[2] “ถอดบทเรียน กับ วิธีการ” ผ่านประสบการณ์ของผม


ความรู้ที่บอกว่าท้าทายคือ “ความรู้ฝังลึก” (Tacit knowledge)ครับ ...ยากมากสำหรับการดึงความรู้เหล่านี้ออกมา เพราะนักถอดบทเรียนไม่ได้มีทักษะแกร่งศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีศิลปะด้วย แล้วเราจะทำอย่างไรกันดี?

[2]  “ถอดบทเรียน กับ วิธีการ” ผ่านประสบการณ์ของผม

                                                > จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

อย่างที่ผมเคยบอกไปในบันทึกก่อนๆครับว่า การถอดบทเรียนใดๆ ไม่ได้เจาะลงในการเลือกใช้เครื่องมือ (วิธีการ) แต่การถอดบทเรียนขึ้นอยู่กับ “โจทย์” และ “กลุ่มเป้าหมาย”  สองสิ่งนี่เองที่เป็นตัวกำหนดว่าเราจะใช้กระบวนการถอดบทเรียนอย่างไร? แต่อย่างไรก็ตามเราก็สามารถยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนตลอดเวลานะครับ ถ้าพอว่าวิธีการที่เราใช้นั้นไม่เวิร์กเอาซะเลย ดูฝืดๆฝืนๆ ก็ลองปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ๆ ก็ไม่ผิดกติกาใดๆทั้งสิ้น

ผมเคยทราบมาและบางทีผมก็ใช้วิธีการ “ถอดบทเรียนที่ไร้กรอบ”  ที่บอกว่าไร้กรอบคือ ไม่ได้แสดงตัวว่าผมหรือผู้ที่ทำหน้าถอดบทเรียนกำลังปฏิบัติการ  “ถอดบทเรียน” อยู่ทำให้เนียน ทำให้เป็นธรรมชาติ แต่ภายใต้ความเป็นธรรมดานั้น นักถอดบทเรียนกำลังใช้วิธีการถอดบทเรียนอยู่เงียบๆ เช่น วิธีการสังเกต,การจับประเด็นการพูดคุย,การซักถามทุกข์ สุกดิบ หรือบางครั้งก็ลงไปสัมภาษณ์พูดคุยในประเด็นที่เราสนใจเมื่อมีประเด็นที่น่าสนใจ เราก็ลงลึกในประเด็นเหล่านั้นทันที  แต่ทุกอย่างเป็นไปแบบธรรมชาติ ในบรรยากาศกัลยาณมิตร

เห็นไหมครับว่า...  “การถอดบทเรียนที่ดี”  ควรจะทำให้เนียนกับวิธีชีวิต  ข้อมูลที่เราได้ก็จะเป็น ข้อเท็จจริง ที่หายากมากในวงสนทนาสาธารณะทั่วไป วิธีการนี้ทำได้ดีแบบคนต่อคน หรือกลุ่มเล็กๆ ที่เราคุ้นเคยระดับหนึ่งมาแล้ว ความสำเร็จในการถอดบทเรียนแบบไม่เป็นทางการนี้ อยู่ที่เราสามารถทลายความเป็นคนแปลกหน้า เราสามารถทลายความหวาดระแวง กระชับความสัมพันธ์นำไปสู่การไว้ใจ และเปิดใจในที่สุด แล้วทุกอย่างก็ไปได้ดี

“การถอดบทเรียน”  เป็นกระบวนการหนึ่งที่อยู่ภายใต้ “การจัดการความรู้” (Knowledge management )ดังนั้นความรู้ที่ถูกจัดการอย่างเป็นระบบสามารถนำไปใช้ได้ ก็หมายถึงเราก็ได้บทเรียนพร้อมใช้ไปด้วย ความรู้และบทเรียน คือสิ่งเดียวกัน  เราทราบกันดีว่าความรู้มีสองชนิด ความรู้ภายนอก (Explicit knowledge)ที่เป็นความรู้หาได้จากตำรา ทฤษฏี งานเขียนที่เป็นลายลักษณ์อักษร เราสามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ พร้อมใช้ได้ในทันที การจัดการความรู้ประเภทนี้ไม่ค่อยท้าทายความสามารถเท่าไหร่ครับ แต่ความรู้ประเภทหลังที่ผมจะพูดถึงนี่สิครับ ท้าทายมาก สำหรับนักถอดบทเรียน นักจัดการความรู้ ความรู้ที่บอกว่าท้าทายคือ “ความรู้ฝังลึก” (Tacit knowledge)ครับ ...ยากมากสำหรับการดึงความรู้เหล่านี้ออกมา เพราะนักถอดบทเรียนไม่ได้มีทักษะแกร่งศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีศิลปะด้วย แล้วเราจะทำอย่างไรกันดี?

เราลองมานั่งถามคำถามตัวเองดูนะครับ ว่าเราชอบอะไรที่เป็นทางการ หรือชอบแบบไม่เป็นทางการ ผมคิดว่าร้อยทั้งร้อย ผมว่าทุกคนต้องตอบว่าชอบแบบไม่เป็นทางการ  และเราลองตั้งข้อสังเกตดูนะครับเมื่อเราหรือใครก็ตามมีโอกาสเข้ารวมกลุ่มเพื่อนที่สนิท คุ้นเคย อาจเป็นเพื่อนร่วมรุ่น เพื่อนร่วมทำงาน ที่คุ้นเคยกันมากๆ เวลามารวงมตัวกันทีไร ต้องแย่งกันพูดทุกที  ไม่ค่อยมีใครยอมใครแต่เป็นไปด้วยบรรยากาศของความสุข ความสนุก และอบอวลไปด้วงยมิตรไมตรี ผมกำลังบอกทุกท่านว่า การถอดบทเรียนที่จะได้มาซึ่งความรู้ฝังลึก...หากเราสามารถจัดการวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ ให้เหมือนกับบรรยากาศวงสนทนาระหว่างเพื่อนสนิท...แบบนี้หากทำได้ สุดยอดที่สุดครับ

“การแลกเปลี่ยนเรียนรู้” (knowledge sharing) เป็นหัวใจของการจัดการความรู้ เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมกับคนที่อยู่รวมกันในสังคม ที่มีการปะทะสังสรรค์กันตลอดเวลา หน้าที่ของผู้นำกระบวนการถอดบทเรียน เพียงแต่บริหารจัดการบรรยากาศ และสร้างกติกาเพิ่มอีกนิดหน่อย เพียงเท่านี้ เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จะเป็นขุมทรัพย์ของ “บทเรียน” ที่พร่างพรูเป็นธรรมชาติที่สุด

ถามว่าเราทำได้หรือไม่? เราจะสามารถจัดการบรรยากาศการเรียนรู้เหล่านี้ได้หรือไม่? ผมขอตอบว่า ทุกคนสามารถทำได้ และทำได้อย่างแนบเนียน หากเราหลุดพ้นจากพันธนาการของวิธีการ(วิธีวิทยา) มาเป็นกระบวนแบบ ชิล ชิล ผ่อนคลาย ผู้นำกระบวนการถอดบทเรียนเองก็สบายใจ ไร้ฟอร์ม ผู้ร่วมถอดบทเรียนเองก็ผ่อนคลาย สนุกสนาน นอกจากเราจะได้ผลลัพธ์อย่างที่เราอยากได้ นั่นคือ “บทเรียน” เรายังได้ “มิตรภาพ” ถูกแถมมาเพิ่มจากกระบวนการแบบนี้ตลอดเวลา ลองนั่งคิดงบดุลความคุ้มค่าดู เราได้กำไรหลายต่อเลยนะครับ

ช่วงหลังๆมีคนพูดถึง กระบวนการไดอะล็อก(Dialogue) กันมากขึ้น ในที่นี้ผมขอเรียกว่า “กัลยาณมิตรสนทนา” นะครับ กระบวนการก็ไม่ได้ต่างจากวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ผมเขียนมาข้างต้น เพียงแต่เพิ่มกติกาในวงพูดคุย ผู้นำพูดคุย หรือ กระบวนกร มีทักษะในการพูดคุย แลกเปลี่ยน กัลยาณมิตรสนทนาหากเราทำได้ดี ไม่มีกลิ่นขนมปังและเนยเทียม เป็นกระบวนการแบบไทยๆ หากเราทำได้ จะเหมาะสมกับบริบทคนไทยมาก

ผมขอสรุปหลักการ “กัลยาณมิตรสนทนา” (Dialogue) ดังนี้ครับ

  • สร้างความรู้สึกเท่าเทียม ตรงนี้ราตั้งแต่การนั่งในระนาบเดียวกัน รวงมไปถึงวิธีคิด วิธีปฏิบัติต่อกันที่ให้ความรู้สึกเท่าเทียมกัน
  • ทำให้ง่ายๆผ่อนคลายเข้าไว้ คนเรายิ่งไม่เครียด ปัญญาจะเกิด ความคิดไหลลื่น
  • ให้ความสำคัญกับการ “ฟัง” และ ฟังอย่างตั้งใจ
  • กระบวนกรต้องมีทักษะเป็น “ดาวยั่ว” คอยเล้าโลม สร้างบรรยากาศให้การสนทนาลื่นไหล
  • สิ่งแวดล้อมดี ผมหมายถึง สถานที่ที่มีลักษณะเป็น “สัปปายะ ๗” หากแปลตรงๆหมายถึง สถานที่เหมาะแก่การภาวนา ในความหมายของผมหมายถึงสถานที่ที่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงที่จะพูดคุยกัน
  • ข้อสุดท้ายสำหรับ “กัลยาณมิตรสนทนา” สำคัญมาก อย่าลืมปิดมือถือ หรือ ใช้ระบบสั่น นะครับ เพราะมือถือเป็นอุปสรรคในการสนทนา ที่ทำก่อกวนบรรยากาศสัปปายะแบบไม่น่าให้อภัย

วิธีการ – กระบวนการ ที่ผมเขียนมาทั้งหมด เป็นวิธีการที่ผมใช้ เพราะส่วนใหญ่ ผมเป็นนักถอดบทเรียนที่ทำงานกับสังคม กับผู้คน  บางครั้งผมก็ใช้วิธีการเหล่านี้แบบเนียนๆ  ไม่ถามก็ไม่บอกว่าผมกำลังถอดบทเรียนอยู่ 

ผมถือหลัก “ง่ายๆ” และ “เป็นธรรมชาติ” ครับ

 


 

บันทึกการเรียนรู้นี้เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารประกอบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “การถอดบทเรียน” สำหรับเจ้าหน้าที่ของสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) ในวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๒ ณ นนท์นที รีสอร์ท จ.นนทบุรี

 

หมายเลขบันทึก: 298800เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2009 19:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 17:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
  • เข้ามาเรียนรู้ค่ะ
  • สรุปว่า "ดาวยั่ว" เป็นคนสำคัญที่จะจัดบรรยากาศการเรียนรู้กับเด็กๆที่โรงเรียนได้ใช่ไหมคะ
  • ง่ายๆ เป็นธรรมชาติ ในการถอดบทเรียน
  • ขอบคุณค่ะ

          

ทำยากมาก ๆ ครับ ... หมดกัน อิ อิ ;)

แวะมาเรียนการถอดบทเรียนด้วยคนครับ

หวังว่าคงต้อนรับนักเรียน(รู้)ไร้สังกัดอย่างผมนะครับ

สวัสดีค่ะ

  • มาอ่านค่ะ  เข้าใจบ้าง
  • แต่คง..ทำไม่ได้
  • ได้รับปลาหมึกแห้ง..ของฝากจากเมืองปายแล้วนะคะ
  • ครูที่โรงเรียน...แย่งกันเปิดกล่อง
  • คิดว่าจะทำขนมจีนน้ำเงี้ยว  และน้ำพริกอ่องค่ะ
  • ขอขอบคุณ..น้องเอก

ขอบคุณทุกท่านครับ

สวัสดีครับ พี่นก NU 11   ต้องพยายามเป็น "ดาวยั่ว"  ให้ผู้คนเเลกเปลี่ยนแบบสนุกๆครับ

สวัสดีครับ อ.Wasawat Deemarn  พยายามเขียนให้เข้าใจง่ายๆ เอาไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆ กะว่าจะเขียนสัก ๑๐ บันทึก ไม่รู้จะได้หรือเปล่านะครับ เหลือเวลาอีกสองวันครับ ผมตั้งใจว่าอยากเขียนเป็น pocket book ไม่รู้จะทำได้หรือเปล่า...??

สวัสดีครับ น้องPhornphon    ยินดีครับ ผมเองก็ไร้สังกัดเช่นกัน แต่นั่น ไม่ได้สำคัญเลยนี่ครับ เราต่างก็สังกัด gotoknow ไม่ใช่เหรอครับ..

สวัสดีครับ พี่ ครูคิม  ขอให้มีความสุขในการทำงานกับเด็กๆครับ ให้กำลังใจเสมอครับ สำหรับ ประสบการณ์การถอดบทเรียนที่ครูคิม ช่วย ต่อเติม เรียนเชิญได้ครับ...

:)

...............................................................................................

...............................................................................................

สวัสดีค่ะน้องเอก

  • มีความตั้งใจ...จริง ๆว่าจะถอดบทเรียนการเขียนบล็อก การแก้ปัญหาคนในชุมชนที่หันมาสนใจโรงเรียนและการถอดบทเรียนอื่น ๆ
  • แต่..ก็ครึ่ง ๆกลาง ๆ ค่ะ
  • ขอแนะนำบันทึกเด็กนัทค่ะ
  • http://gotoknow.org/blog/wittayasamphan/298862

สวีสดีน้องเอก

พี่ได้องค์ความรู้จากเวทีบันทึกของกัลยาณมิตรนี้แหละ ทำให้ได้พาสูงอายุจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมถอดบทเรยนจ้า

ช่วงนี้พี่กำลังกลับมาเขียนบันทึกใหม่พอมีเวลาบ้างแล้วจ้า

 

สวัสดีค่ะ คุณเอก จตุพร

  • ให้บังเอิญว่าสิ่งที่แป่มปฏิบัติอยู่มีส่วนคล้ายกับที่คุณเอกได้กล่าวมาค่ะ
  • เราสามารถทลายความเป็นคนแปลกหน้า
  • เราสามารถทลายความหวาดระแวง
  • กระชับความสัมพันธ์นำไปสู่การไว้ใจ
  • และเปิดใจในที่สุด
  • ใช้กับเด็กม.6ในโรงเรียนที่แป๋มเพิ่งย้ายมาค่ะ...
  • จากเด็กที่ไม่ไว้ใจครูและเพื่อน รวมทั้งครอบครัว คนรอบข้าง ไม่ไว้ใจใครเลย
  • คำตอบอยู่ที่นี่ค่ะ..
  • http://gotoknow.org/blog/atworker/280681?page=2
  • http://gotoknow.org/blog/atworker/277972?page=4

 

 

 

ขอบพระคุณพี่เอกมากครับสำหรับคำแนะนำ

ครูคิม  ให้กำลังใจครับพี่คิม สำหรับการถอดบทเรียนดีๆ

บันทึกพี่มีคุณค่ามากครับ เป็นบันทึกที่วงการการศึกษาจะได้เรียนรู้ร่วมด้วย ตรงนี้เองเป็นความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในเครือข่ายออนไลน์

ขอบคุณครับสำหรับความตั้งใจของพี่ครับ

พี่ ท้องฟ้า

ให้กำลังใจพี่ท้องฟ้านะครับ อาชีพพยาบาล เป็นอาชีพที่เสียสละ และทำงานด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ งานหนัก ขอให้กำลังใจครับ

งานเวชปฏิบัติเองก็เช่นเดียวกันครับ ใช้พลังสูงในการสร้างการมีส่วนร่วมในการดูเเลสุขภาพของชุมชน...งานแบบนี้หากทำได้ ทำได้ดี เรียกว่า เจ๋งมากๆเลยครับ

ให้กำลังใจนะครับ

ครูแป๋ม

ยินดีมากๆครับ อ่านจากบันทึกครูแป๋มแล้ว ผมถอดบทเรียนเร็วๆแล้วผมมองแบบนี้ครับ กระบวนการเรียนการสอนที่ครูเข้าใจตัวเอง เข้าใจเด็ก ทำให้การพัฒนาเด็กยุคwi fi ที่ยอดเยี่ยม...การสอนเป็นงานที่ใช้พลังและจิตวิทยาสูง โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นที่ครูกำลังดูเเลอยู่ ...ผมตามอ่านตลอดครับ

ให้กำลังใจครับครูครับ

ยินดีครับ น้อง Phornphon

กระบวนการเเบบนี้ต้องลองใช้ด้วยตัวเอง ให้ถูกกับจริตตัวเองครับ :)

เพิ่งได้เข้ามาอ่าน blog นี้ ตอนที่กำลังจะทำการถอดบทเรียน ในการทำงาน ซึ่งถกเถียงกันเรื่องวิธีการ ว่าต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง แต่เมื่อคิดได้ว่า ถอดเพื่อไปใช้ทำอะไร เพื่ออะไร เอาง่ายๆ เหมาะกับเรา น่าจะดีที่สุด จะได้ไม่ต้องกังวลว่า เราต้องใช้เครื่องมืออะไร แล้วจะเทย์

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท