แหล่งภูมิปัญญาบุคคลเพลงพวงมาลัยของหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์


นางหวน แสนเหมือน อายุ ๗๘ ปี

นางบุญมี ฮ้อโต อายุ ๗๒ ปี

นางแกล ภู่พรหม อายุ ๗๗ ปี

นางเครือ สีเขียว อายุ ๗๘ ปี

นางปทุม ใยชม อายุ ๗๙ ปี

นายเจริญ แสนเหมือน อายุ ๘๑ ปี

นายธรรม จ่างพัด อายุ ๘๔ ปี

นายจำรัส ใยชม อายุ ๘๑ ปี

นายทิศ อินทร์แดน อายุ ๗๕ ปี

เป็นชาวบ้านหนองกลับ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ บันทึกภาพเมื่อ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๕ ในเวทีคนหนองบัว วันแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่และหลวงปู่ฤาษีนารายณ์ ๒๒-๒๖ มีนาคม ๒๕๕๕

นางหวน แสนเหมือน มีความสามารถร้องเพลงโคราช เพลงฉ่อย และการด้นเพลงหลายรูปแบบ นางปทุม ใยชม ร้องเพลงพวงมาลัยไพเราะและมีตัวอย่างเพลงพวงมาลัยที่มีบทบาทต่อการสื่อสารและกล่อมเกลาทางสังคมหลายแง่มุม นางบุญมี ฮ้อโต มีแนวคิดและทรรศนะต่อกระบวนการเรียนรู้ เชื่อมโยงเพลงพวงมาลัยกับการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ของสังคมที่น่าสนใจมาก นายธรรมจ่างพัด มีความสามารถในการแต่งเพลงพวงมาลัยมาก นายจำรัส ใยชม มีความจำเรื่องราวต่างๆมาก เป็นนักเล่าเรื่องที่สนุก รอบรู้ และมีความสามารถโดเด่นในการตีกลองยาว นายทิศ อินทร์แดน มีความสามารถเป็นโฆษกและมัคนายก

ทุกท่านจบการศึกษาระดับประถม ๔ และประถมศึกษา ๒ เป็นผู้สูงวัยที่สุขภาพดีมาก ไม่ต้องสวมแว่นสายตา มีความร่าเริงแจ่มใส ความจำ ปฏิภาณ และกำลังการคิดดี สายตาดี เกือบทั้งหมดไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มสุรา หญิงนุ่งโจงกระเบน บางส่วนกินหมาก.

หมายเลขบันทึก: 483163เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2012 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ว้าว ท่านอาจารย์ค่ะ

ได้เห็นภาพบรรดา ท่านสว. ทั้งหลาย ล้วนยังสุขภาพแข็งแรง

เห็นภาพพ่ออุ๊ย แม่เฒ่า คราใด หัวใจกระชุ่มกระชวย อย่างบอกไม่ถูกค่ะ

กับกลุ่มเพื่อนๆ เวลาเราพบเจอท่านสว. เราจะยิ้ม และจินตนาการ ภาพอนาคต ของเรา ค่ะ :)

ชื่นชมค่ะ..อยากได้ยินเสียงเพลงพวงมาลัยจังเลย..

สวัสดีครับคุณ Poo
วงสังคม สว ที่มีคุณ Poo และเพื่อนอยู่ด้วยนี่ ต้องนับว่าโชคดีนะครับ มีความเข้าใจและให้ทรรศนะเชิงบวกต่อความเป็นสังคมผู้สูงวัย อันที่จริงก็เป็นสภาพแวดล้อมการใช้ชีวิตที่ดีสำหรับคนรุ่นอ่อนอาวุโสกว่าด้วย การได้มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างมีความหมายของคนหลายรุ่น ทำให้การดำเนินชีวิตมีโอกาสแลกเปลี่ยนแบ่งปันสิ่งต่างๆและมีความเป็นเพื่อนร่วมทุกข์สุขกันที่สอดคล้องกับพัฒนาการของชีวิตตั้งแต่เกิดจนแก่เฒ่าได้มากขึ้น

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ

ผมเองก็เพิ่งจะเคยได้ฟังและได้พินิจพิจารณาแง่มุมต่างๆอย่างนี้ ก็ในครั้งนี้แหละครับ ดูๆแล้ว ความเป็นเพลงพวงมาลัยแต่โดยลำพังนั้น ไม่สามารถเห็นสาระสำคัญอยู่ในตนเองเท่าไหร่นัก มีท่วงทำนองไม่ซับซ้อน ออกจากลากและโยนเสียงอย่างไม่เป็นจังหวะ เนื้อร้องในแต่ละบทก็สั้นๆ แต่พอได้พิจารณาสภาพแวดล้อมทางสังคม  รวมทั้งวิธีการเล่นเพลงพวงมาลัยแล้ว ก็กลับจะเห็นเรื่องราวที่มีความสอดประสานกลมกลืนของระบบสังคมวัฒนธรรมและการ ปรับตัวให้มีความกลมกลืนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในถิ่นอาศัยของคนหนองบัว อย่างลึกซึ้งมากครับ

ขนบและทางของเพลง จะขึ้นต้นด้วยการร้องว่า เอ้อละเหยลอยมา หรือ เอ้อละเหยลอยไป ... จากนั้นก็จะต้องแต่งเอาเองว่าลอยไปไหน ซึ่งโดยมากก็จะเป็นสถานที่ ต้นไม้ ภูเขา และสิ่งต่างๆที่เป็นระบบนิเวศและเครือข่ายชีวิตที่ร่วมยุคสมัยของคนหนองบัวในขณะเล่นเพลง

ท่วงทำนองการเอื้อนและโยนเสียง นอกจากจะสะท้อนสำเนียงท้องถิ่นของคนหนองบัวมากแล้ว ก็พบว่า เพลงพวงมาลัยจะเล่นในเทศกาลสงกรานต์ มีการแบ่งข้างคนหนุ่มคนสาวเพื่อโยนลูกช่วง และแหล่งที่เป็นสถานที่สำหรับเล่นเพลงพวงมาลัยของชาวบ้านสืบต่อกันมาก็คือลานวัดใต้ร่มไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นต้นมะขวิดในลานวัดหนองกลับและเป็นศูนย์กลางของชุมชน

ที่ไต้ร่มไม้ลานวัดสำหรับเล่นเพลงพวงมาลัยนั้น ชาวบ้านจะทำชิงช้าและใช้โล้เพื่อเล่นเพลงพวงมาลัย ดังนั้น เพลงพวงมาลัยและการเอื้อนในเพลง จึงสื่อสัมพันธ์มากกับการโล้ชิงช้า เป็นจังหวะที่กำกับด้วยการเล่นโล้ชิงช้า ไม่ใช่การเอื้อนและประดิษฐ์วรรคตอนด้วยจังหวะกลองและทางเพลง หากฟังในบรรยากาศของการโล้ชิงช้าหรือโยนลูกช่วง ก็จะเห็นจังหวะการเคลื่อนไหวที่ดำเนินไปอย่างกลมกลืนกับความมีชีวิตชีวาของผู้คนในเหตุการณ์จำเพาะนั้นๆ ความเป็นเพลงพวงมาลัย จึงมีความเป็นกระบวนการเคลื่อนไหวระบบสังคมวัฒนธรรม มากกว่าเป็นเพลงเพื่อการฟังหาความรื่นรมย์จากบทเพลงแต่เพียงลำพัง

ตอนนั่งเสวนา ผมได้ชวนชาวบ้านวิเคราะห์และถอดรหัสจากความมีประสบการณ์ชีวิตเพื่อเข้าถึงความเป็นสังคมหนองบัวผ่านเพลงพวงมาลัยได้เยอะเลยครับ ตอนท้ายๆชาวบ้านก็เลยสามารถแสดงทรรศนะวิพากษ์และเชื่อมโยงมุมมองบนพื้นฐานชีวิตตนเองไปสู่ระบบต่างๆในสังคมได้อย่างลึกซึ้งมากครับ

เจริญพรโยมอาจารย์ดร.วิรัตน์ และเครือข่ายเรียนรู้เวทีคนหนองบัว

อาตมากลับถึงวัดแล้ว ได้รับความอนุเคราะห์จากเครือข่ายครูโรงเรียนหนองบัวขับรถยนต์มาส่งครับ..โอกาสหน้าพบกันใหม่ครับ สนุกที่ได้เรียนรู้กระบวนการเรียนรู้ชุมชนคนหนองบัวครับ..เจริญพร

 

ขอขอบคุณทุทกท่านที่แวะมาเยือนและกดให้ดอกไม้ทักทายเป็นกำลังใจกัน
คุณแสงแห่งความดี คุณ Poo คุณราชิต สุพร อาจารย์ ดร.จันทวรรณ ผอ.ชยันต์ เพชรศรีจันทร์ คุณถาวร และบังวอญ่าครับ

กราบนมัสการท่านพระอธิการโชคชัยครับ
ด้วยความประทับใจท่านพระอาจารย์มหาแลและพระคุณเจ้า ที่อุตส่าห์ลำบากลำบนไปร่วมจัดกิจกรรมของคนหนองบัวปีนี้ครับ รวมทั้งประทับใจคุณครูของโรงเรียนหนองบัวที่ได้ปวารณาตนอำนวยความสะดวกให้พระคุณเจ้าทั้งสองรูปได้เดินทางกลับพิษณุโลกโดยสวัสดิภาพ ผมเองก็ได้ทราบเมื่อเช้าว่า เมื่อได้มีคุณครูต้นเทียนและคุณครูขวัญใจ ไปประชุมที่พิษณุโลกและขออาสาไปส่งพระคุณเจ้าแทนการนั่งรถประจำทางไป ท่านพระอาจารย์มหาแลซึ่งทางพวกเราจองรถแต่ต้นทางเตรียมไว้ให้ท่านแล้วพรุ่งนี้เช้า ก็เลยถือโอกาสติดรถกลับไปพร้อมกันด้วยเลย ซึ่งก็เป็นการดีอย่างยิ่งครับ

กลับมาถึงวัดแล้ว รู้สึกเพลียมากเลย ทั้งๆที่ไม่ค่อยได้ทำอะไรกับเขาหรอก
ยังปลื้มใจอยู่เลยนะเนี่ย ที่เห็นแม่เพลง พ่อเพลง ขับร้องเพลงพื้นบ้านตำนานเรื่องราวหนองบัว อย่างมีชีวิตชีวาที่สุด ต้องบอกว่าหายเหนื่อยเลยที่ได้นำท่านเหล่านี้มาบอกเล่าเรื่องเก่าตำนานเกาะลอย ในงานงิ้วที่เกาะลอย

เรียกว่าได้นำนางเกสร,นางทิพย์เกสร กลับมาสู่เคหะสถานที่เดิม ที่เกิดเหตุ
หลังจากที่นางเกสรจากไปหลายร้อยปี หลายศตวรรษแล้ว
แม่เพลงพ่อเพลง ทั้งหมดนี้ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นญาติอาตมา
รู้จักท่านเหล่านี้มาตั้งแต่เด็ก 

ถ้ามีเวลามากว่านี้ ได้จะฟังเพลงพื้นบ้านอีกหลายชนิด เพราะท่านไม่ใช่จะมีความสามารถร้องเพลงได้เฉพาะเพลงพื้นหนองบัวเท่านั้น เพลงพื้นบ้านของภาคอีสาน ภาคกลาง ก็ร้องได้อีกมากมาย

นึกต่อยอดได้เรื่องหนึ่งเมื่อเช้าวันนี้พอดีเลย(๒๗ มีนาคม๒๕๕๕)
ขอปรึกษาข้ามปีไว้ก่อนก็แล้วกัน
ปีหน้า(๒๕๕๖) งานงิ้วจะขออาสานำแม่เพลงพ่อเพลง(เรียกให้เข้ากับตำนานงานงิ้วเกาะลอย คือนำนางเกสร ให้ไปโล้ชิงช้าร้องเพลงพวงมาลัย) บนเวทีใหญ่ เวทีเพลงลูกทุ่ง

ในรูปการแสดง แสง สี เสียง เล่าขาน ตำนาน หลวงปู่ ฤาษีนารายณ์ นายพรานบุญ พรานเรวัตร นางเกสร การโล้ชิงช้า

เป็นการบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของเกาะลอย หลวงปู่ฤาษีนารายณ์ นางเกสร พรานบุญ และเชื่องโยมไปถึงอินเดีย และพื้นที่ถิ่นในหนองบัวอีกหลายแห่ง ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีชื่อหมู่บ้านปรากฏอยู่ 

ถ้าทำได้อย่างนี้ท่านแม่เพลงพ่อเพลงคงดีใจสุดๆ
งานใหญ่นี้ต้องอาศัยลูกหลานคนหนองบัวต้องร่วมแรงร่วมใจกันอีกครั้้งเพื่อคนหนองบัวบ้านเ้รา(เืพื่อให้ลูกที่มาเที่ยวงานงิ้ว ได้เห็น ตัวตน จิตวิญญาณ ร่องรอย รอยเท้าบรรพชนคนรุ่นเ่ก่าที่ท่านเดินผ่านมา)

ตามตำนานหลวงปู่ฤาษีนารายณ์
นำนางเกสรที่เกิดจากดอกบัวในเกาะลอย
มาเลี้ยงไว้จนเติบโตเป็นสาว 

ต่อมานางก็ร้องเพลงพวงมาลัยเพราะที่สุดในโลก
จนนายพรานบุญ ได้ฟังเสียงนั้น ก็เกิดหลงเสียงนางขึ้นมา
เที่ยวตามหาตัว หาอย่างไรก็ไม่พบ

เสียงเพลงพวงมาลัยได้ขาดหายไปจากเกาะลอย(ในช่วงมีงาน)อย่างยาวนาน

จนกระทั่งเวทีคนหนองบัวเรา ได้จัดเวทีชาวบ้านขึ้นเมื่อปีก่อน(๒๕๕๔) 
ที่ได้นำชาวบ้านคนหนองบัว มาร้องเพลงพวงมาลัย
และปีนี้ได้นำชาวบ้านหนองกลับ คณะใหญ่มาร้องเพลงพวงมาลัยในงานงิ้ว

ถ้าจะให้งานงิ้วหนองบัว มีตำนานเล่าขานประวัติศาสตร์ความเป็นมาชื่อบ้านชื่อเมืองสืบไป ในขวนแห่ ต้องมีนางเกสร นายพรานบุญ โดยมีฉากนางเกสรร้องเพลงพวงมาลัย และนายพรานเดินตามหาเสียงนางด้วย

นางเกสร นายพรานบุญ หลวงปู่ฤาษีนารายณ์เป็นส่วนหนึ่งของเกาะลอย หนองบัว หนองกลับ เชื่อมโยงถึง(งานงิ้ว) เมื่อนำตำนานกลับคืนมาได้ ลูกหลานเรา ก็จะรู้จักและจดจำเรื่องราวเหล่านี้ได้ เหมือนผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังจดจำเรื่องนี้ไว้ได้อย่างไม่เคยลืมเลือนนั่นเอง

                        

                        

ไปได้ภาพของหนองกลับ ที่ชุมชนบ้านหนองกลับ วัดเทพสุทธาวาส มาช่วยให้เห็นภาพของสถานที่ต่างๆที่มีการกล่าวถึงในตำนานและเรื่องเล่าของชาวบ้านเพิ่มขึ้นอีกครับ หนองกลับนี้อยู่ห่างจากเกาะลอยพอเดินถึง ในเรื่องนายพรานกับนางเกสรได้กล่าวถึงบริเวณนี้ว่านายพรานมาถึงบริเวณนี้ก็ได้ยินเสียงนางเกสรร้องเพลงพวงมาลัย จนต้องเดินกลับไปที่บึงบัวที่เกาะลอยอีกอยู่หลายเที่ยว เลยได้ชื่อว่าหนองกลับ

ปัจจุบันนี้หนองกลับได้รับการขุดลอก ตบแต่ง และบำรุงรักษาให้เป็นแหล่งน้ำของชุมชน พร้อมกับเป็นแหล่งใช้สอยกิจกรรมสาธารณะอย่างเอนกประสงค์ มีลู่วิ่งรอบสระ มีม้านั่งและเครื่องออกกำลังกายวางอยู่เป็นระยะๆ ดูในภาพรวมแบบเร็วๆแล้ว ก็จัดว่ากว้างใหญ่ มีความสวยงามร่มรื่น และเป็นแหล่งสร้างสุขภาวะสาธารณะ ได้มากกว่าเกาะลอย

ในเดือนตุลาคม ๒๕๕๓ เกิดอุทกภัยใหญ่น้ำท่วมตลาดหนองบัวและชุมชนโดยรอบ
จากนั้นในปลายปี๒๕๕๓ เดือนธันวาคม ได้ทำการขุดลอกสระน้ำบ้านหนองกลับ
ในประวัติศาสตร์บ้านหนองบัวไม่เคยประสบกับภาวะน้ำท่วมมากเหมือนปี๒๕๕๓

เมื่อเกี่ยวเสร็จชาวบ้านเลยหาวิธีป้องกันน้ำท่วมบ้านกันขนานใหญ่ ซึ่งช่วงนั้นก็พอดีกับมีการขุดสระ เลยทำให้ชาวบ้านต่างก็ได้ซื้อดินจากสระ ไปถมที่ในบริืเวณบ้านกันเกือบจะทุกหลังคาเรือน

เมื่อก่อนนี้ พอถึงหน้าแล้งน้ำในสระมักจะแห้งก่อนถึงฤดูฝน พอขุดลอกครั้งนี้แล้ว ซึ่งลึกมาก ก็ไม่แห้งเหือดเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
                                        Large_dsc00107.
                                        Large_dsc00110
                                        Large_dsc00109.
                       Large_dsc00108.
                       สระน้ำบ้านหนองกลับ : ถ่ายภาพธันวาคม ๒๕๕๓

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท