ข้าเวลา ฆ่าเวลา ค่าเวลา


ข้าเวลา ฆ่าเวลา ค่าเวลา

หลายวันก่อนน้องๆ ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ส่งข้อความมาให้แล้วรบกวนเขียนเกี่ยวกับเรื่องของเวลาที่ว่าด้วย "ฆ่าเวลา ค่าเวลา" ผู้เขียนก็รับฝากเอาไว้และหากมีเวลาก็จะเขียนให้ ทั้งนี้ วันที่ ๖ และ ๗ ตุลาคม ที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสลาพักเพื่อไปปรึกษาผู้รู้และมีประสบการณ์เกี่ยวกับภูมิโหราศาสตร์  ก็เลยพอมีเวลาเขียนเรื่องนี้ แต่ขอเพิ่มเติมจากหัวข้อที่ว่า  "ฆ่าเวลา ค่าเวลา"  เป็น "ข้าเวลา ฆ่าเวลา ค่าเวลา"

แน่นอนครับในเมื่อเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับเรื่องของเวลา ก็ย่อมจะต้องเกริ่นนำเกี่ยวกับ "เวลา"  อย่างที่เราทราบกันดีว่าเวลาเป็นสิ่งที่มนุษย์สมมติกำหนดขึ้นมาว่าเป็น ๒๔ ชั่วโมงในหนึ่งวัน หนึ่งชั่วโมงมีหกสิบนาที หนึ่งนาทีมีหกสิบวินาที  ก็ว่ากันไป  และในเมื่อในอดีตของนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายได้กำหนดเวลามาตรฐานไว้ที่เมืองผู้ดีอังกฤษ

  เมืองที่ว่า คือ เมืองกรีนิช (Greenwich ไม่ยักกะอ่านว่า กรีนวิช ไม่เป็นไรครับเป็นการออกเสียงของคนอังกฤษเขาเราไม่เกี่ยว โดยเวลาที่เรียกว่า GMT : Greenwich Mean Time)

ผู้เขียนเชื่อว่าที่เวลาเป็นสิ่งสมมติขึ้นมา ก็เพราะว่ามนุษย์เราที่แหละเป็นผู้กำหนด  แต่สิ่งหนึ่งที่ธรรมชาติได้กำหนดไว้ คือ เวลาของแต่ละคนใน ๑ วัน หรือ ๑ คืน ก็ตามแต่ จะมีเท่ากัน  มนุษย์เราไม่ว่าจะรวยจะจน จะมีตำแหน่งใหญ่โตหรือต่ำต้อย จะมีหน้าตาสวยงามอย่างไร ก็ย่อมมีเวลาเท่าเทียมกันใน ๑ วัน  อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งตรงกันข้าม คือ ถึงแม้ว่าเวลาของแต่ละคนจะมีเท่ากันในหนึ่งวันหนึ่งคืน แต่เวลาของเราที่จะมีลมหายใจบนโลกใบนี้กลับมีไม่เท่ากัน และที่สำคัญ คือ ไม่มีใครบอกได้ว่า เวลาหายใจของเราจะหมดสิ้นเมื่อไรจะสิ้นสุดลงเมื่อไร  ซึ่งหากคิดไปไกลกว่านั้น เวลาของเราอาจจะมีอีกในชาติหน้า (หากชาติหน้ามีจริง)

 กลับมาที่เวลาของเราที่มีเท่ากันในแต่ละวัน คือ ที่เรียกว่า เวลาของข้า  (เวลาของฉัน เวลาของตัวเรา) หากว่าเราสามารถกำหนดได้ว่าเวลาของข้า ทำงาน ปฏิบัติตน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตัวตนเองตัวเราเอง ต่อที่ทำงาน ต่อสังคม ต่อประเทศชาติ   และที่สำคัญอย่าพยายามทำให้ตัวเราตกเป็นข้า (ทาส) ของเวลา ไม่ให้เวลามากดดันตัวของเรา  แต่ให้ทางตรงกันข้ามอย่างที่กล่าวแล้วว่า ใช้เวลาของข้า (ของเรา) ให้เกิดประโยชน์ต่อสูงสุด สิ่งที่ตามว่า คือ จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "ค่าเวลา หรือ ตัวเรามองเห็นค่า คุณค่าของเวลา" ที่เรามีอยู่  ตัวเราจะไม่ยอมให้เวลานั้นสูญเปล่าไปในแต่ละวัน เพราะเนื่องจากว่า หากตัวเราปล่อยเวลาให้หลุดลอยไปอย่าไร้ประโยชน์ในแต่ละวัน เวลาดังกล่าวอาจจะไปบั่นทอนให้เวลาของเราที่จะอยู่บนโลกใบนี้สั้นลงไปได้ ซึ่งสามารถที่จะนำเสนอดังต่อไปนี้

๑. ถ้า เวลาของข้า ในแต่ละวันทำให้มีค่ามาก จะทำให้ เวลาของข้าในโลกใบนี้ ยาวขึ้นและมีคุณค่า

๒. ถ้า เวลาของข้า ในแต่ละวันทำให้มีค่าน้อย จะทำให้ เวลาของข้าในโลกใบนี้ สั้นลงและหมดคุณค่า

ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่า เมื่อไรก็ตามที่เราอาจจะเผลอตัวกระทำตามข้อ ๒ ข้างต้นจะเป็นการ ฆ่าเวลาของเราที่อยู่ไปอย่างสูญเปล่า  หลายๆ คนในแต่ละวันได้ฆ่าเวลาของข้า (ของตัวเอง) ไปอย่างที่ไม่รู้สึกตัว ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเราชาวพุทธไว้ว่า "ให้มีสติอย่างตลอดเวลา"  การมีสตินั้นเกิดประโยชน์อย่างมหาศาลโดยที่ตัวเราอาจจะมีความรู้สึกตัว แต่หากว่า เราได้ฝึกฝนการมีสติจนเป็นที่ดีแล้ว ก็จะนำมาสู่ที่เรียกว่า "สมาธิ นำไปสู่ ปัญญาในที่สุด"

ครับ เรื่องของเวลา นั้นมีให้อ่านมากมาย ซึ่งผู้เขียนก็เคยได้เขียนไว้เช่นกัน เชิญอ่านเพิ่มเติมได้ที่ (ความสัมพันธ์​ระหว่าง เวลา ระยะทาง และ ความเร็ว)   แต่กล่าวสำหรับ "ข้าเวลา ค่าเวลา และ ฆ่าเวลา" แล้ว หากตัวเราสามารถที่จะกำหนดว่าเวลาในแต่ละวันเป็นของข้า (ข้าพเจ้า) ข้าจะทำให้เวลาที่มีอยู่ในแต่ละวันมีคุณค่า เป็น ค่าเวลา (ค่าของเวลา) และ ข้าจะไม่ฆ่าเวลาโดยที่ทำอะไรที่ไม่ได้ใช้สติไม่เกิดประโยชน์  ข้าก็จะสามารถมีเวลาเพิ่มเติมอยู่บนโลกใบนี้อย่างยาวนานขึ้นและมีความสุข

สุดท้ายจริงๆ เวลาของเราของท่านมีค่าเท่ากัน จะสั้นจะยาวไม่สำคัญ ขอให้ท่านทำปัจจุบันให้ดีที่สุด นะครับ  "อย่าฆ่าเวลา แต่จะต้องทำให้เป็น ค่าเวลา และ เวลาเป็นของข้า"

หมายเลขบันทึก: 464229เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2011 10:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

คนที่จะรู้ค่าของเวลาที่สุดคือคนที่กำลังจะตายและคนที่นั่งกุมมืออยู่ข้างๆ เพราะเวลาที่จะอยู่ด้วยกันมันสั้นลงทุกนาที และเวลาแห่งการจากพรากก็เกิดขึ้น

ตั้งหัวข้อได้เก๋ดีจังคะ

ตอนแรกอ่านนึกว่า ข้า(ของ)เวลา คือตกเป็นทาสของความเร่งรีบ

มาอ่าน ได้ความคิดลึกซึ้งอีกแบบ

ขอบคุณคะ

แว่นแก้ววันก่อน

แว่นแก้ววันนี้ (1สัปดาห์)

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท