองค์ทรงรับเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา
พระพุทธองค์และหมู่สงฆ์สาวก
ได้ทรงประทับยาวนานที่สุด

ได้ทรงสถิตย์แสดงธรรมเทศนาแก่กลุ่มชนต่างๆมากที่สุด
และเป็นแหล่งที่ได้ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์
ในวันเพ็ญเดือนสาม
เป็นหมุดหมายของการก่อเกิดฐานมั่นคง
ครบองค์สามอย่างสมบูรณ์
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ในบวรพุทธศาสนา

จึงสวนป่าไผ่
นอกจากเป็นหมุดหมาย ให้นัยประหวัด
ถึงมรรควิถีแห่งองค์พุทธะ

ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว
ก็ให้บรรยากาศที่สัปปายะ เอื้อต่อความวิเวก
จิตใจและสมาธิมีกำลังเข้าสู่ความสงบร่มเย็นภายใน
มีธรรมชาติเป็นวิหารแห่งธรรม
โน้มนำชีวิตจิตใจ
คืนสู่ธรรมชาติ 
บนความเรียบง่าย 

หากต้องการใช้ไผ่สด
คนเก่าก่อนบอกกล่าวสืบต่อกันไว้ให้ว่า

รั้ว ห้าง เรือน เสาสะพาน ไม้ค้ำ
เครื่องใช้ต่างๆที่เชื่อมต่อถึงดิน หรือปักลงสระ

ต้องหันปลายปักลงดิน ด้านโคนหันขึ้นฟ้า
แล้วก็ท่องว่า 'ปักกก ตกน้ำตาย ปักปลายว่ายน้ำเป็น'
เมื่อรู้จักธรรมชาติของไผ่แล้ว ก็จะเข้าใจได้ว่า
เป็นเหตุผลเพื่อป้องกันไผ่งอก
ซึ่งจะทำให้บ้านและสิ่งที่ต้องการใช้สอยพังนั่นเอง

ไผ่
สายรกมนุษย์กับธรรมชาติ
บันทึกวิถีสังคม
บอกเล่าภูมิปัญญา
ต่อผืนดินถิ่นฐาน

ของผู้คนในหลายวัฒนธรรม


................................................................................................................................................................................

ใคร่ครวญและคิดความด้วยภาพ : Photo-Essay
ถ่ายภาพและบรรยาย : วิรัตน์ คำศรีจันทร์
สถานที่ : สวนป่าไผ่ ศูนย์ปฏิบัติธรรมเบิกฟ้าธรรมาศรม ตำบลองค์พระ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี
วันเวลา : เสาร์-อาทิตย์ ๓๐ มิถุนายน - ๑ กรกฏาคม ๒๕๕๕
กล้อง
: Kodak  
Event : การปฏิบัติธรรม เจริญสติภาวนา ถอดบทเรียนและทบทวน ๑๐ ปีของชีวิตการงาน สมาชิกเครือข่ายชมรมชีวเกษม 

หมายเลขบันทึก: 493721เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2012 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

งดงามมากค่ะท่านอาจารย์ มองดูแล้วรู้สึกทันทีว่าอยากไปนั่งในที่นั้นบ้าง

ภายนอกไผ่ดูอ่อนโยน อ่อนน้อม พริ้วไหว เรียบง่าย น่าคบหาสมาคม แต่ภายในนั้นเข้มแข็ง มีประโยชน์ มีคุณค่ามากหลาย....

สวัสดีวันศุกร์ค่ะท่านอาจารย์

ขอบคุณดร.ปริมครับ แวะมาชม ทักทาย และสะท้อนคิดให้กันครับ
มีรูปถ่ายในชุดนี้ที่เตรียมนำมาอวดและแบ่งกันชมให้เพลิดเพลินใจหลายรูปอยู่ครับ ได้ทำกิจกรรมกับสมาชิกที่ไปร่วมกิจกรรมด้วยกันดีๆหลายอย่าง สภาพแวดล้อม บรรยากาศ ที่มีการค่อยๆทำมาอย่างสั่งสม ก็ดีมากอย่างยิ่ง เจ้าของสถานที่และผู้คน ก็ดี ไปแล้วก็ชอบมากครับ  

เป็น Photo-essay ที่เยี่ยมค่ะ...อาจารย์วิรัตน์ แถมจบด้วยการเปรียบเทียบที่ยิ่งใหญ่.."ไผ่..สายรกมนุษย์กับธรรมชาติ..." ลึกซึ้งมาก...ใช่เลยค่ะ ขอบคุณค่ะ..:-))

คนบันทึกภาพ "ไผ่" ได้ดี เป็นคนที่จิตใจสงบ เย็น

เช่นนั้นนะ ท่านพี่ ;)...

...ขอบคุณครับท่านอาจารย์กับบันทึกดีๆที่ทำให้นึกถึงผู้เฒ่าผู้แก่คราวเก่าก่อน ทำเครื่องมือเครื่องไม้เลี้ยงชีพได้ทุกอย่างจากไม้ไผ่

สวัสดีค่ะอาจารย์ เป็นบันทึกที่งดงามมากเลยค่ะ

เรียนอาจารย์ วิรัตน์ ไม้ไผ่กับฤดูกาล

"ฟ้าผ่าหัวปลาหมอ ลมหักคอไม้ไผ่"

สวัสดีครับอาจารย์ ดร.Kwancha ครับ

นอกจากสื่อในเชิงอุปมาอุปมัยได้แล้ว เมื่อก่อนนี้ แถวบ้านนอกของคนในรุ่นผมนี่ เมื่อคลอดก็ต้องตัดสายรกด้วยไผ่รวก แล้วก็นอนบนกระด้งกับเปลไม้ไผ่ รกก็มักจะต้องให้นำไปฝังในผืนดินที่โคนไผ่ เพื่อให้เด็กมีจิตวิญญาณรักผูกพันเทือกเถาเหล่ากอ เรียกว่าเป็นไม้แรกๆที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คนนับแต่การเกิดเลยละครับ

ขอบคุณที่แวะมาเยือนและแบ่งปันความคิดด้วยกันครับอาจารย์ มีความสุขครับ

สวัสดีครับอาจารย์ Wasawat Deemarn ครับ
เก็บเกี่ยวความงาม ความรื่นรมย์ จากธรรมชาติในอีกชั่วขณะหนึ่ง
มากำนัลและแบ่งปันแก่กันนะครับอาจารย์ มีความสุขมากๆครับ

สวัสดีครับ พ.แจ่มจำรัสครับ
เด็กๆ ก็มีของเล่นที่ีทำจากไผ่เยอะแยะเลยนะครับ
เห็นกอไผ่นี่ก็เห็นของเล่นสารพัดลอยอยู่ในนั้นเลยเชียว
ทั้งว่าว อีโบ๊ะ ไม้หึ่ม ขาหยั่ง ฯลฯ

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ
สวนป่าไผ่ร่มรื่น ให้ความสงบเย็นทั้งกายใจ
ตอนเดินเสาะหามุมถ่ายภาพทีละภาพ ก็ได้ความเพลิดเพลินดีมากเลยครับ
เหมือนได้ทำงานความคิดและอ่านเข้าไปข้างในตัวเองไปด้วย
ว่าจะถ่ายทอดบรรยากาศและอารมณ์ของสวนป่าไผ่
ให้พอสัมผัสได้ด้วยภาพสักชุดหนึ่งอย่างไร

สวัสดีครับบังวอญ่าครับ
อ่ะฮ้า ทางใต้มีคติชนเป็นหมายเหตุฤดูกาลอย่างนี้เหมือนกันหรือครับ แถวบ้านผมก็มีครับ แต่มีแค่ตรง 'ฟ้าผ่าหัวปลาหมอ' หรือว่าจะมีต่อว่าลมหักคอไม้ไผ่ด้วยหรือเปล่าก็ไม่ทราบนะครับ แต่ผมจำไม่ได้ว่าเคยได้ยินหรือเปล่า แต่ 'ฟ้าผ่าหัวปลาหมอ' นี่ เคยได้ยินครับ พอจะนึกออกลางๆว่าเป็นช่วงฝนแล้งเดือนห้าที่จะย่างเข้าสู่หน้าฝน ซึ่งลมและฝนจะแรง และปลาหน้าแล้งจะดีใจ กระเสือกกระสนออกมาหาน้ำใหม่ บางทีฝนก็ตกในขณะที่แดดออก ผู้ใหญ่มักห้ามไม่ให้ลงไปว่ายน้ำในคลอง เพราะจะเจอฟ้าผ่าหัวปลาหมอ

สวัสดียามดึกก่อนเข้านอนค่ะอาจารย์

เหมือนได้ยินลำไผ่เสียดสีเป็นทำนองเสนาะด้วยเลยนะคะ

งดงาม สงบ สดชื่น นอบน้อม และอ่อนโยน

หลับฝันดี คุณพระคุ้มครองนะคะ

สวัสดีครับคุณหมอธิรัมภาครับ
พื้นที่สีเขียวและพื้นที่สำหรับอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาตินี่ โดยเฉพาะสวนไผ่อย่างนี้นี่
ให้บรรยากาศที่เหมาะสำหรับการทำงานความคิดและงานที่ออกจากใจดีนะครับ 
นั่งเขียนรูป เขียนหนังสือ สนทนากัน สนทนาธรรม สวดมนต์ ทำสมาธิ เดินจงกรม 
ก็ม่วนเลย  

 

สวัสดีครับอาจารย์ อ่านบันทึกของอาจารย์แล้วทำให้คิดถึงท่านอาจารย์พุทธทาสครับ

เอาคำที่ท่านอาจารย์พุทธทาสลิขิตไว้ และจีวันทำเป็นเพลงมาฝากนะครับ

http://www.youtube.com/watch?v=5TB9CMgX6rs

เสียงขลุ่ยหวน  กลับมา  หากอไผ่     
จงคิดให้  เห็นความ  ตามนี้หนอ

ว่าไผ่ลำ  ตัดไป  จากไผ่กอ     
ทำขลุ่ยพอ  เป่าได้ เป็นเสียงมา

เสียงก็หวน  กลับมา  หากอไผ่   
เป่าเท่าไร  กลับกัน  เท่านั้นหนา

เหมือนไอน้ำ  จากทะเล  เป็นเมฆา   
กลายเป็นฝน  กลับมา  สู่ทะเลฯ

เหมือนตัณหา  พาคน  ด้นพิภพ   
พอสิ้นฤทธิ์  ก็ตระหลบ  หนทางเห

วิ่งมาสู่  แดนวิสุทธิ์  หยุดเกเร  
ไม่เถล  ไถลไป  ที่ไหนเลย

อันความวุ่น  วิ่งมา  หาความว่าง  
ไม่มีทาง  ไปไหน  สหายเอ๋ย

ในที่สุด  ก็ต้องหยุด  เหมือนอย่างเคย  
ความหยุดเฉย  เป็นเนื้อแท้  แก่ธรรมแลฯ

ขอบพระคุณครับอ.นุครับ
เป็นบทกลอน บทกวี และเพลงธรรมไผ่คืนกอ 
ให้ทั้งความเข้าใจสายธารธรรม และได้จินตภาพต่อชีวิต
ที่ลึกซึ้งและกว้างขวางมากเลยนะครับ 

เท่าที่เคยทราบต้นไผ่เป็นต้นไม้ที่ให้ออกซิเจนมากเป็นอันดับต้นๆ เชียวละครับ

ใบไผ่นี่ ขุดตามโคนต้นไม้ แล้วก็เอาใบไผ่ไปสุมกองให้รอบๆ ก็รักษาสภาพความชุ่มชื้นให้กับต้นไม้ได้ดีมากเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท