somtawin
นาง สมถวิล somtawin โชติคณาทิศ

เก็บมาเล่า : การเรียนภาษาไทยในระดับประถมศึกษา


การเรียนภาษาไทยในระดับประถมศึกษา เป็นการเรียนขั้นต้น เพื่อวางรากฐานการศึกษาไม่เฉพาะแต่ในความรู้ภาษาไทย แต่ยังเป็นรากฐานของการศึกษาความรู้วิชาอื่นๆ เป็นรากฐานของการคิด การรับคุณธรรม จริยธรรม

เมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ (26 ก.ค.) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเป็นประธานเปิดการประชุมอบรมครูภาษาไทยช่วงชั้นที่ 1-ช่วงชั้นที่ 2 ของสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ และทรงมีพระราชดำรัสเปิดการประชุมว่า การเรียนภาษาไทยในระดับประถมศึกษาเป็นการเรียนขั้นต้น เพื่อวางรากฐานการศึกษาไม่เฉพาะแต่ในความรู้ภาษาไทย แต่ยังเป็นรากฐานของการศึกษาความรู้วิชาอื่นๆ

เป็นรากฐานของการคิด การรับคุณธรรม จริยธรรม การรู้จักระเบียบวินัยและกฎเกณฑ์ของสังคม ตลอดจนการปลูกฝังความเป็นคนไทยและวัฒนธรรมไทยด้วย ภาษาเป็นสื่อสำคัญของการรับประสบการณ์ การคิด การสร้างสรรค์ การปฏิบัติตน และการแสดงออก ภาษาเป็นส่วนที่แสดงบุคลิกสำคัญของแต่ละคน สำหรับคนไทย ภาษาไทยจึงเป็นภาษาที่สำคัญที่สุด การเรียนในระดับประถมศึกษาเป็นการเรียนขั้นพื้นฐาน ที่หากได้เรียนและจดจำไว้ได้ถูกต้องแม่นยำแล้ว ผู้เรียนก็จะสามารถยึดถือเป็นหลักที่จะใช้ได้ตลอดไป ทำให้เป็นผู้ที่ใช้ภาษาถูกต้องทั้งในการอ่าน การเขียน และการใช้ภาษาในบริบทของสังคม ครูเป็นบุคคลสำคัญในการจัดการเรียนการสอน ครูจึงต้องมีความรู้ดีและมีความทันสมัย การจัดอบรมครูระดับประถมศึกษาเพื่อวางรากฐานการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย และความเป็นคนไทยให้เด็กไทย จึงเป็นสิ่งที่เหมาะสม

ในโอกาสเดียวกันนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานปาฐกถาเรื่อง การจัดการเรียนการสอนภาษาไทย ตอนหนึ่งว่า การเรียนภาษาไทย จะเป็นรากฐานนำไปสู่ การเรียนวิชาอื่นๆได้ ไม่ว่าจะเป็น วิทยาศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ และรวมไปถึงคณิตศาสตร์ จึงควรมีการบูรณาการการสอนภาษาไทยเข้ากับวิชาอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เคยมีพระราชดำรัสเสมอว่า ควรมีการส่งเสริมให้คนอ่านออกเขียนได้ แม้เราไม่สามารถจะไปเยี่ยมประชาชนได้ทุกที่ แต่ก็สามารถส่งเสริมได้ โดยควรมีการจัดสร้างห้องสมุดไว้ตามที่ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าไปหาความรู้ สามารถ อ่านเอาเรื่องได้คือ อ่านแล้วสามารถนำมาปฏิบัติ สามารถเขียนได้ จะได้มีความรู้ เขียนจดหมายร้องเรียนได้และไม่ถูกหลอก การที่คนจะมีความรู้ได้ จำเป็นที่จะต้องอ่านอยู่เสมอ หากหยุดอ่านก็จะลืม การที่คนจะชอบอ่านหนังสือหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับครอบครัว ที่จะเป็นแบบอย่าง หากครอบครัวไม่ชอบอ่านหนังสือ ครูก็ต้องเป็นแบบอย่างในการอ่านหนังสือ เพื่อให้เด็กรักในการอ่าน

ด้านคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงย้ำเรื่องการที่จะนำการเรียนภาษาไทยมาบูรณาการร่วมกับวิชาอื่น และควรมีการนำเรื่องคำคล้องจองมาใช้ แต่พระองค์ทรงห่วงว่า จะเป็นการสอนให้เด็กท่องจำหรือไม่ ตนก็ได้กราบบังคมทูลชี้แจงไปว่า นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ไม่อยากให้เด็กท่องจำนั้น คือไม่ให้ท่องจำอย่างเดียว แต่การท่องคำคล้องจองเป็นเทคนิคในการท่องจำเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจ จึงไม่ขัดแย้งกับนโยบายของ ศธ. และพระองค์ยังทรงห่วงเรื่องการนำภาษาไทยไปแทนเสียงคำอ่านในภาษาต่างประเทศ ที่ยังเกิดความสับสนอยู่.             

ที่มาไทยรัฐ     วันที่ 27 กรกฎาคม 2549  

หมายเลขบันทึก: 41084เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2006 09:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณค่ะ ที่นำมาเล่าต่อ  กำลังหาอ่านค่ะ เพราะสนใจว่า เราจะทำ km กับการสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษอย่างไรดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท