น้ำท่วม : ก่อนการลงพื้นที่เกี่ยวข้าวช่วยชาวบ้าน


หลายคนเป็นลูกชาวนา จึงเชื่อว่าชาวนาคือบุคคลสำคัญ ความเชื่อที่ว่านั้นเกิดจากวิถีของครอบครัวเป็นที่ตั้ง แต่จะมีสักกี่คนที่เชื่อเพราะได้ลงมือทำนามาด้วยตนเอง

ผมและทีมงานเพียงไม่กี่ชีวิตตัดสินใจที่จะจัดกิจกรรมฟื้นฟูชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วม  ภายใต้ชื่อกิจกรรม "บรรเทาทุกข์บำรุงสุขชุมชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม"

การฟื้นฟูดังกล่าวประกอบด้วยกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ  ทั้งดนตรีบำบัด  ตรวจสุขภาพกาย  สุขภาพใจ ปรับภูมิทัศน์ บูรณะซ่อมแซมสถานที่สำคัญๆ ในชุมชน ส่งเสริมอาชีพ และอื่นๆ อีกจิปาถะ โดยยึด "ชุมชน" เป็น "โจทย์"

และที่สำคัญก็คือการจัดกิจกรรม "เกี่ยวข้าวใหม่ กินปลามัน..คืนเมล็ดพันธุ์ข้าวสู่ชาวนาผู้ประสบภัย"

 

สำหรับกิจกรรมการเกี่ยวข้าวนั้น  เป็นการหยิบจับกิจกรรมเมื่อหลายปีที่แล้วมาปัดฝุ่นใหม่  ซึ่งก่อนนั้นนิสิตในกลุ่มวิทยาลัยการเมืองการปกครองได้บุกเบิกนำร่องไว้ในมหาวิทยาลัยฯ  โดยที่ผมมีโอกาสได้รับรู้ความเป็นไป รวมถึงแอบขยับตัวเกื้อหนุนในบางกระบวนกการอยู่อย่างเงียบๆ จนกระทั่งในที่สุดก็กระโจนลงไปเต็มตัวด้วยการจัดหางบประมาณในราวๆ ๔ หมื่นบาทเพื่อนำข้าวเปลือกไปมอบให้กับชาวบ้านผู้ประสบภัยที่จังหวัดอุตรดิตถ์

การเกี่ยวข้าวฯ ในครั้งนี้  ผมมุ่งที่จะนำพานิสิตไปสู่การ "ลงแขกเกี่ยวข้าว"  เป็นสำคัญ  เสมือนการฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมและกระตุ้นให้ชาวบ้านหันกลับมาร่วมรำลึกภาพอันแสนงามของชุมชนร่วมกัน

โดยหลักๆ เราจะลงไปเกี่ยวข้าวในแปลงนาของชาวบ้านที่เต็มใจให้เราลงแขกเกี่ยวข้าว  นิสิตและเจ้าหน้าที่จะไม่ขอรับค่าตอบแทนที่เป็น "ค่าจ้างรายวัน"  แต่ถ้าจะให้ก็ขอรับเป็น "ข้าวเปลือก" แทน  ซึ่งจะให้มากให้น้อยก็ให้เป็นไปตามศรัทธา  ส่วนข้าวเปลือกที่ได้มานั้น  จะนำมารวบรวมไว้ เพื่อทำพิธี "สู่ขวัญข้าว" แล้วส่งมอบให้ชาวบ้านไปตั้งเป็น "กองทุนข้าว" หรือ "ธนาคารข้าว" ให้ชาวบ้านหยิบยืมไปใช้เป็น "พันธุ์ข้าว" ในการเพาะปลูกต่อไป


ไม่เพียงเท่านั้นหรอกนะครับ  เรายังจะมีกิจกรรม "หมอลำขอข้าว" ด้วยเช่นกัน  โดยการนำนิสิตลงสู่ชุมชนเพื่อแสดงดนตรีในรูปแบบต่างๆ ให้ชาวบ้านได้ดูได้ชม เพื่อแลกกับข้าวเปลือกตามแรงศรัทธา  ซึ่งก็เป็นกระบวนการหนึ่งในการช่วยเหลือ "ชาวนาผู้ประสบภัยฯ" ในครั้งนี้

...


ล่าสุดวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา-
ผมนัดพบแกนนำของนิสิต  ทั้งที่เป็นองค์กร และนิสิตอิสระที่ไม่ขึ้นตรงต่อองค์กรใดๆ มาร่วม "โสเหล่" กันแบบกันเองๆ

กรณีดังกล่าวเสมือนการ "ปฐมนิเทศ" ดีๆ นั่นเอง  เพียงแต่เน้นการ "สนทนาร่วม" (โสเหล่) และการสร้างแรงบันดาลใจเป็นหลักสำคัญ

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าการนัดหมายมีความคลาดเคลื่อน  ทั้งการสื่อสารและภารกิจการสอนของผมเอง  พลอยให้นิสิตส่วนใหญ่เดินทางกลับไปทำธุระส่วนตัว ได้แต่ฝากฝังผู้แทนมาร่วมโสเหล่กันแทน 

หลักๆ ในวันนั้น- ผมนำวีดีทัศน์ที่เกี่ยวกับกระบวนการ "ทำนา" มาให้นิสิตได้ดู  พอเสร็จจากนั้นก็ชวนให้นิสิตได้บอกเล่าถึงความรู้สึกที่มีต่อเรื่องราวที่ได้ชมอย่างสดๆ ร้อนๆ ...พร้อมๆ กับการขยับรุกเสริมพลังเชิงบวกด้วยเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับตำนาน "ข้าว" ที่ผมศึกษาและเก็บเกี่ยวมาโดยสังเขป  เช่น ตำนานควายสอนคนปลูกข้าว,สุนัขเก้าหางปลูกข้าวให้คนกิน, ตำนานอันเป็นคติชนของข้าวก่ำที่เป็น "พญาแห่งข้าว", เมล็ดข้าวในตำนานไตรภูมิพระร่วง, ประวัติศาสตร์ความเก่าแก่ของข้าวเหนียวที่พบในอีสาน,ความสัมพันธ์ของพระแม่โพสพกับข้าวในท้องทุ่ง...


ครับ,เรื่องราวที่ว่านั้น  ผมไม่เน้นการบรรยาย หากแต่เล่าเรื่องง่ายๆ เพื่อให้ทุกคนได้มี "องค์ความรู้" แบบสังเขปๆ  จะได้มีแรงผลักจากภายในเพื่อออกเดินทางค้นหา "ขุมทรัพย์" (ความรู้) ด้วยตัวเอง 

นอกจากนั้นยังมอบหมายให้คุณสุริยะ สอนสุระ  ได้พบปะพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางการลงเกี่ยวข้าวในชุมชน พร้อมๆ กับการชี้แจงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น พื้นที่ในการเกี่ยว,กำหนดการ,จำนวนนิสิตที่ลงชื่อร่วมขับเคลื่อนในครั้งนี้

อย่างไรก็ดีเป็นที่น่าสังเกตว่าทั้งสื่อวีดีทัศน์และเรื่องเล่าที่ผมนำมาสื่อสารนั้น  ทั้งนิสิตและเจ้าหน้าที่ก็ล้วนไม่เคยฟังและไม่เคยดูมาก่อนทั้งสิ้น  จึงพลอยให้ผมอุ่นใจและสุขใจเป็นอย่างมาก  เพราะถึงแม้ผมจะไม่รู้มาก (รู้ลึก) ในเรื่องเหล่านั้น  แต่ก็ยังเก็บกำเอาสาระในบางมุมมาเป็น "โจทย์" แบบองค์รวมของการเรียนรู้ในครั้งนี้ได้อย่างไม่เคอะเขิน

เช่นเดียวกันนั้น  ผมเองก็ถามนิสิตแบบ "เปิดเปลือย" เหมือนกันว่า "เชื่อหรือเปล่าว่าชาวนา คือคนสำคัญของประเทศชาติ" 
ซึ่งคำตอบที่ได้มาก็คือ "เชื่อ...."

ถัดจากนั้นก็ถามต่อว่า "เชื่อเพราะอะไร...เชื่อเพราะเรียนมา เชื่อเพราะได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ ..เชื่อเพราะเกิดในครอบครัวชาวนา...ฯลฯ"

แน่นอนครับ  ผมไม่รอให้นิสิตได้ตอบคำถามนี้  หากแต่ผูกปมทางความคิดเข้าไปอีกเกลียวว่า "หลายคนเป็นลูกชาวนา จึงเชื่อว่าชาวนาคือบุคคลสำคัญ ความเชื่อที่ว่านั้นเกิดจากวิถีของครอบครัวเป็นที่ตั้ง แต่จะมีสักกี่คนที่เชื่อเพราะได้ลงมือทำนามาด้วยตนเอง..."

ครับ,ประเด็นนี้นิสิตเงียบกริบ...!!!

ดังนั้น  ผมจึงขยับรุกเพื่อปลดเปลื้องความเงียบนั้นด้วยตนเองในทำนองว่า "...นี่แหละคือโอกาสของการจะได้พิสูจน์ด้วยตนเองว่าชาวนายิ่งใหญ่ด้วยกระบวนการใด และเพราะเหตุใดท้องทุ่งจึงเป็นห้องเรียนอันแสนกว้างใหญ่ของมนุษย์"



และท้ายที่สุดก่อนลาจากในค่ำคืนนั้น  ผมได้ให้นิสิตเขียนความรู้สึกที่ได้จากการเรียนรู้ร่วมกันในวันนี้  รวมถึงพันธะสัญญากับตัวเองว่า "ถัดจากนี้ไป จะทำอะไรบ้าง..."

  • จะดำเนินชีวิตโดยเคารพต่อภูมิปัญญาชาวบ้าน
  • จะทำความดีเพื่อถวายในหลวง
  • พัฒนาตนเองให้ดีขึ้น
  • นำความรู้ไปช่วยเหลือสังคม
  • จะกินข้าวอย่างรู้ค่า...
  • จะมองโลกให้กว้างขึ้น และลงมือเรียนรู้ผ่านการทำจริงเหมือนชาวนา
  • จะรักและเทิดทูนชาวนา
  • จะกลับไปศึกษาภูมิปัญญาหมู่บ้านตัวเอง
  • ปกป้องแผ่นดินแม่

...

 

หมายเลขบันทึก: 468864เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2011 09:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 สิงหาคม 2017 09:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
  • สวัสดีค่ะ
  • จะลงแรงเกี่ยวข้าว...แลกข้าว
  • จะเล่นหมอลำ...แลกข้าว
  • แล้วนำไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม...
  • ลำดวนเห็นว่าเป็นการสอนและปลูกฝังที่งดงาม...
  • ไม่จำเป็นต้องมีเงินเท่านั้นจึงจะช่วยได้...
  • การช่วยเหลือที่แลกด้วยแรงใจ แรงกาย...
  • ที่สำคัญความศรัทธาเชื่อมั่น...ที่ปลูกฝังไว้...ขอชื่นชมอย่างยิ่งค่ะ

"......จะดำเนินชีวิตโดยเคารพต่อภูมิปัญญาชาวบ้าน

  • จะทำความดีเพื่อถวายในหลวง
  • พัฒนาตนเองให้ดีขึ้น
  • นำความรู้ไปช่วยเหลือสังคม
  • จะกินข้าวอย่างรู้ค่า...
  • จะมองโลกให้กว้างขึ้น และลงมือเรียนรู้ผ่านการทำจริงเหมือนชาวนา
  • จะรักและเทิดทูนชาวนา
  • จะกลับไปศึกษาภูมิปัญญาหมู่บ้านตัวเอง
  • ปกป้องแผ่นดินแม่......"

อาจารย์พนัสคะ

• บันทึกนี้ อ่่านเพียงคร่าวๆ รู้สึกหัวจิตหัวใจถูกบีบรุนแรงเหลือเกิน

• ขออนุญาตระบายความในใจ ในพื้นที่นี้นะคะ

• พี่ชายสองคน เสียชีวิตไล่ๆกันด้วยโรคไหลตาย

ครอบครัวเรามัก "โสเหล่" แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันกลางทุ่ง และวงข้าว

ห้องเรียนนั้น เหมือนจะหายไป

ไม่คาดคิดว่า จะมีใคร "นิรมิต" ฝันของเราแบบ "เกินจินตนาการ" เช่นนี้ได้

(หมายถึง ในพื้นที่อันเป็นท้องถิ่น ที่มิใช่สังคมอุดมการณ์เช่นที่ตนเองเข้าไปฝังตัวอยู่นะค่ะ)

• ดิฉันเป็นคนแรกของหมู่บ้านเล็กๆที่มีโอกาสเรียนต่อระดับชั้นมัธยม

• จึงเป็นความหวังของชุมชน หลายคนเรียกขาน "คุณครู,คุณหมอ" สุดแต่ใครอยากให้เป็นอะไร

•ช่วงอยู่ม.ปลาย มีงานลงแขกดำนาในวันเสาร์พอดี เรามีหน้าที่หาบกับข้าวกับปลาไปส่ง

• ขณะพักกินข้าว เกิดอยากลองวิชาไถนา ลุงป้า น้าอา จึงชี้ไปที่เจ้าทุยตัวที่ "งามสง่า เป็นงาน"ที่สุดในหมู่บ้าน

• จับเจ้าทุยเทียมไถ และแล้วอาจารย์ทุยก็ลากเราไปรอบทุ่งได้สามรอบ เริ่มรอบที่สี่ เจ้าทุยฟาดหางเล็กน้อย เหมือนส่งสัญญาณว่า รำคาญเกินจะพาเดินต่อ ก่อนจะล้มตัวลงนอนเขลง ปล่อยเราเคว้งกลางท้องนาซะงั้น เสียงลุงป้าน้าอา เฮฮาขำขันกันลั่นทุ่ง แต่วินาทีนั้น เราได้คำตอบชัดเจนว่า "การศึกษา พาเราออกห่างจากหมู่บ้านยิ่งขึ้นเรื่อยๆเสียแล้ว"

• นั่นคือจุดหักเห ที่หันหลังให้การศึกษาอย่างสิ้นเชิง เที่ยวตามฝันด้วยหนึ่งสมองสองขาตน จนพบแล้วหละ...โครงสร้าง...ใช่เลย แต่รายละเอียดภายใน ต้องจัดสรร บูรณาการเดินหน้า ฝ่าอุปสรรคอันระอุ ทุกย่างก้าว ที่วางเท้า...

• หลายๆครั้ง ที่อยากปลีกตน ไปนิรมิตฝัน ที่มิต้องผ่านหินเกร็ดหินกรวดให้ปวดเจ็บมากมายเช่นวันนี้ แต่ผู้รู้มักให้สติเสมอ "จะมีคนที่เก่งกว่าเรา ไปทำ ไม่ต้องห่วง" จึงยังประคองตนอยู่ใน "ดินแดนคนจนที่รุ่มรวยหวัง"อย่างต่อเนื่องเสมอมา

• ขอบคุณเหลือเกิน ขอบคุณอย่างยิ่ง ขอบคุณทุกๆสิ่ง ที่สร้างให้มี "ครูพนัส"ในแผ่นดินนี้

• จากหัวใจอันรู้สึกลึกซึ้ง ในสิ่งที่ท่านทุ่มเท ทุกหยาดเหงื่อ แรงกายแรงใจค่ะ

  • เช่นเดียวกันนั้น  ผมเองก็ถามนิสิตแบบ "เปิดเปลือย" เหมือนกันว่า "เชื่อหรือเปล่าว่าชาวนา คือคนสำคัญของประเทศชาติ"  ซึ่งคำตอบที่ได้มาก็คือ "เชื่อ..." ถัดจากนั้นก็ถามต่อว่า "เชื่อเพราะอะไร...เชื่อเพราะเรียนมา เชื่อเพราะได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ ..เชื่อเพราะเกิดในครอบครัวชาวนา...ฯลฯ" แน่นอนครับ  ผมไม่รอให้นิสิตได้ตอบคำถามนี้  หากแต่ผูกปมทางความคิดเข้าไปอีกเกลียวว่า "หลายคนเป็นลูกชาวนา จึงเชื่อว่าชาวนาคือบุคคลสำคัญ ความเชื่อที่ว่านั้นเกิดจากวิถีของครอบครัวเป็นที่ตั้ง แต่จะมีสักกี่คนที่เชื่อเพราะได้ลงมือทำนามาด้วยตนเอง..."

  • ในอดีตที่อาจารย์แม่ทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายแนะแนว 10 ปีเศษ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์นักศึกษาที่ยื่นใบสมัครขอรับทุน (ช่วงนั้นยังไม่มีโครงการกู้ยืมเงินเป็นค่าเล่าเรียน) พบว่า นักศึกษาซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกชาวนา ทุกคนไม่รู้ว่าที่บ้านมีนากี่ไร่ มีวัว/ควายกี่ตัว ได้ผลผลิตปีละเท่าไหร่ ได้ขายข้าวไหม คุ้มทุนหรือไม่ ข้าวมีกินชนปีไหม เงินที่ผู้ปกครองให้ใช้จ่ายเป็นค่าเล่าเรียนได้มาจากไหน ครอบครัวมีหนี้สินหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน กู้นอกหรือในระบบ เสียดอกเบี้ยอัตราเท่าไหร่ ฯลฯ

  • เมื่อถามว่า ได้ช่วยครอบครัวทำนาไหม แทบทุกคนตอบว่า ไม่ได้ช่วยเพราะผู้ปกครองไม่ให้ทำ ให้เรียนหนังสืออย่างเดียว เพราะฉะนั้นนักศึกษาส่วนใหญ่ที่เป็นลูกชาวนาจึง "ไม่ได้ลงมือทำนามาด้วยตนเอง" และผู้ปกครองมักจะปลูกฝังค่านิยม "การเป็นเจ้าคน นายคน" ไม่ต้องการให้ลูกๆ ลำบากเหมือนตน นักศึกษาจึงรับรู้ว่า คนที่มีอาชีพทำนาไม่ได้รู้สึกภาคภูมิใจในอาชีพของตน เห็นว่าเป็นอาชีพที่ยากจน ต้อยต่ำ จึงหาทางที่จะให้ลูกๆ ได้เล่าเรียนสูงๆ เพื่อจะได้ไม่ลำบากและยากจนเหมือนพ่อแม่

  • การที่ลูกแผ่นดินได้ใช้กระบวนการ เพื่อปลูกเร้าให้นิสิตนักศึกษา เห็นคุณค่าของชาวนา จึงเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่ง แต่ก็อยากฝากประเด็นการปลูกฝังค่านิยมของผู้ปกครอง ที่เป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม ดังที่กล่าวมาแล้วด้วย นะคะ

  • ตอนไปมหาสารคามบ้านเม็กดำมีกลุ่มหมอลำแลกข้าว
  • ตอนแรกก็งง ว่าคืออะไร
  • ดีใจที่นิสิตจะได้เรียนเรื่องชุมชนโดยเฉพาะเรื่องข้าวครับ

แอบเข้ามาศึกษาองค์ความรู้เดิมๆ

ที่รู้ว่าชาวนา สำคัญที่สุดคนหนึ่ง

ทั้งๆที่พี่เองก็ไม่เคยลงมือ ได้ทำจริง

.........

ตั้งแต่ฮับผิดชอบเป็นเจ้าคนนายคนมีงานนักขึ้น

บ่อได้เข้ามาทัก มาอู้โตยเมิน

ยังคึ๊ดเติงหาจั๊ดนัก

สบายดีก่อเจ้า

อาจารย์ไม่เพียงช่วยชาวนาให้มีข้าวปลูกหลังน้ำท่วม แต่ได้ช่วยจุดแสงสว่างให้จิตวิญญาณคนรุ่นหนุ่มสาวให้เข้าใกล้ ให้ได้สัมผัส ลงมือใช้ความรู้ที่เป็นรากของตนเอง

เป็นการทำคุณตอบแทนแผ่นดินอย่างน่านับถือจริงๆ ดีใจที่แผ่นดินมีคนอย่างอาจารย์เป็นพลเมืองและดีใจที่ได้รู้จักคนดีของแผ่นดินเช่นอาจารย์ค่ะ

รักษาสุขภาพด้วยนะคะ

ได้ข้อคิดสะกิดใจ

เชื่อว่าชาวนาสำคัญต่อชาติเพราะอะไร

..มีใครเชื่อเพราะได้ลงมือเกี่ยวข้าวด้วยตนเอง ?

ร่วมกับ ความเห็นของคุณหญ้า@แสนฝน

..

น่าเสียดาย หากการศึกษาทำให้คนหันหลังให้กับสังคม ส่วนรวม

ทว่า เราก็ไม่สามารถต้านกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

จาก สังคมเกษตรกรรม สู่อุตสาหกรรม สู่ยุคข่าวสารข้อมูล

จาก งานใช้แรง สู่งานใช้ทักษะ สู่งานใช้ความรู้จินตนาการ

  • อ่านบันทึกอันทรงคุณค่าบันทึกนี้อย่างจดจ่อ
  • มีคำกล่าวหลายคำที่สะดุดหูสะดุดตาน่าสนใจ
  • โดยเฉพาะกิจกรรม"เกี่ยวข้าวใหม่ กินปลามัน..
  • คืนเมล็ดพันธุ์ข้าวสู่ชาวนาผู้ประสบภัย"
  • ช่างคล้องจองไพเราะเสียนี่กระไร..ชอบมากค่ะ
  • ที่น่าประทับใจอีกอย่างคือการผูกปมทางความคิด
  • ไม่รอให้นิสิตตอบแต่ขยับรุกปลดเปลื้องความเงียบ
  • จึงขออนุญาตนำไปเป็นต้นแบบการสอนคุณภาพ
  • ให้นักเรียนมัธยมศึกษาที่จะก้าวผ่านนาวาไม่กี่เดือนข้างหน้า
  • และเผื่อไว้สำหรับรุ่นต่อมา...ด้วยความเคารพค่ะพี่พนัส...^^

 

ยังแหลมคมด้วยปัญญา และนำพาด้วยหัวใจ เหมือนเคยเลย อ.พนัส..เจ๋ง

* มาร่วมชื่นชมบันทึกสะท้อนความสำคัญของชาวนาและบุญคุณของข้าวที่เปิบทุกคำตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่ค่ะ

* หลายมหาวิทยาลัยได้จัดกิจกรรมปลูกจิตสำนึกเช่นนี้แก่นักศึกษาบนแปลงนาสาธิตด้วยเช่นกัน

* พี่ใหญ่เคยไปร่วมด้วยทุกขั้นตอนจนถึงการกินข้าวที่ปลูกเอง

* ได้ซึมซับแรงบันดาลใจดีๆมากมายค่ะ

สวัสดีค่ะ

 ชื่นชมมากค่ะ และอยากชมหมอลำขอข้าวมาก หากมีภาพนำไปฝากพี่ดาบ้างนะคะ

 

 

  • ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจ..ให้ด้วยคนครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท