เรียนรู้สร้างสุขภาวะคนหนองบัว


   เวทีคนหนองบัว : เวทีของคนทั่วไปทุกคน          เวทีนี้เป็นเวท...
มีต่อ

ผมขอยกมือไปร่วมด้วย และขอเรียนรู้ด้วยครับ

งั้นขอใส่ไว้ท้ายบันทึกเลยนะครับ ทางสมาชิกเขาเคยขอให้คุณจตุพรเป็นที่ปรึกษาให้อยู่น่ะครับ เป็นคนชนบทเหมือนกัน รวมทั้งอีกหลายท่านที่ทางชุมชนได้กล่าวถึง คือ อาจารย์ ดร.ขจิต ฝอยทอง และอาจารย์ณัฐพัชร ทองคำ รวมทั้งท่านอื่นๆด้วยครับ หากเห็นว่าเรียนรู้กับชุมชนและร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชุมขนได้ ก็ขอเรียนเชิญครับ

http://gotoknow.org/blog/watchareeya/295120

รุ่นน้องเพาะช่างทำงานร่วมกับวัด...เพื่ออนุรักษ์สิลปะไทยลายรดน้ำค่ะ..

แก้ไข ศิลปะไทยลายรดน้ำค่ะ

  • สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็ก นึกถึงคุณครูอ้อยเล็กอยู่พอดีเลยนะครับ ว่าจะขอสักหน่อยหนึ่ง จะรบกวนไปมากไหมเนี่ย
  • คุณครูอ้อยเล็กว่างตอนไหน ทำตัว Caption ซ้อนลงไปบนภาพ อย่างคุณครูอ้อยทำในของตัวเองได้ไหมเนี่ย
  • ข้อความแบบหัวนั่นเลยครับ เวทีพลเมือง : เรียนรู้และสร้างสุขภาวะหนองบัวให้เข้มแข็งและยั่งยืน
  • หากได้นะก็จะขอเปลี่ยนเป็นรูปของบล๊อกแทนรูปเดมเลยละครับ
    • โอ้วว เวทีนี้คึกคักนะค่ะ ดีใจด้วยค่ะอาจารย์วิรัตน์
    • งั้น คงไม่ต้องการหน้าม้าอย่างเราแล้วหล่ะมั๊ง ฮ่า

                                

     

    ขอบคุณคุณครูอ้อยเล็ก แทนกลุ่มคนหนองบัวที่ช่วยกันริเริ่มเวทีคุยและเสวนากันนี้ขึ้นมาครับ ที่ช่วยทำตัวหนังสือบนภาพหัวข้อที่ใช้เปิดหัวข้อเวทีพลเมืองนี้ครับ แล้วก็ขออนุญาต เอารูปอื่นๆใน dialogue box ที่ผ่านมา ออกนะครับ

    • ต้องการครับอาจารย์ณัฐพัชร์ อาจารย์ณัฐพัชร์ทำเรื่องชุมชนเยอะ แล้วก็ศึกษาเรื่องพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นด้วย คงคุยกับคนหนองบัวหลายคนได้ดีครับ

     

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    • ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีแทนชาวอำเภอหนองบัวด้วยที่มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แห่งใหม่เกิดขึ้นมาสำหรับชุมชนคนหนองบัว กับชุมชนอื่น ๆ
    • รู้สึกตื่นเต้นจังเลย(พูดเหมือนผู้เข้าประกวดการแข่งขันความงามอะไรสักอย่างหนึ่งเลยเนาะ)
    • ยินดีต้อนรับและอนุโมทนาขอบคุณที่ปรึกษาทางวิชาการคุณจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร รองศาสตราจารย์ ดร.เสน่ห์ จุ้ยโต อาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ อาจารย์สืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์ อาจารย์ ดร.ขจิต ฝอยทอง อาจารย์ณัฐพัชร ทองคำ
    • คุณเสวก ใยอินทร์ กลุ่มพริกเกลือ คุณครูเอนก คุณพีรณัฐ
    • และโยมอาจารย์ดร.วิรัตน์  คำศรีจันทร์  ผู้เป็นโต้โหญ่แม่งานในทุก ๆ ด้าน
    • ขอบคุณคุณครูอ้อยเล็กด้วยที่ช่วยจัดตัวหนังสือซ้อนลงภาพได้สวยงามจัง
    • หวังว่าเวทีน้องใหม่นี้จะเป็นที่ขอแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ประสบการณ์กับชุมชนอื่น ๆ อย่างกัลยาณมิตรกับทุก ๆท่านแบบพี่แบบน้องต่อไป

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • ดูจากรายชื่อผู้ริเริ่มเวทีนี้แล้ว ดิฉันขอเป็นผู้เข้าร่วมเรียนรู้จากทุกท่านที่มีประสบการณ์อันโชกโชนจะดีกว่าค่ะ
    • อย่างไรขอขอบพระคุณอาจารย์วิรัตน์ และขอแสดงความยินดีกับชาวหนองบัว และเวทีสาธารณะที่ก่อเกิดในวันนี้ค่ะ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    • อาตามภาพขออนุโมทนาขอบคุณเพิ่มเติมต่อท่านผู้มีน้ำใจที่มีส่วนช่วยงาน ดังนี้
    • คุณครูวัชรี โชติรัตน์ และคุณเริงวิชญ์ นิลโคตรเป็นอย่างมาก

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

  • กราบอาราธนาพระคุณเจ้าและทุกท่านเสวนา รวบรวมข้อมูล ถ่ายทอดประสบการณ์ ชวนมอง ร่วมกันสร้างและเขียนความรู้ ไปตามอัธยาศัยครับ
  • อยากให้เป็นเวทีที่สบายๆ ทำงานความคิดและตกผลึกประสบการณ์ให้ได้ความคิดที่แยบคาย ลุ่มลึกไปตามกำลัง เรียนรู้และพัฒนาให้เติบงอกงามไปเรื่อยๆครับ
  • ข้อมูลและการเสวนาบางส่วนในหัวข้อของท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย คุณเสวก ใยอินทร์ และกลุ่มพริกเกลือ ผมได้ลิ๊งค์ไว้แล้วนะครับ ท่านที่สนใจเข้าไปได้ในลิ๊งค์ข้างล่างที่ dialogue box แรกของหัวข้อกระทู้ ในบันทึกนี้เลยครับ
  • อยากจะเชิญแลกเปลี่ยนข้อมูลและสร้างความรู้จากประสบการณ์ เน้นจากประสบการณ์และมุมมองของทุกท่านครับ เพราะจากแหล่งอื่นคงหาได้อยู่แล้ว
  • สุขภาวะของชุมชนหนองบัวที่พึงประสงค์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ควรจะเป็นอย่างไร ก่อเกิดขึ้นได้อย่างไร เราชาวบ้าน-ชาวเมือง คนหนองบัว รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ทำอะไรด้วยกันได้บ้าง เราควรจะต้องรู้และสร้างความรู้อะไรกันก่อนไหม ความรู้เรื่องราวต่างๆที่ว่าเป็นอย่างไร ?
  • เริ่มต้นตรงนี้ก่อนก็ได้ครับ แล้วค่อยช่วยกันสกัดประเด็น-หัวข้อคุย ให้สนุกขึ้นมาเรื่อยๆครับ
  • แต่นี่ก็เกริ่นนำร่องเฉยครับ คุยไปเรื่อยๆ ให้จิตใจปล่อยวาง มีความสบายและความโปร่งใจเป็นฐานไว้ก่อน จากนั้นจึงค่อยหาประเด็น สกัดขึ้นมาทีละนิด จะดีครับ สิ่งที่ตามมามันจะกลายเป็นภาคขยายและรายละเอียดที่อยู่บนฐานของความมีจิตวิญญาณที่ดี  ไม่กวัดแกว่ง ไม่ติดกรอบ และมีความวางใจรอบข้างได้สูงครับ
  • สาธุค่ะพระอาจารย์...มหาแล ขำสุข (อาสโย)

    รูปแบบการตั้งหัวข้อแล้วเขียน-สนทนา

    • รูปแบบการสนทนาและถ่ายทอดข้อมูล-ความรู้เก็บไว้ของพระคุณเจ้าเมื่อตอนต้นๆนั้น ใช้เป็นแนวคุยกันในเวทีนี้ก็เหมาะสมดีมากนะครับ
    • รูปแบบและวิธีการคือ อยากสนทนาและอยากเปิดประเด็นเขียนอะไร ก็ตั้งหัวข้อขึ้น .. เช่น สุขภาวะของชุมชนอยู่ที่เศรษฐกิจพอเพียงของครัวเรือน / การศึกษาเพื่อคนขาดโอกาสของหนองบัว / สื่อและวิทยุชุมชนเพื่อเรียนรู้พัฒนาสุขภาวะหนองบัว / การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ชุมชนของหนองบัวโดยชาวบ้าน ฯลฯ
    • จากนั้นก็สร้างเนื้อหา ทั้งจากถ่ายทอดคำบอกเล่าของคนท้องถิ่น เรียบเรียงจากเอกสารและหลักฐานเท่าที่เข้าถึงได้ เขียนจากประสบการณ์ ความทรงจำ และคิด-ให้ทรรศนะออกจากตนเอง
    • อีกรูปแบบหนึ่งคือสนทนาสื่อสารและตอบโต้ ถาม-ตอบ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความรู้ต่อเติมข้อมูลกันและกัน
    • อีกรูปแบบหนึ่งคือ วาดรูป ถ่ายรูป แล้วเอารูปภาพหรือสิ่งของที่มีในท้องถิ่นมาแสดง แล้วก็คุยให้ข้อมูลหรือสร้างความรู้ ถ่ายทอดไปตามเรื่องที่เกี่ยกับภาพและสิ่งนั้นๆ
    • อีกรูปแบบคือ ดึงประเด็นของท่านอื่นออกมาแลกเปลี่ยนและเติมประเด็นด้วยทรรศนะและข้อมูลที่เรามี

    รูปดอกบัวฉัตรขาวรูปนี้ของคณครูอ้อยดูอย่างไรก็สวยงามมากนะครับ ได้บรรยากาศของคนหนองบัวเลย เมื่อก่อนนี้ในสระวัดหนองกลับมีบัวหลวงและไหลบัวอยู่มากมายครับ พอน้ำแห้งขอด ชาวบ้านก็จะลงไปขุดก้นบ่อทำน้ำบ่อทราย และขุดราก-เหง้าบัว มาทำอาหาร-ขนม-ยาสมุนไพร

    • อ่ะ แฮ่ม ... ก่อนเริ่มสนทนา ดื่มน้ำชา กาแฟก่อนนะค่ะ
    • แล้วแต่ถนัดค่ะ ต้องการน้ำชา กาแฟรสชาติแบบใด แก้วลักษณะไหน หรือจะถือมาเอง มานั่งร่วมวงสนทนากันก็ได้ค่ะ
    • เชิญ ค่ะเชิญ (ทำตัวเหมือนเจ้าของบ้านเลยแหะ) ^^
    • ((กำลังดื่มกาแฟหลวงพ่อซอน)) ^^"

     

    สวัสดีครับ ยินดีด้วยนะครับสำหรับ รางวัล Best Blog Of the month

    ขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ สงสัยกำลังสะสมแนวทำร้านกาแฟของตัวเองด้วยหรือเปล่าครับเนี่ย

    ขอบคุณครับ อาจารย์ ดร.รุจโรจน์ อาจารย์และคณะสบายดีนะครับ

    ความจริงหนองบัวนครสวรรค์ไม่ไกล จากพิษณุโลกเท่าไหร่ ทำอย่างไร คนวัดโบสถ์จะได้ไปเรียนรู้ด้วยครับ

    ชอบอ่านบันทึกของอาจารย์ทุกสำนวนคะ

    ประเทืองปัญญาและได้นิยามศัพท์ใหม่ๆในคลังสมองคะ

    • สวัสดีครับอาจารย์ ดร.รุจโรจน์ แก้วอุไร
    • ยิ่งออกจากหนองบัวแล้วก็ไปพิษณุโลกถิ่นอาจารย์นั้น ยิ่งใกล้มากครับ สภาพสังคมและสภาพแวดล้อมต่างๆของท้องถิ่นหลายอย่างก็ใกล้เคียงกันมากนะครับผมว่า คนทำงานในหนองบัวและนครสวรรค์เป็นจำนวนมากก็ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเนรศวรนั่นแหละครับ อันที่จริง การพัฒนาด้านการศึกษา การวิจัย และสถาบันการศึกษาในขั้นสูงแถวๆภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนนั้น ในบางด้าน มหาวิทยาลัยเนรศวรกับมหาวิทยาลัยมหิดล ควรได้มีโอกาสพัฒนาความร่วมมือแล้วก็ทำสิ่งต่างๆที่สนองตอบต่อการพัฒนาในภูมิภาค แต่นอกจากไม่ควรแข่งและทับซ้อนกันเองแล้ว ก็จะต้องส่งเสริมเกื้อหนุนกันอีกด้วย
    • งั้นเริ่มเล็กๆตรงไหนก็ได้ที่เราเรียนรู้ไปด้วยกันได้เลยนะครับ ว่าแล้วก็ขอเชิญอาจารย์ร่วมช่วยเป็นที่ปรึกษาและเครือข่ายเรียนรู้กับชุมชนในนี้เลยนะครับ คงไม่เป็นภาระมากหรอกครับ ทำกันไปตามความสะดวก และเป็นฐานให้คนในพื้นที่ยืนเองอย่างมั่นใจเสียมากกว่า 
    • สวัสดีครับคุณแอน
    • ขอบคุณครับที่แวะมาเยือน อ่าน และร่วมสะท้อนทรรศนะเสริมกำลังใจกันครับผม
    • ผมเวลาอ่านงานวิชาการ ก็ชอบอ่านวิธีนิยามต่างๆเหมือนกันครับ พออ่านบ่อยๆ เวลาอ่านตำราและหนังสือเล่ม ก็ทำให้ชอบอ่านจากด้านหลังที่เป็น Index แล้วก็ใช้เป็นคำหลักค้นคว้าเข้าไปในเนื้อหาของเล่ม แตกออกไปค้นคว้าในเล่มอื่นๆที่เป็น Theme เดียวกัน ก็สนุกและได้เรื่องราวที่หมดจรดมากกว่าอ่านไปตามปรกติจากสารบัญเนื้อหาครับ
    • พอถึงระดับหนึ่ง เราจะรู้ว่าอ่านเพื่อเข้าใจไม่พอ เราต้องอ่านเพื่อสร้างความคิดและสร้างความรู้ใหม่ๆไปด้วย ในมุมกลับก็หมายความว่า ทำให้ต้องตระหนักอยู่เสมอว่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด ความรู้และคำตอบแบบเบ็ดเสร็จครอบจักรวาลไปหมดในทุกกรณีนั้น ยังไม่มี ดังนั้น เราก็ต้องสนใจไปที่นิยามและแนวคิด เพื่อตกลงกันสำหรับปฏิบัติและทำความเข้าใจภายใต้บริบทและเงื่อนไขจำเพาะหนึ่งๆ แล้วก็ให้ผู้อื่นเขาสร้างความรู้และตกผลึกได้สัมมาทรรศนะของเขาเอง พ้นกรอบและค้นพบไปด้วยตัวเขาเอง

    ประชาสัมพันธ์ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัวและชาวหนองบัวครับ

    งานแสดงกตเวทิตาและมุฑิตาจิต เกษียณก่อนกำหนด คุณครูโสภณ สารธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัว

    • ๒๘ กันยายน ๒๕๕๒ โรงเรียนหนองบัว กรรมการศึกษา คณะครูอาจารย์และศิษย์เก่า จัดงานให้คุณครูที่โรงเรียน
    • ๒๙ กันยายน ๒๕๕๒ ทางอำเภอหนองบัว สมาคมครู กรรมการศึกษาของอำเภอ จัดงานให้พร้อมกันของผู้เกษียณอายุราชการในปี ๒๕๕๒ ที่อำเภอหนองบัว
    • ขอบอกกล่าวและเชิญศิษย์เก่า หาโอกาสไปร่วมงานได้ตามอัธยาศัยครับ

    ผ้าป่าการศึกษาและงาน ๔๙ ปีสู่ ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองบัว

    • ๖ ธันวาคม ๒๕๕๒ โรงเรียนหนองบัว เครือข่ายศิษย์เก่า กรรมการศึกษา และชาวหนองบัว จะจัดผ้าป่าการศึกษาเพื่อสร้างโรงอาหารให้โรงเรียนและลูกหลานคนหนองบัว พร้อมกับเริ่มต้นศักราชกึ่งศตวรรษของโรงเรียนหนองบัว ๔๙ ปีสู่ ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองบัว
    • ขอเชิญศิษย์เก่าและคนหนองบัวมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาการศึกษาของคนหนองบัว ลูกหลานคนหนองบัว และเด็ก-เยาวชนในท้องถิ่นโดยรอบครับ

    รวมพลังขับเคลื่อน คนหนองบัวมีความกลมเกลียวดีแท้ เยี่ยมครับ

    เริงวิชญ์ นิลโคตร

    ขอบพระคุณครับ ต้องน้อมคารวะด้วยความยินดียิ่งที่เอื้อเฟื้อผู้น้อยให้ร่วมเป็นเครือข่าย "เวทีพลเมือง" มีโอกาสเข้ามาอ่านบล็อคอาจารย์ และเครือข่ายเป็นระยะๆ ตามวาระ และโอกาสอันพึงมีและอำนวยให้ ชื่นชม และประทับใจหลายๆ ท่าน อาทิ พระคุณเจ้าพระอาจารย์อาสโยภิกขุ (พระมหาแล) ว่าที่ Ph.D จตุพร แห่งสำนักประชากรศาสตร์ อาจารย์ณัฐพัชร์ .... บทสนทนาระหว่างอาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจั้นทร์ พระคุณเจ้า และเครือข่ายหลายๆ ท่าน ที่ปรากฎผ่านออกมาทางบล็อค ลุ่มลึก และลึกซึ้ง ประเทืองปัญญาให้แก่ผู้อ่านโดยแท้

    • สวัสดีครับคุณภูเขา
    • เป็นการทดลองทำเพื่อเรียนรู้ไปด้วยกันน่ะครับ
    • คุณเริงวิชญ์นี่ก็เป็นคนทำวิจัยแนวชุมชนแล้วก็เป็นลูกหลานคนชนบทเหมือนคนหนองบัวอีกหลายท่านครับ
    • ผมเคยเชิญให้ไปยืนพูด-นั่งพูด ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ชาวบ้านและลูกหลานคนชุมชนบ้านตาลินฟัง คนเฒ่าคนแก่ชอบใจไม่อยากให้เลิกเลยทีเดียว
    • แวะมาคุยและแบ่งปันประสบการณ์กับคนหนองบัวบ้างเป็นระยะๆนะครับ

    เพิ่งเห็นแบบนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต

    มีโอกาสเข้ามาอ่านเจตนารมย์ของการสร้างสังคมเพื่อสุขภาวะ

    และการศึกษาเพื่อคนขาดโอกาส

    รู้สึกทึ่งมากค่ะ

    ขอติดตามเรียนรู้ไปด้วยคนนะคะ

    เผื่อมีโอกาสร่วมกิจกรรมค่ะ

    • เรียนเชิญคุณครู krutoi ในเวทีนี้ด้วยทุกเมื่อเลยครับ
    • คนทำงานทางด้านการศึกษาของท้องถิ่นที่หนองบัว และชาวบ้านคนหนองบัว คงดีใจและมีกำลังใจมากมายหากkrutoi มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์หรือทักทายพอเป็นกำลังใจกัน

    การทำลานด้วยมูลสัตว์ : เทคโนโลยีและภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อการผลิต 

    • วิถีของชุมชนการผลิตและการทำมาหากิน โดยเฉพาะการทำนาทำไร่ ที่ทำให้พอเพียงแก่การพึ่งตนเองในการมี ปัจจัย ๔ สำหรับดำเนินชีวิต พร้อมกับมีส่วนร่วมต่อการสร้างสุขสาธารณะของชุมชน และกลมกลืนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นทั้งชีวิตจิตใจคนส่วนใหญ่ของคนหนองบัว จึงน่าจะเป็นองค์ประกอบแห่งสุขภาวะที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง
    • การทำมาหากิน ได้กินดี อยู่ดี มีความสุขพอเพียงแก่อัตภาพทั้งกายใจ ทั้งต่อตนเอง คนรอบข้าง และความเป็นสาธารณะที่ตนเองผูกพัน เป็นโอกาสที่นำไปสู่อีกหลายอย่างเพื่อการพัฒนาสุขภาวะของส่วนรวมที่เข้มแข็งและยั่งยืน ผู้คนจะสามารถพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของลูกหลายและตนเอง พัฒนาสุขภาพ สร้างสรรค์สิ่งส่วนรวม มีความโปร่งโล่งใจในชีวิตที่จะทำงานสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมบำรุงจิตวิญญาณของสังคม เหล่านี้เป็นต้น
    • ในระยะที่ผ่านมา การทำมาหากิน เป็นเหตุผลที่ใช้คิดตัวบ่งชี้การพันฒาและออกแบบแนวทางการพัฒนาขึ้นมาหลายอย่าง เช่น แนวการพัฒนาความจำเป็นพื้นฐานและการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งผสมผสานการพัฒนาหลยด้านอย่างบูรณาการ ทั้งทางด้านเกษตรกรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำมาหากินโดยตรง การศึกษาซึ่งเป็นการสร้างทุนมนุษย์  สุขภาพ กับงานบริหารจัดการชุมชนระดับต่างๆของมหาดไทย แต่ก็ยังไม่เพียงพอและหลายอย่างควรต้องทำให้มากยิ่งๆขึ้นตลอดไป โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมและการลุกขึ้นริเริ่มด้วยตนเองของชุมชน โดยมีการเรียนรู้ สะสมภูมิปัญญในการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม และแก้ปัญหาต่างๆให้บรรลุความจำเป็นที่ตนเองต้องการ พร้อมกับสร้างความเจริญก้าวหน้าอย่างที่พึงประสงค์ของชุมชน
    • แต่การผลิตและการทำมาหากินในระยะที่ผ่านมาของสังคม ได้มีการเรียนรู้กันอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศว่า ต้องมีการพัฒนาโอกาสและทางเลือกใหม่ๆไปด้วย เพราะหลายอย่างกำลังบั่นทอนถิ่นฐานและความเข้มแข็งของตนเอง ทำนาทำไร่ได้ผลน้อยลง ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทรุดโทรมหมดสภาพ และเกิดความยากแค้นสารพัด การเดินตามแนวทางที่ทำตามกันอย่างเข้มข้นจะไม่ทัดเทียมกับความซับซ้อนที่เป็นจริงของสังคมและสภาพแวดล้อม
    • แต่การมองไปยังอนาคตให้เห็นตนเอง และเห็นโอกาสกับทางเลือกในการพัฒนา ที่พอได้มีสุขภาวะอย่างที่ชุมชนในชนบทโดยมากมีอยู่เป็นทุนเดิม พร้อมกับสืบทอดฐานรากของสังคมและเดินออกจากสิ่งที่ตนเองจะสามารถพึ่งตนเองได้ดีในระยะยาม สามารถผสมผสานวิทยาการและสิ่งใหม่ๆของโลกภายนอกได้อย่างเหมาะสม เหล่านี้ คนท้องถิ่นและชุมชน โดยเฉพาะภาคประชาชน ควรพัฒนาการเรียนรู้ตนเอง ด้วยตนเอง ให้มีองค์ความรู้ท้องถิ่นและได้ความลุ่มลึกทางภูมิปัญญา เกิดความเชื่อมัม่นในตนเองเพื่อการคิดแก้ปัญหา สามารถประสานความร่วมมือและระดมพลังการมีส่วนร่วมของผู้คนได้ ความรู้และการเห็นด้านที่เป็นทุนทางสังคมของตนเอง ก็จะทำให้มีฐานยืนเพื่อสนองตอบต่อความจำเป็นต่างๆได้ดีขึ้น
    • การเป็นนักวิจัยแบบชาวบ้าน สร้างความรู้และบันทึกความรู้จากประสบการณ์ชีวิตไว้มากๆอย่างเป็นเรื่องปรกติ พร้อมกับทำให้การคุยและสร้างสังคม มีความหมายต่อการเรียนรู้ทางสังคม และมีนัยยะต่อการคิดถึงส่วนรวมเพื่อทำสิ่งต่างๆให้สังคมด้วยมือเราเองเล็กๆน้อยๆ จึงเป็นหนึ่งในการก้าวเดินให้สามารถยกระดับไปสู่สิ่งที่กล่าวมาในข้างต้นได้ในสักวันหนึ่ง
    • ผมเลยนำเอาตัวอย่างของการเขียนความรู้และบันทึกเรื่อง การทำลานด้วยมูลสัตว์ของชาวบ้านและวิถีชีวิตชุมชน ซึ่งเขียนและเผยแพร่โดย คุณเสวก ใยอินทร์ กลุ่มพริกเกลือ ซึ่งเป็นคนหนองบัวและเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว ในบล๊อกกลุ่มพริกเกลือมาฝากเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นแรงบันดาลใจครับ คุณเสวกตอนนี้ทราบว่าไปตั้งหลักแหล่งอยู่เก้าเลี้ยวครับ
    • การทำลานและใช้มูลสัตว์(ขี้ควาย) ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ชุมชนสามารถพึ่งตนเองทั้งภูมิปัญญาและทรัพยากรที่ตนเองมีอยู่ ที่สำคัญกว่านั้น เป็นวิธีการที่กลมกลืนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างที่สุด เมื่อทำและใช้เพื่อกระบวนการผลิตในปีหนึ่งๆเสร็จ ก็สลายสู่ความเป็นธรรมชาติ
    • เราไม่ต้องกลับไปเป็นอย่างนั้นครับ แต่การนำมาเรียนรู้และทบทวน หาองค์ประกอบต่างๆภายใต้กระบวนการผลิตอย่างนั้นของชุมชน ให้มากมาย เราก็จะสามารถคิดและพัฒนาตนเองได้ดีกว่าเดิม
    • ลองแวะไปดูวิธีวาดและบันทึกความรู้เกี่ยวกับวิถีผลิตของชุมชนของคุณเสวกดูครับ สนุก ได้ข้อมูลและรายละเอียด รวมทั้งเห็นชีวิตจิตใจของชาวบ้านที่คนภายนอกอาจมองผ่าน เช่น การทำกังหันติดบนยอดไม้เพื่อให้ความเพลิดเพลิน ได้ยินเสียงดนตรีธรรมชาติ วัดทางลมและแรงลมเพื่อฝัดข้าวหรือทำงานเกษตรต่างๆ
    • การเรียนรู้และสร้างความรู้ เป็นมรรควิถี ที่จะนำไปสู่การสร้างสุขภาวะของชุมชนได้ครับ เฉพาะหน้าเลย คนทำก็มีความสุขและก่อเกิดสุขภาวะ อิ่มปีติจากภายใน ไม่เชื่อไปดูงานของคุณเสวกที่กลุ่มพริกกับเกลือครับ(คุณเสวกจะกรุณาเอารูปมาโพสต์ใส่ไว้ในนี้ด้วยก็จะเก็บรวบรวมไว้ดีขึ้นอีกแหล่งหนึ่งครับ ผมพยายามทำแล้ว แต่ทำไม่เป็น)
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    • รู้สึกดีใจภูมิใจและก็ปลื้มใจมากที่เวทีน้องใหม่นี้มีท่านผู้รู้ผู้ทำงานชุมชนเข้ามาเยี่ยมชนให้กำลังใจชาวหนองบัว คนหนองบัวคงจะต้องขออาศัยศึกษาเรียนรู้กับท่านเหล่านั้นไปด้วยความเต็มใจ
    • จะยินดีอย่างยิ่งถ้าท่านผู้รู้ทั้งหลายจะเมตตาถ่ายทอดความรู้ความคิดแนวทางปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่คนหนองบัว ชาวหนองบัวพร้อมที่จะเป็นผู้ศึกษาเรียนรู้ร่วมกันไปด้วยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์แห่งชีวิตจริงสู่การมีสุขภาวะที่ดีอย่างมีความสุขอย่างมั่นคงยั่นยืนต่อไป
    • ดอกบัวคุณครูอ้อยเล็กมองดูแล้วก็งดงามชื่นตาสุขใจ
    • เห็นถ้วยกาแฟของอาจารย์ณัฐพัชร์แล้วนึกอยากจะขออนุญาตมาไว้ใช้ที่กุฏิสักชุดจริง ๆ เลย
    • เห็นคำเชิญชวนของโยมอาจาย์วิรัตน์ให้อาตมาซึ่งเป็นผู้ทั้งขาดโอกาส และด้วยโอกาสมาช่วยขับเคลื่อนองคาพยพชุมชนหนองบัว สู่เวทีแห่งโลกภายนอกแล้ว ก็ยังนึกไม่ออกว่าจะช่วยอย่างไร เพราะอะไรจึงว่าอย่างนั้นละ ก็เพราะว่าชีวิตนี้ทั้งชีวิตขับเป็นอยู่อย่างเดียวแค่นั้นจริง ๆ คือการขับเกวียนอย่างอื่นขับไม่เป็นหรอก ถ้าขับเคลื่อนด้วยเกวียนนี่อาตามถนัดพอสมควรเลยแหละ
    • ถึงอย่างไรเสียก็จะลองขับเกวียนให้เคลื่อนไปอย่างมีพลังแบบคนเคยมีเกวียนนั่นแหละ ช้าแต่ชัวร์ คล้าย ๆ จักรยานคนจนของพี่แอ๊ว-ยอดรัก สลักใจ ประมาณนั้นเลย
    • ถ้าใครยังไม่เคยก็ลองดูได้ การขับเกวียน มือใหม่หัดขับเกวียนว่างั้นเถอะ
    • ไม่ยากหรอกแค่กระดิกซ้าย กระดิกขวา วัวควายก็พาเกวียนไปฉลุย
    • ไม่แน่นะเดี่ยวจะไหว้วานอาจารย์วิรัตน์หรือลูกศิษย์คนใหม่ของท่านก็ได้ คุณเสวก ใยอินทร์ ขณะนี้กำลังฝึกวาดภาพอย่างตั้งใจมาก ๆ สักวันสองวันนี้คงได้มีผลงานปรากฏออกสู่สายตาท่านผู้ชมแน่นอน.

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • การขี่เกวียน และขับเกวียนบรรทุกข้าว อย่างพระคุณเจ้าออกตัวนั้น อาจจะดูเหมือนเรื่องง่าย แต่ไม่ง่ายนะครับ ต้องเรียนรู้ มีฝีมือ มีความรู้หลายอย่างที่อยู่เบื้องหลังการทำได้มากเลยที่เดียว อย่างตอนนี้ให้ผมกองฟ่อนข้าว กับไปทอดแห ก็ทำไม่ได้แล้วครับ ถึงได้รู้ว่าเมื่อก่อนที่ทำได้นั้น มันเป็นเรื่องยากและต้องเรียนรู้มากจริงๆ

     

                          

     

    • อย่างที่เห็นในภาพนี้ การวางฟ่อนข้าวหรือมัดข้าวบรรทุกเกวียน  บรรทุกครั้งหนึ่งก็ ๕๐-๖๐ มัด สูงพอๆกับรถบรรทุก แต่เป็นศิลปะของการวางฟ่อนข้าวที่ไม่ใช้เชือกและสิ่งยิดโยงอย่างใดเลย
    • เรือนเกวียนก็สูงเพียงแค่ศอก กองมัดข้าวมากมายขนาดสูงเกินสองเท่าของคนและเกวียน อยู่ได้เพราะวิธีวางเรียงกันอย่างรู้จังหวะของการยึดตัวเองของฟ่อนข้าวจริงๆ หากใครไม่ฝึกก็มีหวังหล่นกระจุยกระจาย ทั้ังจะเสียหายและไม่มีทางขับขี่เกวียนบรรทุกข้าวได้

     

                             

     

    • การสีข้าวและตำข้าวครกกระเดื่องโดยเครื่องมือและวิธีการของชาวบ้าน ก็ต้องใช้ภูมิปัญญามากครับ แล้วก็เป็นศิลปะอย่างยิ่งสำหรับอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ ทุกอย่างคืนสู่ธรรมชาติได้หมดเลย
    • เรียกว่ามีความรู้และมีวิชาเพื่อแก้ปัญหาได้ในเงื่อนไขที่แตกต่างกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันก็ย่อมเสริมพลังให้ชุมชนเข้มแข็งทางปัญญาได้ครับ ความรู้ของท้องถิ่นและประสบการณ์ของชาวบ้านส่วนใหญ่จะใช้แก้ปัญหาได้และสะท้อนความเป็นเหตุเป็นผลกับวิถีชีวิตและปัจจัยแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนครับ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

                               ยกหัวคันนา

    • คนหนองบัวส่วนมากทำนาทำไร่ ที่ดินทำนาส่วนใหญ่จะเป็นดินทราย ดินทรายกับเก็บน้ำไว้ได้ไม่นาน นาข้าวที่เป็นดินทรายก็จะไม่งาม ผลผลิตก็ได้น้อยกว่าดินเหนียวเยอะ
    • แต่นาดินทรายก็ทำง่ายไม่เปรอะเปื้อนล้างยากเหมือนดินเหนียว การทำง่ายนี่เอง ทำให้มีวิธีทำยกหัวคันนาขึ้นมา ทำให้คันนามีความสวยงาม การยกหัวคันนาเป็นการทำให้นาดูดีเรียบร้อยสวยงาม บางเจ้าทำหัวคันตรงมาก ๆ ดูแล้วน่าเดินจริง ๆ
    • วิธีขุดดินแล้วเหวี่ยงจอบให้ดินไปโป๊ะเรียงกันซ้อนกันเป็นชั้น ๆ แน่นไม่รื่นไหลลงมา การโยนให้จังหวะจอบต้องแม่นแน่นอนมั่นคง มีผ่อนจังหวะ มีการโยนตัวของจอบอย่างพริ้วไหว คนยกหัวคันเป็นทำเป็นวันก็ไม่เหนื่อย แต่ถ้าทำไม่เป็นแค่ขุดจอบพักเดียวก็หอบลิ้นห้อยได้ง่าย ๆ
    • คนหนองบัวยกหัวคันนาสวยมาก คนรุ่นนั้นใครยกหัวคันนาสวยจะมีชื่อเสียงกันไปหลายหมู่บ้านเลยหนา เป็นที่ร่ำรือกล่าวขานถึงอย่างชื่นชม ถ้ามีลูกสาวด้วยแล้ว เจ้าหนุ่มคนไหนจะมาเป็นลูกเขยเจ้านี้ได้ต้องศึกษากันไม่น้อยต้องฝึกการยกหัวคันนาให้เชี่ยวชาญชำนาญฝีมือ
    • เท่าที่สังเกตเห็นคนหนองบัวจะเป็นละเอียดถี่ถ้วน จอบแต่ละบ้านบ่งบอกถึงความเป็นคนพิถีพิถันด้านฝีมือ คือดูกันที่ด้ามจอบบางคนทำสวยจริง ๆ จับได้เหมาะมือไม่หนักเทอะทะ ฟันหรือขุด จะช่วยให้มีพลังขุดติดดี เรียกว่าจอบขุดกินดินดี บางทีของตัวเองไม่ได้ดั่งใจเหมือนผู้อื่น ก็สามารถหยิบยืมมาใช้ได้ จอบขุดดีนั้นขุดกันจนจอบเหี้ยนแล้วเหี้ยนอีก
    • โยมลุงอาตมาทำจอบสวยขยันยกหัวคันนาและทำได้สวยอย่างมาก นาใครมีหัวคันสวยคนเลี้ยงควายก็เกรง ๆ เหมือกัน เพราะเจ้าของนาอาจะจะมีโมโหได้เลยแหละ เมื่อควายไปขวิดหัวคันเขาพังจึงต้องระวัง
    • ผู้เขียนก็ชอบยกหัวคันนาเหมือนกันเพราะขุดดินทรายนั้นขุดง่ายบางครั้งยกหัวคันนาจนเกือบค่ำค่อยขี่ควายเจ้าแบ้เพื่อนรักกลับบ้านสบายใจเฉิบ(อย่าว่าทรมานสัตว์นะ).

     

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • อ่านแล้วสนุกดีและได้ความรู้มากเลยครับ เป็นประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกันในรายละเอียดมากครับ ถึงแม้ผมจะเป็นลูกหลานคนหนองบัวเหมือนกัน แต่แถวบ้านผมนั้นเป็นดินเหนียว
    • พวกจอบ มีด และอุปกรณ์แถวบ้านผมนั้น หากใครเอาไปใช้แถวหนองบัวแล้วละก็เคืองกันตายเลยเพราะเจอดินทรายแล้วมันจะทื่อไปหมด ต้องเปลี่ยนเป็นชุดอื่น เวลาไปทำไร่แถวหนองบัวก็ต้องมีเครื่องมืออีกชุด
    • แต่การแทงพลั่วและโยนจอบจอบนั้น ทำได้เหมือนกันครับแต่แถวบ้านที่อยู่ในแหล่งดินเหนียวจะเก่งกว่า อันนี้แน่ใจครับเพราะผมเคยขุดดินและโยนจอบแถวหนองคอก มันง่ายกว่าแถวบ้านผมสัก ๑๐ เท่าครับ

     

                            

     

    • บางเรื่องที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ คือการยืนตกเบ็ดและล่อปลาด้วยคันเบ็ดยาวๆ ซึ่งคนหนองบัวยืนทำอย่างนั้นได้เป็นวันๆ แต่เวลาทำดูแล้วก็ทำไม่ได้อย่างคนหนองบัวที่อยู่ในตัวเมืองดั้งเดิม

     

                            

                             

    • อย่างการทำคันนานั้น นอกจากใช้ทักษะและความรู้เพื่อการปฏิบัติมากแล้ว ต้องเป็นคนเรียนรู้ผืนดินของตนเองมากครับ หากไปชนบทและสังเกตให้ดี  จะเห็นว่า คันนาตามท้องนานั้นไม่ได้เหมือนกันไปหมดทุกลูก มีคันนาใหญ่ คันนาซอยเล็ก และบางครั้งเป็นแนวตรงยาว บางครั้งเป็นแปลงเล็กแปลงน้อย บางครั้งมีคันยกสูงขวางแนวตะวันออก บางครั้งเป็นแนวยกสูงล่องลงใต้ เพื่อให้เหมาะกับทางน้ำจะเพาะที่ตรงนั้นกับระดับสูงต่ำไม่เท่ากันของที่ดิน
    • ทั้งหมดนี้ออกแบบเพื่อบริหารจัดการน้ำหลากและน้ำหน้าดิน เป็นลักษณะเฉพาะของเมืองร้อนชื้นอย่างประเทศไทยซึ่งจะมีน้ำในหน้าฝนและสะสมเป็นฤดูน้ำหลาก ความรู้ธรรมชาติในถิ่นฐานของตนเอง รู้จักลักษณะของที่ดินกับการวางแผนใช้น้ำในพื้นที่ตนเองเพื่อการเพาะปลูก เป็นศาสตร์ทำคันนาและแบ่งแปลงนาของชาวนาครับ
    • ต้องเรียนรู้เยอะ แต่ชาวนาและชาวบ้านมักพูดถ่ายทอดความรู้และสกัดความรู้อย่างนี้ออกมาไม่ได้ นอกจากต้องอยู่ด้วยกันเป็นชุมชนแล้วก็เรียนรู้เอาจากการดำเนินชีวิตและการลงมือทำให้ได้ประสบการณ์ตรง
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    สอก : ทางเกวียนสัญจรไปนา

    • ชุมชนหนองบัว นครสวรรค์ บริเวณชุมชนหนองบัว หนองกลับเป็นที่เนิน,โนน โคกดินทราย
    • ทุกหมู่บ้านในชุมชนดังกล่าวมีทางสำหรับสัญจรไปนาไร่ หรือเดินทางไปหมู่บ้านใกล้เคียง
    • ทางดังกล่าวนั้นมีลักษณะเป็นร่องทางน้ำไหลเมื่อฝนตกเป็นที่ระบายน้ำออกสู่ทุ่งนาไปลงครองเรือ ความกว้างของทางก็ประมาณถนนปัจจุบัน ทางที่เป็นสอกนี้มีทั้งในหมู่บ้านและทางไปนาไปไร่ของชาวบ้าน
    • ถ้าสอกอยู่ในหมู่บ้านหน้าน้ำหน้าฝนจะมีน้ำไหลตลอดฤดู น้ำก็สะอาดเพราะเป็นดินทรายมองเห็นปลากระซิว(ปลาซิว) เด็ก ๆ จะชอบนอนเล่นทางน้ำไหล โดยนอนเอาตัวขวางทางน้ำปิดทางน้ำไว้ หรือไม่ก็กอบดินทรายกุยดินทรายให้เป็นคันนากั้นน้ำพอน้ำไหลมาจนจะล้นก็จะคอยลุ้นว่า เขื่อนทรายน้อยจะต้านน้ำไหวไหม
    • ส่วนใหญ่กั้นไม่อยู่หรอก เพราะดินทรายเมื่อน้ำล้นมีทางให้น้ำไหลสักช่องเดียวคราวนี้แหละได้เฮ ทำนบน้อย กะบังน้อยพังไม่เป็นท่าสนุกดีทำเขื่อนทรายน้อนเนี่ย
    • สอกไปนาบางแห่งจะมีทรายเยอะจริง ๆ ควายเดินเหยียบเล็บกีบเท้าควาย-วัวจมดินเลย เดินตัวเปล่าไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าลากเกวียนไปด้วยละก็หนักมาก
    •  แค่เกวียนเปล่ามีแค่ครอบครัวเดียวนั่งอยู่ก็ลากกันตัวโก่งทีเดียว
    • ยิ่งขนหรือเข็นข้าวฟ่อนเต็มตู้เกวียนเหมือนเกวียนอาจารย์วิรัตน์ด้วยแล้ว สงสารวัว-ควายเลยนะ ต้องลากอย่างใช้กำลังสุด ๆ งอแงขึ้นมาก็จะโดนไม้ตะพดของโชว์เฟอร์ที่ขับเกวียนเข้าให้หลังลายเป็นปื้น
    • สอกไปนานี้เจ้าของนาต้องมีรั้วล้อมกันวัวควายกินด้วย ถ้าไม่ล้อมรั้วกันไว้ มีสิทธิ์โดนลูกแอน้อยบ้าง วัวบ้างควายบ้างเอื้อมไปกินได้สบาย
    • ฉะนั้นต้องมีหลักกระทู้ปักที่หัวคันนาระยะห่างประมาณสองเมตรกว่า แล้วมัดด้วยไม้ไผ่บ้าง ไม้ลวกบ้าง มัดเป็นสามแถวสี่แถวกันวัวควายกินข้าว
    • รั้วล้อมตามสอกนี้เป็นเช่นอย่างอื่นคือ บางเจ้าจักตอกสวยมัดก็สวยเรียบร้อยตรงดิ่งงามตา ไม้ไผ่ส่วนมากต้องมีหนามติดมาด้วยจึงจะดีเพราะกันวัวควายได้ดีชะงัด เอื้อมปากไปก็เจอหนามทิ่มก็ต้องถอยดีกว่า
    • หลักกระทู้ถ้าเป็นไม้มีแก่น เช่น ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้ประดู่ละก็จะทนใช้งานได้หลายปีทีเดียว พอเกี่ยวข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้วก็รื้อรั้วไปเก็บไว้ที่บ้าน พอถึงหน้าฝนก็นำไปล้อมรั้วใหม่อีกครั้ง
    • จากสอก ที่ควายเดิน เกวียนเดินสัญจรไปนา ก็มาเป็นถนนแทนไปนาแป๊บเดียวก็ถึง เหมือนการบินไทย แต่ถ้าเกวียนต้องตื่นแต่เช้าก่อนไก่โห่ ไปถึงนาก็ตะวันโผล่ขึ้นแดง ๆ
    • น้ำในทุ่งนากินได้อย่างเอร็ดอร่อยชื่นใจอย่าบอกใครเชียว.

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    หลุมละโลก :  ดินพรุในผืนนาสร้างใหม่

    • คนทำนาดินเหนียวอย่างแถวบ้านตาลิน ไม่มีแน่นอนเพราะเคยทำนาแถวห้วยน้อยก็ดินเหนียวเหมือนกัน
    • นาดินทรายไถง่ายดินจะร่วนทรุยจับตัวแบบหลวม ๆ ถ้าดินมับก็ไถยากนิดหนึ่ง
    • การทำนาดำก็ต้องไถตอนมีน้ำ นาที่เคยไถทุกปีเป็นประจำก็จะไถไม่ยากอะไร ขี้หญ้าก็ไม่มากมาย ไม่หนาแน่นเท่าไร ยกเว้นหญ้าแพรกที่นักเรียนนำดอกมาไหว้ครูนั่นแหละแน่นตึบขุดก็ยากไถก็ยากรากยึดดินไว้อย่างมั่นคงเชียว
    • ทุ่งนาแถวหนองบัวหนองกลับบางที่มีลักษณะเป็นเนินป่าละเมาะหรือชาวเรียกว่าโนน ส่วนใหญ่จะเป็นที่สูงทำนาไม่ค่อยได้กินถ้าทำไว้มักขาดน้ำหรือแห้งตายก่อน ไม่เหมือนพื้นนาในที่ราบหรือมาบลุ่ม
    • แต่มีบางปีที่น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ดีบนที่โนนที่ไม่เคยได้ทำก็ต้องลองทำดูบ้าง พื้นที่แบบนี้มักจะมีปุ๋ยตามธรรมชาติเยอะ ถ้าปลูกข้าวได้ละก็จะงดงามรวงโตเชียวแหละ
    • แต่ตอนไถนี่แหละพี่น้องเอ่ยด้วยความเป็นดินใหม่ไม่ได้ไถมาก่อนหรืออาจทำเป็นบางปีเว้นบ้างอะไรบ้าง เมื่อไปไถตอนมีน้ำก็จะเจอดินเป็นหลุมเป็นพรุโดยทั่วไป คนในบ้านเรียกหลุมชนิดนี้ว่า หลุมละโลก
    • เมื่อเจอแบบนี้ทั้งคนทั้งควายทั้งไถเอนเอียงกะเท่เร่บางทีคนก็หงายหลังได้ฮากันตรึมเลยนะ เรียกว่า ตกหลุมละโลก
    • ไถรอบตัวต่อไปควายมักจะขยาดหลุมละโลก ไล่ก็ไม่ค่อยไปเดินหน้ามั่ง ถอยหลังมั่ง เลี้ยวไปทางอื่นมั่ง
    • งานนี้พอจะได้ยินเสียงเจ้าของนาดังขรม เป็นเสียงไล่ควายที่อาจารย์วิรัตน์จำได้จนทุกวันนี้เป็นเสียงคราสสิคจริง ๆ ห้ามเลียนแบบ เลียนแบบก็ไม่เกิดอันตรายอะไรหรอก แต่คนเลียนแบบนั่นเองจะอดกลั้วหัวเราะตัวเองไม่ได้ มันก็ขำนะซิ.

     

     

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • ทั้งสอกและพรุนั้น การทำนาในพื้นที่ที่มีดินเป็นดินเหนียวจะไม่มีเหมือนแหล่งที่เป็นดินทรายหรอกครับ
    • เหตุผลก็จะชัดเจนจากเกร็ดความรู้ที่พระคุณเจ้าบันทึกจากประสบการณ์นั่ยเลยครับ
    • แถวหนองบัว ทางเกวียนและทางควายเดินนั้น จะเดินไปหลากหลายเหมือนอย่างพื้นที่ที่เป็นดินเหนียวไม่ค่อยได้ เพราะในแหล่งที่เป็นพรุ ก็จะอันตรายต่อวัวควาย เกวียน รวมไปจนถึงคน
    • ร่องเกวียนจึงต้องมีการทำให้เป็นแนวที่แน่นอน ดังนั้น จึงต้องมีสอกครับ ซึ่งเหมือนกับได้รับการตรวจสอบแน่นอนว่าไม่มีพรุ ไม่ว่าจะเป็นหน้าฝนและหน้าน้ำหลาก
    • อันที่จริงลักษณะเกวียน ล้อเลื่อน และล้อลาก ของชาวบ้านหนองบัวในพื้นที่ที่เป็นดินทรายนั้น ก็ต่างจากที่อื่นด้วยครับ การทำกงล้อจะเรียวเล็กและล้อกว้างกว่านาดินเหนียว หน้ากว้างของล้อก็แคบกว่าเกวียนในถิ่นที่เป็นดินเหนียว เพราะเหมาะสำหรับลากในโคลนและฝุ่นที่เป็นทรายครับ 

    ขอแนะนำคนหนองบัวและศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัวให้เป็นแหล่งข้อมูลบุคคลไว้นะครับ หากดูในรายนามที่ผมได้ใส่ไว้ในเครือข่ายที่ปรึกษาทางวิชาการนั้น เป็นการทำอย่างไม่เป็นทางการและทำให้พอเป็นแนวพัฒนาในโอกาสต่อไปเท่านั้นครับ แต่คนที่ได้ขอนำเอารายชื่อมาแสดงไว้นั้น เป็นแหล่งวิทยาการและเป็นทุนบุคคลากรที่อาจจะเป็นโอกาสการพัฒนาของหนองบัวได้ครับ เลยอยากถือโอกาสแนะนำย่อๆ

    • นายแพทย์สมพงษ์ ยูงทอง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์นั้น เดิมนั้นเป็นแพทย์ศัลยกรรมสมองที่มีอยู่ไม่กี่คนในประเทศไทย ท่านอยู่ที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ แล้วก็เป็นคนทำงานแนวประชาสังคมมาอย่างยาวนานด้วย เคยมาจัดเวทีกับคนหนองบัว หลายคนที่เป็นคนทำงานในท้องถิ่นคงเป็นเครือข่ายการทำงานกันอยู่
    • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นคร เหมะ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดลนั้น นอกจากเป็นผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว ท่านเป็นนักฟิสิกส์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีวิสัยทัศน์ต่อการพัฒนาสังคมและท้องถิ่นด้วย ท่านให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และสนใจงานพัฒนาทางการศึกษา สักวันหนึ่งลูกหลานคนหนองบัวน่าจะมีโอกาสได้ฟังบรรยายจากท่านบ้าง
    • คุณปริญญารัตน์ แซ่แต้ ก็เป็นศิษย์เก่าหนองคอกครับ ตอนนี้ร้านขายของของเธออยู่ในตลาดข้างศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์นั่นเอง เป็นเครือข่ายที่อยู่ในทอ้งถิ่นอีกคนหนึ่งนะครับ
    • อาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ของหนองบัวนั้น เป็นคนทำงานทางการเรียนการสอนด้วยและพัฒนาสถานศึกษาแนวที่เชื่อมโยงกับชุมชนและบูรณาการมิติอื่นๆด้วย โดยเฉพาะแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สมุนไพร การสร้างสุขภาพ และการเรียนรู้จากการปฏิบัติของนักเรียน
    • รองศาสตราจารย์ ดร.เสน่ห์ จุ้ยโตนั้น เป็นลูกหนองบัวและศิษย์เก่าของโรงเรียนหนองคอกครับ บ้านอยู่ข้างศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์นั่นเอง เป็นนักวิชาการที่ทำวิจัยและมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการพัฒนาองค์กรท้องถิ่น ธรรมาภิบาล และการบริหารจัดการองค์กรที่เด่นที่สุดคนหนึ่งในระดับชาติครับ คงจะเป็นทุนทางสังคมให้คนหนองบัวและท้องถิ่นหนองบัวได้อย่างดีครับ
    • คุณนิจ เพชรคงนั้น เป็นคนบ้านหนองบัว วัดเทพสุทธาวาสครับ เป็นวิศวกรโยธาที่ผ่านประสบการณ์ทั้งงานสนาม การบริหาร และการทำงานวิชาการ เป็นศิษย์เก่าหนองคอกครับ
    • คุณประเวศ รักษพล เป็นคนหนองบัวบ้านอยู่ข้างเกาะลอยน่ะครับ ปัจจุบันท่านเป็นอัยการศาลปกครอง แล้วก็เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนหนองคอกเช่นกันครับ
    • คุณพีระ คำศรีจันทร์ เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนหนองคอก แล้วก็เป็นคนบ้านตาลิน เคยมาเป็นพัฒนากรของอำเภอหนองบัว ทำงานกับคนท้องถิ่นหนองบัว ปัจจุบันเป็นนักวิชาการพัฒนาชุมชน ชำนาญการ อยู่ที่อุ้มผาง จังหวัดตาก
    • รองศาสตราจารย์ ดร.รุจโรจน์ แก้วอุไร เป็นอาจารย์อยู่มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลกนี่เองครับ เป็นคนต่างจังหวัดและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษากับการพัฒนาความเข้มแข็งของภาคสังคมด้วย ที่สำคัญคือท่านสนใจขอเป็นเพื่อนกับชาวหนองบัวในเวทีนี้นะครับ
    • คุณจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร นักศึกษาปริญญาเอก สาขาประชากรศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นคนเมืองปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นคนต่างจังหวัดและมีประสบการณ์ทำงานชุมชนไปจนถึงงานระดับชาติ เป็นลูกหลานคนชนบทที่จะเป็นเพื่อนคิดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปกับคนหนองบัวได้อย่างดีแน่ๆครับ

    ในเรื่องการรู้ว่าใครอยู่ที่ไหนทำอะไรนั้นก็ดีเหมือนกันนะครับ ผมลองแนะนำนำร่องให้ครับ ท่านอื่นๆหากแนะนำตนเองหรือแนะนำเพื่อนที่ตนเองรู้จัก เก็บรวบรวมไว้ในนั้ก็ดีนะครับ แนะนำตนเองและหากเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนหนองคอก ก็บอกด้วยว่ารุ่นปีไหนหรือรุ่นเท่าไหร่ มีเพื่อนๆพออ้างถึงได้ใครบ้าง อย่างนี้ก็ดีนะครับ 

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    • อาจารย์แนะนำคนหนองบัวฝ่ายคฤหัสถ์แล้ว
    • อาตมาก็จะขอแนะนำคนหนองบัวฝ่ายบรรพชิต(สงฆ์)บ้าง ลองหาดูแล้วก็ยังไม่ทราบรายละเอียดมากนัก
    • วันนีขอนำเสนอสักสองสามท่านก่อน วันหน้าคงได้หามาเพิ่มเติม
    • พระราชปริยัติ(สฤษดิ์ สิริธโร-ประธาตุ ป.ธ.๙,กศม.,พธ.ด.) เจ้าอาวาสวัดนครสวรรค์ เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ รูปปัจจุบัน และผู้อำนายการวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ ท่านเจ้าคุณเป็นคนห้วยร่วม ท่านเป็นผู้ที่เรียนหนังสือเก่งมีความจำดี
    • เรียนภาษาบาลีจบเปรียญ ๙  และตอนนี้ท่านก็เรียนจบระดับปริญญาเอกแล้วอีกด้วย
    •  นับว่าเป็นผู้นำผู้บริหารฝ่ายสงฆ์ระดับจังหวัดที่มีไม่กี่รูปในประเทศไทยที่เรียนจบระดับ ป.ธ.๙และปริญญาเอก พระเดชพระคุณเป็นคนหนุ่มเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลเกี่ยวกับการศึกษาสงฆ์ ขณะนี้ได้ขยายสถานที่เรียนจากวัดนครสวรรค์ไปที่บริเวณใกล้ ๆ  โรงพยาบาลแม่และเด็กนครสวรรค์ตรงปากทางแยกไปชุมแสง-หนองบัว
    • พระมหาจิตวิทย์(ทองคำ) ป.ธ ๖ คนบ้านหนองนมวัว จบพุทธศาสตรบัณฑิต เป็นนักกิจกรรมเด่นเมื่อตอนเรียนพุทธศาสตร์ ได้ไปจัดบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนที่วัดหนองกลับหลายปี
    • ขณะนี้ท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย รัฐเคด้า ได้เป็นพระครูสัญญาบัตร
    • พระมหาฉลวย กิตฺติปาโล (แสนเหมือน) ป.ธ ๓ คนบ้านเนินขวางใกล้ ๆ วัดเทพสุทธาวาส
    • ท่านนี้ก็เป็นพุทธศาสตรบัณฑิตที่โดดเด่นอีกท่านหนึ่ง ท่านชอบทำกิจกรรมมีอัธยาศัยไมตรีใจคอกว้างขวาง ถนัดงานเผยแผ่
    • ตอนนี้ท่านจำพรรษาอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา สิบกว่าปีแล้ว ทั้งสองท่านนี้ไม่ได้เจอกันสิบกว่าปีแล้ว

    วันหน้าจะได้นำเสอท่านอื่นต่อไป

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

     

     

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    • จะขอกล่าวถึงบุคคลเล็ก ๆ ที่เป็นพลเมืองที่มีจิตสาธราณะ
    • ที่ตนมีความผูกพันกับความศรัทธาความเลื่อมใสต่อสงฆ์ของคนหนองบัวเฉพาะด้านซึ่งมองดูว่าเป็นสิ่งที่อาจมองเห็นเป็นเรื่องพื้น ๆ ธรรมดามากในสายตาของหลาย ๆ คน
    • เพราะไม่เป็นที่กล่าวขานเอ่ยถึงและจดจำของผู้คนและก็อาจจะลืมหรือไม่เคยทราบมาก่อนก็เป็นได้
    • แต่ผู้ทำนั้นแน่นอนว่าต้องเป็นความทรงจำที่ดีและถือว่าเป็นบุญของตนที่ได้ทำสิ่งนี้
    • หลวงพ่ออ๋อยนั้นท่านเป็นที่เคารพนับถือไม่ใช่เฉพาะคนหนองบัวเท่านั้นแต่ท่านยังเป็นที่เคารพนับถือแก่คนทั่วไปอีกด้วย
    • เพราะหลายคนเวลาพูดคุยซักถามถึงท่านก็มักจะเอ่ยชื่อท่าน เช่น วัดก็เรียกว่าวัดหลวงพ่ออ๋อย สระน้ำหลวงพ่ออ๋อย วัวหลวงพ่ออ๋อย ศาลาใหญ่วัดหลวงพ่ออ๋อย
    • ชื่อดังกล่าวเหล่านี้บ่งบอกถึงความรักเคารพนับถือของประชาชนที่มีต่อหลวงพ่ออ๋อย วัดหนองกลับ อำเภอหนองบัวได้เป็นอย่างดี
    • หลวงพ่ออ๋อยจึงถือได้ว่าพระคุณท่านเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของอำเภอหนองบัวคือเมื่อกล่าวถึงหนองบัว ก็ต้องนึกถึงหลวงพ่ออ๋อย เมื่อพูดถึงหลวงพ่ออ๋อยก็คือกล่าวถึงหนองบัวประมาณนั้นเลยทีเดียว
    • บุคคลผู้มีจิตสาธารณะที่เกริ่นไว้ตอนต้นเกี่ยวข้องกับหลวงพ่ออ๋อยอยู่คือท่านมีภาระหน้าที่อย่างหนึ่งโดยทำเดือนละครั้ง
    • ท่านผู้อ่านคงนึกไปได้หลายประการ หรืออาจจะนึกไม่ออกก็เป็นเป็นได้ ว่าเอทำอะไรหนอเดือนละครั้ง
    • อันที่จริงหน้าที่นี้น่าจะเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ในวัดมากกว่า แต่เหตุฉะไฉน พระท่านจึงไม่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ให้หลวงพ่ออ๋อย
    • เฉลยก็ได้ว่าทำอะไรเดือนละครั้ง ก็คือการปลงผม การปลงผมพระท่านก็ปลง(โกน)เดือนละครั้ง
    • ผู้ที่มาปลงผมให้หลวงพ่ออ๋อยเป็นประจำคือช่างตัดผมในตลาดหนองบัว เรียกว่ามืออาชีพ ท่านเป็นผู้ที่ลูกค้าที่มาใช้บริการกล่าวถึงในด้านการตัดผมว่า มือเบา เป็นช่างมือเบา
    • คือตัดผมโกนผมแล้วไม่เจ็บไม่นั่งตัวเกร็ง เราให้ท่านตัดผมก็นั่งหรือนอนด้วยความสบายใจ เรียกว่าเพลิดเพลินก็ยังได้
    • คือจะมีช่างบางท่านตัดผมดี แต่ตอนโกนท้ายทอยมือจะหนัก บีบขมับ กดมีดโกนเราก็นั่งตัวเกร็งเลยซี กว่าจะตัดเสร็จเสียวท้ายทอยแปล้บ ๆ เลยหนา
    • ช่างโน้ม  เหว่าโต คือช่างตัดผมที่มาปลงผมให้หลวงพ่ออ๋อยทุกเดือน ช่างโน้ม เหว่าโต เป็นลูกทายยกอินทร์ เหว่าโต บ้านเนินตาโพ
    • ร้านตัดผมของท่านอยู่ห้องแถวฝั่งตะวันตกทางแยกไปวัดเทพสุทธาวาสเยื้อง ๆ กับโรงพยาบาลคริสเตียนเก่านั่นเอง
    • นอกจากเป็นช่างตัดผมแล้ว ก็ยังช่วยเป็นพิธีกรโฆษกงานวัด งานอื่น ๆ ด้วย
    • ตัดผมมือเบาลูกค้าติดใจในฝีมือยิ่งใกล้ ๆ งานบุญขนมห่อ(บุญเข้าพรรษา)ด้วยแล้วต้องนั่งรอคิวกันยาวเป็นครึ่งค่อนวัน
    • ช่วงที่รอคิวตัดผม ก็ต้องมีกิจกรรมประจำยอดฮิดสมัยนั้น หมากฮ๊อตเอย หมาแยกเอย
    • บางคนมีฝีมือฉกาจฉกรรฉ์นัก เรียกว่าปราบรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ รุ่นเฒ่าเก่าแก่ ราบราบหมดเพราะอะไร ก็เพราะมาฝึกปรือวิทยายุทธิ์ทุกวัน
    • มาทีไรก็ต้องเห็นเจ้านี้ว่างั้นเถอะ เล่นเพลินติดพันถึงคิดตัวเองแล้วไม่เป็นไร ให้ผู้อื่นลัดคิวไปก่อนก็มี เพราะกำลังมัน(คิดวางหมากอย่างหนักอยู่)
    • ถ้าฮ๊อตละก็ยังจำน้าทิดเชยคนหองกลับได้เลย คมมีฝืมือดีคนนั้น
    • เอพูดถึงหลวงปู่ และพูดถึงช่างตัดผมอยู่ดี ๆ ทำไมจึงมาจบตรงหมากฮ๊อตได้ละเนี่ย นี่ก็ดีนักหนาแล้วที่ไม่ไปจบตรงนางแบบสุดฮ็อต

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ตามมาอ่านต่อครับ

    อ่านบันทึกแลกเปลี่ยนระหว่างท่านอาจารย์และพระอาจารย์

    เหมือนนั่งพระเทศน์สองธรรมมาสน์เลยครับ

    สวัสดีค่ะอาจารย์วิรัตน์..ได้อ่านบันทึกแล้วชื่นชมและอยากจะร่วมเพื่อความเป็นอยู่ชอบวิถีชีวิตพื้นบ้าน และความมีจิตสาธารณะของผู้คน..อยากให้ทุกคนมีจิตสาธารณะค่ะ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล สวัสดีครับหนานเกียรติ และคุณครูรุจี เฉลิมสุข ครับ

    • พระสงฆ์ที่พระคุณเจ้านำมาบันทึกรวบรวมไว้นี้ มีคุณค่าต่อชุมชนและสังคมทั้งในท้องถิ่นและวงกว้างมากครับ ถือว่าเป็นทุนมนุษย์และทุนทางปัญญาที่สำคัญอย่างยิ่งของชุมชนครับ
    • ร้านตัดผม ช่างตัดผม กับคนนั่งเล่นหมากฮอร์สนี่ ถือว่าเป็นพื้นที่สร้างความเคลื่อนไหวทางสังคมของชุมชนท้องถิ่น และเป็นที่ทำให้ภาวะผู้นำเป็นกลุ่มของชาวบ้านเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ บางทีการหารือและคิดริเริ่มที่จะทำงานส่วนรวมของชุมชน หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำมาหากิน ก็อาจเกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะในความดูแลของปัจเจกในลักษณะนี้แหละครับ
    • บางทีการสำรวจและรวบรวมพื้นที่สาธารณะและแหล่งชุมชนเล็กๆอย่างนี้ ซึ่งในพื้นที่หนึ่งๆ ก็จะมีความจำเพาะแตกต่างกันไปตามลักษณะชุมชน เช่น ร้านตัดผม คิวรถเมล์ ศาลานั่งพักปากทาง ฯลฯ รวบรวมไว้แล้วก็นำมาวิเคราะห์ศักยภาพเสียใหม่เพื่อวางแผนพัฒนาชุมชนของตัวเอง ก็อาจจะกลายเป็นเครือข่ายบริหารจัดการความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่ช่วยชุมชนได้อย่างมากทันทีครับ
    • แหล่งพบปะของกลุ่มคนเหล่านี้เพียง ๒๐-๓๐ แห่งในชุมชนหนึ่ง หากออกแบบเสียใหม่ให้เป็นเครือข่ายจัดการความรู้และจัดการการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงของชุมชน ผมเคยทำในลักษณะนี้ในอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ก็พบว่า หากเราทำสื่อสิ่งพิมพ์ แทนที่จะเผยแพร่โดยส่งไปยังผู้รับเป็นรายบุคคลซึ่งเป็นเรื่องหนักหนาสาหัส กินแรงกำลังคนและต้องใช้ทรัพยากร-ค่าใช้จ่ายมาก หากทำในระยะยาวก็จะทำไม่ไหว ก็สำรวจและวิเคราะห์ศักยภาพของชุมชนในด้านนี้เสียใหม่ ปรากฏว่า การเผยแพร่สื่อในแหล่งอย่างนี้ ๔๐-๕๐ แห่งเท่านั้น เพียง ๑-๒ วันก็จะสามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้ ๒-๓ พันคน เกือบทั่วอำเภอเลยทีเดียว
    • ความรู้เกี่ยวกับชุมชน เมื่อเขียนด้วยชาวบ้านและคนท้องถิ่น เราจะเห็นความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งของสังคมต่างๆครับว่า มีคนตัวเล็กๆชาวบ้านๆที่ไม่มีตัวตนอย่างใดในสังคมเลย เช่น ช่างตัดผม คนปลงผมพระ และอีกมากมาย เป็นองค์ประกอบที่ทำให้ชุมชนเกิดพัฒนาการ มีความเคลื่อนไหว มีลมหายใจและจิตวิญญาณ งานเขียนความรู้และการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างนี้ จึงเป็นการทำให้ชุมชนเห็นศักยภาพและความเป็นจริงของตนเองที่สมบูรณ์มากขึ้น
    • หนานเกียรติและคุณครูรุจีมีเรื่องราวของชนบททางเหนือหรือเรื่องอื่นๆที่ช่วยขยายโลกทัศน์และชีวทัศน์ ตลอดจนการเรียนรู้สังคมให้ทุกคนได้ ก็เชิญตามอัธยาศัยเลยนะครับ

    มารายงานตัวก่อน แต่ขออนุญาตเตรียมสอบภาค ข สักแป๊บค่ะ

    แล้วจะเข้ามาอ่านรายละเอียด แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยค่ะ

    ขอบพระคุณค่ะ

    สวัสดีครับคุณครูจุฑารัตน์  งั้นขอแนะนำให้กับชาวหนองบัวและทุกท่านที่มาร่วมเป็นเครือข่ายเรียนรู้กับคนหนองบัวเลยนะครับ คุณครูจุฑารัตน์ ปัจจุบันเป็นครูอยู่ที่สำนักงานพื้นที่การศึกษา เขต ๒ จังหวัดกำแพงเพชร เป็นคนหนองบัวและเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว ผมลิ๊งค์ไปยังบล๊อกของเธอไว้แล้ว ตรงหัวข้อ แลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาการเรียนการสอน เข้าไปเยี่ยม ทักทาย ขอแบ่งปันประสบการณ์ (คุณครูจุฑารัตน์เป็นบล๊อกเกอร์ที่ได้รางวัล Best of the month ของ GotoKnow นี้ด้วย)และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้เลยครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    • ขอแนะนำคนหนองบัวฝ่ายบรรพชิต(สงฆ์) เพิ่มเติมจากเมื่อวานนี้
    • พระครูศรีนิภากร(สุธีร์ สุธีโร ฉ่ำน้อย ป.ธ.๖) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนครสวรรค์พระอารามหลวง
    • ท่านเป็นคนบ้านเนินตาเกิดติดกับสระน้ำหนองกลับ ศิษย์วัดเทพสุทธาวาสศิษย์หลวงพ่อปาน วัดเทพสุทธาวาส
    • เป็นครูสอนฝ่ายพระปริยัติธรรมแผนกบาลีมานาน
    • ได้เป็นเปรียญตั้งแต่ยังเป็นสามเณร ถือว่าเป็นลูกหนองบัวที่ได้ช่วยงานพระศาสนาฝ่ายการศึกษาภาษาบาลีตั้งแต่เป็นสามเณรเลยทีเดียว
    • พระมหาภิรมย์ ป.ธ.๙ ศิษย์หลวงพ่อหลุย วัดป่ามะเขือ เป็นคนหนองบัว จำพรรษาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร
    • พระมหาชูชาติ  ป.ธ. ๙  คนหนองบัว ปัจจุบันศึกษาและจำพรรษาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร
    • ยินดีด้วยที่คุณครูจุฑารัตน์มาเยี่ยมเยือนและจะกลับมาคืนสู่เหย้าบ้านหนองบัว
    • ชาวหนองบัวคงจะได้ศิษย์เก่าที่มีความสามารถมาช่วยขับเคลื่อนพลังแห่งการเรียนรู้และประสบการณ์ตรงจากคุณครูท่านนี้อย่างแน่นอน.

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • กราบอนุโมทนาในการรวบรวมคนหนองบัวฝ่ายบรรพชิตแล้วนำมาบันทึกไว้ในนี้ของพระคุณเจ้าครับ
    • ผมเชื่อว่าสักพักหนึ่ง คงจะมีใครดึงออกมารวบรวม แล้วก็จัดหมวดหมู่ให้เป็นระยะๆครับ

    กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    น้ำฝน-คนเมือง-เรื่องน้ำ(ไม่)เน่า

    คนเมืองโดยทั่วไปไม่ค่อยรักฝน มีทัศนะต่อฝนไม่เป็นไปในเชิงบวกเท่าไร

    แต่คนบ้านนอก ชาวนา ชาวไร่ จะมองอีกแบบหนึ่งเป็นอะไรก็ได้ดังใจปรารถนาคนบ้านนอกอยากได้น้ำฝน(เพราะมีต้นข้าวที่กำลังคอยฝน)เป็นอะไรได้บ้างเชิญชม(อ่าน)

    • น้ำ(ฝน)เป็นสิ่งศักสิทธิ์
    • เป็นชีวิต
    • เป็นเลือด
    • เป็นเนื้อ
    • เป็นมรรค
    • เป็นผล
    • เป็นที่พึ่ง
    • เป็นสรณะ
    • เป็นความหวัง
    • เป็นทุนชีวิต
    • เป็นทั้งหมดของชีวิตของสังคม
    • เป็นหลักประกันความสุขความปลอดภัย
    • เป็นความดี
    •  เป็นความสุข
    • เป็นความก้าวหน้า
    • เป็นความอยู่รอดของชีวิตและสังคม
    •  เป็นหลักชัยแห่งชีวิต
    • เป็นหลักชัยแห่งสังคม
    • เป็นตัวบ่งชี้แห่งความอุดมสมบูรณ์แห่งมนุษยชาติ
    • เป็นสายเลือดแห่งชีวิต
    • เป็นที่สืบต่อเผ่าพันธุ์สรรพชีวิต
    • เป็นความผูกพัน
    • เป็นเยื่อใย
    • เป็นหลักการ
    • เป็นยิ่งกว่าปัจจัยสี่
    • เป็นเส้นทางชีวิต
    • เป็นที่สัญจร(เป็นถนนคนทางน้ำ)
    • เป็นชุมชน
    • เป็นสังคม
    • เป็นวิถีชีวิต
    • เป็นเหตุ-ผล
    • เป็นอิทัปปัจจยตา
    • เป็นพระ
    • เป็นครู
    • เป็นหมอ
    • เป็นพรหม
    • เป็นเทพ
    • เป็นเทวดา
    • เป็นนางฟ้
    • เป็นเทพธิดา
    • เป็นเทพบุตร
    • เป็นยาใจคนจน
    • เป็นปริญญาของชาวนา-ชาวสวน-ชาวไร่
    • เป็นนางงาม
    • เป็นนางเอก
    • เป็นพระเอก
    • เป็นดารา
    • เป็นศิลปิน
    • เป็นผู้ให้
    • เป็นพ่อพระ
    • เป็นแม่พระ
    • เป็นพี่ชายที่แสนดี
    • เป็นลมหายใจ
    • เป็นพ่อ
    • เป็นแม่
    • เป็นธรรมชาติ
    • เป็นธรรมะ
    • เป็นคุณธรรม
    • เป็นศีลธรรม
    • เป็นคุณธรรม
    • เป็นจริยธรรม
    • เป็นความดี
    • เป็นความรัก
    • เป็นความรอด
    • เป็นกัลยาณมิตร
    • เป็นเพื่อนแท้
    • เป็นสวรรค์
    • เป็นเจ้าชาย
    • เป็นเจ้าหญิง
    • เป็นราชา
    • เป็นศาสดา
    • เป็นเจ้า
    • เป็นนาย
    • เป็นประมุข
    • เป็นโลก
    • เป็นจักรวาล
    • เป็นพระจันทร์
    • เป็นพระอาทิตย์
    • เป็นดาวในดวงใจ
    • เป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง
    • เป็นพระเจ้าอย่างแท้จริง
    • เป็น เป็น เป็น........และก็เป็น

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

     

     

                               

    นมัสการพระอาจารย์มหาและ...สวัสดีพี่วิรัตน์ค่ะ..เอาฝนมาฝากค่ะ..ฝน2ภาพล่างนั้นทำเองกับมือเลยค่ะ..มีความสุขในวันหยุดนะคะ..

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ขออนุโมทนาขอบคุณคุณครูอ้อยเล็กเป็นอย่างมาก

    ชื่นใจจังเลยนะคุณครูอ้อยเล็ก

    ชาวนาคงมีความสุขมากเลยที่คุณครูอ้อยเล็กทำฝนส่งมาให้

    ขอบคุณครูอ้อยเล็กแทนพี่น้องชาวหนองบัวด้วย

    เจริญธรรม

    • คุยเรื่องฝนเรื่องน้ำสำหรับคนหนองบัวนั้น เมื่อก่อนนี้ ก็จะมีความกันหมายต่อการทำมาหากินอย่างที่สุด ทุกปีคนหนองบัวจะมีประสบการณ์ในการขาดแคลนน้ำ การมีน้ำดื่มกินให้พออยู่ได้จะต้องอาศัยปัจจัยความเป็นชุมชน ต้องรู้ประมาณการใช้ทรัพยากรที่เป็นแหล่งน้ำร่วมกัน หน้าแล้งก็จะต้องจำกัดการใช้น้ำของตนเองเพื่อให้เพียงพอต่อคนอื่นๆด้วย
    • บางปีนอกจากขาดแคลนอย่างที่สุดแล้ว น้ำที่พอมีก็ขุ่นคลั่ก ต้องแกว่งสารส้มให้ได้น้ำสักครึ่งโอ่งและอีกครึ่งหนึ่งก็เป็นน้ำโคลน แล้วก็ดื่มกินกันอย่างเฝื่อนๆไปทั้งฤดู แต่ก็อยู่กันได้ เมื่อตอนผมเป็นเด็กเรียนอยู่ในตัวอำเภอ ทั้งครู นักเรียน และชาวบ้าน ก็ต้องดื่มกินน้ำแบบเดียวกันทั้งอำเภอ
    • เวลามีฝนตกสำหรับคนหนองบัวแล้ว จึงหมายถึงความหวังและการมีชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม ผู้คนจะตื่นตัวกุลีกุจอล้างโอ่งและเพื่อเตรียมรองน้ำฝน แถวบ้านผมก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกันครับ

     

                                

     

    • ยิ่งกว่านั้น เมื่อหน้าแล้งที่หญ้าและซังข้าวแห้งนั้น ชาวบ้านก็มักจุดไฟเผาหญ้ากับซังข้าวเพื่อเตรียมดินขั้นหนึ่งก่อนสำหรับการไถดะพลิกหน้าดินรอฤดูการเพาะปลูก หลังจากนั้นแล้วท้องนาก็จะโล่งและดินก็จะแข็งเป๊ก สภาพอย่างนี้ก็ทำให้คนร้อน ห่อเหี่ยว และรอคอย ต้องเล่นสงกรานต์และลูกช่วงไปพลางๆ สภาพแบบนี้ผู้คนจึงต่างก็เฝ้ารอคอยให้ฝนตก

     

                       

     

    • พอมีฝนตกเท่านั้น ทุกอย่างพลันก็จะมีชีวิตชีวา อะไรจะหอมลึกล้ำเข้าไปถึงหัวใจและจิตวิญญาณของคนที่อยู่บ้านนอกได้เท่ากับหอมกลิ่นดินของวันแรกที่ฝนตก กับกลิ่นควันและข้าวใหม่หลังการเก็บเกี่ยว หญ้าอ่อนจะเริ่มงอก ใบไม้ไม้จะผลิใบ ทั้งวัวควายและคนซึ่งกินฟางแห้งๆและเดินกลางทุ่งร้อนแล้งมาหลยเดือนก็จะคึกคัก พลังความมีชีวิตยามนั้นอธิบายไม่ถูกเลยทีเดียว น้ำฝนและฝนตกจึงบอกถึงการเริ่มต้น และวงจรการมีชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุข สดใส รื่นรมย์

     

                               

     

    • แต่เด็กๆที่ต้องไปโรงเรียนและพระซึ่งต้องมีวัตรปฏิบัติต่อชุมชนในการต้องไปบิณฑบาตรยามเช้า การมีฝนตกทำให้การสัญจรในท้องถิ่นมีความยากลำบากสำหรับเด็กๆ  และทำให้พระออกบิณฑบาตรไม่ได้ ก็ทำให้ชุมชนต้องนึกถึงการพัฒนาถนนหนทางและการเดินทางในท้องถิ่นที่มีความปลอดภัย
    • ในการดูแลพระและวัด ก็มีวิธีหมุนเวียนกันทำปิ่นโตและสำรับอาหารเพื่อถวายแก่พระ ฝนตกจึงมีความหมายต่อการอดทน ฝ่าฟัน และต่อสู้กับความยากลำบากที่อยู่ในวิถีชีวิต

     

                               

     

    • แต่เดี๋ยวนี้ ฝนตกทีบางปีผิดจังหวะ ผิดฤดูกาล รวมทั้งลักษณะพันธ์ข้าวที่ชาวบ้านปลูกส่วนใหญ่ก็เป็นข้าวสำหรับนาปรังและหมุนเวียนปลูกในแหล่งที่จัดการน้ำเพื่อการเพาะปลูกจากระบบชลประทาน บางทีข้าวเลยไปแก่เอาตอนที่ฝนอาจจะตกลงมา พอฝนตกลงมาอย่างนี้ชาวนาก็น้ำตาตก
    • มีเพลง เหมือนข้าวคอยฝน ก็สื่ออารมณ์เพลงทำนองนี้ละครับ คือ... ฝนเปรียบดังความหวังที่ผู้คนรอคอย แต่ข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแรงบันดาลใจของเพลงก็จะบอกต่อไปอีกว่า อย่าอยู่อย่างข้าวคอยฝน หรือรอให้สิ่งที่เป็นความหวังมาหาเรา ซึ่งอาจจะมาหรือไม่มา ก็รอคอยและหวังไปลมๆแล็งๆ แต่ขอให้ลุกขึ้น เพื่อสร้างหนทางและเดินทางไปสู่สิ่งที่หวังนั้นด้วย                          

                                

    • อันที่จริงเรื่องน้ำและการพัฒนาสภาพการดำเนินชีวิตต่างๆของชุมชนของคนหนองบัว สามารถนำมาเป็นหัวข้อการเรียนรู้และทำสิ่งต่างๆได้อีกเยอะครับ แถวบ้านผมเริ่มมีระบบคลองที่จัดการน้ำได้ดีกว่าเดิม ผมว่าสักวันหนึ่งก็จะลองไปเดินสำรวจและประมวลภาพมาให้ดูครับ
    • อ้อ ขอบคุณคุณครูอ้อยเล็กด้วยครับ ที่นำรูปสวยๆมาแบ่งปันกันดู รูปฝนตกดูสดชื่นดีจังเลยนะครับ เลยขอนำมาโพสต์อีก 
    • เมื่อพูดถึงเรื่องฝน ในสมัยก่อนน้ำฝนสะอาดมาก ใช้ดื่มได้ทีเดียว
    • ตอนเป็นเด็กพอฝนตกชอบมากค่ะ รองน้ำฝนไปด้วย ถือโอกาสเล่นน้ำฝนอย่างสนุกสนาน ไม่กลัวเป็นหวัด 
    • หลังคาบ้านที่มุงด้วยสังกะสี  จะทำรางน้ำไว้ทุกบ้าน
    • มีกรวยสังกะสี และต่อท่อกลมๆยาวลงมา ถ้าจำไม่ผิดเคยได้ยินเขาเรียกว่า ใช้บัตกรี มีอุปกรณ์เป็นแท่งตะกั่ว หัวแร้งใช้เผากับเตาถ่าน  
    • เดี๋ยวนี้จะใช้สายยางต่อลงมาจากกรวยแทนค่ะ 
    • รองน้ำเต็มถังแล้วหิ้วไปเทใส่โอ่ง
    • ปากโอ่งวางผ้าข้าวบาง เพื่อใช้สำหรับกรองน้ำให้ใสสะอาด ไม่มีเศษผงเจือปน
    • ถ้ามีโอ่งหลายใบสามารถเก็บน้ำฝน พอดื่มได้ตลอดปีเลยค่ะ 
    • แต่ต้องระวังเรื่องฟ้าด้วยเหมือนกัน
    • พอฝนตกมีอะไรๆเปลี่ยนไปอีกค่ะ
    • อย่างเช่น คอกควาย เขาจะทำให้ต่ำหน่อย ฝนตกน้ำจะขัง เจอขี้ควายบ้าง ดินในคอกบ้าง ทำให้เละเทะกลายเป็นขึ้โคลน ควายก็ชอบนอนคลุกเกลือกกลิ้ง พอกตัวหนาเตอะ ทำให้ป้องกันเหลือบ ริ้น และพวกยุงที่มากัดกินเลือดได้
    • เช้ามืดก็จูงควายไปล้างก่อนออกไปทำงาน
    • บางทีเจ้าสี่ขามีเขา สลัดโคลนใส่เจ้าของด้วย ก็ล้างทั้งคนทั้งควายเลย
    • อิอิ..ที่เรียกว่ากลิ่นโคลนสาบควายเป็นแบบนี้เองค่ะ
    • ตอนนี้อาจห่างหายไปบ้าง
    • ติวเข้มค่ะ เตรียมสอบภาค ข  ผอ.ร.ร.
    • และเมื่อปีที่แล้วกระดูกไหปลาร้าหัก  คุณหมอบอกว่ากระดูกไม่ติด
    • ต้นเดือนตุลาคมต้องผ่าตัดใส่เหล็กค่ะ 
    • ขอบพระคุณพี่ชายที่ให้โอกาสพูดคุย วิถีชีวิตของชาวชนบทบ้านเรา ชาวนครสวรรค์ค่ะ

    หน้าฝนที่หมู่บ้านที่เคยอยู่จะมาคู่กับฤดูน้ำหลากเสมอทุกปีจนถึงเดือน 12 น้ำนองเต็มตลิ่งพอเข้าเดือนตุลาฝนเริ่มซาลมหนาวโชยมาน้ำก็จะแห้งตามไปด้วย หมู่บ้านก็จะกลับคืนสู่สภาพปกติ.. บ้านทุกหลังในหมู้บ้านเป็นเรือนยกใต้ถุนสูงทั้งสิ้น ทุกบ้านมีเรือใช้กันทุกหลัง เรือเป็นพาหนะสำคัญ ทั้งใช้ไปธุระ หาปลา ไปดูนา หรือแม้กระทั่งพวกเด็กๆอย่างครูอ้อยใช้พายเล่นกัน พายแข่งกัน การเตรียมเรือ พ่อ-แม่ ปู่ย่าตายาย จะเอาเรือคว่ำไว้โดยมีขอนไม้หนุนไว้ ให้แห้งสนิทตลอดฤดูแล้ง พอใกล้ๆน้ำมา ก็เกณฑ์พวกเราเด็กๆ กะเทาะชันที่ยาเรือออก เศษชันนั้นแม่หัดให้เราเก็บไว้ทำเชื้อไฟเวลาหุงข้าวติดดีจังค่ะ..ส่วนผสมของชัน ก็มีตัวชัน น้ำมันยาง ผสมกันนวดให้เหนียว เแล้วนำไปยาปิดรอยรั่วของเรือ หรือตะเข็บรอยต่อของเรือให้สนิท ยาทั้งนอกเรือและในเรือ การยาเรือต้องใช้เวลาเพื่อที่จะให้ชันนั้นแห้งสนิทดีแล้วจึงค่อยยาด้านนอกเรืออีกทีหนึ่ง ขั้นตอนสุดท้ายใช้น้ำมันยางในปริมาณมากชันพอประมาณผสมให้ได้ลักษณะเหมือนน้ำเชื่อมข้นๆอาบเรืออีกทีนึงเป็นการเคลือบผิวเรือค่ะ ขั้นตอนที่สำคัญก่อนหน้าที่จะลงชันนั่นก็คือการทำความสะอาดเรือดังที่ว่าต้องทำให้เกลี้ยงเกลา การลงชันจึงจะไม่เกิดปัญหารอยรั่วตามมาค่ะ..พวกเราจะสนุกมากเวลามีการเตรียมเรือเพราะเราจะนั่งปั้นอะไรต่ออะไรของเราเล่นไปเลยแข่งกับการยาเรือของผู้ใหญ่ นั่นคือเมื่อเราปั้นจะเสร็จหรือไม่เสร็จก็ตามผู้ใหญ่จะรวบชันไปรวมและนวดแล้วยาเรือต่อไป..การเล่นสนุกของพวกเราก็พลอยจบไปพร้อมๆกับเรือที่ลงชันเสร็จแล้ว พอเรือแห้งสนิทน้ำเริ่มมา เหล่าพาหนะของเราก็ลอยละล่องในน้ำพวกเราส่งเสียงดังลั่นทุ่งเมื่อผู้ใหญ่หลับไหลที่บ้าน เพราะเราจะได้เอาเรือออกไปพายแข่งกัน เล่นน้ำ งมหอย จับปลาเก็บผักท้องนา จนได้เวลาเราจะเอาเรือมาคืนและบ้านใครบ้านมันจัดแจงทำอาหารที่ได้จากการเล่นไว้สำหรับมือต่อไป..นี่คือความสุขที่ครูอ้อยเล็กจดจำได้เสมอ..เป็นคนอะไรไม่รู้ชอบจำอดีตจังเลย..แจ่มชั้นดีจังหรือว่าช่วงนั้นเรามีความสุขการทำงานของระบบความจำพัฒนาได้ดีก็ไม่ทราบนะคะ..อิๆๆ

    ขอแสดงความเคารพและสวัสดีผมได้ลองเข้ามาอ่านในเวบนี้เห็นเป็นเวบของการเรียนรู้ประสบการณ์และแลกเปลี่ยนซี่งกันและกันส่วนมากจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำเภอหนองบัว เมื่อหลายปีก่อนผมก็เคยไปเที่ยวที่อำเภอหนองบัว และได้ไปเที่ยววัดหนองกลับซึ่งเป็นวัดที่หลวงพ่อเดิมเคยมาช่วยทำการก่อสร้างศาลาการเปรียญหลังใหญ่ซี่งถือว่างดงามและสง่างามสมกับเป็นวัดคู่อำเภอหนองบัวและที่จะลืมไม่ได้ก็คือพิพิธภัณฑ์ในวัดที่เป็นแหล่งเรียนรู้ได้ดีเยี่ยมที่สุดผมชอบใจมากเพราะเป็นการรวบรวมเก็บอนุรักโบราณวัตถุ ขอโทษทีครับผมแพร่มมากไปหน่อย ผมขอชมเชยอาจารย์ ดร.วิรัตน์ ที่ได้สร้างสรรค์เวทีแห่งการเรียนนี้ขึ้นและเป็นผู้จุดประกายไฟแห่งการเรียนรู้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันในอีกหลายๆ ท่าน

    แต่ในฐานะที่ผมเป็นคนต่างถิ่นคงจะไม่มีความรู้ในเขตพื้นที่อำเภอหนองบัวดีซักเท่าไหร่และผมก็อยากนำเสนอสิ่งใหม่ซึ่งมีอะไรหลายๆ อย่างที่ไม่เหมือนกันที่หนองบัว ผมเป็นคนเมืองชายแดน แคว้นขุนเขา ผมเกิดที่จังหวัดอุตรดิตถ์ซึ่งหมู่บ้านอำเภอของผมมีสภาพเป็นป่าและภูเขามาก จนในอดีตมีคำกล่าวว่า อยู่ไกล ไปยาก และลำบาก คือบ้านโคก ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุตรดิตถ์ ความแตกต่างทางกายภาพ สภาพภูมิศาสตร์ ทำให้ชุมชนของผม ไม่เหมือนชุมชนซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม การคมนาคมสะดวกสบาย ความแตกต่างเหล่านี้เองทำให้ชุมชนของผม จากบ้านห้วย กล้วยป่า มีวิถีชีวิตที่ผูกพันธ์กับธรรมชาติมากเพราะว่ามองไปทางใหนก็มีแต่ป่าแต่เขา

    อย่างเช่นที่วัดบ้านเกิดของผม มีต้นมะม่วงอยู่สองต้น อายุหลายร้อนปีแล้ว ถ้าใช้คนโอบก็คงประมาณซัก 10 -12 ได้ มีเรื่องเล่าขานกันว่าในต้นมะม่วงนี้มีเจ้าเทพดา อารักษ์ รักษาอยู่ โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ พ่อโช้น แม่โช้น พ่อตู้ แม่ตู้ จะนับถือกันมาก เวลาไปวัดหรือมีงานอะไรที่วัดจะต้องมีการทำพิธีกราบใหว้ และนิยมเอาข้าวเหนียวไปติดที่ต้นมะม่วงนี้ จนขาวเป็นจุด ๆ ไป แต่พวกเด็กจะมีความเกรงกลัวกันมาก

    ผมขอเล่าเพียงแค่นี้ก่อนครับถ้ามีโอกาศเดี่ยวผมจะเข้ามาเล่าสู่กันฟังใหม่ ( หนาน....แสนเหมียง )

    สวัสดีครับคุณครูจุฑารัตน์

    • ขอต้อนรับกลับบ้าน คนหนองบัว ลูกหลานหนองบัว และเพื่อนๆ คงจะดีใจแล้วก็รู้สึกว่าวงเสวนาแคบลงและมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นนะครับ ได้เห็นคนรุ่นใกล้ๆกันและสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนที่ร่วมประสบการณ์กันได้มากขึ้น
    • การได้รองน้ำฝนไว้ดื่มกินและใช้อุปโภคบริโภคให้ได้ตลอดปีนี่เมื่อก่อนก็ต้องถือว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้แก้ปัญหาสาธารณสุขได้หลายอย่างครับ การทำงานสาธารณสุขชุมชนและงานสาธารณสุขมูลฐานเลยถือว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการสร้างการพึ่งตนเองทางสุขภาพของประชาชน แต่เดี๋ยวนี้น้ำดื่มและน้ำสะอาด นอกจากจะมีราคาที่เริ่มเกินกำลังของคนรายได้น้อยแล้ว ยังหายากอีกด้วย คนยากจน ชาวบ้าน และชุมชน อาจต้องกลับมาฟื้นฟูการรองน้ำฝนและเก็บน้ำไว้ใช้อีกก็ได้ บ้านผมที่บ้านนอกเดี๋ยวนี้ก็ยังต้องรองน้ำฝนไว้ดื่มกินและใช้ในบ้านตลอดปีครับ
    • ขอให้กำลังใจในการสอบขึ้นเป็นผู้บริหารสถานศึกษานะครับ แล้วก็ขอให้สุขภาพดีดังเดิมโดยเร็วครับ

    สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็ก

    • คุณครูอ้อยเล็กเก็บรายละเอียดช่วงชีวิตในวัยเด็กได้มากมายดีจริงๆ แล้วก็เล่าได้สนุกครับ ประสบการณ์ชีวิตดี๊-ดี ประสบการณ์การทำงานก็ดี เลยลิ๊งค์ให้คนที่สนใจได้มีโอกาสเข้าไปรู้จักคุณครูอ้อยเล็กนะครับ โดยเฉพาะพนักงานองค์กรท้องถิ่นกับคนทำงานภาคการศึกษาขององค์กรปกครองและองค์กรบริหารของท้องถิ่นแบบต่างๆ
    • การได้รำลึกถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ทำให้เรามีความสุข ก็ให้หลักคิดเราได้อย่างหนึ่งนะครับว่า ทำวันนี้ด้วยหัวจิตหัวใจ รู้อดทนและรอคอย ก็จะทำให้เราได้ความทรงจำ เพื่อการได้นำมารำลึกถึงและมีความสุขอย่างลึกซึ้งขึ้นมาใหม่ๆอีกในอนาคตนะครับ
    • ชาวบ้านแถวบ้านผมเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีก่อน เวลาได้ไปนครปฐมแถวบ้านคุณครูอ้อย ก็มักจะเตรียมตัวอย่างดีและเมื่อกลับมาแล้วก็มักมีเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังอย่างกับได้ไปแสวงบุญที่นอกโลกเลยทีเดียว จะคุยกันถึงการได้ไปกราบนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์และพระร่วงโรจน์ฤทธิ์ การได้ไปเห็นเจดีย์สูงเทียมนกเขาเหิน เรื่องราวของพระยากง พระยาพาน แล้วก็ข้าวหลามของคนเมืองนครปฐม
    • ขอบคุณที่แวะมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์ให้กับคนหนองบัวครับ แวะมาอีกบ่อยๆ นะครับ
    • ท่านพระมหาแล คุณเสวก คุณครูเอนก คุณพีรณัฐ กลุ่มพริกเกลือ และคนหนองบัวอีกหลายท่าน สงสัยกำลังไปหาวงกลองยาวมารับแขก เลยปล่อยให้ผมต้อนรับสันถวะแขกและมิตรแก้วของคนหนองบัวอยู่คนเดียวกระมังครับ นิมนต์และเชิญทุกท่านนะครับ รวมทั้งท่านอื่นๆก็เข้ามาคุยได้เลยครับ ทำอย่างสบายๆครับ ได้มีที่ถามไถ่ เห็นข่าวคราวกันในท้องถิ่น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตกัน ก็ดีมากมายแล้วครับ

    สวัสดีหนานแสนเหมียงครับ

    • ขอคารวะหนานแสนเหมียงด้วยเช่นกันครับ
    • เป็นเวทีให้หนองบัวเอาไว้คุยและพัฒนาการเรียนรู้เกี่ยวกับตนเองด้วย แต่ก็หวังให้เป็นเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนทั่วไปที่มุ่งหาแหล่งสำหรับพัฒนาตนเองและมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาเรื่องสวนรวมอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องท้องถิ่นของตนเองหรือเรื่องของหนองบัวก็ได้ครับ
    • การสะท้อนว่าได้ความประทับใจต่อวัดหนองกลับ วัดหลวงพ่อเดิม และพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ในวัดหนองกลับ เป็นการสื่อสะท้อนให้เห็นอย่างหนึ่งว่า การส่งเสริมการเดินทางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการท่องเที่ยวที่มุ่งให้เกิดการเรียนรู้ทางสังคม-วัฒนธรรม ตลอดจนสภาพบ้านช่องและวิถีชีวิตของผู้คนนั้น เป็นการทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ได้มีส่วนร่วมต่อการขับเคลื่อนวัฒนธรรมการเรียนรู้และยกระดับรสนิยมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดีนะครับ
    • อย่างเรื่องสภาพป่าเขาที่ผูกพันกับคนท้องถิ่นที่ก่อเกิดและอยู่อาศัย รวมทั้งต้นมะม่วงและวัฒนธรรมระบบอาวุโสอย่างที่หนายแสนเหมียงเล่าถ่ายทอดและนำมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่งชุมชนที่ต่างถิ่นกันนี้ หากให้คนอื่นที่เป็นคนภายนอกคุยและเขียนเป็นความรู้เกี่ยวกับชุมชน ก็คงจะถูกมองข้ามและไม่เห็นความสำคัญ ในขณะที่สำหรับชาวบ้านแล้ว กลับเป็นเหมือนชีวิตและจิตวิญญาณของหมู่บ้าน นำมาเล่าและเก็บรวบรวมไว้เถอะครับ
    • เมื่อก่อนคนแถวบ้านผมเวลานึกถึงอุตรดิตถ์แล้วก็มักจะนึกถึงรางสาด เหล็กไหล และเมืองลับแลครับ ผมเองนั้นก็มักจะนึกถึงอุโมงค์รถไฟถ้ำขุนตาลและการแสวงหาเส้นทางสร้างถนนและรถไฟเชื่อมโยงถึงกันของภาคเหนือกับภาคกลาง นึกถึงบ้านของหม่อมคึกฤทธิ์ท่ามกลางดงต้นสนสามใบและลุงแก่ๆที่อยู่ในบ้านไม้ที่คอยเฝ้าอย่างโดดเดี่ยวอยู่กลางขุนเขา แล้วก็นึกถึงเสือสมิงและบรรยากาศล่องป่าอย่างในงานเขียนของพนมเทียนที่เคยอ่านเมื่อตอนเด็กๆ
    • แวะมาเยือนกันอีกนะครับ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    • ก่อนอื่นก็ต้องขอต้อบรับท่านผู้อ่านและท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือนทุกท่านด้วยความยินดี
    • วันนี้เข้าไปในเมืองพิษณุโลก กลับมาเห็นมีแขกมาเยี่ยมเยือนถึงบ้านก็รู้สึกยินดีและขอบคุณมากที่ท่านมาให้กำลังใจชาวหนองบัว
    • ตามธรรมเนียนคนหนองบัวก็ต้องต้อนรับผู้มาเยือนถึงเรือนชานด้วยเมนูเด็ดประจำเมืองหนองบัวแก่ท่านด้วยพริกเกลือท่านละกระปุกสองกระปุกสำหรับมิตรภาพที่ดี
    • ติดต่อวงกลองยาวแล้วไม่ว่าง พอดีมีงานเข้า เพราะว่างมานานแล้ว มือกลองต้องไปรับจ้างขุดมันสำปะหรัง และสับมันที่หน้าโรงงาน
    • ได้อ่านข้อเขียนคุณครูอ้อยเล็กแล้วนึกเห็นภาพอำเภอชุมแสงซึ่งติดกับอำเภอหนองบัวเลย แต่ชุมแสงพื้นที่ต่ำมีน้ำท่วมทุกปีชาวบ้านก็จะมีเรือไว้ใช้หน้าน้ำ ซึ่งผิดกับหนองบัวเป็นที่ดอนโดยเฉพาะบ้านหนองบัวหนองกลับไม่มีเรือและพายเรือก็ไม่เป็นอีกด้วย
    • เคยลองฝึกพายเรือที่คลองห้วยน้อยครั้งหนึ่งแต่เรือมันวน ไม่ยอมเคลื่อนตัวไปข้างหน้า น้ำก็ลึกมากด้วยกลัวตกน้ำเลยต้องล้มเลิก คนบ้านดอนมีประสบการณ์คือการขับเกวียน
    • เวลาไปไหว้องค์พระปฐมเจดีย์ที่นครปฐมแล้ว ได้เห็นพระเณรและแม่ชีท่านนั่งเรียนบาลีที่วิหารคตหรือศาลารายรอบองค์พระแล้วก็นึกถึงบรรยากาสการศึกษาสมัยเก่าก่อน ห้องเรียนมีสภาพเป็นธรรมชาติ จิตใจก็หวนรำลึกถึงอดีตอันไกลโพ้นไปด้วย
    • ขอบคุณคุณหนานแสนเหมียงที่แวะมาเยี่ยมเยือนคนหนองบัว
    • สหรับอุตรดิตถ์แล้วเคยไปที่อำเภอท่าปลา ได้ชมเขื่อนดินที่ท่าปลามีสภาพธรรมที่สวยงามมาก เป็นเมืองที่มีตำนานเรื่องราวน่าสนใจมากมายมีผลไม้ที่มีชื่อเสียงแยะ
    • ขอให้คุณหนานแสนเหมียงนำเรื่องราวในชุมชนอำเภอบ้านโคก มาให้ชาวหนองบัวศึกษาเรียนรู้บ้างในโอกาสต่อไปจะยินดีอย่างมาก
    • คุณครูจุฑารัตน์เล่าเรื่องกลิ่นโคลนสาบควายแล้วเลยรู้สึกอบอุ่นขึ้นมาทันทีเพราะเรามีเพื่อนร่วมประสบการณ์เดียวกันแล้ว ต่อจากนี้คงไม่เหงาอีกต่อไป

    ขอเจริญพร

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล...

    • เวลาไปไหว้องค์พระปฐมเจดีย์ที่นครปฐมแล้ว ได้เห็นพระเณรและแม่ชีท่านนั่งเรียนบาลีที่วิหารคตหรือศาลารายรอบองค์พระแล้วก็นึกถึงบรรยากาสการศึกษาสมัยเก่าก่อน ห้องเรียนมีสภาพเป็นธรรมชาติ จิตใจก็หวนรำลึกถึงอดีตอันไกลโพ้นไปด้วย
    นำภาพระเบียงคตและการเรียนพระปริยัติธรรมของพระและเณรมาฝากค่ะ...ครูอ้อยเล็กชอบไปไหนติดกล้องไปด้วยเสมอ..ด้วยเห็นความสำคัญว่าบางทีเราเก็บความทรงจำไว้ด้วยภาพถ่ายเป็นการดีที่สุด..ตอนนี้เทคโนโลยีก็ก้าวไกลสามารถช่วยเราจดจำเหตุการณ์ต่างๆได้เป็นอย่างดี..ดังที่ว่าภาพเพียง 1 ภาพ เล่าเรื่องราวได้ดีกว่าคำบรรยายหลายๆบรรทัดด้วยซ้ำไปค่ะ....
    ระเบียงคต ทุกครั้งที่ไปนมัสการพระร่วงโรจนฤทธิ์หรือมีกิจกรรมที่เกี่ยวพันกับองค์พระปฐมเจดีย์ ครูอ้อยเล็กจะนึกถึงช่างสมัยก่อนเป็นที่สุด..ชมชื่นว่าคนสมัยก่อนรุ่นปู่ย่าตายายของเราเก่งจริงๆเลย..สามารถสร้างสิ่งเจดีย์องค์ใหญ่จนเคยได้เป็น 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก ได้สัดส่วนแม่นยำไม่มีบิดเบี้ยวเลยค่ะ..
    ด้านในเป็นที่เรียนของพระและเณร..ลมเย็นตลอดเวลาค่ะ..

    สวัสดีค่ะอาจารย์

    อ่านบันทึกแล้ว อาจารย์คงมีงานที่รับผิดชอบมาก และคงยุ่งกับงานอย่างงหนัก

    รักษาสุขภาพนะคะ

    อ้อ อยากขอทราบที่อยู่โดยละเอียด และชื่อผู้รับของโรงเรียนวันครูด้วยน่ะค่ะ เพราะทราบแต่ชื่อ อำเภอ จังหวัดเท่านั้นค่ะ

    ขอบพระคุณค่ะ

    กลองยาว แตรวง และกิจกรรมทางศาสนา กับการสร้างชีวิตความเป็นชุมชน

  • อ่านที่พระคุณเจ้าบอกว่ามือกลองยาวกำลังไปรับจ้างขุดมันสำปะหลังและสับมันอยู่หน้าโรงงานแล้ว ก็ต้องขำครับ
  • ในความเป็นจริงก็จะเป็นอย่างนั้นนะครับ เมื่อก่อนที่ผมอยู่บ้านตาลินและเล่นแตรวงนั้น บางทีก็เกี่ยวข้าวอยู่ครับ แต่จู่ๆก็อาจจะมีความจำเป็นต้องรวมตัวแตรวงไปช่วยงานกันอย่างปัจจุบันทันด่วน เช่น มีคนเสียชีวิตและจัดการงานศพ ก็ต้องไปช่วยงานกัน มีงานวัด กฐิน ผ้าป่า ที่เกิดมีคนมาถึงมืดค่ำและไม่มีอะไรต้อนรับแขกเหรื่อต่างชุมชน ก็ต้องไปเล่นรำวงให้ชาวบ้านอยู่ด้วยกันเพื่อทำบุญด้วยกันในวันรุ่งขึ้น 
  • พอเป็นอย่างนี้ก็ต้องเดินตามกัน บางทีก็กำลังโก้งโค้งเกี่ยวข้าวหรือเลื่อยไม้อยู่กลางทุ่งตัวมันเลื่อมอยู่โน่นแหละครับ บางทีก็ทอดแห ลอยคองมปลากันอยู่ในคลอง บางคนก็โน่นไปหักข้าวโพดและเก็บถั่วเขียวอยู่ในไร่เขามรกตโน่น พอครบวงก็ไปครับ พอล้างโคลนและหมาดเหงื่อก็ต้องทำความไพเราะ ความรื่นรมย์ หรือเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมและกิจกรรมให้กับชุมชน
  • พระเณร โฆษกชุมชนและมัคนายกก็เหมือนกันครับ บางทีกำลังมุงกระเบื้องและทำจั่วศาลาอยู่ ก็ต้องลงมาและไปทำหน้าที่ให้กับชุมชน ผมคุ้นเคยกับบรรยากาศและวิถีชีวิตอย่างนี้ดีครับ เพราะเวลาแตรวงไปถึงแล้ว ไม่นานก็จะเป็นพระ และเวลาพระถึงบ้านงาน รวมทั้งหลังจากสวดและเสร็จสิ้นพิธีกรรม แตรวงก็จะมีเพลงเล่นบูชาพระรัตนตรัยและเพลงประกอบพิธีกรรมอย่างเป็นการเฉพาะ คนได้ยินก็จะรู้ว่าจะต้องเตรียมตัวและรู้ลำดับสิ่งที่จะต้องทำไปด้วยกันอย่างพร้อมเพรียง ชาวบ้านก็อยู่ด้วยกันมาอย่างนี้ เป็นชีวิตจิตใจและลมหายใจเดียวกัน
  •                                        

  • สิ่งต่างๆที่ชาวบ้านประดิษฐ์และสร้างขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่จะทำขึ้นมาเพื่อธำรงความเป็นกลุ่มก้อนและสานความเป็นชีวิตของชุมชน มีความเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและความเป็นเหตุเป็นผลเพื่อขับเคลื่อนสิ่งต่างๆของชุมชนอยู่ การเห็นสิ่งนี้แล้ว จึงควรศึกษา-เรียนรู้ชุมชนให้รอบด้าน มีความเป็นบูรณาการ สะท้อนบริบทชุมชน หากทำอย่างแยกส่วนสิ่งต่างๆก็จะขาดหายไปมากมาย เช่น หากคิดว่าแตรวงและกลองยาว เป็นดนตรีที่มีความไพเราะอยู่ที่ตัวโน๊ด เสียงบรรเลง และทักษะของผู้แสดงออกมา ก็จะได้แต่เพลงบรรเลงและการเล่นที่ดี แต่ไม่ได้พลังของชีวิตที่อยู่ในดนตรีและกลองยาว อย่างนี้เป็นต้น
    • ขอบคุณคุณครูอ้อยเล็กที่นำภาพระเบียงคดและการศึกษาของพระภิกษุสามาเณรมาถ่ายทอดและบันทึกไว้ร่วมกับคนหนองบัวครับ ระเบียงคดขององค์พระปฐมเจดีย์นั้นถือเป็นอัจฉริยภาพทางสถาปัตยกรรมของคนเก่าก่อนมากนะครับ ที่อื่นก็พอมีครับ แต่โดยมากจะทำให้โค้งเพื่อแก้ปัญหาการย่อมุมที่ไม่ลงตัว ที่โค้งและคดโดยออกแบบให้กลมกลืนรอบเจดีย์ เพื่อขับให้องค์เจดีย์เป็นประธาน เหมือนกับจัดวางองค์ประกอบต่างๆให้ไปด้วยกันทั้งอาณาบริเวณนั้น ก็มีที่องค์พระปฐมเจดีย์นี่แหละครับ
    • คุณครูอ้อยเล็กนอกจากถ่ายภาพและบอกเล่าด้วยภาษาภาพถ่ายกับภาษาศิลปะได้ดีมากอย่างยิ่งแล้ว ยังให้ความรอบรู้และเขียนถ่ายทอดได้ดีจริงๆมากด้วยนะครับ เป็นครูและสื่อการเรียนรู้ที่บูรณาการดีจังเลยครับ มีภาพเยอะๆและเกร็ดเรื่องราวอย่างนี้ดีครับ คนที่เป็นครูบ้านนอกและเด็กๆในต่างจังหวัด จะได้มีสื่อการเรียนการสอนที่หลากหลาย เป็นการช่วยเสริมกำลังกันให้ทำงานได้เข้มแข็งและดีขึ้นในทางอ้อมน่ะครับ
    • ขอบคุณครับคุณณัฐรดา
    • แล้วก็อนุโมทนาในสิ่งที่กำลังทำให้สังคมนะครับ 
    • คงต้องยอมให้คุณณัฐรดาส่งไปบริจาคเองแล้วนะครับ แต่เดิมผมบอกน้องๆว่าผมขอมีส่วนร่วม จะซื้อหนังสือของคุณณัฐรดาไปบริจาคให้ จะได้ไม่เบียดเบียน เกินแรงของคนที่อยากทำเพื่อส่วนรวม และทำอย่างนี้ได้นานๆ
    • ชื่อโรงเรียนและชื่อผู้อำนวยการคงบอกได้นะครับ เพราะเผยแพร่อยู่ทั่วไปและค้นหาทางอินเตอร์เน็ตนี้ก็มีอยู่แล้ว คือ
    • นายประสงค์ เดือนหงาย ผู้อำนวยการ โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) หมู่ ๕ ตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ๖๐๑๑๐ ครับ
    • ขออนุโมทนาด้วยครับ ผมจะสานต่อกิจกรรมของคุณณัฐรดาด้วยแน่นอนครับ กำลังเตรียมอยู่ครับ จะให้เด็กเรียนศิลปะโดยวาดรูปวิจัยชุมชน แล้วก็เอาชาวบ้านมานั่งถอดบทเรียนและถ่ายทอดประสบการณ์รวบรวมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับชุมชน ตอนนี้ที่เขียนไปก่อนหน้านี้ใน GotoKnow ก็ถือว่าเป็นการซ้อมมือ-ซ้อมวิชาและให้มีตัวอย่างที่จะสื่อกับชาวบ้านและคนที่เกี่ยวข้องต่างๆให้เขาเห็นภาพว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไรและดีต่อชุมชนอย่างไร  ตอนนี้พร้อมพอสมควร รอจังหวะที่จิตว่างๆสักหน่อยเท่านั้นเองครับ

    กราบสวัสดีครับ ท่านอาจารย์ วิรัตน์ และทุกๆท่านที่มาเพิ่มเติมแหล่งความรู้

    • จากวันนั้นจนถึงวันนี้ผมเองยังไม่หายตื่นเต้น กันเวทีแห่งนี้เลยครับ ทุกครั้งที่เปิดเข้ามาผมมีความรู้สึกว่าขนลุกอย่างไรชอบกลถ้าพูดกันแบบชาวบ้านก็คือจับอะไรไม่ถูกเลยทีเดียวแต่ก็ต้องขอขอบพระคุณท่านอาจารย์วิรัตน์เป็นอย่างยิ่งด้วยครับเหมือนราวกับว่าเนรมิตรทุกสิ่งให้มาอยู่รวมกันยิ่งกว่า ห้างสรรพสินค้าเสียอีกด้วย เมื่อนักแสวงหาแหล่งความรู้ ย่างก้าวเข้ามาก็จะได้รับความรู้หลากหลายติดมือกลับไปที่สุดนี้คือหากน้องๆนักเรียน ที่ต้องการหาข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนและวัดเพื่อทำรายงานส่งครูก็ไม่ต้องออกเดินไปตามหมู่บ้านเช่นเคยแล้ว และอีกอย่าง ท่านผู้ปกครองก็ไม่ต้องกังวลอีกด้วยครับ
    • พอจะช่วยอะไรอาจารย์ได้บ้างครับ
    • ภาพนี้ที่บ้านผมเรียกว่า หยกปลาช่อนครับ
    • ใช้คันเบ็ดใหญ่ๆหยก ตามทุ่งนา หรือแถวคลองที่น้ำไหล
    • ใช้ลูกเขียดเป็นเหยื่อล่อ
    • ตอนเด็กๆๆผมทำบ่อย
    • พอโตมาไม่เห็นใคร จับปลาด้วยวิธีนี้แล้วครับ
    • รอไปช่วยถอดบทเรียนด้วยได้ไหมครับ

    การเป็นแหล่งทรัพยากรความรู้ ส่งเสริมการพัฒนาการเรียนรู้ชุมชนและส่งเสริมการพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียน

     

    สวัสดีครับคุณเสวก ใยอินทร์

    เห็นด้วยต่อการเล็งเห็นการสร้างความรู้และแหล่งการเรียนรู้ชุมชนไว้หนุนโรงเรียน

    • ประเด็นการเป็นแหล่งสนับสนุนการพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนอย่างที่คุณเสวกพูดถึงนั้น  ผมเห็นด้วยและขอสนับสนุนอย่างที่สุดเลยครับ ผมเห็นข้อเสนออย่างนี้แล้วก็ทั้งตื้นตันใจและเห็นประโยชน์ที่จะเป็นตัวบอกเราไปในตัวด้วยว่าเราจะร่วมมือกันผ่านการสร้างความรู้ตุนไว้ในนี้อย่างไรบ้าง อย่าว่าแต่โรงเรียนเลย องค์กรท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และกลุ่มคนที่ทำงานในท้องถิ่น ก้สามารถที่จะนำเอาเรื่องราวต่างๆที่พอมีประเด็นและข้อมูลจากท้องถิ่นอยู่บ้าง ไปเป็นข้อมูลในการคิดและพิจารณาเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องของท้องถิ่น ได้นะครับ

    ขึ้นฐานไว้รองรับเครือข่ายการเสริมกำลังกันของบ้าน วัด และโรงเรียน เพื่อสร้างสุขภาวะสาธารณะของชุมชน

    • การมีเครือข่ายจัดการเรียนรู้และพัฒนาการเรียนการสอนร่วมกับชุมชนของสถานศึกษา เป็นเรื่องที่สำคัญและจะช่วยเสริมกำลังความร่วมมือของ บ้าน วัด โรงเรียน ให้ส่งผลดีต่อการพัฒนาเด็ก สร้างคน และพัฒนาตัวปัญญาของชุมชน ผมว่าหลายฝ่ายก็คิดและเห็นความสำคัญ โรงเรียนและสถานศึกษาก็คงคิดมากๆด้วย แต่ให้ทำโดยลำพังก็คงไม่ไหว เราทุกคนก็เคยผ่านโรงเรียนและเคยทำงานส่วนร่วมในชุมชนตามโอกาสต่างๆก็พอจะทราบสภาพความเป้นจริงอยู่ว่า เอาแค่มีกำลังคนให้พอกับการทำงานอย่างในปัจจุบัน สังคมของเราก็ขาดแคลนมากมายครับ  หากไม่มีผู้คนจำนวนหนึ่งในภาคสังคมและภาคประชาชนที่มีจิตสาธารณะลุกขึ้นมาเป็นกำลังจากนอกภาคที่เป็นทางการแล้วละก็ ระบบและองค์กรทั้งหลายก็คงจะพังทลายไปหมดเพราะไม่มีกำลังส่ง พอจะให้ปรับตัวไปสู่สภาพแวดล้อมใหม่ๆได้ การช่วยกันทำอย่างนี้โดยเล็งเห็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อเด็กๆ เลยเป็นการมีส่วนร่วมและร่วมมือกันสร้างสิ่งดีอย่างยิ่งครับ ในระดับครอบครัวและสถานศึกษานั้น การที่เด็กๆมีแหล่งการเรียนรู้และทรัพยากรการเรียนรู้ดีขึ้น คงจัดได้ว่าเป็นสุขภาวะอย่างหนึ่งทั้งของครอบครัว ครู สถานศึกษาและชุมชน ได้กระมังครับ

    เป็นแหล่งความรู้และข้อมูลชุมชนอีกทางหนึ่ง

    • การมีแหล่งความรู้และวัตถุดิบที่เป็นข้อมูลชุมชน ทั้งแหล่งบุคคล หน่วยงาน รูปภาพ ภาพถ่าย ความรู้  ขุมความรู้และเครือข่ายการเรียนรู้-เครือข่ายความรู้มากมายทั้งระดับประเทศและสามารถเชื่อมโยงออกไปได้ทั่วโลกโดยใช้หัวข้อของชุมชนหนองบัวเป็นตัวตั้งอย่างที่ทุกท่านช่วยกันทำนี้ คุณครูในอำเภอหนองบัวพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนและพัฒนาหลักสูตรบูรณาการ ที่สามารถบูรณาการทั้งบริบทท้องถิ่นและโลกาภิวัตน์ได้อย่างดีแน่นอนครับ
    • เวทีชุมชนและการประชุมขององค์กรท้องถิ่นก็สามารถดึงข้อมูลทุกชนิดในนี้เข้าไปเปิดประเด็นหารือเพื่อการทำงานสร้างสุขภาวะหนองบัวได้อย่างดีเช่นกันครับ เรื่องราวต่างๆที่ได้ช่วยกันรวบรวมและสร้างขึ้นนี้ มีแต่เรื่องที่จะเป็นความภาคภูมิใจของคนหนองบัว เป็นด้านที่เป็นศักยภาพและความเข้มแข็งของหนองบัวทั้งสิ้น อีกทั้งมีความเป็นจริงอยู่ในคนหนองบัวรองรับอยู่มากมายครับ เป็นฐานความรู้ที่ทำให้ชาวบ้านยืนขึ้นอย่างสง่างามได้ครับ

     

                              

     

    • ผมเลยเอารูปที่คุณเสวกวาดเพื่อแสดงให้เห็นวิธีการยาลานด้วยขี้ควายและวิถีชีวิตชุมชนการผลิตของชาวหนองบัว มาแสดงไว้ที่นี่ด้วยนะครับ ส่วนใครจะเข้าไปคุยต่อ ก็เลื่อนขึ้นไปข้างบน เข้าไปในลิ๊งค์หัวข้อ กลุ่มพริกเกลือ ได้เลยครับ ที่หัวข้อนั้นก็สนุกครับ
    • ใช่เลยครับอาจารย์ขจิตครับ การหยกปลาอย่างนี้ได้แต่ปลาช่อนอย่างเดียวเลย และแถวหนองบัวก็เรียกว่าหยกปลา ล่อเบ็ด ล่อปลา ที่จะได้ยินบ่อยที่สุดเลยก็คือล่อเบ็ดครับ
    • แถวหนองบัวจะใช้เขียดกับลูกปลาหมอเป็นเหยื่อ
    • อาจารย์ทำได้นี่เก่งมากนะครับ ผมเคยทำ ให้ผมยืนทำอย่างนี้สัก ๑๐ นาทีก็ตะคริวกินทั้งตัวแล้วครับ
    • งั้นขออนุญาตอาจารย์เลยนะครับ ขอเรียนเชิญอาจารย์มาเป็นกำลังวิชาการเวทีนี้อีกท่านหนึ่ง ท่านพระมหาแลและคนหนองบัวเคยเสนอไว้ตั้งนานแล้วครับที่จะเชิญอาจารย์มาเป็นเครือข่ายทางวิชาการด้วย อาจารย์จะแวะเวียนมาบ้างก็ตามสะดวกครับ ไม่อยากให้เป็นภาระ เอาแค่มีปฏิสัมพันธ์เสริมกำลังปัญญาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนอย่างนี้ก็ถือว่ามากแล้วครับ
    • ด้วยความยินดีครับ
    • ดีใจมากๆๆเลยครับที่จะได้ช่วยอาจารย์และชาวหนองบัว ถือโอกาสได้เรียนรู้ด้วย ต่อไปอาจมีชาวหนองขาว ชาวพนมทวน มีการเรียนรู้แบบนี้บ้างครับ
    • ขอบพระคุณมากครับ

    P อาจารย์ดร.ขจิตคะ..แวะหน่อยนะคะ..ตามลิ้งข้างล่างค่ะ..ขอบคุณค่ะ..

    http://gotoknow.org/blog/frind08/296853

    • ขอบคุณและยินดีร่วมกับทุกคนเลยครับอาจารย์
    • ชาวหนองขาวและพนมทวนมีทุนสังคมเรื่องนี้ไปไกลมากแล้วครับ หลายอย่างผมก็ได้ประสบการณ์กับคนหนองขาวครับ ท่านศาสตราจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ทั้งในนามมูลนิธิเล็ก-ประไพ พิริยะพันธุ์ และในนามมหาวิทยาลัยศิลปากร รวมทั้งลูกศิษย์ลูกหาของท่าน กับกลุ่มนักวิจัยแนวประชาคมจากมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรีกับเครือข่ายกลุ่มต้นน้ำแคว-ประชาคมเมืองกาญจน์ ได้ไปทำงานแนวนี้กัน และชาวบ้านก็สามารถลุกขึ้นมาทำสิ่งต่างๆด้วยตนเองกันได้มากมาย 
    • หากมีอาจารย์ไปสมทบที่นั่นอีกก็ยิ่งเสริมความเข้มแข็งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง อันที่จริงหากมีโอกาส ผมจะชวนเพื่อนๆและคนหนองบัวที่มีความสนใจแนวทางการทำงานชุมชนการเรียนรู้จากการทำจริงๆในวิถีชีวิตของเราเอง ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนหนองขาวและคนพนมทวนก็คงจะดีนะครับ พื้นฐานของชุมชนคล้ายกันมากเลยครับ
    • ขอบคุณมากเลยนะครับที่อาจารย์จุดประกายให้ในทางอ้อม

    คิดให้ได้พลังใจไปกับเพลง

  • คุณครูอ้อยเล็กแวะมาโฉบอาจารย์ขจิต ฝอยทอง ไปฟังเพลง Wind of Change ของวงแมลงป่องแน่ะ
  • เพลงแนวนี้ต้องฟังมาโนช พุฒตาลคุยให้ฟัง ได้ทั้งมิติดนตรี ปูมหลังของแรงบันดาลใจ  dialogue และ discourse เกี่ยวกับสังคม กับการเรียนรู้ทางสังคม
  • ฟังเพลงนี้ทีไร ผมมักนึกถึงอีก ๒ เพลงขึ้นมาด้วยคือ Blowing in the Wind ของ Bob Delan และ Imagine ของวง ๔ เต่าทอง
  • ใน Blowing in the Wind เหมือนเพลงถอนหายใจว่า คำตอบต่อทุกๆอย่าง(ของสังคม) ก็เหมือนกับสายลมที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ซึ่งน่าจะต่างจากมุมมองใน Wind of Change ของวงแมลงป่องนะครับ ...ดูแลความใฝ่ฝันของเรา (ว่าโลกจะไม่ต้องมีทหารและการล้างทำลายกัน โลกทั้งผองเป็นพี่น้องกัน) เหมือนบ่มเพาะให้เด็กๆลูกหลานแห่งวันพรุ่งนี้หรือการมีความหวัง-ความฝันใฝ่ของเราเอง ได้เติบโตงอกงามในภายหน้า 
  • ไม่เหมือนอารมณ์เพลงอย่างใน Blowing in the Wind ซึ่งทอดอาลัย ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นดังสายลมที่ผ่านเลย คล้ายๆกับบ่นสู่กันว่าสิ้นหวังเหลือเกินเพื่อนเอ๋ย ทำนองนั้น
  • ใน Imagine ของวง ๔ เต่าทอง ก็เหมือนกับจะบอกว่า ถึงแม้เราจะต้องเผชิญกับสิ่งที่เกินจะเป็นไปได้ในโลกแห่งความเป็นจริงอีกมากมาย แต่ฝันและหวังไปก่อน  เพราะอย่างน้อย ผู้คนแม้แตกต่างกันมากมาย ก็สามารถฝ่าข้ามไปมีความฝันร่วมกันได้
  • คุยเรื่องเพลงก็มีความสุขดีเหมือนกันนิคุณครูอ้อยเล็ก แต่คุยกับอาจารย์ขจิตนี่คุณครูอ้อยเล็กต้องคุยเรื่องเพลงเหย่ยสิเนาะ
  • Pค่ะท่านอาจารย์ขจิตท่านก็ได้ช่วยหาที่เขาแปลมาแล้ว..มาวางไว้ให้เสร็จสรรพแล้วค่ะ..

    วิธีนี้บ้านครูอ้อยเล็กก็เรียกว่า..ล่อปลาเหมือนกัน..ก็จะมีเหยื่อที่มันดิ้นกระดุ๊กกระดิ๊กได้เป็นตัวล่อ..แต่ถ้าเหยื่อทนพิษบาดแผลไม่ไหวตายไป..ก็ใช้วิธียกเหยื่อขึ้นลงอันเป็นคำที่มาของอาการหยกปลาก็ได้นะคะ คือยกขึ้นลงแบบสั้นๆเร็วบ้างช้าบ้างตามแต่สถาณการณ์ละมังคะ..วิธีนี้จะได้ปลาช่อนแน่นอนเพราะปลาช่อนต้องโผล่มาหายใจที่ผิวน้ำเป็นระยะๆ แต่ด้วยว่าแถวบ้านครูอ้อยน้ำมากค่ะ..เบ็ดที่นิยมจึงเป็น..เบ็ดราว..คือเบ็ดที่ขึงระหว่างฝั่งคลอง มีเบ็ดผูกไว้เป็นระยะห่างกันพอควร..จะวางไว้ตอนหัวค่ำ เช้ามือค่อยไปดูผลงานค่ะ..กิจกรรมนี้ครูอ้อยเล็กไม่ได้มีส่วนร่วมเท่าใดเพราะเป็นกิจกรรมของเด็กผู้ชายซะมากกว่า..ส่วนอีกเบ็ดหนึ่ง คือเบ็ดปัก...เป็นเบ็ดที่เหลาไม้ไผ่ที่ไม่แก่เกินไปไม่อ่อนเกินไป เป็นไม้กลม ยาวประมาณคันละ 60 -80 เซนติเมตร งอแล้วนำไปลนไฟให้เซทตัวโค้งพอประมาณ ควั่นปลายไม่ให้เป็นร่อง นำเบ็ดพร้อมตะกั่วที่ผูกไว้เรียบร้อยแล้วผูกติดลงในร่องที่ปลายไม้นั้น ส่วนปลายไม้อีกด้านหนึ่งเหลาให้แหลม เพื่อใช้เป็นส่วนที่ปักลงกับดิน..ทีนี้ก็เป็นขั้นตอนของการหาทำเลที่ปักเบ็ดจะหาชายฝั่งคลองที่มีกิ่งไม้ปกคุมแหวกแล้วปักไว้ด้วยเหยือลูกปลา น่าสงสารลูกปลาวิ่งไปมา..เฮ้อแต่ตอนนั้นเป็นเด็กท้องนาชีวิตทุกชีวิตต้องดิ้นรนอยู่รอด..ก็ไม่ค่อยได้คิดอะไรค่ะ..แม่กับพ่อมักบอกเสมอว่ามันเป็นอาหารค่ะ..

    ข้อมูลที่ไปรวบรวมมาขององค์พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐมค่ะ..

    http://gotoknow.org/blog/fora1/267858

    อาจารย์ครับ ขอขอบพระคุณอาจารย์มากครับที่เข้าไปเยี่ยม ผมตอนนี้อาการไม่สู้ดีนักครับ เพราะมีงานค่อนข้างมากและมีเรื่องให้คิดทบทวนตัวเองมากเลย เหมือนจะเบลอๆอย่างไรไม่รู้ครับ ผมยินดีมากครับที่จะเป็นเครือข่ายด้วยนับเป็นเกียรติมากเลยครับ ผมเปิดประตูเข้ามาบ้านอาจารย์ ทึ่งครับ สำหรับลายเส้นที่บรรจงวาดลงไป สวย แม่นยำ มีพลังครับ...

    เบ็ดสำหรับปักในนาข้าว

              "...ส่วนอีกเบ็ดหนึ่ง คือเบ็ดปัก...เป็นเบ็ดที่เหลาไม้ไผ่ที่ไม่แก่เกินไปไม่อ่อนเกินไป เป็นไม้กลม ยาวประมาณคันละ 60 -80 เซนติเมตร งอแล้วนำไปลนไฟให้เซทตัวโค้งพอประมาณ ควั่นปลายไม่ให้เป็นร่อง นำเบ็ดพร้อมตะกั่วที่ผูกไว้เรียบร้อยแล้วผูกติดลงในร่องที่ปลายไม้นั้น ส่วนปลายไม้อีกด้านหนึ่งเหลาให้แหลม เพื่อใช้เป็นส่วนที่ปักลงกับดิน...." วัชรี โชติรัตน์ โรงเรียนเทศบาล ๔ (เชาวนปรัชาอุทิศ) นครปฐม ๒๕๕๒ จาก dialogue box ๗๗

                      

                      เบ็ดปัก เป็นเบ็ดสำหรับปักตามคันนาของนาข้าว ชาวบ้านจะปักเบ็ดโดยใช้เหยื่อในลักษณะต่างๆ คือ ใช้เหยื่อไส้เดือนสำหรับแหล่งที่มีปลาดุก ปลาหมอ และปลาที่ว่ายน้ำหากินตามผิวดิน เช่น ปลาไหล ปลาหลด และปลาขนาดเล็ก โดยเฉพาะในระยะที่น้ำเพิ่งหลากมา การปักเบ็ดในลักษณะนี้จะปักแบบก้มคันเบ็ดเกือยติดผิวน้ำเพื่อให้สายเบ็ดและเหยื่อหย่อนลงไปถึงผิวดิน

                      เหยื่อเขียดและลูกปลาตัวเล็กๆ  จะเป็นเหยื่อที่เหมาะสมสำหรับปักเบ็ดเมื่อน้ำเริ่มทรงแล้ว หรือเป็นระยะที่ปลาเริ่มโต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปลาช่อน ปลาค้าว ปลากด การปักเบ็ดโดยใช้เหยื่อเขียดแบบนี้ จะโหย่งคันเบ็ดให้สูงและให้เขียดและลูกปลาลอยลงไปในน้ำครึ่งตัว การดีดตัวของเขียดบนผิวน้ำ และการวิ่งอยู่บนผิวน้ำของเหยื่อลูกปลา จะทำให้ปลาขนาดใหญ่โผเข้ากินเบ็ด ในทุ่งนาที่มีน้ำลึกและนิ่งมักนิยมปักเบ็ดแบบนี้

    • ขอบคุณทั้งคุณครูอ้อยเล็กและอาจารย์กู้เกียรติเลยนะครับ
    • เลยวาดรูปประกอบบทความของคุณครูอ้อยเล็กไปด้วยเลย เหมือนทำงานร่วมกันกับผู้น้องทั้งสองเพื่อเป็นที่ระลึกนะครับ
    • ขอให้สุขภาพดีนะครับ อาการอย่างนี้เหมือนเป็นการพักผ่อนไม่เพียงพอและทำงานต่อเนื่องจนล้าเกินไปนะครับ หากดื่มกาแฟก็ต้องรีบลดหรือหยุดชั่วครู่ก็จะดีนะครับ
    • หาโอกาสนอนแผ่ แขนวางข้างลำตัวและผายมือออกแบบท่า anatomical position หลับเปลือกตาเบาๆ แล้วหายใจเข้า-ออกลึกๆเหมือนทำอาณาปนสติ(หากทำเป็นก็ยิ่งดีใหญ่เลยครับ) สักวันลำ ๒๐-๓๐ นาที หากทำจิตใจนิ่งไปด้วยได้จะสดและฟื้นตัวได้เร็วมากกว่านอนหลับอีกครับ
    • หากหยุดทำงานลุยๆไม่ได้  ต้องหาเวลาทำสลับกับการทำงานเป็นระยะๆจะดีครับ

    82.

    อ้อยเล็ก
    เมื่อ อ. 15 ก.ย. 2552 @ 17:44
    #1553346 [ ลบ ]

                        

    ถูกต้องแม่นยำค่ะนี่คือวิถีที่ในตอนนั้นไม่มีแม้กล้องจะถ่ายภาพ..แต่อาจารย์สามารถถ่ายทอดตามคำบอกเล่าได้อย่างถูกต้องแม่นยำ..เอครูอ้อยนี่อายุเท่าไหร้หนอ..อิๆถึงได้คุยกะอาจารย์รู้เรื่องน่ะคะ..

     

    • นั่นน่ะสิ ที่สำคัญคือเรื่องพวกนี้เด็กๆผู้หญิงมักจะไม่ค่อยมีประสบการณ์ มันเป็นกิจกรรมชีวิตที่จะต้องไปอยู่กลางทุ่งนา หากเป็นกลางวันก็จะอยู่กลางเปลวแดด ทั้งพ่อแม่และพี่ๆน้องๆก็จะไม่ยอมให้ผู้หญิงไปลำบาก หากเป็นกลางคืนก็จะลำบาก
    • เวลาทำปลา พวกผม พวกผู้ชาย เมื่อถึงเวลาก็จะต้องทำหน้าที่ทำปลาให้แม่และทำแทนน้องๆผู้หญิง ไม่ต้องให้บอก เป็นวิถีปฏิบัติของชาวบ้านครับ
    • ร่วมมือวาดเก็บๆไว้ร่วมกับคุณครูอ้อยเล็ก พระมหาแล คุณเสวก และทุกท่าน ก็สนุกดีเหมือนกันครับ แล้วก็เป็นข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวบ้านไปด้วย เผื่อเด็กๆและคนท้องถิ่นจะได้เอาไปใช้ประโยชน์ครับ
    • ในรูปที่วาดลักษณะเบ็ดและการปักเบ็ด ร่วมกับเนื้อความที่คุณครูอ้อยเล็กเขียนด้วยนั้น อุปกรณ์ทำมาหากินที่เห็นเด็กถืออยู่ในมือขวานั้น เป็นเครื่องสานอย่างหนึ่ง แถวบ้านผมเรียกว่า 'กะล็อก' เป็นเครื่องสานทำด้วยไม้ไผ่แล้วก็เย็บผ้าทำเป็นฝา ใช้ใส่เขียดสำหรับทำเป็นเหยื่อปักเบ็ด
    • แต่เวลาได้ปลา ก็จะใส่ในตะฆ่อง ลักษณะเหมือนกับที่วางอยู่ด้านข้างของเด็กที่อยู่ไกลออกไป เพราะจะสามารถแช่ไว้ในน้ำได้อยู่ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ปลาตาย

    พลังการวิจัยและพัฒนาเป็นกลุ่มประชาคม : สื่อการ์ตูนบูรณาการการเรียนรู้ ส่งเสริมสุขภาวะท้องถิ่นและพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นของสถานศึกษา

    ผมมีตัวอย่างสื่อการ์ตูนที่อยากนำมาเผยแพร่ให้ผู้สนใจในเวทีคนหนองบัวครับ เป็นตัวอย่างสื่อการ์ตูนที่เผยแพร่และใช้เพื่อการศึกษาไปแล้ว ผมเหลือไว้ดูอยู่เล่มหนึ่งเลยอยากเผยแพร่ไว้ในแหล่งรวบรวมและบันทึกความรู้นี้ อาจจะช่วยจุดประกายความคิดแก่คนหนองบัว รวมทั้งอาจเป็นแนวคิดสำหรับทำสิ่งที่หลายท่านกล่าวถึงในนี้ โดยเฉพาะการใช้ข้อมูล ความรู้ รูปภาพและสื่อ ไปเสริมกำลังให้กับการพัฒนาการเรียนรู้ทั้งสำหรับคนท้องถิ่น สถานศึกษา และกิจกรรมการเรียนรู้ในครอบครัว

    ข้อมูลเกี่ยวกับสื่อ : เป็นสื่อการ์ตูนประกอบคำกลอน รักษ์คลอง รักถิ่น เนื้อหาโดย จริยา ศรีเพชร  ข้อมูลโดยเครือข่ายประชาคมวิจัยสร้างองค์ความรู้ท้องถิ่นอำเภอพุทธมณฑล  วาดภาพโดย ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ระบายสี โดย รุจิรา คำศรีจันทร์ ทุนอุดหนุนการวิจัย โดย มหาวิทยาลัยมหิดล ๒๕๔๓

    กระบวนการผลิตและพัฒนา :

    การเรียนรู้และสร้างความรู้ท้องถิ่นเพิ่มพลังการปฏิบัติ : สื่อการ์ตูนนี้เกิดขึ้นโดยกระบวนการต่อยอดการวิจัยเสริมพลังการริเริ่มและปฏิบัติการของกลุ่มคนในท้องถิ่น อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ผู้ทำเนื้อหาและนำไปใช้เพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้สำหรับเด็กและชุมชนคือ จริยา ศรีเพชร ซึ่งในขณะที่ทำเมื่อปี ๒๕๔๓ นั้นเป็นครูในโรงเรียนบ้านคลองมหาสวัสดิ์ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ขาดโอกาสการพัฒนาในหลายด้าน กลุ่มเด็กๆส่วนใหญ่มาจากครอบครัวคนท้องถิ่นซึ่งยากจน 

    คุณครูจริยา ศรีเพชร เป็นเครือข่ายของกลุ่มประชาคมวิจัยละปฏิบัติการเชิงสังคมเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างบูรณาการในอำเภอพุทธมณฑล ในโครงการวิจัยดังกล่าวใช้วิธีระดมพลังกลุ่มคนในพื้นที่มาช่วยกันวิจัยสร้างองค์ความรู้ท้องถิ่น ทำให้ได้องค์ความรู้ท้องถิ่นกว่า ๒๕ ด้าน และเกิดเครือข่ายปัจเจกผู้มีจิตสาธารณะที่ได้รับการเสริมศักยภาพในการปฏิบัติการเชิงสังคมกว่า ๒๕๐ คนครอบคลุมหลายสาขา ทำให้มีพลังปฏิบัติการในเรื่องต่างๆอย่างมีพลังและเกิดความเชื่อมโยงผสมผสานมากขึ้นเป็นลำดับ

    แรงบันดาลใจแบบต่อยอดกิจกรรม : คุณครูจริยา ศรีเพชร ผ่านการศึกษามาทางสังคมศึกษา แต่ต้องสอนและทำงานหลายด้านในสภาพที่มีข้อจำกัดหลายประการ หลังจากสร้างองค์ความรู้ ได้ประสบการณ์มากขึ้นเกี่ยวกับชุมชน และได้เครือข่ายจากการวิจัยและปฏิบัติการเชิงสังคมในรูปกลุ่มประชาคม คุณครูจริยาจึงสามารถนำเอาความรู้และกลุ่มคนมาร่วมกันจัดกิจกรรมค่ายเรียนรู้สิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการให้แก่เด็กในโรงเรียนต่างๆของอำเภอพุทธมณฑล ดำเนินการ ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ มีเพื่อนๆและเครือข่ายช่วยกันทั้งอำเภอ เทศบาลก็ให้งบประมาณสนับสนุน ผมและทีมก็ไปช่วยทั้งเพื่อตามเรียนรู้และทำวิจัยเสริมพลังการดำเนินการ และให้การสนับสนุนทางวิชาการ กิจกรรมค่ายการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการดังกล่าว ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างเด็กอย่างกว้างขวาง เด็กๆจากโรงเรียนในอำเภอเข้าร่วมกว่า ๒๕๐ คน ชาวบ้านและคนในชุมชนได้ร่วมเป็นครูชุมชนให้เด็กๆ รวมทั้งใช้สวน นาบัว นาข้าว และแหล่งการผลิตสิ่งๆต่างในชุมชน เป็นแหล่งการเรียนรู้ เด็กๆมีกิจกรรมการเรียนรู้อย่างบูรณาการ ทั้งเป็นนักวิจัยน้อย การทำกิจกรรมกลุ่ม การระดมสมองและวางแผนนำเสนอเป็นกลุ่ม วาดรูป เล่นเกมส์ และกิจกรรมร้องเพลง

    เมื่อปิดกิจกรรมค่าย คุณครูจากโรงเรียนทุกคนดีใจที่เด็กๆและโรงเรียนของตนได้มีโอกาสทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมของชุมชนท้องถิ่นอย่างบูรณาการที่ร่วมแรงร่วมใจกันจัดขึ้น คุณครูจริยาก็ยิ่งดีใจเพราะเด็กๆและโรงเรียนของคุณครูไม่ค่อยมีโอกาส อีกทั้งหากทำเองโดยลำพังก็ไม่มีกำลังพอจะทำได้ จึงแต่งกลอนเพื่ออ่านบนเวทีตอนปิดค่ายกิจกรรม

    ทำการริเริ่มจากการใช้ความรู้ให้เป็นสื่อสำหรับใช้ทำงานต่อเนื่อง : ผมเห็นเป็นข้อมูลที่สืบเนื่องอยู่กับระบวนการเรียนรู้อย่างกว้างขวางของชุมชนและเครือข่ายสถานศึกษา จึงได้นำเอากลอนที่คุณครูแต่งและอ่านสดๆบนเวทีปิดกิจกรรมค่าย มาทำเป็นบทการ์ตูน วาดรูปการ์ตูน และขอให้คุณรุจิรา คำศรีจันทร์ นักวิชาการโสตทัศนศึกษา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระบายสีและทำเป็นต้นฉบับสื่อการ์ตูน จากนั้นได้ขอการสนับสนุนจากโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ทำเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ให้คุณครู เครือข่ายวิจัย และสถานศึกษาในชุมชนอำเภอพุทธมณฑล นำกลับไปใช้เพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของเด็กๆต่อไปอีก

    การวิจัยและเรียนรู้ชุมชนแปรสู่การสร้างทุนทางสังคมให้การศึกษาในพื้นที่ : คุณครูจริยา ศรีเพชร ได้นำไปใช้เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนหลายลักษณะ ทั้งเป็นส่วนเสริมกิจกรรมที่มีอยู่แต่เดิมและเป็นสื่อในกิจกรรมพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ทำให้โรงเรียนได้พัฒนาบางส่วนที่ขาดอยู่ขึ้นอีกหลายด้าน ต่อมาได้เป็นตัวอย่างและเป็นสื่อในชุดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ีได้รับรางวัลทางด้านการศึกษาระดับประเทศ ตัวคุณครูจริยา ศรีเพชรเองซึ่งเป็นครูในโรงเรียนที่อยู่ชายขอบมากก็ได้พิจารณาให้เป็นครูตัวอย่าง และต่อมาก็เป็นครูผู้เชี่ยวชาญระดับ ๙ ซึ่งมีอยู่คนเดียวของจังหวัดนครปฐม และปัจจุบัน ได้ย้ายมาเป็นครูของโรงเรียนกาญจนาภิเษก(พระตำหนักสวนกุหลาบ) ในอำเภอพุทธมณฑล และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นอย่างบูรณาการ

    เนื้อหาบทกลอนและบทสื่อการ์ตูน 

    บัวกะหนูนาอยู่อาศัยในพุทธมณฑล บัวกะหนูนาจะพาเที่ยวคลองในพุทธมณฑล

    ล่องเรือเลียบคลองมหาสวัสดิ์    เที่ยวเลาะลัดทัศนาถิ่นอาศัย    อู่ต่อเรือ สวนเกษตร สมุนไพร    เรือนเก่าใหม่ วัดคู่บ้าน ย่านชุมชน

    วิถีชีวิตสองฝั่งคลองดูหลากหลาย    บ้างค้าขาย หัตถกรรม ล้ำเลิศผล    ทั้งนาบัว สวนกล้วยไม้ ชวนให้ยล    ชาวชุมชนพาเรียนรู้ชูปัญญา

    ธรรมชาติริมคลองทั้งสองฝั่ง     พืชพรรณยังเขียวชอุ่มพุ่มไม้หนา    นกน้อยน้อยโผผินบินไปมา     พลิ้วใบหญ้า บัวสาย ตามรายทาง

    แสนเสียดายหากคลองต้องเน่าเหม็น    น้ำใสเย็นกลับคล้ำเป็นดำด่าง     สรรพชีวิต ปู ปลา ต้องลาร้าง     ล้วนร่วมสร้างร่วมก่อจากทุกคน

    สังคมดี ธรรมชาติดี ไม่มีขาย      แม้อยากได้ต้องร่วมสร้าง  ทุกแห่งหน     ทั้งคูคลอง ถิ่นฐาน  พุทธมณฑล     จะน่ายลและน่าอยู่  ตลอดไป

    พุทธมณฑล เมืองน่าอยู่ ด้วยทุกคนร่วมกันสร้าง.

     

                               

                               

                               

                               

                                

                               

                               

                               

     

    เอามาฝากเป็นแนวคิดและเป็นตัวอย่างของการเรียนรู้ชุมชน สร้างความรู้ท้องถิ่น และร่วมมือกันเพื่อทำให้คนบางส่วนที่มีความริเริ่ม มีจิตสาธารณะ มีความรู้ มีความสร้างสรรค์ และเอาธุระต่อการพัฒนาสุขภาวะของสังคมด้วยการมีส่วนร่วมของตนเองนอกเหนือจากที่ทำในวิธีการอื่นๆอยู่แล้ว แต่ไม่มีกำลังพอที่จะทำได้อย่างเต็มที่อย่างที่ตนเองทำได้ เพื่อเป็นวัตถุดิบคิดสร้างสรรค์ของคนหนองบัว หรือคุณครูและคนทำงานชุมชนท้องถิ่นจะนำไปใช้เป็นสื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ต่างๆต่อไปครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และผู้อ่านทุกท่าน

    • เห็นสื่อชุดนี้แล้วน่าเรียนจริง ๆ
    • สื่อสวยมากเนื่อหาดี
    • มีเรื่องราวให้ได้เรียนรู้วิถีชิวิตชุมชน
    • คนหนองบัวต้องขออนุญาตนำไปเป็นต้นแบบแนวคิดการทำงานสื่อการสอนในชุมชนในสถานศึกษาเสียแล้วอาจารย์
    • หนองบัวก็มีเรื่องสิ่งแวดล้อมหลายอย่างที่ต้องช่วยกันดูแลรักษา
    • คนหนองบัวเราคงต้องช่วยกันทำสื่อแนวนี้ให้เกิดมีขึ้นมาเพื่อเด็กและสังคมชุมชน
    • ที่อื่นก็นำไปใช้ประโยชน์ให้เหมาะกับสภาพท้องถิ่นได้อย่างเหมาะควร
    • เห็นด้วยอย่างยิ่ง(พูดเหมือนเจ้าของผลงานเลยเนี่ย)ขอสนับสนุนให้คุณครูทั้งหลายที่มีสภาพทางกายภาพคล้ายกันนี้นำไปเป็นสื่อการสอนแก่เด็กก็จะเป็นที่น่าอนุโมทนายิ่ง

    ขอเจริญพร

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    และสวัสดีค่ะพี่ชาย อ.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    • ก่อนอื่นต้องขอบอกว่าภาพสื่อที่นำมาเผยแพร่ เพื่อให้เป็นตัวอย่างดีๆที่จะนำไปพัฒนาต่อยอดความรู้  หรือนำไปปรับให้เข้ากับบริบทของชุมชน ซึ่งในแต่ละถิ่นที่แตกต่างกันไป และใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนให้กับคุณครูทั้งหลาย  น่าสนใจมากๆค่ะ
    • เนื้อหาของบทร้อยกรองกับภาพประกอบ  ได้ใจความชัดเจนมีชีวิตชีวา เป็นธรรมชาติ เด็กเรียนได้..ผู้ใหญ่เรียนดีค่ะ
    • อย่างน้อยสิ่งที่ได้รับตอบแทน น่าจะช่วยให้ผู้คนในชุมชนมีจิตสำนึกที่ดี ช่วยกันสร้างสรรค์สังคม รักและหวงแหนถิ่นเกิดเมืองนอนของตนเอง
    • คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเริ่มต้นทำกันนะคะ

                       ------------------------------

    • ย้อนไปถึงเรื่อง เบ็ดปัก ที่หาปลาในนาข้าว สมัยเป็นเด็กๆเคยเห็นค่ะ บางทีถ้าเป็นปลาตัวใหญ่ๆ ดิ้นจนได้ยินเสียงน้ำกระจายเลยเหมือนกัน
    • ยังมีอุปกรณ์ที่ใช้หาปลาอีกค่ะ เช่น ไซ ใช้ดักปลาตัวเล็กๆ  ปลาซิว ปลาสร้อย กุ้ง  ลอบ ใช้ดักปลาตัวใหญ่ๆขึ้นมาหน่อย ทำได้เองจากไม้ไผ่เหลากลมๆเรียวยาว แล้วสานให้คล้ายทรงกระบอกมีที่ว่างภายใน มีทางเข้าแต่ออกลำบาก เพราะทางเข้าตรงปลายไม้ จะแหลมขัดกันห่างๆพอปลาดิ้นเข้าไปได้ มัดด้วยลวดหรือหวาย คงทนถาวรใช้ได้นานค่ะ 
    • ในนาข้าวจะมีบางช่วงน้ำลึก เช่น ตรงคันนาที่เปิดน้ำเข้าหากัน น้ำจะไหลแรง ปลาใหญ่ๆจะแวกว่าย ทวนน้ำบ้าง ตามน้ำบ้าง ปูบ้าง แล้วก็ไปรวมกันอยู่ในลอบ วันดีคืนดีแถมด้วยงูปลา แต่ไม่เคยเห็นทำร้ายคนค่ะ
    • ปลาที่จับมาได้ มีทั้งปลาเป็นและปลาตาย ปลาเป็นก็จะขังใส่โอ่งมังกรหรือโอ่งดินไว้กินหลายๆมื้อ   ส่วนปลาตายที่เป็นปลาเกร็ด พวกปลาตะเพียนทำปลาย่าง ปลาเนื้อ เช่น ปลาช่อน ปลาดุกจะทำใส่เกลือตากแห้ง   ปลาที่เละใกล้จะเน่าเอามาทำปลาร้า หรือไม่ก็หมักค้างปีไว้ทำน้ำปลาค่ะ
    • ชอบดูเวลาเขาทำปลา นั่งบี้ถุงลมเล่น ถูกตีบ่อยครั้งเพราะทำให้มือสกปรกเหม็นคาว ก็เล่นไปตามประสาเด็กค่ะ ทนอดหลับอดนอนไปกับเขาด้วย
    • สมัยก่อนเขาทำนาดำมากกว่านาหว่าน ในนาข้าวไม่ค่อยมีหญ้า แต่มีพวกผักแว่น  ผักบุ้งต้นอ่อนๆ ที่ยังไม่ทันจะยาวขึ้นมาลอยน้ำ เด็ดจิ้มน้ำพริกน้ำปลาทั้งดิบๆ กรอบอร่อยและไม่มียาฆ่าแมลงด้วยค่ะ 
    • บางทีเตรียมแค่น้ำพริกน้ำปลาใส่ปิ่นโต  ไปหาผักในนานี่แหละ
    • เคยมีเพลงร้องสมัยเด็กๆเดี๋ยวจะเอามาแปะไว้นะคะ
    • ขอบคุณค่ะ

             

     

                       เมืองไทยเรานี้       แสนดีหนักหนา

                    ในน้ำมีปลา              ในนามีข้าว

                    ทำมาหากิน              แผ่นดินของเรา

                    ปลูกเรือนสร้างเหย้า    อยู่ร่วมกันไป

                    เราอยู่เป็นสุข            สนุกสนาน

                    เราตั้งถิ่นฐาน            ไปจนยิ่งใหญ่

                    เมืองไทยเรานี้           แสนดีกระไร

                    เรารักเมืองไทย          ยิ่งชีพเราเอย    

                     

          

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า และท่านผู้อ่านทุกท่านครับ

    สื่อการ์ตูนที่นำมาฝากกันนี้ ร่วมบรรยากาศช่วยกันรณรงค์ วันแม่น้ำลำคลองแห่งชาติ ในวันอาทิตย์ที่ ๒๐ กันยายนนี้พอดีครับ สังคมไทยจะได้มีโอกาสรำลึกและหวนกลับมารักษ์คลองและรักถิ่นฐานให้มากขึ้น โดยเฉพาะคนหนองบัวและนครสวรรค์ ซึ่งมีบึงบรเพ็ดและเป็นแอ่งข้าวปลาอาหารของประเทศ

    • เมื่อก่อนนี้ ผู้คนทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ผู้คนจะต้องติดตามการกำหนดราคาข้าวและความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง จากท่าข้าวกำนันทรง จังหวัดนครสวรรค์ ทุกเช้า กลางวัน เย็น เลยทีเดียว ทั่วโลกเคยเคลื่อนไหวไปตามจังหวะลมหายใจกับการไถคราดของคนนครสวรค์และคนไทยนะครับ
    • แม่น้ำลำคลอง จึงเป็นหัวใจของชุมชนการผลิตของสังคมไทย สื่อและการเรียนรู้เรื่องเหล่านี้เราสามารถทำเองให้ผสมผสานอยู่ในชีวิตจริงของชุมชนได้ครับ
    • ข้อมูล รูปถ่าย และรูปวาด ในนี้ที่ทุกท่านได้ช่วยกันเขียนและนำมารวบรวมไว้ เชื่อว่าจะเป็นแหล่งวัตถุดิบในการทำสื่อการเรียนรู้ที่ดีอย่างยิ่งเช่นกันครับ
    • ผมเองก็ได้ประเด็นและข้อมูลมากมายสำหรับไปหารายละเอียด รวมทั้งได้ประเด็นเพื่อตามไปเก็บข้อมูล วาดรูปและบันทึกภาพ ซึ่งปรกติผมก็ทำไปตามปรกติของคนที่ชอบ แต่เมื่อมีข้อมูลอย่างนี้ก็จะทำได้ดีขึ้นครับ ทำไปเรื่อยๆ สักระยะหนึ่งก็อาจจะพอสำหรับการบันทึกและเล่าเรื่องหนองบัวด้วหนังสือสารคดีเชิงภาพถ่ายและรูปวาดอย่างที่พระคุณเจ้าและบางท่านได้จุดความสนใจไว้นะครับ

    ผมได้ย้ายหัวข้อเกี่ยวกับเรื่องหนองบัวกลับไปยังหัวข้อต่างๆตามเดิมของเขาแล้วนะครับ เนื่องจากพอย้ายมาแล้วก็ปรากฏว่ากระทบไปทั้งหมดของสิ่งที่ผมเขียนทั้งในเวทีนี้ ใน GotoKnow รวมทั้งในบล๊อกอื่นๆทั้งของผมและผู้อื่นที่เขาลิ๊งค์และเชื่อมโยงไปเขียนถึง ซึ่งพอย้ายมานิดเดียวก็เป็นเรื่องครับ ทำให้โกลาหลและวุ่นวายกันไปหมดเลย กูเกิ้ลก็หาไม่เจอ หัวข้ออื่นๆทั้งของตัวเองและที่คนอื่นเขากล่าวถึงก็หาไม่เจอ รวนไปหมดอย่างคาดไม่ถึง ต้องขออภัยอย่างยิ่งครับ ต่อไปนี้หากเขียนเรื่องหนองบัวและท้องถิ่นนครสวรรค์ก็จะเริ่มมาเขียนที่นี่ครับ

    กราบนมัสการด้วยความเคารพ

    อาจารย์คะ..พี่จริยา ศรีเพชรเก่งมากๆค่ะ..มีความตั้งใจใฝ่เรียนรู้..พบตัวพี่เขาเป็นๆมาแล้วค่ะ..ยังมีน้ำใจให้ชุดการสอนสังคมมาอีกเล่มใหญ่เลยค่ะ..

    คลังข้อมูลและสื่อสำหรับพัฒนาการศึกษาเรียนรู้เพื่อสร้างเด็กและส่งเสริมสุขภาวะชุมชน

    • สวัสดีครับน้องคุณครูจุฑารัตน์ คุณครูกลุ่มนี้พอได้เจอและทำงานวิจัยสร้างความรู้ท้องถิ่นด้วยกัน ก็ถือเป็นโอกาสเกาะกลุ่มกันได้ ๑๘ คนแต่กระจายอยู่หลายโรงเรียนทั่วอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนที่ไม่ค่อยมีโอกาสพัฒนาได้มากนัก แต่เพาะมีคุณครูทำอย่างนี้ ก็กลายเป็นทำสิ่งต่างๆอีกหลายอย่างได้มากขึ้น
    • มีเวทีนั่งพูดคุยกัน ช่วยกันพัฒนาวิชาการและพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนทั้งของโรงเรียนและทั้งภาพรวมของอำเภอได้หลายกิจกรรม ทำให้ในกลุ่มเป็นหัวหอกนำการพัฒนาสิ่งต่างๆที่บูรณาการเข้ากับกระบวนการศึกษาเรียนรู้ได้หลายเรื่อง ทั้งของโรงเรียน อำเภอ ระดับจังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศ
    • คุณครูจุฑารัตน์ บันทึกไว้และนำรูปถ่ายมาเก็บไว้ด้วยนี้ยิ่งดีครับ มีเนื้อเพลงเมืองไทยของเราด้วย
    • ผมเคยใช้ข้อมูลของท้องถิ่นที่สร้างขึ้นในลักษณะนี้ ให้เป็นแหล่งตั้งต้นค้นคว้าเพื่อออกไปศึกษาเรียนรู้ชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยของนักศึกษาระดับปริญญาตรีของคณะเภสัชศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เด็กๆก็ได้ประสบการณ์ เกิดการเรียนรู้กันและกันของชุมชนกับมหาวิทยาลัย
    • หลายอย่างหาไม่ได้จากหนังสือตำราและห้องเรียน นักศึกษาปี ๓ ปี ๔ บางคนได้สะท้อนประสบการณ์ว่าหากได้เรียนอย่างนี้ตั้งแต่เริ่มเข้ามหาวิทยาลัย เขาจะได้ประสบการณ์และเรียนสนุกมาก การได้ศึกษาค้นค้วาด้วยตนเองและการได้เรียนรู้จากโลกความเป็นจริงของชุมชน ทำให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้และเติบโตภายในมากครับ
    • อย่างที่เราช่วยกันทำนี้ หากพัฒนากิจกรรมการศึกษาเรียนรู้ให้เด็กเข้ามาศึกษาค้นคว้าบ้าง แล้วก็มีการบ้านหรือมีงานเรียนรู้เป็นกลุ่มจากชุมชนหรือบ้านเพื่อน ก็จะสามารถพัฒนาหลักสูรและกิจกรรมการเรียนรู้ที่บูรณาการเนื้อหาและสาระการเรียนรู้ได้หลายอย่างครับ ที่สำคัญคือ การเรียนรู้ชุมชนและท้องถิ่นตนเอง การเรียนรู้วิธีสร้างความรู้จากของจริง การเรียนรู้จากการศึกษาค้นคว้าทางคอมพิวเตอร์ การมีประสบการณ์ในการค้นพบและนำเสนอด้วยตนเอง การวาดรูปและถ่ายรูปหรือการเก็บข้อมูลด้วยตนเอง  การทำงานเป็นกลุ่มและทักษะการจัดการทางสังคมเป็นกลุ่มอย่างมีส่วนร่วม ได้ทั้งคุณธรรมต่อส่วนรวมและความเป็นพลเมืองที่มีจิตสาธารณะ เอื้ออาทรต่อคนหมู่มาก 
    • หากใครพอมีประสบการณ์จะช่วยต่อเติมให้ไว้เป็นแนวคิดก็จะยิ่งดีครับ เชิญเลยครับ ใครเคยอยู่บ้านนอกจะรู้ว่ามันมีคุณค่ามากครับ ผมเองก็คิดว่าตอนจักิจกรรมที่บ้านเกิด ก็จะใช้เวทีของคนหนองบัวนี้ไปออกแบบเป็นแหล่งกิจกรรมในหน่วยเรียนรู้ให้กับเด็กๆครับ ตอนนี้ผมฝึกใช้ Mobile Unit Internet ได้เป็นอย่างดีพอสมควรแล้วครับ
    • รักษาสุขภาพและขอให้หายเร็วๆครับ
    • สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็ก คนเก่งๆและมุ่งทำสิ่งสูง ธรรมะย่อมจัดสรรให้เจอกันน่ะสิครับ
    • เก่งและเป็นชาวบ้านดีครับ ดูวิถีการทำงานและความเป็นวิชาการแล้ว ก็เหมือนคุณครูอ้อยเล็กเหมือนกันนะครับ ที่สำคัญคือมีน้ำใจต่อเพื่อนๆพี่ๆน้องๆมากครับ ผมได้ร่วมงานไปก็ได้เรียนรู้หลายอย่างจากเหล่าคุณครู ที่ไม่สามารถเห็นจากภายนอกครับ จนแม้เดี๋ยวนี้ แม้วงการศึกษาและวงการครูจะเสื่อมคลายไปหลายอย่าง แต่เห็นปัญหาและการทำงานของคนเป็นครูแล้ว ผมก็คิดว่าผมกราบความเป็นครูของคุณครูเด็กๆได้อย่างไม่ลังเลครับ
    • คุณครูอ้อยเล็กก็มีน้ำใจแก่คนหนองบัวมากหลายครับ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • อ.ขจิต ฝอยทอง ชวนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชนสองชุมชนคิดว่าดีมากเลย
    • บ้านพนมทวน-บ้านหนองขาว ได้ยินชื่อนี้แล้วคุ้น ๆ จากงานเขียนท่านกวีซีไรท์มานมนาน คืออาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูล
    • สำเนียงการพูดก็น่ารักดีเหน่อแบบเมืองกาญจน์มีเหน่ห์ใกล้เคียงสุพรรณบุรี
    • คุณครูอ้อยเล็กนี่เก่งทั้งขีดเขียนและคอมพิวเตอร์เลยทำได้ไงเนี่ยขอยอมแพ้แบบขาดลอย
    • คุณครูจุฑารัตน์ก็จดจำเกร็ดประวัติท้องถิ่นได้ดีสมกับเป็นลูกทุ่งขนาดแท้เลยเนาะ ก็ประทับใจทั้งสามท่านที่กล่าวมานี้ และคงจะได้ชมผลงานของท่านชิ้นต่อไป

    ขอเจริญพร

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล,สวัสดีค่ะอาจารย์พี่วิรัตน์และทุกๆท่านค่ะ..

    ขอนมัสการขอบคุณในคำชมพระอาจารย์ค่ะ..ครูอ้อยเล็กก็แค่ทำได้ค่ะ..แต่ยินดีมอบสิ่งที่ทำได้นี้..ได้ช่วยเหลือสังคมบ้างก็พอค่ะ..

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

    • ตอนนี้มีหลายท่านได้เข้ามาแบ่งปันประสบการณ์และให้ความคิดดีๆไว้กับเวทีของคนหนองบัวด้วยน้ำใจมากๆ อยู่เป็นระยะๆ นะครับ กำลังพอเหมาะครับ เพราะการเขียนลงในบล๊อกอย่างนี้ต้องอาศัยความสะดวก มีเวลา หรืออยากอยู่กับการทำความแยบคายกับตนเองในเรื่องที่กำลังทำ ก็อาจจะเป็นโอกาสได้มาเขียน หรือพอมีความรู้สึกปลอดโปร่ง ดีงาม อย่างแบ่งปันสิ่งดีให้กับผู้อื่นก็แวะมาเขียนฝากไว้
    • ตราบใดที่ยังมี GotoKnow ผมก็คิดว่าก็จะยังคงมีเวทีนี้อยู่ ผมขอยกให้ชาวหนองบัว พระคุณเจ้า และกลุ่มพริกเกลือ เลยนะครับ ยกให้เหมือนเป็นป้ายสาธารณะที่หัวตลาดหรือเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แบบสมัยใหม่อีกแห่งหนึ่งเลย หากใครมีเวลาและอยากทำสิ่งดีๆไว้ให้สังคมผ่านชุมชนอำเภอหนองบัว ก็จะได้มีที่แวะเวียนเข้ามาดูและเขียนรวบรวมสิ่งต่างๆไว้
    • ตอนนี้ผมเริ่มเห็นว่า GotoKnow เขามีวิธีใส่ชื่อผู้เขียนร่วมกันเป็นกลุ่มในแต่ละบล๊อกได้ โดยแต่ละคนใช้รหัสเข้าระบบของตนเอง ก็สามารถเข้ามาเป็นคนเขียนและบริหารจัดการข้อมูลบนบล๊อกได้เหมือนกัน ในอนาคตผมว่าเวทีนี้จะสามารถรองรับการทำงานความรู้เป็นกลุ่มหรือเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ได้ครับ
    • แต่ตอนนี้เวทีนี้ก็เหมือนกับเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนและศาลากระจายข่าวของชุมชนหนองบัวแห่งหนึ่งเลยละครับ ความรู้และกิจกรรมก็มีหลากหลายทั้งเรื่องเก่าแก่  ความรู้ใหม่ๆ และรายงานความเคลื่อนไหว การสัญจรและการมีคนแวะเวียนเข้ามาก็คึกคัก มากกว่าห้องสมุดประชาชนหรือหอกระจายข่าวจริงๆอีกนะครับ
    • สักระยะหนึ่งหากได้มีโอกาสสร้างคนเขียนความรู้ท้องถิ่นและช่างเสาะหาข้อมูลท้องถิ่นมาโยนไว้ ก็คงจะเป็นคลังความรู้และคลังข้อมูลที่ใช้งานได้สารพัดของคนหนองบัวได้มากขึ้นเรื่อยๆครับ

    กราบนมัสการด้วยความเคารพ

  • ดูกิจกรรมของเด็กๆและดูผลงานที่ออกมาแล้ว คงจะให้ประสบการณ์ที่น่าประทับใจแก่ผู้เรียนมากเลยนะครับคุณครูอ้อยเล็ก
  • กระบวนการเรียนรู้อย่างนี้จะให้ประสบการณ์เชิงสัมผัสที่มีความเป็นบูรณาการและมีความเข้มข้น ทั้งได้ทำงานความคิด ได้ใช้ความสร้างสรรค์ ได้เรียนรู้ความยืดหยุ่นและรอคอยให้เงื่อนไขที่เราควบคุมไม่ได้ดำเนินไปเอง
  • ได้ลงมือปฏิบัติทั้งทำคนเดียว ทำเป็นกลุ่ม และปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม ได้เห็นผลงานที่พัฒนาการกระทั่งปรากฏขึ้นมาด้วยมือตนเอง แล้วก็มีคุณครูเป็นพี่เลี้ยง นำทางทั้งทางจิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้ และพัฒนาคุณธรรมกับภาวะแห่งตนอย่างเป็นองค์รวม
  • ความเข้มข้นอย่างนี้มักให้ความทรงจำฝังแน่นที่ดี จำเพาะหน้าอาจจะเห็นผลสำเร็จเพียงชิ้นงาน
  • แต่ในอนาคต ๓๐-๕๐ ปี เมื่อคนเราต้องพึ่งตนเอง ก็ไม่มีสิ่งใดจะเป็นที่ปรึกษาและเป็นเพื่อนได้ดีไปกว่าประสบการณ์ภายในต่อตนเอง ไม่ว่าจะมาจากศิลปะและการศึกษาอบรมทางจิตใจต่างๆ กระบวนการเรียนรู้อย่างนี้แหละครับจะออกมามีบทบาท
  • แล้วก็จะทำให้ทุกคนรู้ว่า การได้เรียนรู้อย่างนี้กระมังครับ ที่เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาชีวิตให้ดำรงอยู่อย่างมีความหมายได้อย่างดี เหมือนกับคนรุ่นเราที่พอเริ่มแก่และนิ่งพอสมควรแล้ว ก็จะมีโอกาสดึงเรื่องราวต่างๆในความทรงจำออกมาทบทวนให้ได้ความลึกซึ้งแยบคายต่อชีวิตเพื่อปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆได้ดีมากขึ้น
  • เห็นแล้วเลยนำลิ๊งค์จากเว็บเพาะช่างมาฝากคุณครูอ้อยเล็กด้วยครับ http://www.pantown.com/board.php?id=11476&area=4&name=board5&topic=80&action=view เป็นเวทีกิจกรรมของครูศิลปะและครูสาขาอื่นที่ต้องสอนศิลปะ กับองค์กรท้องถิ่นของจังหวัดชลบุรีและศูนย์ศิลปวัฒนธรรม เขาทำกันที่จังหวัดชลบุรีแต่คนที่เข้าร่วมมาจากภาคตะวันออกหลายจังหวัด กลุ่มคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีทำขึ้นมานั้นเป็นรุ่นพี่ๆของคุณครูอ้อยเล็กเองแหละครับ
  • ลอมฟาง ซุ้มฟาง วงผิงไฟ : การจัดการปัจจัยเพื่ออยู่อาศัยกับธรรมชาติให้กลมกลืนและพื้นที่สร้างความเป็นชุมชนในวิถีประชาสังคม 

    ชุมชนดั้งเดิมของอำเภอหนองบัวเป็นเกษตรกร ทำนา ทำไร่ โดยทรัพยากรและปัจจัยการผลิตต่างๆ เน้นการใช้แรงงานคนและสัตว์เป็นหลัก การจัดการพลังการผลิตและกระบวนการต่างๆ ที่นำไปสู่การสร้างสุขภาวะทั้งของปัจเจก ครอบครัว และความเป็นสาธารณะของชุมชน จะได้จากความเป็นชุมชนและวิถีชีวิตรวมกลุ่มเพื่อจัดการอย่างมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ เช่น การเอาแรง การลงแขก ธรรมเนียมการดองและใช้แรงงานเพื่อเชื่อมโยงความเป็นเครือข่ายเครือญาติผ่านการแต่งงาน รวมไปจนถึงการแห่นาคและบวชนาคหมู่ซึ่งเป็นงานประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของคนหนองบัวที่ต้องมีการเอาแรง การโฮมนาค

    สิ่งที่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ขับเคลื่อนความเป็นชุมชนและวิถีการรวมกลุ่มดังกล่าว จึงเป็นทุนทางสังคม(Social capital) และเป็นโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน ที่ขับเคลื่อนพลังความเป็นชุมชนดังกล่าวให้ดำรงอยู่อย่างมีชีวิต ดังนั้น จึงมีความสำคัญและต้องส่งเสริม บำรุงรักษาให้มีความงอกงามหลากหลายยิ่งๆขึ้นในชุมชน

    ลอมฟาง ซุ้มฟาง และวงผิงไฟ เป็นวิถีชีวิตชุมชนแต่ดั้งเดิมที่มีบทบาทต่อความเป็นชุมชนในลักษณะดังกล่าว ในอดีตนั้น หน้าหนาวจะเป็นช่วงเวลาที่หนาวเย็นและตรงกับช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับการทำนา ข้าวหนักจะเริ่มแก่ ข้าวเบาก็จะสุกและพร้อมเกี่ยว 

    ก่อนเกี่ยวข้าวก็จะต้องนาบข้าวให้ลู่ราบไปในทางเดียวกันเพื่อให้เหมาะแก่การเกี่ยวด้วยเคียวและการลงแขก เมื่อเกี่ยวข้าวแล้วก็จะต้องนวดข้าวและเก็บข้าวใส่ยุ้งฉาง สิ่งที่ได้ตามมาส่วนหนึ่งก็จะได้แก่ฟาง สำหรับเป็นอาหารวัวควายตลอดหน้าแล้งเป็นหลัก

    ขั้นตอนเหล่านี้จะอยู่ในช่วงฤดูหนาว  ซึ่งในอดีตนั้น ชาวบ้าน คนเฒ่าคนแก่ จะทุกข์ทรมานจากความหนาวเย็น ทั้งโดยความเป็นฤดูหนาวเองและเนื่องจากความขาดแคลน บ้านช่องไม่หนาแน่นพอจะกันลมหนาวโกรกให้เย็นยะเยือก เสื้อผ้าไม่พอใส่ และผ้าห่มก็ไม่พอคุ้มหนาว แต่ชาวบ้านก็มีการเรียนรู้ที่อยู่อย่างเรียบง่ายแต่สร้างสุขภาวะชุมชนได้อย่างบูรณาการ

     

                             

     

    วิธีแก้ไขของชุมชน ชาวบ้านก็จะทำซุ้มฟางและมีวงผิงไฟ ใครอยากนอนอุ่นก็จะทำซุ้มฟางให้เพียงพอ เด็กๆจะชอบมากเพราะเป็นการเล่นที่จริงจังเหมือนกับเล่นสร้างบ้านและสร้างชุมชนขึ้นมาเป็นของตนเอง ให้ประสบการณ์ในการเป็นเจ้าของกลุ่มก้อนและชุมชนโดยตรง เป็นการจัดการความรู้ในวิถีชีวิต เด็กๆและชาวบ้านต้องเลือกทำเลสำหรับทำซุ้มฟางด้วยความรอบรู้หลายอย่าง ทั้งความปลอดภัยจากงูและสัตว์อันตราย ความปลอดภัยจากลมและฟืนไฟ การหลบทิศทางลมหนาวโกรก การทำซุ้มได้ดีจะน่านอน อบอุ่น ได้เฝ้าดูแลบ้านช่องและข้าวให้ทุกคนมีความอบอุ่นทั้งกายใจ

    ก่อนนอนยามมืดค่ำและยามเช้าหลังตื่นนอนลุกจากซุ้มฟาง ก่อนแยกย้ายไปทำการงานเมื่อแดดออก ก็จะล้อมวงผิงไฟข้างลานนวดข้าว ลานบ้าน และข้างซุ้มฟาง บ้างก็นั่งเผาเผือกมัน ปิ้งข้าวเกรียบว่าว เหลาไม้ จักตอก ทำเครื่องจักสานและทำงานฝีมือต่างๆ ก่อให้เกิดวงสังคม ความเป็นกลุ่มก้อน และพัฒนาความเป็นชุมชนเรียนรู้อย่างบูรณาการ (Civility and Learning community) หลายสิ่งจะเกิดขึ้นในวงผิงไฟและพื้นที่ความเป็นชุมชนแห่งการแแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ

    เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความเป็นชุมชนและการดำเนินชีวิตอยู่ด้วยกันของชาวบ้าน เป็นกลไกเชิงกระบวนการของสังคม ที่นำไปสู่การจัดการอย่างมีส่วนร่วม ทำให้ชุมชนปรับตัวเข้าหาเงื่อนไขธรรมชาติมากกว่าปรับธรรมชาติให้เป็นไปตามความต้องการ อีกทั้งเป็นแหล่งบ่มเพาะภูมิปัญญาการปฏิบัติต่างๆสำหรับการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม พอเพียง

    การมีสิ่งเหล่านี้ของชุมชน บ่งบอกถึงการมีพื้นฐานของการมีสุขภาวะของชุมชนได้อย่างหนึ่ง รวมทั้งทำให้มีความมั่นใจตนเองได้ว่าชุมชนในท้องถิ่นต่างๆมีศักยภาพการเรียนรู้ที่ทรงพลังอย่างนี้อยู่ ซึ่งในปัจจุบันสภาพแวดล้อมต่างๆได้เปลี่ยนไป รูปแบบของกิจกรรมภายนอกก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย แต่ความเป็นพื้นที่สร้างความเป็นสาธารณะด้วยกันของชุมชน อาจมีอยู่ในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งจะต้องค้นหาและพัฒนาให้มีความละเอียดอ่อน เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีของชุมชน เหมือนกับเป็นการเพิ่มพูนทุนทางสังคมของชุมชนให้ผู้คนมีโอกาสได้ความอยู่เย็นเป็นสุขจากการอยู่ด้วยกันและมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆกับคนอื่น

    ชุมชนที่มีองค์ประกอบด้านนี้น้อย ก็จะมีความทันสมัยแต่เพียงกายภาพภายนอก แต่มีความอยู่เย็นเป็นสุขน้อย คนหนองบัวจึงควรหมั่นสร้างทุนทางสังคมอย่างนี้เยอะๆในชุมชนของตนเอง.

    ข้อมูลและวาดภาพโดย ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์  สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล กันยายน ๒๕๕๒

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ที่ผ่านมาไปธุระที่หนองบัวไปถึงบ้านโยมประมาณตีห้า
    • โยมป้ากำลังก่อไฟอยู่พอดีที่กลางลานบ้านมีญาติผู้พี่และโยมพ่อมานั่งผิงไฟด้วย
    • ทิดสึกใหม่ที่ไปด้วยกันเป็นเด็กหนุ่มจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วยโยมป้าใส่ฟืนสุมไฟอย่างคนเป็นงาน
    • โยมป้าแปลกใจพูดเบา ๆ กับอาตมาว่าเอ๊ะทำไมเด็กหนุ่มในเมืองจึงดูท่าทางคล่องแคล่วสุมไฟก่อไฟก็เป็นด้วย
    • ท่านนึกว่าเป็นเด็กจากในเมือง แสดงว่าคนเฒ่าคนแก่ก็มีวิธีสังเกตและดูเป็นโดยไม่ต้องเป็นหมอดู แถมทายถูกต้องแม่นยำ เพราะแกมาจากอำเภอกาบเชิง วิถีชีวิตก็คล้าย ๆ หนองบัว แกจึงทำเป็น
    • สงสังโยมป้าคงเห็นลูกหลานสมัยนี้ทำอะไรแบบนี้ไม่ค่อยเป็น ไม่มีทักษะการใช้ชีวิตที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ มีแต่ความทันสมัยอาจพึ่งตัวเองไม่ได้และไม่เข้มแข็ง
    • ในหมู่บ้านหนองบัวหนองกลับ บ้านจะยกพื้นสูงมีใต้ถุน สมัยก่อนหนาวกว่านี้
    • และเพื่อความสะดวกโดยไม่ต้องกลัวภัยจากสัตว์หรือโจรขโมย ชาวบ้านจะก่อไฟผิงบนบ้านเลย ใช้กาละมังลูกใหญ่ ๆ ใส่ดินทรายให้เต็มแล้วก่อไฟบนกองดินนั่นเลย
    • เด็ก ๆ ก็ชอบมานอนแอบ ๆ ข้างกองไฟอุ่นดีและได้ฟังผู้ใหญ่พูดคุยกันอย่างสนุกสนาน บางทีก็ไม่อยากย้ายเข้าไปนอนในที่นอนของตนก็มี.

    เจริญพร

    เห็นคนนั่งผิงไฟสูุบยาก็นีกถึงบ้านห้วยน้ำโจนของหนูุเลยค่ะ

    ครูอ้อยเล็กก็มีลิ้งค์น้องๆมาฝากอาจารย์ด้วยค่ะ...

    http://www.visualizer-club.com/index.php

    วิธีแก้ไขของชุมชน ชาวบ้านก็จะทำซุ้มฟางและมีวงผิงไฟ ใครอยากนอนอุ่นก็จะทำซุ้มฟางให้เพียงพอ เด็กๆจะชอบมากเพราะเป็นการเล่นที่จริงจังเหมือนกับเล่นสร้างบ้านและสร้างชุมชนขึ้นมาเป็นของตนเอง ให้ประสบการณ์ในการเป็นเจ้าของกลุ่มก้อนและชุมชนโดยตรง เป็นการจัดการความรู้ในวิถีชีวิต เด็กๆและชาวบ้านต้องเลือกทำเลสำหรับทำซุ้มฟางด้วยความรอบรู้หลายอย่าง ทั้งความปลอดภัยจากงูและสัตว์อันตราย ความปลอดภัยจากลมและฟืนไฟ การหลบทิศทางลมหนาวโกรก การทำซุ้มได้ดีจะน่านอน อบอุ่น ได้เฝ้าดูแลบ้านช่องและข้าวให้ทุกคนมีความอบอุ่นทั้งกายใจ

    ก่อนนอนยามมืดค่ำและยามเช้าหลังตื่นนอนลุกจากซุ้มฟาง ก่อนแยกย้ายไปทำการงานเมื่อแดดออก ก็จะล้อมวงผิงไฟข้างลานนวดข้าว ลานบ้าน และข้างซุ้มฟาง บ้างก็นั่งเผาเผือกมัน ปิ้งข้าวเกรียบว่าว เหลาไม้ จักตอก ทำเครื่องจักสานและทำงานฝีมือต่างๆ ก่อให้เกิดวงสังคม ความเป็นกลุ่มก้อน และพัฒนาความเป็นชุมชนเรียนรู้อย่างบูรณาการ (Civility and Learning community) หลายสิ่งจะเกิดขึ้นในวงผิงไฟและพื้นที่ความเป็นชุมชนแห่งการแแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ

    เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความเป็นชุมชนและการดำเนินชีวิตอยู่ด้วยกันของชาวบ้าน เป็นกลไกเชิงกระบวนการของสังคม ที่นำไปสู่การจัดการอย่างมีส่วนร่วม ทำให้ชุมชนปรับตัวเข้าหาเงื่อนไขธรรมชาติมากกว่าปรับธรรมชาติให้เป็นไปตามความต้องการ อีกทั้งเป็นแหล่งบ่มเพาะภูมิปัญญาการปฏิบัติต่างๆสำหรับการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม พอเพียง

    วิถีเหมือนกันทุกประการค่ะ...เหมือนลอกกันมาเลยค่ะ...

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท