พื้นที่ทางวัฒนธรรมในบางแง่มุมของเพลงสตริงไทใหญ่


ผู้หญิงไทใหญ่ที่มีความทันสมัย หรือดูมี “ความเป็นไทย (แบบสมัยใหม่อย่างชาติตะวันตก) ”มักจะอยู่ในเพลงที่มีเนื้อหาที่ผู้หญิงสมหวังในรัก (หรือผู้ชายอกหักจากผู้หญิงแบบนี้)ส่วน ผู้หญิงไทใหญ่หรือผู้หญิงไทกลุ่มอื่นๆที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยมที่มี “ความเป็นไทใหญ่” มักจะอยู่ในเพลงที่มีเนื้อหาไม่สมหวังในรัก (ผู้หญิงอกหัก) ผู้หญิงส่วนใหญ่ คงไม่มีใครอยากอกหัก ดังนั้น ถ้าไม่อยากอกหัก จึงต้องทำตัวให้ทันสมัย นี่เป็นตรรกะที่ซ่อนอยู่ในคาราโอเกะเหล่านี้หรือเปล่า ?
อยู่ในชุมชนไทใหญ่ มหรสพประจำวันของชาวบ้านเดี๋ยวนี้ แม้จะมีการร้องเพลง (เฮ็ดกวาม) กันอยู่บ้าง แต่ในหมู่ชาวบ้านไทใหญ่ทั่วไป เพลงสตริงไทใหญ่ดูจะได้รับความสนใจแพร่หลายมากกว่ามาก .................................................................................................................................................................. ตลาดนัดวันอังคารของอำเภอ เป็นแหล่งซื้อขายสำคัญของเทป ซีดี และวีซีดีเพลงไทใหญ่อินเทรนเหล่านี้ และก็ขายดีซะด้วย ผมก็ซื้อมาฟังอยู่บ้าง เพื่อฝึกภาษาและอ่านความหมายที่แฝงมากับเพลง ชาวบ้านทั่วไปที่ไม่มีเงินซื้อ ก็มักจะนำแผ่นซีดีมาให้ผมก้อบปี้อยู่เสมอ ผมก็อาศัยดูกับเขา เพราะตั้งแต่แยกตัวออกมาเป็นนักวิชาการอิสระแล้วเงินก็ไม่ค่อยมีเหมือนกัน .................................................................................................................................................................. ผมถามภรรยาว่า ทำไมเพลงสตริงไทใหญ่นี่มักจะเลียนแบบทำนองและเนื้อร้องจากนักร้องไทย เธอว่า เพลงไทใหญ่มียอดขายไม่มาก แค่ไม่กี่ร้อยแผ่น จะให้ลงทุนแต่งเองทุกอย่างเห็นจะไม่ไหว ไม่ได้ผลิตมาขายเป็นแสนอย่างนักร้องประเทศไทย .................................................................................................................................................................. แรกสุด ผมว่าจะค้าน เพราะในแง่ก้อบปี้เขามา มันผิดศีลธรรม แต่มองในแง่ความเหลื่อมล้ำ และความเป็นจริงที่ต้องเลี้ยงปากท้อง มันก็จริงของเธอ ผมก็เลยเงียบไป .................................................................................................................................................................. เพลงสตริงไทใหญ่อาจถือได้ว่าเป็นเพลง “ใต้ดิน” อีกแบบหนึ่ง แต่เนื้อหาและท่วงทำนองไม่ได้หนักหน่วงรุนแรงเหมือนเพลงใต้ดินของคนไทยพื้นราบ ผมเองก็ฟังเพลง ดูคาราโอเกะ และไปชมคอนเสริต์วงสตริงไทใหญ่มาบ้าง ก็เลยนำมาบันทึกไว้ เผื่อใครจะแลกเปลี่ยนความคิดกัน .................................................................................................................................................................. หากมองในแง่วัฒนธรรม เพลงสตริงไทใหญ่เหล่านี้เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมแบบหนึ่ง ที่ภาพลักษณ์เนื้อหาและผู้แสดงส่วนใหญ่สะท้อนตัวตนหรืออัตลักษณ์ของชาวไทใหญ่ร่วมสมัย ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคบูชาวัตถุ จะเห็นได้ว่ามีการตัดพ้อคู่รักเยอะมากที่เปลี่ยนใจไปรักคนที่รวยกว่า มีรถยนต์ แต่งกายมีรสนิยมแบบ “คนเมืองกรุง (เทพ)” แต่ก็มีเพลงอีกส่วนหนึ่งที่สะท้อนภาพความศรัทธาในพุทธศาสนา การทำบุญ การแต่งกายในชุดพื้นเมือง หนุ่มสาวไปทำบุญด้วยกัน .................................................................................................................................................................. เท่าที่ทราบ ในเรื่องเกี่ยวกับสื่อร่วมสมัยของคนไทใหญ่ ก็มีคนทำวิจัยกันบ้างแล้ว ที่ผมพอรู้ก็มี อัมพร จิรัฐติกร นักเขียนสารคดีและนักศึกษาปริญญาเอกมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน ละครไทยเปลี่ยนเสียงไตที่ว่าคือ การที่ชาวไตหรือไทใหญ่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า นำเอาละครหลังข่าวไทยที่อัดมาจากสัญญาณดาวเทียมมาพากษ์ใหม่ กลายเป็นละครไทยเสียงภาษาไทใหญ่ .................................................................................................................................................................. อัมพร พบว่าการบริโภคละครไทยของคนไตนั้นก็ส่งผลกระทบกับพวกเขาในแง่ความคิดและอุดมคติบางอย่างอยู่มาก เพราะว่าละครไทยนั้นเต็มไปด้วยสัญลักษณ์เชิงบริโภคนิยมที่เพ้อฝัน เพราะภาพบ้านเมืองไทยในละครนั้นถูกสร้างให้ดูสวยงามและทันสมัยขณะที่ตัวนักแสดงก็ห้อมล้อมด้วยความสวยงาม มีความเป็นอยู่สุขสบาย พรั่งพร้อมไปด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวก โดยที่มักจะไม่มีอาชีพชัดเจนเป็น "โลกในจินตนาการ" ของชาวไทยใหญ่โดยแท้ .................................................................................................................................................................. แม้ตัวของอัมพรจะพบว่าปัจจัยเรื่องการดูละครเหล่านี้ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ชายไทใหญ่อพยพเข้ามาทำงานในประเทศไทย เพราะการอพยพเหล่านั้นน่าจะเป็นเพราะปัญหาการว่างงานเศรษฐกิจและอื่นๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความนิยมในการดูละครนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจ .................................................................................................................................................................. ปัจจุบันมีชาวไทใหญ่ที่อพยพมาจากพม่ามาทำงานในไทยจำนวนมาก โดยคนเหล่านี้เข้ามาโดยไม่ได้คิดว่าจะต้องเจอกับความจริงเรื่องการต้องทำงานหนักทุกวันและพักอาศัยอยู่ในห้องแคบๆที่ขัดกับภาพในจินตนาการของพวกเขา ผมเดาเอาว่าลักษณะทำนองนี้ เกิดขึ้นกับเพลง และคาราโอเกะไทใหญ่ด้วย อย่างไรก็ตาม มิติความสัมพันธ์หญิงชายเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ที่จะนำไปศึกษาผ่านสื่อชนิดนี้ .................................................................................................................................................................. ผมเห็นภาพลักษณ์ของผู้หญิง (สาว) ไทใหญ่อยู่สองแบบใหญ่ในคาราโอเกะ เท่าที่ผมเคยผ่านตานะครับ หนึ่ง เป็นภาพของหญิงสาวที่แต่งตัวทันสมัย แม้ยังไม่ถึงขั้นใส่สายเดี่ยวแต่ก็ย้อมผม ปราดเปรียว โปรยเสน่ห์ ท่าทีการแสดงออก มักจะถ่ายทำโดยมีตึกรามบ้านช่อง รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ เรือยนต์ สิ่งของที่ทันสมัย มาร่วมอยู่ในฉาก .................................................................................................................................................................. อีกแบบ เป็นภาพลักษณ์ของหญิงสาวไทใหญ่ รวมถึงคนไตกลุ่มต่างๆในรัฐฉาน ในชุดพื้นเมืองที่สะท้อนอัตลักษณ์ประจำกลุ่มชาติพันธุ์ ท่าทีของหญิงสาวในภาพลักษณ์เหล่านี้จะแสดงเป็นคนซื่อ ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณี โดยเฉพาะศาสนาพุทธ เป็นคนขี้อาย มักจะถ่ายทำโดยมีธรรมชาติป่าเขาเป็นฉาก นี่ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง .................................................................................................................................................................. แม้ทั้งสองแนว จะยังคงมีเนื้อร้องและซับไตเติ้ลเป็นภาษาไทใหญ่อยู่ ที่ยังแสดงว่านี่เป็นเพลงไตนะ แต่ผู้หญิงสองลักษณะดังกล่าว สื่อความหมายออกมาต่างกันนะครับ กล่าวคือ ผู้หญิงไทใหญ่ที่มีความทันสมัย หรือดูมี “ความเป็นไทย (แบบสมัยใหม่อย่างชาติตะวันตก) ”มักจะอยู่ในเพลงที่มีเนื้อหาที่ผู้หญิงสมหวังในรัก (หรือผู้ชายอกหักจากผู้หญิงแบบนี้) .................................................................................................................................................................. ส่วน ผู้หญิงไทใหญ่หรือผู้หญิงไทกลุ่มอื่นๆที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยมที่มี “ความเป็นไทใหญ่” มักจะอยู่ในเพลงที่มีเนื้อหาไม่สมหวังในรัก (ผู้หญิงอกหัก) .................................................................................................................................................................. ผู้หญิงส่วนใหญ่ คงไม่มีใครอยากอกหัก ดังนั้น ถ้าไม่อยากอกหัก จึงต้องทำตัวให้ทันสมัย นี่เป็นตรรกะที่ซ่อนอยู่ในคาราโอเกะเหล่านี้หรือเปล่า ? ผมก็ฟันธงไม่ได้ แต่ก็คิดไปเรื่อยเปื่อย แต่ก็นึกในใจว่า ยังดีที่ไม่มีมิวสิควีดีโอไทใหญ่ถึงขั้นหญิงสาวมาใส่ชุดว่ายน้ำวาบหวิวปุกใจเสือป่า แต่อนาคตไม่แน่ อาจจะเหมือนอย่างที่มีหนังเรตอาร์เรตเอกซ์ที่ผู้แสดงใส่ชุดมูเซอ ชุดอาข่าแล้วก็เป็นได้ .................................................................................................................................................................. นี่อาจจะเป็นปรากฏการณ์จริงที่เกิดขึ้นแล้วในสังคมไทใหญ่ หรือมันเป็นกระแสที่ผู้ผลิตสื่อสร้างขึ้นโดยลอกเลียนแบบสื่อจากส่วนกลางของประเทศไทย หรือผสมผสานกันทั้งสองส่วน ผมก็ไม่ทราบได้ อยากเห็นงานวิจัยเหมือนกัน .................................................................................................................................................................. ผมเดาเอาว่า สื่อเหล่านี้ ผลิตโดยเป้าหมายทางธุรกิจเป็นสำคัญ แม้จะเป็นธุรกิจเล็กๆ แต่ก็น่าจะได้มีองค์กร หรือบุคคลที่ทำหน้าที่ในการให้คำแนะนำ เป็นพี่เลี้ยงที่ปรึกษา หรือช่วยพัฒนาไปในทิศทางที่สร้างสรรค์ถูกต้อง .................................................................................................................................................................. ก่อนที่สื่อเหล่านี้ จะเติบโตด้วยทุน และการเมืองจนยากจะจัดระบบควบคุม อย่างเช่นสังคมไทย .................................................................................................................................................................. งานเช่นนี้ นักวิชาการและคนที่ทำสื่อภาคประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่เป็นชนต่างชาติพันธุ์ในสังคมไทย เช่น ชาวเขา ชาวไทใหญ่ ไม่ควรมองข้ามนะครับ
หมายเลขบันทึก: 34930เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2006 14:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 17:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น
คุณวิสุทธิ์เขียนบริบทชุมชนได้ละเอียดเยี่ยมยอดมาก ๆ เลยครับ น่าจะเอาองค์ความรู้นี้ไปเผยแพร่ตีพิมพ์ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับรู้มาก ๆ ครับ เขาจะได้เข้าใจและรับรู้ถึงอีกส่วนหนึ่งของสังคมไทยที่มีคุณค่าได้มากขึ้นครับ

ผมก็แค่นักวิชาการชายขอบรุ่นเยาว์จนๆคนหนึ่งเท่านั้นครับ คนรักก็มี คนเกลียดขี้หน้าก็มาก ยิ่งแสดงตัวเป็นจุดเด่นเท่าไร ยิ่งก่อศัตรูได้ง่ายเท่านั้น 

  ถ้าสิ่งที่ผมเขียนจะเป็นผลดีแก่ใคร ผมอยากยกความดีให้คณาจารย์ผู้ประสิทธิประสาทวิชาแก่ผมมา พ่อแม่ และชาวบ้านยากจนที่เป็นส่วนสำคัญในการเติมเต็มความคิดอยู่เสมอ ทุกคนมีส่วนในความสำเร็จของผม

คนปิดทองหน้าพระมีเยอะแล้ว ปิดทองหลังพระดีกว่าครับ

 ถ้าคุณปภังกรหรือใครก็ตามเห็นว่าที่ผมเขียนมีสาระแก่ผู้อื่น ก็เอาไปเผยแพร่ต่อๆกันไปได้เลยนะครับ สังคมดีไม่มีขาย อยากได้ต้องช่วยกัน แต่ผมต้องออกตัวไว้ก่อนครับว่า ผมยังมีจุดอ่อนทางความคิด และยังขาดความลุ่มลึกในการทำงาน และมีอคติที่ฝังรากลึกอยู่ในใจที่ผมไม่รู้ตัวอีกหลายเรื่อง การเขียนสิ่งเหล่านี้ออกมา ด้านหนึ่ง มันก็ช่วยให้ผมกระเทาะตัวเองออกดูเป็นชั้นๆเป็นชิ้นๆ เหมือนเป็นการวิจารณ์ตัวเองไปพร้อมกัน

ขอบคุณมากครับ คุณปภังกร และอยากให้แวะเวียนเข้ามาติชมตามสะดวกเลยนะครับ คิดเสียว่าผมเป็นลูกหลานก็แล้วกันครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท