แปลกใจจังทำไมจนเกษียณไปแล้ว ผมยังจำบทเรียนตั้งแต่ชั้นประถมได้


แต่ก็ต้องไม่ทิ้งบทเรียนที่มีความหมายต่อชีวิตและจิตใจ เกิดความทรงจำที่เป็นสุขเช่นเดียวกับ "แสนเสียดายนันทาที่น่ารัก..."มิใช่หรือ?

     บันทึกนี้อาจไม่ถูกใจนักการศึกษายุคใหม่บางท่าน ที่รังเกิยจการเรียนการสอนแบบท่องจำ...  แต่คนโบราณอย่างผม ผ่านยุคการเรียนแบบท่องจำมาตั้งแต่เด็ก..ทำไมบทอาขยาน  บทกลอนต่างๆที่ท่องจำมาจึงติดตราตรึงใจมาจนเกษียณไปแล้วก็ยังจำได้  พอนึกถึงทีไรใจก็มีความสุข  เห็นภาพ  เกิดจินตนาการที่สวยงามขึ้นมาทันที
     "   แสนเสียดายนันทาที่น่ารัก            ชะล่านักวิ่งออกนอกถนน
      มัวแต่เพลินปลาบปลื้มจนลืมตน         ถูกรถยนตแล่นทับดับชีวา
         นิจจาเอ๋ยเคยเห็นทุกเยนเช้า           กลับเหลือแต่กรงเปล่าไม่เห็นหน้า
      เคยวิ่งเล่นด้วยกันทุกวันมา               ช่างทิ้งข้าเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจเอย"
                                                 อ.สรร  อินทุเวศ....ผู้แต่ง      
      ใครเคยเรียนบทเรียนนี้บ้าง...ยังจำได้ไหม?
      บางคนอาจเคยเรียนเรื่องราวของ "ปัญญา  เรณู"  บางคนอาจเคยได้เรียนเรื่อง "นกกางเขน"   บางคนอาจเรียนเรื่องราวของ "มานี มานะ ปิติ ชูใจ"  บางคนอาจได้เรียน "ชุดรถไฟ"ฯลฯ
     ยังซาบซึ้งอยู่ไหม?  ที่เราอ่านออกเขียนได้มาจนทุกวันนี้เพราะเรื่องราวเหล่านี้หรือเปล่า?  
     เพราะบทเรียนเหล่านี้มันมีชีวิต มีมนต์ขลัง  มันมีพลัง  บูรณาการทั้งความรู้ ทักษะและเจตคติให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนอย่างประหลาด
     นักการศึกษาอย่างบลูมยังพูดถึงเรื่อง "จำ  ใจ  ใช้  วิ  สัง ประ"(ความจำ  ความเข้าใจ  การนำไปใช้  การวิเคราะห์  การสังเคราะห์ และการประเมินค่า"  ซึ่งจุดเริ่มต้นคือความจำ  จนเรายอมรับทุกวันนี้ว่าเรียนเลขต้องเริ่มจากท่องสูตรคูณ  ไม่อย่างนั้นจะคิดวิเคราะห์สังเคราะห์อย่างกลวงๆ  รู้เหมือนเป็ด 
     ผมยังเชื่อนะว่า "แน่นในเนื้อหา  ลีลาจะมาเอง" ซึ่งลีลาเหล่านี้ผู้เรียนจะค้นพบด้วยตนเอง 
     ที่พูดนี้คงไม่ได้ปฏิเสธการสอนให้คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์  แต่อยากให้แต่ละคนมีฐานที่แน่นในความรู้ก่อน  และที่สำคัญคือมีจุดดึงดูดให้มีพลังในการเรียน และเกิดจินตนาการ ซึ่งจะเป็นพลังมหาศาลนำไปสู่การใฝ่รู้ใฝ่เรียนที่ยั่งยืน
    แต่สมัยนี้แหล่งเรียนรู้  สื่อที่จะเข้าถึงข้อมูลความรู้มีมากมาย  ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปจะมาเรียนท่องจำบทเรียนอย่างเดียวคงไม่ทันโลกแน่ 
     แต่ก็ต้องไม่ทิ้งบทเรียนที่มีความหมายต่อชีวิตและจิตใจ เกิดความทรงจำที่เป็นสุขเช่นเดียวกับ  "แสนเสียดายนันทาที่น่ารัก..."มิใช่หรือ?

  
    
       

หมายเลขบันทึก: 487665เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 20:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มกราคม 2013 17:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

วังเอ๋ยวังเวง หง่างเหง่ง! ย่ำค่ำระฆังขาน

ฝูงวัวควายผ้ายลาทิวากาล ค่อยค่อยผ่านท้องทุ่งมุ่งถิ่นตน

ชาวนาเหนื่อยอ่อนต่างจรกลับ ตะวันลับอับแสงทุกแห่งหน

ทิ้งทุ่งให้มืดมัวทั่วมณฑล และทิ้งตนตูเปลี่ยวอยู่เดียว เอย.

 

นี่เป็นกลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้า ที่ผมยังจำได้อยู่ครับ และยิ่งไปตามชนบทที่เจอสภาพฝูงวัวควายพากันเดินกลับเข้าคอก ในช่วงเย็น ๆ ในช่วงอายุของผมทำให้รู้สึกได้ทันทีว่า ที่ใด ๆ ก็ไม่สุขใจเท่าบ้านเรา ครับ

ใช่เลยครับ...ผมก็ยังจำกลอนดอกสร้อยนี้ได้ตั้งแต่มัธยม พอนั่งรถผ่านท้องทุ่งตอนเย็นๆให้ความรู้สึกมากเลย...อาจารย์สบายดีนะ ปีนี้ผมไม่ได้ไปพิษณุโลก แต่ไปเพชรบูรณ์ แม่ฮองสอน และลำพูนครับ

เรียนอาจารย์ ธเนศ.... ผมรุ่ตาคำแกทำนากับเมียแก แกมีวัวห้าตัว วัวตัวสีดำ ตาคำมุทะลุตีวัวเผี๋ยะๆ.....

เจ้าเป้าพออายุได้เก้าปี บิดาก็เสียตา......

พ่อหลีหี่หนูหล่อพ่อเขาชื่อหมอหลำแม่ชื่อแม่หยา อยู่แพอยู่ที่สำเหร่.......

ยังพอจำได้ครับท่าน

ผมก็คุ้นเคยกับบทเรียนที่กล่าวถึงข้างต้น พอมีคนย้อนยุคเล่ามก็ดีใจมากเลย

วรรคที่ ๔ ถูกรถยนต์
วรรคที่ ๕ ทุกเย็นเช้า

น่าจะถูกต้องกว่านะครับ
ด้วยความเคารพ
เสริมสูรย์

(พยายามส่งข้อความทางอีเมล์แล้ว
ปรากฏว่าไม่ไปครับ
จึงย้อนกลับมาโพสท์ที่นี่)

ขอบคุณมากครับ ผมคงจำคลาดเคลื่อนไปบ้าง และขออภัยที่ผมไม่สามารถพิมพ์เครื่องหมายบางตัวได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท