กวดวิชา Tutor Channel ถูกต้องหรือถูกใจ?


บางคนบอกการเรียนกวดวิชาไม่มีวันจะหมดไปได้ ตราบที่ระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยยังใช้การสอบคัดเลือก สอบเข้าปริญญาโทยังติวกันเลย ข้อเท็จจริงที่ผ่านมาน่าจะเป็นอย่างบางคนว่า

แต่ก่อนเคยหวังว่า หลังยกเลิกการสอบเอ็นทรานซ์ เปลี่ยนมาเป็นแอดมิสชั่นส์แล้ว การเรียนกวดวิชาหรือเรียนพิเศษเพิ่มเติมจากชั้นเรียนปกติ จะลดลงหรือหมดไป แต่ตรงกันข้ามเลย สถาบันกวดวิชาต่างๆ กลับผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด นอกจากเรียนเพื่อสอบแล้ว ยังเรียนเพื่อเพิ่มเกรด นอกจากเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษแล้ว ยังต้องเรียนภาษาไทย สังคมศึกษาเพิ่ม เพราะบังคับให้ทุกคนสอบด้วย

บางคนบอกการเรียนกวดวิชาไม่มีวันจะหมดไปได้ ตราบที่ระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยยังใช้การสอบคัดเลือก สอบเข้าปริญญาโทยังติวกันเลย ข้อเท็จจริงที่ผ่านมาน่าจะเป็นอย่างบางคนว่า

การเรียนกวดวิชาต่างจากการเรียนการสอนในชั้นเรียนปกติอย่างไร ดีกว่าหรือ? จึงมีความสำคัญขนาดนั้น!

กวดวิชาเป็นการเรียนแบบเร่งรัด เรียนเพื่อทำข้อสอบ ว่ากันแต่เฉพาะหัวใจหรือสาระสำคัญของวิชานั้นๆ ครูอาจบรรยายสรุป ตั้งแต่เนื้อหาง่ายๆ พื้นฐาน ไปจนถึงเนื้อหายากๆ ซึ่งสลับซับซ้อน ครูอาจอธิบายกลเม็ดการคิด การจำ หรือการคำนวณ เพื่อให้เร็วในการทำโจทย์ เนื่องจากเป็นการสอนที่ผู้เรียนต้องรู้เนื้อหามากๆ ในเวลาจำกัด ประกอบกับเป็นการสอนนักเรียนจำนวนมาก อาจมากขนาดศิษย์ไม่มีโอกาสพบครูตัวจริง หรือครูตัวเป็นๆเลย เพราะใช้การสอนผ่านวีดิทัศน์

ดังนั้น การเรียนการสอนแบบนี้ จึงมีครูเป็นศูนย์กลาง หรือครูเป็นสำคัญ!

ส่วนการเรียนการสอนในชั้นเรียนปกติ ตรงกันข้ามเลยทีเดียว แค่ทำข้อสอบได้ไม่พอ ต้องรู้จักการใช้ชีวิต รู้จักแก้ปัญหาที่ต้องประสบ สามารถคิดวิเคราะห์ มีคุณธรรม จริยธรรม ฉะนั้น การจัดการเรียนการสอนต้องใช้หลากหลายวิธีการ จะใช้การบรรยายสรุปให้ฟังอย่างเดียวเหมือนกวดวิชาคงไม่ได้ เพราะอนาคตของชาติที่มีคุณลักษณะตามต้องการจะไม่เกิดขึ้น

ครูต้องเน้นให้นักเรียนฝึกเอง ทำเอง คิดเอง และรู้เอง ตลอดจนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ด้วย เมื่อเป็นดังนี้ จึงใช้เวลามาก ครูจะใจร้อนรีบบอกคำตอบก่อนไม่ได้ เพราะนักเรียนจะไม่ได้คิด ไม่ได้วิเคราะห์

การเรียนการสอนอย่างนี้ เรียกนักเรียนเป็นศูนย์กลาง หรือนักเรียนเป็นสำคัญ!

ทั้งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 ของกระทรวงศึกษาธิการเอง หรือแม้แต่หลักสูตรใหม่ ซึ่งจะเริ่มใช้อย่างเต็มระบบในปีการศึกษาหน้า กำหนดไว้ทำนองนี้ กล่าวคือ ให้สถานศึกษาจัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นเหตุผลว่า ทำไมครูที่โรงเรียนจึงไม่สอนแบบครูกวดวิชา เพราะ พ.ร.บ.การศึกษา ซึ่งเป็นตัวบทกฎหมายกำหนดไว้ หรืออีกนัยหนึ่ง วิธีสอนแบบกวดวิชา ไม่ใช่วิธีตามที่กฎหมายกำหนด

แต่จะบอกว่า การสอนกวดวิชาไม่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเสียทั้งหมด คงไม่ถูก ไม่อย่างนั้นแล้วคงไม่แห่ไปเรียนกันมากมายขนาดนั้น ถ้าครูจัดการเรียนการสอนตามความต้องการของนักเรียน สอนแล้วนักเรียนตั้งใจเรียน พึงพอใจ เรียนอย่างมีความสุข ก็น่าจะเห็นผู้เรียนเป็นสำคัญแล้ว และเมื่อนักเรียนยอมจ่ายค่าเรียนแพงๆ เป็นหลักพันหรือหลายพันบาทในการกวดวิชาแต่ละครั้ง ก็น่าจะยืนยันได้ว่า มีความพึงพอใจ

ความพึงพอใจของนักเรียนและผู้ปกครองต่อการกวดวิชา มาจากระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งแก้ไม่ตก ไม่ว่าจะกี่รัฐบาลที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเคยกล่าวเปรียบเทียบว่า การสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นดั่งคอขวด แม้โรงเรียนจะพยายามพัฒนาหลักสูตร แต่ไม่เคยสำเร็จ เพราะนักเรียนต่างมุ่งหวังจะเข้ามหาวิทยาลัยด้วยกันทั้งนั้น แปลความได้ว่า การสอบเข้ามหาวิทยาลัยสำคัญกว่าหลักสูตร การเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจะเป็นรูปแบบใด โดยเฉพาะมัธยมศึกษาตอนปลาย ขึ้นอยู่กับระบบการคัดเลือกมากกว่าหลักสูตรกำหนดไว้เสียอีก เมื่อการคัดเลือกเน้นการสอบ นักเรียนก็จะสนใจหรือพึงพอใจกับการทำข้อสอบได้

ล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในรัฐบาลปัจจุบัน หวังดีต่อนักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งขาดโอกาส ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนกวดวิชาในสถาบันที่มีชื่อเสียง เพราะค่าเรียน จึงคิดและดำเนินโครงการ ศธ.ติวเข้มเติมเต็มความรู้ หรือ Tutor Channel ขึ้นมา วิธีการคือ ระดมครูติวเตอร์ที่สุดยอด ซึ่งปกติสอนประจำอยู่ในสถาบันกวดวิชาต่างๆ รวมทั้งคณาจารย์จากโรงเรียนที่มีชื่อเสียง โดยให้ครูอาจารย์เหล่านี้สอนออกฟรีทีวี ทางช่อง 11 NBT นอกจากนั้น ยังจะมีโครงการ Tutor on tour ทั่วประเทศ ติดตามมาอีก โครงการทั้งสองที่กล่าวมามีลักษณะเดียวกัน เป็นการสอนเพิ่มเติม โดยครูผู้สอนชั้นยอด ด้วยวิธีการบรรยาย ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรจากวิธีการที่สถาบันกวดวิชาชื่อดังใช้อยู่

ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนหนึ่ง เคยคิดจะให้ครูจากสถาบันกวดวิชามาสอน แถมจะให้ไปสอนครูในโรงเรียนด้วยว่า สอนอย่างนี้สิ..จึงจะดี ช่วงนั้นครูทั้งหลายน่าจะสับสนกับวิธีคิดของรัฐมนตรีมาก เพราะ พ.ร.บ.การศึกษาว่าอย่างหนึ่ง แต่คนที่ควรจะรักษาหรือปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดที่สุด กลับมาว่าอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งแทบจะตรงกันข้าม แต่สุดท้ายก็เงียบหายไป อาจพิจารณาและไตร่ตรองแล้ว

แต่รัฐบาลปัจจุบัน โครงการ ศธ.ติวเข้มเติมเต็มความรู้ หรือ Tutor Channel เริ่มแล้ว ท่ามกลางเสียงชื่นชมจากทั่วทุกสารทิศ ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง และครูด้วยกันเอง แม้แต่ผู้รู้หลายคนในวงการศึกษาก็ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้อย่างเกรงใจต่อเสียงมหาชน อาทิ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ที่เคยให้สัมภาษณ์ทางสื่อต่างๆ ต่อการกวดวิชาอย่างเข้มแข็งว่า "การสอบความถนัดทั่วไป (GAT) ไม่สามารถติวได้ เพราะต้องมาจากการฝึกฝน" แต่วันนี้มีประโยคเพิ่มเติม "นอกจากว่าผู้สอนจะอธิบาย และฝึกฝนไปพร้อมๆกัน"

พลังของการกวดวิชามหาศาลเหลือเกิน!

กวดวิชาไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นดัชนีบ่งชี้ความสำเร็จในการจัดการศึกษาของบ้านเมืองเรา ถ้ากวดวิชาฟูเฟื่อง หมายถึงการจัดการศึกษามีปัญหามาก จนทำให้เกิดคำถาม ทำไมไม่สอนให้เหมือนกวดวิชาเสียเลย หลักรัฐบาลก็ไม่แน่นพอ ผนวกกับการถาโถมใส่อย่างรุนแรง จากความต้องการของนักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งเป็นเสียงสวรรค์ของนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย โครงการนี้จึงเกิด พร้อมๆกับข้อสงสัย

ทุกคนย่อมต้องการอนาคตของชาติที่คิดได้ วิเคราะห์เป็น หรือแก้ปัญหาลุล่วง มิใช่จนจบปริญญามาแล้วก็ยังทำอะไรงกๆเงิ่นๆอยู่ ยังอิงแอบกับพ่อแม่ ยังแบมือขอเงิน เพราะไม่พอค่าใช้จ่าย แต่หลายคนไม่ใส่ใจวิธีสอน หรือวิธีฝึกให้นักเรียนคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา สนใจเพียงให้สอบได้เท่านั้น หรือเพราะเราขาดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้

ถ้ารัฐบาลเห็นว่า การเรียนการสอนในโรงเรียน หรือระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยมีปัญหา ดังคำที่นายกรัฐมนตรีเคยกล่าว การคิดและดำเนินโครงการของ ศธ.เช่นนี้ ก็ไม่เห็นจะสอดรับอะไร มิหนำซ้ำจะไม่ทำให้ครูผู้สอนทั้งหลายสับสนไขว้เขวดอกหรือ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการศึกษาโดยรวมแน่ เพราะปกติอาการก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว รัฐบาลควรเกาให้ถูกที่ แก้ให้ตรงจุด จะแก้ที่โรงเรียน แก้ที่ครู หรือที่มหาวิทยาลัย ก็ว่ากันไปตามเหตุที่มา แต่ถ้าบอกว่า Tutor Channel ที่กำลังดำเนินการ เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ก็ต้องดำเนินการแก้ไขอย่างยั่งยืนที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัย ควบคู่กันไปอย่างเร่งด่วนด้วย แบบไม่ช้าไปกว่ากัน

มิเช่นนั้นแล้ว คนเขาจะนินทาเอาได้ว่า รัฐบาลอาศัยความไม่รู้ ความไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ของประชาชน เพื่อหาคะแนนเสียงไปวันๆ ซึ่งก็มิได้แตกต่างอะไรจากนักการเมืองที่เราคุ้นเคย

(พิมพ์ในมติชนรายวัน , 20 ตุลาคม 2552)  

หมายเลขบันทึก: 307159เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2009 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (69)

บันทึกนี้ถูกใจผมเหลือเกินครับ

ผมรังเกียจการเรียนกวดวิชามากครับ

เป็นเหมือนการบ่มแกสครับ เคยเห็นการบ่มแกสผลไม้ที่ต้องการให้สุกเร็ว ๆ ไหมครับ นั่นแหละ...

การเรียนกวดวิชา เป็นการทำลายศักยถาพการเรียนรู้ของคนได้อย่างยิ่งยวดครับ

เป็นการให้ความหมายของความรู้อย่างคับแคบผิวเผิน

บางแห่งมิได้คนใจความรู้ด้วยซ้ำไป สนใจเพียงแต่คำตอบ และเทคนิคการหาคำตอบที่ถูกต้อง โดยไม่สนว่าเป็นความรู้หรือไม่

ผมเคยได้ยินว่าสถาบันกวดวิชาบางแห่งสอนวิธีเดาคำตอบ

นักเรียนเข้าไปเรียนกวดวิชาคาดหวังว่าจะทำข้อสอบในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เหนือสิ่งอื่นใด

ค่านิยมนี้ลงรากลึกมากในสังคมไทย ผมเองก็ไม่รู้ว่าวันหนึ่งเมื่อเฌวาเรียนมัธยม เฌวาจะเรียนพิเศษหรือไม่ และหากเฌวาขอเงินเพื่อไปเรียนพิเศษ ผมจะทำอย่างไร...

 

 

  • ผมไม่เห็นด้วยกับการติวครับ
  • เหมือนกับว่า สอนเพื่อสอบอย่างเดียว
  • ระบบการศึกษาบ้านเรา นักการเมืองหรือผู้เกี่ยวข้องต้องมีอะไรผิดปกติสักอย่าง
  • ถ้าติวเพื่อสอบพื้นฐานในบางอย่างที่นักเรียนจะเรียนมันหายไป
  • เหมือนกับว่า ติวข้อสอบเพื่อทำข้อสอบให้ได้มากๆๆ
  • แต่ตั้งแต่ผมเกิดมาไม่เคยไปเรียนพิเศษครับ
  • ขอชื่นชมอาจารย์ครับ
  • เลยเอามา link  มาด้วย
  • สงสัยเหมือนกันว่าชื่อคุ้นๆๆ
  • ขอเอาไปบอกแม่ผมได้ไหมว่า  พี่ผมๆๆๆ
  • http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01edu19201052&sectionid=0107&day=2009-10-20
  • ฮ่าๆๆๆๆ

*** เคยพบผู้ปกครองและนักเรียนที่สับสน คือไม่รู้ว่าตนเองถนัดอะไร มีจุดหมายในการเรียนพื้นฐานเพื่อนำไปประกอบอาชีพอะไร

*** ความกลัว + ความวิตกกังวล...ทำให้กวดวิชามั่วทุกวิชา จนลูกเบลอ...สุดท้ายลูกเรียนวิชาที่ไม่ต้องใช้พื้นฐานการกวดวิชาที่ลงทุนมหาศาลนั้นเลย

*** สรุปค่าใช้จ่ายเบ็ดเสร็จ ค่าเรียน ค่ารับส่ง ไม่รวมค่าเสียเวลา ม.4 - ม.6 หลักแสนค่ะ

*** ก็คงต้องแก้ไปถึง ผู้ปกครองและนักเรียนที่สับสนกับตนเองให้ไหวทันกับระบบการศึกษาในแดนสนธยา....

สวัสดีค่ะคุณครู

คุณครูคิมตั้งใจว่าจะให้หนูไปเรียนตอนปิดภาคปลายชั้น ม.๒ ค่ะ

เพราะหนูจะต้องย้ายมาเข้าโรงเรียนในเมือง ม.๓ คุณครูคิมว่าวิชาที่บ้านนอกไม่แข็งกลัวหนูเรียนไม่ทันเพื่อนค่ะ

แต่ทุกวันนี้หนูก็เรียนเองจากหนังสือเสริมค่ะ

หนูมีบันทึกใหม่มาเชิญคุณครูไปเยี่ยมคุณลุงวอญ่าค่ะ  คุณลุงบอกว่าหากขึ้นมาพิษณุโลกจะมาเยี่ยมคุณครูเป็นคนแรกค่ะ

http://gotoknow.org/blog/wittayasamphan/307247#top

สวัสดีค่ะ...ครูธนิตย์

ไม่อยากบอกค่ะว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร

แต่ที่รู้รู้ลูกบอกว่า "เพื่อนเขาเรียนกันหมด เดี๋ยวติวข้อสอบไม่ทันเพื่อน"

เนื้อหาเรียนที่ ร.ร. ข้อสอบต้อง ร.ร.กวดวิชา ค่ะ

สวัสดีค่ะ...ครูธนิตย์

ไม่อยากบอกค่ะว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร

แต่ที่รู้รู้ลูกบอกว่า "เพื่อนเขาเรียนกันหมด เดี๋ยวติวข้อสอบไม่ทันเพื่อน"

เนื้อหาเรียนที่ ร.ร. ข้อสอบต้อง ร.ร.กวดวิชา ค่ะ

..ถูกใจ ครับ..แหะ แหะ..ไม่เกี่ยวกับ กวดวิชา หรอกนะครับ..ครือ ว่า..ถูกใจ บทความที่ คุณครู เขียนมากเลยครับ..แต่ ชื่อ เค้าบอกแล้วว่า..กวดวิชา..(กวด=ไล่ให้ทัน,ทำให้แน่น...หากให้ ตะ อยู่หน้า เป็น ตะกวด=แลน ซึ่ง น่าจะหมายว่า ตัวอะไร?ที่วิ่งเร็วจนไล่ไม่ทัน555)..เอ้อ..บังเอิญที่ผมมีพ่อ แม่ พี่ น้อง+ลุง อา..เป็นครู..มีลูก ก็ไม่ให้เรียนกวดวิชา(ไม่มีตังค์และอาย..ที่ลูกมี พ่อ แม่ เป็นครู ยังไปเรียน..ฮิฮิ)..จึง(พาล)เห็น(คล้ายๆว่า) คล้อยตาม..เรื่องนี้ อยู่เหมือนกัน..สวัสดีครับ..

เป็นบทความที่ดีมากค่ะ ทำให้คิดว่าเวลาสอนเด็กจะเปรียบเทียบเรากับครูสอนกวดวิชาไหม อีกอย่างเด็กสมัยนี้ขี้เกียจมาก เวลาให้คิดทำอะไรเองให้หาความรู้เองมักจะยอมแพ้ ชอบเรียนลัดนี่เอง

น้องดินแบกกระเป๋าที่เต็มไปด้วยหนังสือไปโรงเรียนแทบหลังหัก เทอมที่แล้วเปลี่ยนกระเป๋าไปสามใบ...
ปิดเทอม ขอไปเรียนพิเศษกับครูและเพื่อนๆ...
สุดท้าย  แกเลือกที่จะไปอยู่ที่กาฬสินธุ์กับปู่และย่า

เป็นการไปเรียนพิเศษด้วยเหมือนกัน

ขอบคุณครับ

ชอบคำกล่าวนี้ค่ะ "กวด วิชาไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นดัชนีบ่งชี้ความสำเร็จในการจัดการศึกษาของบ้านเมืองเรา ถ้ากวดวิชาฟูเฟื่อง หมายถึงการจัดการศึกษามีปัญหามาก"... การสะท้อนภาพมาตรฐานการศึกษาของสังคม...

การกวดวิชาบางครั้งเป็นการยัดเยียดความเครียดให้กับเด็กมากเกิน...เห็นพ่อแม่แถวกรุงเทพฯ พอเลิกเรียนปุ๊บก็ส่งลูกเข้าโรงเรียนกวดวิชาปั๊บ...วิชานี้วันนี้ อีกวันก็อีกวิชาในอีกที่...ตกลงไม่รู้ว่าลูกได้ซึมซับอะไรบ้างจากธรรมชาติ นอกจากห้องเรียนสี่เหลี่ยม...บางทีก็อยากให้เด็กกลับคืนสู่ธรรมชาติ ได้เรียนรู้วิถีธรรมชาติบ้าง...ประมาณว่าอยากให้เขาได้เล่นตามวัยของเขาบ้าง ได้ยิ้มกับดวงตะวัน ได้ไล่จับแมลงปอ ผีเสื้อบ้าง เ็ด็กก็คงมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น...อุ้ย!! ยาวจัง จบดีกว่า...ยิ่งเขียนยิ่งมัน...

ขอบพระคุณมากค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • ไม่ว่าจะเป็นการกวดวิชา เรียนพิเศษ สุดแต่ใครจะเรียก
  • ทุกสิ่งคือผลประโยชน์ของ... แม้ว่าปัจจุบันนี้ไม่เห็นด้วยมาก ๆ แต่ไม่ทราบว่าแนวโน้มจะต้องให้หลาน ๆ ได้เรียนหรือเปล่า แหะ ๆ มีผลต่อคะแนนด้วยนี่สิคะ เฮ้อการศึกษาไทย

 

ส่วนหนึ่งเป็นค่านิยม หรือเปล่าคะ อีกส่วนหนึ่งเห็นนักเรียนไปเรียนเพื่อพบปะ ผลงานหลัก ผลพลอยได้คือวิชานิดหน่อย

เพราะผู้ปกครองก็ไม่ค่อยมีเวลา เลยส่งลูกไปเรียนพิเศษ คงคิดว่าดีกว่าให้ไปมั่วสุมที่อื่น เย็นๆ ค่อยไปรับ อะไรอย่างนี้ กระมังคะ

ความคิดการเรียนในคณะเด่นๆ ม.ดังๆ รร. ดีๆ (ที่คิดไปเอง) แล้วก็ไปเบียด แย่งอากาศหายใจกัน ไม่มีแม้สนามเด็กเล่น หรือพท. ฝึกฝนทางจิต และวิญญาณ

  • ว่าจะถามเมล์ มติชน
  • ใช่ [email protected] ไหมครับ
  • ปกติต่อยมวยสมัครเล่นครับ
  • ฮ่าๆๆ
  • แต่ชอบเล่นฟุตบอลมากกว่า

อ.ขจิตครับ..เคยติดต่อแต่หน้าการศึกษา ที่กองบก.([email protected]) น่าจะใช่ครับ แต่เป็น.co.thนะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์ธนิตย์

คงไม่ต้องคอมเม้นท์ใดๆ เลย เพราะทุกถ้อยคำที่อาจารย์กล่าวมานั้น ครูใจดีเห็นด้วย และขบคิดเรื่องนี้มานานแล้ว และแอนตี้ การกวดวิชามากๆ แต่รู้สึกว่าตนเองจะต่อสู้กับกระแสการกวดวิชา ที่ถาโถมเข้ามา ไม่ไหวค่ะ

ถูกใจคำนี้เหลือเกินค่ะ

พลังของการกวดวิชามหาศาลเหลือเกิน!

กวดวิชาไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นดัชนีบ่งชี้ความสำเร็จในการจัดการศึกษาของบ้านเมืองเรา ถ้ากวดวิชาฟูเฟื่อง หมายถึงการจัดการศึกษามีปัญหามาก จนทำให้เกิดคำถาม ทำไมไม่สอนให้เหมือนกวดวิชาเสียเลย"  นักเรียนมีหน้าที่ฟังครูบอก...ทำไมต้องให้ครู สอนอย่างโน้น อ่างนี้ ตามทฤษฎีของนักการศึกษา หลายๆ ท่าน ... น่าคิดนะคะ

ระลึกถึงค่ะ

 

  • กวดวิชาลงรากลึกในสังคมไทยจริงๆ ถ้าส่วนใหญ่เข้าใจและตระหนัก น่าจะแก้ได้..
  • ถึงวันนั้น วันที่เฌวาจะขอเงินไปเรียนพิเศษ ก็คงต้องให้เฌวาครับ เพราะเฌวาคงคิดและเลือกแล้ว
  • ขอบคุณหนานเกียรติครับ
  • สร้างคนจะช้ามาก มากเกินที่จะไปโอ้อวดว่าเป็นผลงานตนเองได้ อย่างนั้นหรือเปล่า? 
  • ชอบประโยคของอ.ขจิตจังเลยครับ"ระบบการศึกษาบ้านเรา นักการเมืองหรือผู้เกี่ยวข้องต้องมีอะไรผิดปกติสักอย่าง"
  • ขอบคุณอ.ขจิตครับ
  • ผู้ปกครอง นักเรียน ที่เบลอ หรืองงไปหมด ไม่รู้จะเรียนอะไรดีแล้ว เงินทองค่าใช้จ่ายก็มากอย่างพี่กิติยาว่า คงมีไม่น้อยเลยทีเดียวครับ..
  • ครูเองบางคนยังงงๆเลย ไม่รู้ว่ากวดวิชามันดีหรือไม่ดีกันแน่ ยิ่งรัฐเป็นผู้นำเสียเองอย่างนี้ น่าจะยิ่งสับสนครับ
  • ขอบคุณพี่กิติยาครับ

สวัสดีครับ อ.ธนิตย์

เป็นบทความที่ดีครับ

อ่านความคิดเห็นของพี่หนานเกียรติ แล้วเห็นด้วยครับ

แต่....ถ้าจะแก้ปัญหานี้คงแก้กันยาวเลยครับ

  • เห็นน้องนัทนำเสนอเรื่องราวต่างๆที่นี่ ได้อย่างนี้แล้ว เรื่องการเรียนหายห่วงแน่
  • ติดตามน้องนัทกับครูคิมไปใต้จากบันทึกต่างๆตลอดเลยครับ
  • ขอบใจน้องนัทครับ
  • กวดวิชา เรียนเพื่อทำข้อสอบได้ การเรียนต่อ การทำงาน โดยเฉพาะการเข้ามหาวิทยาลัย บ้านเราเน้นสอบครับ ฉะนั้นการกวดวิชาจึงเหมาะสมครับ แต่ที่โรงเรียนจะสอนแค่ทำข้อสอบได้..ไม่ได้ครับ
  • ขอบคุณครูอี๊ดครับ

สวัสดีค่ะ คุณครูธนิตย์

- เป็นการวิพากษ์การกวดวิชาได้อย่างตรงไปตรงมา...ที่สุด
- จะอย่างไรเป้าหมายการสอนของครูในห้องเรียนคงเน้นให้นักเรียนได้ทักษะกระบวนการ คุณธรรมจริยธรรม ที่ควบคู่ไปกับความรู้ ถ้าสอนติวกันจนนร.สมองโต แขนขาลีบ ซักเสื้อผ้า ล้างจาน กวาดบ้านก็ไม่เป็น...เศร้าค่ะ

 

  • เป็นเรื่องยากค่ะที่จะเปลี่ยน ตราบเท่าที่สังคมไทยยังใช้การคัดสรรคนแบบเดิมๆ
  • แต่ระบบอยากให้เด็กรู้จักคิดเป็น แก้ปัญหาได้ มีทักษะชีวิตที่นำไปสู่ความสุข
  • เด็กๆไม่มีเวลาพูดคุยกับครู เลิกเรียนรีบบึ่งไปเรียนพิเศษจนมืดค่ำ วันหยุดก็ไม่เว้น
  • เด็กไทยกลายสภาพใกล้หุ่นยนต์ไปหมดแล้ว ถ้าไม่เรียนเพื่อนๆเขาเรียนกันหมด
  • ก็จะต่างจากเขาเข้ากับเพื่อนไม่ได้ ยิ่งวัยนี้เพื่อนสำคัญที่สุดด้วย .....
  • และครูคนไหนแหยมมาสอนให้เด็กคิด ไม่สอนแบบติว ..ถูกล๊อบบี้ตายเลยค่ะ..น่าท้อใจเสียจริง
  • ประเด็นผมมีเพียง"รัฐไม่ควรนำทำเรื่องนี้เสียเอง ให้เพื่อนครูสับสน"ครับ
  • ขอบคุณลุงรักชาติราชบุรีครับ
  • นอกจากสภาพสังคม ความเจริญของเทคโนโลยีแล้ว การกวดวิชาน่าจะเป็นอีกส่วนหนึ่งครับ ที่ทำให้เด็ก ไม่ใฝ่เรียนรู้ ไม่สู้สิ่งยาก เพราะมีติวเตอร์คอยทำให้หมด ทั้งคิด ทั้งวิเคราะห์ หรือแม้แต่วิธีจำ
  • ขอบคุณอ.อ้อม ฐิติรัตน์ครับ
  • กระเป๋าหนักหลังแทบหัก เทอมที่แล้วเปลี่ยนกระเป๋าไปสามใบ เด็กตัวน้อยๆใช้ตำรามากกว่าผู้ใหญ่เสียอีก..เฮ้อ! ถ้าเข้าใจความจริงกันว่าทุกๆที่เป็นห้องเรียนอยู่แล้ว สภาพนี้(กวดวิชา)น่าจะลดลงได้ครับ
  • ขอบคุณอ.แผ่นดินครับ
  • ให้เขาได้เล่นตามวัยของเขาบ้าง ได้ยิ้มกับดวงตะวัน ได้ไล่จับแมลงปอ ผีเสื้อบ้าง สุขภาพจิตจะดีขึ้น..ถ้าเด็กๆได้ฟัง คงยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ถูกใจเขาครับ
  • ขอบคุณอ.Vijครับ
  • ถ้าเหมาะสมกับหลานก็คงจำเป็น กวดวิชารุ่งเรืองมาก เพราะวิธีสอน เนื้อหาที่ได้ เหมาะกับการนำไปใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัย คนที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่มีอำนาจ น่าจะทำอะไรได้ดีกว่านี้ครับ
  • ขอบคุณอ.phayormครับ
  • ใช่เลยครับ..ค่านิยม บางส่วนก็ไปเรียนแบบไม่ตั้งใจจริงๆครับ โดดเรียนก็มี ผู้ปกครองไม่มีเวลา ส่งไปเรียนเสียเลย ก็น่าจะเยอะ
  • จริงๆกวดวิชาไม่ใช่ปัญหาครับ แต่มันบ่งบอกว่าการจัดการศึกษาของบ้านเรามีอะไรที่เป็นปัญหาอยู่ครับ
  • ขอบคุณคุณpooครับ
  • ครูเราจะรู้ครับ อบรมเรื่องการจัดการเรียนการสอนครั้งใด ต้องอย่างโน้นอย่างนี้ ต้องบูรณาการ ต้องเน้นปฏิบัติจริง ต้องให้คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ต้องเน้นคุณธรรมจริยธรรม ที่สำคัญการสอนด้วยการบรรยายดูจะเป็นของต้องห้ามไปเลย ไม่พูดถึงกันมานานแล้ว นับตั้งแต่มี พ.ร.บ.การศึกษาเป็นต้นมา แต่วันดีคืนดี ไหงศธ.มาเห็นดีเห็นงามกับการกวดวิชา..??
  • เปิดเทอมเร็วจังครับ..ขอบคุณครูใจดีครับ
  • ถ้าจะแก้ คงต้องแก้กันยาว..คงเป็นอย่างนั้นครับ เพราะมันพันอยู่กับอีกหลายๆเรื่องครับ
  • ขอบคุณคุณdidครับ
  • จะอย่างไรเป้าหมายการสอนของครูในห้องเรียนคงเน้นให้นักเรียนได้ทักษะกระบวนการ คุณธรรมจริยธรรม ที่ควบคู่ไปกับความรู้ ถ้าสอนติวกันจนนร.สมองโต แขนขาลีบ ซักเสื้อผ้า ล้างจาน กวาดบ้านก็ไม่เป็น...เศร้าค่ะ เห็นด้วยครับ
  • ขอบคุณอ.noktalayที่ช่วยเสริมเติมเต็มครับ
  • เด็กไทยจะกลายเป็นหุ่นยนต์ เรียนทั้งวัน ทั้งสัปดาห์ เลิกเรียนมืดค่ำ คิดแค่นี้ก็ผิดหลักการไปหมด หรือไม่ควรให้เกิดแล้ว ที่ครูแป๋มพูดมา น่าคิดทั้งนั้นครับ
  • ขอบคุณครูแป๋มครับ

สวัสดีค่ะคุณครูP ...เรื่องนี้ยังอุ่นๆเพราะได้รับหน้าที่ให้ช่วยติวม.ปลายอิอิ...ผู้บ.

                    ท่านกำชับติวเฉพาะข้อสอบ(...เหตุผลช่วยโรงเรียนประหยัด)

                          

       เคยหวังค่ะ..."หลังยกเลิกการสอบเอ็นทรานซ์ เปลี่ยนมาเป็นแอดมิสชั่นส์แล้ว การเรียนกวดวิชาหรือเรียนพิเศษเพิ่มเติมจากชั้นเรียนปกติ จะลดลงหรือหมดไป แต่ตรงกันข้าม สถาบันกวดวิชาต่างๆ กลับผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด นอกจากเรียนเพื่อสอบแล้ว ยังเรียนเพื่อเพิ่มเกรด นอกจากเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษแล้ว ยังต้องเรียนภาษาไทย สังคมศึกษาเพิ่ม เพราะบังคับให้ทุกคนสอบ "...

           นี่ล่ะค่ะประเทศไทย...การเมือง นำหน้า การศึกษา 

                                         ขอบคุณมากๆค่ะ-เรื่องราวดีๆ

ขอบคุณอาจารย์ธนิตที่เข้าไปชมเรื่องราวของคาราวานนะครับ

  • เห็นตรงกันครับ"การเมืองนำหน้าการศึกษา"
  • แถมช่วยเพิ่มตัวอย่างในเรื่องการติวด้วย..ให้ติวเฉพาะข้อสอบ
  • ขอบคุณอ.จอมใจครับ
  • ชอบตั้งแต่เรียนแล้วครับ ฉะนั้น พอเห็นบันทึกอาจารย์เป็นเรื่องคาราวาน.. รู้สึกดีใจครับ
  • ขอบคุณภาพของคุณสุรชัย คุณทองกราน และคุณมงคล เอ! จะว่าอีกคนเป็นคุณวีระศักดิ์ก็ไม่ใช่ สงสัยสมาชิกใหม่กระมังครับ(ฮา)
  • ขอบคุณอ.กู้เกียรติครับ

มาเยี่ยมในฐานะครูแนะแนวด้วยค่ะ

 

  • ทำงานแนะแนวด้วยหรือครับ..
  • ขอบคุณครูอรวรรณที่แวะมาเยี่ยมครับ

แวะมากวดวิชาค่ะ

แต่สงสัย...จะเลยวัยแล้วค่ะ

ขอเป็นกวดวิชา "หัวใจ" แทนได้ไหมค่ะ

 

จะมาชวนไปเที่ยวที่นี่ ด้วยค่ะ   °o.O ผาเดียวดาย O.o°

  • ไปเที่ยวผาเดียวดายมาแล้ว..เศร้าและสวยครับ
  • ขอบคุณอ.ปลายฟ้าที่มาเยี่ยมเยือนครับ

อ่านแล้วก็อดยิ้มกับตัวเองไม่ได้

ครูต้อยเคยถูกคุณพ่อส่งไปเรียนพิเศษคณิตศาตร์ค่ะ

คิดดูซินานมากสมัยก่อนค่าเรียนคิดเป็นเดือนค่ะ เดือนละไม่กี่สิบบาท

รู้สึกว่าจะ 30 บาทมั๊ง

พ่อส่งไปเรียนเพราะไม่อยากให้ครูหยิกพุง อิอิ

ได้ผลคุณครูเลิกหยิกพุง

พอมาถึงลูกสาว บ่นว่าคุณครูสอนไม่ทั่วถึง

ครูต้อยก็เรียนแบบคุณพ่อ ส่งลูกสาวไปเรียนถึงบ้านคุณครู

ได้ผลค่ะ ..คุณครูสอนทั่วถึง

ทีเล่านี่ไม่ได้มีเจตนาจะลบหลู่คุณครูนะคะ

แต่มันเป็นอีกมุม หนึ่งที่อยากเล่า เท่านั้นเอง

ขอบคุณค่ะ

  • เห็นเด็กเล็กๆเลิกจากโรงเรียน ต้องกุลีกุจอไปเรียนพิเศษต่ออีก มืดค่ำจึงได้กลับบ้าน เสาร์อาทิตย์ก็ต้องไป ไม่ได้หยุดไม่ได้พักเลย..คงไม่ถูกแน่ ถ้าปล่อยให้เป็นอยู่อย่างนี้
  • แม้รู้และคิด แต่ก็หนีวังวนนี้ไม่พ้นเช่นกันครับ
  • ขอบคุณkrutoiครับ

สวัสดีครับ อ่านแล้วขออนุญาตร่วมด้วยนะครับ

      การศึกษาอัดเม็ด เพื่อให้บรรลุการผ่านการกรองแต่ละด่านมันก็เป็นอย่างนี้ละครับ หากการศึกษาเน้นที่ความรู้อัดเม็ดแบบนี้ ก็กลายเป็นสูตรอาหารสำเร็จที่ไม่แน่ใจว่าจะปรับใช้ได้กับชีวิตจริงแค่ไหน

      หากความรู้สามารถให้กันได้เหมือนการต่อท่อน้ำใส่ถึงกันได้ก็ดีซิครับ หรือเหมือนแบบใส่ USB แล้วเสียรูจมูกได้ ก็คงจะดีไม่น้อยครับ แต่ความรู้หาใช่เป็นอย่างนั้นครับ เพราะการรับความรู้จากคนที่ถ่ายทอดให้เมื่อเข้าตัวเราก็จะเป็นแค่ข้อมูลเท่านั้น สิ่งนั้นที่นำเข้าไปจะเป็นความรู้ได้ก็ต่อเมื่อได้ผ่านกระบวนการคิดซ้ำแล้วทดลองพิสูจน์ต่อจึงจะเรียกว่าเป็นความรู้ที่แท้จริง ปัญญาก็เช่นกันจะเสียบสายท่อตรงไม่ได้ ต้องไปสุกงอมเอาในสมองใครสมองคนนั้น นี่เป็นเหตุให้เกิดการปิ้งในระบบคิดที่ร้องออกมาว่า อ๋อ เข้าใจแล้ว มันส่งให้กันแล้วร้องอ๋อแบบหลอกๆ ไม่ได้หรอกใช่ไหมครับ

      ระบบการศึกษาที่เรารับจากต่างประเทศเข้ามา บางทีเราเอามาแต่ตัวและหางมาครับ แต่ลืมเอาสมองของเค้ามาด้วยครับ มันจึงอาจจะมาพิการที่บ้านเรา หรือบางทีเจ้าของความคิดเค้ายกเลิกกันไปแล้ว เราก็ยังคลำๆ เดินๆ กันต่อไป ดันทุรังไปอีกเพื่อลองดูว่าเป็นอย่างไร แม้แต่ระบบสอบของเราหลังจากที่ยกเลิกเอ็นท์รวมกันมา เป็นการสอบเข้าแบบระบบ RAT (หนูทดลอง) มากๆ เลยครับ คือลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ โดนด่าทีก็เปลี่ยนที เปลี่ยนชื่อบ้าง ระบบเหมือนเดิม ก็ปรับกันไป เพราะคนคิดก็ไม่เคยทำ คนทำก็ทำไปแม้จะคิดไม่ตรงก็ต้องทำ

         ระบบติวนอกสถาบันการศึกษาเป็นตัวชี้ชัดว่าระบบการศึกษาในระบบการศึกษาที่มีล้มเหลว เรื่องนี้ต้องกล้าจะยอมรับครับ อย่าไปอายครับ ตอนนี้ติวกันถึงระดับมหาลัย สถาบันอุดมศึกษา ต่อไปจะติวกันทุกอย่าง จนไม่รู้ว่าจะติวการหายใจด้วยไหมในอนาคตเพราะเกิดมลพิษทางอากาศนะครับ (ขออภัยครับ ที่ประชดรุนแรงไปหน่อยครับ) จริงๆ แล้วมีหลายๆ สถาบันการศึกษาพยายามคิดบนฐานของตัวเอง สร้างบทเรียนเอง เพื่อนำไปสู่การศึกษาที่แท้จริง การไปหยิบทฤษฏีบางอย่างมาท่องๆ จำๆ มันก็แค่รู้ไว้ใช่ว่า ละครับ เพราะมันไม่ได้สุกงอมในพื้นที่นั้นจริงๆ สู้ดึงปัญหา ปรับใช้ให้ถูกให้ควรครับ เพราะทฤษฏีเหล่านั้นมันเกิดที่อื่น คนละบริบทครับกับบ้านเรา

อย่างการทดลองทางเคมีนะครับ ฝรั่งเขียนว่า ให้ต้มน้ำให้ได้อุณภูมิที่ 25 C ฝรั่งอาจจะต้องต้มครับ เพราะเมืองหนาว ต้องทำแบบนั้น พอเมืองไทยเราเอามา จะต้องต้มไหมครับ จะเห็นว่าต่างบริบท มันต่างแบบกัน การรับมาจึงต้องคิดเอาอะไร มิใช่เอามาหมดจนไม่ได้ทบทวน ว่าเหมาะสมกับบริบทของวัฒนธรรมไทย จริตของคนไทยมากน้อยแค่ไหน

หากสถาบันการศึกษาจัดบริบทที่ไม่เน้นธุรกิจการศึกษา เน้นตัวความรู้ คุณภาพของบัณฑิตมากกว่าการผลิตเพื่อปริมาณเพียงอย่างเดียว จะน่าเป็นห่วงมากๆ ครับ แล้วสักวันหนึ่ง หากเราผลิตกันแล้วไม่ตรงตามความต้องการของสังคมหรือองค์กรนั้นๆ เราจะมีบัณฑิตที่ล้นตลาดครับ เพราะองค์กรที่ต้องการคนจะผลิตคนของเค้าเอง สักวันหนึ่งจะเกิดมากขึ้น ครับ

สำหรับการกวดวิชาผ่านทีวี...หากเราแนะนำให้ถูกหลักว่าอะไรเป็นอะไร ผมว่าส่วนดีมันก็มีครับ เพราะอย่างผมเองเมื่อก่อน ก็ได้ติวเอาทางทีวีนี่ละครับ ตื่นตีสี่ นั่งฟังนั่งจดเพื่อทำความเข้าใจ จนเกือบหกโมงเช้า จากนั้น ก็ไปโรงเรียนแล้วเอาความรู้ วิธีคิดเหล่านี้ไปสอนเพื่อนต่อก่อนเคารพธงชาติ ผมว่าทีวีในส่วนนี้ให้อะไรผมเยอะพอสมควร อย่างน้อยก็ได้กระบวนการคิดที่เป็นอีกแบบจากที่เราพบในห้องเรียน แต่การไปติวจนการสอนในห้องเรียนไม่มีคุณค่าก็ไม่น่าจะถูกต้อง กระบวนการเรียนการสอนควรมีการปรับเพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงที่ดีที่สุด แต่ไม่ใช่เรียนแบบเส้นบะหมี่ คือเรียนเอาลวกๆ แล้วยกขึ้นใส่เครื่องปรุงแล้วซดแล้วจบกันครับ การต่อยอดความรู้จึงสำคัญ วิชาการใช้ชีวิตมันติวกันไม่ได้เพราะว่าต่างที่ต่างเวลาต่างประสบการณ์

อย่างเด็กมาเรียนกับผม ต่อให้ไปติวมายังไง ก็ยังตกอยู่ดีครับ หากใช้ความรู้ไม่เป็น เพราะโจทย์ในชีวิตจริงมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ครับ

ขอจบแ่ค่นี้ก่อนนะครับ ผมเคยบ่นเรื่องสถาบันติวมาแล้วเหมือนกันครับ เทอมที่แล้วผมเคยสอนฟรี แต่ไม่ใช่สอนติว แต่สอนเสริมให้กับเด็กที่อ่อนคณิตศาสตร์ ไม่เห็นว่าจำเป็นต้องเก็บเงิน เพราะประชาชนก็จ้างเงินเดือนอยู่แล้ว ยังไม่ถึงเวลาที่จำเป็นต้องใช้เงินมากโดยเก็บจากเด็กๆ ครับ สอนไปเถอะครับมีประโยชน์ เด็กๆ จะได้ภูมิใจบ้างว่ามีครูพันธุ์แบบที่อยากให้จริงๆ ยังมีอยู่ ตอนผมจะสอนเสริม มีแม่ของนักเรียนคนหนึ่งถามผมว่า อาจารย์คิดเท่าไร ผมบอกว่ามาเรียนเลยไม่คิดอะไร ถือว่าคืนกลับให้กับสังคมก็แล้วกันครับ ส่วนการติวที่เก็บเงิน เราก็ว่าเค้าไม่ได้ครับ เพราะการศึกษาเราสร้างระบบในระบบการศึกษาให้แย่เองนะครับ เค้าถึงต้องมาทำหน้าที่นี้ หากเค้าทำได้ดี ก็ยุบสถาบันการศึกษาไปเลย ยุบให้เหลือแค่ ผอ. อธิการบดี และเลขาฯ เหลือมหาวิทยาลัยละ 5 คนก็พอครับ ทำหน้าที่เซ็นใบปริญญาอย่างเดียวก็พอ โดยบอกว่าต้องได้รับการสอบผ่านจากสถาบันติวไหนมาบ้างก็พอ จากนั้นก็ออกใบรับรองการจบปริญญาได้เลย

น่าจะถึงเวลาที่ต้องทบทวนกันใหม่แล้ว ตอนนี้ผมก็หาวิธีการสอนในแบบฉบับของผมให้ นศ.เรียนรู้ โดยไม่ขัดต่อเป้าหมายของวิชา แต่เด็กอาจจะเรียนได้ตกมากกว่าหรือได้ดีกว่าก็ได้ อยู่ที่ว่าเราจะวัดอะไรจากผู้เรียน อย่างคณิตศาสตร์คนส่วนใหญ่ก็ไม่ชอบแล้วครับ เราจะเปลี่ยนยาขมให้เป็นยาหวานที่เด็กอยากทานได้อย่างไร นั่นคือคำถามที่ผมต้องหาคำตอบครับ

ขอบพระคุณมากๆ นะครับที่อ่านจนจบครับ บวกบ้างลบบ้างล่องลอยตามที่คิดครับ

ด้วยมิตรภาพครับ

สมพร

  • ขอบคุณอ.เม้ง สมพร ช่วยอารีย์มากเลยครับที่ให้เกียรติมากๆ..ยาวเหยียดเลย
  • เห็นด้วยกับอาจารย์ทุกประการครับ ผมนำเสนอเรื่องนี้เพียงคิดว่า รัฐไม่น่าเป็นผู้นำทำเรื่องนี้เสียเอง เพราะจะสร้างความสับสนต่อวิธีการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนของครูเป็นอย่างมากครับ
  • หวังว่าโอกาสหน้าจะได้รับเกียรติจากอาจารย์เช่นนี้อีก..ขอบคุณอีกครั้งครับ

ได้อ่านหนังสือของ รศดรงกุลยา ตันติผลาชีวะ เรื่องเด็กๆดีมากเลยค่ะนำมาใช้ได้

การเลี้ยงดูลูกปัจจุบันไม่เหมือนเมื่อก่อนจริงๆ (บางคนนะ คะ)

การสอนของครูก็ไม่เหมือน เป็นมาจากผู้ปกครองด้วยที่ต้องพาลูกกระเตงไปเรียนพิเศษตั้งแต่เล็กๆ

เด็กเลยไม่เป็นเด็ก ไม่ได้รู้จัดธรรมชาติของเด็ก ในวัยเด็ก เขียนไม่เป็นเพราะพิมพ์จากคอม กีอปจากคอม

มา รร.มาเจอครูบางคน ไม่ตั้งใจสอนในห้องเรียน ทิ้งงานให้ ตัวเองแอบไปขายตรง.ก็มีนะ

มาเน้นที่ เรียนพิเศษ แถวๆบ้านมีครูออกมาสอนพิเศษเต็มตัวได้เดือนละแสนบาท ปิดเทอม มากกว่านี้

เด็กเล็กเด็กโตเต็มไปหมด นี่อะไรกัน ก็ งงงง

ดีนะที่เราไม่ได้ส่งลูกไปติวอย่างนี้ แต่ก็ได้เกียรตินิยมอันดับ 1

ทำอย่างไรดี ที่จะรวมพลังให้ การเรียนพิเศษ หดหายไปบ้าง

  • เรียนพิเศษไม่ใช่ปัญหาครับ แต่ถ้ามีมากๆ หรือมากเกิน จะฟ้องว่าการจัดการศึกษาของบ้านเรามีปัญหาครับ
  • ครูด้วยกันเองก็งงเหมือนกัน..อะไรกันนี่ แต่เข้าใจครับ ว่ามันสอดคล้องกับระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย
  • ขอบคุณคุณichayaครับ

กวดวิชา Tutor Channel ถูกต้องหรือถูกใจ

ไม่ถูกต้องและไม่ถูกใจ เพราะคำว่า "กวด" คือ ความหมายของการต้องไล่ตามบางสิ่งที่เรียกว่า วิชา เด็กจำเป็นต้องทำเช่นนั้นหรือ และเพราะอะไรด้วย ชาววิจัยช่วยว่าหน่อย และเห็นว่า เราขาดแคลนบางสิ่งที่เป็นคำตอบของชีวิต ในกระแสที่มันชวนให้รู้สึกว่าอนาคตน่าเกรงขามจนเกินไป และ อยากเห็น Tutor จะเป็นฝ่ายมาไล่กวดเด็กๆ

  • "กวด" คือ ต้องไล่ตามบางสิ่งที่เรียกว่าวิชา เด็กจำเป็นต้องทำเช่นนั้นหรือ?
  • อยากเห็น Tutor จะเป็นฝ่ายมาไล่กวดเด็กๆ
  • น่าคิดทั้งนั้นเลยครับ
  • ขอบคุณคุณติ่งครับ
  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาหาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการกวดวิชา Tutor Channel ถูกต้องหรือถูกใจ? บางครั้งก็แยกไม่ออกระหว่างถูกต้อง กับ ถูกใจ นี่แหละสังคมไทยแท้ ๆ
  • ขอบคุณสำหรับบันทึกดี ๆ ค่ะ
  • มีความสุขในชีวิตการทำงานมาก ๆ นะค่ะ

                             

       ปิดเทอมให้เด็กพักผ่อน  ทบทวนความรู้  ช่วยงานผู้ปกครอง

แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่   เด็กๆแห่ไปเรียนพิเศษเพียบเลยค่ะ

       

 

มาก่อกวนอาจารย์ก่อนไปทำงานครับ เดี๋ยวร่างหลักสูตรนานาชาติเสร็จจะแวะมาคุยด้วยครับ...

  • บางคนก็ว่าถูกต้อง บางคนก็ว่าถูกใจ..แต่เรื่องจริงๆ ค่อนข้างชัดเจนครับ
  • ขอบคุณคุณบุษราครับ
  • ถ้าพอดีๆ ไม่มากเกิน น่าจะดีครับ แต่ทุกวันนี้ น่าจะมากไปหน่อยครับ
  • ขอบคุณอ.วิไล วิไลครับ
  • ต่อไปคงจะได้ความรู้เรื่องหลักสูตรนานาชาติบ้างนะครับ
  • ขอบคุณอ.ขจิตที่ก่อกวนครับ(ฮา)

สวัสดีครับ คุณครูธนิตย์ สุวรรณเจริญ

@ หยิบหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งขึ้นมาอ่าน

@ สไตล์การเขียนแนวนี้ ยิ่งชื่อผู้เขียนแล้วบอกเลยว่าคุ้นๆ แต่ยังไม่ยืนยัน

@ ตามล่าหาความจริงวันนี้

@ ใช่ท่านแน่ๆ

@ แวะมาสัมผัสตัวจริงเสียงจริงอีกครั้งครับ

@ แล้วถ้ากวดวิชา Tutor Channel ทั้งถูกต้องและ/หรือทั้งถูกใจ หล่ะ?

@ ครูวิชาชีพมิต้องตกงานหรือ?(ฮา)

@ ขอบพระคุณครับ

  • เรื่องตกงานชักเสียวๆครับ(ฮา)
  • ขอบคุณไทยบ้านผำมากครับที่ให้เกียรติ

* เยี่ยมค่ะ เห็นด้วยกับเหตุผลที่อาจารย์ธนิตย์อ้างอิงทุกประเด็นค่ะ *
  สงสารเยาวชนไทยที่ถูกยัดเยียดให้เรียนๆ จนไม่มีเวลาว่างที่จะฝึกคิด-วิเคราะห์หรือมีเวลาว่างที่จะคิดสร้างสรรค์
  ธุรกิจทางการศึกษาเจริญรุ่งเรืองเพราะผู้ปกครองและเยาวชนขาดสิ่งยึดเหนี่ยวและความมั่นใจในระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย
  หากการศึกษาของประเทศยังพัฒนาไปไม่ถึงไหน  จะไปคาดหวังอะไรกับการเป็นสังคมศิวิไลซ์ที่ทัดเทียมนานาประเทศล่ะคะ !
                        

  • สวัสดีค่ะอาจารย์ธนิต
  • ตามมาอ่านอีกครั้ง หลังจากได้อ่านในมติชนไปแล้ว
  • ดิฉันขอมองในแง่ดีว่า T Channel ช่วยแก้ปัญหาระยะสั้น  ช่วยเหลือเด็กๆ ที่ไม่มีโอกาสไปเรียนกวดวิชา  แต่ระยะยาวต้องแก้ 3 อย่างค่ะ
  • อย่างแรกคือหลักสูตร ต้องให้กระชับ ไม่แน่น เพื่อเปิดโอกาสให้ครูได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ ผู้เรียนเป็นสำคัญอย่างแท้จริง ต้องให้ความสำคัญกับ Learning Process (ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมมากขึ้น) มากกว่าความรู้ในตำรา  เพราะ "เก่ง" นั้นมิใช่เก่งความรู้ในตำราค่ะ  เด็กเราต้องเก่งที่จะสืบเสาะหาความรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา    ต้องเหลือที่ว่างสำหรับการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตวิญญาน ที่มีเป้าหมายคือ "ดี"  และ ต้องเหลือที่ว่างสำหรับการเรียนรู้ ทักษะชีวิต (Life Skills) และ ทักษะสุขภาพ (Health Skills) ซึ่งนำไปสู่ "สุข" ค่ะ
  • อย่างที่ 2 ครูต้องเข้าใจหลักสูตรอย่างถ่องแท้ค่ะ  จึงจะนำหลักสูตรไปสู่ชั้นเรียนได้ เพราะไม่ว่าหลักสูตรเขียนดีอย่างไร ถ้าครูยังจับหัวใจของหลักสูตรไม่ได้  หลักสูตรก็เป็นแค่ตัวหนังสือ ดิฉันว่า หลักสูตรปี 2544 ไม่ขี้เหร่นะคะ  เพียงแต่ครูผู้สอนยังรู้จักมันไม่ถ่องแท้ค่ะ  (ดิฉันมีประสบการณ์พอสมควรจากการทำงานกับครูทั่วประเทศตั้งแต่หลักสูตรออกใช้ใหม่ๆ จนกำลังจะเลิกใช้ค่ะ)
  • ต้องขอโทษนะคะ ถ้าจะแสดงความคิดเห็นตรงๆ ว่า เราจำเป็นต้องพัฒนาครูเรื่องการบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญให้มากว่านี้ค่ะ ดิฉันได้มีโอกาสเห็นแผนการสอนของครูมาบ้าง  คิดว่ายังมุ่งเนื้อหามากกว่ากระบวนการคิด
  • สุดท้าย ต้องคิดระบบการรับเด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัยใหม่ค่ะ  ตรงนี้ดิฉันจนปัญญา  เข้าใจว่ามหาวิทยาลัยต้องการเด็กเก่งไปเรียน  เพราะมีช่องว่างขนาดใหญ่มากระหว่างความรู้ของเด็กที่จบ ม. 6 กับ  ความรู้ที่จำเป็นต้องเรียนในปี 1 ของมหาวิทยาลัย มันต่อกันไม่ติด  จึงพบว่า เด็กปีหนึ่งเกรดตกกันกราวรูด  แม้แต่เด็กวิศวะจุฬาปี 1 ก็ยังสอบฟิสิกส์ตกกันกว่าครึ่ง
  • ป.ล. อาจารย์ธนิต น่าจะใช้เวลาว่างไปเปิดโรงเรียนกวดวิชาบ้างนะคะ  ว่ากันว่า มีเงินไหลเข้าบัญชีปีละ 40 ล้านเชียวนะคะ  ตัดสินใจเมื่อไหร่บอกด้วยจะไปเข้าหุ้นด้วยคน
  • สวัสดีค่ะ
  • สวัสดีค่ะอาจารย์ธนิต
  • ตามมาอ่านอีกครั้ง หลังจากได้อ่านในมติชนไปแล้ว
  • ดิฉันขอมองในแง่ดีว่า T Channel ช่วยแก้ปัญหาระยะสั้น  ช่วยเหลือเด็กๆ ที่ไม่มีโอกาสไปเรียนกวดวิชา  แต่ระยะยาวต้องแก้ 3 อย่างค่ะ
  • อย่างแรกคือหลักสูตร ต้องให้กระชับ ไม่แน่น เพื่อเปิดโอกาสให้ครูได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ ผู้เรียนเป็นสำคัญอย่างแท้จริง ต้องให้ความสำคัญกับ Learning Process (ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมมากขึ้น) มากกว่าความรู้ในตำรา  เพราะ "เก่ง" นั้นมิใช่เก่งความรู้ในตำราค่ะ  เด็กเราต้องเก่งที่จะสืบเสาะหาความรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา    ต้องเหลือที่ว่างสำหรับการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตวิญญาน ที่มีเป้าหมายคือ "ดี"  และ ต้องเหลือที่ว่างสำหรับการเรียนรู้ ทักษะชีวิต (Life Skills) และ ทักษะสุขภาพ (Health Skills) ซึ่งนำไปสู่ "สุข" ค่ะ
  • อย่างที่ 2 ครูต้องเข้าใจหลักสูตรอย่างถ่องแท้ค่ะ  จึงจะนำหลักสูตรไปสู่ชั้นเรียนได้ เพราะไม่ว่าหลักสูตรเขียนดีอย่างไร ถ้าครูยังจับหัวใจของหลักสูตรไม่ได้  หลักสูตรก็เป็นแค่ตัวหนังสือ ดิฉันว่า หลักสูตรปี 2544 ไม่ขี้เหร่นะคะ  เพียงแต่ครูผู้สอนยังรู้จักมันไม่ถ่องแท้ค่ะ  (ดิฉันมีประสบการณ์พอสมควรจากการทำงานกับครูทั่วประเทศตั้งแต่หลักสูตรออกใช้ใหม่ๆ จนกำลังจะเลิกใช้ค่ะ)
  • ต้องขอโทษนะคะ ถ้าจะแสดงความคิดเห็นตรงๆ ว่า เราจำเป็นต้องพัฒนาครูเรื่องการบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญให้มากว่านี้ค่ะ ดิฉันได้มีโอกาสเห็นแผนการสอนของครูมาบ้าง  คิดว่ายังมุ่งเนื้อหามากกว่ากระบวนการคิด
  • สุดท้าย ต้องคิดระบบการรับเด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัยใหม่ค่ะ  ตรงนี้ดิฉันจนปัญญา  เข้าใจว่ามหาวิทยาลัยต้องการเด็กเก่งไปเรียน  เพราะมีช่องว่างขนาดใหญ่มากระหว่างความรู้ของเด็กที่จบ ม. 6 กับ  ความรู้ที่จำเป็นต้องเรียนในปี 1 ของมหาวิทยาลัย มันต่อกันไม่ติด  จึงพบว่า เด็กปีหนึ่งเกรดตกกันกราวรูด  แม้แต่เด็กวิศวะจุฬาปี 1 ก็ยังสอบฟิสิกส์ตกกันกว่าครึ่ง
  • ป.ล. อาจารย์ธนิต น่าจะใช้เวลาว่างไปเปิดโรงเรียนกวดวิชาบ้างนะคะ  ว่ากันว่า มีเงินไหลเข้าบัญชีปีละ 40 ล้านเชียวนะคะ  ตัดสินใจเมื่อไหร่บอกด้วยจะไปเข้าหุ้นด้วยคน
  • สวัสดีค่ะ
  • สวัสดีค่ะอาจารย์ธนิต
  • ตามมาอ่านอีกครั้ง หลังจากได้อ่านในมติชนไปแล้ว
  • ดิฉันขอมองในแง่ดีว่า T Channel ช่วยแก้ปัญหาระยะสั้น  ช่วยเหลือเด็กๆ ที่ไม่มีโอกาสไปเรียนกวดวิชา  แต่ระยะยาวต้องแก้ 3 อย่างค่ะ
  • อย่างแรกคือหลักสูตร ต้องให้กระชับ ไม่แน่น เพื่อเปิดโอกาสให้ครูได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ ผู้เรียนเป็นสำคัญอย่างแท้จริง ต้องให้ความสำคัญกับ Learning Process (ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมมากขึ้น) มากกว่าความรู้ในตำรา  เพราะ "เก่ง" นั้นมิใช่เก่งความรู้ในตำราค่ะ  เด็กเราต้องเก่งที่จะสืบเสาะหาความรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา    ต้องเหลือที่ว่างสำหรับการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตวิญญาน ที่มีเป้าหมายคือ "ดี"  และ ต้องเหลือที่ว่างสำหรับการเรียนรู้ ทักษะชีวิต (Life Skills) และ ทักษะสุขภาพ (Health Skills) ซึ่งนำไปสู่ "สุข" ค่ะ
  • อย่างที่ 2 ครูต้องเข้าใจหลักสูตรอย่างถ่องแท้ค่ะ  จึงจะนำหลักสูตรไปสู่ชั้นเรียนได้ เพราะไม่ว่าหลักสูตรเขียนดีอย่างไร ถ้าครูยังจับหัวใจของหลักสูตรไม่ได้  หลักสูตรก็เป็นแค่ตัวหนังสือ ดิฉันว่า หลักสูตรปี 2544 ไม่ขี้เหร่นะคะ  เพียงแต่ครูผู้สอนยังรู้จักมันไม่ถ่องแท้ค่ะ  (ดิฉันมีประสบการณ์พอสมควรจากการทำงานกับครูทั่วประเทศตั้งแต่หลักสูตรออกใช้ใหม่ๆ จนกำลังจะเลิกใช้ค่ะ)
  • ต้องขอโทษนะคะ ถ้าจะแสดงความคิดเห็นตรงๆ ว่า เราจำเป็นต้องพัฒนาครูเรื่องการบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญให้มากว่านี้ค่ะ ดิฉันได้มีโอกาสเห็นแผนการสอนของครูมาบ้าง  คิดว่ายังมุ่งเนื้อหามากกว่ากระบวนการคิด
  • สุดท้าย ต้องคิดระบบการรับเด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัยใหม่ค่ะ  ตรงนี้ดิฉันจนปัญญา  เข้าใจว่ามหาวิทยาลัยต้องการเด็กเก่งไปเรียน  เพราะมีช่องว่างขนาดใหญ่มากระหว่างความรู้ของเด็กที่จบ ม. 6 กับ  ความรู้ที่จำเป็นต้องเรียนในปี 1 ของมหาวิทยาลัย มันต่อกันไม่ติด  จึงพบว่า เด็กปีหนึ่งเกรดตกกันกราวรูด  แม้แต่เด็กวิศวะจุฬาปี 1 ก็ยังสอบฟิสิกส์ตกกันกว่าครึ่ง
  • ป.ล. อาจารย์ธนิต น่าจะใช้เวลาว่างไปเปิดโรงเรียนกวดวิชาบ้างนะคะ  ว่ากันว่า มีเงินไหลเข้าบัญชีปีละ 40 ล้านเชียวนะคะ  ตัดสินใจเมื่อไหร่บอกด้วยจะไปเข้าหุ้นด้วยคน
  • สวัสดีค่ะ
  • ถูกยัดเยียดให้เรียน ไม่มั่นใจระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เมื่อการศึกษายังไปไม่ถึงไหน ประเทศชาติจะพัฒนาได้อย่างไร..เห็นด้วยทุกประการเลยครับ
  • โรงเรียนเปิดหรือยัง..ขอบคุณอ.K.Pallyครับ
  • สวัสดีครับคุณnui
  • ยาวเหยียดเลย ทึ่งครับ ที่คุณnui มองการจัดการศึกษา มองการกวดวิชากระจ่างจริงๆ เห็นด้วยทุกประการเลยครับ แม้แต่เรื่องการสอนของครู มีข้อสังเกตเพิ่มเติมเล็กน้อยครับ
  • เรื่องหลักสูตรเคยฟัง ศ.ดร.สมหวัง ผอ.สมศ.พูดครับ แกวิพากษ์ว่า ไม่ว่าหลักสูตรจะเปลี่ยนไปอย่างไร ครูก็ยังสอนเหมือนเดิม มีส่วนจริงเยอะครับ แต่ต้องเข้าใจว่า หลักสูตร 44 ซึ่งเปลี่ยนจากหลักสูตร 23 ก็ยังกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ต้องรู้เนื้อหานั่น รู้เนื้อหานี่ มากมายไปหมด ครูก็รู้สึกอย่างนั้น เนื้อหาที่บังคับให้นร.ต้องรู้มีมาก แถมเหมือนๆเดิม(หลักสูตร 23)นั่นแหละ แม้แต่หลักสูตรใหม่ที่จะเริ่มใช้ทุกโรงในปีการศึกษาหน้า ซึ่งน่าจะมีส่วนให้ครูใช้วิธีสอนเดิมๆ ประกอบกับครูอีกส่วนหนึ่งจะเชื่อว่าวิธีสอนแบบเดิม(บรรยาย) เหมาะที่จะยัดเยียดเนื้อหาให้นร.นำไปใช้สอบได้มากกว่า ซึ่งสภาพจริงๆก็เป็นเช่นนั้นเสียด้วย การเรียนกวดวิชาที่ฮิตระเบิดยืนยันได้ดี ด้วยเหตุพวกนี้ จึงทำให้ครูบางส่วน มิได้เน้นสอนกระบวนการคิด-การแก้ปัญหาอย่างควรจะเป็น
  • เรื่องสอบเข้ามหาวิทยาลัย แก้ยากจริงๆครับ ให้ดีก็คือใครอยากเรียนอะไรก็เข้าไปเรียนได้เลย ปีสองปีแรกไม่ไหว ก็ให้โอกาสเลือกเรียนใหม่ แต่คงเป็นไปได้ยาก เพราะข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ สภาพปัจจุบัน อย่างไรเสีย ผมว่าต้องเน้นไปที่ GPAX ลดการสอบให้มากที่สุด ถ้า GPAX มีปัญหา ก็ต้องหาวิธี อาจใช้หลักสถิติเทียบเคียงกับ ONET GAT แล้วค่อยแปลงมาเป็นคะแนนจริงๆ ดังที่เคยได้ยินนักวิชาการให้ความเห็น
  • เรื่องโรงเรียนใหญ่ๆ หรือมหาวิทยาลัย พยายามจะเลือกรับแต่เด็กเก่งๆ น่าคิดมากครับ ก็ไหนบอกว่าถ้าเอาเด็กแย่ๆ เกเรๆ ออกจากโรงเรียน กลับจะยิ่งสร้างปัญหาให้สังคม โรงเรียนต้องดูเด็ก ผมเองก็เห็นด้วยกับหลักคิดอย่างนี้ แต่ทำไมทีมหาวิทยาลัย แค่เพียงเหตุผลว่าเกรดไม่ถึงเกณฑ์เท่านั้น ก็เอาเด็กออกแล้ว เหตุการณ์อย่างนี้ โรงเรียนใหญ่ๆก็แอบทำเช่นกันครับ
  • ขอบคุณคุณnuiมากครับ

* โรงเรียนเขาเปิดสอนหลักสูตรมรดกโลกสำหรับชั้น ม ๑ กันไป ๑ สัปดาห์แล้วค่ะ  แต่ Pually ไปประชุมที่อื่นไง
* กลับจาก กทม.วันอาทิตย์เวลา ๐๔.๓๐ น. เริ่มงานอาสาสมัครฯ ด้วยการ Take Care คณะของเอเอฟเอสจากสำนักงานใหญ่ซึ่งพาคุณ Ilka Schmidt  มาศึกษาดูงาน ตั้งแต่ ๑๒.๒๐น. - ๒๑.๔๕ น.และต่อด้วยวันจันทร์อีกครึ่งวันเช้า แต่ได้สอนด้วยนะ  เป็นกิจกรรมทบทวนคำศัพท์จากเกมค่ะ

  
  
                           

  • งานของอ.K.Pually มากมายหลายอย่างจริงๆ เป็นผมคงมึนน่าดู โรงเรียนผมครูทำงานกัน ตั้งแต่จันทร์ที่แล้ว แต่นร.เพิ่งมาจันทร์นี้เอง เปิดเทอมใหม่ๆ คงยังสดชื่นอยู่ มีความสุขกับการสอนเด็กๆนะครับ 
  • ขอบคุณอ.K.Puallyครับ

ปัญหาการศึกษาไทย ต้องอาศัยครูที่มีอุดมการณ์แท้จริง

ของชื่มชมและเป็นกำลังใจครับ

เห็นด้วยทั้งคู่ครับ แล้วครูจะเอาไงกันดี

ยิ่งหลักสูตร ๕๑ มีอะไรให้ประเมินกันมากมายไปหมด

ปวดหัวที่สุดก็ตรงที่นักเรียนสมัยนี้ไม่ค่อยอยากจะเรียนกันเลย....

  • โอ้โฮ ! รวดเร็ว ททท=ทำทันที ยินดีต้อนรับครูปือ..ดีใจๆๆ
  • ครูเราทำอะไรมากมาย เสียจนไม่มีเวลาสอน แปลกมาก..ฮาๆๆ
  • เขียนบันทึกเลยนะครับ จะรอชม รออ่านเรื่องราวต่างๆของเด็กๆที่ตากฟ้า ยามที่พวกเขาได้เรียนฟิสิกส์ 
  • ขอบคุณครูปือครับ

    สวัสดีค่ะ

           มีโรงเรียนกวดวิชาทุกจังหวัดค่ะ ที่ลำพูนก็มี ครูผู้สอนรวยไปเลยค่ะ

                                         

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท