สุขภาวะเสวนาคนหนองบัว วาระรักชาติ : วาระรักบ้านเกิดและถิ่นอาศัย


สุขภาวะเสวนาของคนหนองบัว  :
รูปแบบ วิธีคิด จุดหมาย กระบวนการเรียนรู้และสิ่งที่พึงได้รับ

การใช้วิธีจัดเวทีเสวนาที่ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ปัจเจกและชุมชนมีประสบการณ์ต่อสังคมที่มีวาระรักถิ่นเกิดและถิ่นอาศัยผสมผสานอยู่ในปรากฏการณ์เชิงสัมผัสต่างๆ รวมทั้งสื่อสะท้อนการหล่อหลอมกล่อมเกลาความมีจิตสำนึกรักชาติและรักสังคมด้วยจิตใจที่กว้างขวาง เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการจัดนิทรรศการเวทีคนหนองบัวในงานงิ้วไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่และหลวงปู่ฤาษีนารายณ์ ซึ่งในปี ๒๕๕๕ นี้ จะมีการหมุนเวียนกลุ่มคนมานั่งเสวนากันในแต่ละวัน ให้กระบวนการพูดคุยนำไปสู่กระบวนการเคลื่อนไหวพลังสังคมและการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่ดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ

การพัฒนาคุณภาพข้อมูล

ขณะเดียวกัน ก็ได้ใช้การเสวนาของผู้อยู่อาศัยบนถิ่นฐานหนองบัว ให้เป็นกระบวนการศึกษาเรียนรู้ชุมชนหนองบัวในแง่มุมต่างๆ อันได้แก่ เป็นกระบวนการศึกษารวบรวมและเก็บบันทึกข้อมูลชุมชน ด้วยระบบและวิธีการผสมผสาน ทั้งบันทึกลงไปบนความมีประสบการณ์ตรงให้ได้สิ่งที่สนใจนำติดตัวกลับไปใช้ในชีวิตประจำวัน และทั้งการบันทึกรวบรวมในระบบที่แต่เดิมไม่มีอยู่ เช่น บันทึกรวบรวมในระบบออนไลน์ GotoKnow นี้ และการทำสื่อเอกสารสิ่งตีพิมพ์ อีกทั้งได้ช่วยกันตรวจทานปรับปรุงแก้ไขคุณภาพข้อมูลที่ค่อยๆสะสมไว้และได้รับข้อมูลที่ดีมากยิ่งๆขึ้น ร่วมกันวิเคราะห์ ประเมินคุณค่า ความหมาย ความมีนัยสำคัญ และการขยายประสบการณ์ทางปัญญาและการเรียนรู้ของสิ่งต่างๆต่อคนหนองบัวและสังคมวงกว้าง


 

กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า การเรียนรู้เรื่องราวต่างๆของชุมชน รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นขยายการเรียนรู้ให้เชื่อมโยงไปสู่โลกกว้าง ที่จัดโดยเวทีคนหนองบัวนั้น จัดว่าเป็นเครื่องมือและวิธีการเชิงสังคมที่มุ่งเคลื่อนไหวพลังการเรียนรู้เพื่อเลือกสรรการเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีใช้ความรู้และการเจริญสติปัญญาเป็นกลุ่มก้อนของชาวบ้านและผู้คนแตกต่างหลากหลายที่อยู่ร่วมกันในสังคม เป็นเงื่อนไขแวดล้อมเพื่อทำให้ความรู้และกระบวนการเรียนรู้มีความเป็นชีวิต ผสมผสานระบบคุณค่าและความมีกาลเทศะจำเพาะของสิ่งต่างๆ ที่มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปกับวิถีชีวิตปัจเจกและวิถีชีวิตชุมชน

การเก็บรวบรวมข้อมูลและสะสมความรู้ชุมชน

ส่วนในด้านที่เป็นความรู้และข้อมูลต่างๆนั้น ก็เป็นการบันทึกและประมวลผลไปบนการปฏิบัติ พร้อมกับทำให้เกิดการไหลเวียนกลับไปสู่การเห็นไปด้วยกันของชาวบ้าน สอดคล้องกลมกลืนไปกับความเติบโตงอกงามของกระบวนการทางการปฏิบัติที่ก่อเกิดในชุมชน

กระบวนการดังกล่าวนี้ค่อยๆก่อเกิดขึ้นในเวทีคนหนองบัวและในชุมชนหนองบัว ซึ่งกลุ่มผู้ให้ความสนใจใน GotoKnow ก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการค่อยๆเรียนรู้และปรับแต่งวิธีทำงานความรู้ให้สามารถเข้าไปเป็นกระบวนการเสริมพลังความริเริ่มต่างๆของชาวบ้านและคนหนองบัว

ในการจัดเวทีเสวนาและเวทีเรียนรู้ของชุมชนก็เช่นกัน ก็มีบทบาทต่อการที่จะได้ร่วมกันนำเอาวิธีการทางสังคมแบบใหม่ๆ แม้จะเป็นที่แพร่หลายสำหรับโลกภายนอก แต่มีทักษะการจัดการชุมชนบางด้านที่เป็นสิ่งใหม่สำหรับสังคมหนองบัวและเชื่อมโยงได้กับสิ่งที่มีอยู่เป็นต้นทุนประสบการณ์เดิมในวิถีชีวิตและวิถีชุมชน มาใช้ทำงานและสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อสังคมอย่างบูรณาการให้กับชาวบ้าน เช่น การนั่งพูดคุยและเรียนรู้ชุมชนในท่ามกลางบรรยากาศของงานงิ้ว การนำเอาเรื่องราวของชุมชนมาถ่ายทอดและช่วยกันวิเคราะห์เชื่อมโยงอย่างรอบด้าน การเชื่อมโยงวาระทางสังคมเข้ากับวาระความสนใจของอท้องถิ่น เหล่านี้เป็นต้น

 

กลุ่มกรณีศึกษาเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ในเวทีเสวนา
และนัยสำคัญต่อการสร้างสุขภาวะชุมชน

อสม.และภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย

สำหรับการเสวนาวันแรก ซึ่งเป็นวันแห่วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๕ นี้ ท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข) ได้เชิญชวนกลุ่มคนเก่าแก่ของหนองบัวและหนองกลับ ที่เป็นแพทย์แผนไทย อสม.และกลุ่มเล่นเพลงพวงมาลัยของหนองบัว อายุ ๗๕ ถึง ๘๔ ปี มาเป็นกลุ่มที่จะนำเอาเรื่องราวต่างๆเป็นตัวตั้ง เปิดวาระการเรียนรู้สร้างความสำนึกรักบ้านเกิดและถิ่นที่อาศัย รวมทั้งเชื่อมโยงไปสู่ประเทศชาติและสังคมวงกว้าง

แพทย์แผนไทยของหนองบัว ได้แก่หมอกวน ดำโต บ้านหนองกลับ ซึ่งเป็น อสม.ดีเด่นสาขาแพทย์แผนไทยระดับประเทศ รวมทั้งเป็นบุคคลตัวอย่างทางด้านการจิตอาสาพัฒนาสังคม การดูแลคนพิการในชุมชน การใช้บ้านให้การเรียนรู้และบริการดูแลสุขภาพแบบพึ่งตนเองของชาวบ้าน และทำหน้าที่จัดรายการาวิทยุชุมชนสื่อสารสุขภาพตลอดจนเรื่องราวต่างๆให้กับคนหนองบัวอย่างเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตเป็นชาวบ้านหนองบัว

กลุ่มผู้สูงอายุภูมิปัญญาวัฒนธรรมพื้นบ้านเพลงพวงมาลัย

ส่วนกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ที่เป็นกลุ่มสืบทอดการเล่นเพลงพวงมาลัย ก็เป็นแหล่งภูมิปัญญาปฏิบัติของหนองบัว ที่มีบทบาทต่อการสอนลูกหลานและถ่ายทอดเพลงพวงมาลัยเข้าสู่หลักสูตรท้องถิ่นของสถานศึกษาในหนองบัว รวมทั้งเป็นคลังประสบการณ์ของชุมชนที่มีเรื่องราวและตำนานสั่งสมไว้ในเพลงพวงมาลัยกับการบอกเล่า สืบทอดกันไว้เป็นจำนวนมาก

นอกจากทุกท่านจะนับว่าเป็นภูมิปัญญาบุคคลของท้องถิ่นหนองบัวแล้ว ในทางสังคมและมิติประชากรศึกษานั้น คนแก่เฒ่าที่มาร่วมเวทีก็เสมือนเป็นยอดสาแหรกของระบบเครือญาติคนหนองบัว รวมทั้งเป็นภาพสะท้อนอนาคตของสังคมสูงวัยที่พึ่งประสงค์ มีลูกหลานอยู่ทั่วหนองบัวและกระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ รู้จักคนหนองบัว และตนเองก็เป็นที่รู้จักของคนเก่าแก่ในหนองบัวอย่างกว้างขวาง มีข้อมูลประสบการณ์ต่อหนองบัวที่สามารถเสริมต่อ ตรวจทาน อ้างอิงถึงกันและยืนยันระหว่างกันได้เป็นจำนวนมาก

การจัดกระบวนการส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์เชิงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเป็นโอกาสให้ได้นำเอาสิ่งต่างๆมานั่งพิจารณาด้วยกันในเวทีนี้ ก็จะทำให้กระบวนการทางสังคมที่เกิดขึ้นบนเวที มีพลังการหล่อหลอมกล่อมเกลากันและกันของทุกคน เห็นกาลเทศะของสิ่งต่างๆซึ่งเป็นปัญญาชนิดที่บอกสอนกันไม่ได้ ได้สร้างความงอกงามทางความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนได้การเจริญสติปัญญาและสั่งสมโลกทัศน์ชีวทัศน์ ก่อเกิดความแยบคายลึกซึ้งต่อความมีประสบการณ์ชีวิตผสมผสานไปกับเรื่องราวต่างๆไปด้วย

ขณะเดียวกัน ก็เป็นพลเมืองสูงวัยที่มีสุขภาพดีทั้งกาย จิตใจ จิตวิญญาณ สังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นพลเมืองสูงวัยที่เต็มไปด้วยพลังผลิตภาพ จึงเป็นองค์ความรู้และวรรณกรรมมีชีวิตเล่มใหญ่ที่คนหนองบัวจะต้องได้เปิดอ่านบนเวทีเสวนาคนหนองบัวและใช้เป็นเรื่องราวที่เชื่อมโยงการเรียนรู้ให้ได้สิ่งต่างๆไปอย่างรอบด้าน การจัดรูปแบบและบรรยากาศเวที รวมทั้งทีมวิทยากรกระบวนการเวที จึงเกิดการรวมตัวกันเองอย่างอัตโนมัติ

 

การดำเนินการเสวนาเป็นทีม

ครูสืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัวและคณะครูโรงเรียนหนองบัว เห็นกลุ่มผู้เข้าร่วมเวทีแล้วก็รู้ว่าเก้าอี้และระบบสื่อโสตทัศนูปกรณ์ต่างๆที่เตรียมไว้แต่เดิมนั้นไม่พอ จึงรีบกลับไปเอารถกระบะจากบ้านไปขนเก้าอี้และเครื่องเสียงทั้งของบ้านและของโรงเรียนมาจัดเพิ่มให้พอเพียงสำหรับคนที่จะต้องให้ได้นั่งเป็นส่วนใหญ่มากกว่า ๓๐ คน และระบบเสียงให้พอเพียงสำหรับคนที่จะร่วมเวทีด้วยการยืนและเดินเข้าออกไปมา รวมแล้วสัก ๔๐-๕๐ คน

การนำสนทนาก็ช่วยกันเป็นทีมอย่างไม่ได้นัดหมาย โดยคุณครูสืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์ คุณฉิก ศักดิ์ศิริ พิทักษ์อำนวย ลูกหลานคนหนองบัว เป็นวิศวกรและจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผม และอาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ ซึ่งจำต้องบีบข้อจำกัดจากการที่กำลังจัดงานมงคลสมรสให้กับหลานของครอบครัวมาร่วมเป็นวิทยากรกระบวนการเวทีให้จนถึงเวลาที่ดึกที่สุดที่จะต้องเดินทางไปจัดงานที่กรุงเทพฯ

การเสวนาเริ่มขึ้นตอนหัวค่ำหลังหกโมงเย็น ยิ่งเสวนากันไปก็ยิ่งสนุก ผู้คนในตลาดและจากแหล่งมหรสพอื่นๆ ที่หมุนเวียนเตร่เข้ามาก็หลากหลาย ผู้นำท้องถิ่นและคณะกรรมการจัดงานงิ้วหลายท่านก็มานั่งร่วมวง หากผมกับ ผอ.พนมไม่ช่วยกันหาทางสรุปเวทีและขอหยุดไว้ก่อนสำหรับเวทีเสวนาของวันแรกนี้ ก็เชื่อว่าจะคุยกันได้อย่างออกรสไปจนสว่าง เวทีเลิกเมื่อเกือบ ๕ ทุ่ม หลังจากเก็บข้าวของและนั่งพูดคุยพลางพักเหนื่อยกันสักครู่แล้ว ผม ครูวิกานดา บุญเอก และครูสืบศักดิ์ก็ไปกินก๋วยเตี๋ยวอาหารมื้อเย็นและกลับบ้านกันเมื่อตี ๑ ของวันใหม่

 

มิติข้อมูลและความรู้ชุมชนบนเวที

ผม ผอ.พนม จันทร์ดิษฐ์ คุณครู สืบศักดดิ์ ปฏิสนธิ์ และคุณฉิก ศักดิ์ศรี พิทักษ์อำนวย ช่วยกันดำเนินการเสวนาและจัดกระบวนการเวทีเหมือนกับเป็นวิทยากรหมู่ที่ช่วยกันดูให้ประเด็นต่างๆได้อรรถรสและได้ความรอบด้านไปด้วยอยู่ตลอดเวลา เวทีเริ่มต้นจากการทำความรู้จักเรื่องราวต่างๆที่ขึ้นอยู่กับการมีแหล่งภูมิปัญญาบุคคลบนเวที อันได้แก่เพลงพวงมาลัยของคนหนองบัว แพทย์แผนไทยและการจัดการเครือข่ายสุขภาพในชุมชน มีการร้องเพลงพวงมาลัยและแสดงสาธิตควบคู่ไปกับการตั้งหัวข้ออธิบายของชาวบ้าน วิเคราะห์และเรียนรู้อย่างเชื่อมโยง

ขณะเดียวกัน ก็ให้คนทำงานและผู้นำท้องถิ่นสาขาต่างๆได้ร่วมกันวิเคราะห์ ทำให้ได้เห็นภาพของเพลงพวงมาลัยที่มีบทบาทต่อวิถีชุมชนของคนหนองบัวอย่างแจ่มชัดมากขึ้น เห็นบทบาทต่อการสร้างบทบาทความเป็นหญิงและชายในวิถีวัฒนธรรมคนหนองบัว การเกี้ยวและสร้างปฏิสัมพันธ์ที่มีกรอบค่านิยมต่อความดีงามของสังคมหนองบัว สอดแทรกวิธีคิดและระบบปฏิบัติที่มากับหลักพระศาสนา เห็นบทบาทของเพลงพวงมาลัยในหลายขั้นตอนชีวิตคนหนองบัว เช่น การกล่อมลูก การแห่นาค ได้รายละเอียดของประเพณีการโล้ชิงช้าและเล่นเพลงพวงมาลัยที่ลานวัดหนองกลับของคนหนองบัว


 

การเชื่อมโยงและบูรณาการกับการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน

นอกจากนี้ เวทีเรียนรู้หนองบัวก็ได้เห็นการฟื้นฟู อนุรักษ์ และสืบทอดความมีชีวิตของเพลงพวงมาลัย นำมาพัฒนาเป็นรูปแบบบันทึก สื่อสาร และบอกเล่าเรื่องราวต่างๆของหนองบัว เช่น เรื่องราวของเขาพระหนองบัว เรื่องราวของผู้นำพระสงฆ์ของหนองบัว เรื่องราวที่พรรณาเกี่ยวกับชุมชนและท้องถิ่นต่างๆที่มีตำนานของหนองบัว เหล่านี้เป็นต้น  

อีกทางหนึ่ง ทางด้านแพทย์แผนไทย ก็ได้เห็นการพัฒนาภูมิปัญญาในการจัดการให้มีบทบาทต่อการดูแลรักษาสุขภาพของชาวบ้าน ผสมผสานและบูรณาการกับระบบสุขภาพที่มีอยู่ในชุมชนและประชาชนที่อยู่อาศัยสามารถเข้าถึงได้ พร้อมกับเห็นความสามารถเชื่อมโยงและบูรณาการกันได้หลายมิติของเพลงพวงมาลัยและงานทางศิลปวัฒนธรรมกับงานแพทย์แผนไทยของคนหนองบัว

โอกาสการเชื่อมโยงและบูรณาการกับการพัฒนาทางด้านต่างๆ
ที่เป็นแนวคิดสะท้อนความสำนึกต่อบ้านเกิดและต่อสังคม

หลังจากเสวนาเรียนรู้เพลงพวงมาลัยกับสังคมหนองบัวในมิติต่างๆแล้ว ผมและผอ.พนมก็เชิญชวนให้ทุกคนในเวทีเสวนาร่วมพูดคุย สะท้อนความคิดเห็น วิเคราะห์และชวนพิจารณาหาความลุ่มลึกอย่างรอบด้าน พร้อมกับนำเสนอโอกาสและความริเริ่มที่มองเห็น ในอันที่จะทำสิ่งต่างๆในหนองบัวและในสังคมกันต่อไป

พอจะกล่าวได้ว่า บรรยากาศของเวทีนั้น ได้บรรยากาศของการนั่งคุยกันอย่างคนหนองบัวและมีความเป็นชาวบ้านมากอย่างยิ่ง ชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่ก็มีความเป็นตัวของตัวเอง กล้าแสดงความคิดเห็น สลับกับลุกขึ้นผลัดกันร้องเพลงพวงมาลัยให้เป็นตัวเดินเรื่องอย่างกลมกลืน


 

ทั้งข้อสังเกตของตนเองและการได้รับเสียงสะท้อนของเวที ทำให้พอจะทราบได้ว่าเวทีคนหนองบัวปีนี้  ไม่เพียงทำให้ได้รวบรวมเรื่องราวของหนองบัวเพิ่มขึ้นอีกอย่างมากมายอีกครั้งหนึ่ง แต่ทำให้เกิดการร่วมกันเสนอการช่วยการทำสิ่งต่างๆต่อไปที่มีประเด็นดี สะท้อนวาระการรักบ้านเกิดและถิ่นอาศัยที่มีแนวทางสะท้อนไปสู่การสร้างสุขภาวะสังคม ผ่านการเคลื่อนไหวพลังปฏิบัติต่างๆของคนหนองบัว เช่น การพัฒนาชีวิตการอ่านและศึกษาค้นคว้าทั้งเรื่องราวของโลกกว้างและของหนองบัว การบูรณาการเพลงพวงมาลัยเข้ากับการจัดหลักสูตรท้องถิ่นและการเรียนรู้ชุมชนท้องถิ่นของโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม)  กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาโรงเรียนหนองบัว  และสถานศึกษาต่างๆในหนองบัว การบูรณาการเพลงพวงมาลัยเข้ากับการสื่อสารและพัฒนาการเรียนรู้สุขภาวะพอเพียงและการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน การบูรณาการและสะท้อนเชื่อมโยงกันของงานสาธารณสุขมูลฐาน สุขภาพแผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน สุขภาพปฐมภูมิ กับเพลงพวงมาลัย การนำไปสู่การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติของคนทำงานสาขาต่างๆของหนองบัว การใช้กรณีของหนองบัวจัดเวทีนำเสนอยุทธศาสตร์เชิงนโยบายทั้งของท้องถิ่นและของประเทศในบางด้านที่สะท้อนให้เห็นตัวอย่างที่ดี เหล่านี้เป็นต้น

นอบน้อมต่อการปฏิบัติความดีงามในเวทีคนหนองบัวครั้งให้กัน

ครูวิกานดา บุญเอก โรงเรียนหนองบัว ซึ่งเป็นน้องสาวของผม ได้ของซื้อแป้งและขอฝีมือทำขนมของแม่ ให้ทำขนมดอกจอกเพื่อไปฝากผู้เข้าร่วมเวที ขอบคุณวิทยากรและชาวบ้านที่มาร่วมเวทีเสวนา หลังการเสวนาและก่อนร้องเพลงพวงมาลัยอำลากันในเวที ก็มอบให้แก่ทุกคนพร้อมกับบอกกล่าวถึงความเป็นมาของการทำขนมเพื่อรำลึกถึงกันของคนหนองบัว คนเฒ่าคนแก่พ่อเพลงแม่เพลงพวงมาลัยก็พากันนั่งพนมมือและกล่าวให้พรแก่แม่ซึ่งอยู่ที่บ้านและอยู่ในวัยแก่เฒ่าวัยเดียวกับพ่อเพลงแม่เพลงพวงมาลัยของเวทีคนหนองบัว

ผมกับทีมครูของโรงเรียนหนองบัวช่วยกันถ่ายวิดีโอและบันทึกภาพการเสวนาของเวทีไว้ตลอดรายการ เรื่องราวการเสวนาในเวทีในครั้งนี้จะเป็นสื่อการเรียนรู้ของคนหนองบัวที่มีคุณค่ามาก หลังเสร็จสิ้นการเสวนา ก็ขอถ่ายภาพและบันทึกรายละเอียดที่เกี่ยวข้องเก็บไว้ รวมทั้งขอถ่ายภาพจากภาพถ่ายและเอกสารเก่าๆที่ชาวบ้านนำติดมือมาด้วย.

หมายเลขบันทึก: 483159เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2012 10:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดียามดึกก่อนเข้านอนค่ะอาจารย์

น่าสนุกมาก ๆ ค่ะ...กระตุ้นต่อมฝันของหนูเลย

ชอบอาจารย์ฉายภาพบรรยายชัด...โดยเฉพาะคำว่า วรรณกรรมมีชีวิต และ ยอดสาแหรกของระบบเครือญาติ

เห็นพลังของความเชื่อมโยง ต่อยอด ต่อเนื่อง ทั้งท้องถิ่น สังคมไทย และโลกนะคะ

การเชื่อมโยงผู้คนที่เข้าใจจุดหมาย เพื่อบ้านเกิด เพื่อท้องถิ่น เพื่อสังคมไทย แต่ต่างประสบการณ์ชีวิต ความรู้ ความชำนาญ....น่าสนใจมาก ๆ ค่ะ

* ขอบคุณค่ะสำหรับการถ่ายทอดสาระดีๆจากการจัดงานของชุมชนครั้งนี้

* เห็นครบวงจรของรูปแบบ ความคาดหวัง และความตั้งใจจริงของเหล่าแกนนำของชุมชนที่เป็นแบบอย่างที่ดีค่ะ

* คุณแม่แข็งแรงและมีความสุขมากกับการทำอาหารแจกลูกหลาน..ดูภาพแล้วคิดถึงคุณยายของพี่ใหญ่ค่ะ

สวัสดีครับคุณหมอธิรัมภาครับ
คุณหมอเป็นเพื่อนบ้านของชาวหนองบัวที่มาเยือนทีไรก็ทั้งให้พลังใจและผุดแง่มุมให้ได้ความลึกซึ้งแก่ตนเองอยู่เสมอเลยครับ

การได้ค่อยๆทำข้อมูล ย่อยเป็นความรู้ และใช้เป็นข้อมูลจากประสบการณ์เชิงสัมผัสที่ปัจเจกและชุมชนจะมีฐานสำหรับใช้อ้างอิง หยั่งและวัดเข้ากับประสบการณ์ทุกอย่างที่มีอยู่ในตนเอง วิเคราะห์เชื่อมโยงไปสู่การได้เห็นและได้รู้จักสิ่งต่างๆในสังคมที่ซับซ้อนกว้างขวาง ขยายประสบการณ์ออกไปจากชุดประสบการณ์ที่มีอยู่เป็นทุนเดิมในตนเอง ที่ดำเนินไปกับการที่ชุมชนได้ทำสิ่งต่างๆไปด้วยกันอย่างนี้ เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้ความรู้และงานทางความคิด พัฒนาการไปด้วยกันอย่างพอดีกับกระบวนการทางการปฏิบัติ ไม่ล้นเกินไปกว่าเงื่อนไขชีวิตชุมชน และไม่ละทิ้งให้มีแต่ตัวกิจกรรมกับการปฏิบัติแต่ไม่มีความหมายต่อการได้ปัญญาและการยกระดับด้านในของชีวิต ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่เหมาะสำหรับจัดกระบวนการให้กับชาวบ้านได้มีโอกาสทำความแยบคายของชีวิตและการงานไปบนเรื่องราวต่างๆที่ได้ทำ

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ

ขอบพระคุณพี่ใหญ่ที่ได้ถามไถ่ถึงแม่ครับ อาหารและขนมที่แม่ทำไปแจกชาวบ้านที่ร่วมเวที เป็นสื่อถึงกันที่ดีและอร่อยดีครับ คนเก่าแก่ในเวทีหลายคนรู้จักคุ้นเคยและเป็นกลุ่มศรัทธาปฏิบัติธรรมและไป วัดวากับแม่ด้วยเหมือนกันครับ การได้ดูแลสังคมและความเป็นส่วนรวมอย่างนี้ เลยเหมือนกับการได้สร้างสังคมและสภาพแวดล้อมเพื่อได้ความมีสุขภาวะให้กับแม่ ได้เดินออกไปสร้างสังคมเพื่อการดูแลแม่และญาติพี่น้องของเราเองไปด้วย เกิดโครงสร้างและความมีปฏิสัมพันธ์กันหลายอย่างของชาวบ้านในวิถีชุมชนแบบนี้ ที่ชาวบ้านต่างมุ่งการให้แก่ผู้อื่นและแบ่งปันสิ่งต่างๆให้กัน มีพลังความดูแลและเอาใจใส่กัน รำลึกและปฏิบัติต่อกันอย่างญาติ จึงเป็นทางหนึ่งเหมือนกันครับที่ทำให้ชาวบ้านในชุมชนชนบทได้สามารถเข้าถึง สิ่งดีๆหลายอย่างที่ผ่านเข้ามาทางการได้เรียนรู้เดินออกจากตนเองและได้สร้าง ชีวิตการอยู่อาศัยร่วมกันบน เงื่อนไขแวดล้อมต่างๆ

ขอกราบนมัสการพระคุณเจ้าและขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะมาเยือนกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท