ราช, ราชา, ราชัน, ราชันย์


ในภาษาสันสกฤต ศัพท์ที่แปลว่า พระราชา (หรือเจ้าชายก็ได้) มีด้วยกันมากมาย เช่น นฺฤปติ ปารฺถิว เทว ราช เป็นต้น แต่ศัพท์ที่เราคุ้นกันมากที่สุด น่าจะเป็น ราช นี้แหละ คำนี้มีใช้ในภาษาไทยด้วย ก่อนจะกล่าวถึงคำไทย ขอกล่าวถึงคำสันสกฤตเสียก่อน

“ราช” คำนี้ มีรูปคล้ายๆ กันโดยทั่วไป 3 ศัพท์คือ “ราช” (rāja) “ราชนฺ” (rājan) และ “ราชฺ” (rāj)  โปรดสังเกตนะครับว่า แต่ละคำนั้นต่างกันตรงเสียงท้าย

ราช (rāja, राज)  เป็นคำสองพยางค์ พยางค์แรกประสมสระอา พยางค์หลังสระอะ

ราชนฺ (rājan, राजन्) มาด้วยกันสองพยางค์ พยางค์หลังมี น เป็นตัวสะกด (น มีจุดข้างใต้) อาจเขียนแบบไทยๆ ว่า ราชัน

ราชฺ (rāj, राज् ) คำพยางค์เดียว มี ช เป็นตัวสะกด (ช มีจุดข้างใต้) คำนี้เขียนแบบไทยก็ได้ว่า ราช เหมือนกัน (แต่ไม่น่าจะมีการใช้คำนี้ในภาษาไทย)

 

“ราช” และ “ราชัน”

คำเหล่านี้ที่พบมาก ก็คือ ราช และ ราชนฺ การใช้นั้นแตกต่างกันในการผันรูป เป็นคำเพศชาย (ปุลลิงค์, masculine) มาดูกันว่า เวลานำไปใช้ต่างกันอย่างไร

1) เมื่อใช้เป็นคำร้องเรียก เช่นเมื่อกราบทูล ก็อาจกล่าวว่า “ข้าแต่ พระราชา” อย่างนี้ ในภาษาสันสกฤต จะใช้วิธีการผันรูป “ราช” ก็เป็น “ราช” เหมือนเดิม, ส่วนคำว่า “ราชนฺ” ก็จะกลายเป็น “ราชนฺ” เช่นเดิม แบบนี้ก็ง่ายเลยใช่ไหมครับ

2) ทีนี้ เมื่อพระราชาเป็นประธานของประโยค รูป “ราช” จะกลายเป็น “ราชะ”  ส่วนรูป “ราชนฺ” นั้น กลายเป็น “ราชา”

3) เมื่อพระราชาเป็นกรรมของประโยค ราช กลายเป็น “ราชํ”, ส่วน ราชนฺ กลายเป็น “ราชานํ” แค่เติม อํ เข้าไปเท่านั้นเอง

ในการผันรูปของ ราชนฺ บางครั้งจะมีเสียง ญ เข้ามาแทนที่ น เช่น ราชฺญิ, ราชฺญะ

 

คำทั้งสองพบได้ทั่วไปในวรรณคดีสันสกฤต บางเรื่องอาจใช้ ราชนฺ มากกว่า บางเรื่องอาจใช้ ราช มากกว่า แล้วแต่กวีจะนิยมอย่างไร

 

“ราชฺ”

สำหรับคำว่า ราชฺ นี้พบได้น้อยกว่า คำนี้พิเศษหน่อย ตรงที่เป็นนามเพศชายก็ได้ เพศหญิงก็ได้นะครับ (แจกรูปเหมือนกัน) ส่วนมากจะปรากฏในคำประสม (ที่เรียกว่า คำสมาส นั่นเอง) เช่น ธรฺมราชฺ (หมายถึง พระยม หรือ ยมราช) ซึ่งพระนามนี้ยังมีอีกรูป คือ ธรฺมราช (ไม่มีจุด ที่ ช)

การผันรูป ราชฺ นั้น อาจจะงงเล็กน้อย เพราะต้องสนธิมากกว่าสองคำแรก เช่น

1) เมื่อเป็นคำร้องเรียก ราชฺ ก็กลายเป็น ราฏฺ (มีจุดใต้ ฏ)

2) เมื่อเป็นประธาน ก็เป็น ราฏฺ (มีจุดใต้ ฏ)

3) เมื่อเป็นกรรม ก็เป็น ราชํ

คำนี้เมื่อนำไปใช้ในสมาส จะใช้รูป ราฏฺ- ไม่ใช่ ราชฺ- นะครับ

 

ราช, ราชนฺ และ ราชฺ แต่ละรูป เมื่อนำไปผัน อาจจะสับสนอีนุงตุงนังได้ เช่น “ราชะ” อาจมาจาก “ราช” ที่เป็นประธาน หรือมาจาก “ราชฺ” ที่เป็นคำแสดงความเป็นเจ้าของก็ได้ ผู้เรียนจะต้อง “แม่น” สักหน่อย ไม่งั้นอ่านผิดจากดำเป็นขาวแน่ๆ

ในภาษาไทย เรามีคำว่า ราช  ราชา และราชัน  ไม่ทราบว่าเรารับจากคำไหน เข้าใจว่าน่าจะรับจากคำว่า ราช แล้วนำมาแผลง มากกว่าจะรับคำ ราชนฺ มาแจกรูป หรือรับเอารูป ราชา ที่แจกรูปมาแล้วก็ได้ ส่วน ราชฺ นั้นไม่ปรากฏว่าเรานำมาใช้ในรูปแบบใดๆ

 

“ราชันย์”

อีกคำหนึ่งในภาษาไทย คือ ราชันย์ คำนี้ มาจากภาษาสันสกฤต ราชนฺย (राजन्य, rājanya) คือ นำศัพท์ ราชนฺ มาเติม ย เข้าไป แปลว่า เกี่ยวกับกษัตริย์ ของกษัตริย์ หรือความเป็นกษัตริย์ ไม่ได้แปลว่าพระราชา และในภาษาไทยก็มักจะใช้หมายถึงพระราชบัลลังก์ หรือพระราชสมบัติ (โปรดสังเกตว่าในภาษาสันสกฤต มีศัพท์ที่นำคำนามปกติมาเติม -ย อีกหลายคำ)

อนึ่ง ในภาษาสันสกฤตยังมีคำว่า ราชฺย (ศัพท์ ราชฺ เติม -ย) แปลว่า พระราชอาณาจักร หรือความเป็นพระราชา ความหมายโดยทั่วไปก็เหมือนกัน ราชนฺย ข้างบน

บทความนี้ไม่ได้เน้นให้จำศัพท์มากมาย เพียงแค่ต้องการให้ทราบว่า เมื่อเจอ ราช หลายๆ แบบ อย่าลืมว่า ยังมี ราชนฺ และ ราชฺ อยู่ด้วย หากผันไม่ถูกก็ให้รีบเปิดตารางดู จะได้จำแม่นๆ ครับ..

 

หมายเลขบันทึก: 485657เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2012 20:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (45)

ได้ความรู้จากบันทึกนี้มากเลย แต่ภาษาสันสกฤตยากจังเลย แค่ภาษาไทยก็เอาตัวไม่รอดแล้ว

Rãjarãjeśvarĩ - ราชราเชศวรี

เขียนแบบนี้ถูกไหมคะอาจารย์ หนูเดาๆเอา ฟังดูพิลึกกึกกือชอบกล

สวัสดีครับ อาจารย์พิสูจน์

ขอบพระคุณมากครับ

ภาษาสันสกฤต ก็ยากๆ อยู่เหมือนกันครับ

แต่ถ้าเรียนไปช้าๆ ก็ว่าไม่ยาก อิๆๆ

สวัสดีครับ คุณศรีฯ

เดาถูกด้วย เก่งจัง

राजराजेश्वरी -- rājarājeśvarī -- ราชราเชศฺวรี (สมญานามของพระนาง ทุรฺคา)

ผมชอบใช้ ā, ī แบบนี้มากกว่า แต่ใช้ตัวที่เขียนมาก็ได้เหมือนกัน

ส่วนภาษาไทยต้องมีจุดใต้ ศ ครับ

เพราะคำนี้มาจาก ราช + อีศฺวรี

อรุณสวัสดิ์คะอาจารย์ หนูมาอีกแล้วคะ พร้อมคำถาม .. อิอิ คือเรื่องของเรื่องหนูงงตัวเอ็มที่มีจุดข้างบน ṁ ไม่ค่อยเห็นบ่อย มันคือตัวไหนกันแน่ แล้วที่หนูยกมาแกะเป็นอักษรไทยถูกไหมคะ ....

निलान्जन समाभासं रविपुत्रं यमाग्रजम। छायामार्तंड संभूतं तं नमामि शनैश्चरम॥ nilānjana samābhāsaṁ raviputraṁ yamāgrajama, chāyāmārtaṁḍa saṁbhūtaṁ taṁ namāmi śanaiścarama.

นิลันชน สมาภาสัม รวิปุตฺรม ยมาคฺรชม, ฉายามารตัมฑ สัมภูตัม ตัม นมามิ ศไนศจรม.

รอบนี้คิดว่าอาจจะผิดเยอะแน่ กราบรบกวนอาจารย์ด้วยนะคะ ขอบพระคุณคะ

มาแต่เช้าเลย...

ตัว m มีจุดข้างบน แปลว่า คำ้ข้างหน้ามีนิคหิต ครับ 

เช่น raviputraṁ ก็คือ รวิปุตฺรํ रविपुत्रं , ไม่ถอดเป็น รวิปุตฺรัม

 

ข้อความที่ยกมา

निलान्जन समाभासं रविपुत्रं यमाग्रजम। छायामार्तंड संभूतं तं नमामि शनैश्चरम॥

นิลานฺชน สมาภาสํ รวิปุตฺรํ ยมาคฺรชมฯ ฉายามารฺตํฑ สํภูตํ ตํ นมามิ ศไนศฺจรม ฯ

ที่เขียนผิดก็คือ ลานฺ ตรงนี้สระอา ไม่ใช่สระ อะ, น ก็ต้องมีจุด เพราะไม่ใส่พยัญชนะลอยๆ, รฺ ที่เป็นเรผะ (ยกขึ้นไปข้างบน) ต้องใส่จุด และ ศฺ ที่เป็นสังโยค ก็ใส่จุึดด้วย ผิดไม่มากครับ พยัญชนะถูกหมดแล้ว เหลือแต่พวกที่ใส่จุด กับสระอะ อา ดูให้ดีๆ นะครับ

โอโหอาจารย์หมู ได้ข้อมูลเต็มเลย ขจิต นี่ภาษาขอมหรือเปล่าครับ 555

อ้าว อาจารย์ขจิตก็มา

สวัสดีครับ

ขจิต ภาษาบาลีสันสกฤต 100% ครับ

แต่อาจจะขอมด้วยก็ได้ อิๆๆ

เพราะภาษาบาลีสันสกฤต หลายคำผ่านจากภาษาเขมรเข้ามา

 

ในฐานะเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ เอาคำแปลเป็นภาษาอังกฤษไปนะครับ

ขจิต = prominent, inlaid , set , studded (e.g. inlaid with jewels)

คำนี้เป็น past passive participle ครับ

mfn. prominent (?) Dhu1rtas.
[L=60865] (ifc. or with instr.) inlaid , set , studded (e.g. मणि-ख्° , inlaid with jewels)

เย้ ประดับตกแต่งอัญมณี ขอชื่อคมๆๆ เช่น ชื่อ หอก ได้ไหมครับ 5555

เอ่อ คมไปนะครับแบบนั้น แหลมด้วย อิๆๆๆ

โห.. ผิดเยอะเหมือนกันคะ อิอิ แต่ยังไม่ท้อคะจะพยายาม เพราะหนูยังอ่อนด้อยอยู่มาก

อีกคำนึงคะอาจารย์ ถ้าถอดเป็นอักษรไทย ควรจะเป็นอย่างไร संस्कृत - saṃskṛta แล้ว sanskrit อันนี้ผิดไหมคะ

ขอบพระคุณคะ

อาจารย์คะ หนูยังไม่ได้นอน มัวแต่นั่งแกะทั้งคืน เอาจริงเอาจัง งงกับคำนี้คะ durvāsa ทุรวาส dur นี่มันควบเสียงเหรอคะ เราออกเสียงตามตัวอักษรไทยว่า ทุ - ระ -วา -สะ ซึ่งออกเสียงแบบนี้ผิดหรือเปล่าคะ ถ้างั้นก็ต้องเขียนว่า duravāsa ถูกไหมคะ

อย่างนั้นถ้าเขียนเป็นตัวอักษรไทยที่ถูกต้องคือต้องใส่จุดข้างใต้รอเรือถูกไหมคะ เป็น ทุรฺวาส ถึงจะเป็น durvāsa อย่างถูกต้อง

ขออีกสองคำคะ .. อิอิ

rudra เป็น รุทฺร ถูกไหมคะ bhadra เป็น ภทฺร ถูกไหมคะ

ขอบพระคุณคะ กลัวอาจารย์จะรำคาญ อิอิ

อ้าว ไม่หลับไม่นอน

ตอบทีเดียวเลย

1.संस्कृत - saṃskṛta ถูกแล้ว ถ้าเขียน sanskrit เป็นการเขียนแบบง่ายๆ นะครับ ในภาษาอังกฤษก็เขียน sanskrit แต่ถ้าถอดตามระบบแล้ว ต้องเป็น saṃskṛta ใช้อักษรไทยว่า สํสฺกฺฤต

2. durvāsa ถอดเป็น "ทุรฺวาส" ออกเสียง ก็ ดุร์-วา-สะ ประมาณนี้ครับ

(ออกเสียงแบบไทยๆ ว่า ทุระวาสะ ก็พออนุโลมได้)

คำนี้ ตามรูปจะเห็นว่า รฺ ไม่ออกเสียง อะ, เพราะไม่ได้ประสมสระ จะเรียกว่าควบก็ได้ หรือเรียกว่าเป็นตัวสะกดของพยางค์แรกก็ได้

ถ้าแยกพยางค์ ก็จะได้ dur-vā-sa แบบนี้

*แต่ชื่อของฤษีตนนี้จริงๆ คือ ทุรฺวาสสฺ (durvāsas) (อ่านเป็นไทยว่า ทุระวาสัส ก็ได้)

เขียบ durvāsa เป็นการเขียนแบบย่อๆ หรือรูปที่ใช้ในการสมาสครับ

 

3. rudra, bhadra ถอดเป็น รุทฺร และ ภทฺร ถูกต้องแล้วครับ

ถามได้ครับ ไม่ต้องเกรงใจ ปกติไม่ค่อยมีคนถาม อิๆๆ..

 

อาจารย์คะ แล้ว ภัทร เขาออกเสียงกันว่า พัท- ทระ กันเหรอคะ ออกเสียง พัท แบบนี้ผิดน่ะสิคะ แต่เหตุที่ทำให้ต้องออกเสียงแบบนี้อาจเป็นเพราะไม้หันอากาศข้างบนตัว ภ เปล่าคะ เลยกลายเป็น ภัท - ทระ กันหมด แทนที่จะเป็น ภะ -ทระ หนูงงๆคะ ยังแยกแยะไม่ถูก รบกวนอาจารย์ช่วยอธิบายด้วยคะ

รุทรก็เข้าข่ายเดียวกันนะคะ คนไทยส่วนใหญ่ชินกับ รุท - ทระ แทนที่จะเป็น รุ - ทระ

นิลานฺชน สมาภาสํ รวิปุตฺรํ ยมาคฺรชมฯ ฉายามารฺตํฑ สํภูตํ ตํ นมามิ ศไนศฺจรม ฯ

อาจารย์คะ หนูอยากรู้คำแปลคร่าวๆของสองบรรทัดนี้อะคะ เพื่อเป็นความรู้ ไม่รู้จะรบกวนอาจารย์มากไปหรือเปล่า เพราะหนูแปลได้อยู่คำเดียว รวิปุตฺรํ - ลูกของพระอาทิตย์ ฮ่าๆ

สวัสดีครับ

  1. ภาษาไทย กับสันสกฤต ออกเสียงต่างกัน แล้วแต่การใช้ครับ อย่าซีเรียส

  2. จริงๆ แล้ว นิลานฺชน น่าจะเป็น "นิลำชน" หรือ "นิลาญฺชน" แต่ค้นเน็ตดูแล้วสะกด निलान्जन หลายที่เหมือนกัน

คำแปล ประมาณนี้นะครับ

ข้าฯ ขอนอบน้อมแด่พระศนิ ผู้มีวรกายสีดำ, โอรสของพระอาทิตย์ และพระนางฉายา, ผู้เป็นเชษฐาแห่งพระยม, ผู้เคลื่อนที่ช้าฯ

ขอบพระคุณคะ

ต่อไปนี้หนูขออนุญาติเรียกอาจารย์ธวัชชัยว่าครูได้ไหมคะ อิอิ เหมือนพระท่านส่งครูมาให้หนู

อาจารย์คิดว่าก่อนจะเริ่มลุยในส่วนของ Grammar นั้น ควรจะศึกษาส่วนใดของภาษาสันสกฤตก่อนคะ

ครูคะ หนูขอเป็นตัวสระไทยด้วย บางตัวก็ไม่เคยเห็น

अ a a a a आ ā A A/aa aa इ i i i i ई ī I I/ii ii उ u u u u ऊ ū U U/uu uu ए e e e e ऐ ai ai ai ai ओ o o o o औ au au au au ऋ ṛ R RRi/Ri .r ॠ ṝ RR RRI/RI .rr ऌ ḷ lR LLi/Li .l ॡ ḹ lRR LLI/LI .ll अं ṃ M M/.n/.m .m अः ḥ H H .h

สวัสดีครับ

เรียกได้ครับ ;) ("อนุญาต" อย่าเขียนให้ผิด)

1. เริ่มเรียนจากอะไรดี เริ่มจากการแจกรูปนาม เช่น คช เทว ราช แบบนี้ก่อน แล้วค่อยเริ่มแจกรูปกริยา แล้วค่อยเรียนสนธิไปเรื่อยๆ ครับ

2.

अ a - อ (เมื่อประสมพยัญชนะแล้วไม่ปรากฏรูป)

आ ā A aa - อา

इ i - อิ

ई ī I ii -อี

उ u - อุ

ऊ ū U uu - อู

ए e - เอ

ऐ ai -ไอ

ओ o - โอ

औ au - เอา

ऋ ṛ R Ri/Ri .r - ฤ

ॠ ṝ R RRI/RI .rr -ฤๅ

ऌ ḷ lR LLi/Li .l -ฦ

ॡ ḹ lRR LLI/LI .ll - ฦๅ

अं ṃ M M/.n/.m .m อํ

अः ḥ H H .h "ะ" (ตามหลังสระอื่น เช่น ติะ, โนะ, วะ)

 

อย่าลืมฝึกเขียนด้วยลายมือด้วย

ครูคะ หนูอยากเห็นลายพระหัตถ์อักษรเทวนาครีของสมเด็จพระเทพ อะคะ หาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ

สวัสดีครับ ธ.ธวัชชัย เคยสงสัย ว่า ราช ทำไมต้องมี ย การันต์ ในบางคำ วันนี้เข้าใจแล้วเมื่ออ่านบทความ ครับ

สวัสดีครับ คุณศรี

ลายพระหัตถ์สมเด็จพระเทพฯ ไม่แน่ใจว่าเคยเห็นหรือเปล่า

ถ้าเจอแล้วจะบอกนะครับ

 

สวัสดีครับ คุณแว่นธรรมทอง

ภาษาตระกูลนี้สร้างคำใหม่ๆ ได้ง่ายๆ จากการเติมเสียงท้าย

บางครั้งก็เพื่อเอาเสียงสำหรับใช้ในร้อยกรองครับ

 

ลืมบอกไปว่า พระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน เคยประดิษฐ์ฟอนต์อักษรเทวนาครีด้วยครับ ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีวินโดส์ใช้ เคยเห็นใน ส.ค.ส. ปีเก่าๆ

สวัสดีคะอาจารย์ ช่วยลองตรวจการบ้านหนูหน่อยนะคะ พอดีลองเอาหนังสือสวดมนต์มาแกะ เล่นๆขำๆ แกะไปแกะมาขำไม่ออก ยากมากๆ อาจจะเป็นเพราะหนูกระโดดข้ามขั้น เห็นสนธิอะไรเต็มไปหมด บอกตรงๆว่าก็มั่วเสียเป็นส่วนใหญ่ อาศัยลองแกะๆดูให้ผ่านหูผ่านตา อาจารย์ช่วยลองถอดเป็นอักษรโรมันให้หน่อยนะคะ

น ภูมิรฺน จาโป น วหฺนิรฺน วายุรฺน จากาศมาสฺเต น ตนฺทฺรา น นิทฺทรา | น คฺรีษฺโภ น ศีตํ น เทโศ น เวโศ น ยสฺยาสฺติ มูรฺติสฺตฺริมูรฺตึ ตมีเฑ

หนูลองมั่วเอาได้ดั่งนี้ ..

na bhūmirna cāpo na vhanirna vāyurna cākāśamaste na tandra na niddrā na grīṣbho na śitan na deśo na veśo na yasyāsti murtis trimurtim tamīḍe

ฮ่าๆ อายจังคะ ผิดตรึมแน่ ฝากด้วยนะคะ ขอบพระคุณคะ

ร้อนมากๆๆๆ ครับ ;)

na bhūmirna cāpo na vhanirna vāyurna cākāśamaste na tandra na niddrā

น ภูมิรฺน จาโป น วฺหนิรฺน วายุรฺน จากาศมสฺเต น ตนฺทฺร น นทฺทฺรา ฯ

na grīṣbho na śitan na deśo na veśo na yasyāsti murtis trimurtim tamīḍe

น คฺรีษฺโภ น ศิตนฺ น เทโศ น เวโศ น ยสฺยาสฺติ มุรฺติสฺตฺริมุรฺตึ ตมีเฑ ฯ

 

น่าจะแยกเป็น 4 บรรทัด

 

น ภูมิรฺน จาโป น วฺหนิรฺน วายุรฺ-

น จากาศมสฺเต น ตนฺทฺร น นทฺทฺรา ฯ

น คฺรีษฺโภ น ศิตนฺ น เทโศ น เวโศ

น ยสฺยาสฺติ มุรฺติสฺตฺริมุรฺตึ ตมีเฑ ฯ

 

เห็นไหมว่า กวีเล่นคำว่า "น" คำว่า น เต็มไปหมดเลย ;)

 

 

อ้าว อาจารย์คะ หมายความว่า อักษรโรมันที่หนูลองแกะออกมาถูกหมดเลยเหรอคะ เพราะต้นฉบับเป็นอักษรไทย หนูลองเอามาแกะเป็นอักษรโรมัน ถ้าถูกหมดคงจะเป็นไปไม่ได้แน่ หนูลองไม่เปิดตำรา อาศัยความจำเอา อิอิ

อ้าว นึกว่าจากโรมันเป็นไทย มิน่าแปร่งๆ ถ้างั้นเป็นงี้ครับ

น ภูมิรฺน จาโป น วฺหนิรฺน วายุรฺ- na bhūmirna cāpo na vhanirna vāyur-

น จากาศมสฺเต น ตนฺทฺร น นทฺทฺรา ฯ na cākāśamaste na tandra na niddrā

น คฺรีษฺโภ น ศิตํ น เทโศ น เวโศ na grīṣbho na śitaṃ na deśo na veśo

น ยสฺยาสฺติ มูรฺติสฺตฺริมูรฺตึ ตมีเฑ ฯ na yasyāsti mūrtistrimūrtiṃ tamīḍe

อาจารย์รบกวนตรวจการบ้านหน่อยคะ อิอิ ว่ามันถูกทั้งสองอย่างเลยไหมทั้งอักษรไทยและอักษรโรมัน

อสิตมฺภ - asitaṃbha ภีษณ - bhīṣaṇa สมฺหาร - saṃhāra จันทฺร - candra โกฺรธ - krodha อนฺมาถ - unmātha

อันนี้มั่วนะคะ ไม่รู้ถูกเปล่า สูกฺษฺมานฺตราตฺมนฺ - sūkṣmāntrātman คำนี้มันแปลว่าอะไรด้วยอะคะ

หนูรู้สึกเกรงใจอาจารย์จังคะ มารบกวนทุกวันเลย ทั้งๆที่อาจารย์ก็อาจจะติดภารกิจเยอะแยะแต่ก็ยังแวะมาตอบหนูทุกวัน ต้องขอบพระคุณพระท่านด้วยที่ทรงส่งครูดีๆมาให้หนู อาจารย์มีอะไรให้ช่วยก็บอกได้เลยนะคะ หนูยินดีคะ

อสิตมฺภ - asitaṃbha .. แก้เป็น อสิตํภ (ยึดตามโรมัน)

ภีษณ - bhīṣaṇa .. ถูกแล้ว

สมฺหาร - saṃhāra.. แก้เป็น สํหาร (ยึดตามโรมัน)

จันทฺร - candra.. แก้เป็น จนฺทฺร

โกฺรธ - krodha .. ถูกแล้ว

อนฺมาถ - unmātha แก้เป็น อุนฺมาถ (ยึดตามโรมัน)

สูกฺษฺมานฺตราตฺมนฺ - sūkṣmāntrātman แก้เป็น สูกฺษฺมานฺตฺราตฺมนฺ

เอ.. เคยเจอแต่ सूक्ष्मात्मन् สูกฺษฺมาตฺมนฺ แปลว่า อาตมันละเอียด วิญญาณละเอียด เป็นพระนามพระศิวะด้วย

 

ไม่ต้องเกรงใจครับ อยากรู้ก็ถาม ถ้าว่างก็ตอบได้ครับ ;)

 

เริ่มเรียนไวยากรณ์ได้แล้วครับ

การเขียนการสะกด ผิดบ้างถูกบ้าง ก็เรียนไปพร้อมๆ กัน

สวัสดีคะอาจารย์ หนูอยากทราบว่าภาษาสันสกฤตอากาศร้อนมากคืออะไร เอาเป็นประโยคก็ได้คะ เช่นว่า อากาศร้อนมากจนทนไม่ไหวแล้วทำนองนี้ ขอเป็นทั้งอักษรเทวนาครี โรมันและอักษรไทยคะ จะเยอะไปไหมคะ ขอบพระคุณคะ อิอิ

บันทึกนี้ดีจัง อ่านที่อาจารย์สอน...

สนุกดีค่ะ  :)

สวัสดีครับ คุณศรีฯ

अत्युष्णमस्ति | 

atyuṣṇamasti.

อตฺยุษฺณมสฺติ ฯ (อติ+อุษฺณํ อสฺติฯ)

ร้อนเหลือเกิน ;)

 

สวัสดีครับ คุณหยั่งรากฝากใบ

เที่ยวนี้มีทั้งราก ทั้งใบเลย อิๆๆ

อาจารย์คะหนูอยากทราบคำพวกนี้ในภาษาสันสกฤตอะคะ ว่ามีไหมหรือเขียนเป็นอักษรไทย-โรมัน ที่ถูกต้องอย่างไร หนูลองหาดูแล้วไม่เจอคะ ...

ตนุ ที่แปลว่าตัวตน กดุมภะ หรือ กฎุมพะ ที่แปลว่าทรัพย์สิน หรือเงินทอง สหัชชะ ที่แปลว่าเพื่อน

รบกวนสามคำพอคะ

อาจารย์คะ ทำไมหนูจัดหน้าบรรทัดอย่างดีแล้ว พอจะคลิกส่งผลที่ออกมามันเละตุ้มเป๊ะคะ

อุตส่าย่อหน้าอย่างดี ไม่ให้คนอ่านงง พอมาดูอีกทียาวเป็นปืด

กราบสวัสดีอาจารย์ ธ.วัชชัย ขอรบกวนถามความเห็นจากอาจารย์สักเรื่องครับในฐานะที่อาจารย์ศึกษาภาษาสันสกฤต

เชื่อว่าอาจารย์ต้องศึกษาอักษรโบราณรวมถึงภาษาโบราณในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งใช้ภาษาสันสกฤตเป็นหลักอยู่ในสมัยหนึ่ง โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา

จากที่อาจารย์ได้ศึกษามานั้น มีข้อสังเกตจุดไหนบ้างหรือไม่ว่า เขมร กับ ขอม กัมพูชา ป็นพวกเดียวกัน หรือเป็นคนละพวกกัน เพราะเรื่องนี้ทุกวันนี้ก็ยังเถียงกันไม่จบ ผู้เชี่ยวชาญที่ผมรู้จักภาษาสันสกฤกต หลายท่าน เช่น อ.ศานติ ภักดีคำ , อ.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล และอ่านงานของจิต ภูมิศักดิ์ ต่างก็ไม่ฟันธงว่าขอมไม่ใช่เขมร (ซึ่งต่างกับนักวิชาเกินหลาย ๆ คนกล้าฟันธงว่า ขอมไม่ใช่เขมร)

ส่วนตัวผม ผมเชื่อในหลักภาษาศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ พัฒนาการของภาษา ฯลฯ ที่ขอมและเขมร เกิดจากการกร่อนเสียง อีกทั้งชนชาติก็เกิดการเคลือนย้ายไปมาในแผ่นดินแถบนั้น (ตั้งแต่ปากแม่น้ำมูลไปจนถึงปากแม่น้ำโขง) จึงเกิดการกลืนกลายทางชาติพันธุ์

หากจะมองให้ดี หากเราเปรียบเทียบกับแผ่นดินสยาม เรามีทวารวดี เรื่องมาจนถึงปัจจุบัน เราก็บอกไม่ได้ว่า ผู้คนในแต่ละยุคนั้นไม่ใช่พวกเดียวกัน เรื่องของภาษาและตัวอักษรนั้นยิ่งไปกันใหญ่ เพราะแต่ละภูมิภาคก็ตัวอักษรและภาษาต่างกัน แต่ละศาสนาก็ใช้ภาษาและตัวอักษรต่างกัน แต่ละชนชั้นก็ใช้ภาษาและตัวอักษรที่ต่างกัน สำเนียงที่ใช้สื่อสารก็ต่างกัน หากอ้างจากบันทึกต่างชาติก็จะยิ่งเป็นผลเสียยิ่ง เพราะคนต่างชาติ ฟังคนล้านนนาพูด คนอิสานพูด คนภาคกลางพูด คนภาคใต้พูด ก็เชื่อได้เลยว่า คนต่างชาติคนนั้นต้องคิดว่าเป็นคนละภาษาเป็นแน่ แต่พวกเราทั้งหมดก็คนไทยเหมือนกัน

หากจะเอาชื่อเรียกเป็นหลักยิ่งไปกันใหญ่ หากเราเชื่อว่าขอม กับเขมรไม่ใช่พวกเดียวกัน แล้ว สยาม กับคนไทยละไม่ใช่พวกเดียวกันหรือ ยิ่งคนโบราณเรียกด้วยแล้ว งงไปกันใหญ่ บางครั้ง ขอม ก็ถูกใช้เรียกคนภาคกลางของประเทศ ยิ่งคำว่า แขก เรียกรวม ๆ มั่วไปหมด แขกอินเดีย แขกอินโด แขกปากี แขกอัฟกัน เอาง่ายง่าย ลาว เราเรียกคนอิสาน เรียกคนล้านนนาบางกลุ่ม เรียกคนในลาว มันใช่มั่วกันไปหมดแหละครับ

เพราะฉะนั้น ผมจึงมองว่า ไม่ควรฝันธงว่า เขมรไม่ใช่ขอม อาจารย์มีความเห็นว่าอย่างไร กรุณาอธิบายเพื่อเป็นวิทยาธานด้วยครับ ขอบพระคุณอย่างสูงครับ วาทิน ศานติ์ สันติ

อาจารย์คะ Saṃsāra เขียนว่า สมฺสาร ถูกไหมคะ

สวัสดีครับ คุณศรีฯ

ต้องเรียก เครื่องมือจัดการข้อความครับ จะเขียนย่อได้

- ตนุ เขียน tanu ครับ

- กระฎุมพี ภาษาสันสกฤตว่า กุฏุมพินฺ kuumbin แปลว่าเจ้าบ้าน

- สหัชชะ นึกไม่ออกครับ นึกได้แต่ สหชะ sahaja แปลว่าพี่น้อง

- Saṃsāra เขียนเป็นไทย สํสาร ครับ เพราะ m มีจุด ถ้าไม่มีจุด ถึงจะเป็น สัม..

 

 

 

สวัสดีครับ คุณวาทิน

(เขียนสองครั้งแล้ว เครื่องดับไปซะนี่)

เรื่องขอม เขมร ก็คงจะคล้ายกับเรื่องชนชาติอื่นๆ ความต่อเนื่องคงจะหายาก แต่จะปฏิเสธไปเลยก็ยากพอกัน เพราะบริเวณพื้นที่แถบนี้มีหลายพวก ย้ายกันไปย้ายกันมา แม้ภาษาก็ปะปน จนบางทีก็หลัง ว่าอันไหนของมอญ อันไหนของเขมร เผลอๆ กลายเป็นว่ายืมจีนมาก็มี

ว่าสั้นๆ นะครับ ว่า ขอมเขมร น่าจะสืบเนื่องกันบ้าง แม้จะไม่สนิทครับ และปะปุนกับกลุ่มอื่นๆ ด้วย จะว่าไปขึ้นกับการนิยามครับ ถ้านิยามชัด ก็ไม่งง แต่ถ้าพูดคลุมๆ ไว้ ก็ยิ่งสับสนครับ

แค่นี้ก่อนนะครับ (ก่อนเครื่องจะดับ)

โอกาสหน้าคงได้คุยกันยาวๆ ครับ

ขอบคุณ อาจารย์ ธ.วัชชัย ที่ให้คำตอบเบื้องต้นครับ เรื่องของขอม เขมรมันพูดยาก ก็ยากเหมือนทุก ๆ ชนชาติ อยู่ที่เราจะเอาอะไรไปจับ ชาติพันธุ์ ภาษาศาสตร์ อารยธรรม ศิลปกรรม มันปะปนกันไปหมด ก็พอ ๆ กับคนไทยในปัจจุบัน ซึ่งเราไม่สามารถอธิบายได้อย่างเต็มปากว่า อะไรคือคนไทย

จะปฏเสธไปเลยก็ไม่ได้ จะยอมรับทั้งหมดก็ไม่ได้ ยากครับ

ผมเรียนทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม โบราณคดี ปนะวัติศาสตร์ศิลปะ ก็นิยามตามที่เรียนไป คือ ขอมกับเขมร ไม่สามารถอธิบายแบบฟันธงได้ว่า เป็นพวกเดียวกัน หรือ ไม่ใช้พวกเดียวกัน

แต่ความรู้ทางภาษาศาสตร์ของผมนั้นพิการอย่างยิ่ง จึงต้องขอความรู้จากอาจารย์ครับ

อาจารย์คะ สงสัยสองคำคะ

pradoṣa - ปฺรโทษ

durga - ทุรคา

ในกรณีที่ pra อ่านควบเป็น ปร แล้ว dur จะสามารถอ่านควบคล้ายกันได้ไหมคะ ดุร ถ้าอ่านควบแล้วถือ รอเรือเป้นตัวสะกด ทำไมเราไม่ใส่จุดตรง ด หรือ ร ละคะ

หรือเพราะว่า durga มันเป็นสระ u

อาจารย์อย่าเพิ่ง งง กับคำถามโง่ๆของหนูนะคะ อิอิ

ถ้าอาจารย์ยกตัวอย่างคำที่ควบกันมาในลักษณะนี้จะเป็นพระคุณอย่างสูงเลยคะ

อาจารย์คะ pra มันแปลว่าอะไร เห็นมาหลายคำละ ไม่รู้จะความหมายเดียวกันหรือเปล่า ปรปักษ์ ปรพรหม

สวัสดีครับ คุณวาทิน

ในทุกถิ่นที่ จะมีผู้อาศัยอยู่ต่อเนื่อง แน่ล่ะ เชื้อสายผสมปนเปกัน อพยพโยกย้ายกัน จึงหาเลือดแท้ไม่เจอแน่ๆ แต่ถ้าเอาภาษาและวัฒนธรรมเป็นหลัก ก็น่าจะพูดได้ว่าพวกเดียวกัน

นัยสำคัญที่บอกว่าพวกเดียวหรือคนละพวก ก็คงเป็นเรื่องภาษาและวัฒนธรรม ไม่ใช่เรื่องสายเลือด เรื่องดีเอ็นดี (ไม่ค่อยได้ยินนักประวัติศาสตร์พูดเรื่องนี้) ถ้าเทียบกันแล้ว ของไทยดูกระจัดกระจายพอสมควร ทวารวดี ลพบุรี สุโขทัย อยุธยา ค่อนข้างจะห่างกัน บอกว่าคนละพวกยังพอพูดได้ แต่ในแผ่นดินกัมพูชา วัฒนธรรมค่อนข้างจะต่อเนื่อง เทียบกับไทยก็ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ภาพรวมก็เป็นกลุ่มเดียวกัน แต่จะมีก๊กเล็กใหญ่ก็คงอีกเรื่อง เช่น อาจมีสายญวน จัมปา หรือชวา ก็ไม่ใช่ประเด็นใหญ่ที่จะบอกว่าเป็นคนละพวก นี่ก็เป็นแค่ความเห็นอีกแหละครับ ;)

สำหรับเรื่องภาษา ก็คงอย่างที่ทราบกัน ว่าเรารับภาษาสันสกฤตผ่านเขมรมาส่วนหนึ่ง และรับภาษาเขมรมาด้วย ช่วงที่มากที่สุดก็สมัยอยุธยา ก่อนนั้นยังมีหลักฐานไม่ชัด  (ผมหมายความว่า มีหลักฐานแต่ยังขาดการศึกษา ประมวลผล และสรุปมาเล่ากัน) ก็ยังไม่เห็นว่าคนละพวกคนละกลุ่มครับ

สวัสดีครับ คุณศรีฯ

pradoṣa - ปฺรโทษ อ่านว่า ประ... คือ ตัว ปฺ ไม่มีสระ, สระอยู่ที่ ร แปลว่า ป ควบ ร ประสมสระอะ จึงใส่จุดที่ ป ครับ

ศัพท์ ปฺร pra (ประ) เรียกว่า "อุปสรรค" ต้องใช้ประกอบหน้าคำอื่น เช่น ปฺรณม, ปฺรกรณ

ศัพท์ ปร para (ปะระ) เป็นคำนาม แปลว่า ไกล ห่าง เก่า ใช้เดี่ยวๆ ก็ได้ ประสมกับศัพท์อื่นก็ได้

ในภาษาไทย เราถอดศัพท์ ปฺร และ ปร เป็น "ปร" เหมือนกัน ก็เลยเดายากหน่อย ว่าคำไทยมาจาก ปฺร คำไทยมาจาก ปร

 

durga - ทุรฺคา อาจอธิบายได้สองแบบ คือ 1) บอกว่า dur-ga ดูเฉพาะพยางค์แรก รฺ ไม่มีสระ แต่อยู่หลังสระ จึงเป็นตัวสะกด อ่านว่า ดุร dur ลองออกเสียงดูนะครับ  หรือ 2) อาจบอกว่า du-rga ดูเฉพาะพยางค์หลัง รฺ ไม่มีสระ สระอยู่ที่ ค จึงแปลว่า ร ควบ ค ประสมสระอา ก็ได้เหมือนกัน

 

ในสันสกฤตการแยกพยางค์ไม่ได้ชัดเจนแบบภาษาไทย คำไทยไม่ออกเสียงสระ ก็มีเสียงพยัญชนะอยู่ในคอ รอควบเสียงอื่น อย่างเช่นเราออกเสียงว่า กัน ตัว น ไม่มีเสียงสระตามมา ก็เป็นเสียงพยัญชนะเฉยๆ

มาดูเสียงควบนะครับ

อินฺทฺร indra (ดูตัวโรมันด้วย) ถ้าแยกเป็น 2 พยางค์ก็ง่าย พยางค์แรก คือ นฺ เป็นตัวสะกด (ไม่มีสระตามมา) อ่านว่า อิน, พยางค์ที่ 2 ทฺ ไม่มีสระตามมา แต่มีพยัญชนะ ร ตามมา ประสมสระอะ ก็อ่าน ทระ (dra) ควบกัน

ลองดูอีกตัวอย่าง

พุทฺธ อ่านว่า พุท-ธะ (สองพยางค์ ท เป็นตัวสะกด)

สฺตฺรี อ่านว่า สตรี (พยางค์เดียว, ส และ ต ไม่มีเสียงสระ ควบกับ ร ที่มีสระอี)

อายุษฺมนฺ อ่้านว่า อา-ยุษ-มัน (สามพยางค์, ษฺ เป็นตัวสะกดพยางค์ที่สอง, นฺ เป็นตัวสะกดพยางค์ที่ 3)

สรุปว่า

1. ตัวที่มีจุด คือ ตัวที่ไม่มีสระตามมา ดูตัวโรมันจะเห็นชัดเจน

2. ตัวที่มีจุดนี้ ในภาษาไทยมองเห็นสองอย่าง คือ ก) มองว่ามันเป็นคำควบกับอีกตัวที่ตามมาพร้อมสระ หรือ ข) บอกว่ามันเป็นตัวสะกด เมื่ออยู่ท้ายพยางค์   ถ้าตัวที่มีจุดอยู่กลางพยางค์ เราจะแบ่งให้ตัวนั้นอยู่พยางค์ไหนก็แล้วแต่สะดวกครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท