เรียนรู้สร้างสุขภาวะคนหนองบัว


   เวทีคนหนองบัว : เวทีของคนทั่วไปทุกคน   

      เวทีนี้เป็นเวทีเรียนรู้สร้างพลังภาคพลเมืองเพื่อมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมและสร้างการมีประสบการณ์ทางสังคมอย่างมีความหมายต่อตนเองสำหรับผู้สนใจทุกคน จิตสาธารณะ ความสำนึกและความตระหนักรู้ของพลเมืองต่อการร่วมทุกข์สุขของผู้คนในสังคม เป็นองค์ประกอบด้านการเรียนรู้ของมนุษย์ที่ต้องมาจากการมีประสบการณ์ทางสังคมทางใดทางหนึ่ง ยิ่งเข้มข้นและเป็นประสบการณ์ตรงจากการได้มีส่วนร่วมทางการปฏิบัติที่มีนัยยะต่อการเรียนรู้ทางสังคมมากเพียงใด รูปการณ์จิตสำนึกก็ยิ่งแจ่มชัด เป็นตัวของตัวเอง และพลังจิตสำนึกสาธารณะก็จะยิ่งมีพลังมากเป็นทวีคูณเพียงนั้น  ซึ่งพลังชีวิตที่ออกมาจากจิตใจของปัจเจกที่โน้มนำด้วยความมีจิตสำนึกสาธารณะ ก็จะทำให้คนและชุมชนเป็นปัจจัยการแก้ปัญหาที่สร้างความสมดุลระหว่างจุดหมายเพื่อส่วนตนของปัจเจกกับความจำเป็นเพื่อส่วนรวมที่ทรงพลังที่สุด ที่สำคัญคือประสบการณ์ทางสังคมเพื่อสร้างเสริมจิตสำนึกพลเมืองในวิถีดังกล่าวนี้เราสามารถเลือกสรรและสร้างได้โดยวิถีแห่งปัญญา เห็นวิกฤติและความจำเป็นในการทำเหตุปัจจัยเพื่อสิ่งดีด้วยความรู้และวิถีแห่งปัญญา โดยไม่ต้องรอให้ปัญหาที่เราสนใจได้เกิดขึ้นก่อนแล้วจึงค่อยคิดปฏิบัติแบบตั้งรับ ก็ได้

  สร้างสุขภาวะสังคมผ่านสร้างพลังเครือข่ายปัจเจก ครอบครัว ชุมชน กลุ่มประชาคม 

       ส่งเสริมการพัฒนาความมีจิตสาธารณะของพลเมืองให้เป็นการร่วมสร้างสุขภาวะสาธารณะที่สะท้อนอยู่ในการดำเนินชีวิต การงาน และการทำมาหากินของชาวบ้าน สืบทอดทุนทางสังคมของหนองบัวและเป็นฐานความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งของท้องถิ่น สังคมไทย และอนุภูมิภาคอินโดจีน

                         

                         

  แปรวิกฤติชุมชนให้เป็นโอกาสสร้างสรรค์  

        ร่วมกันค้นหา บ่มเพาะ เชื่อมโยงลูกหลานคนหนองบัว ศิษย์เก่าของโรงเรียนประจำอำเภอและสถานศึกษาในท้องถิ่น รวมทั้งคนย้ายถิ่นจากหนองบัวไปทำงานและตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อื่น ให้เป็นพลังสร้างสรรค์ สร้างคนหนองบัวและทุนทางสังคมของอำเภอหนองบัว ให้เป็นโอกาสและทางเลือกที่สำคัญต่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาของชุมชนอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

       ทั้งนี้ โดยเน้นสิ่งที่ประชาชนและปัจเจกจะสามารถมีส่วนร่วมได้โดยสะท้อนสู่การปฏิบัติ เพื่อเป็นพลเมืองที่ได้ร่วมส่งเสริมสุขภาวะชุมชน พร้อมกับได้เข้าถึงกระบวนการเรียนรู้ซึ่งทำให้ได้พัฒนาตนเองและมีโอกาสยกระดับคุณภาพชีวิตตนเองไปด้วยอยู่เสมอ                      

                

  จุดหมายและเจตนารมย์เวที        

     จุดหมายของเวที มุ่งระดมพลังความมีจิตสาธารณะของประชาชนและทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อเรียนรู้การมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่อย่างบูรณาการ สู่โอกาสและทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการมีสุขภาวะของชุมชนระดับต่างๆอย่างเป็นองค์รวม ของคนหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

  • พัฒนาเครือข่ายเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ท้องถิ่นของชุมชนหนองบัวอย่างผสมผสาน ที่เป็นทุนทางสังคมในทุกด้านของท้องถิ่นที่เอื้อต่อโอกาสและทางเลือกการพัฒนาที่เข้มแข็งและยั่งยืน ทั้งต่อสภาวการณ์ปัจจุบันและในอนาคต
  • บันทึกประสบการณ์และรายงานบทเรียนจากภาคปฏิบัติ เพื่อสะสมบทเรียนและตกผลึกภูมิปัญญาที่ก่อเกิดจากการปฏิบัติในบริบทของท้องถิ่น ให้สะท้อนทั้งความเป็นท้องถิ่นและความซับซ้อนของสังคมในวงกว้าง
  • สื่อสารเรียนรู้ เผยแพร่ และถ่ายทอดสิ่งดีของชุมชนอำเภอหนองบัว สู่สังคมภายนอก สร้างเครือข่ายสื่อเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งทางความรู้และข้อมูลข่าวสาร ส่งเสริมการพัฒนาการอ่าน การเขียน และการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้สาธารณะ  ขยายผลแหล่งการเรียนรู้ที่ส่งเสริมบทบาทชาวบ้าน ผสมผสานนวัตกรรมและเทคโนโลยีทั้งของท้องถิ่นและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างเหมาะสม พอเพียง มีคน ครอบครัว ชุมชน และการปฏิรูปตนเองของท้องถิ่น เป็นศูนย์กลาง
  • เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (Virtual Learning Community) และ มหาวิทยาลัยเสมือนจริงของชาวบ้าน (Virtual University for Nong-Bua Development Community) พัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองให้สอดคล้องกลมกลืนกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อม  แลกเปลี่ยนถ่ายทอดวิทยาการและเทคโนโลยีที่เหมาะสมและพอเพียงระหว่างชุมชนกับโลกภายนอก สร้างพลังทางปัญญาและพลังความรู้ของชาวบ้าน สร้างคนและกลุ่มปฏิบัติการเรียนรู้ของประชาชน สร้างความตื่นตัวและพัฒนาภาวะผู้นำของภาคพลเมืองเพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโอกาสและทางเลือกของสังคมที่หลากหลาย
  • เป็นเวทีรองรับนักวิชาการและนักพัฒนาทุกสาขาทั้งในและต่างประเทศที่เป็นศิษย์เก่าและลูกหลานคนหนองบัว เพื่อเป็นเครือข่ายความร่วมมือกับคนท้องถิ่นหนองบัวตามความสนใจ ในการวิจัย พัฒนา สื่อสารขยายผล สร้างพลังทางปัญญาและเลือกสรรค์การเปลี่ยนแปลงที่พึงประสงค์กับชุมชน
  • แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเป็นที่ปรึกษาหารือทางวิชาการเพื่อการพัฒนากับชุมชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมด้วยจิตสาธารณะของปัจเจกและการรวมกลุ่มทำงานด้วยจิตอาสาของชาวบ้านเพื่อสร้างสุขภาวะของสาธารณะและพัฒนาตนเองตลอดชีวิต
  • เปิดโอกาสเพื่อร่วมกันสร้างบรรยากาศและความเคลื่อนไหว สู่การเฉลิมฉลอง ๕๐ ปี หรือกึ่งศตวรรษของโรงเรียนหนองบัว ในปี ๒๕๕๓ จากบัดนี้เป็นต้นไป
  • เป็นเวทีสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และติดตามเรื่องราวต่างๆ ของหนองบัวสำหรับชาวหนองบัวที่ย้ายถิ่นไปทำงานทั่วประเทศและในต่างประเทศ รวมทั้งเรื่องราวความเคลื่อนไหวของคนหนองบัวที่ไกลบ้าน ไปทำงานและตั้งหลักแหล่งที่อื่น ที่อยากบอกกล่าวและสื่อสารให้ญาติพี่น้องและชุมชนได้ทราบข่าวคราว

  รูปแบบเวทีพลเมืองเพื่อเชื่อมโยงกับการวิจัยพัฒนาสังคมในบริบทใหม่ๆ  

      รูปแบบของเวที เป็นเวทีเสวนาความรู้และสร้างการเรียนรู้เพื่อนำการเปลี่ยนแปลงของชาวบ้าน (Civic Forum for Learning and Change) ที่ช่วยกันทำด้วยความมีจิตอาสา ริเริ่มโดยกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่เป็นคนหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ทำไปตามความพร้อมและตามความสมัครใจ ผสมผสานการเรียนรู้และสร้างความรู้ท้องถิ่นกับการสื่อสารและการจัดการความรู้โดยเครือข่ายความรู้จากทางไกลผ่านเว็บบอร์ด GotoKnow ในระยะแรกเป็นการระดมความสนใจอย่างทั่วไปและในอนาคตอาจพัฒนาสู่รูปแบบเครือข่ายวิจัยและพัฒนาในแนวประชาคม ของชุมชนเสมือนจริงซึ่งเน้นชุมชนฐานรากเป็นตัวตั้ง

 เชิญแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเชื่อมโยงชุมชนที่สนใจคล้ายกันอย่างไร้พรมแดน 

      คำเชิญชวน ขอเชิญคนหนองบัวทุกท่านทั้งที่อยู่ในหนองบัวและทั่วประเทศ รวมทั้งทุกท่านจากแหล่งต่างๆทั่วประเทศ ไม่จำกัดว่าต้องเป็นคนหนองบัว ที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาการเรียนรู้เพื่อสร้างสุขภาวะสาธารณะระดับชุมชน ที่เน้นโอกาสและทางเลือกการพัฒนาทีเข้มแข็งและยั่งยืน ได้ใช้เวทีนี้ให้เป็นหนทางการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกท่านไปตามอัธยาศัย ท่านผู้รู้ที่ถ่ายทอดประสบการณ์และให้ข้อชี้แนะแก่ชุมชนได้ ชาวบ้าน นักวิชาการ นักพัฒนาองค์กรเอกชน และกลุ่มประชาคม ที่มีประสบการณ์แบ่งปันให้แก่คนหนองบัวได้ ก็ขอเรียนเชิญครับ.

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                      บันทึกเพื่อการรำลึกถึงและเป็นหมายเหตุการก่อเกิดเวทีแบบช่วยกันทำตามความสะดวกแห่งนี้                            

  • ชื่อบล๊อก : เวทีพลเมือง : เรียนรู้และสร้างสุขภาวะหนองบัวให้เข้มแข็งและยั่งยืน
  • ที่อยู่ : http://gotoknow.org/blog/nongbua-community/295169 
  • กลุ่มคนผู้ริเริ่มและเสนอความคิด ซึ่งขอกล่าวถึงให้เป็นการรำลึกถึงและแสดงความเคารพในความคิดริเริ่มกันไว้ คือ พระมหาแล อาสโย(ขำสุข) | คุณเสวก ใยอินทร์ | กลุ่มพริกเกลือซึ่งเป็นการค่อยๆรวมตัวกันของศิษย์เก่าของโรงเรียนหนองบัว คุณครูอนุกูล วิมูลศักดิ์ครูอัตราจ้างของโรงเรียนวัดเทพสุทธาวาส อำเภอหนองบัว คุณพีรณัฐ
  • เครือข่ายที่ปรึกษาทางวิชาการเบื้องต้น : คุณจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร นักศึกษาปริญญาเอก สาขาประชากรศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล | ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล | รองศาสตราจารย์ ดร.เสน่ห์ จุ้ยโต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว | อาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ อำเภอหนองบัว | อาจารย์สืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงเรียนหนองบัว | คุณครูวัชรี โชติรัตน์ โรงเรียนเทศบาล ๔ (เชาวนปรีชาอุทิศ) นครปฐม | อาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ | คุณเริงวิชญ์ นิลโคตร สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล l รองศาสตราจารย์ ดร.รุจโรจน์ แก้วอุไร มหาวิทยาลัยนเรศวร l นายแพทย์สมพงษ์ ยูงทอง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ l ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นคร เหมะ รองอธิการบดี ฝ่ายวิทยาเขต มหาวิทยาลัยมหิดล l ประเวศ รักษพล อัยการศาลปกครอง ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว l พีระ คำศรีจันทร์ นักวิชาการพัฒนาชุมชน ชำนาญการ สพช.อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว l ปริญญารัตน์ แซ่แต้ คนหนองบัว ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว l นิจ เพชรคง วิศวกรโยธา กรมพัฒนาทางหลวงชนบท ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว l อาจารย์ขจิต ฝอยทอง Ph.D.Candidate ทุนพัฒนาอาจารย์สาขาขาดแคลน คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน l ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐพงศ์ พร้อมจิตร Ph.D.Candidate ประธานสภาคณาจารย์ เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน l อาจารย์กู้เกียรติ ญาติเสมอ สถาบันการพัฒนาชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

                                 ลิ๊งค์และเครือข่ายข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ (คลิ๊กลงไปบนชื่อข้อความได้เลยครับ)                                

                            ห้องย่อยและแนวปฏิบัติเพื่อเสริมความเข้มแข็งของนักวิจัยชาวบ้านและนักเรียนรู้ชุมชน                           

ห้องย่อยนี้ จะรวบรวมความรู้ เทคนิคเครื่องมือ กระบวนการ และวิธีการพัฒนาตนเอง เพื่อเสริมกำลังแก่นักวิจัยชาวบ้าน นักเรียนรู้ชุมชน และคนสร้างความรู้จากการดำเนินชีวิตและจากการมีส่วนร่วมการพัฒนาสุขภาวะในท้องถิ่นตน ท่านพระมหาแล อาสโย ท่านเสนอแนะไว้หลายเรื่องที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนหนองบัว ให้สามารถเรียนรู้และนำไปทำประโยชน์ได้เองของชาวบ้าน เลยนำมารวบรวมไว้นำร่องไปก่อน เพื่อจะได้ช่วยกันรวบรวมมาเก็บไว้ให้สะดวกต่อการที่คนทั่วไปจะนำไปใช้มากๆขึ้นในภายหลังต่อไปครับ.

             เครือข่ายเพื่อเรียนรู้สู่ทางเลือกและความหลากหลายของการพัฒนาเพื่อความเข้มแข็งและความยั่งยืนของชุมชน            

  • โรงเรียนอนุบาลพลอยภูมิ  โรงเรียนวิถีพุทธและการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติเพื่อการพัฒนาอย่างสมบูรณ์พร้อมของมนุษย์
  • โรงเรียนนานาชาติเมธาสคูล META International School โรงเรียนนานาชาติที่มุ่งการบ่มสร้างผู้ประกอบการและผู้นำรุ่นใหม่ให้เป็นผู้นำในอนาคตเพื่อนำการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมสู่ทางเลือกที่ยั่งยืนของสังคมไทยในเวทีนานาชาติ
  • ชมรมชีวเกษม การรวมกลุ่มเรียนรู้สร้างสุขภาพแบบองค์รวม
  • ทุ่งสักอาศรม โรงเรียนและค่ายกวีของครูกานท์ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิวกานท์ ปทุมสูติ ตั้งอยู่ที่อำเภออู่ทอง สุพรรณบุรี เน้นการเรียนรู้อย่างบูรณาการโดยใช้การเรียนอ่าน เขียน คิด ประพันธ์ ใช้ชีวิต ทำกิจกรรม อยู่กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาวนา กลุ่มเป้าหมายเน้นกลุ่มเด็กและเยาวชนชนบท ครูภาษาไทย  ครูและกลุ่มอาสาสมัคร เด็กด้อยโอกาส ชาวเขา นักคิดและนักพัฒนาแนวทางเลือก
  • ไร่คุณมน เป็นแหล่งการรวมกลุ่มเรียนรู้และพัฒนาผลผลิตเพื่อทางเลือกที่ยั่งยืน ของกลุ่มแม่บ้านชาวบ้าน และเกษรตกร นำโดย คุณมนรัตน์ สารภาพ ครูภูมิปัญญาไทย  เน้นกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ การทำผลิตภัณฑ์ซึ่งเน้นการใช้แรงคนและการพึ่งเทคโนโลยีที่พอเพียงสำหรับชาวบ้าน อยู่ที่อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี

  .       .       .             .       .       .       .           ข่าวประชาสัมพันธ์         .       .       .             .       .       .       .    

                                                    ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัวและชาวหนองบัว                                                             

   สู่ ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองบัว   

  • โรงเรียนหนองบัว เริ่มก่อตั้งและจัดการเรียนการสอนเมื่อปี ๒๕๐๓ โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ของโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) หรือในปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) ในปี ๒๕๕๓ นี้ โรงเรียนหนองบัวจึงก่อตั้งมาได้กึ่งศตวรรษ หรือ ๕๐ ปีแล้ว
  • ต่อมา ในปี ๒๕๐๘ ก็ได้ย้ายไปตั้งอยู่ที่หนองคอก อันเป็นที่ตั้งในปัจจุบัน

                                    ลูกหลานชาวหนองบัวที่สนใจสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยมหิดลระบบโควตา                                    

                                                                ขอขอบคุณผู้มีอุปการคุณ                                                                 

        การจัดภาพประกอบของบล๊อกและตัวหนังสือกราฟิคคอมพิวเตอร์บนภาพ ได้รับความอนุเคราะห์จากคุณครูวัชรี โชติรัตน์ โรงเรียนเทศบาล ๔ (เชาวนปรีชาอุทิศ) อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

                   คำหลักเพื่อใช้ค้นหาและช่วยให้มองเห็นเวทีคนหนองบัวนี้ ด้วย google และ search engine ต่างๆ                

 พิมพ์คำเหล่านี้ลงไปครับ : คนหนองบัว | เวทีคนหนองบัว | เวทีพลเมืองหนองบัว | เวทีประชาคมหนองบัว | อำเภอหนองบัว

หมายเลขบันทึก: 295169เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2009 11:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1,726)

ผมขอยกมือไปร่วมด้วย และขอเรียนรู้ด้วยครับ

งั้นขอใส่ไว้ท้ายบันทึกเลยนะครับ ทางสมาชิกเขาเคยขอให้คุณจตุพรเป็นที่ปรึกษาให้อยู่น่ะครับ เป็นคนชนบทเหมือนกัน รวมทั้งอีกหลายท่านที่ทางชุมชนได้กล่าวถึง คือ อาจารย์ ดร.ขจิต ฝอยทอง และอาจารย์ณัฐพัชร ทองคำ รวมทั้งท่านอื่นๆด้วยครับ หากเห็นว่าเรียนรู้กับชุมชนและร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชุมขนได้ ก็ขอเรียนเชิญครับ

http://gotoknow.org/blog/watchareeya/295120

รุ่นน้องเพาะช่างทำงานร่วมกับวัด...เพื่ออนุรักษ์สิลปะไทยลายรดน้ำค่ะ..

แก้ไข ศิลปะไทยลายรดน้ำค่ะ

  • สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็ก นึกถึงคุณครูอ้อยเล็กอยู่พอดีเลยนะครับ ว่าจะขอสักหน่อยหนึ่ง จะรบกวนไปมากไหมเนี่ย
  • คุณครูอ้อยเล็กว่างตอนไหน ทำตัว Caption ซ้อนลงไปบนภาพ อย่างคุณครูอ้อยทำในของตัวเองได้ไหมเนี่ย
  • ข้อความแบบหัวนั่นเลยครับ เวทีพลเมือง : เรียนรู้และสร้างสุขภาวะหนองบัวให้เข้มแข็งและยั่งยืน
  • หากได้นะก็จะขอเปลี่ยนเป็นรูปของบล๊อกแทนรูปเดมเลยละครับ
    • โอ้วว เวทีนี้คึกคักนะค่ะ ดีใจด้วยค่ะอาจารย์วิรัตน์
    • งั้น คงไม่ต้องการหน้าม้าอย่างเราแล้วหล่ะมั๊ง ฮ่า

                                

     

    ขอบคุณคุณครูอ้อยเล็ก แทนกลุ่มคนหนองบัวที่ช่วยกันริเริ่มเวทีคุยและเสวนากันนี้ขึ้นมาครับ ที่ช่วยทำตัวหนังสือบนภาพหัวข้อที่ใช้เปิดหัวข้อเวทีพลเมืองนี้ครับ แล้วก็ขออนุญาต เอารูปอื่นๆใน dialogue box ที่ผ่านมา ออกนะครับ

    • ต้องการครับอาจารย์ณัฐพัชร์ อาจารย์ณัฐพัชร์ทำเรื่องชุมชนเยอะ แล้วก็ศึกษาเรื่องพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นด้วย คงคุยกับคนหนองบัวหลายคนได้ดีครับ

     

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    • ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีแทนชาวอำเภอหนองบัวด้วยที่มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แห่งใหม่เกิดขึ้นมาสำหรับชุมชนคนหนองบัว กับชุมชนอื่น ๆ
    • รู้สึกตื่นเต้นจังเลย(พูดเหมือนผู้เข้าประกวดการแข่งขันความงามอะไรสักอย่างหนึ่งเลยเนาะ)
    • ยินดีต้อนรับและอนุโมทนาขอบคุณที่ปรึกษาทางวิชาการคุณจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร รองศาสตราจารย์ ดร.เสน่ห์ จุ้ยโต อาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ อาจารย์สืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์ อาจารย์ ดร.ขจิต ฝอยทอง อาจารย์ณัฐพัชร ทองคำ
    • คุณเสวก ใยอินทร์ กลุ่มพริกเกลือ คุณครูเอนก คุณพีรณัฐ
    • และโยมอาจารย์ดร.วิรัตน์  คำศรีจันทร์  ผู้เป็นโต้โหญ่แม่งานในทุก ๆ ด้าน
    • ขอบคุณคุณครูอ้อยเล็กด้วยที่ช่วยจัดตัวหนังสือซ้อนลงภาพได้สวยงามจัง
    • หวังว่าเวทีน้องใหม่นี้จะเป็นที่ขอแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ประสบการณ์กับชุมชนอื่น ๆ อย่างกัลยาณมิตรกับทุก ๆท่านแบบพี่แบบน้องต่อไป

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • ดูจากรายชื่อผู้ริเริ่มเวทีนี้แล้ว ดิฉันขอเป็นผู้เข้าร่วมเรียนรู้จากทุกท่านที่มีประสบการณ์อันโชกโชนจะดีกว่าค่ะ
    • อย่างไรขอขอบพระคุณอาจารย์วิรัตน์ และขอแสดงความยินดีกับชาวหนองบัว และเวทีสาธารณะที่ก่อเกิดในวันนี้ค่ะ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    • อาตามภาพขออนุโมทนาขอบคุณเพิ่มเติมต่อท่านผู้มีน้ำใจที่มีส่วนช่วยงาน ดังนี้
    • คุณครูวัชรี โชติรัตน์ และคุณเริงวิชญ์ นิลโคตรเป็นอย่างมาก

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

  • กราบอาราธนาพระคุณเจ้าและทุกท่านเสวนา รวบรวมข้อมูล ถ่ายทอดประสบการณ์ ชวนมอง ร่วมกันสร้างและเขียนความรู้ ไปตามอัธยาศัยครับ
  • อยากให้เป็นเวทีที่สบายๆ ทำงานความคิดและตกผลึกประสบการณ์ให้ได้ความคิดที่แยบคาย ลุ่มลึกไปตามกำลัง เรียนรู้และพัฒนาให้เติบงอกงามไปเรื่อยๆครับ
  • ข้อมูลและการเสวนาบางส่วนในหัวข้อของท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย คุณเสวก ใยอินทร์ และกลุ่มพริกเกลือ ผมได้ลิ๊งค์ไว้แล้วนะครับ ท่านที่สนใจเข้าไปได้ในลิ๊งค์ข้างล่างที่ dialogue box แรกของหัวข้อกระทู้ ในบันทึกนี้เลยครับ
  • อยากจะเชิญแลกเปลี่ยนข้อมูลและสร้างความรู้จากประสบการณ์ เน้นจากประสบการณ์และมุมมองของทุกท่านครับ เพราะจากแหล่งอื่นคงหาได้อยู่แล้ว
  • สุขภาวะของชุมชนหนองบัวที่พึงประสงค์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ควรจะเป็นอย่างไร ก่อเกิดขึ้นได้อย่างไร เราชาวบ้าน-ชาวเมือง คนหนองบัว รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ทำอะไรด้วยกันได้บ้าง เราควรจะต้องรู้และสร้างความรู้อะไรกันก่อนไหม ความรู้เรื่องราวต่างๆที่ว่าเป็นอย่างไร ?
  • เริ่มต้นตรงนี้ก่อนก็ได้ครับ แล้วค่อยช่วยกันสกัดประเด็น-หัวข้อคุย ให้สนุกขึ้นมาเรื่อยๆครับ
  • แต่นี่ก็เกริ่นนำร่องเฉยครับ คุยไปเรื่อยๆ ให้จิตใจปล่อยวาง มีความสบายและความโปร่งใจเป็นฐานไว้ก่อน จากนั้นจึงค่อยหาประเด็น สกัดขึ้นมาทีละนิด จะดีครับ สิ่งที่ตามมามันจะกลายเป็นภาคขยายและรายละเอียดที่อยู่บนฐานของความมีจิตวิญญาณที่ดี  ไม่กวัดแกว่ง ไม่ติดกรอบ และมีความวางใจรอบข้างได้สูงครับ
  • สาธุค่ะพระอาจารย์...มหาแล ขำสุข (อาสโย)

    รูปแบบการตั้งหัวข้อแล้วเขียน-สนทนา

    • รูปแบบการสนทนาและถ่ายทอดข้อมูล-ความรู้เก็บไว้ของพระคุณเจ้าเมื่อตอนต้นๆนั้น ใช้เป็นแนวคุยกันในเวทีนี้ก็เหมาะสมดีมากนะครับ
    • รูปแบบและวิธีการคือ อยากสนทนาและอยากเปิดประเด็นเขียนอะไร ก็ตั้งหัวข้อขึ้น .. เช่น สุขภาวะของชุมชนอยู่ที่เศรษฐกิจพอเพียงของครัวเรือน / การศึกษาเพื่อคนขาดโอกาสของหนองบัว / สื่อและวิทยุชุมชนเพื่อเรียนรู้พัฒนาสุขภาวะหนองบัว / การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ชุมชนของหนองบัวโดยชาวบ้าน ฯลฯ
    • จากนั้นก็สร้างเนื้อหา ทั้งจากถ่ายทอดคำบอกเล่าของคนท้องถิ่น เรียบเรียงจากเอกสารและหลักฐานเท่าที่เข้าถึงได้ เขียนจากประสบการณ์ ความทรงจำ และคิด-ให้ทรรศนะออกจากตนเอง
    • อีกรูปแบบหนึ่งคือสนทนาสื่อสารและตอบโต้ ถาม-ตอบ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความรู้ต่อเติมข้อมูลกันและกัน
    • อีกรูปแบบหนึ่งคือ วาดรูป ถ่ายรูป แล้วเอารูปภาพหรือสิ่งของที่มีในท้องถิ่นมาแสดง แล้วก็คุยให้ข้อมูลหรือสร้างความรู้ ถ่ายทอดไปตามเรื่องที่เกี่ยกับภาพและสิ่งนั้นๆ
    • อีกรูปแบบคือ ดึงประเด็นของท่านอื่นออกมาแลกเปลี่ยนและเติมประเด็นด้วยทรรศนะและข้อมูลที่เรามี

    รูปดอกบัวฉัตรขาวรูปนี้ของคณครูอ้อยดูอย่างไรก็สวยงามมากนะครับ ได้บรรยากาศของคนหนองบัวเลย เมื่อก่อนนี้ในสระวัดหนองกลับมีบัวหลวงและไหลบัวอยู่มากมายครับ พอน้ำแห้งขอด ชาวบ้านก็จะลงไปขุดก้นบ่อทำน้ำบ่อทราย และขุดราก-เหง้าบัว มาทำอาหาร-ขนม-ยาสมุนไพร

    • อ่ะ แฮ่ม ... ก่อนเริ่มสนทนา ดื่มน้ำชา กาแฟก่อนนะค่ะ
    • แล้วแต่ถนัดค่ะ ต้องการน้ำชา กาแฟรสชาติแบบใด แก้วลักษณะไหน หรือจะถือมาเอง มานั่งร่วมวงสนทนากันก็ได้ค่ะ
    • เชิญ ค่ะเชิญ (ทำตัวเหมือนเจ้าของบ้านเลยแหะ) ^^
    • ((กำลังดื่มกาแฟหลวงพ่อซอน)) ^^"

     

    สวัสดีครับ ยินดีด้วยนะครับสำหรับ รางวัล Best Blog Of the month

    ขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ สงสัยกำลังสะสมแนวทำร้านกาแฟของตัวเองด้วยหรือเปล่าครับเนี่ย

    ขอบคุณครับ อาจารย์ ดร.รุจโรจน์ อาจารย์และคณะสบายดีนะครับ

    ความจริงหนองบัวนครสวรรค์ไม่ไกล จากพิษณุโลกเท่าไหร่ ทำอย่างไร คนวัดโบสถ์จะได้ไปเรียนรู้ด้วยครับ

    ชอบอ่านบันทึกของอาจารย์ทุกสำนวนคะ

    ประเทืองปัญญาและได้นิยามศัพท์ใหม่ๆในคลังสมองคะ

    • สวัสดีครับอาจารย์ ดร.รุจโรจน์ แก้วอุไร
    • ยิ่งออกจากหนองบัวแล้วก็ไปพิษณุโลกถิ่นอาจารย์นั้น ยิ่งใกล้มากครับ สภาพสังคมและสภาพแวดล้อมต่างๆของท้องถิ่นหลายอย่างก็ใกล้เคียงกันมากนะครับผมว่า คนทำงานในหนองบัวและนครสวรรค์เป็นจำนวนมากก็ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเนรศวรนั่นแหละครับ อันที่จริง การพัฒนาด้านการศึกษา การวิจัย และสถาบันการศึกษาในขั้นสูงแถวๆภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนนั้น ในบางด้าน มหาวิทยาลัยเนรศวรกับมหาวิทยาลัยมหิดล ควรได้มีโอกาสพัฒนาความร่วมมือแล้วก็ทำสิ่งต่างๆที่สนองตอบต่อการพัฒนาในภูมิภาค แต่นอกจากไม่ควรแข่งและทับซ้อนกันเองแล้ว ก็จะต้องส่งเสริมเกื้อหนุนกันอีกด้วย
    • งั้นเริ่มเล็กๆตรงไหนก็ได้ที่เราเรียนรู้ไปด้วยกันได้เลยนะครับ ว่าแล้วก็ขอเชิญอาจารย์ร่วมช่วยเป็นที่ปรึกษาและเครือข่ายเรียนรู้กับชุมชนในนี้เลยนะครับ คงไม่เป็นภาระมากหรอกครับ ทำกันไปตามความสะดวก และเป็นฐานให้คนในพื้นที่ยืนเองอย่างมั่นใจเสียมากกว่า 
    • สวัสดีครับคุณแอน
    • ขอบคุณครับที่แวะมาเยือน อ่าน และร่วมสะท้อนทรรศนะเสริมกำลังใจกันครับผม
    • ผมเวลาอ่านงานวิชาการ ก็ชอบอ่านวิธีนิยามต่างๆเหมือนกันครับ พออ่านบ่อยๆ เวลาอ่านตำราและหนังสือเล่ม ก็ทำให้ชอบอ่านจากด้านหลังที่เป็น Index แล้วก็ใช้เป็นคำหลักค้นคว้าเข้าไปในเนื้อหาของเล่ม แตกออกไปค้นคว้าในเล่มอื่นๆที่เป็น Theme เดียวกัน ก็สนุกและได้เรื่องราวที่หมดจรดมากกว่าอ่านไปตามปรกติจากสารบัญเนื้อหาครับ
    • พอถึงระดับหนึ่ง เราจะรู้ว่าอ่านเพื่อเข้าใจไม่พอ เราต้องอ่านเพื่อสร้างความคิดและสร้างความรู้ใหม่ๆไปด้วย ในมุมกลับก็หมายความว่า ทำให้ต้องตระหนักอยู่เสมอว่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด ความรู้และคำตอบแบบเบ็ดเสร็จครอบจักรวาลไปหมดในทุกกรณีนั้น ยังไม่มี ดังนั้น เราก็ต้องสนใจไปที่นิยามและแนวคิด เพื่อตกลงกันสำหรับปฏิบัติและทำความเข้าใจภายใต้บริบทและเงื่อนไขจำเพาะหนึ่งๆ แล้วก็ให้ผู้อื่นเขาสร้างความรู้และตกผลึกได้สัมมาทรรศนะของเขาเอง พ้นกรอบและค้นพบไปด้วยตัวเขาเอง

    ประชาสัมพันธ์ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัวและชาวหนองบัวครับ

    งานแสดงกตเวทิตาและมุฑิตาจิต เกษียณก่อนกำหนด คุณครูโสภณ สารธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัว

    • ๒๘ กันยายน ๒๕๕๒ โรงเรียนหนองบัว กรรมการศึกษา คณะครูอาจารย์และศิษย์เก่า จัดงานให้คุณครูที่โรงเรียน
    • ๒๙ กันยายน ๒๕๕๒ ทางอำเภอหนองบัว สมาคมครู กรรมการศึกษาของอำเภอ จัดงานให้พร้อมกันของผู้เกษียณอายุราชการในปี ๒๕๕๒ ที่อำเภอหนองบัว
    • ขอบอกกล่าวและเชิญศิษย์เก่า หาโอกาสไปร่วมงานได้ตามอัธยาศัยครับ

    ผ้าป่าการศึกษาและงาน ๔๙ ปีสู่ ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองบัว

    • ๖ ธันวาคม ๒๕๕๒ โรงเรียนหนองบัว เครือข่ายศิษย์เก่า กรรมการศึกษา และชาวหนองบัว จะจัดผ้าป่าการศึกษาเพื่อสร้างโรงอาหารให้โรงเรียนและลูกหลานคนหนองบัว พร้อมกับเริ่มต้นศักราชกึ่งศตวรรษของโรงเรียนหนองบัว ๔๙ ปีสู่ ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองบัว
    • ขอเชิญศิษย์เก่าและคนหนองบัวมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาการศึกษาของคนหนองบัว ลูกหลานคนหนองบัว และเด็ก-เยาวชนในท้องถิ่นโดยรอบครับ

    รวมพลังขับเคลื่อน คนหนองบัวมีความกลมเกลียวดีแท้ เยี่ยมครับ

    เริงวิชญ์ นิลโคตร

    ขอบพระคุณครับ ต้องน้อมคารวะด้วยความยินดียิ่งที่เอื้อเฟื้อผู้น้อยให้ร่วมเป็นเครือข่าย "เวทีพลเมือง" มีโอกาสเข้ามาอ่านบล็อคอาจารย์ และเครือข่ายเป็นระยะๆ ตามวาระ และโอกาสอันพึงมีและอำนวยให้ ชื่นชม และประทับใจหลายๆ ท่าน อาทิ พระคุณเจ้าพระอาจารย์อาสโยภิกขุ (พระมหาแล) ว่าที่ Ph.D จตุพร แห่งสำนักประชากรศาสตร์ อาจารย์ณัฐพัชร์ .... บทสนทนาระหว่างอาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจั้นทร์ พระคุณเจ้า และเครือข่ายหลายๆ ท่าน ที่ปรากฎผ่านออกมาทางบล็อค ลุ่มลึก และลึกซึ้ง ประเทืองปัญญาให้แก่ผู้อ่านโดยแท้

    • สวัสดีครับคุณภูเขา
    • เป็นการทดลองทำเพื่อเรียนรู้ไปด้วยกันน่ะครับ
    • คุณเริงวิชญ์นี่ก็เป็นคนทำวิจัยแนวชุมชนแล้วก็เป็นลูกหลานคนชนบทเหมือนคนหนองบัวอีกหลายท่านครับ
    • ผมเคยเชิญให้ไปยืนพูด-นั่งพูด ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ชาวบ้านและลูกหลานคนชุมชนบ้านตาลินฟัง คนเฒ่าคนแก่ชอบใจไม่อยากให้เลิกเลยทีเดียว
    • แวะมาคุยและแบ่งปันประสบการณ์กับคนหนองบัวบ้างเป็นระยะๆนะครับ

    เพิ่งเห็นแบบนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต

    มีโอกาสเข้ามาอ่านเจตนารมย์ของการสร้างสังคมเพื่อสุขภาวะ

    และการศึกษาเพื่อคนขาดโอกาส

    รู้สึกทึ่งมากค่ะ

    ขอติดตามเรียนรู้ไปด้วยคนนะคะ

    เผื่อมีโอกาสร่วมกิจกรรมค่ะ

    • เรียนเชิญคุณครู krutoi ในเวทีนี้ด้วยทุกเมื่อเลยครับ
    • คนทำงานทางด้านการศึกษาของท้องถิ่นที่หนองบัว และชาวบ้านคนหนองบัว คงดีใจและมีกำลังใจมากมายหากkrutoi มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์หรือทักทายพอเป็นกำลังใจกัน

    การทำลานด้วยมูลสัตว์ : เทคโนโลยีและภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อการผลิต 

    • วิถีของชุมชนการผลิตและการทำมาหากิน โดยเฉพาะการทำนาทำไร่ ที่ทำให้พอเพียงแก่การพึ่งตนเองในการมี ปัจจัย ๔ สำหรับดำเนินชีวิต พร้อมกับมีส่วนร่วมต่อการสร้างสุขสาธารณะของชุมชน และกลมกลืนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นทั้งชีวิตจิตใจคนส่วนใหญ่ของคนหนองบัว จึงน่าจะเป็นองค์ประกอบแห่งสุขภาวะที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง
    • การทำมาหากิน ได้กินดี อยู่ดี มีความสุขพอเพียงแก่อัตภาพทั้งกายใจ ทั้งต่อตนเอง คนรอบข้าง และความเป็นสาธารณะที่ตนเองผูกพัน เป็นโอกาสที่นำไปสู่อีกหลายอย่างเพื่อการพัฒนาสุขภาวะของส่วนรวมที่เข้มแข็งและยั่งยืน ผู้คนจะสามารถพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของลูกหลายและตนเอง พัฒนาสุขภาพ สร้างสรรค์สิ่งส่วนรวม มีความโปร่งโล่งใจในชีวิตที่จะทำงานสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมบำรุงจิตวิญญาณของสังคม เหล่านี้เป็นต้น
    • ในระยะที่ผ่านมา การทำมาหากิน เป็นเหตุผลที่ใช้คิดตัวบ่งชี้การพันฒาและออกแบบแนวทางการพัฒนาขึ้นมาหลายอย่าง เช่น แนวการพัฒนาความจำเป็นพื้นฐานและการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งผสมผสานการพัฒนาหลยด้านอย่างบูรณาการ ทั้งทางด้านเกษตรกรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำมาหากินโดยตรง การศึกษาซึ่งเป็นการสร้างทุนมนุษย์  สุขภาพ กับงานบริหารจัดการชุมชนระดับต่างๆของมหาดไทย แต่ก็ยังไม่เพียงพอและหลายอย่างควรต้องทำให้มากยิ่งๆขึ้นตลอดไป โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมและการลุกขึ้นริเริ่มด้วยตนเองของชุมชน โดยมีการเรียนรู้ สะสมภูมิปัญญในการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม และแก้ปัญหาต่างๆให้บรรลุความจำเป็นที่ตนเองต้องการ พร้อมกับสร้างความเจริญก้าวหน้าอย่างที่พึงประสงค์ของชุมชน
    • แต่การผลิตและการทำมาหากินในระยะที่ผ่านมาของสังคม ได้มีการเรียนรู้กันอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศว่า ต้องมีการพัฒนาโอกาสและทางเลือกใหม่ๆไปด้วย เพราะหลายอย่างกำลังบั่นทอนถิ่นฐานและความเข้มแข็งของตนเอง ทำนาทำไร่ได้ผลน้อยลง ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทรุดโทรมหมดสภาพ และเกิดความยากแค้นสารพัด การเดินตามแนวทางที่ทำตามกันอย่างเข้มข้นจะไม่ทัดเทียมกับความซับซ้อนที่เป็นจริงของสังคมและสภาพแวดล้อม
    • แต่การมองไปยังอนาคตให้เห็นตนเอง และเห็นโอกาสกับทางเลือกในการพัฒนา ที่พอได้มีสุขภาวะอย่างที่ชุมชนในชนบทโดยมากมีอยู่เป็นทุนเดิม พร้อมกับสืบทอดฐานรากของสังคมและเดินออกจากสิ่งที่ตนเองจะสามารถพึ่งตนเองได้ดีในระยะยาม สามารถผสมผสานวิทยาการและสิ่งใหม่ๆของโลกภายนอกได้อย่างเหมาะสม เหล่านี้ คนท้องถิ่นและชุมชน โดยเฉพาะภาคประชาชน ควรพัฒนาการเรียนรู้ตนเอง ด้วยตนเอง ให้มีองค์ความรู้ท้องถิ่นและได้ความลุ่มลึกทางภูมิปัญญา เกิดความเชื่อมัม่นในตนเองเพื่อการคิดแก้ปัญหา สามารถประสานความร่วมมือและระดมพลังการมีส่วนร่วมของผู้คนได้ ความรู้และการเห็นด้านที่เป็นทุนทางสังคมของตนเอง ก็จะทำให้มีฐานยืนเพื่อสนองตอบต่อความจำเป็นต่างๆได้ดีขึ้น
    • การเป็นนักวิจัยแบบชาวบ้าน สร้างความรู้และบันทึกความรู้จากประสบการณ์ชีวิตไว้มากๆอย่างเป็นเรื่องปรกติ พร้อมกับทำให้การคุยและสร้างสังคม มีความหมายต่อการเรียนรู้ทางสังคม และมีนัยยะต่อการคิดถึงส่วนรวมเพื่อทำสิ่งต่างๆให้สังคมด้วยมือเราเองเล็กๆน้อยๆ จึงเป็นหนึ่งในการก้าวเดินให้สามารถยกระดับไปสู่สิ่งที่กล่าวมาในข้างต้นได้ในสักวันหนึ่ง
    • ผมเลยนำเอาตัวอย่างของการเขียนความรู้และบันทึกเรื่อง การทำลานด้วยมูลสัตว์ของชาวบ้านและวิถีชีวิตชุมชน ซึ่งเขียนและเผยแพร่โดย คุณเสวก ใยอินทร์ กลุ่มพริกเกลือ ซึ่งเป็นคนหนองบัวและเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว ในบล๊อกกลุ่มพริกเกลือมาฝากเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นแรงบันดาลใจครับ คุณเสวกตอนนี้ทราบว่าไปตั้งหลักแหล่งอยู่เก้าเลี้ยวครับ
    • การทำลานและใช้มูลสัตว์(ขี้ควาย) ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ชุมชนสามารถพึ่งตนเองทั้งภูมิปัญญาและทรัพยากรที่ตนเองมีอยู่ ที่สำคัญกว่านั้น เป็นวิธีการที่กลมกลืนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างที่สุด เมื่อทำและใช้เพื่อกระบวนการผลิตในปีหนึ่งๆเสร็จ ก็สลายสู่ความเป็นธรรมชาติ
    • เราไม่ต้องกลับไปเป็นอย่างนั้นครับ แต่การนำมาเรียนรู้และทบทวน หาองค์ประกอบต่างๆภายใต้กระบวนการผลิตอย่างนั้นของชุมชน ให้มากมาย เราก็จะสามารถคิดและพัฒนาตนเองได้ดีกว่าเดิม
    • ลองแวะไปดูวิธีวาดและบันทึกความรู้เกี่ยวกับวิถีผลิตของชุมชนของคุณเสวกดูครับ สนุก ได้ข้อมูลและรายละเอียด รวมทั้งเห็นชีวิตจิตใจของชาวบ้านที่คนภายนอกอาจมองผ่าน เช่น การทำกังหันติดบนยอดไม้เพื่อให้ความเพลิดเพลิน ได้ยินเสียงดนตรีธรรมชาติ วัดทางลมและแรงลมเพื่อฝัดข้าวหรือทำงานเกษตรต่างๆ
    • การเรียนรู้และสร้างความรู้ เป็นมรรควิถี ที่จะนำไปสู่การสร้างสุขภาวะของชุมชนได้ครับ เฉพาะหน้าเลย คนทำก็มีความสุขและก่อเกิดสุขภาวะ อิ่มปีติจากภายใน ไม่เชื่อไปดูงานของคุณเสวกที่กลุ่มพริกกับเกลือครับ(คุณเสวกจะกรุณาเอารูปมาโพสต์ใส่ไว้ในนี้ด้วยก็จะเก็บรวบรวมไว้ดีขึ้นอีกแหล่งหนึ่งครับ ผมพยายามทำแล้ว แต่ทำไม่เป็น)
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    • รู้สึกดีใจภูมิใจและก็ปลื้มใจมากที่เวทีน้องใหม่นี้มีท่านผู้รู้ผู้ทำงานชุมชนเข้ามาเยี่ยมชนให้กำลังใจชาวหนองบัว คนหนองบัวคงจะต้องขออาศัยศึกษาเรียนรู้กับท่านเหล่านั้นไปด้วยความเต็มใจ
    • จะยินดีอย่างยิ่งถ้าท่านผู้รู้ทั้งหลายจะเมตตาถ่ายทอดความรู้ความคิดแนวทางปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่คนหนองบัว ชาวหนองบัวพร้อมที่จะเป็นผู้ศึกษาเรียนรู้ร่วมกันไปด้วยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์แห่งชีวิตจริงสู่การมีสุขภาวะที่ดีอย่างมีความสุขอย่างมั่นคงยั่นยืนต่อไป
    • ดอกบัวคุณครูอ้อยเล็กมองดูแล้วก็งดงามชื่นตาสุขใจ
    • เห็นถ้วยกาแฟของอาจารย์ณัฐพัชร์แล้วนึกอยากจะขออนุญาตมาไว้ใช้ที่กุฏิสักชุดจริง ๆ เลย
    • เห็นคำเชิญชวนของโยมอาจาย์วิรัตน์ให้อาตมาซึ่งเป็นผู้ทั้งขาดโอกาส และด้วยโอกาสมาช่วยขับเคลื่อนองคาพยพชุมชนหนองบัว สู่เวทีแห่งโลกภายนอกแล้ว ก็ยังนึกไม่ออกว่าจะช่วยอย่างไร เพราะอะไรจึงว่าอย่างนั้นละ ก็เพราะว่าชีวิตนี้ทั้งชีวิตขับเป็นอยู่อย่างเดียวแค่นั้นจริง ๆ คือการขับเกวียนอย่างอื่นขับไม่เป็นหรอก ถ้าขับเคลื่อนด้วยเกวียนนี่อาตามถนัดพอสมควรเลยแหละ
    • ถึงอย่างไรเสียก็จะลองขับเกวียนให้เคลื่อนไปอย่างมีพลังแบบคนเคยมีเกวียนนั่นแหละ ช้าแต่ชัวร์ คล้าย ๆ จักรยานคนจนของพี่แอ๊ว-ยอดรัก สลักใจ ประมาณนั้นเลย
    • ถ้าใครยังไม่เคยก็ลองดูได้ การขับเกวียน มือใหม่หัดขับเกวียนว่างั้นเถอะ
    • ไม่ยากหรอกแค่กระดิกซ้าย กระดิกขวา วัวควายก็พาเกวียนไปฉลุย
    • ไม่แน่นะเดี่ยวจะไหว้วานอาจารย์วิรัตน์หรือลูกศิษย์คนใหม่ของท่านก็ได้ คุณเสวก ใยอินทร์ ขณะนี้กำลังฝึกวาดภาพอย่างตั้งใจมาก ๆ สักวันสองวันนี้คงได้มีผลงานปรากฏออกสู่สายตาท่านผู้ชมแน่นอน.

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • การขี่เกวียน และขับเกวียนบรรทุกข้าว อย่างพระคุณเจ้าออกตัวนั้น อาจจะดูเหมือนเรื่องง่าย แต่ไม่ง่ายนะครับ ต้องเรียนรู้ มีฝีมือ มีความรู้หลายอย่างที่อยู่เบื้องหลังการทำได้มากเลยที่เดียว อย่างตอนนี้ให้ผมกองฟ่อนข้าว กับไปทอดแห ก็ทำไม่ได้แล้วครับ ถึงได้รู้ว่าเมื่อก่อนที่ทำได้นั้น มันเป็นเรื่องยากและต้องเรียนรู้มากจริงๆ

     

                          

     

    • อย่างที่เห็นในภาพนี้ การวางฟ่อนข้าวหรือมัดข้าวบรรทุกเกวียน  บรรทุกครั้งหนึ่งก็ ๕๐-๖๐ มัด สูงพอๆกับรถบรรทุก แต่เป็นศิลปะของการวางฟ่อนข้าวที่ไม่ใช้เชือกและสิ่งยิดโยงอย่างใดเลย
    • เรือนเกวียนก็สูงเพียงแค่ศอก กองมัดข้าวมากมายขนาดสูงเกินสองเท่าของคนและเกวียน อยู่ได้เพราะวิธีวางเรียงกันอย่างรู้จังหวะของการยึดตัวเองของฟ่อนข้าวจริงๆ หากใครไม่ฝึกก็มีหวังหล่นกระจุยกระจาย ทั้ังจะเสียหายและไม่มีทางขับขี่เกวียนบรรทุกข้าวได้

     

                             

     

    • การสีข้าวและตำข้าวครกกระเดื่องโดยเครื่องมือและวิธีการของชาวบ้าน ก็ต้องใช้ภูมิปัญญามากครับ แล้วก็เป็นศิลปะอย่างยิ่งสำหรับอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ ทุกอย่างคืนสู่ธรรมชาติได้หมดเลย
    • เรียกว่ามีความรู้และมีวิชาเพื่อแก้ปัญหาได้ในเงื่อนไขที่แตกต่างกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันก็ย่อมเสริมพลังให้ชุมชนเข้มแข็งทางปัญญาได้ครับ ความรู้ของท้องถิ่นและประสบการณ์ของชาวบ้านส่วนใหญ่จะใช้แก้ปัญหาได้และสะท้อนความเป็นเหตุเป็นผลกับวิถีชีวิตและปัจจัยแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนครับ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

                               ยกหัวคันนา

    • คนหนองบัวส่วนมากทำนาทำไร่ ที่ดินทำนาส่วนใหญ่จะเป็นดินทราย ดินทรายกับเก็บน้ำไว้ได้ไม่นาน นาข้าวที่เป็นดินทรายก็จะไม่งาม ผลผลิตก็ได้น้อยกว่าดินเหนียวเยอะ
    • แต่นาดินทรายก็ทำง่ายไม่เปรอะเปื้อนล้างยากเหมือนดินเหนียว การทำง่ายนี่เอง ทำให้มีวิธีทำยกหัวคันนาขึ้นมา ทำให้คันนามีความสวยงาม การยกหัวคันนาเป็นการทำให้นาดูดีเรียบร้อยสวยงาม บางเจ้าทำหัวคันตรงมาก ๆ ดูแล้วน่าเดินจริง ๆ
    • วิธีขุดดินแล้วเหวี่ยงจอบให้ดินไปโป๊ะเรียงกันซ้อนกันเป็นชั้น ๆ แน่นไม่รื่นไหลลงมา การโยนให้จังหวะจอบต้องแม่นแน่นอนมั่นคง มีผ่อนจังหวะ มีการโยนตัวของจอบอย่างพริ้วไหว คนยกหัวคันเป็นทำเป็นวันก็ไม่เหนื่อย แต่ถ้าทำไม่เป็นแค่ขุดจอบพักเดียวก็หอบลิ้นห้อยได้ง่าย ๆ
    • คนหนองบัวยกหัวคันนาสวยมาก คนรุ่นนั้นใครยกหัวคันนาสวยจะมีชื่อเสียงกันไปหลายหมู่บ้านเลยหนา เป็นที่ร่ำรือกล่าวขานถึงอย่างชื่นชม ถ้ามีลูกสาวด้วยแล้ว เจ้าหนุ่มคนไหนจะมาเป็นลูกเขยเจ้านี้ได้ต้องศึกษากันไม่น้อยต้องฝึกการยกหัวคันนาให้เชี่ยวชาญชำนาญฝีมือ
    • เท่าที่สังเกตเห็นคนหนองบัวจะเป็นละเอียดถี่ถ้วน จอบแต่ละบ้านบ่งบอกถึงความเป็นคนพิถีพิถันด้านฝีมือ คือดูกันที่ด้ามจอบบางคนทำสวยจริง ๆ จับได้เหมาะมือไม่หนักเทอะทะ ฟันหรือขุด จะช่วยให้มีพลังขุดติดดี เรียกว่าจอบขุดกินดินดี บางทีของตัวเองไม่ได้ดั่งใจเหมือนผู้อื่น ก็สามารถหยิบยืมมาใช้ได้ จอบขุดดีนั้นขุดกันจนจอบเหี้ยนแล้วเหี้ยนอีก
    • โยมลุงอาตมาทำจอบสวยขยันยกหัวคันนาและทำได้สวยอย่างมาก นาใครมีหัวคันสวยคนเลี้ยงควายก็เกรง ๆ เหมือกัน เพราะเจ้าของนาอาจะจะมีโมโหได้เลยแหละ เมื่อควายไปขวิดหัวคันเขาพังจึงต้องระวัง
    • ผู้เขียนก็ชอบยกหัวคันนาเหมือนกันเพราะขุดดินทรายนั้นขุดง่ายบางครั้งยกหัวคันนาจนเกือบค่ำค่อยขี่ควายเจ้าแบ้เพื่อนรักกลับบ้านสบายใจเฉิบ(อย่าว่าทรมานสัตว์นะ).

     

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • อ่านแล้วสนุกดีและได้ความรู้มากเลยครับ เป็นประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกันในรายละเอียดมากครับ ถึงแม้ผมจะเป็นลูกหลานคนหนองบัวเหมือนกัน แต่แถวบ้านผมนั้นเป็นดินเหนียว
    • พวกจอบ มีด และอุปกรณ์แถวบ้านผมนั้น หากใครเอาไปใช้แถวหนองบัวแล้วละก็เคืองกันตายเลยเพราะเจอดินทรายแล้วมันจะทื่อไปหมด ต้องเปลี่ยนเป็นชุดอื่น เวลาไปทำไร่แถวหนองบัวก็ต้องมีเครื่องมืออีกชุด
    • แต่การแทงพลั่วและโยนจอบจอบนั้น ทำได้เหมือนกันครับแต่แถวบ้านที่อยู่ในแหล่งดินเหนียวจะเก่งกว่า อันนี้แน่ใจครับเพราะผมเคยขุดดินและโยนจอบแถวหนองคอก มันง่ายกว่าแถวบ้านผมสัก ๑๐ เท่าครับ

     

                            

     

    • บางเรื่องที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ คือการยืนตกเบ็ดและล่อปลาด้วยคันเบ็ดยาวๆ ซึ่งคนหนองบัวยืนทำอย่างนั้นได้เป็นวันๆ แต่เวลาทำดูแล้วก็ทำไม่ได้อย่างคนหนองบัวที่อยู่ในตัวเมืองดั้งเดิม

     

                            

                             

    • อย่างการทำคันนานั้น นอกจากใช้ทักษะและความรู้เพื่อการปฏิบัติมากแล้ว ต้องเป็นคนเรียนรู้ผืนดินของตนเองมากครับ หากไปชนบทและสังเกตให้ดี  จะเห็นว่า คันนาตามท้องนานั้นไม่ได้เหมือนกันไปหมดทุกลูก มีคันนาใหญ่ คันนาซอยเล็ก และบางครั้งเป็นแนวตรงยาว บางครั้งเป็นแปลงเล็กแปลงน้อย บางครั้งมีคันยกสูงขวางแนวตะวันออก บางครั้งเป็นแนวยกสูงล่องลงใต้ เพื่อให้เหมาะกับทางน้ำจะเพาะที่ตรงนั้นกับระดับสูงต่ำไม่เท่ากันของที่ดิน
    • ทั้งหมดนี้ออกแบบเพื่อบริหารจัดการน้ำหลากและน้ำหน้าดิน เป็นลักษณะเฉพาะของเมืองร้อนชื้นอย่างประเทศไทยซึ่งจะมีน้ำในหน้าฝนและสะสมเป็นฤดูน้ำหลาก ความรู้ธรรมชาติในถิ่นฐานของตนเอง รู้จักลักษณะของที่ดินกับการวางแผนใช้น้ำในพื้นที่ตนเองเพื่อการเพาะปลูก เป็นศาสตร์ทำคันนาและแบ่งแปลงนาของชาวนาครับ
    • ต้องเรียนรู้เยอะ แต่ชาวนาและชาวบ้านมักพูดถ่ายทอดความรู้และสกัดความรู้อย่างนี้ออกมาไม่ได้ นอกจากต้องอยู่ด้วยกันเป็นชุมชนแล้วก็เรียนรู้เอาจากการดำเนินชีวิตและการลงมือทำให้ได้ประสบการณ์ตรง
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    สอก : ทางเกวียนสัญจรไปนา

    • ชุมชนหนองบัว นครสวรรค์ บริเวณชุมชนหนองบัว หนองกลับเป็นที่เนิน,โนน โคกดินทราย
    • ทุกหมู่บ้านในชุมชนดังกล่าวมีทางสำหรับสัญจรไปนาไร่ หรือเดินทางไปหมู่บ้านใกล้เคียง
    • ทางดังกล่าวนั้นมีลักษณะเป็นร่องทางน้ำไหลเมื่อฝนตกเป็นที่ระบายน้ำออกสู่ทุ่งนาไปลงครองเรือ ความกว้างของทางก็ประมาณถนนปัจจุบัน ทางที่เป็นสอกนี้มีทั้งในหมู่บ้านและทางไปนาไปไร่ของชาวบ้าน
    • ถ้าสอกอยู่ในหมู่บ้านหน้าน้ำหน้าฝนจะมีน้ำไหลตลอดฤดู น้ำก็สะอาดเพราะเป็นดินทรายมองเห็นปลากระซิว(ปลาซิว) เด็ก ๆ จะชอบนอนเล่นทางน้ำไหล โดยนอนเอาตัวขวางทางน้ำปิดทางน้ำไว้ หรือไม่ก็กอบดินทรายกุยดินทรายให้เป็นคันนากั้นน้ำพอน้ำไหลมาจนจะล้นก็จะคอยลุ้นว่า เขื่อนทรายน้อยจะต้านน้ำไหวไหม
    • ส่วนใหญ่กั้นไม่อยู่หรอก เพราะดินทรายเมื่อน้ำล้นมีทางให้น้ำไหลสักช่องเดียวคราวนี้แหละได้เฮ ทำนบน้อย กะบังน้อยพังไม่เป็นท่าสนุกดีทำเขื่อนทรายน้อนเนี่ย
    • สอกไปนาบางแห่งจะมีทรายเยอะจริง ๆ ควายเดินเหยียบเล็บกีบเท้าควาย-วัวจมดินเลย เดินตัวเปล่าไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าลากเกวียนไปด้วยละก็หนักมาก
    •  แค่เกวียนเปล่ามีแค่ครอบครัวเดียวนั่งอยู่ก็ลากกันตัวโก่งทีเดียว
    • ยิ่งขนหรือเข็นข้าวฟ่อนเต็มตู้เกวียนเหมือนเกวียนอาจารย์วิรัตน์ด้วยแล้ว สงสารวัว-ควายเลยนะ ต้องลากอย่างใช้กำลังสุด ๆ งอแงขึ้นมาก็จะโดนไม้ตะพดของโชว์เฟอร์ที่ขับเกวียนเข้าให้หลังลายเป็นปื้น
    • สอกไปนานี้เจ้าของนาต้องมีรั้วล้อมกันวัวควายกินด้วย ถ้าไม่ล้อมรั้วกันไว้ มีสิทธิ์โดนลูกแอน้อยบ้าง วัวบ้างควายบ้างเอื้อมไปกินได้สบาย
    • ฉะนั้นต้องมีหลักกระทู้ปักที่หัวคันนาระยะห่างประมาณสองเมตรกว่า แล้วมัดด้วยไม้ไผ่บ้าง ไม้ลวกบ้าง มัดเป็นสามแถวสี่แถวกันวัวควายกินข้าว
    • รั้วล้อมตามสอกนี้เป็นเช่นอย่างอื่นคือ บางเจ้าจักตอกสวยมัดก็สวยเรียบร้อยตรงดิ่งงามตา ไม้ไผ่ส่วนมากต้องมีหนามติดมาด้วยจึงจะดีเพราะกันวัวควายได้ดีชะงัด เอื้อมปากไปก็เจอหนามทิ่มก็ต้องถอยดีกว่า
    • หลักกระทู้ถ้าเป็นไม้มีแก่น เช่น ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้ประดู่ละก็จะทนใช้งานได้หลายปีทีเดียว พอเกี่ยวข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้วก็รื้อรั้วไปเก็บไว้ที่บ้าน พอถึงหน้าฝนก็นำไปล้อมรั้วใหม่อีกครั้ง
    • จากสอก ที่ควายเดิน เกวียนเดินสัญจรไปนา ก็มาเป็นถนนแทนไปนาแป๊บเดียวก็ถึง เหมือนการบินไทย แต่ถ้าเกวียนต้องตื่นแต่เช้าก่อนไก่โห่ ไปถึงนาก็ตะวันโผล่ขึ้นแดง ๆ
    • น้ำในทุ่งนากินได้อย่างเอร็ดอร่อยชื่นใจอย่าบอกใครเชียว.

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    หลุมละโลก :  ดินพรุในผืนนาสร้างใหม่

    • คนทำนาดินเหนียวอย่างแถวบ้านตาลิน ไม่มีแน่นอนเพราะเคยทำนาแถวห้วยน้อยก็ดินเหนียวเหมือนกัน
    • นาดินทรายไถง่ายดินจะร่วนทรุยจับตัวแบบหลวม ๆ ถ้าดินมับก็ไถยากนิดหนึ่ง
    • การทำนาดำก็ต้องไถตอนมีน้ำ นาที่เคยไถทุกปีเป็นประจำก็จะไถไม่ยากอะไร ขี้หญ้าก็ไม่มากมาย ไม่หนาแน่นเท่าไร ยกเว้นหญ้าแพรกที่นักเรียนนำดอกมาไหว้ครูนั่นแหละแน่นตึบขุดก็ยากไถก็ยากรากยึดดินไว้อย่างมั่นคงเชียว
    • ทุ่งนาแถวหนองบัวหนองกลับบางที่มีลักษณะเป็นเนินป่าละเมาะหรือชาวเรียกว่าโนน ส่วนใหญ่จะเป็นที่สูงทำนาไม่ค่อยได้กินถ้าทำไว้มักขาดน้ำหรือแห้งตายก่อน ไม่เหมือนพื้นนาในที่ราบหรือมาบลุ่ม
    • แต่มีบางปีที่น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ดีบนที่โนนที่ไม่เคยได้ทำก็ต้องลองทำดูบ้าง พื้นที่แบบนี้มักจะมีปุ๋ยตามธรรมชาติเยอะ ถ้าปลูกข้าวได้ละก็จะงดงามรวงโตเชียวแหละ
    • แต่ตอนไถนี่แหละพี่น้องเอ่ยด้วยความเป็นดินใหม่ไม่ได้ไถมาก่อนหรืออาจทำเป็นบางปีเว้นบ้างอะไรบ้าง เมื่อไปไถตอนมีน้ำก็จะเจอดินเป็นหลุมเป็นพรุโดยทั่วไป คนในบ้านเรียกหลุมชนิดนี้ว่า หลุมละโลก
    • เมื่อเจอแบบนี้ทั้งคนทั้งควายทั้งไถเอนเอียงกะเท่เร่บางทีคนก็หงายหลังได้ฮากันตรึมเลยนะ เรียกว่า ตกหลุมละโลก
    • ไถรอบตัวต่อไปควายมักจะขยาดหลุมละโลก ไล่ก็ไม่ค่อยไปเดินหน้ามั่ง ถอยหลังมั่ง เลี้ยวไปทางอื่นมั่ง
    • งานนี้พอจะได้ยินเสียงเจ้าของนาดังขรม เป็นเสียงไล่ควายที่อาจารย์วิรัตน์จำได้จนทุกวันนี้เป็นเสียงคราสสิคจริง ๆ ห้ามเลียนแบบ เลียนแบบก็ไม่เกิดอันตรายอะไรหรอก แต่คนเลียนแบบนั่นเองจะอดกลั้วหัวเราะตัวเองไม่ได้ มันก็ขำนะซิ.

     

     

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • ทั้งสอกและพรุนั้น การทำนาในพื้นที่ที่มีดินเป็นดินเหนียวจะไม่มีเหมือนแหล่งที่เป็นดินทรายหรอกครับ
    • เหตุผลก็จะชัดเจนจากเกร็ดความรู้ที่พระคุณเจ้าบันทึกจากประสบการณ์นั่ยเลยครับ
    • แถวหนองบัว ทางเกวียนและทางควายเดินนั้น จะเดินไปหลากหลายเหมือนอย่างพื้นที่ที่เป็นดินเหนียวไม่ค่อยได้ เพราะในแหล่งที่เป็นพรุ ก็จะอันตรายต่อวัวควาย เกวียน รวมไปจนถึงคน
    • ร่องเกวียนจึงต้องมีการทำให้เป็นแนวที่แน่นอน ดังนั้น จึงต้องมีสอกครับ ซึ่งเหมือนกับได้รับการตรวจสอบแน่นอนว่าไม่มีพรุ ไม่ว่าจะเป็นหน้าฝนและหน้าน้ำหลาก
    • อันที่จริงลักษณะเกวียน ล้อเลื่อน และล้อลาก ของชาวบ้านหนองบัวในพื้นที่ที่เป็นดินทรายนั้น ก็ต่างจากที่อื่นด้วยครับ การทำกงล้อจะเรียวเล็กและล้อกว้างกว่านาดินเหนียว หน้ากว้างของล้อก็แคบกว่าเกวียนในถิ่นที่เป็นดินเหนียว เพราะเหมาะสำหรับลากในโคลนและฝุ่นที่เป็นทรายครับ 

    ขอแนะนำคนหนองบัวและศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัวให้เป็นแหล่งข้อมูลบุคคลไว้นะครับ หากดูในรายนามที่ผมได้ใส่ไว้ในเครือข่ายที่ปรึกษาทางวิชาการนั้น เป็นการทำอย่างไม่เป็นทางการและทำให้พอเป็นแนวพัฒนาในโอกาสต่อไปเท่านั้นครับ แต่คนที่ได้ขอนำเอารายชื่อมาแสดงไว้นั้น เป็นแหล่งวิทยาการและเป็นทุนบุคคลากรที่อาจจะเป็นโอกาสการพัฒนาของหนองบัวได้ครับ เลยอยากถือโอกาสแนะนำย่อๆ

    • นายแพทย์สมพงษ์ ยูงทอง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์นั้น เดิมนั้นเป็นแพทย์ศัลยกรรมสมองที่มีอยู่ไม่กี่คนในประเทศไทย ท่านอยู่ที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ แล้วก็เป็นคนทำงานแนวประชาสังคมมาอย่างยาวนานด้วย เคยมาจัดเวทีกับคนหนองบัว หลายคนที่เป็นคนทำงานในท้องถิ่นคงเป็นเครือข่ายการทำงานกันอยู่
    • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นคร เหมะ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดลนั้น นอกจากเป็นผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว ท่านเป็นนักฟิสิกส์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีวิสัยทัศน์ต่อการพัฒนาสังคมและท้องถิ่นด้วย ท่านให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และสนใจงานพัฒนาทางการศึกษา สักวันหนึ่งลูกหลานคนหนองบัวน่าจะมีโอกาสได้ฟังบรรยายจากท่านบ้าง
    • คุณปริญญารัตน์ แซ่แต้ ก็เป็นศิษย์เก่าหนองคอกครับ ตอนนี้ร้านขายของของเธออยู่ในตลาดข้างศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์นั่นเอง เป็นเครือข่ายที่อยู่ในทอ้งถิ่นอีกคนหนึ่งนะครับ
    • อาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ของหนองบัวนั้น เป็นคนทำงานทางการเรียนการสอนด้วยและพัฒนาสถานศึกษาแนวที่เชื่อมโยงกับชุมชนและบูรณาการมิติอื่นๆด้วย โดยเฉพาะแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สมุนไพร การสร้างสุขภาพ และการเรียนรู้จากการปฏิบัติของนักเรียน
    • รองศาสตราจารย์ ดร.เสน่ห์ จุ้ยโตนั้น เป็นลูกหนองบัวและศิษย์เก่าของโรงเรียนหนองคอกครับ บ้านอยู่ข้างศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์นั่นเอง เป็นนักวิชาการที่ทำวิจัยและมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการพัฒนาองค์กรท้องถิ่น ธรรมาภิบาล และการบริหารจัดการองค์กรที่เด่นที่สุดคนหนึ่งในระดับชาติครับ คงจะเป็นทุนทางสังคมให้คนหนองบัวและท้องถิ่นหนองบัวได้อย่างดีครับ
    • คุณนิจ เพชรคงนั้น เป็นคนบ้านหนองบัว วัดเทพสุทธาวาสครับ เป็นวิศวกรโยธาที่ผ่านประสบการณ์ทั้งงานสนาม การบริหาร และการทำงานวิชาการ เป็นศิษย์เก่าหนองคอกครับ
    • คุณประเวศ รักษพล เป็นคนหนองบัวบ้านอยู่ข้างเกาะลอยน่ะครับ ปัจจุบันท่านเป็นอัยการศาลปกครอง แล้วก็เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนหนองคอกเช่นกันครับ
    • คุณพีระ คำศรีจันทร์ เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนหนองคอก แล้วก็เป็นคนบ้านตาลิน เคยมาเป็นพัฒนากรของอำเภอหนองบัว ทำงานกับคนท้องถิ่นหนองบัว ปัจจุบันเป็นนักวิชาการพัฒนาชุมชน ชำนาญการ อยู่ที่อุ้มผาง จังหวัดตาก
    • รองศาสตราจารย์ ดร.รุจโรจน์ แก้วอุไร เป็นอาจารย์อยู่มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลกนี่เองครับ เป็นคนต่างจังหวัดและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษากับการพัฒนาความเข้มแข็งของภาคสังคมด้วย ที่สำคัญคือท่านสนใจขอเป็นเพื่อนกับชาวหนองบัวในเวทีนี้นะครับ
    • คุณจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร นักศึกษาปริญญาเอก สาขาประชากรศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นคนเมืองปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นคนต่างจังหวัดและมีประสบการณ์ทำงานชุมชนไปจนถึงงานระดับชาติ เป็นลูกหลานคนชนบทที่จะเป็นเพื่อนคิดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปกับคนหนองบัวได้อย่างดีแน่ๆครับ

    ในเรื่องการรู้ว่าใครอยู่ที่ไหนทำอะไรนั้นก็ดีเหมือนกันนะครับ ผมลองแนะนำนำร่องให้ครับ ท่านอื่นๆหากแนะนำตนเองหรือแนะนำเพื่อนที่ตนเองรู้จัก เก็บรวบรวมไว้ในนั้ก็ดีนะครับ แนะนำตนเองและหากเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนหนองคอก ก็บอกด้วยว่ารุ่นปีไหนหรือรุ่นเท่าไหร่ มีเพื่อนๆพออ้างถึงได้ใครบ้าง อย่างนี้ก็ดีนะครับ 

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    • อาจารย์แนะนำคนหนองบัวฝ่ายคฤหัสถ์แล้ว
    • อาตมาก็จะขอแนะนำคนหนองบัวฝ่ายบรรพชิต(สงฆ์)บ้าง ลองหาดูแล้วก็ยังไม่ทราบรายละเอียดมากนัก
    • วันนีขอนำเสนอสักสองสามท่านก่อน วันหน้าคงได้หามาเพิ่มเติม
    • พระราชปริยัติ(สฤษดิ์ สิริธโร-ประธาตุ ป.ธ.๙,กศม.,พธ.ด.) เจ้าอาวาสวัดนครสวรรค์ เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ รูปปัจจุบัน และผู้อำนายการวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ ท่านเจ้าคุณเป็นคนห้วยร่วม ท่านเป็นผู้ที่เรียนหนังสือเก่งมีความจำดี
    • เรียนภาษาบาลีจบเปรียญ ๙  และตอนนี้ท่านก็เรียนจบระดับปริญญาเอกแล้วอีกด้วย
    •  นับว่าเป็นผู้นำผู้บริหารฝ่ายสงฆ์ระดับจังหวัดที่มีไม่กี่รูปในประเทศไทยที่เรียนจบระดับ ป.ธ.๙และปริญญาเอก พระเดชพระคุณเป็นคนหนุ่มเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลเกี่ยวกับการศึกษาสงฆ์ ขณะนี้ได้ขยายสถานที่เรียนจากวัดนครสวรรค์ไปที่บริเวณใกล้ ๆ  โรงพยาบาลแม่และเด็กนครสวรรค์ตรงปากทางแยกไปชุมแสง-หนองบัว
    • พระมหาจิตวิทย์(ทองคำ) ป.ธ ๖ คนบ้านหนองนมวัว จบพุทธศาสตรบัณฑิต เป็นนักกิจกรรมเด่นเมื่อตอนเรียนพุทธศาสตร์ ได้ไปจัดบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนที่วัดหนองกลับหลายปี
    • ขณะนี้ท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย รัฐเคด้า ได้เป็นพระครูสัญญาบัตร
    • พระมหาฉลวย กิตฺติปาโล (แสนเหมือน) ป.ธ ๓ คนบ้านเนินขวางใกล้ ๆ วัดเทพสุทธาวาส
    • ท่านนี้ก็เป็นพุทธศาสตรบัณฑิตที่โดดเด่นอีกท่านหนึ่ง ท่านชอบทำกิจกรรมมีอัธยาศัยไมตรีใจคอกว้างขวาง ถนัดงานเผยแผ่
    • ตอนนี้ท่านจำพรรษาอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา สิบกว่าปีแล้ว ทั้งสองท่านนี้ไม่ได้เจอกันสิบกว่าปีแล้ว

    วันหน้าจะได้นำเสอท่านอื่นต่อไป

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

     

     

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    • จะขอกล่าวถึงบุคคลเล็ก ๆ ที่เป็นพลเมืองที่มีจิตสาธราณะ
    • ที่ตนมีความผูกพันกับความศรัทธาความเลื่อมใสต่อสงฆ์ของคนหนองบัวเฉพาะด้านซึ่งมองดูว่าเป็นสิ่งที่อาจมองเห็นเป็นเรื่องพื้น ๆ ธรรมดามากในสายตาของหลาย ๆ คน
    • เพราะไม่เป็นที่กล่าวขานเอ่ยถึงและจดจำของผู้คนและก็อาจจะลืมหรือไม่เคยทราบมาก่อนก็เป็นได้
    • แต่ผู้ทำนั้นแน่นอนว่าต้องเป็นความทรงจำที่ดีและถือว่าเป็นบุญของตนที่ได้ทำสิ่งนี้
    • หลวงพ่ออ๋อยนั้นท่านเป็นที่เคารพนับถือไม่ใช่เฉพาะคนหนองบัวเท่านั้นแต่ท่านยังเป็นที่เคารพนับถือแก่คนทั่วไปอีกด้วย
    • เพราะหลายคนเวลาพูดคุยซักถามถึงท่านก็มักจะเอ่ยชื่อท่าน เช่น วัดก็เรียกว่าวัดหลวงพ่ออ๋อย สระน้ำหลวงพ่ออ๋อย วัวหลวงพ่ออ๋อย ศาลาใหญ่วัดหลวงพ่ออ๋อย
    • ชื่อดังกล่าวเหล่านี้บ่งบอกถึงความรักเคารพนับถือของประชาชนที่มีต่อหลวงพ่ออ๋อย วัดหนองกลับ อำเภอหนองบัวได้เป็นอย่างดี
    • หลวงพ่ออ๋อยจึงถือได้ว่าพระคุณท่านเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของอำเภอหนองบัวคือเมื่อกล่าวถึงหนองบัว ก็ต้องนึกถึงหลวงพ่ออ๋อย เมื่อพูดถึงหลวงพ่ออ๋อยก็คือกล่าวถึงหนองบัวประมาณนั้นเลยทีเดียว
    • บุคคลผู้มีจิตสาธารณะที่เกริ่นไว้ตอนต้นเกี่ยวข้องกับหลวงพ่ออ๋อยอยู่คือท่านมีภาระหน้าที่อย่างหนึ่งโดยทำเดือนละครั้ง
    • ท่านผู้อ่านคงนึกไปได้หลายประการ หรืออาจจะนึกไม่ออกก็เป็นเป็นได้ ว่าเอทำอะไรหนอเดือนละครั้ง
    • อันที่จริงหน้าที่นี้น่าจะเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ในวัดมากกว่า แต่เหตุฉะไฉน พระท่านจึงไม่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ให้หลวงพ่ออ๋อย
    • เฉลยก็ได้ว่าทำอะไรเดือนละครั้ง ก็คือการปลงผม การปลงผมพระท่านก็ปลง(โกน)เดือนละครั้ง
    • ผู้ที่มาปลงผมให้หลวงพ่ออ๋อยเป็นประจำคือช่างตัดผมในตลาดหนองบัว เรียกว่ามืออาชีพ ท่านเป็นผู้ที่ลูกค้าที่มาใช้บริการกล่าวถึงในด้านการตัดผมว่า มือเบา เป็นช่างมือเบา
    • คือตัดผมโกนผมแล้วไม่เจ็บไม่นั่งตัวเกร็ง เราให้ท่านตัดผมก็นั่งหรือนอนด้วยความสบายใจ เรียกว่าเพลิดเพลินก็ยังได้
    • คือจะมีช่างบางท่านตัดผมดี แต่ตอนโกนท้ายทอยมือจะหนัก บีบขมับ กดมีดโกนเราก็นั่งตัวเกร็งเลยซี กว่าจะตัดเสร็จเสียวท้ายทอยแปล้บ ๆ เลยหนา
    • ช่างโน้ม  เหว่าโต คือช่างตัดผมที่มาปลงผมให้หลวงพ่ออ๋อยทุกเดือน ช่างโน้ม เหว่าโต เป็นลูกทายยกอินทร์ เหว่าโต บ้านเนินตาโพ
    • ร้านตัดผมของท่านอยู่ห้องแถวฝั่งตะวันตกทางแยกไปวัดเทพสุทธาวาสเยื้อง ๆ กับโรงพยาบาลคริสเตียนเก่านั่นเอง
    • นอกจากเป็นช่างตัดผมแล้ว ก็ยังช่วยเป็นพิธีกรโฆษกงานวัด งานอื่น ๆ ด้วย
    • ตัดผมมือเบาลูกค้าติดใจในฝีมือยิ่งใกล้ ๆ งานบุญขนมห่อ(บุญเข้าพรรษา)ด้วยแล้วต้องนั่งรอคิวกันยาวเป็นครึ่งค่อนวัน
    • ช่วงที่รอคิวตัดผม ก็ต้องมีกิจกรรมประจำยอดฮิดสมัยนั้น หมากฮ๊อตเอย หมาแยกเอย
    • บางคนมีฝีมือฉกาจฉกรรฉ์นัก เรียกว่าปราบรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ รุ่นเฒ่าเก่าแก่ ราบราบหมดเพราะอะไร ก็เพราะมาฝึกปรือวิทยายุทธิ์ทุกวัน
    • มาทีไรก็ต้องเห็นเจ้านี้ว่างั้นเถอะ เล่นเพลินติดพันถึงคิดตัวเองแล้วไม่เป็นไร ให้ผู้อื่นลัดคิวไปก่อนก็มี เพราะกำลังมัน(คิดวางหมากอย่างหนักอยู่)
    • ถ้าฮ๊อตละก็ยังจำน้าทิดเชยคนหองกลับได้เลย คมมีฝืมือดีคนนั้น
    • เอพูดถึงหลวงปู่ และพูดถึงช่างตัดผมอยู่ดี ๆ ทำไมจึงมาจบตรงหมากฮ๊อตได้ละเนี่ย นี่ก็ดีนักหนาแล้วที่ไม่ไปจบตรงนางแบบสุดฮ็อต

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ตามมาอ่านต่อครับ

    อ่านบันทึกแลกเปลี่ยนระหว่างท่านอาจารย์และพระอาจารย์

    เหมือนนั่งพระเทศน์สองธรรมมาสน์เลยครับ

    สวัสดีค่ะอาจารย์วิรัตน์..ได้อ่านบันทึกแล้วชื่นชมและอยากจะร่วมเพื่อความเป็นอยู่ชอบวิถีชีวิตพื้นบ้าน และความมีจิตสาธารณะของผู้คน..อยากให้ทุกคนมีจิตสาธารณะค่ะ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล สวัสดีครับหนานเกียรติ และคุณครูรุจี เฉลิมสุข ครับ

    • พระสงฆ์ที่พระคุณเจ้านำมาบันทึกรวบรวมไว้นี้ มีคุณค่าต่อชุมชนและสังคมทั้งในท้องถิ่นและวงกว้างมากครับ ถือว่าเป็นทุนมนุษย์และทุนทางปัญญาที่สำคัญอย่างยิ่งของชุมชนครับ
    • ร้านตัดผม ช่างตัดผม กับคนนั่งเล่นหมากฮอร์สนี่ ถือว่าเป็นพื้นที่สร้างความเคลื่อนไหวทางสังคมของชุมชนท้องถิ่น และเป็นที่ทำให้ภาวะผู้นำเป็นกลุ่มของชาวบ้านเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ บางทีการหารือและคิดริเริ่มที่จะทำงานส่วนรวมของชุมชน หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำมาหากิน ก็อาจเกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะในความดูแลของปัจเจกในลักษณะนี้แหละครับ
    • บางทีการสำรวจและรวบรวมพื้นที่สาธารณะและแหล่งชุมชนเล็กๆอย่างนี้ ซึ่งในพื้นที่หนึ่งๆ ก็จะมีความจำเพาะแตกต่างกันไปตามลักษณะชุมชน เช่น ร้านตัดผม คิวรถเมล์ ศาลานั่งพักปากทาง ฯลฯ รวบรวมไว้แล้วก็นำมาวิเคราะห์ศักยภาพเสียใหม่เพื่อวางแผนพัฒนาชุมชนของตัวเอง ก็อาจจะกลายเป็นเครือข่ายบริหารจัดการความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่ช่วยชุมชนได้อย่างมากทันทีครับ
    • แหล่งพบปะของกลุ่มคนเหล่านี้เพียง ๒๐-๓๐ แห่งในชุมชนหนึ่ง หากออกแบบเสียใหม่ให้เป็นเครือข่ายจัดการความรู้และจัดการการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงของชุมชน ผมเคยทำในลักษณะนี้ในอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ก็พบว่า หากเราทำสื่อสิ่งพิมพ์ แทนที่จะเผยแพร่โดยส่งไปยังผู้รับเป็นรายบุคคลซึ่งเป็นเรื่องหนักหนาสาหัส กินแรงกำลังคนและต้องใช้ทรัพยากร-ค่าใช้จ่ายมาก หากทำในระยะยาวก็จะทำไม่ไหว ก็สำรวจและวิเคราะห์ศักยภาพของชุมชนในด้านนี้เสียใหม่ ปรากฏว่า การเผยแพร่สื่อในแหล่งอย่างนี้ ๔๐-๕๐ แห่งเท่านั้น เพียง ๑-๒ วันก็จะสามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้ ๒-๓ พันคน เกือบทั่วอำเภอเลยทีเดียว
    • ความรู้เกี่ยวกับชุมชน เมื่อเขียนด้วยชาวบ้านและคนท้องถิ่น เราจะเห็นความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งของสังคมต่างๆครับว่า มีคนตัวเล็กๆชาวบ้านๆที่ไม่มีตัวตนอย่างใดในสังคมเลย เช่น ช่างตัดผม คนปลงผมพระ และอีกมากมาย เป็นองค์ประกอบที่ทำให้ชุมชนเกิดพัฒนาการ มีความเคลื่อนไหว มีลมหายใจและจิตวิญญาณ งานเขียนความรู้และการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างนี้ จึงเป็นการทำให้ชุมชนเห็นศักยภาพและความเป็นจริงของตนเองที่สมบูรณ์มากขึ้น
    • หนานเกียรติและคุณครูรุจีมีเรื่องราวของชนบททางเหนือหรือเรื่องอื่นๆที่ช่วยขยายโลกทัศน์และชีวทัศน์ ตลอดจนการเรียนรู้สังคมให้ทุกคนได้ ก็เชิญตามอัธยาศัยเลยนะครับ

    มารายงานตัวก่อน แต่ขออนุญาตเตรียมสอบภาค ข สักแป๊บค่ะ

    แล้วจะเข้ามาอ่านรายละเอียด แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยค่ะ

    ขอบพระคุณค่ะ

    สวัสดีครับคุณครูจุฑารัตน์  งั้นขอแนะนำให้กับชาวหนองบัวและทุกท่านที่มาร่วมเป็นเครือข่ายเรียนรู้กับคนหนองบัวเลยนะครับ คุณครูจุฑารัตน์ ปัจจุบันเป็นครูอยู่ที่สำนักงานพื้นที่การศึกษา เขต ๒ จังหวัดกำแพงเพชร เป็นคนหนองบัวและเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว ผมลิ๊งค์ไปยังบล๊อกของเธอไว้แล้ว ตรงหัวข้อ แลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาการเรียนการสอน เข้าไปเยี่ยม ทักทาย ขอแบ่งปันประสบการณ์ (คุณครูจุฑารัตน์เป็นบล๊อกเกอร์ที่ได้รางวัล Best of the month ของ GotoKnow นี้ด้วย)และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้เลยครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    • ขอแนะนำคนหนองบัวฝ่ายบรรพชิต(สงฆ์) เพิ่มเติมจากเมื่อวานนี้
    • พระครูศรีนิภากร(สุธีร์ สุธีโร ฉ่ำน้อย ป.ธ.๖) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนครสวรรค์พระอารามหลวง
    • ท่านเป็นคนบ้านเนินตาเกิดติดกับสระน้ำหนองกลับ ศิษย์วัดเทพสุทธาวาสศิษย์หลวงพ่อปาน วัดเทพสุทธาวาส
    • เป็นครูสอนฝ่ายพระปริยัติธรรมแผนกบาลีมานาน
    • ได้เป็นเปรียญตั้งแต่ยังเป็นสามเณร ถือว่าเป็นลูกหนองบัวที่ได้ช่วยงานพระศาสนาฝ่ายการศึกษาภาษาบาลีตั้งแต่เป็นสามเณรเลยทีเดียว
    • พระมหาภิรมย์ ป.ธ.๙ ศิษย์หลวงพ่อหลุย วัดป่ามะเขือ เป็นคนหนองบัว จำพรรษาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร
    • พระมหาชูชาติ  ป.ธ. ๙  คนหนองบัว ปัจจุบันศึกษาและจำพรรษาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร
    • ยินดีด้วยที่คุณครูจุฑารัตน์มาเยี่ยมเยือนและจะกลับมาคืนสู่เหย้าบ้านหนองบัว
    • ชาวหนองบัวคงจะได้ศิษย์เก่าที่มีความสามารถมาช่วยขับเคลื่อนพลังแห่งการเรียนรู้และประสบการณ์ตรงจากคุณครูท่านนี้อย่างแน่นอน.

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    • กราบอนุโมทนาในการรวบรวมคนหนองบัวฝ่ายบรรพชิตแล้วนำมาบันทึกไว้ในนี้ของพระคุณเจ้าครับ
    • ผมเชื่อว่าสักพักหนึ่ง คงจะมีใครดึงออกมารวบรวม แล้วก็จัดหมวดหมู่ให้เป็นระยะๆครับ

    กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    น้ำฝน-คนเมือง-เรื่องน้ำ(ไม่)เน่า

    คนเมืองโดยทั่วไปไม่ค่อยรักฝน มีทัศนะต่อฝนไม่เป็นไปในเชิงบวกเท่าไร

    แต่คนบ้านนอก ชาวนา ชาวไร่ จะมองอีกแบบหนึ่งเป็นอะไรก็ได้ดังใจปรารถนาคนบ้านนอกอยากได้น้ำฝน(เพราะมีต้นข้าวที่กำลังคอยฝน)เป็นอะไรได้บ้างเชิญชม(อ่าน)

    • น้ำ(ฝน)เป็นสิ่งศักสิทธิ์
    • เป็นชีวิต
    • เป็นเลือด
    • เป็นเนื้อ
    • เป็นมรรค
    • เป็นผล
    • เป็นที่พึ่ง
    • เป็นสรณะ
    • เป็นความหวัง
    • เป็นทุนชีวิต
    • เป็นทั้งหมดของชีวิตของสังคม
    • เป็นหลักประกันความสุขความปลอดภัย
    • เป็นความดี
    •  เป็นความสุข
    • เป็นความก้าวหน้า
    • เป็นความอยู่รอดของชีวิตและสังคม
    •  เป็นหลักชัยแห่งชีวิต
    • เป็นหลักชัยแห่งสังคม
    • เป็นตัวบ่งชี้แห่งความอุดมสมบูรณ์แห่งมนุษยชาติ
    • เป็นสายเลือดแห่งชีวิต
    • เป็นที่สืบต่อเผ่าพันธุ์สรรพชีวิต
    • เป็นความผูกพัน
    • เป็นเยื่อใย
    • เป็นหลักการ
    • เป็นยิ่งกว่าปัจจัยสี่
    • เป็นเส้นทางชีวิต
    • เป็นที่สัญจร(เป็นถนนคนทางน้ำ)
    • เป็นชุมชน
    • เป็นสังคม
    • เป็นวิถีชีวิต
    • เป็นเหตุ-ผล
    • เป็นอิทัปปัจจยตา
    • เป็นพระ
    • เป็นครู
    • เป็นหมอ
    • เป็นพรหม
    • เป็นเทพ
    • เป็นเทวดา
    • เป็นนางฟ้
    • เป็นเทพธิดา
    • เป็นเทพบุตร
    • เป็นยาใจคนจน
    • เป็นปริญญาของชาวนา-ชาวสวน-ชาวไร่
    • เป็นนางงาม
    • เป็นนางเอก
    • เป็นพระเอก
    • เป็นดารา
    • เป็นศิลปิน
    • เป็นผู้ให้
    • เป็นพ่อพระ
    • เป็นแม่พระ
    • เป็นพี่ชายที่แสนดี
    • เป็นลมหายใจ
    • เป็นพ่อ
    • เป็นแม่
    • เป็นธรรมชาติ
    • เป็นธรรมะ
    • เป็นคุณธรรม
    • เป็นศีลธรรม
    • เป็นคุณธรรม
    • เป็นจริยธรรม
    • เป็นความดี
    • เป็นความรัก
    • เป็นความรอด
    • เป็นกัลยาณมิตร
    • เป็นเพื่อนแท้
    • เป็นสวรรค์
    • เป็นเจ้าชาย
    • เป็นเจ้าหญิง
    • เป็นราชา
    • เป็นศาสดา
    • เป็นเจ้า
    • เป็นนาย
    • เป็นประมุข
    • เป็นโลก
    • เป็นจักรวาล
    • เป็นพระจันทร์
    • เป็นพระอาทิตย์
    • เป็นดาวในดวงใจ
    • เป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง
    • เป็นพระเจ้าอย่างแท้จริง
    • เป็น เป็น เป็น........และก็เป็น

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

     

     

                               

    นมัสการพระอาจารย์มหาและ...สวัสดีพี่วิรัตน์ค่ะ..เอาฝนมาฝากค่ะ..ฝน2ภาพล่างนั้นทำเองกับมือเลยค่ะ..มีความสุขในวันหยุดนะคะ..

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ขออนุโมทนาขอบคุณคุณครูอ้อยเล็กเป็นอย่างมาก

    ชื่นใจจังเลยนะคุณครูอ้อยเล็ก

    ชาวนาคงมีความสุขมากเลยที่คุณครูอ้อยเล็กทำฝนส่งมาให้

    ขอบคุณครูอ้อยเล็กแทนพี่น้องชาวหนองบัวด้วย

    เจริญธรรม

    • คุยเรื่องฝนเรื่องน้ำสำหรับคนหนองบัวนั้น เมื่อก่อนนี้ ก็จะมีความกันหมายต่อการทำมาหากินอย่างที่สุด ทุกปีคนหนองบัวจะมีประสบการณ์ในการขาดแคลนน้ำ การมีน้ำดื่มกินให้พออยู่ได้จะต้องอาศัยปัจจัยความเป็นชุมชน ต้องรู้ประมาณการใช้ทรัพยากรที่เป็นแหล่งน้ำร่วมกัน หน้าแล้งก็จะต้องจำกัดการใช้น้ำของตนเองเพื่อให้เพียงพอต่อคนอื่นๆด้วย
    • บางปีนอกจากขาดแคลนอย่างที่สุดแล้ว น้ำที่พอมีก็ขุ่นคลั่ก ต้องแกว่งสารส้มให้ได้น้ำสักครึ่งโอ่งและอีกครึ่งหนึ่งก็เป็นน้ำโคลน แล้วก็ดื่มกินกันอย่างเฝื่อนๆไปทั้งฤดู แต่ก็อยู่กันได้ เมื่อตอนผมเป็นเด็กเรียนอยู่ในตัวอำเภอ ทั้งครู นักเรียน และชาวบ้าน ก็ต้องดื่มกินน้ำแบบเดียวกันทั้งอำเภอ
    • เวลามีฝนตกสำหรับคนหนองบัวแล้ว จึงหมายถึงความหวังและการมีชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม ผู้คนจะตื่นตัวกุลีกุจอล้างโอ่งและเพื่อเตรียมรองน้ำฝน แถวบ้านผมก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกันครับ

     

                                

     

    • ยิ่งกว่านั้น เมื่อหน้าแล้งที่หญ้าและซังข้าวแห้งนั้น ชาวบ้านก็มักจุดไฟเผาหญ้ากับซังข้าวเพื่อเตรียมดินขั้นหนึ่งก่อนสำหรับการไถดะพลิกหน้าดินรอฤดูการเพาะปลูก หลังจากนั้นแล้วท้องนาก็จะโล่งและดินก็จะแข็งเป๊ก สภาพอย่างนี้ก็ทำให้คนร้อน ห่อเหี่ยว และรอคอย ต้องเล่นสงกรานต์และลูกช่วงไปพลางๆ สภาพแบบนี้ผู้คนจึงต่างก็เฝ้ารอคอยให้ฝนตก

     

                       

     

    • พอมีฝนตกเท่านั้น ทุกอย่างพลันก็จะมีชีวิตชีวา อะไรจะหอมลึกล้ำเข้าไปถึงหัวใจและจิตวิญญาณของคนที่อยู่บ้านนอกได้เท่ากับหอมกลิ่นดินของวันแรกที่ฝนตก กับกลิ่นควันและข้าวใหม่หลังการเก็บเกี่ยว หญ้าอ่อนจะเริ่มงอก ใบไม้ไม้จะผลิใบ ทั้งวัวควายและคนซึ่งกินฟางแห้งๆและเดินกลางทุ่งร้อนแล้งมาหลยเดือนก็จะคึกคัก พลังความมีชีวิตยามนั้นอธิบายไม่ถูกเลยทีเดียว น้ำฝนและฝนตกจึงบอกถึงการเริ่มต้น และวงจรการมีชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุข สดใส รื่นรมย์

     

                               

     

    • แต่เด็กๆที่ต้องไปโรงเรียนและพระซึ่งต้องมีวัตรปฏิบัติต่อชุมชนในการต้องไปบิณฑบาตรยามเช้า การมีฝนตกทำให้การสัญจรในท้องถิ่นมีความยากลำบากสำหรับเด็กๆ  และทำให้พระออกบิณฑบาตรไม่ได้ ก็ทำให้ชุมชนต้องนึกถึงการพัฒนาถนนหนทางและการเดินทางในท้องถิ่นที่มีความปลอดภัย
    • ในการดูแลพระและวัด ก็มีวิธีหมุนเวียนกันทำปิ่นโตและสำรับอาหารเพื่อถวายแก่พระ ฝนตกจึงมีความหมายต่อการอดทน ฝ่าฟัน และต่อสู้กับความยากลำบากที่อยู่ในวิถีชีวิต

     

                               

     

    • แต่เดี๋ยวนี้ ฝนตกทีบางปีผิดจังหวะ ผิดฤดูกาล รวมทั้งลักษณะพันธ์ข้าวที่ชาวบ้านปลูกส่วนใหญ่ก็เป็นข้าวสำหรับนาปรังและหมุนเวียนปลูกในแหล่งที่จัดการน้ำเพื่อการเพาะปลูกจากระบบชลประทาน บางทีข้าวเลยไปแก่เอาตอนที่ฝนอาจจะตกลงมา พอฝนตกลงมาอย่างนี้ชาวนาก็น้ำตาตก
    • มีเพลง เหมือนข้าวคอยฝน ก็สื่ออารมณ์เพลงทำนองนี้ละครับ คือ... ฝนเปรียบดังความหวังที่ผู้คนรอคอย แต่ข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแรงบันดาลใจของเพลงก็จะบอกต่อไปอีกว่า อย่าอยู่อย่างข้าวคอยฝน หรือรอให้สิ่งที่เป็นความหวังมาหาเรา ซึ่งอาจจะมาหรือไม่มา ก็รอคอยและหวังไปลมๆแล็งๆ แต่ขอให้ลุกขึ้น เพื่อสร้างหนทางและเดินทางไปสู่สิ่งที่หวังนั้นด้วย                          

                                

    • อันที่จริงเรื่องน้ำและการพัฒนาสภาพการดำเนินชีวิตต่างๆของชุมชนของคนหนองบัว สามารถนำมาเป็นหัวข้อการเรียนรู้และทำสิ่งต่างๆได้อีกเยอะครับ แถวบ้านผมเริ่มมีระบบคลองที่จัดการน้ำได้ดีกว่าเดิม ผมว่าสักวันหนึ่งก็จะลองไปเดินสำรวจและประมวลภาพมาให้ดูครับ
    • อ้อ ขอบคุณคุณครูอ้อยเล็กด้วยครับ ที่นำรูปสวยๆมาแบ่งปันกันดู รูปฝนตกดูสดชื่นดีจังเลยนะครับ เลยขอนำมาโพสต์อีก 
    • เมื่อพูดถึงเรื่องฝน ในสมัยก่อนน้ำฝนสะอาดมาก ใช้ดื่มได้ทีเดียว
    • ตอนเป็นเด็กพอฝนตกชอบมากค่ะ รองน้ำฝนไปด้วย ถือโอกาสเล่นน้ำฝนอย่างสนุกสนาน ไม่กลัวเป็นหวัด 
    • หลังคาบ้านที่มุงด้วยสังกะสี  จะทำรางน้ำไว้ทุกบ้าน
    • มีกรวยสังกะสี และต่อท่อกลมๆยาวลงมา ถ้าจำไม่ผิดเคยได้ยินเขาเรียกว่า ใช้บัตกรี มีอุปกรณ์เป็นแท่งตะกั่ว หัวแร้งใช้เผากับเตาถ่าน  
    • เดี๋ยวนี้จะใช้สายยางต่อลงมาจากกรวยแทนค่ะ 
    • รองน้ำเต็มถังแล้วหิ้วไปเทใส่โอ่ง
    • ปากโอ่งวางผ้าข้าวบาง เพื่อใช้สำหรับกรองน้ำให้ใสสะอาด ไม่มีเศษผงเจือปน
    • ถ้ามีโอ่งหลายใบสามารถเก็บน้ำฝน พอดื่มได้ตลอดปีเลยค่ะ 
    • แต่ต้องระวังเรื่องฟ้าด้วยเหมือนกัน
    • พอฝนตกมีอะไรๆเปลี่ยนไปอีกค่ะ
    • อย่างเช่น คอกควาย เขาจะทำให้ต่ำหน่อย ฝนตกน้ำจะขัง เจอขี้ควายบ้าง ดินในคอกบ้าง ทำให้เละเทะกลายเป็นขึ้โคลน ควายก็ชอบนอนคลุกเกลือกกลิ้ง พอกตัวหนาเตอะ ทำให้ป้องกันเหลือบ ริ้น และพวกยุงที่มากัดกินเลือดได้
    • เช้ามืดก็จูงควายไปล้างก่อนออกไปทำงาน
    • บางทีเจ้าสี่ขามีเขา สลัดโคลนใส่เจ้าของด้วย ก็ล้างทั้งคนทั้งควายเลย
    • อิอิ..ที่เรียกว่ากลิ่นโคลนสาบควายเป็นแบบนี้เองค่ะ
    • ตอนนี้อาจห่างหายไปบ้าง
    • ติวเข้มค่ะ เตรียมสอบภาค ข  ผอ.ร.ร.
    • และเมื่อปีที่แล้วกระดูกไหปลาร้าหัก  คุณหมอบอกว่ากระดูกไม่ติด
    • ต้นเดือนตุลาคมต้องผ่าตัดใส่เหล็กค่ะ 
    • ขอบพระคุณพี่ชายที่ให้โอกาสพูดคุย วิถีชีวิตของชาวชนบทบ้านเรา ชาวนครสวรรค์ค่ะ

    หน้าฝนที่หมู่บ้านที่เคยอยู่จะมาคู่กับฤดูน้ำหลากเสมอทุกปีจนถึงเดือน 12 น้ำนองเต็มตลิ่งพอเข้าเดือนตุลาฝนเริ่มซาลมหนาวโชยมาน้ำก็จะแห้งตามไปด้วย หมู่บ้านก็จะกลับคืนสู่สภาพปกติ.. บ้านทุกหลังในหมู้บ้านเป็นเรือนยกใต้ถุนสูงทั้งสิ้น ทุกบ้านมีเรือใช้กันทุกหลัง เรือเป็นพาหนะสำคัญ ทั้งใช้ไปธุระ หาปลา ไปดูนา หรือแม้กระทั่งพวกเด็กๆอย่างครูอ้อยใช้พายเล่นกัน พายแข่งกัน การเตรียมเรือ พ่อ-แม่ ปู่ย่าตายาย จะเอาเรือคว่ำไว้โดยมีขอนไม้หนุนไว้ ให้แห้งสนิทตลอดฤดูแล้ง พอใกล้ๆน้ำมา ก็เกณฑ์พวกเราเด็กๆ กะเทาะชันที่ยาเรือออก เศษชันนั้นแม่หัดให้เราเก็บไว้ทำเชื้อไฟเวลาหุงข้าวติดดีจังค่ะ..ส่วนผสมของชัน ก็มีตัวชัน น้ำมันยาง ผสมกันนวดให้เหนียว เแล้วนำไปยาปิดรอยรั่วของเรือ หรือตะเข็บรอยต่อของเรือให้สนิท ยาทั้งนอกเรือและในเรือ การยาเรือต้องใช้เวลาเพื่อที่จะให้ชันนั้นแห้งสนิทดีแล้วจึงค่อยยาด้านนอกเรืออีกทีหนึ่ง ขั้นตอนสุดท้ายใช้น้ำมันยางในปริมาณมากชันพอประมาณผสมให้ได้ลักษณะเหมือนน้ำเชื่อมข้นๆอาบเรืออีกทีนึงเป็นการเคลือบผิวเรือค่ะ ขั้นตอนที่สำคัญก่อนหน้าที่จะลงชันนั่นก็คือการทำความสะอาดเรือดังที่ว่าต้องทำให้เกลี้ยงเกลา การลงชันจึงจะไม่เกิดปัญหารอยรั่วตามมาค่ะ..พวกเราจะสนุกมากเวลามีการเตรียมเรือเพราะเราจะนั่งปั้นอะไรต่ออะไรของเราเล่นไปเลยแข่งกับการยาเรือของผู้ใหญ่ นั่นคือเมื่อเราปั้นจะเสร็จหรือไม่เสร็จก็ตามผู้ใหญ่จะรวบชันไปรวมและนวดแล้วยาเรือต่อไป..การเล่นสนุกของพวกเราก็พลอยจบไปพร้อมๆกับเรือที่ลงชันเสร็จแล้ว พอเรือแห้งสนิทน้ำเริ่มมา เหล่าพาหนะของเราก็ลอยละล่องในน้ำพวกเราส่งเสียงดังลั่นทุ่งเมื่อผู้ใหญ่หลับไหลที่บ้าน เพราะเราจะได้เอาเรือออกไปพายแข่งกัน เล่นน้ำ งมหอย จับปลาเก็บผักท้องนา จนได้เวลาเราจะเอาเรือมาคืนและบ้านใครบ้านมันจัดแจงทำอาหารที่ได้จากการเล่นไว้สำหรับมือต่อไป..นี่คือความสุขที่ครูอ้อยเล็กจดจำได้เสมอ..เป็นคนอะไรไม่รู้ชอบจำอดีตจังเลย..แจ่มชั้นดีจังหรือว่าช่วงนั้นเรามีความสุขการทำงานของระบบความจำพัฒนาได้ดีก็ไม่ทราบนะคะ..อิๆๆ

    ขอแสดงความเคารพและสวัสดีผมได้ลองเข้ามาอ่านในเวบนี้เห็นเป็นเวบของการเรียนรู้ประสบการณ์และแลกเปลี่ยนซี่งกันและกันส่วนมากจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำเภอหนองบัว เมื่อหลายปีก่อนผมก็เคยไปเที่ยวที่อำเภอหนองบัว และได้ไปเที่ยววัดหนองกลับซึ่งเป็นวัดที่หลวงพ่อเดิมเคยมาช่วยทำการก่อสร้างศาลาการเปรียญหลังใหญ่ซี่งถือว่างดงามและสง่างามสมกับเป็นวัดคู่อำเภอหนองบัวและที่จะลืมไม่ได้ก็คือพิพิธภัณฑ์ในวัดที่เป็นแหล่งเรียนรู้ได้ดีเยี่ยมที่สุดผมชอบใจมากเพราะเป็นการรวบรวมเก็บอนุรักโบราณวัตถุ ขอโทษทีครับผมแพร่มมากไปหน่อย ผมขอชมเชยอาจารย์ ดร.วิรัตน์ ที่ได้สร้างสรรค์เวทีแห่งการเรียนนี้ขึ้นและเป็นผู้จุดประกายไฟแห่งการเรียนรู้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันในอีกหลายๆ ท่าน

    แต่ในฐานะที่ผมเป็นคนต่างถิ่นคงจะไม่มีความรู้ในเขตพื้นที่อำเภอหนองบัวดีซักเท่าไหร่และผมก็อยากนำเสนอสิ่งใหม่ซึ่งมีอะไรหลายๆ อย่างที่ไม่เหมือนกันที่หนองบัว ผมเป็นคนเมืองชายแดน แคว้นขุนเขา ผมเกิดที่จังหวัดอุตรดิตถ์ซึ่งหมู่บ้านอำเภอของผมมีสภาพเป็นป่าและภูเขามาก จนในอดีตมีคำกล่าวว่า อยู่ไกล ไปยาก และลำบาก คือบ้านโคก ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุตรดิตถ์ ความแตกต่างทางกายภาพ สภาพภูมิศาสตร์ ทำให้ชุมชนของผม ไม่เหมือนชุมชนซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม การคมนาคมสะดวกสบาย ความแตกต่างเหล่านี้เองทำให้ชุมชนของผม จากบ้านห้วย กล้วยป่า มีวิถีชีวิตที่ผูกพันธ์กับธรรมชาติมากเพราะว่ามองไปทางใหนก็มีแต่ป่าแต่เขา

    อย่างเช่นที่วัดบ้านเกิดของผม มีต้นมะม่วงอยู่สองต้น อายุหลายร้อนปีแล้ว ถ้าใช้คนโอบก็คงประมาณซัก 10 -12 ได้ มีเรื่องเล่าขานกันว่าในต้นมะม่วงนี้มีเจ้าเทพดา อารักษ์ รักษาอยู่ โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ พ่อโช้น แม่โช้น พ่อตู้ แม่ตู้ จะนับถือกันมาก เวลาไปวัดหรือมีงานอะไรที่วัดจะต้องมีการทำพิธีกราบใหว้ และนิยมเอาข้าวเหนียวไปติดที่ต้นมะม่วงนี้ จนขาวเป็นจุด ๆ ไป แต่พวกเด็กจะมีความเกรงกลัวกันมาก

    ผมขอเล่าเพียงแค่นี้ก่อนครับถ้ามีโอกาศเดี่ยวผมจะเข้ามาเล่าสู่กันฟังใหม่ ( หนาน....แสนเหมียง )

    สวัสดีครับคุณครูจุฑารัตน์

    • ขอต้อนรับกลับบ้าน คนหนองบัว ลูกหลานหนองบัว และเพื่อนๆ คงจะดีใจแล้วก็รู้สึกว่าวงเสวนาแคบลงและมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นนะครับ ได้เห็นคนรุ่นใกล้ๆกันและสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนที่ร่วมประสบการณ์กันได้มากขึ้น
    • การได้รองน้ำฝนไว้ดื่มกินและใช้อุปโภคบริโภคให้ได้ตลอดปีนี่เมื่อก่อนก็ต้องถือว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้แก้ปัญหาสาธารณสุขได้หลายอย่างครับ การทำงานสาธารณสุขชุมชนและงานสาธารณสุขมูลฐานเลยถือว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการสร้างการพึ่งตนเองทางสุขภาพของประชาชน แต่เดี๋ยวนี้น้ำดื่มและน้ำสะอาด นอกจากจะมีราคาที่เริ่มเกินกำลังของคนรายได้น้อยแล้ว ยังหายากอีกด้วย คนยากจน ชาวบ้าน และชุมชน อาจต้องกลับมาฟื้นฟูการรองน้ำฝนและเก็บน้ำไว้ใช้อีกก็ได้ บ้านผมที่บ้านนอกเดี๋ยวนี้ก็ยังต้องรองน้ำฝนไว้ดื่มกินและใช้ในบ้านตลอดปีครับ
    • ขอให้กำลังใจในการสอบขึ้นเป็นผู้บริหารสถานศึกษานะครับ แล้วก็ขอให้สุขภาพดีดังเดิมโดยเร็วครับ

    สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็ก

    • คุณครูอ้อยเล็กเก็บรายละเอียดช่วงชีวิตในวัยเด็กได้มากมายดีจริงๆ แล้วก็เล่าได้สนุกครับ ประสบการณ์ชีวิตดี๊-ดี ประสบการณ์การทำงานก็ดี เลยลิ๊งค์ให้คนที่สนใจได้มีโอกาสเข้าไปรู้จักคุณครูอ้อยเล็กนะครับ โดยเฉพาะพนักงานองค์กรท้องถิ่นกับคนทำงานภาคการศึกษาขององค์กรปกครองและองค์กรบริหารของท้องถิ่นแบบต่างๆ
    • การได้รำลึกถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ทำให้เรามีความสุข ก็ให้หลักคิดเราได้อย่างหนึ่งนะครับว่า ทำวันนี้ด้วยหัวจิตหัวใจ รู้อดทนและรอคอย ก็จะทำให้เราได้ความทรงจำ เพื่อการได้นำมารำลึกถึงและมีความสุขอย่างลึกซึ้งขึ้นมาใหม่ๆอีกในอนาคตนะครับ
    • ชาวบ้านแถวบ้านผมเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีก่อน เวลาได้ไปนครปฐมแถวบ้านคุณครูอ้อย ก็มักจะเตรียมตัวอย่างดีและเมื่อกลับมาแล้วก็มักมีเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังอย่างกับได้ไปแสวงบุญที่นอกโลกเลยทีเดียว จะคุยกันถึงการได้ไปกราบนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์และพระร่วงโรจน์ฤทธิ์ การได้ไปเห็นเจดีย์สูงเทียมนกเขาเหิน เรื่องราวของพระยากง พระยาพาน แล้วก็ข้าวหลามของคนเมืองนครปฐม
    • ขอบคุณที่แวะมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์ให้กับคนหนองบัวครับ แวะมาอีกบ่อยๆ นะครับ
    • ท่านพระมหาแล คุณเสวก คุณครูเอนก คุณพีรณัฐ กลุ่มพริกเกลือ และคนหนองบัวอีกหลายท่าน สงสัยกำลังไปหาวงกลองยาวมารับแขก เลยปล่อยให้ผมต้อนรับสันถวะแขกและมิตรแก้วของคนหนองบัวอยู่คนเดียวกระมังครับ นิมนต์และเชิญทุกท่านนะครับ รวมทั้งท่านอื่นๆก็เข้ามาคุยได้เลยครับ ทำอย่างสบายๆครับ ได้มีที่ถามไถ่ เห็นข่าวคราวกันในท้องถิ่น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตกัน ก็ดีมากมายแล้วครับ

    สวัสดีหนานแสนเหมียงครับ

    • ขอคารวะหนานแสนเหมียงด้วยเช่นกันครับ
    • เป็นเวทีให้หนองบัวเอาไว้คุยและพัฒนาการเรียนรู้เกี่ยวกับตนเองด้วย แต่ก็หวังให้เป็นเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนทั่วไปที่มุ่งหาแหล่งสำหรับพัฒนาตนเองและมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาเรื่องสวนรวมอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องท้องถิ่นของตนเองหรือเรื่องของหนองบัวก็ได้ครับ
    • การสะท้อนว่าได้ความประทับใจต่อวัดหนองกลับ วัดหลวงพ่อเดิม และพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ในวัดหนองกลับ เป็นการสื่อสะท้อนให้เห็นอย่างหนึ่งว่า การส่งเสริมการเดินทางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการท่องเที่ยวที่มุ่งให้เกิดการเรียนรู้ทางสังคม-วัฒนธรรม ตลอดจนสภาพบ้านช่องและวิถีชีวิตของผู้คนนั้น เป็นการทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ได้มีส่วนร่วมต่อการขับเคลื่อนวัฒนธรรมการเรียนรู้และยกระดับรสนิยมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดีนะครับ
    • อย่างเรื่องสภาพป่าเขาที่ผูกพันกับคนท้องถิ่นที่ก่อเกิดและอยู่อาศัย รวมทั้งต้นมะม่วงและวัฒนธรรมระบบอาวุโสอย่างที่หนายแสนเหมียงเล่าถ่ายทอดและนำมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่งชุมชนที่ต่างถิ่นกันนี้ หากให้คนอื่นที่เป็นคนภายนอกคุยและเขียนเป็นความรู้เกี่ยวกับชุมชน ก็คงจะถูกมองข้ามและไม่เห็นความสำคัญ ในขณะที่สำหรับชาวบ้านแล้ว กลับเป็นเหมือนชีวิตและจิตวิญญาณของหมู่บ้าน นำมาเล่าและเก็บรวบรวมไว้เถอะครับ
    • เมื่อก่อนคนแถวบ้านผมเวลานึกถึงอุตรดิตถ์แล้วก็มักจะนึกถึงรางสาด เหล็กไหล และเมืองลับแลครับ ผมเองนั้นก็มักจะนึกถึงอุโมงค์รถไฟถ้ำขุนตาลและการแสวงหาเส้นทางสร้างถนนและรถไฟเชื่อมโยงถึงกันของภาคเหนือกับภาคกลาง นึกถึงบ้านของหม่อมคึกฤทธิ์ท่ามกลางดงต้นสนสามใบและลุงแก่ๆที่อยู่ในบ้านไม้ที่คอยเฝ้าอย่างโดดเดี่ยวอยู่กลางขุนเขา แล้วก็นึกถึงเสือสมิงและบรรยากาศล่องป่าอย่างในงานเขียนของพนมเทียนที่เคยอ่านเมื่อตอนเด็กๆ
    • แวะมาเยือนกันอีกนะครับ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    • ก่อนอื่นก็ต้องขอต้อบรับท่านผู้อ่านและท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือนทุกท่านด้วยความยินดี
    • วันนี้เข้าไปในเมืองพิษณุโลก กลับมาเห็นมีแขกมาเยี่ยมเยือนถึงบ้านก็รู้สึกยินดีและขอบคุณมากที่ท่านมาให้กำลังใจชาวหนองบัว
    • ตามธรรมเนียนคนหนองบัวก็ต้องต้อนรับผู้มาเยือนถึงเรือนชานด้วยเมนูเด็ดประจำเมืองหนองบัวแก่ท่านด้วยพริกเกลือท่านละกระปุกสองกระปุกสำหรับมิตรภาพที่ดี
    • ติดต่อวงกลองยาวแล้วไม่ว่าง พอดีมีงานเข้า เพราะว่างมานานแล้ว มือกลองต้องไปรับจ้างขุดมันสำปะหรัง และสับมันที่หน้าโรงงาน
    • ได้อ่านข้อเขียนคุณครูอ้อยเล็กแล้วนึกเห็นภาพอำเภอชุมแสงซึ่งติดกับอำเภอหนองบัวเลย แต่ชุมแสงพื้นที่ต่ำมีน้ำท่วมทุกปีชาวบ้านก็จะมีเรือไว้ใช้หน้าน้ำ ซึ่งผิดกับหนองบัวเป็นที่ดอนโดยเฉพาะบ้านหนองบัวหนองกลับไม่มีเรือและพายเรือก็ไม่เป็นอีกด้วย
    • เคยลองฝึกพายเรือที่คลองห้วยน้อยครั้งหนึ่งแต่เรือมันวน ไม่ยอมเคลื่อนตัวไปข้างหน้า น้ำก็ลึกมากด้วยกลัวตกน้ำเลยต้องล้มเลิก คนบ้านดอนมีประสบการณ์คือการขับเกวียน
    • เวลาไปไหว้องค์พระปฐมเจดีย์ที่นครปฐมแล้ว ได้เห็นพระเณรและแม่ชีท่านนั่งเรียนบาลีที่วิหารคตหรือศาลารายรอบองค์พระแล้วก็นึกถึงบรรยากาสการศึกษาสมัยเก่าก่อน ห้องเรียนมีสภาพเป็นธรรมชาติ จิตใจก็หวนรำลึกถึงอดีตอันไกลโพ้นไปด้วย
    • ขอบคุณคุณหนานแสนเหมียงที่แวะมาเยี่ยมเยือนคนหนองบัว
    • สหรับอุตรดิตถ์แล้วเคยไปที่อำเภอท่าปลา ได้ชมเขื่อนดินที่ท่าปลามีสภาพธรรมที่สวยงามมาก เป็นเมืองที่มีตำนานเรื่องราวน่าสนใจมากมายมีผลไม้ที่มีชื่อเสียงแยะ
    • ขอให้คุณหนานแสนเหมียงนำเรื่องราวในชุมชนอำเภอบ้านโคก มาให้ชาวหนองบัวศึกษาเรียนรู้บ้างในโอกาสต่อไปจะยินดีอย่างมาก
    • คุณครูจุฑารัตน์เล่าเรื่องกลิ่นโคลนสาบควายแล้วเลยรู้สึกอบอุ่นขึ้นมาทันทีเพราะเรามีเพื่อนร่วมประสบการณ์เดียวกันแล้ว ต่อจากนี้คงไม่เหงาอีกต่อไป

    ขอเจริญพร

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล...

    • เวลาไปไหว้องค์พระปฐมเจดีย์ที่นครปฐมแล้ว ได้เห็นพระเณรและแม่ชีท่านนั่งเรียนบาลีที่วิหารคตหรือศาลารายรอบองค์พระแล้วก็นึกถึงบรรยากาสการศึกษาสมัยเก่าก่อน ห้องเรียนมีสภาพเป็นธรรมชาติ จิตใจก็หวนรำลึกถึงอดีตอันไกลโพ้นไปด้วย
    นำภาพระเบียงคตและการเรียนพระปริยัติธรรมของพระและเณรมาฝากค่ะ...ครูอ้อยเล็กชอบไปไหนติดกล้องไปด้วยเสมอ..ด้วยเห็นความสำคัญว่าบางทีเราเก็บความทรงจำไว้ด้วยภาพถ่ายเป็นการดีที่สุด..ตอนนี้เทคโนโลยีก็ก้าวไกลสามารถช่วยเราจดจำเหตุการณ์ต่างๆได้เป็นอย่างดี..ดังที่ว่าภาพเพียง 1 ภาพ เล่าเรื่องราวได้ดีกว่าคำบรรยายหลายๆบรรทัดด้วยซ้ำไปค่ะ....
    ระเบียงคต ทุกครั้งที่ไปนมัสการพระร่วงโรจนฤทธิ์หรือมีกิจกรรมที่เกี่ยวพันกับองค์พระปฐมเจดีย์ ครูอ้อยเล็กจะนึกถึงช่างสมัยก่อนเป็นที่สุด..ชมชื่นว่าคนสมัยก่อนรุ่นปู่ย่าตายายของเราเก่งจริงๆเลย..สามารถสร้างสิ่งเจดีย์องค์ใหญ่จนเคยได้เป็น 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก ได้สัดส่วนแม่นยำไม่มีบิดเบี้ยวเลยค่ะ..
    ด้านในเป็นที่เรียนของพระและเณร..ลมเย็นตลอดเวลาค่ะ..

    สวัสดีค่ะอาจารย์

    อ่านบันทึกแล้ว อาจารย์คงมีงานที่รับผิดชอบมาก และคงยุ่งกับงานอย่างงหนัก

    รักษาสุขภาพนะคะ

    อ้อ อยากขอทราบที่อยู่โดยละเอียด และชื่อผู้รับของโรงเรียนวันครูด้วยน่ะค่ะ เพราะทราบแต่ชื่อ อำเภอ จังหวัดเท่านั้นค่ะ

    ขอบพระคุณค่ะ

    กลองยาว แตรวง และกิจกรรมทางศาสนา กับการสร้างชีวิตความเป็นชุมชน

  • อ่านที่พระคุณเจ้าบอกว่ามือกลองยาวกำลังไปรับจ้างขุดมันสำปะหลังและสับมันอยู่หน้าโรงงานแล้ว ก็ต้องขำครับ
  • ในความเป็นจริงก็จะเป็นอย่างนั้นนะครับ เมื่อก่อนที่ผมอยู่บ้านตาลินและเล่นแตรวงนั้น บางทีก็เกี่ยวข้าวอยู่ครับ แต่จู่ๆก็อาจจะมีความจำเป็นต้องรวมตัวแตรวงไปช่วยงานกันอย่างปัจจุบันทันด่วน เช่น มีคนเสียชีวิตและจัดการงานศพ ก็ต้องไปช่วยงานกัน มีงานวัด กฐิน ผ้าป่า ที่เกิดมีคนมาถึงมืดค่ำและไม่มีอะไรต้อนรับแขกเหรื่อต่างชุมชน ก็ต้องไปเล่นรำวงให้ชาวบ้านอยู่ด้วยกันเพื่อทำบุญด้วยกันในวันรุ่งขึ้น 
  • พอเป็นอย่างนี้ก็ต้องเดินตามกัน บางทีก็กำลังโก้งโค้งเกี่ยวข้าวหรือเลื่อยไม้อยู่กลางทุ่งตัวมันเลื่อมอยู่โน่นแหละครับ บางทีก็ทอดแห ลอยคองมปลากันอยู่ในคลอง บางคนก็โน่นไปหักข้าวโพดและเก็บถั่วเขียวอยู่ในไร่เขามรกตโน่น พอครบวงก็ไปครับ พอล้างโคลนและหมาดเหงื่อก็ต้องทำความไพเราะ ความรื่นรมย์ หรือเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมและกิจกรรมให้กับชุมชน
  • พระเณร โฆษกชุมชนและมัคนายกก็เหมือนกันครับ บางทีกำลังมุงกระเบื้องและทำจั่วศาลาอยู่ ก็ต้องลงมาและไปทำหน้าที่ให้กับชุมชน ผมคุ้นเคยกับบรรยากาศและวิถีชีวิตอย่างนี้ดีครับ เพราะเวลาแตรวงไปถึงแล้ว ไม่นานก็จะเป็นพระ และเวลาพระถึงบ้านงาน รวมทั้งหลังจากสวดและเสร็จสิ้นพิธีกรรม แตรวงก็จะมีเพลงเล่นบูชาพระรัตนตรัยและเพลงประกอบพิธีกรรมอย่างเป็นการเฉพาะ คนได้ยินก็จะรู้ว่าจะต้องเตรียมตัวและรู้ลำดับสิ่งที่จะต้องทำไปด้วยกันอย่างพร้อมเพรียง ชาวบ้านก็อยู่ด้วยกันมาอย่างนี้ เป็นชีวิตจิตใจและลมหายใจเดียวกัน
  •                                        

  • สิ่งต่างๆที่ชาวบ้านประดิษฐ์และสร้างขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่จะทำขึ้นมาเพื่อธำรงความเป็นกลุ่มก้อนและสานความเป็นชีวิตของชุมชน มีความเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและความเป็นเหตุเป็นผลเพื่อขับเคลื่อนสิ่งต่างๆของชุมชนอยู่ การเห็นสิ่งนี้แล้ว จึงควรศึกษา-เรียนรู้ชุมชนให้รอบด้าน มีความเป็นบูรณาการ สะท้อนบริบทชุมชน หากทำอย่างแยกส่วนสิ่งต่างๆก็จะขาดหายไปมากมาย เช่น หากคิดว่าแตรวงและกลองยาว เป็นดนตรีที่มีความไพเราะอยู่ที่ตัวโน๊ด เสียงบรรเลง และทักษะของผู้แสดงออกมา ก็จะได้แต่เพลงบรรเลงและการเล่นที่ดี แต่ไม่ได้พลังของชีวิตที่อยู่ในดนตรีและกลองยาว อย่างนี้เป็นต้น
    • ขอบคุณคุณครูอ้อยเล็กที่นำภาพระเบียงคดและการศึกษาของพระภิกษุสามาเณรมาถ่ายทอดและบันทึกไว้ร่วมกับคนหนองบัวครับ ระเบียงคดขององค์พระปฐมเจดีย์นั้นถือเป็นอัจฉริยภาพทางสถาปัตยกรรมของคนเก่าก่อนมากนะครับ ที่อื่นก็พอมีครับ แต่โดยมากจะทำให้โค้งเพื่อแก้ปัญหาการย่อมุมที่ไม่ลงตัว ที่โค้งและคดโดยออกแบบให้กลมกลืนรอบเจดีย์ เพื่อขับให้องค์เจดีย์เป็นประธาน เหมือนกับจัดวางองค์ประกอบต่างๆให้ไปด้วยกันทั้งอาณาบริเวณนั้น ก็มีที่องค์พระปฐมเจดีย์นี่แหละครับ
    • คุณครูอ้อยเล็กนอกจากถ่ายภาพและบอกเล่าด้วยภาษาภาพถ่ายกับภาษาศิลปะได้ดีมากอย่างยิ่งแล้ว ยังให้ความรอบรู้และเขียนถ่ายทอดได้ดีจริงๆมากด้วยนะครับ เป็นครูและสื่อการเรียนรู้ที่บูรณาการดีจังเลยครับ มีภาพเยอะๆและเกร็ดเรื่องราวอย่างนี้ดีครับ คนที่เป็นครูบ้านนอกและเด็กๆในต่างจังหวัด จะได้มีสื่อการเรียนการสอนที่หลากหลาย เป็นการช่วยเสริมกำลังกันให้ทำงานได้เข้มแข็งและดีขึ้นในทางอ้อมน่ะครับ
    • ขอบคุณครับคุณณัฐรดา
    • แล้วก็อนุโมทนาในสิ่งที่กำลังทำให้สังคมนะครับ 
    • คงต้องยอมให้คุณณัฐรดาส่งไปบริจาคเองแล้วนะครับ แต่เดิมผมบอกน้องๆว่าผมขอมีส่วนร่วม จะซื้อหนังสือของคุณณัฐรดาไปบริจาคให้ จะได้ไม่เบียดเบียน เกินแรงของคนที่อยากทำเพื่อส่วนรวม และทำอย่างนี้ได้นานๆ
    • ชื่อโรงเรียนและชื่อผู้อำนวยการคงบอกได้นะครับ เพราะเผยแพร่อยู่ทั่วไปและค้นหาทางอินเตอร์เน็ตนี้ก็มีอยู่แล้ว คือ
    • นายประสงค์ เดือนหงาย ผู้อำนวยการ โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) หมู่ ๕ ตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ๖๐๑๑๐ ครับ
    • ขออนุโมทนาด้วยครับ ผมจะสานต่อกิจกรรมของคุณณัฐรดาด้วยแน่นอนครับ กำลังเตรียมอยู่ครับ จะให้เด็กเรียนศิลปะโดยวาดรูปวิจัยชุมชน แล้วก็เอาชาวบ้านมานั่งถอดบทเรียนและถ่ายทอดประสบการณ์รวบรวมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับชุมชน ตอนนี้ที่เขียนไปก่อนหน้านี้ใน GotoKnow ก็ถือว่าเป็นการซ้อมมือ-ซ้อมวิชาและให้มีตัวอย่างที่จะสื่อกับชาวบ้านและคนที่เกี่ยวข้องต่างๆให้เขาเห็นภาพว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไรและดีต่อชุมชนอย่างไร  ตอนนี้พร้อมพอสมควร รอจังหวะที่จิตว่างๆสักหน่อยเท่านั้นเองครับ

    กราบสวัสดีครับ ท่านอาจารย์ วิรัตน์ และทุกๆท่านที่มาเพิ่มเติมแหล่งความรู้

    • จากวันนั้นจนถึงวันนี้ผมเองยังไม่หายตื่นเต้น กันเวทีแห่งนี้เลยครับ ทุกครั้งที่เปิดเข้ามาผมมีความรู้สึกว่าขนลุกอย่างไรชอบกลถ้าพูดกันแบบชาวบ้านก็คือจับอะไรไม่ถูกเลยทีเดียวแต่ก็ต้องขอขอบพระคุณท่านอาจารย์วิรัตน์เป็นอย่างยิ่งด้วยครับเหมือนราวกับว่าเนรมิตรทุกสิ่งให้มาอยู่รวมกันยิ่งกว่า ห้างสรรพสินค้าเสียอีกด้วย เมื่อนักแสวงหาแหล่งความรู้ ย่างก้าวเข้ามาก็จะได้รับความรู้หลากหลายติดมือกลับไปที่สุดนี้คือหากน้องๆนักเรียน ที่ต้องการหาข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนและวัดเพื่อทำรายงานส่งครูก็ไม่ต้องออกเดินไปตามหมู่บ้านเช่นเคยแล้ว และอีกอย่าง ท่านผู้ปกครองก็ไม่ต้องกังวลอีกด้วยครับ
    • พอจะช่วยอะไรอาจารย์ได้บ้างครับ
    • ภาพนี้ที่บ้านผมเรียกว่า หยกปลาช่อนครับ
    • ใช้คันเบ็ดใหญ่ๆหยก ตามทุ่งนา หรือแถวคลองที่น้ำไหล
    • ใช้ลูกเขียดเป็นเหยื่อล่อ
    • ตอนเด็กๆๆผมทำบ่อย
    • พอโตมาไม่เห็นใคร จับปลาด้วยวิธีนี้แล้วครับ
    • รอไปช่วยถอดบทเรียนด้วยได้ไหมครับ

    การเป็นแหล่งทรัพยากรความรู้ ส่งเสริมการพัฒนาการเรียนรู้ชุมชนและส่งเสริมการพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียน

     

    สวัสดีครับคุณเสวก ใยอินทร์

    เห็นด้วยต่อการเล็งเห็นการสร้างความรู้และแหล่งการเรียนรู้ชุมชนไว้หนุนโรงเรียน

    • ประเด็นการเป็นแหล่งสนับสนุนการพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนอย่างที่คุณเสวกพูดถึงนั้น  ผมเห็นด้วยและขอสนับสนุนอย่างที่สุดเลยครับ ผมเห็นข้อเสนออย่างนี้แล้วก็ทั้งตื้นตันใจและเห็นประโยชน์ที่จะเป็นตัวบอกเราไปในตัวด้วยว่าเราจะร่วมมือกันผ่านการสร้างความรู้ตุนไว้ในนี้อย่างไรบ้าง อย่าว่าแต่โรงเรียนเลย องค์กรท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และกลุ่มคนที่ทำงานในท้องถิ่น ก้สามารถที่จะนำเอาเรื่องราวต่างๆที่พอมีประเด็นและข้อมูลจากท้องถิ่นอยู่บ้าง ไปเป็นข้อมูลในการคิดและพิจารณาเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องของท้องถิ่น ได้นะครับ

    ขึ้นฐานไว้รองรับเครือข่ายการเสริมกำลังกันของบ้าน วัด และโรงเรียน เพื่อสร้างสุขภาวะสาธารณะของชุมชน

    • การมีเครือข่ายจัดการเรียนรู้และพัฒนาการเรียนการสอนร่วมกับชุมชนของสถานศึกษา เป็นเรื่องที่สำคัญและจะช่วยเสริมกำลังความร่วมมือของ บ้าน วัด โรงเรียน ให้ส่งผลดีต่อการพัฒนาเด็ก สร้างคน และพัฒนาตัวปัญญาของชุมชน ผมว่าหลายฝ่ายก็คิดและเห็นความสำคัญ โรงเรียนและสถานศึกษาก็คงคิดมากๆด้วย แต่ให้ทำโดยลำพังก็คงไม่ไหว เราทุกคนก็เคยผ่านโรงเรียนและเคยทำงานส่วนร่วมในชุมชนตามโอกาสต่างๆก็พอจะทราบสภาพความเป้นจริงอยู่ว่า เอาแค่มีกำลังคนให้พอกับการทำงานอย่างในปัจจุบัน สังคมของเราก็ขาดแคลนมากมายครับ  หากไม่มีผู้คนจำนวนหนึ่งในภาคสังคมและภาคประชาชนที่มีจิตสาธารณะลุกขึ้นมาเป็นกำลังจากนอกภาคที่เป็นทางการแล้วละก็ ระบบและองค์กรทั้งหลายก็คงจะพังทลายไปหมดเพราะไม่มีกำลังส่ง พอจะให้ปรับตัวไปสู่สภาพแวดล้อมใหม่ๆได้ การช่วยกันทำอย่างนี้โดยเล็งเห็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อเด็กๆ เลยเป็นการมีส่วนร่วมและร่วมมือกันสร้างสิ่งดีอย่างยิ่งครับ ในระดับครอบครัวและสถานศึกษานั้น การที่เด็กๆมีแหล่งการเรียนรู้และทรัพยากรการเรียนรู้ดีขึ้น คงจัดได้ว่าเป็นสุขภาวะอย่างหนึ่งทั้งของครอบครัว ครู สถานศึกษาและชุมชน ได้กระมังครับ

    เป็นแหล่งความรู้และข้อมูลชุมชนอีกทางหนึ่ง

    • การมีแหล่งความรู้และวัตถุดิบที่เป็นข้อมูลชุมชน ทั้งแหล่งบุคคล หน่วยงาน รูปภาพ ภาพถ่าย ความรู้  ขุมความรู้และเครือข่ายการเรียนรู้-เครือข่ายความรู้มากมายทั้งระดับประเทศและสามารถเชื่อมโยงออกไปได้ทั่วโลกโดยใช้หัวข้อของชุมชนหนองบัวเป็นตัวตั้งอย่างที่ทุกท่านช่วยกันทำนี้ คุณครูในอำเภอหนองบัวพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนและพัฒนาหลักสูตรบูรณาการ ที่สามารถบูรณาการทั้งบริบทท้องถิ่นและโลกาภิวัตน์ได้อย่างดีแน่นอนครับ
    • เวทีชุมชนและการประชุมขององค์กรท้องถิ่นก็สามารถดึงข้อมูลทุกชนิดในนี้เข้าไปเปิดประเด็นหารือเพื่อการทำงานสร้างสุขภาวะหนองบัวได้อย่างดีเช่นกันครับ เรื่องราวต่างๆที่ได้ช่วยกันรวบรวมและสร้างขึ้นนี้ มีแต่เรื่องที่จะเป็นความภาคภูมิใจของคนหนองบัว เป็นด้านที่เป็นศักยภาพและความเข้มแข็งของหนองบัวทั้งสิ้น อีกทั้งมีความเป็นจริงอยู่ในคนหนองบัวรองรับอยู่มากมายครับ เป็นฐานความรู้ที่ทำให้ชาวบ้านยืนขึ้นอย่างสง่างามได้ครับ

     

                              

     

    • ผมเลยเอารูปที่คุณเสวกวาดเพื่อแสดงให้เห็นวิธีการยาลานด้วยขี้ควายและวิถีชีวิตชุมชนการผลิตของชาวหนองบัว มาแสดงไว้ที่นี่ด้วยนะครับ ส่วนใครจะเข้าไปคุยต่อ ก็เลื่อนขึ้นไปข้างบน เข้าไปในลิ๊งค์หัวข้อ กลุ่มพริกเกลือ ได้เลยครับ ที่หัวข้อนั้นก็สนุกครับ
    • ใช่เลยครับอาจารย์ขจิตครับ การหยกปลาอย่างนี้ได้แต่ปลาช่อนอย่างเดียวเลย และแถวหนองบัวก็เรียกว่าหยกปลา ล่อเบ็ด ล่อปลา ที่จะได้ยินบ่อยที่สุดเลยก็คือล่อเบ็ดครับ
    • แถวหนองบัวจะใช้เขียดกับลูกปลาหมอเป็นเหยื่อ
    • อาจารย์ทำได้นี่เก่งมากนะครับ ผมเคยทำ ให้ผมยืนทำอย่างนี้สัก ๑๐ นาทีก็ตะคริวกินทั้งตัวแล้วครับ
    • งั้นขออนุญาตอาจารย์เลยนะครับ ขอเรียนเชิญอาจารย์มาเป็นกำลังวิชาการเวทีนี้อีกท่านหนึ่ง ท่านพระมหาแลและคนหนองบัวเคยเสนอไว้ตั้งนานแล้วครับที่จะเชิญอาจารย์มาเป็นเครือข่ายทางวิชาการด้วย อาจารย์จะแวะเวียนมาบ้างก็ตามสะดวกครับ ไม่อยากให้เป็นภาระ เอาแค่มีปฏิสัมพันธ์เสริมกำลังปัญญาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนอย่างนี้ก็ถือว่ามากแล้วครับ
    • ด้วยความยินดีครับ
    • ดีใจมากๆๆเลยครับที่จะได้ช่วยอาจารย์และชาวหนองบัว ถือโอกาสได้เรียนรู้ด้วย ต่อไปอาจมีชาวหนองขาว ชาวพนมทวน มีการเรียนรู้แบบนี้บ้างครับ
    • ขอบพระคุณมากครับ

    P อาจารย์ดร.ขจิตคะ..แวะหน่อยนะคะ..ตามลิ้งข้างล่างค่ะ..ขอบคุณค่ะ..

    http://gotoknow.org/blog/frind08/296853

    • ขอบคุณและยินดีร่วมกับทุกคนเลยครับอาจารย์
    • ชาวหนองขาวและพนมทวนมีทุนสังคมเรื่องนี้ไปไกลมากแล้วครับ หลายอย่างผมก็ได้ประสบการณ์กับคนหนองขาวครับ ท่านศาสตราจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ทั้งในนามมูลนิธิเล็ก-ประไพ พิริยะพันธุ์ และในนามมหาวิทยาลัยศิลปากร รวมทั้งลูกศิษย์ลูกหาของท่าน กับกลุ่มนักวิจัยแนวประชาคมจากมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรีกับเครือข่ายกลุ่มต้นน้ำแคว-ประชาคมเมืองกาญจน์ ได้ไปทำงานแนวนี้กัน และชาวบ้านก็สามารถลุกขึ้นมาทำสิ่งต่างๆด้วยตนเองกันได้มากมาย 
    • หากมีอาจารย์ไปสมทบที่นั่นอีกก็ยิ่งเสริมความเข้มแข็งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง อันที่จริงหากมีโอกาส ผมจะชวนเพื่อนๆและคนหนองบัวที่มีความสนใจแนวทางการทำงานชุมชนการเรียนรู้จากการทำจริงๆในวิถีชีวิตของเราเอง ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนหนองขาวและคนพนมทวนก็คงจะดีนะครับ พื้นฐานของชุมชนคล้ายกันมากเลยครับ
    • ขอบคุณมากเลยนะครับที่อาจารย์จุดประกายให้ในทางอ้อม

    คิดให้ได้พลังใจไปกับเพลง

  • คุณครูอ้อยเล็กแวะมาโฉบอาจารย์ขจิต ฝอยทอง ไปฟังเพลง Wind of Change ของวงแมลงป่องแน่ะ
  • เพลงแนวนี้ต้องฟังมาโนช พุฒตาลคุยให้ฟัง ได้ทั้งมิติดนตรี ปูมหลังของแรงบันดาลใจ  dialogue และ discourse เกี่ยวกับสังคม กับการเรียนรู้ทางสังคม
  • ฟังเพลงนี้ทีไร ผมมักนึกถึงอีก ๒ เพลงขึ้นมาด้วยคือ Blowing in the Wind ของ Bob Delan และ Imagine ของวง ๔ เต่าทอง
  • ใน Blowing in the Wind เหมือนเพลงถอนหายใจว่า คำตอบต่อทุกๆอย่าง(ของสังคม) ก็เหมือนกับสายลมที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ซึ่งน่าจะต่างจากมุมมองใน Wind of Change ของวงแมลงป่องนะครับ ...ดูแลความใฝ่ฝันของเรา (ว่าโลกจะไม่ต้องมีทหารและการล้างทำลายกัน โลกทั้งผองเป็นพี่น้องกัน) เหมือนบ่มเพาะให้เด็กๆลูกหลานแห่งวันพรุ่งนี้หรือการมีความหวัง-ความฝันใฝ่ของเราเอง ได้เติบโตงอกงามในภายหน้า 
  • ไม่เหมือนอารมณ์เพลงอย่างใน Blowing in the Wind ซึ่งทอดอาลัย ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นดังสายลมที่ผ่านเลย คล้ายๆกับบ่นสู่กันว่าสิ้นหวังเหลือเกินเพื่อนเอ๋ย ทำนองนั้น
  • ใน Imagine ของวง ๔ เต่าทอง ก็เหมือนกับจะบอกว่า ถึงแม้เราจะต้องเผชิญกับสิ่งที่เกินจะเป็นไปได้ในโลกแห่งความเป็นจริงอีกมากมาย แต่ฝันและหวังไปก่อน  เพราะอย่างน้อย ผู้คนแม้แตกต่างกันมากมาย ก็สามารถฝ่าข้ามไปมีความฝันร่วมกันได้
  • คุยเรื่องเพลงก็มีความสุขดีเหมือนกันนิคุณครูอ้อยเล็ก แต่คุยกับอาจารย์ขจิตนี่คุณครูอ้อยเล็กต้องคุยเรื่องเพลงเหย่ยสิเนาะ
  • Pค่ะท่านอาจารย์ขจิตท่านก็ได้ช่วยหาที่เขาแปลมาแล้ว..มาวางไว้ให้เสร็จสรรพแล้วค่ะ..

    วิธีนี้บ้านครูอ้อยเล็กก็เรียกว่า..ล่อปลาเหมือนกัน..ก็จะมีเหยื่อที่มันดิ้นกระดุ๊กกระดิ๊กได้เป็นตัวล่อ..แต่ถ้าเหยื่อทนพิษบาดแผลไม่ไหวตายไป..ก็ใช้วิธียกเหยื่อขึ้นลงอันเป็นคำที่มาของอาการหยกปลาก็ได้นะคะ คือยกขึ้นลงแบบสั้นๆเร็วบ้างช้าบ้างตามแต่สถาณการณ์ละมังคะ..วิธีนี้จะได้ปลาช่อนแน่นอนเพราะปลาช่อนต้องโผล่มาหายใจที่ผิวน้ำเป็นระยะๆ แต่ด้วยว่าแถวบ้านครูอ้อยน้ำมากค่ะ..เบ็ดที่นิยมจึงเป็น..เบ็ดราว..คือเบ็ดที่ขึงระหว่างฝั่งคลอง มีเบ็ดผูกไว้เป็นระยะห่างกันพอควร..จะวางไว้ตอนหัวค่ำ เช้ามือค่อยไปดูผลงานค่ะ..กิจกรรมนี้ครูอ้อยเล็กไม่ได้มีส่วนร่วมเท่าใดเพราะเป็นกิจกรรมของเด็กผู้ชายซะมากกว่า..ส่วนอีกเบ็ดหนึ่ง คือเบ็ดปัก...เป็นเบ็ดที่เหลาไม้ไผ่ที่ไม่แก่เกินไปไม่อ่อนเกินไป เป็นไม้กลม ยาวประมาณคันละ 60 -80 เซนติเมตร งอแล้วนำไปลนไฟให้เซทตัวโค้งพอประมาณ ควั่นปลายไม่ให้เป็นร่อง นำเบ็ดพร้อมตะกั่วที่ผูกไว้เรียบร้อยแล้วผูกติดลงในร่องที่ปลายไม้นั้น ส่วนปลายไม้อีกด้านหนึ่งเหลาให้แหลม เพื่อใช้เป็นส่วนที่ปักลงกับดิน..ทีนี้ก็เป็นขั้นตอนของการหาทำเลที่ปักเบ็ดจะหาชายฝั่งคลองที่มีกิ่งไม้ปกคุมแหวกแล้วปักไว้ด้วยเหยือลูกปลา น่าสงสารลูกปลาวิ่งไปมา..เฮ้อแต่ตอนนั้นเป็นเด็กท้องนาชีวิตทุกชีวิตต้องดิ้นรนอยู่รอด..ก็ไม่ค่อยได้คิดอะไรค่ะ..แม่กับพ่อมักบอกเสมอว่ามันเป็นอาหารค่ะ..

    ข้อมูลที่ไปรวบรวมมาขององค์พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐมค่ะ..

    http://gotoknow.org/blog/fora1/267858

    อาจารย์ครับ ขอขอบพระคุณอาจารย์มากครับที่เข้าไปเยี่ยม ผมตอนนี้อาการไม่สู้ดีนักครับ เพราะมีงานค่อนข้างมากและมีเรื่องให้คิดทบทวนตัวเองมากเลย เหมือนจะเบลอๆอย่างไรไม่รู้ครับ ผมยินดีมากครับที่จะเป็นเครือข่ายด้วยนับเป็นเกียรติมากเลยครับ ผมเปิดประตูเข้ามาบ้านอาจารย์ ทึ่งครับ สำหรับลายเส้นที่บรรจงวาดลงไป สวย แม่นยำ มีพลังครับ...

    เบ็ดสำหรับปักในนาข้าว

              "...ส่วนอีกเบ็ดหนึ่ง คือเบ็ดปัก...เป็นเบ็ดที่เหลาไม้ไผ่ที่ไม่แก่เกินไปไม่อ่อนเกินไป เป็นไม้กลม ยาวประมาณคันละ 60 -80 เซนติเมตร งอแล้วนำไปลนไฟให้เซทตัวโค้งพอประมาณ ควั่นปลายไม่ให้เป็นร่อง นำเบ็ดพร้อมตะกั่วที่ผูกไว้เรียบร้อยแล้วผูกติดลงในร่องที่ปลายไม้นั้น ส่วนปลายไม้อีกด้านหนึ่งเหลาให้แหลม เพื่อใช้เป็นส่วนที่ปักลงกับดิน...." วัชรี โชติรัตน์ โรงเรียนเทศบาล ๔ (เชาวนปรัชาอุทิศ) นครปฐม ๒๕๕๒ จาก dialogue box ๗๗

                      

                      เบ็ดปัก เป็นเบ็ดสำหรับปักตามคันนาของนาข้าว ชาวบ้านจะปักเบ็ดโดยใช้เหยื่อในลักษณะต่างๆ คือ ใช้เหยื่อไส้เดือนสำหรับแหล่งที่มีปลาดุก ปลาหมอ และปลาที่ว่ายน้ำหากินตามผิวดิน เช่น ปลาไหล ปลาหลด และปลาขนาดเล็ก โดยเฉพาะในระยะที่น้ำเพิ่งหลากมา การปักเบ็ดในลักษณะนี้จะปักแบบก้มคันเบ็ดเกือยติดผิวน้ำเพื่อให้สายเบ็ดและเหยื่อหย่อนลงไปถึงผิวดิน

                      เหยื่อเขียดและลูกปลาตัวเล็กๆ  จะเป็นเหยื่อที่เหมาะสมสำหรับปักเบ็ดเมื่อน้ำเริ่มทรงแล้ว หรือเป็นระยะที่ปลาเริ่มโต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปลาช่อน ปลาค้าว ปลากด การปักเบ็ดโดยใช้เหยื่อเขียดแบบนี้ จะโหย่งคันเบ็ดให้สูงและให้เขียดและลูกปลาลอยลงไปในน้ำครึ่งตัว การดีดตัวของเขียดบนผิวน้ำ และการวิ่งอยู่บนผิวน้ำของเหยื่อลูกปลา จะทำให้ปลาขนาดใหญ่โผเข้ากินเบ็ด ในทุ่งนาที่มีน้ำลึกและนิ่งมักนิยมปักเบ็ดแบบนี้

    • ขอบคุณทั้งคุณครูอ้อยเล็กและอาจารย์กู้เกียรติเลยนะครับ
    • เลยวาดรูปประกอบบทความของคุณครูอ้อยเล็กไปด้วยเลย เหมือนทำงานร่วมกันกับผู้น้องทั้งสองเพื่อเป็นที่ระลึกนะครับ
    • ขอให้สุขภาพดีนะครับ อาการอย่างนี้เหมือนเป็นการพักผ่อนไม่เพียงพอและทำงานต่อเนื่องจนล้าเกินไปนะครับ หากดื่มกาแฟก็ต้องรีบลดหรือหยุดชั่วครู่ก็จะดีนะครับ
    • หาโอกาสนอนแผ่ แขนวางข้างลำตัวและผายมือออกแบบท่า anatomical position หลับเปลือกตาเบาๆ แล้วหายใจเข้า-ออกลึกๆเหมือนทำอาณาปนสติ(หากทำเป็นก็ยิ่งดีใหญ่เลยครับ) สักวันลำ ๒๐-๓๐ นาที หากทำจิตใจนิ่งไปด้วยได้จะสดและฟื้นตัวได้เร็วมากกว่านอนหลับอีกครับ
    • หากหยุดทำงานลุยๆไม่ได้  ต้องหาเวลาทำสลับกับการทำงานเป็นระยะๆจะดีครับ

    82.

    อ้อยเล็ก
    เมื่อ อ. 15 ก.ย. 2552 @ 17:44
    #1553346 [ ลบ ]

                        

    ถูกต้องแม่นยำค่ะนี่คือวิถีที่ในตอนนั้นไม่มีแม้กล้องจะถ่ายภาพ..แต่อาจารย์สามารถถ่ายทอดตามคำบอกเล่าได้อย่างถูกต้องแม่นยำ..เอครูอ้อยนี่อายุเท่าไหร้หนอ..อิๆถึงได้คุยกะอาจารย์รู้เรื่องน่ะคะ..

     

    • นั่นน่ะสิ ที่สำคัญคือเรื่องพวกนี้เด็กๆผู้หญิงมักจะไม่ค่อยมีประสบการณ์ มันเป็นกิจกรรมชีวิตที่จะต้องไปอยู่กลางทุ่งนา หากเป็นกลางวันก็จะอยู่กลางเปลวแดด ทั้งพ่อแม่และพี่ๆน้องๆก็จะไม่ยอมให้ผู้หญิงไปลำบาก หากเป็นกลางคืนก็จะลำบาก
    • เวลาทำปลา พวกผม พวกผู้ชาย เมื่อถึงเวลาก็จะต้องทำหน้าที่ทำปลาให้แม่และทำแทนน้องๆผู้หญิง ไม่ต้องให้บอก เป็นวิถีปฏิบัติของชาวบ้านครับ
    • ร่วมมือวาดเก็บๆไว้ร่วมกับคุณครูอ้อยเล็ก พระมหาแล คุณเสวก และทุกท่าน ก็สนุกดีเหมือนกันครับ แล้วก็เป็นข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวบ้านไปด้วย เผื่อเด็กๆและคนท้องถิ่นจะได้เอาไปใช้ประโยชน์ครับ
    • ในรูปที่วาดลักษณะเบ็ดและการปักเบ็ด ร่วมกับเนื้อความที่คุณครูอ้อยเล็กเขียนด้วยนั้น อุปกรณ์ทำมาหากินที่เห็นเด็กถืออยู่ในมือขวานั้น เป็นเครื่องสานอย่างหนึ่ง แถวบ้านผมเรียกว่า 'กะล็อก' เป็นเครื่องสานทำด้วยไม้ไผ่แล้วก็เย็บผ้าทำเป็นฝา ใช้ใส่เขียดสำหรับทำเป็นเหยื่อปักเบ็ด
    • แต่เวลาได้ปลา ก็จะใส่ในตะฆ่อง ลักษณะเหมือนกับที่วางอยู่ด้านข้างของเด็กที่อยู่ไกลออกไป เพราะจะสามารถแช่ไว้ในน้ำได้อยู่ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ปลาตาย

    พลังการวิจัยและพัฒนาเป็นกลุ่มประชาคม : สื่อการ์ตูนบูรณาการการเรียนรู้ ส่งเสริมสุขภาวะท้องถิ่นและพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นของสถานศึกษา

    ผมมีตัวอย่างสื่อการ์ตูนที่อยากนำมาเผยแพร่ให้ผู้สนใจในเวทีคนหนองบัวครับ เป็นตัวอย่างสื่อการ์ตูนที่เผยแพร่และใช้เพื่อการศึกษาไปแล้ว ผมเหลือไว้ดูอยู่เล่มหนึ่งเลยอยากเผยแพร่ไว้ในแหล่งรวบรวมและบันทึกความรู้นี้ อาจจะช่วยจุดประกายความคิดแก่คนหนองบัว รวมทั้งอาจเป็นแนวคิดสำหรับทำสิ่งที่หลายท่านกล่าวถึงในนี้ โดยเฉพาะการใช้ข้อมูล ความรู้ รูปภาพและสื่อ ไปเสริมกำลังให้กับการพัฒนาการเรียนรู้ทั้งสำหรับคนท้องถิ่น สถานศึกษา และกิจกรรมการเรียนรู้ในครอบครัว

    ข้อมูลเกี่ยวกับสื่อ : เป็นสื่อการ์ตูนประกอบคำกลอน รักษ์คลอง รักถิ่น เนื้อหาโดย จริยา ศรีเพชร  ข้อมูลโดยเครือข่ายประชาคมวิจัยสร้างองค์ความรู้ท้องถิ่นอำเภอพุทธมณฑล  วาดภาพโดย ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ระบายสี โดย รุจิรา คำศรีจันทร์ ทุนอุดหนุนการวิจัย โดย มหาวิทยาลัยมหิดล ๒๕๔๓

    กระบวนการผลิตและพัฒนา :

    การเรียนรู้และสร้างความรู้ท้องถิ่นเพิ่มพลังการปฏิบัติ : สื่อการ์ตูนนี้เกิดขึ้นโดยกระบวนการต่อยอดการวิจัยเสริมพลังการริเริ่มและปฏิบัติการของกลุ่มคนในท้องถิ่น อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ผู้ทำเนื้อหาและนำไปใช้เพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้สำหรับเด็กและชุมชนคือ จริยา ศรีเพชร ซึ่งในขณะที่ทำเมื่อปี ๒๕๔๓ นั้นเป็นครูในโรงเรียนบ้านคลองมหาสวัสดิ์ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ขาดโอกาสการพัฒนาในหลายด้าน กลุ่มเด็กๆส่วนใหญ่มาจากครอบครัวคนท้องถิ่นซึ่งยากจน 

    คุณครูจริยา ศรีเพชร เป็นเครือข่ายของกลุ่มประชาคมวิจัยละปฏิบัติการเชิงสังคมเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างบูรณาการในอำเภอพุทธมณฑล ในโครงการวิจัยดังกล่าวใช้วิธีระดมพลังกลุ่มคนในพื้นที่มาช่วยกันวิจัยสร้างองค์ความรู้ท้องถิ่น ทำให้ได้องค์ความรู้ท้องถิ่นกว่า ๒๕ ด้าน และเกิดเครือข่ายปัจเจกผู้มีจิตสาธารณะที่ได้รับการเสริมศักยภาพในการปฏิบัติการเชิงสังคมกว่า ๒๕๐ คนครอบคลุมหลายสาขา ทำให้มีพลังปฏิบัติการในเรื่องต่างๆอย่างมีพลังและเกิดความเชื่อมโยงผสมผสานมากขึ้นเป็นลำดับ

    แรงบันดาลใจแบบต่อยอดกิจกรรม : คุณครูจริยา ศรีเพชร ผ่านการศึกษามาทางสังคมศึกษา แต่ต้องสอนและทำงานหลายด้านในสภาพที่มีข้อจำกัดหลายประการ หลังจากสร้างองค์ความรู้ ได้ประสบการณ์มากขึ้นเกี่ยวกับชุมชน และได้เครือข่ายจากการวิจัยและปฏิบัติการเชิงสังคมในรูปกลุ่มประชาคม คุณครูจริยาจึงสามารถนำเอาความรู้และกลุ่มคนมาร่วมกันจัดกิจกรรมค่ายเรียนรู้สิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการให้แก่เด็กในโรงเรียนต่างๆของอำเภอพุทธมณฑล ดำเนินการ ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ มีเพื่อนๆและเครือข่ายช่วยกันทั้งอำเภอ เทศบาลก็ให้งบประมาณสนับสนุน ผมและทีมก็ไปช่วยทั้งเพื่อตามเรียนรู้และทำวิจัยเสริมพลังการดำเนินการ และให้การสนับสนุนทางวิชาการ กิจกรรมค่ายการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการดังกล่าว ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างเด็กอย่างกว้างขวาง เด็กๆจากโรงเรียนในอำเภอเข้าร่วมกว่า ๒๕๐ คน ชาวบ้านและคนในชุมชนได้ร่วมเป็นครูชุมชนให้เด็กๆ รวมทั้งใช้สวน นาบัว นาข้าว และแหล่งการผลิตสิ่งๆต่างในชุมชน เป็นแหล่งการเรียนรู้ เด็กๆมีกิจกรรมการเรียนรู้อย่างบูรณาการ ทั้งเป็นนักวิจัยน้อย การทำกิจกรรมกลุ่ม การระดมสมองและวางแผนนำเสนอเป็นกลุ่ม วาดรูป เล่นเกมส์ และกิจกรรมร้องเพลง

    เมื่อปิดกิจกรรมค่าย คุณครูจากโรงเรียนทุกคนดีใจที่เด็กๆและโรงเรียนของตนได้มีโอกาสทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมของชุมชนท้องถิ่นอย่างบูรณาการที่ร่วมแรงร่วมใจกันจัดขึ้น คุณครูจริยาก็ยิ่งดีใจเพราะเด็กๆและโรงเรียนของคุณครูไม่ค่อยมีโอกาส อีกทั้งหากทำเองโดยลำพังก็ไม่มีกำลังพอจะทำได้ จึงแต่งกลอนเพื่ออ่านบนเวทีตอนปิดค่ายกิจกรรม

    ทำการริเริ่มจากการใช้ความรู้ให้เป็นสื่อสำหรับใช้ทำงานต่อเนื่อง : ผมเห็นเป็นข้อมูลที่สืบเนื่องอยู่กับระบวนการเรียนรู้อย่างกว้างขวางของชุมชนและเครือข่ายสถานศึกษา จึงได้นำเอากลอนที่คุณครูแต่งและอ่านสดๆบนเวทีปิดกิจกรรมค่าย มาทำเป็นบทการ์ตูน วาดรูปการ์ตูน และขอให้คุณรุจิรา คำศรีจันทร์ นักวิชาการโสตทัศนศึกษา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระบายสีและทำเป็นต้นฉบับสื่อการ์ตูน จากนั้นได้ขอการสนับสนุนจากโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ทำเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ให้คุณครู เครือข่ายวิจัย และสถานศึกษาในชุมชนอำเภอพุทธมณฑล นำกลับไปใช้เพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของเด็กๆต่อไปอีก

    การวิจัยและเรียนรู้ชุมชนแปรสู่การสร้างทุนทางสังคมให้การศึกษาในพื้นที่ : คุณครูจริยา ศรีเพชร ได้นำไปใช้เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนหลายลักษณะ ทั้งเป็นส่วนเสริมกิจกรรมที่มีอยู่แต่เดิมและเป็นสื่อในกิจกรรมพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ทำให้โรงเรียนได้พัฒนาบางส่วนที่ขาดอยู่ขึ้นอีกหลายด้าน ต่อมาได้เป็นตัวอย่างและเป็นสื่อในชุดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ีได้รับรางวัลทางด้านการศึกษาระดับประเทศ ตัวคุณครูจริยา ศรีเพชรเองซึ่งเป็นครูในโรงเรียนที่อยู่ชายขอบมากก็ได้พิจารณาให้เป็นครูตัวอย่าง และต่อมาก็เป็นครูผู้เชี่ยวชาญระดับ ๙ ซึ่งมีอยู่คนเดียวของจังหวัดนครปฐม และปัจจุบัน ได้ย้ายมาเป็นครูของโรงเรียนกาญจนาภิเษก(พระตำหนักสวนกุหลาบ) ในอำเภอพุทธมณฑล และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นอย่างบูรณาการ

    เนื้อหาบทกลอนและบทสื่อการ์ตูน 

    บัวกะหนูนาอยู่อาศัยในพุทธมณฑล บัวกะหนูนาจะพาเที่ยวคลองในพุทธมณฑล

    ล่องเรือเลียบคลองมหาสวัสดิ์    เที่ยวเลาะลัดทัศนาถิ่นอาศัย    อู่ต่อเรือ สวนเกษตร สมุนไพร    เรือนเก่าใหม่ วัดคู่บ้าน ย่านชุมชน

    วิถีชีวิตสองฝั่งคลองดูหลากหลาย    บ้างค้าขาย หัตถกรรม ล้ำเลิศผล    ทั้งนาบัว สวนกล้วยไม้ ชวนให้ยล    ชาวชุมชนพาเรียนรู้ชูปัญญา

    ธรรมชาติริมคลองทั้งสองฝั่ง     พืชพรรณยังเขียวชอุ่มพุ่มไม้หนา    นกน้อยน้อยโผผินบินไปมา     พลิ้วใบหญ้า บัวสาย ตามรายทาง

    แสนเสียดายหากคลองต้องเน่าเหม็น    น้ำใสเย็นกลับคล้ำเป็นดำด่าง     สรรพชีวิต ปู ปลา ต้องลาร้าง     ล้วนร่วมสร้างร่วมก่อจากทุกคน

    สังคมดี ธรรมชาติดี ไม่มีขาย      แม้อยากได้ต้องร่วมสร้าง  ทุกแห่งหน     ทั้งคูคลอง ถิ่นฐาน  พุทธมณฑล     จะน่ายลและน่าอยู่  ตลอดไป

    พุทธมณฑล เมืองน่าอยู่ ด้วยทุกคนร่วมกันสร้าง.

     

                               

                               

                               

                               

                                

                               

                               

                               

     

    เอามาฝากเป็นแนวคิดและเป็นตัวอย่างของการเรียนรู้ชุมชน สร้างความรู้ท้องถิ่น และร่วมมือกันเพื่อทำให้คนบางส่วนที่มีความริเริ่ม มีจิตสาธารณะ มีความรู้ มีความสร้างสรรค์ และเอาธุระต่อการพัฒนาสุขภาวะของสังคมด้วยการมีส่วนร่วมของตนเองนอกเหนือจากที่ทำในวิธีการอื่นๆอยู่แล้ว แต่ไม่มีกำลังพอที่จะทำได้อย่างเต็มที่อย่างที่ตนเองทำได้ เพื่อเป็นวัตถุดิบคิดสร้างสรรค์ของคนหนองบัว หรือคุณครูและคนทำงานชุมชนท้องถิ่นจะนำไปใช้เป็นสื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ต่างๆต่อไปครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และผู้อ่านทุกท่าน

    • เห็นสื่อชุดนี้แล้วน่าเรียนจริง ๆ
    • สื่อสวยมากเนื่อหาดี
    • มีเรื่องราวให้ได้เรียนรู้วิถีชิวิตชุมชน
    • คนหนองบัวต้องขออนุญาตนำไปเป็นต้นแบบแนวคิดการทำงานสื่อการสอนในชุมชนในสถานศึกษาเสียแล้วอาจารย์
    • หนองบัวก็มีเรื่องสิ่งแวดล้อมหลายอย่างที่ต้องช่วยกันดูแลรักษา
    • คนหนองบัวเราคงต้องช่วยกันทำสื่อแนวนี้ให้เกิดมีขึ้นมาเพื่อเด็กและสังคมชุมชน
    • ที่อื่นก็นำไปใช้ประโยชน์ให้เหมาะกับสภาพท้องถิ่นได้อย่างเหมาะควร
    • เห็นด้วยอย่างยิ่ง(พูดเหมือนเจ้าของผลงานเลยเนี่ย)ขอสนับสนุนให้คุณครูทั้งหลายที่มีสภาพทางกายภาพคล้ายกันนี้นำไปเป็นสื่อการสอนแก่เด็กก็จะเป็นที่น่าอนุโมทนายิ่ง

    ขอเจริญพร

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    และสวัสดีค่ะพี่ชาย อ.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    • ก่อนอื่นต้องขอบอกว่าภาพสื่อที่นำมาเผยแพร่ เพื่อให้เป็นตัวอย่างดีๆที่จะนำไปพัฒนาต่อยอดความรู้  หรือนำไปปรับให้เข้ากับบริบทของชุมชน ซึ่งในแต่ละถิ่นที่แตกต่างกันไป และใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนให้กับคุณครูทั้งหลาย  น่าสนใจมากๆค่ะ
    • เนื้อหาของบทร้อยกรองกับภาพประกอบ  ได้ใจความชัดเจนมีชีวิตชีวา เป็นธรรมชาติ เด็กเรียนได้..ผู้ใหญ่เรียนดีค่ะ
    • อย่างน้อยสิ่งที่ได้รับตอบแทน น่าจะช่วยให้ผู้คนในชุมชนมีจิตสำนึกที่ดี ช่วยกันสร้างสรรค์สังคม รักและหวงแหนถิ่นเกิดเมืองนอนของตนเอง
    • คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเริ่มต้นทำกันนะคะ

                       ------------------------------

    • ย้อนไปถึงเรื่อง เบ็ดปัก ที่หาปลาในนาข้าว สมัยเป็นเด็กๆเคยเห็นค่ะ บางทีถ้าเป็นปลาตัวใหญ่ๆ ดิ้นจนได้ยินเสียงน้ำกระจายเลยเหมือนกัน
    • ยังมีอุปกรณ์ที่ใช้หาปลาอีกค่ะ เช่น ไซ ใช้ดักปลาตัวเล็กๆ  ปลาซิว ปลาสร้อย กุ้ง  ลอบ ใช้ดักปลาตัวใหญ่ๆขึ้นมาหน่อย ทำได้เองจากไม้ไผ่เหลากลมๆเรียวยาว แล้วสานให้คล้ายทรงกระบอกมีที่ว่างภายใน มีทางเข้าแต่ออกลำบาก เพราะทางเข้าตรงปลายไม้ จะแหลมขัดกันห่างๆพอปลาดิ้นเข้าไปได้ มัดด้วยลวดหรือหวาย คงทนถาวรใช้ได้นานค่ะ 
    • ในนาข้าวจะมีบางช่วงน้ำลึก เช่น ตรงคันนาที่เปิดน้ำเข้าหากัน น้ำจะไหลแรง ปลาใหญ่ๆจะแวกว่าย ทวนน้ำบ้าง ตามน้ำบ้าง ปูบ้าง แล้วก็ไปรวมกันอยู่ในลอบ วันดีคืนดีแถมด้วยงูปลา แต่ไม่เคยเห็นทำร้ายคนค่ะ
    • ปลาที่จับมาได้ มีทั้งปลาเป็นและปลาตาย ปลาเป็นก็จะขังใส่โอ่งมังกรหรือโอ่งดินไว้กินหลายๆมื้อ   ส่วนปลาตายที่เป็นปลาเกร็ด พวกปลาตะเพียนทำปลาย่าง ปลาเนื้อ เช่น ปลาช่อน ปลาดุกจะทำใส่เกลือตากแห้ง   ปลาที่เละใกล้จะเน่าเอามาทำปลาร้า หรือไม่ก็หมักค้างปีไว้ทำน้ำปลาค่ะ
    • ชอบดูเวลาเขาทำปลา นั่งบี้ถุงลมเล่น ถูกตีบ่อยครั้งเพราะทำให้มือสกปรกเหม็นคาว ก็เล่นไปตามประสาเด็กค่ะ ทนอดหลับอดนอนไปกับเขาด้วย
    • สมัยก่อนเขาทำนาดำมากกว่านาหว่าน ในนาข้าวไม่ค่อยมีหญ้า แต่มีพวกผักแว่น  ผักบุ้งต้นอ่อนๆ ที่ยังไม่ทันจะยาวขึ้นมาลอยน้ำ เด็ดจิ้มน้ำพริกน้ำปลาทั้งดิบๆ กรอบอร่อยและไม่มียาฆ่าแมลงด้วยค่ะ 
    • บางทีเตรียมแค่น้ำพริกน้ำปลาใส่ปิ่นโต  ไปหาผักในนานี่แหละ
    • เคยมีเพลงร้องสมัยเด็กๆเดี๋ยวจะเอามาแปะไว้นะคะ
    • ขอบคุณค่ะ

             

     

                       เมืองไทยเรานี้       แสนดีหนักหนา

                    ในน้ำมีปลา              ในนามีข้าว

                    ทำมาหากิน              แผ่นดินของเรา

                    ปลูกเรือนสร้างเหย้า    อยู่ร่วมกันไป

                    เราอยู่เป็นสุข            สนุกสนาน

                    เราตั้งถิ่นฐาน            ไปจนยิ่งใหญ่

                    เมืองไทยเรานี้           แสนดีกระไร

                    เรารักเมืองไทย          ยิ่งชีพเราเอย    

                     

          

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า และท่านผู้อ่านทุกท่านครับ

    สื่อการ์ตูนที่นำมาฝากกันนี้ ร่วมบรรยากาศช่วยกันรณรงค์ วันแม่น้ำลำคลองแห่งชาติ ในวันอาทิตย์ที่ ๒๐ กันยายนนี้พอดีครับ สังคมไทยจะได้มีโอกาสรำลึกและหวนกลับมารักษ์คลองและรักถิ่นฐานให้มากขึ้น โดยเฉพาะคนหนองบัวและนครสวรรค์ ซึ่งมีบึงบรเพ็ดและเป็นแอ่งข้าวปลาอาหารของประเทศ

    • เมื่อก่อนนี้ ผู้คนทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ผู้คนจะต้องติดตามการกำหนดราคาข้าวและความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง จากท่าข้าวกำนันทรง จังหวัดนครสวรรค์ ทุกเช้า กลางวัน เย็น เลยทีเดียว ทั่วโลกเคยเคลื่อนไหวไปตามจังหวะลมหายใจกับการไถคราดของคนนครสวรค์และคนไทยนะครับ
    • แม่น้ำลำคลอง จึงเป็นหัวใจของชุมชนการผลิตของสังคมไทย สื่อและการเรียนรู้เรื่องเหล่านี้เราสามารถทำเองให้ผสมผสานอยู่ในชีวิตจริงของชุมชนได้ครับ
    • ข้อมูล รูปถ่าย และรูปวาด ในนี้ที่ทุกท่านได้ช่วยกันเขียนและนำมารวบรวมไว้ เชื่อว่าจะเป็นแหล่งวัตถุดิบในการทำสื่อการเรียนรู้ที่ดีอย่างยิ่งเช่นกันครับ
    • ผมเองก็ได้ประเด็นและข้อมูลมากมายสำหรับไปหารายละเอียด รวมทั้งได้ประเด็นเพื่อตามไปเก็บข้อมูล วาดรูปและบันทึกภาพ ซึ่งปรกติผมก็ทำไปตามปรกติของคนที่ชอบ แต่เมื่อมีข้อมูลอย่างนี้ก็จะทำได้ดีขึ้นครับ ทำไปเรื่อยๆ สักระยะหนึ่งก็อาจจะพอสำหรับการบันทึกและเล่าเรื่องหนองบัวด้วหนังสือสารคดีเชิงภาพถ่ายและรูปวาดอย่างที่พระคุณเจ้าและบางท่านได้จุดความสนใจไว้นะครับ

    ผมได้ย้ายหัวข้อเกี่ยวกับเรื่องหนองบัวกลับไปยังหัวข้อต่างๆตามเดิมของเขาแล้วนะครับ เนื่องจากพอย้ายมาแล้วก็ปรากฏว่ากระทบไปทั้งหมดของสิ่งที่ผมเขียนทั้งในเวทีนี้ ใน GotoKnow รวมทั้งในบล๊อกอื่นๆทั้งของผมและผู้อื่นที่เขาลิ๊งค์และเชื่อมโยงไปเขียนถึง ซึ่งพอย้ายมานิดเดียวก็เป็นเรื่องครับ ทำให้โกลาหลและวุ่นวายกันไปหมดเลย กูเกิ้ลก็หาไม่เจอ หัวข้ออื่นๆทั้งของตัวเองและที่คนอื่นเขากล่าวถึงก็หาไม่เจอ รวนไปหมดอย่างคาดไม่ถึง ต้องขออภัยอย่างยิ่งครับ ต่อไปนี้หากเขียนเรื่องหนองบัวและท้องถิ่นนครสวรรค์ก็จะเริ่มมาเขียนที่นี่ครับ

    กราบนมัสการด้วยความเคารพ

    อาจารย์คะ..พี่จริยา ศรีเพชรเก่งมากๆค่ะ..มีความตั้งใจใฝ่เรียนรู้..พบตัวพี่เขาเป็นๆมาแล้วค่ะ..ยังมีน้ำใจให้ชุดการสอนสังคมมาอีกเล่มใหญ่เลยค่ะ..

    คลังข้อมูลและสื่อสำหรับพัฒนาการศึกษาเรียนรู้เพื่อสร้างเด็กและส่งเสริมสุขภาวะชุมชน

    • สวัสดีครับน้องคุณครูจุฑารัตน์ คุณครูกลุ่มนี้พอได้เจอและทำงานวิจัยสร้างความรู้ท้องถิ่นด้วยกัน ก็ถือเป็นโอกาสเกาะกลุ่มกันได้ ๑๘ คนแต่กระจายอยู่หลายโรงเรียนทั่วอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนที่ไม่ค่อยมีโอกาสพัฒนาได้มากนัก แต่เพาะมีคุณครูทำอย่างนี้ ก็กลายเป็นทำสิ่งต่างๆอีกหลายอย่างได้มากขึ้น
    • มีเวทีนั่งพูดคุยกัน ช่วยกันพัฒนาวิชาการและพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนทั้งของโรงเรียนและทั้งภาพรวมของอำเภอได้หลายกิจกรรม ทำให้ในกลุ่มเป็นหัวหอกนำการพัฒนาสิ่งต่างๆที่บูรณาการเข้ากับกระบวนการศึกษาเรียนรู้ได้หลายเรื่อง ทั้งของโรงเรียน อำเภอ ระดับจังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศ
    • คุณครูจุฑารัตน์ บันทึกไว้และนำรูปถ่ายมาเก็บไว้ด้วยนี้ยิ่งดีครับ มีเนื้อเพลงเมืองไทยของเราด้วย
    • ผมเคยใช้ข้อมูลของท้องถิ่นที่สร้างขึ้นในลักษณะนี้ ให้เป็นแหล่งตั้งต้นค้นคว้าเพื่อออกไปศึกษาเรียนรู้ชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยของนักศึกษาระดับปริญญาตรีของคณะเภสัชศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เด็กๆก็ได้ประสบการณ์ เกิดการเรียนรู้กันและกันของชุมชนกับมหาวิทยาลัย
    • หลายอย่างหาไม่ได้จากหนังสือตำราและห้องเรียน นักศึกษาปี ๓ ปี ๔ บางคนได้สะท้อนประสบการณ์ว่าหากได้เรียนอย่างนี้ตั้งแต่เริ่มเข้ามหาวิทยาลัย เขาจะได้ประสบการณ์และเรียนสนุกมาก การได้ศึกษาค้นค้วาด้วยตนเองและการได้เรียนรู้จากโลกความเป็นจริงของชุมชน ทำให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้และเติบโตภายในมากครับ
    • อย่างที่เราช่วยกันทำนี้ หากพัฒนากิจกรรมการศึกษาเรียนรู้ให้เด็กเข้ามาศึกษาค้นคว้าบ้าง แล้วก็มีการบ้านหรือมีงานเรียนรู้เป็นกลุ่มจากชุมชนหรือบ้านเพื่อน ก็จะสามารถพัฒนาหลักสูรและกิจกรรมการเรียนรู้ที่บูรณาการเนื้อหาและสาระการเรียนรู้ได้หลายอย่างครับ ที่สำคัญคือ การเรียนรู้ชุมชนและท้องถิ่นตนเอง การเรียนรู้วิธีสร้างความรู้จากของจริง การเรียนรู้จากการศึกษาค้นคว้าทางคอมพิวเตอร์ การมีประสบการณ์ในการค้นพบและนำเสนอด้วยตนเอง การวาดรูปและถ่ายรูปหรือการเก็บข้อมูลด้วยตนเอง  การทำงานเป็นกลุ่มและทักษะการจัดการทางสังคมเป็นกลุ่มอย่างมีส่วนร่วม ได้ทั้งคุณธรรมต่อส่วนรวมและความเป็นพลเมืองที่มีจิตสาธารณะ เอื้ออาทรต่อคนหมู่มาก 
    • หากใครพอมีประสบการณ์จะช่วยต่อเติมให้ไว้เป็นแนวคิดก็จะยิ่งดีครับ เชิญเลยครับ ใครเคยอยู่บ้านนอกจะรู้ว่ามันมีคุณค่ามากครับ ผมเองก็คิดว่าตอนจักิจกรรมที่บ้านเกิด ก็จะใช้เวทีของคนหนองบัวนี้ไปออกแบบเป็นแหล่งกิจกรรมในหน่วยเรียนรู้ให้กับเด็กๆครับ ตอนนี้ผมฝึกใช้ Mobile Unit Internet ได้เป็นอย่างดีพอสมควรแล้วครับ
    • รักษาสุขภาพและขอให้หายเร็วๆครับ
    • สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็ก คนเก่งๆและมุ่งทำสิ่งสูง ธรรมะย่อมจัดสรรให้เจอกันน่ะสิครับ
    • เก่งและเป็นชาวบ้านดีครับ ดูวิถีการทำงานและความเป็นวิชาการแล้ว ก็เหมือนคุณครูอ้อยเล็กเหมือนกันนะครับ ที่สำคัญคือมีน้ำใจต่อเพื่อนๆพี่ๆน้องๆมากครับ ผมได้ร่วมงานไปก็ได้เรียนรู้หลายอย่างจากเหล่าคุณครู ที่ไม่สามารถเห็นจากภายนอกครับ จนแม้เดี๋ยวนี้ แม้วงการศึกษาและวงการครูจะเสื่อมคลายไปหลายอย่าง แต่เห็นปัญหาและการทำงานของคนเป็นครูแล้ว ผมก็คิดว่าผมกราบความเป็นครูของคุณครูเด็กๆได้อย่างไม่ลังเลครับ
    • คุณครูอ้อยเล็กก็มีน้ำใจแก่คนหนองบัวมากหลายครับ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • อ.ขจิต ฝอยทอง ชวนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชนสองชุมชนคิดว่าดีมากเลย
    • บ้านพนมทวน-บ้านหนองขาว ได้ยินชื่อนี้แล้วคุ้น ๆ จากงานเขียนท่านกวีซีไรท์มานมนาน คืออาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูล
    • สำเนียงการพูดก็น่ารักดีเหน่อแบบเมืองกาญจน์มีเหน่ห์ใกล้เคียงสุพรรณบุรี
    • คุณครูอ้อยเล็กนี่เก่งทั้งขีดเขียนและคอมพิวเตอร์เลยทำได้ไงเนี่ยขอยอมแพ้แบบขาดลอย
    • คุณครูจุฑารัตน์ก็จดจำเกร็ดประวัติท้องถิ่นได้ดีสมกับเป็นลูกทุ่งขนาดแท้เลยเนาะ ก็ประทับใจทั้งสามท่านที่กล่าวมานี้ และคงจะได้ชมผลงานของท่านชิ้นต่อไป

    ขอเจริญพร

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล,สวัสดีค่ะอาจารย์พี่วิรัตน์และทุกๆท่านค่ะ..

    ขอนมัสการขอบคุณในคำชมพระอาจารย์ค่ะ..ครูอ้อยเล็กก็แค่ทำได้ค่ะ..แต่ยินดีมอบสิ่งที่ทำได้นี้..ได้ช่วยเหลือสังคมบ้างก็พอค่ะ..

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

    • ตอนนี้มีหลายท่านได้เข้ามาแบ่งปันประสบการณ์และให้ความคิดดีๆไว้กับเวทีของคนหนองบัวด้วยน้ำใจมากๆ อยู่เป็นระยะๆ นะครับ กำลังพอเหมาะครับ เพราะการเขียนลงในบล๊อกอย่างนี้ต้องอาศัยความสะดวก มีเวลา หรืออยากอยู่กับการทำความแยบคายกับตนเองในเรื่องที่กำลังทำ ก็อาจจะเป็นโอกาสได้มาเขียน หรือพอมีความรู้สึกปลอดโปร่ง ดีงาม อย่างแบ่งปันสิ่งดีให้กับผู้อื่นก็แวะมาเขียนฝากไว้
    • ตราบใดที่ยังมี GotoKnow ผมก็คิดว่าก็จะยังคงมีเวทีนี้อยู่ ผมขอยกให้ชาวหนองบัว พระคุณเจ้า และกลุ่มพริกเกลือ เลยนะครับ ยกให้เหมือนเป็นป้ายสาธารณะที่หัวตลาดหรือเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แบบสมัยใหม่อีกแห่งหนึ่งเลย หากใครมีเวลาและอยากทำสิ่งดีๆไว้ให้สังคมผ่านชุมชนอำเภอหนองบัว ก็จะได้มีที่แวะเวียนเข้ามาดูและเขียนรวบรวมสิ่งต่างๆไว้
    • ตอนนี้ผมเริ่มเห็นว่า GotoKnow เขามีวิธีใส่ชื่อผู้เขียนร่วมกันเป็นกลุ่มในแต่ละบล๊อกได้ โดยแต่ละคนใช้รหัสเข้าระบบของตนเอง ก็สามารถเข้ามาเป็นคนเขียนและบริหารจัดการข้อมูลบนบล๊อกได้เหมือนกัน ในอนาคตผมว่าเวทีนี้จะสามารถรองรับการทำงานความรู้เป็นกลุ่มหรือเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ได้ครับ
    • แต่ตอนนี้เวทีนี้ก็เหมือนกับเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนและศาลากระจายข่าวของชุมชนหนองบัวแห่งหนึ่งเลยละครับ ความรู้และกิจกรรมก็มีหลากหลายทั้งเรื่องเก่าแก่  ความรู้ใหม่ๆ และรายงานความเคลื่อนไหว การสัญจรและการมีคนแวะเวียนเข้ามาก็คึกคัก มากกว่าห้องสมุดประชาชนหรือหอกระจายข่าวจริงๆอีกนะครับ
    • สักระยะหนึ่งหากได้มีโอกาสสร้างคนเขียนความรู้ท้องถิ่นและช่างเสาะหาข้อมูลท้องถิ่นมาโยนไว้ ก็คงจะเป็นคลังความรู้และคลังข้อมูลที่ใช้งานได้สารพัดของคนหนองบัวได้มากขึ้นเรื่อยๆครับ

    กราบนมัสการด้วยความเคารพ

  • ดูกิจกรรมของเด็กๆและดูผลงานที่ออกมาแล้ว คงจะให้ประสบการณ์ที่น่าประทับใจแก่ผู้เรียนมากเลยนะครับคุณครูอ้อยเล็ก
  • กระบวนการเรียนรู้อย่างนี้จะให้ประสบการณ์เชิงสัมผัสที่มีความเป็นบูรณาการและมีความเข้มข้น ทั้งได้ทำงานความคิด ได้ใช้ความสร้างสรรค์ ได้เรียนรู้ความยืดหยุ่นและรอคอยให้เงื่อนไขที่เราควบคุมไม่ได้ดำเนินไปเอง
  • ได้ลงมือปฏิบัติทั้งทำคนเดียว ทำเป็นกลุ่ม และปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม ได้เห็นผลงานที่พัฒนาการกระทั่งปรากฏขึ้นมาด้วยมือตนเอง แล้วก็มีคุณครูเป็นพี่เลี้ยง นำทางทั้งทางจิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้ และพัฒนาคุณธรรมกับภาวะแห่งตนอย่างเป็นองค์รวม
  • ความเข้มข้นอย่างนี้มักให้ความทรงจำฝังแน่นที่ดี จำเพาะหน้าอาจจะเห็นผลสำเร็จเพียงชิ้นงาน
  • แต่ในอนาคต ๓๐-๕๐ ปี เมื่อคนเราต้องพึ่งตนเอง ก็ไม่มีสิ่งใดจะเป็นที่ปรึกษาและเป็นเพื่อนได้ดีไปกว่าประสบการณ์ภายในต่อตนเอง ไม่ว่าจะมาจากศิลปะและการศึกษาอบรมทางจิตใจต่างๆ กระบวนการเรียนรู้อย่างนี้แหละครับจะออกมามีบทบาท
  • แล้วก็จะทำให้ทุกคนรู้ว่า การได้เรียนรู้อย่างนี้กระมังครับ ที่เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาชีวิตให้ดำรงอยู่อย่างมีความหมายได้อย่างดี เหมือนกับคนรุ่นเราที่พอเริ่มแก่และนิ่งพอสมควรแล้ว ก็จะมีโอกาสดึงเรื่องราวต่างๆในความทรงจำออกมาทบทวนให้ได้ความลึกซึ้งแยบคายต่อชีวิตเพื่อปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆได้ดีมากขึ้น
  • เห็นแล้วเลยนำลิ๊งค์จากเว็บเพาะช่างมาฝากคุณครูอ้อยเล็กด้วยครับ http://www.pantown.com/board.php?id=11476&area=4&name=board5&topic=80&action=view เป็นเวทีกิจกรรมของครูศิลปะและครูสาขาอื่นที่ต้องสอนศิลปะ กับองค์กรท้องถิ่นของจังหวัดชลบุรีและศูนย์ศิลปวัฒนธรรม เขาทำกันที่จังหวัดชลบุรีแต่คนที่เข้าร่วมมาจากภาคตะวันออกหลายจังหวัด กลุ่มคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีทำขึ้นมานั้นเป็นรุ่นพี่ๆของคุณครูอ้อยเล็กเองแหละครับ
  • ลอมฟาง ซุ้มฟาง วงผิงไฟ : การจัดการปัจจัยเพื่ออยู่อาศัยกับธรรมชาติให้กลมกลืนและพื้นที่สร้างความเป็นชุมชนในวิถีประชาสังคม 

    ชุมชนดั้งเดิมของอำเภอหนองบัวเป็นเกษตรกร ทำนา ทำไร่ โดยทรัพยากรและปัจจัยการผลิตต่างๆ เน้นการใช้แรงงานคนและสัตว์เป็นหลัก การจัดการพลังการผลิตและกระบวนการต่างๆ ที่นำไปสู่การสร้างสุขภาวะทั้งของปัจเจก ครอบครัว และความเป็นสาธารณะของชุมชน จะได้จากความเป็นชุมชนและวิถีชีวิตรวมกลุ่มเพื่อจัดการอย่างมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ เช่น การเอาแรง การลงแขก ธรรมเนียมการดองและใช้แรงงานเพื่อเชื่อมโยงความเป็นเครือข่ายเครือญาติผ่านการแต่งงาน รวมไปจนถึงการแห่นาคและบวชนาคหมู่ซึ่งเป็นงานประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของคนหนองบัวที่ต้องมีการเอาแรง การโฮมนาค

    สิ่งที่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ขับเคลื่อนความเป็นชุมชนและวิถีการรวมกลุ่มดังกล่าว จึงเป็นทุนทางสังคม(Social capital) และเป็นโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน ที่ขับเคลื่อนพลังความเป็นชุมชนดังกล่าวให้ดำรงอยู่อย่างมีชีวิต ดังนั้น จึงมีความสำคัญและต้องส่งเสริม บำรุงรักษาให้มีความงอกงามหลากหลายยิ่งๆขึ้นในชุมชน

    ลอมฟาง ซุ้มฟาง และวงผิงไฟ เป็นวิถีชีวิตชุมชนแต่ดั้งเดิมที่มีบทบาทต่อความเป็นชุมชนในลักษณะดังกล่าว ในอดีตนั้น หน้าหนาวจะเป็นช่วงเวลาที่หนาวเย็นและตรงกับช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับการทำนา ข้าวหนักจะเริ่มแก่ ข้าวเบาก็จะสุกและพร้อมเกี่ยว 

    ก่อนเกี่ยวข้าวก็จะต้องนาบข้าวให้ลู่ราบไปในทางเดียวกันเพื่อให้เหมาะแก่การเกี่ยวด้วยเคียวและการลงแขก เมื่อเกี่ยวข้าวแล้วก็จะต้องนวดข้าวและเก็บข้าวใส่ยุ้งฉาง สิ่งที่ได้ตามมาส่วนหนึ่งก็จะได้แก่ฟาง สำหรับเป็นอาหารวัวควายตลอดหน้าแล้งเป็นหลัก

    ขั้นตอนเหล่านี้จะอยู่ในช่วงฤดูหนาว  ซึ่งในอดีตนั้น ชาวบ้าน คนเฒ่าคนแก่ จะทุกข์ทรมานจากความหนาวเย็น ทั้งโดยความเป็นฤดูหนาวเองและเนื่องจากความขาดแคลน บ้านช่องไม่หนาแน่นพอจะกันลมหนาวโกรกให้เย็นยะเยือก เสื้อผ้าไม่พอใส่ และผ้าห่มก็ไม่พอคุ้มหนาว แต่ชาวบ้านก็มีการเรียนรู้ที่อยู่อย่างเรียบง่ายแต่สร้างสุขภาวะชุมชนได้อย่างบูรณาการ

     

                             

     

    วิธีแก้ไขของชุมชน ชาวบ้านก็จะทำซุ้มฟางและมีวงผิงไฟ ใครอยากนอนอุ่นก็จะทำซุ้มฟางให้เพียงพอ เด็กๆจะชอบมากเพราะเป็นการเล่นที่จริงจังเหมือนกับเล่นสร้างบ้านและสร้างชุมชนขึ้นมาเป็นของตนเอง ให้ประสบการณ์ในการเป็นเจ้าของกลุ่มก้อนและชุมชนโดยตรง เป็นการจัดการความรู้ในวิถีชีวิต เด็กๆและชาวบ้านต้องเลือกทำเลสำหรับทำซุ้มฟางด้วยความรอบรู้หลายอย่าง ทั้งความปลอดภัยจากงูและสัตว์อันตราย ความปลอดภัยจากลมและฟืนไฟ การหลบทิศทางลมหนาวโกรก การทำซุ้มได้ดีจะน่านอน อบอุ่น ได้เฝ้าดูแลบ้านช่องและข้าวให้ทุกคนมีความอบอุ่นทั้งกายใจ

    ก่อนนอนยามมืดค่ำและยามเช้าหลังตื่นนอนลุกจากซุ้มฟาง ก่อนแยกย้ายไปทำการงานเมื่อแดดออก ก็จะล้อมวงผิงไฟข้างลานนวดข้าว ลานบ้าน และข้างซุ้มฟาง บ้างก็นั่งเผาเผือกมัน ปิ้งข้าวเกรียบว่าว เหลาไม้ จักตอก ทำเครื่องจักสานและทำงานฝีมือต่างๆ ก่อให้เกิดวงสังคม ความเป็นกลุ่มก้อน และพัฒนาความเป็นชุมชนเรียนรู้อย่างบูรณาการ (Civility and Learning community) หลายสิ่งจะเกิดขึ้นในวงผิงไฟและพื้นที่ความเป็นชุมชนแห่งการแแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ

    เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความเป็นชุมชนและการดำเนินชีวิตอยู่ด้วยกันของชาวบ้าน เป็นกลไกเชิงกระบวนการของสังคม ที่นำไปสู่การจัดการอย่างมีส่วนร่วม ทำให้ชุมชนปรับตัวเข้าหาเงื่อนไขธรรมชาติมากกว่าปรับธรรมชาติให้เป็นไปตามความต้องการ อีกทั้งเป็นแหล่งบ่มเพาะภูมิปัญญาการปฏิบัติต่างๆสำหรับการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม พอเพียง

    การมีสิ่งเหล่านี้ของชุมชน บ่งบอกถึงการมีพื้นฐานของการมีสุขภาวะของชุมชนได้อย่างหนึ่ง รวมทั้งทำให้มีความมั่นใจตนเองได้ว่าชุมชนในท้องถิ่นต่างๆมีศักยภาพการเรียนรู้ที่ทรงพลังอย่างนี้อยู่ ซึ่งในปัจจุบันสภาพแวดล้อมต่างๆได้เปลี่ยนไป รูปแบบของกิจกรรมภายนอกก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย แต่ความเป็นพื้นที่สร้างความเป็นสาธารณะด้วยกันของชุมชน อาจมีอยู่ในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งจะต้องค้นหาและพัฒนาให้มีความละเอียดอ่อน เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีของชุมชน เหมือนกับเป็นการเพิ่มพูนทุนทางสังคมของชุมชนให้ผู้คนมีโอกาสได้ความอยู่เย็นเป็นสุขจากการอยู่ด้วยกันและมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆกับคนอื่น

    ชุมชนที่มีองค์ประกอบด้านนี้น้อย ก็จะมีความทันสมัยแต่เพียงกายภาพภายนอก แต่มีความอยู่เย็นเป็นสุขน้อย คนหนองบัวจึงควรหมั่นสร้างทุนทางสังคมอย่างนี้เยอะๆในชุมชนของตนเอง.

    ข้อมูลและวาดภาพโดย ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์  สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล กันยายน ๒๕๕๒

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ที่ผ่านมาไปธุระที่หนองบัวไปถึงบ้านโยมประมาณตีห้า
    • โยมป้ากำลังก่อไฟอยู่พอดีที่กลางลานบ้านมีญาติผู้พี่และโยมพ่อมานั่งผิงไฟด้วย
    • ทิดสึกใหม่ที่ไปด้วยกันเป็นเด็กหนุ่มจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วยโยมป้าใส่ฟืนสุมไฟอย่างคนเป็นงาน
    • โยมป้าแปลกใจพูดเบา ๆ กับอาตมาว่าเอ๊ะทำไมเด็กหนุ่มในเมืองจึงดูท่าทางคล่องแคล่วสุมไฟก่อไฟก็เป็นด้วย
    • ท่านนึกว่าเป็นเด็กจากในเมือง แสดงว่าคนเฒ่าคนแก่ก็มีวิธีสังเกตและดูเป็นโดยไม่ต้องเป็นหมอดู แถมทายถูกต้องแม่นยำ เพราะแกมาจากอำเภอกาบเชิง วิถีชีวิตก็คล้าย ๆ หนองบัว แกจึงทำเป็น
    • สงสังโยมป้าคงเห็นลูกหลานสมัยนี้ทำอะไรแบบนี้ไม่ค่อยเป็น ไม่มีทักษะการใช้ชีวิตที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ มีแต่ความทันสมัยอาจพึ่งตัวเองไม่ได้และไม่เข้มแข็ง
    • ในหมู่บ้านหนองบัวหนองกลับ บ้านจะยกพื้นสูงมีใต้ถุน สมัยก่อนหนาวกว่านี้
    • และเพื่อความสะดวกโดยไม่ต้องกลัวภัยจากสัตว์หรือโจรขโมย ชาวบ้านจะก่อไฟผิงบนบ้านเลย ใช้กาละมังลูกใหญ่ ๆ ใส่ดินทรายให้เต็มแล้วก่อไฟบนกองดินนั่นเลย
    • เด็ก ๆ ก็ชอบมานอนแอบ ๆ ข้างกองไฟอุ่นดีและได้ฟังผู้ใหญ่พูดคุยกันอย่างสนุกสนาน บางทีก็ไม่อยากย้ายเข้าไปนอนในที่นอนของตนก็มี.

    เจริญพร

    เห็นคนนั่งผิงไฟสูุบยาก็นีกถึงบ้านห้วยน้ำโจนของหนูุเลยค่ะ

    ครูอ้อยเล็กก็มีลิ้งค์น้องๆมาฝากอาจารย์ด้วยค่ะ...

    http://www.visualizer-club.com/index.php

    วิธีแก้ไขของชุมชน ชาวบ้านก็จะทำซุ้มฟางและมีวงผิงไฟ ใครอยากนอนอุ่นก็จะทำซุ้มฟางให้เพียงพอ เด็กๆจะชอบมากเพราะเป็นการเล่นที่จริงจังเหมือนกับเล่นสร้างบ้านและสร้างชุมชนขึ้นมาเป็นของตนเอง ให้ประสบการณ์ในการเป็นเจ้าของกลุ่มก้อนและชุมชนโดยตรง เป็นการจัดการความรู้ในวิถีชีวิต เด็กๆและชาวบ้านต้องเลือกทำเลสำหรับทำซุ้มฟางด้วยความรอบรู้หลายอย่าง ทั้งความปลอดภัยจากงูและสัตว์อันตราย ความปลอดภัยจากลมและฟืนไฟ การหลบทิศทางลมหนาวโกรก การทำซุ้มได้ดีจะน่านอน อบอุ่น ได้เฝ้าดูแลบ้านช่องและข้าวให้ทุกคนมีความอบอุ่นทั้งกายใจ

    ก่อนนอนยามมืดค่ำและยามเช้าหลังตื่นนอนลุกจากซุ้มฟาง ก่อนแยกย้ายไปทำการงานเมื่อแดดออก ก็จะล้อมวงผิงไฟข้างลานนวดข้าว ลานบ้าน และข้างซุ้มฟาง บ้างก็นั่งเผาเผือกมัน ปิ้งข้าวเกรียบว่าว เหลาไม้ จักตอก ทำเครื่องจักสานและทำงานฝีมือต่างๆ ก่อให้เกิดวงสังคม ความเป็นกลุ่มก้อน และพัฒนาความเป็นชุมชนเรียนรู้อย่างบูรณาการ (Civility and Learning community) หลายสิ่งจะเกิดขึ้นในวงผิงไฟและพื้นที่ความเป็นชุมชนแห่งการแแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ

    เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความเป็นชุมชนและการดำเนินชีวิตอยู่ด้วยกันของชาวบ้าน เป็นกลไกเชิงกระบวนการของสังคม ที่นำไปสู่การจัดการอย่างมีส่วนร่วม ทำให้ชุมชนปรับตัวเข้าหาเงื่อนไขธรรมชาติมากกว่าปรับธรรมชาติให้เป็นไปตามความต้องการ อีกทั้งเป็นแหล่งบ่มเพาะภูมิปัญญาการปฏิบัติต่างๆสำหรับการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม พอเพียง

    วิถีเหมือนกันทุกประการค่ะ...เหมือนลอกกันมาเลยค่ะ...

     

    วันนี้ที่บ้านแม่อยากกินต้มยำหัวปลี..เห็นสุมไฟสุมฟางของอาจารย์พอดี..เลยเอามาฝากค่ะ..เพราะเคล็ดลับของการต้มยำกะทิหัวปลีนี้อยู่ที่แม่จะไปตัดหัวปลีมาแล้วโยนไปหมกไว้ในกองไฟที่พิงอยู่ให้หัวปลีสุกระอุ..แล้วจึงนำหัวปลีมาต้มยำ..เครื่องต้มยำก็เหมือนทั่วไปเพียงแต่ใช้กะทิเป็นตัวน้ำต้มยำลักษณะเหมือนต้มข่า..ผิดกันตรงที่ต้มข่าใส่พริกขี้หนู..แต่ต้มยำหัวปลีต้มน้ำใส่พริกเผา..

    ในตอนนี้ครูอ้อยเล็กไม่มีกองไฟเลยใช้ย่างบนเตาแก๊สเอาค่ะ..ก็ใช้ได้เหมือนกัน...

    ปกติต้มยำกะทิหัวปลีนี้แม่จะต้มกับปลากระทิงที่ย่างไว้แล้ว..แต่ก็วิ๔อีกแหล่ะค่ะที่ครูอ้อยเล็กต้องใช้กุ้งแทน..

    หน้าตาปลากระทิงค่ะ...ที่บ้านครูอ้อยบางทีก็เรียกปลาเนื้อไก่..เพราะคุณภาพของเนื้อปลาเหนียวเหมือนไก่บ้านเลยค่ะ...

    เสร็จแล้วค่ะ..หัวปลีจะดูดำๆแต่รสชาติและความหอมของหัวปลีเผาช่วยชูรสชาติอาหารมากเลยค่ะ...

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแลครับ

    • เมื่อก่อนหนาวมากจริงๆนะครับ การมีกาละมังและจุดไฟผิงบนบ้านนั้นแถวบ้านผมก็ทำอย่างนั้นเหมือนกันครับ เป็นวงนั่งคุยและกินหมากด้วยกันไปด้วย
    • เด็กๆลูกหลานต้องหัดตำหมากและทำคำหมากให้คนเฒ่าคนแก่และญาติผู้ใหญ่เป็น หรือไม่ก็ต้องรู้จักก่อไฟ ผ่าฟืน ตักน้ำ ใครทำพวกนี้ไม่ได้นี่ก็ถือว่าเป็นคนไม่รู้ความ
    • ตอนนี้ทางเหนือ-พิษณุโลกคงเริ่มอากาศเย็นแล้วกระมังครับ แต่แถวหนองบัวและบ้านผมยังมีฝนตกอยู่เลยครับ และปีนี่้ชาวบ้านนาล่มเพราะแล้ง พอข้าวที่เหลือเริ่มแก่ก็เจอฝน น้ำตาร่วงกันเป็นแถวแล้วครับ สงสารชาวบ้านและญาติพี่น้องครับ
    • สวัสดีครับหนูดวงเดือน นี่ถ้าหากหนูเป็นนักเรียน เยาวชน หรือชาวบ้านที่จากบ้านไปศึกษาและทำงานต่างถิ่นละก็ ผมดีใจมากเลยนะครับ อยากเห็นเด็กๆและชาวบ้านรู้จักใช้อินเตอร์เน็ตไปในทางเพื่อการศึกษาค้นคว้า โดยเฉพาะเรียนรู้และสร้างความรู้ขึ้นจากท้องถิ่น เยอะๆครับ แวะเข้ามาคุยกันอีกบ่อยๆนะครับ
    • แถวบ้านผมจะเรียกดวงเดือนและพระจันทร์ว่าอีเกิ้งครับ แถวห้วยน้ำโจนนี่เขาเอิ้นว่าจังไสหนอ
    • ก็คงจะเหมือนกันเยอะครับคุณครูอ้อยเล็ก อันที่จริงแถวนี้ก็เพิ่งเปลี่ยนแปลงไปไม่นาน ผมเคยวิจัยชุมชนกับชาวบ้านแถวพุทธมณฑล คนในรุ่นไล่ๆกับผมก็เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนที่เขาเป็นเด็กนั้น บริเวณที่เป็นพุทธมณฑลและมหาวิทยาลัยมหิดลนั้น เคยเป็นท้องนาและเป็นทุ่งเลี้ยงควายของเด็กๆ ฟังดูกิจกรรมชีวิต่างๆแล้วก็คล้ายกับบ้านผมมาก ยกเว้นเรื่องการทำสวนและกิจกรรมทางแม่น้ำลำคลอง บ้านผมจะไม่ค่อยมีหลายอย่าง
    • สำรับข้าวมือนี้น่ากินจัง เล่นเอาน้ำลายไหลเอื๊อกเลยคุณครูอ้อยเล็ก
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • หลวงน้าเปิดคอมฯตอนเช้าได้เจอหนูดวงเดือนพอดี
    • ก็ขอสวัสดีหนูดวงเดือนคนห้วยน้ำโจน ดีใจมากถึงมากที่สุดเลยแหละ
    • ดีใจที่คนหนองบัวเราเข้ามาอ่าน บ้านห้วยน้ำโจนนี่หลวงน้าก็มีญาติอยู่ด้วย
    • ขอให้เข้ามาอ่านและพูดคุยกันบ่อย ๆ นะ จะดีใจเป็นที่สุด
    • เห็นเมนูอาหารคุณครูอ้อยเล็กแล้วนี่ได้เวลาฉันจังหันพอดีเลย
    • ฉันแล้วจะอนุโมทนาให้พรคุณครูเล็กและผู้อ่านทุกท่านอย่างเต็มที่เลยแหละ ให้พรบทเจริญ ๗ วัตร ๗ อย่าง เตรียมรับพรได้ดังนี้
    • อายุวัฑฒะโก  เจริญด้วยอายุ ขอให้มีอายุยืนยาวเป็นสาวเป็นหนุ่มพันปี
    • ธนวัฑฒะโก    เจริญด้วยทรัพย์สินเงินทอง กินไม่ไหว ใช้ไม่หมด
    • สิริวัฑฒะโก    เจริญด้วยสิริโฉมสวยงาม นามเพราะ
    • ยสวัฑฒะโก   เจริญด้วยลาภยส เกียรติคุณสง่างาม
    • พลวัฑฒะโก   เจริญด้วยกำลังกายกำลังใจ มีสุขภาพดีถ้วนหน้า
    • วัณณะวัฑฒะโก เจริญด้วยผิวพรรณ วรรณะผุดผ่องเป็นยองใย
    • สุขวัฑฒะโก    เจริญด้วยความสุขไม่ทุกข์โศกวิโยคภัยนานา
    •  อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้ เทอญ.

    ขอเจริญพร

    สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ และทุกๆท่านครับ

    กับข้าวครูอ้อยเล็กน่ากินจังเลยครับเห็นหัวปลีเผาแล้วนึกถึง หน่อไม้รวกเผาไฟลอกเปลือกออกให้ดีๆ แล้วบีบมะนาวลงกับพริกเกลือ กินกับข้าวร้อนๆอร่อยน่าดูเลยครับ

    ปลากระทิงผมเคยปักเป็ดได้ที่แม่น้ำเจ้าพระยาเห็นตอนแรกตกใจนึกว่างู ตัวมีนั้นร้ายมากหากใครไม่เป็นเช่นผมต้องโดนมันเอาหลังที่มีหนามคมราวกับเลื่อยมือเป็นแผลแน่ต้องเอาผ้าพันตัวก่อนแล้วแกะออกจากเบ็ด ผมเองรู้จักแค่ปลาตามท้องนา ไม่เคยเห็นปลาแม่น้ำมาก่อนก็งี้แหละครับ

    อ้อเกือบลืมมั่วแต่ห่วงกินต้องขอขอบพระคุณท่านอาจารย์วิรัตน์เป็นอย่างสูงเลยครับที่นำรูปภาพการยาลานมาลงใว้และช่วยแนะนำข้อมูลบล็อกพริกเกลือ

    ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้มาอยู่ถึงจุดนี้หากไม่ได้ท่านอาจารย์วิรัตน์และหลวงอามหาแล ขำสุข อาสโย เป็นผู้จุดประกายแนวความคิดไม่อย่างนั้นไม่มีหนทางไปจริงๆครับ

    30สาธุค่ะพระอาจารย์

    Pค่ะคุณเสวก..ปลานี้แรงเยอะค่ะเบ็ดถ้าไม่แข็งแรงพอเอามันไม่อยู่หรอกค่ะ..ด้วยเหตุนี้มังคะเนื้อถึงได้เหนียวเพราะมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงนี่เองค่ะ..ครูอ้อยเล็กเด็กท้องนาแท้ๆยังไม่กล้ากินในตอนแรก..ต้องต่อรองกับแม่ว่า..แม่ช่วยเอาหนังมันทิ้งไปได้ไหม..แม่บอกว่าไม่ได้พ่อชอบกิน..แป่วๆๆ..พ่อก็เสียสละค่ะบอกกับแม่ว่าถ้าลูกกลัวก็แยกหนังออกมาไม่ต้องใส่รวมไป..อีกเมนูหนึ่งคือ...หนูนาย่างค่ะ..เหล่าพี่น้องที่เป็นผู้ชายเสาร์-อาทิตย์แกจะมีกิจกรรมทำกันนั่นคือด้วงดักหนู..ทำแล้วทดลองแล้ว..ตกเย็นก็จะไปหาทำเลดักหนูนากัน..เช้ามืดก็จะถือไฟฉายไปเก็บหนูนากันค่ะ..เก็บมาทั้งด้วงนั่นแหล่ะค่ะ..แล้วก็มาแกะที่ลานบ้าน..ก่อกองไฟเอาหนูลงเผาขนให้เตียนเลย..แล้วเรียกแม่มาชำแหละหนูค่ะ..แต่ไม่ได้สิ้นสุดที่แม่..แม่เรียกครูอ้อยเล็กมาสอนๆให้ทำ..จ๊ากๆๆๆตูอีกแล้วหรือนี่..แต่ด้วยความที่เป็นผู้หญิงในหมู่พี่ชายน้องชาย..ครูอ้อยเล็กจะทำแต่ของที่ตายมาแล้วเท่านั้น..ถ้าเป็นๆมาไม่เอาด้วยค่ะ..พอชำแหละแล้วผ่าท้องหนูนาแผ่ออกดามด้วยไม้ไผ่เหมือนไก่ย่างค่ะ..แล้วนำไปย่างให้พอสุกอีกที..สับให้ละเอียดก่อนนำไปผัดเผ็ด หรือผัดกระเพราะตามชอบ..น้องๆเอาไปกินที่โรงเรียน..เพื่อนๆอร่อยมาก..พอบอกว่าหนูนาเท่านนั้นเตรียมจะอาเจียนกันใหญ่..แต่น้องชายบอกว่าใครอาเจียนเจอดีแน่..ของดีๆหามาเหนื่อยแทบตายมาอาเจียนน่าดู..เลยไม่มีใครกล้าอาเจียน..แต่วันหลังๆน้องชายบอกว่าพี่อ้อยๆหนูนาผัดเผ็ดของเราขายดีทุกวันเลยอิๆๆๆ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    • ห้วยน้ำโจนนี่สงสัยจะเป็นแถวหนองบัวเสียกระมังครับ
    • ผมไปเข้าใจว่าเป็นแถวเขื่อนน้ำโจนของภาคอีสาน
    • แต่ก็ดีใจที่จะทักทายและต้อนรับหนูดวงเดือนอยู่ดีครับ

    สวัสดีครับคุณเสวก คุณเสวกเล่าถึงเรื่องจับปลากระทิงแล้วโดนแผงบนหลังบาดแล้วก็นึกขำครับ พวกปลาหลดก็เหมือนกันครับ คนเห็นตัวลื่นๆ เหมือนไม่มีอะไร ก็เลยชล่าใจ มักจับหมับเข้าไปอย่างไม่ระวัง หากจับให้แน่นเลยก็จะเอาอยู่ครับ แต่หากจับแบบหลวมๆ ก็จะได้เรื่องครับ เงี่ยงบนหลังเป็นแผงจะกางออกมาตำทั้งมือกระทั่งต้องรีบปล่อยไปในทันที

    ดูจากรูปวาดของคุณเสวกแล้ว จะเห็นว่าเรืองราวของชุมชนและภูมิรู้เกี่ยวกับชีวิตของชาวบ้านนั้นมีรายละเอียดมากมาย เมื่อสามารถวาดรูปและถ่ายทอดออกมาด้วยภาพผสมกับการเขียนถ่ายทอด และการบอกเล่า เพื่อบันทึกเรื่องราวต่างๆได้ เราก็จะเห็นว่าความรู้เกี่ยวกับชีวิตและเรื่องราวของชุมชนที่ชาวบ้านแต่ละคนว่าเก็บไว้กับตนเองนั้น มีอยู่มากมายครับ

    แต่ ณ เวลานี้ คนที่มีประสบการณ์ชีวิตและมีประสบการณ์ต่อชุมชนมากมายในชนบท รวมทั้งหนองบัวของเรา ไม่ค่อยมีวิธีสร้าความรู้ของตัวเองและเก็บรวบรวมไว้ครับ เมื่อคนรุ่นหนึ่งหมดไป คนรุ่นใหม่ก็เหมือนเชื่อต่อไม่ได้กับความเป็นมาของตัวเองครับ อย่างที่ทุกท่านกำลังทำไปตามกำลังนี้ เป็นเรื่องสร้างสรรค์มากๆครับ

    ผมก็ต้องกราบขอบพระคุณพระคุณเจ้า พร้อมกับขอบคุณคุณเสวกและกลุ่มพริกเกลือเช่นกันครับ ที่ช่วยต่อความคิดกันไปมากระทั่งออกมาเป็นเวทีของคนหนองบัวซึ่งดูดีมากเลยครับ แถมมีหัวข้อของพระอาจารย์มหาแล กับของคุณเสวกและกลุ่มพริกเกลือต่างหากอีก

    นอกจากวาดรูปแล้ว คุณเสวกอาจหาวิธีอื่นๆช่วยได้อีกนะครับ เช่นถ่ายรูปเองหรือให้ลูกหลายถ่ายมาให้ บางครั้งแม้จะเป็นรูปวิวทิวทัศน์แถวบ้านนอกของเรา ก็เก็บรวบรวมเอามาโยนเก็บไว้ถอะครับ เดี๋ยวนี้สิ่งต่างๆเปลี่ยนแปลงเร็วมากครับ หลายอย่างที่กำลังเห็นอยู่ในทุกวันนี้ อีกสัก ๕ ปี ๑๐ ปี ก็อาจจะเปลี่ยนสภาพไปอีกแบบแล้วครับ เวลาผมกลับบ้านผมถ่ายรูปเอามาเก็บไว้หมดแหละครับ แต่ออกจะดีหน่อยที่วาดรูปจากประสบการณ์ หรือจากการฟังข้อมูลจากคนอื่นได้ ก็มีวิธีให้เลือกมากขึ้นครับ

    มีความสุขครับผม

     

    • คุณครูอ้อยเล็กนี่รู้จักการดักหนูและทำเป็นอาหารได้ด้วยหรือเนี่ย นับถือ-นับถือ
    • แม่กับน้องสาวผม นอกจากไม่กินหนูและพวกเนื้อวัว-ควายแล้ว หากไปทำใกล้ๆนี่เขาก็จะพากันอ๊วกแข่งกันทั้งวันเลย ทุกอย่างถูกให้เอาไปทิ้งหมดเลย ทั้งกระทะและภาชนะต่างๆ รวมทั้งหากไปทำใกล้สระน้ำ เขาก็จะเปลี่ยนไปตักน้ำจากสระลูกอื่นเป็นหลายวันเลย
    • ผมเองนั้นก็ดักหนูและทำกินเป็นครับ แต่ต้องไปทำตามบ้านเพื่อน ตอนแรกก็ทำกินไม่เป็น รู้สึกกระอักกระอ่วนเหมือนกัน
    • แต่ต้องทำเองครับ เวลาเห็นเขาเสียบไม้และย่างขายตามข้างถนนแถวทางไปสุพรรณบุรี นครปฐม และแถวรังสิต ก็ยังกินไม่เป็น
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • คุณเสวกนี่รู้จักปลาแม่น้ำด้วยนะ หลวงอาไม่รู้จัก ไม่เคยไปที่แม่น้ำน่านหรือเจ้าพระยา ที่ตัวเมืองนครสวรรค์เลยนะตอนเป็นเด็ก
    • คุณครูอ้อยเล็กนี่ก็มีประสบการณ์แบบลูกทุ่งดีจัง
    • การขุดหนูที่คันนาดินทรายจะสนุกเพราะขุดง่ายมาก
    • ตามหัวคันนาที่ตกกล้า(หว่านกล้า)ไว้สำหรับถอนไปปักดำนาเมื่อกล้าโต
    • ตามอันนาบริเวณนี้จะมีหนูมาขุดรูอาศัยอยู่เยอะแยะ
    • ตากล้า(อันนา)บางอัน หนูจะถลุงต้นกล้าขาดกระจุยกระจายเต็มไปหมด และในตะกล้านั้นหนูก็กัดต้นข้าวเป็นทางทั่วไปหมดเลย
    • ฝีมือหนูนาในการขุดทางทำทางสัญจรนี่ จะบอกให้ไม่แพ้วิศกรมือหนึ่งเลยเชียว คล้ายกับถนนวงเวียน วงแหวน ในเมืองหลวง
    • ต้นกล้าสูงหน่อยบางทีหนูออกมากินตอนกลางวัน หมาขับไล่ล่ายังไม่เจอไม่ทันเพราะทางที่หนูทำไว้คตเคี้ยวซิกแซก สามารถหลบหลีกวิ่งเข้ารูหายจ้อย
    • ดินทรายขุดง่ายนี่เอง ทำให้หมาบางตัวขุดเองโดยไม่ต้องให้คนช่วย ใช้ฝีมือหมาล้วน ๆ เลย
    • สักพักจะได้ยินหมาร้องเสียงดังไม่ใช่โดนหนูกัด แต่ขุดเข้าไปใกล้ตัวหนูแล้วหนูก็กลัวหมาร้องขู่ฟอด ๆ หมาก็ทั้งเห่าทั้งขุดคุ้ยดินอย่างไม่เหน็ตเหนื่อย ขุดจนลึกมิดตัวหมาทั้งตัวก็มี
    • เคยไปดักหนูแต่ทำไม่เป็น
    • เคยทำแต่มันรู้สึกจะอาเจียนจะอ๊วกเสียให้ได้ กินนับครั้งได้เลย

    ขอเจริญพร

    นมัสการพระอาจารย์..ครูอ้อยเล็กไม่นึกไม่ฝันว่าอาหารที่เราจำใจกินเพราะจำเป็นจึงต้องกินแต่มันก็อร่อยและสะอาดมากๆนะคะพระอาจารย์ไม่มีสารพิษ สารเร่งเนื้อแดงอะไรเลย หนูนาเป็นหนูที่สะอาด กินข้าว กินหอยโข่ง เรียกว่าอาหารมันนั้นสุดยอดของอาหารเลยล่ะอีกทั้งเห็บหมัดอะไรก็ไม่มี..ไม่เหมือนหนูในตลาด..จ๊ากๆๆๆ...อย่าไปพูดถึงเน๊าะ..บางที่เรา 4 คนพี่น้องยังแปลกใจทำไมเราไม่ค่อยเป็นอะไรเหมือนคนอื่นๆเขา..ย้อนกลับไปดูปูมหลังเรื่องอาหารการกินของพวกเราแต่เยาว์วัยนั้นเราไม่เคยเอาสารพิษไปสะสมไว้ในร่างกายมากเหมือนคนในเมืองน่ะค่ะ..แล้วช่วงนั้นเป็นช่วงของการเจริญเติบโตที่สำคัญที่สุดของเด็กๆด้วย..คิดว่าอาหารธรรมชาติจากท้องนามีส่วนช่วยเป็นอย่างมาก..และอาหารที่เราจำเป็นต้องกินนั้นกลับเป็นที่ต้องการของคนโดยทั่วไป มาวางขายให้เกลื่อนซึ่งตะก่อนนั้นไม่มีภาพอย่างนี้ให้เห็นเลยค่ะ..

    อ้อคุณครูอ้อยเล็ก ดูสิว่าจะขอขอบคุณที่ลิ๊งค์เว๊บงานของกลุ่ม Visualizer มาฝาก แล้วก็จะขอพูดชื่นชมถึงสักหน่อย  ขอเอางานของอาจารย์บรรลุ แห่งวิทยาลัยสารพัดช่างพิจิตร และศิษย์เก่าเพาะช่าง มาให้คนที่เข้ามาเยือนเวทีหนองบัวได้ชมไปด้วยเลยนะครับ ขออานุญาตอาจารย์บรรลุด้วยนะครับ

                          

    ผลงานของทุกคนดีมากๆเลยนะครับ ท่านที่สนใจอยากแวะเข้าไปเดินดูงานศิลปะเด็ดๆ เข้าที่นี่เลยครับ ชมรมนัก Visualizer บางทีเด็กๆบ้านนอกหรือเยาวชนหนองบัวอาจจะสนใจวิชาชีพและความเป็นมืออาชีพในสาขานี้ ลองแวะเข้าไปดูนะครับ เป็นสาขาหนึ่งที่คนเรียนศิลปะใฝ่ฝันเพราะมีความเป็นมืออาชีพที่ต้องใช้ความสามารถหลายด้าน ต้องทำงานเป็นทีมกับคนอื่นเป็น ทำงานข้อมูลและย่อยความคิดคนอื่นเพื่อตีโจทย์ต่างๆให้ออกมาเป็นภาพได้ เป็นคนที่ทำงานสำคัญที่ทำให้ความคิดความฝันของคนที่เขามีความคิด ให้สามารถเห็นเป็นภาพก่อนจะนำไปสู่การทำเป็นสิ่งต่างๆ ตามที่ต้องการได้ ทั้งการทำศิลปะสื่อโฆษณา การออกผลิตภัณฑ์ การออกแบบตบแต่ง การเป็นออร์แกไนซ์เซอร์ต่างๆ

    ผมแวะเข้าไปดูแล้วคุณครูอ้อยเล็ก งานที่กำลังแสดงอยู่มีทั้งในและต่างประเทศเลยนะครับ หลายคนเพิ่งทราบนะครับว่าเป็นคนเพาะช่างและเป็นน้องๆคุณครูอ้อยเล็ก ฝากชื่นชมมากนะครับ อย่างอาจารย์บรรลุนี่แต่เดิมผมคิดว่ากลับมาเป็นอาจารย์เพาะช่างเสียอีก ทำงานดีในทุกเทคนิคเลย สายตาแม่น พื้นฐานแน่นปั่ก ความแม่นยำและการตัดสินใจจะแจ้ง แล้วก็กล้าเล่นมาก อยู่มือจนเหมือนกับเขียนอย่างธรรมดาๆก็ไม่พอมือแล้ว เห็นผลงานอยู่บ่อยๆครับ หากทำงานและแสดงงานอย่างต่อเนื่องก็คงไปไกลมากๆ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ แถวเกยไชย ทับกฤช พวกนี้นี่เคยไปบ่อยครับ เวลาไปเป่าแตรงานบวชนาคแถวนั้น พอตกเย็นก็ไปอาบน้ำกันในแม่น้ำ เคยดูเขาหาปลาในแม่น้ำแล้วก็ยืนทึ่งเขาอยู่เหมือนกัน ต้องใช้ทักษะสูงและอุปกรณ์ต่างๆก็ไม่เหมือนอย่างแถวหนองบัวใช้เลยนะครับ

    สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็ก หนูนานอกจากจะสะอาด กินอาหารดีๆทั้งกินข้าวและศัตรูที่ทำลายข้าวแล้ว หากชาวบ้านนำมาทำอาหารกินเป็นก็ช่วยควบคุมจำนวนหนูนาที่จะไปกัดทำลายข้าวได้อีกด้วย บางปีนั้นเยอะจริงๆ ผมเคยไปที่พิษณุโลก บางชุมชนต้องจัดกิจกรรมส่งเสริมให้ชาวบ้านแข่งกันนำหนูนาและหอยเชอร์รี่มาทำอาหารกินกันอย่างเป็นเทศกาลชุมชนไปเลย เพราะถ้าหากใช้ฉีดยาและสารเคมีอย่างเดียวก็เป็นพิษสะสมในข้าว พืชผักและน้ำในนาข้าวได้

    ของานศิลปะสวยๆ มาให้คนหนองบัวได้ดูอีกสัก ๒ ชิ้นนะครับ มาจากลิ๊งค์ที่คุณครูอ้อยเธอลิ๊งค์มาให้นั่นแหละครับ แต่ขอดึงออกมาวางในนี้สักสองรูปครับ รูปแรกเป็นของอาจารย์ชูพงษ์ กาลพักษ์ ครูศิลปะของโรงเรียนกรุงเทพวิจิตรศิลป์ เป็นรูปไก่ชนครับ

                           

    นอกจากดูและได้ความสวยงามอย่างที่ชาวบ้านพอจะเข้าถึงได้ง่ายๆแล้ว คนหนองบัวโดยเฉพาะศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว เห็นแล้วก็คงนึกถึงคุณครูที่รักและเคารพยิ่งของเราท่านหนึ่ง คือ คุณครูอุดม โต๊ะปรีชา เป็นครูและคนเก่าแก่ของชาวหนองบัว แต่เดิมนั้นบ้านท่านอยู่เยื้องๆด้านหน้าโรงพยาบาลหนองบัว ซึ่งเมื่อก่อนนั้นออกไปนอกเมืองจนเหมือนอยู่กลางทุ่ง ท่านเป็นคนแรกๆของหนองบัวที่เลี้ยงไก่ชนในหนองบัว ตอนเช้าๆแถวนั้นจะมีเสียงไก่ขันเจื้อยแจ้ว

    อีกรูปหนึ่ง เป็นงานเขียนสีน้ำมันรูปทิวทัศน์ของต่างประเทศ แต่คนวาดเป็นจิตรกรคนไทยครับคือ เสงี่ยม ยารังษี เป็นงานชุดที่เขากับเพื่อนชาวต่างประเทศไปตะรอนๆเขียนจากสภาพจริงของเทือกเขาในประเทศเนปาลแล้วก็นำมาจัดแสดงในประเทศไทย

                      
     
    ความน่าสนใจในงานชุดนี้ของเสงี่ยม ยารังษี จะอยู่ที่ความเป็นงานศิลปะที่สะท้อนออกมาจากการสัมผัสโลกภายนอกด้วยการออกไปเห็น เขียนจากของจริงในสภาพแวดล้อมจริง  ต้องเดินทางด้วยเท้า ปีนเขา ใช้ชีวิตเพื่อซึมซับและเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่นำมาสะท้อนเป็นรูปเขียน จากนั้นค่อยบันทึกและถ่ายทอดออกมาด้วยภาษาศิลปะ หวังว่าคงมีความสุขและเพลิดเพลินกับการชมภาพนะครับ หากติดใจก็เข้าไปดูต่อตามลิ๊งค์ที่คุณครูอ้อยเล็กท่านลิ๊งค์มาให้โลด

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • ไก่ชนตัวนี้สวยมากเหมือนมีชีวิตเลย
    • อีกภาพหนึ่งเห็นแล้วนึกถึงแดนพุทธภูมิ-เนปาล(สถานที่ประสูติพระพุทธเจ้า-สมัยนั้นเรียกว่าแคว้นสักกะ)
    • แม้ไม่เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนหนองคอก
    • แต่ก็นึกถึงคุณครูอุดมได้อยู่
    • ท่านเลี้ยงไว้เยอะ บริเวณบ้านมีสุ่มไก่เพียบ
    • เป็นท้องทุ่งนาชานเมือง ห่างไปอีกนิดหน่อย(ทิศตะวันออก)ก็เป็นป่าเหนือหน้าน้ำก็เลี้ยงควายกันทั้งหนองบัว-หนองกลับ

    ขอเจริญพร

    หมู หมา กา ไก่ เป็นเพื่อนของชาวชนบทไทย

    เมื่อก่อนนี่้ แถวหนองบัวนั้น ช่างฝีมือทำเกวียนหรือช่างวาดเขียน มักชอบวาดรูปแผ่นกระดานปิดเรือนเกวียนด้านหน้าและด้านหลังให้ไม้แผ่นธรรมดาดูสวยงาม และเกวียนก็จะดูเป็นงานศิลปะทั้งเล่ม รูปที่มักนิยมวาดลงไปด้วยอย่างหนึ่งก็คือ รูปไก่ยืนโก่งคอขัน ด้านหลังก็มีดวงตะวันกำลังทอแสงจับขอบฟ้า แล้วก็ดูเหมือนจะมีรายการวิทยุแถวนครสวรรค์หลายรายการ รวมไปจนถึงหนังขายยา จะมีโฆษณายาลูกกลอนตรากาไก่ด้วยครับ แต่ยังนึกรายละเอียดไม่ออก

    ใช่รายการลุงพรหรือเปล่าคะ..เหมือนจะโฆษณายาเป่าคอตรากาไก่ ยาสมานลิ้นตรากาไ่ก่..ครูอ้อยเล็กว่าใช่นะคะ..ลุงจัดรายการวิทยุ..ปากน้ำโพธิ์...นครสวรรค์...ฟังไปพร้อมกับลุงป้าน้าอาเวลาเกี่ยวข้าว..ฟังจากวิทยุทรานซิสเตอร์..ที่จำได้เพราะขัดใจ..ครูอ้อยเล็กติดละครวิทยุค่ะฮาๆแต่ผู้ใหญ่จะฟังข่าวค่ะ ในตอนนั้นก็มี คณะวิเชียรณีริกานนท์ คณะเสนีย์บุษปะเกศ คณะแก้วฟ้า เจียรภาปัญจศีล คณะเกศทิพย์ และสุดท้ายคณะกันตนาคณะนี้ครูอ้อยติดหนังผีสุดๆเลยค่ะ...กลัวผีแต่ติดหนังผี..แปลกดีค่ะ..

    • นิทานลุงพรกับชมรมขายหัวเราะนี่ติดงอมแงมเหมือนกันครับ
    • ยาเป่าคอ-สมานลิ้นตากาไก่นี่คุ้นแต่ไม่แน่ใจเหมือนกันคับ
    • ชมรมเรื่องผีนี่ก็ชอบครับ ถึงเวลาก็นอนคลุมโปงรอบวิทยุแล้วก็ฟังไป-ขนลุกไปด้วยกัน สนุกดี
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรชาวหนองบัวและผู้อ่านทุกท่าน

    วันนี้มีข่าวประชาสัมพันธ์จากหนองบัวเป็นงานการกุศลเกี่ยวกับการจัดหาทุนสร้างเสาธงให้กับโรงเรียนในหนองบัวโดยคนหนองบัวที่รวมตัวกันสร้างประโยชน์สาธารณะจึงขอใช้พื้นที่ตรงนี้ช่วยประชาสัมพันธ์บอกกล่าวให้คนหนองบัวทุกท่านไห้ได้มีส่วนร่วมและอนุโมทนาบุญกันตามอัธยาศัยตามวันเวลาดังกล่าว

    เชิญร่วมงาน

    • รวมพลฅนขี่มอไซค์สร้างมิตรภาพครั้งยิ่งใหญ่Classic Bike Thailand 1 th
    • 10-11 ตุลาคม 2552
    • จัดโดย..ชมรม หนองบัว คลาสสิคไรค์เดอร์ ณ. ลานกิจกรรมสี่แยกประเทศไทย อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์
    • วัตถุประสงค์ของการจัดงาน เพื่อสมทบทุนสร้างเสาธงชาติให้กับ โรงเรียนประชาอุปถัมภ์ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม 2552
    • เวล 12.00 น. รถจักรยานยนต์คลาสสิค & บิ๊กไบค์ ทุกชมรมพร้อมกันที่ ลานกิจกรรมสี่แยกประเทศไทย
    • เวล 13.00 น. เคลื่อนขบวนเข้าสู่ธรรมชาติ ร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลา ณ. อ่างเก็บน้ำ (พระครูไกร)
    • เวล 14.00 น. ขบวนรถคลาสสิค & บิ๊กไบค์ เดินทางกลับถึงสถานที่จัดงาน และร่วมลงทะเบียน 100 บาท พร้อมรับของที่ระลึก และพักผ่อนตามอัธยาศัย
    • เวล 15.00 น. ทุกกลุ่มรวมกัน ณ. ลานกิจกรรมเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน - แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนร่วมเล่นเกมส์เชื่อมความสัมพันธ์
    • เวล 16.30 น. ประกวดรถประเภทต่าง ๆ
    • เวล 18.00 น. เริ่มกิจกรรมบนเวที
    • - ประธานจัดงานกล่าวรายงานต่อ ประธานเปิดงาน สจ. ดลฤดี ติยะโสภณจิต และ นายก อบต.หนองกลับ
    • - มอบทุนให้กับ โรงเรียนประชาอุปถัมภ์ ต.ทุ่งทอง อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์
    • เพื่อสมทบทุนสร้างเสาธงชาติของ โรงเรียน
    • - ประกาศชื่อชมรมที่มาร่วมงานและแลกของที่ระลึก
    • - ร่วมสนุกกับวงดนตรีสุดมันส์ พร้อมศิลปินรับเชิญ (สุดยอดความมันส์ จากค่ายแกรมมี่) เป็นเซอร์ไพร์สพิเศษ
    • - มอบรางวัลการประกวดรถประเภทต่าง ๆ
    •  - มอบรางวัลสำหรับกลุ่มที่มาไกล (ขับมาเอง)
    • – มอบรางวัลกลุ่มที่มามาก (นับจำนวนรถที่มาร่วมงาน)
    • - ประกวด Miss ซ้อนท้าย
    • เวลา 24.00 น. แยกย้ายกันพักผ่อนตามอัธยาศัย วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม 2552
    • เวลา 07.30 น. ร่วมรับประธานอาหารเช้าร่วมกัน
    •  เวลา 09.30 น. แต่ละชมรมถ่ายภาพร่วมกัน เพื่อเก็บเป็นที่ระลึก และเดินทางกลับสู่จุดหมายปลายทางโดยสวัสดิภาพ สอบถามข้อมูล
    • พี่โอ N.B.C. 089 - 9064095 พี่เล็ก N.B.R. 081 - 4098689 ป๋าเล็ก ชุมแสง 081 - 6885147 พี่เกียร N.B.R. 081 - 2807874 ชัย N.B.C. 085 - 8731498 พี่กุ๊ก N.B.R. 086 - 5919751 http://www.thaiscooter.com/forums/archive/index.php/t-320274.html
    ขอเจริญพร
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • คุณโอ N.B.C ,คุณเล็ก N.B.R.,คุณเล็ก ชุมแสง , เกียร N.B.R., ชัย N.B.C.,กุ๊ก N.B.R.
    • มีอะไรจะเพิ่มเติมข่าวสารในงานครั้งนี้ก็ขอเรียนเชิญ
    • หรือจะมีอะไรบอกกล่าวเล่าขานสื่อสารให้คนหนองบัวที่อยู่ไกลบ้านได้ทราบบ้างก็จะดีหาห้อยไม่
    • เพราะคนหนองบัวที่มาทำงานไกลบ้านทั้งหลาย คิดถึงบ้านและก็อยากทราบข่าวสารการเคลื่อนไหวทางบ้านบ้าง
    • ถ้าคนหนองบัวเข้ามาพบปะพูดคุยกันบ้าง และให้กำลังใจคนไกลบ้านเหล่านั้น ท่านเหล่านั้นคงจะภูมิใจและคงจะมีกำใจไม่น้อยเลย.

    ขอเจริญพร

    • หากจะส่งเสริมกิจกรรมในลักษณะนี้ให้เป็นโอกาสการเรียนรู้ พัฒนาความเป็นส่วนรวมและสร้างสุขภาวะให้กลุ่มคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ความลึกซึ้งและแยบคายในค่านิยมของชีวิตมากขึ้น ก็จะสามารถปรับปรุงและพัฒนากิจกรรมอย่างนี้ให้สามารถทำสิ่งสร้างสรรค์ดีๆได้อีกมากครับ
    • ไม่ว่าจะการกระตุ้นให้สนุกอย่างขาดสติจากการแข่งขัน การเปิดรับสิ่งบันเทิงที่ได้แต่ความครึกครื้นเมามันแต่ไม่ได้ความลึกซึ้งและขาดความฉุกคิดต่อสังคม ส่วนผู้ให้ ทั้งองค์กรท้องถิ่น กลุ่มผู้จัด กลุ่มผู้นำเสนอดนตรีและสิ่งบันเทิง ก็ได้แต่เพียงชื่อเสียง ขาดโอกาสทำหน้าที่ต่อการสร้างพลังการเรียนรู้แก่ส่วนรวมของตนเอง ส่วนโรงเรียนและชุมชนก็ได้เสาธง แต่หลังจากนั้น ทั้งโรงเรียน พระคุณเจ้า ผม ครอบครัว และชุมชน คงต้องทำงานให้การเรียนรู้และพัฒนาลูกหลานหนักขึ้นที่จะไม่ให้พวกเขาหลงไปในทางวัตถุจนเสียความสมดุลของชีวิต
    • ดังนั้น ควรจะเพิ่มกระบวนการเรียนรู้และการให้วิธีคิดที่ยกระดับขึ้นจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว โดยสอดแทรกสิ่งต่างๆเข้าไป ขณะเดียวกันก็อาจจะลดบางด้านให้เป็นโอกาสได้ทำสิ่งต่างๆอย่างสร้างสรรค์ครับ
    • ตรงกิจกรรมเวที รวมทั้งผู้ที่ทำหน้าที่เป็นโฆษก ควรสอดแทรกการรณรงค์ส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องของท้องถิ่นในด้านที่มีคุณค่าทางจิตใจ ให้หลักคิดที่ดีภายใต้ความหรูหราและการแข่งขันประกวดประชันกันทางวัตถุ อยู่เป็นระยะๆ  หากจัดเวลาได้ ก็ควรเปิดพื้นที่ให้กับคนเก่าแก่ของท้องถิ่นและคนที่มีความคิดเรื่องท้องถิ่น นั่งคุยกันให้ผู้คนได้เริ่มมองชุมชนและท้องถิ่นของตนเองให้มีความหมายมากยิ่งๆขึ้น
    • ตรงการประกวด Miss ซ้อนท้าย และความบันเทิงทั้งหลายนั้น ก็ทำให้สร้างสรรค์ได้ครับ
    • เวลาเราฟังข่าวคราวความเป็นไปของสังคม รวมทั้งได้เห็นทุกขภาวะและกระแสความเป็นไปของสังคมน่าเป็นห่วงอย่างไร หากเราพอจะพิจารณาว่าสิ่งเหล่านั้น เกิดจากการทำเรื่องส่วนรวมกันในลักษณะอย่างไร  เมื่อมีโอกาสทำให้กับชุมชนและบ้านของเราเอง เราก็ลองทำให้ดีอย่างที่เราต้องการก็ได้ครับ ไม่จำเป็นต้องทำไปตามแฟชั่นและไม่สะท้อนความเป็นตัวของตัวเองก็ได้กระมังครับ

    กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ

        คารวาลัย คุณครูบุญส่ง ว่องสารกิจ คนหนองบัวและอดีตครูใหญ่โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์  

     

    ชาวบ้านชุมชนบ้านตาลิน คณะครูและลูกศิษย์โรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) รวมทั้งญาติพี่น้องบ้านหนองบัว ขอร่วมแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อมรณกรรมท่านคุณครูบุญส่ง ว่องสารกิจ คนหนองบัว และอดีตครูใหญ่ของโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์  

    คุณครูบุญส่งได้ป่วยด้วยโรคมะเร็งและเข้าดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดจากแพทย์และญาติพี่น้องที่โรงพยาบาลศิริราช กระทั่งถึงแก่มรณกรรมเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๒ 

    บุตรภรรยาและญาติพี่น้องจะตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่ศาลาวัดหลวงพ่ออ๋อย หรือวัดหนองกลับ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ และจะฌาปนกิจในวันเสาร์ที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๒ นี้ จึงขอประชาสัมพันธ์มายังท่านผู้เคารพนับถือคุณครู รวมทั้งศิษยานุศิษย์ของคุณครูทุกท่าน เพื่อทราบโดยทั่วกัน.

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    •  อนุสสรณาลัย แด่ คุณครูบุญส่ง  ว่องสารกิจ คนหนองบัวและอดีตครูใหญ่โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์
    • ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวว่องสารกิจ และแสดงความไว้อาลัยต่อการจากไปของคุณครูบุญส่ง ว่องสารกิจ

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ครูที่สานพลังความร่วมมือของโรงเรียนกับชุมชน : ขอรำลึกและคารวะ คุณครูบุญส่ง ว่องสารกิจ

    ผมเคยมีโอกาสได้รู้จักคุณครูบุญส่ง ว่องสารกิจ และได้พบท่านอยู่หลายครั้ง ท่านเป็นครูใหญ่ผู้บริหารโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) คนก่อน คุณครูประสงค์ เดือนหงาย ครูใหญ่ท่านปัจจุบัน หากผมได้กลับบ้านตรงกับวันพระ หรือชุมชนบ้านตาลินกับชุมชนโดยรอบโรงเรียนวันครูมีงานทำบุญและทำกิจกรรมต่างๆของชาวบ้าน ก็มักจะได้เห็นคุณครูไปร่วมงานอยู่กับชาวบ้านอยู่เสมอ

    เวลาปิดเทอมหรือมีวันหยุดและฝนลงพอที่จะปลูกต้นไม้ดอกไม้ได้ ก็เคยเห็นคุณครูมาชวนพ่อผมกับชาวบ้าน ขับรถกระบะของคุณครูเองไปเชียงใหม่เพื่อหาซื้อต้นไม้ดอกไม้ลงมาช่วยกันปลูกให้โรงเรียน

    ชาวบ้านแถวบ้านผม รวมทั้งครอบครัวพ่อแม่ผม เคารพนับถือคุณงามความดีของคุณครู ผูกพันคุณครูและครอบครัวของท่านเหมือนดังญาติคนหนึ่ง 

    กราบสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ หลวงอามหาแล ขำสุข คุณครูอ้อยเล็ก และทุกๆท่านครับ

         วันนี้ผมมาขอต่อเนืองจากการยาลาน ผมว่าท่านอาจารย์วิรัตน์นำเสนอเรื่องราวมาตามลำดับภาพเหตุการณ์ได้ดีมาก ตามฤดูกาล จะเห็นได้ว่าการหาปลา คนนั่งผิงกองไฟหน้าหนาว การทำลานตากข้าว และวันนี้ผมเอาภาพบบรรยากาศกาล่าหนูนามาสานต่อคุณครูอ้อยเล็กครับนี่ก็ใกล้หนาวเข้าไปทุกๆทีผมจะเล่าเรื่องราวเมื่อหลายสิบปีก่อนนานมาแล้วให้ฟังครับ วันนี้เป็นเย็นวันศุกร์แต่ต้องกลับบ้านช้าเป็นพิเศษ เพราะที่โรงเรียนมีกิจกรรมสวดมนต์ในวันสิ้นสุดสัปดาห์ในขณะที่สิ้นสุดเพลงสรรเสริญพระบารมี นักเรียนก็นั่งอยู่ด้วยความสงบนิ่งว่าชั้นไหนจะได้กลับก่อนในขณะนั้นนักเรียนชายหลายคนใจจดจ่อกับการออกล่าหนูนาเพราะว่าวันนี้เป็นวันศุกร์แห่งชาติเลยก็ว่าได้สำหรับเด็กๆเพราะไม่ต้องรีบทำการบ้านรอไว้ทำวันเสาร์เมื่อคุณครูบอกให้แยกย้ายกันกลับบ้านได้ นักเรียนก็พากันเฮด้วยความดีใจรีบวิ่งไปถอยรถBM.ออกจากโรงจดรถด้านหลังอาคารเรียนด้วยความรวดเร็ว…อ้อหมายถึงรถจักรยาน BMX.ครับผม ไปเตรียมอุปกรณ์ดักหนูนากับพ่อครับเพราะวันนี้พ่อจะพาไปล่าหนูนากัน เกี่ยวข้าวแล้วหนูเริ่มออกหาเมล็ดข้าวที่ตกหล่นบนท้องนาอากาศหนาวด้วยเพราะว่าเป็นฤดูหนาว หนูจะอ้วนพลีเพราะอุดมไปด้วยอาหาร เมื่อไปถึงท้องทุ่งนาก็ออกเดินสำรวจค้นหาทางเดินของหนูว่าทางไหนใหม่เก่าเพราะเวลาตอนเย็นจะเห็นได้ง่ายเมื่อวางเจ้ากับดักที่ทำจากไม้ไผ่ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ฟ้าผ่า เจ้าฟ้าผ่าผมเองเคยเห็นใช้กันหลายภาคเหมือนกัน ยิ่งแขกเกี่ยวข้าวที่มาจากเก้าเลี้ยวแล้วละก็ขนกับดักฟ้าผ่ามากันเป็นคันรถเลยทีเดียว มีน้องที่ทำงานด้วยกันกับผมเป็นคนสุพรรณนามสกุลชาวบ้านกร่างกันเกือบทั้งตำบลส่วนมากเลยก็ว่าได้ เค้าเห็นรูปที่ผมวาดก็พูดเป็นสำเนียงสุพรรณว่า นี่เค้าดักหนูนาเหรออออ…อันนี้ใช่กับดักหนู่ที่ทำจากไม้ไผ่ป่าววว..ผมเคยเห่น หนูน่าจะออกได้ดีเมื่ออากาศไม่หนาวจัดแต่ต้องเป็นเวลาที่มืดสนิด พ่อพาเดินไปเลาะกับดักไปเมื่อเห็นหนูวิ่งเพียงดูดปาก ฟูดๆ…ราวคล้ายกับมีหนูมาร้องประกอบกับใช้เท้าเขย่าตอซังข้าวเบาๆเท่านั้นหนูก็วิ่งเข้ามาหาแสงไฟ ว่าก็ว่าราวกับเจ้าเงาะที่สามารถเรียกเนื้อเรียกปลาในเรื่องสังข์ทองอะไรประมาณนั้น แถมยังเคยมีคนเรียกพ่อผมว่าไอ้เงาะเลยก็มี ถ้าหากใครหาไม่ได้แต่อย่างน้อยพ่อผมก็มักจะได้หนูนามาย่างให้กินอยู่เสมอ คืนนี้เดินเกือบทั้งคืนน้ำค้างเริ่มดกซังข้าวเริ่มอ่อนนุ่มเข้าไปทุกทีดาวไถจะตกแล้วเสียงเจ้านกกาเหว่าเริ่มร้องส่งเสียงแว่วเจิดจ้าก้องไปทั่วท้องทุ่งดวงจันทร์เริ่มปรากฏกายออกจากกลุ่มก้อนกลีบเมฆนั่นเป็นสันญาณบอกให้รู้ว่าใกล้สว่างเข้าไปทุกทีอีกไม้นานดวงตะวันก็จะขึ้นมารับขอบฟ้าแทน พ่อต้องเดินเก็บกู้กับดักคนเดียวขณะนั้นผมเองก็ทำการเอาหนูมาเรียงกันแล้วเผาให้ขนไหม้หมดแล้วให้ไม้ขูดขนที่ไหม้เกลียมออกก่อนที่จะทำการลอกหนังเจ้าหนา เช้านี้กับบ้านมีอาหารอันโอชะรออยู่คือหนูนาย่างกับข้าวสวยร้อน แต่สำหรับแม่ใหญ่ทรัพย์ คือยายของผมท่านเป็นคนกลัวหนูมาแต่ไหนแต่ไรรู้ว่าวันนี้มีสิ่งน่ากลัวมาอยู่ในบ้านแม่ผมต้องจัดเตรียมสำรับกับข้าวมาคอยท่าต่างหาก ท่านจะไม่เข้าครัวจนกว่าหนูจะหมดไปท่านเคยเล่าว่าถ้ากลัวปลิงอย่างกลัวหนูไม่ต้องดำนากันหลอก แต่ท่านก็ไม่ได้โกรธเคืองอะไรทีเอาหนูเข้าบ้านเพียงแต่ไม่อยากเห็นก็เท่านั้นเองครับ

     อย่าปล่อยให้ลมหนาวพัดเอาไอดินกลิ่นตอซังผ่านร่างเราโดยที่ไม่ได้ทำอะไรเลยในรอบปี นี่คือความสุขของเด็กบ้านทุ่งคนหนึ่งซึ่งไม่เคยได้นอนเต้นท์ปีนเขาราวกับเด็กสมัยนี้ขอแค่เพียงกระท่อมกองฟางเท่านี้ก็สุขใจ

    สวัสดีครับคุณเสวก ใยอินทร์

    • สุดยอดเลยครับ ทั้งเรื่องและรูปวาด วาดกลางคืนมีเดือนหงายและเมฆบังด้วย ได้บรรยากาศอย่างบ้านนอกของเราเลยจริงๆ
    • ได้ความรู้ใหม่ด้วยครับว่าเขาเรียกกับดักหนูอย่างนี้ว่าเจ้าฟ้าผ่า ผมทำเป็นด้วยเหมือนกันครับ
    • วิธีไปเรียกหนูอย่างที่คุณเสวกเล่ามานั้นก็นึกออกครับ
    • มีปืนหนังสะติ๊กด้วย ชอบภาพประกอบจังเลยครับ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรคุณเสวกและผู้อ่านทุกท่าน

    • คุณเสวกหายไปหลายวัน พอมาทักทายก็มีผลงานมาโชว์กันเลย ขอชมว่าเข้าท่า ๆ
    • เห็นกับดับหนูแล้วนึกถึงต้นสวองที่นามาบเลยแหละ
    • แถวนามาบเป็นดินทรายจะขุดหนูหน้าดำนา ตอนตกกล้า หนูชอบมากินต้นกล้า
    •  ดักหนูต้องเป็นแถวนาดินเหนียวทุ่งห้วยถั่ว ไดตะโก หนองพันซ่อม
    • วางกับดักเสร็จก็ก่อไฟนอนใต้ต้นไม้ใหญ่มองดูดาวไถ ดาวหาง ดาวจระเข้
    • ครั้งหนึ่งไปดักหนูนอนใต้ต้นมะขามแล้วก่อไฟไว้ใกล้ ๆ ตื่นขึ้นมาไฟเกือบไหม้ที่นอนนึกถึงแล้วเสียวหลังวูบ
    • อย่าหาว่าชมกันเองนะ ชอบสำนวนแบบนี้ มีกลิ่นไอสำเนียงภาษาหนองบัวแว่ว ๆ มาแต่ไกลเลย บรรยายซะเห็นภาพเชียว

    ขอเจริญพร

    สุนทรียภาพและสมดุลแห่งชีวิตชาวนาในวิถีชุมชนการผลิต

    เสวก ใยอินทร์ และวิรัตน์ คำศรีจันทร์  ๓๐ กันยายน ๒๕๕๒

    ชุมชนในอดีตของหนองบัวก็เหมือนกับชุมชนส่วนใหญ่ในชนบทของประเทศซึ่งก่อนทศวรรษ ๒๕๒๐ ส่วนใหญ่ร้อยละ ๘๐ ยังเป็นชุมชนเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม ลักษณะของชุมชนในช่วงเวลาดังกล่าวเมื่อเทียบกับสภาพชุมชนและกลุ่มหมู่บ้านเมื่อทศวรรษ ๒๕๔๐ หรือหลัง ๒๐-๔๐ ปีผ่านไปแล้ว ก็จะกล่าวได้ว่าชุมชนดั้งเดิมมีความเป็นชุมชนการผลิตมากกว่า ในขณะที่หลังอีก ๒๐ ปีต่อมากระทั่งปัจจุบันนั้น ชุมชนส่วนใหญ่มีสภาพเป็นชุมชนแรงงานผลิตเพื่อใช้หนี้ 

    ความเป็นชุมชนการผลิตนั้น ชาวบ้านจะทำอยู่ทำกินและเรียนรู้ที่จะพัฒนาความสุขความซาบซึ้งในสิ่งต่างๆโดยเรียนรู้ที่จะปรับตนเองให้กลมกลืนไปกับเงื่อนไขการผลิต ตลอดจนเงื่อนไขแวดล้อมของธรรมชาติ ชาวบ้านจะสร้างความรู้ขึ้นจากประสบการณ์และใช้ความรู้ดังกล่าวนั้นดำเนินชีวิตให้เป็นหนึ่งเดียวกับกระบวนการธรรมชาติ เป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตที่มีความสมดุล

    "....เกี่ยวข้าวแล้วหนูเริ่มออกหาเมล็ดข้าวที่ตกหล่นบนท้องนาอากาศหนาวด้วยเพราะว่าเป็นฤดูหนาว หนูจะอ้วนพีเพราะอุดมไปด้วยอาหาร...." (เสวก ใยอินทร์ )

                                   

    ในอีกด้านหนึ่ง การคิดทำกินและการสร้างอุปกรณ์เพื่อการดักหนู จึงเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อการดำเนินชีวิต ให้มีความสมดุลกับพื้นฐานการผลิตและปัจจัยแวดล้อมของธรรมชาติ

    สุนทรียภาพ ความสุข ความรื่นรมย์ใจ และแรงบันดาลใจที่ปัจเจกจะได้พลังสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ออกมาจากภาวะภายในตนเอง ก็มีลักษณะสะท้อนการซึมซับสภาพแวดล้อมของการดำเนินชีวิต

    "..คืนนี้เดินเกือบทั้งคืนน้ำค้างเริ่มตก ซังข้าวเริ่มอ่อนนุ่มเข้าไปทุกทีดาวไถจะตกแล้วเสียงเจ้านกกาเหว่าเริ่มร้องส่งเสียงแว่วเจิดจ้าก้องไปทั่วท้องทุ่ง ดวงจันทร์เริ่มปรากฏกายออกจากกลุ่มก้อนกลีบเมฆ..."  (เสวก ใยอินทร์ )

    "...นั่นเป็นสันญาณบอกให้รู้ว่าใกล้สว่างเข้าไปทุกทีอีกไม่นานดวงตะวันก็จะขึ้นมารับขอบฟ้าแทน..."  (เสวก ใยอินทร์ )

    สุนทรียภาพและการได้ความรื่นรมย์ใจในลักษณะดังกล่าว เป็นเสมือนอาหารและสิ่งจรรโลงใจที่เป็นกำลังแห่งความอิ่มปีติในชีวิต ทำให้มีความสุขและได้ความอิสรภาพทางจิตใจโดยไม่ต้องซื้อหาหรือบริโภคจากส่วนเกินภายนอก

    "...เช้านี้กลับบ้านมีอาหารอันโอชะรออยู่คือหนูนาย่างกับข้าวสวยร้อน..."  (เสวก ใยอินทร์ )

    ต่างจากการเป็นชุมชนที่มีความเป็นผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งการผลิตได้กลายเป็นการใช้แรงงานผลิตเพื่อใช้หนี้ด้วยความเหนื่อยยาก เมื่ออยากได้ความสุขและความรื่นรมย์ในชีวิต ก็ต้องใช้เงินค่าจ้างจากการผลิตของตนเองไปซื้อหาความสุขจากการบริโภคในสิ่งที่ตนเองผลิตไม่ได้มากยิ่งๆขึ้น

    จะเห็นว่า การดำเนินชีวิตและการทำอยู่ทำกินในวิถีชุมชน ไม่ได้มีเพียงสิ่งที่ผลิตและขายเป็นรายได้เท่านั้น แต่มีองค์ประกอบของชีวิตสอดแทรกอยู่อย่างลึกซึ้งซึ่งจะซื้อหาหรือจัดให้จากภายนอกชุมชนไม่ได้ ทว่า เป็นสิ่งที่จะได้จากความเป็นชุมชนและเข้าถึงได้ผ่านการดำเนินชีวิต 

                              

    "...ขอแค่เพียงกระท่อมกองฟางเท่านี้ก็สุขใจ.."  (เสวก ใยอินทร์ )  แก่นสำคัญของสุนทรียภาพ ความสุข และความสมดุลของชีวิตแบบชาวบ้าน จึงมิใช่อยู่ที่รูปแบบของกิจกรรมอย่างเดียว ทว่า เชื่อมโยงอยู่กับการเรียนรู้อย่างมีความหมายบนวงจรการผลิตและเป็นหนึ่งอยู่กับการดำเนินชีวิต มีคุณค่าทั้งต่อจิตใจและการก่อให้เกิดความสมดุลของการดำเนินชีวิตไปตามจังหวะของธรรมชาติ.

    ผมได้รับกการแนะนำให้รู้จัก blog นี้ จากพระมหาแล ขำสุข จดหมายของท่านที่เขียนถึง ผมได้รับตั้งแต่วันที่ 22 .09.2552 แต่มีงานติดพันและเดินทางข้ามไป-มาระหว่างไทยกับลาว จึงขออนุญาตพระเดชพระคุณตอบมา ในบล็อคนี้ อ่านดูเน้อหาในบล็อคคร่าว ๆ แล้วรีบตอบ หากมีเวลามาก ๆ จะอ่านอย่างละเอียดในภายหลัง

    เรื่องที่ท่านพระมหาขอมา กระผมอนุญาตด้วยความยินดีครับ หากมีสิ่งหนึ่งประการใดที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อชุมชนคนหนองบัว จะได้นำมาเล่าสู่กันอ่านตามแต่โอกาสจะอำนวย

    สำหรับชื่อ...สมบัติ พรหมมินทร์ ฆ้อนทองนั้น.....เป็นชื่อที่ใช้ในการเขียนหนังสือ...ถ้อยเสียงสำเนียงลาว ...เพียงอย่างเดียว ขออนุญาตทักทายชาวหนองบัว(เดียวกัน)เพียงแค่นี้ก่อน สวัสดีครับ.

    ยินดีต้อนรับคุณสมบัติ พรหมมินทร์ ฆ้อนทอง เป็นอย่างยิ่งครับ ท่านพระมหาแลท่านเป็นตัวตั้งตัวตีที่นำมาสู่การมีบล๊อกหัวข้อนี้สำหรับคนหนองบัวอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่เดิมนั้นท่านคุยกับผมอยู่ในหลายหัวข้อ จำเพาะหัวข้อหนองบัวนี้มีคนเข้ามาดูเป็นพันครั้งในเวลาอันรวดเร็ว

    อีกทั้งพระคุณเจ้าเอง รวมทั้งหลายท่านที่เป็นคนหนองบัวและคนอื่นๆที่มีน้ำใจต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรูู้กับคนหนองบัว ก็นำเอาข้อมูลและคุยเป็นความรู้ที่เกี่ยวกับหนองบัวมาถ่ายทอดไว้ ซึ่งหลายเรื่องมีคุณค่าทั้งต่อท้องถิ่นและต่อการเรียนรู้ของสาธารณชนมากเป็นอย่างยิ่ง ผมเลยเปิดหัวข้อนี้รองรับการที่จะคิดและทำสิ่งต่างๆดีๆด้วยกันของคนหนองบัว อย่างที่เห็นนี่แหละครับ

    เชิญทำเวทีนี้ให้เป็นทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งต่างๆที่เห็นว่าเป็นสุขภาวะของชุมชนหนองบัว ที่เราเองจะสามารถมีส่วนร่วมได้ตามความสะดวกและตามกำลังของแต่ละคนครับ แค่เป็นสื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสังคมไทย-ลาวมาสู่คนหนองบัวก็ทำให้เกิดความรอบรู้ เห็นโลกกว้าง และพัฒนาตนเองให้มีความกลมกลืนกับสังคมโลกที่กว้างขึ้นได้แล้วครับ

    ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนั้น นอกจากจะเป็นเหมือนมหามิตรสำหรับสังคมไทยแล้ว ก็กำลังจะเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ กีฬาแห่งปวงชนของโลกในแดนอุษาคเนย์ ซึ่งนอกจากผู้คนคงจะได้เรียนรู้ระหวางสังคมผ่านสื่อมวลชนแล้ว การเป็นสื่อด้วยตัวเราเองก็คงจะน่าสนใจไม่น้อยครับ

    เห็นกระบวนการที่อาจารย์ได้วางเครือข่ายเเล้ว อดรู้สึกชื่นชมกับ จิตสาธารณะของทุกท่านเป็นอย่างยิ่ง

    หากกระบวนการแบบนี้ ใช้ พื้นที่บ้านเกิด เป็นพื้นที่นำร่อง ผมคิดว่าเหมาะสมเป็นอย่างมากครับ การทำงานกับถิ่นที่รัก ถิ่นที่ผูกพันมีพลังทำให้เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ซึ่งผมเองก็คาดหวังแบบนี้กับบ้านเกิดตัวผมเองที่ปายเหมือนกัน

    จะดีเป็นอย่างยิ่งครับ หากฝันเรื่องนี้เป็นจริงเป็นจัง (คาดว่าอีกไม่นานก็จะเป็นจริง) เพราะอาจารย์ได้วางรูปแบบกระบวนการไว้เเล้ว

    วิธีคิดแบบนี้ การวางแผนแบบนี้ จะเป็นตัวอย่าง เป็นบทเรียนที่ดี สำหรับพื้นที่อื่นๆต่อไป

    ---------------------------------------------------

    วันนี้ผมไปทำ MOU ด้วยใจ กับ สรพ.(มหาชน) จะช่วยขับเคลื่อน ความสุข ในวงการสุขภาพ เพื่อทุกคนในสังคม ภายใต้ "HA วิวัฒน์" งานชิ้นนี้เป็นงานใหญ่ ที่ผมมีทีมงานไปสมทบกับ สรพ.กว่า ๕ ท่านที่มากความสามารถ

    วันนี้ผม ไปคุยเรื่อง งานถอดบทเรียนกับ กองทันตฯ กรมอนามัย  งานนี้เพื่อสุขภาวะของสังคม อีกรูปแบบหนึ่ง

    และ ข่าวดีว่า เรื่องราวการถอดบทเรียนที่ผมเขียน มีหน่วยงานแห่งหนึ่งติดต่อ ขอพิมพ์เป็นหนังสือ เพื่อเผยเเพร่สู่สาธารณะครับ...

    :)

    ทั้งหมดเป็นเรื่องราวดีๆ ที่ผมมีความสุข และผมขอแบ่งปันกับอาจารย์ครับ

     

    ยินดีด้วยครับคุณเอก จตุพร ทั้งในเรื่องการเติมความสุขเข้าไปในเครือข่าย รพ ของ สรพ ซึ่งจะได้ทั้งงานและได้ทั้งความดีงามนะครับ มีแนวทางที่จะสร้างเสริมสุขภาวะเข้าไปได้หลายแนวทาง และทำได้ในหลายขอบเขตครับ

    อันที่จริงหาก สรพ ไม่รีบเร่งให้เป็นสูตรสำเร็จ และการถือโอกาส HA วิวัฒน์ ให้เป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงเรื่องการดูแลรักษาให้ครอบคลุมไปถึงการดูแลองค์ประกอบความเป็นมนุษย์กับความเป็นชุมชนด้วยแล้ว ก็ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปในแต่ละที่ได้เป็นอย่างดีครับ เพราะเรื่องนี้หากทำดีๆก็เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง เชื่อมโยงเข้ากับวิธีคิดเรื่องทุกขสัจจะ อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในหน่วยบริการสุขภาพระดับปฏิบัติได้จริงๆ เป็นอย่างดีครับ

    ยินดีด้วยเรื่องที่สองก็คือการมีหน่วยงานมาช่วยกันสนับสนุนการตีพิมพ์หนังสือถ่ายทอดบทเรียนเรื่องการถอดบทเรียน งานแนวนี้ยังต้องสร้าง Space ทางวิชาการและบุกเบิกงานทางความรู้ที่พอเหมาะ-พอดีอีกเยอะครับ ช่วยกันทำอย่างนี้ต้องเป็นเรื่องที่น่ายินดีจริงๆ คุณเอกขยันและมีผลิตภาพดีจริงๆ เยี่ยมๆ

    เครือข่ายสร้างความรู้และจัดการความรู้อย่างผสมผสาน อย่างที่กำลังก่อรูปในเวทีของคนหนองบัวนี้น่าสนใจและทำให้ผมเห็นโจทย์วิจัยใหม่ๆ รวมทั้งผมเริ่มเห็นเครือข่ายนักวิจัยแนวขับเคลื่อนสังคม ที่ผสมผสานความเป็นโลกาภิวัตน์กับความเป็นท้องถิ่น ที่เปิดความคิดให้เห็นแนวทางใหม่ๆที่ดีๆหลายอย่างครับ 

    แวะมาเยือนคนหนองบัวเป็นระยะๆอย่างนี้นี่ดีครับ ต้องขอบคุณมากๆนะครับ  จะว่าไปแล้วหากคนทำงานแนวนี้จะอาศัยแลกเปลี่ยนเรียนรู้เหมือนเป็น AcademicNet ที่เรียนรู้และพัฒนาตนเองไปด้วยกันผ่านเวทีหนองบัวนี้ก็ได้นะครับ ในแง่นี้ความเป็นชุมชนหนองบัวก็จะมีฐานะเป็นแหล่งให้บทเรียน ไม่ใช่เรื่องของท้องถิ่นเล็กๆเท่านั้นน่ะครับ

    สรพ. ไม่รีบเร่งครับ วันนี้เราเคลียร์ concept กันเป็นที่เข้าใจว่า การพัฒนารูปแบบนี้เป็นงานประณีต และเป็นไปอย่างช้าๆ ไม่มีตัวชี้วัดเชิงประจักษ์ที่มากวนใจ

    ผลการพูดคุย ระกว่างทีมงานเราก็เห็นถึงความเข้าใจความเป้นมนุษย์ของทีม สรพ. ตรงนี้ เป็นความสุขที่เป็นทุนเริ่มต้นของคนทำงานครับ

    คงต้องเเวะมาเติมพลังจากบันทึกอาจารย์บ่อยๆ

    มี file การถอดบทเรียนของอาจารย์ 2 file หากจำไม่ผิด ไม่ทราบว่าจะนำบางส่วนเข้าประกอบเป็นหนังสือได้ไหมครับ โดย acknowledge  อาจารย์ ครับ

     

     

    ด้วยความยินดีเลย ตรงไหนเอาไปใช้ทำงานและเสริมความเข้าใจให้กับกลุ่มเป้าหมายที่คุณจตุพรทำงานด้วยได้ก็เอาไปโลด 

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

     

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์ อาจารย์สมบัติและผู้อ่านทุกท่าน

    ขอแนะนำคนหนองบัว

    วันนี้รู้สึกดีใจและมีกำลังใจที่ได้ต้อนรับอาจารย์สมบัติ พรหมมินทร์ ฆ้อนทอง คนหนองบัวนเดียวกันก่อนอื่นก็ขออนุญาตแนะนำให้ท่านทั้งหลายได้รู้จักกับอาจารย์สมบัติแบบย่อ ๆ ตามที่ท่านได้อนุญาตอาตมาไว้แล้ว หวังว่าโอกาสหน้า คงจะได้อ่านข้อเขียนของท่านเกี่ยวกับประเทศลาว จากผู้เชียวชาญ(ท่านเขียนพจนานุกรมลาว-ไทย-อังกฤษ)โดยตรง วันนี้ก็อ่านประวัติของท่านไปก่อนดังต่อไปนี้

    •  สมบัติ พรหมมินทร์ ฆ้อนทอง
    • การศึกษา : ปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยราคำแหง
    • ปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
    • ที่ทำงานปัจจุบัน : ด่านศุลกากรหนองคาย ถ.มิตรภาพ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย
    • ที่ทำงานในอดีต :
    • ๑. กองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง
    • ๒. สำนักงานศุลกากรภูมิภาคที่ ๕ (จังหวัดภูเก็ต)
    • ๓. ด่านศุลกากรสตูล ๔. สำนักงานศุลกากรนำเข้าท่าเรือกรุงเทพ ฯ (คลองเตย)
    • ถิ่นเกิด : ต้นน้ำเจ้าพระยาที่อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสรรค์
    • ผลงานเขียนที่เกี่ยวกับลาว :
    • ๑. งานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา เรื่องสถานการณ์การค้าชายแดนไทย-ลาว ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(NIDA) ปี พ.ศ.๒๕๔๘
    • ๒. แปลกฎหมายศุลกากรลาว ปี ค.ศ.๒๐๐๕ (๒๕๔๘)
    • ๓. คำศัพท์สามภาษา : ลาว-ไทย- อังกฤษ (หน้าปกหนังสือเป็นตัวอักษรลาว อ่านว่า ถ้อยเสียงสำเนียงลาว)
    • ความสนใจพิเศษ : ภาษาลาว / คนลาว / ประเทศลาวและอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับลาว
    • เกี่ยวข้องกับลาว : เคยจัดรายการวิทยุภาคภาษาลาว และอัดสปอร์ตโฆษณาสินค้าเป็นภาษาลาว ทางสถานีวิทยุวัดโพธิ์ชัย คลื่น F.M. ๙๗.๗๕ MHz (รายได้ทุกกีบถวายวัด)
    • กองเขลาคณะกรรมการชายแดนไทย-ลาว (จังหวัดหนองคาย-นครหลวงเวียงจันทน์)
    •  ผู้ประสารงานกับกรมพาสี แห่ง สปป.ลาว (Informal)
    •  คุณปู่มีเชื้อสายไทพวนจากเมืองพวน แขวงเซียงขวาง/คุณตามีเชื้อสายไท-ยวน ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามาจากเชียงแสนหรือจากภาคเหนือของลาว(กันแน่)
    • รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ :
    • ได้รับเกียรติบัตรจาก ฯพณฯ นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นบุคคลที่มีผลงานดีเด่น สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในประเทศ สปป.ลาว เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๐๐๖ ณ นครหลวงเวียงจันทน์
    •  ได้รับใบประกาศเกียรติคุณจากนายชวลิต เศรษฐเมธีกุล อธิบดีกรมศุลกากรให้เป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์แก่ทางราชการ ปี ๒๕๕๐ ผลงานดีเด่นด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ(ไทย-สปป.ลาว) เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๐ เนื่องในโอกาสวันสถาปนากรมศุลกากร ครบรอบ ๑๓๓ ปี.

    ขอเจริญพร

    สื่อรณรงค์สุขภาวะชุมชนอย่างบูรณาการ ขยายผลจากเวทีหนองบัวครับ

    ผมเอากระเป๋าที่ทำเป็นสื่อจัดการความรู้ ถ่ายทอดและขยายผลสิ่งดีๆจากเวทีนี้ มาอวดพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแล คุณเสวก คนหนองบัว คุณเอก คุณสมบัติ คุณครูจุฑารัตน์และทุกท่าน นะครับ

    ผมดึงเอารูปที่วาดจากสิ่งที่พระมหาแลกับคุณเสวกท่านพูดถึง ไปทำเป็นสื่อที่ใช้สอยได้และเป็นสภาพแวดล้อมที่รณรงค์ให้คนได้เรียนรู้ เกิดแรงบันดาลใจที่ดีๆ เกี่ยวกับการเรียนรู้เพื่อจะสร้างส่วนรวมด้วยกัน การอยู่เป็นกลุ่ม การไม่แยกส่วน และการเชื่อมโยงกับถิ่นฐาน

                                

    ใต้รูปวาดมีคติให้วิธีคิดการเรียนรู้เพื่อเป็นซึ่งกันและกันของปัจเจกกับผู้อื่นด้วยครับ คือ  " เดินทางร่วมกันเพียง ๗ ก้าว แม้เป็นคนอื่น ก็นับได้ว่าเป็นเพื่อน  กินข้าวด้วยกันเพียง ๑ มื้อ แม้เป็นคนอื่น ก็ให้ความคุ้นเคยกันเสมือนญาติ  นอนแรมทางร่วมกันแม้เพียง ๑ ราตรี แม้เป็นคนอื่น ก็ให้ความวางใจกันเหมือนดังเป็นตัวเอง "  เป็นคติที่ขยายจากพุทธวจนะที่ว่า ความคุ้นเคยกันเป็นญาติอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นวิถีคิดที่ทำให้คนแปลกหน้าสามารถมีความเป็นพี่น้องและเพื่อนร่วมทุกข์สุขกันได้ดังคติพุทธธรรมน่ะครับ

    มีคนที่ช่วยออกแบบและจัดวางรูปแบบกระเป๋าอย่างนี้อยู่ที่ภาคเหนือของประเทศ โดยรับต้นฉบับภาพถ่ายและข้อความไปจากผม จากนั้นคนที่ตบแต่งทำเป็นต้นฉบับ รวมทั้งทำเป็นซิ้ลค์สกรีน ๑๕๐ ใบ อยู่ที่กรุงเทพฯ ใช้เวลาประสานงานกัน ๑ สัปดาห์ พรุ่งนี้เขาจะทำเสร็จและนำไปให้ผมที่มหาวิทยาลัยมหิดล

    กระบวนการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ มีคนเกี่ยวข้อง ๒-๓ คนโดยที่เราก็ยังไม่ต้องเจอกันและบางส่วนก็ไม่รู้จักกันมาก่อนเลยครับ ด้านหนึ่งก็ได้ผลการปฏิบัติที่งอกเงยต่อเนืองจากเวทีคนหนองบัวของเรา แต่อีกแง่หนึ่งก็เป็นกระบวนการเรียนรู้วิธีเดินบวกกันตั้งแต่ท้องถิ่นไปจนถึงเครือข่ายที่ไม่จำกัดขอบเขต ให้สามารถทำสิ่งต่างๆด้วยกันที่ดีมากทีเดียวครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรคุณจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

    • ดีใจจริง ๆ ที่คุณจตุพรมาเยี่ยมชาวหนองบัว
    • เป็นคนหนุ่มที่น่ายกย่อง
    • มีความคิดเฉียบคม
    • ขยันคิด ขยันเขียน
    • รอบรู้น่านับถือ
    • นี่เขาเรียกว่าเป็นบัณฑิตชน
    • ขอให้มาเป็นกำลังคนหนองบัวบ่อย ๆ ก็จะดีหาน้อยไม่

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และผู้อ่านทุกท่าน

    • ผลิตภัณฑ์จากเวทีคนหนองบัวชุดนี้เห็นแล้วชื่นใจหลาย
    •  ขออนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งต่อทีมงานของอาจารย์วิรัตน์ที่ได้ช่วยสร้างสรรค์เวทีคนหนองบัวให้มีสีสันอย่างน่ารักชวนมอง
    • เป็นรูปที่เขียนขึ้นจากข้อมูลและเรื่องราวที่พระคุณเจ้ากับคุณเสวกพูดถึงน่ะครับ นำเอาหลายเรื่องมาผสมกัน คือมีการย้อนความทรงจำไปถึงห้วยน้อยและการลงแขกเกี่ยวข้าว การลงแขกเกี่ยวข้าวนี้ นอกจากเป็นวิถีชีวิตและเป็นประเพณีการเอาแรงกันของชาวบ้านแล้ว ดูเหมือนว่าอำเภอหนองบัวจะเคยจัดกิจกรรมรำลึกถึงประเพณีดังกล่าวด้วย
    • กระเป๋าผ้าดิบนี้เลยใช้เป็นสื่อเผยแพร่วิถีชีวิตชุมชนหนองบัว รวมทั้งช่วยรณรงค์ให้ท้องถิ่นอื่นๆ ให้รักและหวนคืนไปดูแลรากเหง้าของตนเอง เพื่อก้าวไปข้างหน้าอย่างคนที่มีความเป็นตัวของตัวเอง พอเพียง
    • ผมทำขึ้น ๑๕๐ ใบ จะแจกจ่ายไปยังกลุ่มคณาจารย์ นักวิจัย และคนทำงานในที่ทำงานผมครับ อีกส่วนหนึ่งจะเอาไว้แจกญาติพี่น้องทั้งที่เชียงใหม่และที่บ้านหนองบัว ลองทำเล่นๆดูครับ ดูเหมือนเขาจะคิดค่าทำเบ็ดเสร็จใบละ ๖๐ บาทครับ ผมเคยรับจ้างทำซิ้ลค์สกรีนเสื้อครับ ช่างเหน็ดเหนื่อยและยอดขนาดนี้กับราคาขนาดนี้ หากเป็นผมเองก็คงรับทำไม่ได้แน่ๆ ก็เลยไม่ต่อใดๆทั้งสิ้นเลยครับ

     

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และผู้อ่านทุกท่าน

    • อาจารย์ทำกระป๋าที่มีสัญญลักษณ์หรือโลโก้ชุมชนหนองบัวเสร็จเรียบร้อยแล้ว
    • ต่อไปอาตมาขอเสนออาจารย์ทำปฏิทิน พ.ศ.๒๕๕๓ เป็นรูปวาด,ลายเส้นจากชุมชนหนองบัว
    • ปฏิทินชุมชนหนองบัว
    • ปฏิทินท้องถิ่นหนองบัว
    • ปฏิทินเวทีคนหนองบัว
    • ปฏิทินชาวบ้านหนองบัว
    • เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ อามตาให้พระที่มีความถนัดคอมพิวเตอร์ช่วยทำปฏิทินใส่รูปถ่ายปู่-ย่า,ตา-ยาย(พ่อใหญ่-แม่ใหญ่,พ่อเฒ่า-แม่เฒ่า) (ทำขนาด A4 เพราะมีทุนน้อย)
    •  ลุง ป้า น้า อา ลูกหลาน เหลน โหลน ชอบใจกันใหญ่ จองกันตรึมเลย ถูกใจกันอย่างมาก
    • เพราะรูปบางรูปเก็บไว้โดยลูกหลานไม่เคยเห็นมาเป็น ๔๐-๕๐ ปี จนรูป เปื่อย ผุ กรอบ หลุดลุ่ย
    • อาตมานำทำปฏิทินแจก ถูกใจผู้รับสุด ๆ
    • ขอลุ้นงานนี้อีกหนึ่งงานส่งท้ายปี ๒๕๕๒ ในเวทีคนหนองบัวนี่แหละ

    ขอเจริญพร

    • ข้อเสนอของพระคุณเจ้าถูกใจจังเลยครับ
    • ผมจะลองเลือกรูปและเรื่องที่ทุกท่านช่วยกันทำนี้ให้ได้สัก ๑๒ เรื่องพร้อมกับรูปที่ผมและคุณเสวกวาดไว้แล้ว หากยังขาดตรงไหนอยู่ก็จะวาดเพิ่มให้อีกครับ แล้วจะลองทำอย่างที่พระคุณเจ้าพูดถึงนี้ดูนะครับ
    • หากทำทันก็จะทำเป็นปฏิทิน แจกไปตามโรงเรียนให้ได้เรียนรู้และภูมิใจตนเอง
    • รวมทั้งจะได้เป็นสื่อเรียนรู้ชุมชน ส่งเสริมให้เด็กๆและคนท้องถิ่นเริ่มเดินเข้าสู่โลกทางความรู้ในระบบ IT นี้ด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ชุมชน โดยมีเวทีนี้รองรับก็คงจะดีไม่น้อยครับ เห็นประโยชน์อยู่ครับ
    • แต่ถ้าหากไม่ทันก็จะเตรียมไปเรื่อยๆอยู่ดีนะครับ ผมยังติดใจที่พระคุณเจ้าและกลุ่มพริกเกลือได้พูดถึง หนังสือภาพของชุมชนหนองบัว (Nong-Bua Pictorial) อยากจะทำสะสมและทำขึ้นมาให้ได้ครับ และเนื้อหาอยากระดมเขียนช่วยๆกันในลักษณะนี้แหละครับ  เราคงต้องทำนำไปก่อนให้คนอื่นเขาเห็นและมีคนใช้ประโยชน์ได้ครับ
    • ทุกเรื่องในนี้ผมจะเลือกทำเป็นเนื้อหาเพื่อถ่ายทอดความเป็นหนองบัวด้วยรูปวาดและภาพถ่ายนะครับ อย่างเรื่องของคุณเสวกที่ผมลองยกตัวอย่างเรียบเรียงเชิงวิเคราะห์และทำให้เห็นภาพนั้นก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ใช้ได้ครับ หากเห็นภาพแล้วอยากจะเพิ่มเติมข้อมูลตรงไหน ทั้งของตนเองและช่วยเติมรายละเอียดให้คนอื่น ก็สะสมไปทีละเล็กละน้อยไปเรื่อยๆนะครับ

    กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ

    นมัสการพระคุณเจ้า ขอคารวะท่านอาจารย์วิรัตน์และสวัสดีทุกท่าน ขอขอบคุณชุมชนคนหนองบัวที่ช่วยให้ได้ทราบข่าวกรณีท่านอาจารย์บุญส่ง ว่องสาริกิจถึงแก่กรรม ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของท่านด้วยครับ ท่านเป็นเขยบ้านห้วยวารีใต้และเป็นอาจารย์ใหญ่สมัยที่ผมเรียน ป.5 - ป.6 หากไม่มีท่านผมอาจจะไม่ได้เรียนต่อ ม.1 ที่โรงเรียนหนองบัว

    เย็นวันนี้ได้รับการประสานงานทางโทรศัพท์จากคนหนองบัวที่มาประกอบอาชีพขายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่หนองคาย.....คุณพิชัย(สามี) คนห้วยร่วม .....คุณม่วย(ภรรยา) คนข้างขอบสระวัดหลวงพ่ออ๋อย ว่าท่านอาจารย์โสภณ สารธรรม จะมาชมบั้งไฟพญานาคที่ริมฝั่งโขง จังหวัดหนองคาย ขอให้ไปร่วมกันต้อนรับ(เหมือนเคย) นัดกันไว้ 1 ทุ่มที่ร้านเลอของ ริมแม่น้ำโขงครับ

    พี่น้องชาวหนองบัวที่สนใจเรื่องนี้ ยังพอมีเวลาเดินทางครับ ปีนี้บั้งไฟพญานาคจะขึ้นตั้งแต่ เวลาโพล้เพล้พลบค่ำ - ประมาณ 4 -5ทุ่มในวันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม 2552....ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11....

    การเดินทางจากบ้านเรา.....4 แยกหนองบัว - สะพานมิตรภาพไทย - ลาว ......มาได้หลายทางครับ

    1. หนองบัว - วังทอง - นครไทย - ด่านซ้าย - เลย - เชียงคาน - ปากชม -สังคม - ศรีเชียงใหม่ - ท่าบ่อ - หนองคาย ทางเส้นนี้เลาะเลียบตามริมโขง สวยงามมาก แต่คดเคี้ยวและไกลครับ

    2. หนองบัว - บึงสามพัน - วังชมพู - หล่มเก่า - วังสะพุง - เอราวัณ - นาวัง - นากลาง -บ้านผือ- ท่าบ่อ-หนองคาย ช่วงหล่มเก่า -วังสะพุง เปลี่ยวมาก ไม่ค่อยมีมนุษย์อยู่อาศัยมากนัก หรือจะไปทางหล่มเก่า - น้ำหนาว - ชุมแพก็ได้ครับ

    3. หนองบัว - ชัยภูมิ - ขอนแก่น - อุดรธานี - หนองคาย เส้นทางนี้ผ่านภูเขาน้อยที่สุด ขับรถสบาย ทำเวลาได้ดี

    4. หนองบัว - ภักดีชุมพล - หนองบัวแดง - เกษตรสมบูรณ์ - ภูเขียว - ชุมแพ -หนองบัวลำภู

    ขณะที่กำลังพิมพ์อยู่นี้ ได้รับโทรศัพท์จากทั้งสองสามีภรรยาว่าอาจารย์โสภณและคณะมาถึงแล้ว

    คุณพิชัย คุณม่วย และผม ขออนุญาตไปทำหน้าที่ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัวก่อนนะครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรอาจารย์สมบัติคุณพิชัยคุณม่วยด้วยความยินดี

    • ขออนุโมทนาขอบคุณที่ได้ช่วยบอกเส้นทางการเดินทางไปชมงานบั้งไฟพญานาค
    • ขอให้ทุกท่านเที่ยวงานทำบุญออกพรรษา และอิ่มบุญกันทุกถ้วนหน้า
    • เคยไปนั่งริมของที่เชิงสะพานไทย-ลาว ที่หนองคายในยามเย็น นอกจากบรรยากาศดีมากแล้ว ลำของไหลเอื่อยที่ทอดยาวคดเคี้ยว ช่างให้จินตนาการที่แสนกว้างไกลมากอย่างยิ่งนะครับ
    • ขอให้ทั้งคณะ ท่านอาจารย์โสภณ คุณพิชัย-คุณม่วย และคุณสมบัติ ได้ชมบั้งไฟพญานาคและเยือนถิ่นอีสานอย่างมีความสุขในทุกเส้นทางครับ

    มาชมความจริงวันนี้ค่ะ

    • เอ๊ะ "ความจริงวันนี้" นี่ ฟังดูคุ้นๆนะครับ เดี๋ยวนี้เขายังมีรายการนี้อยู่ไหมเนี่ย ไม่ได้ดูทีวีเกือบสองปีแล้ว
    • กระเป๋าผ้านี้ได้แล้วครับ แล้วก็เอาไปแจกเรียบร้อย สวยและเก๋ดีเหมือนกันครับ ในฐานะคนเคยทำซิ้ลค์สกรีนดูแล้วก็รู้สึกจะยังไม่ค่อยคมชัดเท่าไหร่ แต่คนที่เขาเห็นก็บอกว่าชอบครับ

    ความจริงวันนี้ เมื่อวันที่ 3 มากันเป็นแสนทั้งอุดร-หนองคายดูแดงไปหมด สงสัยว่าจะตั้งใจมาดูบั้งไฟพญานาคด้วย

    ครับ ศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัวทั้งสามคนได้ทำหน้าที่กันเรียบร้อย ท่าอาจารย์โสภณ อาจารย์วันเพ็ญพร้อมคณะ ศิษย์เก่ามศว.บางแสน (รุ่นเดียวกับท่าน) ได้ข้ามไปทานอาหารและเที่ยวในนครหลวงเวียงจันทน์ กลับมาครบทุกท่าน ไม่มีคนตกค้าง ท่านบอกว่ามีนัดต่อที่พิจิตรในวันที่ 5......(ไม่ได้ถามว่านัด เคอิโงะซัง ไว้หรือเปล่า) วันที่ 4 สาย ๆ หน่อยไปส่งท่านกลับที่ โรงแรมนาข่าบุรี จ.อุดรธานี ท่านจึงไม่ได้อยู่ดูบั้งไฟพญานาคด้วย

    ปีนี้บั้งไฟขึ้นน้อยกว่าทุกปีครับ นักท่องเที่ยวหลายหมื่นต่างผิดหวังตาม ๆ กัน แต่จังหวัดยังประชาสัมพันธ์ว่า วันที่ 5 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของลาว บั้งไฟน่าจะขึ้นมากกว่าวันพระไทย ก็ต้องลองพิสูจน์กันดู

    ก่อนกลับท่านอาจารย์ได้มอบหนังสืองานเกษียณของท่านให่เล่มหนึ่ง ได้ความรู้เกี่ยวกับโรงเรียนหนองบัว ชุมชนหนองบัว บุคลากรทางการศึกษาของหนองบัว อย่างชนิดที่ลูกหนองบัวแท้ ก็ไม่เคยรู้มาก่อน ...ที่สำคัญท่านได้มอบหลวงพ่อเดิม และ ใบจองผ้าป่าสร้างโรงอาหารให้กับโรงเรียนเก่าด้วย........ถ้าไม่ติดธุระสำคัญจริง ๆ วันที่ 6 ธันวาคม 2552 คงได้พบกับหลาย ๆ ท่านนะครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • ขออนุโมทนาบุญกับคุณครูอ้อยเล็กด้วย

    เจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • พออาจารย์สมบัติพูดถึงหนังสือแล้วนึกอยากจะได้อ่านขึ้นมาทันทีเลย
    • ยิ่งบอกว่ามีข้อมูลความรู้เกี่ยวโรงเรียนหนองคอก-โรงเรียนแดง บุคลากรทางการศึกษาของหนองบัว และชุมชนหนองบัวด้วยแล้วไม่น่าพลาดใหญ่เลยเชียว
    •  แต่ว่า...ทำไงจะได้อ่านละเนี่ย คงต้องรอไปก่อนนะ....โยม

    เจริญพร

    • ยินดีด้วยกับคุณสมบัตินะครับที่ได้มีส่วนร่วมในห้วงเวลาอันพิเศษสำหรับชีวิตคนทำงานของท่านอาจารย์โสภณและคณะของท่าน ถือว่าเป็นลูกศิษย์ที่โชคดีจังเลย
    • งานทอดผ้าป่าการศึกษาของโรงเรียนในเดือนธันวาคม ๒๕๕๒ นี้ ผมตั้งใจว่าจะไปร่วมด้วยเหมือนกันครับ

    ท่านพระมหาแลให้ทุนตั้งต้น ๒,๐๐๐ บาทเพื่อทำหนังสือและสื่อพัฒนาการเรียนรู้ชุมชนหนองบัว

    • เมื่อวานนี้ (๕ ตุลาคม ๒๕๕๒)  ผมได้รับธนาณัติจากท่านพระมหาแลด้วยความประทับใจ เพราะท่านส่งเงินไปให้ ๒ พันบาทพร้อมกับแสดงเจตจำนงค์ว่าอยากใหเป็นคนริเริ่มทำหนังสือหรือสื่อเพื่อการเรียนรู้ พัฒนาชาวบ้านและชุมชนหนองบัว
    • อีกทั้งเป็นการร่วมคิดและกล่าวปวารนาที่ให้ความสบายใจแก่ผมมากเป็นอย่างยิ่งว่า จะทำหรือไม่ทำ หรือทำช้าทำเร็วอย่างไรก็แล้วแต่จะคิดทำกันต่อไป
    • ผมประทับใจมากเลยครับ จะลองออกแบบและวางแผนดูว่าจะทำอย่างไร ให้ดีที่สุด แล้วจะแจ้งให้พระคุณเจ้าและทุกท่านได้ทราบต่อไปครับ

    สาธารณรัฐ ประชาธิปไตย ประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว ชื่อนี้เริ่มใชเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 1975 ก่อนหน้านั้นประเทศนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ....ราชอาณาจักรลาว....สมัยนั้นมีเจ้ามหาชีวิตทรงดำรงตำแหน่งประมุขรัฐ

    ผมขออนุญาตเพิ่มเติมท่านอาจารย์วิรัตน์ ในความเห็นที่ 133 ว่า การเป็นเจ้าภาพแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งนี้ เป็นซีเกมส์ครั้งที่ 25 ลาวให้ความสำคัญกับการจัดงานนครั้งนี้มาก เนื่องจากเพิ่งจะมีโอกาสเป็นเจ้าภาพครั้งแรก สนามกีฬาก็สร้างเสร็จไปแล้ว 98% กว่าจะถึงวันแข่งจริง 9 - 18 ธันวาคม 2009 (พิธีเปิด 12 ธันวาคม) ทุกอย่างก็น่าจะเรียบร้อย

    สำหรับบรรยากาศริมแม่น้ำโขง หรือที่คนลาวเรียกว่า...แคมของ....ในความเห็นของอาจารย์วิรัตน์ ข้อ 147 นั้น แม่น้ำโขงแต่ละจุด แต่ละพื้นที่ จะมีลักษณะภูมิประเทศที่แตกต่างกัน มีเสน่ห์คนละแบบ กวีหลาย ๆ ท่านต่างก็มีหลายมุมมอง หลากหลายอารมณ์ต่อแม่น้ำโขง ความสวยงามของบรรยากาศริมฝั่งโขง ในฤดูน้ำหลากกับในฤดูน้ำแล้ง/ ในยามหนาว ... หรือยามฝนก็แตกต่างกัน บทกวีอันไพเราะของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ก็น่าจะยังพอหาอ่านได้ครับ

    ความเห็นที่ 153 ของท่านพระมหาแลฯ กระผมเข้าใจว่าหนังสือของท่านอาจารย์โสภณ น่าจะยังพอเหลืออยู่นะครับ หากพระเดชพระคุณได้กลับบ้าน จะลองไปโปรดท่านอาจารย์พร้อมบอกจุดประสงค์ ท่านคงจะดีใจไม่น้อย......บ้านท่านอยู่ในซอยตรงข้ามโรงเรียนหนองบัวนั่นแหละครับ ผมเองก็เคยไปเยี่ยมท่านถึงบ้าน.....................ถามใครก็รู้จักครับ

    ขอขอบพระคุณท่านพระมหาแลฯ และท่านอาจารย์วิรัตน์ ในความเห็นที่ 153/154 ครับ หากจะได้มีโอกาสต้อนรับท่านทั้งสองเหมือนที่ได้ต้อนรับท่านอาจารย์โสภณฯบ้าง ก็มีความยินดี.............อาจารย์ขุน โอภาษี รวมถึงอาจารย์ท่านอื่น ๆ ก็เคยแวะมาหาที่หนองคาย...... แต่ก็หลายปีแล้วครับ.

    โอ้โฮ แทบจะเรียกได้ว่าแม้จะอยู่ตั้งไกลโพ้น แต่ก็เป็นแหล่งพบปะของครูอาจารย์และศิษย์เก่าของหนองบัวไปเลยนะครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • ออกพรรษาแล้วตั้งใจว่าจะไปหนองบัว
    • แต่ก็ยังไม่ว่างอีกช่วงนี้
    • ขอบคุณอาจารย์สมบัติที่แนะนำให้ไปบ้านท่านอาจารย์โสภณ
    • เป็นคนกลัวครู...คงไม่กล้าไป
    • อีกอย่าง....(ไม่รู้จักท่านด้วย) เดี่ยวท่านตกใจ....
    • นึกว่าพระมาแจกซองผ้าป่าบอกบุญเรี่ยไร...อีกแล้วครับ(พระคุณ)ท่าน

    เจริญพร

    ผมกำลังขอให้น้องๆเขาส่งหนังสือและกระเป๋าผ้าดิบมาถวายพระคุณเจ้าด้วยครับ จะส่งไปตามที่อยู่ในจดหมายและธนาณัติที่พระคุณเจ้าได้ส่งไปถึงผมนะครับ อยากมอบถวายทั้งเพื่อได้เป็นกำลังใจในฐานะที่เป็นผลสืบเนื่องอย่างหนึ่งที่จุดประกายขึ้นมาโดยพระคุณเจ้า และเพื่อร่วมกับพระคุณเจ้าในการเป็นสื่อส่งเสริมให้เกิดสิ่งดีๆโดยชาวบ้านนะครับ

    สวัสดีค่ะอ.วิรัตน์

    มาทักทายด้วยความระลึกถึงและเรียนอาจารย์ว่า

    ขอบคุณที่กรุณาติดตามอ่านอนุทินของคนไม่มีรากค่ะ แต่เนื่องจากปัจจุบันคนไม่มีรากไม่ได้เขียนอนุทินแล้วค่ะ...

    แต่เปิดเป็น อนุทินเปิดส่วนตัว...เพราะคิดว่าจะได้ประโยชน์และเปิดกว้างกว่า...

    หากอาจารย์สนใจ ก็อ่านได้ที่นี่ค่ะ ชื่อ บล็อก เส้นทางระหว่างบรรทัด ค่ะ

    ขอบคุณค่ะ

    ขอบคุณครับคุณคนไม่มีราก เลยขอนำเข้าไปไว้ในแพลนเน็ทของผมเอาไว้ติดตามอ่านนะครับ

    เห็นบัวสวยในอินเตอร์เน็ตเลยเอามาฝากพี่อาจารย์วิรัตน์และชาวชุมชนหนองบัวนะคะ..

    สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็ก ช่างไปเสาะหาเจอแล้วนำมาแบ่งกันดูเนาะ เป็นรูปดอกบัวที่งามจริงๆ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • เห็นดอกบัวที่คุณครูอ้อยเล็กนำมาฝากชาวชุมชนหนองบัวแล้ว
    • นึกถึงเมื่อตอนเดินทางเข้าเมืองพิษณุโลก เห็นดอกบัวในคลองข้างถนน
    •  รถติดไฟแดง พอดีมองไปเห็น งามเหมือนกับดอกนี้เลยเชีวย คลองในเทศบาลเมืองฯ
    •  สิ่งสวยงามอยู่ที่ไหนก็สวยงาม งดงามทุกที่
    • หรือว่าสวยงามอยู่แล้วแต่เราไม่มองเห็นเอง
    • ทำให้คิดว่า สิ่งที่เห็นทุกวันนี่แหละถ้ามองผ่าน ๆ จะไม่เห็นความงามเลย
    • แต่ถ้ามองแล้วพิจารณาให้ดี ก็สามารถเห็นจุดดี จุดเด่น จุดงดงามของสรรพสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเต็มไปหมด

     

    • บัวหลวงเป็นพืชน้ำที่มหัศจรรย์มากครับ เป็นสื่อการเรียนรู้ชีวิตและสาธิตการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสมดุลกับสรรพสิ่งรอบข้างได้ดีจริงๆครับ
    • หากมีน้ำท่วมหรือหลากมา เพียงไม่กี่วันบัวก็จะแทงยอดและแตกใบขึ้นไปให้พ้นน้ำ เรียกว่าขยายตัวได้อย่างไม่จำกัด
    • พอน้ำแห้งขอด หรือในกระถางที่ขาดน้ำ บัวก็จะหดตนเองลงไปมากกว่าต้นไม้อื่นๆ จากกอบัวหลวงที่ใหญ่โต ก็จะเล็กจนเกือบเท่ากอผักแว่น 
    • ให้วิธีคิดวิธีมองที่ย้อนดูตัวเองได้มากเลยทีเดียวว่า ตัวเรานี้(มนุษย์)เป็นใคร การดำรงอยู่ที่สมดุลและพอเพียงอย่างแท้จริงเป็นอย่างไร
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • วันนี้(๑๕ ตุลาคม๕๒) อาตมาได้รับหนังสือ
    • วิถีประชาศึกษา บันทึกเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ภาคสนาม จากอาจารย์วิรัตน์
    • ขออนุโมทนาขอบคุณอาจารย์ ขอแจ้งเพิ่มเติมว่ามีเฉพาะหนังสือนะอาจารย์ กระเป๋าผ้าดิบไม่มี
    •  เปิดดูผ่าน ๆ แล้ว เห็นบรรณาธิการและทีมงานทำออกมาดีมากเลย
    • ออกแบบ สารบัญแปลกตาดี โดยเฉพาะใช้เลขไทย มีเสน่ห์ไม่น้อย
    • เนื้อหานั้นก็อ่านมาหลายรอบแล้ว แต่เมื่อเป็นหนังสือแล้วก็อ่านง่ายยิ่งขึ้น
    • ที่น่าอ่านอีกส่วนหนึ่งก็คือ คำนิยมจาก
    • กัลยาณมิตร พี่ เพื่อน และน้อง  ๆ 
    • เพราะได้เห็นการแสดงออกจากความรัก ความเรารพ ความชื่นชม  ความนับถือ ความรู้สึกจากใจจริงของเหล่ากัลยาณมิตรที่มีต่อผู้ที่ตนเขียนถึง
    • ทีมที่ทำ เขาทำออกมาดีมากเลยครับ ผมเองก็ประทับใจมากอย่างยิ่งครับ นึกไม่ถึงว่าเขาจะทำกันขนาดนี้ ในสังคมสมัยใหม่และในองค์กรยุคใหม่ ที่กลับมีคนทำอย่างนี้ให้กันนี่ ต้องนับถือครับ เพราะดูเบื้องหลังแล้ว ไม่ใช่คนที่มีพลังภายในจากตนเองแล้วละก็ จะไม่มีทางที่จะได้เนื้อหาและรูปแบบที่แสนจะพิพิถันขนาดนั้น ผมเองก็ทึ่งครับ
    • กระเป็นผ้าดิบนี่ สำหรับพระคุณเจ้ากับคุณเสวกแล้วต้องส่งมาให้สิครับ จะดำเนินการส่งมาให้โดยเร็วครับผม
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • อ่านคำนิยมจาก กัลยาณมิตร พี่ เพื่อน และน้อง ๆ ในหนังสือ
    • วิถีประชาศึกษา บันทึกเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ภาคสนามแล้ว
    • ทำให้นึกถึงพระเทพปริยัติมุนี(หลวงพ่อเข็บ อนงฺคโณ ป.ธ.๙)วัดวิชิตสังฆาราม เมืองภูเก็ต อดีตเจ้าคณะภาค ๑๗ คนร่างเล็กแต่ตำแหน่งแห่งหน หน้าที่รับผิดชอบใหญ่โต
    • ปกครองสงฆ์หลายจังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน ทำงานสร้างสรรค์สังคมสร้างลูกศิษย์ลูกหาพระเณรให้ได้รับการศึกษา
    • แม้ออกจากวัดไปดำรงเพศฆราวาส ก็ทำประโยชน์ให้สังคมได้ไม่น้อย
    • ชะรอยให้มองเห็นบุรุษตัวน้อย ๆ อีกท่านหนึ่งแต่ใจใหญ่ใช้ชีวิตสมถะที่มาจากบ้านนอก มาสร้างสรรค์สังคมชุมชนที่ศาลายา เขาผู้นั้นมีคนพูดให้ได้ยินว่า รักษ์ถิ่นเกิดและรักษ์หนองบัวมาก ๆ

    เจริญพร

    การรักษ์ถิ่นเกิดและรักษ์หนองบัวนี้ ก็คงจะสอดคล้องกับแนวทางที่พระคุณเจ้าและพวกเราจำนวนหนึ่งคุยกันแล้วก็มาทำเป็นเวทีเสวนาในโลกไซเบอร์นี้เลยนะครับ เพราะเป็นเวทีคิด เขียน สนทนา และแลกเปลี่ยนทรรศนะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งการทำงานและประสบการณ์ชีวิต เพื่อทำให้สำนึกของเราได้มีโอกาสพัฒนาและยกระดับให้คลายออกจากตัวเองได้มากยิ่งๆขึ้น การรักษ์ถิ่นเกิดเป็นการนำเอาตัวตนของปัจเจกไปรวมเป็นหนึ่งกับสิ่งที่มีความเห็นแก่ตัวน้อยลง ในแง่การกล่อมเกลาตนเองนั้น ก็น่าจะเป็นปฏิบัติการเรียนรู้เพื่อลดอัตตา  ลดความเห็นแก่ตัวให้แก่ตนเองของเราได้นะครับ

    Pบัวหลวงเป็นพืชน้ำที่มหัศจรรย์มากครับ เป็นสื่อการเรียนรู้ชีวิตและสาธิตการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสมดุลกับสรรพสิ่งรอบข้างได้ดีจริงๆครับ...หาความมหัศจรรย์แห่งบัวมาเพิ่มเติมจากพี่วิรัตน์ค่ะ...

     

     

    บัว สมุนไพรมีคุณค่า 

    เมื่อกล่าวถึงบัวใครๆก็รู้จักดี ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งในทางพุทธศาสนา ดอกบัวถูกนำไปใช้ในพิธีการต่างๆ ทางศาสนกิจ พระพุทธเจ้าได้เปรียบมนุษย์เหมือนดอกบัว 4 ประเภท
    บัวนอกจากมีความสำคัญในทางศาสนาพุทธแล้ว นักกวีหรือจิตรกรมักนำเอาบัวไปเป็นวัตถุดิบในการประพันธ์หรือวาดภาพ และที่สำคัญคือ ทุกส่วนของบัวตั้งแต่เหง้า ใย ใบ ดอก รังบัว ล้วนแล้วแต่สามารถนำไปใช้เป็นยาสมุนไพรและนำไปปรุงอาหารได้

    ⇒ ชื่อวิทยาศาสตร์
     Nelumbo nucifera Gaerth วงศ์ Nymphaeaceae 

    ⇒สรรพคุณ
    ใบบัว มีคุณสมบัติเป็นกลาง รสฝาดขม แก้ร้อนใน แก้ปวดหัว เลือดกำเดาออก
    สายบัว มีสรรพคุณ แก้ร้อนใน ท้องเสีย ขับนิ่ว แก้ระดูขาว
    ขั้วใบ คุณสมบัติเป็นกลาง รสขม แก้บิด ท้องเสีย
    เมล็ดบัว คุณสมบัติเป็นกลาง รสฝาด แก้อาการท้องเสีย หรือมักนอนฝันเวลาหลับ ระดูขาวและประจำเดือนมากเกินปกติ
    เยื่อหุ้มเมล็ด รสฝาด สรรพคุณห้ามเลือด
    ดอก มีคุณสมบัติร้อน รสขมหวาน แก้ช้ำใน อาการผื่นคัน ห้ามเลือด
    เหง้าบัว มีคุณสมบัติเย็น รสหวาน แก้ร้อนในกระหายน้ำ อาเจียน โลหิต เลือดกำเดาออก
    รังบัว มีคุณสมบัติร้อน รสขมฝาด แก้ประจำเดือนมากผิดปกติ ปัสสาวะเป็นเลือด ริดสีดวงมีเลือดออก คันตามผิวหนัง
    เกสรบัว คุณสมบัติเป็นกลาง รสฝาดหวาน แก้ฝันเปียก เลือดกำเดาออก ประจำเดือนมากกว่าปกติ ระดูขาว ท้องเสีย
    * ดีบัว คุณสมบัติเย็น รสขม แก้ร้อนในกระหายน้ำ อาเจียนเป็นเลือด ตาอักเสบ

    ⇒ตำรับยา
    1. บิดเป็นมูกเลือด ใช้ขั้วใบบัวต้มน้ำดื่ม
    2. ท้องเสีย ใช้เมล็ดบัว (เอาดีออก) บดเป็นผงผสมน้ำข้าว กินครั้งละ 1 ช้อนชา
    3. ผื่นคัน ใช้กลีบดอกบัวพอกบริเวณที่คัน
    4. ความดันโลหิตสูง ใช้ดีบัว 2 กรัม ชงดื่มต่างน้ำชา
    5. แก้ร้อนในกระหายน้ำ ใช้ใบบัวสด หั่นเป็นฝอยๆ ชงดื่มต่างน้ำชา หรือต้มดื่มน้ำ
    6. ร้อนในกระหายน้ำ ใช้เหง้าบัวสดคั้นน้ำ ผสมน้ำผึ้งดื่ม จะทำให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำ

    มีรายงานทางการแพทย์ว่า ใช้ใบบัวต้มน้ำให้ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง 47 ราย กินติดต่อกัน 20 วัน ทำให้โคเลสเตอรอลลดลงได้ผลถึง 91.3% โรงงานผลิตยาในจีนได้สกัดอัลคาลอยด์ (Alkaloid) และ Flavon ในใบบัว แล้วผลิตเป็นยาเม็ด เมื่อนำไปใช้ในทางคลินิกสามารถลดโคเลสเตอรอลและลดความอ้วนได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ

    ⇒ผลทางเภสัชวิทยา
    ขั้วใบ พิษของ Roemerine ต่อกบ หนูถีบจักร กระต่ายและสุนัข ทำให้เกิดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง (convulsion) เมื่อฉีดเข้าไปในสุนัขที่ดมยาสลบในปริมาณ 5-7 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จะทำให้ความดันโลหิตลดลง 30-50 มิลลิเมตรปรอท เป็นเวลา 20-30 นาที ถ้าใช้ในปริมาณที่มากกว่านี้จะทำให้มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อเป็นระยะๆ แต่ความดันโลหิตไม่ลดลง ถ้าใช้ในปริมาณน้อยจะทำให้หายใจเร็วขึ้น

    ดีบัว  :  มีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิต ผลึก Liensinine ที่สกัดจากดีบัว มีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตชั่วคราว

    * ไส้สีเขียวที่อยู่กลางเมล็ดบัว

    ที่มา.... http://www.doctor.or.th/node/5652

    Photobucket

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรขอบคุณคุณครูอ้อยเล็กที่นำสาระดี ๆ มาฝากชาวหนองบัว

    • โอ้โฮ ข้อมูลดีๆเยอะเลย มีบางส่วนที่เป็นข้อมูลใหม่ๆ ที่ทำให้รวบรวมได้รอบด้านมากยิ่งๆขึ้นครับ
    • อเมริกากับจีนมีโครงการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องบัวร่วมกัน เมื่อสัก ๑๐ ปีที่แล้วก้าวหน้าไปมากเลยครับ มีการทดสอบสรรพคุณต่างๆจากบัวได้เยอะแยะ ต้องตามดูอีกสักหน่อยว่าไปถึงไหนแล้ว ในมหาวิทยาลัยมหิดลก็มีการวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีช่วยพัฒนาพันธุ์บัวประดับและพันธุ์บัวหลวง
    • ส่วนผมก็จะดูเรื่องวิถีสังคม ความเป็นชุมชนการผลิต คนและโครงสร้างการผลิตที่ให้ความเป็นปัจเจกและตัวแปรทางสังคม ประชากร วัฒนธรรม โดยเอาหน่วยการผลิตระดับต่างๆเป็นหน่วยในการศึกษาครับ จะให้บัวสะท้อนความเป็นชุมชนการผลิตและบอกเล่าสังคมไทย เพื่อนำกลับมาจัดการวิถีสุขภาวะสังคมอย่างที่มีตัวปัญญาของตัวเองแบบชาวบ้านๆกำกับน่ะครับ เลยต้องขอบคุณครูอ้อยเล็กมากๆครับ
    • ที่มหาวิทยาลัยเกษตรก็จะมีท่าน ดร.เสริมลาภครับ ท่านศึกษาแนวการพัฒนาพันธุ์และส่งเสริมการเป็นบัวประดับอยู่แถวหน้าของประเทศและในวงการนานาชาติ
    • หากไปเจออีกก็นำมาฝากกันอีกนะครับ ขอบคุณอีกรอบในน้ำใจงามๆต่อคนหนองบัวเด้อ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • วันนี้(๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๒) อาตมาได้รับกระเป๋กผ้าดิบเรียยร้อยแล้ว
    • ขออนุโมทนาขอบคุณอาจารย์วิรัตน์
    • มีคนชมว่าสวยดี และถามต่อว่าเป็นสินค้า OTOP หรือเปล่า
    • ข้อความที่ข้างกระเป๋าก็สื่อความหมายกับภาพวาด"การลงแขก ในวิถีชาวนาไทย"ได้ดีอย่างมาก

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล

    สวัสดีค่ะพี่อาจารย์วิรัตน์

    ครูอ้อยเล็กเอากระเป๋าผ้าเขียนด้วยมือกันเองเลยมาฝากค่ะ..ครั้งทำกิจกรรมชุมนุมลูกเสือระดับภาคกลาง ของกรมส่งเริมการปกครองท้องถิ่น ระดับภาคกลางค่ะ...

    เสร็จแล้วแลกเปลี่ยนเป็นที่ระลึกกันค่ะ

     

    ส่วนภาพนี้เป็นเครื่องบูชาขวัญข้าวที่ทำจากแป้งขนมปังบูรณาการกับวิชาสังคมศึกษา...สื่อศิลปะคือสอนการปั้นจากแป้งขนมปัง..สื่อสังคมคือนำผลของการเรียนที่ได้จากศิลปะไปใช้ในเรื่องของพิธีกรรมการทำขวัญข้าว..เป็นสื่อจำลองค่ะ..

    กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

    อันที่จริงสามารถทำเป็น OTOP ได้นะครับ โดยเพิ่มเนื้อหาและรายละเอียดเพื่อทำให้เป็นสื่อเผยแพร่เรื่องราวของชุมชนไปในตัว แล้วก็ขายระดมทุนเอาไว้ทำงานกลุ่มชาวบ้านหรือชุมชนได้  หากชุมชนไหนทำหรือกลุ่มชาวบ้านไหนทำก็ดึงรูปวาดและเนื้อหาออกไปเรียบเรียงแล้วทำได้เลยนะครับ ในส่วนของผมนั้นอนุญาตให้เลย ส่วนเนื้อหาไหนที่พระคุณเจ้า คุณเสวก และท่านอื่นๆเขียนไว้ให้ ก็ขออนุญาตทุกท่านก็คงได้เช่นกันนะครับ

    ข้อความที่ผมพิมพ์ลงไปบนกระเป๋าใต้ภาพการลงแขกเกี่ยวข้าวนั้น มีที่มาจากพุทธวจนะที่ว่า ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่งน่ะครับ

    ขณะเดียวกันการทำสิ่งต่างๆเป็นชุนชนและกลุ่มก้อนเหมือนการลงแขกเกี่ยวข้าวนั้น เป็นตัวตนที่ความเป็นอัตตาของปัเจกลดลงหรือคลายลง แล้วกลายเป็นตัวตนความเป็นส่วนรวมขยายใหญ่ขึ้น ดังนั้น จึงเป็นการปฏิบัติการลดอัตตา หรือเป็นภาคแสดงออกทางการปฏิบัติในสังคมของการเกิดภาวะอนัตตามากยิ่งๆขึ้น ทำให้เราเรียนรู้ทางสังคมและเจริญสติให้ได้ปัญญาที่แยบคายไปด้วยได้เป็นอย่างดีครับ

    ลักษณะการทำอย่างนี้เป็นการเอาความรู้ท้องถิ่นที่เราช่วยกันสร้างขึ้น มาทำเป็นสิ่งใช้สอยให้บูรณาการการเรียนรู้ของชุมชนในสิ่งที่มีดีอยู่แล้วในสังคมนั่นเองครับ

    สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก กระเป๋าที่ทำอย่างนี้ก็ได้ความเป็นแบบฉบับจำเพาะชิ้นมากเลยนะครับ ที่สำคัญคือกระบวนการทำงานศิลปะด้วยตนเองแล้วก็นะมาใช้สอยได้ด้วย มีความสุข ได้การเรียนรู้และได้ประโชน์มากเลยครับ อย่าว่าแต่คนทั่วไปเลย แม้แต่ผมหรือคนเรียนศิลปะมาก่อน ก็คงจะพูดสอดคล้องกันว่าการได้วาดรูปนั้นมีความสุขและเป็นช่วงเวลาที่ได้อยู่กับตนเองที่ดีมากอย่างยิ่ง 

    dialogue box ๑๗๕  เป็นสื่อที่สร้างสรรค์และแยบคายมากเลยครับ นอกจากใช้ในพิธีทำขวัญข้าวแล้ว ชุดผ้าดิบ ขนมต้มแดง ต้มขาว และสิ่งที่นำมาจากผลผลิตจากแรงกายชาว้บาน อย่างนี้ จะใช้สำหรับเป็นของไหว้ครูและทำพิธีต่างๆที่เป็นเรื่องมงคลด้วยครับ

    ตอนที่ผมไหว้ครูแตรวงก็ทำอย่างนี้แหละครับ แต่มีอย่างอื่นเพิ่มเข้ามาด้วยคือเหล้าขาว ไก่ต้ม และขันธ์ห้า ทั้งหมดนี้พอเสร็จพิธีแล้วก็จะเป็นของส่วนรวม นั่งแบ่งกันกินทั้งชุมชนในที่นั้นๆครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    จากความเห็นที่ ๑๗๔/๑๗๕/๑๗๖

    • กระเป๋าผ้าคุณครูอ้อยเล็กสวยสดใสดี
    • เห็นเครื่องบูชาขวัญข้าวแล้วนึกถึงนานึกถึงข้าวเมื่อนานมาแล้วเลย
    • ขอบคุณคุณครูอ้อยเล็กที่นำสิ่งดี ๆ มาแบ่งปัน
    • อาตมายังนึกในใจเลยว่า กระเป๋าผ้าของอาจารย์นี่น่าทำเป็นสินค้า OTOP เข้าท่าเลยแหละ
    • ชุมชนไหนในหนองบัวสนใจลองทำดูก็ได้เพราะอาจารย์วิรัตน์อนุญาตแล้ว
    • ส่วนเนื้อหาข้อความที่อาตมากับคุณเสวกเขียนไว้ก็อนุญาตนำไปใช้ได้เช่นเดียวกัน

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    • คุณครูอ้อยเล็กนี่ ดูปูมชีวิตที่ก่อเกิดและเติบโตมาจากครอบครัวชนบท ดูประสบการณ์ทางการศึกษา ประสบการณ์ทางวิชาการ ประสบการณ์การทำงาน ความสามารถลงมือแปรความคิดมาสู่การปฏิบัติ การหาบทเรียนและปัญญาจากการปฏิบัติ แล้วก็วิธีคิด-วิธีมองสิ่งต่างๆแล้ว ต้องจัดว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่น่าภูมิใจมากเลยนะครับ ตัวเธอเองนี่เป็นสื่อการเรียนรู้ให้เด็กๆและเพื่อนๆได้เป็นอย่างดี
    • โดยเฉพาะการให้ประสบการณ์แก่เด็กอย่างบูรณาการ ผ่านงานศิลปะและกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ มีกุศโลบายดีครับ แวะมาคุยเวทีนี้เป็นระยะๆแบบแวะมาพักผ่อนนะครับ คนหนองบัวและคนที่อาศัวยเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่นจะได้ประโยชน์ครับ
    • วิธีถ่ายรูปเก็บข้อมูลมาเล่าและถ่ายทอดเหมือนกับรายงานประสบการณ์การทำงานของตนเองทิ้งๆไว้นี่ก็น่าเรียนรู้ครับ รวมทั้งทักษะทาง IT ด้วย 
    • กระเป๋าผ้าและใช้รูปกับเนื้อหาเพื่อการเรียนรู้ท้องถิ่น ทำเป็นสื่อรณรงค์ได้หลายเรื่องครับ และถ้าหากทำกระบวนการผลิตให้ดีก็จะเกิดกิจกรรมเศรษฐกิจและกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติได้หลายอย่างครับ
    • เป็นต้นว่าไปซื้อผ้าดิบมาเพื่อสื่อและปฏิบัติไปในตัวว่าผ้าดิบไม่ฟอกขาวเป็นงานที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมต่อการปฏิบัติที่สะท้อนสำนึกต่อภาวะโลกร้อน และผู้ประกอบกิจการก็ใช้แรงงานคนเป็นหลัก เป็นผลดีต่อการร่วมทุกข์สุขกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ 
    • จากนั้น หากกระจายแบบไปให้ครัวเรือนไหนที่มีจักรเย็บผ้า ก็ให้ทำไปตามกำลังที่ทำได้โดยให้ค่าแรงสักใบละ  ๑๐-๒๐ บาท ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่ไม่มากในแง่รายได้ แต่มีคุณค่าต่อการได้ปฏิสัมพันธ์กับชุมชนและก่อเกิดกิจกรรมที่ต้องทำด้วยกันกับคนในครอบครัวและรอบๆข้าง
    • หากวาดรูปก็ให้ค่าตอบแทนค่าวาดรูปใบละ ๑๐-๒๐ บาทเช่นกัน ให้เด็กๆทำโดยมีสีส่วนรวมให้ยังได้เลยครับ หรือให้ครอบครัวที่มีลูกหลานต้องเรียนแต่มีรายได้น้อย ที่อยากฝึกทำในบ้าน รับไปทำโดยฝึกให้
    • หรือฝึกให้ชาวบ้าน หรือกลุ่มเยาวชนและกลุ่มอาสาสมัครต่างๆ ได้มีประสบการณ์ติดต่อและจัดการเป็นธรุกิจของชุมชน โดยไปพิมพ์ซิลค์สกรีนทั้งในนครสวรรค์หรือในกรุงเทพฯ แล้วก็คิดค่าใช้จ่ายต้นทุน เสร็จแล้วก็นำมาขายระดมทุนทำงานชุมชนอย่างที่สนใจอยากทำ
    • เสร็จแล้วก็ใช้เป็นสื่อรณรงค์ เช่น ส่งเสริมให้ใช้แทนถุงพลาสติกเมื่อเดินไปซื้อของ ผมลองแจกญาติๆและชาวบ้านโดยทั่วไปแล้วครับ ส่วนใหญ่ชอบใช้ครับเพราะมันดูมีรสนิยมเรียบง่าย ไม่หรูหราให้ดูแปลกแยกกับชาวบ้าน 
    • ผมเคยทำขายทำกิจกรรมนักศึกษาและทำกิจกรรมรณรงค์กับชุมชนก็ได้ผลดีทุกครั้งครับ หากชาวบ้านหรือชุมชนอยากทำเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนก็คงได้ผลดีเช่นกันครับ ผมเองก็คิดว่าจะทำขึ้นอีกชุดครับ ประเดี๋ยวทำแล้วจะนำมาอวด

    เรียนอาจารย์พี่วิรัตน์

    หนังสือวิถีประชาศึกษา "บันทึกเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ภาคสนาม"..น่าอ่านค่ะต้องใช้วิธีอ่านไปเรื่อยๆค่ะ..แอบยิ้มกับปกหลังค่ะ..ขอบคุณในน้ำใจอาจารย์พี่วิรัตน์เช่นกันค่ะ...

    ความยากจนในวัยเยาว์มีค่ายิ่งสำหรับบทเรียนชีวิตบทต่อมาของครูอ้อยเล็กค่ะอาจารย์พี่วิรัตน์..ณ..วันนี้ครูอ้อยเล็กมีความพรั่นพรึงในใจลึกๆของวิถีชีวิตของเด็กไทยที่เปลี่ยนไปอย่างยากที่จะทำใจ..แต่ก็พยามหาข้อดีของเขามาพัฒนาปรับปรุงชักจูงให้รักในการทำงานด้วยวิธีเข้าใจและเข้าถึง..โดยพบและพูดคุยกับผู้ปกครองโดยตรง..ว่าลูกเขามีความสามารถด้านนี้ๆและครูก็มีข้อเสนอแบบนี้ๆขอให้เด็กได้ทำงานที่ตนเองรักโดยมีครูเป็นผู้ควบคุมดูแล..ให้เป็นไปตามความสามารถของเด็กด้วย..ก็ทำได้เท่าที่ผู้ปกครองจะเห็นสมควร..แต่เมื่อทำไปแล้วอยู่กับเราแล้วทำงานศิลปะกับครูหลังเลิกเรียนแล้วไม่มีเรื่องชู้สาว..เราก็สบายใจไปค่ะ..แต่ถ้ามีมาครูก็ต้องประสานกับผู้ปกครองบอกเล่ากันและช่วยกันแก้ปัญหากัน..ก็ผ่านรอดปลอดภัยไปก็หลายรุ่นแล้วค่ะ..

    สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็ก

    ผมมีชื่อเล่นว่า ม่อย เป็นชื่อเล่นเมื่อตอนเรียนเวชนิทัศน์ศิริราชแล้วคนก็เรียกชื่อนี้มากกว่าชื่ออื่นๆที่เพื่อนๆแต่ละกลุ่มมักขนานนามให้มาจนเดี๋ยวนี้ อาจารย์ผมซึ่งเป็นที่เคารพรักของทุกคนเป็นคนเรียกก่อนเพราะผมนั่งวาดรูปจากกล้องจุลทรรศน์เพลินไปหน่อยเลยนั่งหลับคากล้อง อาจารย์ท่านเลยเรียกแบบระอาใจว่า โธ่ไอ้ม่อย เพื่อนๆเลยใช้เรียกล้อเลียนความเป็นคนชอบหลับ กระทั่งกลายเป็นชื่อเรียกไปเลย

    ตอนทำหนังสือวิถีประชาศึกษาที่ได้ส่งมาให้คุณครูอ้อยเล็กด้วยนี้ น้องๆและเพื่อนร่วมงานเขาแอบทำเซอไพรส์เลยซุ่มเลือกสรรกันเอง เห็นรูปคนนอนหลับในขณะที่มีคนตะโกนเรียกก็ยังหลับอุตุอยู่  พอเห็นหน้ากระดาษเหลือก็เลยเลือกรูปที่คุณครูอ้อยเห็น ใส่ลงไป

                       

    เป็นรูปที่ผมวาดสองสหายอาจารย์กู้เกียรติกับคุณครูอ้อยเล็กเมื่อวัยยุวชนนักศึกษากว่า ๒๕ ปีก่อน แต่คงคิดว่าผมวาดรูปผมเอง เลยนำมาใส่ไว้ในหนังสือให้

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรอาจารย์วิรัตน์

    • มีพระชาวสุโขทัยที่รู้จักกันท่านได้ติดตามเรื่องราวในหนองบัวมาตั้งแต่ต้น
    • และเคยพูดคุยแจ้งความประสงค์กับอาตมาว่าถ้าพิมพ์เป็นหนังสือแล้วขอไว้ศึกษาสักเล่ม
    • วันนี้ท่านมาเยี่ยมที่กุฏิวัดศรีโสภณได้เห็นหนังสือวิถีประศึกษาแล้วประทับใจหนังสือวิถีประชาฯมาก
    • ถามอาตมาว่าทำอย่างไรจะได้ไว้ศึกษาเรียนรู้สักเล่ม ตอบไปว่าถ้ามีเหลืออาจารย์วิรัตน์คงส่งมาถวาย
    • อยากจะถวายท่านเหมือนกันแต่ก็มีอยู่เพียงเล่มเดียว
    • ก็เลยขอถามอาจารย์แทนพระคุณเจ้าว่า ยังมีเหลือบ้างไหมหนังสือวิถีประชาศึกษา
    • ท่านบอกอาตมาว่าถ้าขอช้ากลัวหนังสือจะหมดเสียก่อน

    เจริญพร

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    ต้องกราบขอบพระคุณพระคุณเจ้าเป็นอย่างยิ่งครับที่เหมือนกับช่วยรณรงค์และส่งเสริมทั้งหนังสือและการได้พูดคุยกันอย่างในนี้ไปยังหมู่ผู้ที่ได้มีโอกาสสนทนาปสาทะทั้งพระและฆราวาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนบ้านนอกด้วยกัน

    ผมจะขอน้องๆเขาไว้สักเล่มพร้อมกับกระเป๋านะครับ หากพอเหลือก็จะส่งมาถวายที่พระคุณเจ้าเพื่อผ่านไปยังท่านหรือคนอื่นๆที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อไปครับ   


    รากบัว ในน้ำเก๊กฮวย เพื่อสุขภาพ..น่าอร่อยค่ะเลยเอามาฝากค่ะ...

    วิธีทำตามลิ้งค์เลยค่ะ...

    http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=nuoomsin&date=23-09-2009&group=10&gblog=3



    วิธีทำ
    1. นำรากบัวมาปลอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นๆ นะคะ แล้วก็ล้างน้ำให้สะอาดอีกประมาณ 2 รอบ เอายางมันออก

    ขอบคุณครับคุณครูอ้อยเล็ก เหมือนรากบัวหลวงและบัวหิมะของจีนนะครับ แต่ดูรูปร่างที่ป้อมๆ ท่อส่งน้ำที่มีขนาดใหญ่ และสีสันอย่างนี้แล้วน่าจะเป็นบัวหิมะนะครับ รากบัวหิมะเป็นผลผลิตเกษตรส่งออกของจีน

    ของพื้นถิ่นไทยเราจะเป็นรากบัวหลวงกับรากบัวสาย รากบัวหลวงจะมีลักษณะคล้ายรากบัวหิมะนี้แต่ขนาดเพรียวยาวและท่อข้างในจะเล็กกว่านี้ ส่วนรากบัวสายก็จะมีลักษณะเหมือนสายบัวที่ลอกผิวนอกออก รากบัวมีสรรพคุณทางยาหลายอย่าง หากชงดื่มกินเป็นชา จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตให้ดีขึ้น ทำให้ร่างกายสดชื่นและเกิดผลดีต่อการรักษาโรคหัวใจในทางอ้อม

    รากทำหน้าที่น่าเรียนรู้เพื่อเป็นอนุสติในการดำเนินชีวิตมากครับ หากแล้งจนแหล่งน้ำแห้ง บัวจะหยุดการเจิญเติบโตทั้งหมดจนเหลือแต่รากบัว ยิ่งแล้งก็ค่อยๆย่อยสลายตนเองไปจนเหลือเพียงเหง้า จึงสามารถส่งผ่านตนเองข้ามฤดูกาลเป็นปีๆ บัวจึงมีโอกาสการดำรงอยู่ทั้งโดยรากและเมล็ด

    เมื่อมีน้ำหลากมา ก็ต้องเป็นน้ำขังนานพอที่จะทำให้ดินอ่อน รากบัวจึงจะเริ่มงอกและทำหน้าที่ตรงข้ามไปอีกทางหนึ่งโดยแทนที่จะย่อยสลายตนเองและหดตัวลง ก็จะค่อยๆงอกแผ่ออกไปตามความอ่อนตัวของดิน

    ในกรณีของบัวหลวงนั้น เมื่อได้ระยะและจังหวะที่เหมาะสมก็จะผุดใบและดอกไปพร้อมกัน ๑ คู่ เวลาเห็นบัวหลวงแตกใบขึ้นมา ๑ ใบ ไม่นานก็จะเห็นดอกตูมผุดขึ้นมาด้วย ๑ ดอก หากเป็นระยะแรกๆ ใบบัวยังไม่หนาแน่น โอกาสจะโดนลมตีสูง ใบและดอกบัวหลวงจะปริ่มและแบนราบอยู่กับผิวน้ำ เมื่อหนาแน่นพอสมควรก็จะเหมือนกับร่วมแรงกันกำบังลมไหว จึงจะชูก้านขึ้นเหนือน้ำ 

    ดูแล้วก็เห็นความเป็นชุมชนและเห็นวิถีการพัฒนาอย่างมีความเป็นซึ่งกันและกัน หรือเห็นความเป็นสังคมของพืชได้เหมือนกันครับ  พิจารณาดูให้ดีก็เห็นกระบวนการกลุ่มก้อน  ต่างเป็นปัจจัยสร้างความลงตัวและสร้างความพอดีให้แก่กัน ซึ่งเป็นกระบวนการธรรมชาติที่น่าสนใจและให้สติปัญญาดีจริงๆครับ

                       

    ที่สระหลวงพ่ออ๋อยนั้น ลึกหลายเมตร แต่กลับมีบัวหลวงอยู่เต็ม พอหน้าแล้งสระน้ำแห้งขอด ชาวบ้านหนองบัวก็จะขุดท้องสระให้น้ำซึมบ่อทรายและบางคนก็ขุดรากบัวเอาไปทำขนมขาย ที่ร้านหมอหลุย หรือร้านปานขลิบโอสถข้างสระวัดหลวงพ่ออ๋อย ก็มีรากบัวขายเป็นยาสมุนไพร ยาสูบแก้ริดสีดวงจมูกหมอหลุยบ้างก็กล่าวกันว่ามีใบบัวหลวงเป็นส่วนประกอบ

    หน้าตลาดสดหนองบัวนั้น เมื่อก่อนนี้มีแม่ค้าขนมหวานและบางครั้งก็มีรากบัวเชื่อมขาย ลูกของแม่ค้าขนมและช่วยคุณแม่ขายขนมด้วยนั้นเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัวและเรียนจบด้วยคะแนนดีเยี่ยมได้ชื่อขึ้นบอร์ด Hall of fame ของโรงเรียนหนองคอก

    เด็กคนนั้นปัจจุบันเป็นนายทหารเสนาธิการและผู้บัญชาการยศพันเอก ชื่อพันเอกโกศล ประทุมชาติ นามสกุลก็มีความหมายเป็นดอกบัว เป็นคนหนองบัวและเส้นทางชีวิตก็เหมือนการงอกงามเติบโตของบัวจริงๆ เป็นรุ่นพี่ผมหนึ่งปี ดูเหมือนว่าตอนนี้จะประจำอยู่ที่ค่ายกาวิลละ เชียงใหม่

    เหนื่อยนักพักหน่อย กราบสวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์และท่านผู้อ่านทุกท่านครับ วันนี้ผมเองตั้งใจมาน่านแล้วว่าจะทำตามสัญญา ผมเองได้กลับไปเที่วยวบ้านที่หนองบัวเมื่อวันลอยกระทง ปีนี้ที่วัดหนองบัวหนองกลับมีการจัดงานการแห่กระทงอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีพ่อแม่พี่น้องกลุ่มหมู่บ้านชาวหนองบัวเข้าร่วมขบวนแห่กระทงและเทพีสาวงามนางนพมาศร่วมด้วยทุกชุมชนอย่างหหน่าแน่น แต่ละชุมชนจะมีแตรวงและวงแคลนสร้างความคึกคลื้นในขบวนแห่อย่างสนุกสนาน ตอนกลางคืนมีการประกวดเทพี มีรำวงย้อนยุคอีกด้วยครับปีนี้ ภาพทั้งหมดด่านล่างนี้ผมได้ลงไว้ที่คนหนองบัวกับพริกเกลือแล้วท่านหลวงอามหาแลท่านบอกว่าเห็นหนุ่มน้อยเป่าแตรและวงแคลนเลยทำให้นึกถึงท่านอาจารย์วิรัตน์ด้วยครับ

                 

    หนุ่มน้อยเป่าแตรจากวงโรงเรียนเทพวิทยาคม   ฝึกตั้งแต่เด็กอย่างนี้โตขึ้นรุ่งแน่

                         

    พี่หัวโตก็มาสร้างความฮา เดินมาทักทายน้องหนูร้องไห้เกาะแม่ไม่ยอมห่าง

                 

                

    ชุมชนบ้านเนินขี้เหล็กของผมเองครับ วันนี้แม่บ้านตั้งใจเอาชุดผ้าทอมือของกลุ่มแม่บ้านใส่มาออกงานด้วย

    เทพีนางนพมาศบ้านเนินสานครับ

     

    บ้านเนินตาเกิดสนุกมากรำกันยกหมู่

    อ้าววว...เป่ายาวเลยทิด..กำลังมัน  รอบหน้าขอม้าย่องนะ......

    ดูอย่างมีความสุขเหมือนได้กลับบ้านครับคุณเสวกครับ ต้องขอขอบคุณคุณเสวก ใยอินทร์มากเป็นอย่างยิ่งครับ

    เห็นสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นกับการทำกิจกรรมของคนรุ่นลูกรุ่นหลานแล้ว ช่างต่างกับเมื่อก่อนมากจริงๆนะครับ เดี๋ยวนี้มีความพร้อมกระทั่งสามารถใส่ลูกเล่นได้เลยนะครับ มีชุดคาวบอยและนุ่งยีนส์ อุปกรณ์ต่างๆก็ใหม่เอี่ยมเชียว

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เป็นภาพจากสถานที่จริงในปัจจุบันภาพแรกของอำเภอหนองบัวที่ลงบล๊อคหลังจากพูดเขียนคุยกันมาหลายเรื่องหลายเพลา

    ขออนุโมทนาคุณเสวกที่นำภาพกิจกรรมดีๆชาวหนองบัวบ้านเรามาฝาก ทำให้คิดถึงบ้านเลยเนาะ

    ได้ชมทั้งภาพวาดอาจารย์วิรัตน์และภาพถ่ายปัจจุบันให้อารมณ์คล้ายกันเลยก็คือเหมือนได้กลับบ้านและได้มีส่วนร่วมงานด้วยเลย

    ขบวนแห่กระทงค่ะ..ของโรงเรียนครูอ้อยเล็กค่ะ..

    โคมแขวนประเภทความคิดของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครนครปฐมค่ะ

    เทศบาล ๑ วัดพระงาม (สามัคคีสมัครพลผดุง

    เทศบาล ๔ (เชาวนปรีชาอุทิศ)

    โรงเรียนกีฬาเทศบาลนครนครปฐม

    เทศบาล ๕ (พระปฐมเจดีย์)

    ประเภทสวยงามดอกไม้สดของโรงเรียนเทศบาล ๔ (เชาวนปรีชาอุทิศ)ได้ที่1ค่ะ

    ประเภทความคิดได้ที่ 2 สรุปโรงเรียนเทศบาล ๔ (เชาวนปรีชาอุทิศ)ได้มา 2 รางวัลค่ะ

    ขอหนุนมุมมองพระอาจารย์มหาแลด้วยอีกคนครับ ว่าจะชื่นชมตั้งแต่แรกแล้วว่าคุณเสวกนานๆก็โผล่มาโพสต์ทีหนึ่ง แต่มาคราวนี้มีของติดมือมาฝากเวทีชาวหนองบัวนี้แบบก้าวกระโดดเลย คงไปซุ่มฝึกฝีมือมา เพราะการออกไปถ่ายรูปแล้วก็นำมาจัดไฟล์ข้อมูลกระทั่งโพสต์ขึ้นมาในอินเทอร์เน็ตนี้ เมื่อตอนที่ผมทำนั้นก็มะงุมมะงาหราอยู่เป็นนาน

    คุณเสวกทำอย่างนี้ได้ เวทีคนหนองบัวนี้ก็ได้นักปฏิบัติการสื่อขึ้นมาอีกคนอย่างดีเลยละครับ การมีคนคอยเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งภาพและรายละเอียดของกิจกรรมที่ดีๆในชุมชนท้องถิ่น แล้วก็นำมาถ่ายทอดไว้ในนี้ นอกจากจะช่วยเป็นคนตัวเล็กๆขยายเสียงสิ่งดีช่วยพัฒนาสังคมของชาวบ้านแล้ว ก็เป็นการสะสมเรื่องราวที่เป็นความรู้และสิ่งที่อยู่ประสบการณ์ในวิถีชีวิต ไว้ให้ผู้คนได้ใช้ประโยชน์ต่างๆด้วยครับ

    ตอนนี้ผมพอจะนึกภาพออกบ้างแล้วว่าทำไมตัวเลขในหัวข้อของชุมชนหนองบัว ทั้งของท่านพระมหาแล กลุ่มพริกเกลือ ของผม และที่เวทีที่เปิดขึ้นเฉพาะนี้ ถึงได้มีคนเข้ามาเยอะจริง ตรงหัวข้อของพระคุณเจ้านั้น เกือบจะ ๓ พัน และหัวข้ออื่นๆของคุณเสวกกับผมที่เป็นเรื่องหนองบัวและท้องถิ่นบ้านตาลินกับชุมชนโดยรอบหนองบัว ก็มีคนเข้ามาดูเป็นพันครั้ง ผมลองนึกจินตนาการดูอยู่หลายครั้งเหมือนกันว่าจะเกิดจากอะไรบ้าง

    มาเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว น้องผมที่เป็นครูอยู่ที่หนองบัวเช่นกัน ได้เล่าให้ฟังว่า มีเด็กนักเรียนมาถามว่ามีคนคุยเรื่องหนองบัวอยู่ในอินเทอร์เน็ต และมีคนนามสกุลที่เขารู้จักด้วยหลายคน น้องเขาเข้ามาดูแล้วก็ไปตอบนักเรียนว่ากลุ่มคนที่เขียนเป็นคนหนองบัวและผมเองก็เป็นพี่ของเธอ เป็นศิษย์เก่าหนองบัว

    แสดงว่าส่วนหนึ่คงเป็นเพราะเด็กๆเข้ามาดูและเป็นหัวข้อที่จูงใจให้เขาได้มีกิจกรรมฝึกทักษะคอมพิวเตอร์กับการใช้งานที่สร้างสรรค์ คือ การลองค้นหาเรื่องราวเกี่ยวกับตนเองและท้องถิ่นของตน ซึ่งเหมือนกับท่านพระมหาแลกับผมได้คุยกันและมุ่งหวังว่าอยากให้เกิดขึ้นเมื่อนตั้งใจทำอย่างนี้กันในตอนต้นๆ

    ผมเลยแนะนำน้องซึ่งต้องสอนหนังสือว่า หากมีโอกาสสอนเด็กและให้โครงงานหรือให้กิจกรรมเพื่อเด็กได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นทำเดี่ยวหรือทำเป็นกลุ่ม หรือกลับไปทำกับพ่อแม่ ให้ลองมอบโจทย์เกี่ยวกับการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับหนองบัวแบบต่างๆ ทั้งข้อมูลความรู้ ข้อมูลภาพ ทำเนียบบุคคล เพื่อสร้างความรู้และเรียนรู้ด้วยตนเองให้ได้ทักษะอย่างบูรณาการดูบ้างสิ เขาก็บอกว่านึกอยากทำอยู่นานแล้วและจะลองดูไปทีละนิด

    นี่ถ้าหากที่ไหนได้ลองทำให้มีประสบการณ์เกิดขึ้นสักนิดหนึ่ง เราก็จะสามารถตามไปถอดบทเรียนและทดลองพัฒนารูปแบบการร่วมมือกันอย่างเป็นเครือข่ายระดับประเทศ แต่สะท้อนสู่การทำสิ่งดีให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นได้ผ่านบทบาทของสถานศึกษาและความเป็นปัจเจกที่มีจิตสาธารณะจำนวนหนึ่งของคุณครู 

    สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก กัลยาณมิตรของคนหนองบัว

    ขอบคุณแทนหมู่เสวนาผ่านเวทีนี้ที่นำกิจกรรมดีๆของคนนครปฐมมารายงานผ่านสื่ออย่างนี้ ให้คนหนองบัวและผู้สนใจได้มีโอกาสสัมผัสกิจกรรมประเพณีของพี่น้องในชุมชนไทยต่างถิ่น

    ดูงดงามไปคนละแบบนะครับ เห็นความดีของความหลากหลาย เพราะมองไปด้านบนของชาวบ้านหนองบัวนั้น เมื่อดูแต่โดยลำพัง ผมว่าก็ดูดี๊-ดี ดีกว่าในคนรุ่นผมอย่างเทียบไม่ได้

    แต่พอคุณครูอ้อยเล็กนำเอารูปกิจกรรมของพี่น้องจากท้องถิ่นในชุมชนเมืองนครปฐมมาฝากให้ชมแล้ว มองของชาวนครปฐมก็เห็นความละเมียดละไม ส่วนของชาวบ้านหนองบัวก็ดูเป็นชาวบ้านๆ โจ๊ะโละและจริงใจ

    อันที่จริงที่นครปฐมนั้นก็มีเพื่อนๆชาวหนองบัวไปอยู่และทำงานที่นั่นครับ เพื่อนๆมักถามไถ่ถึงเสมอ ผมเองก็เคยคุยทางโทรศัพท์แต่ไม่เคยได้เห็นตัวเลยสักทีมากว่า ๓๐ ปีแล้ว เป็นตำรวจนายดาบ ชื่อ นายดาบตำรวจสุขสันต์ พวงสมบัติ เขาบอกเคยมาเป็นพนักงานดูความเรียบร้อยเวลามีงานสำคัญแถวพุทธมณฑลและที่อื่นๆในจังหวัดนครปฐมด้วย ตอนนี้เลยได้คนทางการศึกษาของนครปฐมคือคุณครูอ้อยมาเป็นเพื่อนของชาวหนองบัวแลกกันนะครับ

    กราบสวัสดีครับท่านอาจาร์วิรัตน์ พี่น้องชาวหนองบัว และท่านผู้อ่านทุกท่านครับ

    ผมเองไม่ได้มีแต่บรรยากาศการลอยกระทงมาฝากอย่างเดียวนะครับ วันนั้นผมได้เดินไปสำรวจวัดหนองบัวหนองกลับเลยเก็บภาพมาให้ชมกันอีกครับ 

    วิหารหลวงพ่อเดิมมาทังทีขอเชิญเข้าไปปิดทองไหว้พระด้วยกันครับ

    เรือใหญ่ทีทางวัดจัดทำเป็นแหล่งสะสมความรู้มีหนังสือให้อ่านมากมาย

    ไถอาสา เครื่องมือไถนาหนุ่มๆสมัยก่อนใช้ไปชวยคู่ดอง(คู่มั่น)ไถนา

    งานนี้โชคดีจริงที่ยังมีเครื่องหีบอ้อยของจริงให้ชมกันเว้นแต่เจ้าแบ้ครับทีไม่มีให้ชมกัน

    เรือขุด หรือรางน้ำสมัยก่อนชาวบ้านนิยมใช้ใส่น้ำไว้ให้วัวควายกินกัน

     

    สีฝัด เครื่องคัดแยกเมล็ข้าวหลังจากการนวดข้าว

    ตะเกียงมากมายจนนับไม่ถ้วน

    เครื่องมือจับสัตว์น้ำจำพวากกุ้งหอยปลาปู

    ชาวหนองบัวเรียกกระแหล่ง ใช้คลองสัตว์เช่นวัวควาย

    ชุดเครื่องแห่นาคมีทั้งเครื่องแต่งกายและคานหาม

     

    เครื่องหันใบยาให้เป็นเส้น

    จากนั้นแวะชมสวนสัตว์วัดหนองบัว เมื่อก่อนบริเวณนี้มีแต่ต้นมะขวิดเต็มไปหมดเมื่อมีหนังกลางแปลงมาฉายต้องคอยนระวังลูกมะขวิหล่นใส่กันเลยทีเดียวครับ

    ขากลับกรุงเทพเห็นสวยดีกำลังบานเลยเก็บมาฝากทั้งทุ่งถ่ายมาจากไร่ทานตะวันที่อำเภอตากฟ้าครับ ถ้าใครออกจากถนนเส้น อินทร์บุรีเข้าตากฟ้า ก่อนถึงอำเภอหนองบัวก่อจะพบกับทุ่งทานตะวันที่กำลังบ้านเต็มไปหมดในช่วงนี้ครับ  นี่ก็เริ่มหนาวแล้วรักษาสุขภาพกันด้วยทุกท่านนะครับ

    คุณเสวก ใยอินทร์ กลับมารอบนี้พัฒนาไปมากจริงๆ ดีใจจังเลยครับ มีเครื่องมือและวิธีการในการเป็นสื่อเรียนรู้และสร้างความรู้จากชีวิตของชุมชนที่ทำได้เองอย่างนี้ จะเป็นทุนทางสังคมและทุนมนุษย์ที่ช่วยส่งเสริมความเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ของสังคม ที่เข้มแข็งครับ

    อย่างพิพิธภัณฑ์ที่ทำขึ้นในวัดหนองกลับนั้น ผมก็เคยไปดูครับ มีคุณค่ามากมายทั้งต่อชุมชนหนองบัวและต่อสังคมในวงกว้าง แต่ยังสามารถเข้าไปเสริมกำลังในการพัฒนาให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ชุมชนได้อีกหลายอย่างครับ โดยเฉพาะการช่วยกันเขียนเรื่องราวและสร้างความรู้ด้านต่างๆ ที่จะทำให้พิพิธภัณฑ์และสิ่งของนำไปสู่การเรียนรู้ทางสังคมและมิติอื่นๆอย่างลึกซึ้ง

    หากขาดสิ่งนี้แล้ว ก็จะทำให้สิ่งของมากมายเพียงมีการรวบรวมมาอยู่ด้วยกันเหมือนเก็บครุภัณฑ์และสิ่งของรกๆเท่านั้นครับ คนที่มีความรู้จำเพาะเรื่องเท่านั้นจึงจะเห็นความหมาย แต่เด็กๆและคนทั่วไปคงไม่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ให้ได้ปัญญาและแรงบันดาลใจชีวิตที่ดีๆ 

    ยิ่งถ้าหากไม่สามารถจัดการให้เกิดกิจกรรมต่อเนื่องด้วยแล้ว ก็จะยิ่งกลายเป็นภาระของทางวัดและผู้ดูแลรักษามากเป็นทวีคูณ  เอาแค่เรื่องฝุ่นที่เกาะเกรอะกรังในแหล่งที่ร้อนแล้งอยู่เสมออย่างชุมชนหนองบัวของเรานั้นก็เล่นเอาแย่แล้วครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    จากความเห็นของอาจารย์ที่ ๑๙๓

    "นี่ถ้าหากที่ไหนได้ลองทำให้มีประสบการณ์เกิดขึ้นสักนิดหนึ่ง เราก็จะสามารถตามไปถอดบทเรียนและทดลองพัฒนารูปแบบการร่วมมือกันอย่างเป็นเครือข่ายระดับประเทศ แต่สะท้อนสู่การทำสิ่งดีให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นได้ผ่านบทบาทของสถานศึกษาและความเป็นปัจเจกที่มีจิตสาธารณะจำนวนหนึ่งของคุณครู"

    อ่านความเคลื่อนไหวบางอย่างจากน้อง ๆ ลูก ๆ หลาน ๆ ผ่านคุณครูน้องสาวอาจารย์วิรัตน์แล้วก็ชื่นใจไม่น้อยเลย ขอบคุณคุณครูที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนค้นคว้าหาความรู้ในชุมชนหนองบัวอันเป็นเรื่องใกล้ ๆ ตัวของเขาเอง

    อ้าว นักเรียนท่านใดสนใจเรื่องต่าง ๆ ในหนองบัวแล้วอยากให้คุณลุงวิรัตน์คุณเสวกคุณครูจุฑารัตน์หลวงลุงแลหรือท่านอื่น ๆ เล่า(เขียน)ให้อ่านบ้างก็เชิญเลยนะ หรือถ้านักเรียนมีเรื่องอะไรจะเล่าให้หลวงลุงฟังบ้างก็ยิ่งดีใหญ่เลยแหละ หลวงลุงมีความรู้เขียนได้ก็จะเขียน ไม่มีความรู้เขียนไม่ได้ก็จะเขียน(นักเรียนงงไหมเนี่ย)

    หวังว่าทุกท่านที่คงยินดีให้ความรู้แก่นักเรียนอย่างแน่นอน

    ต้องขอบคุณคุณครูอ้อยเล็กอย่างมากที่มีน้ำใจแบ่งบันให้ชาวหนองบัวอย่างสม่ำเสมอ ขอบคุณหลาย ๆ

    ทางโรงเรียนขอให้ช่วยประชาสัมพันธ์อยู่เรื่อยๆให้ด้วย...........

    ผ้าป่าการศึกษาและงาน ๔๙ ปี สู่ ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองบัว

    • ๖ ธันวาคม ๒๕๕๒ โรงเรียนหนองบัว เครือข่ายศิษย์เก่า กรรมการศึกษา และชาวหนองบัว จะจัดผ้าป่าการศึกษาเพื่อสร้างโรงอาหารให้โรงเรียนและลูกหลานคนหนองบัว พร้อมกับเริ่มต้นศักราชกึ่งศตวรรษของโรงเรียนหนองบัว ๔๙ ปีสู่ ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองบัว
    • ขอเชิญศิษย์เก่าและคนหนองบัวมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาการศึกษาของคนหนองบัว ลูกหลานคนหนองบัว และเด็ก-เยาวชนในท้องถิ่นโดยรอบครับ

    ม.1 รุ่นแรก(ม.1/1 - ม.1/5) โรงเรียนหนองบัว โดยเฉพาะ ม.1/1 ที่มีอาจารย์ประจำชั้นชื่อ อาจารย์เรณู จองกา ลูกสาวกำนันตำบลห้วยถั่วเหนือ /บ้านกระดานหน้าแกล ขอเชิญเข้าร่วมแสดงตัวด้วยครับ

    เลยทำให้คลับคล้ายคลับคราไปด้วยว่าเพื่อนหนองบัวรุ่นผมคนหนึ่งชื่อเรณู แต่นามสกุลเดิมยังนึกไม่ออกในตอนนี้ กลับไปเป็นครูที่หนองคอก เมื่อก่อนนี้เคยได้พบปะกันอยู่ แต่กลับไปหลังๆนี้ไม่ยักเจอ ไม่รู้ว่าจะเป็นคนเดียวกันหรือเปล่า เพื่อนเรณูนี่ผมจำบุคลิกชอบหัวเราะลูกเดียวได้ เป็นคนเรียบร้อยและชอบหัวเราะหัวเหอแดงไปหมดอยู่เสมอ เลยมักโดนเพื่อนๆแหย่หรือแกล้งทำเรื่องขำๆให้หัวเราะ

    สวัสดีชาวหนองบัวทุกท่าน

    ผม ฉิกครับ ศักดิ์ศรี พิทักษ์อำนวย ปัจจุบันอยู่ กทม.

    ลูกหนองคอก รุ่น 17 ครับ ม.ศ. รุ่นเกือบสุดท้ายครับ (มีต่ออีก 2 รุ่น)

    เพิ่งจะเจอบทความของ พี่วิรัตน์ คำศรีจันทร์ (ขออนุญาตเรียกพี่ละกัน)

    ลองไปค้นหา ชื่อพี่ในกูเกิ้ล โอ้โห เยอะมากเลย ดีครับ

    อ่านเรื่องเกี่ยวกับหนองบัวแล้ว เหมือนได้กลับไปนุ่งขาสั้น อยู่ทีบ้านเลย

    ผู้คนต่างๆที่พี่เล่ามานี่ ก็รู้จักเกือบจะทุกคน ไว้ว่างๆจะมาแจมเพิ่มเติม ให้เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับลูกหลานชาวหนองบัว

    จะชวนเพื่อนๆที่รู้จัก เข้ามาที่นี่กัน

    วันที่ 6 ธ.ค. นี้ เจอกันทุกคนนะครับ

    สวัสดีครับคุณศักดิ์ศรีครับ ยินดีต้อนรับเป็นอย่างยิ่งครับ คุณฉิกรุ่น ๑๗ นี่เป็นรุ่นน้องผม ๓ รุ่นเอง ผมรุ่น ๑๔ ครับ เลยค่อยร่วมสมัยกันหน่อย เพิ่งได้เห็นคนแรกนี่แหละครับที่บอกว่ารู้จักผู้คนต่างๆที่ผมพูดถึง ดีใจครับ

    พี่ชายผม (รักษ์ แซ่แต้/พิทักษ์อำนวย) ก็รุ่นเดียวกับพีวิรัตน์

    รุ่นนี้ผมรู้จักอยู่หลายคน เช่น อ.สืบ อ.เสน่ห์ อ.ทูน (ทูนหรือทูลไม่แน่ใจ เพราะได้ยินแต่เค้าเรียกกัน ไม่เคยเห็นว่าสะกดอย่างไร)

    3 คนนี้ จะอยู่ แถวเนินน้ำเย็น (แถวๆบ้านแป๊ะอ้อ-ขุนอ้อ)

    พี่ประเวศ อ.มานิตย์ พี่โอ่ง

    เจ๊เกียง-น้ำเต้าหู้ คนนี้เล่นกีฬาเก่ง

    อ.สุนันท์-ขายหมู

    และอีกหลายๆคน

    พอเอ่ยชื่อขุนอ้อออกมา ก็เลยนึกได้ว่า จริงๆ มีบุคคลสำคัญในหนองบัวอีกเยอะมาก เช่น ผู้กองชม ครูนุช ครูลำดวน ฯลฯ

    พวกกำนันก็หลายคน เช่น กำนันเทิน กำนันเทียน กำนันแหวน กำนันผล ฯลฯ (ผมรู้จักกับลูกสาวกำนัน 3 ท่านแรก โดยเฉพาะ ลูกสาวกำนัน 2 ท่านแรกนั่นซี้ปึ้กเลย)

    ยังมีข้อมูลอีกเยอะนะครับที่น่าจะถูกบันทึกถ่ายทอดออกมาให้ชาวหนองบัวได้ระลึกนึกถึงท่านเหล่านี้

    ไว้ผมจะช่วยพี่เพิ่มเติมข้อมูลในส่วนทีผมรู้ (แต่มันออกจะเป็นสไตล์ของผมนะ - แต่ตอนนี้ยังไม่ค่อยออกมาเท่าไหร่)

    วันสองวันนี้ ผมมีความสุขมาก เหมือนได้นั่ง Time Machine ของโดราเอม่อนกลับไปหนองบัวอีกที

    เมื่อคืนก็ได้ไปงานเลี้ยงที่เทคโนพระจอมเกล้า พระนครเหนือมา ได้เจอเพื่อนฝูงหลายคนที่ไม่ค่อยได้มีโอกาสเจอกัน เลยเม้าส์กันซะดึก

    ช่วงนี้มีแต่งานเลี้ยงรุ่น

    วันที่ 6 ธ.ค. เจอกันที่หนองคอกครับ

    ยิ่งดีใจและมีความสุขจริงน้องฉิก เรียกว่าได้อารมณ์โคตรดีใจเลยนะนี่

    เมื่อตอนเด็กๆตอนที่เรียนอยู่หนองบัวนั้น ครอบครัวของฉิกหรือครอบครัวรักษ์นั้น ก็เหมือนกับเป็นครอบครัวของพวกเราเพื่อนของรักษ์ไปด้วยเหมือนกัน รักษ์ พี่ของฉิกนั้น นอกจากเป็นที่รักของเพื่อนๆคนอื่นๆแล้ว เขาเป็นเพื่อนจำเพาะกลุ่มของผมเลย 

    เมื่อก่อนนี้ เวลาไปที่ร้านครอบครัวของฉิก ผมและเพื่อนๆก็เดินเข้าไปอย่างกับบ้านตัวเอง หากไปยังไม่เจอรักษ์ ก็เดินหยิบข้าวของช่วยเตี่ยขายให้กับคนที่เข้ามาในร้านเลย แต่พอโตๆและไม่ค่อยได้เจอกัน ก็ท้าวความกันไม่ค่อยออกแล้วครับ  

    พี่ชื่นชมฉิกอีกอย่างหนึ่งนะครับ ฉิกทำให้เห็นวัฒนธรรมชุมชนของเด็กต่างจังหวัด และวัฒนธรรมความเป็นญาติกันของผู้คน แบบสังคมไทยๆ ให้ได้ความประทับใจมากครับ ฉิกรู้จักพวกพี่ๆตั้งเยอะแยะเลย รวมไปจนถึงคนเก่าๆที่คนหนองบัวรู้จักและเคารพรัก โดยเฉพาะคุณครูลำดวนนั้นทั้งเป็นครูประจำชั้นของพี่และเหมือนเป็นญาติผู้ใหญ่ทั้งของพี่และญาติพี่น้องของพี่เลย

    พี่เองก็มักจะต้องใส่ใจกับเพื่อนๆของพี่และน้องๆ เพราะถือว่า เพื่อนของพี่ก็เป็นพี่เรา เพื่อนของน้องก็เป็นน้องเรา ญาติและแขกของเพื่อนก็คือของเราด้วย รวมทั้งพ่อแม่ของเพื่อนก็เคารพนับถืออย่างเป็นพ่อแม่ของเราด้วย (ยกเว้นเมื่อตอนเด็กๆชอบทะลึ่งเรียกชื่อพ่อ-ชื่อเตี่ยเพื่อนแทนชื่อของตัวเพื่อนเองแต่ละคนกัน)

    ชวนเพื่อนๆที่มีความรู้ มีความคิด และมีประสบการณ์ดีๆ มาคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในนี้ได้นะครับ แล้วก็ถ้าหากใครทำลิ๊งค์ไปยังเว็บของโรงเรียนและหน่วยงานต่างๆในหนองบัวเป็น ก็ทำไปด้วยเลยก็จะดีมากอย่างยิ่งนะครับ ทั้งหนองคอก หนองบัวเทพ วัดเทพ และอื่นๆ ผมเองนั้นก็ลิ๊งค์เว็บของมหาวิทยาลัยมหิดลและคณะสังคมศาสตร์ฯมาเชื่อมต่อให้เด็กๆกับคนหนองบัว ไว้ที่เวทีของคนหนองบัวแล้วนะครับ

    คุยกันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันไปเรื่อยๆก่อน หากมีโอกาสพี่จะจัดเวทีพบปะหรือจัดประชุมในหมู่คนที่คิดทำสิ่งต่างๆได้และมีจิตใจที่อยากทำให้กับชุมชนหนองบัวนะครับ เมื่อสามสี่ปีก่อน มีเพื่อนๆน้องๆและหน่วยงานท้องถิ่น อยากคุยกันหลายเรื่องเพื่อทำสิ่งต่างๆดีๆด้วยกันให้หนองบัวแล้วอยากจัดเวทีกัน

    โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาการศึกษา สุขภาพ และการพัฒนาพื้นที่ แล้วบางครั้งก็อยากให้พี่มา Run เวทีและเชื่อมโยงพวกเราให้ แต่พี่ลองชั่งน้ำหนักดูแล้ว พวกเราเป็นคนหนองบัวก็จริง แต่เราไม่ค่อยได้เรียนรู้และไม่ค่อยมีข้อมูลเพื่อที่จะคิดให้แตกต่างไปจากสภาพเดิมกันเท่าไหร่

    อีกทั้งพี่เห็นว่าโดยปรกตินั้น เราก็ใช้วิธีคิดและลงแรงทำกันเป็นกลุ่มและเป็นรุ่นศิษย์เก่ากันอยู่แล้ว เลยก็ยังไม่ชวนกันทำสิ่งใดไปมากกว่าเดิม ซึ่งนัยยะก็คือเป็นการบอกกันทางอ้อมว่าเราควรจะเตรียมตัวเองง่ายๆสักนิดหนึ่งไปก่อนดีกว่าไหม ตามแต่ใครจะถนัดและชอบไปทางไหน

    อย่างการใช้การทำงานข้อมูลจากการคุยกันในนี้ไปเรื่อยๆก็ได้ อย่างน้อยก็เหมือนได้กลับบ้านและสื่อสารถึงคนที่รู้จักคุ้นเคยนะครับ

    สวัสดีครับพี่วิรัตน์

    • ขอแก้ไขข้อมูลหน่อย เรื่องแถวบ้าน อ.สืบ มันต้องเป็นโคกมะตูม ไม่ใช่เนินน้ำเย็น
    • ไอ้เรื่องชื่อหมู่บ้านต่างๆนี่ ผมก็ไม่ค่อยแม่นเท่าไหร่ แต่ได้ยินอยู่บ่อยๆตอนเด็กๆ 
    • เมื่อกลางวันได้คุยกับลูกสาวกำนันเทิน (บอกให้เค้าเข้ามาดูที่นี่แล้ว อีกไม่นานคงจะเข้ามาแจมด้วย) เค้าก็บอกมีเรื่องตลก คือแถวเกาะลอย (อีกชื่อหนึ่งก็คือท้ายหนอง) ตรงบริเวณหลังกุฏิฤาษี แถวนั้นก็จะเรียกบ้านตีนกุฏิ ซึ่งเวลาพูดก็จะออกเสียงเป็นบ้านตีนกุด คนก็จะเรียกสาวๆแถวนั้นว่าสาวตีนกุด ฟังดูแล้วก็ขบขันสำหรับคนอื่น แต่สาวตีนกุดคงจะไม่ขำกะเราเท่าไหร่
    • เมื่อครู่ได้โทรคุยกับ อ.ขุน และก็ได้บอกให้เข้ามาดูที่นี่ รวมทั้งได้ส่ง SMS ไปบอกพรรคพวกให้เข้ามาที่นี่ เพื่อมาช่วยพี่วิรัตน์สร้างชุมชนหนองบัวของเรา ให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น  

    สวัสดีครับฉิก

    • พี่ก็เพิ่งเรียนรู้ในรายละเอียดไปด้วยหลายเรื่องเลย เมื่อก่อนนี้แถวบ้านอาจารย์สืบนั้นพี่ก็เคยไปป้วนเปี้ยนกันตั้งแต่อยู่โรงเรียนเทพฯ
    • ตอนนั้นแถวบ้านอาจารย์สืบมีลานกว้าง บ้านหลังใหญ่โต กลางลานมีต้นมะปราง อาจารย์สืบกับพี่และในกลุ่มเพื่อนเป็นนักกิจกรรม พวกพี่เคยทำเสื้อกีฬาสีกันเอง พี่จะเป็นมืออาร์ตเวิร์คให้เพื่อนๆ ตอนจะรวมกลุ่มทำก็มักจะตระเวนไปรวมเพื่อนออกมาจากบ้านทีละคนสองคน
    • บ้านของอาจารย์สืบนี่ไปกันบ่อยเพราะตรงนั้นมีเพื่อนอยู่บ้านติดๆกันตั้งหลายคน คืออาจารย์สืบ จ่าไพฑูรย์(เดี๋ยวนี้แยกบ้านไปอยู่แถวเกาะลอยแล้วกระมัง) และ รศ.ดร.เสน่ห์ จุ้ยโต เดินออกมาอีกนิดก็เป็นบ้านร้านของฉิกและพี่ของฉิกคือรักษ์ ก็เพิ่งจะทราบนี่แหละว่าเขาเรียกว่าโคกมะตูม
    • อาจารย์ขุนเข้ามาคุยนี่ต้องสร้างบรรยากาศให้คึกคักเลยนะครับ เพราะพี่ขุนนั้นต้องถือว่าเป็นผู้บริหารสถานศึกษาระดับอำเภอท่านหนึ่ง อีกทั้งเป็นนักกีฬาโรงเรียนเก่า เป็นศูนย์กลางของเพื่อนๆพี่ๆน้องๆที่เป็นศิษย์เก่าของหนองบัว แล้วก็ดูเหมือนว่า ลูกของพี่เขาจะเรียนอยู่คณะเภสัชฯ มหาวิทยาลัยมหิดลอีกด้วย เชิญเลยนะครับ
    • ลานบ้านอ.สืบนี่ เป็นที่ที่ผมใช้ฝึกวิทยายุทธ์ตะกร้อตั้งแต่เด็ก และติดตัวมาจนปัจจุบัน แม้จะไม่ได้เล่นมานานแล้ว แต่เมื่อใดที่มีโอกาส เห็นพวกเด็กๆเล่นตะกร้อวงกัน ก็เข้าไปเล่นกับเค้าอย่างไม่อายใคร คือเพื่อนผม ไอ้โหม่ง กะไอ้รัก บ้านอยู่ที่เดียวกับ อ.สืบนั่นแหละ 2คนนี้นี่เล่นตะกร้อเก่ง โดยเฉพาะไอ้โหม่งนี่พื้นฐานแน่น นึกถึงตอนกีฬาสีแล้วมีเรื่องประทับใจเยอะมาก จะทยอยมาเล่าให้ฟัง (ขออนุญาตเรียกพวกเพื่อนๆว่า ไอ้ ละกัน มันได้อรรถรสดี)
    • ช่วงนี้กำลังไล่ตามพรรคพวกเพื่อชวนไปงานที่หนองบัววันที่ 6 ธ.ค. เมื่อวาน ได้คุยกับ ดร.สุภา (จริงๆศิษย์เก่าหนองคอกนี่ก็ดอกเตอร์เยอะนะเนี่ย) นี่ก็เรียนกันมาตั้งแต่ประถมที่หนองบัวเทพฯ ถึงม.ศ.3 ที่หนองคอก ไม่ได้เจอกันมาหลายปีดีดัก ตั้งแต่คุณเธอไปเรียนต่อที่อินเดีย (ไม่แนใจว่าโทหรือเอก) ก็เลยไม่ได้ติดต่อกันอีก ไปดูในเวปของ ม.ราชมงคล-ธัญญบุรี โอ้โฮเดี๋ยวนี้เป็นรองคณบดีฝ่ายบริหารฯ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ก็เลยชวนกลับหนองบัววันงาน ต่างก็ดีใจที่ได้คุยกันแม้จะเป็นทางโทรศัพท์ก็ตาม และก็ได้ชวนให้เข้ามาคุยกันในบล็อกนี้ด้วย

    วันที่ 6 ธ.ค. เจอกันที่หนองคอกครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรคุณศักดิ์ศรี พิทักษ์อำนวย

    รู้สึกดีใจมากที่คนหนองบัวบ้านเราเข้ามาช่วยกันเขียนเรื่องราวบอกกล่าวเล่าขาน ร่วมเสวนาพูดคุยร่วมรำลึกถึงบ้านตัวเอง

    คนหนองบัวหลายท่านที่ได้ช่วยกันเขียนเรื่องหนองบัวคงมีความสุขที่เห็นคุณศักดิ์ศรี บอกว่าได้อ่านเรื่องราวในหนองบัวแล้วมีสุขเหมือนได้กลับบ้านเรา

    สำนวนแบบนี้ได้อรรถรสเป็นคนกันเองดี

     เจริญพร

    # 199 .....#....200 เข้าใจว่าจะเป็นคนเดียวกันนะครับ

    ที่ทำให้คิดไปเช่นนั้น เนื่องจากเข้าเค้ากับบุคลิกที่ท่านอาจารย์บอก คือว่า เป็นคนยิ้มเก่ง อารมณ์ดี....และใจดีด้วย

    อาจารย์เรณู จองกา น่าจะเป็นนามสกุลดั้งเดิมของท่านนะครับ เนื่องจากผมเคยเห็นในทะเบียนบ้านของผมเอง มีลายเซ็นและรอยประทับตราประจำตำแหน่งของนายบุญสม จองกา กำนันตำบลห้วยถั่วเหนือ ซึ่งตอนนั้น(ผมอยู่ ป.5) จำได้ว่า บ้านท่านอยู่ข้างโรงเรียนบ้านกระดานหน้าแกล และสิ่งสำคัญซึ่งน่าจะยืนยันว่าอาจารย์เรณู เป็นเพื่อร่วมรุ่นของอาจารย์คือท่านใช้คำนำหน้าชื่อว่า...นางสาว ครับ

    ถึงตอนนี้ ก็ยังระลึกถึงท่านอาจารย์เรณูอยู่ และด้วยความเคารพครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า สวัสดีพี่วิรัตน์ น้องสมบัติ

    • ขอบคุณสำหรับคำเยินยอ (ต่างจากคำชมอย่างไรหว่า)
    • อ.เรณูนี่ ถ้าจำไม่ผิด เข้ามาสอนที่หนองคอกพร้อมกับอ.ขุน และ...จำไม่ได้แล้วว่ามีใครบ้าง เมื่อตอนที่ผมอยู่ ม.ศ.3 (น้องสมบัติก็ต้องอยู่ม.1) ตอนผมเข้าม.ศ. 1 รุ่นของพี่วิรัตน์ก็ออกจากหนองคอกพอดี เรียกว่ารุ่นผมมาไล่รุ่นพี่ออกไป ฉะนั้นไปไล่ปีดูละกันว่า ใช่รุ่นเดียวกับพี่วิรัตน์รึเปล่า (แต่ผมว่าน่าจะไม่ใช่นา เพราะออกไปแค่ 2 ปีเองก็กลับมาสอนแล้ว พอดีผมไม่รู้เกี่ยวกับหลักสูตร ว.ค ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นราชภัฏแล้ว) อย่างไร ก็ให้เจ้าตัวมาเฉลยซะก็สิ้นเรื่อง (เขียนแหย่ใครบางคนที่เข้ามาอ่านแล้วไม่ยอมจิ้มคีย์บอร์ด)
    • น้องสมบัตินี่ก็รุ่นเดียวกับน้องผม ไอ้น้อย-กวีศักดิ์ ไม่รู้ว่าจำกันได้รึเปล่า (อาจจะแปลกใจ คนนั้นคนนี้ ก็เป็นรุ่นเดียวกับพี่ผมน้องผมหมด ไม่ใช่อะไรหรอก ครอบครัวผมนี่เป็นครอบครัวขนาดใหญ่ พี่น้อง 12 คน เพราะฉะนั้นโอกาสถูกหวยก็เลยมีเยอะ)
    • วันก่อนที่ชวน อ.ขุนเข้ามาดูที่นี่ พร้อมกับโฟนอินคุยกันด้วย อ.ขุนก็พูดถึงน้องสมบัติ โดยเฉพาะเมื่อตอนที่ต้อนรับคณะอาจารย์เมื่อคราที่ไปเยือนหนองคาย ทานข้าวบนเรือล่องลำโขง (อ.ขุนบอกว่าไม่เคยมีใครต้อนรับอย่างมากมายล้นเหลือคณานับมาก่อนเลยในชีวิต-รายละเอียดให้น้องสมบัติเล่าเองดีกว่า..555)
    • พูดถึงตอนที่มีการแนะนำครูใหม่ พวกเราผู้ชายทะโมนทั้งหลาย ก็จะคอยชะเง้อเฝ้าดูว่า สวยรึเปล่าวะ ถ้าสวยนี่ ก็ลุ้นกันว่าจะได้มาสอนพวกเรารึเปล่า แต่อาจารย์คงจะไม่ได้คิดอะไรเหมือนกับเราหรอกนะ คงจะมองเราว่าเป็นเด็กเป็นน้องเป็นนุ่งคนนึงเท่านั้นเอง ก็เหมือนกับพ่อแม่เราที่ปัจจุบันท่านก็ยังมองว่าเราเป็นเด็กอยู่ร่ำไป และทำนองเดียวกัน เราก็มองลูกเราว่ายังเป็นเด็กอยู่
    • ช่วง 3-4 วันนี้อาจจะหายไปบ้าง มีธุระอื่นอยู่
    • วันนี้อากาศทำท่าจะเย็นๆ อย่างไรก็ฝากดูแลสุขภาพตัวเองกันด้วยนะครับ

    ปล. ไม่รู้จะเป็นการไม่สุภาพรึเปล่า (มันควรจะเป็นหรือไม่) ที่ออกจะเป็นภาษาพูดมากไปหน่อย

    อย่างไรก็ติติงกันได้นะครับ

    เพื่อนๆหลายคนได้บรรจุและทำงานที่บ้านกันดีจังเลยนะครับ เมื่อก่อนนี้แถวกระดานหน้าแกลเป็นชุมชนที่คนแถวบ้านผมคุ้นเคยมากที่สุดรองจากหนองบัวและเกาะแก้ว คนแถวบ้านมักจะไปบวชที่วัดกระดานหน้าแกลพอๆกับไปที่วัดหนองกลับ  เวลาเที่ยวงานประจำปีและงานทอดกฐินก็จะไปที่วัดเกาะแก้ว

    ที่หนองคายมีโรงแรมอยู่ริมโขงและข้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เจ้าของหรือหุ้นส่วนนี่แหละก็เป็นศุลกากร ผมเคยไปพักและนั่งกินข้าวยามเย็นอยู่ที่นั่นครั้งหนึ่งเมื่อตอนร่วมเป็นทีมเก็บข้อมูลทำวิจัยให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แต่หลายปีมากแล้ว กว่าสิบปีแล้วมั๊ง เป็นการสำรวจศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวไทยกับกลุ่มประเทศอินโดจีน ประทับใจบรรยากาศแถวนั้นมากด้วยเหมือนกัน

    P...ดีใจกับพี่อาจารย์ดร.วิรัตน์ด้วยนะคะ..ชุมชนนี้เริ่มคึกคักอบอุ่น..มากขึ้นแล้วนะคะ...

    สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก : คึกคักและมีการพัฒนาให้สิ่งต่างๆที่ดีอยู่แล้ว เกิดความเชื่อมโยงและมีการปฏิสัมพันธ์กันในแง่ของความรู้ การสื่อสาร และการไหลเวียนข่าวสารไปถึงกันที่กว้างขวางและหลากหลายมากขึ้น

    ผมเองก็ประทับใจและกำลังสนใจมากๆด้วยเหมือนกันครับ โดยเฉพาะกำลังเห็นบทบาทของการเป็นเวทีสำหรับได้พูดคุยและหารือกัน เพื่อมุ่งไปสู่การได้ทำสิ่งดีๆด้วยกันทั้งต่อท้องถิ่นและต่อสังคมวงกว้าง

    ในแง่การสื่อสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนั้น ผมว่าเวทีนี้มีประสิทธิภาพมากกว่าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายหวยออกซึ่งตามต่างจังหวัดมีอยู่เสียอีกครับ

    ยิ่งในแง่ของการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลและการจัดการความรู้แล้วละก็กินขาดเลย

    โดยเฉพาะในเรื่องที่เปิดโอกาสให้คนท้องถิ่นได้มีโอกาสคิดและหารือกันเพื่อชุมชนท้องถิ่นของตนเองแล้ว ในเวทีนี้หลายเรื่องไม่สามารถทดแทนได้ด้วยเวทีอื่นเลยทีเดียว เช่น การที่ผมได้พูดคุยและชวนกันคิดและทำสิ่งต่างๆกับคุณสมบัติ พระมหาแล คุณเสวก และคุณฉิกนั้น ในโลกภายนอกและในวิถีการทำงานก่อนหน้านี้แล้ว เป็นการยากครับที่จะได้เจอ คุย และทำสิ่งต่างๆให้เชื่อมโยงกัน

    แทบทุกคนมีศักยภาพและมีบทบาททั้งต่อสังคมและต่อชุมชนบ้านเกิด โดยเฉพาะคุณสมบัตินั้น เป็นทั้งแหล่งวิทยาการทั้งของประเทศ ชุมชน และต่อประเทศเพื่อนบ้าน ยิ่งพอได้ทราบว่ากำลังทำงานอะไรและมีเครือข่ายทำกับหน่วยงานและผู้คนอย่างไรบ้างแล้ว ก็เห็นโอกาสและการทำงานที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอยู่ไม่ไกลกันเลย

    รูปถ่ายของคุณครูอ้อยเล็กสวยและสื่อความหมายดีจัง ขอบคุณที่นำมาฝากและแบ่งปันกันครับ สบายดีและมีความสุขนะครับ เวทีนี้ต้องถือว่าคุณครูอ้อยเล็กเป็นผู้ร่วมบุกเบิกและก่อตั้งให้มีความงดงามนะครับเนี่ย

    สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ และทุกๆ ท่าน

    • ได้เห็นภาพของพิพิธภัณฑ์ของวัดหนองกลับ ชุมชนหนองบัว ของคุณ เสวก ใยอินทร์ แล้วทรงคุณค่ามากเลยค่ะ แต่อาจารย์วิรัตน์บอกว่ายังขาดการช่วยกันรวบรวม และนำมาเขียนเรื่องราวและสร้างองค์ความรู้ด้านต่างๆ เพื่อเสริมกำลังพัฒนาให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ชุมชนและมิติอื่นๆ ได้อีก ซึ่งขอสนับสนุนคำพูดของอาจารย์วิรัตน์ค่ะ

                           

    • อยากจะขอเสริมว่า ผู้ที่จะรู้เรื่องประเพณี วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม ตำนานต่างๆ ในชุมชนถ้าจะให้ถูกต้องแล้วคงไม่มีใครรู้ดีไปกว่าคนในชุมชนนั้นๆ เนื้อหาที่เป็นชีวิตของท้องถิ่นจึงสมควรให้คนในท้องถิ่นทำหน้าที่จัดทำ ริเริ่ม และดูแลกันเอง เพราะถ้าให้คนภายนอกมาจัดการอาจมีข้อมูลที่ผิดเพี้ยน หรือขัดต่อประเพณีวัฒนธรรมดั่งเดิมที่มีมา ..
    • แต่ถ้ามีการผสมผสานของศักยภาพชุมชนของคนใน และความเป็นวิชาการและมืออาชีพของคนภายนอก เมื่อมีความร่วมมือกัน เร่งก่อเกิดสำนึกร่วมของชาวบัานแล้ว พิพิธภัณฑ์หนองกลับของชุมชนหนองบัวจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ไม่ตายและมีความยั่งยืนต่อไป ..
    • ขอเป็นกำลังใจให้ชาวหนองบัวค่ะ

    นี่ถ้าหากอาจารย์ณัฐพัชร์แวะไปเยือนและเขียนความรู้สิ่งที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดหนองกลับบ้างก็จะยิ่งมีกำลังใจกันใหญ่เลยนะครับ

    หรือไม่ก็หากทางพวกเรามีโอกาสรวมกลุ่มคนที่พอจะเป็นกลุ่มนักวิจัยและเครือข่ายชาวบ้านท้องถิ่น ที่สามารถพัฒนาตนเองให้เป็นคนร่วมกันสร้างความรู้ท้องถิ่นได้ ก็จะขอแรงอาจารย์ไปช่วยถ่ายทอดวิทยายุทธในการเก็บข้อมูลและวิธีเขียน วิธีทำสื่อนำเสนอที่จะทำให้พิพิธภัณฑ์สามารถเป็นแหล่งความรู้ได้มากยิ่งๆขึ้นโดยฝีมือชาวบ้านนะครับ หรือไม่ก็ทำในแหล่งอื่นๆของชุมชนก็ได้นะครับ

    กราบสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ ครับ

          ตั้งแต่ผมเองเข้ามารู้จักท่านอาจารย์ตั้งแต่วันแรกจนมาถึงวันนี้ ทำให้เข้าใจถึงคนหนองบัวมากขึ้น ก็จะอะไรเสียอีกล่ะครับ ไม่เพียง จะได้เข้ามาหาความรู้รอบตัวแล้วยังได้เห็นถึงบุคลากรของชาวหนองบัวที่เติบใหญ่ขึ้นมาแล้วได้เป็นครูบาอาจารย์ และอีกหลากหลายอาชีพเป็นที่น่ายกย่องแก่คนรุ่นหลังมากมายเลยทีเดียวครับ   นอกจากนั้นยังได้มารวมตัวกันแจกจ่ายความรู้ให้กับผู้น้อยได้เดินตามแสงสว่างไปสู่โลกกว้างอีกด้วยครับ 

         อาจารย์ณัฐพัชร์ครับ   หากวันนั้นผมเองไม่ได้ท่านแนะนำการนำรูปภาพขึ้นโพสแล้วละก็คงไม่มีรูปภาพมาฝากกันชม ต้องขอขอบพระคุณอย่างยิ่งเลยนะครับ เรื่องการถ่ายภาพที่ได้ก็ถ่ายแบบที่เรียกว่า เห็นอย่างไรก็ถ่ายอย่างนั้นไม่ได้มุ่งเน้นไปถึงมุมกล้องและเงาแสงผมเองคิดว่า อะไรก็แล้วแต่ทีทำมาโดยแบบไม่คำนึงถึงความถูกผิดเมื่อมองดูแล้วอีกมุมนึงก็จะได้รูปที่เป็นธรรมชาติที่สุดครับ

        ผมเองเรื่องราวต่างต่างก็ถ่ายทอดออกมาหรือจะสือให้คนอื่นเข้าใจได้ง่ายนั้นมันก็เป็นเรื่องยาก เรื่องราวต่างๆที่ผ่านมาบางครั้งก็ได้จากความเคยชินการเล่าต่อจากคนเก่าแก่บางครั้งก็บิดเบือนจากความจริงครับ เสียดาอย่างที่ ท่านหลวงอามหาแล ท่านได้เคยพูดไว้ เราต่างก็อยู่จากบ้านมาไกลนานๆจะได้มาเยียมบ้านบ้าง  คำนี้ทำให้ผมคิดว่าถ้าเราได้ใช้ชีวิตประจำวันอยู่ที่บ้านหนองบัวผมว่าน่าจะมีเรื่องราวมาถ่ายทอดหลากหลายเรื่องราวเลยทีเดียวครับ แต่ก็ไม่เป็นไรครับผมเองก็จะพยายามเก็บเล็กผสมน้อยนำมาถ่ายทอดไว้เลื่อยๆครับ

    สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์  และ คุณเสวก ใยอินทร์ ค่ะ

    • อาจารย์วิรัตน์ : ยินดีมากค่ะ ถ้าชาวหนองบัวต้องการแรงงาน จะนำประสบการณ์ที่พอมีอยู่ไปร่วมลงแขกหล่ะค่ะ ^^
    • คุณเสวก : ภาพวาดที่คุณเสวกนำมาเสนอ "เครื่องหีบอ้อย" ดิฉันถือว่าเป็นการเก็บบันทึกประสบการณ์ และนำเสนอเรื่องราวถือว่าไม่ธรรมดาค่ะ เห็นถึงความพยายามอย่างยิ่ง

                                   

                                                        ภาพวาดโดย คุณเสวก ใยอินทร์

    • การเริ่มต้นเก็บข้อมูล และเขียนบันทึกนั้น อาจนำ เครื่องหีบอ้อยโบราณ เป็นประเด็นเริ่มต้นในการสืบค้น ทำให้พบวิถีชีวิตของชาวบ้าน ภูมิปัญญา และประวัติศาสตร์ชุมชน ซึ่งเด็กๆ ในหมู่บ้านจะได้เรียนรู้ปูมบ้านปูมเมืองตัวเองผ่านเครื่องหีบอ้อยโบราณชิ้นนี้ก็เป็นได้ค่ะ
    • ซึ่งคุณเสวก ได้ทำการบันทึกไว้ด้วยทั้งการวาดภาพ และการเขียนบันทึกไว้ได้อย่างน่าสนใจค่ะ ...
    • ((แอบบอกว่า เพราะภาพวาดเครื่องหีบอ้อยของคุณเสวก ทำให้ดิฉันต้องค้นภาพที่เคยถ่ายไว้จากพิพิธภัณฑ์บ้านแพรก ว่ามันคือชนิดเดียวกันหรือไม่ เพราะตอนที่ดิฉันถ่ายภาพไว้นั้นดิฉันไม่รู้จักค่ะ))

                          

                              เครื่องหีบอ้อย จาก พิพิธภัณฑ์บ้านแพรก จ.พระนครศรีอยุธยา

    • ภาพวาดของคุณเสวกมีประโยชน์มากค่ะ ขอบคุณเช่นเดียวกันค่ะ
    • การถ่ายภาพ ดิฉันก็เห็นด้วยกับคุณเสวกนะค่ะ "เห็นอย่างไร ถ่ายอย่างนั้น" จะได้รูปที่มีความเป็นธรรมชาติ ..
    • ลองเพิ่มรายละเอียดลงไปในภาพถ่ายก่อนกดชัดเตอร์ซักนิดสิค่ะว่า ภาพนี้มันจะบอกอะไรเราได้บ้าง เช่น ใคร, ทำอะไร, ที่ไหน, อย่างไร และเมื่อไหร่ ......
    • ดีใจกับชุมชนหนองบัว ที่มีคนเก่งๆ เยอะแยะ ตอนนี้ก็ค่อยๆ เริ่มเปิดเผยตัวออกมาที่ละคน ๒ คนแล้ว ^^

    สวัสดีครับคุณเสวก ใยอินทร์ : ผมก็ได้รู้จักความเป็นหนองบัวเพิ่มมากขึ้นอีกหลายเรื่องมากเลยครับ รวมทั้งได้เรียนรู้ไปกับคุณเสวกด้วยครับ บันทึกและการเขียนถ่ายทอด-เก็บรวบรวมเรื่องราวเล็กๆน้อยๆของคุณเสวกนั้นมีพัฒนาการไปมากเลยนะครับ ขอชื่นชมและยินดีไปกับคนหนองบัวที่มีคนมีน้ำใจทำสิ่งดีๆไว้ให้คนอื่นๆครับ

    ขอบคุณครับอาจารย์ณัฐพัชร์ แล้วอีกด้านหนึ่งก็เป็นการเรียนรูัจากกันและกัน ต่างเป็นครูให้กันไปด้วยเลยนะครับ

    ขอประชาสัมพันธ์ให้โรงเรียนหนองคอกอีกรอบครับ จะถึงวันงานแล้ว : ผ้าป่าการศึกษาและงาน ๔๙ ปี สู่ ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองบัว

    • ๖ ธันวาคม ๒๕๕๒ โรงเรียนหนองบัว เครือข่ายศิษย์เก่า กรรมการศึกษา และชาวหนองบัว จะจัดผ้าป่าการศึกษาเพื่อสร้างโรงอาหารให้โรงเรียนและลูกหลานคนหนองบัว พร้อมกับเริ่มต้นศักราชกึ่งศตวรรษของโรงเรียนหนองบัว ๔๙ ปีสู่ ๕๐ ปีของโรงเรียนหนองบัว
    • ขอเชิญศิษย์เก่าและคนหนองบัวมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาการศึกษาของคนหนองบัว ลูกหลานคนหนองบัว และเด็ก-เยาวชนในท้องถิ่นโดยรอบครับ ในรุ่นหนึ่ง ก็อาจจะรวมกันคนละ ๕๐๐ บาทแล้วก็ตั้งกองผ้าป่ากองละ ๒,๐๐๐ บาท ได้หลายๆกองในรุ่นหนึ่งๆนะครับ
    • อีกวิธีหนึ่งนะครับ หากใครมีลูกหลานเรียนหนองคอกหลายคน ก็สามารถตั้งกองผ้าป่าเป็นครอบครัว กองละ ๒,๐๐๐ บาท จะหนึ่งกองหรือหลายกองก็ตามแต่จะต้องการครับ
    • ติดต่อโรงเรียนกันเอาเอง หรือติดต่อผ่านลูกหลานที่เป็นศิษย์เก่าหรือกำลังเรียนอยู่ ก็น่าจะสะดวกดีครับ

    สวัสดีครับ พี่วิรัตน์ พี่เสวก อ.ณัฐพัชร์ และทุกๆคน

    เงียบหายไปซะหลายวัน จากเริ่มจะหนาวนี่ก็จะหายหนาวแล้ว แค่ 2-3 วันเอง

    จำได้ตอนเด็กอยู่หนองบัว หน้าหนาวนี่ ไปเรียนตอนเช้าต้องออกมาเรียนที่สนามหญ้า เป็น outdoor-class ก็สนุกไปอีกแบบ เปลี่ยนบรรยากาศ มาผึ่งแดดยังไม่หายหนาวเลย แถวบ้านจะมีที่ดินว่างเปล่าอยู่หน้าบ้านคนละฟากถนน ก็จะมาก่อไฟผิงกันที่นี่ แถวๆนั้นจะมีบ้านครูจำลอง ทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ก็จะมีเศษขี้กบที่เกิดจากการไสไม้โดยกบไสไม้ ติดไฟดีกว่าขี้ไต้อีก แต่ไม่นานเท่า และก็มีเศษท่อนไม้รวมทั้งกิ่งไม้แห้งแถวๆนั้นเอามาก่อผิงกัน ผิวหนังแขนขาแตกหมด เมื่อก่อนโลชงโลชั่นไม่มี มีแต่น้ำมันมะกอก ก็เอามาทาแขนขากันแตก และสีผึ้งทาริมฝีปากกัน ไม่รู้ว่าเมื่อก่อนอุณหภูมิเท่าไหร่ ไม่มีเครื่องมือวัด น่าจะหนาวกว่าปัจจุบันอยู่ แต่ยาวนานเป็นเดือนจนหมดหน้าหนาวเลย เสื้อกันหนาวได้ใช้จนคุ้ม

    เรื่องเครื่องไม้เครื่องมือภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่พิพิธภัณฑ์วัดหนองกลับ ก็เห็นมีเยอะอยู่ กลับไปคราวนี้จะลองไปสำรวจดูอีกทีว่ามีอะไรบ้าง เครื่องหีบอ้อยก็เคยเห็น

    อยากจะช่วยพี่วิรัตน์เชิญชวนลูกหลานหนองคอก มาช่วยกันตอบแทนโรงเรียนของเรา สังคมของเรา ใครติดธุระไปไม่ได้ ก็ฝากปัจจัยไปก็ได้ เรื่องครอบครัวกองผ้าป่า ก็เป็นไอเดียที่ดีครับ เดี๋ยวจะไปชวนพี่น้องตั้งกองผ้าป่าขึ้นมา นอกเหนือจากกองผ้าป่าของรุ่นแล้ว

    แล้วเจอกันครับที่หนองบัว 6 ธ.ค. นี้

    สวัสดีครับฉิกและทุกท่านครับ : เมื่อก่อนนี้ รุ่นพวกพี่เวลาหนาวก็จะใช้สีผึ้งทาปากกันปากแตก แล้วโลชงโลชั่นนั่นก็ยังไม่มีและไม่รู้จักกัน ก็ต้องใช้โลชั่นแบบทำเอง คือเอาเม็ดลูกดูก หรือเม็ดมะกอก ตำจนป่น หากเป็นเม็ดลูกดูก(ข้างสนามบอลหน้าโรงเรียนหนองคอกเมื่อตอนที่ยังเป็นทุ่งเลี่ยงวัวควาย จะมีอยู่ต้นหนึ่ง) ก็ตำให้ป่นใส่ใบหญ้าคา บีบๆจนน้ำมันออกแล้วก็ใช้ทาตามแขนขาและหน้า กันผิวแตก

    หากเป็นเม็ดมะกอกก็ตำในกะลาแล้วก็อังไฟให้น้ำมันออก ก็จะได้น้ำมันมะกอกทางตัวได้อีกเหมือนกัน บางทีก็ใช้กากมะพร้าวที่มีกะทิและน้ำมันตกค้างอยู่ กำๆแล้วก็เอามาทาตามตัวได้อีกเหมือนกัน

    ตอนนั้นไม่ได้นึกถึงการประเทองผิวกันหรอก แต่กันผิวแตก เพราะมันหนาวและเนื้อตัวแตกปริจนเลือดซึมเลย มันเจ็บ

    เมื่อวานนี้ได้เจอคนหนองบัวด้วยครับ คืออาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์และคณะคุณครูโรงเรียนบ้านหนองไผ่ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ของเรานี่เอง อาจารย์พนมและคณะไปประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายครูวิจัยเพื่อจัดการเรียนการสอนส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน ได้นั่งคุยกันหลายเรื่อง มีทีมไปด้วยอีก ๓ คนเป็นคนห้วยร่วม ครูนาฏศิลป์ลูกหลานกำนันมา รอดสการคนหนึ่ง ครูคณิตศาสตร์คนบ้านเนินสอาดคนหนึ่ง และอีกคนหนึ่งเป็นคุณครูวิทยาศาสตร์ เป็นคนเพชรบูรณ์ อาจารย์พนมนี้เป็นสามีคุณครูสุนันท์ จันทร์ดิษฐ์ ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนหนองคอก และเป็นเพื่อผมกับเพื่อรักษ์พี่ของฉิกน่ะครับ

    แล้วก็เพิ่งรำลึกได้ว่าคุณครูพนมนี้เคยไปเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนว้นครู(๒๕๐๔) บ้านผมด้วย น้องผมซึ่งเป็นครูอยู่ที่หนองบัวด้วยบอกว่าอาจารย์เก่งมาตั้งนานแล้ว และตอนไปอยู่บ้านตาลินและโรงเรียนวันครู ชาวบ้านก็รัก

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    หนาวมาก ๆ นี่น้ำค้างจะตกโชกจนต้นข้าวนั้นเปียก

    เกี่ยวข้าวเปียกน้ำค้างนี่ปวดมืออย่าบอกใครเชียว

    มือไม่อยากกำข้าวเลยหนา

    กว่าแดดจะร้อนจนน้ำค้างแห้งก็สามโมงเช้าโน่นเลย

    เวลาเดินลุยน้ำค้างบนหัวคันนานี่เย็นไม่อยากก้าวขา เท้าก็แตกเจอน้ำค้างอีกแสบเหมือนเป็นแผล

    พอบ่าย ๆ ปวดหลังมาก ๆ ก็นอนบนซังข้าวนั่นแหละเป็นการเบรคไปในตัว ไม่ใช่อะไรหรอกเพราะมันปวดจะทนไม่ไหวต้องพักบ้าง

    ตอนกินข้างกลางวันนี่อร่อยจริง ๆ ไม่มีอะไรก็แกงผักบุ้ง(พริกเกลือ)ซดน้ำร้อน ๆ ชื่นใจดี อร่อยเพราะหิวที่เขาว่านั่นแหละ

    เสื้อองเสื้ออุ่นผ้านวมอะไรก็ไม่มีกับเขาเสียด้วยซิ

    กราบสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ และทุกท่านที่เข้ามาช่วยกันแจกจ่ายความคิดเห็นครับ

    • ตอนนี้น่าเป็นห่วงพี่น้องชาวหนองบัวเป็นอย่างมากเลยครับ เมื่อสองสามวันก่อนผมโทรไปคุยกับพี่สาวถ่ามข่าวคราวเรื่องข้าวพี่สาวบอกว่าเกี่ยวข้าวกันหมดแล้ว ปีนี้บ้างคนข้าวเสียหายไปบางคนจากที่เคยได้มากก็ขาดไปประมาณคนละ สิบถึงยี่สิบเกวียน เพราะข้าวตายกันจำนวนมาก ชาวหนองบัวเลยขอแก้มือโดยการทำนาปรังกันมากขึ้นกว่าเดิม จากคนไม่เคยทำก็ทำเพราะเห็นว่าทางการได้ขุดลอกคลองสมอใหม่ตอนนี้น้ำเต็มครองก็จริงแต่ถ้ามีคนทำกันมากกลัวแต่ว่าน้ำจะไม่พอกันอีกคงต้องเอาใจช่วยกันต่อไปอีกแล้วครับ
    • หน้าหนาวก็สนุกดีครับเป็นเด็กก็เดินรัดตอซังข้าวเพื่อไปหาวิดน้ำจับปลาตามหนองหรือปลาตกคักตามมุมคันนา เมื่อผิวแห้ก็จะตึงแล้วก็แตก ผมเองก็เด็กทันสมัยขึ้นมาหน่อยมีครีมโลชั่น สปริงซอง หกบาททากันทั้งบ้านเมื่อทาแล้วก็แสบร้อนวูบวาบ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ปีที่ผ่านมาหลานสาวได้ทำนาปรังเป็นครั้งแรกในชีวิต

    ด้วยไม่เคยทำมาก่อนน้ำก็มีไม่มากเท่าไร

    พอข้าวโตฝนก็ไม่ตกน้ำก็เริ่มแห้งเพราะมีเจ้าอื่นสูบไปใช้ก่อนจนน้ำหมดทั้งคลองเลย

    ข้าวขาดน้ำจนเกือบจะแห้งตายอยู่แล้ว นาทีสุดท้ายมีฝนตกลงมาครั้งเดียวข้าวไม่ตายรอดตัวหวุดหวิด

    พี่ป้าน้าอาแซวหลาน ๆ ว่าถ้าฝนไม่ตกหนา ไม่ได้ข้าวแม้สักเม็ด นี่ดีนะที่มันยังได้ทุนคืน

    ตอนนี้กรุงเทพฯหายหนาวเสียแล้วครับ อากาศเย็นอยู่ไม่กี่วันครับ แต่แถวบ้านหนองบัวตอนนี้คงจะยังหนาวกันอยู่

    สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ พระคุณเจ้าพระมหาแล พี่ฉิกและทุก ๆ ท่านครับ

    หายไปสิบกว่าวัน วันนี้กลับมา พบว่ากระทู้นี้แตกแขนง /จูมดอก / ออกหมาก /เจริญงอกงามดีจังเลยนะครับ

    #212 ....=ใช่แล้วครับ น้อย/กวีศักดิ์ เรียนอยู่ห้องเดี่ยวกันตั้งแต่ ม.1/1 - ม.3/1 ได้ข่าวแว่ว ๆ ว่าเอ็นติดวิศวะ(ตอนนั้น) หัวหน้าชั้นก็เอ็นติดทันตแพทย์ มช. และเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่นั่นจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ส่วนใหญ่แล้วคนที่อยู่ในตัวอำเภอจะพบกันบ่อย ส่วนผมนั้นอยู่ห่างจากตัวอำเภอออกไป 12 ก.ม. (ผ่านทางบ้านตาลิน) .... 16 ก.ม. (ผ่านทางห้วยด้วน/น้ำสาดกลาง) กลับบ้านทีไรก็ไม่ค่อยได้เจอเพื่อน ๆ สักเท่าไหร่

    เรื่องที่อาจารย์ขุน โอภาษี เล่าให้ฟังนั้นก็ไม่มีอะไรมากหรอกครับ ต้อนรับท่านและคณะอาจารย์จากโรงเรียนหนองคอก ประมาณ 20คน ด้วยความดีใจน่ะครับที่.....อยู่ไกลถึงสุดชายแดน ท่านยังนึกถึงและแวะมาหา ในจำนวนนั้นก็มีนักเรียนรุ่นน้องหลายคนที่เป็นอาจารย์สอนที่โรงเรียนเดิม ซึ่งการทำงานอยู่ที่ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย - ลาว ได้มีโอกาสพบปะผู้คนมากมายจากทุกมุมโลก /ได้ต้อนรับแขกที่มีความหลากหลาย การที่ครูบาอาจารย์มาหานี่ มันเป็นอะไรที่วิเศษจริง ๆ ครับ ........ สำหรับคนที่จากบ้านมาไกลแล้ว ..... จะเข้าใจความรู้สึกเหล่านี้ได้ดี

    ตอนกลับบ้าน ผมเคยแวะไปหาอาจารย์ขุน ที่โรงเรียนวังบ่อวิทยาครับ (เมื่อก่อนเป็นโรงเรียนสาขาของหนองคอก) รู้สึกว่าอาจารย์จะบอกว่าพี่ฉิกหรือนักเรียนรุ่นพี่ของผมนี่แหละ รวมตัวและรวมเงินกันจัดซื้อคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์การศึกษาไปมอบให้โรงเรียนวังบ่อหลายสิบเครื่อง โรงเรียนแห่งนี้อยู่เชิงเขา/ชายขอบของนครสวรรค์ / ติดชายแดนเพชรบูรณ์ ผมได้ฟังแล้วยังอดปลื้มใจแทนพวกพี่ๆ ไม่ได้เลย

    #214.....=โรงแรมที่ท่านอาจารย์วิรัตน์ไปพัก ชื่อโรงแรมแม่โขงรอยัลครับ เมื่อก่อน...เมื่อสัก10 ปีก่อนอยู่ในเครือฮอลิเดย์อินน์ เจ้าของผู้เป็นสามีในอดีตเป็นข้าราชการสรรพสามิตครับ ภรรยาเป็นนายกสมาคมวัฒนธรรมจังหวัดหนองคาย ส่วนลูก ๆ ก็ดูแลธุรกิจครอบครัวบ้าง เป็นนักการเมืองท้องถื่นบ้าง สถานที่ตั้งก็อยู่ในมุมที่สวยงามดีครับ

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

    ศิษย์เก่าหนองคอกที่ไปเป็นอาจารย์คณะทันตแพทย์ฯ มช.นี่ อาจารย์หมอเกี้ยใช่ไหม เคยทราบมาจากเพื่อนว่ามีน้องจบทันตแพทย์และเป็นอาจารย์อยู่ที่ มช. งั้นต้องเป็นรุ่นหลังๆหลายรุ่นเหมือนกันนะครับ

    ขอร่วมชื่นชมกับน้องๆที่มีการรวมตัวกันแล้วไปช่วยเรื่องโอกาสการพัฒนาการศึกษาและอื่นๆของชุมชนอย่างหนองบัวนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการนำเอาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์การเรียนการสอนต่างๆไปให้ หรือแม้แต่พากันไปทำกิจกรรมกับวัด ชุมชน และชาวบ้าน อย่างที่กลุ่มพริกเกลือเคยช่วยกันทำเมื่อต้นๆปี เหมือนกับเป็นเครือข่ายพี่ช่วยน้อง เพื่อนช่วยเพื่อน ศิษย์เก่าช่วยศิษย์ปัจจุบัน

    หน่วยงาน สถาบัน องค์กร ที่มีความพร้อมและเข้มแข็งกว่าในเมือง ช่วยหน่วยงานและแหล่งสร้างคน เช่นโรงเรียน หรือแหล่งดูแลสารทุกข์สุขดิบของชาวบ้านในชนบทที่ผู้คนได้รับโอกาสจากการพัฒนาน้อยกว่า อย่างนี้ก็ทำให้มีเครือข่ายการร่วมทุกข์สุขและใช้ทุนศักยภาพที่มีในสังคมเพิ่มโอกาสการพัฒนาตนเองได้ดีมากขึ้นนะครับ จนเงินจนงบประมาณและทรัพยากร แต่รวยและมั่งคั่งทางน้ำใจต่อกันนี่ ก็เป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้สุขภาวะเผื่อแผ่ไปสู่กันได้มากขึ้นครับ เลยคุยแบบช่วยรณรงค์ส่งเสริมไปด้วยเลยน่ะครับ

    โรงแรมแม่โขงรอยัลนั้นคงจะใช่แล้วครับ เจ้าของเป็นอดีตข้าราชการสรรพสามิตอย่างที่คุณสมบัติว่านั่นแหละครับ

    โอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาชีวิตเพื่อพึ่งตนเองได้

    น้องผมเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนหนองคอก เคยออกไปเยี่ยมนักเรียนที่บ้าน ไกลออกไปจากโรงเรียน แต่เดิมก็รู้สึกว่าลูกศิษย์ยากจนและมีสภาพที่ลำบาก แต่พอไปเห็นสภาพแล้วคุณครูที่เป็นน้องผมนี้ก็เล่าให้ฟังว่า สภาพการเป็นอยู่ทั้งลำบากและน่าเวทนาเกินกว่าที่คิดเห็นภาพไว้แต่แรกมากเข้าไปอีกหลายเท่า เป็นเด็กผู้หญิงและอยู่กับแม่ที่ป่วย ดูเหมือนจะเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตด้วย บ้านเป็นเพิงสังกะสีผุพัง การกินอยู่แร้นแค้น ดูแล้วแค่ทนเรียนให้จบมัธยมชีวิตก็คงจะสาหัสทั้งเด็กและแม่ อนาคตก็ไม่ต้องพูดถึงเลย 

    พอคุยกันแล้วก็หารือกันว่าจะหาทางช่วยอย่างไรดี ในที่สุดก็ตกลงกันว่าจะช่วยให้เด็กได้ทำงานไปด้วยให้มีรายได้พอใช้จ่ายเพื่อตนเองและเพื่อดูแลแม่เล็กๆน้อยๆ แล้วก็ให้ได้ทักษะทั้งทักษะชีวิตและทักษะวิชาความรู้ หากเรียนต่อไม่ได้ก็จะได้ประสบการณ์ตรงให้พอมีความมั่นใจในชีวิตพอเลือกทางไปได้ดีกว่าเดิมบ้าง แต่ถ้าหากมีโอกาสเรียนต่อก็จะได้มีคุณครูและเพื่อนๆเป็นพี่เลี้ยงดูแลให้เรียนรู้เพื่อจะทำงานไปด้วยและเรียนไปด้วยเสียตั้งแต่เนิ่นๆ

    คุณครูของเธอที่เป็นน้องผม บอกว่าเด็กเป็นคนเรียนดีและมีฝีมือทางศิลปะ มีความอดทนทำงานดี อัธยาศัยดี ผมเลยไปเดินเลือกซื้อสีและอุปกรณ์ทำงานศิลปะ เป็นชุดสีเขียนแสตมป์อย่างดีชุดใหญ่ซึ่งเป็นสีที่นักเรียนศิลปะ รวมทั้งผมเองด้วย มักใฝ่ฝันอยากได้ใช้ กับสีโปสเตอร์ พู่กัน และกระดาษ แล้วก็มอบให้น้องไปมอบให้นักเรียนคนดังกล่าวนั้น

    พอเด็กได้สีและวัสดุอุปกรณ์สำหรับทำงาน อีกทั้งเพื่อนๆและครูทราบสถานการณ์ ก็มาขอให้เด็กทำงานฝีมือศิลปะให้ เช่น ทำการ์ดแสดงความยินดีในโอกาสต่างๆแก่คนที่รักนับถือ แล้วก็ให้ค่าตอบแทนคนละเล็กละน้อย 

    ผมเอาผลงานของเธอไปโพสต์เผยแพร่ให้ในเว็บของศิษย์เก่าเพาะช่าง เพื่อให้เธอเห็นผลงานตนเองอยู่ในนั้นและเกิดพลังใจว่าเธออยู่ไม่ไกลเลยกับคนทำงานมีอาชีพในวงการของประเทศและสถาบันศิลปะแถวหน้าของประเทศแห่งหนึ่ง

    ครั้งหนึ่งพวกผมพี่ๆน้องๆในฐานะศิษย์เก่าของโรงเรียนหนองบัว ก็ขอร่วมกับโรงเรียนให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนสมทบกับศิษย์เก่าและครูอาจารย์อื่นๆ เธอก็ได้รับทุนการศึกษาด้วย

    ผ่านไป ๓-๔ ปีคงจะได้ เมื่ออาทิตย์ก่อน คุณครูของนักเรียนที่เป็นน้องผม บอกว่า เด็กได้เรียนต่ออาชีวศึกษา สาขาศิลปหัตถกรรมที่นครสวรรค์ และบอกว่าเรียนได้ดี อยู่ที่หนึ่งหรืออันดับต้นๆตลอด ได้ทราบแล้วก็พอจะประมาณได้ละครับว่าไปรอดแล้ว ทั้งชีวิตของเด็ก แม่และคนรอบข้าง ซึ่งสภาพย่ำแย่กันทั้งนั้น

    แถวหนองบัวคงยังมีคนขาดโอกาสกันอีกมากนะครับ แต่การช่วยดูแลกันผ่านการได้สร้างคน สร้างโอกาสการศึกษา พัฒนาการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพให้กับชุมชนเพื่อเป็นทุนชีวิตนี่ ก็เป็นการให้ที่จะก่อเกิดความงอกงามและได้พัฒนาต่อไปให้ยั่งยืนได้มากอย่างหนึ่งเช่นกันครับ การคุยเพื่อสร้างความเคลื่อนไหวทางข่าวสาร ความรู้ และการรับรู้ตนเองต่างๆอย่างนี้ ก็คงถือว่าเป็นการแบ่งปันเกื้อหนุน และให้ปัญญาความรู้เป็นทาน ที่ดีมากด้วยเหมือนกันครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ขออนุโมทนากับอาจารย์ คุณครูและทุกท่านที่ได้ช่วยน้องให้ได้รับโอกาสดี ๆ

    ฟังตอนแรกนึกว่า ยังไม่มีใครหยิบยื่นโอกาสให้เธอเสียแล้ว

    ได้ฟังแล้วก็ชื่นใจแทนน้องไปด้วยเลย

    ขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทั้งหลายที่มีเมตตาต่อผู้ด้อยโอกาสขาดโอกาส

    ให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาการศึกษาพัฒนาตัวเองซึ่งเกือกจะหมดหนทางอยู่แล้ว

    สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์

    ใช่แล้วครับ....... เพื่อนเกี้ยนั่นเอง

    เรื่องที่ชวนอาจารย์ไปร่วมงานสถานทูตลาวที่กรุงเทพฯนั้น พอเอาเข้าจริง ๆ มีงานเข้าครับ ทั้งสนามบินนานาชาติอุดรธานี/สนามบินนานาชาติขอนแก่น/ร่วมงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวา มหาราช ณ ศูนย์แสดงสินค้า LAO ITECC ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว .........งานรวมศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว 6 ธันวาคม ตามที่นัดหมายกันไว้แต่เดิมนั้น พอถึงเวลาจริง ๆ ชักจะไม่ค่อยมั่นใจแล้วครับ สุดท้ายหากไปไม่ได้จริง ๆ จะฝากเงินไปร่วมทอดผ้าป่าโรงอาหารผ่านหลาน ๆ ที่ยังเรียนที่นั่นครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์ มหาแลครับ

    อย่างที่พระคุณเจ้าบอกว่าได้ทราบแล้วชื่นใจนี่ ต้องนับว่าสื่อและช่องทางการได้รับรู้โลกรอบข้างจากสื่ออย่างอื่นจะไม่สามารถให้ได้อย่างที่ทุกท่านกำลังได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกันในเวทีของชาวหนองบัวนี้เลยนะครับ

    เรามีโอกาสนำเอาเรื่องของชาวบ้านในชุมชนเล็กๆมาคุยถึง แล้วก็เป็นการได้รู้ที่สร้างความชื่นใจ ไม่เหมือนกับข่าวสารทั่วไป ซึ่งถึงแม้จะทำให้ได้รับรู้กว้างขวาง แต่กลับมักทำให้ร้อนใจ

    เรื่องเล็กๆน้อยๆอย่างนี้เกิดขึ้นเพราะมีการได้ทำสิ่งดีๆกันหลายอย่างให้เป็นเหตุปัจจัยนำมาก่อน พูดอย่างนี้ก็คงได้นะครับ เป็นหลักแห่งอิทัปปัจจยตาและปฏิจจสมุปบาททางสังคมเหมือนกันนะครับ

    สวัสดีครับคุณสมบัติ ฆ้อนทองครับ : เหมือนกันเลยทีเดียวครับ อยากเจอเพื่อนๆก็อยากเจอ ณ เวลานี้ยังตั้งใจอยู่ครับว่าจะแว่บไปให้ได้ อย่างน้อยก็ไปตอนเย็นแล้วก็กลับดึกๆ นั่นเลย แต่ไม่รู้จะวางมือจากงานพอให้คลายกังวลใจไปได้ไหม

    สวัสดีทุกท่านเลยครับ ตกลงผมไม่ได้ไปครับคุณสมบัติและทุกท่านๆครับ จะมีใครเอารูปถ่ายกิจกรรมในวันทอดผ้าป่ามาเผื่อแผ่กันดูไหมครับเนี่ย แต่มีเพื่อนๆคุยถ่ายทอดเรื่องราวให้ทราบตลอดตั้งแต่ก่อนถึงวันงานกระทั่งอยู่ในบรรยากาศของการพบปะสังสันทน์และเสร็จสิ้นงาน

    ทราบว่ามีผู้คนไปร่วมมากมาย รุ่นผมรุ่นที่ ๑๔ ก็มากันร่วม ๔๐ คน ระดมทุนจากกองผ้าป่าทั้งหมดได้กว่าล้านบาท คุณครูโสภณ สารธรรม ผู้อำนวยการ และคุณครูสืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการและเป็นผู้ประสานงานของรุ่น คงมีกำลังใจหายเหน็ดเหนื่อยทีเดียว

    มองย้อนกลับไปในยุคผมนี่ คงมองล่วงหน้ามาถึงวันนี้ไม่ออกเลยครับ เพราะเมื่อก่อนนี้ ตอนอยู่โรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) แรกๆก็ใช้ห่อข้าวใส่ใบตองไปกินที่โรงเรียน พอเริ่มมีกล่องข้าว ก็ใช้กล่องข้าว ตั้งแต่เป็นกล่องสังกะสีซึ่งชอบบุบบูบี้ และต้องใช้แบบสืบทอดกันตั้งแต่รุ่นพี่ไปจนถึงรุ่นน้องๆหลายรุ่น ผ่านไปจนจบจากหนองคอกตั้งหลายปีแล้วถึงจะเข้าสู่ยุคกล่องพลาสติก แล้วก็ต่อมาอีกตั้งหลายปีถึงได้มีถุงพลาสติก เริ่มจากถุงเย็นสำหรับใส่นมเย็นกระทั่งเป็นถุงใส่ของร้อนได้

    ตอนไปอยู่หนองคอก พอถึงมื้อกลางวัน ก็เดินเอากล่องข้าวไปนั่งกินด้วยกันตามใต้ต้นไม้ กินๆไปก็โยนให้แย้ออกจากรูมากินไปด้วย

    สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    ระดมทุนได้มากกว่าล้านบาทนี่ทำให้หลายๆ ท่าน หลายๆ ฝ่ายหายเหนื่อยไปเลยนะค่ะ ชื่นใจแทนชาวหนองบัวค่ะ ขออนุโมทนาด้วยค่ะ ^^

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย) [IP: 118.172.151.111]
    เมื่อ พฤ. 12 พ.ย. 2552 @ 11:23
    #1670147 [ ลบ ]

    เห็นข้าวห่อใบบัว

    ทำให้นึกถึงข้าวห่อใบตองพลวง(ควง)ที่หนองบัวเลย

    ห่อไปนาไปไร่ไปเลี้ยงควายไปหาหน่อไม้ในป่ากินกับเมนูแกงพริกเกลืออร่อยดี

    ^
    ^

    เห็นอาจารย์พูดถึงข้าวห่อใบตอง เลยนึกถึงพระคุณเจ้าท่านได้โพสข้อความไว้ที่บันทึก ด้วยน้ำมือ : พลังปัจเจกเพื่อสร้างสุขสาธารณะ”  ว่าจะแวะมาถามหลายครั้งแล้วแต่ลืมค่ะ “ข้าวห่อใบตองพลวง(ควง)ที่หนองบัว” มีเฉพาะที่เหรอค่ะ แล้วหน้าตาเป็นอย่างไรหนอใบตองพลวง (ตวง) อ่ะค่ะ หอม อร่อยกว่าการห่อด้วยใบตองทั่วๆ ไปไหมค่ะ?

    ขอบคุณค่ะ

    สวัสดีทุกท่านครับ เพิ่งมาถึงกทม. เมื่อคืนนี้ (20.30 7 ธ.ค.) ออกจากกทม.ประมาณเก้าโมงเช้าวันที่ 6 ธ.ค. ยกโขยงไปกันหมดเลยทั้งครอบครัวเมียและลูกสาวลูกชายอีก รวม 4 ชีวิต จะไปเยี่ยมแม่ด้วย ตอนแรกพี่สาวคนโตที่ฝั่งธนจะไปด้วย ไปเยี่ยมแม่ แต่โทรมาบอกตอนเช้าที่จะออกเดินทางว่าไม่ไปแล้ว ไว้สัปดาห์หน้าจะให้ลูกสาวเค้าขับรถไปให้ พอมีที่ว่างอยู่บ้างก็เลยโทรไปหาแดงเพื่อนกัน (ลูกสาวกำนันเทิน) พอดีเค้าก็ยังทำธุระไม่เสร็จ จะนั่งรถตู้ไปหนองบัวเอง ตัวเราตั้งใจจะไปถึงหนองบัวประมาณเที่ยงๆบ่ายๆ เพื่อไปดูสภาพโรงเรียน และอื่นๆ รวมทั้งจะได้ไปเจอเพื่อนเร็วๆ พอขับรถไปถึงดอนเมืองน้องสาวที่หนองบัวโทรเข้ามาบอกว่า แม่ไม่สบายพี่ชายกับพี่สาวพาไปหาหมอที่ นว.เมือเช้า และหมอบอกว่าอาการไม่ค่อยดี ให้อยู่ ICU ก็เลยต้องบึ่งเข้าไปดูอาการแม่ที่ รพ.ศรีสวรรค์แทน ไปถึงก็เกือบบ่ายแล้ว แม่นอนอยู่บนเตียงไม่รู้สึกตัว หมอให้อ๊อกซิเจนอยู่ ใจคอไม่ค่อยดีเหมือนกัน พี่สาวที่ฝั่งธนที่กะจะไปเยี่ยมแม่สัปดาห์หน้าก็เลยชวนพี่ชาย-รักษ์ ตามมาที่ รพ.ด้วย เค้ามาถึงเอาก็บ่ายแก่ๆ ก็รอจนตอนเย็นได้เจอคุณหมอ ซักถามอาการ หมอบอกว่า เป็นเพราะร่างกายได้รับอ๊อกซิเจนไม่เพียงพอ ทำให้มีคาร์บอนไดออกไซด์สะสมอยู่ในเลือดค่อนข้างสูง แต่ตอนนี้ดีขึ้นแล้วปริมาณ Co2 ลดลงไปครึ่งหนึ่งแล้ว และแม่ก็เริ่มรู้สึกตัวบ้าง ถามตอบพอได้ โดยการผงกหัวหรือส่ายหัว ก็เลยสบายใจไปได้เยอะ

     

    คือแม่เนี่ย ปอดไม่ค่อยดี เคยเป็นวัณโรคเมื่อกว่า 30ปีมาแล้ว แต่ก็รักษาจนหายไปนานแล้วเหมือนกัน แต่ก็ทำให้ปอดเสียหายไปเยอะ และช่วง2-3ปีมานี่ เริ่มไม่ค่อยมีแรง เดินจากบ้านไปตลาด ซึ่งห่างกันประมาณ 100เมตรก็ไม่ค่อยจะไหว ปกติแกจะไปจ่ายตลาดทุกเช้า ยังจำได้ตอนเด็กๆ จะรอแม่กลับจากตลาด ซึ่งแม่จะมีขนมมาให้เด็กๆได้กินก่อนมื้อเช้าอาทิเช่น ขนมครก ขนมถ้วย ขนมข้าวโปง(เดี๋ยวนี้หากินยากแล้ว) และอีกหลายๆอย่าง แต่ไม่ได้ซื้อมาเยอะนะ แค่พอให้แย่งกันกิน แต่ไม่ซ้ำกันจะเปลี่ยนไปแต่ละวัน แต่ที่ไม่ชอบให้แม่ซื้อมาคือถั่วงอก เพราะเราจะต้องมาเด็ดรากออก โอ๊ยกว่าจะเสร็จเรารู้สึกว่ามันใช้เวลานานมาก แต่แม่ก็ชอบซื้อมาจัง คงเพราะมันถูกตังค์และได้จำนวนเยอะด้วย เอามาผัดกินหรือไม่ก็เอามาทำแกงจืดกับหมูบะช่อ (คนจีนจะเรียกว่าทึง) ...รู้สึกว่าได้เล่าเรื่องสมัยเด็กๆแล้วมันมีความสุขอย่างไรก็ไม่รู้

     

    กลับมาเรื่องอาการของแม่อีกที ช่วงครึ่งเดือนที่ผ่านมานี่ น้องสาวที่อยู่กับแม่ที่หนองบัวก็บอกว่า แม่ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง แม้แต่จะลุกไปห้องน้ำหลังบ้านก็ยังไม่ค่อยไหว เอาแต่นอนอย่างเดียว เตี่ยก็จะบ่นว่าแม่อยู่บ่อยๆ (เตี่ยอายุ 88 แม่อายุ 85) แต่เห็นน้องบอกว่าเตี่ยก็เป็นห่วงแม่มาก กังวลทำให้นอนไม่ค่อยหลับ กลายเป็นว่าอีกคนก็เอาแต่นอน อีกคนก็นอนไม่ค่อยหลับ กรรมมาตกเอาที่น้องสาวนี่แหละที่ต้องมาดูแลคนแก่ 2 คน ด้วยสาเหตุของปอดนี่แหละที่ทำให้มี Co2 ค่อยๆสะสมอยู่ในเลือดเพิ่มขึ้นๆ เลยมีอาการเซื่องซึม ไม่มีแรง นั่งหลับคอตกเหมือนสมัยเราเรียนหนังสือในห้องเลย จนแม่เกือบจะน็อคไปแล้ว ก่อนกลับเข้ากทม. เมื่อวานออกจากหนองบัวก็ได้แวะไปเยี่ยมแม่อีกที แม่ลืมตาได้แล้ว มีอาการดีขึ้นมากเลยจนคลายความกังวลใจไปได้เยอะมาก ตอนนี้นอกจากหายใจเองทางจมูกแล้ว ก็ยังต้องให้อ๊อกซิเจนต่อท่อเข้าทางปากอีกที แกก็พยายามจะพูดนะ แต่ยังพูดไม่ได้ ยังติดที่มีท่อหลอดอยู่ในปากอยู่

     

    วันนั้นกว่าจะออกจาก รพ.เพื่อไปหนองบัวก็ทุ่มครึ่งได้ แล้วแวะส่งพี่สาวและกินข้าวเย็นที่ชุมแสงอีก ไปถึง บ้านที่นบ.ก็ 3 ทุ่มกว่าๆ อาบน้ำเสร็จเข้าไปที่งาน รร.หนองคอกก็เกือบ 4 ทุ่ม บางคนก็ทยอยกลับกันบ้างแล้ว แต่เพื่อนๆทุกคนยังรอเราอยู่ในงาน ขอบคุณเพื่อนๆทุกคนที่เป็นห่วงอาการแม่ คนมาร่วมงานเยอะมาก รุ่นผม (17) ก็เกือบ 40 คน เสียดายไม่ได้ถ่ายรูปในงานมาให้คนที่ไม่มีโอกาสได้ไปร่วมงานได้ดู แต่ผมก็ได้กลับเข้าไปที่ รร.อีกทีตอนเช้าก่อนกลับ เพื่อไปร่วมทำบุญผ้าป่าครั้งนี้ด้วย รวมทั้งของเพื่อนบางคนที่ฝากมากับผม เนื่องจากเมื่อคืนเพื่อนได้รวบรวมและส่งให้ รร.เรียบร้อยแล้ว เมื่อคืนไปในงานไม่ได้ควักตังค์ซักบาท เห็นรุ่น14 พี่วิรัตน์ได้กว่าล้านบาทแล้ว รุ่นผมนี่เด็กๆเลย แต่ก็รวบรวมได้ 7 ล้านกว่า(กีบ) คิดเป็นเงินไทยก็ 3 หมื่นกว่าบาท แต่ไม่ว่าใคร-รุ่นอะไรจะได้เท่าไหร่ ก็ถือว่าได้มีส่วนร่วมในการตอบแทน รร.เก่าของเราที่ทำให้เราเป็นอยู่ในตอนนี้ อย่างที่บอกไว้ก่อนหน้านี้

     

    ตอนเช้าวันรุ่งขึ้นได้เข้าไป รร. ได้ไปเจออาจารย์ลี (ที่เห็นนั่งมอเตอร์ไซด์หน้าโรงอาหาร)เป็นรุ่นพี่ 1 ปี (รุ่น16) อาจารย์ลีได้พาไปดูบริวเวณอาคารเก่า ตอนผมเข้าไปเรียนม.ศ.1 นี่มีอยู่ 2 หลัง เป็นอาคารไม้ 2ชั้น ถ้าจำไม่ผิดน่าจะมีชั้นละ2ห้องเรียน ซึ่งได้ถูกรื้อออกไปแล้ว และได้สร้างองค์พระไว้ มีบันได2-3ขั้นขึ้นไปกราบไหว้องค์พระ ซึ่งตรงกับบริเวณบันไดขึ้นอาคารเดิม ตอนเรียน ม.ศ. 1 จะได้เรียนอาคารนี้ ด้านหน้าจะเป็นเสาธง มาเข้าแถวเคารพธงชาติทุกเช้า ด้านหลังอาคารจะมีต้นไม้ใหญ่อยู่ต้นหนึ่งจำไม่ได้ว่าต้นอะไร (ไม่ได้จำด้วยสมัยเรียน) ซึ่งจะบังโรงอาหารเล็กๆที่อยู่ถัดเลยออกไปอีก เป็นโถงหลังคาสังกะสีไว้กันแดดกันฝน พื้นเป็นดิน มีแม่ค้าอยู่รายเดียว ป้ารวย อาหารก็มีให้เลือกอยู่ 2 อย่างคือเลือกจะกินหรือไม่กิน สมัยนั้นพวกเราจะนิยมเอาข้าวพร้อมกับข้าวใส่ตลับอลูมิเนียมไปนั่งกินกันใต้ร่มไม้แถวชายป่า จับกลุ่มกันกิน นานๆผมจึงจะได้ใช้บริการโรงอาหารซักที ฉะนั้นผมกับโรงอาหารก็เลยไม่ค่อยได้ผูกพันกันซักเท่าไหร่ ถัดจากอาคารไม้ไปก็จะเป็นอาคารปูน 2 ชั้น ที่นี่ผมได้มาเรียนตอนม.ศ.2 อยู่ชั้นล่างห้องริมในสุด ด้านหลังจะเป็นแท้งค์น้ำทำด้วยปูนทรงกระบอกสูงเลยชั้นล่างขึ้นไป น่าจะมีซัก 6 แท้งค์ได้ หนองบัวก็อย่างที่รู้ๆ น้ำท่านี่ขาดแคลนหนักโดยเฉพาะหน้าแล้ง อ.ลีบอกว่าอาคารนี้ได้มีการต่อเติมขยายยาวออกไปอีก พอดีไม่มีเวลาพิจารณาเท่าไหร่ เลยไม่ได้ขึ้นไปสำรวจ อีกอาคารเป็นอาคารใหม่ 2 ชั้น แต่ชั้นล่างจะยกสูงเป็นที่จอดจักรยาน และใช้เป็นที่สวดมนต์ของนักเรียนตอนเย็นวันศุกร์ อาคารหลังนี้เสร็จใช้ครั้งแรกตอนผมอยู่ ม.ศ.3 พอดี สรุปผมเรียนที่นี่ 3 ปี ได้ใช้ 3 อาคารเรียนเลย ปัจจุบันมีอาคารอีกหลายอาคารก็ขยายตัวตามจำนวนนักเรียน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1,800 คน ม.1-ม.6

     

    สำหรับโรงอาหารใหม่ ถ้าสมัยก่อนจะมีประตูเล็กซึ่งเป็นประตูหลักที่ผมใช้ประจำ ถ้ามาจากหลังอำเภอก็จะขนานไปกับถนนใหญ่เป็นทางเล็กๆ (แต่ก็กว้างพอประมาณถ้าเทียบกับจักรยานพาหนะหลักที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่) ถ้าเข้าประตูนี้เข้ามาขวามือจะเป็นบ้านพักครู และมีสระน้ำเล็กๆ น้ำใสแจ๋ว (พูดให้เห็นภาพแบบประชด) ไปคราวนี้ลืมสังเกตสระน้ำนี้ น่าจะเป็นบริเวณนี้นะที่จะใช้สร้างโรงอาหารแห่งใหม่ ส่วนโรงอาหารปัจจุบัน ก็คือโรงอาหารที่เคยใช้มาแต่เดิม และโครงเดิมก็ยังอยู่เป็นศูนย์กลาง แต่ได้ขยายออกไปทุกทิศทางทั้ง 4 ทิศ จนขยายออกไปไม่ได้แล้ว ผมได้ถ่ายรูปมาให้ดู จะเห็นหลังคามีแสงรอดออกมาเยอะแยะ ถ้าฝนตกลูกหลานเราน่าจะกินข้าวอร่อยน่าดูเลย อ.ลีได้ชี้ให้ดูภายในโรงอาหารซึ่งได้ติดตั้งทีวีไว้ให้นักเรียนได้ดูภาพอย่างเดียว ส่วนเรื่องเสียงนี่ให้ฟังเสียงพัดลมระบายอากาศเอา ก็หวังว่าโรงอาหารหลังใหม่เสร็จแล้ว นักเรียนคงจะได้มีสถานที่ทานอาหารที่ดีกว่าเดิม และก็ได้งบจากจังหวัดมาสร้างอาคารคู่กันอีก 1 หลัง

    ป.ล. ไม่เคยเอารูปขึ้นที่นี่ ยังงงๆอยู่ 

    โล่งอก คิดว่าจะเอารูปขึ้นไม่ได้ซะแล้ว

    อีกอย่าง ข้อความมันค่อนข้างยาว เลยไปทำไว้ในเวิร์ดแล้วก๊อปมา ตอนเอามาไว้ที่นี่ตัวมันเล็ก ยังเสียวๆว่าผู้อาวุโสแบบเราจะมองเห็นรึปล่าว แต่พอเอาขึ้นไปแล้ว โอ้โฮตัวใหญ่กว่าคนอื่นเลย

    ใบตองพลวงนี่เดี๋ยวนี้หายากแล้วนะ เมื่อก่อนที่บ้านจะมีคนเอามาขาย ซื้อเอาไว้ห่อผ้าที่มีคนเค้าเอามาให้ที่บ้านย้อม

    ลักษณะก็คล้ายๆใบสักแหละ อธิบายไม่ค่อยจะถูก รอผู้รู้จริงมาอธิบายละกัน

    สวัสดีครับฉิก

    • ก่อนอื่นฝากความเคารพถึงเตี่ยและแม่ด้วยนะครับ ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จงได้อำนวยพรให้แม่ได้สุขภาพดี มีความสุขใจ เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรและเป็นหลักใจให้ลูกหลานเหลนไปนานๆ รวมทั้งขอกราบคารวะเตี่ย ฝากรำลึกถึงรักษ์และหลานแฝดที่น่ารัก น่าภูมิใจ ทั้งสอง ด้วยนะครับ
    • พี่เขียนติดกันพรึ่ดไปหน่อยเลยทำให้สื่อความเข้าใจผิดว่ารุ่น ๑๔ คือรุ่นพี่ระดมทุนได้ตั้งล้านกว่าบาท
    • คือ..พยายามบอกให้เพื่อนๆได้รับทราบไปในตัวว่า รุ่น ๑๔ นั้นมากันได้ถึง ๔๐ คน ก็ถือว่าพอใช้ได้ครับ
    • แต่ที่ได้ล้านกว่านั้น หมายถึงรวมยอดจากกองผ้าป่าทั้งหมดน่ะ พยายามนำมาสื่อสารให้พรรคพวกเราที่ไม่ได้ไปพอได้ติดตามข่าวคราวของกิจกรรมจากบล๊อกนี้น่ะครับ ขออภัยครับ
    • ขอชมว่าฉิกเป็นสื่อให้กับชาวหนองบัวและเป็นสื่อรายงานกิจกรรมได้ดีจริงๆ มีรูปถ่ายมาให้ดูด้วย สักพักก็คงทำได้อย่างใจมากขึ้นเรื่อยๆนะครับ
    • เรื่องมีน้ำในสระหรือในบ่อใสแจ๋ว เพื่อทำเป็นประชดตนเองและให้เป็นเรื่องอำกันให้ขำๆของคนหนองบัว โดยเฉพาะแถวหนองคอกนี่ ก็เป็นเรื่องที่เล่นกันมานานครับ อย่าว่าแต่พวกเราที่เรียนหนองบัวเลย พวกชาวบ้านและญาติพี่น้องผมเวลาเขาได้ไปเห็นน้ำตามแหล่งต่างๆของโรงเรียนและหนองคอก ก็มักจะพูดอำกันเล่น ๒ อย่างคือ น้ำใสแหนวเลย หรือไม่ก็บอกว่า น้ำสระโอวัลติน
    • แต่รุ่นผมนี่ก็เริ่มมีแท๊งค์น้ำซีเมนต์แล้วครับ และต่อมาก็เริ่มมีหลายๆแท๊งค์ กระทั่งมีน้ำประปา(ที่เดินท่อมาจากพิจิตร ?)

    ที่ คห.๒๓๓ ผมได้คุยถึง : โอกาสการพัฒนาเพื่อการพึ่งตนเอง แล้วก็ยกตัวอย่างของนักเรียนของโรงเรียนหนองบัวซึ่งยากจน และทำท่าว่าจะหมดโอกาสได้เรียนหนังสือ แต่ครูและเพื่อนๆได้ช่วยให้ได้ใช้ทำงานศิลปะหารายได้พอได้ดูแลตนเอง และต่อมาได้เรียนต่อสาขาศิลปหัตถกรรม ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษา นครสวรรค์ เป็นคนเรียนเก่ง

                                       

    เมื่อสักครู่ผมลองแวะไปเยือนเว็บศิษย์เก่าของโรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งผมเป็นศิษย์เก่าของที่นั่น ดูไปดูมาก็ได้เจอผลงานของน้องเขาที่ผมเอาไปเผยแพร่ให้ในเว๊บนั้น เลยขอเอามาโพสต์ไว้ให้ดู เธอชื่อ ศรีสมร เร่งสูงเนิน ครับ คงจะเป็นเพื่อนพ้องน้องพี่ หรือเป็นญาติพี่น้องของใครบ้างกระมังครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรคุณศักดิ์ศรี

    ขอให้คุณแม่หายไว ๆ และมีสุขภาพดีร่างกายแข็งแรงเป็นพระในบ้านของลูกหลานอันยาวนานต่อไป

    อนุโมทนาต่อผู้มีจิตศรัทธาที่ได้สละทุนทรัพย์เพื่อการศึกษาสำหรับเยาวชนหนองบัวเราด้วย

    ขอบคุณคุณศักดิ์ศรีที่ได้นำข่าวสารกิจกรรมอันเป็นกุศลครั้งนี้จากหนองบัวมาให้ได้รับรู้กัน

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    จากความเห็นที่ ๒๓๙

    ขอตอบอาจารย์ณัฐพัชร์ที่ถามเรื่องข้าวใบตองพลวง(ควง)

    หน้าตาต้นพลวงน่าจะหาได้ในอินเตอร์เน็ตนะอาจารย์-คล้ายใบเหียง(แต่ใบเหียงนั้นมีขนที่ใบและเมื่อจับจะคายและคัน)

    ลักษณะใบเป็นรูปไข่ กว้างประมาณ ๑๕.๒๘ ซม. ยาวประมาณ ๑๕.๔๐ ซม. ปลายใบสอบทู่

    ใบตองพลวงใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง

    ทางอีสานใช้ห่อข้าวเหนียว

    ใช้ห่อยาสูบ

    ทำห่อหมก

    สานทำฝาบ้าน

    มุงหลังคา

    เคยทำเป็นหลังมุงเกวียนประทุน(คนรุ่นหลังไม่รู้จักแน่)

    ที่คุณศักดิ์ศรีว่าคล้ายใบสัก ใช้ห่อผ้าที่นำมาย้อมก็ถูกต้อง

    คนหนองบัว-หนองกลับ ใช้ทำประโยชน์เยอะ แต่ที่เห็นเด่นชัดคือใช้ห่อข้าวไปนาไปไร่

    เมื่อก่อนชาวบ้านทำขนมจีกกินเอง ก็ใช้ใบตองควงปูที่ตะแกรงไว้รองเส้นขนมจีนแทนผ้าขาว

    เก็บไว้ใช้ได้นาน ๆ โดยชาวบ้านจะนำใบตองควงมาตากแดดให้แห้งแล้วเก็บไว้ในครัวร้อยเป็นพวงด้วยตอก

    ใช้ได้ทั้งใบสดและใบแห้ง(ใบแห้งจะกรอบหักง่าย คนห่อต้องมืออาชีพ)

    ใบสดอังไฟให้อ่อนตัวจะมีกลิ่มหอมห่อข้าวสะดวกไม่ฉีกขาดง่าย(ถ้าห่อไม่เป็นก็ขาดทำให้ใช้หลายใบซ้อนกันสิ้นเปลืองอีก)

    ใบบัว -ใบตองกล้วยฉีดขาดง่ายกว่าใบตองควง

    ปัจจุบันหาได้ยากซะแล้ว

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เห็นรูปการ์ตูนที่วาดโดยน้องศรีสมร เร่งสูงเนิน สวยมากไม่แพ้มืออาชีพเลย

    ก็ขออนุโมทนากับอาจารย์วิรัตน์ที่นำมาเผยแพร่ให้ชาวหนองบัวได้เห็นผลงานของเธอ น้องศรีสมรจะมาแนะนำตัวเองบ้างก็ได้นะ ถือว่าเวทีนี้เป็นเวทีคนบ้านเรากันเอง

     อาจารย์และหลายท่านที่สนับสนุนให้โอกาสหนูคงจะดีใจไม่น้อยเลยหนา

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข (อาสโย) และสวัสดีคุณศักดิ์ศรี-ฉิก ค่ะ

    • ขอบพระคุณพระคุณเจ้า และคุณฉิกที่มาให้ความกระจ่างเรื่องของใบตองพลวงค่ะ
    • ก็ได้ลอง search หาจากใน Internet มาบ้างแล้วค่ะ แถมยังได้เกร็ดความรู้เรื่องของใบตองพลวง ที่นอกเหนือจาก การนำไปห่อข้าว มุงหลังคา ทำฝาบ้าน หรือสานเป็นฝาเพื่อนำไปปิดถังน้ำ ป้องกันน้ำหกเวลาเคลื่อนย้ายด้วยหล่ะค่ะ
    • เช่น ใบตองพลวง ทางภาคเหนือจะเรียกว่า ใบตองตึง
    • ใช้จับนกเขา  เค้าบอกว่าให้นำข้าวเปลือกไปโรยใส่ใบตองพลวง (กุง) แล้วนำไปวางไว้ในที่นกเขาชุกชุมในตอนเช้า แล้วนกเขาจะลงมากินข้าวเปลือก ใบตองเมื่อถูกแดดเผาก็จะห่อเอานกเขาไว้ข้างใน เราก็ไปเก็บนกเขาได้ค่ะ
    • การเจริญเติบโตของสมุนไพรจากธรรมชาติ เห็ดเผาะ หรือเห็ดถอบ ในภาษาถิ่นทางภาคเหนือ จะขึ้นได้ดีเมื่อใบตองพลวงร่วงลงพื้น สะสมจนเป็นเชื้อชั้นดี อุดมสมบูรณ์ เห็ดถอบก็จะเจริญได้ดีค่ะ
    • ฯลฯ ค่ะ ^^
    • คุณฉิกค่ะ สุขภาพของคุณแม่เป็นอย่างไรบ้างค่ะ ขอให้ท่านสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง โดยเร็ววันนะค่ะ

     

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล  อาจารย์ณัฐพัชร์ และทุกท่านครับ

    • แถวหนองบัวแต่เดิมนั้นเต็มไปด้วยป่าตองพลวงครับ ทางเหนือก็มีและเรียกใบตองตึง
    • ที่หนองบัวนั้นผมเคยเห็น แต่ไม่เคยใช้อห่อของเอง บ้านของชาวบ้านแถวหมู่บ้านคนเผาถ่าน ริมทางจากตลาดไปโรงเรียนหนองคอกแต่เดิมนั้น ก็เคยเห็นว่ามุงด้วยไปตองพลวง
    • ตามต้นและตามป่าของต้นใบตองพลวง มักเต็มไปด้วยพลวงไปทำรังตามโคนต้น ขี้พลวงหรือรังของพลวงใช้ทำก้อนถ่วงหน้ากลอง กลองยาว กลองตะโพน หรือทำก้อนถ่วงใบสนูสำหรับเล่นกับว่าวจุฬา แต่เวลาไปเอานั้นน่ารำคาญครับ มันไม่ต่อยให้เจ็บแบบผึ้งหรือมิ้ม แต่จะตอมและเข้าไปในหู จมูก ปาก ตา จนแทบจะทนไม่ไหว

    สวัสดีทุก ๆ ท่านครับ

    ขอบคุณพี่ฉิกครับสำหรับภาพโรงเรียนหนองบัว อีกไม่นานคิดว่า คงจะมีภาพกิจกรรมการจัดงานเข้ามาให้ได้ชมกันนะครับ

    ผมเองถึงแม้จะไม่ได้ไป แต่ก็ได้ฝากให้หลานชายสำรองจ่ายไปก่อนแล้วจะส่งใบเสร็จรับเงินมาให้ภายหลัง

    ที่ไปร่วมงานไม่ได้เพราะมีงานติดพันกับ สปป.ลาวหลายเรื่อง วันชาติลาว........ไปอวยพรวันชาติลาว วันพ่อแห่งชาติ....รับการอวยพรจากเจ้าหน้าที่ฝั่งลาว และไปร่วมงาน 5 ธันวา มหาราช ซึ่งสถานทูตไทยที่จัดขึ้นในเวียงจันทน์

    เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ไปร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 25 ที่สนามกีฬาแห่งชาติลาว มีนายกฯหลายประเทศมาร่วมงาน....คงเห็นภาพจากสื่อมวลชนกันไปบ้างแล้วนะครับ นี่เดี๋ยวอีกสักพัก มีการแข่งขันฟุตบอลนัดพิเศษระหว่างไทย - มาเลเซียในเวียงจันทน์ กลับมาจะนำบรรยากาศสนก ๆ มาเล่าสู่กันฟังครับ

    การไปต่างประเทศแต่ละครั้งดูเหมือนว่าจะต้องมีการเตรียมการหลายอย่าง แต่ที่นี่...หนองคาย ต่างประเทศที่ว่า คือนครหลวงเวียงจันทน์ ห่างจากหนองคายเพียง 20 ก.ม.เองครับ การเดินทางไป - มา จึงมีความสะดวกมากกว่าการเดินทางไปในอีกหลาย ๆ ประเทศครับ

    ท่านที่ติดตามการถ่ายทอดสดทางทีวี คงทราบผลการแข่งขันฟุตบอลระหว่างไทย - มาเลเซียแล้วนะครับ

    ท่านใดพลาดการชม ขอรายงานผล...(แม้จะช้าไปนิดเมื่อเทียบกับสื่อต่าง ๆ)....... ไทยแพ้มาเลเซีย 1 : 2 ครับ แต่ไม่เป็นไรครับ ไทยยังมีโอกาสและพละกำลังโกยเหรียญที่รอการชิงอีกเป็นจำนวนมาก

    • ผมก็ไม่ได้ไปครับ เลยต้องใช้การมีส่วนร่วมระยะไกลเอา บ้านผมพี่น้องทุกคน ๗ คน เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนหนองคอกหมด อีกทั้งน้องสาวก็กลับไปเป็นครูอยู่ที่นั่นอีกคนหนึ่ง อาจารย์ใหญ่ของเรา คือ คุณครูโสภณ สารธรรมนี่ เป็นครูพวกผมตั้งแต่พี่ชายคนแรกกระทั่งคนสุดท้อง เลยรวมกับแม่อีกคนหนึ่ง ตั้งกองผ้าป่าด้วยกันกองละ ๒ คนได้ ๔ กอง แต่พี่ชายเขาแจกจ่ายซองตั้งได้อีกกอง กับน้องที่เป็นครูเขาอยากตั้งให้กับโรงเรียนเอง ๑ กอง เลยได้ ๖ กอง สมทบกับคนที่เขาใส่ซองมาร่วมอีกจำนวนหนึ่ง นอกจากสมทบทุนร่วมพัฒนาการศึกษาให้แก่เด็กๆแล้ว ก็เป็นการมีส่วนร่วมเล็กๆเพื่อเป็นกำลังใจกับคุณครูโสภณ คณะครู กรรมการศึกษาของโรงเรียน และพี่ๆน้องๆที่ช่วยกันริเริ่มกิจกรรมอย่างนี้ให้พวกเราได้มีส่วนร่วมน่ะครับ
    • แต่ก็ประทับใจจากเพื่อนๆมากครับ พรรคพวกที่ไปนั้น เมื่อเขามีความสุขที่ได้เจอกัน ก็ไม่ลืมที่จะโทรคุยให้ผมได้ร่วมอยู่ในบรรยากาศต่างๆกับเพื่อนๆไปด้วยแทบจะตลอดเวลาตั้งแต่ก่อนเริ่มงานตอนเช้าจนถึงงานเลี้ยงสังสันทน์ตอนเย็น ก็นึกเสียดายโอกาสนี้มากครับ แต่งานอยู่ในมือหลายอย่าง มิหนำซ้ำ โทรคุยกับแม่ ก็ได้ทราบว่าแม่ที่บ้านหนองบัวหกล้มและไม่สบายซ้ำเข้าไปอีก ก็แทบจะอยู่ทำงานไม่ติดเลย
    • เห็นภาพพิธีเปิดกีฬาซีเกมส์ ภาพของ สปป.ลาว เปลี่ยนไปมากเลยครับ มองในทางสร้างสรรค์ก็ให้บรรยากาศที่ดีมากที่สุดเท่าที่ได้เคยเห็นเลยครับ รวมไปจนถึงข่าวคราวที่เกี่ยวกับการทะเลาะและเล่นการเมืองแรงๆกันระหว่างไทยกับกัมพูชา มองอย่างไรผมก็ว่าในภาพรวมของภูมิภาคอินโดจีนกับประเทศไทยแล้ว อย่างไรก็ดีและมีภาพให้เราได้สัมผัสอย่างแตกต่างกว่าเมื่อก่อนนี้ชนิดคนละเรื่องเลย ก่อนหน้านี้เรามักเห็นแต่ข่าวสงคราม คนกระเสือกกระสนหนีตาย มีแต่ภาพของความโหดร้าย ความยากแค้น
    • แต่ครั้งนี้ ทำให้เห็นภาพของชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมอันหลากหลาย เห็นรอยยิ้มและธรรมชาติที่อยากแสดงออกถึงความมีความสุขความรื่นรมย์ใจแลกเปลี่ยนกันบ้าง การเป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ครั้งนี้ของลาวนั้น ไม่เพียงส่งให้ลาวได้จัดวางตนเองในอีกบรรยากาศหนึ่งในประชาคมระหว่างประเทศเท่านั้นเลยนะครับ แต่เหมือนกับทำให้ความเป็นสังคมในภูมิภาคอาเซียนกับอินโดจีน เห็นความเป็นตัวตนร่วมกันในอีกด้านหนึ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเลยทีเดียว
    • หรือแม้แต่การตอบโต้กันระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น มองดูให้ดีแล้วก็ไม่ได้มีอะไรร้ายแรงไปกว่าในอดีต ตรงกันข้าม กลับเห็นบรรยากาศของความเสมอภาคและทัดเทียมกันมากขึ้น มีการสื่อสารและเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมากขึ้น กระทั่งคิดว่า ผู้มีบทบาทสำคัญแทนที่จะเป็นคู่กรณีทางการเมือง ก็กลับจะเป็นสื่อมวลชนต่างๆเสียอีกนะครับ สื่อจะคิดว่าเป็นสื่อที่เล่นเอามัน เล่นเอาใจ เล่นให้ถูกใจและขายได้แต่ผู้บริโภคสื่อภายในสังคมของตนเองไม่ได้อีกแล้ว ต้องเป็นสื่อที่มีสปิริตใหญ่กว่าเดิม
    • ผมเพิ่งได้ฟังรายงานการแข่งขันฟุตบอลไทย-มาเลเซียทางวิทยุ คนรายงานข่าวเล่ามันจริงๆ
    • ขอชื่นชมคุณสมบัติและสมาคมมิตรภาพไทย-ลาวมากเลยครับ โดยเฉพาะคุณสมบัติน่ะครับ เป็นคนทำหน้าที่สื่อสารและรายงานอยู่เบื้องหลังอย่างแข็งขัน น่านับถือบทบาทที่ทำเหมือนปิดทองหลังพระเพื่อให้สังคมส่วนรวมเกิดสิ่งดีๆ มากเลยครับ ยิ่งเป็นคนหนองบัวบ้านนอกด้วยนี่ ต้องถือว่าได้ทำหน้าที่ชีวิตที่มีความหมายและมีคุณค่ามากอย่างยิ่งเลยนะครับ

    สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์

    ก่อนมาทำงานที่ชายแดนลาว (ไม่เคยมาภาคอีสานมาก่อน) ผมไม่เคยเปิดพจนากุกรมดูมาก่อนเลยว่า นิยามศัพท์ของคำว่า....ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ....มีความหมายว่าอย่างไร.....พิธีการทูต.....เป็นอย่างไร เมื่อมาทำงานได้ระยะหนึ่ง ก็ได้รับหนังสือจากสถานทูตไทยในเวียงจันทน์ให้ไปรับใบประกาศเกียรติคุณ..... บุคคลที่มีผลงานดีเด่น สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ราชอาณาจักรไทย - สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว).... ตอนนั้นยังงง ๆ อยู่ว่าไม่ได้เสนอผลงานอะไรไป หรือได้รับการบอกกล่าวจากสถานทูตมาก่อน เหตุใดจึงได้รับการพิจารณา...แต่ลึก ๆ ก็แอบดีใจครับ

    ผมได้รับการบอกกล่าวภายหลังว่า คณะกรรมการฯ ที่สถานทูตแต่งตั้งขึ้นได้มีมติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ทุกประการ

    เมื่อนำเหตุการณ์ปัจจุบัน คือการตอบโต้กันระหว่างไทย-กัมพูชา ที่อาจารย์พูดถึงมาพิจารณา ผมเห็นรัฐประศาสโนบายด้านการต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพฯ ที่มีต่อประเทศ สปป.ลาวนั้น สามารถนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติได้เป็นอย่างดีครับ ไม่ว่าจะเป็นระดับรัฐบาลส่วนกลาง ระดับกระทรวง ระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น หรือแม้แต่ข้าราชการหรือประชาชนตามแนวชายแดนทั่วไป ทุกฝ่ายต้องร่วมกันสร้างครับ และไม่ต้องหวังผล เมื่อทำความดี ผลดีจะออกมาเองโดยธรรมชาติ

    การทำลายสิ่งที่ร่วมสร้างกันมานั้นง่ายครับ แต่การสร้างสรร/สร้างความสัมพันธ์/สร้างความรู้สึกที่ดีต่อกันนั้น ไม่ง่ายเลยครับ นอกจากจะไม่ง่ายแล้ว....ยากยิ่งนักและต้องใช้เวลานานมากครับ

    สวัสดีครับคุณสมบัติครับ

    • ขอร่วมชื่นชมและขอแสดงความยินดีด้วยครับ 
    • ในทรรศนะผมนั้น ผมว่าก็เหมาะสมมากนะครับ เพราะผมเองมักเห็นคุณสมบัติเป็นปากเสียงสื่อสารสิ่งดีๆทั้งให้สังคมลาวกับคนไทยที่เกี่ยวข้องอยู่มิได้ขาด ผมเองยังได้ความรู้และมีความรู้สึกดีๆเกิดขึ้นมากมายต่อการได้เรียนรู้สังคมของเพื่อนบ้าน
    • เป็นการแสดงออกด้วยว่าเขาเห็นความสำคัญของคนที่มีส่วนร่วมด้วยตนเองต่อการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เขาเห็นโอกาสอยู่ในวิถีชีวิตและการงานของเขาแล้วก็ทำออกมาด้วยสปิริตของตนเอง เหมือนกับเห็นความสำคัญของเครือข่ายปัจเจกที่มีส่วนร่วมในการเป็นเครือข่ายการฑูตภาคประชาชน และสื่อ สานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศภาคประชาชน (เรียกเองครับ ดูขึงขังดี)
    • เลยก็เห็นด้วยอีกด้านหนึ่งครับว่าทุกฝ่ายร่วมกันสร้างสิ่งดีๆ และร่วมรักษาสิ่งที่มีอยู่ให้ดีกับที่กำลังสีไม่ค่อยดี(ขอติดภาษาหนองบัวสักหน่อย) ไม่ให้แย่ไปกว่าเดิม
    • ระดมพลังความมีจิตสาธารณะของประชาชนและทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อเรียนรู้การมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่อย่างบูรณาการ
    • ประเด็นนี้...เยียมยอดครับ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรคุณครูอ้อยเล็กกัลยาณมิตรชาวหนองบัว

    อนุโมทนาขอบคุณแทนชาวหนองบัวด้วยที่คุณครูอ้อยเล็กอวยพรปีใหม่แก่ชาวหนองบัว

    ขอให้คุณครูอ้อยเล็กมีความสุขสวัสดีในปีใหม่ ๒๕๕๓ และตลอดไป

    อนุโมทนา สาธุ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรอาจารย์ ดร.จรูญ(atozorama)

    อนุโมทนาขอบคุณที่อาจารย์ให้เกียรติมาเยี่ยมเยียนชาวหนองบัว

    ร่วมขอบคุณกับท่านพระอาจารย์มหาแล ขอบคุณการสวัสดีปีใหม่แก่ชาวหนองบัวของคุณครูอ้อยเล็ก และขอขอบคุณท่าน ดร.จรูญ ด้วยครับที่แวะเข้ามาทักทายเวทีนี้พร้อมกับให้ข้อสังเกตหนุนเสริมกำลังใจแก่คนหนองบัวและผู้ที่เข้ามาคุยกันในเวทีบล๊อกนี้ อาจารย์แวะเวียนมาแบ่งปันเรื่องราวต่างๆกับคนหนองบัวและเวทีนี้บ้างนะครับ คนหนองบัวและผู้ที่เข้ามาอ่านคงจะได้สิ่งๆดีๆกลับไปใช้ในชีวิตและการทำงานด้วยมากมายครับ 

    พรใดที่ประเสริฐ

    ขอจงเป็นของพี่น้องชาวหนองบัวและชาวบล๊อกนี้ทุกท่าน....และขอให้มีสุขภาพดีตลอดปี 2553 ครับ

                             ขอร่วมบรรยากาศความสุขในเทศกาลปีใหม่กับทุกท่านด้วยครับ

                                ชุมชนเกษตร ชุมชนเมือง นาข้าว  นาบัว  เฉลว

    ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลก และสิ่งอันเป็นที่เคารพนับถือของชาวหนองบัว หลวงพ่อเดิม หลวงพ่ออ๋อย เจ้าพ่อเจ้าแม่ฤาษีณารายน์ รวมทั้งการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบด้วยกายวาจาใจทั้งหลาย จงร่วมอำนวยพรและเป็นพลวัตรปัจจัย ให้ชาวหนองบัวและทุกท่านในบล๊อกนี้ มีความสุข มีกำลังกาย กำลังใจ สุขภาพดี ดำเนินชีวิตและทำการงานให้ได้ทั้งความสำเร็จ ได้ความงอกงาม ได้ความสบายกายสบายใจ เบิกบานแจ่มใส ตลอดปีใหม่ ๒๕๕๓ ที่กำลังจะมาถึงนี้ เทอญฯ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    วันนี้ลองกลับมาอ่านเวทีคนหนองบัวแล้วรู้สึกดีใจภูมิใจอย่างมากจริง ๆ คนอื่นจะเคยเป็นเหมือนอาตมาบ้างหรือเปล่าไม่ทราบ เวลาเอ่ยถึงพูดถึงหนองบัวกับใครทีไรคู่สนทนามักจะถามกลับมาว่าหนองบัวไหน หนองบัวลำภูหรือหนองบัวระเหวหรือหนองบัวแดงหรืออะไรประมาณนี้แหละ เราก็คนบ้านนอกชื่อที่เขารู้จักและพูดถึงนั้นเรากลับไม่รู้จักเลย แต่เมื่อได้อ่านหนังสือศึกษาชื่อบ้านนามเมืองต่าง ๆ จึงได้รู้ว่าชื่อเหล่าอยู่ที่ไหนบ้าง

    วันนี้ชุมชนอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์คงเป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไปบ้างไม่มากก็น้อย แต่ในฐานะคนหนองบัวคนหนึ่งรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นบ้านเรา ทั้งหลายทั้งปวงนี้ต้องขอขอบคุณอาจารย์วิรัตน์ที่ทุ่มเทจิตใจเสียสละเพื่อคนหนองบัวผู้เป็นปฐมชนคนต้นเรื่องที่นำชุมชนหนองบัวออกเผยแพร่สู่สาธารณชน

    ขอบคุณคนหนองบัวที่ได้เสียสละเวลาร่วมกันสร้างสรรค์และแบ่งปันความรู้อันเป็นประโยชน์ต่อชุมชนหนองบัวบ้านเรา

    โยมอาจารย์ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ คุณเสวก ใยอินทร์ และกลุ่มพริกเกลือ คุณครูอนุกูล วิมูลศักดิ์ คุณพีรณัฐ คุณภูเขา คุณครูจุฑารัตน์ อาจารย์สมบัติ ฆ้อนทอง คุณศักดิ์ศรี-ฉิก คุณครูวิกานดา คุณไพฑูรย์ ศรสุรินทร์ คุณโชคชัย มากน้อย คุณจรัญ คุณเจนณรงค์ เหว่าโต คุณn.b.clup คุณแป๊ะ แก็ส  คุณอ้อย นุชเฉย

    ขอบคุณกัลยาณมิตรที่แบ่งปันความรู้ให้กับคนหนองบัว

    คุณครูอ้อยเล็ก(คุณครูวัชรี โชติรัตน์) คุณจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร อาจารย์ดร.ขจิต ฝอยทอง อาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ คุณเริงวิชญ์ นิลโคตร คุณครูkrutoiting คุณแอน

    อ.หนึ่ง คุณหนานเกียรติ คุณrinda คุณณัฐรดา คุณคนไม่มีราก อาจารย์ ดร.จรูญ(atozorama) อาจารย์กู้เกียรติ  คุณnana งาน พสว.ศอ.8 

    คุณสุ-มหาวิทยาลัยชีวิต ที่ไม่มีวันปิดทำการ คุณครูคิม คุณหมอkmsabai อาจารย์โต คุณครูอ้อย แซ่เฮ  คุณกวิน อาจารย์ชยพร แอคะรัจน์ คุณครูธนิตย์ สุวรรณเจริญ คุณนครพังคา คุณโก๊ะจิจัง แซ่เฮ~natadee ที่สุดในแก๊ง ที่ปรึกษาเวทีคนหนองบัวทุกท่านและพี่น้องชาวหนองบัวทุกท่านที่ไม่ได้ออกนามตลอดทั้งท่านที่แบ่งปันความรู้ท่านผู้อ่านทุกท่านด้วย(เวทีคนหนองบัวนี้ดูจำนวนผู้อ่านแล้วมากมายล้นหลามถ้าเป็นรายการทีวีต้องถือว่าเรตติ้งกระฉูด)

    ใกล้จะถึงปีใหม่แล้วก็เลยขอถือโอกาสสวัสดีปีใหม่ พ.ศ.๒๕๕๓ กับทุกท่านขอคุณพระศรีรัตนตรัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย หลวงพ่อเดิมหลวงพ่ออ๋อย เจ้าพ่อเจ้าแม่ฤาษีณารายน์ จงอภิบาลปกปักรักษาคุ้มครองให้ชาวหนองบัวและทุกท่านประสบแต่ความสุขความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมตลอดกาลนานเทอญ.

     

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล คนหนองบัว และเครือข่ายกัลยาณมิตรทุกท่านครับ

    • ร่วมแสดงความยินดีกับพระคุณเจ้าด้วยครับ ผมก็รู้สึกดีใจอย่างที่พระคุณเจ้าสะท้อนออกมาครับ
    • แล้วก็เห็นด้วยอย่างมากครับว่ารู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมกับพระคุณเจ้าและทุกท่าน ทำเวทีคนหนองบัวในบล๊อก GotoKnow อย่างนี้ขึ้นมา ซึ่งริเริ่มกันด้วยความมีจิตใหญ่ ทว่า ทำกันไปตามกำลัง แต่คิดว่ามีส่วนทำให้ความเป็นชุมชนหนองบัวในโลกของความรู้และยุคข้อมูลความสาร สามารถมีอัตลักษณ์ เห็นการดำรงอยู่ เห็นความมีอยู่  มองเห็นและสัมผัสได้ทั้งจากคนหนองบัวเองและจากโลกภายนอก จากที่แต่เดิมชุมชนหนองบัวเราดูเป็นบ้านนาป่าดง ห่างไกลจากความรับรู้ของผู้คนทั่วไปมากๆ

      เป็นเอกลักษณ์และหนึ่งเดียวของประเทศ 

    • โดยเฉพาะนอกเหนือจากแหล่งข้อมูลที่ราชการทำขึ้นมาแล้ว เมื่อหาความเป็นชุมชนอำเภอที่เป็นความเคลื่อนไหวของประชาชน เวทีคนของชุมชน หรือเวทีพลเมืองแล้ว ลองสำรวจดู ก็จะเห็นมีเวทีที่ช่วยกันทำอย่างนี้ก็แต่เวทีนี้แห่งเดียวในประเทศก็ได้กระมังครับ ชุมชนบ้านนอกกว่าเพื่อนก็อาจทำบางสิ่งที่นำหน้าชุมชนอื่นๆได้นาครับจะว่าไป 

      ที่สุดของประเทศ 

    • รวมไปจนถึงชุมชนเล็กๆอย่างบ้านตาลินและโรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) ซึ่งนำร่องให้เป็นภาพเชิงลึกของชุมชนอำเภอหนองบัวนั้น ผมกล้าพูดได้ว่า ในจำนวนชุมชนของโรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) ในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ ๕ แห่งนั้น เรื่องราว ความเป็นวันครูและโรงเรียนวันครูกับความสำคัญต่อพัฒนาการศึกษาของสังคมไทย รวมทั้ง โรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) กับ วัด ผู้นำชุมชน และชุมชนโดยรอบ ที่บ้านตาลิน ของอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ของเรา ณ วันนี้ รอบด้านที่สุดในประเทศครับ ลองคลิ๊กไปดูได้ตามลิ๊งค์ตัวสีแดงข้างบนทั้ง ๒ ลิ๊งค์ครับ 

     มองเห็นและสัมผัสได้อย่างไร้พรมแดน

    • หากใส่คำค้น แล้วค้นหาด้วยกูเกิ้ล ด้วยคำว่า เวทีพลเมือง / เวทีคนหนองบัว คนหนองบัว / อำเภอหนองบัว / โรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) / บ้านตาลิน เหล่านี้ ก็จะเห็นตัวตนของคนหนองบัวได้ทันทีจากโลกไซเบอร์ครับ แล้วไม่ใช่เห็นแค่ข้อมูลแข็งๆครับ แต่เห็นมิติของชีวิตจิตใจ เรื่องราวของอำเภอ เรื่องราวของผู้คน องค์ความรู้ชุมชนท้องถิ่น แล้วก็มีข้อมูลและวัตถุดิบเพื่อนำไปจัดการความรู้พัตนาสิ่งสร้างสรรค์ต่างๆได้อีกมากมายครับ

     หลายอย่างเป็นต้นเรื่อง

    • บางเรื่องเป็นประเด็นที่ก้าวล้ำยิ่งกว่าเรื่องทั่วไปที่สังคมคุยกันจากข่าวสารประจำวันเสียอีกครับ เช่น เรื่องคุยแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างความรู้ และสร้างสัมมาทรรศนะต่อประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว และตัวตนของชุมชนด้วยความรู้จากประสบการณ์ชีวิตของบุคคล อย่างเช่นของคุณสมบัติ ฆ้อนทอง พระคุณเจ้า และคุณเสวก ใยอินทร์ ซึ่งทั้งความเป็นเรื่องสร้างสรรค์และความที่ผู้นำเรื่องเหล่านี้มาคุย เป็นคนท้องถิ่นหนองบัว ทว่า มีบทบาทต่องานภาคสาธารณะของประเทศโดยตรงด้วย
    • เรียกว่าเป็นเวทีคนหนองบัวซึ่งเป็นชุมชนท้องถิ่นก็จริง แต่บางเรื่อง กลับเป็นเรื่องที่คนหนองบัวได้ความเป็นต้นฉบับและจากคนต้นเรื่องของประเทศ-นานาชาติ 

     วิถีเรียนรู้แบบปฏิบัติธรรม

    • หลายเรื่องก็เป็นความริเริ่มกันเอง อย่างที่พระคุณเจ้าประมวลข้อมูลให้เห็นภาพรวมของคนที่เข้ามาเสวนากันในเวทีนี้ ตรง คห ๒๖๑ ซึ่งทำให้เห็นกลุ่มคนตั้งหลายคน ก็เป็นการทำไปก็เรียนรู้และสร้างความรู้เกี่ยวกับตนเองไปอย่างง่ายๆแต่มีความพอเหมาะ พอเพียง พอดี มีความหมาย และเป็นการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดความเคารพผู้คน
    • อันที่จริงต้องยกให้เป็นคุณูปการของพระคุณเจ้าครับ เพราะเริ่มต้นมาจากพระคุณเจ้า จนเวทีแรกทะลุไปเกือบ ๕,๐๐๐ คน/ครั้งแล้วครับ ผมเห็นเวทีแรกที่เปิดขึ้นเพื่อรองรับจำเพาะของพระคุณเจ้าซึ่งมีข้อมูลมากและมีคนเข้ามาดูเยอะจนเห็นจะต้องช่วยกันดูแล เลยแตกออกมาเป็นเวทีสาขาแห่งนี้ แล้วก็มีคนเข้ามาดูกว่า ๔,๐๐๐ คน/ครั้งเช่นกันแล้วครับ

                                

                                

                                 คุณครูจุฑารัตน์ คนพยุหะคีรี จาก สพท กำแพงเพชร และกัลยาณมิตรของคนหนองบัว และเพื่อร่วมทีม ไปดูงานนิทรรศการรูปเขียน และนั่งคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกัน ที่หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ซึ่งต้องถือว่าเป็นผลสืบเนื่องจากการนำเอาข้อมูลจากเวทีคนหนองบัว ไปจัดกิจกรรมต่อไปอีก จึงทำให้ได้เจอคนเก่งๆที่ทำงานเพื่อเด็กๆและเป็นคนท้องถิ่นนครสวรรค์ (ต้องขออภัยที่แต่เดิมผมเข้าใจว่าเป็นคนหนองบัว แต่เป็นเพื่อนน้องผมและเป็นคนพยุหะคีรี แต่ก็ถือว่าใช่คนอื่นคนไกลครับ)

     จัดการความรู้สู่ความสร้างสรรค์ต่อเนื่องที่เกิดผลดีทั้งต่อท้องถิ่นและต่อสังคม

    • นอกจากเป็นที่สนใจและมีความเคลื่อนไหวดีมากพอสมควรแล้ว ก็ทำให้เกิดกิจกรรมที่ออกไปในทางสร้างสรรค์การเรียนรู้ของสังคม เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตามมาอีกหลายอย่างครับ เป็นต้นว่า ผมได้รวบรวมรูปเขียน ที่ดึงข้อมูลจากเวทีนี้มาเขียนนำเสนอเป็นรูปวาด แล้วก็รวบรวมสมทบกับรูปเขียนอื่นๆของผมจากงานวิจัยชุมชนอื่นๆ รวมแล้วได้กว่า ๖๐ รูป แล้วก็จัดแสดงนิทรรศการศิลปะที่อำเภอพุทธมณฑล หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ซึ่งตอนนี้ตกลงกันว่าจะขยายการแสดงให้คนเข้าชมไปจนถึงกลางเดือนมกราคม ปีหน้า ๒๕๕๓

     สร้างชุมชนและเครือข่ายคนหนองบัวอีกมิติหนึ่งให้เข้มแข็งขึ้น

    • จากเวทีนี้ คนหนองบัว และศิษย์เก่าของสถานศึกษาในหนองบัว ก็มีแหล่งได้คุยกันและได้ริเริ่มทำสิ่งดีๆด้วยกันอีกหลายอย่าง หลายคนเคยแต่เชื่อมโยงกับญาติพี่น้องและถิ่นเกิดด้วยการกลับไปเยี่ยมญาติอย่างเดียว ก็มีเวทีนี้เพิ่มโอกาสให้สามารถทำสิ่งต่างๆด้วยกันอีกตั้งหลายเรื่อง 

    เพียงที่กล่าวถึงเหล่านี้ ก็ต้องถือว่าเวทีนี้ได้ทำสิ่งสร้างสรรค์มากพอดูหลายเรื่องทีเดียวครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข (อาสโย) และสวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์, ชาวหนองบัว และกัลยาณมิตรของชาวหนองบัวค่ะ

    • แวะมาเยี่ยมชาวหนองบัวคราวนี้ บล๊อคมีสีสรรแปลกตาไป ดูสดใสขึ้น ต้อนรับปีใหม่ ๒๕๕๓ เหรอค่ะ ^^
    • จากคห.ที่ ๒๖๑ และ ๒๖๒ ของพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข (อาสโย) กับอาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ เหมือนจะกำลังถอดบทเรียน หรือ AAR เวทีสุขภาวะชาวหนองบัวเพื่อส่งท้ายปี ๒๕๕๒ แล้วน่ะค่ะ
    • เพียง ๓ เดือนกับ ๔ พันกว่าคลิ๊ก ของเวทีสุขภาวะคนหนองบัว ก่อเกิดสิ่งดีๆ เกิดการเรียนรู้ขึ้นมากมายนะค่ะ ความงดงามของความคิดเห็นทุกความคิดเห็น .. เมื่อดูจากจุดหมายและเจตนารมย์ของเวทีชาวหนองบัวบนวิถีไซเบอร์นี้ คิดว่าดำเนินตามเจตนารมย์ได้อย่างครบถ้วนขบวนความ แต่ก็ยังรอการขยายผลในวงกว้างต่อไปนะค่ะ
    • ถึงน้องๆ หนูๆ ชาวหนองบัวที่เผอิญ หรือตั้งใจค้นหาข้อมูลของชุมชนแล้วได้เข้ามาในบล๊อคนี้นะค่ะ อย่าเพิ่งคิดว่าเป็นบล๊อคที่คนแก่มานั่งพูดคุยถึงเรื่องเก่าๆ กัน บันทึกนี้เป็นส่วนหนึ่งของบันทึกประสบการณ์ของผู้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว สะสมสิ่งล้ำค่าอันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนหนองบัวเรา ไม่ว่าจะประเพณี วัฒนธรรม ภาษา บุคคล สถานที่ ตำนานต่างๆ ไว้ให้น้องๆ ได้ศึกษาจากต้นทุนอันเป็นประโยชน์ของคุณอา คุณลุง คุณครูหลายๆ ท่านในนี้ค่ะ ...
    • เวทีหนองบัว go inter แล้วนะค่ะ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามประเทศ แม้จะเป็นประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว ก็ตาม ..
    • นอกจากแวะมาเยี่ยมยามชาวหนองบัวแล้ว ขอแวะมารับพรจากพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข (อาสโย) ด้วยค่ะ กราบ(๓ ครั้ง)ขอบพระคุณค่ะ
    • และถือโอกาสนี้กล่าวคำ สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๓  แด่กัลยาณมิตรทุกท่านด้วยนะค่ะ ขอให้มีความสุขกาย สบายใจตลอดไปค่ะ ...

     

    สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

    • การ์ด สคส ๒๕๕๓ เก๋ไก๋ดีจังเลยนะครับ
    • จริงด้วยครับ เหมือนกับการถอดบทเรียนเวทีเลย เริ่มช่วยกันดูให้เห็นบางด้านว่าก่อเกิดอะไรขึ้นบ้าง
    • เมื่อคืนยังนั่งนึกอยู่นะครับว่าจะสังเคราะห์เชิงกระบวนการและนั่งดูว่ามีบทเรียนที่สำคัญอะไรบ้าง 

    สวัสดีปีใหม่ คิดสิ่งดีใดๆ ขอให้สมปรารถนาทุกประการ

  • ขอถือโอกาสนี้ สวัสดีปีใหม่ทุกๆท่านเลยนะครับ เห็นรูปที่แต่ละท่านตั้งใจทำเป็นการ์ด สคส แล้วต้องขอบคุณจากใจจริง นอกจากจะสวยงามแล้ว ยังมีจิตวิญญาณอยู่ในภาพนั้นๆด้วย ตัวเรานั้นก็อ่อนด้อยเรื่องขีดเขียนรูปภาพ ถ้าเรื่องถ่ายรูปก็ยังพอไปวัดไปวากับเขาได้บ้าง
  • ก่อนหน้านี้ รู้สึกว่าข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับ อ.หนองบัวบ้านเราในเน็ตนั้นมีน้อยมาก ด้วยเป็นอำเภอที่น่าจะเรียกได้ว่าห่างไกลจากเทคโนโลยี ต้องขอบคุณพี่วิรัตน์ไว้อย่างสูงเลย ถือเป็นผู้ให้กำเนิดและเป็นผู้จุดประกายให้กับหลายๆคน รวมทั้งทุกๆท่านที่ได้เข้ามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความรู้อย่างเหนียวแน่น ก็หวังว่าในภายภาคหน้า จะมีผู้คนได้เข้ามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์กันมากขึ้น
  • เคยคิดเหมือนกันว่า วันหนึ่งถ้ามีผู้คนมากหน้าหลายตา เข้ามาแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างขัดแย้งกัน บรรยากาศที่มีอยู่แบบปัจจุบันจะเป็นอย่างไร แต่ก็คิดว่าคงไม่น่าจะมีบรรยากาศแห่งความขัดแย้งที่รุนแรงเกิดขึ้นในนี้ ด้วยทุกคนที่เข้ามาออกความคิดเห็น ล้วนแต่มีวุฒิภาวะและจิตสาธารณะเป็นที่ตั้ง
  • พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรอาจารย์ณัฐพัชร์

    อาจารย์มีของมาฝากด้วยคล้ายเป็นปฏิทินชุมชนหนองบัวเหมือเคยได้ยินอาจารย์วิรัตน์บอกอยากจะทำปฏิทินภาพหนองบัวสิบสองเดือนชนิดมีรายละเอียดเรื่องราวในชุมชนประกอบภาพต่าง ๆ

    พูดให้ดูเท่ ๆ หน่อยก็ได้ว่าปฏิทินชุมชนหนองบัวที่ยังไม่ได้ทำชุดนี้เป็นของคนหนองบัวเพื่อคนหนองบัวโดยคนหนองบัว(พูดเหมือนขายไอเดียตอนเลือกตั้งยังงัยไม่รู้)

    ขออนุโมทนาขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์ที่มาช่วยให้ความรู้อย่างสม่ำเสมอแก่ชาวหนองบัวพร้อมมีข้อสังเกตอีกทั้งได้ให้แง่คิดแก่น้อง ๆ เยาวชนลูกหลานคนหนองบัวที่เข้ามาอ่านบล๊อกนี้ด้วย คิดว่าหลายท่านได้กำลังใจจากอาจารย์ณัฐพัชร์กัลยาณมิตรผู้มีน้ำใจ

    สวัสดีครับฉิก

    • ฉิกหายไปเป็นครู่เลยนะครับ คุณแม่ออกจากโรงพยาบาลแล้วใช่ไหม
    • ขอชมหน่อยนะครับ คิดว่าคงไม่ทำให้เกร็งหรืออึดอัดนะ อยากเป็นภาพสะท้อนให้
    • ฉิกเขียนหนังสือดีน่ะครับ เขียนเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆได้น่าอ่านมากเลย เขียนเหมือนการสนทนาพูดคุย วิธีมอง การสื่อความคิด ข้อสังเกตและการสะท้อนทรรศนะ ก็ดี
    • พี่ก็ว่าดีมากทีเดียวครับ นอกจากเป็นข้อมูลและแหล่งการทำความรู้จักอำเภอหนองบัว ทั้งของคนหนองบัวและคนที่เขาสนใจ ทางอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะคนที่จะมาทำงานหรือทำมาหากินที่หนองบัว ก็คิดว่าจะมีแหล่งให้ศึกษาและเตรียมตัวเองได้อย่างดี
    • ดีกว่าอย่างเมื่อก่อนนี้ ที่เมื่อมองเข้ามาแล้ว นอกจากจะไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าหนองบัวเป็นอย่างไรแล้ว ก็แทบไม่เห็นร่องรอยของชุมชนด้านที่เป็นวิถีชีวิต เรื่องราวของท้องถิ่น และศูนย์กลางทางจิตใจของผู้คนเลย
    • อย่างเมื่อเร็วๆนี้ ก่อนถึงงานผ้าป่าของโรงเรียน คุณครูลัดดา พูลสวัสดิ์ และคุณครูสุนทร สันคามินทร์ อดีตครูเก่าแก่ของโรงเรียนหนองบัวซึ่งเดี๋ยวนี้เกษียณและกลับไปอยู่บ้านท่านที่จังหวัดนนทบุรีแล้ว ท่านได้เล่าให้ทราบว่า ทั้งสองท่านก็มาลงบรรจุเป็นครูที่หนองบัว เพราะเห็นชื่อว่าหนองบัว พอมาถึงแล้วก็ผิดไปจากคิดไว้แต่เดิมไปหมดเลย ต้องปรับตัวและเรียนรู้ที่จะอยู่ในสภาพที่กันดาร และห่างไกลจากสภาพที่ท่านคุ้นเคยอย่างที่สุด
    • แต่เดี๋ยวนี้ผมว่าคนจะสามารถทำความรู้จักหนองบัวได้อย่างกว้างขวางกว่าเดิม รวมทั้งคนหนองบัวเอง ก็มีหลายคนที่เคยเข้ามาคุยก็ยังบอกว่าทำให้รู้สึกคิดถึงบ้านและมีความสุขที่เห็นเรื่องราวถิ่นฐานบ้านช่อง ของตนเอง
    • ยิ่งถ้าหากมองว่าหนองบัวเราเป็นชุมชนที่ห่างไกลวิทยาการและเทคโนโลยีมากด้วยแล้ว ก็แทบจะเป็นเหมือนกับที่อื่นๆของประเทศและของอีกหลายประเทศ ที่หลายอย่างก็คงจะต้องตามหลังของที่อื่นเขา แต่กรณีนี้ ก็จะกลายเป็นว่า ชุมชนหนองบัวเล็กๆของเรา มีข้อมูลและแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับตนเองมากกว่าของชุมชนต่างๆของประเทศอีกหลายแห่ง สิ่งเหล่านี้เป็นทุนตั้งต้น เหมือนกับได้ก่อเกิดโครงสร้างพื้นฐานสำหรับให้ใครก็ได้เข้ามาค่อยๆต่อเติมคนละเล็กละน้อย เรื่อยๆ สบายๆ ก็จะยิ่งเพิ่มพูนมากยิ่งๆขึ้น 
    • ข้อกังวลของฉิกก็คงไม่เป็นปัญหาหรอกครับ ในบล๊อกทุกบล๊อกนั้น เราสามารถทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการได้ครับ ฉิกจะเห็นตัวหนังสือเล็กๆ แจ้งลบ สำหรับคนที่เข้ามาคุย และ ลบ สำหรับคนที่เปิดบล๊อก ซึ่งในกรณีนี้คือพี่เองครับ เพราะฉนั้น เราจะสามารถกำกับได้มากทีเดียวครับ อะไรที่ไม่เหมาะสม มีการป่วน ทำผิดเงื่อนไขกฏเกณฑ์ เหล่านี้ เราสามารถป้องกันและแก้ไขได้ครับ ส่วนท่านที่เข้ามาคุยก็จะสามารถแจ้งให้ลบออกได้ครับ
    • โดยปรกติ หากสังเกตก็จะเห็นว่าผมทำหน้าที่นี้อยู่เป็นระยะๆครับ เช่น การโพสต์ผิดแล้วแจ้งให้ผมลบออก รวมทั้งบางครั้งก็เป็นการไม่เหมาะสม เช่น การนำเอาผลงานของผู้อื่นมาลง ทั้งข้อมูลภาพและงานเขียน การนำเอางานที่มีลิขสิทธิ์และกฏหมายระบุไว้ว่าห้ามละเมิด เช่น การนำเอาเพลง และผลงานที่เขาทำเชิงธุรกิจ มาโพสต์หรือมาแขวนไว้ ซึ่งหลายที่ก็เห็นมีอยู่ แต่ถ้าหากนำมาเผยแพร่ในบล๊อกของเราผมก็จะขออนุญาตลบออกไปเลยนะครับ หลายท่านผมจะแจ้งให้ทราบก่อนเพื่อจะได้ไม่เสียกำลังใจ เพราะเชื่อว่าคงไม่ทราบและไม่ได้ตั้งใจ
    • หรือบางครั้ง นำเอาภาพที่ดูแล้ว อยากนำเอาด้านที่เป็นความสวยงามมาแบ่งปันกัน ทว่า ในภาพนั้น มีตราสินค้าหรือข้อความในเชิงโฆษณาแฝง ผมก็จะแจ้งให้ทราบก่อน แล้วก็รีบลบออกไปให้โดยเร็วครับ
    • บางคนนำเอาเบอร์โทรศัพท์ของตนเองหรือของผู้อื่น มาโพสต์ ผมก็จะรีบลบออกให้ทันที อย่างนี้เป็นต้นนะครับ 
    • นอกจากนี้ ข้อมูลหลายอย่าง ถึงแม้ว่าผมและหลายท่านจะเขียนขึ้นมาเป็นข้อมูลชั้นต้นและเป็นต้นฉบับ ทว่า หากเราต้องการขอตรวจสอบให้ดีก่อน หรืออาจมีบางแง่มุมที่อาจกระทบต่อผู้อื่น เราก็สามารถให้อ่านและศึกษาเรียนรู้ได้ ทว่า อาจระบุว่าในการนำไปใช้ เราจะอนุญาตหรือไม่ และหากอนุญาต จะอนุญาตให้ระดับไหน ก็ได้ครับ
    • เพราะฉะนั้นก็เป็นอันไม่ต้องกังวลครับ อย่างไรก็ตาม แม้อาจจะมีข้อที่ทำให้กังวลและไม่สบายใจได้บ้าง แต่หากเราอยากบุกเบิกให้คนรุ่นหลังๆ ได้เดินไกลกว่าเรา หรือเหยียบไหล่เราขึ้นไปเพื่อให้สังคมเราเองดีขึ้นอย่างริเริ่ม ต่อเติม เสริมต่อกันไป แล้วละก็ ก็คงต้องช่วยๆกันเป็นคนนำปฏิบัติและนำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นไปก่อนน่ะครับ
    • เหมือนกับทุกหน้าเกี่ยวข้าวเสร็จของคนบ้านนอกอย่างเราชาวหนองบัวในทุกๆปีน่ะครับ ที่พอจะเริ่มขนข้าว เมื่อเอาเกวียนและรถเข็นข้าวออกไปนาครั้งแรกหลังฤดูเก็บเกี่ยว ในสภาพที่ยังไม่มีทางเกวียนเลยนั้น มันทั้งเสี่ยง เหน็ดเหนื่อย เกวียนอาจติดหล่ม และต้องขุดคันนากับต่อยก้อนดิน นำร่องให้วัวควายและเกวียนลงรอยแรกเข้าสู่ผืนนาสะเปะสะปะ แต่หลังจากนั้น เมื่อคนอื่นๆได้แนว ทางเกวียนก็เกิดขึ้นตามมา ให้รถและผู้คนทั้งหมู่บ้านเดินทางได้อย่างสะดวก

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาและครับ

    • เมื่อคืนพวกเราเพิ่งคุยกันถึงเรื่องปฏิทินของชาวหนองบัว และข้อที่เคยปรารภกับพระคุณเจ้าว่าเราอยากจะทำกันอยู่เลยครับ พอดีเหมาะเหมงดีจริงๆครับ
    • ต้องกราบอภัยที่ไม่ได้เรียนให้พระคุณเจ้าได้ทราบครับ เพราะผมและน้องๆไปหาข้อมูลที่จะทำปฏิทินมานานแล้วครับ
    • ในทางเทคนิคแล้วทำได้อย่างที่ต้องการ แล้วก็สวยงามด้วยครับ ทว่า ต้นทุนต่อชิ้นแพงมากพอสมควรครับ ทำเพื่อตั้งโต๊ะดูสักชิ้นสองชิ้นนั้นพอไหว แต่ประเมินแล้วจะทำหลายชิ้นไม่ได้ครับ ผมและคณะอยากทำให้พอเผยแพร่ในหนองบัวได้บ้าง เลยต้องหารูปแบบและวิธีอย่างอื่นดูก่อนครับ ยังไม่หยุดความคิดครับ
    • เลยก็นึกขึ้นได้ต่อเนื่องกันอีกครับว่า พระคุณเจ้าได้ธนาณัติไปสมทบเพื่อร่วมทำกิจกรรมด้วยสองพันบาท แล้วก็เป็นจังหวะที่ผมย้ายที่ทำงาน ขนข้าวของย้ายจากสำนักงานไปไว้บ้าน จนลืมไปเลยครับว่าได้ไปขึ้นธนาณัติและแลกเป็นเงินออกมาแล้วหรือยัง แต่ก็รำลึกไว้อยู่เสมอครับว่าหากไปจัดกิจกรรมที่โรงเรียนกับชุมชนที่บ้านหรือที่ชุมชนใด ก็จะมีส่วนที่เป็นการสมทบทุนของพระคุณเจ้าอยู่ด้วย ตรงนี้ไม่ลืมครับ

     

    P
    พี่ชาย อาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์
    • หลังจากที่ได้ไปเยี่ยมชมงานศิลปะแล้ว ได้ข้อคิด ทำให้มีพลังและอยากกลับมาทำหน้าที่ของตัวเองและเพื่อเด็กๆอีกมากค่ะ
    • ตอนนี้ให้เด็กๆที่โรงเรียนปลูกผักสวนครัวค่ะ พอดีกำลังยุ่งกับงานวิชาการของเขตฯและผักยังไม่โต  จะเปิดบันทึกและนำภาพมาให้ชมทีหลังนะคะ
    • อยากให้เด็กๆในชนบท   ปลูกข้าว ทำไร่ทำนาเป็นค่ะ เด็กบางคนจบชั้น ม.3 ก็ไม่ได้เรียนต่อแล้วค่ะ เพราะฐานะค่อนข้างยากจน  ถ้าทำไร่ทำนาเป็นจะได้มีอาชีพ ไม่ต้องไปรับจ้างอยู่ในเมืองค่ะ  สุดท้ายก็ไปไม่รอด หอบลูกกลับมาด้วย ต้องเป็นภาระของพ่อแม่อีก
    • อีกหน่อย ถ้าคนไทยรุ่นหลังๆทำนาไม่เป็น เราคงต้องซื้อข้าว กิน  หรือไม่ก็ให้คนต่างชาติเข้ามาทำนาแทน แล้วขายข้าวให้คนไทย คิดแล้วน่าเป็นห่วงค่ะ

    --------------

                ใกล้วันส่งท้ายปีเก่า  ต้อนรับปีใหม่ 2553 แล้วค่ะ

                น้องขออวยพรให้พี่และครอบครัวมีความสุขมากๆนะคะ

     

                                   

    สวัสดีค่ะ...อ.วิรัตน์คะ เห็นหัวข้อเวทีเรียนรู้สร้างสุขภาวะคนหนองบัว

    ในฐานะที่อยู่นครสวรรค์ก็ต้องให้ความสนใจ และยินดีกับคนหนองบัว ที่ได้รับโอกาสดี ๆ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า สวัสดีพี่วิรัตน์ และทุกๆคน

    • แม่ออกจาก รพ.ได้หลายวันแล้ว ตั้งแต่วันที่ 19 ไปอยู่กับพี่สาวที่ชุมแสง แต่เมื่อเช้านี้ก็ทรุดลงอีก พี่สาวก็เลยพาส่งรพ.ที่นว. ได้โทรคุยกับพี่สาวเมื่อตอนหัวค่ำ อาการดีขึ้นเยอะแล้ว พรุ่งนี้หมอจะให้ออกจากห้อง ICU มาพักห้องธรรมดา ดูแล้วคงจะห่างหมอได้ไม่นาน อาการก็เหมือนเมื่อคราวที่เข้า รพ.ครั้งแรก ปอดทำงานได้ไม่ดี ทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ค่อยๆสะสมในเลือดสูงขึ้นๆ ถึงแม้มาอยู่บ้านจะมีถังอ๊อกซิเจนให้อยู่บ่อยๆก็ตาม ขอบคุณนะครับที่ทุกคนเฝ้าเป็นห่วง

     

    • เรื่องปฏิทินนี่ ผมก็มีความคิดจะทำเหมือนกัน ตั้งแต่ปีที่แล้ว เป็นรูปของครอบครัว ตั้งใจให้ลูกๆเค้าเป็นคนทำ โดยที่เราคอยแนะนำ แต่ก็ยังไม่ได้ทำเป็นชิ้นเป็นอันซักเท่าไหร่ เห็นที่ท่านพระอาจารย์มหาแล ได้เสนอปฏิทินชุมชนหนองบัว ก็เลยรีบย้อนไปดูรูปที่พี่วิรัตน์วาดและนำเสนอในนี้ และถือวิสาสะ ไปก๊อปมาแล้วเอาเข้าโปรแกรมโฟโต้ช็อป ทำให้ดูเป็นตัวอย่างคร่าวๆ ในเวลาที่จำกัด ลองดูละกันนะครับ
      โอ้โห ทำไมรูปมันออกใหญ่โตล้นจอเลย สงสัยต้องไปเปลี่ยนเป็นจอแบบแอ๊ดเทวดาซะแล้ว
    • ได้อ่านที่พี่วิรัตน์เขียนไว้ เรื่องที่ผมกังวลล่วงหน้า เกี่ยวกับการที่จะมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นที่ส่อไปทางจะทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งแล้วต้องปรบมือให้พี่วิรัตน์ดังๆ ที่ชี้แจงได้ชัดเจน ขนาดตอนจบก็ยังสามารถเอาวิถีชีวิตชาวบ้านมาเปรียบเปรยได้อย่างเห็นภาพเลย
    • เรื่องทำปฏิทิน ถ้าจะมีอะไรให้ผมพอช่วยได้ก็ยินดีนะครับ มิต้องเกรงใจ เรียกใช้ได้เต็มที่ (นี่อีกไม่กี่วันก็จะปีใหม่แล้ว-จะได้ทันใช้หรือเปล่าหนอ)
    • ตอนเด็กๆ(เรียนชั้นประถม) จะได้ยินพวกพี่ๆและเพื่อนๆของพี่ พูดถึงคุณครูที่หนองคอก(มัธยม) โดยเฉพาะมักจะได้ยินเสียงบ่นเรื่องการบ้านเยอะมาก พอถึงเวลาที่ตัวเองได้ไปเรียนต่อมัธยม คุณครูเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็จะย้ายไปสอนที่อื่นกันเกือบหมดแล้ว จะมีที่ยังคงอยู่บ้างก็เช่น อ.โสภณ อ.ฤดีวรรณ อ.เทิน และมีคุณครูเข้ามาใหม่หมุนเวียนมากหน้าหลายตาในแต่ละปี ก็เป็นที่เข้าใจของพวกเราชาวหนองบัว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขอบพระคุณคุณครูทุกท่านที่ได้ทนลำบากมาสั่งสอนพวกเรา
    • สวยดีครับ หากทำไว้ดูเล่นสักชิ้นสองชิ้น ก็คงต้องทำอย่างนี้แหละครับ
    • หากทำแผ่นเดียว แล้วก็มีเดือนและวันที่ทั้งปี ๑๒ เดือนเลย ก็จะพอทำได้ครับ แต่จะได้รูปภาพไม่หลากหลาย
    • แต่ถ้าหากทำแผ่นภาพละ ๓ เดือน ปีหนึ่งก็มี ๔ แผ่น หรือลดเหลือ ๓ แผ่น แผ่นละภาพและมีแผ่นละ ๔ เดือน ขนาดแผ่นหนึ่งก็ไม่ต้องใหญ่มากสักเท่ากระดาษ เอ๓ เมื่อเข้าสันแล้ว ชุดหนึ่งก็พันกว่าบาทแน่ะ
    • เคยลองทำโดยใช้การถ่ายด้วยเครื่องถ่ายพิมพ์เขียวหรือถ่ายแบบ ได้ภาพลายเส้นสีเดียว ขาว-ดำ แต่คมชัดและดูเก๋อีกแบบ กระดาษเป็นกระดาษถ่ายเอกสาร หน้ากว้าง ๘๐ เซ็นติเมตรและยาวตั้ง ๒๔๐ เซ็นติเมตร แผ่นละ ๘๐ บาท กำลังหาวิธีดัดแปลงดูครับว่าจะใช้ทำอะไรได้บ้าง หากไม่เหมาะกับทำปฏิทิน ก็น่าจะทำเป็นสื่อแผ่นปิดตามผนังหรือบอร์ดก็คงจะเข้าท่าดีครับ

    สวัสดีครับน้องคุณครูจุฑารัตน์ :

    • สคส ๒๕๕๓ สวยมากเลยครับ ขอร่วมขอบคุณกับชาวหนองบัวและทุกท่านที่เข้ามาคุยกันในเวทีคนหนองบัวครับ
    • เพิ่งโพสต์รูปคุณครูจุธารัตน์กับเพื่อนไปในกล่อง dialogue ก่อนหน้าที่น้องจะเข้ามานิดเดียวเอง

    สวัสดีครับ คุณ nana คนนครสวรรค์ครับ

    • ว่างๆก็เชิญคุณ nana แวะมาเยือนและเขียนแบ่งปันประสบการณ์ หรือสร้างความรู้ร่วมกับคนหนองบัว นครสวรรค์บ้านเราด้วยนะครับ ทุกคนยินดีเสมอครับ
    • ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยหากมองจากความคุ้นเคยของคนที่อยู่ในตัวเมืองนะครับ แต่หากมองจากชาวบ้าน-คนหนองบัวแล้วละก็ ความรู้สึกเมื่อคิดถึงปากน้ำโพหรือคนที่อยู่ในตัวเมืองนครสวรรค์นั้น ก็ยังรู้สึกเหมือนนึกถึงกรุงเทพฯ หรือเมืองไกลๆ เลยทีเดียวครับ
    • หลายอย่างที่ดูเหมือนธรรมดา พื้นๆ ของคนในเมืองนั้น ยังมีความหมายกันชาวบ้านรอบนอก คนหนองบัว และอีกหลายๆแห่งครับ
    • เชิญเลยนะครับ

     

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    พูดถึงยังไม่ทันข้ามวันเลยนะเนี่ยปฏิทินชุมชนหนองบัวก็ได้แบบจอผ่าโลกโผล่พลวดพลาดมาให้เห็นอย่างทันใจ สวยดี ขอบคุณคุณศักดิ์ศรี-ฉิก (ที่จัดให้)ถวายพระถวายเจ้าได้อย่างน่าอนุโมทนาขอบคุณหลาย ถ้าแพงมากสงสัยจะต้องดูต้นฉบับในคอมฯนี่แหละประหยัดดีด้วย

    ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง : ปรากฎการณ์ความงามของสุขภาวะกลุ่มก้อนแห่งชุมชนคนหนองบัว

    นมัสการ พระอาจารย์มหาแล อาสโย  และเรียน อ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ครับ

    • ย้อนกลับมาอ่านบันทึกการ "ถอดบทเรียน" และ "สรุปบทเรียน" แล้วต้องเรียนว่าบังเกิด “ปีติสุข” ร่วมไปกับพระอาจารย์ อาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ และกัลยาณมิตรชุมชนชาวหนองบัวด้วยครับ
    • หลังอ่านบทสนทนา พลันนึกถึงคำของครูอาจารย์ท่านอนุศาสน์ไว้ “ไม่ใช่ชาติ ไม่ใช่เชื้อ แต่หากมีความเอื้อเฟื้อ ก็เหมือนเนื้ออาตมา” เป็นปราฎการณ์ชุมชนสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลทางความรู้ ถ้อยทีวลีเสวนาดุจดังเครือญาติที่คุ้นชิน ปรากฏการณ์นี้หาได้ยากยิ่งครับ 
    • ก่อเกิดและสร้างแรงบันดาลใจให้ผมเกิด "ฉันทะ" จะริเริ่มที่ชุมชน และโรงเรียนเดิมของตนเองบ้าง   และคิดว่ากัลยาณมิตรหลายๆ ท่านก็คงเช่นเดียวกัน
    • คุณูปการอันเป็นผลสืบเนื่องนี้ต้องขอบพระคุณพระอาจารย์มหาแล อาสโย อ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ และเครือข่ายกัลยาณมิตร
    • อยากเห็นเวที “รวมพลคนหนองบัว” ในรูปของเสวนาเพื่อการเฉลิมฉลองสักคราวคงจะดีนะครับ..... (อาจเริ่มที่ “บ้านตาลิน” ก็ดีนะครับ)

    เวทีการสานปัญญาผ่านพื้นที่ออนไลน์อย่างที่อาจารย์ได้พยายามสร้างความรู้ใหม่ๆนี้ เป็นพลังความรู้ที่ค่อยๆถอด ความรู้ที่อยู่ในตัวบุคคลออกมาเเบบเป็นธรรมชาติและสุนทรียะ

    ถือว่าเป็นต้นแบบที่ดีมากครับ สำหรับการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยมี จุดรวมศรัทธาของคน กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

    สิ่งที่เราศรัทธาจะยึดโยงคนเข้าหากัน สร้างสุข สร้างปัญญาร่วมกัน เช่นเดียวกับ "ลานปัญญาของคนหนองบัว" ที่นี่ครับ

    ให้กำลังใจทุกท่านครับหากมีการเฉลิมฉลอง (งานปอย) ไม่ว่าเมื่อไหร่ ขอร่วมด้วยช่วยกัน ด้วยคนครับ

    ท่านพระมหาแลท่านให้กำลังใจและร่วมอนุโมทนาคุณฉิกอย่างนี้ ได้ทั้งความรู้สึกดีงามและความเป็นมงคล จากสิ่งที่สร้างสรรค์ด้วยฝีมือ ความรู้ความชำนาญทางคอมพิวเตอร์กราฟิค และความมีน้ำใจเลยนะครับ ต้องโชคดี มีความสุข เติบโตงอกงามมากยิ่งๆขึ้น ทั้งตัวเองและลูกหลาน สถานเดียวครับ

    ข้อสังเกตและการร่วมสะท้อนทรรศนะของคุณช้างน้อยมอมแมม น่าสนใจมากครับ

    รวมทั้งข้อเสนอแนะต่อการลองจัดเวทีรวมพลคนหนองบัวในท้องถิ่นขึ้น ล้วนจะเป็นวิธีทำให้เกิดการยกระดับและพัฒนาเวทีของคนหนองบัวให้ดีขึ้นเรื่อยๆนะครับ

    ผมเลยขอต่อยอดแนวคิดเปิดบันทึกอีกหัวข้อหนึ่งเพื่อเป็นหมายเหตุข้อเสนอแนะดีๆของคุณช้างน้อยมอมแมมนี้ไว้นะครับ เป็นเวทีรองรับการถอดบทเรียน หรือเป็นเวทีพัฒนาแนวคิดและความรู้เชิงวิชาการแบบชาวบ้านขึ้นมาอีกเวที รวมทั้งจะเป็นเวทีวิชาการของนักวิชาการแนวนี้ที่ใช้เวทีคนหนองบัวเป็นแหล่งเปิดประเด็นพัฒนาเชิงวิชาการให้เชื่อมต่อกับคนในชุมชนท้องถิ่น อีกแหล่งหนึ่งนะครับ 

    เดิมชื่อ เวทีถอดบทเรียนและสังเคราะห์ความรู้'เวทีคนหนองบัว' แต่ตอนนี้จะใช้ชื่อว่า   ลานปัญญาของคนหนองบัว   ครับ ขอนำเอาการเรียกของคุณจตุพรมาตั้งให้เป็นที่รำลึกถึงกันของคนหนองบัวกับคนเมืองปายและมือบล๊อกเกอร์ของ GotoKnow ในฐานะที่เป็นเคือข่ายวิชาการและร่วมสานความคิดกับคนหนองบัวครับ 

    เลยจะขอใช้ชื่อ ลานปัญญาของคนหนองบัว ที่คุณจตุพรให้นิยามและความหมาย มาเป็นชื่อเวทีสำหรับเอาไว้ถอดบทเรียนและสังเคราะห์ความรู้จากประบการณ์ต่างๆของคนหนองบัวในครั้งนี้นะครับ ถือว่าเป็นที่ระลึกถึงความปรารถนาดีและความเป็นนักวิชาการที่ส่งเสริมการพัฒนาคนและชุมชนนะครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    ขอบคุณคุณช้างน้อมมอมแมมที่แวะมาเติมกำลังใจแก่เวทีนี้พร้อมทั้งให้มุมมองที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์

    และรู้สึกดีใจยิ่งขึ้นที่คุณช้างน้อยมอมแมมกล่าวว่าเวทีนี้มีส่วนช่วยให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะกลับไปทำงานชุมชนโรงเรียนที่บ้านเกิดของตนอันนี้น่าอนุโมทนาจริง ๆ และก็หวังว่าคงจะได้เห็นคนมีคุณภาพได้ทำสิ่งสร้างสรรค์ในเร็ววัน

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    คุณจตุพรเข้ามาเยี่ยมสังเกตการณ์เวทีนี้และเรียกขานเวทีคนหนองบัวเหมือนการสร้างความรู้เพิ่มพูนปัญญาในชุมชนก็เลยให้ชื่อว่าลานปัญญาของคนหนองบัวเห็นชื่อนี้แต่เมื่อวานนี้ก็นึกชอบฟังดูดีให้ความรู้สึกทางสร้างสรรค์ เลยก็สอดคล้องกับเวทีคนหนองบัวน้องใหม่(นบ.-๒)พอดี เหมาะสมแล้วที่อาจารย์วิรัตน์นำชื่อนี้ไปใช้ในเวทีแห่งใหม่ต้องขอขอบคุณคุณจตุพรด้วยที่มีส่วนช่วยทำให้เกิดสิ่งดี ๆ อย่าลืมแวะมาแบ่งปันความรู้เสริมพลังปัญญาแก่คนหนองบัวและในเวทีใหม่ด้วยนะ ขออนุโมทนา

    คุณช้างน้อยมอมแมมนี่ผมผมรู้จักครับ และผมเคยไปบ้านของญาติพี่น้องของเขาบนทางผ่านเมื่อเวลาออกสนามไปทำงานวิจัย ผู้คนและญาติพี่น้อง รวมทั้งถิ่นฐานบ้านเกิดในชนบทของคุณช้างน้อยมอมแมมนั้น เป็นทุนมนุษย์และทุนทางปัญญาหลายด้านของสังคมมากมายครับ รวมทั้งความเป็นนักวิชาการและภาวะผู้นำของคุณช้างน้อยมอมแมมเอง ก็รู้สึกได้ครับว่าเขาเป็นผู้ที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างกว้างขวาง เรียกว่ามีปัญญาบารมีและความดีงามอันเป็นที่ยอมรับของชาวบ้านและญาติพี่น้อง รวมไปจนถึงผู้หลักผู้ใหญ่ เกินความเป็นคนหนุ่มคนสาวธรรมดาๆครับ หากกลับไปทำสิ่งต่างๆในชนบทที่บ้านเกิดด้วยฉันทะ อย่างที่กล่าวนี้ แน่ใจได้ว่าจะก่อเกิดสิ่งดีๆมากมายจากพลังความร่วมไม้ร่วมมือของชาวบ้านที่นำไปสู่การสร้างสุขภาวะสังคมที่อาศัยทุนมนุษย์และทุนศักยภาพชุมชนเป็นหลัก ได้อย่างดีแน่นอนครับ ร่วมขอให้กำลังใจและแรงหนุนครับ ถือเวทีคนหนองบัวเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกันนะครับ เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องสร้างสรรค์และดีงามครับ

    คุณเอก จตุพร ที่ให้ชื่อว่า ลานปัญญาของคนหนองบัวนั้น ช่างบังเอิญเหลือเกินว่าไม่เพียงมีความหมายที่สะท้อนลักษณะของเวทีอย่างเดียว ทว่า ทำให้ต้องนึกถึงความเป็นวัดหนองกลับ และโรงเรียนอนุบาลหนองบัวหรือชื่อเดิมโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) ที่ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ หลวงพ่ออ๋อย ผู้นำทางจิตใจและผู้นำทางสังคมของท้องถิ่นที่ร่วมสมัยกัน ได้สร้างขึ้นบนพื้นที่ติดกันกับลานวัด เลยทีเดียว ลานวัดหนองกลับบนผืนดินที่เชื่อมโยงกับสนามโรงเรียนแต่เดิมนั้น เป็นพื้นที่ใช้สอยเอนกประสงค์ ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่บนลานกว้างนั้น ก็จะเป็นกิจกรรมวัฒนธรรมทางปัญญาและกิจกรรมทางศาสนา ทั้งของวัด โรงเรียน และชุมชน พอเรียกว่า   ลานปัญญาของคนหนองบัว    นี่ นอกจากสื่อความหมายแล้ว จึงให้ความรู้สึกราวกับว่าใช่เลยในความเป็นชื่อที่สะท้อนวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิมของคนหนองบัว ผมเลยให้สีสัน  ชมพูฟ้า  สีประจำของโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) ซึ่งทั้งเป็นหน่วยทางปัญญาและความรู้ของชุมชน อีกทั้งก่อเกิดขึ้นมาบนลานวัด ศูนย์กลางจิตใจของชุมชนหนองบัวนับแต่อดีตอีกด้วย

    พอเข้ามาอยู่ในโลกไซเบอร์แล้วใช้ชื่อว่า ลานปัญญาของคนหนองบัว จึงนอกจากได้ชื่อเวทีที่สอดคล้องกับลักษณะกิจกรรมแล้ว ก็เลยสื่อถึงความเป็นมาที่สืบนื่องกับชุมชนด้วยเลยทีเดียวนะครับ

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแล สวัสดีพี่วิรัตน์ และเพื่อนพ้องน้องพี่ ทุกๆคน

    • กราบขอบพระคุณพระคุณเจ้าอย่างสูงที่ได้ให้กำลังใจเกี่ยวกับปฏิทิน ที่ได้ลองทำไว้เป็นตัวอย่าง ว่างๆจะพยายามทำให้ครบทั้ง 12 เดือน
    • รู้สึกภูมิใจแทนพี่วิรัตน์ที่เป็นแรงบันดาลใจให้หลายต่อหลายคนอยากจะทำงานให้ชุมชนบ้านเกิด
    • เมื่อวานนี้เป็นวันคริสมาสต์ ตั้งใจจะพูดถึงศาสนาคริสต์ในหนองบัวเท่าที่ได้เคยเห็นในวัยเด็ก ต้องถือว่ากิจกรรมทางศาสนาที่หนองบัวนั้น นอกจากศาสนาพุทธแล้วนี่ มีน้อยมากและมีผู้คนที่ไม่ได้เป็นชาวพุทธนี่แทบจะนับหัวได้ แม้จนปัจจุบัน เมื่อก่อนนี้หนองบัวยังไม่มีรพ.ประจำอำเภอ มีแต่อนามัย ซึ่งผู้คนจะเรียกว่า สุขศาลาอยู่ในบริเวณที่ว่าการอำเภอ โดยมีหมอหนิมเป็นอนามัยประจำอำเภออยู่ และมีรพ.คริสเตียน เป็นห้องแถวอยู่ตรงหัวตลาด ซึ่งมีมิชชันนารีชาวตะวันตกทำงานอยู่ ให้บริการด้านสุขอนามัยแก่ชาวหนองบัว ถ้าเป็นเคสคนไข้หนักๆ หรือคลอดลูก นอกจากหมอตำแยแล้วก็จะมาใช้บริการที่รพ.คริสเตียน ส่วนพวกปวดหัวตัวร้อนไข้หวัดก็ใช้บริการที่สุขศาลา พวกหมอและมิชชันนารี 4-5 คน พอวันอาทิตย์ตอนบ่าย ก็จะขี่จักรยานไปสอนศาสนาคริสต์ที่เกาะลอย ซึ่งจะมีอาคารมีหลังคาเป็นเวที พวกเราเด็กๆก็จะไปนั่งเรียน ร้องเพลงเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ เล่นเกมส์ และสุดท้ายก็มีขนมแจก เป็นที่สนุกสนานเฮฮาของเด็กๆ ผมยังพอจำบทร้องเพลงสรรเสริญพระเยซูได้บ้างนิดหน่อย เช่น พระเยซูอยู่ในบ้านฉัน บ้านฉันมีความสุข รวมทั้งบทร้องล้อเลียนที่มาร้องเล่นกันเองในหมู่เด็กๆ คงไม่เหมาะที่จะนำมากล่าวถึง นี่คือกิจกรรมทางศาสนาคริสต์ที่ได้รับรู้ในวัยเด็กที่หนองบัว
    • เมื่อเช้านี้คุยกับพี่สาว เห็นว่าแม่อาการไม่ค่อยดี ไม่กินข้าวและหลับตลอด แต่ยังขยับแข้งขาได้ ตอนนี้พี่สาวคนโตกับพี่รักษ์กำลังเดินทางไปเยี่ยมที่ นว. เดี๋ยวตอนบ่ายผมกับแฟนก็จะตามไป

    ลืมไปครับว่าจะถวายปฏิทินให้พระคุณเจ้า พระมหาแลอีก อันนี้ทำเสร็จไว้พร้อมกับคราวที่แล้ว ยังไม่ได้ทำเดือนที่เหลือเลย 

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรคุณศศักดิ์ศรี-ฉิก

    ขอให้คุณแม่หายป่วยไว ๆ มีสุขภาพแข็งแรง

    อนุโมทนาที่มีน้ำใจจะถวายปฏิทิน

    คุณแม่ไม่สบายแต่ก็ยังมีน้ำใจแบ่งปันเรื่องราว

    สุขศาลาหมอหนิมคือสถานพยาบาลเบื้องต้นระดับชุมชน(ปัจจุบันสถานีอนามัยตำบล)

    แต่บ้านเราเทียบเท่าโรงพยาบาลอำเภอเลยนะเพราะบริการทั้งอำเภอ

    อันที่จริงต้องขอบคุณโรงพยาบาลคริสเตียนคุณหมอและมิชชนารีที่มาให้บริการด้านสุขภาพก่อนรพ.รัฐจะมาถึงหนองบัว

    กรานมัสการพระอาจารย์มหาแล และสวัสดีครับฉิก

    • ฉิกพูดถึงเพลง ที่พวกเด็กๆนำมาร้องล้อเลียนกันนี่ ทำให้พี่ต้องนั่งยิ้ม พอจะนึกออกครับ คงจะเป็นเพลงเดียวกันที่ผมและคนรุ่นผมก็ร้อง เดี๋ยวนี้ก็ยังจำติดปาก แต่ไม่กล้าร้องแล้วครับ
    • ในสังคมของชุมชนหนองบัวนั้น พวกเราชอบร้องเพลงล้อพระเจ้า และเพื่อนที่นับถือพระเจ้ากับอย่างอื่นที่นอกเหนือจากพุทธศาสนา ก็ทำล้อเลียนพระ แล้วพวกเราก็ผสมผเสไปด้วย ทั้งสนุกและขบขันกันอย่างจริงๆจังๆ
    • มันไม่ใช่ดูหมิ่น ไม่เคารพนับถือ หรือเห็นเป็นคนละพวก แล้วทำความรุนแรงต่อกันทางวัฒนธรรมและความเชื่อ แต่มันเป็นการแสงออกถึงความเป็นคนร่วมสังคมด้วยกันจนคุ้นเคยย่ำปึ่กถึงกับเล่นกันเองในสิ่งที่เป็นความลึกซึ้งส่วนตนได้อย่างไม่สะเทือนให้แบ่งเขาแบ่งเรา
    • เหมือนกับการล้อพ่อล้อแม่กันของเด็กๆ พี่ของฉิกคือรักษ์ ก็เคยเรียกชื่อพ่อผมแทนผม และพี่เองก็เคยเรียกพี่ของฉิกโดยใช้ชื่อเตี่ยแทน (แต่ตอนนี้ลืมหมดแล้วครับ ตอนนี้จำชื่อพ่อแม่เพื่อนได้ไม่กี่คนแล้ว) แต่ไม่ได้มีนัยยะถึงความไม่เป็นการเคารพเลยแม้แต่น้อย มันสนุกและเป็นการเล่น การร้องเพลงล้อเลียนสิ่งที่เคารพนับถือกัน ก็ทำนองเดียวกันกับอย่างนี้เหมือนกัน
    • แล้วก็มองออกไปยังสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ทุกวันนี้เลย รู้สึกเหมือนสังคมของผู้คน นับถือความเป็นเพื่อนมนุษย์ต่อกันน้อยลง 
    • ดูฝีมือ และความเป็นคนต่อความคิด แล้วก็ใส่ Creative ลงไปได้อย่างชำนาญของฉิกแล้วนี่ ทำกราฟฟิคเฮ้าส์ที่หนองบัวได้สบายเลย สอนให้ลูกๆหลานๆ ทำในหนองบัวได้เลยนะครับ หนองบัวขาดแคลนเรื่องพวกนี้ ต้องไปหาทำที่ชุมแสง ปากน้ำโพ และตะพานหินโน่น
    • ดูแล้วก็มีความสุขและชื่นชมไปด้วยครับ
    • ฝากกราบเยี่ยมแม่และเตี่ยด้วยครับ ฝากทักทายเจ้ารักษ์และหลานคู่แฝดด้วยครับ ปีนี้ยังไม่ได้เจอกันเลย

    ขอร่วมกับท่านพระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย) | คุณเสวก ใยอินทร์ |คุณสมบัติ ฆ้อนทอง | คุณฉิก | คุณครูอนุกูล วิมูลศักดิ์ |