Sakura + Koyo Trips 2010 : อัศจรรย์ฮิโรชิมา ...ดอกไม้ประจำเมืองชูช่อจากกองเถ้าถ่าน


เราสามารถฟื้นฟูใหม่ได้ดีกว่าเดิมทั้งด้านวัตถุและด้านจิตใจ เพราะผู้มีสติ-ปัญญา ย่อมหาทางแก้ไขหรือสร้าง เหตุ-ปัจจัยใหม่ ไม่ให้พบความพินาศเดิมๆซ้ำซาก

จำเป็นต้องเล่าต่อ เพราะเกินปีหนึ่งแล้วที่ไปญี่ปุ่นมาครั้งล่าสุด รวมกับครั้งก่อนโน้น ทั้งสองฤดูกาลคือ ซากุระบาน และ ใบไม้เปลี่ยนสี ก็ยังเล่าไม่จบ สมาชิกบ่นว่าเล่าให้จบๆเสียทีจะรวมเล่มเป็นหนังสือทำมือส่งต่อให้อ่านกันได้ไม่ขาดช่วง

จาก เมืองคานาซาวา จุดหมายปลายทางต่อไปของเราก็คือ เมืองฮิโรชิมา

ญี่ปุ่นเป็นทั้งมหามิตรและตัวอย่างที่ดีในการที่เตรียมพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติ รวมทั้งการที่ชาวญี่ปุ่นมีคุณสมบัติที่น่าชื่นชมในการฟื้นตัวได้อย่างดีเหลือเชื่อหลังภัยพิบัติ ซึ่งแต่ละครั้งก็รุนแรงช็อคโลกทั้งนั้น

 

 

 

ดังนั้นการคุยเรื่องเที่ยวฮิโรชิมาในช่วงที่บ้านเมืองของเราได้เผชิญภาวะน้ำท่วมที่คนสมัยนี้พากันเรียกว่าเป็นมหาอุทกภัย และตอนนี้เรากำลังเร่งฟื้นฟูหลังน้ำค่อยๆไปตามทางของเขา จึงน่าจะเหมาะสม เป็นทั้งตัวอย่างและกำลังใจให้คนไทยเห็นว่าหลังความพินาศ เราสามารถฟื้นฟูใหม่ได้ดีกว่าเดิมทั้งด้านวัตถุและด้านจิตใจ เพราะผู้มีสติ-ปัญญา ย่อมหาทางแก้ไขหรือสร้าง เหตุ-ปัจจัยใหม่ ไม่ให้พบความพินาศเดิมๆซ้ำซาก

ฮิโรชิมาเป็นเมืองที่รู้จักกันไปทั่วโลกในฐานะที่เป็นเมืองแรกที่ถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณูลุกแรกของโลก

เมื่อปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ วันจันทร์ที่ ๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ (พ.ศ. ๒๔๘๘) เวลาเช้า ๘.๑๕ นาฬิกา เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 ของอเมริกาได้นำ ระเบิดปรมาณูที่ได้รับการตั้งชื่อว่า “Little Boy” ทิ้งลงที่เมืองฮิโรชิมา

มันสว่างวาบเป็นลูกไฟอันร้อนแรง มีผู้คนล้มตายทันทีราวแปดหมื่นคน ตึกรามบ้านช่องในเมืองถูกทำลายเป็นธุลีเกือบเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ เมื่อถึงปลายปีรวมยอดผู้เสียชีวิตจากการบาดเจ็บและจากกัมมันตภาพรังสีสูงถึงเกือบสองแสนคน!

ข้อมูลบอกว่าวินาทีที่อำนาจการทำลายร้างพุ่งถึงจุดสูงสุด อุณหภูมิโดยรอบตำแหน่งที่ระเบิดลงจะพุ่งสูงขึ้นเท่ากับอุณหภูมิบนพื้นผิวดวงอาทิตย์ แน่นอนสรรพสิ่งรอบๆต้องกลายเป็นจุณในพริบตา

  “...มันเหมือนแสงสว่างจ้าที่เกิดจากการลุกไหม้ของแมกนีเซียม...ตอนแรกพวกเราคิดจะหนีไปที่ลานโล่ง แต่ทำไม่ได้ เพราะจู่ๆก็มีทะเลเพลิงปรากฏขึ้นตรงหน้า...ฮิโรชิมาถูกห่อหุ้มด้วยเปลวเพลิง มันร้อนไปหมด ร้อนจนเราหายใจแทบจะไม่ออก ยังไม่ทันไร กลุ่มเพลิงสายหนึ่งก็ม้วนตัวบิดเป็นเกลียวโถมเข้ามาหาเราจากทางทิศใต้ เหมือนพายุทอร์นาโดลูกใหญ่ปิดถนนมิดไปทั้งสาย ไม่ว่าเปลวไฟจะลามเลียไปถึงไหนหรือเมื่อใด สรรพสิ่งก็มอดไหม้ไปในพริบตานั้น ...ทะเลเพลิงที่กลืนกินถนนทั้งสายกำลังตรงเข้ามาหาเรา...แล้วสักประเดี๋ยวฝนก็เริ่มตก เปลวไฟและควันไฟทำให้พวกเราคอแห้งผาก กระหายน้ำเหลือเกิน... พอฝนตกผู้คนก็อ้าปาก แหงนหน้าขึ้นหาท้องฟ้าพยายามจะดื่มน้ำฝนเข้าไป อนิจจา...มันเป็นฝนเม็ดใหญ่ สีดำสนิท"

ทาคากุระ อากิโกะ

๓๐๐ เมตร จากเขตหายนะ

(จากหนังสือ หน้าต่างสู่โลกกว้าง : ญี่ปุ่น หน้า ๓๐๐)

น่าแปลกที่ตำแหน่งที่ระเบิดลงคือ หอส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือที่เรียกว่า เก็มบากุโดมุ หรือ อะตอมมิกโดม เป็นหนึ่งในอาคารไม่กี่หลังที่เหลืออยู่ในสภาพตั้งตรงได้ ทว่ายอดโดมก็เหลือแต่โครงเท่านั้น

ซากอาคารนี้เป็นสิ่งเตือนให้จดจำถึงความน่าสะพรึงกลัวของระเบิดปรมาณูและ เป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ และได้รับการขึ้นทะเบียนโดยองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก World Heritage

ที่ชาติพันธมิตรต้องตัดสินใจเลือกการใช้ระเบิดปรมาณูก็เป็นเหตุผลทางการเมือง-การทหาร จึงใช้อาวุธที่ให้ความได้เปรียบสูง

ที่เลือก ฮิโรชิมา เป็นเป้าในการทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรก ก็เพราะ ฮิโรชิมาเป็นเขตุอุตสาหกรรมและคลังสรรพาวุธสำคัญของกองทัพญี่ปุ่น ที่จริงฮิโรชิมามีความสำคัญทางการทหารมายาวนานหลายร้อยปีก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่สองเสียอีก

 

หลังสงครามสิ้นสุด ชาวเมืองฮิโรชิมาสามารถสร้างเมืองที่ป่นเป็นเถ้าธุลี ให้ฟื้นชีวิตขึ้นมาใหม่ ใหญ่โต รุ่งเรือง และมั่งคั่งกว่าเดิม แถมยังพลิกภาพเมืองให้กลายเป็น เมืองแห่งสันติภาพ City of Peace ซึ่งรัฐสภาญี่ปุ่นได้ตกลงประกาศในปี ค.ศ. ๑๙๔๙ ตามการริเริ่มผลักดันของนายกเทศมนตรีเมืองฮิโรชิมาในสมัยนั้น

ต้องชมเชยว่านักการเมืองท้องถิ่นของเขามีคุณภาพ มีวิสัยทัศน์ระดับชาติ/นานาชาติ

การที่ญี่ปุ่นผลักดันให้ฮิโรชิมาเป็น เมืองแห่งสันติภาพ อย่างเป็นทางการทำให้นานาชาติให้ความสนใจที่จะใช้ฮิโรชิมาเป็นสถานที่จัดการประชุมในเรื่องเกี่ยวกับสันติภาพและประเด็นทางสังคม

ชาวญี่ปุ่นเขาทำอะไรทำจริง ไม่ใช่ตั้งชื่อไว้แค่ให้ดูดี ในปี ค.ศ. ๑๙๙๒ เขาจึงจัดตั้งสิ่งที่จะรองรับการประชุมนานาชาติ นั่นคือ สมาคมนักแปลและมัคคุเทศก์แห่งฮิโรชิมา Hiroshima Interpreters' and Guide's Association (HIGA)

ต่อมาในปี ๑๙๙๘ สถาบันสันติภาพฮิโรชิมา Hiroshima Peace Institute ได้ถูกตั้งขึ้นในมหาวิทยาลัยฮิโรชิมา

มีความริเริ่มในการสถาปนาองค์กรระดับนานาชาติที่นายกเทศมนตรีเมืองต่างๆทั่วโลกเป็นสมาชิก ชื่อว่า Mayors of Peace และ นายกเทศมนตรีเมืองฮิโรชิมาเป็นประธานขององค์กรนี้ องค์กรนี้กำลังทำงานแข็งขันรณรงค์ให้เมืองและพลเมืองทั่วโลกช่วยกันต่อต้านกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ให้หมดไปภายในปี ๒๐๒๐

อุตสาหกรรมที่พลิกโฉมหน้าเมืองฮิโรชิม่าอย่างโดดเด่นที่สุด คือ อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์มาสด้าที่ใช้ระบบการผลิตโดยหุ่นยนต์ ควบคุมโดยคอมพิวเตอร์เป็นหลักนับว่าเป็นแห่งแรกๆของญี่ปุ่น

เห็นได้ว่าทุกภาคส่วนในระดับท้องถิ่นเป็นผู้ริเริ่มการลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการฟื้นฟู ฮิโรชิมา อย่างเอาจริง

 

ดอกยี่โถ (ภาพจาก Wikipedia)

ดอกไม้ประจำเมืองฮิโรชิมา คือ ดอกยี่โถ Nerium oleander เพราะเป็นดอกไม้ที่ผลิให้เห็นเป็นชนิดแรกหลังจากเมืองถูกถล่มด้วยระบิดปรมาณู จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งชีวิตที่งอกงามใหม่ได้อีกครั้งหลังหายนะ

ตอนหน้าจะพากันไปชม พิพิธภัณฑ์และสวนอนุสรณ์สันติภาพ แห่งฮิโรชิมาค่ะ

หมายเลขบันทึก: 471654เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2011 18:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 15:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ใบไม้สีสันสวยงามมากๆ ค่ะพี่นุช

ความเอาจริงเอาจังของคนญี่ปุ่นพลิก ฮิโรชิมา อวดสายตาชาวโลก ได้อย่างภาคภูมิ

ขอบคุณบันทึกเรื่องเล่า เกร็ดความรู้ใหม่ค่ะ

ปล. โอ นึกถึงน้ำพริกมะดันแล้ว เปรี้ยวปากในบัดดลค่ะพี่นุช

ที่ชาติพันธมิตรต้องตัดสินใจเลือกการใช้ระเบิดปรมาณูก็เป็นเหตุผลทางการเมือง-การทหาร จึงใช้อาวุธที่ให้ความได้เปรียบสูง

 

อ่านบันทึกของพี่นุชแต่ละครั้ง ได้ความรู้ เพลิดเพลิน ภาพสวย แฝงนัยในภาพแต่ละภาพ

หากบันทึกนี้ โดยเฉพาะบรรทัดที่คัดลอกลงมา อ่านแล้ว กระชากใจ ขนลุก

การตัดสินใจเลือก หรือการเลือกตัดสินใจของคนกลุ่มหนึ่ง อาจเปรียบได้ว่า หยิบมือหนึ่งเมื่อเทียบกับมวลมนุษยชาติในฮิโรชิมา

เป็นการเลือกที่ ไม่เลว ได้ผลเด็ดขาด..

หากโหดร้ายเหลือ เลือดเย็น

หวนคำนึงถึงคำสอนในหนังสือธรรมค่ะ

"เราต้องไตร่ตรอง และเลือก ตัดสินใจเด็ดเดี่ยวก่อน ว่า เราเลือกที่จะเป็นคนดี ใฝ่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ไปสู่ชาติภพหรือหลุดพ้นไป(ไหน ๆ ก็ยังไม่รู้จัก)ในสภาวะดี" 

อ่านเรื่องเบา ๆ อิงประวัีติศาสตร์ โผล่ไปเรื่องนี้ได้อย่างไรไม่ทราบ แต่อยากบันทึกความคิดเห็นไว้แบบนี้ค่ะ

ขอโทษไว้ด้วยค่ะพี่นุช

คิดถึงมากนะคะ ใกล้ได้เวลานัดพบ หวังใจได้พบพี่นุชพี่สาวแสนดี เร็ว ๆ นี้ค่ะ

สาระเข้มข้น  ภาพแจ่มชัดสวยงาม

น่าติดตามอ่านต่อไป  .... 

อีกแล้วค่ะอาจารย์

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณเรื่องราวเมืองฮิโรชิมาพร้อมภาพสวยงามมากค่ะ  ดานำภาพ สวนอยุธยามาฝาก จะมาแอ่วพืชสวนโลกหรือเปล่าค่ะ

 

 

...

ขอจองหนังสือพี่นุชหนึ่งเล่ม
จักขอเม้มหนังสือเอาไว้ก่อน
จัดทำเสร็จเมื่อใดตาเว้าวอน
หนึ่งเล่มก่อนถึงเชียงใหม่คนไกลรอ

...

ขอบคุณมากครับพี่นุช ;)...

เป็นอีกบันทึกที่ให้ทั้งความรื่นรมย์จากภาพสวยๆ พร้อมถอดบทเรียนสำหรับนำมาใช้ในบ้านเราได้พร้อมๆ กันเลยค่ะ :-)

..

ตอนนี้เรากำลังเร่งฟื้นฟูหลังน้ำค่อยๆไปตามทางของเขา จึงน่าจะเหมาะสม เป็นทั้งตัวอย่างและกำลังใจให้คนไทยเห็นว่าหลังความพินาศ เราสามารถฟื้นฟูใหม่ได้ดีกว่าเดิมทั้งด้านวัตถุและด้านจิตใจ เพราะผู้มีสติ-ปัญญา ย่อมหาทางแก้ไขหรือสร้าง เหตุ-ปัจจัยใหม่ ไม่ให้พบความพินาศเดิมๆซ้ำซาก

...

น่าสนใจว่า แทนที่ชาวญี่ปุ่นจะมองซากหักพังที่ฮิโรชิมา เป็นการย้ำความพ่ายแพ้ น่าอับอาย แล้วลบล้างไป กลับเก็บไว้ในสัญลัษณ์เชิงบวก..อุปนิสัย ยอมรับความผิดพลาดอย่างซื่อตรง แล้วแปลงเป็นพลังสร้างสรรค์ นี่กระมังที่ทำให้เขาพลิกโอกาสเป็นวิกฤต

  • งดงามทั้งภาพและข้อมูลความรู้ค่ะ
  • กลับมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว อากาศไม่ค่อยหนาวเย็นเหมือนที่คาดการณ์ไว้ค่ะ ทำให้รู้สึกว่าคิดไม่ผิดเลยค่ะที่ไปหาที่ที่อยู่ในอนาคตไว้ใกล้ ๆ กันค่ะ 
  • วันนี้เคลียร์งานทั้งวัน เย็นนี้ กำลังรอสอนน้องที่จะสอบตรงเข้านิติศาสตร์ มธ. แต่ไม่ลืมภารกิจวันพรุ่งนี้ค่ะ คงเป็นตอนบ่ายออกเดินทางนะคะ จะโทรไปเรียนให้ทราบค่ะ พอดีรอคุณลินยืนยันอยู่ค่ะ
  • ระลึกถึงเสมอค่ะ

ÄÄÄ..สวัสดีค่ะ คุณนุช..พลังงาน.นิวเคลีย.อุแม่เจ้า...(ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว..เคยคุยกับท่านผู้รู้จากเมืองไทยไปดูงานต่างประเทศ(เยอรมัน)..ตอนนั้นเราๆยังไม่ประสีประสาเท่าใดนัก..เรื่องนี้..ท่านผู้นี้มีความคิดจะสร้าง..โรงงานไฟฟ้านิวเคลียในประเทศไทย..เราจึงถามท่านว่า.".ที่ทราบมาว่ามันมีประโยชน์ไม่เท่าเสีย..คิดว่าไม่ควรใช้พลังงานนี้ในประเทศไทย"..(ซึ่งประเทศเราเป็นได้แค่ผู้ใช้และมักจะถูกเอาเปรียบ..โดยเฉพาะ..ท่านเหล่านั้นมักจะไปซื้อ..ของเก่า..ของเสีย..มาให้ประเทศใช้เพราะคงถูกกว่าและ..คิดเงิน..คอรัป..ได้รวดเร็วกว่า..อิอิ)..ท่านผู้นั้น..ตอบพวกเราว่า..หนูๆทั้งหลาย..คงจะมีความกลัว"นิวเคลีย"..แบบ..กลัวผี..ใช่ไหมจ้ะ..ตอบแล้ว..ยิ้มให้ซะด้วย..แถมบอกต่อว่า..หนูๆคงไม่เคยเห็น"ผี"..แล้วจะต้อง"กลัว"ไปทำไม..อ้ะ(ว่าเข้าไปนั่น...แล้ววันนี้.".ผี.".มันเริ่มมาปรากฏ.ตัวให้เห็นแล้วไหม..ล่ะ..)..อ่านเื่รื่องนี้ของคุณนุช..เลยคิด..ถึงวันนั้น..ขึ้นมา..ผ่านมา.เกือบ..สี่สิบปี..เหตุการณ์เหล่านี้ผลพวงของความไม่รู้จริงรู้แจ้ง..ของนักวิทยาศาร์ต..กำลังปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง..จึงมาเล่าเป็นอุทาหรณ์ ต่อ ในเรื่องนี้..และหวังว่า.."คนไทย..ผู้ น่าสงสาร..คงจะไม่ตกเป็นเหยื่อ..ของผู้หวังประโยชน์ทั้งทางตรงทางอ้อม"...นำ..พลังงานชนิดนี้..เข้าประเทศไทยที่น่าสงสารของเรา..เรื่องอย่าให้จมน้ำก็..หนักอยู่แล้ว..แถมถ้า..โปรแจคเหล่านี้..รอดหูรอดตา..คลอดก่อนกำหนดได้ละก็..อ่านเรื่องของคุณนุชแล้ว..คงจะเห็นภาพเมืองไทยในอนาคตได้..แจ่มแจ้งแดงแจ๋ทีเดียว..เจ้าค่ะ..(เห็นการกำจัดขยะซึ่งแปดเปื้อนรังสีของญี่ปุ่น..เป็นภูเขาเลากา..เขายังไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรกับมัน..นึกถึง..ขยะ..ความศิวิำไลก์ในเมืองไทย..หลังน้ำท่วม..ที่มีแต่ความหมักหมม..คง..ค้างปี..แน่ๆเชียว..ทั้งๆที่คงจะแก้ปํญหาได้ง่ายกว่า..ของญี่ปุ่น..นะเจ้าคะ..ยายธีค่ะ

สวัสดีค่ะพี่นุช

ขอบคุณค่ะที่แบ่งปัน ^____^

ขอบคุณสำหรับ เรื่องราวดีๆค่ะ

มาส่งความสุขด้วยปฏิทินชุด "รอยยิ้มของพ่อ" ค่ะ

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/471969

สวัสดีค่ะ ขอบคุณทุกท่านที่มาเยี่ยม มาเยือน มาอ่าน มาให้กำลังใจ อินเทอร์เน็ตไม่เป็นใจมาเกือบอาทิตย์ เพิ่งแก้ปัญหาได้เมื่อวาน ดีใจจริงๆค่ะที่จะได้มาร่วมรับ-ส่งความสุขกันช่วงจะเริ่มศักราชใหม่

ขอมอบภาพกุหลาบงามนามว่า ที่รักของฉัน Mon Cheri จากสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ให้ชื่นบานกันด้วยค่ะ

ขออนุญาตลงเรื่องที่เตรียมไว้หลายวันแล้วจะกลับมาตอบแต่ละท่านนะคะ

 

เคยมีแฟนเก่าเป็นหนุ่มฮิโรชิม่าด้วย > o < นานจนลืมไปแว้ว พึ่งมานึกได้เพราะบันทึกพี่นุช

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท