ถอดบทเรียนเพื่อพัฒนางาน: อาสาสมัครและ จนท. ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่น้ำท่วม มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN)


ช่วงเดือนที่ผ่านมา มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN)
ได้ทำภาระกิจกู้ภัยน้ำท่วม รายละเอียด คลิก
...
ทำมาซักระยะหนึ่งละ เจ้าหน้าที่ และ อาสาสมัครก็มีโอกาส ได้มานั่งถอดบทเรียนกัน
เราผิดพลาดตรงไหน จะพัฒนางานยังไง แก้ไขข้อบกพร่องตรงไหน
...
ในช่วงต้นๆ ด้วยสถานการณ์ที่วุ่นวาย และความเร่งด่วนของภาระกิจ
ทีมกู้ภัยของเราเลยไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการเรียนรู้ซักเท่าไหร่
อารมณ์การทำงานก็คือ หาทุน จัดของ ขนขึ้นรถ แล้วก็บุกไปตายเอาดาบหน้า
จะเข้าพื้นที่ได้ไม่ได้ไม่รู้ จะเอาอะไรไปแจกใครก็ไม่รู้ บุกไปก่อน หัวหน้าทีมว่าไงก็ว่าตามกัน
ประเมินกัน สดๆ
...
การพัฒนางานในช่วงนั้น ก็มีแค่การคุยกันในวงแคบๆ ระดับหัวหน้าทีม
ไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเป็นระบบ
จริงๆ ไม่มีแม้แต่การสรุปงานด้วยซ้ำ เพราะกลับมาก็ดึก รุ่งขึ้นก็ไปใหม่

ด้วยเหตุดังกล่าว การทำงานจึงพบปัญหาเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมา
จนในที่สุด เราก็ต้องหาเวลามาถอดบทเรียนกัน
เพื่อสร้างระบบงานที่ตั้งอยู่บนฐานความรู้ มีการพัฒนาและลดข้อผิดพลาด

...
Large_brain
...

ดังนี้ครับ

ประเด็นที่หนึ่ง: การสร้างทีม
ย้อนกลับไป เราสร้างทีมอาสาสมัคร โดยใช้กิจกรรมค่าย
* รายละเอียดของค่ายที่เราใช้สร้างอาสาสมัคร คลิก
 
เราออกแบบค่ายโดยใช้อาสาสมัครเป็นศูนย์กลาง
เรียกมาประชุม ถามความสมัครใจ และให้ออกแบบเอง
อาสาอยากทำค่ายแบบไหน ต้องเตรียมอะไรบ้าง
อาสาต้องเตรียมเองทั้งหมด รวมถึงการประสานงานและอื่นๆ
โดยมีเจ้าหน้าที่มูลนิธิเป็นเพียงพี่เลี้ยง

ปัญหาที่เราพบก็คือ
1. ทักษะการทำงานของอาสาสมัครที่เข้ามาออกแบบกิจกรรม
   - เนื่องจากไม่ได้มีประสบการณ์ด้านนี้
     ทำให้กิจกรรมหลายๆ อย่าง ไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่หวัง

   - ระบบการเคลื่อนไหวของงานยังสะดุดในหลายๆ ครั้ง
     เพราะระบบงานไม่รัดกุม บุคคลแต่ละตำแหน่งบางครั้งลืมบทบาท
  
ประเด็นนี้นะครับ สาเหตุจริงๆ มันเกิดตั้งแต่เจ้าหน้าที่ที่ออกแบบโครงการ
คือเราไม่ได้สอนงานอาสาสมัคร ไม่ได้มอบชุดความรู้ที่มากพอ
เมื่ออาสาสมัครทำงานจึงพบปัญหา

ซึ่งตรงนี้ก่อนถึงโครงการหน้า ทางมูลนิธิคงต้องออกแบบชุดความรู้และระบบการเรียนรู้
เพื่อให้อาสาสมัครเข้ามาเรียนรู้ ก่อนทำงานจริง
ตรงนี้รวมถึง ระบบพี่เลี้ยงที่จะคอยดูการทำงานที่ใกล้ชิดมากขึ้น
เพื่อสร้างมาตรฐานให้มากกว่าเดิม

2. ความเข้าใจระหว่างเยาวชนผู้เข้าร่วม กับอาสาสมัคร
        ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สะท้อนมาจากทีมงานอาสาสมัคร 
        ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ไม่เคยคิดมาก่อน

เช่น เวลาเราพบเยาวชนที่มาเข้าร่วม พกบุหรี่หรืออาวุธ
เราก็ยึดมาเลย บอกเด็กๆ แค่ว่าห้ามนำเข้ามา
แต่เราไม่ได้อธิบายให้เค้าเข้าใจว่า ทำไมต้องห้าม บุหรี่ไม่ดีอย่างไร
อาวุธอันตรายแค่ไหน ซึ่งถ้าเราอธิบายจนเด็กๆ เหล่านี้เข้าใจ
เราอาจสามารถเปลี่ยนหรือลดพฤติกรรมเสี่ยงของเด็กๆ เหล่านี้ได้อย่างยั่งยืน

เวลานอน เราก็แค่แจ้งให้เด็กๆ นอน โดยใช้อำนาจของความเป็นผู้จัดไปสั่งการ
ที่ผ่านมาเราไม่ได้อธิบายอะไรเลย ว่าทำไมต้องนอน ทำไมถึงห้ามเล่น
ทำไมต้องเข้มงวด ตรงนี้มีการสะท้อนว่า ถ้าเราอธิบายกับเค้าให้เข้าใจถึงเหตุผล
ให้สิทธิเค้าได้ซักถามต่อรอง สร้างเงื่อนไขข้อตกลง ทีมผู้จัดก็จะจัดการง่ายขึ้น
ใช้ทรัพยากรน้อยลงในการดูแล ประโยชน์ตรงนี้น่าจะรวมถึง
การปลูกฝังเด็กๆ ให้เชื่อในหลักเหตุผล มากกว่าอำนาจนิยมด้วย
...


...

---------------------------------------------------
ประเด็นที่สอง: การลงพื้นที่ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม

ปัญหาที่เราพบก็มีมากนะครับ ไม่รู้จักพื้นที่ นำของไปแล้ว ไม่รู้จะนำไปให้ใคร
จะมอบให้ ศปภ.ก็ ... เห้ออออ
เราก็เลยร่วมกันออกแบบแนวทางดังนี้ครับ
1. ก่อนลงพื้นที่ ต้องประสานงานหน่วยงานท้องถิ่น ประสานเรื่องเส้นทาง 
    ควรไปแจกของที่ไหน ที่ไหนยังขาดแคลน
        
- พื้นที่นั้นขาดแคลนอะไร (ประเมินความต้องการของพื้นที่) 
- ถ้ามีคนนำทางด้วยก็ดี เพราะหลายๆ ครั้งเราเข้าไปในพื้นที่ที่ทหารไม่เข้าไปแล้ว
  ต้องเดินลุยน้ำ ใช้เรือ ว่ายน้ำเข้าไปเอง บางครั้งก็กลัวหลงทาง

2. อุปกรณ์ประจำตัวของบุคคลที่จะลงพื้นที่ เช่น เชือก ไฟแช็ค ไฟฉาย แผนที่
    วิทยุสื่อสาร เสบียงประจำตัว เบอร์โทรฉุกเฉิน (เขียนติดตัวไว้) บัตรประชาชน
    เพราะการลงพื้นที่แต่ละครั้ง ใช้เวลาหลายชั่วโมง เดินทางไกล
    ของเหล่านี้จำเป็นต่อการทำงาน และเป็นการรับมือเบื้องต้นกับความเสี่ยง

3. การจัดตำแหน่งของบุคคลในทีม เช่น ฝ่ายประสานงาน ฝ่ายสวัสดิการ
    ฝ่ายพยาบาล หัวหน้าทีม และอื่นๆ เพื่อความง่ายในการแบ่งบทบาทการทำงาน

4. แนวทางการทำงาน ต้องมีการกำหนดเวลาให้ชัดเจน อยู่ในพื้นที่ได้ไม่เกินกี่โมง
    ถ้าพลัดหลงกันและติดต่อกันไม่ได้ควรจะมาพบกันจุดไหน มีคนบาดเจ็บ ต้องทำอย่างไร

5. การสรุปงาน เนื่องจากกว่าเราจะกลับถึงสำนักงานก็ค่ำ บางวันดึก หลายๆ คนก็เหนื่อยเพลีย
    การสรุปงานตอนนั้นจึงไม่เหมาะสม เราจึงกำหนดให้ทีมงานมาคุยกันตอนเช้าอีกวัน
    เพื่อสรุปงาน เว้นแต่ว่ามีประเด็นเร่งด่วน

ทั้งนี้ เพื่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
...


...

----------------------------------------------------------------------

ประเด็นที่สาม: การระดมทุน (ในกรณีนี้ หมายถึงการลงชุมชน)

การระดมทุนในชุมชนต่างๆ ที่ผ่านมา เราทำกันอย่างรีบร้อน ตามความเร่งด่วนของสถานการณ์
หลังจากที่ได้คุยกัน เราได้กำหนดรูปแบบ ดังนี้

1. ควรมีการศึกษาบริบทของชุมชนที่จะเข้าไป ระบุจุดที่ควรเข้า ไม่ควรเข้า
    ประสานงานตัวแทนชุมชนเป็นผู้นำเข้าไป

2. ควรมีเสื้อ หรือ สัญลักษณ์ของทีม เพื่อความไว้วางใจ

3. กำหนดลักษณะการพูด ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

4. ทำบอร์ดแสดงภาพถ่ายที่เราได้ไปลงพื้นที่มาแล้ว

5. ทำ Spot วิทยุ เพื่อนำไปเปิดในชุมชน หรือ เปิดระหว่างที่ทีมงานกำลังลงพื้นที่

6. เพิ่มจำนวนกล่องรับบริจาค

7. สร้างจุดรับบริจาคในชุมชนโดยให้ผู้นำ หรือ ตัวแทนชุมชน เป็นผู้ดูแล

8. สื่อภาษาต่างประเทศ
...


...

------------------------------------------------------------
ทั้งหมดนี้ เป็นแนวทางที่เราจะนำไปปฏิบัตินะครับ
การถอดบทเรียนรอบหน้าจะเป็นอย่างไร ยังไงจะนำมาเขียนบันทึกให้อ่านกันครับ

รงค์รบ. ปืน
หัวใจที่เต้นเพื่อผู้อื่น เป็นหัวใจที่น่ายกย่อง

หมายเลขบันทึก: 466640เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2011 17:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 18:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะ

"หัวใจที่เต้นเพื่อผู้อื่น เป็นหัวใจที่น่ายกย่อง"

...... ขอมายกย่อง ด้วยใจค่ะ

สาธุ เพียงมีใจก็ดีแล้วค่ะ ยิ่งถอดบทเรียนไว้ ก็เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นค่ะ

เหมือนจุดเริ่มของ r2r ในภาวะวิกฤติเลยค่ะ

ขอเป็นกำลังใจให้อาสาสมัครที่มีจิตอาสาทุกคน ขอให้มีพลังใจในการดูแลช่วยเหลือผู้ตกทุกข็ได้ยากจากมหาอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่นี้ ครับ

ขอบคุณมากครับ ทุกท่าน ^^

มาให้กำลังใจนะครับ

แล้วจะมาอ่านต่อครับ

ขอบคุณครับ จะทำให้ดีที่สุด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท