สะท้อนกระจกมองอุดมศึกษาไทย


อุดมศึกษาในประเทศเอเชียตะวันออก กลุ่มรายได้ปานกลาง และกลุ่มรายได้ต่ำ ยังไม่ได้ทำหน้าที่ผลิตผลงานวิจัยระดับมีคุณภาพ ยังไม่ได้ทำหน้าที่ยกระดับเทคโนโลยีในกิจการต่างๆ ในประเทศของตน

สะท้อนกระจกมองอุดมศึกษาไทย

ธนาคารโลกมีกำหนดจัด The World Bank East Asia Pacific Region Flagship Report Seminar  Putting Higher Education to Work – Skills and Research for Growth in East Asia  October 13, 2011, 12:45 pm – 3:30 pm  โดยจัดเป็น teleconference มาจากโตเกียว   และมีลูกข่ายในหลายประเทศ รวมทั้งไทย

ผมมีโอกาสได้อ่านร่างรายงานนี้หลายเดือนก่อนหน้า และเขียนข้อคิดเห็นให้เขาไป ดังนี้

 

ความเห็นต่อรายงานของธนาคารโลก เรื่องอุดมศึกษาในเอเชียตะวันออก 

บันทึกบอกสังคมไทย 

วิจารณ์ พานิช

………………………………

 

ธนาคารโลกกำลังจัดทำรายงาน บทบาทของอุดมศึกษาในเอเชียตะวันออก ต่อผลิตภาพและการเติบโต   และผมโชคดีที่ได้รับเกียรติให้อ่านต้นร่างของรายงาน และให้ความเห็น

อารัมภบทของรายงาน ชี้ให้เห็นว่า มีรายงานประเมินสถานภาพอุดมศึกษาในสหราชอาณาจักรเมื่อปี คศ. 1908 คือกว่าร้อยปีมาแล้ว   และระบุปัญหามหาวิทยาลัยแยกตัวจากสังคม   สภาพนั้นเป็นจริงสำหรับมหาวิทยาลัยในเอเชียตะวันออก ในปัจจุบัน   รวมทั้งในประเทศไทย

ผมฟันธงว่า เพราะเราบูชาวิชา   ไม่บูชาการใช้วิชายกระดับความเป็นอยู่ของผู้คน

นั่นคือความยึดมั่นที่เราต้องช่วยกันเอาชนะให้ได้

จุดภาคภูมิใจของอุดมศึกษาต้องอยู่ที่การทำงานวิชาการเชื่อมโยงกับการยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คน   และอาศัยภารกิจนี้ ยกระดับวิชาการของตนด้วย

ซึ่งแปลว่า มหาวิทยาลัยต้องแหวกวงล้อมของเส้นแบ่งสาขาวิชาการ ลงสู่ชีวิตจริงของผู้คน   ทำงานประยุกต์และสร้างสรรค์วิชาการจากภายนอกขอบเขตของสาขาวิชาการของตน   นักวิชาการต้องออกไปทำกิจกรรมในชีวิตจริงของผู้คน   เข้าไปเผชิญโจทย์วิชาการจากเรื่องจริง   และร่วมกับนักวิชาการสาขาอื่นในการตอบโจทย์นั้น   แล้วนำประสบการณ์มาตีความยกระดับความรู้ในศาสตร์สาขาของตน

รายงานของธนาคารโลกชุดนี้สวมแว่นลัทธินายทุน   ซึ่งก็เป็นธรรมดาสำหรับองค์กรนี้   ผมรู้เช่นเห็นชาติเขาตอนปี ๒๕๔๐ – ๒๕๔๑ ที่เขาเข้ามาช่วย “ฟื้น” เศรษฐกิจไทย   ที่ช่วยให้ผมเข้าใจว่า เขาต้องการมาลงทุนกับการให้เงินกู้มากกว่า   คือเพื่อผลประโยชน์ของเขามากกว่าของประเทศไทย

ผมจึงอ่านรายงานนี้ด้วยสติว่าธนาคารโลกสวมกระบวนทัศน์ใด และมีเป้าหมายใด  แต่ก็ต้องชมว่า เขามีการเก็บข้อมูลเอามาเปรียบเทียบอย่างน่าสนใจ   และน่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง โดยข้อตีความของเขานั้น เราไม่จำเป็นต้องเชื่อไปเสียทั้งหมด

ปิ๊งแว้บของผมตอนอ่านรายงานนี้ก็คือ ระบบอุดมศึกษาของแต่ละประเทศไม่ได้ก่อเกิดเติบโตและวิวัฒน์ขึ้นมาแบบโดดๆ หรือแยกตัวอย่างสิ้นเชิงออกจากส่วนอื่นๆ ของสังคม   แต่มีปฏิสัมพันธ์ ส่งอิทธิพลต่อ และรับผลจากอิทธิพล ของระบบอื่นๆ ในสังคม รวมทั้งจากประเทศอื่นๆ ที่เราส่งคนไปเรียน อย่างซับซ้อนยิ่ง   ซึ่งรายงานนี้ก็ระบุไว้อย่างชัดเจน

รายงานนี้แบ่งประเทศที่เขาศึกษาออกเป็น ๓ กลุ่มตามระดับรายได้ และระดับเทคโนโลยี   คือกลุ่ม High income – High technology ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง   กลุ่ม Middle income – Middle technology ได้แก่ มาเลเซีย ไทย จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์   และกลุ่ม Low income – Low technology ได้แก่ ๓ ประเทศอินโดจีน   โดยมีประเทศมองโกเลียที่แปลกออกไป คือ อยู่ในสภาพ Middle income – Low technology  ก่อชนวนสงสัยในใจผมว่า ไม่ต้อง ไฮเทคมากตามมาตรฐานตะวันตก แต่ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่ดี ได้ไหม

เห็นชัดเจนว่า กลุ่มประเทศ High income – High technology ได้พัฒนาระบบอุดมศึกษาของตนก้าวหน้าไปแล้ว

รายงานของธนาคารโลก ระบุว่ากลุ่มประเทศที่รายได้ปานกลางและต่ำต้อง “catch up” ด้วยการเพิ่มผลิตภาพ (productivity improvement)   ซึ่งผมเถียงทันที ว่าเราไม่ควรเล่นเกม “วิ่งไล่กวด” ประเทศพัฒนาแล้วในปัจจุบัน   เพราะเขากำลังวิ่งลงนรกกันอยู่ โดยมีพาหนะคือ Greed, Growth และ Global Warming (ยืมคำมาจาก มรว. ดิศนัดดา ดิศกุล กล่าวเมื่อวันที่ ๑ พ.ค. ๕๔ ที่จังหวัดอุดรธานี)   เราต้องสร้างลู่วิ่งของเราเอง ที่มีความสมดุลกว่า มีความพอเพียงกว่า มีสติกว่า   แต่การเพิ่มผลิตภาพอย่างรู้เท่าทันก็น่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง   แต่ก็ต้องรู้เท่าทันลัทธิเอาเปรียบและหลอกลวง ที่มากับลัทธิทุนนิยมบริโภคนิยม ด้วย

จุดอ่อนที่สุดของรายงานนี้คือ เขาเน้นชักชวนให้เราเอาใจใส่ความเชื่อมโยงของเศรษฐกิจ และอุดมศึกษาของเรา กับกระแสโลกาภิวัตน์ เป็นสำคัญ   ไม่ได้เอาใจใส่ความเชื่อมโยงกับชุมชน ท้องถิ่น และปัญหาของเราเอง อย่างสมดุล   คือเขาเน้นความสามารถในการแข่งขัน มากกว่าเน้นการเอาใจใส่เศรษฐกิจพอเพียงภายในประเทศ 

ข้อมูลที่เก็บ และข้อวิเคราะห์ที่รายงาน น่าตื่นตาตื่นใจและน่าเชื่อถือ   เหมือนกับที่เราตื่นตาตื่นใจเมื่อเอากล้องโทรทัศน์กำลังสูงส่องดูดวงจันทร์   คือได้กระจ่างกับภาพใหม่ๆ ที่เป็น “ของจริง”  โดยที่ในความเป็นจริงแล้ว เป็น “ของจริง” จากมุมมองด้านเดียว   เพราะดวงจันทร์หันเพียงด้านเดียวเข้าหาโลก

ผมเห็นด้วยกับประโยคในรายงานหน้า ๔ ที่ว่า “no country has progressed to upper income status without reaching at least a minimum higher education threshold.”   ซึ่งหมายความว่า อุดมศึกษาเป็นส่วนประกอบสำคัญของการยกระดับรายได้ และความเป็นอยู่ของผู้คน  และประเทศต้องลงทุนด้านอุดมศึกษา   ซึ่งสำหรับประเทศไทย ต้องลงทุนอย่างฉลาด   ไม่ใช่เน้นเอาเงิน (ที่เราไม่ค่อยมี) เข้าทุ่ม  

ผมชอบตอนที่เขาตั้งคำถามว่า เรื่องอุดมศึกษากับผลิตภาพและนวัตกรรมนั้น ได้มีผลงานจริงหรือ   คำถามลูกก็คือ อุดมศึกษาได้ผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถออกไปทำงานเพิ่มผลิตภาพและสร้างนวัตกรรมได้จริงหรือ  คำตอบต่อคำถามนี้ ตอบได้ทั้งเชิงระบบ และเชิงปัจเจก   คำตอบเชิงระบบอย่างหนึ่งก็คือ หากอุดมศึกษาผลิตบัณฑิตในสาขา STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics) เกินครึ่งของบัณฑิตทั้งหมด ก็เป็นการตอบคำถามนี้ทางอ้อม 

วิธีตอบคำถามเชิง competence ของปัจเจก เขาใช้วิธีไปถามบริษัทนายจ้าง   ว่าขีดความรู้ความสามารถของพนักงานเป็นอุปสรรคต่อการสร้างนวัตกรรมของบริษัทเพียงใด   รวมทั้งศึกษาว่า เมื่อมีตำแหน่งว่างระดับที่ต้องการคนจบมหาวิทยาลัยต้องใช้เวลานานเท่าไรในการหาคนมาทำหน้าที่   ข้อมูลที่นำเสนอ เห็นประเทศไทยอยู่ในกลุ่มยอด (แย่) สุด   คือมีบัณฑิต แต่หาบัณฑิตที่มีคุณภาพจริงได้ยาก

ผลการศึกษาปริมาณและคุณภาพของอุดมศึกษา ยืนยันสิ่งที่เราตระหนักดีสำหรับประเทศไทย   ว่าเราไม่มีปัญหาเชิงปริมาณ (สัดส่วนของคนเข้าเรียนต่อประชากรในกลุ่มอายุ)   แต่มีปัญหาหนักด้านคุณภาพ และความสอดคล้องกับความต้องการ   ปัญหาเชิงปริมาณมีที่กลุ่มประเทศอินโดจีนเท่านั้น

แต่นั่นคือมุมมองภาพรวม  เมื่อมองให้ละอียดย่อยลงไป แม้ในด้านปริมาณหรือโอกาสการเข้าถึงอุดมศึกษา ยังมีความไม่เป็นธรรมในสังคมแฝงอยู่   คือคนในชนบทห่างไกล และชนกลุ่มน้อยยังมีโอกาสน้อยกว่าอย่างชัดเจน ทั้งในด้านโอกาสเข้าเรียน และโอกาสเรียนจบหลักสูตร   แม้ว่าตัวเลขของไทยจะดีกว่าของประเทศอินโดจีน 

และที่น่ากังวลก็คือ competency ที่ต้องการในการทำงานในบริษัทกลุ่มที่นักวิจัยของธนาคารโลก (หรือที่เขาอ้างถึง) ไปถาม   จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ   การผลิตบัณฑิตแบบเน้นความรู้หรือเทคนิคเป็นสำคัญ ขาดการเน้น Learning Skills & Attitude จะทำให้บัณฑิตขาดความสามารถในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง   ตอนจบใหม่ๆ ก็ถือว่ามีคุณภาพ   หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปี ก็กลายเป็นคนไม่มีคุณภาพ หากไม่ได้รับการฝึกฝนเพิ่มเติมให้  นี่คือความท้าทายที่สถาบันอุดมศึกษาจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ ให้เน้น 21st Century Learning  เพื่อให้บัณฑิตมี 21st Century Skills ซึ่งมี Learning Skills เป็นประธาน   

ผมเห็นด้วยกับข้อสรุปว่า อุดมศึกษาในประเทศเอเชียตะวันออก กลุ่มรายได้ปานกลาง และกลุ่มรายได้ต่ำ ยังไม่ได้ทำหน้าที่ผลิตผลงานวิจัยระดับมีคุณภาพ  ยังไม่ได้ทำหน้าที่ยกระดับเทคโนโลยีในกิจการต่างๆ ในประเทศของตน  และอยากเพิ่มเติมว่าความเชื่อมโยงด้านนี้ ต้องไม่มุ่งเฉพาะ “firms” (บริษัท) ตามในรายงาน  แต่จะต้องเชื่อมโยงกับ real sector สำคัญๆ อย่างครบถ้วน ในประเทศหรือสังคมของตน 

 

ความไม่เชื่อมโยง ๕ ประการ

ส่วนที่น่าสนใจยิ่งในรายงาน คือส่วนวิเคราะห์สาเหตุของความอ่อนแอของอุดมศึกษา   ว่าเกิดจาก ความไม่เชื่อมโยง ๕ ประการ

  1. ความไม่เชื่อมโยงระหว่างการปฏิบัติภารกิจหลักของสถาบันอุดมศึกษา (หลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การประสาทปริญญา)   กับทักษะของบัณฑิตที่สังคมต้องการ
  2. ความไม่เชื่อมโยงด้านการวิจัย ระหว่างอุดมศึกษา กับภาคธุรกิจ (ซึ่งสำหรับประเทศไทย ผมเสนอว่า ต้องคำนึงถึง real sectors ทุกภาค รวมไปถึงภาคประชาสังคม และชุมชน)
  3. ความไม่เชื่อมโยงระหว่างภารกิจด้านการเรียนการสอน กับภารกิจด้านการวิจัย
  4. ความไม่เชื่อมโยงระหว่างสถาบันอุดมศึกษาต่างสถาบัน และระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับสถาบันที่ดูแลการพัฒนาทักษะของผู้กำลังทำงาน
  5. ความไม่เชื่อมโยงระหว่างอุดมศึกษากับการศึกษาระดับล่าง   และคุณภาพที่ต่ำของการศึกษาระดับก่อนอุดมศึกษาในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง และรายได้ต่ำ  มีส่วนฉุดดึงคุณภาพของอุดมศึกษา

ต้นเหตุของความไม่เชื่อมโยง

นี่คือข้อวิเคราะห์ที่น่าสนใจยิ่งสำหรับวงการอุดมศึกษาไทย

  1. ขาดระบบสารสนเทศ เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาใช้ในการวางแผนยุทธศาสตร์การทำงานของตน เช่นความต้องการกำลังคนในอนาคต ทั้งเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ
  2. ขาดกลไก และความสามารถในการเชื่อมโยงระหว่างฝ่ายผลิต กับฝ่ายใช้ คนและความรู้ 
  3. ขาดกลไกสร้างแรงจูงใจให้มหาวิทยาลัยทำงานสนองฝ่ายใช้ (Demand Side)
  4. ขาดความสามารถในการจัดการระบบ (Systems Management Competencies)   ตรงนี้รายงานระบุไม่ชัด  แต่ผมตีความจากรายงานเอามาแยกข้อให้ชัดเจนขึ้น  ข้อสรุปนี้ตรงกับประสบการณ์ส่วนตัวของผม ว่าหน่วยงานราชการที่ทำหน้าที่ดูแลระบบมักไม่มีทักษะเพื่อการทำหน้าที่ของตน   ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อวิเคราะห์ในหน้า ๑๗ ของส่วนรายงานสรุป ว่าความไม่เชื่อมโยงเหล่านี้สะท้อนสภาพความล้มเหลวของนโยบาย (policy failures)   ที่ประเทศไทยควรอย่างยิ่งที่จะต้องเอามาศึกษาวิเคราะห์ต่อ เพื่อแก้ปัญหาหลักนี้   ซึ่งมีทั้งส่วน Systems Governance และ Systems Management   ซึ่งผมขอชี้ว่า corruption มีส่วนเป็นอุปสรรคสำคัญ (ไม่มีในรายงาน)

ระบบ Higher Education Financing  

ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอในรายงานให้ “increased variety of funding sources and strategic use of public funding, often through performance-based allocation and resource targeting.” (๒ บรรทัดล่างของหน้า ๑๘)   และในประเทศไทยเราต้องยุติการจัดสรรงบประมาณตามการวิ่งเต้นเส้นสายและประชานิยมเสียที   การพัฒนาระบบต่างๆ ของประเทศจึงจะดำเนินไปตามเหตุผลและหลักการได้ 

ข้อวิเคราะห์ที่น่าสนใจมากสำหรับประเทศไทยคือ เมื่อเทียบในกลุ่มประเทศเอเซียตะวันออกแล้ว   อุดมศึกษาไทยอยู่ในมือของภาคเอกชนน้อยมาก ในขณะที่ของญี่ปุ่น เกาหลี นศ. ระดับอุดมศึกษาร้อยละ ๘๐ อยู่ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน   แต่ของไทยน้อยกว่าร้อยละ ๒๐  ในขณะที่จำนวนมหาวิทยาลัยเอกชนของเราเกือบร้อยละ ๕๐ (ของญี่ปุ่นและเกาหลี ร้อยละ ๙๐)   เขาบอกว่านโยบายเรื่องนี้ของไทยยังไม่ชัดเจน ซึ่งผมก็เห็นด้วยว่าไม่ชัดจริงๆ หรือผมอยากกล่าวว่า เรายังไม่มีขีดความสามารถทำให้ชัด โดยคำนึงถึงปัจจัยที่จะทำให้มหาวิทยาลัยเอกชนเหล่านี้ มุ่งทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่มุ่งทำกำไร   ไม่มองอุดมศึกษาเอกชนเป็นธุรกิจเพื่อกำไร หรือเพื่อเป็นฐานการเมือง

ผมชอบแนวคิด talent pool ในรายงาน เพื่อเข้าสู่ยุคการพัฒนาประเทศด้วย knowledge และ innovation   ซึ่งต้องการคนมีสติปัญญา ความมุ่งมั่น และจิตใจดี ที่มุ่งทำประโยชน์แก่สังคม  ในฐานะ transformative leaders  ทำอย่างไร อุดมศึกษาของเราจึงจะมีศักยภาพสูงในการทำงานสร้างสรรค์บัณฑิตที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้น   เห็นแก่ตัวน้อย มีความโลภน้อย   ผมเห็นด้วยกับรายงานว่า ต้องทำ หรือสร้างการเปลี่ยนแปลง แบบ systems approach คือทำในประเด็นสำคัญๆ หลายประเด็นไปพร้อมๆ กัน

และชอบ ที่เขาเสนอแนวทางแยกกันเป็นกลุ่มประเทศ  จัดตามระดับรายได้และระดับเทคโนโลยี   ซึ่งประเทศไทยตกอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลาง เทคโนโลยีปานกลาง   มีข้อเสนอแนะที่ตารางที่ ๑๖ ซึ่งผมเห็นด้วยทั้งหมดในหลักการ  โดยที่เราต้องเอามาขยายความและปรับบางส่วนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

ผมชอบข้อเสนอเรื่องการใช้เงินสนับสนุนอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น ต้องทำอย่างมีเป้าหมาย “Countries need strategic frameworks whereby scarce public funds are used for priority areas with high positive externalities—such as supporting research or STEM skills—, to address equity issues, and allocated to enhance institutional performance.” ในหน้า ๒๗ 

ผมชอบข้อความในหน้า ๒๙ Box 3 คำแนะนำสำหรับกำกับดูแลระบบอุดมศึกษา ให้สถาบันมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ๔ ข้อ ได้แก่

  1. ทำความชัดเจนเรื่อง autonomy  ในด้านสาระและด้านกระบวนการ ซึ่งต้องสอดคล้องกัน
  2. แยกบทบาท ๒ ด้านของรัฐบาลต่ออุดมศึกษา : ด้านการจัดการและสนับสนุนเงิน กับด้านนโยบาย
  3. ส่งเสริมความเข้มแข็ง และอำนาจ ของสภามหาวิทยาลัย   ซึ่งรวมทั้งให้สภาฯ มีอำนาจแต่งตั้งนายกสภาฯ  และสภาฯ มีอำนาจแต่งตั้งอธิการบดี
  4. ส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบประกันคุณภาพภายนอก ผ่านนโยบายเปิดเผยข้อมูล  สนับสนุนเงินตามผลการประเมิน performance  และการมี NQF (ของไทยเรียก TQF)   

ผมแปลกใจมาก ที่ทราบว่าเกาหลีประสบความสำเร็จสูงมาก ในการจัดการอุดมศึกษาให้เอกชนนำ   โดยที่มหาวิทยาลัยเอกชนคุณภาพสูง   นักการศึกษาไทยไปดูงานที่เกาหลีกันมากมาย ทำไมไม่ได้ความรู้ข้อนี้มาใช้   และเห็นด้วยกับข้อเสนอในรายงาน ว่าประเทศไทยต้องคิดใหม่ให้ชัดเจนในเรื่องนี้   เราต้องมีวิธีให้ภาคที่ไม่ใช่รัฐเข้ามาร่วมสร้างสรรค์ระบบอุดมศึกษามากกว่านี้   ในลักษณะที่มีกลไกสนับสนุนส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เข้ามาช่วยกันสร้างคุณภาพ และประสิทธิภาพของระบบ   ไม่ใช่เข้ามาแสวงหากำไรหรืออิทธิพลทางการเมือง

ในเรื่องความสัมพันธ์ของภาครัฐ กับมหาวิทยาลัย ไม่ว่ามหาวิทยาลัยของรัฐหรือมหาวิทยาลัยเอกชน นี้   ผมคิดว่าอุปสรรคสำคัญอยู่ที่กระบวนทัศน์ ที่ทางภาครัฐไม่เอาผลงานมองที่คุณภาพและประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรเป็นฐาน   แต่ใช้วิธีคิดเชิงอุปถัมภ์และเส้นสายต่างตอบแทนเป็นฐาน

ผมชอบคำแนะนำเรื่อง UIL (University – Industry Link) แต่คิดว่าสำหรับประเทศไทย คำแนะนำนี้ไม่เพียงพอ   อุดมศึกษาต้องไม่ link เฉพาะ industry  ต้อง link กับอีกหลาย real sectors ในสังคม  และตัวอย่างภาคปฏิบัติที่ดีของ UIL ในประเทศไทยก็มี เช่นที่ มจธ.   และเมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้ไปเห็น ULL (University – Local Authority Link) ที่เชียงราย   ที่วิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านของ มรภ. เชียงรายร่วมมือกับ อบต. ในการสร้างบัณฑิตแพทย์แผนไทย   สำหรับจบออกไปทำงานให้บริการในพื้นที่

คำแนะนำบทบาทใหม่ของรัฐบาลอันมีค่ายิ่งใน Box 6 ทำให้ผมนึกขึ้นได้ว่า สำหรับประเทศไทย ควรมีหน่วยงานอิสระขึ้นมาทำหน้าที่ตามคำแนะนำใน Box 6 นี้   ในทำนองเดียวกันกับที่ภาคสุขภาพ มี สปสช. เป็นหน่วยจัดการการเงิน   และมี สช. เป็นหน่วยจัดการนโยบายสุขภาพ   ซึ่งหมายความว่า ผมไม่เชื่อว่าคำแนะนำตาม Box 6 นี้ หน่วยราชการจะทำหน้าที่นี้เป็น

ผมคิดว่า ยังมีอีกหลายเรื่อง ที่เป็นหัวใจของคุณภาพของอุดมศึกษาไทย   ที่รายงานนี้ยังไม่ได้แตะอย่างชัดเจน  เช่นเรื่อง Student mobility, เรื่องการ reform Learning process ให้บัณฑิตได้เรียนรู้ 21st Century Skills   ซึ่งที่จริงแล้ว ต้องเริ่มตั้งแต่ชั้น ป. ๑ ขึ้นมา     

ตัวอย่างของ Best Practices มีอยู่บ้าง   แต่ผมว่ายังน้อยไป

ขาดการวิเคราะห์ความหลากหลาย และ proper mix และความยกย่องเชื่อถือต่อสถาบันอุดมศึกษาต่างประเภท   ดังตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา มีสถาบันอุดมศึกษาประมาณ ๒ หมื่นแห่ง   แต่เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยเพียงประมาณ ๒๐๐ แห่งเท่านั้น   และมีส่วนหนึ่งเป็น small liberal arts college โดยไม่ต้องใช้ชื่อ university ก็มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับนับถือสูงมาก   ความเข้าใจวัฒนธรรมเชิงระบบ ที่เน้นคุณภาพของจริง เช่นนี้มีส่วนช่วยวิวัฒนาการของระบบอุดมศึกษาไปในทางที่ดีขึ้น   สกัดเส้นทางเน้นชื่อเสียงจากตัวหนังสือที่เป็นความลวง

รายงานนี้ไม่เอ่ยถึงความสามารถในการพึ่งตนเอง (Self-reliance) ของอุดมศึกษา   เอ่ยแต่การพัฒนาอาจารย์โดยใช้ความร่วมมือ  แลกเปลี่ยนอาจารย์กับต่างประเทศ  รวมทั้งความร่วมมือด้านการวิจัย  ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง   แต่คิดว่าแต่ละประเทศต้องสร้างขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านบัณฑิตศึกษา โดยเฉพาะการผลิตปริญญาเอกคุณภาพสูง ขึ้นใช้เองในสัดส่วนที่สูงกว่าส่งไปเรียนต่างประเทศ   ดังกรณีโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก. – Royal Golden Jubilee PhD Program) ของ สกว.  ที่เป็นกลไกยกระดับคุณภาพและขีดความสามารถของระบบอุดมศึกษา รวมทั้งสร้างความยอมรับนับถือในวงการอุดมศึกษาและวงการวิจัยนานาชาติ อย่างได้ผลดียิ่ง 

ด้านการจัดการ Human capital ในอุดมศึกษา ผมเห็นด้วยกับการเน้นหลัก meritocracy ของความก้าวหน้า   แต่รายงานนี้ ขาดมุมมอง วิชาการสายรับใช้สังคม 

ธนาคารโลกย่อมมองจากมุม (อคติ) ขององค์การระหว่างประเทศ ที่มีอิทธิพลของประเทศนายทุนหนุนหลัง   และมุมมองแบบตะวันตก ที่เน้นเพียงพลังของ ศาสตร์ (Science) และศิลป์ (Art)   ผมย่อมมองจากมุม (อคติ) รักชาติ  และมีมุมมองแบบตะวันออก ที่เน้นพลังองค์ ๓ คือ ศาสตร์ ศิลป์ และจิตวิญญาณ (Spirituality)  

โดยสรุป รายงานนี้เป็นรายงานที่ดี คุณภาพสูง และมีประโยชน์ต่อประเทศไทย ในฐานะที่จะเดินไปตามแนวทางของทุนนิยม   แต่ไม่เพียงพอสำหรับใช้งานพัฒนาอุดมศึกษาไทยให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมไทยให้มีดุลยภาพตามแนวทางของเราเอง ที่ต้องไปให้พ้น (beyond) productivity & growth  

ที่จริงเอกสารฉบับร่างนี้มี ๒ ส่วน คือส่วนฉบับเต็ม ๑๙๕ หน้า กับฉบับสรุปย่อ   ผมมีเวลาอ่านเฉพาะฉบับย่อ ๓๓ หน้าเท่านั้น

......................................

วิจารณ์ พานิช

๗ ต.ค. ๕๔

หมายเลขบันทึก: 464130เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2011 05:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 22:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • จากข้อความในบันทึกขอท่าน ความว่า "ที่น่ากังวลก็คือ competency ที่ต้องการในการทำงานในบริษัทกลุ่มที่นักวิจัยของธนาคารโลก (หรือที่เขาอ้างถึง) ไปถาม   จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ   การผลิตบัณฑิตแบบเน้นความรู้หรือเทคนิคเป็นสำคัญ ขาดการเน้น Learning Skills & Attitude จะทำให้บัณฑิตขาดความสามารถในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง   ตอนจบใหม่ๆ ก็ถือว่ามีคุณภาพ   หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปี ก็กลายเป็นคนไม่มีคุณภาพ หากไม่ได้รับการฝึกฝนเพิ่มเติมให้  นี่คือความท้าทายที่สถาบันอุดมศึกษาจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ ให้เน้น 21st Century Learning  เพื่อให้บัณฑิตมี 21st Century Skills ซึ่งมี Learning Skills เป็นประธาน"
  • ทำให้มั่นใจว่างานวิจัยและพัฒนาที่ดิฉันได้ดำเนินการเป็นเวลา 8 ปี (2545-2552) และยังใช้ปฏิบัติในการจัดการเรียนรู้ทุกรายวิชา ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ถูกทาง งานวิจัยดังกล่าว ได้เขียนไว้ใน "http://www.gotoknow.org/blog/ido-idea/434536" เรื่อง "การพัฒนาสมรรถภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียนในยุคสังคม-เศรษฐกิจฐานความรู้" ซึ่งมีความนำ ดังนี้

                  ในปัจจุบันซึ่งเป็น  “ยุคสังคม-เศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based Society and Economy)”  ที่ประเทศทั่วโลกต่างก็ใช้ "ความรู้ (Knowledge) และภูมิปัญญา (Wisdom) เป็นพลังในการขับเคลื่อนทางสังคมและเศรษฐกิจ ส่งผลให้แต่ละประเทศมีการศึกษาวิจัย สร้าง และเผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างไม่ขาดสาย ความรู้ที่มีอยู่ในตำราจึงล้าสมัยไปในเวลาอันรวดเร็ว ผู้ที่เรียนรู้เฉพาะเนื้อหาในตำราและเฉพาะในช่วงเวลาที่เรียนอยู่ในสถาบันการศึกษา โดยไม่เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้หลากหลายรอบตัวในลักษณะของการเรียนรู้ที่เป็นกระบวนการตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ก็จะกลายเป็นคนตกยุค ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับบริบทของสังคม (Social Contexts) ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ และเมื่อสำเร็จการศึกษาออกไปประกอบอาชีพ  ความรู้ที่เรียนมาจากตำราก็จะไม่ทันกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technologies and Innovations) ที่ต้องใช้ในการทำงาน ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพราะมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทุกประเทศจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้าง “สังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning Society)” และการจัดการศึกษาก็ต้องเป็นการพัฒนา “สมรรถภาพในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong  Learning Competencies)” ให้กับผู้เรียน เพื่อให้พวกเขาสามารถปรับตัวให้กลมกลืนกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปได้ด้วยตัวเอง   “สมรรถภาพในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning Competencies)" หมายถึง ลักษณะทางจิตใจ พฤติกรรม และความสามารถที่จะช่วยให้บุคคลเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ลักษณะทางจิตใจ คือ การมีแรงจูงใจในการเรียนรู้ (Motivation to Learn) ลักษณะทางพฤติกรรม คือ การมีพฤติกรรมใฝ่รู้ใฝ่เรียน (Curiosity Behaviors) เรียนรู้ในทุกที่ทุกเวลา จากแหล่งเรียนรู้หลากหลายรอบตัว และลักษณะทางความสามารถ คือ การมีทักษะในการเรียนรู้ (Skills of Learning) หรือ "การเรียนรู้วิธีเรียน: Learn How to Learn" (วิไล แพงศรี : 2553 : 8)   

           

 

 

มีข้อเสนอบางประการไว้พิจารณา

ลดความเห่อฝรั่งลงครึ่งหนึ่ง

ศึกษาความเป็นไทย ภูมิปัญญาชาวบ้าน ครึ่งหนึ่ง

เอาคุณธรรมความเป็นคน แทรกไว้ตรงไหนดีครับ 

  • ชอบคำนี้ "บูชาวิชา"
    สะท้อนอ่อนปัญญาอุดมศึกษาไทย
  • แท้จริงควรบูชา
    "การใช้วิชาช่วยเหลือผู้คน"
  • ให้กินเป็น อยู่เป็น
    เห็นจริงในเหตุแห่งความขัดสน
  • เลือกวิถีพึ่งตน
    ยกระดับความรู้สู่ภูมิปัญญา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท