๒๗.เจดีย์ย่อมุมไม้ ๒๐ วัดเขาวังราชบุรี : วิธีบันทึก สื่อแสดง และสืบทอดภูมิปัญญาสังคมผ่านศิลปกรรม


รูปแบบและวิธีคิดดั้งเดิมนั้น เจดีย์เป็นที่สำหรับแสดงสิ่งสูงสุด และแสดงทรรศนะแม่บทหรือภาวะสูงสุดที่เป็นศูนย์กลางของระบบความเชื่อชุดหนึ่ง ดังนั้น การออกแบบเชิงพื้นที่และองค์ประกอบต่างๆของเจดีย์ จึงมักจะเป็นการให้บทสรุปและการกลั่นกรองเพื่อแสดง จดบันทึก สืบทอดภูมิธรรมและภูมิปัญญาในการอธิบายสิ่งต่างๆตามทรรศนะและความเชื่อของชุมชนนั้นๆไปด้วย

ในระบบคิดของพราหมณ์และฮินดู ตำแหน่งความเป็นศูนย์กลางที่คล้ายกับขนบการสร้างเจดีย์ ก็จะแสดงความเป็นศูนย์กลางของจักรวาลโดยทำเป็นสัญลักษณ์ต่างๆตามทรรศนะและความเชื่อเหล่านั้น ทั้งศิวลึงค์และเทวรูปปางต่างๆของพระผู้เป็นเจ้า เป็นต้น

ในพุทธศาสนาและวิถีความเชื่อของชุมชนก็เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุและทำรูปแบบให้สื่อแสดงหลักความเชื่อที่เป็นแก่นธรรมหรือเป็นทรรศนะพื้นฐานของสิ่งต่างๆ โดยมีภาวะนิพพานเป็นภาวะสูงสุด ในระดับชาวบ้าน ก็อาจดัดแปลงไปสู่สิ่งสูงสุดที่เป็นศูนย์กลางของความรักความผูกพัน เป็นต้นว่า แทนมารดาบิดาและบรรพบุรุษ ครูอุปปัชฌาจารย์ และเหนือขึ้นไปก็จะเป็นหลักธรรมสูงสุดของกลุ่มและชุมชนในกรณีนั้นๆเช่นกัน เหล่านี้เป็นต้น 

ด้วยเหตุนี้ เราจึงสามารถศึกษารายละเอียด การจัดวาง และองค์ประกอบต่างๆ ของเจดีย์กับองค์ประกอบทั้งมวลในอาณาบริเวณเดียวกัน เพื่อเข้าถึงระบบความรู้พื้นฐานของสังคมต่างๆได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับการอ่านหนังสือและการจารึกภูมิปัญญาไว้ในรูปแบบต่างๆเหมือนกัน

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีพัฒนาการมาจากสังคมมุขปาฐะ สร้างความรู้จากวิธีใช้ชีวิตรวมกลุ่ม สร้างสรรค์และสืบทอดกันด้วยวิธีบอกกล่าว เล่าแสดงเหตุการณ์ เล่านิทาน  ร้องรำทำเพลง หมอรำ ลิเก เทศน์ แหล่ เพลงฉ่อย ลำตัด เล่นเพลงเรือ เล่นปฏิภาณในการพูดกัน ทำงานฝีมือ ศิลปหัตถกรรม ซึ่งเป็นการสื่อสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยการแสดงและปฏิบัติเชิงสังคมมาก่อนสังคมที่มีวัฒนธรรมหนังสือ

วิธีดังกล่าวนี้จึงมีความสำคัญต่อการเรียนรู้และเข้าถึงความรู้เชิงบริบทซึ่งจะสะท้อนการมีความเป็นตัวของตัวเองของสังคมไทยมาก อีกทั้งเป็นทางหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถเห็นมิติสุนทรียภาพและความเป็นจิตวิญญาณสังคมไทยสมัยใหม่ที่พัฒนาการ คลี่คลายและสะท้อนสู่สิ่งต่างๆ ได้หลากหลายแง่มุมดีขึ้น

                             Jedi5 

                             Jedi6 

                             ภาพบน : เจดีย์วัดเขาวังราชบุรี ถ่ายย้อนแสงจากด้านทิศตะวันออก  และภาพล่าง : เจดีย์วัดเขาวังราชบุรี ถ่ายจากด้านทิศตะวันตกตามแสงตกกระทบ ผู้ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์ เมื่อ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๓ กล้องดิจิตัล FUJIFILM FinePix S500 ความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสงอัตโนมัติที่โหมด : แสงธรรมชาติกลางวัน เวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น.

โดยทั่วไปแล้วรูปทรงเจดีย์ในพุทธศาสนามักจะเป็นทรงกลม บัวคว่ำ บาตรคว่ำ โอคว่ำ ในลีลาต่างๆ หากเป็นทรงเหลี่ยมก็จะเป็นรูปแบบการก่อสร้างพระปรางค์ในขนบศาสนสถานของพรามณ์และฮินดู ซึ่งก็จะมีสัณฐานเหมือนลูกมะเฟือง การนำทั้งสองอย่างมาผสมผสานเข้าด้วยกันทำให้เกิดรูปแบบใหม่เป็นเจดีย์แบบย่อมุมไม้ ซึ่งเจดีย์แบบย่อมุมไม้ที่ได้ความลงตัวจนถือเป็นแบบฉบับและหมุดหมายของยุคสมัยทางศิลปะนั้น เจดีย์แบบย่อมุมไม้สิบสองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบถึงขั้นเป็นศิลปะของยุครัตนโกสินทร์

การย่อมุมไม้สิบสอง เป็นการทำให้มุมทั้ง ๔ ด้านของรูปทรง ๔ เหลี่ยมแต่ละเหลี่ยม ย่อเป็นริ้วเล็กๆด้านละ ๓ เหลี่ยมซึ่งมีนัยยะถึงพระรัตนตรัยและความเป็นองค์สามของหมวดธรรม เมื่อรวมทั้ง ๔ ด้านก็เป็น ๑๒ มุม ทำให้ทรง ๔ เหลี่ยมปลายสอบของเจดีย์ลดความทึบตันและก่อเกิดรูปแบบใหม่ของเจดีย์

ส่วนที่เจดีย์ของวัดเขาวังนี้ เป็นการทำให้แต่ละมุมเป็นริ้วย่อลงเหลี่ยมละ ๕ ริ้วหรือ ๕ มุม (โปรดดูภาพประกอบ) ซึ่งสามารถพิจารณาไปตามนัยยะของขันธ์ ๕ และหมวดธรรมเบญจขันธ์ เมื่อรวมกันทั้ง ๔ ด้านก็จะเป็นการย่อมุม ๒๐ ทำให้องค์เจดีย์ทรงเหลี่ยมขนาดใหญ่ไม่ทึบตัน สามารถทำให้เพรียวเสียดยอดราวกับความเป็นวัตถุและปัจจัยการปรุงแต่งทั้งหลายกลมกลืนเลือนหายเป็นหนึ่งกับความว่างเปล่า เชื่อมผสานผืนดิน-แผ่นฟ้าเข้าด้วยกัน สื่อสะท้อนปรัชญา รวมทั้งสื่อถึงวิถีคิดเกี่ยวกับสรรพสิ่งและภาวะหลุดพ้นสูงสุดในหลักคิดที่มาในพุทธธรรม.

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

  อ้างอิง อ่านบทความและบันทึกเรื่องที่เกี่ยวข้องกันของผู้เขียน  

[๑] เขาวังราชบุรี : การผสมผสาน วัง วัด อำมาตย์ บ้าน โรงเรียน. โดย วิรัตน์ คำศรีจันทร์. ในหัวข้อ ประชาสังคมศึกษา-ประชากรศึกษา. บล๊อก GotoKnow. ของสถาบันจัดการความรู้เพื่อสังคม KMI : Knowledge Management Institue. เข้าดูและอ่านได้ที่ http://gotoknow.org/blog/civil-learning/331637
[๒] ยายวง....ผู้อยู่โดยใจสว่างในโลกมืด. โดย วิรัตน์ คำศรีจันทร์. ในหัวข้อ ประชาสังคมศึกษา-ประชากรศึกษา. บล๊อก GotoKnow. ของสถาบันจัดการความรู้เพื่อสังคม KMI : Knowledge Management Institue. เข้าดูและอ่านได้ที่ http://gotoknow.org/blog/civil-learning/222482
[๓] ข้าวตอกดอกไม้ : ศิลป์แห่งศรัทธาและพลังชีวิตชุมชน. โดย วิรัตน์ คำศรีจันทร์.ในหัวข้อ ประชาสังคมศึกษา-ประชากรศึกษา. บล๊อก GotoKnow. ของสถาบันจัดการความรู้เพื่อสังคม KMI : Knowledge Management Institue. เข้าดูและอ่านได้ที่ http://gotoknow.org/blog/healthycom/333060
[๔] ใส่ใจรายละเอียด กตัญญู และเชิดชูครูอาจารย์ : พระราชวรเมธี (ยุ้ย อุปสนฺโต ปธ. ๙). โดย วิรัตน์ คำศรีจันทร์. ในหัวข้อ ประชาสังคมศึกษา-ประชากรศึกษา. บล๊อก GotoKnow. ของ สถาบันจัดการความรู้เพื่อสังคม KMI : Knowledge Management Institue. เข้าดูและอ่านได้ที่  http://gotoknow.org/blog/livelesson/331596

หมายเลขบันทึก: 340684เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2010 16:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

ย่มมุมไม้12ก็ว่าเยอะแล้ว..เจอย่อมุมไม้ 20นี่ก็สุดยอดภูมิปัญญาเลยค่ะ...

สวยงามมากเลยนะครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก เป็นอย่างนี้นี่เองที่ครูอาจารย์และคนศึกษาทางศิลปะเขาถึงมักเรียกกันว่าไม้เรียวหวดฟ้า เวลาไปยืนมองตรงฐานสู่ยอด สายตาและอารมณ์ที่อยู่กับสภาพแวดล้อมตรงนั้นของเรา ก็จะเหมือนถูกนำให้เคลื่อนไหว ว่างเปล่าหายขวับไปกับท้องฟ้าอันกว้างไกลเลยทีเดียว

ผมเองก็เติบโตจากเรื่องเล่ามุขปาฐะ...ดังนั้น  เมื่อมีโอกาสในยามที่นิสิตต้องลงสู่ชุมชน  ผมจึงไม่ละเลยที่จะย้ำให้พวกเขาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เรื่องเล่าในชุมชน โดยเฉพาะเรื่องเล่าในเชิงตำนาน ความเชื่อในทางวัฒนธรรม หรืออื่นๆ แต่ย้ำให้ฟังและเรียนรู้จากปากคำของคนในชุมชนก่อน  จากนั้นค่อยไปผูกโยงกับการเรียนรู้ในเอกสารที่บันทึกหรือจัดเก็บไว้ในชุมชน 

อย่างน้อยก็เห็นได้ชัดว่า บรรดาเรื่องเล่ามุขปาฐะจากปากสู่ปากนั้น  ก็มีพลังมากพอ หรือมีอิทธิพลมากพอต่อการจัดแต่งบริบทการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมได้อย่างน่าทึ่ง...

...ขอบพระคุณครับ...

สวัสดีค่ะ อ.วิรัตน์

เจดีย์งามแต้ ๆ ขะเจ้า.. แถมความหมายลึกล้ำยิ่ง..

..ความเป็นวัตถุและปัจจัยการปรุงแต่งทั้งหลายกลมกลืนเลือนหายเป็นหนึ่งกับความว่างเปล่า เชื่อมผสานผืนดิน-แผ่นฟ้าเข้าด้วยกัน..

โอ้..ไม้เรียวหวดฟ้า อยากรู้นักว่า ฟ้าเจ้าจะเจ็บไหม..

อ้าว..เพ้อเจ้อไปกันใหญ่แล้วค่ะ แฮ่ ๆ 

มาููคารวะคืนวันมาฆบูชาค่ะ..

และขอขอบพระคุณยิ่งสำหรับหนังสือวิถีประชาศึกษาที่ได้รับจากมือทีมงานแสนดีของอาจารย์

ทำงานสนุก มีพลังสร้างสรรค์ในทุกวันนะคะ..^__^.. 

สวัสดีครับอาจารย์แผ่นดินครับ : เคยอ่านที่อาจารย์ถ่ายทอดการพากลุ่มนักศึกษาไปเข้าค่ายและทำกิจกรรมเรียนรู้กับชุมชน ก็มีกระบวนการที่เน้นการเสริมพลังความเป็นสังคมมุขปาฐะ ให้ชาวบ้านสามารถแสดงบทบาทเป็นผู้รู้และเป็นผู้สร้างความเป็นชุมชนที่สำคัญ ให้เห็นอยู่ในกระบวนการต่างๆเสมอเลยนะครับ

วิธีที่อาจารย์กับกลุ่มนักศึกษาพากันลงชุมชนเป็นกลุ่มแล้วก็นำกลับมานั่งรวบรวมข้อมูล พูดคุย วิเคราะห์ ทบทวนกับความรู้และทฤษฎีทั่วไปนั้น ก็เป็นการจัดการความรู้ที่เสริมจุดแข็งของสังคมมุขปาฐะที่น่าสนใจมากครับ กระบวนการอย่างนี้ ผู้เข้าไปเรียนรู้กับชุมชนจะทำให้ชาวบ้านและชุมชนได้ปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็งและได้เรียนรู้ตนเองมากขึ้นไปด้วย ไม่ใช่เป็นผู้ถูกเรียนรู้และเป็นแหล่งข้อมูลคอยตอบแบบสำรวจจนจ๋องไปหมดอยู่ฝ่ายเดียว

สวัสดีครับคุณใบไม้ย้อนแสงครับ : แง่มุมนี้นี่ต้องคุณใบไม้ย้อนแสงนี่เลยกระมังถึงจะคุยสู่กันฟังได้ คุณใบไม้ย้อนแสงลองมองดูสิครับ เห็นพลังฉายโชนและแสดงความอลังการทางปัญญามากจริงๆ

ในมุมมองผมนี่ เจดีย์แบบไม้เรียวหวดฟ้าและย่อมุมไม้ที่พุ่งยอดหายขวับไปกับความเวิ้งว้างของท้องฟ้าอันยิ่งใหญ่อย่างนี้ เป็นศิลปะการจัดวางองค์ประกอบของผืนดินกับแผ่นฟ้า วัตถุกับความว่าง อัตตากับอนัตตา ความมีกับความไม่มี หยินกับหยาง ความทุกข์กับนิพพานความหลุดพ้น เข้าเป็นองค์ประกอบเดียวกันอย่างลึกซึ้งแยบคายและเป็นกระบวนการทางปัญญาอย่างที่สุด

ในศิลปะของยุโรปและศิลปะของโลกตะวันตกในอดีต หรือแม้แต่ในวัฒนธรรมของโลกตะวันออกอย่างกำแพงเมืองจีนและทัชมาฮาลของอินเดีย สิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้น ความอลังการและการสื่อพลังจักรวาล-ความอลังการยิ่งใหญ่ของพลังธรรมชาติอย่างนี้ให้คนสัมผัสได้ โดยมากแล้วต้องแสดงออกไปทางขนาดและพลังอันมหึมาของวัตถุ เช่น ต้องใหญ่โตมโหฬาร จนคนเห็นก็ประมาณจากประสบการณ์การรับรู้ได้ว่าความเป็นมนุษย์นั้นเล็กน้อยเพียงไร แต่เบื้องหลังความเป็นศิลปะที่ยิ่งใหญ่อลังการอย่างนั้น โดยมากแล้วก็เต็มไปด้วยความอดอยาก หิวโหย และการล้มตายของแรงงาน ทาส เรือนหมื่นเรือนแสน ที่สนองต่อความต้องการของผู้มีอำนาจเพียงไม่กี่คน

ทว่า เจดีย์อย่างไม้เรียวหวดฟ้า หรือเจดีย์ย่อมุมไม้อย่างที่เห็นนี้ มีขนาดเล็กมากครับ เป็นพลังแรงงานแห่งความศรัทธาของผู้คนมากกว่า แต่ก็สื่อถึงพลังอันยิ่งใหญ่อลังการของธรรมชาติให้เราตระหนักและสัมผัสได้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ด้วยวิธีการทางปัญญาอย่างแท้จริง

ผมชอบเจดีรูปทรงแถวๆๆเพชรบรี ราชบุรีครับ ปัจจุบันหายากมาก ไปโรงเรียน ตชด มาครับ โอโหทางชันมากๆๆๆ เล่นเอาทีมงานอวกเลยครับ ....

 

เลยได้แวะเข้าไปดูกิจกรรมของเด็กๆในโรงเรียน ตชด ด้วยเลยครับอาจารย์ น่าสนใจจัง ขอบคุณที่อาจารย์เอามาฝากและแบ่งปันกันนะครับ กำลังศึกษาหาข้อมูลเพื่อหาโอกาสไปดูอยู่พอดีครับ

//me (ป้องปากกระซิบบอกอาจารย์วิรัตน์) อาจารย์ค่ะ อาจารย์ลองคลิ๊กเมาท์ขวาที่ภาพถ่าย(ดิจิตอล)ของอาจารย์นะค่ะ (สัก ๑ ภาพ) ตามนี้ค่ะ right click >> properties >> details >> แล้วอาจารย์จะเห็นค่ารายละเอียดของภาพถ่ายของเราทั้งหมด แม้ว่าเราตั้งค่ากล้องของเราไว้ที่โหมด auto ก็ตามค่ะ ...

ขอบคุณครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ ลดขั้นตอนคลิ๊กเข้าไปดูข้อมูลภาพเยอะเลย มีอะไรอีกก็รีบเอามาบอกให้เรื่อยๆซะดีๆนะครับ อย่างวิธีนำเสนอภาพเป็นชุดของอาจารย์ขจิตนี่ก็น่าสนใจนะครับ แต่มันเปลี่ยนภาพเร็วจัง เขามีวิธีให้เปลี่ยนตามจังหวะคนดูคลิ๊กไหมครับ

 การนำเสนอภาพชุด Animations  ลักษณะนี้คงขึ้นอยู่กับการกำหนด Times ในการ Display ของภาพชุดก่อนนำ Upload ค่ะ ....  การเปลี่ยนภาพตามจังหวะคนดูคลิ๊กนี่ไม่แน่ใจนะค่ะอาจารย์ ขอศึกษาดูก่อนนะค่ะ ...

                   

                   

 ภาพ ๒ ชุดนี้ เพียงนำมาให้ดูเป็นตัวอย่างในการให้ Times ก่อน Save และ Upload ค่ะ ชุดแรก ๑.๐๐ วิ ส่วนชุดที่สอง อยู่ที่ ๔.๐๐ วิ และเราสามารถใส่ Effect ให้กับภาพได้ด้วยค่ะ แต่ขนาดภาพ หมายถึงในการ Save ก็จะมีขนาดที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วยค่ะ .. เช่นภาพชุดแรก และชุดที่สอง อยู่ที่ไม่กี่ ๒๓๒KB แต่พอใส่ Effect เข้าไปขนาดของภาพกลายเป็น ๑.๔๙MB เลยค่ะ ...

เอ๊ะ! สอนจรเข้ว่ายน้ำรึเปล่าค่ะเนี่ยะ ............... ........ ..... ...

  • กลับมาบอกอาจารย์ว่า
  • ภาพสามารถตั้งเวลาได้ครับ
  • แถมตั้ง effect และขนาดได้ด้วยครับ
  • แต่ต้องใช้ PhotoScape
  • เลือก AniGif นะครับ
  • กลัวอาจารย์หาไม่พบ
  • เลยเอาของพี่ดาวมา
  • เรียกว่า team teaching ช่วยกันทำมาหากิน
  • ฮ่าๆๆ

ย่อรูปภาพ

http://gotoknow.org/blog/katti/255954

ตกแต่งบล็อก                   

http://gotoknow.org/blog/katti/199894

ย่อรูปแต่งรูปพี่ดาวคนสวยใจดี

ขอบพระคุณทั้งสองท่านเลยครับ อาจารย์ณัฐพัชร์และอาจารย์ขจิตครับ
เป็นทั้ง Team teaching และเครือข่ายการเรียนรู้แบบ Distance Learning Network เลยทีเดียวครับ

ว่าจะมาต่อยอดคุยกับอาจารย์เสียหน่อย..

เจอเทคนิคความรู้เรื่องภาพดิจิตอลจาก อ.ขจิต และ อ.ณัฐพัชร์ มากมายเลย

อ่านผ่านแบบเร็ว ๆ แล้วก็ยังงง ๆ ตามประสาคนโลว์เทค..

อ่านที่อาจารย์เขียนถึงกำแพงเมืองจีนกับท้ชมาฮาลแล้ว นึกถึงวาทกรรมของมหาตมะคานธี และรพินทรนารถ ฐากูร เกี่ยวกับทัชมาฮาล คนหนึ่งชื่นชมในความงามทางศิลปะ ส่วนอีกคนหนึ่งมองว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างยิ่งใหญ่ที่เกิดมาจากความลำบากยากแค้นของแรงงาน แม้ทั้งสองจะนับเป็นสหายกัน แต่ความคิดเห็นก็ไปคนละทาง เมื่อกล่าวถึงบางเรื่องราว

เมื่อวันก่อนผ่านไปทางพระปฐมเจดีย์ รู้สึกแปลกใจค่ะ ทำไมพระเจดีย์ถึงได้อ้วนเอา ๆ  จำได้ว่าเมื่อก่อนทรงเจดีย์ระฆังคว่ำที่สวยมาก อาจารย์ทราบเหตุผลไหมคะว่าเพราะอะไร เสียดายค่ะ เสียดาย..

  • เมื่อเดือนที่ผ่านมา ผ่านไปแถวนครปฐมก็สังเกตเห็นอยู่เหมือนกันนะครับ 
  • แต่ไม่ทราบเหมือนกันน่ะสิ เป็นเพราะอะไรหรือครับ เพราะสร้างครอบหลายชั้น และหลายครั้งหรือเปล่า
  • มองในแง่เกิดจากองค์ประกอบศิลปะและความสมดุลทางทัศนียภาพ ก็พอจะอธิบายได้ครับว่า เพราะการจัดวางและองค์ประกอบขององค์พระปฐมเจดีย์กับอาณาบริเวณโดยรอบ ณ เวลานี้ ภาษาศิลปะเขาก็ต้องเรียกว่า...ไม่ลงตัวและไม่ไปด้วยกันครับ
  • หากบริเวณโดยรอบเปิดออก มีบริเวณกว้างโดยรอบ และถนนรอบด้านที่เข้าถึง ทำงานในเชิงเป็นเส้นนำสายตาร่วมกับแนวสิ่งปลูกสร้างทั้งหลายหรือเรียกรวมๆว่าภูมิทัศน์ ก็จะเห็นพลังความยิ่งใหญ่และจะทำให้รูปทรงดูสวยงาม ยิ่งใหญ่ สมดุล และไม่เห็นเทอะทะอย่างนี้หรอกครับ
  • มองแบบศิลปะและทัศนียภาพในการจัดวางองค์ประกอบให้ทำงานนั้น ก็เรียกว่าระยะและพื้นที่แคบไป ทำให้มุมมองและการรับรู้เชิงสัมผัสในภาพรวมไม่พอครับ หากมองใกล้ ระยะสายตาของเราไปยังฐานกับเส้นระดับสายตามแนวพื้นดิน ก็จะสั้นกว่ามากกับระยะการมองไปยังยอดสูงของเจดีย์ ความสมดุลในการรับรู้เลยไม่เวิร์ค แล้วก็ทำให้เกิดความผิดเพี้ยนในการเห็นภาพรวมอีกด้วย
  • สองอย่างนี้บวกกัน ในแง่ของการดูงานศิลปะก็เรียกว่าเสียทัศนียภาพไปแล้วครับ
  • แต่สังคมไทยมักไม่รู้จักและไม่ค่อยได้ทราบซึ้งงานสร้างสรรค์ในง่สุนทรียภาพอย่างนี้น่ะซีครับ
  • โดยมากแล้วขอแค่มีทางเดินเข้าไปปิดทอง ขูดขอหวย และกราบเขย่าติ้วขอเซียมซีคำทายดีๆให้สบายใจก็พอใจแล้ว ส่วนความใหญ่อลังการและความเก่าเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของสังคมนั้นก็มองในแง่ความขลังและศักดิ์สิทธิ์เสียมากกว่า
  • แต่อย่าลืมนำมาเล่าให้ความรู้กันด้วยนะครับว่าทำไมพระปฐมเจดีย์ถึงอ้วน 
  • แหะ ๆ ใบไม้ฯ ก็ไม่ทราบเหมือนกันค่ะว่าทำไมพระปฐมเจดีย์ถึงอ้วนเอา ๆ ก็เลยถามอาจารย์ในฐานะผู้รู้น่ะค่ะ เลยได้ความรู้กลับมาแทน แม้ไม่ได้คำตอบโดยตรง

    สงสัยการสื่อสารผิดพลาด.. ใบไม้ฯ คงมีท่าทีการถามเหมือนให้อาจารย์ทายว่าคำตอบคืออะไร

    ขออภัยด้วยค่ะ เรื่องการสื่อสารมีปัญหาเนี่ย ไปไหนก็พบเจอบ่อย ๆ เลย แม้แต่องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับการสื่อสารก็ตามที เฮ้อ..  

    • แต่แนวคิดและวาทกรรมของมหาตมะคานธีกับรพินทรนาถ ฐากูรนั้นก็น่าประทับใจทั้งสองมุมมองนะครับ
    • ไม่ทำให้ความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากที่ต้องการสื่อสารหรอกครับ
    • แต่ก็ไม่ทราบจริงๆน่ะแหละ

    สวัสดีครับอาจารย์ ผมพึ่งได้มีโอกาสเข้ามาอ่านงานของอาจารย์ ความเป็นไทยสถาปัตยกรรมของไทยนั้น ไม่ได้น้อยหน้าชาติไดเลยนะครับ

    ส่วนที่ว่าสังคมไทยนั้นเป็นสังคมที่มีเรื่องเล่านั้นมีมาอย่างยาวนานก่อนสมัยสุโขทัย ซึ่งมีมาเรื่อยๆ การบรรทึกนั้นก็พึงมามาไม่กี่ร้อยปีในสังคมไทย เช่นในภาคอีสานนั้นมีหมอลำ ที่ใช้เป้นเครื่องมือในการเล่าเรื่องอย่างมีศิลปะที่จะพยายามใช้ศิลปะการแสดงเพื่อเล่าเรื่องที่ต้องการ

    สวัสดีครับคุณคุณาวุฒิครับ : การเล่าเรื่องกับพื้นฐานความเป็นสังคมมุขปาฐะของสังคมไทยและในภูมิภาคอาเซียนนี่ นำไปสู่การสร้างสรรค์หลายอย่างตามมาอีกมากเลยนะครับ หมอลำของอีสานกับเพลงโคราช ก็เป็นศิลปะของการเล่าเรื่องที่ผมชอบมากเลยครับ

    สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ และคุณพี่ใบไม้ฯ  :  นำภาพองค์พระปฐมเจดีย์ในช่วงของรัชกาลที่ ๔ ถึง รัชกาลที่ ๖ มาฝากค่ะ ..

             
    Prathommachedi, in der jetbigen Gestalt erbaut unter der Regierung Konig Monkuts (1851-1868)

                         

     

                                   

                                    

                         

    • องค์พระปฐมน่าจะค่อยๆ เริ่มอ้วนมานานแล้วมั่งค่ะเนี่ยะ อุดมสมบูรณ์ค่ะเมืองนครปฐม ..
    • เอื้อเฟื้อภาพจาก โรงพยาบาลพุทธมณฑล ..
    • เสียดายว่าบางภาพไม่มีข้อมูล เช่น ปี พ.ศ. หรือรายละเอียดของภาพให้ทราบค่ะ ..
    • คุณพี่ใบไม้ฯ เราคงจะได้พบกันในวันงาน ๑๕๐ ปีครบรอบคลองมหาสวัสดิ์ (๑๗ พฤษภาคม ๒๔๐๓) ๑๗-๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ นี้นะค่ะ ..
    • รูปชวนตื่นตาตื่นใจมากอย่างยิ่งครับอาจารย์ณัฐพัชร์
    • เห็นยิ่งใหญ่มากเลยนะครับ ไม่เหมือนกับกับการเล่นมุมกล้อง
    • อยากได้ข้อมูลชุดนี้ด้วยจัง ขอด้วยได้ไหมครับเนี่ย
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท