ชีวิตที่พอเพียง : 49. ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน


• ผมเกิดมาเป็นลูกคนจน     มีความรู้สึกไม่พอใจช่องว่างหรือความไม่เท่าเทียมกันในสังคมมาตั้งแต่เด็ก    พอโตขึ้นประสบความสำเร็จในการเรียน มีโอกาสที่จะมีรายได้สูงมากๆ ผมก็ไม่ค่อยอยากได้ เพราะรู้สึกตะขิดตะขวงใจถ้าเรารายได้มากเกินเมื่อเทียบกับคนอื่น    ตอนเป็น ผอ. สกว. มีคนแนะให้กำหนดตารางเงินเดือนใหม่ให้เข้าไปใกล้เอกชนอีกนิดผมก็ไม่ทำ     เพราะคิดว่าที่ได้อยู่ในขณะนั้นก็มากมายเกินพออยู่แล้ว
• วันนี้ (๑๗ มิย. ๔๙) อ่านนิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ ฉบับวันที่ ๑๗ มิย. คอลัมน์ Special Report : Inequity in America. The rich, the poor and the growing gap between them.   เขาบอกว่าสหรัฐอเมริกาเน้นผลิตภาพ (productivity) และการเติบโตทางเศรษฐกิจ   แต่ยุโรปเน้นความเท่าเทียมกันในการแบ่งส่วนแบ่งความมั่งคั่ง   เขายกคำกล่าวที่มีชื่อเสียงของ John F Kennedy ว่า Rising tide lifts all boats.   ซึ่งหมายความว่าเมื่อเศรษฐกิจดีทุกคนก็จะมีความเป็นอยู่ดีขึ้น    ซึ่งไม่จริง   ความเป็นจริงในสังคมซับซ้อนกว่าอุปมาอุปมัยเรื่องน้ำขึ้นมากมายนัก  
• เขาบอกว่า การที่สหรัฐอเมริกามีมาตรการกระตุ้นผลิตภาพ ได้ผลมาก    ทำให้ผลิตภาพต่อชั่วโมงของการทำงานในสหรัฐอเมริกา สูงกว่าของเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วถึง ๓๐%   แต่ “ระดับน้ำ” ที่สูงขึ้นนี้ ยิ่งนับวันก็ยิ่ง “ยกเรือ” น้อยลำลงเรื่อยๆ    หมายความว่าช่องว่างทางสังคมยิ่งถ่างกว้างขึ้นนั่นเอง   ข้อดีของสังคมอเมริกันก็คือสถิติตัวเลขของเขาดีมาก   เขาวัดช่องว่างทางเศรษฐกิจโดยดูว่าคนรวยที่สุด ๑% บน,  ๐.๑% บน,  ๐.๐๐๑% บน มีรายได้เป็นกี่ % ของรายได้ทั้งประเทศ    ออกมาเป็นกราฟเปรียบเทียบรายปี    เขามีตัวเลขตั้งแต่ คศ. ๑๙๑๓ มาจนถึง ๒๐๐๔   ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่าช่วงที่ช่องว่างสูงสุดอยู่ที่แถวๆสงครามโลกครั้งที่ ๑ แล้วช่องว่างลดลงเรื่อยๆ มาจนต่ำสุดช่วง คศ. ๑๙๕๐ – ๑๙๘๐ แล้วขึ้นใหม่ และขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี คศ. ๑๙๙๐ เป็นต้นมา    อ่านดูแล้วเป็นผลของความจงใจที่จะให้เป็นเช่นนั้น  
• ข้อดีของสหรัฐอเมริกาก็คือเป็น “ดินแดนแห่งโอกาส” ใครมีความสามารถและขยัน ก็จะร่ำรวยได้    เป้าหมายของคนอเมริกันคือร่ำรวย   แต่ “ความสามารถ” ในสมัยก่อน คือจบปริญญาตรี    แต่เวลานี้คนที่จบปริญญาตรีดูจะไม่พอเสียแล้ว   คนที่รายได้สูงมากผิดปกติคือ นักกีฬา  นักแสดง  และผู้บริหารระดับสูง   เขาบอกว่าเงินเดือนของผู้บริหารระดับสูงของเขาเท่ากับประมาณ ๓๐๐ เท่าของค่าจ้างขั้นต่ำ    เทียบกับของเราคงจะประมาณเดือนละ ๑ ล้านบาท
• จะเห็นว่าไม่มีระบบใดที่ดีจนไม่มีที่ติ   การเน้นผลิตภาพ ประสิทธิภาพ เน้นใครเก่งใครขยันคนนั้นได้ ก็ดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ    แต่ถ้าไม่แก้ด้านช่วยประคองคนที่เก่งน้อยกว่า สังคมมีช่องว่างมาก การอยู่ด้วยกันอย่างราบรื่นก็ยาก
• ผมชอบทางสายกลาง   ชอบให้เน้นให้ผลประโยชน์แก่คนดีคนเก่ง    แต่ไม่ใช่เน้นที่การได้แบบเห็นแก่ตัวมากเกิน    ผมอยากให้มีการ “ให้” ที่การยกย่องชื่นชม   มีการมองการ  “ได้” เชิงจิตวิญญาณด้วย    คือไม่มองผลประโยชน์เฉพาะด้านวัตถุ แต่มองที่ผลประโยชน์ทางใจด้วย    มีการสร้างการยอมรับคนที่ทำงานเพื่อประโยชน์ต่อสังคมในหลากหลายด้านหลายมิติ   เราต้องไม่วัตถุนิยมสุดโต่งเกินไป

วิจารณ์ พานิช
๑๗ มิย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 37113เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2006 08:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 11:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น
คิดว่านี่คือภูมิปัญญาตะวันออกที่แตกต่างจากตะวันตกค่ะอาจารย์

นานมาแล้วที่ อเมริกาผลิตกระดาษ หรือ เหรียญ ที่เรียกว่า "เงิน" ออกมา  โดยไม่มีทองคำค้ำประกัน ใช่ไหมคะ ?  แต่ประเทศอื่น เช่น ประเทศไทย จะผลิต เงิน ต้องมีทองคำ ค้ำประกันใช่ไหมคะ ?  เมื่อเราต้องอยู่ร่วมกับประเทศมหาอำนาจ คงยังเหลือสิ่งเดียวกระมังที่ "เงิน"  ซื้อไม่ได้ คือ คุณค่าทางจิตใจ  จิตวิญาณ  ที่จะนำพาไปสู่ความสุขใจที่แท้จริง

เพราะเขาก็ต้องการอยู่รอด  จึงต้องคิดหาวิธีต่างๆ  เมื่อเราเป็นสังคมอุดมปัญญา จากการทำ เรื่องการจัดการความรู้ ก็ควรรู้ทันเขา เพื่อให้เราอยู่รอด เช่นกัน ใช่ไหมคะ?

Rising tide lifts all boats -ขอต่อหน่อยครับว่า .. in your country and your Rising Tide destroys the whole world.
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท