เรื่องเล่า...(เมาท์)เหล่าลูกศิษย์ (1) อังศุมาลิน


ลูกศิษย์แบบนี้แหละที่เป็นยาชูใจให้ครูนักแล รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน รักการเรียนรู้ และกตัญญูต่อครู-อาจารย์

          เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมได้รับโทรศัพท์แต่เช้าจากนักศึกษาคนหนึ่ง จากม.ชนชาติ (Yunnan University of  Nationalities) คุยกันได้ความว่า จะมีรายการทีวีรายการหนึ่งมาสัมภาษณ์เธอและเพื่อนๆ ถึงประสบการณ์การไปศึกษาที่ประเทศไทย ด้วยตัวคุณอังศุมาลินเองรู้สึกกังวลมาก(เป็นใครก็ต้องตื่นเต้นเป็นธรรมดา) กลัวว่าจะใช้คำผิดจึงขอร้องให้ผมช่วยตรวจบทพูดและช่วยแนะนำการพูดให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ให้

          หลังจากได้พบกันตามเวลาที่ได้นัดหมาย ผมอ่านบทสัมภาษณ์ที่เธอได้เตรียมไว้ พบว่าคุณอังศุมาลินให้ความสำคัญใน 3 ประเด็นคือ 1. อาจารย์ชาวไทย 2. การปรับตัวและการใช้ชีวิตในประเทศไทย และ3. สังคมไทย ในส่วนการใช้คำและประโยคนั้น ยังมีที่ต้องแก้ไขหลายจุด เช่น การเรียงคำเข้าประโยค การใช้คำผิดความ ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมผมถือว่าสื่อสารได้ตรงตามวัตถุประสงค์ จึงแนะนำและปรับแก้คำและความที่เห็นว่าไม่อาจให้ผิดได้เท่านั้น (คุณอังศุมาลินกลัวว่าใช้ภาษาไม่ถูกระดับ อยากให้แก้เป็นภาษาทางการ เธอกังวลไปถึงขนาดว่าจะทำให้อาจารย์คนไทยที่เคยสอนเสียหน้าถ้าเธอใช้ภาษาไทยได้ไม่ดี...) ทั้งนี้เพราะผมเองมีความคิดว่า เด็กต่างชาติก็คือเด็กต่างชาติ การที่เขาทำได้เพียงเท่านี้ผมว่ามันก็มหัศจรรย์มากแล้ว  การจะให้เขาต้องมาเคร่งเครียดกับการใช้ภาษาอย่างเป็นทางการที่เข้มขรึมคงจะดูไม่เหมาะกับรายการทีวีที่ต้องการเรื่องเล่าและประสบการณ์ประทับใจในต่างแดน ดังนั้นผมจึงยืนยันว่าให้เธอปรับแก้เพียงบางส่วนเท่านั้น

          ส่วนประเด็นที่จะได้เอามาแบ่งปันในบันทึกนี้ก็คือ เนื้อความ 3 ประเด็นที่คุณอังศุมาลินได้กล่าวถึง ผมคิดว่ามันเป็นมุมมองของคนนอก(ประเทศ)ที่มีต่อสังคมไทยได้ดีทีเดียว

          ประเด็นที่ 1. มุมมองต่ออาจารย์ชาวไทย คุณอังศุมาลินเธอเล่าด้วยความประทับใจถึงการดูแลเอาใจใส่ของอาจารย์ชาวไทยที่มีต่อเด็กต่างชาติราวกับว่าเธอและเพื่อนๆเป็นลูกๆของอาจารย์เลยทีเดียว ตรงนี้ผมได้อธิบายถึงคำว่า "ลูกศิษย์" ให้เธอเข้าใจ ว่า คนเป็นครูนั้นไม่เพียงรับหน้าที่สำคัญคือให้ความรู้และประสบการณ์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในการทำงานแก่"ศิษย์" ยังต้องเป็น พ่อ-แม่ ที่คอยช่วยเหลือห่วงใย "ลูก" ให้มีความสุขและเรียนรู้การเป็นคนดี ในระหว่างที่ได้ศึกษาอีกด้วย และหากเราจะพิจารณาถึงคำว่า "ลูกศิษย์" ให้ดี จะเห็นว่าคำว่าลูกมาก่อนคำว่าศิษย์ ดังนั้นแล้วคงไม่ต้องบรรยายให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างคนเป็นครูและคนเป็นศิษย์ว่าจะใกล้ชิดกันมากเพียงใด

          ประเด็นที่ 2. มุมมองต่อการใช้ชีวิตในประเทศไทย คุณอังศุมาลินเล่าประสบการณ์การพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยและวิธีการปรับตัวให้กับคนไทยด้วยวิธีการต่างๆไว้หลายอย่าง แต่ที่น่าสนใจคือ ทุกวิธีการนั้นได้รับความช่วยเหลือจากคนรอบข้างอยู่เสมอ จนทำให้เธอตั้งคำถามกับผมว่า "ทำไมคนไทยถึงได้มีจิตใจดีแบบนี้" ผมไม่ได้ตอบเธอไปให้รู้สึกว่าคนไทยเราแตกต่างกับคนจีนมากเท่าไหร่หรอกครับ (แม้ลึกๆจะรู้สึกว่าคนไทยเราจิตใจดีกว่าในหลายๆด้านก็ตาม) เพราะในทุกสังคมก็มีทั้งคนจิตใจดีและไม่ดี เพียงแต่ว่าคุณอังศุมาลินเธออาจโชคดีที่ได้ไปอยู่ในสังคมที่ดีแบบนั้น

          ประเด็นที่ 3. มุมมองต่อสังคมไทย เธอเล่าถึงความประทับใจต่อ"การยิ้ม"ของคนไทย ที่ในตอนแรกนั้นทำให้เธอและเพื่อนๆรู้สึกประหม่า เพราะเหมือนกับว่ากำลังถูกหัวเราะ จนต้องไประบายกับคุณครูที่ดูแลว่า เธอทำอะไรผิดหรือเปล่าทำไมทุกคนจึงยิ้มเยาะเธอและเพื่อนๆตลอดเวลา แต่เมื่อเวลาผ่านไปเมื่อเธอได้เรียนรู้ถึงการยิ้มของคนไทย เธอเล่าให้ฟังว่าการยิ้มของคนไทยนั้น แรกๆทำให้รู้สึกไม่มั่นใจแต่เมื่อเข้าใจและและในประเทศไทยนานเข้าก็ให้รู้สึกว่าอบอุ่น เป็นมิตร นึกถึงทีไรก็อยากกลับไปอยู่ที่ประเทศไทย  

          ท้ายที่สุดในบทพูดของคุณอังศุมาลิน เธอกล่าวขอบคุณ"ครูและคนไทย" ที่ทำให้เธอได้รับประสบการณ์การเรียนและการใช้ชีวิตในสังคมไทยอันมีค่าต่อตัวเธอเหลือเกิน ยิ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการแข่งขันของสังคมจีนในปัจจุบันนี้ยิ่งทำให้เธอโหยหาถึงสิ่งที่ได้รับจากประเทศไทยเป็นอย่างมาก

          ผมฟังคุณอังศุมาลินเล่าแล้วก็รู้สึกดีใจ อดปลื้มใจแทนอาจารย์ที่เคยสั่งสอนอบรมเธอมาไม่ได้ ลูกศิษย์แบบนี้แหละที่เป็นยาชูใจให้ครูนักแล รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน รักการเรียนรู้ และกตัญญูต่อครู-อาจารย์ ผมเองรู้จักคุณอังศุมาลินจากการได้มีโอกาสไปเป็นอ.พิเศษ สอนในรายวิชา "การอ่านหนังสือพิมพ์ไทย" ให้กับนักศึกษาที่ม.ชนชาติ โดยเธอและเพื่อนๆอีกหลายคนที่เพิ่งกลับจากประเทศไทยได้มาขอฟังบรรยายด้วย เหตุผลสำคัญคือ อยากเรียนกับอาจารย์เจ้าของภาษานั่นเอง 

          วันนี้คุณอังศุมาลินและเพื่อนอีกคนจะมาซ้อมการพูดการให้สัมภาษณ์ให้ผมฟัง บรรยากาศทางวิชาการที่นี่ทำให้ผมรู้สึกแน่ใจถึงคุณภาพและศักยภาพการเรียนการสอนของประเทศจีนจริงๆ ... บางทีเราน่าจะมองเพื่อนบ้านใกล้ๆตัวอย่างจีน เวียดนาม บ้างก็ดีนะครับ ว่าเขาจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพได้อย่างไร บริบทเขาใกล้เคียงกับเรามากกว่าอเมริกา หรืออังกฤษ นะครับผมว่า...

(คุณอังศุมาลินคือนักศึกษาที่ใส่เสื้อสีขาวนั่งอยู่ด้านหน้าสุด ในรูปทุกคนกำลังดูวิดิทัศน์เกี่ยวกับวันสงกรานต์)

หมายเลขบันทึก: 441255เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2011 07:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

ทาชื่ชมกับ รอยยิ้ม ที่อังศุมาลิน ชื่นชมกับคนไทย ที่น่าจะบิ้มมากขึ้น หลัง เลือก นาย ก คนใหม่ ครับ

ขอบคุณท่านอาจารย์จิตเจริญมากครับที่เข้ามาแบ่งปัน...ว่าแต่ นาย ก ที่ว่านี้จะทำให้เราปลื้ม.............. ได้จริงๆแน่หรือครับท่านอาจารย์ (ฮ่าๆ)

เป็นของฝากรับเช้าวันใหม่ที่ถูกใจผมจริงๆครับท่านอ.โสภณ อยู่ที่คุนหมิงนี้ผมหากาแฟอร่อยๆยากจริงๆครับ เพราะที่นี่เขาชอบดื่มชากันน่ะครับ ร้านกาแฟสดก็มีให้เข้าไปลิ้มลองกันอยู่บ้าง แต่เห็นราคาแล้วอยากรีบกลับประเทศไทยจริงๆครับ...

พออ่านเรื่องแล้วรู้สึกเป็นปลื้มกับการสอนของเหล่าอาจารย์ เป็นกำลังใจให้อยากทำความดีและเป็นอาจารย์ต่อไปครับ ดีใจลึกๆๆที่เลือกอาชีพที่ตนเองรักได้...

ผมว่า การศึกษาในเวียดนาม จีน น่าสนใจมาก เขาไปได้ไกลจริงๆๆครับ...

สวัสดีครับหนานวัฒน์

  • ขอบคุณครับที่นำประสบการณ์ดีๆมาเล่าสู่กันอ่าน
  • มีนักศึกษาที่ดีเราก็ภาคภูมิในนะครับ
  • ขอเป็นกำลังใจครับ
  • สวัสดีค่ะ
  • ไม่มีสิ่งใดที่ทำให้พ่อแม่สุขใจเท่ากับมีลูกดี
  • และก็ไม่มีสิ่งใดที่ทำให้ครูชื่นใจเท่ากับมีลูกศิษย์ดี
  • แวะมาให้กำลังใจค่ะ
  • เข้าใจความหมายของคำว่า ลูกศิษย์ มากขึ้นครับ
  • ภูมิใจกับคำว่า ครู นะครับ ถึงแม้เดี๋ยวนี้จะมีคำใหม่ๆจากภาษาแขก ภาษาอื่นเข้ามาเบียด
  • คำที่ผมหงุดหงิดมาก คือ กูรู ซึ่งมีคนพยายามทำให้มันดูดีกว่า เท่ห์กว่า ครู นะครับ

ขอบคุณพี่ๆทุกท่านที่เข้ามาให้กำลังใจครับ ผมเองก็เพิ่งได้มีโอกาสสอนเด็กต่างชาติเมื่อไม่นานนี้เอง แรกๆก็เจอปัญหามากทีเดียวครับ ต้องแก้ต้องปรับกันไป แก้บ่อยเข้าก็เริ่มเห็นทาง ยิ่งได้มาจัดเสวนาจัดการความรู้ด้วยแล้วยิ่งทำให้เห็นวิธีการหลากหลายทีเดียว สำคัญที่สุดคือ เราเลือกที่จะเป็นครู ไม่มีสิทธิเลือกหรอกครับว่าจะรับคนไหนมาเรียนกับเรา (มีแต่เด็กที่เลือกได้ว่าจะเรียนกับใคร) ดังนั้นไม่ว่าลูกศิษย์เราจะเป็นอย่างไร หรือจะเกิดอะไรขึ้น ครูจะต้องจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับลูกศิษย์เพื่อเขาจะได้รับการเรียนรู้ที่ดีที่สุด ดังจอมยุทธท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า "เป็นศิษย์หนึ่งวัน เป็นอาจารย์ตลอดชีวิต" ... (มั่วมาจากไหนไม่รู้ เหมือนได้ยินมาจากหนังจีน...ฮ่าๆ)

เราเลือกที่จะเป็นครู ไม่มีสิทธิเลือกหรอกครับว่าจะรับคนไหนมาเรียนกับเรา

  • นับถือ นับถือ ขอคารวะ ๑ จอก

สวัสดีค่ะ อาจารย์ ยินดีที่ได้รู้จักจริง ๆ อาจารย์เป็นบุคคลที่มีทัศนคติเกี่ยวกับการเรียนการสอนที่กว้างไกล มีเหตุมีผลในการอบรมลูกศิษย์ให้เป็นคนดี และเก่งจริง ๆ ยิ่งพอได้ฟังเรื่องเล่าของอาจารย์แล้ว รู้สึกถึงความอบอุ่นระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์มากขึ้น.....

ขอให้กำลังใจกับอาจารย์ในการทำหน้าที่ครูมืออาชีพตลอดไปนะค่ะ

สวัสดีครับท่านอาจารย์วรรณา

ขอบคุณสำหรับกำลังใจมากครับ ผมเองก็ไม่ต่างจากครูทุกคนในบล็อกแห่งนี้หรอกครับ อาศัยว่าเป็นคนใจเย็น(ที่เคยใจร้อนมาก่อน ฮ่าๆ) และโชคดีที่ได้บวช ฝึกสติปัฏฐาน 4 มาน่ะครับ เลยพอจะมีวิธีการมาใช้เวลาเจอปัญหาไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิต หรือการทำงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนนักศึกษาต่างชาติครับ เด็กๆกลุ่มนี้มักจะมีเรื่องราวมาให้ต้องขบคิดกันอยู่ตลอดเวลา ผมเองก็ไม่ได้เก่งไปทุกเรื่องหรอกครับ อะไรที่พอจะทำได้ก็จะรีบทำไปก่อน ตามกำลังความคิดกำลังสติปัญญา ณ ขณะนั้นจะเกื้อหนุนครับผม

  • ผมเอามาฝากอาจารย์
  • มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเขียนให้
  • "ขอให้อาจารย์มีความสุข ควมเจริญบนเส้นทางอันประเสริฐนี้"
  • http://www.gotoknow.org/blog/yahoo/143237

รออ่านเรื่อง พบรักที่คุนหมิง แย๊ก มีคนที่บ้านมาอ่านต้องมีเคลียร์แหงๆๆ 5555

ไอ้เรื่องได้พบใคร...ก็คงพบอยู่บ้างครับ ท่านอ.ขจิต เสียแต่ว่า ผมเองพูดภาษาจีนไม่ได้สักคำ ... เลยออกไปทาง พบแล้วพรากมากกว่าครับ... ฮ่าๆ

ปล. ที่บ้านผมไม่มีปัญหาหรอกครับ เพราะผมต้องรายงานตัวทุกวัน...ฮ่าๆ

เป็นบันทึกที่น่าสนใจมากๆ ครับ...
สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นพ้องก็คือ ธรรมชาติของมนุษย์นั้น การพึ่งพาเป็นสิ่งที่มีในตัวตนของแต่ละคน  ไม่ใช่เฉพาะคนไทยเท่านั้นที่มีจิตใจในการช่วยเหลือเกื้อกูล ทุกชาติพันธุ์เป็นเช่นนี้ด้วยกันทั้งนั้น

เพียงแต่อาจแตกต่างในทางรูปแบบและวิถีการเท่านั้น เพราะวัฒนธรรมเป็นตัวหลอมเร้า...

ขอบคุณครับ

  • ขอเป็นกำลังใจให้อีกคนนะค่ะ..
  • อาชีพครูเป็นอาชีพที่เป็นแม่แบบ(แม่พิมพ์)
  • ดิฉันเป็นอย่างทุกวันนี้ได้ เพราะ มีครูดีเหมือนกันค่ะ
  • อาจจะไม่ดีเท่าที่ครูอยากให้ดีก็ได้แต่เชื่อว่าครูทำดีที่สุดแล้ว
  • ดีใจที่ได้รู้จัก "คุณครู" "ดี" หลายท่านในสังคม G2K
  • ชื่นชมคุณค่ะ...คุณครูวัฒน์..เอ๊ะ หรือ คุณครูหนานวัฒน์ ฮ่า ฮ่า ฮ่า
  • แถวบ้านถ้าได้เป็นหนานนี่ ได้เป็นปู่จารย์โตยเน้อเจ้า เพราะ หนานหายากเจ้า
  • ขอเป็นกำลังใจให้อีกคนนะค่ะ..
  • อาชีพครูเป็นอาชีพที่เป็นแม่แบบ(แม่พิมพ์)
  • ดิฉันเป็นอย่างทุกวันนี้ได้ เพราะ มีครูดีเหมือนกันค่ะ
  • อาจจะไม่ดีเท่าที่ครูอยากให้ดีก็ได้แต่เชื่อว่าครูทำดีที่สุดแล้ว
  • ดีใจที่ได้รู้จัก "คุณครู" "ดี" หลายท่านในสังคม G2K
  • ชื่นชมคุณค่ะ...คุณครูวัฒน์..เอ๊ะ หรือ คุณครูหนานวัฒน์ ฮ่า ฮ่า ฮ่า
  • แถวบ้านถ้าได้เป็นหนานนี่ ได้เป็นปู่จารย์โตยเน้อเจ้า เพราะ หนาน..หายากเจ้า
  • ขอบคุณอ.แผ่นดินที่แวะมาเยี่ยมครับผม

    ที่คุณศรัณยาทำที่เถียงนา หากคุณครูของคุณศรัณยารู้ ท่านจะต้องภูมิใจอย่างที่สุดแน่นอนครับ

    ปล. ผมบวชพระแค่เดือนเดียวครับ ขนาดเจ้ากรรมนายเวรมาหา ยังเปิดหนังสือหาคาถาสวดส่งเขาอยู่เลยครับ (ไม่ขลังเท่าพ่อหนานบ้านเฮา...ฮ่าๆ)

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท