AAR การประชุมประจำสัปดาห์ของ สคส.


บันทึกนี้เป็นการประมวลสิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมประชุม ประจำสัปดาห์ของ สคส. เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 49 ตามเทคนิค AAR


เป้าหมาย : เข้าร่วมประชุมเพราะเพื่อต้องการสร้างความสัมพันธ์กับบุคลากรของ สคส. และต้องการสังเกตการณ์บรรยากาศโดยทั่วไป เพื่อเตรียมตัวเข้าร่วมงานกับ สคส.  ในฐานะวิทยากรการจัดการความรู้ฝึกหัด


สิ่งที่ได้รับเกินกว่าเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ : ได้เรียนรู้และได้รับความรู้เพิ่มขึ้นในเรื่องที่เกี่ยวกับ
     1. ความรู้ทางทฤษฎี ซึ่งได้รับจากการ “อ่านเอาเรื่อง” หนังสือที่มีชื่อว่า “How to think like Leonardo Da Vinci” ในบทที่ 1 ชื่อตอนว่า “Your brain is much better than your think.”ซึ่งถ่ายทอดโดยคุณอ้อและคุณแกบ     
     - ความฉลาดทางปัญญา (IQ)สามารถพัฒนาได้ เป็นการสนับสนุนแนวคิดที่ว่าผู้ที่เกิดมาแล้วสวรรค์ลืมให้พรมาด้วย ก็สามารถจะหาพรได้จากการปฏิบัติตนให้ป็นคุณแสวงสรุปได้ว่าคนเรามีโอกาสประสบผลสำเร็จจากความเพียร
     - IQ คือความฉลาด 8 ด้าน ได้แก่ ความฉลาดทางด้านภาษา ด้านตรรกะหรือคณิตศาสตร์ ด้านมิติ ด้านการเคลื่อนไหวทางร่างกาย ด้านดนตรี ด้านมนุษย์สัมพันธ์ ด้านเข้าใจตนเอง ด้านเข้าใจธรรมชาติ
 Leonardo Da Vinci      เป็นผู้ที่มีความฉลาดครบทั้ง 8 ด้าน เพราะเป็นผู้ที่สามารถนำศักยภาพของสมองมาใช้ได้มาก (ว่าตามหนังสือครับ สงสัยก็เชิญศึกษาหาข้อมูลตามอัธยาศัย)
     - สภาวะแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง มีผลต่อแนวคิด ทัศนคติ ค่านิยม และวัฒนธรรม ซึ่งก่อให้เกิดนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัย ดังจะเห็นได้จากในยุคของ Leonardo Da Vinci เป็นยุค “การฟื้นฟูศิลปวิทยาการ” (Renaissance) มีการท้าทายอำนาจทางการเมืองของศาสนจักรที่มีอำนาจสูงสุดในยุคนั้น ทำให้นวัตกรรมในยุคนั้นเป็นการตอบสนองต่อการช่วงชิงอำนาจซึ่งก็คือการคิดค้นปืนขึ้นมาใช้ทำให้การรบเปลี่ยนจากการใช้พลังกล้ามเนื้อมาใช้พลังสมองทำให้อัศวินซึ่งเคยได้รับการยกย่องหมดบทบาททางสังคมไป คนหันมาสนใจศิลปวิทยาการมากขึ้น เกิดนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญต่อการจัดการความรู้จวบจนปัจจุบันก็คือ การสร้างแม่พิมพ์เคลื่อนที่ได้ ความรู้ต่าง ๆ ได้มีการเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง ทำให้สังคมหลุดจากการถูกครอบงำทางความคิดจากโดยคนกลุ่มเดียว(ศาสนจักรและขุนนาง) เมื่อดูละครแล้วย้อนดูตัวจะเห็นว่าในปัจจุบันนี้เป็นยุคทองของเสรีทุนนิยม ซึ่งมีแนวคิดที่เป็นอัตตาอย่างยิ่งว่ามนุษย์มีเสรีในการแสวงหาทุน(เงินตรา)โดยไม่จำกัดขอบเขตจึงมีความเพียรพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะมุ่งแสวงหาทุน มีทัศนคติที่ว่าทุนสามารถทำให้เกิดความสุขในชีวิตเพราะทุนสามารถบำบัดความต้องการที่เกิดจากกิเลส ตัณหา และกามคุณให้หมดสิ้นไปได้ มีค่านิยมในการเลื่อมใสศรัทธาผู้ที่สามารถหาทุนได้มากและสะสมทุนไว้มาก ๆ ว่าเป็นผู้ที่ควรเคารพบูชา เกิดเป็นวัฒนธรรมความสุขนิยม คือแสวงหาทุนมาบำบัดทุกข์และบำรุงสุข ก่อให้เกิดการกระทำทุกวิถีทางที่จะทำให้ได้มาซึ่งทุนโดยขาดการตระหนักถึงคุณธรรมและศีลธรรมอันดีงามเพราะคิดว่ามีเสรีที่จะทำ ผลที่ตามมาก็คือความล่มสลายของสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งขืองมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคมที่ไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างโดดเดี่ยว นวัตกรรมในสมัยนี้จึงเป็นนวัตกรรมที่สนองตอบต่อการสะสมทุน(ของนายทุน) ปรัชญาในการดำเนินธุรกิจจึงมุ่งพัฒนา “ทุนมนุษย์” มีการตื่นตัวในด้านการจัดการความรู้ (ไม่รู้ว่าจะเป็นเหตุผลเล็ก ๆ ที่ทำให้เกิด สคส.ขึ้นมาหรือเปล่า) เพื่อนำความรู้ทั้งที่เปิดเผยและปกปิดซ่อนไว้อย่างมิดชิด (จนบางครั้งเจ้าตัวยังไม่รู้) มาผ่านกระบวนการการจัดการความรู้ เพื่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่ส่งผลให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันเชิงธุรกิจ และเป็นการเพิ่มความมั่งคั่งของทุนให้กับผู้ถือหุ้นขององค์การอีกด้วย อันที่จริงแล้วเสรีทุนนิยมมีในสังคมของคนไทยมาตั้งแต่อดีตกาลตามปรากฏในหลักศิลาจารึก (ที่กำลังถูกคนไทยบางคนที่รักและปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมืองอย่างสุดประมาณกำลังพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นของปลอม) ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่ว่า “ไพร่ฟ้าหน้าใส ใครใคร่ค้าวัว ค้าควายค้า ใครใคร่ค้าช้างค้าม้าค้า” แต่ประชาชนก็อยู่เย็นเป็นสุขเนื่องจากเป็นเสรีทุนนิยมที่ปกครองแบบพ่อปกครองลูกยึดมั่นในคุณธรรมและศีลธรรมเป็นหลัก (เป็นการตอกย้ำแนวคิดที่ว่า “ประชาธิปไตย” ไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ดีเลิศที่สุดที่ทุกชนเผ่าจะต้องนำมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่สอดคล้องและเหมาสมกับชนเผ่าที่มีผู้ปกครองซึ่งยึดมั่นในทศพิธราชธรรมที่มีการสืบทอดกันมาหลายร้อยปี แต่อาจจะเหมาะสำหรับชนเผ่าโจรที่ชอบรุกรานแย่งชิงดินแดนชนเผ่าอื่นเมื่อปกครองเขาเขาไม่ยอมรับก็เลยสร้างกติกามาใช้เพื่อบังคับให้เขายอมรับตนเป็นผู้ปกครอง...คิดว่าชักจะไปกันใหญ่แล้ว) จะเห็นได้ว่าคนไทยในยุคเสรีทุนนิยมสมัยสุโขทัยหน้าใสโดยไม่ต้องใช้ครีมหรือเครื่องสำอางอื่นใด ผิดกับคนไทยยุคเสรีทุนนิยมสมัยนี้ที่ต้องพยายามคิดนวัตกรรมมาทำให้หน้าใสหรือเป็นเพราะเราละเลยศีลธรรมปล่อยให้ความอยากมาครอบงำ มุ่งหาทุนมาระงับความอยากกันอย่างหน้าดำคร่ำเครียด
      - สรรพสิ่งในโลกนี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเมื่อหมดสิ้นยุคมืดก็เข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ เมื่อยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการก็จบสิ้นลงก็เข้าสู่ยุคแสงสว่างทางปัญญา สู่ยุคก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์(การปฏิวัติอุตสาหกรรม) สู่ยุคแห่งความกระวนกระวายใจ สู่ยุคโลกาภิวัฒน์(ในปัจจุบัน) และในที่สุดก็จะกลับไปสู่ยุคที่มืดยิ่งกว่าเดิมหากมนุษย์ยังไม่หยุดในการทำลายล้างและเหินห่างจากศีลธรรม (นี่คงเป็นเหตุผลใหญ่ที่ทำให้เกิด สคส.ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการจัดการความรู้ให้เกิดความอยู่เย็นเป็นสุขในสังคม)
     2.ความรู้จากการปฏิบัติ ซึ่งได้จากการเล่าประสบการณ์ของผู้ที่ได้ไปปฏิบัติภารกิจต่างๆ โดยการใช้เทคนิค AAR จาก อ.ประพนธ์ คุณโอ๋ คุณอาทิตย์ และทีมงานของ สคส. อีกหลายท่าน(ขออภัยที่จำชื่อไม่ได้) สรุปความได้ดังนี้
     อ.ประพนธ์ (ร.ร.บ่อไร่วิทยาคม)
     - ผู้นำองค์การมีความสำคัญยิ่งในการจัดการความรู้
     - AAR เป็นเทคนิคที่สามารถนำมาใช้ในการกระตุ้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในการฝึกอบรม
      คุณโอ๋ (ม.ธรรมศาสตร์)
     - ใช้วิธีในการฝึกอบรมให้กับนักศึกษาดังนี้ 1) แบ่งกลุ่ม 2) ให้ตั้งคำถาม 3) ให้ดูVCD 4) เชื่อมโยงสิ่งที่ได้จากการดู VCDสู่คำถามที่ตั้งไว้
 ทีมงาน สคส. (เวที ครุวิจัย)    
     - ในการเป็นผู้อำนวยความสะดวกเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ (Facilitator) หากต้องการให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้เล่าถึงการนำสิ่งที่ได้รับจากการเรียนรู้หรือการฝึกอบรมที่ผ่านมาว่าได้นำไปปฏิบัติอย่างไร Facilitator ต้องมีทักษะในการออกแบบคำถามในเชิงบวกประเภท Appreciate Enquiry เพื่อที่จะทำให้ผู้ตอบอยากตอบและเต็มใจที่จะตอบคำถามด้วยความภาคภูมิใจ
      คุณอาทิตย์ (ร.ร. สัตยาใส)
     - มีการสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูกับนักเรียน
     - มีการเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดสิ่งที่อยากจะเรียนรู้


สิ่งที่ได้รับต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ : การสร้างความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงาน


การนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ 
     - AAR เป็นเทคนิคที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลายทั้งในการประชุม การฝึกอบรมและพัฒนา การจัดกระบวนการเรียนรู้ และการจัดการความรู้ของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายในองค์การเพื่อให้เกิดนโยบายการขายเชิงรุก
      - นำไปใช้ในการสอบข้อเขียนพิสดาร
      - นำไปใช้ในการเขียนบล็อก    
      - นำไปใช้เป็นฐานข้อมูลในการจัดการความรู้

 

คำสำคัญ (Tags): #kminternship
หมายเลขบันทึก: 48086เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2006 08:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท