การเขียนเพื่อการจัดการความรู้ (3) : สร้างทัศนคติการเขียน....


ควรต้องเริ่มต้นจากการสร้าง "ทัศนคติเชิงบวก" ที่เกี่ยวกับการเขียนให้กับตัวเองเสียก่อน มิเช่นนั้นหากมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเขียน ก็คงยากยิ่งต่อการที่จะ “เขียน” หรือ “ลงมือที่จะเขียน”

ในการเขียนเพื่อการจัดการความรู้  หรือแม้แต่การเขียนเพื่อการสื่อสารนั้น  หากจะให้ยืนยันว่าขั้นตอนใดเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด  ผมเองคงไม่สามารถระบุ หรือชี้ชัดได้เลย  เพราะไม่ว่าจะเป็น (1) ขั้นการเตรียมการเขียน (2) ขั้นการเขียน และ (3)  ขั้นปรับแก้ ก็ล้วนสำคัญไม่แพ้กัน  เพราะขั้นตอนทั้งสามล้วนมีความสำคัญไม่หยิ่งหย่อนไปกว่ากัน  ต่างมีสถานะเป็น “พระเอกและนางเอก” ของเรื่องเหมือนกัน


ด้วยเหตุนี้ในทุกๆ ขั้นตอนของการเขียน ผู้เขียนจึงจำต้องพิถีพิถันและใส่ใจ ราวกับปลูกต้นไม้ที่แสนรักนั่นแหละ

 

หากเปรียบการเขียนเหมือนการปลูกต้นไม้  ขั้นเตรียมการเขียน ก็คงไม่ต่างไปจากขั้นตอนของการ “เตรียมดินและเตรียมกล้าไม้” 

การเตรียมดินให้มีสภาพพร้อมและเหมาะสมกับพันธุ์ไม้ที่จะนำมาปลูก  ย่อมง่ายต่อการช่วยให้กล้าไม้หยั่งรากและเติบโต   

หากเป็นเช่นนั้นจริง  การเตรียมดินที่ว่านั้นก็คล้ายกับการได้วางรากฐานที่ดี เหมือน “เริ่มต้นดี ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง” 

ฉะนี้แล้วเมื่อเตรียมการเขียนได้เป็นอย่างดี  ย่อมส่งผลให้ผลงานที่เขียนขึ้นมีคุณค่าต่อผู้อ่าน และสังคมไปโดยปริยาย
 

 

สำหรับขั้นการเตรียมการเขียนนั้น  ผมถือว่าเป็นขั้นตอนของการ “กำหนดเป้าหมาย” หรือ กำหนดประเด็นอันเป็น “ความรู้” ที่ต้องการสื่อสารไปยังผู้อ่าน  -

แต่ด้วยเหตุที่ว่าคนจำนวนไม่น้อยต่างมีทัศนคติโน้มเอียงว่าตนเองไม่ค่อย “มีความรู้”  หรือถึงแม้จะมีความรู้อยู่บ้าง  ก็มักจะไม่มั่นใจกับกระบวนการที่จะ “เขียนความรู้” เพื่อสื่อสารออกสู่สังคม  รวมถึงหวั่นวิตกว่า “เขียนแล้วจะไม่มีคนอ่าน”  จนที่สุดก็ไม่ลงมือเขียนอะไรเลย !

 

เฉกเช่นกับการบรรยายในที่ต่างๆ  ผมก็มักสะท้อนประเด็นการเขียนที่ว่าด้วยขั้นเตรียมการเขียนไว้ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) สร้างทัศนคติที่ดีแก่ตัวเอง  (2)  สั่งสมประสบการณ์ผ่านการฟัง การอ่าน  (2)  ฝึกเขียนให้เป็นกิจวัตร/วัฒนธรรม  (4) เลือกประเด็นที่จะเขียน

 

สร้างทัศนคติที่ดี : เชื่อในศักยภาพของมนุษย์


โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า “ทัศนคติ”  เป็นเสมือนเข็มทิศในการกำหนดทิศทางของชีวิต เพราะทัศนคติจะเป็นตัวกำหนดการกระทำของผู้คน 

การเขียนเพื่อการสื่อสาร หรือการเขียนเพื่อการจัดการความรู้ก็เช่นเดียวกัน ก็ควรต้องเริ่มต้นจากการสร้าง "ทัศนคติเชิงบวก" ที่เกี่ยวกับการเขียนให้กับตัวเองเสียก่อน  มิเช่นนั้นหากมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเขียน  ก็คงยากยิ่งต่อการที่จะ “เขียน” หรือ “ลงมือที่จะเขียน”

 

ด้วยวิธีคิดเช่นนั้น  ในเวทีต่างๆ  ผมจึงมักเริ่มต้นจากการโยนคำถามง่ายๆ ให้ผู้ร่วมกระบวนการทั้งหลายได้ลอง "ทบทวน" ที่จะ "ตอบคำถาม" กับตัวเองเสมอว่าแต่ละคนมองการเขียนในความหมายใด?  เขียนเพื่ออะไร?  หรือมีความเชื่อเกี่ยวกับการเขียนในทำนองใดบ้าง ?

 

คำถามเหล่านั้น เป็นเสมือนการ BAR เพื่อการสำรวจทัศนคติที่มีต่อการเขียนของผู้เข้าร่วมกระบวนการ  เพื่อให้รู้ว่าแต่ละคนคิดอย่างไร?  เขียนเพื่ออะไร? เชื่อมั่นกับการเขียนแค่ไหน?  หรือแม้แต่การพยายามส่องกล้องสำรวจว่า “ทำไมถึงไม่เขียน” !

 

แต่อย่างไรก็ดี  เพื่อให้ประเด็นดูมีน้ำหนักและชวนน่าเชื่อถือ  ผมก็มักสะท้อนกลับอย่างหนักแน่นในมุมของผมว่า  การเขียนเพื่อสื่อสาร หรือเพื่อการจัดการความรู้นั้น คนเราต้องเริ่มจากการเชื่อว่าและศรัทธาว่า “ไม่มีที่ใดปราศจากความรู้” หรือ “ไม่มีที่ใดปราศจากการเรียนรู้” หรือ “โลกใบนี้คือคลังความรู้ของชีวิต”

 

การคิดในทำนองนี้เป็นความคิดเชิงบวก  โดยมีนัยสำคัญสองอย่างควบคู่กันไป นั่นก็คือ (1) ทุกหย่อมหญ้าเป็นแหล่งความรู้ (2) มนุษย์เป็นผู้มีความรู้ ...

 

โดยเฉพาะประเด็นหลังนั้น  ผมถือว่าสำคัญมาก เพราะมันสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่ามนุษย์คือสัตว์โลกที่มี “ศักยภาพ” มี “การเรียนรู้” มี “ความรู้” เป็น “นักถอดบทเรียน” หรือ “นักจัดการความรู้” ชั้นเลิศของโลกเลยทีเดียว  ซึ่งการถ่ายทอดความรู้ของมนุษย์นั้นก็ถือเป็นหัวใจ หรือกลไกของการพัฒนาตนเองและสังคมอย่างมหัศจรรย์เลยทีเดียว !

 

ดังนั้น หากคนเราเชื่อในประเด็นเหล่านี้ ก็เป็นเสมือนการปลุกเร้าให้เกิด "แรงบันดาลใจ" ที่จะเขียนอะไรๆ ได้ง่ายขึ้น  เพราะมุมมองที่ว่านั้น คือการย้ำให้รู้สึกว่าเราต่างล้วนมี “ทุน” ที่จะ “เขียน” อยู่ในตัวเองด้วยกันทั้งนั้น  โดยอาจเริ่มต้นจากการเขียนในมุมเล็กๆ ของตัวเอง เช่น การเขียน "บันทึกประจำวัน" อันเป็นจดหมายเหตุชีวิตของตัวเองนั่นแหละ

 

 

 

สร้างทัศนคติที่ดี : เชื่อในอานุภาพของการเขียน


ในทำนองเดียวกันนั้น  นอกจากจะชวนให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการได้สะท้อนทัศนคติเกี่ยวกับการเขียนแล้ว  ผมก็ไม่ลืมที่จะ “เปิดเปลือยทัศนคติของตัวเอง” ที่มีต่อการเขียนด้วยเหมือนกัน  เป็นการเปิดเปลือยเพื่อนำไปสู่การ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้” ร่วมกับผู้เข้าร่วมกระบวนการ  เพื่อก่อให้เกิดการสื่อสารสองทางและเกิดสภาวะการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม


โดยหลักๆ แล้วผมมักเปิดเปลือยทัศนคติของตัวเองให้ดูหนักแน่นด้วยหัวข้อประมาณว่า “พลังของการเขียน” หรือไม่ก็ “อานุภาพของการเขียน”  และ “พลานุภาพของการเขียน” ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักสะท้อนเป็นวาทกรรมในทำนองว่า

 

  • การเขียน คือ เครื่องมือ/วัฒนธรรมการสื่อสาร
  • การเขียน คือ จดหมายเหตุของโลกและชีวิต
  • การเขียน คือ การบ่มเพาะให้ชีวิตเกิดผลึกความคิด (ประสบการณ์/บทเรียน)
  • การเขียน คือ ศิลปะบำบัด ชำระจิตใจ /จิตวิญญาณ
  • การเขียน คือ บันไดสู่ความเป็นนักปราชญ์  (สุ จิ ปุ ลิ)
  • การเขียน คือ การสอนงาน สร้างทีม
  • การเขียน คือ การทบทวนชีวิต เพื่อให้ค้นพบตัวตนของตัวเอง
  • การเขียน คือ ตัวช่วยในการเรียนรู้ต่อสิ่งรอบตัว ทั้งเก่าและใหม่...
  • การเขียน คือ การบำบัดชีวิตและองค์กร
  • การเขียน คือ การบันทึกเกร็ดความรู้ในแต่ละวัน
  • การเขียน คือ การทำพินัยกรรมความรู้สู่สาธารณะ 
  • การเขียน คือ การสร้างจดหมายเหตุชีวิตและองค์กรของตัวเอง

 

ครับ, ทัศนคติหรือมุมมองของผม ฟังดูเป็นมุมบวกล้วนๆ  ซึ่งก็ด้วยวิธีคิดเช่นนี้แหละ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนเพื่อการสื่อสารธรรมดาๆ  หรือการเขียนเพื่อการจัดการความรู้ ผมจึงไม่รู้สึกหวั่นวิตกกับการที่จะ “เขียน” หรือ “ลงมือที่จะเขียน” 

และเพราะเชื่อและศรัทธาเช่นนั้นเอง ผมจึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดผ่านการเขียน ... มิหนำซ้ำยังย้ำเน้นอย่างหนักแน่นแถมท้ายเสมอว่า  การเขียนคือกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานของชีวิต (Transformation) เลยทีเดียว เพราะการเขียนจะก่อให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า Presence  หรือ “สติรู้อยู่กับปัจจุบัน” อย่างไม่ต้องสงสัย  ซึ่งถ้ามีเวลาคงได้วกกลับมาพูดถึงสองประเด็นนี้อีกครั้ง

 

แต่ที่แน่ๆ แล้วท่านละครับ มีทัศนคติเช่นใดกับการเขียนบ้าง...
ลองถามตัวเองอีกสักครั้งว่า ทำไมถึงต้องเขียน เขียนเพื่ออะไร มองการเขียนอย่างไร หรือ “ทำไมถึงยังไม่ลงมือเขียน” เสียที

เพราะหากคุณมีคำตอบในคำถามเหล่านั้น  คุณก็จะรู้และไม่กังขาเลยว่า ทัศนคติย่อมมีสถานะเป็นเข็มทิศในการเขียนอย่างแน่นอน

 

 

ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่ว่าด้วยการ สั่งสมประสบการณ์ผ่านการฟัง การอ่าน,ฝึกเขียนให้เป็นกิจวัตร/วัฒนธรรม และการเลือกประเด็นที่จะเขียนนั้น  เอาเป็นว่าค่อยติดตามในบันทึกต่อไปก็แล้วกัน

 

 

หมายเลขบันทึก: 452746เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2011 00:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (28)

ชัดเจน แจ่มแจ้ง ทรงพลัง

ยังติดใจ...การฝึกเป็นกิจวัตร และเลือกประเด็น

รออ่าน ๆ นะคะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ ทพญ.ธิรัมภา

ขอบพระคุณที่แวะมาให้กำลังใจในกลางดึกที่คล้อยไปสู่วันใหม่นะครับ
โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่าคนราจะทำอะไรสักอย่างนั้น เกี่ยวโยงกับวิธีคิด และทัศนคติอย่างชัดเจน  การเขียนก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน หากเรามีทัศนคติที่ไม่ดีกับการเขียน เช่น ยาก,ซับซ้อน,  ก็เหมือนพรากตัวเองออกห่างไปจากการจะ "ลงมือเขียน" ...

แท้ที่สุดเรามี "ทุน" อันเป็น "วัตถุดิบ" ที่จะเขียนกันทุกคน  แค่เปลี่ยนมุมคิดเป็นเชิงบวกสักนิด ก็สามารถเขียนอะไรๆ ได้อย่างง่ายดาย  อย่างน้อยก็เริ่มจาก "บันทึกประจำวัน" เลยก็ได้  เพราะถือเป็นเรื่องใกล้ตัว  เป็นการสื่อสารกับตัวเอง ทบทวนตัวเอง และเป็นมุมมองของเราที่มีต่อโลกและชีวิตด้วยเหมือนกัน...

ขอบพระคุณครับ

ส่วนใหญ่พี่จะเขียน เพื่อทบทวนชีวิต และบันทึกไว้เพื่อความทรงจำค่ะ

  • ดีจังเลยครับ
  • ได้ทบทวนฝึกการเขียน
  • ปกติผมจะเขียนเรื่องการไปทำกิจกรรม เขียนเรื่องการทำงานเพื่อเอาไปแลกเปลี่ยนกับครูอาจารย์และผู้สนใจ
  • เขียนที่อย่างที่อยากเขียนแล้วมีความสุขครับ
  • ขอบคุณครับ

อรุณสวัสดิ์ค่ะ..เป็นแนวคิด แนวปฎิบัติที่น่าสนใจมากค่ะ..พี่เองจะเน้นการบันทึกเพื่อการสร้างแรงบันดาลใจด้วย ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของรูปธรรมที่ไม่ใกลเกินเอื้อมค่ะ :)

"ทำงาน ทบทวน คิด ลิขิต สร้างนิมิตร พัฒนา" มาคารวะ เพื่อนร่วมอุดมการณ์ ครับ

สวัสดีครับ พี่แก้ว..อุบล จ๋วงพานิช

ไม่ว่าจะเขียนเพื่อ "ทบทวน" หรือ "ความทรงจำ" ใดก็ตาม ที่สุดแล้วก็เป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่วันยังค่ำ  ยิ่งเขียนบ่อยๆ ผมก็ยิ่งเชื่อว่ายิ่งเติบโต ยิ่งเขียนโกทูโนบ่อยๆ ยิ่งเห็นกระบวนทัศน์ตัวเองไปชัดเจนขึ้น

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

การเขียนเรื่องราวกิจกรรมที่อาจารย์ได้จัดขึ้นนั้น เป็นการ "ทบทวน" ความรู้และแนวปฏิบัติและปัญญาไปในตัว ขณะเดียวกันก็เป็นการบันทึกเป็นจดหมายเหตุชีวิตตัวเองไปด้วย  มิหนำซ้ำยังกลายเป็นข้อมูลในการแลกเปลี่ยนกับผู้ที่เกี่ยวข้อง บางทีครูอาจารย์ต่างๆ ก็ได้นำกลับไปปรับประยุกต์ใช้ต่อไป  โดยไม่จำเป็นต้องให้อาจารย์กลับไปลงแรงกระบวนการอีกก็ยังได้เลยนะครับ เรียกได้ว่า บันทึกของอาจารย์เป็นคัมภีร์ที่มอบไว้ให้กับโรงเรียนนั่นแหละ

ชื่นชมและเป็นกำลังใจให้เสมอ นะครับ

ครับ พี่นงนาท สนธิสุวรรณ

การเขียนบนพื้นฐานรูปธรรมที่สามารถเป็นไปได้นั้น  ผมถือว่าสำคัญมาก ผมเรียกมันว่าการเขียนในระยะสุดสายตา ซึ่งเดี๋ยวจะเขียน หรือเล่าในครั้งหน้าครับ

 

สวัสดีครับ อ.JJ

การเขียนสามารถนำไปใช้กับกระบวนการประกันคุณภาพและการจัดการความรู้ได้เป็นอย่างดีครับ เพราะเป็นการบันทึกเชิงสังเคราะห์ หรืออย่างน้อยก็บันทึกว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร...และพบเจออะไร  ขับเคลื่อนอย่างไร

ขอบพระคุณครับ

 

การเขียนคือการทำแผนที่อะไรบางอย่างเกี่ยวกับการเดินทาง

เรียกร้องให้เราจารึกเส้นทาง

คริสตินา บอล์ดวิน

มีงานเคลื่อน KM. กับสถาบันธรรมรัฐ. และ สกว. สสส. ที่บ้านเปร็ดใน จ.ตราดครับ. งานนี้ยาวเลย ๒ปี อาจต้องอาศัยพึ่งพาแรงจากกัลยาณมิตรไปช่วยชุมชนในการ training ในทักษะบางทักษะด้วยครับ

ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ

เรียนท่านอาจารย์

  • ขอบคุณที่แบ่งปันนะคะคุณยายขออนุญาตนำไปบอกต่อด้วยค่ะ

เมื่อมองบล็อกที่เขียน

จากอดีตถึงปัจจุบัน

แล้วเห็นพัฒนาการทางสังคมของตัวเองคะ..

ขอบคุณสังคม G2K ที่ทำให้คนคนหนึ่งได้กลับตัวกลับใจ (สังคมยังให้อภัย :-)

สวัสดีครับคุณเอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

เห็นด้วยตามนั้นครับ การเขียนคือการจารึกเรื่องราวแห่งการเดินทาง, เรื่องราวในเส้นทางมักชวนหลงใหลและเก็บกำมาจารึกไว้เป็นความทรงจำและการเติบโตของผู้คนเสมอ

ส่วนการลงพื้นที่ หรือเวทีอื่นใดระหว่างเรานั้น ผมยินดีร่วมเรียนรู้ครับ เพราะมันคือกระบวนการของการเติบโตของผมและทีมงานไปในตัว  สำคัญก็คือมันคือกระบวนการเรียนรู้ที่จะแบ่งปัน "บางสิ่งบางอย่าง" ...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ

 

สิ่งที่เขียนยังน้อยนิดมากครับ  ดูจะไม่เป็นวิชาการเอาซะเลย แต่ก็เขียนจากสิ่งที่ตนเองค้นพบ จึงพยายามเล่าในสไตล์ที่ตนเองถนัด  มีอะไรแนะนำก็ยินดีรับฟังนะครับ

สวัสดีครับ พี่มนัสดา

ตอนนี้ผมพยายามนำแนวคิดทำนองนี้เข้าไปบูรณาการในการเขียนประกันคุณภาพและ กพร.เน้นการเขียนคล้ายสารคดี อ่านสนุก มีสาระ และย้ำในสิ่งที่มี ...เสนอในสิ่งที่ทำ

ยินดีมากครับหากบันทึกนี้พอจะมีประโยชน์ต่อใครๆ บ้าง...

ขอบคุณครับ

พี่พนัสคะ

หนูขอลงชื่อรอติดตามอ่านบันทึกซีรีส์ การเขียนเพื่อการจัดการความรู้  ค่ะ ^_^

ขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีครับ CMUpal

โกทูโน เป็พื้นที่ดี หรือพื้ีนที่คุณภาพในทางปัญญามากเลยครับ
นอกจากในทางวิชาการแล้ว เรื่องราวมิตรภาพของผู้คนก็โดดเด่นและมีค่าไม้แพ้เจตนาดั้งเดิมของการ "แลกเปลี่ยนเรียนรู้" ในเรื่อง "การงาน" ...

ผมเองก็เคยเขียนกลอนนิยามความหมายถึงสิ่งบางสิ่งในโกทูโนเหมือนกัน  ซึ่งลิงค์ในบันทึกนี้ นะครับ  http://www.gotoknow.org/blog/pandin/449429

โกทูโนสอนให้รู้ (เอง) ว่า
เขียนให้รู้ค่าการสั่งสม
เขียนให้รู้ค่าการชื่นชม
เขียนเพื่อความสุขอุดมแห่งปัญญา


เขียนเพื่อชำระตัวตนอันหม่นเศร้า
เขียนเพื่อผ่อนเบาความเหนื่อยล้า
เขียนเพื่อให้รู้การพึ่งพา
เขียนเพื่อศรัทธาของชีวิต


ต่างคนต่างเขียนต่างนิยาม
ต่างเขียนต่างก้าวข้ามพรหมลิขิต
การเดินทางของถ้อยคำย้ำความคิด
สื่อพันธกิจทางใจไร้พรมแดน ...

...
เป็นกำลังใจให้นะครับ

สวัสดีครับ มะปรางเปรี้ยว

ขอบคุณที่เกาะติดบันทึกนะครับ สัญญาว่าจะพยายามเขียนให้ดีที่สุดและต่อเนื่องที่สุด ขอบคุณครับ

ไม่ได้มีโอกาสไปเรียนรู้กับครู(คน)ไหน

ที่เขียนไปแค่เพราะใจบอกให้เขียน

หากจะมีโอกาส..........ได้ร่ำเรียน

หรือว่าใครชวนแลกเปลื่ยนก็ยินดี

"ขอบคุณ...นายแผ่นดินที่แบ่งปันค่ะ"

เรียนท่านอาจารย์

  • พี่มีดอกไม้มาเป็นกำลังใจด้วยค่ะ
  • ขอให้มีความสุขกับการทำงานและสร้างสรรสิ่งดีๆสู่ชาวมหาสารคามต่อไปนะคะ

สวัสดีค่ะอาจารย์ การเขียนเป็นสิ่งที่ฝึกความกล้าในทางความคิดค่ะ เพราะถ่ายทอดความทรงจำอันล้ำค่า..และฝึกความอดทน เป็นอย่างดีค่ะ ขอบคุณค่ะที่ช่วยเสริมแรงใจให้คนที่กำลังเริ่มต้นนะคะ

สวัสดีครับ Oraphan

ผมเองก็ไม่มีโอกาสได้อบรม หรือเรียนว่าด้วยการเขียนโดยตรงครับ  เพียงแต่ใช้ทุนภายในตัวเองที่สะสมไว้มาใช้นำทางเท่านั้นเอง นั่นก็คือ การอ่าน, ซึ่งเดิมผมเป็นคนติดหนังสือมาก ขึ้นรถลงเรือไปเหนือล่องใต้ก็พกหนังสือติดตัวไปเสมอ อ่านจบเล่มบ้างไม่จบเล่มบ้าง แต่หนังสือก็ทำให้เราเพลิน..เพลิดเพลินและไม่โดดเดี่ยว อ่านมากๆ ก็อยากเขียนโน่นนี่ขึ้นมาครับ

ยินดีนะครับหากจะมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกันต่อไป

สวัสดีครับ พี่มนัสดา

ขอบพระคุณที่แวะมาให้กำลังใจนะครับ
และก็ขอให้กำลังใจเช่นกันครับ
เราต่างล้วนเป็นอิฐคนละก้อนที่เป็นส่วนประกอบของผืนแผ่นดินนี้...

 

สวัสดีครับ อ.Rinda

การเขียน เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ต้องฝึกฝนและอดทน  แต่เมื่อสิ้นสุดกระบวนการ หรือทะลุกำแพงแห่งการเริ่มต้นได้แล้ว ความหนักที่ว่านั้น จะกลายเป็นความงดงามที่เราและคนรอบกายได้รับกำนัลคืนกลับมานะครับ

เป็นกำลังใจให้ครับ...

ถูกต้องเลย

ทุกๆสถานที่มีความรู้ทั้งนั้น ไม่มีที่ใดไม่มีความรู้ แม้แต่ในพื้นหญ้าก็ยังให้ความรุ้ได้

มนุษย์เป็นผู้ที่ต้องเรียนรู้ในสิ่งนั้นๆ ไม่มีที่ไหนจะละสิ่งที่ไม่รู้ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท