เรียนรู้สร้างสุขภาวะคนหนองบัว


   เวทีคนหนองบัว : เวทีของคนทั่วไปทุกคน          เวทีนี้เป็นเวท...
มีต่อ

สวัสดีชาวหนองบัวทุกท่าน

ผม ฉิกครับ ศักดิ์ศรี พิทักษ์อำนวย ปัจจุบันอยู่ กทม.

ลูกหนองคอก รุ่น 17 ครับ ม.ศ. รุ่นเกือบสุดท้ายครับ (มีต่ออีก 2 รุ่น)

เพิ่งจะเจอบทความของ พี่วิรัตน์ คำศรีจันทร์ (ขออนุญาตเรียกพี่ละกัน)

ลองไปค้นหา ชื่อพี่ในกูเกิ้ล โอ้โห เยอะมากเลย ดีครับ

อ่านเรื่องเกี่ยวกับหนองบัวแล้ว เหมือนได้กลับไปนุ่งขาสั้น อยู่ทีบ้านเลย

ผู้คนต่างๆที่พี่เล่ามานี่ ก็รู้จักเกือบจะทุกคน ไว้ว่างๆจะมาแจมเพิ่มเติม ให้เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับลูกหลานชาวหนองบัว

จะชวนเพื่อนๆที่รู้จัก เข้ามาที่นี่กัน

วันที่ 6 ธ.ค. นี้ เจอกันทุกคนนะครับ

สวัสดีครับคุณศักดิ์ศรีครับ ยินดีต้อนรับเป็นอย่างยิ่งครับ คุณฉิกรุ่น ๑๗ นี่เป็นรุ่นน้องผม ๓ รุ่นเอง ผมรุ่น ๑๔ ครับ เลยค่อยร่วมสมัยกันหน่อย เพิ่งได้เห็นคนแรกนี่แหละครับที่บอกว่ารู้จักผู้คนต่างๆที่ผมพูดถึง ดีใจครับ

พี่ชายผม (รักษ์ แซ่แต้/พิทักษ์อำนวย) ก็รุ่นเดียวกับพีวิรัตน์

รุ่นนี้ผมรู้จักอยู่หลายคน เช่น อ.สืบ อ.เสน่ห์ อ.ทูน (ทูนหรือทูลไม่แน่ใจ เพราะได้ยินแต่เค้าเรียกกัน ไม่เคยเห็นว่าสะกดอย่างไร)

3 คนนี้ จะอยู่ แถวเนินน้ำเย็น (แถวๆบ้านแป๊ะอ้อ-ขุนอ้อ)

พี่ประเวศ อ.มานิตย์ พี่โอ่ง

เจ๊เกียง-น้ำเต้าหู้ คนนี้เล่นกีฬาเก่ง

อ.สุนันท์-ขายหมู

และอีกหลายๆคน

พอเอ่ยชื่อขุนอ้อออกมา ก็เลยนึกได้ว่า จริงๆ มีบุคคลสำคัญในหนองบัวอีกเยอะมาก เช่น ผู้กองชม ครูนุช ครูลำดวน ฯลฯ

พวกกำนันก็หลายคน เช่น กำนันเทิน กำนันเทียน กำนันแหวน กำนันผล ฯลฯ (ผมรู้จักกับลูกสาวกำนัน 3 ท่านแรก โดยเฉพาะ ลูกสาวกำนัน 2 ท่านแรกนั่นซี้ปึ้กเลย)

ยังมีข้อมูลอีกเยอะนะครับที่น่าจะถูกบันทึกถ่ายทอดออกมาให้ชาวหนองบัวได้ระลึกนึกถึงท่านเหล่านี้

ไว้ผมจะช่วยพี่เพิ่มเติมข้อมูลในส่วนทีผมรู้ (แต่มันออกจะเป็นสไตล์ของผมนะ - แต่ตอนนี้ยังไม่ค่อยออกมาเท่าไหร่)

วันสองวันนี้ ผมมีความสุขมาก เหมือนได้นั่ง Time Machine ของโดราเอม่อนกลับไปหนองบัวอีกที

เมื่อคืนก็ได้ไปงานเลี้ยงที่เทคโนพระจอมเกล้า พระนครเหนือมา ได้เจอเพื่อนฝูงหลายคนที่ไม่ค่อยได้มีโอกาสเจอกัน เลยเม้าส์กันซะดึก

ช่วงนี้มีแต่งานเลี้ยงรุ่น

วันที่ 6 ธ.ค. เจอกันที่หนองคอกครับ

ยิ่งดีใจและมีความสุขจริงน้องฉิก เรียกว่าได้อารมณ์โคตรดีใจเลยนะนี่

เมื่อตอนเด็กๆตอนที่เรียนอยู่หนองบัวนั้น ครอบครัวของฉิกหรือครอบครัวรักษ์นั้น ก็เหมือนกับเป็นครอบครัวของพวกเราเพื่อนของรักษ์ไปด้วยเหมือนกัน รักษ์ พี่ของฉิกนั้น นอกจากเป็นที่รักของเพื่อนๆคนอื่นๆแล้ว เขาเป็นเพื่อนจำเพาะกลุ่มของผมเลย 

เมื่อก่อนนี้ เวลาไปที่ร้านครอบครัวของฉิก ผมและเพื่อนๆก็เดินเข้าไปอย่างกับบ้านตัวเอง หากไปยังไม่เจอรักษ์ ก็เดินหยิบข้าวของช่วยเตี่ยขายให้กับคนที่เข้ามาในร้านเลย แต่พอโตๆและไม่ค่อยได้เจอกัน ก็ท้าวความกันไม่ค่อยออกแล้วครับ  

พี่ชื่นชมฉิกอีกอย่างหนึ่งนะครับ ฉิกทำให้เห็นวัฒนธรรมชุมชนของเด็กต่างจังหวัด และวัฒนธรรมความเป็นญาติกันของผู้คน แบบสังคมไทยๆ ให้ได้ความประทับใจมากครับ ฉิกรู้จักพวกพี่ๆตั้งเยอะแยะเลย รวมไปจนถึงคนเก่าๆที่คนหนองบัวรู้จักและเคารพรัก โดยเฉพาะคุณครูลำดวนนั้นทั้งเป็นครูประจำชั้นของพี่และเหมือนเป็นญาติผู้ใหญ่ทั้งของพี่และญาติพี่น้องของพี่เลย

พี่เองก็มักจะต้องใส่ใจกับเพื่อนๆของพี่และน้องๆ เพราะถือว่า เพื่อนของพี่ก็เป็นพี่เรา เพื่อนของน้องก็เป็นน้องเรา ญาติและแขกของเพื่อนก็คือของเราด้วย รวมทั้งพ่อแม่ของเพื่อนก็เคารพนับถืออย่างเป็นพ่อแม่ของเราด้วย (ยกเว้นเมื่อตอนเด็กๆชอบทะลึ่งเรียกชื่อพ่อ-ชื่อเตี่ยเพื่อนแทนชื่อของตัวเพื่อนเองแต่ละคนกัน)

ชวนเพื่อนๆที่มีความรู้ มีความคิด และมีประสบการณ์ดีๆ มาคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในนี้ได้นะครับ แล้วก็ถ้าหากใครทำลิ๊งค์ไปยังเว็บของโรงเรียนและหน่วยงานต่างๆในหนองบัวเป็น ก็ทำไปด้วยเลยก็จะดีมากอย่างยิ่งนะครับ ทั้งหนองคอก หนองบัวเทพ วัดเทพ และอื่นๆ ผมเองนั้นก็ลิ๊งค์เว็บของมหาวิทยาลัยมหิดลและคณะสังคมศาสตร์ฯมาเชื่อมต่อให้เด็กๆกับคนหนองบัว ไว้ที่เวทีของคนหนองบัวแล้วนะครับ

คุยกันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันไปเรื่อยๆก่อน หากมีโอกาสพี่จะจัดเวทีพบปะหรือจัดประชุมในหมู่คนที่คิดทำสิ่งต่างๆได้และมีจิตใจที่อยากทำให้กับชุมชนหนองบัวนะครับ เมื่อสามสี่ปีก่อน มีเพื่อนๆน้องๆและหน่วยงานท้องถิ่น อยากคุยกันหลายเรื่องเพื่อทำสิ่งต่างๆดีๆด้วยกันให้หนองบัวแล้วอยากจัดเวทีกัน

โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาการศึกษา สุขภาพ และการพัฒนาพื้นที่ แล้วบางครั้งก็อยากให้พี่มา Run เวทีและเชื่อมโยงพวกเราให้ แต่พี่ลองชั่งน้ำหนักดูแล้ว พวกเราเป็นคนหนองบัวก็จริง แต่เราไม่ค่อยได้เรียนรู้และไม่ค่อยมีข้อมูลเพื่อที่จะคิดให้แตกต่างไปจากสภาพเดิมกันเท่าไหร่

อีกทั้งพี่เห็นว่าโดยปรกตินั้น เราก็ใช้วิธีคิดและลงแรงทำกันเป็นกลุ่มและเป็นรุ่นศิษย์เก่ากันอยู่แล้ว เลยก็ยังไม่ชวนกันทำสิ่งใดไปมากกว่าเดิม ซึ่งนัยยะก็คือเป็นการบอกกันทางอ้อมว่าเราควรจะเตรียมตัวเองง่ายๆสักนิดหนึ่งไปก่อนดีกว่าไหม ตามแต่ใครจะถนัดและชอบไปทางไหน

อย่างการใช้การทำงานข้อมูลจากการคุยกันในนี้ไปเรื่อยๆก็ได้ อย่างน้อยก็เหมือนได้กลับบ้านและสื่อสารถึงคนที่รู้จักคุ้นเคยนะครับ

สวัสดีครับพี่วิรัตน์

  • ขอแก้ไขข้อมูลหน่อย เรื่องแถวบ้าน อ.สืบ มันต้องเป็นโคกมะตูม ไม่ใช่เนินน้ำเย็น
  • ไอ้เรื่องชื่อหมู่บ้านต่างๆนี่ ผมก็ไม่ค่อยแม่นเท่าไหร่ แต่ได้ยินอยู่บ่อยๆตอนเด็กๆ 
  • เมื่อกลางวันได้คุยกับลูกสาวกำนันเทิน (บอกให้เค้าเข้ามาดูที่นี่แล้ว อีกไม่นานคงจะเข้ามาแจมด้วย) เค้าก็บอกมีเรื่องตลก คือแถวเกาะลอย (อีกชื่อหนึ่งก็คือท้ายหนอง) ตรงบริเวณหลังกุฏิฤาษี แถวนั้นก็จะเรียกบ้านตีนกุฏิ ซึ่งเวลาพูดก็จะออกเสียงเป็นบ้านตีนกุด คนก็จะเรียกสาวๆแถวนั้นว่าสาวตีนกุด ฟังดูแล้วก็ขบขันสำหรับคนอื่น แต่สาวตีนกุดคงจะไม่ขำกะเราเท่าไหร่
  • เมื่อครู่ได้โทรคุยกับ อ.ขุน และก็ได้บอกให้เข้ามาดูที่นี่ รวมทั้งได้ส่ง SMS ไปบอกพรรคพวกให้เข้ามาที่นี่ เพื่อมาช่วยพี่วิรัตน์สร้างชุมชนหนองบัวของเรา ให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น  

สวัสดีครับฉิก

  • พี่ก็เพิ่งเรียนรู้ในรายละเอียดไปด้วยหลายเรื่องเลย เมื่อก่อนนี้แถวบ้านอาจารย์สืบนั้นพี่ก็เคยไปป้วนเปี้ยนกันตั้งแต่อยู่โรงเรียนเทพฯ
  • ตอนนั้นแถวบ้านอาจารย์สืบมีลานกว้าง บ้านหลังใหญ่โต กลางลานมีต้นมะปราง อาจารย์สืบกับพี่และในกลุ่มเพื่อนเป็นนักกิจกรรม พวกพี่เคยทำเสื้อกีฬาสีกันเอง พี่จะเป็นมืออาร์ตเวิร์คให้เพื่อนๆ ตอนจะรวมกลุ่มทำก็มักจะตระเวนไปรวมเพื่อนออกมาจากบ้านทีละคนสองคน
  • บ้านของอาจารย์สืบนี่ไปกันบ่อยเพราะตรงนั้นมีเพื่อนอยู่บ้านติดๆกันตั้งหลายคน คืออาจารย์สืบ จ่าไพฑูรย์(เดี๋ยวนี้แยกบ้านไปอยู่แถวเกาะลอยแล้วกระมัง) และ รศ.ดร.เสน่ห์ จุ้ยโต เดินออกมาอีกนิดก็เป็นบ้านร้านของฉิกและพี่ของฉิกคือรักษ์ ก็เพิ่งจะทราบนี่แหละว่าเขาเรียกว่าโคกมะตูม
  • อาจารย์ขุนเข้ามาคุยนี่ต้องสร้างบรรยากาศให้คึกคักเลยนะครับ เพราะพี่ขุนนั้นต้องถือว่าเป็นผู้บริหารสถานศึกษาระดับอำเภอท่านหนึ่ง อีกทั้งเป็นนักกีฬาโรงเรียนเก่า เป็นศูนย์กลางของเพื่อนๆพี่ๆน้องๆที่เป็นศิษย์เก่าของหนองบัว แล้วก็ดูเหมือนว่า ลูกของพี่เขาจะเรียนอยู่คณะเภสัชฯ มหาวิทยาลัยมหิดลอีกด้วย เชิญเลยนะครับ
  • ลานบ้านอ.สืบนี่ เป็นที่ที่ผมใช้ฝึกวิทยายุทธ์ตะกร้อตั้งแต่เด็ก และติดตัวมาจนปัจจุบัน แม้จะไม่ได้เล่นมานานแล้ว แต่เมื่อใดที่มีโอกาส เห็นพวกเด็กๆเล่นตะกร้อวงกัน ก็เข้าไปเล่นกับเค้าอย่างไม่อายใคร คือเพื่อนผม ไอ้โหม่ง กะไอ้รัก บ้านอยู่ที่เดียวกับ อ.สืบนั่นแหละ 2คนนี้นี่เล่นตะกร้อเก่ง โดยเฉพาะไอ้โหม่งนี่พื้นฐานแน่น นึกถึงตอนกีฬาสีแล้วมีเรื่องประทับใจเยอะมาก จะทยอยมาเล่าให้ฟัง (ขออนุญาตเรียกพวกเพื่อนๆว่า ไอ้ ละกัน มันได้อรรถรสดี)
  • ช่วงนี้กำลังไล่ตามพรรคพวกเพื่อชวนไปงานที่หนองบัววันที่ 6 ธ.ค. เมื่อวาน ได้คุยกับ ดร.สุภา (จริงๆศิษย์เก่าหนองคอกนี่ก็ดอกเตอร์เยอะนะเนี่ย) นี่ก็เรียนกันมาตั้งแต่ประถมที่หนองบัวเทพฯ ถึงม.ศ.3 ที่หนองคอก ไม่ได้เจอกันมาหลายปีดีดัก ตั้งแต่คุณเธอไปเรียนต่อที่อินเดีย (ไม่แนใจว่าโทหรือเอก) ก็เลยไม่ได้ติดต่อกันอีก ไปดูในเวปของ ม.ราชมงคล-ธัญญบุรี โอ้โฮเดี๋ยวนี้เป็นรองคณบดีฝ่ายบริหารฯ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ก็เลยชวนกลับหนองบัววันงาน ต่างก็ดีใจที่ได้คุยกันแม้จะเป็นทางโทรศัพท์ก็ตาม และก็ได้ชวนให้เข้ามาคุยกันในบล็อกนี้ด้วย

วันที่ 6 ธ.ค. เจอกันที่หนองคอกครับ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรคุณศักดิ์ศรี พิทักษ์อำนวย

รู้สึกดีใจมากที่คนหนองบัวบ้านเราเข้ามาช่วยกันเขียนเรื่องราวบอกกล่าวเล่าขาน ร่วมเสวนาพูดคุยร่วมรำลึกถึงบ้านตัวเอง

คนหนองบัวหลายท่านที่ได้ช่วยกันเขียนเรื่องหนองบัวคงมีความสุขที่เห็นคุณศักดิ์ศรี บอกว่าได้อ่านเรื่องราวในหนองบัวแล้วมีสุขเหมือนได้กลับบ้านเรา

สำนวนแบบนี้ได้อรรถรสเป็นคนกันเองดี

 เจริญพร

# 199 .....#....200 เข้าใจว่าจะเป็นคนเดียวกันนะครับ

ที่ทำให้คิดไปเช่นนั้น เนื่องจากเข้าเค้ากับบุคลิกที่ท่านอาจารย์บอก คือว่า เป็นคนยิ้มเก่ง อารมณ์ดี....และใจดีด้วย

อาจารย์เรณู จองกา น่าจะเป็นนามสกุลดั้งเดิมของท่านนะครับ เนื่องจากผมเคยเห็นในทะเบียนบ้านของผมเอง มีลายเซ็นและรอยประทับตราประจำตำแหน่งของนายบุญสม จองกา กำนันตำบลห้วยถั่วเหนือ ซึ่งตอนนั้น(ผมอยู่ ป.5) จำได้ว่า บ้านท่านอยู่ข้างโรงเรียนบ้านกระดานหน้าแกล และสิ่งสำคัญซึ่งน่าจะยืนยันว่าอาจารย์เรณู เป็นเพื่อร่วมรุ่นของอาจารย์คือท่านใช้คำนำหน้าชื่อว่า...นางสาว ครับ

ถึงตอนนี้ ก็ยังระลึกถึงท่านอาจารย์เรณูอยู่ และด้วยความเคารพครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า สวัสดีพี่วิรัตน์ น้องสมบัติ

  • ขอบคุณสำหรับคำเยินยอ (ต่างจากคำชมอย่างไรหว่า)
  • อ.เรณูนี่ ถ้าจำไม่ผิด เข้ามาสอนที่หนองคอกพร้อมกับอ.ขุน และ...จำไม่ได้แล้วว่ามีใครบ้าง เมื่อตอนที่ผมอยู่ ม.ศ.3 (น้องสมบัติก็ต้องอยู่ม.1) ตอนผมเข้าม.ศ. 1 รุ่นของพี่วิรัตน์ก็ออกจากหนองคอกพอดี เรียกว่ารุ่นผมมาไล่รุ่นพี่ออกไป ฉะนั้นไปไล่ปีดูละกันว่า ใช่รุ่นเดียวกับพี่วิรัตน์รึเปล่า (แต่ผมว่าน่าจะไม่ใช่นา เพราะออกไปแค่ 2 ปีเองก็กลับมาสอนแล้ว พอดีผมไม่รู้เกี่ยวกับหลักสูตร ว.ค ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นราชภัฏแล้ว) อย่างไร ก็ให้เจ้าตัวมาเฉลยซะก็สิ้นเรื่อง (เขียนแหย่ใครบางคนที่เข้ามาอ่านแล้วไม่ยอมจิ้มคีย์บอร์ด)
  • น้องสมบัตินี่ก็รุ่นเดียวกับน้องผม ไอ้น้อย-กวีศักดิ์ ไม่รู้ว่าจำกันได้รึเปล่า (อาจจะแปลกใจ คนนั้นคนนี้ ก็เป็นรุ่นเดียวกับพี่ผมน้องผมหมด ไม่ใช่อะไรหรอก ครอบครัวผมนี่เป็นครอบครัวขนาดใหญ่ พี่น้อง 12 คน เพราะฉะนั้นโอกาสถูกหวยก็เลยมีเยอะ)
  • วันก่อนที่ชวน อ.ขุนเข้ามาดูที่นี่ พร้อมกับโฟนอินคุยกันด้วย อ.ขุนก็พูดถึงน้องสมบัติ โดยเฉพาะเมื่อตอนที่ต้อนรับคณะอาจารย์เมื่อคราที่ไปเยือนหนองคาย ทานข้าวบนเรือล่องลำโขง (อ.ขุนบอกว่าไม่เคยมีใครต้อนรับอย่างมากมายล้นเหลือคณานับมาก่อนเลยในชีวิต-รายละเอียดให้น้องสมบัติเล่าเองดีกว่า..555)
  • พูดถึงตอนที่มีการแนะนำครูใหม่ พวกเราผู้ชายทะโมนทั้งหลาย ก็จะคอยชะเง้อเฝ้าดูว่า สวยรึเปล่าวะ ถ้าสวยนี่ ก็ลุ้นกันว่าจะได้มาสอนพวกเรารึเปล่า แต่อาจารย์คงจะไม่ได้คิดอะไรเหมือนกับเราหรอกนะ คงจะมองเราว่าเป็นเด็กเป็นน้องเป็นนุ่งคนนึงเท่านั้นเอง ก็เหมือนกับพ่อแม่เราที่ปัจจุบันท่านก็ยังมองว่าเราเป็นเด็กอยู่ร่ำไป และทำนองเดียวกัน เราก็มองลูกเราว่ายังเป็นเด็กอยู่
  • ช่วง 3-4 วันนี้อาจจะหายไปบ้าง มีธุระอื่นอยู่
  • วันนี้อากาศทำท่าจะเย็นๆ อย่างไรก็ฝากดูแลสุขภาพตัวเองกันด้วยนะครับ

ปล. ไม่รู้จะเป็นการไม่สุภาพรึเปล่า (มันควรจะเป็นหรือไม่) ที่ออกจะเป็นภาษาพูดมากไปหน่อย

อย่างไรก็ติติงกันได้นะครับ

เพื่อนๆหลายคนได้บรรจุและทำงานที่บ้านกันดีจังเลยนะครับ เมื่อก่อนนี้แถวกระดานหน้าแกลเป็นชุมชนที่คนแถวบ้านผมคุ้นเคยมากที่สุดรองจากหนองบัวและเกาะแก้ว คนแถวบ้านมักจะไปบวชที่วัดกระดานหน้าแกลพอๆกับไปที่วัดหนองกลับ  เวลาเที่ยวงานประจำปีและงานทอดกฐินก็จะไปที่วัดเกาะแก้ว

ที่หนองคายมีโรงแรมอยู่ริมโขงและข้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เจ้าของหรือหุ้นส่วนนี่แหละก็เป็นศุลกากร ผมเคยไปพักและนั่งกินข้าวยามเย็นอยู่ที่นั่นครั้งหนึ่งเมื่อตอนร่วมเป็นทีมเก็บข้อมูลทำวิจัยให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แต่หลายปีมากแล้ว กว่าสิบปีแล้วมั๊ง เป็นการสำรวจศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวไทยกับกลุ่มประเทศอินโดจีน ประทับใจบรรยากาศแถวนั้นมากด้วยเหมือนกัน

P...ดีใจกับพี่อาจารย์ดร.วิรัตน์ด้วยนะคะ..ชุมชนนี้เริ่มคึกคักอบอุ่น..มากขึ้นแล้วนะคะ...

สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก : คึกคักและมีการพัฒนาให้สิ่งต่างๆที่ดีอยู่แล้ว เกิดความเชื่อมโยงและมีการปฏิสัมพันธ์กันในแง่ของความรู้ การสื่อสาร และการไหลเวียนข่าวสารไปถึงกันที่กว้างขวางและหลากหลายมากขึ้น

ผมเองก็ประทับใจและกำลังสนใจมากๆด้วยเหมือนกันครับ โดยเฉพาะกำลังเห็นบทบาทของการเป็นเวทีสำหรับได้พูดคุยและหารือกัน เพื่อมุ่งไปสู่การได้ทำสิ่งดีๆด้วยกันทั้งต่อท้องถิ่นและต่อสังคมวงกว้าง

ในแง่การสื่อสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนั้น ผมว่าเวทีนี้มีประสิทธิภาพมากกว่าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายหวยออกซึ่งตามต่างจังหวัดมีอยู่เสียอีกครับ

ยิ่งในแง่ของการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลและการจัดการความรู้แล้วละก็กินขาดเลย

โดยเฉพาะในเรื่องที่เปิดโอกาสให้คนท้องถิ่นได้มีโอกาสคิดและหารือกันเพื่อชุมชนท้องถิ่นของตนเองแล้ว ในเวทีนี้หลายเรื่องไม่สามารถทดแทนได้ด้วยเวทีอื่นเลยทีเดียว เช่น การที่ผมได้พูดคุยและชวนกันคิดและทำสิ่งต่างๆกับคุณสมบัติ พระมหาแล คุณเสวก และคุณฉิกนั้น ในโลกภายนอกและในวิถีการทำงานก่อนหน้านี้แล้ว เป็นการยากครับที่จะได้เจอ คุย และทำสิ่งต่างๆให้เชื่อมโยงกัน

แทบทุกคนมีศักยภาพและมีบทบาททั้งต่อสังคมและต่อชุมชนบ้านเกิด โดยเฉพาะคุณสมบัตินั้น เป็นทั้งแหล่งวิทยาการทั้งของประเทศ ชุมชน และต่อประเทศเพื่อนบ้าน ยิ่งพอได้ทราบว่ากำลังทำงานอะไรและมีเครือข่ายทำกับหน่วยงานและผู้คนอย่างไรบ้างแล้ว ก็เห็นโอกาสและการทำงานที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอยู่ไม่ไกลกันเลย

รูปถ่ายของคุณครูอ้อยเล็กสวยและสื่อความหมายดีจัง ขอบคุณที่นำมาฝากและแบ่งปันกันครับ สบายดีและมีความสุขนะครับ เวทีนี้ต้องถือว่าคุณครูอ้อยเล็กเป็นผู้ร่วมบุกเบิกและก่อตั้งให้มีความงดงามนะครับเนี่ย

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ และทุกๆ ท่าน

  • ได้เห็นภาพของพิพิธภัณฑ์ของวัดหนองกลับ ชุมชนหนองบัว ของคุณ เสวก ใยอินทร์ แล้วทรงคุณค่ามากเลยค่ะ แต่อาจารย์วิรัตน์บอกว่ายังขาดการช่วยกันรวบรวม และนำมาเขียนเรื่องราวและสร้างองค์ความรู้ด้านต่างๆ เพื่อเสริมกำลังพัฒนาให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ชุมชนและมิติอื่นๆ ได้อีก ซึ่งขอสนับสนุนคำพูดของอาจารย์วิรัตน์ค่ะ

                       

  • อยากจะขอเสริมว่า ผู้ที่จะรู้เรื่องประเพณี วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม ตำนานต่างๆ ในชุมชนถ้าจะให้ถูกต้องแล้วคงไม่มีใครรู้ดีไปกว่าคนในชุมชนนั้นๆ เนื้อหาที่เป็นชีวิตของท้องถิ่นจึงสมควรให้คนในท้องถิ่นทำหน้าที่จัดทำ ริเริ่ม และดูแลกันเอง เพราะถ้าให้คนภายนอกมาจัดการอาจมีข้อมูลที่ผิดเพี้ยน หรือขัดต่อประเพณีวัฒนธรรมดั่งเดิมที่มีมา ..
  • แต่ถ้ามีการผสมผสานของศักยภาพชุมชนของคนใน และความเป็นวิชาการและมืออาชีพของคนภายนอก เมื่อมีความร่วมมือกัน เร่งก่อเกิดสำนึกร่วมของชาวบัานแล้ว พิพิธภัณฑ์หนองกลับของชุมชนหนองบัวจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ไม่ตายและมีความยั่งยืนต่อไป ..
  • ขอเป็นกำลังใจให้ชาวหนองบัวค่ะ

นี่ถ้าหากอาจารย์ณัฐพัชร์แวะไปเยือนและเขียนความรู้สิ่งที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดหนองกลับบ้างก็จะยิ่งมีกำลังใจกันใหญ่เลยนะครับ

หรือไม่ก็หากทางพวกเรามีโอกาสรวมกลุ่มคนที่พอจะเป็นกลุ่มนักวิจัยและเครือข่ายชาวบ้านท้องถิ่น ที่สามารถพัฒนาตนเองให้เป็นคนร่วมกันสร้างความรู้ท้องถิ่นได้ ก็จะขอแรงอาจารย์ไปช่วยถ่ายทอดวิทยายุทธในการเก็บข้อมูลและวิธีเขียน วิธีทำสื่อนำเสนอที่จะทำให้พิพิธภัณฑ์สามารถเป็นแหล่งความรู้ได้มากยิ่งๆขึ้นโดยฝีมือชาวบ้านนะครับ หรือไม่ก็ทำในแหล่งอื่นๆของชุมชนก็ได้นะครับ

กราบสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ ครับ

      ตั้งแต่ผมเองเข้ามารู้จักท่านอาจารย์ตั้งแต่วันแรกจนมาถึงวันนี้ ทำให้เข้าใจถึงคนหนองบัวมากขึ้น ก็จะอะไรเสียอีกล่ะครับ ไม่เพียง จะได้เข้ามาหาความรู้รอบตัวแล้วยังได้เห็นถึงบุคลากรของชาวหนองบัวที่เติบใหญ่ขึ้นมาแล้วได้เป็นครูบาอาจารย์ และอีกหลากหลายอาชีพเป็นที่น่ายกย่องแก่คนรุ่นหลังมากมายเลยทีเดียวครับ   นอกจากนั้นยังได้มารวมตัวกันแจกจ่ายความรู้ให้กับผู้น้อยได้เดินตามแสงสว่างไปสู่โลกกว้างอีกด้วยครับ 

     อาจารย์ณัฐพัชร์ครับ   หากวันนั้นผมเองไม่ได้ท่านแนะนำการนำรูปภาพขึ้นโพสแล้วละก็คงไม่มีรูปภาพมาฝากกันชม ต้องขอขอบพระคุณอย่างยิ่งเลยนะครับ เรื่องการถ่ายภาพที่ได้ก็ถ่ายแบบที่เรียกว่า เห็นอย่างไรก็ถ่ายอย่างนั้นไม่ได้มุ่งเน้นไปถึงมุมกล้องและเงาแสงผมเองคิดว่า อะไรก็แล้วแต่ทีทำมาโดยแบบไม่คำนึงถึงความถูกผิดเมื่อมองดูแล้วอีกมุมนึงก็จะได้รูปที่เป็นธรรมชาติที่สุดครับ

    ผมเองเรื่องราวต่างต่างก็ถ่ายทอดออกมาหรือจะสือให้คนอื่นเข้าใจได้ง่ายนั้นมันก็เป็นเรื่องยาก เรื่องราวต่างๆที่ผ่านมาบางครั้งก็ได้จากความเคยชินการเล่าต่อจากคนเก่าแก่บางครั้งก็บิดเบือนจากความจริงครับ เสียดาอย่างที่ ท่านหลวงอามหาแล ท่านได้เคยพูดไว้ เราต่างก็อยู่จากบ้านมาไกลนานๆจะได้มาเยียมบ้านบ้าง  คำนี้ทำให้ผมคิดว่าถ้าเราได้ใช้ชีวิตประจำวันอยู่ที่บ้านหนองบัวผมว่าน่าจะมีเรื่องราวมาถ่ายทอดหลากหลายเรื่องราวเลยทีเดียวครับ แต่ก็ไม่เป็นไรครับผมเองก็จะพยายามเก็บเล็กผสมน้อยนำมาถ่ายทอดไว้เลื่อยๆครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์  และ คุณเสวก ใยอินทร์ ค่ะ

  • อาจารย์วิรัตน์ : ยินดีมากค่ะ ถ้าชาวหนองบัวต้องการแรงงาน จะนำประสบการณ์ที่พอมีอยู่ไปร่วมลงแขกหล่ะค่ะ ^^
  • คุณเสวก : ภาพวาดที่คุณเสวกนำมาเสนอ "เครื่องหีบอ้อย" ดิฉันถือว่าเป็นการเก็บบันทึกประสบการณ์ และนำเสนอเรื่องราวถือว่าไม่ธรรมดาค่ะ เห็นถึงความพยายามอย่างยิ่ง

                               

                                                    ภาพวาดโดย คุณเสวก ใยอินทร์

  • การเริ่มต้นเก็บข้อมูล และเขียนบันทึกนั้น อาจนำ เครื่องหีบอ้อยโบราณ เป็นประเด็นเริ่มต้นในการสืบค้น ทำให้พบวิถีชีวิตของชาวบ้าน ภูมิปัญญา และประวัติศาสตร์ชุมชน ซึ่งเด็กๆ ในหมู่บ้านจะได้เรียนรู้ปูมบ้านปูมเมืองตัวเองผ่านเครื่องหีบอ้อยโบราณชิ้นนี้ก็เป็นได้ค่ะ
  • ซึ่งคุณเสวก ได้ทำการบันทึกไว้ด้วยทั้งการวาดภาพ และการเขียนบันทึกไว้ได้อย่างน่าสนใจค่ะ ...
  • ((แอบบอกว่า เพราะภาพวาดเครื่องหีบอ้อยของคุณเสวก ทำให้ดิฉันต้องค้นภาพที่เคยถ่ายไว้จากพิพิธภัณฑ์บ้านแพรก ว่ามันคือชนิดเดียวกันหรือไม่ เพราะตอนที่ดิฉันถ่ายภาพไว้นั้นดิฉันไม่รู้จักค่ะ))

                      

                          เครื่องหีบอ้อย จาก พิพิธภัณฑ์บ้านแพรก จ.พระนครศรีอยุธยา

  • ภาพวาดของคุณเสวกมีประโยชน์มากค่ะ ขอบคุณเช่นเดียวกันค่ะ
  • การถ่ายภาพ ดิฉันก็เห็นด้วยกับคุณเสวกนะค่ะ "เห็นอย่างไร ถ่ายอย่างนั้น" จะได้รูปที่มีความเป็นธรรมชาติ ..
  • ลองเพิ่มรายละเอียดลงไปในภาพถ่ายก่อนกดชัดเตอร์ซักนิดสิค่ะว่า ภาพนี้มันจะบอกอะไรเราได้บ้าง เช่น ใคร, ทำอะไร, ที่ไหน, อย่างไร และเมื่อไหร่ ......
  • ดีใจกับชุมชนหนองบัว ที่มีคนเก่งๆ เยอะแยะ ตอนนี้ก็ค่อยๆ เริ่มเปิดเผยตัวออกมาที่ละคน ๒ คนแล้ว ^^

สวัสดีครับคุณเสวก ใยอินทร์ : ผมก็ได้รู้จักความเป็นหนองบัวเพิ่มมากขึ้นอีกหลายเรื่องมากเลยครับ รวมทั้งได้เรียนรู้ไปกับคุณเสวกด้วยครับ บันทึกและการเขียนถ่ายทอด-เก็บรวบรวมเรื่องราวเล็กๆน้อยๆของคุณเสวกนั้นมีพัฒนาการไปมากเลยนะครับ ขอชื่นชมและยินดีไปกับคนหนองบัวที่มีคนมีน้ำใจทำสิ่งดีๆไว้ให้คนอื่นๆครับ

ขอบคุณครับอาจารย์ณัฐพัชร์ แล้วอีกด้านหนึ่งก็เป็นการเรียนรูัจากกันและกัน ต่างเป็นครูให้กันไปด้วยเลยนะครับ

ขอประชาสัมพันธ์ให้โรงเรียนหนองคอกอีกรอบครับ จะถึงวันงานแล้ว : ผ้าป่าการศึกษาและงาน ๔๙ ปี สู่ ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองบัว

  • ๖ ธันวาคม ๒๕๕๒ โรงเรียนหนองบัว เครือข่ายศิษย์เก่า กรรมการศึกษา และชาวหนองบัว จะจัดผ้าป่าการศึกษาเพื่อสร้างโรงอาหารให้โรงเรียนและลูกหลานคนหนองบัว พร้อมกับเริ่มต้นศักราชกึ่งศตวรรษของโรงเรียนหนองบัว ๔๙ ปีสู่ ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองบัว
  • ขอเชิญศิษย์เก่าและคนหนองบัวมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาการศึกษาของคนหนองบัว ลูกหลานคนหนองบัว และเด็ก-เยาวชนในท้องถิ่นโดยรอบครับ ในรุ่นหนึ่ง ก็อาจจะรวมกันคนละ ๕๐๐ บาทแล้วก็ตั้งกองผ้าป่ากองละ ๒,๐๐๐ บาท ได้หลายๆกองในรุ่นหนึ่งๆนะครับ
  • อีกวิธีหนึ่งนะครับ หากใครมีลูกหลานเรียนหนองคอกหลายคน ก็สามารถตั้งกองผ้าป่าเป็นครอบครัว กองละ ๒,๐๐๐ บาท จะหนึ่งกองหรือหลายกองก็ตามแต่จะต้องการครับ
  • ติดต่อโรงเรียนกันเอาเอง หรือติดต่อผ่านลูกหลานที่เป็นศิษย์เก่าหรือกำลังเรียนอยู่ ก็น่าจะสะดวกดีครับ

สวัสดีครับ พี่วิรัตน์ พี่เสวก อ.ณัฐพัชร์ และทุกๆคน

เงียบหายไปซะหลายวัน จากเริ่มจะหนาวนี่ก็จะหายหนาวแล้ว แค่ 2-3 วันเอง

จำได้ตอนเด็กอยู่หนองบัว หน้าหนาวนี่ ไปเรียนตอนเช้าต้องออกมาเรียนที่สนามหญ้า เป็น outdoor-class ก็สนุกไปอีกแบบ เปลี่ยนบรรยากาศ มาผึ่งแดดยังไม่หายหนาวเลย แถวบ้านจะมีที่ดินว่างเปล่าอยู่หน้าบ้านคนละฟากถนน ก็จะมาก่อไฟผิงกันที่นี่ แถวๆนั้นจะมีบ้านครูจำลอง ทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ก็จะมีเศษขี้กบที่เกิดจากการไสไม้โดยกบไสไม้ ติดไฟดีกว่าขี้ไต้อีก แต่ไม่นานเท่า และก็มีเศษท่อนไม้รวมทั้งกิ่งไม้แห้งแถวๆนั้นเอามาก่อผิงกัน ผิวหนังแขนขาแตกหมด เมื่อก่อนโลชงโลชั่นไม่มี มีแต่น้ำมันมะกอก ก็เอามาทาแขนขากันแตก และสีผึ้งทาริมฝีปากกัน ไม่รู้ว่าเมื่อก่อนอุณหภูมิเท่าไหร่ ไม่มีเครื่องมือวัด น่าจะหนาวกว่าปัจจุบันอยู่ แต่ยาวนานเป็นเดือนจนหมดหน้าหนาวเลย เสื้อกันหนาวได้ใช้จนคุ้ม

เรื่องเครื่องไม้เครื่องมือภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่พิพิธภัณฑ์วัดหนองกลับ ก็เห็นมีเยอะอยู่ กลับไปคราวนี้จะลองไปสำรวจดูอีกทีว่ามีอะไรบ้าง เครื่องหีบอ้อยก็เคยเห็น

อยากจะช่วยพี่วิรัตน์เชิญชวนลูกหลานหนองคอก มาช่วยกันตอบแทนโรงเรียนของเรา สังคมของเรา ใครติดธุระไปไม่ได้ ก็ฝากปัจจัยไปก็ได้ เรื่องครอบครัวกองผ้าป่า ก็เป็นไอเดียที่ดีครับ เดี๋ยวจะไปชวนพี่น้องตั้งกองผ้าป่าขึ้นมา นอกเหนือจากกองผ้าป่าของรุ่นแล้ว

แล้วเจอกันครับที่หนองบัว 6 ธ.ค. นี้

สวัสดีครับฉิกและทุกท่านครับ : เมื่อก่อนนี้ รุ่นพวกพี่เวลาหนาวก็จะใช้สีผึ้งทาปากกันปากแตก แล้วโลชงโลชั่นนั่นก็ยังไม่มีและไม่รู้จักกัน ก็ต้องใช้โลชั่นแบบทำเอง คือเอาเม็ดลูกดูก หรือเม็ดมะกอก ตำจนป่น หากเป็นเม็ดลูกดูก(ข้างสนามบอลหน้าโรงเรียนหนองคอกเมื่อตอนที่ยังเป็นทุ่งเลี่ยงวัวควาย จะมีอยู่ต้นหนึ่ง) ก็ตำให้ป่นใส่ใบหญ้าคา บีบๆจนน้ำมันออกแล้วก็ใช้ทาตามแขนขาและหน้า กันผิวแตก

หากเป็นเม็ดมะกอกก็ตำในกะลาแล้วก็อังไฟให้น้ำมันออก ก็จะได้น้ำมันมะกอกทางตัวได้อีกเหมือนกัน บางทีก็ใช้กากมะพร้าวที่มีกะทิและน้ำมันตกค้างอยู่ กำๆแล้วก็เอามาทาตามตัวได้อีกเหมือนกัน

ตอนนั้นไม่ได้นึกถึงการประเทองผิวกันหรอก แต่กันผิวแตก เพราะมันหนาวและเนื้อตัวแตกปริจนเลือดซึมเลย มันเจ็บ

เมื่อวานนี้ได้เจอคนหนองบัวด้วยครับ คืออาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์และคณะคุณครูโรงเรียนบ้านหนองไผ่ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ของเรานี่เอง อาจารย์พนมและคณะไปประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายครูวิจัยเพื่อจัดการเรียนการสอนส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน ได้นั่งคุยกันหลายเรื่อง มีทีมไปด้วยอีก ๓ คนเป็นคนห้วยร่วม ครูนาฏศิลป์ลูกหลานกำนันมา รอดสการคนหนึ่ง ครูคณิตศาสตร์คนบ้านเนินสอาดคนหนึ่ง และอีกคนหนึ่งเป็นคุณครูวิทยาศาสตร์ เป็นคนเพชรบูรณ์ อาจารย์พนมนี้เป็นสามีคุณครูสุนันท์ จันทร์ดิษฐ์ ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนหนองคอก และเป็นเพื่อผมกับเพื่อรักษ์พี่ของฉิกน่ะครับ

แล้วก็เพิ่งรำลึกได้ว่าคุณครูพนมนี้เคยไปเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนว้นครู(๒๕๐๔) บ้านผมด้วย น้องผมซึ่งเป็นครูอยู่ที่หนองบัวด้วยบอกว่าอาจารย์เก่งมาตั้งนานแล้ว และตอนไปอยู่บ้านตาลินและโรงเรียนวันครู ชาวบ้านก็รัก

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

หนาวมาก ๆ นี่น้ำค้างจะตกโชกจนต้นข้าวนั้นเปียก

เกี่ยวข้าวเปียกน้ำค้างนี่ปวดมืออย่าบอกใครเชียว

มือไม่อยากกำข้าวเลยหนา

กว่าแดดจะร้อนจนน้ำค้างแห้งก็สามโมงเช้าโน่นเลย

เวลาเดินลุยน้ำค้างบนหัวคันนานี่เย็นไม่อยากก้าวขา เท้าก็แตกเจอน้ำค้างอีกแสบเหมือนเป็นแผล

พอบ่าย ๆ ปวดหลังมาก ๆ ก็นอนบนซังข้าวนั่นแหละเป็นการเบรคไปในตัว ไม่ใช่อะไรหรอกเพราะมันปวดจะทนไม่ไหวต้องพักบ้าง

ตอนกินข้างกลางวันนี่อร่อยจริง ๆ ไม่มีอะไรก็แกงผักบุ้ง(พริกเกลือ)ซดน้ำร้อน ๆ ชื่นใจดี อร่อยเพราะหิวที่เขาว่านั่นแหละ

เสื้อองเสื้ออุ่นผ้านวมอะไรก็ไม่มีกับเขาเสียด้วยซิ

กราบสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ และทุกท่านที่เข้ามาช่วยกันแจกจ่ายความคิดเห็นครับ

  • ตอนนี้น่าเป็นห่วงพี่น้องชาวหนองบัวเป็นอย่างมากเลยครับ เมื่อสองสามวันก่อนผมโทรไปคุยกับพี่สาวถ่ามข่าวคราวเรื่องข้าวพี่สาวบอกว่าเกี่ยวข้าวกันหมดแล้ว ปีนี้บ้างคนข้าวเสียหายไปบางคนจากที่เคยได้มากก็ขาดไปประมาณคนละ สิบถึงยี่สิบเกวียน เพราะข้าวตายกันจำนวนมาก ชาวหนองบัวเลยขอแก้มือโดยการทำนาปรังกันมากขึ้นกว่าเดิม จากคนไม่เคยทำก็ทำเพราะเห็นว่าทางการได้ขุดลอกคลองสมอใหม่ตอนนี้น้ำเต็มครองก็จริงแต่ถ้ามีคนทำกันมากกลัวแต่ว่าน้ำจะไม่พอกันอีกคงต้องเอาใจช่วยกันต่อไปอีกแล้วครับ
  • หน้าหนาวก็สนุกดีครับเป็นเด็กก็เดินรัดตอซังข้าวเพื่อไปหาวิดน้ำจับปลาตามหนองหรือปลาตกคักตามมุมคันนา เมื่อผิวแห้ก็จะตึงแล้วก็แตก ผมเองก็เด็กทันสมัยขึ้นมาหน่อยมีครีมโลชั่น สปริงซอง หกบาททากันทั้งบ้านเมื่อทาแล้วก็แสบร้อนวูบวาบ
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ปีที่ผ่านมาหลานสาวได้ทำนาปรังเป็นครั้งแรกในชีวิต

ด้วยไม่เคยทำมาก่อนน้ำก็มีไม่มากเท่าไร

พอข้าวโตฝนก็ไม่ตกน้ำก็เริ่มแห้งเพราะมีเจ้าอื่นสูบไปใช้ก่อนจนน้ำหมดทั้งคลองเลย

ข้าวขาดน้ำจนเกือบจะแห้งตายอยู่แล้ว นาทีสุดท้ายมีฝนตกลงมาครั้งเดียวข้าวไม่ตายรอดตัวหวุดหวิด

พี่ป้าน้าอาแซวหลาน ๆ ว่าถ้าฝนไม่ตกหนา ไม่ได้ข้าวแม้สักเม็ด นี่ดีนะที่มันยังได้ทุนคืน

ตอนนี้กรุงเทพฯหายหนาวเสียแล้วครับ อากาศเย็นอยู่ไม่กี่วันครับ แต่แถวบ้านหนองบัวตอนนี้คงจะยังหนาวกันอยู่

สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ พระคุณเจ้าพระมหาแล พี่ฉิกและทุก ๆ ท่านครับ

หายไปสิบกว่าวัน วันนี้กลับมา พบว่ากระทู้นี้แตกแขนง /จูมดอก / ออกหมาก /เจริญงอกงามดีจังเลยนะครับ

#212 ....=ใช่แล้วครับ น้อย/กวีศักดิ์ เรียนอยู่ห้องเดี่ยวกันตั้งแต่ ม.1/1 - ม.3/1 ได้ข่าวแว่ว ๆ ว่าเอ็นติดวิศวะ(ตอนนั้น) หัวหน้าชั้นก็เอ็นติดทันตแพทย์ มช. และเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่นั่นจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ส่วนใหญ่แล้วคนที่อยู่ในตัวอำเภอจะพบกันบ่อย ส่วนผมนั้นอยู่ห่างจากตัวอำเภอออกไป 12 ก.ม. (ผ่านทางบ้านตาลิน) .... 16 ก.ม. (ผ่านทางห้วยด้วน/น้ำสาดกลาง) กลับบ้านทีไรก็ไม่ค่อยได้เจอเพื่อน ๆ สักเท่าไหร่

เรื่องที่อาจารย์ขุน โอภาษี เล่าให้ฟังนั้นก็ไม่มีอะไรมากหรอกครับ ต้อนรับท่านและคณะอาจารย์จากโรงเรียนหนองคอก ประมาณ 20คน ด้วยความดีใจน่ะครับที่.....อยู่ไกลถึงสุดชายแดน ท่านยังนึกถึงและแวะมาหา ในจำนวนนั้นก็มีนักเรียนรุ่นน้องหลายคนที่เป็นอาจารย์สอนที่โรงเรียนเดิม ซึ่งการทำงานอยู่ที่ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย - ลาว ได้มีโอกาสพบปะผู้คนมากมายจากทุกมุมโลก /ได้ต้อนรับแขกที่มีความหลากหลาย การที่ครูบาอาจารย์มาหานี่ มันเป็นอะไรที่วิเศษจริง ๆ ครับ ........ สำหรับคนที่จากบ้านมาไกลแล้ว ..... จะเข้าใจความรู้สึกเหล่านี้ได้ดี

ตอนกลับบ้าน ผมเคยแวะไปหาอาจารย์ขุน ที่โรงเรียนวังบ่อวิทยาครับ (เมื่อก่อนเป็นโรงเรียนสาขาของหนองคอก) รู้สึกว่าอาจารย์จะบอกว่าพี่ฉิกหรือนักเรียนรุ่นพี่ของผมนี่แหละ รวมตัวและรวมเงินกันจัดซื้อคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์การศึกษาไปมอบให้โรงเรียนวังบ่อหลายสิบเครื่อง โรงเรียนแห่งนี้อยู่เชิงเขา/ชายขอบของนครสวรรค์ / ติดชายแดนเพชรบูรณ์ ผมได้ฟังแล้วยังอดปลื้มใจแทนพวกพี่ๆ ไม่ได้เลย

#214.....=โรงแรมที่ท่านอาจารย์วิรัตน์ไปพัก ชื่อโรงแรมแม่โขงรอยัลครับ เมื่อก่อน...เมื่อสัก10 ปีก่อนอยู่ในเครือฮอลิเดย์อินน์ เจ้าของผู้เป็นสามีในอดีตเป็นข้าราชการสรรพสามิตครับ ภรรยาเป็นนายกสมาคมวัฒนธรรมจังหวัดหนองคาย ส่วนลูก ๆ ก็ดูแลธุรกิจครอบครัวบ้าง เป็นนักการเมืองท้องถื่นบ้าง สถานที่ตั้งก็อยู่ในมุมที่สวยงามดีครับ

สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

ศิษย์เก่าหนองคอกที่ไปเป็นอาจารย์คณะทันตแพทย์ฯ มช.นี่ อาจารย์หมอเกี้ยใช่ไหม เคยทราบมาจากเพื่อนว่ามีน้องจบทันตแพทย์และเป็นอาจารย์อยู่ที่ มช. งั้นต้องเป็นรุ่นหลังๆหลายรุ่นเหมือนกันนะครับ

ขอร่วมชื่นชมกับน้องๆที่มีการรวมตัวกันแล้วไปช่วยเรื่องโอกาสการพัฒนาการศึกษาและอื่นๆของชุมชนอย่างหนองบัวนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการนำเอาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์การเรียนการสอนต่างๆไปให้ หรือแม้แต่พากันไปทำกิจกรรมกับวัด ชุมชน และชาวบ้าน อย่างที่กลุ่มพริกเกลือเคยช่วยกันทำเมื่อต้นๆปี เหมือนกับเป็นเครือข่ายพี่ช่วยน้อง เพื่อนช่วยเพื่อน ศิษย์เก่าช่วยศิษย์ปัจจุบัน

หน่วยงาน สถาบัน องค์กร ที่มีความพร้อมและเข้มแข็งกว่าในเมือง ช่วยหน่วยงานและแหล่งสร้างคน เช่นโรงเรียน หรือแหล่งดูแลสารทุกข์สุขดิบของชาวบ้านในชนบทที่ผู้คนได้รับโอกาสจากการพัฒนาน้อยกว่า อย่างนี้ก็ทำให้มีเครือข่ายการร่วมทุกข์สุขและใช้ทุนศักยภาพที่มีในสังคมเพิ่มโอกาสการพัฒนาตนเองได้ดีมากขึ้นนะครับ จนเงินจนงบประมาณและทรัพยากร แต่รวยและมั่งคั่งทางน้ำใจต่อกันนี่ ก็เป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้สุขภาวะเผื่อแผ่ไปสู่กันได้มากขึ้นครับ เลยคุยแบบช่วยรณรงค์ส่งเสริมไปด้วยเลยน่ะครับ

โรงแรมแม่โขงรอยัลนั้นคงจะใช่แล้วครับ เจ้าของเป็นอดีตข้าราชการสรรพสามิตอย่างที่คุณสมบัติว่านั่นแหละครับ

โอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาชีวิตเพื่อพึ่งตนเองได้

น้องผมเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนหนองคอก เคยออกไปเยี่ยมนักเรียนที่บ้าน ไกลออกไปจากโรงเรียน แต่เดิมก็รู้สึกว่าลูกศิษย์ยากจนและมีสภาพที่ลำบาก แต่พอไปเห็นสภาพแล้วคุณครูที่เป็นน้องผมนี้ก็เล่าให้ฟังว่า สภาพการเป็นอยู่ทั้งลำบากและน่าเวทนาเกินกว่าที่คิดเห็นภาพไว้แต่แรกมากเข้าไปอีกหลายเท่า เป็นเด็กผู้หญิงและอยู่กับแม่ที่ป่วย ดูเหมือนจะเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตด้วย บ้านเป็นเพิงสังกะสีผุพัง การกินอยู่แร้นแค้น ดูแล้วแค่ทนเรียนให้จบมัธยมชีวิตก็คงจะสาหัสทั้งเด็กและแม่ อนาคตก็ไม่ต้องพูดถึงเลย 

พอคุยกันแล้วก็หารือกันว่าจะหาทางช่วยอย่างไรดี ในที่สุดก็ตกลงกันว่าจะช่วยให้เด็กได้ทำงานไปด้วยให้มีรายได้พอใช้จ่ายเพื่อตนเองและเพื่อดูแลแม่เล็กๆน้อยๆ แล้วก็ให้ได้ทักษะทั้งทักษะชีวิตและทักษะวิชาความรู้ หากเรียนต่อไม่ได้ก็จะได้ประสบการณ์ตรงให้พอมีความมั่นใจในชีวิตพอเลือกทางไปได้ดีกว่าเดิมบ้าง แต่ถ้าหากมีโอกาสเรียนต่อก็จะได้มีคุณครูและเพื่อนๆเป็นพี่เลี้ยงดูแลให้เรียนรู้เพื่อจะทำงานไปด้วยและเรียนไปด้วยเสียตั้งแต่เนิ่นๆ

คุณครูของเธอที่เป็นน้องผม บอกว่าเด็กเป็นคนเรียนดีและมีฝีมือทางศิลปะ มีความอดทนทำงานดี อัธยาศัยดี ผมเลยไปเดินเลือกซื้อสีและอุปกรณ์ทำงานศิลปะ เป็นชุดสีเขียนแสตมป์อย่างดีชุดใหญ่ซึ่งเป็นสีที่นักเรียนศิลปะ รวมทั้งผมเองด้วย มักใฝ่ฝันอยากได้ใช้ กับสีโปสเตอร์ พู่กัน และกระดาษ แล้วก็มอบให้น้องไปมอบให้นักเรียนคนดังกล่าวนั้น

พอเด็กได้สีและวัสดุอุปกรณ์สำหรับทำงาน อีกทั้งเพื่อนๆและครูทราบสถานการณ์ ก็มาขอให้เด็กทำงานฝีมือศิลปะให้ เช่น ทำการ์ดแสดงความยินดีในโอกาสต่างๆแก่คนที่รักนับถือ แล้วก็ให้ค่าตอบแทนคนละเล็กละน้อย 

ผมเอาผลงานของเธอไปโพสต์เผยแพร่ให้ในเว็บของศิษย์เก่าเพาะช่าง เพื่อให้เธอเห็นผลงานตนเองอยู่ในนั้นและเกิดพลังใจว่าเธออยู่ไม่ไกลเลยกับคนทำงานมีอาชีพในวงการของประเทศและสถาบันศิลปะแถวหน้าของประเทศแห่งหนึ่ง

ครั้งหนึ่งพวกผมพี่ๆน้องๆในฐานะศิษย์เก่าของโรงเรียนหนองบัว ก็ขอร่วมกับโรงเรียนให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนสมทบกับศิษย์เก่าและครูอาจารย์อื่นๆ เธอก็ได้รับทุนการศึกษาด้วย

ผ่านไป ๓-๔ ปีคงจะได้ เมื่ออาทิตย์ก่อน คุณครูของนักเรียนที่เป็นน้องผม บอกว่า เด็กได้เรียนต่ออาชีวศึกษา สาขาศิลปหัตถกรรมที่นครสวรรค์ และบอกว่าเรียนได้ดี อยู่ที่หนึ่งหรืออันดับต้นๆตลอด ได้ทราบแล้วก็พอจะประมาณได้ละครับว่าไปรอดแล้ว ทั้งชีวิตของเด็ก แม่และคนรอบข้าง ซึ่งสภาพย่ำแย่กันทั้งนั้น

แถวหนองบัวคงยังมีคนขาดโอกาสกันอีกมากนะครับ แต่การช่วยดูแลกันผ่านการได้สร้างคน สร้างโอกาสการศึกษา พัฒนาการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพให้กับชุมชนเพื่อเป็นทุนชีวิตนี่ ก็เป็นการให้ที่จะก่อเกิดความงอกงามและได้พัฒนาต่อไปให้ยั่งยืนได้มากอย่างหนึ่งเช่นกันครับ การคุยเพื่อสร้างความเคลื่อนไหวทางข่าวสาร ความรู้ และการรับรู้ตนเองต่างๆอย่างนี้ ก็คงถือว่าเป็นการแบ่งปันเกื้อหนุน และให้ปัญญาความรู้เป็นทาน ที่ดีมากด้วยเหมือนกันครับ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ขออนุโมทนากับอาจารย์ คุณครูและทุกท่านที่ได้ช่วยน้องให้ได้รับโอกาสดี ๆ

ฟังตอนแรกนึกว่า ยังไม่มีใครหยิบยื่นโอกาสให้เธอเสียแล้ว

ได้ฟังแล้วก็ชื่นใจแทนน้องไปด้วยเลย

ขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทั้งหลายที่มีเมตตาต่อผู้ด้อยโอกาสขาดโอกาส

ให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาการศึกษาพัฒนาตัวเองซึ่งเกือกจะหมดหนทางอยู่แล้ว

สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์

ใช่แล้วครับ....... เพื่อนเกี้ยนั่นเอง

เรื่องที่ชวนอาจารย์ไปร่วมงานสถานทูตลาวที่กรุงเทพฯนั้น พอเอาเข้าจริง ๆ มีงานเข้าครับ ทั้งสนามบินนานาชาติอุดรธานี/สนามบินนานาชาติขอนแก่น/ร่วมงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวา มหาราช ณ ศูนย์แสดงสินค้า LAO ITECC ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว .........งานรวมศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว 6 ธันวาคม ตามที่นัดหมายกันไว้แต่เดิมนั้น พอถึงเวลาจริง ๆ ชักจะไม่ค่อยมั่นใจแล้วครับ สุดท้ายหากไปไม่ได้จริง ๆ จะฝากเงินไปร่วมทอดผ้าป่าโรงอาหารผ่านหลาน ๆ ที่ยังเรียนที่นั่นครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์ มหาแลครับ

อย่างที่พระคุณเจ้าบอกว่าได้ทราบแล้วชื่นใจนี่ ต้องนับว่าสื่อและช่องทางการได้รับรู้โลกรอบข้างจากสื่ออย่างอื่นจะไม่สามารถให้ได้อย่างที่ทุกท่านกำลังได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกันในเวทีของชาวหนองบัวนี้เลยนะครับ

เรามีโอกาสนำเอาเรื่องของชาวบ้านในชุมชนเล็กๆมาคุยถึง แล้วก็เป็นการได้รู้ที่สร้างความชื่นใจ ไม่เหมือนกับข่าวสารทั่วไป ซึ่งถึงแม้จะทำให้ได้รับรู้กว้างขวาง แต่กลับมักทำให้ร้อนใจ

เรื่องเล็กๆน้อยๆอย่างนี้เกิดขึ้นเพราะมีการได้ทำสิ่งดีๆกันหลายอย่างให้เป็นเหตุปัจจัยนำมาก่อน พูดอย่างนี้ก็คงได้นะครับ เป็นหลักแห่งอิทัปปัจจยตาและปฏิจจสมุปบาททางสังคมเหมือนกันนะครับ

สวัสดีครับคุณสมบัติ ฆ้อนทองครับ : เหมือนกันเลยทีเดียวครับ อยากเจอเพื่อนๆก็อยากเจอ ณ เวลานี้ยังตั้งใจอยู่ครับว่าจะแว่บไปให้ได้ อย่างน้อยก็ไปตอนเย็นแล้วก็กลับดึกๆ นั่นเลย แต่ไม่รู้จะวางมือจากงานพอให้คลายกังวลใจไปได้ไหม

สวัสดีทุกท่านเลยครับ ตกลงผมไม่ได้ไปครับคุณสมบัติและทุกท่านๆครับ จะมีใครเอารูปถ่ายกิจกรรมในวันทอดผ้าป่ามาเผื่อแผ่กันดูไหมครับเนี่ย แต่มีเพื่อนๆคุยถ่ายทอดเรื่องราวให้ทราบตลอดตั้งแต่ก่อนถึงวันงานกระทั่งอยู่ในบรรยากาศของการพบปะสังสันทน์และเสร็จสิ้นงาน

ทราบว่ามีผู้คนไปร่วมมากมาย รุ่นผมรุ่นที่ ๑๔ ก็มากันร่วม ๔๐ คน ระดมทุนจากกองผ้าป่าทั้งหมดได้กว่าล้านบาท คุณครูโสภณ สารธรรม ผู้อำนวยการ และคุณครูสืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการและเป็นผู้ประสานงานของรุ่น คงมีกำลังใจหายเหน็ดเหนื่อยทีเดียว

มองย้อนกลับไปในยุคผมนี่ คงมองล่วงหน้ามาถึงวันนี้ไม่ออกเลยครับ เพราะเมื่อก่อนนี้ ตอนอยู่โรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) แรกๆก็ใช้ห่อข้าวใส่ใบตองไปกินที่โรงเรียน พอเริ่มมีกล่องข้าว ก็ใช้กล่องข้าว ตั้งแต่เป็นกล่องสังกะสีซึ่งชอบบุบบูบี้ และต้องใช้แบบสืบทอดกันตั้งแต่รุ่นพี่ไปจนถึงรุ่นน้องๆหลายรุ่น ผ่านไปจนจบจากหนองคอกตั้งหลายปีแล้วถึงจะเข้าสู่ยุคกล่องพลาสติก แล้วก็ต่อมาอีกตั้งหลายปีถึงได้มีถุงพลาสติก เริ่มจากถุงเย็นสำหรับใส่นมเย็นกระทั่งเป็นถุงใส่ของร้อนได้

ตอนไปอยู่หนองคอก พอถึงมื้อกลางวัน ก็เดินเอากล่องข้าวไปนั่งกินด้วยกันตามใต้ต้นไม้ กินๆไปก็โยนให้แย้ออกจากรูมากินไปด้วย

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์

ระดมทุนได้มากกว่าล้านบาทนี่ทำให้หลายๆ ท่าน หลายๆ ฝ่ายหายเหนื่อยไปเลยนะค่ะ ชื่นใจแทนชาวหนองบัวค่ะ ขออนุโมทนาด้วยค่ะ ^^

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย) [IP: 118.172.151.111]
เมื่อ พฤ. 12 พ.ย. 2552 @ 11:23
#1670147 [ ลบ ]

เห็นข้าวห่อใบบัว

ทำให้นึกถึงข้าวห่อใบตองพลวง(ควง)ที่หนองบัวเลย

ห่อไปนาไปไร่ไปเลี้ยงควายไปหาหน่อไม้ในป่ากินกับเมนูแกงพริกเกลืออร่อยดี

^
^

เห็นอาจารย์พูดถึงข้าวห่อใบตอง เลยนึกถึงพระคุณเจ้าท่านได้โพสข้อความไว้ที่บันทึก ด้วยน้ำมือ : พลังปัจเจกเพื่อสร้างสุขสาธารณะ”  ว่าจะแวะมาถามหลายครั้งแล้วแต่ลืมค่ะ “ข้าวห่อใบตองพลวง(ควง)ที่หนองบัว” มีเฉพาะที่เหรอค่ะ แล้วหน้าตาเป็นอย่างไรหนอใบตองพลวง (ตวง) อ่ะค่ะ หอม อร่อยกว่าการห่อด้วยใบตองทั่วๆ ไปไหมค่ะ?

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีทุกท่านครับ เพิ่งมาถึงกทม. เมื่อคืนนี้ (20.30 7 ธ.ค.) ออกจากกทม.ประมาณเก้าโมงเช้าวันที่ 6 ธ.ค. ยกโขยงไปกันหมดเลยทั้งครอบครัวเมียและลูกสาวลูกชายอีก รวม 4 ชีวิต จะไปเยี่ยมแม่ด้วย ตอนแรกพี่สาวคนโตที่ฝั่งธนจะไปด้วย ไปเยี่ยมแม่ แต่โทรมาบอกตอนเช้าที่จะออกเดินทางว่าไม่ไปแล้ว ไว้สัปดาห์หน้าจะให้ลูกสาวเค้าขับรถไปให้ พอมีที่ว่างอยู่บ้างก็เลยโทรไปหาแดงเพื่อนกัน (ลูกสาวกำนันเทิน) พอดีเค้าก็ยังทำธุระไม่เสร็จ จะนั่งรถตู้ไปหนองบัวเอง ตัวเราตั้งใจจะไปถึงหนองบัวประมาณเที่ยงๆบ่ายๆ เพื่อไปดูสภาพโรงเรียน และอื่นๆ รวมทั้งจะได้ไปเจอเพื่อนเร็วๆ พอขับรถไปถึงดอนเมืองน้องสาวที่หนองบัวโทรเข้ามาบอกว่า แม่ไม่สบายพี่ชายกับพี่สาวพาไปหาหมอที่ นว.เมือเช้า และหมอบอกว่าอาการไม่ค่อยดี ให้อยู่ ICU ก็เลยต้องบึ่งเข้าไปดูอาการแม่ที่ รพ.ศรีสวรรค์แทน ไปถึงก็เกือบบ่ายแล้ว แม่นอนอยู่บนเตียงไม่รู้สึกตัว หมอให้อ๊อกซิเจนอยู่ ใจคอไม่ค่อยดีเหมือนกัน พี่สาวที่ฝั่งธนที่กะจะไปเยี่ยมแม่สัปดาห์หน้าก็เลยชวนพี่ชาย-รักษ์ ตามมาที่ รพ.ด้วย เค้ามาถึงเอาก็บ่ายแก่ๆ ก็รอจนตอนเย็นได้เจอคุณหมอ ซักถามอาการ หมอบอกว่า เป็นเพราะร่างกายได้รับอ๊อกซิเจนไม่เพียงพอ ทำให้มีคาร์บอนไดออกไซด์สะสมอยู่ในเลือดค่อนข้างสูง แต่ตอนนี้ดีขึ้นแล้วปริมาณ Co2 ลดลงไปครึ่งหนึ่งแล้ว และแม่ก็เริ่มรู้สึกตัวบ้าง ถามตอบพอได้ โดยการผงกหัวหรือส่ายหัว ก็เลยสบายใจไปได้เยอะ

 

คือแม่เนี่ย ปอดไม่ค่อยดี เคยเป็นวัณโรคเมื่อกว่า 30ปีมาแล้ว แต่ก็รักษาจนหายไปนานแล้วเหมือนกัน แต่ก็ทำให้ปอดเสียหายไปเยอะ และช่วง2-3ปีมานี่ เริ่มไม่ค่อยมีแรง เดินจากบ้านไปตลาด ซึ่งห่างกันประมาณ 100เมตรก็ไม่ค่อยจะไหว ปกติแกจะไปจ่ายตลาดทุกเช้า ยังจำได้ตอนเด็กๆ จะรอแม่กลับจากตลาด ซึ่งแม่จะมีขนมมาให้เด็กๆได้กินก่อนมื้อเช้าอาทิเช่น ขนมครก ขนมถ้วย ขนมข้าวโปง(เดี๋ยวนี้หากินยากแล้ว) และอีกหลายๆอย่าง แต่ไม่ได้ซื้อมาเยอะนะ แค่พอให้แย่งกันกิน แต่ไม่ซ้ำกันจะเปลี่ยนไปแต่ละวัน แต่ที่ไม่ชอบให้แม่ซื้อมาคือถั่วงอก เพราะเราจะต้องมาเด็ดรากออก โอ๊ยกว่าจะเสร็จเรารู้สึกว่ามันใช้เวลานานมาก แต่แม่ก็ชอบซื้อมาจัง คงเพราะมันถูกตังค์และได้จำนวนเยอะด้วย เอามาผัดกินหรือไม่ก็เอามาทำแกงจืดกับหมูบะช่อ (คนจีนจะเรียกว่าทึง) ...รู้สึกว่าได้เล่าเรื่องสมัยเด็กๆแล้วมันมีความสุขอย่างไรก็ไม่รู้

 

กลับมาเรื่องอาการของแม่อีกที ช่วงครึ่งเดือนที่ผ่านมานี่ น้องสาวที่อยู่กับแม่ที่หนองบัวก็บอกว่า แม่ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง แม้แต่จะลุกไปห้องน้ำหลังบ้านก็ยังไม่ค่อยไหว เอาแต่นอนอย่างเดียว เตี่ยก็จะบ่นว่าแม่อยู่บ่อยๆ (เตี่ยอายุ 88 แม่อายุ 85) แต่เห็นน้องบอกว่าเตี่ยก็เป็นห่วงแม่มาก กังวลทำให้นอนไม่ค่อยหลับ กลายเป็นว่าอีกคนก็เอาแต่นอน อีกคนก็นอนไม่ค่อยหลับ กรรมมาตกเอาที่น้องสาวนี่แหละที่ต้องมาดูแลคนแก่ 2 คน ด้วยสาเหตุของปอดนี่แหละที่ทำให้มี Co2 ค่อยๆสะสมอยู่ในเลือดเพิ่มขึ้นๆ เลยมีอาการเซื่องซึม ไม่มีแรง นั่งหลับคอตกเหมือนสมัยเราเรียนหนังสือในห้องเลย จนแม่เกือบจะน็อคไปแล้ว ก่อนกลับเข้ากทม. เมื่อวานออกจากหนองบัวก็ได้แวะไปเยี่ยมแม่อีกที แม่ลืมตาได้แล้ว มีอาการดีขึ้นมากเลยจนคลายความกังวลใจไปได้เยอะมาก ตอนนี้นอกจากหายใจเองทางจมูกแล้ว ก็ยังต้องให้อ๊อกซิเจนต่อท่อเข้าทางปากอีกที แกก็พยายามจะพูดนะ แต่ยังพูดไม่ได้ ยังติดที่มีท่อหลอดอยู่ในปากอยู่

 

วันนั้นกว่าจะออกจาก รพ.เพื่อไปหนองบัวก็ทุ่มครึ่งได้ แล้วแวะส่งพี่สาวและกินข้าวเย็นที่ชุมแสงอีก ไปถึง บ้านที่นบ.ก็ 3 ทุ่มกว่าๆ อาบน้ำเสร็จเข้าไปที่งาน รร.หนองคอกก็เกือบ 4 ทุ่ม บางคนก็ทยอยกลับกันบ้างแล้ว แต่เพื่อนๆทุกคนยังรอเราอยู่ในงาน ขอบคุณเพื่อนๆทุกคนที่เป็นห่วงอาการแม่ คนมาร่วมงานเยอะมาก รุ่นผม (17) ก็เกือบ 40 คน เสียดายไม่ได้ถ่ายรูปในงานมาให้คนที่ไม่มีโอกาสได้ไปร่วมงานได้ดู แต่ผมก็ได้กลับเข้าไปที่ รร.อีกทีตอนเช้าก่อนกลับ เพื่อไปร่วมทำบุญผ้าป่าครั้งนี้ด้วย รวมทั้งของเพื่อนบางคนที่ฝากมากับผม เนื่องจากเมื่อคืนเพื่อนได้รวบรวมและส่งให้ รร.เรียบร้อยแล้ว เมื่อคืนไปในงานไม่ได้ควักตังค์ซักบาท เห็นรุ่น14 พี่วิรัตน์ได้กว่าล้านบาทแล้ว รุ่นผมนี่เด็กๆเลย แต่ก็รวบรวมได้ 7 ล้านกว่า(กีบ) คิดเป็นเงินไทยก็ 3 หมื่นกว่าบาท แต่ไม่ว่าใคร-รุ่นอะไรจะได้เท่าไหร่ ก็ถือว่าได้มีส่วนร่วมในการตอบแทน รร.เก่าของเราที่ทำให้เราเป็นอยู่ในตอนนี้ อย่างที่บอกไว้ก่อนหน้านี้

 

ตอนเช้าวันรุ่งขึ้นได้เข้าไป รร. ได้ไปเจออาจารย์ลี (ที่เห็นนั่งมอเตอร์ไซด์หน้าโรงอาหาร)เป็นรุ่นพี่ 1 ปี (รุ่น16) อาจารย์ลีได้พาไปดูบริวเวณอาคารเก่า ตอนผมเข้าไปเรียนม.ศ.1 นี่มีอยู่ 2 หลัง เป็นอาคารไม้ 2ชั้น ถ้าจำไม่ผิดน่าจะมีชั้นละ2ห้องเรียน ซึ่งได้ถูกรื้อออกไปแล้ว และได้สร้างองค์พระไว้ มีบันได2-3ขั้นขึ้นไปกราบไหว้องค์พระ ซึ่งตรงกับบริเวณบันไดขึ้นอาคารเดิม ตอนเรียน ม.ศ. 1 จะได้เรียนอาคารนี้ ด้านหน้าจะเป็นเสาธง มาเข้าแถวเคารพธงชาติทุกเช้า ด้านหลังอาคารจะมีต้นไม้ใหญ่อยู่ต้นหนึ่งจำไม่ได้ว่าต้นอะไร (ไม่ได้จำด้วยสมัยเรียน) ซึ่งจะบังโรงอาหารเล็กๆที่อยู่ถัดเลยออกไปอีก เป็นโถงหลังคาสังกะสีไว้กันแดดกันฝน พื้นเป็นดิน มีแม่ค้าอยู่รายเดียว ป้ารวย อาหารก็มีให้เลือกอยู่ 2 อย่างคือเลือกจะกินหรือไม่กิน สมัยนั้นพวกเราจะนิยมเอาข้าวพร้อมกับข้าวใส่ตลับอลูมิเนียมไปนั่งกินกันใต้ร่มไม้แถวชายป่า จับกลุ่มกันกิน นานๆผมจึงจะได้ใช้บริการโรงอาหารซักที ฉะนั้นผมกับโรงอาหารก็เลยไม่ค่อยได้ผูกพันกันซักเท่าไหร่ ถัดจากอาคารไม้ไปก็จะเป็นอาคารปูน 2 ชั้น ที่นี่ผมได้มาเรียนตอนม.ศ.2 อยู่ชั้นล่างห้องริมในสุด ด้านหลังจะเป็นแท้งค์น้ำทำด้วยปูนทรงกระบอกสูงเลยชั้นล่างขึ้นไป น่าจะมีซัก 6 แท้งค์ได้ หนองบัวก็อย่างที่รู้ๆ น้ำท่านี่ขาดแคลนหนักโดยเฉพาะหน้าแล้ง อ.ลีบอกว่าอาคารนี้ได้มีการต่อเติมขยายยาวออกไปอีก พอดีไม่มีเวลาพิจารณาเท่าไหร่ เลยไม่ได้ขึ้นไปสำรวจ อีกอาคารเป็นอาคารใหม่ 2 ชั้น แต่ชั้นล่างจะยกสูงเป็นที่จอดจักรยาน และใช้เป็นที่สวดมนต์ของนักเรียนตอนเย็นวันศุกร์ อาคารหลังนี้เสร็จใช้ครั้งแรกตอนผมอยู่ ม.ศ.3 พอดี สรุปผมเรียนที่นี่ 3 ปี ได้ใช้ 3 อาคารเรียนเลย ปัจจุบันมีอาคารอีกหลายอาคารก็ขยายตัวตามจำนวนนักเรียน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1,800 คน ม.1-ม.6

 

สำหรับโรงอาหารใหม่ ถ้าสมัยก่อนจะมีประตูเล็กซึ่งเป็นประตูหลักที่ผมใช้ประจำ ถ้ามาจากหลังอำเภอก็จะขนานไปกับถนนใหญ่เป็นทางเล็กๆ (แต่ก็กว้างพอประมาณถ้าเทียบกับจักรยานพาหนะหลักที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่) ถ้าเข้าประตูนี้เข้ามาขวามือจะเป็นบ้านพักครู และมีสระน้ำเล็กๆ น้ำใสแจ๋ว (พูดให้เห็นภาพแบบประชด) ไปคราวนี้ลืมสังเกตสระน้ำนี้ น่าจะเป็นบริเวณนี้นะที่จะใช้สร้างโรงอาหารแห่งใหม่ ส่วนโรงอาหารปัจจุบัน ก็คือโรงอาหารที่เคยใช้มาแต่เดิม และโครงเดิมก็ยังอยู่เป็นศูนย์กลาง แต่ได้ขยายออกไปทุกทิศทางทั้ง 4 ทิศ จนขยายออกไปไม่ได้แล้ว ผมได้ถ่ายรูปมาให้ดู จะเห็นหลังคามีแสงรอดออกมาเยอะแยะ ถ้าฝนตกลูกหลานเราน่าจะกินข้าวอร่อยน่าดูเลย อ.ลีได้ชี้ให้ดูภายในโรงอาหารซึ่งได้ติดตั้งทีวีไว้ให้นักเรียนได้ดูภาพอย่างเดียว ส่วนเรื่องเสียงนี่ให้ฟังเสียงพัดลมระบายอากาศเอา ก็หวังว่าโรงอาหารหลังใหม่เสร็จแล้ว นักเรียนคงจะได้มีสถานที่ทานอาหารที่ดีกว่าเดิม และก็ได้งบจากจังหวัดมาสร้างอาคารคู่กันอีก 1 หลัง

ป.ล. ไม่เคยเอารูปขึ้นที่นี่ ยังงงๆอยู่ 

โล่งอก คิดว่าจะเอารูปขึ้นไม่ได้ซะแล้ว

อีกอย่าง ข้อความมันค่อนข้างยาว เลยไปทำไว้ในเวิร์ดแล้วก๊อปมา ตอนเอามาไว้ที่นี่ตัวมันเล็ก ยังเสียวๆว่าผู้อาวุโสแบบเราจะมองเห็นรึปล่าว แต่พอเอาขึ้นไปแล้ว โอ้โฮตัวใหญ่กว่าคนอื่นเลย

ใบตองพลวงนี่เดี๋ยวนี้หายากแล้วนะ เมื่อก่อนที่บ้านจะมีคนเอามาขาย ซื้อเอาไว้ห่อผ้าที่มีคนเค้าเอามาให้ที่บ้านย้อม

ลักษณะก็คล้ายๆใบสักแหละ อธิบายไม่ค่อยจะถูก รอผู้รู้จริงมาอธิบายละกัน

สวัสดีครับฉิก

  • ก่อนอื่นฝากความเคารพถึงเตี่ยและแม่ด้วยนะครับ ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จงได้อำนวยพรให้แม่ได้สุขภาพดี มีความสุขใจ เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรและเป็นหลักใจให้ลูกหลานเหลนไปนานๆ รวมทั้งขอกราบคารวะเตี่ย ฝากรำลึกถึงรักษ์และหลานแฝดที่น่ารัก น่าภูมิใจ ทั้งสอง ด้วยนะครับ
  • พี่เขียนติดกันพรึ่ดไปหน่อยเลยทำให้สื่อความเข้าใจผิดว่ารุ่น ๑๔ คือรุ่นพี่ระดมทุนได้ตั้งล้านกว่าบาท
  • คือ..พยายามบอกให้เพื่อนๆได้รับทราบไปในตัวว่า รุ่น ๑๔ นั้นมากันได้ถึง ๔๐ คน ก็ถือว่าพอใช้ได้ครับ
  • แต่ที่ได้ล้านกว่านั้น หมายถึงรวมยอดจากกองผ้าป่าทั้งหมดน่ะ พยายามนำมาสื่อสารให้พรรคพวกเราที่ไม่ได้ไปพอได้ติดตามข่าวคราวของกิจกรรมจากบล๊อกนี้น่ะครับ ขออภัยครับ
  • ขอชมว่าฉิกเป็นสื่อให้กับชาวหนองบัวและเป็นสื่อรายงานกิจกรรมได้ดีจริงๆ มีรูปถ่ายมาให้ดูด้วย สักพักก็คงทำได้อย่างใจมากขึ้นเรื่อยๆนะครับ
  • เรื่องมีน้ำในสระหรือในบ่อใสแจ๋ว เพื่อทำเป็นประชดตนเองและให้เป็นเรื่องอำกันให้ขำๆของคนหนองบัว โดยเฉพาะแถวหนองคอกนี่ ก็เป็นเรื่องที่เล่นกันมานานครับ อย่าว่าแต่พวกเราที่เรียนหนองบัวเลย พวกชาวบ้านและญาติพี่น้องผมเวลาเขาได้ไปเห็นน้ำตามแหล่งต่างๆของโรงเรียนและหนองคอก ก็มักจะพูดอำกันเล่น ๒ อย่างคือ น้ำใสแหนวเลย หรือไม่ก็บอกว่า น้ำสระโอวัลติน
  • แต่รุ่นผมนี่ก็เริ่มมีแท๊งค์น้ำซีเมนต์แล้วครับ และต่อมาก็เริ่มมีหลายๆแท๊งค์ กระทั่งมีน้ำประปา(ที่เดินท่อมาจากพิจิตร ?)

ที่ คห.๒๓๓ ผมได้คุยถึง : โอกาสการพัฒนาเพื่อการพึ่งตนเอง แล้วก็ยกตัวอย่างของนักเรียนของโรงเรียนหนองบัวซึ่งยากจน และทำท่าว่าจะหมดโอกาสได้เรียนหนังสือ แต่ครูและเพื่อนๆได้ช่วยให้ได้ใช้ทำงานศิลปะหารายได้พอได้ดูแลตนเอง และต่อมาได้เรียนต่อสาขาศิลปหัตถกรรม ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษา นครสวรรค์ เป็นคนเรียนเก่ง

                                   

เมื่อสักครู่ผมลองแวะไปเยือนเว็บศิษย์เก่าของโรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งผมเป็นศิษย์เก่าของที่นั่น ดูไปดูมาก็ได้เจอผลงานของน้องเขาที่ผมเอาไปเผยแพร่ให้ในเว๊บนั้น เลยขอเอามาโพสต์ไว้ให้ดู เธอชื่อ ศรีสมร เร่งสูงเนิน ครับ คงจะเป็นเพื่อนพ้องน้องพี่ หรือเป็นญาติพี่น้องของใครบ้างกระมังครับ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรคุณศักดิ์ศรี

ขอให้คุณแม่หายไว ๆ และมีสุขภาพดีร่างกายแข็งแรงเป็นพระในบ้านของลูกหลานอันยาวนานต่อไป

อนุโมทนาต่อผู้มีจิตศรัทธาที่ได้สละทุนทรัพย์เพื่อการศึกษาสำหรับเยาวชนหนองบัวเราด้วย

ขอบคุณคุณศักดิ์ศรีที่ได้นำข่าวสารกิจกรรมอันเป็นกุศลครั้งนี้จากหนองบัวมาให้ได้รับรู้กัน

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

จากความเห็นที่ ๒๓๙

ขอตอบอาจารย์ณัฐพัชร์ที่ถามเรื่องข้าวใบตองพลวง(ควง)

หน้าตาต้นพลวงน่าจะหาได้ในอินเตอร์เน็ตนะอาจารย์-คล้ายใบเหียง(แต่ใบเหียงนั้นมีขนที่ใบและเมื่อจับจะคายและคัน)

ลักษณะใบเป็นรูปไข่ กว้างประมาณ ๑๕.๒๘ ซม. ยาวประมาณ ๑๕.๔๐ ซม. ปลายใบสอบทู่

ใบตองพลวงใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง

ทางอีสานใช้ห่อข้าวเหนียว

ใช้ห่อยาสูบ

ทำห่อหมก

สานทำฝาบ้าน

มุงหลังคา

เคยทำเป็นหลังมุงเกวียนประทุน(คนรุ่นหลังไม่รู้จักแน่)

ที่คุณศักดิ์ศรีว่าคล้ายใบสัก ใช้ห่อผ้าที่นำมาย้อมก็ถูกต้อง

คนหนองบัว-หนองกลับ ใช้ทำประโยชน์เยอะ แต่ที่เห็นเด่นชัดคือใช้ห่อข้าวไปนาไปไร่

เมื่อก่อนชาวบ้านทำขนมจีกกินเอง ก็ใช้ใบตองควงปูที่ตะแกรงไว้รองเส้นขนมจีนแทนผ้าขาว

เก็บไว้ใช้ได้นาน ๆ โดยชาวบ้านจะนำใบตองควงมาตากแดดให้แห้งแล้วเก็บไว้ในครัวร้อยเป็นพวงด้วยตอก

ใช้ได้ทั้งใบสดและใบแห้ง(ใบแห้งจะกรอบหักง่าย คนห่อต้องมืออาชีพ)

ใบสดอังไฟให้อ่อนตัวจะมีกลิ่มหอมห่อข้าวสะดวกไม่ฉีกขาดง่าย(ถ้าห่อไม่เป็นก็ขาดทำให้ใช้หลายใบซ้อนกันสิ้นเปลืองอีก)

ใบบัว -ใบตองกล้วยฉีดขาดง่ายกว่าใบตองควง

ปัจจุบันหาได้ยากซะแล้ว

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เห็นรูปการ์ตูนที่วาดโดยน้องศรีสมร เร่งสูงเนิน สวยมากไม่แพ้มืออาชีพเลย

ก็ขออนุโมทนากับอาจารย์วิรัตน์ที่นำมาเผยแพร่ให้ชาวหนองบัวได้เห็นผลงานของเธอ น้องศรีสมรจะมาแนะนำตัวเองบ้างก็ได้นะ ถือว่าเวทีนี้เป็นเวทีคนบ้านเรากันเอง

 อาจารย์และหลายท่านที่สนับสนุนให้โอกาสหนูคงจะดีใจไม่น้อยเลยหนา

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข (อาสโย) และสวัสดีคุณศักดิ์ศรี-ฉิก ค่ะ

  • ขอบพระคุณพระคุณเจ้า และคุณฉิกที่มาให้ความกระจ่างเรื่องของใบตองพลวงค่ะ
  • ก็ได้ลอง search หาจากใน Internet มาบ้างแล้วค่ะ แถมยังได้เกร็ดความรู้เรื่องของใบตองพลวง ที่นอกเหนือจาก การนำไปห่อข้าว มุงหลังคา ทำฝาบ้าน หรือสานเป็นฝาเพื่อนำไปปิดถังน้ำ ป้องกันน้ำหกเวลาเคลื่อนย้ายด้วยหล่ะค่ะ
  • เช่น ใบตองพลวง ทางภาคเหนือจะเรียกว่า ใบตองตึง
  • ใช้จับนกเขา  เค้าบอกว่าให้นำข้าวเปลือกไปโรยใส่ใบตองพลวง (กุง) แล้วนำไปวางไว้ในที่นกเขาชุกชุมในตอนเช้า แล้วนกเขาจะลงมากินข้าวเปลือก ใบตองเมื่อถูกแดดเผาก็จะห่อเอานกเขาไว้ข้างใน เราก็ไปเก็บนกเขาได้ค่ะ
  • การเจริญเติบโตของสมุนไพรจากธรรมชาติ เห็ดเผาะ หรือเห็ดถอบ ในภาษาถิ่นทางภาคเหนือ จะขึ้นได้ดีเมื่อใบตองพลวงร่วงลงพื้น สะสมจนเป็นเชื้อชั้นดี อุดมสมบูรณ์ เห็ดถอบก็จะเจริญได้ดีค่ะ
  • ฯลฯ ค่ะ ^^
  • คุณฉิกค่ะ สุขภาพของคุณแม่เป็นอย่างไรบ้างค่ะ ขอให้ท่านสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง โดยเร็ววันนะค่ะ

 

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล  อาจารย์ณัฐพัชร์ และทุกท่านครับ

  • แถวหนองบัวแต่เดิมนั้นเต็มไปด้วยป่าตองพลวงครับ ทางเหนือก็มีและเรียกใบตองตึง
  • ที่หนองบัวนั้นผมเคยเห็น แต่ไม่เคยใช้อห่อของเอง บ้านของชาวบ้านแถวหมู่บ้านคนเผาถ่าน ริมทางจากตลาดไปโรงเรียนหนองคอกแต่เดิมนั้น ก็เคยเห็นว่ามุงด้วยไปตองพลวง
  • ตามต้นและตามป่าของต้นใบตองพลวง มักเต็มไปด้วยพลวงไปทำรังตามโคนต้น ขี้พลวงหรือรังของพลวงใช้ทำก้อนถ่วงหน้ากลอง กลองยาว กลองตะโพน หรือทำก้อนถ่วงใบสนูสำหรับเล่นกับว่าวจุฬา แต่เวลาไปเอานั้นน่ารำคาญครับ มันไม่ต่อยให้เจ็บแบบผึ้งหรือมิ้ม แต่จะตอมและเข้าไปในหู จมูก ปาก ตา จนแทบจะทนไม่ไหว

สวัสดีทุก ๆ ท่านครับ

ขอบคุณพี่ฉิกครับสำหรับภาพโรงเรียนหนองบัว อีกไม่นานคิดว่า คงจะมีภาพกิจกรรมการจัดงานเข้ามาให้ได้ชมกันนะครับ

ผมเองถึงแม้จะไม่ได้ไป แต่ก็ได้ฝากให้หลานชายสำรองจ่ายไปก่อนแล้วจะส่งใบเสร็จรับเงินมาให้ภายหลัง

ที่ไปร่วมงานไม่ได้เพราะมีงานติดพันกับ สปป.ลาวหลายเรื่อง วันชาติลาว........ไปอวยพรวันชาติลาว วันพ่อแห่งชาติ....รับการอวยพรจากเจ้าหน้าที่ฝั่งลาว และไปร่วมงาน 5 ธันวา มหาราช ซึ่งสถานทูตไทยที่จัดขึ้นในเวียงจันทน์

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ไปร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 25 ที่สนามกีฬาแห่งชาติลาว มีนายกฯหลายประเทศมาร่วมงาน....คงเห็นภาพจากสื่อมวลชนกันไปบ้างแล้วนะครับ นี่เดี๋ยวอีกสักพัก มีการแข่งขันฟุตบอลนัดพิเศษระหว่างไทย - มาเลเซียในเวียงจันทน์ กลับมาจะนำบรรยากาศสนก ๆ มาเล่าสู่กันฟังครับ

การไปต่างประเทศแต่ละครั้งดูเหมือนว่าจะต้องมีการเตรียมการหลายอย่าง แต่ที่นี่...หนองคาย ต่างประเทศที่ว่า คือนครหลวงเวียงจันทน์ ห่างจากหนองคายเพียง 20 ก.ม.เองครับ การเดินทางไป - มา จึงมีความสะดวกมากกว่าการเดินทางไปในอีกหลาย ๆ ประเทศครับ

ท่านที่ติดตามการถ่ายทอดสดทางทีวี คงทราบผลการแข่งขันฟุตบอลระหว่างไทย - มาเลเซียแล้วนะครับ

ท่านใดพลาดการชม ขอรายงานผล...(แม้จะช้าไปนิดเมื่อเทียบกับสื่อต่าง ๆ)....... ไทยแพ้มาเลเซีย 1 : 2 ครับ แต่ไม่เป็นไรครับ ไทยยังมีโอกาสและพละกำลังโกยเหรียญที่รอการชิงอีกเป็นจำนวนมาก

  • ผมก็ไม่ได้ไปครับ เลยต้องใช้การมีส่วนร่วมระยะไกลเอา บ้านผมพี่น้องทุกคน ๗ คน เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนหนองคอกหมด อีกทั้งน้องสาวก็กลับไปเป็นครูอยู่ที่นั่นอีกคนหนึ่ง อาจารย์ใหญ่ของเรา คือ คุณครูโสภณ สารธรรมนี่ เป็นครูพวกผมตั้งแต่พี่ชายคนแรกกระทั่งคนสุดท้อง เลยรวมกับแม่อีกคนหนึ่ง ตั้งกองผ้าป่าด้วยกันกองละ ๒ คนได้ ๔ กอง แต่พี่ชายเขาแจกจ่ายซองตั้งได้อีกกอง กับน้องที่เป็นครูเขาอยากตั้งให้กับโรงเรียนเอง ๑ กอง เลยได้ ๖ กอง สมทบกับคนที่เขาใส่ซองมาร่วมอีกจำนวนหนึ่ง นอกจากสมทบทุนร่วมพัฒนาการศึกษาให้แก่เด็กๆแล้ว ก็เป็นการมีส่วนร่วมเล็กๆเพื่อเป็นกำลังใจกับคุณครูโสภณ คณะครู กรรมการศึกษาของโรงเรียน และพี่ๆน้องๆที่ช่วยกันริเริ่มกิจกรรมอย่างนี้ให้พวกเราได้มีส่วนร่วมน่ะครับ
  • แต่ก็ประทับใจจากเพื่อนๆมากครับ พรรคพวกที่ไปนั้น เมื่อเขามีความสุขที่ได้เจอกัน ก็ไม่ลืมที่จะโทรคุยให้ผมได้ร่วมอยู่ในบรรยากาศต่างๆกับเพื่อนๆไปด้วยแทบจะตลอดเวลาตั้งแต่ก่อนเริ่มงานตอนเช้าจนถึงงานเลี้ยงสังสันทน์ตอนเย็น ก็นึกเสียดายโอกาสนี้มากครับ แต่งานอยู่ในมือหลายอย่าง มิหนำซ้ำ โทรคุยกับแม่ ก็ได้ทราบว่าแม่ที่บ้านหนองบัวหกล้มและไม่สบายซ้ำเข้าไปอีก ก็แทบจะอยู่ทำงานไม่ติดเลย
  • เห็นภาพพิธีเปิดกีฬาซีเกมส์ ภาพของ สปป.ลาว เปลี่ยนไปมากเลยครับ มองในทางสร้างสรรค์ก็ให้บรรยากาศที่ดีมากที่สุดเท่าที่ได้เคยเห็นเลยครับ รวมไปจนถึงข่าวคราวที่เกี่ยวกับการทะเลาะและเล่นการเมืองแรงๆกันระหว่างไทยกับกัมพูชา มองอย่างไรผมก็ว่าในภาพรวมของภูมิภาคอินโดจีนกับประเทศไทยแล้ว อย่างไรก็ดีและมีภาพให้เราได้สัมผัสอย่างแตกต่างกว่าเมื่อก่อนนี้ชนิดคนละเรื่องเลย ก่อนหน้านี้เรามักเห็นแต่ข่าวสงคราม คนกระเสือกกระสนหนีตาย มีแต่ภาพของความโหดร้าย ความยากแค้น
  • แต่ครั้งนี้ ทำให้เห็นภาพของชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมอันหลากหลาย เห็นรอยยิ้มและธรรมชาติที่อยากแสดงออกถึงความมีความสุขความรื่นรมย์ใจแลกเปลี่ยนกันบ้าง การเป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ครั้งนี้ของลาวนั้น ไม่เพียงส่งให้ลาวได้จัดวางตนเองในอีกบรรยากาศหนึ่งในประชาคมระหว่างประเทศเท่านั้นเลยนะครับ แต่เหมือนกับทำให้ความเป็นสังคมในภูมิภาคอาเซียนกับอินโดจีน เห็นความเป็นตัวตนร่วมกันในอีกด้านหนึ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเลยทีเดียว
  • หรือแม้แต่การตอบโต้กันระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น มองดูให้ดีแล้วก็ไม่ได้มีอะไรร้ายแรงไปกว่าในอดีต ตรงกันข้าม กลับเห็นบรรยากาศของความเสมอภาคและทัดเทียมกันมากขึ้น มีการสื่อสารและเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมากขึ้น กระทั่งคิดว่า ผู้มีบทบาทสำคัญแทนที่จะเป็นคู่กรณีทางการเมือง ก็กลับจะเป็นสื่อมวลชนต่างๆเสียอีกนะครับ สื่อจะคิดว่าเป็นสื่อที่เล่นเอามัน เล่นเอาใจ เล่นให้ถูกใจและขายได้แต่ผู้บริโภคสื่อภายในสังคมของตนเองไม่ได้อีกแล้ว ต้องเป็นสื่อที่มีสปิริตใหญ่กว่าเดิม
  • ผมเพิ่งได้ฟังรายงานการแข่งขันฟุตบอลไทย-มาเลเซียทางวิทยุ คนรายงานข่าวเล่ามันจริงๆ
  • ขอชื่นชมคุณสมบัติและสมาคมมิตรภาพไทย-ลาวมากเลยครับ โดยเฉพาะคุณสมบัติน่ะครับ เป็นคนทำหน้าที่สื่อสารและรายงานอยู่เบื้องหลังอย่างแข็งขัน น่านับถือบทบาทที่ทำเหมือนปิดทองหลังพระเพื่อให้สังคมส่วนรวมเกิดสิ่งดีๆ มากเลยครับ ยิ่งเป็นคนหนองบัวบ้านนอกด้วยนี่ ต้องถือว่าได้ทำหน้าที่ชีวิตที่มีความหมายและมีคุณค่ามากอย่างยิ่งเลยนะครับ

สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์

ก่อนมาทำงานที่ชายแดนลาว (ไม่เคยมาภาคอีสานมาก่อน) ผมไม่เคยเปิดพจนากุกรมดูมาก่อนเลยว่า นิยามศัพท์ของคำว่า....ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ....มีความหมายว่าอย่างไร.....พิธีการทูต.....เป็นอย่างไร เมื่อมาทำงานได้ระยะหนึ่ง ก็ได้รับหนังสือจากสถานทูตไทยในเวียงจันทน์ให้ไปรับใบประกาศเกียรติคุณ..... บุคคลที่มีผลงานดีเด่น สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ราชอาณาจักรไทย - สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว).... ตอนนั้นยังงง ๆ อยู่ว่าไม่ได้เสนอผลงานอะไรไป หรือได้รับการบอกกล่าวจากสถานทูตมาก่อน เหตุใดจึงได้รับการพิจารณา...แต่ลึก ๆ ก็แอบดีใจครับ

ผมได้รับการบอกกล่าวภายหลังว่า คณะกรรมการฯ ที่สถานทูตแต่งตั้งขึ้นได้มีมติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ทุกประการ

เมื่อนำเหตุการณ์ปัจจุบัน คือการตอบโต้กันระหว่างไทย-กัมพูชา ที่อาจารย์พูดถึงมาพิจารณา ผมเห็นรัฐประศาสโนบายด้านการต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพฯ ที่มีต่อประเทศ สปป.ลาวนั้น สามารถนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติได้เป็นอย่างดีครับ ไม่ว่าจะเป็นระดับรัฐบาลส่วนกลาง ระดับกระทรวง ระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น หรือแม้แต่ข้าราชการหรือประชาชนตามแนวชายแดนทั่วไป ทุกฝ่ายต้องร่วมกันสร้างครับ และไม่ต้องหวังผล เมื่อทำความดี ผลดีจะออกมาเองโดยธรรมชาติ

การทำลายสิ่งที่ร่วมสร้างกันมานั้นง่ายครับ แต่การสร้างสรร/สร้างความสัมพันธ์/สร้างความรู้สึกที่ดีต่อกันนั้น ไม่ง่ายเลยครับ นอกจากจะไม่ง่ายแล้ว....ยากยิ่งนักและต้องใช้เวลานานมากครับ

สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

  • ขอร่วมชื่นชมและขอแสดงความยินดีด้วยครับ 
  • ในทรรศนะผมนั้น ผมว่าก็เหมาะสมมากนะครับ เพราะผมเองมักเห็นคุณสมบัติเป็นปากเสียงสื่อสารสิ่งดีๆทั้งให้สังคมลาวกับคนไทยที่เกี่ยวข้องอยู่มิได้ขาด ผมเองยังได้ความรู้และมีความรู้สึกดีๆเกิดขึ้นมากมายต่อการได้เรียนรู้สังคมของเพื่อนบ้าน
  • เป็นการแสดงออกด้วยว่าเขาเห็นความสำคัญของคนที่มีส่วนร่วมด้วยตนเองต่อการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เขาเห็นโอกาสอยู่ในวิถีชีวิตและการงานของเขาแล้วก็ทำออกมาด้วยสปิริตของตนเอง เหมือนกับเห็นความสำคัญของเครือข่ายปัจเจกที่มีส่วนร่วมในการเป็นเครือข่ายการฑูตภาคประชาชน และสื่อ สานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศภาคประชาชน (เรียกเองครับ ดูขึงขังดี)
  • เลยก็เห็นด้วยอีกด้านหนึ่งครับว่าทุกฝ่ายร่วมกันสร้างสิ่งดีๆ และร่วมรักษาสิ่งที่มีอยู่ให้ดีกับที่กำลังสีไม่ค่อยดี(ขอติดภาษาหนองบัวสักหน่อย) ไม่ให้แย่ไปกว่าเดิม
  • ระดมพลังความมีจิตสาธารณะของประชาชนและทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อเรียนรู้การมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่อย่างบูรณาการ
  • ประเด็นนี้...เยียมยอดครับ
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรคุณครูอ้อยเล็กกัลยาณมิตรชาวหนองบัว

อนุโมทนาขอบคุณแทนชาวหนองบัวด้วยที่คุณครูอ้อยเล็กอวยพรปีใหม่แก่ชาวหนองบัว

ขอให้คุณครูอ้อยเล็กมีความสุขสวัสดีในปีใหม่ ๒๕๕๓ และตลอดไป

อนุโมทนา สาธุ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรอาจารย์ ดร.จรูญ(atozorama)

อนุโมทนาขอบคุณที่อาจารย์ให้เกียรติมาเยี่ยมเยียนชาวหนองบัว

ร่วมขอบคุณกับท่านพระอาจารย์มหาแล ขอบคุณการสวัสดีปีใหม่แก่ชาวหนองบัวของคุณครูอ้อยเล็ก และขอขอบคุณท่าน ดร.จรูญ ด้วยครับที่แวะเข้ามาทักทายเวทีนี้พร้อมกับให้ข้อสังเกตหนุนเสริมกำลังใจแก่คนหนองบัวและผู้ที่เข้ามาคุยกันในเวทีบล๊อกนี้ อาจารย์แวะเวียนมาแบ่งปันเรื่องราวต่างๆกับคนหนองบัวและเวทีนี้บ้างนะครับ คนหนองบัวและผู้ที่เข้ามาอ่านคงจะได้สิ่งๆดีๆกลับไปใช้ในชีวิตและการทำงานด้วยมากมายครับ 

พรใดที่ประเสริฐ

ขอจงเป็นของพี่น้องชาวหนองบัวและชาวบล๊อกนี้ทุกท่าน....และขอให้มีสุขภาพดีตลอดปี 2553 ครับ

                         ขอร่วมบรรยากาศความสุขในเทศกาลปีใหม่กับทุกท่านด้วยครับ

                            ชุมชนเกษตร ชุมชนเมือง นาข้าว  นาบัว  เฉลว

ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลก และสิ่งอันเป็นที่เคารพนับถือของชาวหนองบัว หลวงพ่อเดิม หลวงพ่ออ๋อย เจ้าพ่อเจ้าแม่ฤาษีณารายน์ รวมทั้งการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบด้วยกายวาจาใจทั้งหลาย จงร่วมอำนวยพรและเป็นพลวัตรปัจจัย ให้ชาวหนองบัวและทุกท่านในบล๊อกนี้ มีความสุข มีกำลังกาย กำลังใจ สุขภาพดี ดำเนินชีวิตและทำการงานให้ได้ทั้งความสำเร็จ ได้ความงอกงาม ได้ความสบายกายสบายใจ เบิกบานแจ่มใส ตลอดปีใหม่ ๒๕๕๓ ที่กำลังจะมาถึงนี้ เทอญฯ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

วันนี้ลองกลับมาอ่านเวทีคนหนองบัวแล้วรู้สึกดีใจภูมิใจอย่างมากจริง ๆ คนอื่นจะเคยเป็นเหมือนอาตมาบ้างหรือเปล่าไม่ทราบ เวลาเอ่ยถึงพูดถึงหนองบัวกับใครทีไรคู่สนทนามักจะถามกลับมาว่าหนองบัวไหน หนองบัวลำภูหรือหนองบัวระเหวหรือหนองบัวแดงหรืออะไรประมาณนี้แหละ เราก็คนบ้านนอกชื่อที่เขารู้จักและพูดถึงนั้นเรากลับไม่รู้จักเลย แต่เมื่อได้อ่านหนังสือศึกษาชื่อบ้านนามเมืองต่าง ๆ จึงได้รู้ว่าชื่อเหล่าอยู่ที่ไหนบ้าง

วันนี้ชุมชนอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์คงเป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไปบ้างไม่มากก็น้อย แต่ในฐานะคนหนองบัวคนหนึ่งรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นบ้านเรา ทั้งหลายทั้งปวงนี้ต้องขอขอบคุณอาจารย์วิรัตน์ที่ทุ่มเทจิตใจเสียสละเพื่อคนหนองบัวผู้เป็นปฐมชนคนต้นเรื่องที่นำชุมชนหนองบัวออกเผยแพร่สู่สาธารณชน

ขอบคุณคนหนองบัวที่ได้เสียสละเวลาร่วมกันสร้างสรรค์และแบ่งปันความรู้อันเป็นประโยชน์ต่อชุมชนหนองบัวบ้านเรา

โยมอาจารย์ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ คุณเสวก ใยอินทร์ และกลุ่มพริกเกลือ คุณครูอนุกูล วิมูลศักดิ์ คุณพีรณัฐ คุณภูเขา คุณครูจุฑารัตน์ อาจารย์สมบัติ ฆ้อนทอง คุณศักดิ์ศรี-ฉิก คุณครูวิกานดา คุณไพฑูรย์ ศรสุรินทร์ คุณโชคชัย มากน้อย คุณจรัญ คุณเจนณรงค์ เหว่าโต คุณn.b.clup คุณแป๊ะ แก็ส  คุณอ้อย นุชเฉย

ขอบคุณกัลยาณมิตรที่แบ่งปันความรู้ให้กับคนหนองบัว

คุณครูอ้อยเล็ก(คุณครูวัชรี โชติรัตน์) คุณจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร อาจารย์ดร.ขจิต ฝอยทอง อาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ คุณเริงวิชญ์ นิลโคตร คุณครูkrutoiting คุณแอน

อ.หนึ่ง คุณหนานเกียรติ คุณrinda คุณณัฐรดา คุณคนไม่มีราก อาจารย์ ดร.จรูญ(atozorama) อาจารย์กู้เกียรติ  คุณnana งาน พสว.ศอ.8 

คุณสุ-มหาวิทยาลัยชีวิต ที่ไม่มีวันปิดทำการ คุณครูคิม คุณหมอkmsabai อาจารย์โต คุณครูอ้อย แซ่เฮ  คุณกวิน อาจารย์ชยพร แอคะรัจน์ คุณครูธนิตย์ สุวรรณเจริญ คุณนครพังคา คุณโก๊ะจิจัง แซ่เฮ~natadee ที่สุดในแก๊ง ที่ปรึกษาเวทีคนหนองบัวทุกท่านและพี่น้องชาวหนองบัวทุกท่านที่ไม่ได้ออกนามตลอดทั้งท่านที่แบ่งปันความรู้ท่านผู้อ่านทุกท่านด้วย(เวทีคนหนองบัวนี้ดูจำนวนผู้อ่านแล้วมากมายล้นหลามถ้าเป็นรายการทีวีต้องถือว่าเรตติ้งกระฉูด)

ใกล้จะถึงปีใหม่แล้วก็เลยขอถือโอกาสสวัสดีปีใหม่ พ.ศ.๒๕๕๓ กับทุกท่านขอคุณพระศรีรัตนตรัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย หลวงพ่อเดิมหลวงพ่ออ๋อย เจ้าพ่อเจ้าแม่ฤาษีณารายน์ จงอภิบาลปกปักรักษาคุ้มครองให้ชาวหนองบัวและทุกท่านประสบแต่ความสุขความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมตลอดกาลนานเทอญ.

 

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล คนหนองบัว และเครือข่ายกัลยาณมิตรทุกท่านครับ

  • ร่วมแสดงความยินดีกับพระคุณเจ้าด้วยครับ ผมก็รู้สึกดีใจอย่างที่พระคุณเจ้าสะท้อนออกมาครับ
  • แล้วก็เห็นด้วยอย่างมากครับว่ารู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมกับพระคุณเจ้าและทุกท่าน ทำเวทีคนหนองบัวในบล๊อก GotoKnow อย่างนี้ขึ้นมา ซึ่งริเริ่มกันด้วยความมีจิตใหญ่ ทว่า ทำกันไปตามกำลัง แต่คิดว่ามีส่วนทำให้ความเป็นชุมชนหนองบัวในโลกของความรู้และยุคข้อมูลความสาร สามารถมีอัตลักษณ์ เห็นการดำรงอยู่ เห็นความมีอยู่  มองเห็นและสัมผัสได้ทั้งจากคนหนองบัวเองและจากโลกภายนอก จากที่แต่เดิมชุมชนหนองบัวเราดูเป็นบ้านนาป่าดง ห่างไกลจากความรับรู้ของผู้คนทั่วไปมากๆ

  เป็นเอกลักษณ์และหนึ่งเดียวของประเทศ 

  • โดยเฉพาะนอกเหนือจากแหล่งข้อมูลที่ราชการทำขึ้นมาแล้ว เมื่อหาความเป็นชุมชนอำเภอที่เป็นความเคลื่อนไหวของประชาชน เวทีคนของชุมชน หรือเวทีพลเมืองแล้ว ลองสำรวจดู ก็จะเห็นมีเวทีที่ช่วยกันทำอย่างนี้ก็แต่เวทีนี้แห่งเดียวในประเทศก็ได้กระมังครับ ชุมชนบ้านนอกกว่าเพื่อนก็อาจทำบางสิ่งที่นำหน้าชุมชนอื่นๆได้นาครับจะว่าไป 

  ที่สุดของประเทศ 

  • รวมไปจนถึงชุมชนเล็กๆอย่างบ้านตาลินและโรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) ซึ่งนำร่องให้เป็นภาพเชิงลึกของชุมชนอำเภอหนองบัวนั้น ผมกล้าพูดได้ว่า ในจำนวนชุมชนของโรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) ในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ ๕ แห่งนั้น เรื่องราว ความเป็นวันครูและโรงเรียนวันครูกับความสำคัญต่อพัฒนาการศึกษาของสังคมไทย รวมทั้ง โรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) กับ วัด ผู้นำชุมชน และชุมชนโดยรอบ ที่บ้านตาลิน ของอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ของเรา ณ วันนี้ รอบด้านที่สุดในประเทศครับ ลองคลิ๊กไปดูได้ตามลิ๊งค์ตัวสีแดงข้างบนทั้ง ๒ ลิ๊งค์ครับ 

 มองเห็นและสัมผัสได้อย่างไร้พรมแดน

  • หากใส่คำค้น แล้วค้นหาด้วยกูเกิ้ล ด้วยคำว่า เวทีพลเมือง / เวทีคนหนองบัว คนหนองบัว / อำเภอหนองบัว / โรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) / บ้านตาลิน เหล่านี้ ก็จะเห็นตัวตนของคนหนองบัวได้ทันทีจากโลกไซเบอร์ครับ แล้วไม่ใช่เห็นแค่ข้อมูลแข็งๆครับ แต่เห็นมิติของชีวิตจิตใจ เรื่องราวของอำเภอ เรื่องราวของผู้คน องค์ความรู้ชุมชนท้องถิ่น แล้วก็มีข้อมูลและวัตถุดิบเพื่อนำไปจัดการความรู้พัตนาสิ่งสร้างสรรค์ต่างๆได้อีกมากมายครับ

 หลายอย่างเป็นต้นเรื่อง

  • บางเรื่องเป็นประเด็นที่ก้าวล้ำยิ่งกว่าเรื่องทั่วไปที่สังคมคุยกันจากข่าวสารประจำวันเสียอีกครับ เช่น เรื่องคุยแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างความรู้ และสร้างสัมมาทรรศนะต่อประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว และตัวตนของชุมชนด้วยความรู้จากประสบการณ์ชีวิตของบุคคล อย่างเช่นของคุณสมบัติ ฆ้อนทอง พระคุณเจ้า และคุณเสวก ใยอินทร์ ซึ่งทั้งความเป็นเรื่องสร้างสรรค์และความที่ผู้นำเรื่องเหล่านี้มาคุย เป็นคนท้องถิ่นหนองบัว ทว่า มีบทบาทต่องานภาคสาธารณะของประเทศโดยตรงด้วย
  • เรียกว่าเป็นเวทีคนหนองบัวซึ่งเป็นชุมชนท้องถิ่นก็จริง แต่บางเรื่อง กลับเป็นเรื่องที่คนหนองบัวได้ความเป็นต้นฉบับและจากคนต้นเรื่องของประเทศ-นานาชาติ 

 วิถีเรียนรู้แบบปฏิบัติธรรม

  • หลายเรื่องก็เป็นความริเริ่มกันเอง อย่างที่พระคุณเจ้าประมวลข้อมูลให้เห็นภาพรวมของคนที่เข้ามาเสวนากันในเวทีนี้ ตรง คห ๒๖๑ ซึ่งทำให้เห็นกลุ่มคนตั้งหลายคน ก็เป็นการทำไปก็เรียนรู้และสร้างความรู้เกี่ยวกับตนเองไปอย่างง่ายๆแต่มีความพอเหมาะ พอเพียง พอดี มีความหมาย และเป็นการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดความเคารพผู้คน
  • อันที่จริงต้องยกให้เป็นคุณูปการของพระคุณเจ้าครับ เพราะเริ่มต้นมาจากพระคุณเจ้า จนเวทีแรกทะลุไปเกือบ ๕,๐๐๐ คน/ครั้งแล้วครับ ผมเห็นเวทีแรกที่เปิดขึ้นเพื่อรองรับจำเพาะของพระคุณเจ้าซึ่งมีข้อมูลมากและมีคนเข้ามาดูเยอะจนเห็นจะต้องช่วยกันดูแล เลยแตกออกมาเป็นเวทีสาขาแห่งนี้ แล้วก็มีคนเข้ามาดูกว่า ๔,๐๐๐ คน/ครั้งเช่นกันแล้วครับ

                            

                            

                             คุณครูจุฑารัตน์ คนพยุหะคีรี จาก สพท กำแพงเพชร และกัลยาณมิตรของคนหนองบัว และเพื่อร่วมทีม ไปดูงานนิทรรศการรูปเขียน และนั่งคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกัน ที่หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ซึ่งต้องถือว่าเป็นผลสืบเนื่องจากการนำเอาข้อมูลจากเวทีคนหนองบัว ไปจัดกิจกรรมต่อไปอีก จึงทำให้ได้เจอคนเก่งๆที่ทำงานเพื่อเด็กๆและเป็นคนท้องถิ่นนครสวรรค์ (ต้องขออภัยที่แต่เดิมผมเข้าใจว่าเป็นคนหนองบัว แต่เป็นเพื่อนน้องผมและเป็นคนพยุหะคีรี แต่ก็ถือว่าใช่คนอื่นคนไกลครับ)

 จัดการความรู้สู่ความสร้างสรรค์ต่อเนื่องที่เกิดผลดีทั้งต่อท้องถิ่นและต่อสังคม

  • นอกจากเป็นที่สนใจและมีความเคลื่อนไหวดีมากพอสมควรแล้ว ก็ทำให้เกิดกิจกรรมที่ออกไปในทางสร้างสรรค์การเรียนรู้ของสังคม เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตามมาอีกหลายอย่างครับ เป็นต้นว่า ผมได้รวบรวมรูปเขียน ที่ดึงข้อมูลจากเวทีนี้มาเขียนนำเสนอเป็นรูปวาด แล้วก็รวบรวมสมทบกับรูปเขียนอื่นๆของผมจากงานวิจัยชุมชนอื่นๆ รวมแล้วได้กว่า ๖๐ รูป แล้วก็จัดแสดงนิทรรศการศิลปะที่อำเภอพุทธมณฑล หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ซึ่งตอนนี้ตกลงกันว่าจะขยายการแสดงให้คนเข้าชมไปจนถึงกลางเดือนมกราคม ปีหน้า ๒๕๕๓

 สร้างชุมชนและเครือข่ายคนหนองบัวอีกมิติหนึ่งให้เข้มแข็งขึ้น

  • จากเวทีนี้ คนหนองบัว และศิษย์เก่าของสถานศึกษาในหนองบัว ก็มีแหล่งได้คุยกันและได้ริเริ่มทำสิ่งดีๆด้วยกันอีกหลายอย่าง หลายคนเคยแต่เชื่อมโยงกับญาติพี่น้องและถิ่นเกิดด้วยการกลับไปเยี่ยมญาติอย่างเดียว ก็มีเวทีนี้เพิ่มโอกาสให้สามารถทำสิ่งต่างๆด้วยกันอีกตั้งหลายเรื่อง 

เพียงที่กล่าวถึงเหล่านี้ ก็ต้องถือว่าเวทีนี้ได้ทำสิ่งสร้างสรรค์มากพอดูหลายเรื่องทีเดียวครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข (อาสโย) และสวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์, ชาวหนองบัว และกัลยาณมิตรของชาวหนองบัวค่ะ

  • แวะมาเยี่ยมชาวหนองบัวคราวนี้ บล๊อคมีสีสรรแปลกตาไป ดูสดใสขึ้น ต้อนรับปีใหม่ ๒๕๕๓ เหรอค่ะ ^^
  • จากคห.ที่ ๒๖๑ และ ๒๖๒ ของพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข (อาสโย) กับอาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ เหมือนจะกำลังถอดบทเรียน หรือ AAR เวทีสุขภาวะชาวหนองบัวเพื่อส่งท้ายปี ๒๕๕๒ แล้วน่ะค่ะ
  • เพียง ๓ เดือนกับ ๔ พันกว่าคลิ๊ก ของเวทีสุขภาวะคนหนองบัว ก่อเกิดสิ่งดีๆ เกิดการเรียนรู้ขึ้นมากมายนะค่ะ ความงดงามของความคิดเห็นทุกความคิดเห็น .. เมื่อดูจากจุดหมายและเจตนารมย์ของเวทีชาวหนองบัวบนวิถีไซเบอร์นี้ คิดว่าดำเนินตามเจตนารมย์ได้อย่างครบถ้วนขบวนความ แต่ก็ยังรอการขยายผลในวงกว้างต่อไปนะค่ะ
  • ถึงน้องๆ หนูๆ ชาวหนองบัวที่เผอิญ หรือตั้งใจค้นหาข้อมูลของชุมชนแล้วได้เข้ามาในบล๊อคนี้นะค่ะ อย่าเพิ่งคิดว่าเป็นบล๊อคที่คนแก่มานั่งพูดคุยถึงเรื่องเก่าๆ กัน บันทึกนี้เป็นส่วนหนึ่งของบันทึกประสบการณ์ของผู้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว สะสมสิ่งล้ำค่าอันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนหนองบัวเรา ไม่ว่าจะประเพณี วัฒนธรรม ภาษา บุคคล สถานที่ ตำนานต่างๆ ไว้ให้น้องๆ ได้ศึกษาจากต้นทุนอันเป็นประโยชน์ของคุณอา คุณลุง คุณครูหลายๆ ท่านในนี้ค่ะ ...
  • เวทีหนองบัว go inter แล้วนะค่ะ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามประเทศ แม้จะเป็นประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว ก็ตาม ..
  • นอกจากแวะมาเยี่ยมยามชาวหนองบัวแล้ว ขอแวะมารับพรจากพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข (อาสโย) ด้วยค่ะ กราบ(๓ ครั้ง)ขอบพระคุณค่ะ
  • และถือโอกาสนี้กล่าวคำ สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๓  แด่กัลยาณมิตรทุกท่านด้วยนะค่ะ ขอให้มีความสุขกาย สบายใจตลอดไปค่ะ ...

 

สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

  • การ์ด สคส ๒๕๕๓ เก๋ไก๋ดีจังเลยนะครับ
  • จริงด้วยครับ เหมือนกับการถอดบทเรียนเวทีเลย เริ่มช่วยกันดูให้เห็นบางด้านว่าก่อเกิดอะไรขึ้นบ้าง
  • เมื่อคืนยังนั่งนึกอยู่นะครับว่าจะสังเคราะห์เชิงกระบวนการและนั่งดูว่ามีบทเรียนที่สำคัญอะไรบ้าง 

สวัสดีปีใหม่ คิดสิ่งดีใดๆ ขอให้สมปรารถนาทุกประการ

  • ขอถือโอกาสนี้ สวัสดีปีใหม่ทุกๆท่านเลยนะครับ เห็นรูปที่แต่ละท่านตั้งใจทำเป็นการ์ด สคส แล้วต้องขอบคุณจากใจจริง นอกจากจะสวยงามแล้ว ยังมีจิตวิญญาณอยู่ในภาพนั้นๆด้วย ตัวเรานั้นก็อ่อนด้อยเรื่องขีดเขียนรูปภาพ ถ้าเรื่องถ่ายรูปก็ยังพอไปวัดไปวากับเขาได้บ้าง
  • ก่อนหน้านี้ รู้สึกว่าข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับ อ.หนองบัวบ้านเราในเน็ตนั้นมีน้อยมาก ด้วยเป็นอำเภอที่น่าจะเรียกได้ว่าห่างไกลจากเทคโนโลยี ต้องขอบคุณพี่วิรัตน์ไว้อย่างสูงเลย ถือเป็นผู้ให้กำเนิดและเป็นผู้จุดประกายให้กับหลายๆคน รวมทั้งทุกๆท่านที่ได้เข้ามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความรู้อย่างเหนียวแน่น ก็หวังว่าในภายภาคหน้า จะมีผู้คนได้เข้ามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์กันมากขึ้น
  • เคยคิดเหมือนกันว่า วันหนึ่งถ้ามีผู้คนมากหน้าหลายตา เข้ามาแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างขัดแย้งกัน บรรยากาศที่มีอยู่แบบปัจจุบันจะเป็นอย่างไร แต่ก็คิดว่าคงไม่น่าจะมีบรรยากาศแห่งความขัดแย้งที่รุนแรงเกิดขึ้นในนี้ ด้วยทุกคนที่เข้ามาออกความคิดเห็น ล้วนแต่มีวุฒิภาวะและจิตสาธารณะเป็นที่ตั้ง
  • พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรอาจารย์ณัฐพัชร์

    อาจารย์มีของมาฝากด้วยคล้ายเป็นปฏิทินชุมชนหนองบัวเหมือเคยได้ยินอาจารย์วิรัตน์บอกอยากจะทำปฏิทินภาพหนองบัวสิบสองเดือนชนิดมีรายละเอียดเรื่องราวในชุมชนประกอบภาพต่าง ๆ

    พูดให้ดูเท่ ๆ หน่อยก็ได้ว่าปฏิทินชุมชนหนองบัวที่ยังไม่ได้ทำชุดนี้เป็นของคนหนองบัวเพื่อคนหนองบัวโดยคนหนองบัว(พูดเหมือนขายไอเดียตอนเลือกตั้งยังงัยไม่รู้)

    ขออนุโมทนาขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์ที่มาช่วยให้ความรู้อย่างสม่ำเสมอแก่ชาวหนองบัวพร้อมมีข้อสังเกตอีกทั้งได้ให้แง่คิดแก่น้อง ๆ เยาวชนลูกหลานคนหนองบัวที่เข้ามาอ่านบล๊อกนี้ด้วย คิดว่าหลายท่านได้กำลังใจจากอาจารย์ณัฐพัชร์กัลยาณมิตรผู้มีน้ำใจ

    สวัสดีครับฉิก

    • ฉิกหายไปเป็นครู่เลยนะครับ คุณแม่ออกจากโรงพยาบาลแล้วใช่ไหม
    • ขอชมหน่อยนะครับ คิดว่าคงไม่ทำให้เกร็งหรืออึดอัดนะ อยากเป็นภาพสะท้อนให้
    • ฉิกเขียนหนังสือดีน่ะครับ เขียนเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆได้น่าอ่านมากเลย เขียนเหมือนการสนทนาพูดคุย วิธีมอง การสื่อความคิด ข้อสังเกตและการสะท้อนทรรศนะ ก็ดี
    • พี่ก็ว่าดีมากทีเดียวครับ นอกจากเป็นข้อมูลและแหล่งการทำความรู้จักอำเภอหนองบัว ทั้งของคนหนองบัวและคนที่เขาสนใจ ทางอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะคนที่จะมาทำงานหรือทำมาหากินที่หนองบัว ก็คิดว่าจะมีแหล่งให้ศึกษาและเตรียมตัวเองได้อย่างดี
    • ดีกว่าอย่างเมื่อก่อนนี้ ที่เมื่อมองเข้ามาแล้ว นอกจากจะไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าหนองบัวเป็นอย่างไรแล้ว ก็แทบไม่เห็นร่องรอยของชุมชนด้านที่เป็นวิถีชีวิต เรื่องราวของท้องถิ่น และศูนย์กลางทางจิตใจของผู้คนเลย
    • อย่างเมื่อเร็วๆนี้ ก่อนถึงงานผ้าป่าของโรงเรียน คุณครูลัดดา พูลสวัสดิ์ และคุณครูสุนทร สันคามินทร์ อดีตครูเก่าแก่ของโรงเรียนหนองบัวซึ่งเดี๋ยวนี้เกษียณและกลับไปอยู่บ้านท่านที่จังหวัดนนทบุรีแล้ว ท่านได้เล่าให้ทราบว่า ทั้งสองท่านก็มาลงบรรจุเป็นครูที่หนองบัว เพราะเห็นชื่อว่าหนองบัว พอมาถึงแล้วก็ผิดไปจากคิดไว้แต่เดิมไปหมดเลย ต้องปรับตัวและเรียนรู้ที่จะอยู่ในสภาพที่กันดาร และห่างไกลจากสภาพที่ท่านคุ้นเคยอย่างที่สุด
    • แต่เดี๋ยวนี้ผมว่าคนจะสามารถทำความรู้จักหนองบัวได้อย่างกว้างขวางกว่าเดิม รวมทั้งคนหนองบัวเอง ก็มีหลายคนที่เคยเข้ามาคุยก็ยังบอกว่าทำให้รู้สึกคิดถึงบ้านและมีความสุขที่เห็นเรื่องราวถิ่นฐานบ้านช่อง ของตนเอง
    • ยิ่งถ้าหากมองว่าหนองบัวเราเป็นชุมชนที่ห่างไกลวิทยาการและเทคโนโลยีมากด้วยแล้ว ก็แทบจะเป็นเหมือนกับที่อื่นๆของประเทศและของอีกหลายประเทศ ที่หลายอย่างก็คงจะต้องตามหลังของที่อื่นเขา แต่กรณีนี้ ก็จะกลายเป็นว่า ชุมชนหนองบัวเล็กๆของเรา มีข้อมูลและแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับตนเองมากกว่าของชุมชนต่างๆของประเทศอีกหลายแห่ง สิ่งเหล่านี้เป็นทุนตั้งต้น เหมือนกับได้ก่อเกิดโครงสร้างพื้นฐานสำหรับให้ใครก็ได้เข้ามาค่อยๆต่อเติมคนละเล็กละน้อย เรื่อยๆ สบายๆ ก็จะยิ่งเพิ่มพูนมากยิ่งๆขึ้น 
    • ข้อกังวลของฉิกก็คงไม่เป็นปัญหาหรอกครับ ในบล๊อกทุกบล๊อกนั้น เราสามารถทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการได้ครับ ฉิกจะเห็นตัวหนังสือเล็กๆ แจ้งลบ สำหรับคนที่เข้ามาคุย และ ลบ สำหรับคนที่เปิดบล๊อก ซึ่งในกรณีนี้คือพี่เองครับ เพราะฉนั้น เราจะสามารถกำกับได้มากทีเดียวครับ อะไรที่ไม่เหมาะสม มีการป่วน ทำผิดเงื่อนไขกฏเกณฑ์ เหล่านี้ เราสามารถป้องกันและแก้ไขได้ครับ ส่วนท่านที่เข้ามาคุยก็จะสามารถแจ้งให้ลบออกได้ครับ
    • โดยปรกติ หากสังเกตก็จะเห็นว่าผมทำหน้าที่นี้อยู่เป็นระยะๆครับ เช่น การโพสต์ผิดแล้วแจ้งให้ผมลบออก รวมทั้งบางครั้งก็เป็นการไม่เหมาะสม เช่น การนำเอาผลงานของผู้อื่นมาลง ทั้งข้อมูลภาพและงานเขียน การนำเอางานที่มีลิขสิทธิ์และกฏหมายระบุไว้ว่าห้ามละเมิด เช่น การนำเอาเพลง และผลงานที่เขาทำเชิงธุรกิจ มาโพสต์หรือมาแขวนไว้ ซึ่งหลายที่ก็เห็นมีอยู่ แต่ถ้าหากนำมาเผยแพร่ในบล๊อกของเราผมก็จะขออนุญาตลบออกไปเลยนะครับ หลายท่านผมจะแจ้งให้ทราบก่อนเพื่อจะได้ไม่เสียกำลังใจ เพราะเชื่อว่าคงไม่ทราบและไม่ได้ตั้งใจ
    • หรือบางครั้ง นำเอาภาพที่ดูแล้ว อยากนำเอาด้านที่เป็นความสวยงามมาแบ่งปันกัน ทว่า ในภาพนั้น มีตราสินค้าหรือข้อความในเชิงโฆษณาแฝง ผมก็จะแจ้งให้ทราบก่อน แล้วก็รีบลบออกไปให้โดยเร็วครับ
    • บางคนนำเอาเบอร์โทรศัพท์ของตนเองหรือของผู้อื่น มาโพสต์ ผมก็จะรีบลบออกให้ทันที อย่างนี้เป็นต้นนะครับ 
    • นอกจากนี้ ข้อมูลหลายอย่าง ถึงแม้ว่าผมและหลายท่านจะเขียนขึ้นมาเป็นข้อมูลชั้นต้นและเป็นต้นฉบับ ทว่า หากเราต้องการขอตรวจสอบให้ดีก่อน หรืออาจมีบางแง่มุมที่อาจกระทบต่อผู้อื่น เราก็สามารถให้อ่านและศึกษาเรียนรู้ได้ ทว่า อาจระบุว่าในการนำไปใช้ เราจะอนุญาตหรือไม่ และหากอนุญาต จะอนุญาตให้ระดับไหน ก็ได้ครับ
    • เพราะฉะนั้นก็เป็นอันไม่ต้องกังวลครับ อย่างไรก็ตาม แม้อาจจะมีข้อที่ทำให้กังวลและไม่สบายใจได้บ้าง แต่หากเราอยากบุกเบิกให้คนรุ่นหลังๆ ได้เดินไกลกว่าเรา หรือเหยียบไหล่เราขึ้นไปเพื่อให้สังคมเราเองดีขึ้นอย่างริเริ่ม ต่อเติม เสริมต่อกันไป แล้วละก็ ก็คงต้องช่วยๆกันเป็นคนนำปฏิบัติและนำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นไปก่อนน่ะครับ
    • เหมือนกับทุกหน้าเกี่ยวข้าวเสร็จของคนบ้านนอกอย่างเราชาวหนองบัวในทุกๆปีน่ะครับ ที่พอจะเริ่มขนข้าว เมื่อเอาเกวียนและรถเข็นข้าวออกไปนาครั้งแรกหลังฤดูเก็บเกี่ยว ในสภาพที่ยังไม่มีทางเกวียนเลยนั้น มันทั้งเสี่ยง เหน็ดเหนื่อย เกวียนอาจติดหล่ม และต้องขุดคันนากับต่อยก้อนดิน นำร่องให้วัวควายและเกวียนลงรอยแรกเข้าสู่ผืนนาสะเปะสะปะ แต่หลังจากนั้น เมื่อคนอื่นๆได้แนว ทางเกวียนก็เกิดขึ้นตามมา ให้รถและผู้คนทั้งหมู่บ้านเดินทางได้อย่างสะดวก

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาและครับ

    • เมื่อคืนพวกเราเพิ่งคุยกันถึงเรื่องปฏิทินของชาวหนองบัว และข้อที่เคยปรารภกับพระคุณเจ้าว่าเราอยากจะทำกันอยู่เลยครับ พอดีเหมาะเหมงดีจริงๆครับ
    • ต้องกราบอภัยที่ไม่ได้เรียนให้พระคุณเจ้าได้ทราบครับ เพราะผมและน้องๆไปหาข้อมูลที่จะทำปฏิทินมานานแล้วครับ
    • ในทางเทคนิคแล้วทำได้อย่างที่ต้องการ แล้วก็สวยงามด้วยครับ ทว่า ต้นทุนต่อชิ้นแพงมากพอสมควรครับ ทำเพื่อตั้งโต๊ะดูสักชิ้นสองชิ้นนั้นพอไหว แต่ประเมินแล้วจะทำหลายชิ้นไม่ได้ครับ ผมและคณะอยากทำให้พอเผยแพร่ในหนองบัวได้บ้าง เลยต้องหารูปแบบและวิธีอย่างอื่นดูก่อนครับ ยังไม่หยุดความคิดครับ
    • เลยก็นึกขึ้นได้ต่อเนื่องกันอีกครับว่า พระคุณเจ้าได้ธนาณัติไปสมทบเพื่อร่วมทำกิจกรรมด้วยสองพันบาท แล้วก็เป็นจังหวะที่ผมย้ายที่ทำงาน ขนข้าวของย้ายจากสำนักงานไปไว้บ้าน จนลืมไปเลยครับว่าได้ไปขึ้นธนาณัติและแลกเป็นเงินออกมาแล้วหรือยัง แต่ก็รำลึกไว้อยู่เสมอครับว่าหากไปจัดกิจกรรมที่โรงเรียนกับชุมชนที่บ้านหรือที่ชุมชนใด ก็จะมีส่วนที่เป็นการสมทบทุนของพระคุณเจ้าอยู่ด้วย ตรงนี้ไม่ลืมครับ

     

    P
    พี่ชาย อาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์
    • หลังจากที่ได้ไปเยี่ยมชมงานศิลปะแล้ว ได้ข้อคิด ทำให้มีพลังและอยากกลับมาทำหน้าที่ของตัวเองและเพื่อเด็กๆอีกมากค่ะ
    • ตอนนี้ให้เด็กๆที่โรงเรียนปลูกผักสวนครัวค่ะ พอดีกำลังยุ่งกับงานวิชาการของเขตฯและผักยังไม่โต  จะเปิดบันทึกและนำภาพมาให้ชมทีหลังนะคะ
    • อยากให้เด็กๆในชนบท   ปลูกข้าว ทำไร่ทำนาเป็นค่ะ เด็กบางคนจบชั้น ม.3 ก็ไม่ได้เรียนต่อแล้วค่ะ เพราะฐานะค่อนข้างยากจน  ถ้าทำไร่ทำนาเป็นจะได้มีอาชีพ ไม่ต้องไปรับจ้างอยู่ในเมืองค่ะ  สุดท้ายก็ไปไม่รอด หอบลูกกลับมาด้วย ต้องเป็นภาระของพ่อแม่อีก
    • อีกหน่อย ถ้าคนไทยรุ่นหลังๆทำนาไม่เป็น เราคงต้องซื้อข้าว กิน  หรือไม่ก็ให้คนต่างชาติเข้ามาทำนาแทน แล้วขายข้าวให้คนไทย คิดแล้วน่าเป็นห่วงค่ะ

    --------------

                ใกล้วันส่งท้ายปีเก่า  ต้อนรับปีใหม่ 2553 แล้วค่ะ

                น้องขออวยพรให้พี่และครอบครัวมีความสุขมากๆนะคะ

     

                                   

    สวัสดีค่ะ...อ.วิรัตน์คะ เห็นหัวข้อเวทีเรียนรู้สร้างสุขภาวะคนหนองบัว

    ในฐานะที่อยู่นครสวรรค์ก็ต้องให้ความสนใจ และยินดีกับคนหนองบัว ที่ได้รับโอกาสดี ๆ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า สวัสดีพี่วิรัตน์ และทุกๆคน

    • แม่ออกจาก รพ.ได้หลายวันแล้ว ตั้งแต่วันที่ 19 ไปอยู่กับพี่สาวที่ชุมแสง แต่เมื่อเช้านี้ก็ทรุดลงอีก พี่สาวก็เลยพาส่งรพ.ที่นว. ได้โทรคุยกับพี่สาวเมื่อตอนหัวค่ำ อาการดีขึ้นเยอะแล้ว พรุ่งนี้หมอจะให้ออกจากห้อง ICU มาพักห้องธรรมดา ดูแล้วคงจะห่างหมอได้ไม่นาน อาการก็เหมือนเมื่อคราวที่เข้า รพ.ครั้งแรก ปอดทำงานได้ไม่ดี ทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ค่อยๆสะสมในเลือดสูงขึ้นๆ ถึงแม้มาอยู่บ้านจะมีถังอ๊อกซิเจนให้อยู่บ่อยๆก็ตาม ขอบคุณนะครับที่ทุกคนเฝ้าเป็นห่วง

     

    • เรื่องปฏิทินนี่ ผมก็มีความคิดจะทำเหมือนกัน ตั้งแต่ปีที่แล้ว เป็นรูปของครอบครัว ตั้งใจให้ลูกๆเค้าเป็นคนทำ โดยที่เราคอยแนะนำ แต่ก็ยังไม่ได้ทำเป็นชิ้นเป็นอันซักเท่าไหร่ เห็นที่ท่านพระอาจารย์มหาแล ได้เสนอปฏิทินชุมชนหนองบัว ก็เลยรีบย้อนไปดูรูปที่พี่วิรัตน์วาดและนำเสนอในนี้ และถือวิสาสะ ไปก๊อปมาแล้วเอาเข้าโปรแกรมโฟโต้ช็อป ทำให้ดูเป็นตัวอย่างคร่าวๆ ในเวลาที่จำกัด ลองดูละกันนะครับ
      โอ้โห ทำไมรูปมันออกใหญ่โตล้นจอเลย สงสัยต้องไปเปลี่ยนเป็นจอแบบแอ๊ดเทวดาซะแล้ว
    • ได้อ่านที่พี่วิรัตน์เขียนไว้ เรื่องที่ผมกังวลล่วงหน้า เกี่ยวกับการที่จะมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นที่ส่อไปทางจะทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งแล้วต้องปรบมือให้พี่วิรัตน์ดังๆ ที่ชี้แจงได้ชัดเจน ขนาดตอนจบก็ยังสามารถเอาวิถีชีวิตชาวบ้านมาเปรียบเปรยได้อย่างเห็นภาพเลย
    • เรื่องทำปฏิทิน ถ้าจะมีอะไรให้ผมพอช่วยได้ก็ยินดีนะครับ มิต้องเกรงใจ เรียกใช้ได้เต็มที่ (นี่อีกไม่กี่วันก็จะปีใหม่แล้ว-จะได้ทันใช้หรือเปล่าหนอ)
    • ตอนเด็กๆ(เรียนชั้นประถม) จะได้ยินพวกพี่ๆและเพื่อนๆของพี่ พูดถึงคุณครูที่หนองคอก(มัธยม) โดยเฉพาะมักจะได้ยินเสียงบ่นเรื่องการบ้านเยอะมาก พอถึงเวลาที่ตัวเองได้ไปเรียนต่อมัธยม คุณครูเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็จะย้ายไปสอนที่อื่นกันเกือบหมดแล้ว จะมีที่ยังคงอยู่บ้างก็เช่น อ.โสภณ อ.ฤดีวรรณ อ.เทิน และมีคุณครูเข้ามาใหม่หมุนเวียนมากหน้าหลายตาในแต่ละปี ก็เป็นที่เข้าใจของพวกเราชาวหนองบัว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขอบพระคุณคุณครูทุกท่านที่ได้ทนลำบากมาสั่งสอนพวกเรา
    • สวยดีครับ หากทำไว้ดูเล่นสักชิ้นสองชิ้น ก็คงต้องทำอย่างนี้แหละครับ
    • หากทำแผ่นเดียว แล้วก็มีเดือนและวันที่ทั้งปี ๑๒ เดือนเลย ก็จะพอทำได้ครับ แต่จะได้รูปภาพไม่หลากหลาย
    • แต่ถ้าหากทำแผ่นภาพละ ๓ เดือน ปีหนึ่งก็มี ๔ แผ่น หรือลดเหลือ ๓ แผ่น แผ่นละภาพและมีแผ่นละ ๔ เดือน ขนาดแผ่นหนึ่งก็ไม่ต้องใหญ่มากสักเท่ากระดาษ เอ๓ เมื่อเข้าสันแล้ว ชุดหนึ่งก็พันกว่าบาทแน่ะ
    • เคยลองทำโดยใช้การถ่ายด้วยเครื่องถ่ายพิมพ์เขียวหรือถ่ายแบบ ได้ภาพลายเส้นสีเดียว ขาว-ดำ แต่คมชัดและดูเก๋อีกแบบ กระดาษเป็นกระดาษถ่ายเอกสาร หน้ากว้าง ๘๐ เซ็นติเมตรและยาวตั้ง ๒๔๐ เซ็นติเมตร แผ่นละ ๘๐ บาท กำลังหาวิธีดัดแปลงดูครับว่าจะใช้ทำอะไรได้บ้าง หากไม่เหมาะกับทำปฏิทิน ก็น่าจะทำเป็นสื่อแผ่นปิดตามผนังหรือบอร์ดก็คงจะเข้าท่าดีครับ

    สวัสดีครับน้องคุณครูจุฑารัตน์ :

    • สคส ๒๕๕๓ สวยมากเลยครับ ขอร่วมขอบคุณกับชาวหนองบัวและทุกท่านที่เข้ามาคุยกันในเวทีคนหนองบัวครับ
    • เพิ่งโพสต์รูปคุณครูจุธารัตน์กับเพื่อนไปในกล่อง dialogue ก่อนหน้าที่น้องจะเข้ามานิดเดียวเอง

    สวัสดีครับ คุณ nana คนนครสวรรค์ครับ

    • ว่างๆก็เชิญคุณ nana แวะมาเยือนและเขียนแบ่งปันประสบการณ์ หรือสร้างความรู้ร่วมกับคนหนองบัว นครสวรรค์บ้านเราด้วยนะครับ ทุกคนยินดีเสมอครับ
    • ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยหากมองจากความคุ้นเคยของคนที่อยู่ในตัวเมืองนะครับ แต่หากมองจากชาวบ้าน-คนหนองบัวแล้วละก็ ความรู้สึกเมื่อคิดถึงปากน้ำโพหรือคนที่อยู่ในตัวเมืองนครสวรรค์นั้น ก็ยังรู้สึกเหมือนนึกถึงกรุงเทพฯ หรือเมืองไกลๆ เลยทีเดียวครับ
    • หลายอย่างที่ดูเหมือนธรรมดา พื้นๆ ของคนในเมืองนั้น ยังมีความหมายกันชาวบ้านรอบนอก คนหนองบัว และอีกหลายๆแห่งครับ
    • เชิญเลยนะครับ

     

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    พูดถึงยังไม่ทันข้ามวันเลยนะเนี่ยปฏิทินชุมชนหนองบัวก็ได้แบบจอผ่าโลกโผล่พลวดพลาดมาให้เห็นอย่างทันใจ สวยดี ขอบคุณคุณศักดิ์ศรี-ฉิก (ที่จัดให้)ถวายพระถวายเจ้าได้อย่างน่าอนุโมทนาขอบคุณหลาย ถ้าแพงมากสงสัยจะต้องดูต้นฉบับในคอมฯนี่แหละประหยัดดีด้วย

    ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง : ปรากฎการณ์ความงามของสุขภาวะกลุ่มก้อนแห่งชุมชนคนหนองบัว

    นมัสการ พระอาจารย์มหาแล อาสโย  และเรียน อ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ครับ

    • ย้อนกลับมาอ่านบันทึกการ "ถอดบทเรียน" และ "สรุปบทเรียน" แล้วต้องเรียนว่าบังเกิด “ปีติสุข” ร่วมไปกับพระอาจารย์ อาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ และกัลยาณมิตรชุมชนชาวหนองบัวด้วยครับ
    • หลังอ่านบทสนทนา พลันนึกถึงคำของครูอาจารย์ท่านอนุศาสน์ไว้ “ไม่ใช่ชาติ ไม่ใช่เชื้อ แต่หากมีความเอื้อเฟื้อ ก็เหมือนเนื้ออาตมา” เป็นปราฎการณ์ชุมชนสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลทางความรู้ ถ้อยทีวลีเสวนาดุจดังเครือญาติที่คุ้นชิน ปรากฏการณ์นี้หาได้ยากยิ่งครับ 
    • ก่อเกิดและสร้างแรงบันดาลใจให้ผมเกิด "ฉันทะ" จะริเริ่มที่ชุมชน และโรงเรียนเดิมของตนเองบ้าง   และคิดว่ากัลยาณมิตรหลายๆ ท่านก็คงเช่นเดียวกัน
    • คุณูปการอันเป็นผลสืบเนื่องนี้ต้องขอบพระคุณพระอาจารย์มหาแล อาสโย อ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ และเครือข่ายกัลยาณมิตร
    • อยากเห็นเวที “รวมพลคนหนองบัว” ในรูปของเสวนาเพื่อการเฉลิมฉลองสักคราวคงจะดีนะครับ..... (อาจเริ่มที่ “บ้านตาลิน” ก็ดีนะครับ)

    เวทีการสานปัญญาผ่านพื้นที่ออนไลน์อย่างที่อาจารย์ได้พยายามสร้างความรู้ใหม่ๆนี้ เป็นพลังความรู้ที่ค่อยๆถอด ความรู้ที่อยู่ในตัวบุคคลออกมาเเบบเป็นธรรมชาติและสุนทรียะ

    ถือว่าเป็นต้นแบบที่ดีมากครับ สำหรับการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยมี จุดรวมศรัทธาของคน กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

    สิ่งที่เราศรัทธาจะยึดโยงคนเข้าหากัน สร้างสุข สร้างปัญญาร่วมกัน เช่นเดียวกับ "ลานปัญญาของคนหนองบัว" ที่นี่ครับ

    ให้กำลังใจทุกท่านครับหากมีการเฉลิมฉลอง (งานปอย) ไม่ว่าเมื่อไหร่ ขอร่วมด้วยช่วยกัน ด้วยคนครับ

    ท่านพระมหาแลท่านให้กำลังใจและร่วมอนุโมทนาคุณฉิกอย่างนี้ ได้ทั้งความรู้สึกดีงามและความเป็นมงคล จากสิ่งที่สร้างสรรค์ด้วยฝีมือ ความรู้ความชำนาญทางคอมพิวเตอร์กราฟิค และความมีน้ำใจเลยนะครับ ต้องโชคดี มีความสุข เติบโตงอกงามมากยิ่งๆขึ้น ทั้งตัวเองและลูกหลาน สถานเดียวครับ

    ข้อสังเกตและการร่วมสะท้อนทรรศนะของคุณช้างน้อยมอมแมม น่าสนใจมากครับ

    รวมทั้งข้อเสนอแนะต่อการลองจัดเวทีรวมพลคนหนองบัวในท้องถิ่นขึ้น ล้วนจะเป็นวิธีทำให้เกิดการยกระดับและพัฒนาเวทีของคนหนองบัวให้ดีขึ้นเรื่อยๆนะครับ

    ผมเลยขอต่อยอดแนวคิดเปิดบันทึกอีกหัวข้อหนึ่งเพื่อเป็นหมายเหตุข้อเสนอแนะดีๆของคุณช้างน้อยมอมแมมนี้ไว้นะครับ เป็นเวทีรองรับการถอดบทเรียน หรือเป็นเวทีพัฒนาแนวคิดและความรู้เชิงวิชาการแบบชาวบ้านขึ้นมาอีกเวที รวมทั้งจะเป็นเวทีวิชาการของนักวิชาการแนวนี้ที่ใช้เวทีคนหนองบัวเป็นแหล่งเปิดประเด็นพัฒนาเชิงวิชาการให้เชื่อมต่อกับคนในชุมชนท้องถิ่น อีกแหล่งหนึ่งนะครับ 

    เดิมชื่อ เวทีถอดบทเรียนและสังเคราะห์ความรู้'เวทีคนหนองบัว' แต่ตอนนี้จะใช้ชื่อว่า   ลานปัญญาของคนหนองบัว   ครับ ขอนำเอาการเรียกของคุณจตุพรมาตั้งให้เป็นที่รำลึกถึงกันของคนหนองบัวกับคนเมืองปายและมือบล๊อกเกอร์ของ GotoKnow ในฐานะที่เป็นเคือข่ายวิชาการและร่วมสานความคิดกับคนหนองบัวครับ 

    เลยจะขอใช้ชื่อ ลานปัญญาของคนหนองบัว ที่คุณจตุพรให้นิยามและความหมาย มาเป็นชื่อเวทีสำหรับเอาไว้ถอดบทเรียนและสังเคราะห์ความรู้จากประบการณ์ต่างๆของคนหนองบัวในครั้งนี้นะครับ ถือว่าเป็นที่ระลึกถึงความปรารถนาดีและความเป็นนักวิชาการที่ส่งเสริมการพัฒนาคนและชุมชนนะครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ขอบคุณคุณช้างน้อมมอมแมมที่แวะมาเติมกำลังใจแก่เวทีนี้พร้อมทั้งให้มุมมองที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์

    และรู้สึกดีใจยิ่งขึ้นที่คุณช้างน้อยมอมแมมกล่าวว่าเวทีนี้มีส่วนช่วยให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะกลับไปทำงานชุมชนโรงเรียนที่บ้านเกิดของตนอันนี้น่าอนุโมทนาจริง ๆ และก็หวังว่าคงจะได้เห็นคนมีคุณภาพได้ทำสิ่งสร้างสรรค์ในเร็ววัน

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    คุณจตุพรเข้ามาเยี่ยมสังเกตการณ์เวทีนี้และเรียกขานเวทีคนหนองบัวเหมือนการสร้างความรู้เพิ่มพูนปัญญาในชุมชนก็เลยให้ชื่อว่าลานปัญญาของคนหนองบัวเห็นชื่อนี้แต่เมื่อวานนี้ก็นึกชอบฟังดูดีให้ความรู้สึกทางสร้างสรรค์ เลยก็สอดคล้องกับเวทีคนหนองบัวน้องใหม่(นบ.-๒)พอดี เหมาะสมแล้วที่อาจารย์วิรัตน์นำชื่อนี้ไปใช้ในเวทีแห่งใหม่ต้องขอขอบคุณคุณจตุพรด้วยที่มีส่วนช่วยทำให้เกิดสิ่งดี ๆ อย่าลืมแวะมาแบ่งปันความรู้เสริมพลังปัญญาแก่คนหนองบัวและในเวทีใหม่ด้วยนะ ขออนุโมทนา

    คุณช้างน้อยมอมแมมนี่ผมผมรู้จักครับ และผมเคยไปบ้านของญาติพี่น้องของเขาบนทางผ่านเมื่อเวลาออกสนามไปทำงานวิจัย ผู้คนและญาติพี่น้อง รวมทั้งถิ่นฐานบ้านเกิดในชนบทของคุณช้างน้อยมอมแมมนั้น เป็นทุนมนุษย์และทุนทางปัญญาหลายด้านของสังคมมากมายครับ รวมทั้งความเป็นนักวิชาการและภาวะผู้นำของคุณช้างน้อยมอมแมมเอง ก็รู้สึกได้ครับว่าเขาเป็นผู้ที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างกว้างขวาง เรียกว่ามีปัญญาบารมีและความดีงามอันเป็นที่ยอมรับของชาวบ้านและญาติพี่น้อง รวมไปจนถึงผู้หลักผู้ใหญ่ เกินความเป็นคนหนุ่มคนสาวธรรมดาๆครับ หากกลับไปทำสิ่งต่างๆในชนบทที่บ้านเกิดด้วยฉันทะ อย่างที่กล่าวนี้ แน่ใจได้ว่าจะก่อเกิดสิ่งดีๆมากมายจากพลังความร่วมไม้ร่วมมือของชาวบ้านที่นำไปสู่การสร้างสุขภาวะสังคมที่อาศัยทุนมนุษย์และทุนศักยภาพชุมชนเป็นหลัก ได้อย่างดีแน่นอนครับ ร่วมขอให้กำลังใจและแรงหนุนครับ ถือเวทีคนหนองบัวเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกันนะครับ เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องสร้างสรรค์และดีงามครับ

    คุณเอก จตุพร ที่ให้ชื่อว่า ลานปัญญาของคนหนองบัวนั้น ช่างบังเอิญเหลือเกินว่าไม่เพียงมีความหมายที่สะท้อนลักษณะของเวทีอย่างเดียว ทว่า ทำให้ต้องนึกถึงความเป็นวัดหนองกลับ และโรงเรียนอนุบาลหนองบัวหรือชื่อเดิมโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) ที่ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ หลวงพ่ออ๋อย ผู้นำทางจิตใจและผู้นำทางสังคมของท้องถิ่นที่ร่วมสมัยกัน ได้สร้างขึ้นบนพื้นที่ติดกันกับลานวัด เลยทีเดียว ลานวัดหนองกลับบนผืนดินที่เชื่อมโยงกับสนามโรงเรียนแต่เดิมนั้น เป็นพื้นที่ใช้สอยเอนกประสงค์ ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่บนลานกว้างนั้น ก็จะเป็นกิจกรรมวัฒนธรรมทางปัญญาและกิจกรรมทางศาสนา ทั้งของวัด โรงเรียน และชุมชน พอเรียกว่า   ลานปัญญาของคนหนองบัว    นี่ นอกจากสื่อความหมายแล้ว จึงให้ความรู้สึกราวกับว่าใช่เลยในความเป็นชื่อที่สะท้อนวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิมของคนหนองบัว ผมเลยให้สีสัน  ชมพูฟ้า  สีประจำของโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) ซึ่งทั้งเป็นหน่วยทางปัญญาและความรู้ของชุมชน อีกทั้งก่อเกิดขึ้นมาบนลานวัด ศูนย์กลางจิตใจของชุมชนหนองบัวนับแต่อดีตอีกด้วย

    พอเข้ามาอยู่ในโลกไซเบอร์แล้วใช้ชื่อว่า ลานปัญญาของคนหนองบัว จึงนอกจากได้ชื่อเวทีที่สอดคล้องกับลักษณะกิจกรรมแล้ว ก็เลยสื่อถึงความเป็นมาที่สืบนื่องกับชุมชนด้วยเลยทีเดียวนะครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล สวัสดีพี่วิรัตน์ และเพื่อนพ้องน้องพี่ ทุกๆคน

    • กราบขอบพระคุณพระคุณเจ้าอย่างสูงที่ได้ให้กำลังใจเกี่ยวกับปฏิทิน ที่ได้ลองทำไว้เป็นตัวอย่าง ว่างๆจะพยายามทำให้ครบทั้ง 12 เดือน
    • รู้สึกภูมิใจแทนพี่วิรัตน์ที่เป็นแรงบันดาลใจให้หลายต่อหลายคนอยากจะทำงานให้ชุมชนบ้านเกิด
    • เมื่อวานนี้เป็นวันคริสมาสต์ ตั้งใจจะพูดถึงศาสนาคริสต์ในหนองบัวเท่าที่ได้เคยเห็นในวัยเด็ก ต้องถือว่ากิจกรรมทางศาสนาที่หนองบัวนั้น นอกจากศาสนาพุทธแล้วนี่ มีน้อยมากและมีผู้คนที่ไม่ได้เป็นชาวพุทธนี่แทบจะนับหัวได้ แม้จนปัจจุบัน เมื่อก่อนนี้หนองบัวยังไม่มีรพ.ประจำอำเภอ มีแต่อนามัย ซึ่งผู้คนจะเรียกว่า สุขศาลาอยู่ในบริเวณที่ว่าการอำเภอ โดยมีหมอหนิมเป็นอนามัยประจำอำเภออยู่ และมีรพ.คริสเตียน เป็นห้องแถวอยู่ตรงหัวตลาด ซึ่งมีมิชชันนารีชาวตะวันตกทำงานอยู่ ให้บริการด้านสุขอนามัยแก่ชาวหนองบัว ถ้าเป็นเคสคนไข้หนักๆ หรือคลอดลูก นอกจากหมอตำแยแล้วก็จะมาใช้บริการที่รพ.คริสเตียน ส่วนพวกปวดหัวตัวร้อนไข้หวัดก็ใช้บริการที่สุขศาลา พวกหมอและมิชชันนารี 4-5 คน พอวันอาทิตย์ตอนบ่าย ก็จะขี่จักรยานไปสอนศาสนาคริสต์ที่เกาะลอย ซึ่งจะมีอาคารมีหลังคาเป็นเวที พวกเราเด็กๆก็จะไปนั่งเรียน ร้องเพลงเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ เล่นเกมส์ และสุดท้ายก็มีขนมแจก เป็นที่สนุกสนานเฮฮาของเด็กๆ ผมยังพอจำบทร้องเพลงสรรเสริญพระเยซูได้บ้างนิดหน่อย เช่น พระเยซูอยู่ในบ้านฉัน บ้านฉันมีความสุข รวมทั้งบทร้องล้อเลียนที่มาร้องเล่นกันเองในหมู่เด็กๆ คงไม่เหมาะที่จะนำมากล่าวถึง นี่คือกิจกรรมทางศาสนาคริสต์ที่ได้รับรู้ในวัยเด็กที่หนองบัว
    • เมื่อเช้านี้คุยกับพี่สาว เห็นว่าแม่อาการไม่ค่อยดี ไม่กินข้าวและหลับตลอด แต่ยังขยับแข้งขาได้ ตอนนี้พี่สาวคนโตกับพี่รักษ์กำลังเดินทางไปเยี่ยมที่ นว. เดี๋ยวตอนบ่ายผมกับแฟนก็จะตามไป

    ลืมไปครับว่าจะถวายปฏิทินให้พระคุณเจ้า พระมหาแลอีก อันนี้ทำเสร็จไว้พร้อมกับคราวที่แล้ว ยังไม่ได้ทำเดือนที่เหลือเลย 

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรคุณศศักดิ์ศรี-ฉิก

    ขอให้คุณแม่หายป่วยไว ๆ มีสุขภาพแข็งแรง

    อนุโมทนาที่มีน้ำใจจะถวายปฏิทิน

    คุณแม่ไม่สบายแต่ก็ยังมีน้ำใจแบ่งปันเรื่องราว

    สุขศาลาหมอหนิมคือสถานพยาบาลเบื้องต้นระดับชุมชน(ปัจจุบันสถานีอนามัยตำบล)

    แต่บ้านเราเทียบเท่าโรงพยาบาลอำเภอเลยนะเพราะบริการทั้งอำเภอ

    อันที่จริงต้องขอบคุณโรงพยาบาลคริสเตียนคุณหมอและมิชชนารีที่มาให้บริการด้านสุขภาพก่อนรพ.รัฐจะมาถึงหนองบัว

    กรานมัสการพระอาจารย์มหาแล และสวัสดีครับฉิก

    • ฉิกพูดถึงเพลง ที่พวกเด็กๆนำมาร้องล้อเลียนกันนี่ ทำให้พี่ต้องนั่งยิ้ม พอจะนึกออกครับ คงจะเป็นเพลงเดียวกันที่ผมและคนรุ่นผมก็ร้อง เดี๋ยวนี้ก็ยังจำติดปาก แต่ไม่กล้าร้องแล้วครับ
    • ในสังคมของชุมชนหนองบัวนั้น พวกเราชอบร้องเพลงล้อพระเจ้า และเพื่อนที่นับถือพระเจ้ากับอย่างอื่นที่นอกเหนือจากพุทธศาสนา ก็ทำล้อเลียนพระ แล้วพวกเราก็ผสมผเสไปด้วย ทั้งสนุกและขบขันกันอย่างจริงๆจังๆ
    • มันไม่ใช่ดูหมิ่น ไม่เคารพนับถือ หรือเห็นเป็นคนละพวก แล้วทำความรุนแรงต่อกันทางวัฒนธรรมและความเชื่อ แต่มันเป็นการแสงออกถึงความเป็นคนร่วมสังคมด้วยกันจนคุ้นเคยย่ำปึ่กถึงกับเล่นกันเองในสิ่งที่เป็นความลึกซึ้งส่วนตนได้อย่างไม่สะเทือนให้แบ่งเขาแบ่งเรา
    • เหมือนกับการล้อพ่อล้อแม่กันของเด็กๆ พี่ของฉิกคือรักษ์ ก็เคยเรียกชื่อพ่อผมแทนผม และพี่เองก็เคยเรียกพี่ของฉิกโดยใช้ชื่อเตี่ยแทน (แต่ตอนนี้ลืมหมดแล้วครับ ตอนนี้จำชื่อพ่อแม่เพื่อนได้ไม่กี่คนแล้ว) แต่ไม่ได้มีนัยยะถึงความไม่เป็นการเคารพเลยแม้แต่น้อย มันสนุกและเป็นการเล่น การร้องเพลงล้อเลียนสิ่งที่เคารพนับถือกัน ก็ทำนองเดียวกันกับอย่างนี้เหมือนกัน
    • แล้วก็มองออกไปยังสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ทุกวันนี้เลย รู้สึกเหมือนสังคมของผู้คน นับถือความเป็นเพื่อนมนุษย์ต่อกันน้อยลง 
    • ดูฝีมือ และความเป็นคนต่อความคิด แล้วก็ใส่ Creative ลงไปได้อย่างชำนาญของฉิกแล้วนี่ ทำกราฟฟิคเฮ้าส์ที่หนองบัวได้สบายเลย สอนให้ลูกๆหลานๆ ทำในหนองบัวได้เลยนะครับ หนองบัวขาดแคลนเรื่องพวกนี้ ต้องไปหาทำที่ชุมแสง ปากน้ำโพ และตะพานหินโน่น
    • ดูแล้วก็มีความสุขและชื่นชมไปด้วยครับ
    • ฝากกราบเยี่ยมแม่และเตี่ยด้วยครับ ฝากทักทายเจ้ารักษ์และหลานคู่แฝดด้วยครับ ปีนี้ยังไม่ได้เจอกันเลย

    ขอร่วมกับท่านพระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย) | คุณเสวก ใยอินทร์ |คุณสมบัติ ฆ้อนทอง | คุณฉิก | คุณครูอนุกูล วิมูลศักดิ์ | และคนหนองบัวทุกคน | สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๓ คนหนองบัว เครือข่ายกัลยาณมิตร และผู้อ่านทุกท่านนะครับ

     ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย พระบารมีปกเกล้าในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากล รวมทั้งสิ่งที่ทุกท่านเคารพนับถือ จงร่วมเป็นขวัญและกำลังชีวิตสำหรับทุกท่าน ให้ทุกขณะและทุกอริยาทบทในชีวิตของทุกท่านจงได้กอปรด้วยพลังแห่งความเป็นสัมมา กร้าแกร่งในพลังปัญญาและปรีชาญาณในการแก้ปัญหาต่างๆ มีพลังแห่งสติ พลังแห่งความตั้งมั่น ตบะ บากบั่น อดทน พลังแห่งความริเริ่มสร้างสรรค์

    มุ่งสู่ความสุขและความศานติ สงบเย็นทั้งกายใจ เจริญงอกงามในการปฏิบัติธรรมแห่งชีวิตทั้งเพื่อผู้อื่นและตนเอง มีความงอกงามก้าวหน้าในการเรียนรู้ในทุกสถาน พึ่งตนเอง พอเพียง มีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาวะสังคม และสามารถเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีของหมู่มิตร เพื่อนร่วมงาน ลูกหลาน ญาติพี่น้อง ให้ได้ปฏิบัติและเรียนรู้สิ่งดีไปด้วยกันอยู่เสมอ

    จำเพาะเวทีของคนหนองบัวนี้ ก็ขอให้เป็นเวทีแห่งการเรียนรู้ เป็นแหล่งพัฒนาบทบาทของทุกท่านที่เข้ามาสร้างสรรค์สิ่งต่างๆด้วยกัน ให้ได้ประสบการณ์ชีวิตที่ดีสำหรับนำกลับไปทำการงานและดำเนินชีวิตเหมือนได้หมู่มิตรและที่ปรึกษาหารือให้ชีวิตกอปรด้วยความมีสติปัญญาและการใช้เหตุผลที่พอดี พอเพียง และเหมาะสมแก่เหตุปัจจัยแห่งชีวิตตนอยู่เสมอ ได้ความรอบด้าน มีความรู้ และมีสายตาที่เท่าทันโลกรอบข้าง

    หากเป็นพ่อแม่ เป็นผู้นำของครอบครัว ก็ขอให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายผู้คนผู้มีน้ำใจแห่งมิตร มีความรู้ มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญ และมีความดีงามอยู่ในตนเองอย่างหลากหลายทั่วประเทศในเวทีนี้ และได้เวทีนี้เป็นแหล่งบ่มเพาะศักยภาพความเป็นครอบครัวของพ่อแม่ เพื่อสามารถเป็นที่ปรึกษาอันเท่าทันโลกแก่ลูก เป็นครูและเป็นผู้นำประสบการณ์ที่ดีมาสู่การเรียนรู้ของลูก เป็นกลุ่มสังคมและเป็นสถาบันอันดับแรกที่สร้างความมั่นคงเข้มแข็งของสังคมอย่างมีพลัง

    หากเป็นเด็กและเยาวชนคนหนองบัว รวมทั้งในท้องถิ่นต่างๆที่ได้เข้ามาเป็นเพื่อนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนหนองบัว ก็มีความองอาจสง่างาม รอบรู้ทางสังคม มองไกลสู่โลกกว้าง มีปัญญาและความฉลาดต่อการเข้าถึงวิทยาการและเทคโนโลยีที่เห็นประโยชน์สุขของคน ชุมชน และสังคม เป็นฐาน เรียนรู้ความกว้างขวางของโลกรอบข้างอย่างนอบน้อม เคารพผู้อื่น และเห็นภาวะผู้นำของตนเอง มีความเชื่อมั่น แจ่มแจ้ง และชัดเจนในสิ่งที่สังคมของตนมี สามารถแบ่งปัน นำเสนอความแตกต่างให้กับผู้อื่น และสามารถนำการปฏิบัติให้แก่ผู้อื่นด้วยหนทางที่แตกต่างหลากหลายยิ่งขึ้น จากความเป็นตัวของตัวเองได้เสมอ

    หากเป็นคนทำงานท้องถิ่นและคนของราชการ ก็เป็นคนบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ มีภูมิปัญญาพอเพียงแก่การทำการงานสังคมให้รอบคอบ เชื่อมโยงความเป็นท้องถิ่น ความเป็นสาธารณะของสังคมไทย และความเป็นสากลของโลก เป็นความอุ่นใจของประชาชน เป็นกำลังทางวิชาการเพื่อการสร้างสุขภาวะของชุมชนทุกระดับขึ้นจากฐานชุมชนให้งอกงามและเป็นตัวของตัวเอง ได้มีโอกาสฟื้นฟูและส่งเสริมการเรียนรู้ตนเองของชุมชนให้ยิ่งงอกงาม สนุก ประสบความสำเร็จทีละเล็กละน้อยในการได้สร้างและสะสมพลังความรู้อย่างในเวทีคนหนองบัวช่วยกันให้มากยิ่งๆขึ้น ทำให้ผู้คนเห็นคุณค่าแห่งชีวิตและมีโอกาสพัฒนาตนเองเพื่อมีส่วนร่วมต่อการสร้างสรรค์ในสิ่งที่ต้องการทำเพื่อผู้อยู่ร่วมกันกับอื่น

    คนหนองบัวทุกท่านที่เข้ามาพัฒนาเวทีคนหนองบัวด้วยกันในทุกเวทีย่อยๆ ก็ขอจงได้ประสบทุกสิ่งในข้างต้น และขอให้ได้ประสบการณ์ที่ดี สามารถร่วมสร้างสรรค์ และทำให้เวทีคนหนองบัวมีความคึกคัก ได้ความเป็นชุมชนและเครือข่ายของคนที่คิดดี ทำดี มีส่วนร่วมต่อการพัฒนาทั้งเพื่อกลุ่มก้อนของตนเองและเพื่อความเป็นสาธารณะในทุกขอบเขตที่ทุกท่านสามารถนำตนเองเข้าไปมีส่วนร่วมได้

     ด้วยพลังความสร้างสรรค์สิ่งดี จากการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติของเราทุกท่านดังกล่าว ก็ขอให้เป็นเหตุปัจจัยส่งเสริมสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบข้างให้มีแต่ความสุข มีสุขภาวะสาธารณะ และทุกท่านก็ประสบแต่สิ่งดี ตลอดปี ๒๕๕๓ และตลอดไป ทุกท่าน เทอญฯ.

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • พวกเราทั้งหมดที่ได้ร่วมกันขีดเขียนบันทึกเรื่องราวในชุมชนหนองบัวขอเป็นตัวแทนส่งความสุขปีใหม่โดยมีอาจารย์วิรัตน์ผู้ลิขิตคำพรทั้งปวงถือเป็นพรที่ส่งเสริมกำลังใจมอบความปรารถนาดีก็ขอให้ทุกท่านมีความสุขตามอัตภาพ
    • เมื่อรับพรแล้วก็อยากฝากข้อคิดก่อนสิ้นปีเก่าให้ทุกท่านนำไปพิจารณาสักเล็กน้อย
    • ด้วยว่าเทศกาลปีใหม่หลายปีที่ผ่านมามีการสูญเสียเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินในสังคมไทยเราอย่างมากมายมหาศาลสุดคณานับทีเดียว
    • การสูญเสียดังกล่าวเกิดจากปัจจัยหลายประการซึ่งปัจจัยเหล่านั้นส่วนมากจะป้องกันได้ แต่ก็สายไปสำหรับชีวิตของบางท่านหรือบางท่านก็ทุพพลภาพพิการไปทั้งชีวิตในชั่วพริบตา-วินาทีเดียว
    • เทศกาลที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไรกันแน่ตรงนี้แหละที่เราต้องกลับไปพิจารณาย้อนไปดูวิถีเก่า ๆ วิถีดั้งเดิมว่าบุรพชนของเราท่านทำอะไรอย่างไรเกี่ยวกับงานชนิดนี้
    • ทุกฝ่ายก็ช่วยกันอย่างแข็งขันที่จะป้องกันเหตุเภทภัยต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในเทศกาลต่าง ๆ ของเมืองไทย
    • รณรงค์ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้คนในสังคมตระหนักถึงการสูญเสียอันเนื่องมาจากเทศกาลงานต่าง ๆ ใช้ทั้งสื่อพิมพ์สื่อบุคคลที่เป็นเหยื่อแห่งความประมาทสื่อทางเสียงทางภาพสารพัดชนิดที่คิดว่าจะช่วยลดการสูญเสีย
    • แต่เหมือนกับคนฟังแล้วไม่ได้ยิน ไม่ใช่ไม่ฟัง ฟังเหมือนกัน แต่ก็ไม่ค่อยได้ยินแปลกจริง
    • พระสงฆ์ก็เป็นห่วงมีพระที่รู้จักกันทำงานร่วมกับ สสส. ท่านนำเด็กนักเรียนไปช่วยรณรงค์แจกแผ่นพับสิ่งพิมพ์กันบนถนนหลวงสายหลักของประเทศเลยทีเดียว
    • บางปีเกือบเป็นลมเพราะจังหวัดที่ท่านไปช่วยรณรงค์นั้นมีอุบัติเหตุการสูญเสียสูงติดท็อปเท็นแต่ก็ไม่ย่อท้อทำต่อไป
    • ได้เห็นตามถนนสายหลักสายรองมีเจ้าหน้านำเต้นท์ไปกางข้างถนนบริการประชาชนที่เป็นจุดสำคัญที่มียวดยานสัญจารไปมามาก ๆ
    • ชนิดปูพรมเต็มพื้นที่เหน็ดเหนื่อยก็ต้องทำเพราะห่วงความปลอดภัยของประชาชน
    • ปัจจุบันอะไร ๆ ก็ดูเหมือนจะมีปัญหาไปเสียเกือบจะทุกอย่าง โลกก็ร้อน ก็เลยขอเรียกร้องความเย็นคืนมาให้โลกบ้าง
    • อากาศก็ไม่บริสุทธิ์จนต้องหาทางเอากาศบริสุทธิ์คืนมา
    • น้ำก็เน่าเสีย ต้องรณรงค์อย่าทิ้งขยะลงแม่น้าคูคลอง เอาน้ำดี ๆ คืนกลับมาหน่อย
    • ดินก็เสื่อมสภาพทำอยู่ทำกินกันไม่ค่อยได้ผลเหมือนเก่า ก็เรียกร้องเอาดินธรรมชาติปุ๋ยธรรมชาติให้หวนคืนกลับมา
    • รวมว่าธาตุ ๔ มีปัญหา(ทุกข์) จนทั่วโลกกำลังเรียกร้องหาวิถีเดิม ๆ ของผู้คนได้คืนมาบ้างไม่ได้บ้างเพราะมนุษย์ยังเห็นแก่ตัวอยู่
    • พระก็ขอร่วมเรียกร้องบ้างว่า เอาความดีคืนมา ความคิดดีคืนมา ความทำดีคืนมาเอาคนดีคืนมา เอาความรัก ความสามัคคีคืนมา สู่สังคมชุมชนให้ได้ทั่วทั้งแผ่นดิน

    เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้แหละคุณโยม.

    พลังความรัก ความดี ความสามัคคี เพื่อทำปีใหม่ ๒๕๕๓ ให้เป็นโอกาสสร้างสิ่งดีเป็นของขวัญแก่ตนเองและสังคม : ขอร่วมเสริมกำลังใจผู้อ่านและคนหนองบัวอีกคนครับ ที่จะร่วมกันรณรงค์ทำให้ปีใหม่ การกลับบ้าน และการได้มีโอกาสทำสิ่งต่างๆในห้วงเทศกาลนี้ นำมาซึ่งสิ่งดีๆ สิ่งสร้างสรรค์ อย่างที่พระคุณเจ้าได้ฝากข้อคิดเล็กๆน้อยๆ แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับลูกหลานคนหนองบัว

    ตั้งแต่ปีใหม่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นมา เห็นว่าหัวข้อนี้ยังเงียบเหงาอยู่

    ขอทักทายสบายดีท่านอาจารย์วิรัตน์/ท่านพระมหาแลฯและพี่น้องชาวหนองบัวทุกท่านครับ

    ปีใหม่ หลาย ๆ อย่างยังคงดำเนินไปตามปกติ ท้ายปีเก่าผมกลับไปบ้านมา มีอย่างหนึ่งที่เป็นของใหม่และขอนำเสนอในที่นี้คือ มีถนนลาดยางสายใหม่ที่เพิ่งสร้างเสร็จ... ระยะทางประมาณ 5 ก.ม. เชื่อมต่อระหว่างถนนสายหนองบัว - ท่าตะโก (1119) กับถนนสายหนองบัว - ชุมแสง (225) ซึ่งผ่านบ้านห้วยวารีเหนือน่ะครับ ถนนใหม่นี้ ช่วยให้พี่น้องที่เดินทางระหว่างหนองบัว - นครสวรรค์ และหนองบัว - กรุงเทพฯย่นระยะทางได้มากทีเดียวครับ ที่สำคัญไปกว่านั้น...ทำให้สุขภวะและสิ่งแวดล้อมของชุมชนตลอดเส้นทางกลายเป็นถนนไร้ฝุ่นไปแล้ว....ไชโย !....... ต้นไม่ใบหญ้าที่เคยเต็มไปด้วยฝุ่นลูกรังสีแดง ได้กลายมาเป็นสีเขียวตามธรรมชาติของมันเสียที

    การเดินทางจากหนองบัว เข้ากรุงเทพฯ เป็นที่รู้กันว่าพึงหลีกเลี่ยงเส้นทางหนองบัว - ตากฟ้า (11) ให้ไกล ๆ ได้เท่าไหร่ยิ่งเป็นการดี ส่วนจะเนื่องด้วยเหตุผลใดนั้น ในเวบไซต์ของโรงเรียนหนองบัวก็ได้บอกไว้เหมือนกันครับ.

    สวัสดีครับคุณสมบัติ ฆ้อนทองครับ : ผมได้กลับไปทำบุญที่บ้าน บ้านตาลิน หนองบัวบ้านเรา แล้วก็ได้รับหนังสือของคุณสมบัติแล้ว ผมแนะนำหนังสือถ้อยเสียงสำเนียงลาวของคุณสมบัติ ให้น้องๆและญาติๆผมได้ทราบ พร้อมทั้งสาธยายเกี่ยวกับคุณสมบัติในฐานะผู้แต่งให้เป็นที่รู้จักในความเป็นคนบ้านนอกแต่ข้ามทุ่งไปได้การศึกษาขั้นสูงของประเทศ ไปทำการงานให้กับสังคมแล้วยังไม่พอ ยังทำชีวิตและการงานให้เป็นการเรียนรู้พร้อมกับถ่ายทอดออกมาเป็นงานที่สร้างสรรค์เป็นอย่างยิ่งให้แก่สังคมอย่างหนังสือ ถ้อยเสียงสำเนียงลาว อย่างที่เห็นอีกด้วย ทุกคนประทับใจและแย่งกันอ่านหนังสือครับ

    ผมเองนั้นก็อ่าน โดยเฉพาะบทบันทึกเกี่ยวกับแรงจูงใจและความเป็นมาของการคิดเขียน กระทั่งทำออกมาเป็นหนังสือ เมื่อได้ทราบแล้วก็ประทับใจมากครับ ดูแล้วไม่ใช่เพียงการการเรียนรู้ภาษาของเพื่อนบ้านเท่านั้น ทว่า เป็นวิธีเขียนการเรียนรู้ภาษาให้เป็นการเรียนรู้ทางสังคมที่ให้ทรรศนะการมองโลกอย่างสร้างสรรค์และให้ความรอบรู้เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในวิถีชาวบ้านกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคอินโดจีน นี่แค่เพิ่งเริ่มอ่านเป็นบางส่วนเท่านั้นครับ

    งานในแนวของคุณสมบัติ ทำให้ผมนึกถึงงานเขียนของท่านฑูตวิษณุ จันวิทัน และประภัสสร เสวิกุลเลย เป็นงานหนังสือที่ได้วัตถุดิบอันมั่งคั่งจากประสบการณ์การทำงานและการเรียนรู้ทางสังคมของนานาประเทศ เป็นการทำโอกาสในชีวิตให้เป็นงานสร้างสรรค์ทางปัญญาแก่สังคมได้ดีจริงๆ ขอบคุณและขอแสดงความชื่นชมมากครับ

    ขอถือโอกาสกล่าวสวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๓ ด้วย สคส จากฝีมือการทำกันเองนะครับ ถือว่าเป็น สคส ที่คนหนองบัวและคุณสมบัติก็มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นะครับ   

                            

    รูปวาดทั้งชุดนี้ เป็นผลพวงจากเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเดินบวกความสร้างสรรค์ให้กันในเวทีคนหนองบัว และตอนนี้กำลังจัดเป็นนิทรรศการอยู่ที่ร้านหนังสือเบิกม่าน หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม แสดงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๒ จนถึงกลางเดือนมกราคม ๒๕๕๓ ครับ อาจารย์ณัฐพัชร์ท่านกรุณารวบรวมทำเป็นการ์ดเหมือนกับปฏิทินตามการเสนอความคิดของท่านพระอาจารย์มหาแล ซึ่งเป็นท่านหนึ่งที่ร่วมเสวนาและเป็นที่มาของการวาดรูปชุดดังกล่าวนี้ด้วย

    ขอส่งความสุขและน้ำใจแห่งมิตรมายังทุกท่านครับ ด้วยจิตคาระวะจากทีมวิจัยสร้างสุขภาวะชุมชน สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชมรมชีวเกษมและเครือข่ายชุมชน : ปรีชา ก้อนทอง | ศราวุธ ปรีชาเดช | สนั่น ไชยเสน | เริงวิชญ์ นิลโคตร | กานต์ จันทวงษ์ | อาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ | ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    สวัสดีครับ ท่านอาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ครับ

    ขอบพระคุณท่านอาจารย์และญาติพี่น้องที่บ้านตาลินเป็นอย่างสูงครับ ที่ให้ความสนใจต่อหนังสือที่ผมเขียน อันที่จริงแล้วหนังสือเล่มนี้เป็นหน้งสือเล่มแรกที่ผมเขียนครับ ผมเคยฝากไปให้นักวิจารณ์หนังสือในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ช่วยวิจารณ์ ปรากฏว่ามีเรื่องที่ควรจะต้องแก้ไขอีกพอสมควรครับ เป็นต้นว่า ตัวหนังสือเล็กไปสำหรับผู้อ่านที่สูงอายุ (ประมาณ 50 ปี ขึ้นไป) การใช้อักษรภาษาลาวเป็นชื่อหนังสือ อาจมีปัญหาพอสมควรสำหรับการลงรายการของห้องสมุด และอื่น ๆ นับว่าเป็นข้อแนะนำและข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์มาก สำหรับคนที่จะเข้าสู่วงการหนังสือและคิดจะเขียนหนังสือให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

    ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งครับว่า งานเขียนของสมเด็จพระเทพฯ (ขออนุญาตใช้ภาษาสามัญนะครับ) /ของท่านพิษณุ จันทร์วิทัน รวมถึงท่านอื่น ๆ มีส่วนทำให้เกิดหนังสือเล่มนี้ ซึ่งแต่ละท่านล้วนมีประสบการณ์ตรงจากการได้เข้าไปสัมผัสหรือใช้ชีวิตระยะหนึ่งอยู่ใน สปป.ลาว.......ส่วนผมเองนั้น ส่วนใหญ่อยู่ตรงตะเข็บชายแดนซะมากกว่า

    สำหรับท่านพิษณุ จันทร์วิทัน(เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงฮานอย) นั้น สมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนกับหนังสือของท่านเล่มหนึ่งชื่อ..ใต้ฟ้าปากีฯ.....ครับ

    เมื่อสัปดาห์ก่อนมีคนอำเภอแก่งคอย/มีธุรกิจอยู่ในลาว มาพบผมที่ทำงานบอกว่าอยู่บ้านเดียวกับท่านทูตพิษณุฯ รู้ว่ามีหนังสือเล่มนี้แต่หาซื้อตามร้านหนังสือทั่วไปไม่ได้ จึงแวะมาคุยด้วย/ขอซื้อหนังสือพร้อมขอให้เซ็นต์ให้ด้วย

    การมีหนังสือของตัวเองสักเล่มหนึ่งก็ดีเหมือนกันครับ นอกจากงานตามภารกิจแล้ว ยังได้พบปะ พูดคุยและรู้จักกับคนในวงกว้างที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน...ก็มีชีวิตชีวาไปอีกแบบครับ

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

    • ผมก็มีข้อสังเกตให้ด้วยเหมือนกันครับ เรื่องแรกคือ วิธีการยกตัวอย่างประโยคและวิธีการใช้ศัพท์และคำนั้นๆ ซึ่งคล้ายกับวิธีของ ส.เศรษฐบุตร กับของ Webster Dictionary แต่ก็มีแง่มุมที่ผมคิดว่าดีกว่าก็คือ วิธีของเว็บเตอร์ก็ออกจะมากไป เกือบเหมือนของวิธีทำสารานุกรมเพื่อการค้นคว้าไปตามคำศัพท์ของบริเตนิก้าซึ่งคนทั่วไปนอกจากจะอ่านยากแล้วก็อาจจะจับประเด็นที่ไม่ได้สาระสำคัญที่ดี ส่วนของ ส.เศรษฐบุตร ก็จะดีในแง่การเห็นตัวอย่างการใช้ในโครงสร้างประโยคและสถานการณ์ที่ถูกต้อง ทว่า ของคุณสมบัตินั้น ทั้งสั้น ง่าย และที่เป็นจุดเด่นก็คือตัวอย่างที่ยกเป็นสถานการณ์ให้ดูการใช้ถ้อยเสียงสำเนียงลาวนั้น มันเป็นให้การเรียนรู้ชีวิตจิตใจของเจ้าของภาษาไปด้วย อ่านแล้วได้รู้จักสังคม ได้ความรู้รอบตัวไปพร้อมกับการเรียนรู้ภาษาเพื่อนบ้านนะครับ คงไม่เป็นการยกตัวอย่างเทียบเคียงที่ใหญ่เกินไปนะครับ เป็นการเทียบเคียงเพื่อการพัฒนาผลงานของเรา ไม่ใช่เทียบชั้นในทางลำดับความสำคัญและความเป็นที่ยอมรับ
    • เรื่องที่สองก็คือ ตัวหนังสือลาวนั้นสวยจังเลยครับ ผมเคยไปดูและเลือกซื้อสื่อสิ่งพิมพ์ของลาวในประเทศลาวเองมาไว้เป็นที่ระลึก ได้ความเป็นต้นฉบับบแต่ก็คิดว่าไม่สวยและคุณภาพการพิมพ์ไม่ดี ทำไมในหนังสือของคุณสมบัติมันออกมาสวยและมีความลงตัวดีในแง่ของ Visual Art มากเลยละครับ เป็นไปได้อย่างไรที่จะทำได้สวยกว่าเจ้าของภาษาเขา หรือว่ามันมีฟ้อนต์และรูปแบบการจัดหน้าหนังสือที่ดีอยู่แล้วแต่คุณภาพการพิมพ์ของลาวเขายังทำออกมาไม่ดีเอง
    • อันที่จริงการไปมีประสบการณ์ในสังคมที่แตกต่างแล้วมีการเรียนรู้ บันทึก เขียนหนังสือ เขียนรูป ถ่ายรูป รวมทั้งเก็บเอาเรื่องราวต่างๆติดตัวไปจัดเวทีนั่งคุยถ่ายทอดให้ประชาชนในประเทศของตนได้ฟังนั้น เป็นวัฒนธรรมทางปัญญาที่น่าส่งเสริมมากนะครับ
    • การทำหนังสือถ่ายทอดประสบการณ์อย่างคุณสมบัตินั้น เป็นการใช้โอกาสของชีวิตให้เป็นสื่อสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสังคมได้ดีจริงๆ เป็นการท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ที่ควรส่งเสริม กระตุ้น และพัฒนาผู้คนให้แสดงออกในลักษณะนี้มากๆนะครับ ที่ทำงานผมนั้น ทั้งโดยการปฏิบัติของผมเอง และการต้องเป็นหัวหน้าคนอื่นเขาในบางภารกิจนั้น ผมจะขอไว้อย่างหนึ่งเลยว่า ไปไหนมาไหนทั้งในและต่างประเทศ ช่วยถ่ายรูป วาดรูป เขียนบันทึก แล้วทำสื่อเผยแพร่และจัดเวทีนั่งคุยให้เพื่อนๆได้ฟังกันหน่อย

    กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับอาจารย์ สำหรับข้อสังเกต

    เรื่องการจัดหน้า ลีลาและความสวยงามของตัวอักษรลาวนั้น ต้องยกความดีให้โรงพิมพ์เขาครับ .....โรงพิมพ์ศิริภัณฑ์ออฟเส็ท จังหวัดขอนแก่น..... เดี๋ยวนี้หนังสือของลาวเองหลาย ๆ สำนักพิมพ์ก็ทำได้สวงงามดีครับ มีพัฒนาการขึ้นเรื่อย ๆ และได้มาตรฐานโดยเฉพาะในส่วนของภาคเอกชน เช่น มะหาซน (มหาชน) UP DATE วารสารการบินลาว เป็นต้น

    ภาพประกอบหนังสือส่วนมาก เป็นภาพกิจกรรมที่ไปประชุมร่วมกับทางการลาวครับ เป็นทางการบ้าง กึ่งทางการบ้าง รวมทั้งการเดินทางผ่านลาวไปจีน หรือผ่านลาวไปจีนโดยผ่านเวียดนามอีกประเทศหนึ่งก่อน ซึ่งแต่ละปีจะมีงบประมาณสำหรับการเดินทางไปสำรวจและศึกษาเส้นทางการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว ในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) และพบปะ/ประชุมร่วมกับศุลกากรของประเทศเหล่านี้ ผลพลอยได้ที่ตามมาก็คือ ภาษาและวัฒนธรรมที่อุดมสมบูรณ์ครับ อย่างเช่นกลุ่มประชากรตรงบริเวณชายแดนลาว - จีน/ลาว - เวียดนามหรือแม้แต่เวียดนาม - จีน ผมสามารถใช้ภาษาของคนห้วยปลาเน่า - บ้านตาลิน พูดคุยกับเขาได้และรู้เรื่องกันดีครับ คณะที่เดินทางร่วมกันไปก็งงและสงสัยว่าผมไปพูดกับจาเขารู้เรื่องได้อย่างไร

    สำหรับทัศนะของอาจารย์ในข้อสุดท้าย ถ้าทุกคนทำได้ตามนั้นจะเกิดประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์การเรียนรู้สังคมได้มากทีเดียวครับ

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ : เห็นมุมมองที่นำมาสู่การกล่าวว่า 'ภาษาและวัฒนธรรมที่อุดมสมบูรณ์' จากคุณสมบัติ ซึ่งทำงานด้านศุลกากรและมีความใกล้ชิดกับกิจกรรมด้านการค้า เศรษฐกิจ และแนวการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจแล้วประทับใจจริงๆนะครับ โดยปรกติเมื่อมีคนพูดในกรอบกิจกรรมที่สัมพันธ์กับเรื่องเศรษฐกิจและการค้าขาย โดยเฉพาะในระดับที่เป็นความสัมพันธ์ของประเทศไทยกับประเทศในอนุภูมิภาคอินโดจีน, ลุ่มน้ำโขง-แหลมทอง CLMVT : Cambodia, Loas PDR, Mynmar,Vietnam and Thailand และอาเซียนแล้ว เรามักได้ยินคนพูดแต่เรื่องโอกาสในการทำความร่ำรวย การเอาเปรียบกัน การกอบโกยเอาสิ่งที่มีอยู่ในสังคมประเทศเหล่านี้ออกไปขาย ให้น้ำหนักการหาความมั่งคั่งร่ำรวยทางเศรษฐกิจเงินตรา มากกว่ามองเห็นด้านอื่นที่ทีความหมายและมีความสำคัญมากเช่นกัน

    พอเห็นมุมมองที่เห็น 'ความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องที่เป็นทุนทางสังคมวัฒนธรรม' อย่างนี้ นอกจากรู้สึกว่าเหมาะสมมากจริงๆที่กล่าวโดยคุณสมบัติซึ่งกล่าวสะท้อนออกมาจากความซาบซึ้งและเป็นชีวิตจิตใจอย่างแท้จริงแล้ว ก็เป็นทรรศนะจากคนที่มีบทบาทต่อเรื่องการค้าและสังคมเศรษฐกิจระหว่างไทย-ลาว รวมทั้งตามแนวชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ นับตั้งแต่ระดับปฏิบัติการไปจนถึงระดับนโยบายและระดับที่เข้าถึงกลไกระดับนำของประเทศ อีกทั้งเป็นการรู้เรื่องดีด้วยมีวิชาจากประสบการณ์และอยู่ใกล้ชิดกับความเป็นจริงในฐานะคนทำงาน อย่างมากอีกด้วย

    ทำให้ผมรู้สึกมีความสุขไปด้วยนะครับว่า เมื่อใดที่คุณสมบัติมีโอกาสให้ความรู้และนำเสนอแนวคิด หรือให้ข้อเสนอแนะทั้งในเชิงนโยบายและต่อการแก้ปัญหาระดับปฏิบัติ ก็ย่อมสามารถสะท้อนกระบวนทัศน์ต่อ 'ความอุดมสมบูรณ์ของสังคม' ที่ลึกซึ้ง แยบคาย และครอบคลุมความเป็นองค์รวมของสังคมที่กว้างขวางรอบด้านมากกว่าแนวคิดและแนวทางของสังคมอย่างทั่วไปแน่นอน ดีใจจริงๆครับ หากมีโอกาสจะขอเชิญไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนของมหิดลที่สนใจบ้างนะครับ

    สวัสดีครับ พี่วิรัตน์ น้องสมบัติ และทุกๆท่าน

    เป็นเรื่องแปลกแต่จริง ที่คนหนองบัวได้จัดทำหนังสือเกี่ยวกับภาษาลาวซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วมันก็คือสำเนียงเสียงภาษาอีสานบ้าเฮานี่เอง ถ้าเป็นหนองบัวลำภูก็คงจะไม่เท่าไหร่ แต่นี่หนองบัว นครสวรรค์ มันก็เลยออกจะแปลกๆ

    จริงภาษาบ้านเรามันก็ออกจะเหน่อๆทั้งนครสวรรค์เลย ออกไปทางไหนดีล่ะ ผมว่าออกไปทางสุพรรณนะ แต่ไม่จัดเท่า

    เพิ่งจะรู้ว่ามีถนนลาดยางเส้นใหม่ ไว้วันไหนกลับหนองบัวจะไปสำรวจดู

    ไม่ทราบว่ามีนิทรรศการที่ร้านหนังสือเบิกม่าน หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา อีกไม่กี่วันก็จะหมดงานแล้ว ไม่รู้จะมีเวลาไปหรือเปล่า ก่อนหน้านี้ก็ผ่านๆแถวๆนั้นอยู่บ้าง ถ้ารู้ก็จะได้แวะไปดูโดยเฉพาะรูปวาดของพี่วิรัตน์

    เมื่อวานเป็นวันเด็ก สมัยที่ยังเป็นเด็กมัธยมที่หนองคอก จำได้ว่าวันนี้ที่รร. จะให้พวกเรานักเรียนทำซุ้ม แล้วแต่ว่าห้องไหนจะทำกิจกรรมเกี่ยวกับอะไร ส่วนใหญ่ก็จะเป็นซุ้มขายอาหาร ก็สนุกดี ที่พวกเราได้ร่วมทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้กิจกรรมเกี่ยวกับวันเด็กที่นั่นเป็นอย่างไรบ้าง

    เพิ่มเติมนิด เกี่ยวกับเว็ปไซต์ของรร. ผมว่าค่อนข้างเงียบไป ไม่ค่อยปรับปรุงข้อมูล อย่างเรื่องงานทำบุญผ้าป่าและพบปะศิษย์เก่าเมื่อ 6 ธ.ค. 52 ก็ยังไม่มีสรุปให้ทราบถึงยอดเงินที่ได้รับบริจาค ฝากไปยัง อ.ประทวน อ.สมัคร อ.สืบศักดิ์ อ.เสรี และท่านอื่นๆที่เกี่ยวข้องพิจารณาด้วยครับ (อาจารย์ที่เอ่ยชื่อไปเพราะรู้จักสนิทเป็นการส่วนตัว)

    แจ้งเพิ่มเติมเรื่องอาการของแม่ เมื่อวานนี้หมดได้ทำการเจาะคอใส่ท่อไว้ เพราะปัญหาเสมหะที่ไม่สามารถขับออกมาได้ด้วยตัวเอง ตอนนี้อาการก็ดีขึ้น เดี๋ยวจะต้องออกจากบ้านที่กทม.ไปเยี่ยมแม่ที่นว.ตอนนี้แล้วครับ เลยไม่มีเวลาจัดหน้าจัดตัวหนังสือ

    ขอบคุณครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรคุณฉิก

    • คนที่เห็นหนังสือถ้อยเสียงสำเนียงลาวที่อาตมาซื้อมา ๒ เล่ม ทั้งชาวพิษณุโลกและอุตรดิตถ์เขาก็แปลใจอย่างมาก
    • ว่าทำไมคนหนองบัวจึงเขียนพจนานุกรมภาษาลาวได้ เขาคงคิดว่าไม่น่าจะมีคนลาวในหนองบัวเพราะเขาเคยไปมาแล้ว
    • ได้ความรู้จากพจนานุกรมนี้อีกว่า มีพี่น้องลาว เช่น ลาวโซ่ง ลาวใต้ ลาวพวน ลาวเวียง ลาวแง้ว อยู่ในจังหวัดใดบ้าง หนองบัว-ชุมแสง นครสวรรค์ มีไทยทรงดำ(โซ่ง)
    • อาตมาเห็นหนังสือนี้ที่มน.(ม.นเรศวร) พิษณุโลก หยิบดูด้วยความสนใจพลิกด้านหลังมีประวัติผู้เขียน
    • หัวข้อถิ่นเกิด ระบุไว้ว่า ต้นน้ำเจ้าพระยาที่อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อเห็นคนหนองบัวเขียนก็ตัดสินใจซื้อได้โดยง่ายทันที
    • อีกอย่างก็กำลังมองหาหนังสือที่มีเรื่องราวในหนองบัวอยู่แล้ว ทั้งคนเขียนหรือหนังสือคิดว่าถ้าเป็นหนองบัวทำขึ้น จะหาเก็บไว้ศึกษา
    • อ่านที่อื่นมามากแล้วเมื่อมาเห็นคนบ้านเราเขียนก็เลยดีใจ และก็เพราะหนังสือถ้อยเสียงสำเนียงลาวเล่มนี้นี่แหละที่เวทีคนหนองบัวได้พบเจ้าของผลงานตัวจริงเสียงจริง คนห้วยปลาเน่า(ห้วยวารี)มาปรากฏตัวให้ได้ชมกัน
    • และก็ทั้งคนหนองบัวและคนทั่วไปเลยได้ทราบการทำงานของเจ้าของหนังสือนี้อย่างมากมายและเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องทั้งสองประเทศอย่างน่าชื่นใจ
    • คนตัวเล็กแต่ก็มีส่วนทำงานในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศได้ดีไม่น้อย
    • ได้เข้าไปดูเว็บไซต์โรงเรียนหนองคอกแล้วเห็นนำรูปกิจกรรมในงานทอดผ้าป่าการศึกษาเมื่อ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๒ มาลงไว้เยอะเชียว
    • ขอให้คุณแม่หายป่วยไข้มีสุขภาพแข็งแรง
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท