• ต้นปี 2508 เป็นช่วงที่ผมเรียนแพทย์ปี 3 จะขึ้นปี 4 ซึ่งเป็นปีสุดท้าย มีเพื่อนมาชวนไปเป็นลูกทีมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของศิริราช ที่จังหวัดอุดรธานี หัวหน้าทีมคืออาจารย์หมอเกษม ลิ่มวงศ์ ซึ่งตอนนั้นยังโสด และมีชื่อเสียงด้านผ่าตัดเร็วและประณีตมาก รองหัวหน้าคณะคือพี่สารรัตน์ ยงใจยุทธ ซึ่งขณะนั้นเป็นแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ปีที่ 1
คนสวมหมวกคือผม
• นศพ.
ที่ร่วมไปเป็นลูกทีมเป็น เพื่อนรุ่นเดียวกับผมทั้งหมด ได้แก่
สุรพล อัครปรีดี, วิชัย วนดุรงค์วรรณ, นิคม วรรณราชู, ผม,
ไพโรจน์ เวียงแก้ว, ชวลิต ภัทราชัย
รายชื่อนี้ตรวจทานแน่นอนแล้ว สองชื่อหลังถึงแก่กรรมแล้ว
ที่สหรัฐอเมริกาทั้งคู่
คนหันหน้าหากล้อง จากซ้าย สุรพล อัครปรีดี, อ. นพ. เกษม ลิ่มวงศ์
จากซ้าย วิชัย วนดุรงค์วรรณ, ไพโรจน์ เวียงแก้ว, นิคม วรรณราชู, นพ. สารรัตน์ ยงใจยุทธ, สุรพล อัครปรีดี, วิจารณ์ พานิช, ชวลิต ภัทราชัย
จากซ้าย สุรพล นิคม ไพโรจน์
• หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ชุดนี้เป็นชุดนำร่อง
เกิดจากทาง รพช. (สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท) มาชวนศิริราช
ให้ไปช่วยกันทำงานช่วยบรรเทาทุกข์จากโรคภัยไข้เจ็บของชาวบ้านที่อยู่ในเขตกันดาร
เป้าหมายที่อยู่เบื้องหลังคือต่อสู้กับการขยายตัวของลัทธิคอมมูนิสต์
หลังจากโครงการนำร่องครั้งนี้ทางศิริราชจึงจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้แพทย์และพยาบาลหมุนเวียนไปที่อุดรเป็นประจำอยู่หลายปี
โดยมีสถานีอนามัยที่อำเภอหนองบัวลำภูเป็นที่พักและศูนย์ดำเนินการ
เวลานี้หนองบัวลำภูแยกออกมาเป็นจังหวัดแล้ว
• ตอนที่เราไปนั้น
เราไปที่อำเภอบ้านดุงซึ่งกันดารมาก
หน่วยบริการเคลื่อนที่คราวนั้นเป็นขบวนใหญ่มาก
มีรถนับสิบคัน เป็นรถแลนด์โรเวอร์และรถจี๊ป
เพราะทางที่ไปเป็นทางเกวียน
สัมภาระบางส่วนขนโดยเกวียนเทียมวัว
หัวหน้าทีมคือผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พล. ต. ต. สามารถ
วายวานนท์ มีนายแพทย์ทหาร ภู่พัฒน์ (นามสกุลอาจจำผิด)
เป็นอนามัยจังหวัด คณะนอนค้างคืนตามโรงเรียน
ผู้ว่าราชการจังหวัดก็นอนที่โรงเรียน
เพียงแต่เขาจัดเตียงให้และมีบังตากั้นแยกจากที่นอนของพวกเราที่นอนเสื่อกับพื้น
เพื่อนบอกว่าของผู้ว่าฯ มีหมอนข้างดิ้นได้แถมด้วย
รุ่งขึ้นผู้ว่าฯ
พูดแก้เก้อกับพวกเราในวงข้าวว่าท่านอายุมากแล้วถึงเขาจัดอะไรมาให้
แต่ก็ไม่มีแรง เพื่อนผมคนหนึ่งกระซิบกันว่า
"แล้วทำไมผู้ว่าไม่ส่งมาให้ผม" ผมในที่นี้หมายถึงคนพูด
• ตอนกลางวันทีมแพทย์ก็ออกตรวจรักษาคนไข้
คนที่มากว่าครึ่งเป็นโรค "วิ่น" แปลว่าเวียนศีรษะ
ส่วนใหญ่เป็นโรคโลหิตจาง
เป้าหมายของคนที่มารักษาคือมาขอยาเอาไปเก็บไว้ใช้ยามไม่สบายมากๆ
เห็นได้ชัดเจนว่าบริการแบบนี้ได้ผลเชิงจิตวิทยามากกว่าการแก้ปัญหาสุขภาพอย่างจริงจัง
แต่สำหรับพวกผมซึ่งเป็นแค่นักศึกษาแพทย์ ก็ได้มีโอกาสเป็น "หมอใหญ่"
อยู่ 5 วัน ก็กลับไปศิริราช ไปเป็นลูกไล่ให้อาจารย์และรุ่นพี่ๆ
ไล่ต้อนตามเดิม
• ทีมข้าราชการหน่วยอื่นๆ
เขาก็ให้บริการเคลื่อนที่ของเขาเหมือนกัน
แต่พวกเราไม่มีโอกาสไปดูงานของเขา
เพราะส่วนงานในหน้าที่ของเรามีคนมาใช้บริการมืดฟ้ามัวดิน
เพื่อนที่ช่างคุยของพวกผมคือชวลิต
ไปคุยกับปลัดอำเภอซึ่งเป็นเด็กรุ่นเดียวกันกับพวกเรา
และกลับมาเล่าว่าพวกปลัดอำเภอบอกว่า
เขาได้รับมอบหมายให้คอยหาผู้หญิงมาบริการนาย
• แม้ผมจะเป็นเด็กบ้านนอก
ผมก็ไม่เคยเห็นความกันดารขาดแคลนอย่างที่เห็นที่ อ. บ้านดุง จ.
อุดรธานี นับเป็นประสบการณ์ชีวิตที่มีค่ายิ่ง
เมื่อวันที่ ๑ กค. ๔๙ มีงานชุมนุมแพทย์ศิริราชรุ่น ๗๑ ที่พัทยา นพ. นิคม วรรณราชู ซึ่งเวลานี้อยู่ที่สหรัฐอเมริกา เอา CD รูปสมัยไปออกหน่วยนี้มาฝาก ผมจึงเอามาลงไว้เป็นประวัติศาสตร์ คนรุ่นหลังจะได้เห็นสถาพความเป็นอยู่และบ้านเมืองของเราสมัยกว่าสี่สิบปีก่อน
ดูไม่ออกว่าผู้ที่กำลังตรวเด็กคือใคร ส่วนคนซ้ายมือคือนิคม
ถ่าย พ.ศ. ๒๕๐๘ จากซ้าย วิชัย วนดุรงค์วรรณ, นพ. เกษม ลิ่มวงศ์, ไพโรจน์ เวียงแก้ว, สุรพล อัครปรีดี, วิจารณ์ พานิช, นิคม วรรณราชู, นายแพทย์ จำชื่อไม่ได้
นศพ. ทั้ง ๖ ถ่ายรูปกับรองหัวหน้าคณะ (นพ. สารรัตน์ ยงใจยุทธ) บ้านพัก และพาหนะในการเดินทาง
นั่งเรือข้ามโขงไปบ้านญาติพี่สารรัตน์
บรรยากาศของการออกหน่วย
พักผ่อนที่บ้านพัก โปรดสังเกตว่า ไพโรจน์ (คนสวมแว่น) ถือบุหรี่ และผมมีควันบุหรี่อยู่ตรงหน้า เจ้าของบุหรี่ (ติดบุหรี่) คือสุรพล หรือไม่ก็ชวลิต
รับของจากผู้ว่าฯ
หมอตัวจริงนั่ง นศพ. ปี ๓ (นิคม) ยืนข้างหลัง (สวมเสื้อขาว)
วิจารณ์ พานิช
7 มิย. 49
บนเครื่องบินไปนิวยอร์ก
แก้ไขเพิ่มเติม ๓ กค. ๔๙
เป็นบันทึกที่มีค่ามากครับ ยิ่งมีภาพประกอบด้วย ทำให้มีชีวิตชีวาขึ้นอีกมาก ขอบพระคุณครับ และขอทำหน้าที่ช่วยพิสูจน์อักษร เป็นเลขาฯจำเป็นให้ท่านอาจารย์ เชื่อว่าต้องมีผู้นำไปเผยแพร่ หรืออ้างอิง จึงอยากให้ ไม่มีที่ผิดพลาดเลย ... ดังนี้
Note
" ผมในที่นี้หมายถึงคนพูด "
ผมว่าประโยคนี้ของท่านอาจารย์ สำคัญมาก ลองใครไปตัดออกดูสิครับ เป็นเรื่องเลยทีเดียว