เรื่องดี ๆ ที่ชุมพร (2)


ใครเชื่อมั่นและปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัว ชีวิตนี้จะไม่มีวันตกอับ

เดือนมิถุนายน 2549 ได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยเราอีกวาระหนึ่งว่า เป็นเดือนที่มีเหตุการณ์ยิ่งใหญ่อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์งานเฉลิมฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเหตุการณ์ที่นำมาซึ่งการหลอมรวมความรู้สึก มหาประชาปิติ อันเป็นการแสดงออกซึ่งความรัก  ความผูกพันของคนไทยทุกหมู่เหล่าที่มีต่อในหลวง

แรงศรัทธาที่คนไทยแสดงออกในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าว รับรู้ได้จากการติดตามข่าวสารหลากหลายรูปแบบ ภาพใบหน้าที่อาบด้วยน้ำตาพร้อมเปล่งเสียง ...ทรงพระเจริญ ๆ ๆ ๆ ... ก้องไปทั่วลานกว้างหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม บริเวณพระบรมรูปทรงม้า เรียกรอยยิ้มพร้อมคราบน้ำตาจากคนไทยทั่วทุกสารทิศที่ติดตามรับชมการถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมติดธงทิวปลิวไสวไปทั่วท้องถนน, การสวมใส่เสื้อเหลืองประทับตราสัญลักษณ์งานเฉลิมฉลองครองสิริราชสมบัติ 60 ปี, การเดินเทิดพระเกียรติ, จุดเทียนชัยถวายพระพร ร่วมร้องเพลงสดุดีมหาราชา, เพลงสรรเสริญพระบารมี ฯลฯ ได้รับการตอบสนองจากประชาชนทุกหมู่เหล่าโดยพร้อมเพรียงกัน

ผลสืบเนื่องอีกประการหนึ่งคือ ความมุ่งหวังตั้งใจที่จะ ทำดีเพื่อในหลวง โดยการแสดงออกผ่านการอธิษฐานทั้งในรูปแบบ ได้แก่ การเปล่งวาจาในพิธีจุดเทียนชัย, การลงนามถวายพระพร, การบันทึกข้อความผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ท ฯลฯ รวมทั้งการอธิษฐานนอกรูปแบบ เงียบ ๆ เป็นส่วนตัวหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ในห้องพระที่บ้าน ฯลฯ

กระแสแห่งความดีงามที่เกิดขึ้นนี้ ผมคิดว่าเราต้องช่วยกันรักษา พัฒนาให้เป็น ปฏิบัติบูชา ต่อเนื่องอย่างทันท่วงที ช้าไปกว่านี้ 2-3 เดือน ความเข้มแข็งของกระแสจะไม่อยู่ในสภาพเดิม จะริเริ่มก่อการผลักดันไปสู่การปฏิบัติได้ยากกว่าสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ในการประชุมร่วมกับคณะผู้บริหารและองค์กรหลักของโรงเรียนสอาดเผดิมวิทยา อ.เมือง จ.ชุมพร เมื่อวันอังคารที่ 13 มิถุนายน 2549 ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย คณะกรรมการสถานศึกษาฯ, ประธานสมาคมศิษย์เก่าฯ, สมาคมครูและผู้ปกครองฯ รวมทั้งเครือข่ายผู้ปกครองฯ ที่ผมรับหน้าที่เป็นประธานอยู่ เราจึงพูดคุยกันและเห็นพ้องต้องกันว่า โรงเรียนฯ ควรจะก่อตั้ง ศูนย์การเรียนรู้พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อสร้างเป็น ห้องเรียนที่มีชีวิต เก็บรวบรวมข้อมูลของในหลวงหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะภาพเหตุการณ์, เอกสาร, แผ่นซีดีบันทึกภาพ-บันทึกเสียง โดยเฉพาะภาพบุคคลในอดีตและการสัมภาษณ์เหตุการณ์ความรู้สึก เมื่อครั้งที่ในหลวงเสด็จประพาสจังหวัดชุมพร ครั้งแรกในปี 2502 และครั้งที่สองในปี 2541 นำเสนอเผยแพร่ทั้งในรูปแบบของรายงาน, บอร์ดนิทรรศการ, เว็บไซท์ ตลอดจนการจัดกิจกรรม เรื่องเล่าเร้าพลัง (Storytelling) ตามความเหมาะสมและความสามารถในการแสดงออกของนักเรียนทุกระดับชั้น

พวกเราคิดกันว่า ศูนย์การเรียนรู้ฯ แห่งนี้ควรจะช่วยกันบริหารโดยคณะครูบาอาจารย์, นักเรียน และภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมผ่านกระบวนการ จัดการความรู้ (Knowledge Management : KM) เพื่อมุ่งสร้างให้นักเรียนได้เรียนรู้พระราชกรณียกิจ, พระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานในโอกาสต่าง ๆ ที่ได้ทรงตักเตือนและสอนในเรื่องของการดำรงชีวิตที่ยึดหลักความซื่อตรง ขยันหมั่นเพียรและมีคุณธรรม ให้ก่อเกิดปัญญา ใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต ก่อให้เกิดขวัญและกำลังใจในการต่อสู้กับอุปสรรคทั้งปวง

ผมชอบคำพูดของท่านอาจารย์วิไล เกษสยม นายกสมาคมศิษย์เก่าฯ อดีต หญิงเหล็ก ในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนสอาดฯ ที่กล่าวย้ำในเรื่องนี้ว่า ใครเชื่อมั่นและปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัว ชีวิตนี้จะไม่มีวันตกอับ

หมายเลขบันทึก: 34940เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2006 14:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เขียนได้ดีมากเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท