ทฤษฎีพหุปัญญา (multiple intelligence) เป็นความพยายามในการอธิบายมนุษย์ของ นักจิตวิทยาที่ชื่อ Howard Gardner ผู้ปลุกนักการศึกษาทั่วโลกให้หันไปมองในความแตกต่าง หลากหลายของเด็กมาตั้งแต่ ค.ศ.๑๙๘๓ ในปัจจุบันคำอธิบายดังกล่าวเป็นที่ยอมรับกัน ค่อนข้างแพร่หลาย แต่ในแง่ของการปฏิบัติแล้วก็มีผู้ตีความกันไปต่างๆ จึงเกิดเป็นการพัฒนาแนวคิดนี้ไปใน ๒ แนวทาง ใหญ่ๆ ที่มีความแตกต่างกัน คือ
แนวทางแรก เน้นไปในประเด็นที่มนุษย์แต่ละคนมีความถนัดในความฉลาดแต่ละด้าน ที่แตกต่างกัน ซึ่งหมายความว่า แนวทางนี้ส่งเสริมความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของแต่ละปัจเจก
แนวทางที่สอง เน้นไปในประเด็นที่ว่ามนุษย์แต่ละคนมีโอกาส ในการพัฒนาความฉลาด ที่หลากหลายภายในตนเอง และในบรรดาความฉลาดที่มีอยู่หลายด้านนั้น ก็มีความสัมพันธ์เชื่อมโยง กันอยู่ ดังตัวอย่างที่ ดร.เราส์เชอร์ได้นำเสนอไว้ในงานวิจัยของเธอว่า การฝึกทักษะทางดนตรี ซึ่งเป็นความฉลาด ๑ใน ๘ ด้าน จะช่วยให้ความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์ และความฉลาดด้านคณิตศาสตร์ พัฒนาขึ้นด้วย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน ฉลาดได้ด้วยดนตรี ตอน ๑,๒,๓)
ความคิดเห็นที่แตกต่างกันนี้ ได้ก่อให้เกิดแนวทางการจัดการศึกษาที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก
แนวทางแรกที่มุ่งพัฒนาความฉลาดเฉพาะทาง ก็จะมุ่งเน้นลักษณะเด่นของผู้เรียนแต่ละคน ให้แหลมคมมากยิ่งขึ้น โดยทำการส่งเสริมความสามารถเฉพาะของแต่ละบุคคลให้งอกงาม มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
แนวทางที่สองที่เน้นการพัฒนาความฉลาดอย่างรอบด้าน ก็จัดโปรแกรมการเรียนรู้ที่มีลักษณะ ของการบูรณาการความรู้ต่างๆเข้าด้วยกัน ให้สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้หมดหรือใน พรบ.การศึกษา แห่งชาติ ได้กำหนดไว้ให้ผู้เรียนต้องเรียนสาระให้ครบทั้ง ๘ สาระ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ หรือชั้น ๑ จนกระทั่งชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ หรือชั้น ๑๒ โดยไม่แบ่งเป็นสาย/โปรแกรมวิทย์ สาย/โปรแกรมศิลป์เหมือนแต่ก่อน หรือการที่มหาวิทยาลัยเดี๋ยวนี้มีโครงการปริญญาเอกที่เรียกว่า สหวิทยาการ ที่กำหนดให้ผู้เรียนต้องใช้ความรู้ ๓ สาขาขึ้นไปมาตอบคำถามที่ตั้งไว้ตั้งแต่ก่อน เข้าศึกษาต่อว่า ต้องการศึกษาค้นคว้าในเรื่องอะไร เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องใด
เป็นที่น่าสงสัยว่า ทั้งแนวทางที่มุ่งพัฒนาความฉลาดเฉพาะทาง และแนวทางที่มุ่งพัฒนาความฉลาดอย่างรอบด้าน ต่างก็มีความเกี่ยวพันอยู่กับทฤษฎีพหุปัญญาด้วยกันทั้งคู่ แต่เหตุไฉนจึงมีความ แตกต่างกันถึงเพียงนี้ ดังนั้น จึงขอกลับมาทบทวนหลักการใหญ่ๆของทฤษฏีนี้สักเล็กน้อย เพื่อที่จะหาทางออกที่ไม่เหวี่ยงไปข้างใดข้างหนึ่ง แต่สามารถเก็บประโยชน์จากทั้ง ๒ แนวทาง ที่กล่าวมาแล้วได้อย่างเต็มที่
ทฤษฎีพหุปัญญา กล่าวถึงมนุษย์และความชาญฉลาดทั้ง ๘ ด้านของมนุษย์ ว่า มนุษย์มีความฉลาดอย่างน้อย ๘ ด้าน
มนุษย์มีโอกาสที่จะพัฒนาพหุปัญญาได้ครบทุกด้าน ปัญญาหรือความฉลาดทั้ง ๘ ด้าน ล้วนส่งผลถึงกันในลักษณะสนธิพลัง ความถนัดอันเนื่องจากผลสะสมของการเรียนรู้ และพันธุกรรม เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์ มีความถนัดในปัญญาด้านต่างๆที่แตกต่างกัน
การปรากฏของมนุษย์แต่ละคน เป็นผลสังเคราะห์ของโยงใย และผลที่กระทำต่อกันของปัญญาทุกๆด้านที่มีอยู่ในตัวบุคคล ซึ่งสังเคราะห์ออกมาเป็นprofile ที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล ซึ่งส่วนที่เป็นจุดเด่นของ profile ของแต่ละคนก็มักแสดงออกมาให้เห็นเป็นความโดดเด่นของปัญญาในด้านใดด้านหนึ่ง หรือ ชุดใดชุดหนึ่ง
จากหลักคิดดังกล่าวอาจนำมาสู่หลักปฏิบัติที่เป็นการก้าวพอดี ที่สามารถประสานทั้ง ๒ แนวทางข้างต้นเข้าด้วยกัน คือ
การจัดการศึกษาที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พัฒนาปัญญาในทุกๆด้าน ตามวิถีการเรียนรู้ของแต่ละคน
ทำให้การพัฒนาปัญญาในทุกด้านมีความเชื่อมโยงถึงกัน เพื่อให้เกิดลักษณะของการสนธิพลังเข้าด้วยกัน
เมื่อผู้เรียนแต่ละคนมีความถนัด และความรักในปัญญาที่แตกต่าง ก็ควรให้เขาได้เริ่มจากด้านที่เขา มีความถนัด และมีความรัก (เริ่มจากฉันทะ)เป็นปฐม หลังจากนั้นก็ค่อยๆเชื่อมโยงไปสู่ปัญญาด้าน อื่นๆต่อไปจนครบทุกด้าน ในลักษณะของการสนธิพลังเช่นกัน
ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้สังเคราะห์ปัญญาทุกๆด้านออกมาเป็น profile เฉพาะของแต่ละบุคคล ที่มีความแตกต่างกันเฉกเช่นเดียวกันกับลายนิ้วมือของแต่ละคนที่ไม่มีใครเหมือนกันเลย
เมื่อความแตกต่างเกิดขึ้นแล้วก็สร้างให้ความแตกต่างนั้นโดดเด่นยิ่งๆขึ้นไป (อย่างมีความเชื่อมโยงกับปัญญาด้านอื่นๆ) จนกระทั่งกลายเป็น ลักษณะเฉพาะที่พัฒนาขึ้น จากฐานของ ความเข้าใจในปัญญาทั้ง ๘ ด้านอย่างบูรณาการ
เป็นที่หวังได้ว่าผู้เรียนที่เติบโตขึ้นจากวิถีการศึกษาที่บูรณาการพหุปัญญาเข้าด้วยกัน และสามารถสังเคราะห์ออกมาเป็นลักษณะเด่นเฉพาะตนได้เช่นนี้ จะเป็นผู้ที่สามารถเข้าใจในเรื่องราว ต่างๆได้อย่างแยบคาย เพราะไม่มองอะไรแบบแยกส่วน อีกทั้งยังสามารถใช้ส่วนของปัญญา ที่โดดเด่นของตนเข้าไปจัดการกับปัญหาได้ เช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาทั้งหลาย เพราะมีทั้งความรอบรู้ ตลอดทั้งสติปัญญาที่เฉียบคม ที่เข้ามาหลอมรวมอยู่ในบุคคลคนเดียวกัน นั่นเอง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ใน สร้างสังคมโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน