คำแจงคำ: คำว่า "(การ) เข้ากันไม่ได้"


  ปัญหาเรื่อง "เข้ากันไม่ได้" 

  ตัวอย่างคำพูด "นายบุญ เข้ากับ นายมีไม่ได้" "คุณเข้ากับผมไม่ได้หรอก" "นายบุญไม่อาจเข้ากับกลุ่มเราได้หรอก" "นายมีเป็นคนที่เข้ากับใครไม่ได้"

  คำถาม "นายบุญ เข้ากับ นายมีไม่ได้ จริงหรือ" "คุณเข้ากับผมไม่ได้จริงหรือ" "นายบุญไม่อาจเข้ากับกลุ่มเราได้จริงหรือ" "นายมีเป็นคนที่เข้ากับใครไม่ได้จริงหรือ"

  คำโต้แย้ง "นายบุญ เข้ากับ นายมีไม่ได้ หรือว่า นายมี เข้ากับ นายบุญไม่ได้" "คุณเข้ากับผมไม่ได้หรือว่าผมเข้ากับคุณไม่ได้" "นายบุญไม่อาจเข้ากับกลุ่มเราได้หรือว่า กลุ่มเราเข้ากับนายบุญไม่ได้" นายมีเป็นคนที่เข้ากับใครไม่ได้หรือว่าใครๆไม่อาจเข้ากับนายมีได้"

  ต่อไปนี้จะยกเพียงประโยคตัวอย่างเดียว

  ประโยคตัวอย่าง "นายบุญเข้ากับนายมีไม่ได้ หรือว่า นายมีเข้ากับนายบุญไม่ได้"

  ข้อความ ก. นายบุญเข้ากับนายมีไม่ได้

  ข้อความ ข. นายมีเข้ากับนายบุญไม่ได้

  ปัญหา ข้อความ ก. และ ข้อความ ข. เป็นข้อความเดียวกันหรือไม่ 

  ก. ถ้าเป็นข้อความเดียวกัน แสดงว่า ข้อความ ก. และข้อความ ข. มีนัยทางความหมายของข้อความไม่แตกต่างและ/หรือเสมอกัน

  ข. ถ้าไม่ใช่ข้อความเดียวกัน แสดงว่า ข้อความ ก.และข้อความ ข. มีนัยทางความหมายของข้อความที่แตกต่างและ/หรือไม่เสมอกัน

  กรณี แตกต่าง..แตกต่างกันอย่างไร

  ข้อความตัวอย่าง เปรียบเทียบ

  ก. น้ำกับน้ำมัน

  ข. สีดำกับสีขาว

  ค. ไม้สักกับไม้จำปา

  จากข้อความตัวอย่างเปรียบเทียบ เมื่อน้ำกับน้ำมันมาอยู่ในที่เดียวกัน มันไม่สามารถผสมกันได้ เพราะคุณสมบัติของน้ำกับน้ำมันแตกต่างกัน สีดำกับสีขาว เมื่อผสมกันจะกลายเป็นสีอื่นที่ไม่ใช่สีดำและไม่ใช่สีขาว อาจเป็นดำจางและขาวโทนดำคือสีเทา ทั้งสองสียังถือว่า เข้ากันได้หากแต่เข้ากันแล้วเปลี่ยนเป็นอื่นที่ไม่ใช่สิ่งเดิม (หากแต่มีสิ่งเดิมปนอยู่) แต่ถ้าเราเอาสีดำป้ายสลับกับสีขาว ทั้งสีขาวและสีดำเป็นสิ่งต่างสี เมื่อมองความรวมให้ความหมายและความลงตัวที่แตกต่าง ส่วนไม้สักและไม้จำปา เป็นไม้เหมือนกัน เมื่อนำมาแปรรูปเป็นแผ่น และนำไปปูพื้นบ้าน ฉาบทาด้วยน้ำยาเคลือบ จัดมุมจัดฉากให้ดี ดูเป็นระเบียบและสวยงาม

  นายบุญกับนายมี อาจไม่ใช่น้ำกับน้ำมัน ไม่ใช่สีดำกับสีขาว และไม่ใช่ไม้สักและไม้จำปา แต่การนำสิ่งดังกล่าวมาเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบ แม้มันจะเปรียบกับนายบุญกับนายมีไม่ได้ ถึงกระนั้น เราพอจะมองเห็นถึงลักษณะบางอย่างของ "สิ่ง" ได้

  ผู้เขียน เห็นว่า ข้อความว่า นายบุญเข้ากับนายมีไม่ได้ มีนัยทางความหมายที่แตกต่างจากข้อความว่า นายมีเข้ากับนายบุญไม่ได้ ซึ่งเป็นไปได้ว่า เมื่อพิจารณารูปแบบของชีวิต นายบุญอาจมีรูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างหนึ่ง และนายมีมีรูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างหนึ่ง การนำนายบุญและนายมีมารวมกันกัน อาจเหมือนน้ำกับน้ำมัน สีดำกับสีขาว และไม้สักกับไม้จำปา แน่นอนว่า เมื่อมองจากที่สูง เราจะเห็นนายบุญและนายมีอยู่ในพื้นที่และเวลาเดียวกัน ซึ่งน่าจะไม่มีปัญหาอะไร แต่หากเจาะลึกลงไปที่เส้นใยสมอง ขณะที่นายบุญมองดูฝนกำลังตกและนายมีกำลังดูฝนกำลังตกเช่นกัน นายบุญกับนายมีอาจคิดต่างกัน การมองบนที่สูงเราได้เพียงเห็นว่า นายบุญและนายมีกำลังมองสายฝนที่กำลังตกเท่านั้น

  นายบุญเข้ากับนายมีไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่า นายมีจะเข้ากับนายบุญไม่ได้ และนายมีเข้ากับนายบุญไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่า นายบุญจะเข้ากับนายมีไม่ได้ นายบุญอาจชอบอยู่คนเดียว ขณะที่นายมีไม่มีปัญหากับการอยู่หลายคน นายมีจึงอยู่กับนายบุญได้ แต่นายบุญอาจรู้สึกขัดเคืองหรือต้องข่มใจเกินกว่าปกติเมื่ออยู่กับหลายคน นายบุญอาจเป็นคนตรงต่อเวลา ส่วนนายมีไม่ค่อยที่จะให้ความสำคัญกับเวลาที่รับปากไว้ ดังนั้น ในเรื่องตรงต่อเวลา นายมีไม่อาจเข้ากับนายบุญได้ อย่างนี้เป็นต้น จึงเห็นว่า ประโยคว่า นายบุญเข้ากับนายมีไม่ได้ อาจโต้แย้งได้ว่า นายบุญเข้ากับนายมีไม่ได้หรือว่า นายมีเข้ากับนายบุญไม่ได้ (กันแน่) การเข้ากันได้และไม่ได้นั้น เราจะมองผ่านนายบุญหรือนายมี หรือ จะเอาฝ่ายใดเป็นตัวตั้ง หรือว่าจะมองเพียง "นายบุญมี" เท่านั้น

๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๔

เวลา ๐๙.๓๘ น.

หมายเลขบันทึก: 443258เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2011 09:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท