การได้มาซึ่งภาษา (language acquisition)


ทฤษฎีการเรียนรู้ภาษาของมนุษย์เป็นพื้นฐานสำคัญของการทำความเข้าใจกระบวนการพัฒนาการสื่อสาร

มาร่วมสร้างประชาคมการสอนภาษาไทยให้มีหลักการ มีทฤษฎีและมีชีวิต 

 

เฉลิมลาภ ทองอาจ

 

          คำว่าการได้มาซึ่งภาษาเป็นคำที่แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า language  acquisition  ซึ่งหากจะใช้คำอื่นก็คงเทียบได้กับคำว่า  “การรู้ภาษา”  หรือ “การเกิดภาษา”  หมายถึง กระบวนการที่บุคคลคนหนึ่งเรียนรู้และพัฒนาความเข้าใจภาษาแม่  ทั้งในเรื่องเสียงและโครงสร้างไวยากรณ์ กระทั่งสามารถที่จะใช้ภาษาในการสื่อสารได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่นๆ ในสังคม แม้ว่าองค์ความรู้ในเรื่องนี้จะค่อนข้างซับซ้อน  แต่ครูภาษาไทยก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎี        การได้มาซึ่งภาษาในเด็ก ซึ่งจะช่วยให้สามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ  เกี่ยวกับการใช้ภาษาของผู้เรียนได้

 

          การศึกษาแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการได้มาซึ่งภาษาทำให้เราทราบว่า  เด็กได้มาซึ่งภาษาหรือเกิดภาษาขึ้นใช้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม  ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง ผู้ใหญ่คนอื่นๆ หรือแม้กระทั่งเด็กที่อยู่ในวัยเดียวกัน ด้วยเหตุนี้  เด็กที่เกิดมาท่ามกลางครอบครัวหรือสิ่งแวดล้อมที่พูดภาษาในลักษณะหนึ่ง ย่อมรับรู้และใช้ภาษาในลักษณะเดียวกันกับบุคคลรอบข้าง  ด้วยเหตุนี้  จึงทำให้เกิดสมมติฐานว่า  เด็กสามารถเรียนรู้ได้หลายภาษาในขณะเดียวกัน  ตราบเท่าที่พวกเขายังมีปฏิสัมพันธ์ด้วยการสื่อสารกับเจ้าของภาษา  การทำให้เด็กได้มาซึ่งภาษาอย่างรวดเร็วนั้น  จากการวิจัยพบว่า  ควรใช้การสนทนาของผู้ปกครองกับเด็กหรือ “baby talk” ซึ่งหมายถึง การใช้คำศัพท์ง่ายๆ  และนำมาเรียบเรียงเป็นประโยคที่ไม่เคร่งครัดไวยากรณ์  ทั้งนี้การพูดซ้ำ การให้เด็กสังเกตและจดจำเสียง  จะทำให้เด็กทราบความหมายของเสียง  ซึ่งพวกเขาจะค่อยๆ สร้างมโนทัศน์เกี่ยวกับวัตถุ สิ่งของหรือสภาพนามธรรม ตลอดจนเกิดมโนทัศน์เกี่ยวกับกระบวนการอื่นๆ ต่อไป   (Birner, 2010: online)  

 

            การศึกษาของนักจิตวิทยาพบว่า  ทารกแรกเกิด - 2   ปี  จะเรียนรู้ความหมายของสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวได้จากประสาทสัมผัส  ดังนั้นความรู้ที่เด็กสร้างขึ้นในระยะนี้  จึงเป็นความรู้จากประสบการณ์ตรง หรือเป็นประสบการณ์ที่เกิดจากการลงมือปฏิบัติ กล่าวคือ  เด็กได้สัมผัสจับต้อง     ได้ลิ้มรสชมชิม  ได้ฟังเห็นเล่นสนุก  อย่างไรก็ตาม ความรู้หรือประสบการณ์นั้นจะอยู่ในการรับรู้ของพวกเขาเพียงระยะสั้นๆ  หรือไม่มีการจัดเก็บอยู่ในรูปของข้อมูลที่เป็นสัญลักษณ์  เพราะพวกเขายังไม่มีพัฒนาการเรื่องภาษา  แต่เมื่อเด็กมีอายุได้ 2 ปีไปแล้ว ก็จะเป็นช่วงที่เริ่มพูดได้และสามารถใช้สัญลักษณ์นามธรรมในการสร้างมโนทัศน์และชุดความคิดต่างๆ  (Slavin, 2003: 68)  การพูดหรือ    การสื่อสารของเด็กในระยะนี้จึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่พวกเขาจะได้มาซึ่งภาษาแม่ 

 

            การได้มาซึ่งภาษาประกอบด้วยคุณลักษณะที่สำคัญ ได้แก่ การได้มาซึ่งภาษาพูด  (oral  language)  และการได้มาซึ่งภาษาเขียนในการสื่อสาร (written communication)  โดยทั่วไป เด็กอายุประมาณ  3 ปี จะมีความพร้อมในการพูดหรือมีความสามารถสื่อสารโดยใช้ถ้อยคำ  (verbal  abilities) แล้ว  และเมื่อถึงช่วงท้ายของการเรียนปฐมวัยหรืออนุบาล  ผู้เรียนจะสามารถสร้างประโยคในการพูดสื่อสารได้สมบูรณ์ใกล้เคียงกับผู้ใหญ่  แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว  อัตรานี้อาจจะแตกต่างกันไปใน    แต่ละบุคคล แต่โดยเฉลี่ยแล้วพบว่า  เด็กจะมีพัฒนาการเรื่องการได้มาซึ่งภาษาในอัตราที่ใกล้เคียงกัน กล่าวคือ  เด็กอายุ 1 ปี สามารถที่เข้าใจและใช้คำ 1 พยางค์หรือ 1 คำ เช่น  “พ่อ”  “แม่”  “กิน”  เพราะคำเหล่านี้จะเป็นคำที่แสดงถึงสิ่งที่สำคัญต่อพวกเขามากที่สุด  และเมื่ออายุได้ราว  2  ปี  เด็กก็จะเรียนรู้ที่จะนำคำสองคำมาเรียงต่อกันในลักษณะกลุ่มคำสั้นๆ  เช่น  “ไป-นอน”  “หนม-อีก”         “กิน-นม”  และเมื่ออายุได้ประมาณ 3 ปีดังที่ได้กล่าวแล้ว  เด็กก็จะสามารถพูดข้อความหรือประโยคที่ยาวขึ้น เนื่องจากมีความรู้เกี่ยวกับความหมายของคำที่ระบุถึงสิ่งต่างๆ มากขึ้น  นอกจากนี้ จากการสื่อสารกับคนรอบข้าง โดยเฉพาะบิดามารดาหรือผู้ปกครอง  ก็จะทำให้เด็กเริ่มเรียนรู้กฎไวยากรณ์ของภาษาแม่  (grammatical  rules  of  language)  ไปโดยอัตโนมัติด้วยเช่นกัน 

 

          สำหรับการได้มาซึ่งภาษาพูด  (oral/spoken language) นั้น  ไม่ได้หมายถึงแต่เฉพาะการเรียนรู้ความหมายของถ้อยคำแต่เพียงอย่างเดียว  แต่ยังรวมถึงการเรียนรู้กฎหรือวิธีการประกอบคำ         การเรียบเรียงคำและการสร้างประโยคอีกด้วย สำหรับในภาษาอังกฤษ   Berko  (1985  อ้างถึงใน Slavin,  2003: 69)   ได้ทำการทดลองด้วยการให้เด็กปฐมวัยดูภาพนกสมมติที่ชื่อว่า  “Wug”  2 ตัว  จากนั้นถามนักเรียนว่า “They  are  two  …….”  ซึ่งเด็กก็สามารถตอบได้ว่า   “Wugs”  การเติม s ท้ายนามดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าเด็กเรียนรู้กฎไวยากรณ์เกี่ยวกับการใช้คำพหูพจน์   ส่วนในภาษาไทยก็เช่น  เด็กปฐมวัยสามารถที่จะใช้เรียงคำนาม กริยาและคำวิเศษณ์แสดงการถามแบบง่ายๆ   เช่น  “เเม่เหนื่อยไหม”  หรือ  “กินขนมไร”  เป็นต้น    ประโยคในลักษณะดังกล่าวเป็นประโยคสั้นๆ ที่ประกอบด้วยคำประมาณ  2-3 คำ ซึ่งเรียงตามกฏไวยากรณ์ที่ถูกต้อง และผู้ใช้ภาษาสามารถที่จะเข้าใจได้ตรงกัน       ในภาษาอังกฤษ เด็กในช่วงปฐมวัยอาจจะยังไม่เข้าใจกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้  “a” “the” ทำให้เด็กพูดโดยไม่ใช้  article เหล่านี้  เช่นเดียวกับเด็กไทยที่จะเห็นขวดน้ำอยู่บนโต๊ะ ก็อาจจะพูดว่า  “น้ำ-โต๊ะ” โดยยังไม่สามารถที่จะใช้คำบุพบท  “บน”  เพื่อบอกความสัมพันธ์ระหว่างคำนามทั้งสองคำ  เป็นต้น  ข้อคิดที่ได้จากการศึกษาทฤษฎีเกี่ยวกับการได้มาซึ่งภาษาพูด ทำให้เราเห็นบทบาทและความสำคัญของบิดามารดา ในฐานะที่เป็นต้นแบบการใช้ภาษา  ผลจากการวิจัยในต่างประเทศมีประเด็นที่น่าสนใจว่า  เด็กที่เกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง  ซึ่งผู้ปกครองมักจะสนทนากับบุตรหลานของตนมากกว่าผู้ปกครองในชนชั้นแรงงาน  มักจะเรียนรู้หรือพูดได้เร็วว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่เป็นแรงงาน  ด้วยเหตุนี้         จึงกล่าวได้ว่า  ปริมาณเวลาของกิจกรรมการสนทนาระหว่างผู้ปกครองและบุตรนั้นเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการได้มาซึ่งภาษาของเด็ก 

 

          การได้มาซึ่งภาษาในลักษณะต่อมาคือการรู้ภาษาเขียน นักจิตวิทยาพบว่า เด็กมีเกิดการเรียนรู้ภาษาเขียนในช่วงอายุประมาณ 3 ปี ซึ่งใกล้เคียงกับภาษาพูด  เด็กในวัยนี้สามารถที่จะแยกความแตกต่างระหว่างการเขียนตัวอักษรและการวาดรูปได้  โดยจะค่อยๆ สังเกตรูปอักษรว่าตรง โค้ง มน เหลี่ยม อย่างไร  การสังเกตดังกล่าวจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถจำแนกความแตกต่างระหว่างตัวอักษรได้  อย่างไรก็ตาม  ในระยะแรกพวกเขาจะยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการวางตัวอักษรในอยู่ในระนาบหรือบรรทัดเดียวกัน ทำให้เขียนอักษรโย้หรือไม่ตรงบรรทัด การเขียนอักษรและการสะกดคำของเด็กในวัยนี้ขึ้นอยู่กับการรับรู้เรื่องเสียงของอักษร กล่าวคือ  เมื่อเด็กได้ยินเสียงของคำใดคำหนึ่ง พวกเขาจะนึกถึงตัวอักษรที่แทนเสียงนั้น  จากนั้นก็จะพยายามเขียนหรือสื่อสิ่งที่ตนเองได้ยินออกมาโดยใช้ตัวอักษรไปตามความเข้าใจ สำหรับการพัฒนาการเขียนของผู้เรียนในต่างประเทศ ครูจะเริ่มให้ผู้เรียนเขียนตามเสียงอ่าน ซึ่งส่วนใหญ่เด็กมักจะเขียนรูปอักษรที่ทำหน้าที่เป็นพยัญชนะต้นได้  เช่น  ครูออกเสียงคำว่า  “Dinosaur” เด็กก็จะเขียนว่า  “D N S R”  เพราะได้ยินเสียงอักษรที่เป็นพยัญชนะต้นชัดเจนกว่าอักษรที่เป็นสระ  จากนั้นครูก็จะพยายามให้นักเรียนออกเสียงคำและเขียนคำที่ถูกต้องต่อไป  แนวคิดเกี่ยวกับการสอนเรื่องเสียงนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า เมื่อผู้เรียนสามารถจำแนกเสียงของอักษรได้ถูกต้อง ก็จะช่วยให้สามารถสะกดคำได้ถูกต้องด้วย  อย่างไรก็ตาม ในภาษาไทยมีชุดของคำที่อ่านออกเสียงเหมือนกันที่เรียกว่า “คำพ้องเสียง” อยู่หลายคำ  ซึ่งอาจทำให้เด็กไทยประสบปัญหาเรื่องของการเขียนคำเมื่อเรียนในระดับที่สูงขึ้น 

 

          แม้ว่าทฤษฎีและแนวคิดเกี่ยวกับการได้มาซึ่งภาษาจะมุ่งศึกษาพฤติกรรมของเด็กในระดับปฐมวัย  แต่ครูผู้สอนภาษาไทยในระดับมัธยมศึกษาสามารถที่จะนำหลักการของการพัฒนาการสื่อสารของเด็กในวัยนี้มาเป็นแนวทางในการออกแบบการเรียนการสอน (instructional design) ได้ ตัวอย่างเช่น การใช้กิจกรรมสนทนาพูดคุยกับผู้เรียน แทนที่จะเน้นการบรรยายซึ่งเป็นวิธีการสอนที่ลดปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและผู้เรียนด้วยกัน  กิจกรรมการสื่อสารอย่างกระตือรือร้น (active communication) เช่น การสนทนา การอภิปราย  การทำงานกลุ่ม  การโต้วาที  หรือการถกเถียงด้วยเหตุผล  ถือว่าเป็นกิจกรรมที่สามารถพัฒนาการได้มาซึ่งภาษาทั้งสิ้น  แม้ว่าผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษา จะได้มาซึ่งภาษาโดยเฉพาะภาษาพูดแล้วก็ตาม แต่การได้ภาษาด้านภาษาเขียนนั้นยังต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก กิจกรรมการสื่อสารและการสร้างปฏิสัมพันธ์จะช่วยให้เกิดการสร้างมโนทัศน์ใหม่และขัดเกลามโนทัศน์เดิมให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น  กล่าวได้ว่า การได้มาซึ่งภาษานั้น หาได้สิ้นสุดเมื่อเด็กสามารถพูดได้ไม่  เพราะการได้มาซึ่งภาษาย่อมเกิดขึ้นได้ตลอดชีวิต  การรับรู้โครงสร้างภาษาใหม่ๆ หรือการเรียนรู้ภาษาที่สอง  จึงยังคงเป็นกิจกรรมที่มีการศึกษาและค้นคว้าพัฒนา ทั้งนี้ก็เพื่อให้มนุษย์สามารถเข้าใจปรากฏการณ์ทางภาษาซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่สัมพันธ์กับความนึกคิดของมนุษย์มากที่สุด

_______________________________________________

รายการอ้างอิง 

Birner, Betty.  (2010). Language acquisition[Online]. Available from:www.lsadc.org/info/pdf_           files/Language_Acquisition.pdf[2010, June 9]

Slavin, R. (2003). Educational psychology: Theory and practice. 7th ed. Boston: Allyn & Bacon.

 
 การนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปเผยแพร่หรือดำเนินการใดๆ ควรทำตามหลักวิชาการ  จรรยาบรรณและความเป็นมนุษย์

         

หมายเลขบันทึก: 443263เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2011 10:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท