บทเรียน "ระบบการดูแลผู้พิการในชุมชน"


สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน สำนักงานวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (สพช.) มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้แผนงานพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน เปิดพื้นที่เสวนา “ร่วมพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน” ครั้งที่ ๕ ในหัวข้อ “ระบบการดูแลผู้พิการในชุมชน” เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๕ ที่ห้องประชุมบุญศิริ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน นำเปิดประเด็นโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินรายการโดย พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล มีผู้เข้าร่วมเสวนากว่า ๖๐ คน จากเครือข่ายวิชาการ เครือข่ายด้านสุขภาพระดับชาติ เครือข่ายสาธารณสุขในพื้นที่ และคนที่สนใจ

วิทยากรนำเสนอระบบการดูแลผู้พิการในชุมชนผ่าน ๓ กรณีศึกษา กรณีศึกษาที่ ๑ คือ บทเรียนอบต.ดอนแก้วและเครือข่าย นำโดยนายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ และ ดร.อุบล ยะไวทย์ณะวิชัย ปลัดอบต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กรณีศึกษาที่ ๒ บทเรียนวัดห้วยเกี๋ยงและเครือข่าย โดยพระครูสุธรรมานุสิฐ เจ้าอาวาสวัดห้วยเกี๋ยง ต.หนองหาร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ และคุณจีรนันท์ วงศ์มา โรงพยาบาลสันทราย กรณีศึกษาที่ ๓ บทเรียนโรงพยาบาลเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยผู้อำนวยการโรงพยาบาลเสลภูมิ การนำเสนอเน้นบทเรียนท้องถิ่นกับการจัดการระบบการดูแลผู้พิการในชุมชน การเตรียมองค์กรและบุคลากรเพื่อขับเคลื่อนระบบการดูแลผู้พิการในชุมชน และการเสริมสร้างศักยภาพประชาชนในการมีส่วนร่วมดูแลผู้พิการในชุมชน

บทเรียนอบต.ดอนแก้วและเครือข่าย

นพ.สมัย ศิริทองถาวร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงบทบาทของสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ ที่ทำงานร่วมกับอบต.ดอนแก้ว ว่าโรงพยาบาลมีบทบาทในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผู้พิการในพื้นที่ให้มีศักยภาพมากขึ้น โดยโรงพยาบาลเน้นช่วยเรื่องการพัฒนาเทคนิค เช่น ดนตรีบำบัด ละครบำบัด กายภาพบำบัด อุปกรณ์ที่ช่วยให้เด็กอยู่บ้านได้อย่างมีคุณภาพชีวิต เช่น Wheelchair พิเศษ ตลอดจนเทคนิคการอบรม เพื่อช่วยผู้พิการมีพัฒนาการที่ดีขึ้นผ่านหลายหลากวิธีการ

ในบทบาทของปลัดอบต. ดอนแก้ว ดร.อุบล ยะไวทย์ณะวิชัย เล่าว่าเมื่อเริ่มรับการถ่ายโอนงานคนพิการมาดูแล ได้รับข้อมูลว่ามีคนพิการในตำบลเพียง ๓๗ คน ซึ่งเห็นว่าเป็นตัวเลขที่น่าจะน้อยเกินความจริง จึงชวนกันเป็นกลุ่มอาสาไปสำรวจผู้พิการในชุมชนพบจำนวน ๑๐๐ กว่าคนในความพิการทุกประเภท จากนั้นจึงทำงานดูแลคนพิการเชิงรุกในชุมชนต่อเนื่องผ่านกลุ่มจิตอาสาที่พัฒนาขึ้น โดยส่งจิตอาสาไปเรียนที่ศูนย์การศึกษาพิเศษเขต ๘ และสมาคมคนพิการทุกประเภท เพื่อนำความรู้ในการดูแลคนพิการไปทำในชุมชน และไปถ่ายทอดให้กับญาติต่อ “เนื่องจากไปพบสภาพความเป็นอยู่ของผู้พิการ ที่นอนหมักหมมมีกลิ่นแรง ผู้พิการบางคนไม่ได้อาบน้ำ ห้องไม่สะอาด ที่พักอาศัยมีขยะ ยุง น้ำเสีย งานเหล่านี้จิตอาสาเข้ามาเรียนรู้แล้วมาทำให้คนในชุมชน พอญาติมาเห็นเกิดความรู้สึกละอายที่มีคนมาซักผ้า ทำความสะอาดให้ เป็นการทำงานเชิงรุกที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”

ในการลงพื้นที่ทุกครั้งจะลงไปถามความต้องการของคนพิการว่าต้องการอะไร พยายามเปิดพื้นที่ให้ เพราะหลายบ้านรู้สึกอายที่มีลูกพิการ โดยเฉพาะบ้านที่พ่อแม่มีหน้ามีตาในสังคม ทำให้เด็กถูกปิดกั้นโอกาสเข้าสังคม กลุ่มอาสาได้ไปช่วยพูดจนผู้ใหญ่ในบ้านเข้าใจ และเกิดเป็นวันถักทอสายใยร้อยใจคนพิการ ขึ้น จัดขึ้นในวันแห่งความรัก เป็นเวทีให้คนพิการได้ออกมาพบคน พูดคุย แสดงตน บอกสิ่งต้องการ นำไปสู่ข้อบัญญัติตำบลเรื่องการส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ ต.ดอนแก้ว ๒๕๕๑ ซึ่งมาจากข้อเสนอความต้องการที่คนพิการเสนอเอง

การทำงานจิตอาสาช่วยสร้างแรงกระเพื่อมให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือกัน เช่น ในบ้านหนึ่งที่สภาพย่ำแย่มาก กลุ่มจิตอาสาได้ลงไปสร้างบ้านให้คนพิการติดเตียงระยะสุดท้าย โดยมีการประกาศเสียงตามสายให้คนในชุมชนรับรู้และได้เข้ามามีส่วนร่วม หรือคนพิการหลายบ้านได้รับการปรับปรุงสภาพบ้าน สร้างห้องน้ำให้ใหม่ สร้างทางรถเข็น หรือราวเดินจากวัสดุในท้องถิ่น โดยจิตอาสาช่วยระดมทุนและวัสดุอุปกรณ์จากคนในชุมชน โดยไม่ต้องใช้งบอบต. และต่อมาขยายเป็นงานศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการและผู้สูงอายุ ที่ได้รับการบริจาคที่จากวัด ให้คนพิการสามารถเข้ามารับบริการ โดยมีรถอบต.ช่วยรับคนพิการที่เดินทางไม่ได้ ตลอดจนต่อยอดเป็นกิจกรรมวันเติมสุขสัญจรในทุกวันพฤหัสบดี และมีสัญจรไปตามวัดต่างๆ ปีละครั้งเพื่อสร้างความสุขให้กับคนพิการด้วย

ในการทำงานคนพิการในชุมชนนี้ไม่โดดเดียว เพราะอบต.ไม่ได้ทำงานคนเดียว แต่ดึงคนเข้ามาร่วมทำงานหลายๆส่วน อาทิ สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ ที่ให้การสนับสนุนอุปกรณ์ มูลนิธิขาเทียม ของนพ.เทิดชัย ชีวเกต วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีเชียงใหม่ ที่เข้ามาดูแลคนพิการผู้สูงอายุในด้านสุขภาพจิต โดยบรรจุเป็นวิชาในหลักสูตร มูลนิธิผลิช่อ สมาคม อปท.เครือข่ายอื่นๆ โดยผ่านตัวเชื่อมประสานที่ดีคือกลุ่มจิตอาสาและอบต. สุดท้ายส่งผลให้คนพิการมีพัฒนาการดีขึ้น กล้าแสดงออก กล้าพูด พัฒนาการทางการสื่อสาร ได้เข้าร่วมกิจกรรมอาชีพ และกิจกรรมอื่นในสังคมได้มากขึ้น จนคนพิการบางคนย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ที่ดอนแก้วเพราะมีกิจกรรมมากมายและได้รับการดูแลที่ดี

บทเรียนวัดห้วยเกี๋ยงและเครือข่าย

พระครูสุธรรมานุสิฐเจ้าอาวาสวัดห้วยเกี๋ยง ต.หนองหาร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ และคุณจีรนันท์ วงศ์มา โรงพยาบาลสันทราย เป็นตัวแทนนำเสนอบทเรียนการทำงานคนพิการในชุมชน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างวัด โรงพยาบาล และศูนย์บริการสาธารณสุข ในเรื่องการฟื้นฟูผู้พิการ ภายใต้บรรยากาศที่ร่มรื่น สะดวกสบาย ภายในวัดที่มีคนคอยพูดคุย รับฟัง และเป็นศูนย์ทำงานจิตอาสา ซึ่งมีการให้จิตอาสาชุมชนเข้ามาเรียนรู้และไปขยายผลทำในตำบลอื่นๆ ด้วย

คุณจีรนันท์ วงศ์มา เล่าในบทบาทของโรงพยาบาลสันทรายว่าเริ่มให้พยาบาลเข้าไปทำงานชุมชนตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ เข้าไปฝังตัวในชุมชน ปรับวิธีคิดทำงาน พบมิติสุขภาพที่หลากหลาย สอดรับกับนโยบายรัฐ ที่ให้โรงพยาบาลเข้าไปดูสุขภาพคนในชุมชน เกิดแรงบันดาลใจในการดูแลสุขภาพให้ครบทุกมิติ ในส่วนงานผู้พิการทำงานร่วมกับพระครูสุธรรมานุสิฐ ซึ่งมีใจให้กับการทำงานเต็มที่และต่อเนื่อง เป็นแกนสำคัญในการสร้างจิตอาสาเข้ามาเติมเต็มงาน โดยให้อาคารในวัดเป็นศูนย์ฟื้นฟูคนพิการ ในช่วงเช้าพระครูทำกิจกรรมเสริมพลังใจให้คนพิการ พร้อมการฟื้นฟูทางกาย และช่วงบ่ายมีลงชุมชนสำหรับคนที่เดินทางมาไม่ได้ (บริการฟื้นฟูที่บ้าน) นอกจากนี้ยังทำแผนร่วมกับ อปท.เรื่องผู้พิการในชุมชน ของบสนับสนุนโดยเริ่มจากสร้างจิตอาสาก่อน ก้าวต่อไปเป็นการทำ home ward ในชุมชน ซึ่งเป็นการให้บริการที่บ้านโดยทีมสหสาขาพร้อมจิตอาสา

พระครูสุธรรมมานุสิฐ สรุปบทเรียนจากการทำงานว่า แนวคิดแรกเริ่มจากอยากให้คนมาวัด จึงเริ่มทำกิจกรรมที่ชุมชนต้องการ เพื่อให้วัดเป็นศูนย์กลาง เริ่มจากปรับแนวคิดของคนในวัดก่อนให้เข้าใจบทบาทของวัดว่าจะทำอะไร ทำอย่างไร งานแรกๆ ใช้ทุนเดิมที่วัดมีอยู่คือหมอนวด การเตรียมสถานที่ให้พร้อมสำหรับรับคนพิการที่จะเข้ามาฟื้นฟู ให้เข้ามาแล้วสบายใจ ร่มรื่น สัปปายะ มีการเตรียมบุคลากรและอุปกรณ์ โดยในส่วนของจิตอาสาจัดให้มีค่าตอบแทนจำนวนหนึ่ง เพื่อให้อาสาสมัครทำงานตามเวลาและตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ พยายามประสานความร่วมมือ วัด โรงเรียน โรงพยาบาล ชุมชน เชื่อมพลังทั้งกายและปัญญา

รูปแบบการให้บริการ ในช่วงเช้าให้บริการในวัด และในช่วยบ่ายจิตอาสาร่วมทีมออกพื้นที่เยี่ยมบ้าน ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า วัด ในส่วนของเจ้าอาวาส พระภิกษุ สามเณร ได้มีโอกาสพัฒนาจิตอาสามากขึ้น วัดได้กลายมาเป็นศูนย์การเรียนรู้ เป็นคลังเก็บวัสดุ อุปกรณ์ และเป็นศูนย์กลางของชุนชนตามที่ได้ตั้งใจไว้ และในส่วนของผู้ป่วยและครอบครัว พบว่ามีสุขภาพกายและจิตดีขึ้น (มีผู้มารับบริการ ๑๕-๔๐ คนต่อวัน) ในส่วนของชุมชน ได้เรื่องความเข้มแข็ง เป็นเป็นฐานที่ดีของการทำงานในเรื่องต่างๆ ต่อไป สำหรับสิ่งที่วางแผนจะทำต่อไปเป็นเรื่องการดูแลผู้สูงอายุและคนพิการแบบเช้ามาเย็นกลับ โครงการอนุบาลเด็กแรกเกิด ซึ่งเป็นงานที่พัฒนาขึ้นจากสภาพสังคม และความต้องการของสังคม

ในเรื่องงบประมาณสนับสนุน เดิมได้งบจากสปสช. ๑ แสนบาท เมื่อเงินหมด โครงการจบ พระครูสุธรรมมานุสิฐ บอกว่า ถ้าชุมชนเข้มแข็ง สิ่งที่ทำอยู่ก็จะยังดำเนินต่อไปได้ พระครูฯ จึงได้เชิญทุกคนที่เกี่ยวข้องมาถามว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้ดีหรือไม่และอยากจะทำต่อไหม ทุกคนเห็นว่าดีและอยากจะทำต่อ แต่เมื่อไม่มีงบประมาณแล้วก็ยินดีที่จะลงขันเก็บเงินคนละ ๕๐ บาทเพื่อให้กิจกรรมนี้ดำเนินอยู่ต่อไป รวมทั้งเมื่องานมีการขยายมากขึ้น เช่น ตอนหลังมีการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ให้ดูแลได้ทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งจะต้องเก็บเพิ่มเป็น ๑๐๐ บาท คนในชุมชนก็ยินดีที่จะลงขันต่อ โดยงานที่ดำเนินไปแต่ละส่วน พระครูวางบทบาทเป็นตัวกลาง ประสาน และควบคุมกติกา ช่วยตั้งโจทย์ แต่ให้คนในชุมชนเป็นคนคิดตัดสินใจเอง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งตามวิถีชุมชน

บทเรียนโรงพยาบาลเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

นพ. อุปทิน รุ่งอุทัยศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเสลภูมิ ให้ภาพการทำงานคนพิการของโรงพยาบาล ที่มีหลักการทำงานว่า หาคนพิการให้พบ ช่วยเสริมศักยภาพทำให้เขาพร้อมกลับบ้าน พร้อมออกสู่สังคม เปิดโอกาสในด้านต่างๆ ให้มากขึ้น โดยมองว่าในตัวคนทำงานต้องสร้างให้เกิดความอยากทำ มีความปีติที่ได้ทำ ไม่ใช่ทำเพียงแค่ตามตัวชี้วัด จึงจะทำให้งานสำเร็จ ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลเริ่มงานคนพิการ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ โดยสปสช.ให้เงินผ่านโรงพยาบาลสำหรับ ๑๘ ตำบลเพื่อให้โรงพยาบาลชุมชนเป็นจุดขับเคลื่อนงานคนพิการ เกิดศูนย์คนพิการครบวงจรเป็น One Stop Service เริ่มจากการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายและจิต ซึ่งทำต่อเนื่องมาถึงปี ๒๕๕๕ ให้คนทำงานได้ทำด้วยความปิติ ลงลึกครอบครัว และได้ทำกระบวนการเรียนรู้ที่พัฒนาต่อเนื่อง ต่อมาขยายเป็นศูนย์พิการครบวงจรระดับตำบล หาคนในตำบลที่มีใจมาฝึก มีการ ออกไปเยี่ยมบ้านพร้อมทีมกายภาพบำบัดในทุกสุปดาห์ เหมือนกับ Home Health Care เป็นการพาคนดีไปหาคนป่วย ช่วยลดภาระการเดินทาง ทำให้เกิดการสื่อสารที่ดีขึ้น มีเจตคติที่ดีต่อกันมากขึ้น เปิดพื้นที่สื่อสาร สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม กระตุ้นพลังการทำงานด้วยหัวใจจากคนในชุมชนเข้ามาทำงาน

จากการนำเสนอทั้ง ๓ กรณีศึกษา และเห็นตัวอย่างของคนไทยหัวใจมนุษย์ที่ดึงการช่วยเหลือหลายส่วนให้เข้ามาช่วยกันได้และเห็นภาพที่ชัดเจนครบถ้วนของการทำงานดูแลคนพิการที่เป็นระบบเชื่อมโยงชุมชน เทศบาล อบต.วัด โรงพยาบาล และสาธารณสุข ทำให้เห็นว่าถ้าทำให้เชื่อมกันได้ คนได้ประโยชน์และเกิดความสุขอย่างไร ซึ่งเรามีโครงสร้างเหล่านี้อยู่แล้ว จึงสนับสนุนให้โครงสร้างเหล่านี้ได้เชื่อมกัน และขยายให้สิ่งดีๆ เกิดเต็มพื้นที่

หมายเลขบันทึก: 478305เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 09:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
  • ขอบพระคุณอาจารย์ ดร.จันทวรรณค่ะสำหรับดอกไม้เป็นกำลังใจ

มีประโยชน์มากค่ะ

เป็นคลังความรู้ที่จะนึกถึงได้  เมื่อถึงจังหวะที่ต้องใช้

ขอบคุณค่ะ

ที่พัทลุง ก็ได้ สพช.ภาคใต้มาเปิดพื้นที่จัดกิจกรรม"เพิ่มพูนพลังคนพิการ"จนเกิดเป็นเครือข่ายอำเภอ เรียนรู้แลกเปลี่ยนกันตลอดมา

ได้เพิ่มพูนความรู้มากครับ และสามารถนำไปใช้ต่อยอดกิจกรรมส่งเสริม และให้การดูแลผู้พิการแบบองค์รวมต่อไป และเกิดเครือข่ายกว้างขวางมากยิ่งขึ้น...

  • ได้เห็นจากบทเรียนเหล่านี้ไปด้วยว่า ระบบการดูแลผู้พิการในชุมชนนี้ เป็นงานสุขภาพชุมชนและ Homeward Health Care ทั้งเป็นผลดีต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของปวงชน กับทั้งสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน เพื่อยกระดับศักยภาพการจัดการของชุมชนในอีกหลายเรื่องได้เป็นอย่างดีเลยนะครับ

                       

  • เลยนำเอาระบบการจัดการของชุมชนในการดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มอื่นๆ ที่เน้นการพัฒนาระบบที่ทำกันเป็นเครือข่ายในชุมชน ที่อำเภอพร้าว เชียงใหม่ มาช่วยเสริมและร่วมเผยแพร่เป็นแรงหนุนด้วยด้วยครับ
  • เป็นต้นว่า ๑.การเยี่ยมบ้านของหมออนามัยและ อสม. ๒. การพัฒนานโยบายสาธารณะของท้องถิ่นและการจัดการทรัพยากรของท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสุขภาพ คุณภาพชีวิต ของผู้พิการ คนรยากจน ผู้สูงอายุ และสุขภาวะชุมชน ๓. การสร้างเสริมสุขภาพจิตชุมชน ๔. การจัดวาระเดินเยี่ยมชุมชนและทำงานต่างๆอย่างไม่เป็นทางการ เช่น การวิเคราะห์ ประเมินสภาวการณ์ และสร้างปัจจัยแวดล้อมส่งเสริมพลังการมีส่วนร่วมเพื่อการดูแลสุขภาพของปัจเจก ครอบครัว และชุมชน ....น่าสนใจอย่างยิ่งครับ
  • มีรายละเอียดอีกที่นี่ครับ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/394775

เมื่อมีการดูแลผู้พิการในชุมชนแล้ว อย่าลืมให้คนในชุมชนช่วยกันคิดหาทางป้องกันความพิการด้วยนะคะ เช่นจะช่วยกันลดอุบัติเหตุได้อย่างไร หรือจะช่วยกันรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคเส้นเลือดในสมองตีบ แตก ตัน จนทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตกันได้อย่างไร

พี่เหมียวหายไปไหนนาน คิดถึง

งานยุ่งไหมครับ ผมติดต่อใครไม่ได้เลย ทำโทรศัพท์หายครับ แย่เลย

สวัสดีค่ะ อาจารย์ ดร.ขจิต

  • สบายดีนะคะ คิดถึงเช่นกันค่ะ นานๆ เข้ามาที เจออะไรมาใหม่อีกแล้ว G2K ^^
  • งานยุ่งใช้ได้เลยค่ะ กำลังปรับตัวกับงานใหญ่ที่ได้รับมอบหมายค่ะ อีรุงตุงนังพอควร ^^"
  • มีความสุขนะคะอาจารย์ ประเดี๋ยวเบอร์โทรฯ จะลอยไปหาค่ะ อิอิ

ชอบบันทึกนี้ที่สะท้อนให้สังคมไทยตระหนักถึงการดูแลผู้พิการอย่างมีประสิทธิผลในวันนี้และอนาคตครับ

  • ขอบคุณครับอาจารย์ ดร.ป๊อบ ^^
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท