รำพึง...อยุธยากับสายน้ำที่หลากไหล


แผนที่โบราณของ เกาะเมือง ที่ชาวยุโรปวาดไว้เมื่อเข้ามาปลายสมัยพระเจ้าปราสาททอง เกาะเมืองนี้จะมีกำแพงล้อมรอบ

 

แผนที่โบราณ

ข้อมูลจากหนังสือ อยุธยา สำนักพิมพ์สารคดี บทที่ว่าด้วยการรู้จักจังหวัดอยุธยา โดย สมบัติ พลายน้อย และ ปาริชาต เรืองวิเศษ หน้า ๔๒ กล่าวไว้ว่า พ่อค้าชาวฮอลันดา ชื่อ โยส เซาเต็น ได้ บันทึกพรรณนาความมั่งคั่งและชัยภูมิของราชอาณาจักรอยุธยาไว้มากมาย ผู้เขียนขอตัดตอนยกมา เฉพาะที่กล่าวถึงชัยภูมิ คือ “...พระนครศรีอยุธยาอยู่ในภูมิฐานที่ดีและมั่นคง สุดวิสัยที่ข้าศึกศัตรูจะโจมตียึดครองได้ง่ายๆ เพราะทุกๆปี น้ำจะท่วมขึ้นมาถึง ๖ เดือน ทั่วท้องที่นอกกำแพง จึงเป็นการบังคับให้ศัตรูอยู่ไม่ได้ ต้องล่าถอยทัพไปเอง...” 

 

วันนี้ผู้เขียนขอ รำพึง รำพัน กับตนเองถึงสิ่งที่ ประสบพบ เห็น ได้ยินระหว่างน้ำท่วม น้ำหลากปีนี้สักนิดค่ะ

  • กำแพงเมืองในกาลก่อน ปัจจุบันคือ ถนน ที่รถวิ่งรอบเกาะเมืองนั่นเอง
  • นอกจากแม่น้ำ ๓ สายรอบเกาะเมืองแล้ว (แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี) ภายในเกาะเมืองยังเคยมีคูเล็ก คูน้อย  คลองขุดมากมายเชื่อมต่อ “ดุจร่างแห” จนได้ชื่อว่าเป็น เวนิสตะวันออก ปัจจุบัน(ก่อนที่น้ำจะท่วม)คลองเหล่านี้ถูกปล่อยให้ตื้นเขิน มองลงไปมีแต่น้ำเน่าและขยะ เช่น คลองมะขามเรียง ซึ่งสมัยโน้น เรือสำเภาสามารถล่องเข้ามาได้ และบางแห่งถูกถมไปเป็นถนนเสียแล้ว 
  • เมืองไทยมีเทคโนโลยีการสื่อสารไม่แพ้ใคร ใช้ไปได้ทุกที่ ทุกเรื่อง ยกเว้น การแจ้งเตือนภัย ที่มีประสิทธิภาพ

 

  • เทคโนโลยี เครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยเพียงใดที่เมืองไทยมี การแก้ปัญหาน้ำท่วม ก็ยังใช้แรงคน กระสอบทราย และคันดิน
  • น้ำหลาก เคยเป็น ฤดูกาล สิ่งที่มากับน้ำหลาก คือ ตะกอนดินอันอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันตะกอนดินอันอุดมสมบูรณ์ตกอยู่หลังเขื่อน มีแต่น้ำปล่อยมา ชาวนาแถบที่ราบลุ่มเจ้าพระยาจึงต้องระดมปุ๋ยไม่ยั้ง เปลี่ยนวิถีทำนาแทบจะสิ้นเชิง เพราะควบคุมน้ำให้ทำนาได้ปีละมากกว่าสองครั้ง จากที่เคยทำนาปี คือ ปีละครั้ง
  • เถียงกับคนข้างกายว่า อย่างไรคนสมัยนี้ก็ต้องมองน้ำหลากเป็นภัย เพราะทำความเสียหายแก่ทรัพย์สินมหาศาล เช่น นิคมอุตสาหกรรมน้ำทะลักท่วมไปแล้วสองแห่ง เขาตอบว่า นิคมอุตสาหกรรมมาเกิดทีหลัง น้ำหลากเกิดเป็นประจำตั้งแต่อดีตกาล อย่าประเมินธรรมชาติต่ำไป
  • เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม มีข่าวจระเข้ ๒๕ ตัวหลุดจากฟาร์มแห่งหนึ่งในอยุธยา จับได้เจ็ดแปดตัว ที่เหลือว่ายลงทุ่งนาที่น้ำท่วมเจิ่งนองเหมือนสมัยโบราณไปแล้ว เหมือนปล่อยเสือเข้าป่า คนอยุธยายุคนี้คงต้องปรับมาเป็น ปล่อยจระเข้เข้านา

 

นาข้าวในทุ่งแถบนครหลวงเมื่อกว่าสัปดาห์มาแล้ว ป่านนี้น้ำท่วมทุ่งหมดโผล่แต่ยอดข้าว

 

  • ดูทีวีได้เห็นหลายชุมชนพยายามเรียนรู้จากบทเรียนน้ำท่วมที่ผ่านๆมา เช่นการสำรวจเพื่อป้องกันพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม ชาวสวนแถวนครปฐมบางรายเริ่มเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูกให้เป็นพืชน้ำท่วมไม่ตาย โดยเปลี่ยนจากฝรั่งมาปลูกเตยหอม ชาวนามีการวางแผนร่วมกันในการทำนาแค่ปีละสองครั้ง โดยครั้งที่สามที่จะคาบเกี่ยวกับหน้าน้ำ จะเปลี่ยนเป็นปลูกพืชอื่น นี่เขาคิดกันเองในชุมชน ใช้ สติและปัญญาร่วมกันปรับวิถีชีวิตใหม่ น่ายกย่องและสนับสนุนให้วิธีคิดพึ่งตนเองได้เช่นนี้กว้างขวางออกไปมากๆ
  • หลายชุมชนอพยพไปพึ่งวัด ผู้เขียนคิดว่าดีมาก ได้ทั้งที่พึ่งกาย พึ่งใจ แต่นักข่าวเด็กๆกลับมองว่าแย่มากที่คนไม่มีที่อยู่ต้องไปพึ่งวัด ขอให้ทางราชการมาช่วยอพยพคนออกไปจากวัด ไม่ทราบคิดอะไร นี่เป็นโอกาสดีที่จะฟื้นฟูบทบาทของวัด-พระ กับชุมชน
  • การช่วยเหลือคนยากลำบากที่พึ่งตนเองไม่ได้ ก็ต้องทำอย่างแข็งขัน เร่งด่วน ในขณะเดียวกัน ตัวอย่างดีๆในวิธีคิดพึ่งตนเองของชาวบ้าน การที่หลายคนที่อยู่ริมน้ำมาหลายชั่วคนเขารู้จักทำใจและบอกว่าพออยู่ได้ ไม่ต้องการอะไร ให้ไปช่วยคนที่ลำบากกว่า แต่สื่อก็พยายามถามนำให้เขาตอบว่าเป็นทุกข์ให้ได้ ดูแล้วน่าสงสารผู้สื่อข่าวที่อ่อนต่อโลก อ่อนต่อการที่จะเข้าใจวิถีคนริมน้ำ

 

หมาน้ำ

  • เขาเล่าว่า หน้าน้ำ ยุคก่อน เขาทันได้เห็นชาวอยุธยา ใช้เรือ หลากหลายชนิด ชีวิตผูกพันกับสายน้ำ เรือ และท้องทุ่ง ท้องนา เรือเป็นสมบัติสำคัญของชาวบ้านแต่ละบ้าน ขนาดทำประชันฝีมือกัน ทั้งเรือขุด เรือต่อ ทำจากไม้ หน้าน้ำยุคนี้ผู้คนเดือดร้อนเหมือนถูกจองจำในบ้านตัวเอง เพราะไม่มีเรือประจำบ้านไว้ใช้ รอเขามาแจก ของไม่พอก็ทะเลาะกันอีก แค่มีเรือไฟเบอร์กลาสก็ยังดี
  • น้ำที่พุ่งทะลักเข้าท่วมเกาะเมืองมีกระแสที่พัดแรงมาก เพราะถูกบีบอัดเมื่อผ่านตรอกซอกซอย คนข้างกายต้องเข้าไปในเกาะเมือง จึงเอาเรือไฟเบอร์ใส่รถปิคอัพจากปากท่า พอไปถึงหัวถนนโรจนะ ยกเรือลงพายเข้าไป ใช้เวลาสองชั่วโมงยังไปไม่ถึงครึ่งทางของที่หมาย น้ำแรงมาก เขาบอกว่าพายซะพุงแทบยุบ ผู้เขียนบอกว่าพุงคงไม่ยุบแต่จะหัวใจวายซะก่อน
  • อยุธยาศึกษาเพื่อการออกแบบและพัฒนาเอกลักษณ์เมือง หรือ อยุธยาบุรีเทวี ของเขาที่อยู่ริมแม่น้ำป่าสักเหมือนกันแต่อยู่ในเมือง ก็น้ำท่วมชั้นล่างหมด ขนาดตอนจะสร้างเขาถมที่ใช้ระดับที่น้ำท่วมสูงสุดเมื่อปี ๒๕๓๘ ซึ่งหนักมาก แล้วบวกเข้าไปอีก ๒ เมตร น้ำยังท่วมชั้นล่าง ต่อไปหน้าน้ำคงได้คิดกิจกรรมให้สอดคล้องกับธรรมชาติที่เปลี่ยนไป

 

  • สุดท้าย ผู้เขียนยังอยู่บ้านริมน้ำป่าสักปลอดภัย มีความสุขตามอัตภาพแห่งฤดูกาล มีปัญหาให้ต้องแก้ ต้องจัดการรายวัน ที่อยู่ได้เช่นนี้เพราะ เรียนรู้ภูมิศาสตร์ ใช้ภูมิปัญญาในการให้บ้านเป็นชัยภูมิ ป้องกัน บรรเทาภัยจากกระแสน้ำด้วยแนวต้นไม้ทนน้ำ ที่หน้าท่า จัดการเรื่องไฟฟ้าให้ปลอดภัย มีระบบไฟฟ้าชั้นบนอยู่ได้เหมือนปกติ วางแผนระบบสุขาสมัยใหม่ที่ใช้ได้แม้น้ำท่วม แต่ไม่ประมาทมีน้ำใส่ตุ่มไว้หลายใบ หากเขาตัดไฟเมื่อน้ำท่วมสูงกว่านี้ แสงสว่างก็เตรียมตะเกียงใช้น้ำมันก๊าดและเทียนสำรองไว้ สำหรับอาหารเนื่องจากเป็นคนไกลตลาดและมีแขกมาเยือนบ่อยจึงมักซื้อข้าวสาร อาหารแห้งไว้พอประมาณ การเข้าออกบ้าน มีเรือ ไว้ใช้ ๒-๓ ลำ ตามโอกาส รวมทั้งมีความสัมพันธ์ทีดีกับคนรอบบ้าน และ มิตรที่อยู่ห่างไกล

 

เมื่อเราไม่ประมาทดูแลตนเองได้พอควร จึงสามารถพอช่วยคนอื่นได้เช่นกัน คนข้างกายเชื้อเชิญ ชักชวนกัลยาณมิตร และผู้ใจบุญหลายคณะส่งของมาบรรเทาทุกข์ชุมชนริมน้ำที่ลำบากมากๆ เมื่อสัปดาห์ก่อน คณะจากมูลนิธิเพื่อโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารมากันร่วมสามสิบคน แจกของเสร็จแล้วผู้เขียนเชิญมาทานอาหารกลางวันแบบเรียบง่ายที่บ้านทั้งๆน้ำท่วมนี่แหละ เขาพายเรือกันเข้ามา แทบทุกคนเกือบไม่เชื่อว่าผู้เขียนจะอยู่ได้ดีท่ามกลางน้ำท่วม อย่างไม่เป็นทุกข์ ต่างพูดกันว่าตั้งแต่เกิดมาไปมาหลายที่ที่น้ำท่วมเห็นแต่น้ำท่วมทุกข์ รันทด เพิ่งเห็นที่บ้านเราเป็นแห่งแรกที่เป็นบ้านน้ำท่วมมีความสุข สงบงาม

 

 

ที่จริงไม่ใช่เรามีความสุขฟูฟ่อง เพียงแค่เราไม่ทำให้ปัญหา ความเดือดร้อน กลายมาเป็นความทุกข์ ใช้สติมากๆ และใช้ปัญญาเท่าที่จะพอมีแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ เมื่อทำดีที่สุดแล้ว ผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องทำใจให้รับได้และดำเนินชีวิตต่อไป

 

สี่ห้าวันมานี้ แม่น้ำป่าสักที่แถบบ้านดูทรงๆตัวขึ้นไม่มาก ตอนนี้สูงกว่าในภาพสักห้าเซนติเมตร ยังเหลืออีกราวยี่สิบห้าเซนติเมตรจะถึงพื้นในบ้านชั้นสองค่ะ

 

 

เดี๋ยวรอดูน้ำจากเหนือที่จะถูกปล่อยมาวันที่ ๑๐ ตุลาคม ที่จะชี้ชะตาอีกรอบ เก็บของเตรียมพร้อมแล้วค่ะ

ขอขอบคุณทุกท่านที่เป็นกำลังใจให้ผู้เขียนและระดมกันช่วยพี่น้องชาวไทยทุกคนที่ประสบชะตากรรมเดียวกันค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 464236เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2011 11:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

แว่นแก้ววันก่อน

แว่นแก้ววันนี้ (1สัปดาห์)

 

  • ขอส่งกำลังใจมายัง ดร.ยุวนุชกับคนข้างกาย และทุกท่าน ของสถาบันอยุธยาศึกษาฯด้วยครับ เรือบรรทุกได้เยอะจังเลยนะครับ
  • แถวพุทธมณฑล เกษตรจำนวนหนึ่ง ใช้นาลุ่มและแหล่งที่น้ำท่วม ไปจนถึงแหล่งที่น้ำขัง ทำเกษตรแบบผสมผสาน ทำเป็นนาบัว ในนาปล่อยปลาสารพัดปลา บนร่องสวนลงผลไม้ กล้วย สลับกันไปสารพัดชนิด จะน้ำมากน้ำน้อย ชาวบ้านกลุ่มนี้มีผลผลิตของตนเองและอยู่ได้ตลอด
  • การคิดวิธีที่จะอยู่โดยจัดการตนเองไปตามเงื่อนไขของถิ่นอาศัย ดิน น้ำ และฤดูกาลต่างๆ เป็นเทคโนโลยีและภูมิปัญญาในการจัดการที่สำคัญมากจริงๆครับ คงจะเหมือนกับคนข้างกายของ ดร.ยุวนุชให้ความหมายนะครับ คือ ...มันเป็นการออกแบบบ้าน ชุมชน และชีวิตความเป็นอยู่ เลยทีเดียว

ชอบเจ้าหมาน้ำสองหน่อจังเลยครับ
ท่าทางปราดเปรียว ท่วงท่าสง่างามดีจัง

พี่นุช ครับ ;)...

ผมเป็นคนที่ติดตามข่าวสารการสร้าง "เขื่อน" มาตลอด และคิดเสมอว่า "เขื่อน" ฤาจะสู้ธรรมชาติได้ เหตุใดมนุษย์จึงไม่ปล่อยไปตามธรรมชาติ ควบคุมบางอย่าง และไม่ควบคุมบางอย่าง แต่มนุษย์มักจะ "โลภ" ที่ต้องการควบคุมทุกอย่าง

จากข้อมูลนี้ ... น้ำหลาก เคยเป็น ฤดูกาล สิ่งที่มากับน้ำหลาก คือ ตะกอนดินอันอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันตะกอนดินอันอุดมสมบูรณ์ตกอยู่หลังเขื่อน มีแต่น้ำปล่อยมา ชาวนาแถบที่ราบลุ่มเจ้าพระยาจึงต้องระดมปุ๋ยไม่ยั้ง เปลี่ยนวิถีทำนาแทบจะสิ้นเชิง เพราะควบคุมน้ำให้ทำนาได้ปีละมากกว่าสองครั้ง จากที่เคยทำนาปี คือ ปีละครั้ง

จริง ๆ ด้วยครับพี่ ผมลืมนึกถึงเรื่องนี้ไปเลยว่า เขื่อนมันดักตะกอนดินหมดเลย มัวแต่ไปอ้างจะป้องกันน้ำท่วมอย่างเดียว เรียกร้องกันใหญ่ ใครได้ประโยชน์ก็ไม่รู้

 

หมาน้ำ ตัวแสบ ... ปล่อยวาง ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนใจเหมือนคน

 

การเตรียมตัวของพี่นุช คือ การอยู่ในความไม่ประมาท ดั่งคำพุทธภาษิต ครับ

 

ส่งกำลังใจไปให้นะครับพี่ ;)...

ชอบหมาน้ำเช่นกันค่ะพี่นุช

ตามมาร่วมส่งกำลังใจเจ้าค่ะ:)

สวัสดีค่ะอาจารย์

ครั้งแรกตกใจค่ะติดตามทางข่าวแตงไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้ามาพอวันนี้มีโอกาสก็แวะมาที่บันทึกของอาจารย์พอได้อ่านแล้วก็รู้สึกสบายใจค่ะที่อาจารย์สามารถแก้ปัญหาได้และสามารถแก้ได้เป็นอย่างดี ขอเป็นกำลังใจให้นะคะและขอให้น้ำลดไว ๆ ค่ะ

เป็นแบบอย่างของความเข้มแข็ง ความมีสติและสงบมั่นคง สมกับเป็นผู้รู้แจ้งในสัจจธรรม ขอชื่นชมค่ะ

  • งดงามท่ามกลางวิถีแห่งภัยธรรมชาติค่ะ
  • ขอบพระคุณที่เป็นอยู่คือให้กัลยาณมิตรได้ชื่นชมเป็นตัวอย่างและให้กำลังใจผู้ที่กำลังทุกข์ได้คลายทุกข์ลงค่ะ

เป็นกำลังใจให้นะค่ะ พี่นุช ^_^

พี่นุชบันทึกเรื่องราวที่ทำให้เห็นถึงการเตรียมการและรับมือได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ

มองเห็นความงามของจิตใจที่เยือกเย็นเหมือนสายน้ำ ในยามทุกข์ที่ไม่ทุกข์ค่ะ

เสียดายคลองสระบัวและมรดกโลก

เอาใจช่วยชาวอโยธยาและเกาะเมืองอยุธยาทุกท่านนะคะ

คนอยุธยาโดยแท้...เตรียมรับมือน้ำเสมอ

เรือลำนี้เป็นเรือมิตรภาพใช่มั๊ยคะ..น่ารักจังค่ะ

สวัสดีครับคุณนาน นุช

ในความทุกข์เข็ญ ได้เห็นกำลังใจ จากคนไกล้ชิด

สวัสดีค่ะพี่นุชผู้เข้มแข็ง.....

มาเป็นกำลังใจในวันนี้ และทกวันค่ะ

เป็นกำลังใจให้ค่ะ :) อย่างน้อยความเย็นของสายน้ำ ดีกว่าความร้อนของภูเขาไฟ อีกไม่นานทุกอย่างจะผ่านไปอีกครั้ง และเราก็เริ่มต้นได้อีก

ระลึกถึงและเอาใจช่วยให้ผ่านพ้นด้วยดีค่ะ

สวัสดีค่ะ

มาเป็นกำลังใจให้คุณนุช และชาวอยุธยาทุกท่านค่ะ

  • พี่นุช
  • น้ำท่วมทำให้ได้เจริญสตินะครับ
  • ชอบหมาน้ำ น่ารักดี
  • รอดูข่าวต่อนะครับ

....ใจหายใจคว่ำ..เจ้าค่ะ...กับ..คำว่าน้ำท่วม..."รักษาสุขภาพทั้งจิตและใจ"สู้ๆๆๆๆ..ด้วยคำว่ารอบรู้..อยู่กับ..ปัจจุบัน..นะเจ้าคะ..ยายธีมีแต่กำลังใจส่งมาช่วยเจ้าค่ะ...(ยังมีความหวังว่า เราคงจะพบกันเร็วๆนี้)...ยายธีเจ้าค่ะ

สวัสดีครับ

ขอเอาใจช่วย เมืองกรุ่งเก่าของเราครับ

ขอบพระคุณผู้อาวุโสและเพื่อนพ้องน้องพี่ทุกท่านที่พากันเป็นห่วงมาให้กำลังใจ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันยามวิกฤตครั้งนี้ค่ะ

วันที่ ๑๐ ตุลา ที่เห็นนักวิชาการออกมาพูดว่าน้ำจะมาก ก็เฝ้าดูอยู่ ที่สายน้ำป่าสักยังทรงๆอยู่ค่ะ แต่น้ำอาจมาในอีกสองสามวันมั๊งคะ หรือเขาอาจพูดถึงในตัวเมืองอยุธธยา ซึ่งน้ำได้จัดการนิคมอุตสาหกรรมโรจนะที่เหลือไปทั้งหมดแล้ว ยังมีนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค อีกแห่งที่เขากำลังป้องกันเต็มที่

ยุวนุชยังอยู่ได้ที่บ้านอย่างเดิมค่ะ  ก็อธิษฐานขอกุศลที่เราได้สร้างๆไว้เบิกมาใช้กันตอนนี้แหละค่ะ ขอให้อย่างน้อยทุกคนที่ประสบภัยร่วมทุกข์กันสามารถมีสติรักษาชีวิตให้รอดปลอดภัย ขอให้น้ำไปไวๆ แล้วมาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันสร้างอนาคตใหม่

ภัยพิบัติครั้งนี้เราน่าจะได้ใช้เป็นบทเรียนที่จะออกแบบการดำรงชีวิตที่เหลืออยู่นะคะ จะอยู่แบบเดิมๆไม่ได้อีกแล้ว

  • พี่นุชเจ้า..
  • 

ไม่คาดคิดว่าพี่นุชจะอยู่บ้านในวันนี้  ใครต่อใครที่คุยกันถึงพี่นุชด้วยความเป็นห่วงก็พากันเข้าใจว่าพอน้ำจะขึ้นถึงชั้นสอง  พี่นุชคงจะออกมาข้างนอกแล้ว    แต่พอทราบข่าวก็รู้สึกยินดีที่พี่นุชยังอยู่ดีท่ามกลางสายน้ำ  และเห็นด้วยค่ะว่า..

ภัยพิบัติครั้งนี้เราน่าจะได้ใช้เป็นบทเรียนที่จะออกแบบการดำรงชีวิตที่เหลืออยู่นะคะ จะอยู่แบบเดิมๆไม่ได้อีกแล้ว

 

เจริญพรคุณโยมนุช

มีตัวอย่างเรื่องการรับมือหน้าน้ำนอง น้ำท่วมแบบชาวบ้านมาฝาก

ปรัชญาของคนสองรุ่น
แนวคิดความเชื่อต่างกันทำให้นำไปใช้ต่างกันด้วย
เลยออกแบบที่อยู่อาศัยคนละแบบ
จึงเกิดความไม่สอดคล้องขึ้นมาเมื่อปีที่แล้วนี่เอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท