การพัฒนาหลักสูตรและวิธีเป็นครูโรงเรียน อสม : ๑๒.เพิ่มลูกเล่นและใส่ศิลปะเพื่อเรียนรู้การนำเสนอให้สร้างสรรค์


การทำงานของทั้ง ๕ กลุ่มจาก ๙ จังหวัดของกลุ่มอสม.และนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการในการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ทุกกลุ่มทำงานและเตรียมการนำเสนอผลงานของตนอย่างจริงจัง การเตรียมทีม เตรียมสื่อ และการติดตั้งในรูปแบบที่แต่ละทีมต้องการ ดำเนินไปอย่างเรียบร้อยพร้อมนำเสนอก่อนเวลาที่นัดหมายคือ ๘.๓๐ น.บ่งบอกถึงประสิทธิภาพและความเป็นคนรู้งานของทุกคน ผมจัดกระบวนการให้เวทีไปก็เกิดความประทับใจผู้ร่วมเวทีไปด้วย 'คนกลุ่มนี้เป็นชาวบ้านคนทำงานแนวประชาคมและเป็นพลเมืองที่แข็งขันของสังคมในระดับชุมชน...' ผมคิด

                         ภาพที่ ๑ กลุ่มผู้เข้าอบรมเชิงปฏิบัติการจาก ๙ จังหวัด ๔ ภูมิภาคทั่วประเทศ เป็นอสม.ดีเด่นหลายสาขาทั้งระดับเขตและระดับชาติ กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการหลายสาขาเช่นกัน ทีมวิทยากร : หน้าสุด อาจารย์นพดล พุ่มยิ้ม และที่สองแถว ๒ จากซ้าย อาจารย์กมาลาภรณ์ คงสุขวิวัฒน์ ศูนย์ สช.ภาคเหนือ นครสวรรค์ แถวหลังสุด ยืนกลางเสื้อลายสก๊อต : อาจารย์กฤตภพ จันทวงศ์ ศูนย์ สช.ภาคกลางและภาคตะวันออก ชลบุรี ริมขวาสุดแถวสองและแถวหนึ่งตามลำดับ อาจารย์ศิรินทร์ภรณ์ อัจจิมางกูร และอาจารย์วีณาพร สำอางศรี ศูนย์ สช.ภาคใต้ นครศรีธรรมราช แถวสองที่ ๓ อาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ และริมซ้ายสุดแถวที่ ๑ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ จากภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

                         ภาพที่ ๒ การสาธิตการจัดกระบวนการเรียนรู้และวิธีสอนแบบกลุ่มพี่เลี้ยงโดยใช้ของจริงและฐานการทำงานในชุมชนเป็นสื่อการเรียนรู้ ของกลุ่มผู้เข้าอบรมจากกลุ่มจังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก กลุ่มอสม.มีทักษะการสอนและการจัดกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบนี้ได้อย่างมีพลังมาก

    เตรียมความพร้อมเพื่อการเรียนรู้ที่แยบคายและลึกซึ้ง

จากความกระตือรือล้นของทีมและการที่เวทีไม่ได้มีถึง ๙ กลุ่มตามจำนวนจังหวัด แต่ลดลงเหลือ ๕ กลุ่ม อีกทั้งดูบรรยากาศและการเตรียมตนเองของทุกกลุ่มแล้ว ก็ประเมินได้ทันทีว่าจะเป็นเวทีนำเสนอผลงานที่ราบรื่นและมีพลังมาก ผมจึงขอใช้เวลา ๑ ชั่วโมงก่อนการนำเสนอ เพื่อให้เวทีทำกิจกรรม Reflection หรือทบทวนเรียนรู้คุณค่าและความหมายของกิจกรรมต่างๆที่ตนเองได้ทำ ตลอดจนผู้คนรอบข้างและสิ่งต่างๆที่ผ่านเข้ามาในประสบการณ์ของตน เพื่อเกิดความซาบซึ้งและเป็นแรงบันดาลใจของตนเองสำหรับทำงานต่อไป

จากนั้น ก็ให้เวทีพัฒนาเครื่องมือเพื่อฟังการนำเสนอและทำเวทีเรียนรู้ให้เป็นการแสดงออกในเชิงวัฒนธรรมของสังคมประชาธิปไตยไปด้วยโดยการโหวตและให้คะแนนประเมินอย่างมีหลักเกณฑ์ กลุ่มนักวิชาการและเจ้าหน้าที่จะได้เห็นจุดเชื่อมของวิถีชุมชนกับเครื่องมือการวิจัยและแบบฟอร์มที่ตนเองคุ้นเคย ส่วนอสม.และผู้นำชุมชนก็จะเห็นพัฒนาการและการยกระดับประสบการณ์ชีวิตของตนให้เป็นประเด็นที่ปรากฏขึ้นเป็นแบบสอบถาม เห็นวิธีเดินเชื่อมต่อกันให้เกิดจุดร่วมที่พอดี

เนื่องจากเวทีอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นหัวข้อเกี่ยวกับการเดินอย่างมียุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาวิธีการเป็นครูและนำเอาหลักสูตรไปใช้สร้างเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในระดับชุมชนผ่านการขับเคลื่อนเครือข่ายครูอสม.และโรงเรียนอสม. ดังนั้น เราจึงควรจะเรียนรู้และให้เสียงสะท้อนแก่ทุกกลุ่มไปด้วยว่าจากการออกแบบวิธีคิด วางแผน และนำเสนอผลงานซึ่งได้เห็นจากแต่ละกลุ่มนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งและแนวโน้มที่บ่งบอกความเข้มแข็งยั่งยืนในการกลับไปดำเนินการต่อไปของกลุ่มอย่างไรบ้าง

     การสร้างเครื่องมือบนเวทีและวิธีการใช้ 

 ๑.  ใช้ฟลิปชาร์ตบนบอร์ดขาตั้งระดมความคิดของเวที โดยถาม ๓ คำถาม คือ
     ๑.๑ คำถามที่ ๑ หากจะพิจารณาดูมิติความเข้มแข็งและแนวโน้มความเข้มแข็งยั่งยืนของเครือข่ายครูโรงเรียนอสม.ผ่านแนวคิด การวางแผนงาน และการนำเสนอผลงานในเวทีครั้งนี้สัก ๓ องค์ประกอบ เวทีเห็นว่าควรจะดูผ่านอะไรบ้าง ? 
           เวทีอภิปรายและสะท้อนแนวคิดพอเป็นตัวอย่างการเรียนรู้ รวบรวมได้ ๓ องค์ประกอบคือ
           (๑) ความต่อเนื่องของการดำเนินงาน
           (๒) ความเป็นวิถีชีวิต
           (๓) ความเป็นประโยชน์ต่อชุมชน
       ๑.๒ คำถามที่ ๒ ในแต่ละองค์ประกอบ มีอะไรเป็นตัวชี้วัดบ้าง ? ซึ่งรวบรวมทรรศนะได้จากเวทีพอเป็นตัวอย่างการเรียนรู้ คือ....
           (๑) ความต่อเนื่องของการดำเนินงาน
                 - มีการสร้างคน สร้างการสืบทอด
                 - มีการสร้างสิ่งใหม่ นวัตกรรม
           (๒) ความเป็นวิถีชีวิต
                 - มีการสร้างการมีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ
           (๓) ความเป็นประโยชน์ต่อชุมชน
                 - นำไปใช้ได้
                 - ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลง
                 - ทุกภาคส่วนได้เป็นเจ้าของ
        ๑.๓ คำถามที่ ๓ แต่ละองค์ประกอบ เวทีจะมีเกณฑ์ในการให้คะแนนกี่ระดับ และความหมายการให้คะแนนเป็นอย่างไร ? ซึ่งได้ข้อตกลงว่าจะให้คะแนน ๔ ระดับ โดยมีน้ำหนักความหมายต่างกันไป คือ... ดี =  ๑ | ดีมาก = ๒ | ดีเยี่ยม = ๓ | อัศจรรย์ = ๔
 ๒.  ทำแบบให้การประเมินพิมพ์เป็นตารางลงในคอมพิวเตอร์โน็ตบุ๊คและฉายผ่าน LCD ขึ้นจอให้เห็นทั่วทั้งห้อง เตรียมเป็น ๕ ตารางสำหรับให้คะแนนและสะท้อนผลการประเมินจากเวทีสำหรับการนำเสนอ ๕ กลุ่ม
 ๓.  เมื่อแต่ละกลุ่มนำเสนอเสร็จแล้ว ผมซึ่งเป็นวิทยากรบนเวทีก็จะฉายแบบประเมินเพื่อร่วมกันให้คะแนนพร้อมกันทั้งเวทีโดยการยกมือโหวตโดยถามทีละองค์ประกอบและให้ทุกคนยกมือให้คะแนนอย่างอิสระ
 ๔.  เมื่อทุกคนยกมือให้คะแนน ก็จะมีทีมวิทยากรผู้ช่วย ช่วยนับคะแนนและแจ้งผลบันทึกลงคอมพิวเตอร์และฉายให้เห็นพร้อมกัน เมื่อครบทุกองค์ประกอบก็รวมคะแนน
 ๕.  นอกจากการให้คะแนนจากวิธีร่วมกันโหวตโดยเวทีแล้ว วิทยากรก็ร่วมตั้งข้อสังเกตให้แก่ทีมและหมายเหตุกำกับให้เป็นรายกรณีไปด้วย
 ๖.  นอกจากแต่ละกลุ่มและทั้งเวทีจะทราบผลทันทีแล้ว เมื่อทุกกลุ่มนำเสนอเสร็จเรียบร้อย ผมเองและทีมวิทยากรของศูนย์สุขภาพภาคประชาชนก็ร่วมกันให้ข้อสังเกตเพื่อเสริมความมั่นใจในด้านที่เป็นความเข้มแข็งของแต่ละทีมด้วย

     เห็นตนเองจากเสียงสะท้อนและความคาดหวังของสังคมภายนอก

กลุ่มจากจังหวัดภาคใต้ ผลการโหวตจากเวที : มีความโดดเด่นระดับดี่เยียมในด้านเห็นความต่อเนื่องของการดำเนินงาน ข้อสังเกตของวิทยากร : มีความเด่นด้านความเป็นทีม วิชาการหลากหลาย มีความเป็นหนุ่มเป็นสาว การคิดเชื่อมโยง เชิงระบบ ความกล้าแสดงออก

กลุ่มจากจังหวัดภาคเหนือ ผลการโหวตจากเวท : มีความโดดเด่นระดับดีเยี่ยมในองค์ประกอบที่จะเป็นฐานความยั่งยืนอยู่ที่องค์ประกอบด้านความเป็นวิถีชีวิต ข้อสังเกตของวิทยากร : มีทีมวิชาการเข้มแข็ง เปิดกว้างให้เครือข่ายอสม.และชุมชน

กลุ่มจากจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผลของการโหวตจากเวที : มีความโดดเด่นระดับดีเยี่ยมในองค์ประกอบที่จะเป็นฐานความยั่งยืนอยู่ที่องค์ประกอบด้านความต่อเนื่องของการดำเนินงาน ข้อสังเกตของวิทยากร : ทีมมีความเป็นธรรมชาติ สื่อบุคคล สื่อความจริงใจ การสนทนา การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเชิงบวก พลังของสื่อบุคคล ความกลมกลืนกับวิถีชีวิต

กลุ่มภาคกลางและภาคตะวันออก ผลการโหวตจากเวที : มีความโดดเด่นระดับดีเยี่ยมในองค์ประกอบที่จะเป็นฐานความยั่งยืนอยู่ที่องค์ประกอบด้านความมีประโยชน์ต่อชุมชน ข้อสังเกตของวิทยากร : ทีมของกลุ่มภาคกลางและภาคตะวันออกเป็นทีมที่เก่งในการจัดกระบวนการ ความเป็นทีมเข้มแข็ง มีวิธีคิด วิธีสะท้อน เป็นกลุ่มเรียนรู้ที่มีพลัง

กลุ่มจังหวัดนครสวรรค์(ท่าตะโก) ผลของการโหวตจากเวที : มีความโดดเด่นระดับดีมากในองค์ประกอบที่จะเป็นฐานความยั่งยืนอยู่ที่องค์ประกอบด้านการมีความต่อเนื่องของการดำเนินงาน ด้านที่เด่นขึ้นมาได้ระดับดีเยี่ยมมากกว่าด้านอื่นคือด้านความเป็นวิถีชีวิต ข้อสังเกตของวิทยากร : ทีมอสม.และเครือข่ายครูอสม.ของกลุ่มนครสวรรค์มีความเด่นในการสอน บรรยาย การพูด การเป็นวิทยากรให้การเรียนรู้เชิงเนื้อหา

  คลิ๊กเพื่อเข้าไปดู  เครื่องมือและผลประเมินของเวทีโดยการโหวต   : ความเข้มแข็งและแนวโน้มความยั่งยืนของเครือข่ายครูโรงเรียนอสม. : มิติการพิจารณาความยั่งยืน ๓ องค์ประกอบ ๖ ตัวชี้วัด [Click here]

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 คลิ๊กลงไปบนชื่อเรื่อง  เพื่ออ่านเนื้อหาทั้งหมด ๑๒ ตอน  ท่านกำลังอ่าน ตอนที่ ๑๒  

ตอนที่ ๑    ขับเคลื่อนเครือข่ายโรงเรียน อสม.               ตอนที่ ๒   จิตวิญญาณความเป็นครูโรงเรียน อสม.
ตอนที่ ๓    ความเป็นครูโรงเรียน อสม.                        ตอนที่ ๔   ร่วมกันสร้างกรอบตัวแบบค้นหาครูโรงเรียน อสม.
ตอนที่ ๕    มิติทักษะความเป็นครูของอสม                   ตอนที่ ๖   วิธีค้นหาครูขับเคลื่อนโรงเรียนอสม.ของชุมชน
ตอนที่ ๗    ฐานชีวิตของครูโรงเรียนอสม.                     ตอนที่ ๘   เงื่อนไขสังคมของครูโรงเรียนอสม.
ตอนที่ ๙    การพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ครูโรงเรียนอสม.   ตอนที่ ๑๐ เครื่องมือ สื่อ เทคโนโลยี สิ่งสนับสนุนครูโรงเรียนอสม.
ตอนที่ ๑๑  การนำเสนอแผนการสอนและสาธิตกระบวนการเรียนรู้ของครูโรงเรียนอสม. 
ตอนที่ ๑๒  เพิ่มลูกเล่นและใส่ศิลปะเพื่อเรียนรู้การนำเสนอให้สร้างสรรค์

หมายเลขบันทึก: 370989เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2010 00:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

สวัสดียามดึกคะอาจารย์วิรัตน์

  • ลูกเล่น หรือเครื่องมือที่อาจารย์เพิ่ม(สอดแทรก)ให้กับพี่น้องอสม. และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข มองว่าเป็นเครื่องมือที่สุดยอด และเนียนมากคะ ๑) นับว่าเป็นเครื่องมือการประเมินที่ไม่จำเป็นต้องใช้แบบสอบถาม(ก็ได้) ใช้วิธีการโหวตกันแบบสดๆ แทน ๒) เป็นการบอกกล่าวกันไปในตัว(เครื่องมือ)เองว่าการประเมินนั้น อย่าประเมินเพียงด้าน(มิติ)เดียว(นะ) ....(มองแทนพี่น้องอสม.นะคะ เพราะถ้าเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือนักวิชาการจะรู้จักกันดีอยู่แล้ว)
  • ชอบคะ โหวตให้อาจารย์ +๑ คะ ^^

สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์

  • ไปเสิร์ชเข้ามาจากไหนล่ะครับถึงไม่ได้ล็อคอิน สงสัยบังเอิญเข้ามาเจอ
  • นอนดึกมากเหมือนกันนะครับ
  • การทำแบบประเมินและใช้เป็นกระบวนการเรียนรู้ พร้อมกับสะท้อนผลการประเมินอย่างนี้ เป็นการทำให้กระบวนการเรียนรู้เป็นปฏิบัติการเชิงสังคม ให้ประสบการณ์ในการแสดงออกและเห็นความเป็นประชาธิปไตยในเชิงวัฒนธรรมด้วยครับ
  • เป็นวิธีจัดกระบวนการเรียนรู้และเก็บข้อมูลที่สร้างความเป็นพลเมือง สร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย ทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักและมีประสบการณ์ด้วยตนเองได้เป็นอย่างดีว่า เราสามารถแสดงออกทางการเมืองในสังคมประชาธิปไตยได้ตั้งหลายทาง
  • เป็นการบูรณาการการเรียนรู้ ทำงานและเรียนรู้เพื่อสร้างสังคมไปด้วยได้ตั้งหลายมิติครับ
  • ต้องถือว่าเป็นการทำงานร่วมกันด้วยนะครับ เพราะอาจารย์และทีม ศสช.ก็ช่างรับมุข ลุกขึ้นยืนนับคะแนนและทำให้เวทีคึกคัก สนุกสนานมากครับ

"พัฒนาครู" ขอสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้อาจารย์ครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ

มาเรียนรู้ค่ะ  เป็นรูปแบบกระบวนการบูรณาการที่ดีมากเลยนะคะ  ถ้าเป็นนักเรียนอันนี้หละคือ "กระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ"

จะย้อนไปอ่านบันทึกก่อน ๆ ขอขอบพระคุณค่ะ

สวัสดีครับอ.นุครับ

  • ผมเห็น Planet List ที่ด้านขวาของอ.นุด้วย ก็รู้สึกประทับใจ'วิศวกรเพื่อสังคม'ครับ
  • เป็นการให้นิยามตนเองที่สั้นแต่เห็นแนวการทำงานและการดำเนินชีวิตได้ดีจังเลยนะครับ
  • ขอบพระคุณที่มาเยือนและมอบกำลังใจให้กันครับ ขอให้มีกำลังใจเช่นกันครับ

สวัสดีครับคุณครูคิมครับ

  • ใช่เลยครับ เป็นจุดร่วมเดียวกันและกระบวนการก็ใช้หลักการเหมือนกันได้
  • เพียงแต่ทำในต่างบริบท ต่างกลุ่ม และด้วยทรรศนะต่อการศึกษาเรียนรู้ที่ครอบคลุมไปถึงการดำเนินชีวิต
  • ชื่อเรียกก็เป็น Community-Based Participatory Learning ถือเอาชุมชนและกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นผู้ใหญ่และคนทำงานเป็นศูนย์กลาง ซึ่งก็คือการถือเอาผู้เรียนเป็นศูนย์กลางอย่างที่คุณครูคิมว่านั่นเอง
  • การจัดกระบวนการนี้ได้ในกลุ่มผู้เรียนในโรงเรียน ก็จึงสามารถขยายผลบทเรียนไปสู่การจัดกระบวนการศึกษาเรียนรู้ให้กับกลุ่มที่อยู่นอกระบบโรงเรียนได้เป็นอย่างดีด้วย
  • คุณครูคิมรักษาสุขภาพนะครับ หน้านี้ฝนตกบ่อย หันไปทางไหนก็เห็นผู้คน(รวมทั้งผมด้วย)เป็นหวัดงอมแงม
  • อาจารย์ครับ
  • ตามมาอ่าน ยายลายเลยครับ
  • ยังไม่จบครับเลย แงๆ
  • โอ้โฮ เล่นมุข ๒-๓ ชั้นเลยนะครับอาจารย์ดร.ขจิต
  • แต่เดิมผมคิดว่าอาจารย์พิมพ์ ยายลายผิด
  • แต่เดินไปหาน้ำดื่มแล้วคิดไปเรื่อยเปื่อย..ยายลาย ของอาจารย์ก็แว๊บเข้ามาในความคิดแล้วผุดคำว่าตาลายขึ้นมา
  • ถึงได้รู้ว่าอาจารย์เล่นมุข ผ่านไปกว่าชั่วโมงแน่ะผมถึงได้ขำ
  • ขำทั้งมุขอาจารย์และขำตัวเองที่ขำได้ช้ามากจริงๆ
  • ขอบคุณครับอาจารย์
  • ผมกำลังค้นหาตัวช่วยอยู่พอดีครับ คือผมได้รับมอบหมายให้เป็นพี่เลี้ยง รพ.สต.หนึ่งที่จะต้องพัฒนาให้เป็นโรงเรียนนวตกรรมตามแนวคิดของคุณหมออมรครับ ผมก็คิดไม่ตกว่าจะเริ่มอย่างไร ตอนแรกผมได้ยินคำว่า "โรงเรียนนวตกรรมชุมชนด้านสุขภาพ" ผมนึกถึงศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ที่มูลนิธิฮักเมืองน่าน สนับสนุนการดำเนินการให้ปราชญ์ชาวบ้านได้เป็นครูสอนชาวบ้านด้วยกันในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องข้าว, เกษตรทางเลือก, ขยะ, สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ผมคิดว่าน่าจะเป็นแนวคิดเดียวกัน แต่ได้เมื่อได้มาฟังวิทยากรจากศูนย์สสม. เขากลับพูดถึงเรื่องการพัฒนาแกนนำชุมชนและอสม.ให้มีความรู้เรื่องแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์(SRM)แล้วสามารถนำไปปฏิบัติในพื้นที่เพื่อให้เกิดนวตกรรมสุขภาพ โดยหัวใจเน้นไปที่ตัว SRM มากกว่าการเรียนรู้ต่อยอดจากองค์ความรู้เดิมของชุมชน
  • ผมฟังเรื่องแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์แล้วคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะต้องมีการกำหนดเป้าหมายและทิศทางการเดินของชุมชนให้ชัดเจน แต่ผมก็ยังรู้สึกว่าด้วยกระบวนการ วิธีการ และศัพท์ที่ใช้ ยังเป็นเรื่องเทคนิคค่อนข้างมาก เป็นภาษาชาวบ้านส่วนใหญ่อาจจะเข้าใจได้ยาก เช่น คำว่า SRM, SLM, กล่อง, ตาราง ๑๑ ช่อง ทำให้ผมรู้สึกเหมือนว่ากระบวนการและเครื่องมืออาจจะเป็นกับดักของการเรียนรู้หรือไม่
  • อาจารย์มีข้อเสนอแนะอย่างไรครับ
  • ขอบคุณบันทึกของอาจารย์มากเลยครับ ผมจะนำไปคุยกับทีมงานในการปรับกระบวนการคิดและการทำงานของทีมดูครับ

อาจารย์ครับ  ผมชอบตรงนี้มากเลยครับ

   หากจะพิจารณาดูมิติความเข้มแข็งและแนวโน้มความเข้มแข็งยั่งยืนของเครือข่ายครูโรงเรียนอสม.ผ่านแนวคิด การวางแผนงาน และการนำเสนอผลงานในเวทีครั้งนี้สัก ๓ องค์ประกอบ เวทีเห็นว่าควรจะดูผ่านอะไรบ้าง ? 
           (๑) ความต่อเนื่องของการดำเนินงาน
           (๒) ความเป็นวิถีชีวิต
           (๓) ความเป็นประโยชน์ต่อชุมชน

     ผมว่านำไปใช้ในการดำเนินงานในเรื่องต่างๆได้แทบทุกเรื่องเลยนะครับ

    สำหรับผม จากประสบการณ์ในการทำงานในเรื่องต่างๆ ที่ผ่านมา   แค่ ข้อ 1  ก็มักจะไม่ผ่านแล้วละครับ   ข้อ  2  ข้อ 3  แทบไม่ต้องพูดถึง

    ยากเหมือนกันนะครับ กับระบบราชการ  ที่จะให้เกิด 3 ข้อ (ตามมุมมองของผมเอง)

                 ขอบคุณครับ

สวัสดีครับคุณพ่อน้องซอมพอครับ

  • ตามความเข้าใจของผมเท่าที่พอมี เท่าที่พอได้ศึกษา ใช้ทำงานบ้าง รวมทั้งได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของแหล่งต่างๆอยู่บ้าง ก็คิดว่ามันเป็นกระบวนการที่ทำให้ง่าย เข้าใจได้อย่างมีเหตุผล แล้วก็ผสมผสานกับวิธีการอื่นๆที่หน่วยงานและองค์กรต่างๆ รวมทั้งชุมชนก็มีประสบการณ์ใช้ดำเนินการต่างๆมาก่อนอยู่แล้วครับ หลักคิดสำคัญก็คือ เน้นทั้งการบรรลุเป้าหมายที่เป็นยุทธศาสตร์และปัจจัยเชิงกระบวนการที่มีความสอดคล้องกับเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่ต้องการ ซึ่งทำให้เกิดความสมดุลกันระหว่างเรื่อง เป้าหมายและกระบวนการ
  • จุดเน้นที่ให้ความสำคัญมากขึ้นก็คือ การตัดสินใจด้วยการเรียนรู้และมีข้อมูลที่เป็นระบบมากขึ้นครอบคลุมหลายมิติ รวมทั้งการมุ่งส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือบนประเด็นร่วมเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นการยกระดับการทำงานอีกด้วย เพราะวิธีการเหล่านี้ชุมชนระดับต่างๆก็มีประสบการณ์ในยุคก่อนหน้านี้อยู่แล้วครับ
  • ที่สำคัญคือไม่ได้เน้นเรื่องโจทย์ภายนอกและประเด็นตายตัวเป็นตัวตั้ง แต่เน้นกระบวนการ เพราะฉะนั้น ชุมชนและหน่วยงานต่างๆจะนำเอากระบวนการดังกล่าวนี้ไปขับเคลื่อนเนื้องานอะไรก็ได้
  • แต่ความยากและการทำให้เกิดความสับสนก็คงจะอยู่ที่การมีขั้นตอนและแบบแผนที่ระบุให้จำ จนลืมหลักคิดและเหตุผลเบื้องหลัง รวมทั้งชื่อเรียกที่ดูยากๆ นี่ก็คงจะมีส่วนอยู่บ้างนะครับ โดยเฉพาะเมื่อไปเชื่อมต่อกับชาวบ้านทั่วไป หรือแม้จะเป็นอสม.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็ตาม
  • อีกส่วนหนึ่ง ในสภาพความเป็นจริงของสังคมนั้น กลุ่มผู้เกี่ยวข้องที่มีความหลากหลายมักมีวาระที่ไม่ได้ตายตัวอยู่ในวาระเดียวกันอย่างต่อเนื่องตลอดกระบวนการ ในขณะที่การเดินเป็นแผนที่ยุทธศาสตร์จำเป็นต้องดำเนินไปอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกัน พอใช้กรอบกิจกรรมที่ต้องทำติดตามดูงาน ก็จะทำให้ทำงานได้ลำบาก
  • ในเวทีที่ผมได้ไปร่วมงานครั้งนี้ จะว่าไปแล้ว แผนที่ผลลัพธ์ก็นำมาใช้ระบุวัตถุประสงค์มิติต่างๆให้ชัดเจน แผนที่ยุทธศาสตร์ก็นำมาวิเคราะห์และวางแผนปฏิบัติการ ส่วนโรงเรียนอสม.และเครือข่ายผู้บริโภคในชุมชนก็เป็นเนื้องานและชุมชนเป้าหมายที่จะได้ประโยชน์ แสดงว่าเป็นการทำงานที่คนทำจะสามารถเข้าใจจากการปฏิบัติได้ครับ แต่พอเรียกเป็นรูปแบบก็เลยเหมือนว่าต้องเรียนรู้สิ่งที่แปลกออกไปและต้องทิ้งประสบการณ์เดิม อย่างนั้นหรือเปล่านะครับ
  • ปัญหาจริงๆจึงอาจจะอยู่ที่ในสภาพความเป็นจริงของสังคมนั้น เรามีช่องว่างทางการสื่อสารและช่องว่างของการผสมผสานความรู้ที่มาจากแหล่งประสบการณ์ที่ต่างกัน ในขณะที่สังคมหลากหลายและซับซ้อนมาก ก็อาจเป็นได้ครับ
  • แต่นี่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งหรอกนะครับ คุยเพื่อเป็นเพื่อนคิดกันอย่างคนทำงานเฉยๆครับ เพราะทุกครั้งที่ทำงานก็ต้องตั้งหลักและเข้าสู่การเรียนรู้ในเงื่อนไขแวดล้อมใหม่ๆอยู่เสมอครับ 

สวัสดีครับอาจารย์ small man ครับ

  • เป็นการให้เสียงสะท้อนและเหมือนเป็นการช่วยย้ำให้เกิดความมั่นใจว่ากลุ่มอสม.และคนทำงานสุขภาพในชุมชนที่ส่วนใหญ่ได้ข้อ ๑ ความต่อเนื่องของการดำเนินงานนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้น จึงต้องยิ่งเชื่อมั่นในผลของการทำงาน
  • วิธีการนี้นำมาทำเป็นกระบวนการเวทีก็ได้บรรยากาศการเรียนรู้ที่ดีมากเลยครับอาจารย์ จะว่าไปแล้วก็เป็นการนำเอาแบบสอบถามมาทำเป็นกระบวนการเรียนรู้เสีย ทำให้คนจัดความสัมพันธ์และเกิดปฏิสัมพันธ์กันด้วยโครงสร้างใหม่ๆ บนวิธีการและกระบวนการที่เปลี่ยนไป   
  • แต่ก็ขึ้นกับกลุ่มด้วยครับ เวทีนี้นำมาใช้และทำให้สนุกสนานได้ก็เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มีประสบการณ์ดีและภาวะผู้นำในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เป็นตัวของตัวเอง ดีมากครับ

สวัสดีครับ

  • ผมได้แนวทางในการนำไปพัฒนาครูอีกแล้วครับ
  • ขออนุญาตนำไปประยุกต์ใช้ในหลายๆ เรื่องเลยนะครับ
  • ขอบพระคุณท่านอาจารย์และชาว อสม. ที่ได้ช่วยกันพัฒนารูปแบบการดำเนินงานที่ดีๆ สำหรับสังคมไทยนะครับ

                                                0422-1-1.jpg picture by waweeme

ขอบพระคุณคะอาจารย์วิรัตน์ที่นำของติดไม้ติดมือไปฝากไว้ที่บันทึก ถือโอกาสกราบคารวะแด่ คุณครูวิรัตน์ คำศรีจันทร์ ด้วยนะคะ ^/l\^

  • สวัสดีครับท่านอาจารย์ ศน.ศิลป์ชัยครับ
  • ด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ 
  • ขออนุญาตนำเอาแนวคิด หลักชีวิต และหลักการทำงานของอาจารย์ ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานและดำเนินชีวิตด้วยเช่นกันครับ
  • มีความสุขและได้กำลังใจจากกิจกรรมชีวิตต่างๆอยู่เสมอครับอาจารย์ครับ

สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

  • ขอให้อาจารย์ณัฐพัชร์ได้ความงอกงามในทุกด้านอยู่เสมอครับ
  • ได้ทำงาน ได้แบ่งปันประสบการณ์ และได้ใช้ความรู้อย่างเต็มที่ในการสร้างคนสร้างสังคมตามอัตภาพในทุกจังหวะของชีวิต มากยิ่งๆขึ้นนะครับ

สวัสดีค่ะ

"ยายลาย" ตามอาจารย์ขจิตไปแล้วค่ะ (อ่านไปขำไป)

ยังไม่จบเหมือนกันค่ะ

ฝากดอกไม้ไว้ก่อนค่ะ

  • งามจังเลยครับรูปนี้
  • ใบ ทั้งจังหวะ ลีลา สีสันและน้ำหนัก สวยมากเลยครับ
  • กราบสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ค่ะ ช่วงนี้ไม่ค่อยได้เข้า G2K แต่คราวนี้ตั้งใจเข้ามาแสดงความเคารพและอ่านข้อเขียนของท่านอาจารย์โดยเฉพาะค่ะ
  • เห็นกิจกรรมที่ท่านอาจารย์ทำและผลที่สะท้อนออกมาแล้วรู้สึกประทับใจมากค่ะ เครื่องชี้วัดตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี  หวังว่าจะมีโอกาสเรียนปรึกษาเกี่ยวกับปรัชญามนุษย์ศาสตร์นะคะ ขอฝากตัวไว้ในเบื้องต้นก่อนค่ะ แล้วจะขออนุญาตมาติดตามความรู้และหารือคราวหน้าค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์ศิลาครับ

  • เป็นการจัดกระบวนการให้เวทีได้มีประสบการณ์สร้างตัวชี้วัดขึ้นมาใช้ถอดบทเรียนกันสดๆน่ะครับ สนุกและได้ผลดีเหมือนกันครับ 
  • ด้วยความยินดียิ่งครับ แต่สงสัยผมจะต้องขอเรียนรู้จากอาจารย์ศิลาเสียมากกว่าละซีครับ
  • ตามมาชื่นชมต่อเนื่อง
  • เต็มเปี่ยม จังนะคะ....

ดอกพยอมลีลากลีบดอกสวยมากเลยนะครับ
อย่างกับงานศิลปะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท