บทวิเคราะห์วิจารณ์ในแง่มุมต่างๆ ของกฎหมาย มังรายศาสตร์ฉบับใบลานวัดหย่วน ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา


กฎหมายมังรายศาสตร์เป็นการกล่าวถึงวิธีพิจารณาความและตัดสินความในแง่มุมต่าง ๆ ของคนในสมัยนั้น ซึ่งแตกต่างกันไปตามลักษณะของแต่ละรูปคดี คล้ายกับเป็นคู่มือการพิจารณาของศาลมากกว่าการตัดสิน โดยมีบทกำหนดโทษตั้งแต่เบาที่สุด ถึงหนักที่สุด โทษเบาที่สุดก็ให้ขอขมาซึ่งกันและกัน โทษหนักที่สุดก็ให้ประหารชีวิต ส่วนโทษขนาดกลางก็คือให้ปรับหรือริบทรัพย์สิน ในคัมภีร์ใบลานฉบับนี้ไม่ได้แยกประเภทของกฎหมายออกเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจนนัก คงกล่าวปะปนกันไปเป็นเรื่อง ๆ ติดต่อกันไป นอกจากจะบอกวิธีตัดสินพิจารณาความแล้วยังมีการยกตัวอย่างจากคัมภีร์ต่าง ๆ ของพระพุทธศาสนามาเปรียบเทียบตัดสินด้วย

บทวิเคราะห์วิจารณ์ในแง่มุมต่างๆ  ของกฎหมาย มังรายศาสตร์ฉบับใบลานวัดหย่วน ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

 

 ได้มีโอกาสอ่านกฎหมายมังรายศาสตร์ซึ่งเป็นอักษรล้านนาฉบับใบลานวัดหย่วนปริวรรตเป็นอักษรไทยโดยพระมหาสุเมธ สุเมโธพร้อมกับคณะ จัดทำเป็นรายงานวิชาคติชนวิทยาซึ่งบรรยายโดยท่านอาจารย์วิมล ปิงเมืองเหล็ก อาจารย์พิเศษในสาขาวิชาหลักสูตรและการสอน วิชาเอกสังคมศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา

ความเป็นมา มังรายศาสตร์เป็นกฎหมายในสมัยของพระเจ้ามังรายกษัตริย์ผู้สร้างเมืองเชียงรายและนครเชียงใหม่  ซึ่งก็มีหลายสำนวน เพราะมีผู้เขียนขึ้นหลายเล่ม  แต่ในฉบับที่พระมหาสุเมธพร้อมกับคณะ นำมาปริวรรตนี้  เขียนโดย  เจ้าหน้อยนามวงษา  บ้านประตูเชียงใหม่ เขียนเมื่อศักราชได้  1252 ตัวปี กดยี (หรือ) เดือนยี่เหนือ  ขึ้น  5  ค่ำ เมื่อเทียบศักราชดูแล้ว  คงเขียนขึ้นในราวสมัยของเจ้าอินทวิชยานนท์ (น้อยอินทนนท์) ซึ่งเป็นเจ้าเมืององค์ที่ 7 ในราชวงศ์ของเจ้ากาวิละผู้ครองเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเจ้าอินทวิชยานนท์นี้ครองเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่ศักราช  1232 – 1262  นาน 26 ปี และเมื่อเทียบกับปีพุทธศักราชก็ราว ปีพุทธศักราช 2433

กฎหมายมังรายศาสตร์  ฉบับที่พระมหาสุเมธพร้อมกับคณะ นำมาปริวรรตนี้[1]  เขียนในใบลานด้วยอักษรล้านนา มีทั้งหมด 178 หน้า ในส่วนของเนื้อหาตอนต้นและตอนท้ายหายไปหลายหน้า  จึงทำให้เนื้อความไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไร แต่ก็เขียนด้วยสำนวนเนื้อหาที่อ่านง่าย เพราะตัวหนังสือสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย

ส่วนเนื้อหา กฎหมายมังรายศาสตร์เป็นการกล่าวถึงวิธีพิจารณาความและตัดสินความในแง่มุมต่าง  ๆ  ของคนในสมัยนั้น  ซึ่งแตกต่างกันไปตามลักษณะของแต่ละรูปคดี  คล้ายกับเป็นคู่มือการพิจารณาของศาลมากกว่าการตัดสิน  โดยมีบทกำหนดโทษตั้งแต่เบาที่สุด ถึงหนักที่สุด  โทษเบาที่สุดก็ให้ขอขมาซึ่งกันและกัน โทษหนักที่สุดก็ให้ประหารชีวิต  ส่วนโทษขนาดกลางก็คือให้ปรับหรือริบทรัพย์สิน  ในคัมภีร์ใบลานฉบับนี้ไม่ได้แยกประเภทของกฎหมายออกเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจนนัก  คงกล่าวปะปนกันไปเป็นเรื่อง  ๆ  ติดต่อกันไป นอกจากจะบอกวิธีตัดสินพิจารณาความแล้วยังมีการยกตัวอย่างจากคัมภีร์ต่าง ๆ  ของพระพุทธศาสนามาเปรียบเทียบตัดสินด้วย

ส่วนสำนวนภาษา  ลักษณะของสำนวนภาษาที่ใช้เขียนนี้  มีลักษณะเป็นพื้น ๆ  ง่ายต่อการอ่านทำความเข้าใจ  ที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ  ในบางตอนจะอ้างคำบาลีมาประกอบด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้เขียนมีความรู้เกี่ยวกับภาษาบาลี  และคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาอย่างชึกซึ้งแตกฉาน  ประการสำคัญในการศึกษาเปรียบเทียบก็พบภาษาที่ใช้ในการเขียนนี้ทำให้เราทราบว่าสำนวนภาษาและศัพท์บางศัพท์มีใช้กันมานานแล้วและยังตรงกับภาษาไทยกลางด้วย  ซึ่งแสดงว่า ภาษาถิ่นและภาษากลางมีการยืมคำกันไปใช้ด้วย

ส่วนลักษณะการเขียนหรือแต่ง  ที่น่าทึ่งอย่างหนึ่งก็คือในการกล่าวถึงลักษณะตัดสินคดีหรือการพิจารณาความ  จะอ้างถึงหลักธรรมและตัวอย่างจากคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามาเป็นตัวอย่างด้วย และบอกที่มาอย่างชัดเจน ไม่ได้มีการอ้างขึ้นมาลอย  ๆ  อันแสดงให้เห็นว่าผู้เขียนต้องมีความรอบรู้ในเรื่องของลักษณะกฎหมายและหลักธรรมต่าง  ๆ  ตลอดจนถึงมีความแตกฉานในพระไตรปิฎกมากพอสมควร  และทีสำคัญยังแตกฉานทางอักษรศาสตร์โดยเฉพาะภาษาบาลี

ส่วนศัพท์เกี่ยวกับกฎหมาย  จากการสังเกตและวิเคราะห์รูปศัพท์ที่ใช้เกี่ยวกับกฎหมายแล้วก็ไม่ต่างกับปัจจุบันเท่าไร  ซึ่งบางศัพท์แสดงว่ามีการบัญญัติใช้กันมานานแล้ว เช่น คำว่า การตัดสินคดีความ ไต่สวน มาตรา  อุทธรณ์  โจทก์   ศาล  ปรับไหม  พิจารณาความ  มาติกา  ชำระคดี   โรงศาล  บทลงโทษ  ครุโทษ  ลหุโทษ ริบทรัพย์   สินสมรส  ฯลฯ

ส่วนวิธีเปรียบเทียบพิจารณาความและตัดสินคดีความ เพื่อความยุติธรรม เมื่อเกิดคดีขึ้น ก็จะมีการไต่สวนพิจารณาความกันอย่างรอบคอบ  มีการอ้างสักขีพยานบุคคล  หรือพยานวัตถุ  เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มีการเปรียบเทียบตัดสินโดยอาศัยหลักธรรมและตัวอย่างในคัมภีร์ทางศาสนาเป็นหลัก  มีการแนะนำหลักของพิจารณาตัดสิน  และกำหนดลักษณะของผู้ไต่สวนหรือตัดสินด้วย นั้นก็คือผู้ตัดสินไต่สวนต้องมีคุณธรรมประจำใจ  ฉลาดทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม โดยในกฎหมายมังรายศาสตร์ ได้ใช้คว่า เป็นผู้ฉลาดในศาสตระศิลป์ทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม  โดยในกฎหมายมังรายศาสตร์ ได้ใช้คำว่า เป็นผู้ฉลาดในศาสตระศิลป์ทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม และที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่ง  ถึงแม้ว่าในสมัยนั้นจะมีการซื้อขายทาสกันอยู่  แต่สังคมในสมัยนั้นก็ยังให้เกียรติและเคารพสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตัดสินพิจารณาบทลงโทษหรือการแบ่งทรัพย์สินจะมีการให้เกียรติและเห็นความสำคัญของผู้หญิงมากเป็นกรณีพิเศษ  เพราะถือว่าผู้หญิงเป็นเพศแม่และเป็นเพศที่อ่อนแอ

ส่วนคุณค่าที่แสดงให้เห็นความเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น   กฎหมายฉบับนี้  ถือเป็นกฎหมายฉบับชาวบ้านอย่างแท้จริง  เพราะจากสำนวนเนื้อหาที่อ่านเข้าใจง่ายแล้ว  ยังใช้ภาษาง่าย  ๆ  พื้น  ๆ  ตรงไปตรงมา  อันแสดงออกและสื่อให้เห็นความเป็น วิถีประชา (folk) อย่างแท้จริง

ส่วนที่เป็นเศรษฐกิจ ถ้าพิจารณาถึงกฎหมายมังรายศาสตร์นี้  ก็มีการกู้ยืมหรือมีการเข้าหุ้นลงทุนกับค้าขาย เป็นหุ้นส่วน และมีนิติกรรมอื่น ๆ  อีกพอสมควร ทำให้ทราบว่าในสมัยเมื่อประมาณ  700 ปี ก็มีการทำนิติกรรมสัญญาต่าง ๆ  ที่ซับซ้อนพอสมควร  คือเข้าหุ้นเพื่อค้าหากำไร  การกู้ยืม  การคิดดอกเบี้ย  เป็นต้น  เพราะว่ากฎหมายพระเจ้ามังรายก็มีอายุรุ่นเดียวกับกฎหมายของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช คือ ประมาณ  700 ปีผ่านมา

กล่าวโดยสรุป กฎหมายมังรายศาสตร์ เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยพระเจ้ามังรายเจ้าผู้ปกครองนครเชียงใหม่  เป็นบทบัญญัติที่เขียนขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการปกครองประชาชนให้อยู่เย็นเป็นปกติสุข เพราะว่าเนื้อหาสาระในกฎหมายควบคุมไปทุกส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องด้านสังคม ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ  และด้านการศึกษา เป็นกฎหมายที่พระเจ้ามังรายใช้ปกครองในลักษณะพ่อปกครองลูกเป็นลักษณะการปกครองแบบธรรมาธิปไตยคือใช้ความถูกต้อง เที่ยงธรรมและเป็นธรรมมากกว่าที่จะใช้ลักษณะการปกครองแบบอัตตาธิปไตย คือใช้ระบบการปกครองแบบเผด็จการ มุ่งใช้นิติศาสตร์ มากกว่ารัฐศาสตร์.

 



    [1] ฉบับใบลานเขียนด้วยอักษรล้านนา.  วัดหย่วน ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ  จังหวัดพะเยา.  

หมายเลขบันทึก: 443255เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2011 09:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ท่านทำงานได้ดีมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท