ตั้งคำถาม+จัดสถานการณ์+สร้างประสบการณ์ตรง = นักวิจัย+ถ่ายทอดสื่อสารเรียนรู้แบบบูรณาการ


...สิ่งสำคัญที่ทำให้การทำงานวิจัยแบบบูรณาการและเชื่อมโยงกับการระดมพลังปฏิบัติของชุมชน ของเรามีความคืบหน้ามากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากกระบวนการในการทำงานของทีม ซึ่งเป็นการวางแผนและการเรียนรู้ไปในตัว คือ ร่วมกันเข้าใจประเด็นข้างหน้า ตั้งคำถาม+จัดสถานการณ์+แล้วสร้างประสบการณ์ตรงด้วยการมีส่วนร่วมของตนเอง (Active Participation) ทำให้ทุกอย่างตั้งอยู่บนการเข้าใจ จะคิด ปฏิบัติ ถ่ายทอด สื่อสาร ก็เกิดจากการเห็นภาพ ...

     เมื่อช่วงวันศุกร์และวันหยุดที่ผ่านมา ผมไปร่วมจัดกระบวนการเวที วางแผนขับเคลื่อนเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพชุมชนแบบบูรณาการ ของทีมวิจัยสุขภาพกับเครือข่าย อสม และผู้นำชุมชน ของชุมชนคลองใหม่  อ.สามพราณ จ.นครปฐม  ได้เรียนรู้หลายอย่างที่น่าสนใจ

กระบวนการขับเคลื่อนประเด็นเวที   

        (1) บูรณาการข้อมูลและความรู้  ทีมนักวิจัยหลายสาขา และคนของพื้นที่  นับแต่ปลัดอำเภอ นายก อบต ปลัด อบต เครือข่าย อสม ประมวลความรู้และข้อมูลเชิงประจักษ์ มานำเสนอในเวทีชุมชน เพื่อปะติดปะต่อ-เรียนรู้ชุมชนไปด้วยกัน เป็นข้อมูลระดมความคิด และนำไปสู่การวางแผน

        (2) ค้นหาประเด็นร่วม ลำดับความสำคัญและวิเคราะห์ประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ บูรณาการหลายด้าน หลากหลายความต่างของระดับปฏิบัติ และเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย

        (3) วางแผนเครือข่ายปฏิบัติการ  เสร็จแล้วนำเสนอเวที ได้แผนปฏิบัติการเบื้องต้น สำหรับนำกลับไปประสานงานกันต่อไป

         ได้เห็นรูปแบบทางการปฏิบัติว่า เวทีเรียนรู้และทำแผนปฏิบัติการชุมชนอย่างมีส่วนร่วม  เป็นการจัดการผลการวิจัยที่อยู่ระหว่างดำเนินการ รวมทั้งเป็นการจัดการความรู้อย่างบูรณาการได้อย่างหนึ่ง ได้สะท้อนผลสู่ชุมชน  ได้สร้างศักยภาพชุมชน สร้างเสริมเครือข่ายจัดการการมีส่วนร่วมของชุมชนที่เอื้อต่อสุขภาพแบบบูรณาการ  ได้แผนปฏิบัติการ ซึ่งเป็นเครื่องมือกำกับให้ทรัพยากรและพลังการจัดการร่วมกันของชุมชน  มุ่งเน้นลงไปยังกิจกรรมป้องกันและสร้างสุขภาพ การออกแบบกระบวนการเวที การมีส่วนร่วมของประชาชน และตัวโครงการที่ได้จากเวที  ที่เกิดจากการวางแผนของชุมชนเอง  เป็นตัวบ่งชี้ความตื่นตัวและความมีจิตสำนึกสาธารณะที่มีแววว่าจะสามารถใช้เรียนรู้ไปกับชุมชนได้ดีทีเดียว

         อีกด้านหนึ่ง  การออกแบบและจัดกระบวนการต่างๆของเวที ดูมีพลังและสร้างสรรค์บรรยากาศเพื่อการคิดและแสดงออกกว่าเดิมมาก โดยเฉพาะการเตรียมเนื้อหา ข้อมูล  และสื่อ สำหรับการนำเสนอและสื่อสารข้อมูลบนเวที  ด้วยเวลาอันจำกัด (เรื่องละ 7-10 นาที ตั้งแต่เรื่อง ผลการวิเคราะห์สภาวะสุขภาพ  สิ่งแวดล้อม  ทุนทางสังคม  การจัดการสุขภาพผู้ป่วยเรื้อรัง การสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ  กิจกรรมและการดำเนินงานที่ฝ่ายต่างๆกำลังดำเนินการอยู่ และที่กำลังจะดำเนินการในอนาคต) ผมสนใจเรื่องอันดูเหมือนเล็กน้อยนี้ เนื่องจาก  ข้อมูลและความรู้ รวมทั้งการมีสำนึกร่วมทางสังคมของผู้คน  จะหมดความหมายและไม่สะท้อนไปสู่การจัดการความเปลี่ยนแปลงของชุมชนไปเลย หากสื่อสารและถ่ายทอดสู่การเรียนรู้ร่วมกันไม่ดี

         นักวิจัยจากหลายคณะ ต่างเตรียมสื่อและการนำเสนอของตนเองได้ดีมาก ทั้งเตรียมด้วยตนเองและช่วยกันทำ  ตอนนี้ ทั้งทีม ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์และนักวิจัยจาก คณะเทคนิคการแพทย์  คณะพยาบาลศาสตร์  สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน  สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ของมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นนักจัดการความรู้ด้วยเวทีชุมชนร่วมกันทั้งทีม

         เมื่อเสร็จงานแล้ว  การนั่งทบทวนและถอดบทเรียนร่วมกัน  ยิ่งทำให้ได้ทั้งความสำเร็จและการเรียนรู้ สิ่งสำคัญที่ทำให้การทำงานวิจัยแบบบูรณาการและเชื่อมโยงกับการระดมพลังปฏิบัติของชุมชน ของเรามีความคืบหน้ามากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากกระบวนการในการทำงานของทีม ซึ่งเป็นการวางแผนและการเรียนรู้ไปในตัว คือ ร่วมกันเข้าใจประเด็นข้างหน้า ตั้งคำถาม+จัดสถานการณ์+แล้วสร้างประสบการณ์ตรงด้วยการมีส่วนร่วมของตนเอง (Active Participation)  ทำให้ทุกอย่างตั้งอยู่บนการเข้าใจ  จะคิด ปฏิบัติ ถ่ายทอด สื่อสาร ก็เกิดจากการเห็นภาพ

หมายเลขบันทึก: 30227เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2006 17:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ประเด็น ค้นหาประเด็นร่วม   น่าสนใจมากครับ ผมมมองว่า การนำเรื่องราวต่างๆ มาเชื่อมร้อย จะทำให้เราเห็น เส้นทางการทำงานที่สอดคล้องกัน หากมองในภาพรวมแขนงน้ำสายย่อย รวมเป็นแม่น้ำสายใหญ่ ทรงพลังและยิ่งใหญ่ดีครับ

กระบวนการในขั้นตอนนี้น่าสนใจครับ ...หากอาจารย์กรุณาขยายความให้เห็นรายละเอียด จะเป็นพระคุณอย่างสูงครับ

บังเอิญแวะเข้ามา ถึงได้รู้ว่าคุณจตุพรเข้ามาโพสต์ไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ดูระยะเวลาแล้ว หลังจากนั้นเป็นต้นมา คุณจตุพรก็มีประสบการณ์เพิ่มพูนขึ้นอีกมากมาย แล้วเดี๋ยวนี้ก็เป็น Ph.D.Scholar สาขาประชากรศึกษา ของคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลไปแล้ว ตอนนี้เลยไม่ต้องตอบแล้วละ

คุณจตุพรเลือกทำปริญญาเอกในสาขาที่เหมาะกับประสบการณ์ตนเองและเหมาะกับวิถีการทำงานที่มักเข้าไปมีส่วนร่วม มากเลยทีเดียว การวางแผนและพัฒนาพลเมือง-ประชากร รวมทั้งยุทธศาสตร์การถือเอาคน ชุมชน และการวางแผน-พัฒนาทางประชากร ให้เป็นทั้งเป้าหมายการพัฒนาและเป็นปัจจัยหลักของการแก้ปัญหา หากได้จุดยืนและวิธีมองที่อิงอยู่กับประสบการณ์เชิงพื้นที่ของประเทศ อีกทั้งมีความเป็นบูรณาการของศาสตร์หลายสาขาอย่างของคุณจตุพร  เชื่อว่าจะทำงานต่างๆได้มากมาย ขอให้สนุกและมีความสำเร็จ ได้ใช้ความรู้ความสามารถในการทำงานในอุดมคติ แล้วก็ได้ความงอกงามในชีวิตทุกเมื่อนะครับ

สวัสดีครับ อาจารย์ครับ...

บังเอิญอีกเช่นกันที่ผมเวียนกลับเข้ามาอ่านบันทึกของอาจารย์อย่างจดจ่ออีกครั้ง

ประสบการณ์ที่ได้รับมาก็เหมือนว่ายังไม่พอครับ ผมก็พอที่จะค้นพบจุดอ่อนของตัวเองว่า อ่านน้อยลงไปมาก ผมเข้าใจดีว่าการอ่านหนังสือเป้นการอ่านความคิด แม้ว่าจะเป็นผลึกคววามคิดจากผู้อื่น แต่ก็มีผลให้ผมได้คิดต่อ เเละต่อยอดในการทดลองทำจริงตลอดเวลา

พอมาเรียนในระดับนี้ ก็มองว่า ทุกอย่างยังขาดอีกมาก และผมก็ดีใจครับที่ตัวเองได้มาเรียนในสาขาที่ชอบ รวมถึงเนื้อหาและเป้าประสงค์ของศาสตร์ที่สนใจ ก็รวมไปถึงตอบสนองความต้องการของตนเองในอนาคต

ช่วงหลังผมเริ่มอ่านหนังสือที่หลากหลายศาสตร์มากขึ้น โดยเฉพาะแนวคิด ทฤษฎี พยายามมองให้เชื่อมโยงกับสิ่งที่ผมเคยได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเอง

ผมเริ่มเห็นว่า เรามีประเด็นมากมายที่เราสนใจ และมีประเด็นมากมายที่สังคมโดยเฉพาะประเทศไทยเรายังต้องเพิ่ม พัฒนา และ รองรับการแก้ไขปัญหาในอนาคต เป็น emerging issue ที่น่าสนใจ รูปแบบและแนวทางในการวางแผนรับมือกับอนาคตของสังคมไทยเรายังไม่พอ หากผมเปรียบเทียบก็รวม ๑ ใน ๔ 

เราทำได้ แค่ ๑ ส่วน ทั้งๆที่ เราน่าจะวางแผนรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้เต็มที่ ทั้ง ๔ ส่วน ผมกำลังมองว่า เราขาดอะไร?(ตรงนี้ผมมองในฐานะ นศ.ที่สนใจศึกษาประเด็น ประชากร)

หากเป็นเช่นนี้ ในอนาคตเราคงรับมือกับความเปลี่ยนแปลงไม่ได้แน่ๆ แต่ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นก็คือ ปัญหาที่เปลี่ยน เงื่อนไขที่เเตกต่าง ซับซ้อน เมื่อเวลาผ่านไป ที่น่าเป็นห่วงคือ ศาสตร์ที่เราจะใช้พัฒนา ขับเคลื่อน (แก้ไข พัฒนา) นั้น ดูเหมือนจะช้ามากกว่าที่ควรจะเป็น

 

กำลังเตรียมให้พอดี คิดว่านำมาเผยแพร่ไว้ก็ดีเหมือนกัน เผื่อคนอื่นจะได้นำไปใช้  เป็นวิธีที่ง่าย มีพลังต่อการสร้างการมีส่วนร่วมและทำให้การวิจัย เป็นทั้งการสร้างความรู้ จัดการความรู้ และสร้างชาวบ้าน-ชุมชนให้เข้มแข็งในเรื่องวิธีเรียนรู้ที่อยู่ในวิถีชีวิตของเขา ผสมผสานกับวิธีการที่เพิ่มความคุ้นเคยกับคนภายนอกและโลกสมัยใหม่ที่จำเป็นต้องได้วิธีเรียนรู้ วิชาหนังสือ (การอ่าน เขียน คิด และถ่ายทอดความรู้เป็นตัวหนังสือ-การเขียน)

เป็นการรวิจัยที่สร้างความรู้ผสมผสานกับการปฏิบัติการเชิงสังคม  ทำให้เป็นการพัฒนาสังคม ประชากร และพลเมือง ไปด้วย ฐานรากของสังคมฐานความรู้จะหยั่งรากถึงวิถีวัฒนธรรมทางปัญญาแบบรวมหมู่ ซึ่งเป็นพื้นเพที่เข้มแข็งของสังคมไทย

วิธีการก็ไม่ยากครับ เป็นการผสมผสานกระบวนการที่สำคัญ ๕ เรื่องคือ

  • การวิจัยเชิงคุณภาพ บางครั้งก็จำเป็นที่จะต้องผสมผสานการวิจัยเชิงปริมาณเข้าช่วยด้วย แต่เน้นให้ชาวบ้านเข้าถึงได้
  • การวิเคราะห์ สังเคราะห์ และวาดภาพมโนทัศน์ (Conceptual drawing)
  • การวาดรูปและการวาดเขียนให้คิดเป็นภาพ
  • การจัดการความรู้และการจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม
  • การเป็นนักวิจัยและผู้จัดกระบวนการปฏิบัติการเชิงสังคมเพื่อการวิจัย

กระบวนการ ระเบียบวิธี และวิธีการที่สำคัญ

๑. จัดเวทีประชาคม เพื่อขับเคลื่อนการเรียนรู้และสร้างความรู้อย่างมีส่วนร่วม ซึ่งในระยะนี้ อย่างที่คุณจตุพรถาม เป็นขั้นค้นหาประเด็นร่วมการวิจัย และตั้งคำถามการวิจัย เพื่อสร้างความรู้อย่างมีส่วนร่วมของชาวบ้าน เป็นขั้นตอนของ Participatiory Research issues and research question formulation เท่ดีไหมครับ เป็นกระบวนการให้ชุมนสามารถค้นหาประเด็นจากความฟุ้งๆ สะเปะสะปะ เพื่อตั้งคำถาม และนำไปสู่การคิดและสร้างความรู้อย่างเป็นระบบทีละนิดๆ.... ตั้งคำถามได้ในขั้นนี้  สำคัญและสร้างการคิดอย่างเป็นระบบมากกว่านำความรู้มาบอกเสียอีก

๒. ทำบอร์ด กระดาษระดมความคิด เหมือนกับการจัดเวทีทำงานประชาคม หรือการทำงานเป็นกลุ่มๆแบบทั่วไป

๓. เขียนคำถามการวิจัย แทนที่จะทำเป็นแบบสัมภาษณ์และข้อคำถามย่อย ถือว่าเป็นเครื่องมือการปฏิบัติการวิจัย ซึ่งในกรณีอย่างนี้ ชาวบ้านจะไม่ใช่เพียงแค่ Key informant และ Research objects อีกแล้ว แต่เป็นนักวิจัยทั้งกลุ่มเลย  ต้องคิด สร้างเครื่องมือ แล้วก็ใช้เครื่องมือเพื่อเป็น Self assessment เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ สรุป และจัดการควาามรู้ด้วยตนเองไปอย่างตลอดรอดฝั่ง  และนักวิจัยกับทีม ก็ไม่ใช่ผู้รู้และผู้ทำบทบาทเพียงสัมภาษณ์ แต่เป็น Research Process Facilitator  ซึ่งต้องทำงานทั้งหมดอย่างที่เคยเป็นนักวิจัยปรกติ แต่ต้องเพิ่มศักยภาพในการเป็นกระบวนกร นักจัดการและนักถ่ายทอดสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ขึ้นมาด้วย ที่สำคัญคือ ตลอดกระบวนการ ต้องเป็นนักเรียนและคนทำงานไปด้วยกับชาวบ้าน เสมอกันในแนวราบ

๔. ช่วยกันโยนความคิดออกมาตอบคำถามอย่างมีส่วนร่วม จัดบบรรยากาศ  ทำให้ทั้งกลุ่มมีความนิ่ง เจริญสติและภาวนาเพื่อมองเข้าไปในประสบการณ์ตนเอง เรียนรู้เข้าไปในตนเอง อ่านประเด็นคำถามให้ฟังและจัดสิ่งช่วยการคิดและแสดงออก เช่น  หาดชาวบ้านพูดเป็นก็จัดเวทีและไมค์ให้พอ พูดไม่เก่งก็เน้นใช้บัตรคำ กระดาษเขียน และแบ่งกลุ่มเล็กๆ ให้ทำงานได้ แล้วก็ให้เขียนไปอย่างไม่ต้องกลัวผิดถูก ใส่เต็มที่

๕. เข้ารหัส เทคนิคเช่นเดียวกับการทำวิจัยเชิงคุณภาพโดยทั่วไป  แต่แทนที่จะใช้ความรู้ของนักวิจัยและทฤษฎีภายนอกอย่างเดียว ก็ใช้ความรู้จากประสบการณ์เพื่อให้ชาวสบ้านเดินออกจากสิ่งที่ตัวปัญญาและประสบการณ์ชีวิตมันบอกเขาทุกวันๆอย่างนั้น หากจะผสมผสานความรู้และการเรียนรู้ ก็ออกแบบให้มีขั้นตอนของ Theoretical reflection สอดแทรกและเสริมงานทบทวนวรรณกรรม ไปกับขั้นตอนนี้ จะเป็นการประชุมความรู้และทำงานเชิงทฤษฎีที่มากกว่าการทำงานวิจัยแบบทั่วไป ซึ่งตรงกันข้ามกับที่งานวิจัยโดยทั่วไปมักมองว่าเป็นกิจกรรมการพัฒนาที่ไม่ใช่การวิจัย อีกด้วย ความเข้มแข็งของงานวิจัยแนวนี้จะอยู่ตรงนี้ ซึ่งในอนาคตต้องพัฒนากันให้มากๆยิ่งๆขึ้น

ทำไปก็ปรึกษาหารือ แล้วก็ทำข้อสรุปกันไป ชาวบ้านและชุมชน จะเห็นการเติบโตและความเป็นระบบมากขึ้นเรื่อยๆ กระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ และยุทธศษสตร์การคิด เกิดจากการปฏิบัติไปเลย โดยไม่ต้องบรรยายโดยนักวิจัยว่ามันคืออะไร แต่ชาวสบ้านได้ทำ เห็น แล้วก็ใช้งานมันเลย เป็นการสร้างประสบการณ์ทางความรู้  ดีกว่าเราสร้างแล้วจัดการกลับไปให้ชาวบ้าน ซึ่งจะกลายเป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของคนภายนอก  ซึ่งบางเรื่องจะไม่เหมาะสมเท่ากับทำกันเองของชาวบ้านนั่นแหละ

๕. จัดหมวดหมู่ วิเคราะห์และจัดหมวดหมู่ตามเกณฑ์ที่ให้รหัส

๖. ได้กรอบแนวคิดและประเด็นเชิงมโนทัศน์ เห็นความเป็นระบบผุดขึ้นจากความไร้ระเบียบ

๗. วิเคราะห์ประเด็นร่วม  วิเคราะห์ เรียนรู้ และทำ Theoretical Reflection เพื่อให้ทั้งเวทีอยู่กับสิ่งที่เห็น คิดให้แยบคาย เรียนรู้

๘. ให้วิธีคิดและสร้างแนวทรรศนะเชิงบวกเสียใหม่ แทนที่จะมองเห็นแต่ปัญหา ก็เห็นจุดเริ่มต้นที่จะตั้งคำถามเชิงบวกแก่ตนเองใหม่ ความเปลี่ยนแปลงและการหยุดปัญหาจากโลกภายนอก ก็มีฐานการเริ่มต้นได้ตั้งแต่ได้วิธีคิดและจิตสำนึกใหม่ต่อตนเองและต่อสังคมท้องถิ่นของตน

พอเห็นภาพนะครับ

กระบวนการและวิธีการนี้ เป็นกระบวนการที่มาจากประสบการณ์ของกลุ่มประชาคมวิจัย สร้างองค์ความรู้ท้องถิ่นอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ผู้เชี่ยวชาญที่คุณจตุพรจะสามารถรเรียนรู้และแลกเปลี่ยนได้ก็อยู่ใกล้ๆนั่นแหละครับ คือ รศ.ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย  รศ.ดร.ศภวัลย์ พลายน้อย รศ.ดร.ประภาพพรรณ อุ่นอบ รศ.ดร.ธีรเดช ฉายอรุณ ผศ.ดร.อุทัยทิพย์ แล้วก็ในคณะสังคมฯนั่นแหละครับ คือ ผศ.ปุสตี มอนซอน ตัวจริงเสียงจริงทั้งทีมเลย

 

 

วิธีการแบบนี้ เป็นการจัดการความรู้แบบ Tacit Knowlege ของชาวบ้านเป็นกลุ่ม เป็นการวิจัยอย่างมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ทำให้การรวมกลุ่มเป็นองค์การจัดการ ทำให้ความแตกต่างหลากหลายกลายเป็นศักยภาพของภาวะผู้นำแบบรวมหมู่ 

อีกทั้งเป็นวิธีจัดการความขัดแย้งให้เป็นการเพิ่มพลังทางปัญญาการแก้ปัญหา ช่วยยกระดับให้ชุมชนเดินออกจากสิ่งที่เห็น รู้ และมีคนทำได้อย่างนั้นจริงๆอยู่ในชุมชน ใช้ได้ดีสำหรับการพัฒนาอยู่ตลอดเวลาแบบ Inside-out development รวมทั้งแนวการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำไปใช้ตามอัธยาศัยเลยครับ ทำง่าย และเห็นวิธีคิดได้ง่าย ตอนแรกๆอาจจะยากหน่อย แต่ต้องให้เวลา

เมื่อทำจนมีความเป็นธรรมชาติแล้ว กลุ่มปัจเจกและชาวบ้าน จะมีลักษณะเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้แนวประชาคมครับ เดี่ยวๆก็เก่ง เฉียบ รวมกลุ่มก็มีวัฒนธรรมทำงานเป็นทีม.

อาจารย์ครับ...

แจ่มแจ้งดีจังเลยครับ...รู้สึกมีความสุข และมีพลังใจทุกครั้งที่ได้มาอ่านบันทึกรวมไปถึงข้อเสนอแนะอาจารย์ที่ให้ผมและผู้ที่สนใจทุกเม็ด

ผมประทับใจมาก..

ผมขอถือโอกาสนี้ นำข้อเสนอแนะอาจารย์นำไปที่ ห้องเเลกเปลี่ยนเรียนรู้ของ popeduspace ด้วยนะครับ เพื่อให้เพื่อนๆได้อ่านพร้อมกับผมไปด้วย

ผมดีใจครับที่ มีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวประชากร และครูของผมทั้ง ๗ ท่าน รศ.ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย  รศ.ดร.ศภวัลย์ พลายน้อย รศ.ดร.ประภาพพรรณ อุ่นอบ รศ.ดร.ธีรเดช ฉายอรุณ ผศ.ดร.อุทัยทิพย์ แล้วก็ในคณะสังคมฯนั่นแหละครับ คือ ผศ.ปุสตี มอนซอน รวม อ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ด้วย ทำให้ผมต้องอุทานในใจว่า "ผมโชคดีจังเลย"  นะครับ

 ขอบพระคุณมากๆครับ

  • อันที่จริงผมได้ปรับปรุงแล้วก็เพิ่มเติมรายละเอียดบางส่วนให้เห็นแง่มุมเล็กๆน้อยๆได้ดีขึ้นนะครับ ลองโพสต์ให้ใหม่แล้ว แต่คงจะเป็นจังหวะชนกับที่คุณจตุพรโพสต์พอดี เลยหายแซ๊บไปหมดเสียแล้ว เรียกกลับมาก็กลายเป็นอันเดิมพร้อมกับ dialogue ของคุณจตุพรอีกบ๊อกซ์หนึ่ง
  • หากคุณจตุพรบอกว่าพอจะเห็นกระบวนการและเข้าใจแล้วก็คงพอแล้วเนาะ  หากเขียนเพิ่มอีกก็คงจะไปเผยแพร่ในแหล่งอื่นแล้วละ
  • เพิ่มเติมให้นิดหนึ่งเพื่อจะได้เชื่อมต่อกับการทำงานทั่วไปของเวทีชุมชนก็แล้วกันนะครับ
  • พอได้ประเด็นแล้ว หากเป็นการวิจัยสร้างความรู้  ก็จะเป็นหัวข้อและกรอบการระดมสร้างความรู้อย่างมีส่วนร่วม  เช่น ในตัวอย่างนี้ ก็จะเป็นหัวข้อการวิจัยชุมชนของชาวบ้านในเรื่อง ๑) ทุนทางสังคมด้านสุขภาพและสาธารณสุข ๒) ทุนทางเศรษฐกิจและทุนทางสังคม  ๓) นาบัวกับชุมชนพุทธมณฑล ....ในแต่ละหัวข้อ ก็จะเห็นหัวข้อย่อยๆที่ใช้เป็นขอบเขตการวิจัยไปได้เลย
  • หากเป็นการพัฒนาโครงการและแผนปฏิบัติการ ก็จะได้ประเด็นร่วมเพื่อนำไปสู่วงจรการทำแผนปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมต่อไป  ขั้นตอนนี้คนทั่วไปก็จะคุ้นเคยอยู่แล้ว  ซึ่งจากตัวอย่าง เราก็จะได้ประเด็นร่วมที่ครอบคลุมทั้งหมด เพื่อใช้เป็นชื่อโครงการว่า..... การวิเคราะห์ศักยภาพและทุนทางสังคมของชุมชน.....
  • การเกลาประเด็นให้ออกมาได้ในลักษณะนี้ จะเห็นว่า มิใช่เป็นเพียงกิจกรรมธรรมดาๆ แต่จะเป็นเหมือนการได้วิธีคิดใหม่ ต่อความเป็นจริงของชุมชนด้วย เช่น แทนที่จะเป็นการสำรวจให้งานวิจัยสะท้อนแต่ปัญหาเต็มไปหมด ทุกคนเป็นคะแนนความทุกข์และตัวแทนเสียงสะท้อนปัญหา แล้วก็ไม่นำไปสู่การทำอะไรกันได้ ก็เปลี่ยนวิธีคิดมาเป็นการค้นหาด้านที่เป็นศักยภาพและทุนทางสังคมของตน ได้ความซาบซึ้งและเกิดความเชื่อมั่นตนเอง ทุกคนเป็นคะแนนของสินทรัพย์และความมั่งคั่ง ที่ชุมชนมีอยู่เป็นทุนทางสังคม  ให้สำนึกต่อสังคมที่ต่างกันมากเป็นอย่างยิ่ง
  • กิจกรรมและโครงการที่ได้จากการวางแผนนั้น ในขั้นต่อไปก็จะมีบทบาทสำคัญ ๒ ส่วน คือ ด้านหนึ่งนักวิจัยชาวบ้านหรือกลุ่มประชาคมวิจัยของชุมชน ก็ใช้ทำงานจริงๆ ให้เป็นกิจกรรมการพัฒนาชุมชนหรือเคลื่อนไหวภาคสาธารณะ
  • แต่อีกด้านหนึ่ง ในแง่การวิจัยแล้ว เราก็ต้องเก็บรวบรวมเป็นข้อมูลสำหรับวิเคราะห์ยุทธศาสตร์การคิดและสิ่งสะท้อนการเรียนรู้ตนเองของชุมชน เพราะแต่ละหัวข้อย่อยๆในกรอบกิจกรรมการวางแผน มันเป็นวิธีคิดอย่างมียุทธศาสตร์นั่นเอง (นึกภาพหัวข้อการเขียนโครงการและการวางแผนปฏิบัติการไปด้วยนะครับ คือ.....วิธีคิดเกี่ยวกับเหตุผลและความจะเป็น วิธีคิดต่อการสร้างจุดหมายและวัตถุประสงค์ วิธีคิดต่อวิธีดำเนินการ และการออกแบบกระบวนการ.....ฯ )  เมื่อถึงตอนวิเคราะห์ ก็จัดเวทีระดมพลังวิเคราะห์เป็นกลุ่มอีก

ข้อดีและสำคัญมากของกระบวนการอย่างนี้ก็คือ เป็นการวิจัยและสร้างความรู้ รองรับกระบวนการทางสังคมที่.............

         (๑) ไม่มีการเลือก ไม่อยู่ในวิธีคิดแบบเป็นขั้ว และไม่มีนัยที่บอกว่าอะไรสำคัญกว่าอะไร  เราจะเห็นบทบาทต่อการทำหน้าที่ของความรู้ในการเชื่อมโยงให้เห็นว่า ทุกอย่างเกี่ยวข้องและส่งเสริมเกื้อหนุนกันอย่างไร สะท้อนการเกิดทรรศนะที่เห็นประชากรและพลเมืองทุกคน ว่าเป็นทุนมนุษย์และทุนทางสังคมที่สำคัญที่สุดทุกคน 

          (๒) ทุกคนและทุกข้อเสนอจากเวทีมีความหมาย มีความสำคัญเฉพาะตน  ต่างมีที่ยืนเหมือนกันหมด ความรู้และหลักการที่สังเคราะห์ขึ้นมาได้ จึงเป็นหลักการหรือฐานทฤษฎีรองรับทุกคนที่เกี่ยวข้อง (Grounded Theory) ใช้ชั่วคราวในบริบทการทำงานนั้นๆ เสร็จแล้วก็เริ่มวงจรนี้ใหม่ แล้วค่อยยกระดับไปเรื่อยๆ ค่อยทำ ค่อยเรียนรู้ ถอดบทเรียน และสะสมไปอย่างเป็นส่วนหนึ่งของชุนแห่งการเรียนรู้

          (๓) การสร้างกรอบทฤษฎีเป็นกรอบทฤษฎีของผู้ปฏิบัติ  ผู้มีส่วนร่วมและผู้เกี่ยวข้อง สามารถใช้ปัญญาและประสบการณ์ทำความเข้าใจได้มากกว่าการใช้ทฤษฎีและความรู้ภายนอกเป็นศูนย์กลาง ทำให้งานวิจัยแบบนี้ สอดคล้องกับปรัชญาสำคัญของการทำงานที่ใช้คนและชุมชนเป็นตัวตั้งที่ว่า... เริ่มจากที่ชุมชนรู้ และเดินออกจากจุดที่ชุมชนเป็น.... (ศาสตราจารย์ วาย เจมส์ ซี เยน นักวิชาการพัฒนาชนบทชาวจีน รางวัลแมกไซไซ และศาสตราจารย์นายแพทย์ ดร.กระแส ชนะวงศ์ อดีตผู้อำนวยการสถานบันพัฒนาการสาธารณุสขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดลและหมอแมกไซไซ)

          (๔) สนองตอบต่อการเรียนรู้และสร้างความรู้แบบ Problem Solving-Based บูรณาการมิติการทบทวนความรู้และเชื่อมโยงทฤษฎีผู้ปฏิบัติกับทฤษฎีที่เป็นสากล โดยใช้ประเด็นเชิงวิชาการที่เกิดขึ้นจากการทำงานจริงเป็นตัวตั้ง ใช้ความรู้และงานวิชาการที่พอเหมาะพอควรกับขั้นการทำงาน ไม่ใช่ใช้ความรู้เป็นตัวตั้ง

          เรื่องใดไม่ได้เกิดเป็นประเด็นและชาวบ้านยังไปไม่ถึง ก็ยังไม่ต้องใช้ความรู้ให้เกินความจำเป็นต่อเรื่องนั้น  ไม่เหมือนกับการเดินด้วยการทบทวนวรรณกรรมและใช้ความรู้เป็นตัวตั้งในทุกกรณีของการวิจัยที่เน้นบทบาทนักวิจัยภายนอก.

เรียน อ.ดร.วิรัตน์ ที่เคารพ ครับ

ต้องขอบคุณท่านอาจารย์มากที่ได้เขียนรูปแบบ แนวทาง ที่ชัดเจนมากเลยครับ ทำให้ผมนึกภาพออกจากเวทีชุมชน จนถึงการแก้ไขปัญหา บนองค์ความรู้ของชุมชน

ในช่วงปี ๔๓ - ๔๙ ที่แม่ฮ่องสอน ผมได้คลุกกับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นมากเลยครับช่วงนั้น จากคนทำวิจัย เป็นพี่เลี้ยงนักวิจัย และเป็นที่ปรึกษา หนุนเสริม Node สกว.ที่เเม่ฮ่องสอน ประสบการณ์ที่แม่ฮ่องสอน ได้เปลี่ยนกระบวนทัศน์ผมหลายเรื่องทีเดียว

ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดเล็กๆที่มีการขับเคลื่อนงานวิจัยที่เป็นระบบ และงานวิจัยส่วนใหญ่ เป็นงานที่สอดคล้องกับบริบท แก้ปัญหา เสริมศักยภาพ ได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่เราภูมิใจมากก็คือ เราเกิดนักวิจัยชาวบ้านมากมาย เป็นการพัฒนาแบบ "ยกแผง" ที่ผมคิดว่า ตรงนี้เป็นการติดอาวุธ ให้กับชุมชน ด้วยการช่วยกันเรียนรู้วิธี "หาปลา"

เรียกได้ว่าผมเติบโตจากงานตรงนี้ก็ว่าได้ครับ

เราได้กำหนด กระบวนทัศน์ ในการทำงานครั้งนั้น เริ่มจาก การตีควาหมายของคำหลักก่อน เพื่อให้ยุทธศาสตร์การเคลื่อนงานวิจัยที่นั่นชัดเจน และ อยากไปให้ถึงเป้าหมายที่เราตั้งไว้

งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.แม่ฮ่องสอน

๑. เป็นโจทย์ของชุมชน เป็นโจทย์ปัญหาที่ชุมชนอยากจะทำ เป็นปัญหาของชุมชน เพราะหากชุมชนอยากทำจริงๆแล้ว ชุมชนก็มี "ฉันทะ" ในการทำงานวิจัย ตรงนี้เป็นด่านปราการแรกที่สำคัญ เราให้ความสำคัญกันมากครับ

๒.ชุมชนทำวิจัยเอง  โดยทั่วไป คำว่า "วิจัย" เป็นคำใหญ่ เป็นคำที่ถูกสถาปนาให้น่าเชื่อถือ เกรงขาม สำหรับนักวิชาการ ครูบาอาจารย์เท่านั้น ชาวบ้านทำได้จริงหรือ ? ตรงนี้เป็นคำถาม

งานตอบคำถามเหล่านี้เป็นการงานหนัก ต้อง "ถอดถอน" อย่างหมดจดจากความคิดเก่าๆ ให้ความเชื่อมั่น เชื่อใจ และพัฒนาศักยภาพนักวิจัยชาวบ้านอย่างเป็นระบบ สุดท้าย เรามีนักวิจัยชาวบ้านที่เก่งๆ สามารถเรียนรู้และ ทำงานวิจัย ตอบโจทย์ของตนเองได้ และที่สำคัญ แก้ไขปัญหาได้ ต่อยอดพลังความคิด และ เกิดเวทีเรียนรู้มากมาย

๓.การมีส่วนร่วม  งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จำเป็นอย่างยิ่งต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมจากหลายฝ่ายครับ  เป็นกระบวนการให้ความรู้สึกเป็นเจ้าของให้กับชุมชน เจ้าภาพร่วมกัน

๔. พัฒนา และ ยกระดับความรู้ท้องถิ่นการให้ความสำคัญกับบริบท อันเป็นฐานความรู้ที่จะเป็นฐานในการพัฒนาต่อยอด  งานวิจัยเปิดพื้นที่ให้ชุมชนได้ทบทวนทุนของตัวเองในทุกมิติ เมื่อเห็นตัวเอง ก็รู้ตัวเอง วิเคราะหฺตนเองได้ ทีนี้ กิจกรรมต่อเนื่องที่เป็นงานพัฒนาก็ขยับตามทุนที่มีอยู่

๕. เน้นสร้างคนมากกว่าสร้างความรู้ นี่ก็ทวนกระแสวิจัยหลัก ที่แม่ฮ่องสอน เราเน้นสร้างคน สร้างเครือข่าย ช่วงกหลังเรามีเครือข่ายนักวิจัยแม่ฮ่องสอน  เครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนแม่ฮ่องสอน เป็นเครือข่ายที่มีพลังอย่างมาก

๖. การเสริมพลังอำนาจชุมชน เป็นเป้าหมายที่เป็น Ultimate goal

 

จากฐานคิด ๖ ข้อนี้ ทำให้เรารุกต่อ ด้วยกระบวนการพัฒนาในพื้นที่ โดยเน้น การวิเคราะห์ตนเองก่อนเป็นหลักครับ

ประสบการณ์ผม ผ่านงาน foodbank ที่ไปเป็นวิทยากรในช่วงนั้น เราใช้เวทีเรียนรู้ เเบ่งเป็นเวทีแต่ละช่วงเวลา

ในช่วงเเรกก็วิเคราะห์ตนเอง โดย ค้นหาของดี ๔ ระบบ

- ระบบชุมชน

- ระบบทรัพยากร

- ระบบความรู้

- ระบบเหนือชุมชน

ซึ่งทั้ง ๔ ประเด็น จะเป็นตัวกำหนด เป็นปัจจัยเอื้อ หรือขัดขวาง การเสริมพลังอำนาจชุมชน

เวทีเรียนรู้ตัวเองในเวทีเเรกๆก็ ค้นทั้ง ๔ ระบบนี้ก่อนที่จะทำแผนชุมชน

อาจช้าบ้างแต่ ได้ผลเป็นอย่างดี เพราะเมื่อชาวบ้านรู้ตนเอง รู้ทุน รู้จุดอ่อน ก็สามารถวางแผนการแก้ไขปัญหา และ การต่อยอดศักยภาพ ต่อไปได้ อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับบริบทของพวกเขา

ในโอกาสต่อไปจะขอแลกเปลี่ยนกับอาจารย์นะครับ ว่ากระบวนการเรามีอย่างไร และ เราได้แผนอย่างไร ที่สุดแล้วชุมชนได้พัฒนาอะไรบ้าง?

 

---

ขอบคุณครับ ผมขอต่อยอดเท่านี้ก่อนนะครับ

 

  • แม่ฮ่องสอน รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงตามชายแดนภาคตะวันตก เช่น แม่สอด ตาก มีทุนทางสังคมและลักษณะเฉพาะทั้งทางด้านเศรษฐกิจตามแนวชายแดน และด้านสังคมวัฒนธรรม รวมไปจนถึงวัฒนธรรมของคนกลุ่มน้อยซึ่งหลากหลายมาก ทำให้มีศักยภาพ และจะว่าไปแล้ว อาจจะเป็นความจำเป็นจำเพาะบริบทของตนที่ไม่เหมือนใครหลายอย่าง ซึ่งถ้าหากเป็นการพัฒนาในอนาคตที่พึงประสงค์ของตน รวมทั้งเรียนรู้และพัฒนาขึ้นจากวิสัยทัศน์ของตนเอง ก็จะเป็นเมืองชายแดนที่ไม่เพียงทำเรื่องสุขภาวะของท้องถิ่นได้แปลกๆใหม่ๆ เป็นตัวของตัวเองได้เท่านั้น ทว่า อาจจะเป็นการพัฒนารูปแบบของชุมชนเมืองตามแนวชายแดน หรือชุมชนแบบไร้กรอบพรมแดน ที่ดีมากๆก็ได้ หลายภูมิภาคของโลกกำลังเป็นเรื่องสำคัญ และสำหรับประเทศไทยก็น่าจะเป็นแนวทางการพัฒนาตัวเองกับประเทศเพื่อนบ้าน 
  • แต่กว่าจะมีผลออกมาอย่างนี้  ผ้คนและชุมชนคงต้องบ่มประสบการณ์ทางสังคมและกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ยาวนานอีกมาก อาจหลายชั่วอายุคน หรือไม่ก็รอให้เกิดวิกฤติ ทั้งระดับท้องถิ่น และระดับความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนมากยิ่งๆขึ้นของระหว่างประเทศและที่มากับพลังของโลกาภิวัตน์ ที่ส่งผลกระทบมากๆเสียก่อน
  • การวิจัยและปฏิบัติการเชิงสังคม ผมว่าเป็นวิธีที่มีเหตุมีผล มีกระบวนการทางปัญญา และมีวิธีการจัดการโดยวิธีการความรู้ที่ให่สติและตัวปัญญาแบบสาธารณะที่ดีสำหรับการสร้างและบ่มเพาะประสบการณ์ต่อสังคม ทำให้พลเมืองและชุมชน ตลอดจนกลุ่มประชากรกลุ่มต่างๆ ได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม ซึ่งทางประชากรศึกษาจะทำให้เราได้พลเมืองที่มีคุณลักษณะสำคัญ ๒ อย่างคือ (๑) Informed participant (๒) Readiness population ซึ่งจะทำให้มีภาวะการคิดและตัดสินใจต่อเรื่องต่างๆในกระบวนการทางประชากร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเกิด ตาย ย้ายถิ่นเข้า-ออก การตั้งถิ่นฐานบ้านช่อง การทำอยู่ทำกิน การวางแผนและพัฒนาครอบครัว ตลอดจนต่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและปฏิรูปสังคมของตน ดีขึ้น สุขภาวะจะดีขึ้นจากพลเมืองที่มีโอการเรียนรู้และเกิดศักยภาพ-ความพร้อมต่อการมีส่วนร่วมในฐานะ actived citizen อย่างนี้  เครือข่ายการทำงานอย่างคุณจตุพรทำเลยจะเป็นพื้นฐานที่ดีที่สามารถยกระดับและพัฒนาไปสู่แนวทางสำหรับขับเคลื่อนภาคสาธารณะของท้องถิ่นนะครับ
  • เมื่อถึงระดับหนึ่ง ก็อาจจะลองซ้อมๆ การเริ่มยกระดับให้เชื่อมต่อกับเรื่องการเคลื่อนไหวภาคสาธารณะของสังคมและการบริหารจัดการความเปลี่ยบแปลง เพื่อให้ Well educated และ Informed Population ที่ผ่านการเกิดประสบการณ์ตรงต่อสังคมท้องถิ่นของตนเองที่ดี เช่น การเปิดเวทีพัฒนานโยบายสาธารณะที่เชื่อมเอาผู้คนที่กระบวนการกลิ้งผ่านไป มาทำเรื่องนโยบายที่สะทอ้นความเป็นตัวของตวเองออกมา  การพัมนายุทธศษศตร์จังหวัดจาก Buttom-up planning การพัฒนาเครือข่ายและองค์กรจัดการสุขภาวะของสาธารณะ ในรูปแบบใหม่ๆ ที่รองรับการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและภาคพลเมือง ที่ดีและสนองตอบต่อลักษณะสังคมที่ซับซ้อนอย่างเหมาะสมย่งๆขึ้น อย่างนี้เป็นต้น
  • ทำวิจัยที่ดึงความรู้จากประสบการณ์ออกมา ผสมผสานกับความรู้ภายนอก แล้วก็สะท้อนกลับเข้าไปเป็นเป็น tacit knowlege ทั้งของปัจเจกและของชุมชนจังหวัดอยู่ในวงจรกระบวนการ อย่างต่อเนื่องไปเลย ก็จะเหมาะสมมากอย่างยิ่งนะครับ
  • และโดยเวทีอย่างนี้โดยตัวมันเอง ก็จะเป็นกระบวนการเรียนรู้พัฒนาพลเมือง-ประชากรไปในตัวอีกด้วย จึงทำแล้ว-ทำอีก อยู่เรื่องๆ ให้เป็น Dynamic development management นะครับ
  • เสิรมต่อบทเรียน เพื่อเชื่อมโยงทุนทางประสบการณ์เดิม ให้เป็น Population education for planning and development for specific population gruop and healthy provincial community at border area นะครับ

ผมมีประสบการณ์อย่านี้กับชุมชน-ประชาคมจังหวัดกาญจนบุรี และประชคมพุทธมณฑล นครปฐม  แรกๆก็ไม่ค่อยเห็นผลสืบเนื่องอะไรมากนัก แต่เดี๋ยวนี้ เครือข่ายผู้นำ เครือข่ายปัจเจก กลุ่มพลเมืองและกลุ่มคนที่เป็นงานแนวประชาคม หรือการเดินแบบใช้ความมีจิตสาธารณะไปเจอกัน สามารถสร้างความริเริ่มและพัฒมนาความร่วมมือกันได้อย่างหลากหลาย  มองย้อนกลับไปเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว หลังวิกฤติเศรษฐกิจ หากพวกเราไม่ทำและลงทุนทางสังคมไว้อย่างนี้ ตอนนี้สังคมซับซ้อนและมีอิทธิพลภายนอกเข้ามากระทบมากมาย ก็จะมีกลุ่มคนที่จิตใหญ่และทำงานในวัฒนธรรมใหม่ๆเป็น ไว้ให้สร้างความเป็นส่วนรวมด้วยกันอย่างนี้หรือเปล่าก็ไม่รู้ การสร้างสังคมต้องอาศัยระยะเวลาและความทุ่มเท(เหมือนไร้อนาคตมากๆเลย) แต่ถ้าหากเรามั่นใจก็ต้องทำ ทำเลย 

วันนี้ผมก็ได้รวบรวมบันทึกของผมที่เกี่ยวข้องกับ Humanized educare ส่งประกอบเป็นเรื่องเล่าผ่าน blog ประกอบ เอกสารรายงานฉบับสมบูรณ์ให้กับทาง มูลนิธิสดศรี - สฤษดิ์วงศ์ เป็นคุณูปการอย่างหนึ่งของ การสื่อสารผ่าน blog ครับ

จากนี้ต่อไป เราจะเริ่มขับเคลื่อน กระบวนการเเลกเปลี่ยนเรียนในกลุ่มโรงเรียนที่ถูกเลือก  โดยใช้กระบวนการ KM - Dialogue เพื่อค้นหา เรียนรู้ร่วมกันในกระบวนการเรียนการสอนที่บูรณาการความสุข ดี และ เก่ง ครูผู้สอนเบิกบาน เด็กๆมีความสุข

ขอบคุณอาจารย์มากครับ เเง่มุมความคิดในบันทึกดีๆของอาจารย์ รวมไปถึงข้อเสนอแนะที่ช่วยให้ผมได้เติบโตทางปัญญาครับ

From Field note to Blog, From Blog to Lecture and Researcher Training

  • ผมได้การเขียนในบล๊อกและการมีคนร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางวิชาการกัน ช่วยขยายผลการทำงาน ทำให้ทำงานที่มีข้อจำกัดหลายๆด้าน ด้วยการพึ่งตนเองได้ดีขึ้นและมีกำลังทำสิ่งต่างๆได้มาก หลากหลายได้มากขึ้นในคราเดียวกัน
  • การเขียนบล๊อกนี้ส่วนหนึ่งก็ช่วยผมมีข้อมูลช่วยกำกับการทำบันทึกสนามของการวิจัยอีกหลายเรื่องที่ต้องทำไปเลยระหว่างทำงาน ขณะเดียวกันก็เป็นรูปแบบให้การทำงานที่จมอยู่กับกระบวนการนานๆ พอได้มีแง่มมุมเผยแพร่สื่อสารกับสาธารณะได้บ้าง โดยเฉพาะในวงวิชาการที่ไปในแนวเดียวกัน  ผมอยากรวบรวมกรณีตัวอย่างมากมายด้วยตนเองจากสังคมไทย เพื่อหาบทเรียนร่วมกับประสบการณ์การวิจัยและปฏิบัติการสังคมของประเทศต่างๆ ในแนว Community-Based Participatory และManagement Development
  • ขณะเดียวกันก็ต้องสอน ต้องบรรยาย ต้องเผยแพร่ผลงานวิชาการ ต้องการการลงมือ-ปฏิบัติการที่ให้ทรรศนะวิชาการและประสบการณ์ตรง ต้องการของจริงและการมีความเป็นจริงของสังคมรองรับการทำงานวิชาการและการเขียนความรู้ อยากทำทั้งหมดให้ได้โดยไม่หลุดจากฐานการได้ปฏิบัติ
  • การรับบรรยายให้สาธารณะที่นอกเหนือจากการสอน เป็นหน้าที่บริการทางวิชาการที่ผมก็ต้องการทำ และเชื่อว่าคนมหาวิทยาลัยไม่น้อยก็ให้ความสำคัญ แต่เป็นงานที่ไม่เป็นผลงานทางวิชาการ อีกทั้งนอกจากทำไปก็ไม่ได้ผลงานนั้น ก็เป็นการทำตนเองให้เดือดร้อนด้วย งานเบื้องหลังก็หนักหน่วง การบรรยายสัก ๓๐ นาทีที่ทำให้คนทั่วไป หมายถึงการเตรียมการทบทวนเรื่องราวและข้อมูลต่างๆอีกเป็นกองๆ บางเรื่องต้องทำงานความคิดเป็นเดือน ตามด้วยกลับมาจมอยู่กับการทำงานที่ต้องให้เวลาเพิ่มขึ้น  แต่ผมก็ยังอยากทำ  สังคมภายนอกเมื่อต้องการทำงานและนึกถึงคนมหาวิทยาลัย ขอความช่วยเหลือทางวิชาการไม่ได้แล้ว เขาจะนึกถึงและหันไปพึ่งใคร
  • แต่พอทำทีไร แม้การถูกขอให้เตรียมเอกสารสักชิ้นสองชิ้นก็เดือดร้อนแล้ว การกลัวการถูกเชิญที่จะทำให้ยากที่จะไม่รับ  ก็เลยไม่มากเท่ากับเมื่อดันรับปากแล้วก็จะถูกตามขอเอกสาร ขอโน่นขอนี่ กลายเป็นเรื่องง่ายๆที่ไม่ง่าย พอได้บล๊อกและการเขียนแบบนี้ช่วย ก็เริ่มเห็นหนทาง
  • หลายครั้ง ผมจึงสามารถแปลงบันทึกสนาม มาสู่การเสริมด้วยเขียนสื่อสารและแลกเปลี่ยนกับคนที่สนใจด้วยกันในวงกว้าง ทำให้ได้บทความปกิณกะ จากบันทึกสนามสู่บล๊อก
  • และหลายครั้ง ก็ทำให้ได้บทความและงานเขียนจากบล๊อกนี่เอง ไปเป็นตัวอย่างการสอน และทำเป็นเอกสารบรรยาย
  • เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ที่ทำให้ผมได้หลายอย่างในกิจกรรมเดียวกัน

อ้าว กำลังปรับแก้บันทึกอยู่พอดี พอโพสต์และลบอันเก่า บันทึกหมายเหตุเดิมที่โพสต์ใหม่เลยกลับมาอยู่ทีหลังการสนทนาของคุณจตุพรเลยนะครับ ขออภัย แต่คนอ่านก็คงอ่านรู้เรื่องนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท