ชีวิตที่พอเพียง : 74. เป็นคณบดีสมัยที่สอง


        พอผมลาออกจากคณบดีในปี ๒๕๒๖ คนงงกันมาก ว่าผมลาออกทำไม    เพราะศาสตราจารย์ก็ได้เป็นแล้ว จะกลับไปทำงานวิชาการอะไรอีก

        ที่จริงเขางงกันก่อนหน้านั้นแล้วว่าผมเอาเวลาที่ไหนไปทำงานวิชาการขณะที่เป็นคณบดีด้วย  จนได้เป็นศาสตราจารย์ในปี ๒๕๒๖ ในขณะที่เป็นคณบดี

        รศ. นพ. อติเรก ณ ถลาง กลับมาเป็นคณบดีโดยสัญญาว่าจะเป็นให้อีก ๒ ปีเท่านั้น     เมื่อท่านมาถึงท่านก็ชวนผมไปคุย    และบอกว่า "วิจารณ์ ตอนนี้ผมอายุ ๕๐ แล้วนะ    ความคิดอ่านไม่ว่องไวเหมือนคนหนุ่มๆ     จะหวังให้ผมคิดหรือทำอะไรเร็วๆ คงไม่ได้"     ท่านรู้ความเลือดร้อนใจร้อนของผมดี    จึงเตือนผมไว้ก่อนว่าอย่าเร่งท่านในเรื่องต่างๆ   

        พอภาควิชาพยาธิวิทยาที่ผมสังกัดอยู่รู้ว่าผมออกจากคณบดีแน่     "พี่โม" (ผศ. พญ. มาลิดา พรพัฒน์กุล) ซึ่งเป็นรุ่นพี่ของผมที่ศิริราช ๒ ปี และไปฝึกอบรมที่อเมริกาจนได้ American Board of Clinical Pathology และเป็นหัวหน้าภาควิชาอยู่ในขณะนั้น ก็มาบอกว่าให้ช่วยเป็นหัวหน้าภาควิชาแทนหน่อย     ต้องการให้มาช่วยจัดระบบที่ภาควิชา     ตอนนั้นผมมีชื่อเสียงด้านการจัดระบบงาน และด้านการปราบม้าพยศแล้ว  

        เป็นหัวหน้าภาควิชาได้ ๒ ปี ระบบที่ภาควิชาเริ่มเข้าที่เข้าทาง      คณะแพทย์ก็ต้องการคณบดีคนใหม่อีก    รู้สึกว่าจะเป็นที่รู้กันว่าต้องเป็นผม    เพราะคนติดใจฝีมือ    และระบบที่ อ. หมออติเรก ใช้ก็คือระบบที่ผมพัฒนาไว้นั่นเอง

        การเป็นคณบดีสมัยที่สองให้โอกาสทำงานที่เป็นชิ้นเป็นอันมาก     ผมไม่คิดจะลาออกเลย แม้จะมีความไม่สะดวกคล้ายๆ เดิม     แต่ผมมีของเล่นใหม่ ที่เชื่อว่าจะสร้างความเจริญในระยะยาวให้แก่คณะ คือระบบ QCC (Quality Control Circle) ชึ่งกำลังเป็นแฟชั่นอยู่ในขณะนั้น เหมือน KM เป็นแฟชั่นในขณะนี้     ในตอนนั้นผมตามไปฟังการบรรยายเรื่อง QCC ในที่ต่างๆ ถึง ๕ ครั้ง    และอ่านหนังสือประกอบ     จึงมั่นใจว่านี่แหละเครื่องมือที่เราต้องการ     สำหรับพัฒนางานและพัฒนาคนไปพร้อมๆ กัน

        เราชักชวนกันทำ QCC ในคณะแพทย์ภูมิภาค คือ มช.  มข.  และ มอ.     มีการนำผลงานมาเสนอประชันกัน    และเวลาที่คณะหนึ่งจัดมหกรรมคิวซี เราก็เชิญกลุ่มที่มีผลงานเด่นของอีกสองคณะมาร่วมด้วย สนุกสนานมาก     คณะแพทย์ต่างๆ เล่าลือกันว่ากลุ่มคิวซีซี ของคณะแพทย์ มอ. ไร้เทียมทาน     เราไปเสนอผลงานในมหกรรมของธนาคารกรุงเทพ    กองทัพอากาศ    และมหกรรมคิวซีแห่งชาติด้วย     ผมถึงกับได้รับการเสนอชื่อไปร่วม Workshop และดูงาน QCC ที่จัดโดย APO (Asian Productivity Organization) ที่ญี่ปุ่น    โดยไปนอนห้องเดียวกับ รศ. นีโลบล นิ่มกิ่งรัตน์ แห่ง มช.     ตอนรู้ว่าเขาจัดให้นอนกับคนชื่อนีโลบล ผมโวยวายว่าผมจะไปนอนห้องเดียวกับผู้หญิงได้อย่างไร    แต่ปรากฎว่าท่านเป็นผู้ชาย

        การทำงานคณบดีในช่วง ๔ ปีนี้เป็นความทรงจำที่เวลานี้ผมคิดถึงอย่างมีความสุข     เพราะได้สร้างผลงานที่ก่อผลดีระยะยาวไว้มากเป็นประวัติการณ์     เป็นที่เล่าลือมาจนบัดนี้     และผมก็ได้ใช้การทำงานนี้ฝึกตนเองขึ้นหลายอย่าง     อย่างหนึ่งที่ยังโจษจันกันจนบัดนี้คือการสั่งงาน  และร่างบันทึกจดหมายราชการด้วยเทป     ทุกเช้าจะมีเทปออกไปกับแฟ้มวันละประมาณ ๒๐ ม้วน     ที่จริงข้อความอาจเพียงม้วนละ ๒ - ๓ นาที   หรือบางม้วนอาจยาวถึง ๑๐ - ๒๐ นาที     นานๆ ครั้งที่ใช้ทั้งสองหน้าของเทป คือ ๖๐ นาที    การบอกข้อความลงในเทปช่วยประหยัดเวลาทำงานลงไปมาก และทำให้ร่างบันทึกหรือจดหมายสำคัญๆ ไม่ตกหล่นข้อความที่เป็นหัวใจของเรื่อง     การฝึกร่างบันทึก/จดหมายด้วยเทปนี้เป็นการฝึกสมาธิที่ดีเยี่ยม     เวลานี้ผมยังใช้บ้าง โดยใช้ Digital Voice Recorder     แต่งานไม่มาก จึงใช้เฉพาะเมื่อต้องการร่างจดหมายสำคัญๆ เท่านั้น

        ผลงานที่ผมภาคภูมิใจที่สุดคือการสร้างคน     สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่คนไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง     และมุ่งพัฒนาตนพัฒนางานโดยใช้กระบวนการกลุ่มย่อย (Small Group Activities)     แต่ผมก็ติดหล่มตัวเอง     ที่มุ่งพัฒนาคณะเต็มที่จนคนจำนวนมากล้า     มีกระแสไม่เอาวิจารณ์หลังจากทำงานเกือบครบวาระ ๔ ปี     คนจำนวนหนึ่งก่อกระแสว่าผมเป็นคนเจ้าเล่ห์ พูดจาหว่านล้อมให้ทำโน่นทำนี่โดยที่ไม่น่าจะเกิดผลดี     อีกจำนวนหนึ่งบอกว่าอาจารย์วิจารณ์เป็นคณบดีแกก็คิดงานใหม่ๆ ให้พวกเราเหนื่อย    

       พอมีการสรรหา มีการหยั่งเสียง  ที่ ๑ คือ ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอย    ที่ ๒ รศ. นพ. อติเรก ณ ถลาง    ผมได้ที่ ๓     ทั้งที่ ๑ และ ๒ ปฏิเสธเสียงแข็ง     พวกหัวหน้าภาคจึงมาบอกผมว่าอย่าโกรธเลย     ไม่มีใครเกลียดผมหรอก    ขอให้ผมเป็นคณบดีอีกสมัยหนึ่งเถิด    แต่ผมเชื่อ อ. หมอวีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ที่มาบอกว่าอาจารย์อย่าเป็นเลย     ถ้าเป็นจะเหนื่อยมาก เพราะคนเขาเบื่อ  ปล่อยให้คนอื่นทำดีกว่า    ผมคิดไตร่ตรองแล้วก็ตอบปฏิเสธไป    

       ออกไปเป็นอาจารย์ธรรมดาอยู่สัก ๖ เดือน    ผมเริ่มรู้สึกว่าผู้คนทั้งในคณะและนอกคณะ มีความรู้สึกและแสดงท่าทีต่อผมคล้ายๆ เป็นพระเจ้าหน่อยๆ     คือในเวลา ๖ เดือนผมเปลี่ยนภาพจากซาตานเป็นพระเจ้า     แปลกจริงๆ     เป็นบทเรียนเรื่องอารมณ์คนที่ติดตาตรึงใจมาจนบัดนี้

วิจารณ์ พานิช
๗ กค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 40882เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2006 08:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 17:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ช่วงที่อาจารย์ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยานั้น อาจารย์ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยโลหิตวิทยาไปพร้อมๆกันด้วยอยู่สักช่วงเวลาหนึ่งค่ะ
  • ยังจำได้ว่าอาจารย์กระตุ้นให้พวกเราผลัดกันพูด Journal club ในเรื่องที่ตัวเองถนัด   พี่อุราเล่าเรื่องการหาเปอร์เซ็นต์ A2 ด้วย macrocolumn ทำให้ดิฉันซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีประสบการณ์ด้านนี้เลย ก็ได้ tacit knowledge จากพี่อุราติดมาจนบัดนี้เลยค่ะ....

-เห็นด้วยเกือบทั้งหมดกับที่ อจ.เขียน ยกเว้นตอนท้ายค่ะ

เพราะไม่เคยเบื่อ เกลียด หรือ โกระ อจ.เลยที่คิดอะไรๆมากมายให้พวกเราทำ

-จนทุกวันนี้ยังได้นำขบวนการ R2R มาใช้ จนเจริญก้าวหน้าในงานที่ทำถึงทุกวันนี้

-ภูมิใจเสมอที่ได้บอกใครๆว่าเคยทำงานที่เดียวกันกับ อจ.ค่ะ

-อจ.คือหนึ่งในจำนวน hero หลายๆคนของอ๋อค่ะ....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท