การศึกษาไทยบนฐานชีวิตและวัฒนธรรมไทย ตอนที่ ๑ ทำไมไม่ใช้พระนักพัฒนาช่วยในการปฏิรูปการศึกษา


บทความที่แล้วผมเขียนเกี่ยวกับ การกลับมาของ "บวร" บ้าน-วัด-โรงเรียน และได้ทิ้งท้ายว่า พระนักพัฒนาที่มีความรู้ น่าจะเป็นกำลังสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาไทยได้ดี เพราะแน่นอนว่าท่านเป็นผู้มีปัญญา (ที่ประกอบด้วยศีล ท่านเป็นคนดี) ท่านมีเวลา และส่วนใหญ่ท่านมีจิตอาสาเต็มเปี่ยม

ประถมเหตุของความมั่นใจนี้ คือการได้มีโอกาสได้ร่วมทำงานส่งเสริมให้นิสิตได้ทำโครงงานความดี กับพระอาจารย์มหาพงศ์นรินทร์ ฐิตวํโส ดังที่ได้เขียนในกระทู้แรกในบล็อกนี้ ในใจตรึกคิดตลอดว่า ถ้าเรามีพระนักพัฒนาอย่างท่านสัก 100 หรือ 1000 หรือจังหวัดละ 2 รูป การปฏิรูปการศึกษาบนฐานความดี (เพราะเขาใช้คำว่า เก่ง ดี มีสุข และเห็นหลายที่ใช้ คุณธรรมนำความรู้) จักต้องประสบความสำเร็จแน่นอน ใจที่เข้าถึงแก่นธรรม หรือ "ใจบวร" (แปลว่าใจประเสริฐ ซึ่งคนที่มีใจประเสริฐก็คือคนที่สมบูรณ์) ต้องเกิดขึ้นในผู้นำของสังคมไทยแน่ๆ ในอนาคต

หลักการและเหตุผลที่ต้อง(สร้าง)พระนักพัฒนา

1) มีตัวอย่างชัดเจนว่า มีแล้วดี เช่น พระอาจารย์มหาวุฒิชัย วชิรเมธี พระมหาพงศ์นรินทร์ ฐิตวํโศ พระไพศาล วิสาโล ฯลฯ ท่านเหล่านี้เป็นพระนักพัฒนา เป็นผู้นำพาสังคมและเยาวชนทำในสิ่งที่ดี ท่านเป็นบัณฑิต ท่านเป็นคนดี ย่อมนำพาเยาวชน นิสิต นักศึกษา นักเรียน ทำดีแน่นอน ทำไมไม่ส่งเสริมให้มีแบบนี้เยอะๆ

2) คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะปัญญาชนคนรุ่นใหม่ หันมาปฏิบัติธรรมกันเยอะ ถึงแม้ว่าเทียบเป็นเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วจะไม่มาก แต่นับว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าหลายปีก่อนนัก โดยเฉพาะการหันมาเรียนรู้ดูกาย  ดูจิต ดูใจ เจริญสติภาวนา เนื่องจาก มีความมั่นใจ และปฏิบัติแล้วเห็นผลกับตนเอง อีกทั้งมีพ่อแม่ครูอาจารย์ วัดป่าหลายรูปพิสูจน์และยืนยันให้เห็นแจ้งประจักษ์ว่า "ตราบใดที่ยังมีผู้ปฏิบัติอยู่ มรรคผลนิพพานย่อมมีอยู่" เช่น หลวงตามหาบัว และลูกศิษย์หลวงปู่มั่นอีกหลายสิบองค์ หลวงพ่อเทียน หลวงพ่อพระครูเกษม และ โดยเฉพาะหลวงพ่อคำเขียน และพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชโช ที่เผยแผ่ให้คนไทยได้เข้าถึงแก่นของพระพุทธศาสนาได้มากขึ้นๆ ผู้ปฏิบัติหลายท่านสละชีวิตฆราวาทออกผนวชบวชเป็นพระ มุ่งปฏิบัติ อุทิศตนทำความดีแต่เพียงถ่ายเดียวตลอดชีวิต ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีจำนวนไม่น้อยเลย แต่ละท่านล้วนแต่มีการศึกษาทางโลกสูงๆทั้งนั้น อีกทั้งผู้คนที่มีศรัทธาที่ยังไม่ได้บวชเพราะยังมีภาระทางโลกอยู่ก็ไม่น่าจะน้อย พระผู้ปฏิบัติและผู้คนนักปฏิบัติเหล่านี้เป็นคนดี ล้วนมีจิตอาสาเต็มเปี่ยม หากเปิดโอกาสให้ท่านเข้ามามีบทบาทในการปฏิรูปการศึกษา ต้องไปได้ ผู้เขียนเชื่อว่า ต้องไปได้ดีแน่ๆ

3) โดยวัฒนธรรมคนไทยยังให้ความเคารพพระ ยังมีสัมมาคารวะต่อพระสงฆ์อยู่มาก จึงนับว่ามีทุนเดิมทางด้านความเชื่อถือ

4) แนวทางนี้จะประหยัดงบประมาณอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับการจ้าง "วิทยากร" ที่มีความรู้ดี แต่หลายคนเป็นคนไม่ดี เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่า และที่ว่า "ความรู้ดีนั้น" เป็นความรู้ในตำรา ที่อ่านมาจากต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้พัฒนามาบทฐานของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบคนไทย

5) ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าการพัฒนาการศึกษาต้องเน้นด้านวิชาการสู่สากล แต่การศึกษาบนฐานทุนนิยม ฐานกิเลส ความอยากได้ การแข่งขันทางวัตถุ โดยไม่ได้พึ่งต้นเอง และไม่เลือกวิธีนั้น ไม่ยั่งยืน การศึกษาที่ยั่งยืนและทำให้คนไทยมีความสุขได้ น่าจะพัฒนามาบนฐานของชีวิตและวัฒนธรรมของคนไทย เหมาะสมกับทรัพยากรภูมิประเทศ ภูมิปัญญาเดิมของเรา แล้วนำวิชาการสากลมาต่อยอดให้ดีขึ้นด้วยการศึกษาวิจัยในสิ่งที่เรามีเราเป็นอยู่ สู่การพึ่งตนเองได้ และความภาคภูมิใจในตนเองในที่สุด คงไม่ต้องอธิบายว่าสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร เพราะทุกคนรู้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ส่วนใหญ่ไม่ลงมือทำเท่านั้นเอง

6) การวิจัยเพื่อพัฒนาทางการศึกษาน่าจะเน้นแบบเชิงพื้นที่มากกว่า (ดังที่ สกว.ทำอยู่ในโครงการ ABC) ส่งเสริมให้เกิดการเผยแพร่ผลงาน และส่งเสริมให้เกิดการอ่านผลงานของเพื่อนๆ ภายในพื้นที่เดียวกันให้มากขึ้น ปัจจุบันเน้นการตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่ง ทั้งๆ ที่ครูส่วนใหญ่ของไทยอ่านภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่อง ถ้าเป็นพระนักพัฒนาที่ฝึกฝนกลยุทธ์การทำ KM การเรียนการสอนแบบ โครงงาน แบบ ฤาษี แบบ พ่อสอนลูก แบบพาลุย อะไรก็แล้วแต่ที่ซึ่งล้วนทำด้วยใจ ด้วยใจจริง (จิตอาสา)  (ไม่ได้บรรยายธรรมะภาษาบาลีที่เด็กๆ เบื่อ) พร้อมๆ กับการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้เชิงพื้นที่ขึ้นมาหนุนเสริมด้วย อันหลังนี้ผู้เขียนกำลังทำอยู่

7) พระท่านสามารถสร้างเครือข่ายกับชาวบ้านผู้ปกครองของนักเรียนได้ดีกว่าเรา บ้าน-วัด ย่อมเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า ผู้อำนวยการออกหนังสือเชิญ

8) ....ผมว่าให้ผมเขียนเหตุผล.....ผมสามารถเขียนได้อีกเยอะ แต่ข้อเสียคือ ....ผมเขียนจากความคิด ไม่ได้เขียนจากประสบการณ์ผู้ปฏิบัติ....  ใครมีประสบการณ์เชิญเข้ามาแลกเปลี่ยนครับ

วันนี้ขอพักไว้เท่านี้นะครับ วันหลังจะมานำเสนอวิธีการต่อไป

หมายเลขบันทึก: 452739เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2011 23:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 21:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

บวร...ในวันนี้เปลี่ยนรูปลักาณ์ไปจากอดีต

บ...บ้าน
วัด ...วัด
ร...โรงเรียน และส่วน "ราชการ" ในท้องถิ่นนั้นๆ

...

ทุกวันนี้ วัดแต่ละวัดในหมู่บ้าน  แทบไม่มีสามเณรเลยก็ว่าได้ ยกเว้นวัดในเมืองใหญ่ๆ ที่เป็นสถานศึกษา จะมีสามเณรจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อการสร้างสรรค์ ธำรงไว้ซึ่งศักยภาพของความเป็น "ว : วัด" ด้วยหมือนกัน

คิดถึงมุขปาฐะในอดีตกาล มีตำนานเล่าขำๆ เกี่ยวกับพระและสามเณรที่ชิงไหวชิงพริกกันอย่างสนุก ได้สาระแก่นคิดเตือนใจ สอนคุณธรรมไปแบบเนียนๆ...

ขอบคุณครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท