ใช้"PBL"สอนสิ่งแวดล้อม


ผมจัดการเรียนรู้ด้วยPBL(Project Based Learning หรือ Problem Based Learning)ในวิชาชีววิทยา เรื่องสิ่งแวดล้อม ให้กับ ม.6/1 ที่มีหน้าที่รับผิดชอบมาอย่างต่อเนื่องจะเข้าปีที่ 4 แล้ว เน้นให้นักเรียนคิดเองทำเองทั้งหมด โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือหลัก เริ่มตั้งแต่ระบุปัญหา ตั้งสมมติฐาน ตรวจสอบ วิเคราะห์ข้อมูล จนกระทั่งสรุปเป็นองค์ความรู้

การสอนชีววิทยา ภาคเรียนสุดท้ายของชั้น ม.6/1 ปีนี้ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการศึกษาสิ่งแวดล้อม ผมตั้งใจจะไม่ใช้หนังสือเรียนของสสวท.เป็นหลัก เหมือนการสอนชั้นอื่นๆ เพราะอยากลอง อยากทดสอบการจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญแบบร้อยเปอร์เซนต์เต็ม เพราะลึกๆแล้วเชื่อเหมือนคนอื่นว่า การเรียนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ใช้ประสบการณ์ตรง ด้วยเหตุการณ์จริง ใช้ปัญหาจริงเป็นตัวตั้ง จะทำให้นักเรียนมีความสนใจ เอาใจใส่ต่อการเรียนรู้มากกว่าการเรียนจากตำรา หรือจากทฤษฎีที่มีอยู่ในหนังสือ

 (ที่มา : คลองสวยน้ำใส ตอน 1)

ปีแรกที่ตัดสินใจเลือกวิธีนี้นั้น อย่างหนึ่งที่จะเปลี่ยนตัวเองและเปลี่ยนการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างมหาศาลเลยก็คือ วางตำราหรือวางทฤษฎีลง แล้วมาเรียนรู้สิ่งแวดล้อมจากปัญหาหรือสภาพจริงที่พบแทน สภาพแวดล้อมในชุมชนของนักเรียนเอง เป็นสิ่งที่เล็งไว้ตั้งแต่แรกว่า จะยกให้เป็นสื่อการเรียนรู้ที่สำคัญสุดของวิชานี้ เห็นความจริงเหมือนกับหลายท่านครับ เราเรียนเราสอนกันแต่เนื้อหาสาระ สอบเสร็จก็ลืม ตัวเราเองก็เถอะ ถึงคราวไปทำงานจริง จำเนื้อหาอะไรไม่ได้ ซึ่งเป็นอย่างนี้บ่อย(ฮา) ก็เปิดค้นเอาจากตำราอยู่ดี โดยเฉพาะในสภาพปัจจุบัน ที่ทุกคนสามารถค้นหาความรู้ต่างๆได้อย่างง่ายดายจากอินเทอร์เน็ต

ปีแรกนับว่าประสบความสำเร็จมาก เด็กอยากทำอะไร ผมมีหน้าที่เห็นด้วยทุกประการครับ แม้บางเรื่องจะไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ก็เงียบกริบลูกเดียว วัดใจกันเลยระหว่างศิษย์กับครู(ฮา) แน่จริงหรือไม่ อยากและกล้าจะทำจริงหรือเปล่า ครูจะคอยดู(ผลงาน) อาทิ พวกแกตกลงจะทำโครงการคลองสวยน้ำใสขึ้นมา เพื่อเป็นตัวอย่างรณรงค์ให้ประชาชนละแวกนั้น หรือผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนักเห็นความสำคัญ อันจะก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในการดูแลรักษาคลองข้างวัด ซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์ สำหรับครู เด็กๆคิดได้ขนาดนี้ ก็ยิ้มแป้นเลยสิครับ แต่มาติดใจตรงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน พวกแกวางแผนจะขอความอนุเคราะห์จากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโน่นเลย ครูอย่างผมคับข้องใจตรงนี้ครับ อยากจะให้ทำเท่าที่ตัวเองมีศักยภาพ โดยไม่หวังพึ่งพาคนอื่น ยิ่งเป็นนักการเมืองด้วยแล้ว แต่มิได้ปริปากอะไรเลยนะครับ แถมขับรถไปส่งด้วย วันที่ตัวแทนห้องนัดพบนายกอบต. และท่านก็สนับสนุนงบประมาณเต็มที่ ตามที่เด็กๆนำเสนอครับ

ปีถัดมาจำได้ว่า โรงเรียนมีกิจกรรมเยอะมาก และมักจะเป็นวันที่เรียนวิชานี้พอดี ทำให้การเรียนรู้ หรือการติดตามผลดำเนินการตามโครงงานของนักเรียนไม่ปะติดปะต่อ รายงานสรุปเมื่อสิ้นเทอมที่นักเรียนส่ง จึงไม่เข้มข้นเท่าที่ควร อาจเพราะตัวครูเองไม่ค่อยมีโอกาสเห็นการปฏิบัติจริงของนักเรียนด้วย อันเนื่องมาจากเวลานั่นเอง

สำหรับปีล่าสุด คือเมื่อเทอมที่แล้ว ผลงานนักเรียนเมื่อเทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าเรื่องที่แต่ละกลุ่มสนใจและเลือกศึกษานั้น ลงลึกและมีรายละเอียดยิ่งขึ้น อาจเป็นเพราะก่อนจะลงมือทำจริง เรามีเวลาในชั้นเรียน ได้ร่วมวิพากษ์วิจารณ์ความถูกต้องของโครงงานที่แต่ละกลุ่มออกแบบไว้มากขึ้น

ต้นเทอม ผมเริ่มจากแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3-4 คน ให้สังเกต ถ่ายภาพ และบันทึกสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน กลุ่มละ 3-4 เรื่องตามจำนวนสมาชิก แล้วนำเสนอเพื่อนในชั้นให้ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆกันด้วย จากนั้นจะร่วมวิเคราะห์ความรุนแรงและความสามารถในการแก้ไข เพื่อเลือกปัญหาจะศึกษาแค่เรื่องเดียว ขั้นตอนต่อไปต้องระบุปัญหา ตั้งสมมติฐาน และออกแบบการตรวจสอบ แล้วนำเสนอให้ครูและเพื่อนในชั้นแสดงความคิดเห็น กลุ่มใดมีข้อควรปรับปรุง ต้องกลับไปแก้ แล้วนำมาเสนอใหม่ จนทุกอย่างเหมาะสม จึงจะสามารถลงมือปฏิบัติงานได้ ขั้นตอนของการแสดงความเห็นต่อการออกแบบของเพื่อนกลุ่มอื่นตามที่กล่าวมานั้น นักเรียนผมยังทำไม่ค่อยได้ครับ ครูจึงต้องออกแรงมากในช่วงนี้

ต่อจากนั้น เราจะหาเวลาในชั่วโมงเรียนหนึ่งครั้งหรือสองชั่วโมง เพื่อตระเวนดูสถานที่จริง ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาของแต่ละกลุ่มพร้อมกันด้วย เจ้าของสถานที่หรือกลุ่มนั้นๆ ต้องเป็นเจ้าภาพที่ดี เล่าความเป็นมาเป็นไป สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นให้ทุกคนฟัง เป็นการเรียนรู้ร่วมกันอีกครั้ง และพอสิ้นภาคเรียน ทุกกลุ่มต้องเขียนรายงานสรุปส่ง

เพื่อให้เห็นภาพ ขอยกตัวอย่างความรู้ที่ได้จากการศึกษาสิ่งแวดล้อมของลูกศิษย์กลุ่มหนึ่งครับ พวกแกเลือกศึกษาปัญหาน้ำเน่าเสียในทางระบายน้ำข้างถนน ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากโรงเรียนนัก 

สาเหตุของน้ำเสีย เกิดจาก..

1.พื้นที่ของทางระบายน้ำสูง-ต่ำไม่เท่ากัน ทำให้น้ำไม่ไหลเวียน

2.เกิดจากคนในชุมชนปล่อยของเสีย จำพวกขยะ น้ำเสีย สารเคมี ลงสู่แหล่งน้ำ ขยะที่ทิ้งบริเวณใกล้ทางระบายน้ำ เกิดจากผู้คนที่สัญจรไปมา

ค่าออกซิเจนละลายในน้ำ(DO)

1.ค่า DO ของน้ำบริเวณชุมชน เท่ากับ 7.5 mg/L

2.ค่า DO ของน้ำบริเวณท้องนา เท่ากับ 7 mg/L

ทั้งน้ำบริเวณชุมชนและท้องนาจัดเป็นน้ำประเภทที่ 1 คือ เป็นน้ำที่ไม่มีมลพิษเจือปน เพียงนำมาฆ่าเชื้อด้วยคลอรีน หรือต้มเดือด ก็สามารถนำมาใช้ได้

(ขั้นตอนการทดลอง อาจมีความผิดพลาด ค่าที่วัดได้ จึงตรงข้ามกับความเป็นจริง)

ค่าความเป็นกรด-เบส(pH)

1.ตรวจค่า pH ของน้ำบริเวณชุมชนได้  7 (เป็นกลาง)

2.ตรวจค่า pH ของน้ำบริเวณท้องนาได้  8 (เป็นเบส)

การเฝ้าสังเกต พบว่า..

1.การทิ้งขยะของคนในชุมชน จะมาทิ้งที่ถังขยะหน้าบ้าน แล้วจะมีรถเก็บขยะขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่างมาเก็บไปทำลายอีกที

2.บริเวณข้างทาง บริเวณใกล้เคียง และในทางระบายน้ำ จะมีขยะอยู่เรื่อยๆ ถึงแม้จะเก็บไปแล้วก็ตาม ส่วนใหญ่เกิดจากคนที่สัญจรไปมา ขยะส่วนใหญ่อยู่บริเวณข้างทาง ในทางระบายน้ำมีน้อยมาก

 

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เคยบันทึกไว้ ทักษะของคนในศตวรรษที่ 21 นั้น ต้องเรียนรู้ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ไปจนถึงมหาวิทยาลัย และตลอดชีวิต ด้วย 3R และ 7C สำหรับ 3R หมายถึง Reading, 'Riting, 'Rithmetics ส่วน 7C หมายถึง Critical thinking & problem solving, Creativity & innovation, Cross-cultural understanding, Collaboration(teamwork & leadership), Communications(information & media literacy), Computing & ICT literacy, Career & learning skills

จะว่าไปแล้วชั้นเรียน ม.6/1 เรื่องสิ่งแวดล้อมของผมตามที่กล่าวมา ถ้าจะขาดก็น่าจะเพียงArithmetics(เกี่ยวกับเลขคณิต) กับCross-cultural understanding(ความเข้าใจสังคมข้ามวัฒนธรรม) แต่ถ้าคิดถึงขั้นตอนการหาค่าDOน้ำ ซึ่งต้องมีการบวกลบตัวเลข หรือก่อนที่นักเรียนจะเขียนรายงานออกมาเป็นเล่มได้ ก็น่าจะผ่านการสืบค้นเรื่องน้ำเสีย หรือสิ่งแวดล้อมอื่นตามปัญหาของแต่ละกลุ่มจากอินเทอร์เน็ตมาแล้ว ก็น่าจะผ่านหูผ่านตามาบ้าง ว่าต่างประเทศมีปัญหาเหมือนบ้านเราหรือไม่ แล้วมีวิธีการจัดการอย่างไร ด้วยวัฒนธรรมของเขา

หากมองเข้าข้างวิธีจัดการเรียนรู้ด้วยPBLของตัวเองอย่างนี้(ฮา) ก็พอกล้อมแกล้มครับ ว่าลูกศิษย์ผมก็ได้ฝึกทักษะของคนในศตวรรษที่ 21 ครบแล้วกับเขาเหมือนกัน

หมายเลขบันทึก: 457974เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2011 09:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2015 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ขอบคุณค่ะ อ่านด้วยความเพลิดเพลินเจริญใจของการเรียนรู้นอกห้องเรียนเช่นนี้ ขอชื่นชมค่ะ :)

อยากให้ลูกได้เรียนกับอาจารย์จังเลยค่ะ :)

*** ทักษะของคนในศตวรรษที่ 21 หากนักเรียนมีพื้นฐานของ Self-Learning ก็คงจะทำให้ Project Based Learning สำเร็จสมบูรณ์ได้ง่ายขึ้น นักเรียนบ้านกร่างช่างโชคดี ที่มี อ.ธนิตย์

สวัสดีค่ะ

แวะมาอ่านบันทึกนี้ค่ะ

พร้อมกับมาชมภาพกิจกรรมดีๆ ค่ะ

เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจมากค่ะ

ขอบคุณสำหรับเรื่องราวที่นำมาแบ่งปันนะคะ

ขอบคุณค่ะ^^

สมกับเป็นครูชีวจริงๆเลย  เพราะถ้าเราสอนแต่ในบทเรียนสิ่งที่เด็กได้รับจะไม่

เต็มร้อย  แต่หากเพิ่มเติมการเรียนรู้นอกห้องเรียนเข้าไปด้วย  จะช่วยให้เด็ก

รู้จักคิดรู้จักสังเกต  แล้วผลที่ได้จะเกินร้อยนะคะ

ชื่นชมกับวิธีการเรียนการสอนแบบนี้ค่ะ....

 

  • เยี่ยมมากๆครับพี่
  • เด็กๆได้เรียนรู้จากของจริง
  • ได้แก้ปัญหาจริง
  • ขอชื่นชมครับ เย้ๆ

เพียงภาพ  ก็ชัดเจนว่า ไม่มีที่ใดปราศจากการเรียนรู้ และการเรียนรู้ด้วยตนเองในวิถีนั้นๆ คือการเรียนรู้อันแน่นหนักที่จะนำพาไปสู่การเป็นปัญญาปฏิบัติ

ชื่นชมครับ

มาชื่นชมการจัดการเรียนรู้ของอาจารย์ค่ะ

ถือเป็นความโชคดีของเด็กบ้านกร่างวิทยาคม

ที่มีอาจารย์ทันสมัยอย่างอาจารย์ธนิตย์ค่ะ

เป็นกำลังใจในการสร้างโอกาสให้เด็กต่อไปนะคะ

แวะมาเยี่ยมชมผลงาน และพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครับ

อย่าลืม ! นำบล็อกนี้เข้าแพลนเน็ตของท่าน ด้วยนะครับ

 

เยี่ยมจังเลยค่ะครู

เด็กๆสนใจเรียน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท