๘๖. รูปที่ยังไม่ได้เขียน บทกวีที่ยังไม่ได้อ่าน เพลงที่ยังไม่ได้ร้อง


ผมได้รับอีเมล์ฉบับหนึ่ง เป็นข้อความเล็กๆสั้นๆ แต่ให้รู้สึกดีอกดีใจและได้ความมีชีวิตชีวามาก เพราะเป็นจดหมายจากมิตรผู้น้อง อาจารย์ณรงค์เดช นวลมีชื่อ อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกาญจนบุรี ที่มีบทกวีสื่อทรรศนะทางสังคมของผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิวกานท์ ปทุมสูติ แห่งทุ่งสักอาศรม (อดีตคณบดี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี,บ้านเรียนรู้อย่างบูรณาการโดยมีการอ่านเขียน กวี ศิลปะ และวรรณกรรมเป็นแกน) แนบมาฝากให้กันอีกชิ้นหนึ่งด้วย ผมเคยเป็นผู้ประสานงานสนามให้กับโครงการวิจัยประชาคมจังหวัดกาญจนบุรีของมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเกือบ ๑๕ ปีที่แล้ว และได้ร่วมงานกับคนมหิดลกับคนเมืองกาญจน์หลายท่าน รวมทั้งอาจารย์สองท่านนี้ด้วย

ระหว่างการทำงาน นอกจากทำงานสร้างองค์ความรู้ท้องถิ่นเพื่อเคลื่อนไหวสังคมเมืองกาญจน์ในการสนองตอบต่อสภาวการณ์และความจำเป็น โดยทำงานในแนวประชาคมและระดมพลังการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างโอกาสการพัฒนาในแนวทางใหม่ๆที่แตกต่างหลากหลายออกจากกระแสหลักของการพัฒนาแบบทั่วๆไปที่สังคมไทยและทั่วโลกเชื่อว่ามีข้อจำกัดตามทรรศนะของสังคมในทศวรรษนั้น ซึ่งขณะนั้นเป็นห้วงที่ทั่วโลกเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ อีกทั้งในสังคมไทยก็กำลังตื่นตัวต่อประเด็นความล่มสลายของความเป็นชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เรื่องเหล่านี้มักก่อให้เกิดหัวข้อประชุมและพูดคุยกันอย่างกว้างขวาง

หลังการพบปะและทำงานต่างๆแล้ว ผมและอาจารย์ทั้งสองท่าน ก็มักจะไปนั่งสนทนากันต่อ เพื่อทบทวนความคิด หารือแนวทางการทำงานกันในพื้นที่  แลกเปลี่ยนหนังสือและการอ่าน รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดในการใช้ชีวิตเป็นฐานในการทำงาน

กาลครั้งหนึ่ง...ของมิตรสามวัยแต่ใจเดียวhttp://www.gotoknow.org/blog/civil-learning/299341 ริมซ้าย อาจารย์ณรงค์เดช นวลมีชื่อ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกาญจนบุรี, เห็นหน้าและนั่งอ่านบทกวี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิวกานท์ ปทุมสูติ,ผู้เขียนนั่งหันหลัง, ที่ร้านอาหารริมทางแห่งหนึ่งนอกตัวเมืองกาญจนบุรี หลังร่วมกันจัดเวทีประชุมเครือข่ายนักวิจัยขับเคลื่อนประชาคมจังหวัดกาญจนุบรี

บันทึกสั้นๆเป็นเนื้อความเกริ่นนำให้ทราบถึงเหตุดลใจ ทักทาย และชวนสนทนาแลกเปลี่ยนความเป็นชีวิตในอีกกาลเทศะหนึ่งที่ทั้งสองท่านกำลังได้สานเสวนากันอยู่เหมือนกับนั่งคุยกันที่ร้านข้าวแกงในเพิงพักเล็กๆริมถนนชานเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อกว่า ๑๐ ปีก่อน ทว่า คราวนี้ได้ย้ายกาลเทศะมาสู่วงสมาคมในโลกออนไลน์...............

อาจารย์ณรงค์เดชมิตรผู้น้องของผมได้แนบบทกวีจุดประกายความคิดและสะท้อนทรรศนะทางสังคม จากทุ่งสักอาศรม ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิวกานท์ ปทุมสูติ มาฝากผมด้วย นอกจากดีใจและยิ่งได้ความรำลึกถึงกัน ก็ทำให้ได้ความครึกครื้นรื่นรมย์ใจ เสริมกำลังความคิด จุดประกายการคิด ได้รำลึกทบทวนตนเองกับสังคมและโลกรอบข้าง ชวนให้หมั่นคิด หมั่นเข้าใจ ได้มีเวลาให้กับการมองดูความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง รวมทั้งได้เห็นความเป็นจริงของสังคมด้วยท่าทีของความเข้าใจ ตระหนักรู้เท่าทัน โดยเฉพาะการรู้ถึงสิ่งที่ก็คงดำเนินไปตามเหตุปัจจัยของยุคสมัย และทรรศนะต่อความจริงแท้ที่เป็นจุดหมายชีวิตของผู้คน........

ตามด้วยบทกวีในรูปแบบกลอนเปล่า...........

จากข้างต้น ที่เกริ่นว่า "....เราสองคนกำลังสนทนากันในโลกออนไลน์ และยังขาดพี่ไปอีกคนหนึ่ง...." ผมจึงพอประมาณเอาเองได้ว่า ชิ้นหนึ่งเป็นของท่านอาจารย์ศิวกานท์แล้ว บทกวีชิ้นที่สองนี้จึงควรเป็นของอาจารย์ณรงค์เดช, อารมณ์กวีของอาจารย์ณรงค์เดชออกแนวโพสต์โมเดอร์นหน่อยๆ เสียดสี เหน็บแนม พอเป็นกระสายให้รู้ว่ามีความคำนึงถึงและใส่ใจกันอยู่เป็นพื้น ปิดท้ายเหมือนกับชวนเลือก 'โหวตโน' ซึ่งพอมานำเสนอในท่ามกลางบรรยากาศการเลือกตั้งของประเทศ ก็เลยเหมือนเป็นการทำหมายเหตุอีกห้วงหนึ่งในชีวิตที่เคลื่อนไหวไปกับกระแสการเมืองของการเลือกตั้ง .....ผมขอโหวตโนคอมเม้นต์ละกัน

ขอนำเอาบทเพลงที่ผมเคยได้อ่านระหว่างนั่งคุยกันเมื่อครั้งกระโน้น มาร่วมนำเสนอให้พร้อมหน้าพร้อมตาไปด้วย เป็นเพลงให้กำลังใจกันเหมือนให้พูดแก่ตนเองว่า 'จงมีจิตใจและปัญญาที่เป็นเพื่อนตนเอง สามารถเป็นกำลังใจตนเองได้ เพื่ออดทนมุ่งมั่นทำสิ่งยากๆแม้ไม่รู้ว่าปลายทางจะมีความสำเร็จอยู่หรือไม่' เนื่องจากในช่วงนั้นกลุ่มคนทำงานแนวนี้ในแทบจะทุกพื้นที่ชุมชนที่ผมได้สัมผัส เมื่อเทียบกับประเด็นสังคมที่ใช้เคลื่อนไหวการทำงานแล้วก็นับว่าเป็นคนส่วนน้อยมากๆ อีกทั้งอยู่ในบรรยากาศแวดล้อมที่สังคมไทยประสบภาวะวิกฤติถดถอย จึงแม้จะมีข้อจำกัดอย่างสุดขีด ก็ต้องยืนขึ้นและเติบโต เพื่อให้ความร่มเย็นแก่พืชและชีวิตรอบข้างได้เหมือนต้นไม้ ปัญหาก็จะไม่เป็นปัญหานับแต่วิธีคิดเมื่อเริ่มต้นออกมาจากตัวเรา ปัญหายากๆของสังคม รวมทั้งอุปสรรคในการทำงานกันในแนวทางใหม่ๆ ก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับคนที่คิดจะทำสิ่งใดๆ

ช่วงนั้น มหาวิทยาลัยมหิดลที่เมืองกาญจน์ยังดำเนินการได้ไม่เต็มที่ โครงการวิจัยที่ผมประสานงานก็ถือโอกาสที่จะทำวิจัยและเคลื่อนไหวสังคมเพื่อร่วมกันสร้างความเป็นมหิดลที่เป็นของเมืองกาญจน์และท้องถิ่นด้วย ผมก็เห็นโอกาสอยู่ว่า อย่างน้อยที่สุด การได้เจอและทำกิจกรรมเชื่อมโยงให้คนมหิดลกับคนเมืองกาญจน์ได้มีเวทีทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ พร้อมกับได้ปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เหมือนได้พากันเรียนรู้หาทางออกด้วยการปฏิบัติภายใต้สภาวการณ์ปัญหาของประเทศ ผ่านการทำงานและเรียนรู้ไปด้วยกันนั้น กระบวนการทำงานก็ได้สร้างคน สร้างนักวิชาการ และสร้างศักยภาพเครือข่ายการทำงานเชิงสังคมให้แก่พื้นที่ได้แล้ว ความสำเร็จอย่างอื่นจะสำเร็จและได้หรือไม่ได้อย่างที่คิด ก็ถือว่าเป็นของแถม ดังนั้น ปัญหาทั้งปวงและการทำแล้วไม่สำเร็จจึงเป็นอันว่าไม่มี บทเพลงจึงบันทึกและสะท้อนวิธีคิดที่ใช้ทำงานกันในห้วงอารมณ์นั้นไว้......

เพื่อนต่างวัยและกัลยาณมิตรทางการทำงาน

นานทีปีหนก็ทักทายกันบ้างอย่างกันลืมอย่างนี้ให้ความรู้สึกดีเหมือนกัน ก่อนนั้นเมื่อกว่า ๑๐ ปีโน้น เราตั้งใจว่าจะหาโอกาสทำงานและบันทึกรายทางไปด้วย อาจารย์ศิวกานท์จะทำออกมาเป็นเพลงและบทกวี อาจารย์ณรงค์เดชจะสะท้อนไปสู่ความริเริ่มทำงานและบันทึกเป็นบทความหรืองานเขียน ผมเองก็ตั้งใจไว้ว่าจะทำหลายอย่างไปด้วยเหมือนกัน รวมทั้งส่วนหนึ่ง ก็จะสะท้อนออกมาเป็นบทกวี เพลง การเขียนรูปและแสดงงาน หลังจากเผยแพร่แล้วก็จะรวบรวม ตีพิมพ์ และจัดแสดงกลับไปกลับมาหลายๆรอบ เพื่อให้ได้งานที่งอกขึ้นจากชีวิตความเป็นจริงของผู้คนพร้อมกับสะท้อนเชื่อมโยงได้กับความเป็นจริงของสังคมไทยและโลกกว้าง

ได้เรียนรู้ที่จะเคารพและสานมิตรภาพกันเพราะได้ทะเลาะกันทางความคิด

ในส่วนอื่นๆ ก็ต้องประสานงาน ทำบนโจทย์ร่วม และเชื่อมโยงไปกับแนวทางที่บูรณาการกันในเครือข่ายวิจัยซึ่งมีผู้มีส่วนร่วมหลายคนจากสหสาขาไปด้วย แต่ในส่วนของผม ๓ คนที่มีกลุ่มสนใจย่อยออกมาเล็กๆด้วยนี้ ก็คงจะเกิดจากการมีข้อที่ถกกันเรื่องจุดยืนที่ติดพันมาจากเรื่องความขัดแย้งกรณีการซื้อก๊าซและการเดินท่อก๊าซจากเมียนมาร์ของรัฐบาลไทย จนถึงการทำงานกับภาคประชาชนในท่ามกลางกระแสสังคมในห้วงเวลานั้น จากการได้ทะเลาะกันทางความคิด กระทั่งต่อมาก็กลายเป็นนั่งคุยกันหลายวันหลายคืน จึงทำให้ได้รู้กันไปด้วยว่าต่างก็เป็นคนทำงานศิลปะ สื่อวิชาการ ชอบงานหนังสือและงานความรู้แนวภูมิปัญญาชาวบ้าน จึงมักมีการคุยกันเองไปด้วย กระทั่งได้ทำหลายอย่างด้วยกันเป็นระยะๆ

สานเครือข่ายการทำงานเชิงสังคมในแนวทางใหม่ๆ

เพลงนี้ผมอ่านและร้อง พลางก็มักบอกว่า การทำงานและดำเนินชีวิตอย่างที่เป็นแนวทำการงานของพวกเรา รวมทั้งคนทำงานเชิงสังคมในแนวประชาคมในยุคนั้นที่พวกเราได้พบปะและรู้จักนั้น คงจะยากน่าดู เพราะพื้นฐานความเป็นสังคมการเรียนรู้ของชาวบ้านและบริบทของสังคมไทย ณ เวลานั้น ไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีความตื่นตัวต่อความเป็นสาธารณะในชีวิตของตนเองในหลายเรื่อง แต่ก็ท้าทายต่อชีวิตดี ผมเองนั้นก็ชอบ เพราะเป็นการมีส่วนร่วมทางสังคมไปบนวิถีการทำงาน แม้จะยาก แต่ก็น่าจะดีกว่ารูปแบบอื่นๆที่เป็นการเผชิญปัญหาและแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง ทั้งในหน่วยสังคมขนาดเล็กๆและในระดับสังคมส่วนรวมขนาดใหญ่

ผมบอกว่า หากหลายอย่างที่พวกเราและคนทำงานในแนวทางอย่างนั้นในประเทศไทย สามารถริเริ่มและเคลื่อนไหวสังคม ให้พัฒนาการและก่อเกิดสิ่งดีๆหลายอย่างที่คิดและฝันกันในยุคนั้นได้ ผมจะรวมบทกวี รูปเขียน และเพลง ที่บันทึกการค่อยทำค่อยเดิน แล้วนำมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลอง แสดงความชื่นชนมยินดี และเสริมสร้างกำลังใจให้กันเป็นระยะๆไปด้วย จะทำได้จริงหรือไม่ก็ไม่ได้คิดให้ตายตัว เพียงแต่เป็นการชวนกันคิดและสร้างจุดหมายร่วมกันไกลๆ เพื่อสะท้อนกลับไปสู่ชีวิตและการงานของแต่ละคนไปด้วย ซึ่งก็เป็นวิธีทำความหมายให้กับตนเองที่ทำกันอย่างสนุกๆ

แต่หลังจากนั้นมาไม่กี่ปี สถานการณ์ของสังคมก็เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศและวิกฤติเศรษฐกิจต่อเนื่องอีกหลายรอบทั้งของไทยและของโลก ก็ทำให้บรรยากาศการทำงานในแนวเคลื่อนไหวและระดมการมีส่วนร่วมของผู้คนตามแนวทางที่ผู้มีความสำนึกและใส่ใจต่อความสร้างสรรค์ของสาธารณะ จะสามารถริเริ่มและปฏิบัติการด้วยตนเองในขอบเขตต่างๆ โดยเฉพาะในระดับชุมชนและในชีวิตประจำวันของปัจเจก ต้องซบเซาและหงอยเหงาไปอยู่ไม่น้อย

มุ่งสร้างความรู้และภูมิปัญญาปฏิบัติบนพื้นฐานความจำเป็นและความเป็นจริงของสังคม

ผมเองนั้น ก็พอจะได้แสดงงาน เผยแพร่บทเรียนและเรื่องราวในด้านที่มุ่งให้สะท้อนขึ้นจากประสบการณ์ในการทำงานไปกับคนทำงานเชิงพื้นที่หลายกลุ่มของประเทศเล็กๆน้อยๆอยู่บ้าง กะว่าสักระยะหนึ่ง ก็จะนำกลับมาดูกันอีก จากนั้น หลังจากผ่านไปสัก ๖-๗ ปีหรือหลัง ๑๐ ปีไปแล้ว ก็จะค่อยๆกลับมาสังเคราะห์และตกผลึกซ้ำโดยใช้สิ่งที่ทำได้จริงซึ่งก็ย่อมมีความหมายอยู่ในตนเองว่าได้ผ่านอุปสรรคปัญหาและสะสมบทเรียนจากของจริงเชิงการปฏิบัติมาอย่างรอบด้าน จึงมีพลังที่จะให้ภาพสะท้อนบอกเล่าความเป็นจริงของปัจจัยที่ซับซ้อนและสามารถใช้เป็นตัวเดินเรื่องบอกเล่าความเป็นจริงของสังคมไทยนับแต่ระดับฐานราก มาเป็นตัวตั้งเปิดหัวข้อ แล้วสะท้อนออกไปเป็นงานสร้างสรรค์ทางศิลปะ งานวิจัย งานความรู้ภาคปฏิบัติการ และงานเขียนที่มีความเชื่อมโยงกันหลายมิติ ตอนนั้นผมอาจจะไฟแรงและของขึ้นไปหน่อยก็เลยคิดเพ้อฝันไปมาก

ก่อนหน้านั้น นอกจากชอบทำงานต่างๆบนฐานความรู้และงานชุมชนแล้ว ประมาณปี ๒๕๓๕ ท่านรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงเยาวรัตน์ ปรปักษ์ขาม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ส่งผมให้ไปฝึกฝนวิชาทำวิจัยในแนว Communitry-Based Research and Development เพื่อนำมาสร้างความรู้และพัฒนาคนทำงานเชิงสังคมระดับชุมชน โดยไปเวิร์คช็อป ๖ สัปดาห์กับเพื่อนๆนานาชาติด้านปฏิบัติการวิจัยแบบ CO-PAR : Community Organizing Through Participatory Action Research ที่ประเทศฟิลิปปินส์และได้ลองวิชาประเมินถอดบทเรียนความเข้มแข็งและความยั่งยืนของชุมชนสหกรณ์กล้วยไม้ของชุมชนข้างอ่าวรามอนแมกไซไซ งานของผมและกลุ่มคนไทย ได้ใช้วิธีพัฒนาวิธีคิดขึ้นจากชุมชนให้เชื่อมต่อกับแนวคิดของนักวิชาการและสร้างเครื่องมือขึ้นจากกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน อีกทั้งให้ชุมชนนั่นเองเป็นทีมวิจัย จึงได้เป็นตัวอย่างและได้ถ่ายทอดให้กับเพื่อนๆในเวิร์คช็อปร่วมกับทีมวิทยากรของเวิร์คช็อปด้วย หลังการเวิร์คช็อปแล้ว วิทยากรหัวหน้าโครงการได้มอบหนังสือที่ถ่ายทอดจากบทเรียนการวิจัยปฏิบัติชุมชนของเธอให้ผม ๒ เล่มและสะท้อนข้อสังเกตให้เป็นกำลังใจแก่ผมว่าผมมีทักษะในการทำงานวิจัยในแนวนี้ จึงขอมอบหนังสือให้ผมได้นำกลับไปใช้ทำงานและขอให้พัฒนาตนเองต่อไป

อีกทั้งหลังจากนั้น ก็ได้ศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทกับสังคมเมือง รวมทั้งผลกระทบและผลสืบเนื่องของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ทั้งของภาครัฐและเอกชน จนพอจะสรุปให้แก่ตนเองเพื่อตั้งประเด็นการเรียนรู้ต่อไปได้ระดับหนึ่งว่า การที่จะเรียนรู้พัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงในมิติสังคมและวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงอยู่กับกิจกรรมและสถานการณ์ต่างๆที่ดำเนินการหรือเกิดขึ้นในพื้นที่หนึ่งๆนั้น หากจะให้ดีและสร้างความรู้อธิบายผลที่เชื่อถือได้จริงนั้น ต้องดูหลังจาก ๖-๗ ปี หรือหลัง ๑๐ ปีขึ้นไป พอมีโอกาสได้ทำงานในแนวนี้ก็เลยฝันเฟื่องไปหน่อย

มุ่งให้ตนเองได้สร้างสรรค์วิธีถ่ายทอดและสื่อสารขยายผลบทเรียน
สู่การพัฒนาการเรียนรู้ของสังคม

กระนั้นก็ตาม หลายอย่างเราก็สามารถทำให้งอกเงยได้มากกว่าที่เคยคิดกันได้ แต่หลายอย่างก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้างซึ่งก็เป็นธรรมดาและมองเห็นล่วงหน้าก่อนแล้ว ยกเว้นท่านอาจารย์ศิวกานท์ เพราะพอคิดก็ทำเลย จึงทำได้มากและต่อเนื่องมากกว่าเพื่อน รวมทั้งเพลงเพลงหนึ่งที่ผมได้อ่านให้ทั้งสองท่านฟัง พร้อมกับบอกว่า หากเวทีไหนที่ได้แจมกับทั้งสองท่านและคนทำงานในแนวนี้ ที่เป็นเวทีกิจกรรมในแนวทางที่ชุมชนและภาคประชาชนลุกขึ้นมาทำสิ่งต่างๆที่เป็นความริเริ่มสร้างสรรค์ของตนเอง ซึ่งเปลี่ยนจากความเป็น Passived Participant หรือพลเมืองที่ขาดพลังการพึ่งตนเอง สู่การเป็น Actived Participant หรือพลเมืองที่มีความคิดริเริ่มในอันที่จะแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สิ่งที่ต้องการในชีวิตด้วยตนเอง ได้ทีละเล็กละน้อยในทุกๆเรื่อง ก็จะชวนคนร้องเล่นในเวทีต่างๆไปด้วย

ความหมาย ณ ห้วงเวลานั้นก็ไม่ใช่อยู่ที่เพลงแต่อย่างใด แต่มีความนัยว่าไม่ต้องไปคาดหวังอะไรกันมาก ขอเพียงแค่ได้เจอกัน ได้เห็นความงอกงามในชีวิต และได้แสดงออกต่อกันออกมาจากใจ แค่นั้นก็มากพอแล้ว สังคมและผู้คนมีเรื่องราวให้ต้องทำมากมาย แต่ที่จะคิดและได้ทำจริงๆด้วยกันนั้นใช่จะเป็นเรื่องง่าย ดังนั้น ความเป็นปัจจุบันขณะของการได้ทำนั้นแหละที่ ดี งดงาม และคือความเป็นจริงที่เราเองนั้นจะสร้างขึ้นให้เป็นเหตุปัจจัยในการก่อเกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆได้ดีที่สุดแล้ว ซึ่งเป็นการคิดใหญ่แต่ค่อยๆให้ความสำคัญต่อความสำเร็จบนการริเริ่มเล็กๆ

เพลงนี้ผมได้ร้องและได้ใช้เป็นบทกวีอ่านแบ่งปันความรู้สึกนึกคิดให้กันในบรรยากาศอย่างที่เคยทำงานด้วยกันอย่างที่กล่าวถึงในข้างต้นไม่กี่ครั้ง ดูเหมือนจะไม่ถึง ๕ ครั้ง แต่หลังจากนั้น ก็ไม่ได้อ่านและคงจะไม่ได้ทำเผยแพร่อย่างเป็นทางการในแนวทางที่วางไว้กัน เพราะหลังจากนั้นก็มีความเปลี่ยนแปลงในสังคมเกิดขึ้นหลายอย่าง แต่แนวทำงานเชิงสังคมที่จะมุ่งเรียนรู้จากการทำไปบนเงื่อนไขชีวิตตนเอง เพื่อสนองตอบต่อปัญหาความจำเป็นต่างๆ แล้วสร้างความรู้ความจริงมาแบ่งปันเผยแพร่ในรูปแบบที่เราทำได้นั้น ก็ยังคงดำรงอยู่ในความสนใจของเรา

ผมเองนั้น ก็ตั้งใจไว้เหมือนกันที่จะมุ่งหาคำตอบในทางปฏิบัติต่อหลายเรื่องที่เป็นโจทย์ร่วมกันของสังคม ณ เวลานั้น ทั้งที่เป็นประเด็นร่วมของสังคมไทยและสังคมโลก โดยเฉพาะการหาทางออกจากปัญหาของการพัฒนาในกระแสหลักต่างๆ แต่จะขอทำเล็กๆให้สะท้อนประเด็นของส่วนรวมในทุกหนแห่ง ที่ชีวิตและการงานดำเนินไป

ต่างเป็นคนตัวเล็กที่มุ่งสร้างโอกาสจากการงานและสิ่งรอบข้างในวิถีชีวิต
ให้เป็นความริเริ่มที่จะเคลื่อนไหวและนำการเปลี่ยนแปลงที่ต่างออกไป

ความที่ทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยซึ่งถือว่าเป็นหน่วยทางปัญญา เป็นหน่วยทำงานความรู้ สร้างคน และทำงานวิชาการของสังคม ก็เลยมองไปยังแนวทำงานที่ตนเองพอจะมีส่วนร่วมและริเริ่มทำได้ด้วยตนเอง โดยมุ่งทำงานความรู้ที่บูรณาการอยู่กับวิถีปฏิบัติในสาขาตนเองในมิติที่สะท้อนและเชื่อมโยงไปกับความแตกต่างหลากหลายในสาขาอื่นๆได้ เพื่อได้ความรู้ที่ใช้ทำงานได้ในบริบทของการปฏิบัติในสังคมไทย มาทำงานขยายผลในส่วนที่ตนเองเกี่ยวข้อง เมื่อเขียนความรู้ สอนและถ่ายทอดความรู้เพื่อสร้างคนทำงานต่างๆ รวมทั้งพาคนรุ่นใหม่ให้มีประสบการณ์ต่อสังคมของตนเอง ก็พอจะมั่นใจได้มากขึ้นว่าเรารู้จักสังคมตัวเองและมีความรู้ในสิ่งที่เราทำ ที่สามารถชี้นำการปฏิบัติให้ผู้คนที่เรียนรู้กับเรา ให้นำไปใช้พัฒนาการปฏิบัติในชีวิตตนเองและออกไปเป็นผู้นำแก่ชาวบ้านชาวเมืองในแนวทางที่ดียิ่งๆขึ้นได้ 

หากมีโอกาสเผยแพร่ ก็จะนำเอามาแบ่งปันเป็นแรงบันดาลใจในชีวิตให้กันได้บ้างทั้งในหมู่คนทำงานในสาขาเดียวกัน ตลอดจนชาวบ้านและคนทำงานต่างสาขา เพื่อเรียนรู้ความสะท้อนซึ่งกันและกันให้ร่วมกันนำการเปลี่ยนแปลงตนเองของสังคมในหน่วยปฏิบัติเล็กๆที่เราดำเนินชีวิตและทำการงานอยู่ พร้อมกับมีการเรียนรู้เพื่อเกิดการยกระดับพัฒนาการไปตามความจำเป็นไปด้วยอยู่ตลอดเวลา หลายเรื่องผมก็ต้องเรียนรู้และเดินเข้าไปให้ความร่วมมือกับผู้อื่นเพราะคนอื่นรู้ดีกว่า อีกทั้งการเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ตามและการเรียนรู้ที่จะร่วมมือกันไปบนความแตกต่าง เพื่อสร้างความเป็นส่วนรวมที่ซับซ้อนและครอบคลุมความจำเป็นร่วมกันของตัวเรากับผู้คนหลากหลายได้ดีกว่าอยู่เสมอๆไปด้วย ก็มีความสำคัญที่จะต้องทำไปด้วยอยู่ตลอดเวลา

ในทางกลับกันก็เช่นกัน การที่เราได้มุ่งเดินเรียนรู้ไปกับการทำงานปฏิบัติอย่างที่กล่าวมา ก็ทำให้แน่ใจได้ว่า หลายเรื่องที่ผู้คนและสังคมจำเป็นต้องทำให้มีความสะท้อนกันและกันของการปฏิบัติมิติต่างๆนั้น บางอย่างที่คนอื่นอาจจะทำไม่ได้หรือมีข้อจำกัดมากมายที่จะทำนั้น หากเป็นเรื่องที่เราทำได้ เราก็จะแน่ใจว่าสามารถเป็นเพื่อนพาคิดทำและเดินไปด้วยกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการปฏิบัติเชิงขับเคลื่อนและสร้างสังคมในหน่วยการปฏิบัติระดับต่างๆได้พอสมควรแล้ว ก็มีแง่มุมที่จะสามารถถอนตนเองออกจากจุดหมายทางวัตถุและความสำเร็จบนโลกภายนอกอย่างเดียว ไปสู่การเข้าถึงจิตใจและมิติคุณค่าซึ่งเบียดเบียนทรัพยากรโลกน้อยกว่า แต่ยั่งยืนและแบ่งปันกับผู้คนที่แตกต่างกันได้กว้างขวางกว่าเดิม ให้มากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆอีกด้วย .    

หมายเลขบันทึก: 443128เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2011 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

เป็นกัลยาณมิตรที่ยืดยาวจริงๆ ผมพบแต่อาจารย์ศิวกานต์สมัยไปเป็นวิทยากรให้ราชภัฏ ไร่อาจารย์ไม่ไกลจากไร่ผมเลย...แต่ยังไม่มีโอกาสได้พบอาจารย์ณรงค์เดช เลยครับ ขอแสดงความยินดีด้วยครับ ที่อาจารย์จะมีโอกาสมาพบกันอีก...

อาจารย์ขจิต ชวนมาcheer!! มิตรภาพและความผูกพัน ของอาจารย์ครับ

สวัสดีค่ะ

พี่คิมอยู่โรงเรียนค่ะ  ติดตามผลงานของอาจารย์ศิวกานท์เสมอ เคยเข้ารับการอบรมครั้งหนึ่ง  นานมาแล้วค่ะ  ยังศรัทธาอยู่ไม่เสื่อมคลายค่ะ

ความผูกพัน..ยิ่งใหญ่นะคะ

สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ อาจารย์และแวดวงของอาจารย์ เป็นชุมชนทางวิชาการและชุมชนทางปัญญา โดยเฉพาะทางด้านการทำงานสร้างสรรค์ที่สนุกและให้พลังชีวิตมากครับ อาจารย์เป็นคนที่ทำสิ่งต่างๆได้เยอะมาก ไฟไม่มีตก

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ
นำมาฝากและแบ่งปันเรื่องราวบนเส้นทางชีวิต-การงานกันนะครับ

สวัสดีครับพี่ครูคิมครับ ผมเองนี่ยังไม่ได้ไปที่ทุ่งสักอาศรมที่สร้างขึ้นใหม่เลยละครับ เมื่อก่อนนี้ได้ไปอยู่บ่อยๆครับ สงสัยตอนนี้เฒ่าแล้ว เลยชักได้แต่คิดเอาว่าจะไป-จะไป จนเหมือนกับไปมาหลายรอบแล้ละครับเนี่ย

ประทับใจในมิตรภาพที่ยาวนานควรค่าแก่การจดจำค่ะ..

รูปดอกไม้รูปนี้ดูสดชื่นดีนะครับพี่ใหญ่ครับ
ขอบพระคุณมากเลยครับ

ขอบคุณดอกไม้และกำลังใจจากทุกท่านครับ มอบกลับไปยังทุกท่านด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอาจารย์ ดร.จันทวรรณ และอาจารย์ ดร.ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ กับน้องต้นไม้ เมื่อตอนแรกๆที่เห็นอาจารย์เรียกลูกว่าน้องต้นไม้แล้วก็ทำให้นึกถึงเรื่องที่นำมาเล่าถ่ายทอดไว้นี้อยู่เลยละครับ ถึงแม้อาจจะมองและได้ความคิดจากความเป็นต้นไม้คนละด้าน เพราะดูๆแล้วอาจารย์ชอบต้นไม้ขนาดตั้งชื่อแมวกี่ตัวๆก็เป็นชื่อต้นไม้ไปหมด ซึ่งก็น่ารักดีครับ

Ico48 แสงแห่งความดี  Ico48  ฮูด้า Ico48 ขจิต ฝอยทอง  Ico48 ดร. จันทวรรณ ปิยะวัฒน์  Ico48 นาง นงนาท สนธิสุวรรณ Ico48 คิม นพวรรณ  Ico48 หนูรี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท