หนึ่งคณะหนึ่งหมู่บ้าน : หอมกลิ่นกฐินโบราณ (สโมสรนิสิตคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม)


กฐินโบราณที่ทำขึ้นนั้น เน้นภูมิปัญญาดั้งเดิมโดยแท้ ตั้งแต่ตัดเย็บจีวรจากผ้าผืนสีขาวๆ สู่การย้อมด้วยสีจากเปลือก หรือแก่นไม้

(๑)

      สัปดาห์ที่แล้วมีโอกาสได้จับเข่าคุย หรือ “โสเหล่” กับน้องๆ และเพื่อนร่วมงานแบบสบายๆ  
     เรื่องที่คุยกันเป็นเรื่อง “กฐินโบราณ”  ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ 
     หลักๆ คือการทบทวนความเข้าใจในเรื่องกฐินที่กำลังรออยู่เบื้องหน้า  รวมถึงการทบทวน “บทเรียน” ของการทำงานเมื่อปีที่แล้ว

 

 

(๒)

          จริงๆ ในความเข้าใจของผมและทีมงานในรอบ ๓ ปีนั้น  ผมเข้าใจว่ากฐินที่จัดขึ้นนั้น คือ “กฐินแล่น” (จุลกฐิน)  ประกอบด้วยสาระสำคัญคือทำวันเดียวให้เสร็จสรรพ  ทั้งตัดเย็บจีวร  ย้อมสีจีวรและทอดถวาย  ซึ่งกระบวนการดั้งเดิมก็คือ “ทำมือ” ล้วนๆ ไม่มีจัดซื้อแบบสำเร็จรูปไปทอดถวายเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

          กระบวนการ “ทำมือ” ที่ว่านั้นเป็นกระบวนการดั้งเดิมแต่โบราณกาล  ผมจึงเรียกติดปากเป็นวาทกรรมของกิจกรรมนี้ว่า “กฐินโบราณ”  และเคยได้พาน้องๆ ทีมงาน  หรือแม้แต่นิสิตได้ฟื้นฟู “กฐินโบราณ”  ในมิติที่ตนเองเข้าใจมาแล้ว ๓ ครั้ง
           และทุกครั้งที่จัด ก็จะเป็นการจัดบนพื้นฐานของการเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้าน  ซึ่งก็เป็นที่น่าแปลกประหลาดว่า ๓ ครั้งที่ผ่านมา  หมู่บ้านที่เราปักกฐินโบราณนั้น  เรียกได้ว่ายังไม่เคยจัดกฐินโบราณเลยสักครั้ง

 

กฐินโบราณที่ผมและทีมงานพยายามฟื้นฟูและอนุรักษ์นั้น  ใช้พลังใจอย่างมหาศาล เตรียมงานกันเพียงไม่กี่วัน ใช้วิถี “ใจนำพา ศรัทธานำทาง”  เป็นที่ตั้ง   อีกทั้งชุมชนก็ต้องมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ร่วมกัน  และพร้อมที่จะทอดกฐินในแบบโบราณๆ...

ครับ  ผมมีวิธีการคิดที่ซ่อนอยู่ในนั้นในหลายเรื่อง  เป็นต้นว่า กฐินโบราณที่ทำขึ้นนั้น  เน้นภูมิปัญญาดั้งเดิมโดยแท้  ตั้งแต่ตัดเย็บจีวรจากผ้าผืนสีขาวๆ สู่การย้อมด้วยสีจากเปลือก หรือแก่นไม้ ..

กระบวนการเช่นนั้น  เป็นกลไกในการชวนให้ชาวบ้านได้หวนกลับไปสำรวจ “ทุน” อันเป็น “คลังความรู้” ของตัวเองว่าหลงลืมเรื่องเหล่านี้ไปหรือยัง  เป็นทั้งการนำพาให้ผู้คนในชุมชนได้หันกลับไปยกย่องเชิดชูคนแก่เฒ่าผู้เป็นปราชญ์ที่กำลังถูกหลงลืม  ตลอดจนเป็นกลไกของการนำพาชาวบ้านให้กลับไปศึกษานิเวศวัฒนธรรม และป่าชุมชนไปในตัว


นอกจากนั้น ยังเน้นกิจกรรมที่ไม่ฟุ้งเพ้อฟุ่มเฟือย  ไม่มีการล้มวัวล้มควาย  เน้นการกินปลาเป็นหลัก กินผักเป็นพื้น  ใครมีข้าว  มีผัก มีหอย มีผลหมากรากไม้อะไรก็นำมาสมทบแบบพึ่งพากันและกัน  และนั่นยังรวมถึงการผ่อนเบาในเรื่องเหล้ายาปลาปิ้งไปในที

ครั้นตกกลางค่ำกลางคืน ก็ตัดทอนมหรสพและแสงสีเสียงใหญ่ๆ โตๆ ลง  ด้วยการหันกลับไปฟื้น “งานวัด” แบบเรียบง่ายขึ้นแทน   มีกิจกรรมสอยดาว  รวมถึงมีรำวงชาวบ้านที่นิสิตและชาวบ้านพร้อมใจกันเป็น “นางรำ” และ “นักร้อง” อย่างไม่เขินอาย  โดยเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้รับมาจะไม่หักค่าใช้จ่ายแม้แต่แดงเดียว  แต่จะนำไปถวายวัด หรือไม่ก็มอบให้กับชุมชนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามเห็นสมควร

เชื่อหรือไม่ครับ  ในแต่ละครั้งเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วมีเงินถวายวัดไม่เคยต่ำกว่า ๔ หมื่นบาทเลยสักครั้ง  ต่างจากกฐินใหญ่ๆ ที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน  ได้เงินมาเยอะแยะ แต่พอหักค่าใช้จ่ายแล้ว เหลือเงินอยู่เพียงน้อยนิด  แถมยังเหนื่อยอย่างมากโข  แต่การงานของผมนั้น สนุก เรียบง่าย ...ได้ความรู้ไปพร้อมๆ กัน  เรียกได้ว่าครบถ้วนตามสไตล์ถนัดคือ “บันเทิง เริงปัญญา”

  

 

 (๓)

 

การพูดคุยกันในวันนั้น  ผมเปิดประเด็นด้วยการชวนเชิญในแต่ละคนพูดถึงความเป็น “กฐิน” ในมุมมองและความเข้าใจของแต่ละคน  ทั้งในมิติของแก่นรากทางประวัติศาสตร์  สภาพปัจจุบันของกฐิน หรือแม้แต่กระบวนการของ “กฐินโบราณ”  ที่ได้ร่วมขับเคลื่อนมาด้วยกัน

ในวง “โสเหล่”  กันมีเพียงไม่กี่คนที่พูดถึงเรื่องเหล่านี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม  ซึ่งผมเองก็ไม่ได้ผิดหวัง หรือแต่พิพากษาใดๆ กับความรู้ หรือคลังความรู้ที่แต่ละคนได้สะท้อนมา  ตรงกันข้ามกลับบอกเล่าถึงรายละเอียดของความเป็น “กฐิน” ให้แน่นหนักอีกรอบประมาณว่า... 

        “...เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง  ออกพรรษาก็เข้าสู่กฐินศรัทธา, กฐิน เป็นคำ  บาลีแปลว่า “ไม้สะดึง”  อันเป็นกรอบไม้ที่คนในสมัยก่อนใช้ขึงยึดเพื่อเย็บผ้า โดยในอดีตคนเราจะเย็บผ้าหลายๆ ชิ้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  วิธีเย็บจะเย็บเป็นตะเข็บเหมือน “คันนา” (พระสงฆ์เรียกว่าขันธ์) ผ้าที่เย็บผ่านไม้สะดึงนี้เรียกว่า “ผ้ากฐิน”  ซึ่งแรกเริ่มเป็นกิจของสงฆ์  โดยเอาผ้าที่ไม่มีเจ้าของ หรือผ้าที่เกิดจากการบังสุกุลมาเย็บและย้อมสีเป็นจีวร   ต่อเมื่อชาวบ้านเกิดความเลื่อมใสศรัทธา  จึงขันอาสามาเย็บและย้อมจีวรถวายพระเอง จนเป็นที่มาของการทอดกฐินสืบมาจนทุกวันนี้....”

 

        นั่นคือสาระโดยสังเขปที่ผมนำไปบอกเล่าเพื่อ “ทบทวน” ความรู้ของแต่ละคนอีกรอบ  เพื่อให้มั่นคงต่อวิถีของการขับเคลื่อนเรื่องกฐินโบราณ  ภายใต้แนวคิดดั้งเดิมคือ “เย็บเอง..ย้อมเอง..”
       

 

(๔)

 

        การจัดกิจกรรมเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีกฐินโบราณในแต่ละครั้งนั้น  ผมจะพยายามไม่รีบเร่งปักกฐินตามวัดต่างๆ  แต่จะรอจนกว่าชัดเจนแล้วว่าวัดเหล่านั้น “ปลอดหรือร้างกฐิน”  ผมและทีมงานถึงจะขยับเข้าไปพบปะ หารือถึงความเป็นไปได้
        โดยสาระสำคัญก็คือผมจะเน้น “ความพร้อม” ของชุมชนเป็นที่ตั้ง          
        ความพร้อมที่ว่านั้นหมายถึง “ใจพร้อมที่จะทำ”

       
ดังนั้นภายใต้กิจกรรมหลัก คือการ “เย็บและย้อมสีจีวร”  ผ่านกระบวนการดั้งเดิมนั้น  ที่เหลือจะเป็นเรื่องที่ชุมชนต้องคุยกันเองว่าจะมีกิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้ร่วมกันอย่างไรบ้าง  ซึ่งนั่นก็หมายถึงการทิ้งประเด็นให้ชุมชนหันกลับไป “ทบทวนคลังความรู้” ของตัวเองอย่างจริงๆ จัง  หลายเรื่องคนรุ่นเก่าอาจหลงลืม  หรือแม้แต่ไม่เคยพบเห็น  และหลายเรื่องที่ว่านั้นคนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานของชุมชนนั้นๆ ก็ยิ่งอาจจะไม่เคยแม้กระทั่งได้ยินและได้เห็นมาเลยก็เป็นได้

        ด้วยเหตุนี้  กระบวนการทบทวนดังกล่าว  จึงกลายเป็นการพลิกฟื้น “มรดกทางสังคม” ให้ลูกหลานได้สัมผัสและเรียนรู้ถึง “คลังความรู้" ของเขาเอง

        

 

(๖)

 

        กรณีล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว  กฐินโบราณถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๓  พฤศจิกายน ๒๕๕๓  ณ บ้านโนนแสบง ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม  อันเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “มมส ร่วมใจห่วงใยชุมชน” หรือ “๑ คณะ ๑ หมู่บ้าน” นั่นเอง

        ครั้งนั้น-ผมเลือกบ้านโนนแสบงเพราะประความพร้อมจากกิจกรรม ๑ คณะ ๑ หมู่บ้านแล้วมองเห็นความเป็นปึกแผ่นของชาวบ้าน  รวมถึงชาวบ้านก็มีทุนทางใจอันยิ่งใหญ่ที่จะเรียนรู้และร่วมฟื้นฟูประเพณีอันดีงามนี้อย่างแน่นหนัก  ตลอดจนผมเองก็มองว่าหากนิสิตจากคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรมได้ขับเคลื่อนกิจกรรมนี้  ก็น่าจะเป็นผลดีต่อการเติบโตทางทัศนคติของเขาเอง  เพราะการลงชุมชนในวิถีเช่นนี้  น่าจะมีประโยชน์ต่อการติด "อาวุธทางปัญญา" ให้แก่นิสิตได้บ้าง   เพราะในระบบที่มุ่งผลิตบัณฑิตสู่ “อุตสาหกรรมโรงแรม”  ที่แต่ละคนกำลังตั้งหน้าตั้งตาเรียนกันอย่างคร่ำเคร่งอยู่นั้น  อาจขาดๆ เกินๆ ที่จะเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้อยู่บ้างก็เป็นได้

 

        และในส่วนของชุมชนนั้น  เห็นได้ชัดว่ามีการทบทวนคลังความรู้ตัวเองอย่างยกใหญ่  จนนำไปสู่การสร้างพื้นที่การเรียนรู้ขึ้นมาอย่างหลากหลายรูปแบบ  อาทิ  การบีบนวดขนมจีน  การทำพลุโบราณ  ตะไล  สนูว่าว  นวดข้าวด้วยมือ  ซึ่งทุกกิจกรรมนิสิตจะเข้าไปเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้าน  หรือไม่ก็ก้าวเข้าไปเป็น “ลูกมือ”ชาวบ้านในกิจกรรมนั้นๆ ตามแบบฉบับของวาทกรรม “สอนลูกสอนสานสืบสานวัฒนธรรม”  

          นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมอื่นๆ เติมเต็มเข้ามา เช่น  สรภัญญะ  นิทานตำนานกฐิน (สืบฮอยตา  วาฮอยปู่)  ซึ่งมีชาวบ้านทำหน้าที่เป็น “ครูภูมิปัญญา”  คอยหนุนนำและนำพาลูกหลานไปสู่การเรียนรู้อย่างอบอุ่น

 

(๗)

 

        สำหรับปีนี้  ทั้งผมและทีมงานตัดสินใจที่จะปักกฐินโบราณ ณ บ้านดอนหน่อง ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย  และถือเป็นกระบวนการต่อเนื่องของกิจกรรม ๑ คณะ ๑ หมู่บ้านไปในตัว

        ปีนี้ผมและทีมงานอาจจะผ่อนเบามือลงมากกว่าเดิม  เพราะล่าสุดผู้นำนิสิตเริ่มเห็นความสำคัญและอยากลงมือทำกันเองแล้ว  ซึ่งองค์การนิสิต นำโดยนายวิเศษ นาคชัย นายกองค์การนิสิต  ขานรับแนวคิดถึงขั้นบรรจุเป็นแผนงานขององค์การนิสิตเลยทีเดียว 

        ส่วนรายละเอียดอื่นๆ นั้น  เพียงไม่กี่อึดใจก็น่าจะปรากฏเป็นรูปร่าง  ไม่เร่งรีบมากมายจนดูเป็นร้อนรน  เพราะยึดในกรอบดั้งเดิมคือ “โบร่ำโบราณ” เป็นที่ตั้ง  อันหมายถึงการทำให้แล้วเสร็จในวันเดียวตามแบบจุลกฐิน หรือกฐินแล่น (ฟ้าว,วิ่ง หรือในภาษาอีสานแปลว่าวิ่งอย่างรีบเร่ง)

 


(๘)

        ครับ-เชิญมาเรียนรู้กฐินโบราณร่วมกันนะครับ  และที่สำคัญอย่าลืมเอาใจช่วยผมและน้องๆ ด้วยก็แล้วกัน  เพราะงานนี้ “ใจนำพา ศรัทธานำทาง” ล้วนๆ

 

 

หมายเหตุ

๑.      กฐินโบราณในปี ๒๕๕๓  เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม ๑ คณะ ๑ หมู่บ้าน  เจ้าภาพหลักคือสโมสรนิสิตคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม
๒.      ได้รับเงินจากวิถีแห่งใจถวายวัดจำนวนทั้งสิ้น 74,262   บาท  

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 466634เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2011 16:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 10:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ไข่ที่หัวหินขาดตลาด
  • วันก่อนเพื่อนซื้อทานหนึ่งใบ 15 บาท
  • หากหาไข่ไม่ได้ภายในวันสองวัน
  • คงแย่งไข่จนฆ่ากันตายคาไข่แน่นอนครับผม

 

*** มาเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่ ทำบุญใหญ่ ขอร่วมอนุโมทนาด้วยนะคะ

*** ตั้งชื่อบันทึก ถูกใจมากค่ะ อาจารย์

..สวัสดีค่ะคุณแผ่นดิน..ดีใจที่ได้อ่านเรื่องนี้...เมื่อวันที่๓๐พย.นี้..ที่วัด..สังฆทาน..ในเบอร์ลิน..ได้ยินจากท่านไล้ฟ(พระฝร้ง)บวชจากประเทศไทย..จำวัดอยู่วัดนี้..บอก"ยายธี"ว่าจะมีการทอดกฐินแบบโบราณ..คือเมื่อ..พระรับกฐิน..จะต้องย้อม.ผ้าที่รับมาให้เสร็จในวันนั้น..."ได้ยินแล้วทึ่งมากเลย"..เสียดายโอกาศที่ไม่ได้ไปร่วม..ทอดกฐินที่เบอรลิน..แต่ได้มาอ่าน..ในหน้านี้..ได้ความรู้มากขึ้น..ขอบพระคุณเจ้าค่ะ..ยายธี

  • ไม่ได้เห็นแบบนี้นานมาก
  • ดีใจที่ได้อ่าน
  • นิสิตได้ทำงานร่วมกับชุมชน
  • อยากพบมหาวิทยาลัยแบบนี้มากๆ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท