นรก..มิใช่ใครอื่น


ความสงบที่แท้จริงนั้น หาไม่ได้จากที่ไหน นอกจากใจของเราเอง ที่อื่นๆ นั้นให้ได้แค่ความสงบชั่วคราวเท่านั้น แต่ถ้าใจไม่สงบเสียแล้ว ไม่นานก็ต้องมีเรื่องหงุดหงิดรำคาญใจ ถ้าไม่ใช่กับผู้คนแวดล้อม ก็ดินฟ้าอากาศ ครั้นอยู่คนเดียวก็ยิ่งกระสับกระส่าย กลัวนี่ระแวงนั่น โดยหารู้ไม่ว่าทั้งหมดนั้นเกิดจากการปรุงแต่งของใจที่ไม่อยู่สุข

            นักวิชาการอาวุโสด้านปรัชญาและศาสนาท่านหนึ่ง  เล่าว่าเมื่อครั้งไปศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกา  คราวหนึ่งได้รับมอบหมายจากอาจารย์ที่ปรึกษา ให้ช่วยต้อนรับและดูแลพระธิเบตรูปหนึ่ง ซึ่งได้รับนิมนต์มาบรรยายในมหาวิทยาลัย นั่นเป็นครั้งแรกที่นักศึกษาไทยผู้นี้ได้รู้จักชาวธิเบต ในชั่วเวลาไม่กี่วันที่ได้ดูแลอาคันตุกะจากแดนไกล  เขารู้สึกประทับใจในบุคลิกที่สงบเย็นของท่าน ยิ่งเมื่อได้รับรู้ถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวธิเบต  ก็เกิดความสนใจอยากไปใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในวัดของท่านที่อินเดีย 

            วันสุดท้ายก่อนจากกันเขาจึงปรารภกับท่านว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว อยากไปอยู่กับท่านสักพักหนึ่ง 

            ท่านถามเหตุผลว่าทำไมถึงคิดเช่นนั้น “ผมอยากไปหาความสงบที่นั่น  กรุงเทพฯ ไม่มีความสงบเลย มีแต่ความวุ่นวาย”  นักศึกษาหนุ่มให้เหตุผล

            คำตอบของท่านก็คือ  “คุณรู้ไหม ความสงบที่คุณแสวงหา หากหาไม่ได้ที่กรุงเทพฯ ก็หาไม่ได้หรอกที่วัดของอาตมา”

            คำตอบของพระธิเบตรูปนี้ทำให้นักศึกษาหนุ่มได้คิด และเปลี่ยนใจ  เขากลับเมืองไทยเมื่อสำเร็จการศึกษา  แม้เวลาจะผ่านไปกว่า ๓๐ ปีแล้ว ถ้อยคำดังกล่าวก็ยังประทับแน่นในใจของเขา

            ความสงบที่แท้จริงนั้น หาไม่ได้จากที่ไหน นอกจากใจของเราเอง  ที่อื่นๆ นั้นให้ได้แค่ความสงบชั่วคราวเท่านั้น  แต่ถ้าใจไม่สงบเสียแล้ว ไม่นานก็ต้องมีเรื่องหงุดหงิดรำคาญใจ  ถ้าไม่ใช่กับผู้คนแวดล้อม ก็ดินฟ้าอากาศ  ครั้นอยู่คนเดียวก็ยิ่งกระสับกระส่าย กลัวนี่ระแวงนั่น  โดยหารู้ไม่ว่าทั้งหมดนั้นเกิดจากการปรุงแต่งของใจที่ไม่อยู่สุข

            เสียงคุยของผู้คน เสียงดังจากรถยนต์ รวมทั้งความวุ่นวายจากการงานนั้น เรายังสามารถหนีให้ไกลได้ แต่เสียงบ่นก่นด่าหรือเสียงทะเลาะวิวาท ภายในใจเรานั้น ยากที่จะหนีพ้นตราบใดที่เราไม่มีความสุขภายใน

            มีพุทธพจน์ว่า “สิ่งใดพร่อง สิ่งนั้นดัง สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นสงบ”  ใจที่ไม่สงบนั้นมาจากความว่างเปล่าภายใน นั่นคือ ว่างเปล่าจากความสุข  ว่างเปล่าจากคุณค่าและความหมายของชีวิต เป็นธรรมชาติของใจที่ว่างเปล่า ย่อมแสวงหาสิ่งต่างๆ มาเติมเต็ม แต่แทนที่จะแสวงหาด้วยการหันกลับมาที่ใจของตนเอง เพื่อหยั่งให้ถึงความสุขที่ซ่อนลึกอยู่ภายใน ส่วนใหญ่กลับไปแสวงหาความสุขจากภายนอก โดยเฉพาะความสุขจากการเสพ จากการครอบครองสมบัติและอำนาจ  แต่แล้วก็พบว่าได้เท่าไรก็ไม่เคยพอเสียที เพราะความสุขเหล่านี้ไม่สามารถเติมเต็มจิตใจได้เลย  เนื่องจากเป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืน ชั่วครู่ชั่วยาม กล่าวคือ เป็นสุขตอนที่ได้เสพหรือได้ครอบครองใหม่ๆ  แต่ไม่ช้าไม่นานความสุขเหล่านั้นก็จืดจาง  ต้องไปหามาเสพใหม่หรือหามาเพิ่มอีก

            ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่เศรษฐีแม้มีเงินหลายหมื่นล้าน ก็ยังไม่ยอมหยุดแสวงหาทรัพย์เสียที นอกจากแสวงหาความสุขจากทรัพย์สมบัติแล้ว เรายังอดไม่ได้ที่จะแสวงห ความสุขจากผู้อื่น  ยิ่งว่างเปล่าภายในมากเท่าไร ก็ยิ่งเรียกร้องและคาดหวังจากผู้อื่นมากเท่านั้นว่าจะช่วยทำให้ชีวิตของตนเติมเต็มได้ แต่ได้เท่าไรจึงจะพอ  เพราะแม้แต่ความสุขจากรักอันหวานชื่นยังจืดจางได้ ซ้ำร้ายกว่านั้น หากอีกฝ่ายหนึ่งก็ว่างเปล่าภายในเช่นกัน เมื่อต่างคนต่างเรียกร้องและคาดหวัง ในสิ่งที่อีกฝ่ายไม่มีให้ อะไรจะเกิดขึ้น

            Revolutionary Road เป็นภาพยนตร์เรื่องล่าสุด ที่ตอบคำถามนี้ได้อย่างสะเทือนใจ แฟรงค์และเอพริล เป็นคู่สามีภรรยาที่ดูเหมือนมีทุกอย่างเพียบพร้อม ตามความใฝ่ฝันของคนอเมริกัน  (และของคนสมัยใหม่ทั่วโลก แม้เรื่องนี้จะเกิดเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว) ในวัยแค่ ๓๐ ทั้งสองมีบ้านหลังงามย่านคนมีเงิน มีรถยนต์ซึ่งยังเป็นของมีราคาแพงในสมัยนั้น มีลูกที่น่ารัก ๒ คน  แฟรงค์มีการงานที่มั่นคงรายได้ดี ส่วนเอพริลก็เป็นแม่บ้าน  ใครๆ ชมว่าทั้งคู่เป็นคน “พิเศษ” เพราะมีอนาคตไกล  มีความคิดทันสมัย มีเสน่ห์ และมีครอบครัวที่อบอุ่น

            แต่เบื้องหลังภาพพจน์สดใสที่ผู้คนชื่นชมนั้น  ทั้งสองทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างหนักจนเกือบใช้กำลังกัน ชีวิตคู่ที่เคยหวานชื่นเมื่อแรกแต่งงานกลายเป็นความขมขื่นที่พร้อมจะผิดใจกันได้ทุกเรื่อง สาเหตุนั้นไม่ใช่เพราะสามีขี้เหล้าหรือนอกใจภรรยา ไม่ใช่เพราะภรรยาติดยาหรือติดการพนัน  แต่เพราะลึกๆ ทั้งสองคนไม่มีความสุขกับสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่  แฟรงค์ไม่พอใจงานที่ทำ ส่วนเอพริลก็รู้สึกล้มเหลวกับอาชีพนักแสดง และไม่ชอบงานบ้านที่จำเจ เพราะเชื่อว่าตนเองสามารถทำได้มากกว่านั้น

            ไม่มีใครอยากให้ชีวิตคู่ต้องอับปาง แล้ววันหนึ่งเอพริลก็ได้ความคิดว่า การย้ายไปปารีสน่าจะช่วยให้ครอบครัวกลับมามีความสุขเหมือนเดิม  ที่นั่นเอพริลจะไปเป็นเลขานุการในหน่วยงานระหว่างประเทศ  ส่วนแฟรงค์ก็จะมีเวลาแสวงหางานที่ชอบ แฟรค์ลังเลในทีแรกแต่ก็เห็นด้วยในที่สุด  เมื่อมีความฝันร่วมกัน ชีวิตรักก็สุขสมอีกครั้งหนึ่ง ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้  แต่แล้วกลับมีเหตุที่ทำให้ความฝันของเอพริลพังครืน  แฟรงค์ได้เลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น มีรายได้และสถานะสูงขึ้น  ที่เคยดูถูกงานในบริษัทก็เปลี่ยนเป็นชื่นชม  เขาตัดสินใจไม่ไปปารีส ขณะเดียวกันเอพริลก็เกิดท้องขึ้นมา  เป็นอุปสรรคต่อการไปทำงานที่นั่น และแล้วครอบครัวนี้ก็เวียนกลับมาจมอยู่ในสถานการณ์เดิม  ทะเลาะเบาะแว้งกันหนักขึ้น แล้วในที่สุดก็ลงเอยด้วยเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

            ไม่ว่าจะมีทรัพย์สมบัติเพียบพร้อมเพียงใด แต่หากภายในใจนั้นว่างเปล่าจากความพึงพอใจในชีวิตหรือรู้สึกว่าชีวิตไม่มีคุณค่าเสียแล้ว ก็ยากที่จะมีความสุขได้ และเมื่อไม่มีความสุขภายในแล้ว เราก็สามารถสร้างความทุกข์ให้แก่ผู้อื่นได้เสมอ ดังที่แฟรงค์และเอพริลได้กระทำต่อกัน แต่จะมีกี่คนที่รู้ตัวว่า ตนสร้างความทุกข์ให้แก่ผู้อื่น ส่วนใหญ่กลับมองว่าคนอื่นต่างหากที่สร้างความทุกข์ให้แก่ตน “นรกคือคนอื่น” ซาร์ตเคยกล่าวไว้  ทั้งแฟรงค์และเอพริลก็รู้สึกเช่นนี้ต่อกัน

            ที่น่าเศร้าก็คือ แรกเริ่มเดิมทีทั้งสองคนไม่ได้ทำร้ายจิตใจของกันและกัน  เป็นแต่ไม่ได้สนองความคาดหวังของกันและกันเท่านั้น  คนเราเมื่อไม่มีความสุขภายใน ก็มักเรียกร้องความสุขจากผู้อื่น  แต่เมื่อเขาไม่มีให้หรือไม่ตอบสนองอย่างที่หวัง ความผิดหวังก็ทำให้เราโกรธและสะสมจนกลายเป็นความเกลียด ถึงตอนนี้ก็พร้อมจะมองอีกฝ่ายในแง่ลบ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถลุกลามเป็นประเด็นที่ใหญ่โต จนถึงขั้นพูดจาทำร้ายจิตใจกันได้

            ทุกคนต่างมองไปที่นอกตัวตลอดเวลา  ปัญหาอยู่นอกตัว และทางออกก็อยู่นอกตัวด้วย เอพริลคิดว่าการย้ายไปปารีสจะช่วยให้ชีวิตคู่สงบสุขได้  แต่คำถามก็คือ ถ้าหาความสงบในตัวเองหรือในบ้านของตนไม่ได้  แล้วจะไปหาความสงบที่ปารีสได้อย่างไรการมองว่าสาเหตุแห่งความทุกข์อยู่นอกตัวตลอดเวลา ทำให้เธอสรุปในที่สุดว่าชีวิตคู่คือตัวการที่สร้างความทุกข์แสนสาหัสแก่เธอ การหาทางออกจากทุกข์ด้วยวิธีคิดแบบนี้ นำไปสู่โศกนาฏกรรมในตอนท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้

            ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เพียงเปิดเผยถึงด้านมืดของครอบครัวตัวอย่าง ที่ผู้คนยุคนี้ชื่นชมและใฝ่ฝันตามคตินิยมแบบอเมริกันเท่านั้น  แต่ยังเป็นกระจกอย่างดีที่ชวนให้เราหันกลับมามองตน และใคร่ครวญชีวิตอย่างลึกซึ้งด้วยว่า  ชีวิตที่ว่างเปล่าภายในท่ามกลางทรัพย์สมบัติที่เพียบพร้อมนั้น  สามารถมีความสุขได้แท้จริงหรือ  การเรียกร้องความสุขจากผู้อื่นจะเติมเต็มชีวิตได้หรือไม่  และอะไรที่จะทำให้ชีวิตเติมเต็มได้อย่างแท้จริง

            การเป็นตัวเองอย่างที่เป็น การได้ทำงานที่ตนรัก หรือรักในงานที่ตนทำ  รวมทั้งการทำสิ่งที่มีคุณค่าต่อผู้อื่น  ย่อมช่วยให้คนอย่างแฟรงค์และเอพริลมีความสุขมากขึ้น 

            แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือการหันกลับมามองตน รู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดที่ปรุงแต่ง จนมองเห็นว่าความทุกข์ที่แท้นั้นมาจากใจของตน เมื่อนั้นก็จะพบว่าหนทางแห่งความสงบและความสุขมีอยู่แล้วในใจของตน หากวางใจเป็น ความสุขสงบก็จะปรากฏกลางใจ ที่เคยรู้สึกพร่องหรือว่างเปล่าก็จะรู้สึกเติมเต็ม เมื่อนั้นเสียงบ่นระงมภายในจะเลือนหาย การทะเลาะวิวาทกับผู้คนจะลดลง  เกิดสันติสุขทั้งกับตนและผู้อื่นได้ในที่สุดไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ตาม   …ใช่หรือไม่ว่าสิ่งใดเต็มสิ่งนั้นสงบ 

 

คำสำคัญ (Tags): #ความสงบ
หมายเลขบันทึก: 464128เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2011 04:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

ขออนุโมทนาสาธุ กับบันทึกดีๆนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท