หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

SHA : ร.พ.กะพ้อ จ.ปัตตานี (๕)


.

พยาบาลสาวสวมผ้าคลุมศรีษะโน้มกายลงข้างศรีษะหญิงชราร่างเล็กที่นอนอยู่บนเตียงภายในห้องพักฟื้นผู้ป่วยของโรงพยาบาล เธอสาธยายตามข้อความที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ หญิงชราผู้นั้นดูผ่อนคลายและอิ่มเอิบแล้วก็ค่อยหลับลง เธอพลิกอ่านหนังสือเล่มนั้นไปเรื่อย ๆ กระทั่งหมดเล่ม ก็ค่อย ๆ ปิดหนังสือแล้วเดินออกมาอย่างแผ่วเบา  

     นั่นคือการอ่านคำสอนขององค์อัลเลาะห์พระผู้เป็นศาสดาให้กับผู้ป่วยที่พักฟื้นในโรงพยาบาล  ผู้ป่วยหลายต่อหลายรายที่มีความวิตกกังวล เมื่อได้ยินเสียงการสาธยายคำสอนนี้แล้วก็มักเกิดความสงบและผ่อนคลาย ซึ่งเป็นผลดีต่อการรักษาอาการเจ็บไข้ พยาบาลผู้ดูแลมักจะทำหน้าที่เช่นนี้อยู่เสมอโดยมิต้องให้ผู้ป่วยร้องขอ

     พยาบาลสาวผู้นั้น แม้ว่าจะเป็นหญิงมุสลิมพออ่านเขียนภาษายาวีได้ แต่ความลึกซึ้งในคำสอน รวมทั้งความคล่องแคล่วในการอ่านพระคัมภีร์ยังมีจำกัด เมื่อมาทำหน้าที่หลังเรียนจบออกมาจึงได้ฝึกฝนตนเองเพิ่มเติม เพราะเธอเชื่อว่าการเข้าถึงศาสนาอย่างลึกซึ้ง เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการทำหน้าที่ด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์

     ถัดไปจากห้องพักผู้ป่วยไปทางด้านใน มุมหนึ่งของหน้าห้องคลอด มีผ้าคลุมยาวลงมาจากเพดานคล้ายกระโจม ชายหนุ่มผู้หนึ่งอุ้มทารก โน้มศรีษะลงไปแนบข้างศรีษะทารกทางด้านขวา แล้วสาธยายพึมพัมข้างหูของเด็กน้อย

     การกระทำดังกล่าวคือการอาซานที่หูข้างขวาของเด็กใส่หูทารกแรกเกิด เพื่อให้เด็กได้ยินเสียงอาซานเป็นเสียงแรก ซึ่งเป็นหลักการทางศาสนาที่ชาวมุสลิมถือปฏิบัติ

     การกล่าวอาซานให้ทารกแรกคลอดนั้น จะกระทำโดยชายผู้ที่สามารถท่องจำบทอาซานนั้นได้  ซึ่งในโรงพยาบาลเจ้าหน้าที่ผู้ชายทุกคนจะฝึกฝนตนเองให้สามารถกล่าวอาซาน เมื่อมีการคลอดเกิดขึ้นชายที่อยู่ใกล้ห้องคลอดในขณะนั้นก็จะรับเด็กหลังจากคลอดออกมาจากห้องคลอดมาเพื่อกล่าวอาซานในมุมอาซานที่อยู่หน้าห้องคลอดนั่นเอง

     พื้นที่ให้บริการของโรงพยาบาลกะพ้อนั้น ประชาชนกว่าร้อยละเก้าสิบนับถือศาสนาอิสลาม การให้บริการรักษาแก่ผู้ป่วยนั้นจึงต้องคำนึงกับบริบททางศาสนาเป็นอย่างยิ่ง การอ่านพระคัมภีร์และการกล่าวอาซานใส่หูเด็ก ก็คือการใส่ใจต่อผู้ป่วยในมิติทางศาสนาที่โรงพยาบาลให้ความสำคัญ

     ไม่เพียงบุคลากรที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีพื้นฐานทางด้านความเข้าใจและการปฏิบัติแล้ว บุคลากรนอกศาสนาอิสลามที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลก็ให้ความใส่ใจและเรียนรู้หลักการทางศาสนารวมทั้งภาษายาวีเพื่อให้การบริการรักษามีประสิทธิภาพ ดังเช่น แพทย์ทั้งสองท่านของโรงพยาบาลซึ่งนับถือศาสนาพุทธ แต่ทั้งคู่ก็เรียนรู้หลักการทางศาสนารวมทั้งภาษายาวีจนมีความเข้าใจ ปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสม ได้รับการยอมรับจากผู้ป่วยชาวมุสลิม

เมื่อก่อนต้องใช้ล่ามช่วยในการตรวจรักษา ตอนนี้ไม่ต้องใช้แล้วเพราะว่าคุณหมอพอที่จะพูดจาสื่อสารกับคนไข้ได้เองแล้ว...

     พยาบาลท่านหนึ่งกล่าวถึงแพทย์ทั้งสองท่านที่สามารถใช้ภาษายาวีในการสื่อสารกับคนไข้ในระหว่างการตรวจอาการได้ ซึ่งแต่ก่อนจำเป็นต้องใช้ล่าม การสื่อสารกับคนไข้ด้วยตนเองของแพทย์ทั้งสองทำให้เวลาที่ใช้ในการตรวจรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังที่ นิอายุบ นิเงาะ กล่าวว่า

กับคนไข้พยายามจะคุยหาเหตุรอบด้าน ให้เวลากับการพูดคุยมาก หมอวุฒิ ใส่ใจคนไข้มาก พูดยาวีได้โดยไม่ต้องใช้ล่าม ใช้เวลาค่อนข้างนานในการพูดคุยกับคนไข้ ทั้งถาม สอน แนะนำ...

 

โปรดติดตามตอนต่อไป...

 

.

คำสำคัญ (Tags): #sha#ร.พ.กะพ้อ
หมายเลขบันทึก: 443251เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2011 08:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท