ภารกิจของพิพิธภัณฑ์


มาเรียนรู้เรื่องพิพิธภัณฑ์กันเถอะ

เพื่อนๆ หลายคนคงเคยไปเที่ยวชมตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ มาบ้างแล้วนะคะ  ทราบไหมค่ะว่า  พิพิธภัณฑสถาน  คือ  อะไร  วันนี้เราจะนำความรู้เรื่องพิพิธภัณฑ์มาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังค่ะ  

พิพิธภัณฑ์  มีรากศัพท์มาจากคำว่า  พิพิธ  แปลว่า  ต่างๆ  กัน  ผนวกกับคำว่า  ภัณฑ์  ซึ่งแปลว่า  สิ่งของ เมื่อนำมารวมกันมีความหมายว่า สิ่งของต่างๆ ที่รวบรวมไว้เพื่อประโบชน์ในการศึกษา  และเมื่อเติมคำว่า สถาน  เข้าไปเป็น  พิพิธภัณฑสถาน  จึงมีความหมายว่า สภาบันถาวรที่เก็บรวบรวม  และแสดงสิ่งต่างๆ ที่มีความสำคัญด้านวัฒนธรรม  หรือด้านวิทยาศาสตร์  โดยมีความมุ่งหมาย  เพื่อให้ประโยชน์ต่อการศึกษาเล่าเรียน  และก่อให้เกิดความเพลิดเพิลน  คำว่าพิพิธภัณฑสถาน  ในภาษาไทย  ตรงกับคำว่า  Museum  ในภาษาอังกฤษค่ะ

ภารกิจของพิพิธภัณฑ์

ภารกิจของพิพิธภัณฑ์ มี  6  ประการ  ค่ะ

1. การเสาะแสวงหา  เก็บรวบรวม (Collection) การรวบรวมวัตถุถือเป็นงานสำคัญอีกประการหนึ่งในกิจการของพิพิธภัณฑสถานค่ะ  เพราะถ้าไม่มีวัตถุในการจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานก็เกิดขึ้นไม่ได้  วัตถุต่างๆที่เก็บรวบรวมอยู่ในพิพิธภัณฑสถานเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์  ชีวิตความเป็นอยู่ และศิลปวัฒนธรรม  เป็นต้น

2. การอนุรักษ์  (Conservation) วัตถุที่แสวงหาและรวบรวมมาได้นั้นนะค่ะ  ต้องนำมาอนุรักษ์ตามกรรมวิธีและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  และทางด้านวิชาการ  เพื่อให้วัตถุต่างๆ  เหล่านั้นยังคงอยู่ให้พวกเราได้ศึกษาหาความรู้ต่อไปค่ะ 

3. การศึกษา  ค้นคว้า  วิจัย  (Research) เมื่อมีการอนุรักษ์วัตถุต่างๆ  แล้ว  ต้องมีการศึกษา  ค้นคว้า  และวิจัยเกี่ยวกับวัตถุนั้นๆ  เพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้ค่ะ

4. การบันทึกข้อมูล  (Record) และการจัดทำทะเบียนวัตถุ  ( Registration)  วัตถุต่างๆ ที่เก็บรวบรวมหรือจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต้องมีการจดบันทึกข้อมูลอย่างละเอียด  เช่น  ประเภทวัสดุ  อายุสมัย การได้มา  วันเวลา เป็นต้น  และต้องนำข้อมูลเหล่านั้นมาจัดทำเป็นทะเบียนวัตถุซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่เดียวค่ะ  

5. การจัดแสดง (Exhibition)  เป็นการนำเสนอเนื้อหาทางวิชาการ ซึ่งได้มีการศึกษา  ค้นคว้า  และวิจัย  แล้วนำมาประกอบวัตถุต่างๆ  และเทคนิควิธีการที่ทันสมัย  เพื่อจัดแสดงเป็นนิทรรศการเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับความรู้และความเพลิดเพลินมากที่สุดค่ะ

6. การบริการทางการศึกษา และการประชาสัมพันธ์ (Education  Service)  คือการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ที่พิพิธภัณฑ์รวบรวมมาเป็นองค์ความรู้ให้กับสาธารณชนค่ะ  เช่น  การจัดแสดงนิทรรศการพิเศษ  เอกสารทางวิชาการ  และการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีคงวามสนใจในกิจการของพิพิธภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง  เป็นต้น

พรุ่งนี้มาติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์กันต่อนะคะ

คำสำคัญ (Tags): #บทความวิชาการ
หมายเลขบันทึก: 4591เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2005 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 19:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พี่ชาย คัดมาจากวารสารเมืองโบราณ
บทบรรณาธิการ
(391 คนอ่าน)   หน้าเอกสารสำหรับเครื่องพิมพ์
พิพิธภัณฑ์กับจินตนาการ
ทับหลังสมัยบายนที่กู่โพนระฆัง อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด มีภาพบุคคลสูงศักดิ์ชายและหญิงกำลังนมัสการพระพุทธรูปปางสมาธิ (ภาพ: ประเวช ตันตราภิรมย์)

ปัจจุบันมีความก้าวหน้าในเรื่องการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกันมาก ทั้งของรัฐ องค์กรท้องถิ่น และเอกชน โดยหวังว่าจะเป็นที่รวบรวมบรรดาสิ่งของที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ข้อมูล ความรู้ และภูมิปัญญาของท้องถิ่น เพื่อให้คนภายในได้เรียนรู้และถ่ายทอดแก่คนในรุ่นหลังๆ และในขณะเดียวกัน ก็เพื่อให้คนภายนอกได้เรียนรู้ว่าแต่ละท้องถิ่นต่างก็มีความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์สังคมที่แตกต่างกันไป อันจะมีผลให้เกิดความเข้าใจในการที่จะมีชีวิตอยู่ร่วมกันในชาติบ้านเมือง และในโลกได้อย่างสันติสุข

ข้าพเจ้าคิดว่าความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เกิดขึ้นใหม่และเป็นแนวใหม่ กับบรรดาพิพิธภัณฑ์ทั้งของรัฐและเอกชนที่มีมาแต่ก่อน ก็คือการเน้นให้ผู้มาดูพิพิธภัณฑ์ได้รับสิ่งที่เป็นความหมายและความรู้จากสิ่งของที่จัดแสดงขึ้นในพิพิธภัณฑ์นั้นๆ เพราะพิพิธภัณฑ์แบบก่อนนั้นมักไม่ให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างความรู้และให้ความรู้ หากโชว์แต่รูปแบบและสิ่งของที่ตั้งแสดง ว่าสวยงาม เก่าแก่ และมีคุณค่าอย่างไรเป็นสำคัญ

ข้าพเจ้าและมูลนิธิเล็ก – ประไพ วิริยะพันธุ์ ได้มีส่วนในการร่วมมือกับชาวบ้าน วัด และองค์กรท้องถิ่น ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ มาไม่น้อยในช่วงกว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมา ได้ตระหนักว่า พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นคือกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่งของทั้งคนภายในท้องถิ่น และคนที่มาจากภายนอก เช่นข้าพเจ้าและคณะ จึงเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ แก้ไข ต่อเติมอยู่ตลอดเวลา เพื่อทำให้พิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่ที่ไม่หยุดนิ่ง จนทำให้คนที่มาดู มาเพียงครั้งเดียวแล้วไม่มาอีก

แต่การที่จะคิดอะไรใหม่ๆ แล้วนำมาแก้ไขเพิ่มเติมให้เกิดสิ่งใหม่ๆ และการเคลื่อนไหวได้นั้น ถ้าหากอาศัยประสบการณ์จากการไปเห็นการจัดการและการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ตามที่ต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศด้วยก็จะดี

เผอิญเมื่อเร็วๆ นี้ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปทัศนศึกษาในเรื่องภูมิวัฒนธรรมในประเทศเพื่อนบ้าน ที่เขมร พม่า เวียดนาม และลาว เพื่อดูการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของประเทศเหล่านี้ ได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ของเขาในบางแห่ง ทำให้เกิดความเข้าใจและการเรียนรู้ใหม่ๆ ขึ้นมา

บรรดาพิพิธภัณฑ์ของประเทศเพื่อนบ้านที่เห็นนี้ ก็ยังคงเป็นแบบเดิมที่ทำกันมานานแล้ว ไม่มีอะไรที่วิลิศมาหราในเรื่องเทคนิคของการจัดแสดงอย่างของเราแต่อย่างใด อีกทั้งก็เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าเคยได้ไปเห็นมาก่อนแล้วด้วย แต่ว่าครั้งนั้นไม่ได้สังเกต หรือเกิดสะกิดใจอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา

แต่ในครั้งนี้ โดยเหตุที่มุ่งศึกษาในเรื่องของการให้ความหมายและความรู้จากสิ่งที่แสดงในพิพิธภัณฑ์เป็นเรื่องสำคัญ จึงได้พบว่าท่ามกลางความล้าหลังทางเทคนิคในการจัดแสดงสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ของประเทศเพื่อนบ้านนั้น ปรากฏว่าเขามีอะไรที่ให้ทั้งความรู้ ความหมาย และ ความเพลิดเพลินทางจินตนาการ ได้ดีกว่าพิพิธภัณฑ์หลายๆ แห่งของเรา

นั่นคือเขาสามารถนำเอาเรื่องราวในตำนาน เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ และความรู้ทางประวัติศาสตร์มาผูกเป็นเรื่อง อธิบายด้วยภาพเขียน รูปจำลอง และการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งแสดงในหนังสือนำชมได้ดี

พิพิธภัณฑ์ในประเทศเวียดนามมีความถนัดเป็นพิเศษในเรื่องการจำลองเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เช่นการทำสงครามป้องกันบ้านเมืองกับจีน มาจัดแสดงด้วยภาพเขียนสีอย่างพาโนรามา (Panorama) ที่สามารถสร้างความเพลิดเพลินและจินตนาการในเรื่องความรักชาติได้อย่างดียิ่ง

ในขณะที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นส่วนใหญ่อยู่ในวัด และเป็นส่วนหนึ่งของวัด มักแสดงการเล่าเรื่องเหตุการณ์ในตำนาน และเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ด้วยภาพจิตรกรรมบนฝาผนังและบนแผ่นคอสองของศาสนสถาน หรือไม่ก็แสดงด้วยหุ่นจำลองในอาคารภายในวัด ทำให้แลเห็นความเป็นมาของท้องถิ่น ผู้คน ความเชื่อ และสภาพแวดล้อมได้ดี

เพราะบรรดาภาพหรือรูปจำลองเหล่านั้น สามารถนำไปจินตนาการเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อม และสังคมวัฒนธรรมของผู้คนในท้องถิ่นได้ไม่ยาก

ข้าพเจ้าแลเห็นความสำคัญในเรื่องตำนานเป็นอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งที่สร้างความเพลิดเพลิน ตื่นเต้น และจินตนาการให้กับเด็กๆ ได้ไม่น้อย ทำให้นึกถึงพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงให้มีลักษณะคล้ายการแสดง บรรยายเรื่องด้วยภาพ แลเห็นพายุที่ทำให้เรือแตก พระมหาชนกกำลังแหวกว่ายในทะเลหลวง และนางมณีเมขลามาช่วย ดูคล้ายกันกับภาพแสดงประวัติของวัดและท้องถิ่น ในตำนานที่กล่าวถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ ที่ต้องผจญกับการกระทำของพญานาค ยักษ์ และอสูร อะไรทำนองนั้น

ทั้งหลายนี้ทำให้ข้าพเจ้าตาสว่างขึ้นมาในเรื่องที่ว่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นไม่ควรเป็นสถานที่ให้ความรู้ ความหมายในลักษณะที่แห้งแล้ง ด้วยการเสนอให้เห็นความรู้และความเป็นจริงแบบวิชาการมากเกินไป ควรมีการผูกเรื่องในตำนาน ความเชื่อ หรือเหตุการณ์ในท้องถิ่นให้มีลักษณะเพลิดเพลิน จนเกิดจินตนาการได้ เพราะจะทำให้พิพิธภัณฑ์กลายเป็นสถานที่ซึ่งผู้คนสามารถมาหาความรู้ได้อย่างเพลิดเพลิน แตกต่างจากการไปหาความรู้ที่โรงเรียนและตามสถาบันการศึกษาต่างๆ
ดังนั้น การทำให้ผู้มาชมพิพิธภัณฑ์เกิดจินตนาการจึงเป็นเรื่องสำคัญ

แต่จินตนาการจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีความเพลิดเพลินก่อน เพราะฉะนั้น การแสดงบางอย่างในพิพิธภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องเป็นการแสดงความเป็นจริงเสมอไป ถ้าพิพิธภัณฑ์ใดเน้นในเรื่องการเสนอความรู้ ความเป็นจริงแต่อย่างเดียว ก็จะได้รับความสนใจเฉพาะแต่จากผู้คนที่กระหายความรู้เพียงกลุ่มเดียว จะไม่เป็นที่สนใจของคนกลุ่มอื่นๆ
โดยเฉพาะพวกเด็กๆ

เพราะคนเหล่านี้จะแลเห็นความจริงและความรู้ที่นำมาแสดงในลักษณะแห้งแล้งและเป็นเสี่ยงๆ แต่ถ้าหากภาพแสดงในลักษณะที่เป็นตำนานจนเกิดความเพลิดเพลินแล้ว ก็จะเป็นสิ่งที่จุดประกายความสนใจในเรื่องความจริงและความรู้ได้

ความเพลิดเพลินก่อให้เกิดจินตนาการในเรื่องอยากรู้ อยากเข้าใจ และเป็นกลไกที่สำคัญในการเชื่อมโยงบรรดาความรู้และความจริงที่เป็นเสี่ยงๆ นั้น ให้เป็นองค์รวมแห่งความรู้และความจริงได้

ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงพนมเปญนั้น ข้าพเจ้าเคยไปหลายหน และเห็นว่าเป็นสถานที่แสดงศิลปวัตถุเช่นเดียวกับบรรดาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในเมืองไทย แต่ครั้งนี้มีการปรับปรุงขึ้นนิดหนึ่ง เพราะมีการนำเอาโบราณวัตถุสมัยฟูนัน – เจนละ มาตั้งแสดงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรูปสลักหินพระนางทุรคาในศิลปะแบบพนมดา ซึ่งนับเนื่องเป็นของในสมัยฟูนันตอนปลายต่อสมัยเจนละ รวมทั้งมีการนำรูปเทวสตรีในศาสนาฮินดูและพุทธมหายานในสมัยหลังๆ ทั้งยุคก่อนเมืองพระนคร และสมัยเมืองพระนครมาแสดงให้แลเห็นความต่อเนื่องด้วย

แต่ที่สำคัญ คือได้พิมพ์หนังสือนำชมสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ขึ้นใหม่เล่มหนึ่ง มีชื่อว่า พระนางเทวี (Preah Neang Tévi) ผู้เขียนและผู้รวบรวมเป็นนักวิชาการเขมร ทว่าทั้งเรื่องสื่อด้วยภาษาฝรั่งเศส แต่ที่ทำให้ผู้อ่านที่มีความรู้ภาษาฝรั่งเศสงูๆ ปลาๆ แบบข้าพเจ้าพอจับความได้ ก็เนื่องจากมีภาพประกอบขาวดำช่วยเสริมให้

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ดี ทำให้เกิดความเข้าใจและจินตนาการแก่ข้าพเจ้าเป็นอย่างมาก เพราะทำให้เข้าใจสิ่งที่ตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์อย่างเชื่อมโยงได้ชัดเจน ตั้งแต่ชื่อ “พระนางเทวี” ก็เป็นสิ่งแสดงให้เห็นการเน้นประเด็นในเรื่องของเทวสตรี ซึ่งเข้ากันได้กับการนำรูปเคารพของนางทุรคาและระบบสัญลักษณ์ของแต่ละสมัยมาแสดงต่อกับรูปเคารพของพระอุมา พระลักษมี และนางปรัชญาปารมิตาในสมัยต่างๆ ของสมัยเมืองพระนคร

แต่ในที่สุดแล้ว ก็มาจบลงที่รูปเคารพของพระลักษมีและนางปรัชญาปารมิตา อันเป็นตัวแทนของพระนางศรีชัยราชเทวี ผู้เป็นมเหสีของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗
คำว่า “พระนางเทวี” อันเป็นชื่อของหนังสือเล่มนี้ จึงหมายถึงศรีชัยราชเทวีนั่นเอง

นอกจากการแสดงสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ด้วยรูปเคารพที่มาจากศาสนสถานในสมัยต่างๆ แล้ว ก็ยังมีการนำศิลาจารึกมาจัดแสดง เพราะเป็นประเพณีของนักปราชญ์เขมรที่สืบทอดมาจากพวกฝรั่งเศส ที่ใช้เรื่องราวในศิลาจารึกมาผูกให้เป็นความรู้และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

จารึกสำคัญที่ให้ความรู้เกี่ยวกับศรีชัยราชเทวีก็คือจารึกที่ปราสาทพิมานอากาศ อันเป็นศาสนสถานที่ตั้งอยู่กลางพระบรมมหาราชวังของกรุงยโสธรปุระ เป็นจารึกที่พระนางศรีอินทรเทวี ผู้เป็นพระเชษฐภคินีของศรีชัยราชเทวีโปรดฯ ให้จารึกเล่าเรื่องไว้ โดยมีความสำคัญที่ว่า ศรีชัยราชเทวีเป็นพระมเหสีพระองค์แรกของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ตั้งแต่ครั้งดำรงพระยศเป็นเจ้าชายวรมัน และยังไม่ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ในช่วงเวลาดังกล่าว พระองค์เสด็จไปทำสงคราม ณ ดินแดนจามเป็นเวลาช้านาน พระนางศรีชัยราชเทวีทรงเป็นห่วงและเป็นทุกข์ถึงพระสวามี จึงทรงบำเพ็ญศีลภาวนาเป็นกุศลให้พระสวามีปลอดภัย แต่เมื่อพระเจ้าชัยวรมันเสด็จกลับมาและได้ครองราชย์ไม่นาน ศรีชัยราชเทวีก็สิ้นพระชนม์
ต่อมา พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ก็ทรงสถาปนาศรีอินทรเทวี ผู้เป็นพระเชษฐภคินีเป็นพระมเหสี

พระนางทรงมีความรู้ปราดเปรื่อง เป็นปราชญ์ของแผ่นดิน ได้ทรงบำเพ็ญกุศลถวายแก่ศรีชัยราชเทวี สร้างจารึกเล่าเรื่องราวของพระนางไว้

การบำเพ็ญกุศลให้ด้วยความรักของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ และพระนางอินทรเทวีนี้เอง คงทำให้เกิดการสร้างภาพเหมือนของศรีชัยราชเทวีให้เป็นทั้งนางปรัชญาปารมิตา อันเป็นศักติของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และพระลักษมี อันเป็นชายาของพระวิษณุ สิ่งนี้ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงการนับถือทั้งพุทธมหายานและฮินดูที่ดำรงอยู่ร่วมกันในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗

แต่สิ่งสำคัญก็คือการสะท้อนให้เห็นความรักสามเส้าที่งดงาม ระหว่างพี่สาวกับน้องสาว และระหว่างสามีกับภรรยา
ในความรับรู้ของข้าพเจ้าจากการได้เห็นและได้อ่าน ทำให้เกิดจินตนาการเชื่อมโยงได้หลายเรื่อง

เรื่องแรก คือเชื่อมกับภาพเหมือนของพระเจ้าสูรยวรมันที่ ๒ ที่พบบนผนังระเบียงปราสาทนครวัด

ข้าพเจ้าคิดว่าภาพเหมือนของพระองค์มีปรากฏถึงสามภาพ ภาพแรก ทรงประทับบนพระราชอาสน์ ภาพที่สอง ทรงยืนบนหลังช้าง และภาพที่สาม ทรงเป็นพระวิษณุในการกวนเกษียรสมุทร ซึ่งก็มีบางท่านเพิ่มอีกภาพหนึ่ง คือภาพที่ทรงเป็นพระยม ที่เรียกว่าธรรมราชา ประทับบนหลังควาย

การเกิดการสร้างภาพเหมือนให้พระมหากษัตริย์เป็นเทพเจ้านี้ คงย้อนหลังขึ้นไปถึงรัชกาลของสูรยวรมันที่ ๒ และต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลชัยวรมันที่ ๗

ส่วนเรื่องที่สอง เกี่ยวกับปราสาทพิมานอากาศอันเป็นสถานที่พบศิลาจารึก ทำให้ต้องคิดคำนึงไปถึงปราสาทแห่งนี้ว่าน่าจะเป็นศาสนสถานที่ไม่เหมือนกับเทวาลัยอื่นๆ ของเมืองพระนครเป็นแน่ คือเป็นศาสนสถานที่มีความสัมพันธ์กับสตรีค่อนข้างโดดเด่น นั่นก็คือกระเดียดไปทางลัทธิตันตริกค่อนข้างมาก

ลัทธิตันตริกนั้นมีที่มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว เมื่อเกิดศาสนาใหญ่ๆ ขึ้น คติและลัทธิตันตริกก็หาได้หมดไปไม่ ยังแทรกซึมอยู่ในศาสนาใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นฮินดูหรือพุทธมหายาน จึงเป็นสิ่งขับเคลื่อนให้สตรีกลายเป็นเทวสตรีที่มีบทบาทในการจรรโลงโลก ทั้งพระนางทุรคา พระนางกาลี พระลักษมี และนางปรัชญาปารมิตา คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจน

ดูเหมือนมีศิลาจารึกของขอมเอง ทั้งในสมัยยโศวรมัน ผู้สร้างเมืองพระนครในพุทธศตวรรษที่ ๑๕ และในสมัยชัยวรมันที่ ๗ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ที่กล่าวถึงการแต่งงานของพระนครกับแผ่นดิน เพื่อทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ขึ้น

เนื้อความเช่นนี้ได้สะท้อนให้เห็นในบันทึกของโจวต้ากวน ที่เข้ามาเมืองพระนครใน พ.ศ.๑๘๓๙ อันเป็นปีที่สร้างนครเชียงใหม่ ว่าพระมหากษัตริย์ขอมจะต้องไปบรรทมกับนางนาคที่ปราสาททองในพระราชวังทุกคืน ถ้าหากวันใดที่ไม่ไปหลับนอน ก็หมายถึงวันนั้นเป็นวันสวรรคตของพระมหากษัตริย์

ปราสาททองนี้คือพิมานอากาศอย่างไม่ต้องสงสัย คงเป็นศาสนสถานสำคัญในคติทางตันตริกที่แทรกอยู่ในทั้งฮินดูและพุทธมหายาน ที่มุ่งเน้นความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองที่เคยมีมาแต่สมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์แล้ว

ถ้าหากข้าพเจ้าจะต้องจัดแสดงอะไรในพิพิธภัณฑ์ให้เป็นที่สะดุดตาสะดุดใจ และจุดประกายความสนใจของคนชมแล้ว ข้าพเจ้าคงไม่มานั่งอธิบายความรู้ความจริงในคติทางศาสนาแต่อย่างใด แต่จะนำเอาเรื่องกษัตริย์สมสู่กับนางนาคมาสร้างภาพให้เห็น ก็จะทำให้สื่อไปถึงความหมายที่แท้จริงได้

เรื่องกษัตริย์สมสู่กับนางนาคนี้ ไม่พบเฉพาะจดหมายเหตุของโจวต้ากวนเท่านั้น ในตำนานไทยก็มีแพร่หลาย เช่นเรื่องกำเนิดพระร่วงสุโขทัย ที่เกิดจากการสมสู่ของกษัตริย์กับนางนาค เป็นต้น
นี่แหละคือเรื่องของจินตนาการ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท