อย่าลืมใส่เนื้อหาเวลาทำเว็บของหน่วยงาน


เวลาเข้าเว็บหน่วยงานราชการไทยไม่ว่าหน่วยเล็กหน่วยใหญ่ สิ่งที่ผมเห็นและสังเกตได้ก็คือเว็บเหล่านี้ถูกใช้เป็นพื้นที่ "แสดงวิชา" ของคนทำเว็บของหน่วยงานนั้น

ผมเดาว่าน้องๆ นักทำเว็บเหล่านี้พึ่งเรียนรู้วิชากันมาใหม่ๆ หรือไม่ก็จบใหม่ๆ เลยอยากแสดงความสามารถให้ชาวโลกได้ประจักษ์

การแสดงวิชานี่คือการใส่ลูกเล่นทุกสิ่งทุกอย่างที่ตัวเองมีความรู้ไว้ในเว็บ

แน่นอนครับ นั่นคือการมี Flash มีภาพเคลื่อนไหว มีเสียง มีตัวอักษรวิ่ง เปลี่ยน cursor มี background แปลกๆ และอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย

แต่สิ่งที่ลืมทำกันส่วนใหญ่คือ "ใส่เนื้อหา"

ที่จริงจะบอกว่าไม่ได้ใส่เนื้อหาก็ไม่ได้ ก็ใส่กันอยู่นะครับ แต่คุณภาพเนื้อหาเป็นแบบสั้นๆ มีน้อยหน่อยเดียว แถมเขียนแล้วอ่านไม่รู้เรื่องอีกต่างหาก ใช้ภาษาวกวน อ่านไทยแล้วต้องแปลเป็นไทยอีกสามชั้นก็ยังไม่รู้เรื่อง

เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเฉพาะหน่วยงานเล็กๆ นะครับ หน่วยงานใหญ่ๆ ก็เป็นกันหมด เรียกว่าร้อนวิชามาจากค่ายเดียวกันก็คงได้

ผมไม่รู้ชัดๆ สาเหตุอะไรถึงลืมใส่เนื้อหากัน แต่ผมพอเดาได้สองสามเหตุผล

เหตุผลแรกคือ การใส่เนื้อหามันไม่สนุก คนไทยไม่ค่อยชอบเขียนอยู่แล้ว การเขียนอะไรยาวๆ ไม่ใช่เรื่องที่ชอบทำกัน ทำอะไรวูบๆ วาบๆ ในหน้าเว็บสนุกกว่า

เหตุลผลต่อมาคือ การทำเว็บในประเทศไทยมักจะถูกโยนให้คนที่จบวิทยาการคอมพิวเตอร์ (หรือหลักสูตรใกล้เคียง) คนเหล่านี้ทักษะการเขียนภาษาไทยน้อยอยู่แล้วเพราะไม่ได้เรียนมาด้านการเขียน ก็เลยยิ่งไม่อยากเขียนเนื้อหากันไปใหญ่

เหตุผลต่อมาต่อเนื่องจากเหตุผลแรก คือคนจบวิทยาการคอมพิวเตอร์ในหลักสูตรที่สอนๆ กันอยู่ในประเทศไทยไม่ได้สอนให้ผู้เรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับ Information Architecture (IA) ผมเห็นว่าเวลาสอนทำเว็บบางที่เริ่มต้นด้วยการสอนทำ Flash ด้วยซ้ำ ดังนั้นผู้เรียนเรียนรู้ลูกเล่นทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็น "น้ำจิ้ม" ของการทำเว็บ แต่ไม่ได้เรียนเนื้อหาที่เป็น "หัวใจ" ของการทำเว็บ หรือการทำเนื้อหาที่ดีนั่นเอง

เอาแค่สามเหตุผลก่อน

ทางแก้ไขนั้นทำได้ไม่ยากครับ

เริ่มต้นจากเหตุผลแรกต้องแก้ด้วยตัวหัวหน้างาน โดยหัวหน้าต้องไม่ไปชื่นชอบกับน้ำจิ้มเหล่านี้ด้วย ผมเคยทำเว็บให้สถานศึกษาขนาดใหญ่มากๆ แห่งหนึ่ง ความเห็นแรกสุดที่ได้รับที่ทำให้ผมแทบตกจากเก้าอี้คือ "ทำไมไม่มีภาพเคลื่อนไหวเลยล่ะอาจารย์? มีตัวอักษรวิ่งๆ หน่อยก็น่าจะดีนะครับ"

ทางแก้เหตุผลต่อมาคือต้องปรับความเข้าใจกันเสียใหม่ทั้งประเทศไทยเลยว่า การทำเว็บคือการทำเนื้อหา ต้องใช้คนที่มีความสามารถในการทำเนื้อหา ได้แก่คนที่มีทักษะการเขียน (จบอักษรศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ฯลฯ) ส่วนคนจบวิทยาการคอมพิวเตอร์มีหน้าที่เพียงเอาเนื้อหานั้นไปอยู่ในเว็บโดยจัดรูปแบบให้เนื้อหานั้นสามารถอ่านได้ง่าย เข้าถึงได้ง่าย สะดวก เท่านั้นเอง

ส่วนเหตุผลท้ายสุดที่ผมยกมาในบันทึกนี้แก้ยากครับ เป็นปัญหาการศึกษา ถ้าแม่ปูพ่อปู (ได้แก่ผู้สอนทั้งหลาย) ไม่เข้าใจเสียแล้วว่าเว็บคืออะไร เด็กๆ ก็คงได้เรียนทำ Flash วูบๆ วาบๆ กันต่อไปแล้วก็ไม่เคยได้ยินคำว่า Information Architecture แม้ว่าจะได้เรียนวิชา Web Development กันมาก็ตาม

แต่ถ้าคนไทยเข้าใจใหม่เหมือนกันว่า "การทำเว็บเป็นเรื่องของการทำเนื้อหา ไม่ใช่เป็นเรื่องการเขียนโปรแกรม" ทุกอย่างก็คงเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

ผมสรุปง่ายๆ ว่าเมื่อไหร่ก็ตามถ้าองค์กรไหนต้องการจะทำเว็บแล้วเริ่มต้นด้วยการมองหา "นักเขียน" เพื่อเขียนเนื้อหา ไม่ใช่มองหา "นักเขียนโปรแกรม" องค์กรนั้นมาถูกทาง

เมื่อได้เนื้อหาที่ดีแล้วถึงค่อยหานักเขียนโปรแกรม เพราะถ้ามีเนื้อหาที่ดีเสียแล้วนักเขียนโปรแกรมจะหาเมื่อไหร่ก็ได้เพื่อให้ทำเนื้อหานั้นไปอยู่ในรูปแบบของเว็บ โปรแกรมสำเร็วรูปที่ไม่ต้องพึ่งนักเขียนโปรแกรมก็มีมากมาย และที่สำคัญอย่าปล่อยให้เว็บที่ทำออกมานั้นกลายเป็นที่ลองวิชาของนักเขียนโปรแกรมเอาสิ่งวูบๆ วาบๆ มาบดบังเนื้อหาดีๆ เสียหมดนะครับ

หมายเลขบันทึก: 491939เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

 

 

การใส่เนื้อหา==> สำคัญจริงๆค่ะ ขอบคุณค่ะ

 

  • เห็นด้วยอย่างยิ่ง..เนื้อหาต้องมาก่อนเทคนิคทาง IT

  • ที่ website ของธปท.นั้น คนใส่เนื้อหาและ up date ข้อมูล คือตัวแทนผู้ปฏิบัติงานของสายงานต่างๆ..เป็นตัวเอก..

เป็นข้อสังเกตที่น่าคิดมากค่ะ ตัวอย่างเวบไซต์ต่างประเทศ ที่เป็นกลุ่มนักวิจัย เขาจ้าง นักเขียน มาเป็น editor ไม่มีอะไรวูบๆ วาบๆ แต่รวบรวมเนื้อหาและเครื่องมือไว้เยอะ

... บางหน่วยงาน ใช้ "จิต(จำต้อง)อาสา"คนกันเอง ซึ่งไม่รู้ทั้งวิทยาการคอม ไม่รู้ทั้งวิชาการเขียน

อาชีพหนึ่งที่ในประเทศไทยยังไม่มีคือ "technical writer" ครับ

ที่จริงแล้วสมัยผมเรียนจะมีหลักสูตรนี้โดยเฉพาะเลยครับ พวกนี้จะเป็นพวกศิลปศาสตร์แต่จะมาเรียนวิชาพื้นฐานด้านเทคโนโลยีกับนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์ด้วยครับ

มหาวิทยาลัยไหนคิดเร็วทำเร็วเปิดหลักสูตรนี้แห่งแรกของประเทศไทยรับรองบัณฑิตเผลอๆ เงินเดือนจะสูงกว่าวิศวกรครับ เพราะงาน programming สามารถ outsource ออกไปต่างประเทศได้ แต่งานเขียนภาษาไทยยังไงก็ต้องใช้คนไทยเขียนครับ

เห็นด้วยที่สุดค่ะดร.ธวัชชัย เพราะ web ของรพ.สูงเนินล่มไปแล้วเพราะขาด technical writer นี่แหละค่ะ

 

แวะมาเยี่ยมชมคะ

เห็นด้วยกับอาจารย์ธวัชชัยคะ เรื่องความสำคัญของเนื้อหาบนWebsite                   จึงคิดว่า การจัดทำมาตรฐานการพัฒนาเว็บไซต์(Website Standard) มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่แค่หน่วยงานภาครัฐที่ควรจะให้ความสำคัญ และปรับให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่างถูกต้องและเหมาะสม แต่เห็นว่าทุกๆภาคส่วนน่าจะร่วมมือกันคะ  

  • เห็นด้วยกับอาจารย์ครับ
  • บางทีงง งงว่าทำไมไม่มีเนื้อหาอะไรเลย
  • งานนี้น่าสนใจนะครับ
  •  "technical writer"

เว็บสมาคมตอนนี้ใช้ google site ที่ง่ายและทำเองได้ แบบไม่ต้องมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์มากนัก บวกกับ google app ที่ตอนแรกเกตทำเองแบบงง ๆ แต่ก็ได้น้อง UsableLabs มาช่วยกัน เลยได้เว็บไซต์ และระบบอีเมล์องค์กรที่มีประสิทธิภาพระดับหนึ่งค่ะอาจารย์

เห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ

เคยทำเวบให้หน่วยงาน บางครั้งสิ่งที่ทำให้รู้สึกท้อก็คือ ผู้ทำเวบมีความรู้สึกว่า ผู้บริหารดูเหมือนราวกับสั่งให้ทำเวบ ด้วยเหตุผลแค่ว่า "อยากให้มี" แค่นั้น แต่ก็ไม่ได้ประสงค์ว่าจะใช้เวบเพื่อประโยชน์ใน "การสื่อสาร" อย่างแท้จริง

แล้วหน้าที่ของคนทำ นอกจากจะสร้าง(เขียน) "เวบ" แล้ว ก็ต้องหาเนื้อหามาใส่เอง การทำทุกอย่างเป็นทรีอินวิน หรือ โฟอินวัน มันก็คงไม่ไหว สิ่งที่ทำคือทำได้แค่ สร้าง(เขียน) เวบขึ้นมา แบ่งเซ็คชั่นไว้ว่าหน้าไหน หมวดไหนจะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับอะไรให้ แล้วส่วนของเนื้อหา คนเขียนเวบก็อาจจะเอามาใส่นิดหน่อยพอเป็นตุ๊กตาให้ จากนั้นคงต้องยกหน้าที่ให้กับอีกกลุ่มที่จะเป็นฝ่ายหาข้อมูล และเอาข้อมูลใหม่ๆมาอัปเดท

แต่ผลก็คือ พอเขียนเวบเสร็จ ทำตุ๊กตาให้เสร็จ เวบก็ค้างนิ่งอยู่อย่างนั้น ดีไม่ดี คนที่สั่งให้ทำไม่เคยเข้ามาดูเลยเสียด้วยซ้ำ

แล้วเวบของหน่วยงานมันไม่ใช่เวบของส่วนตัว มันมีหลายอย่างที่มีความละเอียดอ่อน ข้อมูลบางอย่างจะเอาลงเวบ ก็ต้องผ่านผู้บริหารอนุมัติก่อน ว่าลงได้ กล่าวได้คือ ข้อมูลเนื้อหากว่าจะรวบรวมหามาเขียนได้ก็ลำบาก กว่าจะลงได้ก็ยากเย็น พอทำไปๆทำอยู่คนเดียว ก็ชักเหนื่อยและเซ็ง จึงต้องปล่อยนิ่งไว้อย่างนั้น รอคนรุ่นใหม่ไฟแรงกว่ามาทำดีกว่า

แต่เวบส่วนตัว หรือเวบที่เราเป็นเจ้าของเอา ตั้งคอนเซปและบริหารเอง จะทำอะไรก็ง่าย เนื้อหาที่จะลงก็อยู่ในความสนใจของเราอยู่แล้ว การดูแลเวบจึงสนุกและสบายใจกว่าทำเวบของหน่วยงานมากนัก

พี่ k-jira บอกได้เห็นภาพเลยครับ ที่จริงแล้วนี่เป็นการทำที่ย้อนศร เพราะควรจะเริ่มต้นที่ทำเนื้อหาก่อน แต่ที่ย้อนศรอย่างนี้ก็เพราะผู้บริหารอยากได้เว็บ (ไม่ได้อยากได้เนื้อหา) นี่น่าจะเป็นปัญหาที่เจอกันเหมือนๆ กันหลายองค์กรครับ

กทน.เว็บมาสเตอร์ ดร.ธวัชชัย 555 ผมเคยเห็นพรรคพวกทำเว็บไซต์ซะดีเชียว
ลูกพี่มาใหม่ ไม่ชอบใจ เพราะไม่ค่อยมีหน้าตัวเองโผล่ ก็ให้เว็บมาสเตอร์เด็กใหม่ลบทิ้ง ทำใหม่เอาใจนาย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท